ฉบับที่ 140 จับตาการจัดการปัญหา “คอนเทนต์ขยะ” จากทีวีดาวเทียม

หลังจากปล่อยให้คนไทยได้ลิ้มชิมรสชาติรายการจากทีวีดาวเทียมที่มี “คอนเทนต์ขยะ” (เนื้อหารายการแย่ๆ ทั้งขายสินค้าอันตราย สินค้าอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง รายการขายเซ็กส์ ยาอวดอ้างสรรพคุณทางเพศ ฯลฯ) กันมาเนิ่นนานหลายปี ซึ่งมีคนเจ็บ ตายกันไปพอสมควรแล้ว ในที่สุด กสทช. ก็เตรียมคลอด ระเบียบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดาวเทียม เสียที ------------------------------------------------------------- เสพสื่อขยะกันมานาน...กว่ากลไกคุ้มครองจะมาถึง พฤติกรรมการเสพสื่อโทรทัศน์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากอดีตมาก หลายรายการผู้ชมไม่ต้องรอเฝ้าหน้าจออีกแล้ว เพราะสามารถย้อนกลับมาดูได้ ด้วยการดูรายการย้อนหลังจากช่อง ยูทูป เพียงแค่มีอินเตอร์เน็ต และรายการยอดนิยมในปัจจุบันก็ไม่ได้จำกัดหรือผูกขาดเฉพาะแต่ในฟรีทีวีทั้ง 6 ช่องเท่านั้น แต่เป็นรายการโทรทัศน์ที่รับชมผ่านทีวีดาวเทียม (หรือเคเบิลทีวี ที่นำคอนเทนต์มาจากทีวีดาวเทียมอีกที)   ด้วยจำนวนช่องที่มีเป็นจำนวนมากถึง 200 ช่อง ทำให้ทีวีดาวเทียมต้อนรับผู้ผลิตรายการหน้าใหม่ที่เป็นใครก็ได้ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็น “ขาใหญ่” ในวงการเท่านั้น เรียกว่าใครๆ ก็สามารถสร้างคอนเทนต์เองได้ มีช่องรายการของตนเองได้ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ เกิดทางเลือกที่หลายหลายสำหรับผู้ชมรายการโทรทัศน์ เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้รับชมรายการที่มีความแตกต่างจากฟรีทีวีปกติ รูปแบบรายการที่น่าสนใจ ใหม่ แนวและตรงกลุ่มเป้าหมาย แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย ที่สำคัญคือ เปิดโอกาสผู้ชมเจอกับรายการที่ไม่เหมาะสม หลอกลวง ชวนเชื่อ งมงาย ตลอดจนรายการที่มุ่งแต่จะขายสินค้า และทำโฆษณาอย่างไร้จรรยาบรรณ  โดยรายการเหล่านี้สามารถออกอากาศซ้ำๆ (รีรัน) ได้มากกว่า 1 ครั้งในวันเดียวกันด้วย เรียกว่าเป็นสวรรค์สำหรับ รายการประเภทขายสินค้าหลอกลวงกันเลยทีเดียว ที่สำคัญไม่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎ ระเบียบ ใดๆ ด้วย   หากมองจากฐานผู้ชมรายการโทรทัศน์ในปัจจุบัน คนไทยเปิดรับกับทีวีดาวเทียมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขล่าสุด Penetration อัตราการเข้าถึงครัวเรือนไทยของจานดาวเทียมและเคเบิลทีวี จากการสำรวจของบริษัท AGB Nielsen ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาสิ้นสุดเดือน ส.ค.2555 จากเดิมในเดือนส.ค.ปีที่แล้ว อัตราการเข้าถึงเฉลี่ยทั่วประเทศประมาณ 50% เท่ากับ 10.5 ล้านครัวเรือนไทย เพิ่มเป็นประมาณอัตราการเข้าถึงประมาณ 60% ของครัวเรือนไทย หรือประมาณ 12 ล้านครัวเรือนแล้ว คาดว่าอีกประมาณ 3-4 ปีข้างหน้าครัวเรือนไทยเกินกว่า 90% น่าจะติดตั้งเคเบิลทีวีและจานดาวเทียมเรียบร้อยแล้ว คนไทยนิยมชมชอบการเสพสื่อโทรทัศน์มากกว่าสื่ออื่นๆ จาก "รายงานประเมินผลกระทบการออก หลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวกและการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์" ซึ่งเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของ กสทช. ระบุว่า การเข้าถึงสื่อต่างๆ ของคนไทย ทีวีเป็นสื่อที่เข้าถึงได้สูงสุดถึง 98% หรือประมาณ 63 ล้านคน วิทยุ 40 ล้านคน หนังสือพิมพ์ 12 ล้านคน (การเข้าถึงสื่อโทรทัศน์ของครัวเรือนไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศเอเชีย แปซิฟิก ที่อยู่ในระดับประมาณ 84% ของครัวเรือน แต่อัตราการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านสิ่งพิมพ์ของไทย ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชียแปซิฟิกถึง 3 เท่า) เมื่อผนวกกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว การเข้าถึงทีวีดาวเทียมของผู้ชมจึงรุดหน้าไปก่อน “การกำกับควบคุม” ซึ่งอยู่ภายใต้ พรบ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยังทำอะไรไม่ได้จนกว่าจะมี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เพิ่งเกิดเมื่อ 20 ธันวาคม 2553 แต่...กว่าจะได้ คณะกรรมการ กสทช. ตัวจริง 11 คน ก็เดือนกันยายน 2554 ดังนั้นในช่วงเวลาก่อนที่จะมี กสทช.ตัวจริง จึงเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า สุญญากาศ คือใครใคร่ทำอะไรก็ได้ บางคนก็เรียกช่วงเวลานั้นว่า ช่วงเวลาสื่อเถื่อนเกลื่อนเมือง ทั้งทีวีดาวเทียมเถื่อน เคเบิลทีวีเถื่อน และสถานีวิทยุเถื่อน (จนตอนนี้ กันยายน 2555 ก็ยังเถื่อนอยู่เพราะยังไม่มีการออกใบอนุญาตตามกฎหมาย ประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2551) ความที่เป็นสุญญากาศนี้เอง ทำให้โฆษณาและรายการโทรทัศน์ที่สร้างความเชื่อผิดๆ ให้ชาวบ้านเบ่งบานเต็มที่ แม้ในบางผลิตภัณฑ์เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง ที่มีหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำกับดูแลการโฆษณาอยู่ ก็ทำอะไรได้ไม่มาก สั่งจับ สั่งปรับไม่ทันผู้ประกอบการที่ไร้จรรยาบรรณ ทำได้แค่เตือนผู้บริโภค ที่ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยจะฟัง อย.เท่าไหร่เพราะเชื่อผู้จัดรายการมากกว่า ก็แหม...คนดังในสังคมทั้งนั้น ทั้งทนายความที่อ้างตัวว่าทำเพื่อชาวบ้าน ดารานางแบบที่ออกมาสอนเพศศึกษากันอย่างเปิดเผยจนน่าหวาดเสียว ต่างก็ร่วมกันช่วยขายสินค้าที่อวดอ้างว่าดีต่อสุขภาพ ฟื้นฟูสุขภาพ รักษาได้ทุกโรค แก้เซ็กส์เสื่อม เพิ่มประสิทธิภาพให้อวัยวะเพศ ทั้งชาย หญิง ทำให้ผอมเพรียวได้ในสามวัน เจ็ดวัน และอีกสารพัดด้วยตรรกะที่เหนือธรรมชาติ ผู้ประกอบการบางรายมีช่องรายการเพื่อขายสินค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ ได้ถึง 4-5 ช่อง ทั้งวันก็เวียนรายการซ้ำไปซ้ำมา เพื่อเชิญชวนให้ซื้อสินค้า ซึ่งราคาแพงทั้งสิ้น (เขาว่าถ้าตั้งราคาถูกเกินไป คนจะไม่เชื่อถือ ของดีต้องแพงว่างั้น) ทำให้ผู้ประกอบการต่างก็ร่ำรวยกันไปถ้วนหน้า แค่เอาเศษผัก ผลไม้มาป่นขาย ก็ทำให้มีเงินขนาดซื้อทีมสโมสรฟุตบอลระดับไทยพรีเมียร์ลีกได้ และสรรพคุณที่ตอกย้ำซ้ำซากมานานหลายปี ก็ทำให้ชื่อสินค้าติดตลาดไปเรียบร้อย โดยสามารถเอาชื่อไปออกสื่อฟรีทีวีได้โดยไม่ต้องบอกสรรพคุณอีกแล้ว เป็นการยกระดับสินค้าไปอีกขั้น โดยกฎหมายก็ตามไปเอาผิดอะไรไม่ได้ ------------------------------------------------------------- ทำให้ถูกกฎหมายจะได้จัดการได้เสียที หลังจากปล่อยให้ฟอนเฟะกันมาหลายปี ก็ได้เวลาสำหรับการจัดระเบียบแล้ว ล่าสุด(กันยายน 2554) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้อนุมัติ ร่างประกาศกสทช. ที่เกี่ยวกับโครงข่ายกิจการบรอดแคสติ้ง, สิ่งอำนวยความสะดวก, กิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์และกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมฯ รวม 4 ฉบับ ที่คงจะลงราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ในอีกไม่นาน (หากไม่มีกรณีฟ้องร้องจากฝั่งผู้ประกอบกิจการเสียก่อน) โดยรูปแบบการออกใบ อนุญาตประกอบกิจการนั้น จะเริ่มด้วย  การออกใบอนุญาตฯ ชั่วคราว 1 ปีก่อน เพื่อเร่งให้ช่องรายการต่างๆ ทั้งเคเบิลทีวีกว่า 1,000 รายและทีวีดาวเทียมกว่า 200 รายเข้าสู่กระบวนการกำกับดูแลก่อน จากนั้นจึงออกใบอนุญาตระยะ 4-14 ปี “เพราะหากออกใบอนุญาตฯ ระยะยาวแก่ผู้ประกอบการ จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดและใช้เวลากว่า 1เดือนต่อการออกใบอนุญาต 1 ใบ ทำให้ขั้นตอนการนำผู้ประกอบการเข้าสู่กระบวนการกำกับดูแลจะล่าช้ายิ่งขึ้น อาจใช้เวลานานหลายปี” สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. สายบรอดแคสติ้ง กล่าวกับสื่อมวลชน โดยหลังให้ใบอนุญาตฯ ชั่วคราว 1 ปีแล้ว การออกใบอนุญาตระยะที่ 2 จะพิจารณาจากการร้องเรียนของผู้บริโภคเป็นเงื่อนไขในการออกใบอนุญาต ซึ่งหากมีผู้ร้องเรียนมาก ระยะเวลาของใบอนุญาตระยะที่ 2 ก็จะสั้นลงหรือเพิกถอนใบอนุญาตก็เป็นได้ ส่วนการกำหนดผังรายการทีวีดาวเทียมแบบไม่บอกรับสมาชิก จะผ่อนผันให้สามารถรายงานผังรายการยืดหยุ่นได้มากกว่าฟรีทีวีภาคพื้นดิน (กรุงเทพธุรกิจ 10 กันยายน 2555) สรุปว่านับจากนี้ไปจะไม่มี "ทีวีเถื่อน" หลังจากที่เถื่อนกันมานาน และนับจากนี้ไปก็คงต้อง “จับตา” ดูกันล่ะว่า เมื่อผู้ประกอบการทั้งหลายเข้าสู่กฎ ระเบียบ แล้ว จะยังมีรายการขยะ โผล่ออกมาให้ประชาชนได้เสพกันอยู่อีกหรือไม่ และคงได้วัดกันไปว่า หน่วยงานทั้งหลายจะมีน้ำยาพอที่จะคุ้มครองผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน ------------------------------------------------------------- ปัจจุบันการรับชมรายการโทรทัศน์ในประเทศไทย ทำได้ 3 รูปแบบ คือ 1.ฟรีทีวี (ช่อง 3 5 7 9 11และไทยพีบีเอส) โดยผ่านเสาอากาศทีวี(แบบหนวดกุ้งหรือก้างปลา) หรือรับชมผ่านกล่องรับสัญญาณของเคเบิลทีวี หรือทีวีดาวเทียม อีกที 2.เคเบิลทีวี รับชมรายการผ่านกล่องรับสัญญาณที่มาทางสายเคเบิล เป็นการให้บริการแบบบอกรับสมาชิก ผู้ชมต้องจ่ายค่าแรกเข้าและบริการรายเดือน 3.ทีวีดาวเทียม รับชมผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียม โดยครั้งแรกจะต้องมีการติดตั้งจานดาวเทียมพร้อมกล่องรับสัญญาณ หรือปัจจุบันมีขายเฉพาะกล่องสัญญาณ(โดยผ่านจานดาวเทียมอะไรก็ได้ที่ติดตั้งไว้ก่อนแล้ว) ส่วนใหญ่เมื่อติดตั้งครั้งแรกแล้ว จะไม่มีค่ารายเดือนอีก เว้นแต่มี คอนเทนต์พิเศษ ที่ต้องเข้ารหัสเก็บเงินค่าดู ------------------------------------------------------------- “เจนิฟู้ด จะขายเสียอย่าง ใครจะทำไม” แม้ อย.จะออกแถลงข่าวเรื่องการลงดาบ เจนิฟู้ด ดังนี้ อย. สั่งเชือดโฆษณาผลิตภัณฑ์เอนไซม์เจนิฟู้ด หลังดื้อแพ่งโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์ดาวเทียม และเคเบิลทีวีอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่มีคำสั่งให้ระงับโฆษณา ส่อเจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย และทำธุรกิจอย่างไร้จริยธรรม หลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อ อย. เอาจริง ลงโทษหนัก ทั้งโฆษณาเป็นเท็จ มีโทษจำคุก และโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งจะปรับทุกครั้งที่พบการโฆษณาทั้งผู้โฆษณาและ สื่อที่เผยแพร่ พร้อมเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ เพราะเป็นการเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ จากการที่มีผลิตภัณฑ์อาหาร “เอนไซม์ เจนิฟู้ด” นำเข้าโดย บริษัท เบสไฟว์ อินเตอร์เทรด จำกัด ซึ่งขอขึ้นทะเบียนกับ อย. เป็นเครื่องดื่มพืชผักผลไม้ผสม (ตราเจนิฟู้ด) เลขสารบบอาหาร 10-3-10838-1-0001 มีการโฆษณาอ้างว่าเป็น “เอนไซม์” ทางสื่อโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีกว่า 10 ช่อง โดยมีข้อความโฆษณาอวดอ้างรักษาได้สารพัดโรค เช่น ป้องกัน ยับยั้งต่อต้าน ทำลายโรคต่าง ๆ เป็นทางเลือกที่ได้ผลสูง , รักษาแผลกดทับเนื่องจากอัมพฤกษ์, ใช้โรยแผลที่มีเนื้อมะเร็งแผลบวม มีหนองจะช่วยดูดซับสารพิษทั้งหมด ฯลฯ โดยนำบทสัมภาษณ์ผู้ป่วย อาทิ ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน เบาหวาน ความดัน มะเร็ง ไขมันอุดตัน มะเร็งเต้านม หัวใจตีบ ฯลฯ ที่รับประทานผลิตภัณฑ์เอนไซม์ดังกล่าวแล้วอาการป่วยดีขึ้น หรือหายจากอาการป่วย หรือนำผู้ที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในสังคมมาโฆษณา เพื่อจูงใจให้ตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์มาใช้ ซึ่ง อย. ได้มีคำสั่งระงับโฆษณาดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งแจ้งไปยังสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีให้งดเผยแพร่ แต่จากการตรวจสอบพบว่า ยังมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร “เอนไซม์ เจนิฟู้ด” ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวีหลายช่อง ได้แก่ Home Channel, I Channel, OHO Channel, DooDee Channel, Nice Channel,MYTV, Thai Vision, เกษตร แชนแนล, MY MV5, Hi Channel, Star Channel และช่องลายไทย โดยการกระทำดังกล่าวถือว่าเจตนาละเมิดคำสั่งการระงับโฆษณา ซึ่ง อย. เตรียมดำเนินการอย่างเข้มงวด ตามนโยบายคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยจะดำเนินคดีตามกฎหมายในข้อหาโฆษณาด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท และฝ่าฝืนคำสั่งระงับโฆษณา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับเป็นรายวันวันละไม่น้อยกว่า 500 บาท แต่ไม่เกิน 1,000 พันบาท ตลอดเวลาที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง นอกจากนี้ สื่อที่ทำการเผยแพร่โฆษณาดังกล่าว อันได้แก่ สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี จะมีความผิดในข้อหาโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของ ดังนั้นแม้ในความเป็นจริง ทั้ง อย.ได้สั่งลงโทษ และ กสทช.ได้มีคำสั่งแบนโฆษณา "เจนิฟู้ด" ไปแล้ว แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะหาเจ้าภาพไปดำเนินการไม่ได้ ขณะเดียวกัน อาหารเสริม "เจนิฟู้ด" ได้เปิดช่องทีวีดาวเทียมทั้งระบบซีแบนด์ และเคยูแบนด์ 5 ช่องคือ เย็นใจ, เบาใจ, พอใจ, เพลินใจ และช่องทนายประมาณ ทำซีเอสอาร์ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองต่อไป มิเพียงเท่านั้น "เจนิฟู้ด" ได้รับการประสานงานมาจากมูลนิธิมิราเคิล ออฟ ไลฟ์ฯ ให้เข้ามาช่วยเหลือสโมสรฟุตบอลสมุทรสงคราม เอฟซี โดยเปลี่ยนชื่อเป็น "เจนิฟู้ด สมุทรสงคราม เอฟซี" ซึ่งเวลานี้ "นายพล คนขอนแก่น" กลายเป็นคนดังในวงการไทยพรีเมียร์ลีกไปโดยปริยาย ------------------------------------------------------------- ปัจจุบันผู้บริโภคไทยมีจำนวน 21 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่รับชมผ่านจานดาวเทียม 10 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็น จานดำ 6 ล้านครัวเรือน จานแดง 1.5 ล้านครัวเรือน จานเหลือง 1.5 ล้านครัวเรือน และจานส้ม 1 ล้านครัวเรือน ส่วนอีก 11 ล้านครัวเรือน จะดูผ่านเคเบิลทีวีท้องถิ่น 4 ล้านครัวเรือน และอีก 7 ล้านครัวเรือน ที่รับชมโทรทัศน์ผ่านเสาก้างปลา  ทั้งนี้ ประเมินว่าจากแนวโน้มดังกล่าว คาดว่าภายใน 3-4 ปีข้างหน้า เสาก้างปลาจะหมดไปจากตลาดของประเทศไทย เพราะผู้บริโภคจะหันมาติดจานดาวเทียมแทน ขณะที่ราคาการติดจานเคเบิลทีวี ในปัจจุบัน เริ่มต้นที่ 1,200 บาทเท่านั้น ถือว่ามีราคาลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ขณะที่ปีหน้าจะมีดาวเทียมไทยคม 6 เกิดขึ้น คาดว่าจะมีช่องเคเบิลทีวีเกิดขึ้นใหม่ประมาณ 150-200 ช่อง เพราะดาวเทียมไทยคมมีช่องรับสัญญาณจำนวนมาก ขณะที่เม็ดเงินลงทุนในธุรกิจดาวเทียมต่อปีจะอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท ที่มา http://www.thaipost.net/node/53665 ------------------------------------------------------------- อันตราย! สินค้าหลอกลวงเกลื่อนเมืองสื่อดาวเทียมตัวแพร่ระบาด ในท้องตลาดตอนนี้มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอยู่มากมายและต่างก็มีกลเม็ดโฆษณา ทำการตลาดแตกต่างกันไป สิ่งที่เป็นจุดเดียวกันคือการมีสรรพคุณที่ดูดีเกินจริง โดยมักจะมีคำอธิบายในแบบของตัวเอง ซึ่งอาจสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน คือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณด้านความงามและเรื่องเพศ กับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณด้านสุขภาพหรือรักษาโรคเรื้อรัง ซึ่งผลของการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นเป็นไปได้ที่ผู้ใช้ส่วนหนึ่งอาจได้ผลลัพธ์ที่พอใจ แต่ก็พบกรณีร้องเรียนมากมายถึงการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด กฎหมายไม่สามารถกระทำอวดอ้างได้ ทว่าปัญหาก็คือตอนนี้ยังไม่มีกลไกการลงโทษที่ทำให้โฆษณาเหล่านั้นหายไปเสียที คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับการร้องเรียนมากกว่า 100 กรณีต่อ 1 เดือน ซึ่ง ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยาเผยว่า จากข้อมูลที่แยกเป็นประเภทของลักษณะการทำผิดกฎของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารพบว่า การโฆษณาอวดอ้างถือเป็นกรณีที่มีการร้องเรียนมากที่สุด ประเด็นเรื่องโฆษณานี่เยอะที่สุด สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะอาหารไม่ใช่ยา เราไม่ให้โฆษณาสรรพคุณทางยา แต่ส่วนใหญ่แล้วทำขึ้นมาจะต้องโฆษณาสรรพคุณใช้ป้องกันรักษาได้ ซึ่งก็จะโอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น ทั้งนี้มาตรการในการดำเนินการลงโทษนั้นมีตั้งแต่ระงับโฆษณา และดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับ ซึ่งหากไม่หยุดโฆษณาก็จะมีโทษที่หนักขึ้น โดยโฆษณาเหล่านี้จะพบเห็นบ่อยตามช่องทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี(ซึ่งส่วนใหญ่ก็นำเนื้อหามาจากทีวีดาวเทียม) ในทางปฏิบัติก็มีการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ในการควบคุม ทว่ากลับไม่มีอำนาจมากนัก เพราะยังคงพบการฝ่าฝืนอย่างต่อเนื่อง ในประเด็นการควบคุมลงโทษนั้น สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยว่า แม้ อย.