ฉบับที่ 232 เล่ห์บรรพกาล : ความลับแห่งเวลาที่มนุษย์มิควรจะหยั่งรู้

        นักคิดบางคนเคยกล่าวเปรียบเปรยไว้ว่า “เวลา” เป็นประหนึ่ง “แอ่ง” หรือ “ภาชนะ” ที่บรรจุไว้ซึ่งการกระทำใดๆ ของมนุษย์ นั่นแปลว่า ทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนเรา ต้องมีเงื่อนไขของเวลาเป็น “ภาชนะ” รองรับกำหนดไว้เสมอ         หากคนไทยมีคำพูดเตือนใจว่า จะทำการอันใดก็ต้องรู้จัก “กาลเทศะ” แล้ว นอกเหนือจากบริบทของ “เทศะ” หรือพื้นที่ เราเองก็ต้องพึงสำเหนียกว่า เรื่องของ “กาละ” หรือเวลา ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามากำกับความคิดและพฤติกรรมของคนเราด้วยเช่นกัน          ด้วยเหตุที่การกระทำของมนุษย์อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของเวลาเช่นนี้ จึงมีความพยายามของคนบางคนที่ต้องการมีอำนาจจะเอาชนะเวลา และความปรารถนาที่จะกำชัยเหนือกาลเวลาดังกล่าวนี้เอง ก็ได้กลายมาเป็นเส้นเรื่องหลักในละครแนวดรามาสืบสวนสอบสวนแบบข้ามภพข้ามชาติเรื่อง “เล่ห์บรรพกาล”         ละครเปิดฉากปูเรื่องจากภาพยุคสมัยปัจจุบัน ที่ได้เกิดเหตุการณ์ตึกถล่มกลางกรุง และปรากฏอักขระลึกลับโบราณอยู่ในสถานที่เกิดเหตุดังกล่าว เหตุการณ์นี้ได้สร้างความสนเท่ห์ใจให้กับพระเอกหนุ่ม “เพลิงฟ้า” นักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 6 และยังเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้มารู้จักพบเจอกับนางเอก “สิตางศุ์” หรือชื่อเล่นก็คือ “ตัวไหน” อาจารย์สาวนักประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง         หลังจากครั้งนั้น ก็เริ่มมีเหตุการณ์ที่ตัวละครใกล้ชิดรอบข้างพระเอกของเราถูกฆ่าตายไปทีละคน และทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมนั้น ยิ่งเพลิงฟ้าสืบสาวคดีไปมากเท่าไร เขาก็ยิ่งพบว่า เรื่องราวจะต้องเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับ “อดุล” ศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงด้านประวัติศาสตร์ และ “ปักบุญ” ภรรยาสาวลึกลับที่มีสัมผัสพิเศษกับอดีต         เมื่อตัวละครทั้งสี่คนได้เวียนวนมาบรรจบพบเจอกัน นอกจากละครจะยืนยันให้เห็นวัฏสงสารแห่งกรรมที่ทุกคนเคยร่วมทำกันมาในแต่ละชาติภพ แต่อีกด้านหนึ่ง ภายใต้วัฏจักรแห่งกรรมที่ร้อยรัดกันไว้นี้เอง เพลิงฟ้าและปักบุญจึงเป็นสองตัวละครที่สามารถหยั่งรู้มีพลังที่มองเห็นอดีตชาติของตนได้         ความผูกพันของตัวละครสี่คนพันผูกโยงไปราวๆ พันปีก่อน เมื่อเพลิงฟ้าที่ปางก่อนคือ “ท้าวราวิ” แห่งเมืองไวสาลี นักเวทย์หนุ่มผู้มีอาคมแก่กล้าได้มาพบรัก และเลือกเข้าพิธีเสกสมรสกับ “นางพญาศศิณา” แห่งเมืองอรุณา ซึ่งชาติปัจจุบันก็กลับมาเกิดเป็นสิตางศุ์         ความรักของราวิและศศิณาได้ก่อตัวเป็นความแค้นในหัวใจของสตรีอีกนางอย่าง “ทิณสรี” หรือปักบุญในชาติภพปัจจุบัน มิใช่เพราะเธอแอบรักราวิด้วยคิดว่าตนเป็นเนื้อคู่กันมาแต่ชาติก่อนเท่านั้น แต่เพราะเธอถูกเล่ห์กลลวงของ “ท้าววาร” ที่วางแผนให้ “ความรักอันบังตา” กลายมาเป็นความแค้นชนิดที่ “จะเจ็บจำไปถึงปรโลก” กันเลยทีเดียว        เบื้องหลังของท้าววาร หรือศาสตราจารย์อดุลในปัจจุบันนั้น เป็นผู้ที่มักใหญ่ใฝ่สูง และเพราะด้วยเป็นผู้ชำนาญในอาถรรพเวท ท้าววารจึงปรารถนาจะสร้างและปลุกเสกเทวรูป “กาลเทพ” ที่ใครก็ตามหากได้ครอบครอง คนผู้นั้นก็จะมีอำนาจรับรู้ทุกห้วงกาลเวลา ที่มิใช่แค่เห็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต หากยังควบคุมกาลเวลาของมนุษยชาติได้          เมื่อท้าววารเป็นจุดเริ่มต้นของปมชั่วร้ายแห่ง “เล่ห์บรรพกาล” และราวิเองก็ตระหนักว่า ความลับแห่งเวลาเป็นสิ่งที่มนุษย์มิอาจรู้ หรือมิบังควรที่จะล่วงรู้แต่อย่างใด เขาจึงวางแผนขัดขวางพิธีกรรมปลุกเสกองค์กาลเทพ จนสามารถสังหารท้าววาร พร้อมๆ กับสละชีพของตนให้ถูกเพลิงไหม้พร้อมไปกับการฝังความลับของเทวรูปเอาไว้นับเป็นพันปี         แต่เพราะโลภะโทสะโมหะเองก็สามารถข้ามผ่านกาลเวลาได้ เมื่อก้าวเข้าสู่ภพชาติใหม่ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ราวิและศศิณาจึงได้กลับมาเกิดเป็น “ขุนอุทัยโยธิน” และ “แม่หญิงดวงแข” ผู้ที่ยังคงสืบต่อภารกิจหน้าที่ในการปกป้องเทวรูปกาลเทพจาก “หมอผีบุญ” และ “บุญเหลือ” ซึ่งก็คือท้าววารและทิณสรี ผู้พกพาความอาฆาตแค้นและปรารถนาอำนาจเหนือกาลเวลา จนได้รีเทิร์นกลับมาพบกันในอีกคำรบหนึ่ง          ดังนั้น เมื่อมาถึงกาลสมัยปัจจุบัน ตัวละครได้กลับมาสะสางปมปัญหาและผลประโยชน์ซึ่งขัดแย้งกัน โดยที่ฝั่งหนึ่งก็ต้องการพิทักษ์ความลับแห่งเวลา ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งก็มุ่งมาดจะช่วงชิงการถือครองอำนาจแห่งเวลามาเป็นของตน เรื่องราวก็ค่อยๆ เฉลยออกมาว่า ตัวละครหลากหลายชีวิตที่เข่นฆ่าประหัตประหารกันนั้น ก็สืบเหตุเนื่องมาแต่กิเลสของท้าววารที่ฝักใฝ่ในอำนาจแต่ครั้งบุรพกาลเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังนั่นเอง         อย่างไรก็ตาม หากเราพินิจพิจารณากันดีๆ ชื่อขององค์เทวรูป “กาลเทพ” อันหมายถึงองค์เทพผู้คุ้มครองดูแลกาลเวลานั้น ก็ดูจะพ้องเสียงกับคำว่า “กาฬเทพ” อันอนุมานได้ถึงพระกาฬหรือพญายม เทพเจ้าแห่งความตาย ดังนั้น วิถีแห่งกาลเวลาจึงเป็นประหนึ่งเหรียญสองด้าน ที่แม้จะสร้างสรรค์ แต่ก็พร้อมจะเป็นเพลิงเผาผลาญทำลายล้างจนนำมาซึ่งความตายได้เช่นกัน         และถึงแม้เวลาจะสามารถทำลายล้าง ดุจเดียวกับที่ตัวละครหลายชีวิตต้องพบจุดจบเพื่อเซ่นสังเวยการปลุกเสกพลังขององค์กาลเทพ แต่อีกด้านหนึ่ง แม้จะตระหนักรู้ความน่ากลัวของเวลา แต่กิเลสที่ล้นเกินในอำนาจ ก็ทำให้มนุษย์บางคนยอมสมาทานตนเองเข้าสู่ “ด้านมืด” เพื่อถือครองเอาชนะเวลาให้จงได้         เฉกเช่นที่ครั้งหนึ่งปักบุญผู้อยู่ในสภาพ “เวลาไม่ช่วยอะไรหากใจมันยังฝังจำ” เคยกล่าวถึงการช่วงชิงองค์เทวรูปกาลเทพว่า “ต่อให้เอาสมบัติทั้งโลกมากองรวมกัน มันก็ไม่มีค่าเท่ากับการควบคุมเวลาได้หรอก…”         จนเมื่อเรื่องราวของละครงวดเคี่ยวเข้ามาเรื่อยๆ ความจริงแห่ง “เล่ห์บรรพกาล” ก็ได้ถูกเผยออกมาว่า อดุลก็คือตัวการหลักของเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ในเรื่อง เพราะนอกจากเขาจะเชื่อว่า “คนเราเมื่อลุ่มหลงในอำนาจ ความรักอะไรก็ไม่มีความหมายทั้งสิ้น” แล้ว ด้วยเหตุผลเรื่องอำนาจอีกเช่นกัน ที่ทำให้เขากล้าจะละเมิดความลับแห่งเวลาที่มนุษย์เราไม่ควรจะล่วงรู้ได้         กับฉากท้ายเรื่องที่ร่างของอดุลถูกปักบุญฉุดลากไปทำลายจนมอดไหม้ด้วยฤทธานุภาพขององค์กาลเทพ ก่อนที่เขาจะย้อนเวียนกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งครา ก็คงบอกเป็นนัยๆ ได้ว่า อำนาจที่มนุษย์ฝักใฝ่ลุ่มหลงนั้น ช่างเวียนวนเป็นวัฏฏะที่หาใช่จะสิ้นสุดได้โดยง่าย         และที่สำคัญ เมื่อใดที่ความปรารถนาในอำนาจได้เริ่มต้นขึ้นคำรบใหม่ เมื่อนั้นสงครามช่วงชิงเพื่อครอบครองความลับแห่งเวลาที่มนุษย์มิควรรู้ ก็จะปะทุเชื้อไฟขึ้นมาครั้งใหม่ได้ด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >