ฉบับที่ 226 ฤกษ์สังหาร : ความรู้ ความเป็นกลาง และการขับเคลื่อนดวงเมือง

        ย้อนกลับไปในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นและชวนสะเทือนขวัญ จนนำมาซึ่งบาดแผลอันยากเกินเยียวยามาจวบถึงทุกวันนี้ คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนับล้านๆ ชีวิต โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมนีและพรรคนาซีที่เรืองอำนาจอยู่ในขณะนั้น         เงื่อนไขหนึ่งที่เป็นปัจจัยให้อิทธิพลของนาซีและฮิตเลอร์แผ่ไพศาลจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมดังกล่าว ก็คือ การเล่นบทบาทอันผิดเพี้ยนของนักวิชาการที่ก้มยอมสวามิภักดิ์หรือขายจิตวิญญาณความรู้ให้กับผู้นำนาซี จนมองข้ามแม้แต่ชีวิตและเลือดเนื้อในความเป็นมนุษย์ของชาวยิวผู้ต่างชาติพันธุ์         ด้วยบาดแผลที่สลักลึกไว้ตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นักคิดทางสังคมกลุ่มหนึ่งที่มีพื้นเพเป็นคนยิว ซึ่งรู้จักกันในชื่อของนักทฤษฎีแห่งสำนักแฟรงค์เฟิร์ต จึงเป็นหัวหอกที่ผลักดันและทบทวนบทบาท “ความเป็นกลาง” ของนักวิชาการ หรือบรรดากุนซือผู้ทำหน้าที่ผลิตความรู้แห่งศาสตร์ต่างๆ ในสังคม         ภายหลังจากสงครามโลกสิ้นสุดลง นักคิดกลุ่มนี้ที่หนีรอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่างก็ชี้ไปในทางเดียวกันว่า หากความรู้คืออำนาจ นักวิชาการคือผู้ที่ผลิตความรู้นั้น และนักวิชาการขาดซึ่ง “ความเป็นกลาง” แต่ทว่าแปดเปื้อนไปด้วยอคติและผลประโยชน์เสียแล้ว อำนาจแห่งความรู้ก็จะกลายมาเป็น “มนต์ดำ” ที่ประหัตประหารมนุษยชาติด้วยกันในที่สุด         เกินกว่ากึ่งศตวรรษผ่านไป คำถามต่อจุดยืนความเป็นกลางของนักวิชาการก็ได้ถูกหยิบยกมาทบทวนหวนคิดกันอีกครั้งหนึ่ง โดยผ่านเรื่องราวและเรื่องเล่าที่อยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ฤกษ์สังหาร” ซึ่งถูกวางเส้นเรื่องให้เป็นแนวละครสืบสวนสอบสวน ที่เปิดฉากขึ้นด้วยภาพเหตุการณ์ฆาตกรรมหญิงสาวคนหนึ่ง โดยศพของเธอเสมือนหนึ่งถูกทำพิธีกรรมบางอย่าง และฝังเอาไว้อยู่ในดิน         ด้วยภาพเหตุการณ์ฆาตกรรมอันดูแปลกประหลาด ได้ดึงดูดความสนใจของพระเอกหนุ่มอย่าง “มหากะทิง” หมอดูชื่อดังผู้มีความรู้โหราศาสตร์ และต้องการใช้องค์ความรู้ของเขาเพื่อเข้าร่วมสืบหาและคลี่คลายปมคดีการสังหารเหยื่อสาวเคราะห์ร้ายดังกล่าว         จากนั้น ความจริงก็ค่อยๆ เผยออกมาว่า การฆาตกรรมหญิงสาวเป็นจุดเริ่มต้นของพิธีกรรมฤกษ์สังหารตามตำราแก้เคล็ดดวงเมือง ด้วยเพราะมีใครบางคนต้องการจะเปลี่ยนแปลงดวงเมือง และใช้พิธีกรรมนี้ในการเปลี่ยนวงโคจรของดวงดาวให้มาเสริมบารมีของเขา เพื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจและความยิ่งใหญ่         ตามตำราดังกล่าวเชื่อว่า ในปีใดที่มีอาเพศใหญ่เกิดขึ้น 4 ครั้งในบ้านเมือง และในแต่ละครั้งของอาเพศ หากมีการใช้ชีวิตของหญิงสาวตามฤกษ์มาสังเวยทำบัดพลีบูชาธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ให้สัมฤทธิ์ได้แล้ว ผู้ประกอบพิธีกรรมแก้เคล็ดดวงเมืองก็จะก้าวขึ้นเป็นใหญ่ในแผ่นดินด้วยมิจฉาวิชชาที่ว่านี้         เมื่อโจทย์ของมหากะทิงคือการคลี่คลายปมว่า ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังฆาตกรรมตามฤกษ์สังหาร และการขัดขวางพิธีกรรมแก้เคล็ดดวงเมือง เราจึงได้เห็นภาพการเดินจับมือฟั่นเกลียวกันไประหว่างการใช้องค์ความรู้แบบโหราศาสตร์และการคำนวณฤกษ์ดวงดาวแบบดั้งเดิม กับองค์ความรู้นิติวิทยาศาสตร์และอาชญวิทยาสมัยใหม่ ที่จะว่าไปแล้ว ทั้งศาสตร์ความรู้เก่าและใหม่ที่ไขว้ประสานกันเยี่ยงนี้ ก็ถือเป็นเรื่องปกติและยอมรับได้อยู่แล้วในสังคมไทย         แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็จะเริ่มเห็นบทบาทของคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่า “นักวิชาการ” หรือปัญญาชน ผู้เป็นประหนึ่ง “think tank” หรือ “คลังสมอง” ซึ่งใช้ศาสตร์ความรู้ เพื่อขับเคลื่อนทิศทางความเป็นไปของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศ         หากมหากะทิงและมิตรสหายของเขาอีกหลายคน รวมทั้ง “ศรีล” สารวัตรตำรวจมือสะอาด กับ “ชิงดวง” คุณหมอนักนิติวิทยาศาสตร์สาว เป็นตัวละครที่เลือกยืนอยู่ฝั่งคุณธรรมความดี ละครก็ได้สร้างให้เห็นขั้วความแตกต่างอีกฝั่งของ “อุทธิ” หมอดูโหราจารย์ที่เลือกใช้ความรู้ด้านมืดเสริมดวงของฝ่ายอธรรม         เนื่องจากโหราศาสตร์เป็นศาสตร์ความรู้ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่ยอมรับไม่ต่างจากแขนงความรู้ของศาสตร์อื่นๆ แล้ว ทั้งมหากะทิงและอุทธิก็คือปัญญานักวิชาการผู้เป็น “คลังสมอง” ของศาสตร์วิชาดังกล่าว ที่ได้รับมอบหมายให้ใช้องค์ความรู้เพื่อไปขับเคลื่อนดวงเมืองและความเป็นไปในเศรษฐกิจสังคมไทย         แต่เพราะจิตใจของอุทธิอาบเจือปนเปื้อนไปด้วยอคติและผลประโยชน์ส่วนตนที่ต้องการเอาชนะมหากะทิง แบบที่อุทธิเคยกล่าวว่า “กูต้องชนะ กูทำมาขนาดนี้แล้ว ยังไงกูก็ต้องชนะ กูใช้เวลาทั้งชีวิต