ร่วมกับ กสทช.สั่งห้ามโฆษณาเหล่านี้ในสื่อทุกประเภท ทว่าในทางปฏิบัติอย่างการเผยแพร่สัญญาณนั้นจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือ จากบริษัท ไทยคม จำกัดในการตัดสัญญาณเพื่อปิดสถานีที่ฝ่าฝืนกฎ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเคยร่วมกับเครือข่ายที่ทำเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค 16 จังหวัด สำรวจการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร และเสริมอาหารทั้งหลายที่ไม่เหมาะสม ผิดกฎหมาย ไม่ขออนุญาตโฆษณา ซึ่งพบว่า มันมีปัญหาเยอะ และทาง กสทช. ได้สั่งให้ห้ามโฆษณาแล้ว แต่ก็ยังพบว่ายังมีการโฆษณากันอยู่ เพราะทางไทยคมไม่สั่งระงับสัญญาณ ต้องไปขอความร่วมมือที่ไทยคม แต่ไทยคมมีความรับผิดชอบต่อกรณีนี้น้อยเกินไป โดยอ้างว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ แต่ความจริงแล้วหากไทยคมพบว่า สถานีต่างๆ ยังมีการโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต หรือโฆษณาที่ไม่เป็นจริง ก็สามารถให้ปิดรายการหรือปิดสถานีได้เลย ไทยคมต้องดำเนินการตามนั้น หากไทยคมจะอ้างว่าตัวเองได้สัมปทานจากไอซีทีไม่ต้องทำตามกฎหมาย มันไม่ได้ เพราะว่าไทยคมเป็นคนดูแลหรือควบคุมโฆษณาของพวกนี้ ผ่านพวกช่องดาวเทียมโดยตรง ขณะเดียวกัน กสทช. ก็จะบอกว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีกติกาที่กำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ จริงๆ เขาได้มีความร่วมมือกับ อย. ดังนั้น เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม ที่เป็นเท็จหลอกลวง มันทำไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้นเราก็อยากให้ไทยคมร่วมมือ สิ่งที่สำคัญ คือ อย.กับ กสทช. ต้องมีเครื่องมือในการบังคับลงโทษ หากมีเพียงคำสั่งห้ามแต่ไม่มีกลไกที่ในการติดตาม การดำเนินการก็ไร้ผล และโฆษณาที่ชวนเชื่อเกินจริงก็ยังคงอยู่”   ที่มา หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน ------------------------------------------------------------- ทุกข์ล้นเหลือเหยื่อโฆษณา จากการที่กลไกการควบคุมโฆษณานั้นไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงผู้ที่จ้องฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจ ทำมาหากินบนการหลอกลวงหนทางที่เปิดกว้างให้เห็นกำไร และความสำเร็จชนิดตีหัวเข้าบ้าน ทำให้โศกนาฏกรรมอย่างการกินอาหารเสริมที่เชื่อว่าจะรักษาโรค กลับยิ่งทำให้โรครุมเร้าหนักขึ้นอาจถึงขั้นเสียชีวิตเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ลอย เจ้ขี้เกียจพิมพ์ แนบ พีดีเอฟไฟล์ มาให้ เอาหน้า 9-12 ลงที นะ เป็นตัวอย่างกรณีดื่มเจนิฟู้ด แล้วอันตราย ดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ : www.thaidrugwatch.org/download/books/adsvictim.pdf

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point