ยอมไม่มีเพื่อน ยอมเรียนดูดวง ยอมไปดูดวงคนเป็นพันๆ หมื่นๆ ที่อยากเจอหมอดูที่เก่ง กูทำพิธีนี้เพราะต้องการชนะมึง กูต้องเป็นอันดับหนึ่ง กูต้องอยู่เหนือมึง...” ดังนั้นอุทธิจึงเป็นนักวิชาการที่สละจุดยืนอัน “เป็นกลาง” แต่เลือกสมาทานความรู้โหราศาสตร์ของเขาเข้าสู่ด้านมืดแห่งอวิชชา         ด้วยกิเลสที่ต้องการเอาชนะคุกรุ่นอยู่ในใจ อุทธิจึงใช้ความรู้แบบ “มนต์ดำ” เพื่อประกอบพิธีฤกษ์สังหารแก้เคล็ดดวงเมือง ที่จะเสริมส่งให้นักการเมืองใจซื่อมือคดอย่าง “รวี” ก้าวขึ้นสู่ผู้นำประเทศ พร้อมๆ กับบรรดาโครงข่ายอำนาจของท่านรวี ที่มีตั้งแต่คนในเครื่องแบบแต่เล่นบทบาทเป็นตำรวจกังฉินอย่าง “ผู้การดำริห์” ไปจนถึงนายทุนใหญ่ที่จิตใจเต็มไปด้วยโลภจริตอย่าง “เจ้าสัวพิพัฒน์”         และที่สำคัญ เพื่อก้าวขึ้นสู่บัลลังก์อำนาจเช่นนี้ อุทธิและพรรคพวกจึงมีความพยายามเปลี่ยนแปลงดวงเมืองให้ได้ โดยที่ไม่ตระหนักเห็นถึงคุณค่าในชีวิตมนุษย์อย่างบรรดาผู้หญิงที่ถูกคัดเลือกมาทำบัดพลีเซ่นสังเวยฤกษ์สังหาร ซึ่งไม่ต่างอันใดกับที่ครั้งหนึ่งฮิตเลอร์ก็สามารถขึ้นสู่อำนาจโดยสังหารชาวยิวนับล้านๆ คน          ด้วยพล็อตของละครแนวสืบสวนสอบสวนแบบนี้ ผู้ชมก็อาจจะเดาได้ไม่ยากว่า เราจะได้เห็นภาพการสัประยุทธ์แก้กลเกมระหว่างฝ่ายธรรมะกับอธรรม โดยที่ต่างฝ่ายต่างใช้วิชาความรู้มาปะทะต่อกรกันและกัน และในท้ายที่สุด ความรู้แบบอวิชชาก็ต้องปราชัย และฝ่ายมหากะทิงก็สามารถยุติการแก้เคล็ดดวงเมือง โดยช่วยเหลือนางเอก “รันหณ์” ให้รอดพ้นจากการเป็นเหยื่อคนสุดท้ายของพิธีฤกษ์สังหารเอาไว้ได้         และในเวลาเดียวกัน เพราะความรู้เองก็มีกฎในการใช้งาน เมื่อพิธีฤกษ์สังหารไม่อาจทำจนสัมฤทธิ์ได้ คนเล่นของก็เลยต้องถูกคุณไสยย้อนมาเล่นใส่เสียเอง ภาพของอุทธิและพรรคพวกของท่านรวีที่ถูกลงโทษเซ่นสรวงสังเวยในฉากจบ จึงชวนดูสยดสยองไม่ต่างจากภาพหญิงสาวที่ถูกทำบัดพลีบูชาธาตุทั้ง 4 เท่าใดนัก         จากบทเรียนจากบาดแผลทางประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และจากพิธีกรรมฤกษ์สังหารแก้เคล็ดดวงเมืองในละครโทรทัศน์เช่นนี้ คงถึงเวลาอีกครั้งแล้วที่เราน่าจะต้องหันกลับมาทบทวนเรียกร้อง “ความเป็นกลาง” ในหมู่ปัญญาชนนักวิชาการ เพราะคลังสมองของชาติเหล่านี้ก็คือผู้มีบทบาทสำคัญที่จะขับเคลื่อนชะตากรรมสังคม หรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงวงโคจรของดวงเมือง จนอาจนำสู่โศกนาฏกรรมได้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >