ฉบับที่ 143 คลอดบุตรตายในโรงพยาบาลของรัฐ ใครรับผิดชอบ? ตอนที่ 2

  ต่อกันจากคราวก่อน เรื่อง ฝากครรภ์ไว้กับโรงพยาบาลแล้ว หากเกิดปัญหาขึ้น มีทางสำหรับการชดเชยเยียวยาครับ มาดูตัวอย่างกรณีศึกษา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3749/2554 คดีระหว่าง นางสุภีย์  ศรีบุญเพ็ง โจทก์ กับ กระทรวงสาธารณสุข จำเลย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ การประเมินสถานการณ์ที่จะทำคลอดให้โจทก์ของ ส. แพทย์เวรผิดพลาด เมื่อโจทก์ไม่สามารถคลอดเองโดยธรรมชาติ ส. ได้ทำคลอดโดยใช้เครื่องดูดสุญญากาศถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่สามารถคลอดทารกออกมาได้  เป็นเหตุให้ทารกตกอยู่ในภาวะเครียดและถ่ายขี้เทาปนออกมาในน้ำคร่ำจนมาสู่การสำลักน้ำคร่ำ ปอดแตก และสมองขาดออกซิเจนจนถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา  ประกอบกับโจทก์อยู่ในสภาพที่พร้อมจะคลอดทารก แต่ต้องรอทำการคลอดเป็นเวลานานกว่า 12 ชั่วโมงโดยไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร  เมื่อแพทย์และพยาบาลเริ่มทำการคลอดให้โจทก์ด้วยวิธีการต่างๆ  ไม่ว่าการให้คลอดเองตามธรรมชาติและต่อมาโดยใช้เครื่องสุญญากาศดูดทารก ก็ไม่อาจนำทารกออกมาได้  ทั้งๆที่ก่อนคลอดสุขภาพโจทก์และทารกอยู่ในสภาพปกติ  ต้องถือว่าการตายของทารกมีผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินการทำคลอดที่ล่าช้าเนิ่นนานเกินไปและการเลือกใช้วิธีการทำคลอดที่ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของโจทก์อย่างทันท่วงที จึงเป็นการไม่ใช้ความละเอียดรอบคอบถี่ถ้วนและความระมัดระวังตามแกติวิสัยของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์และพยาบาลอย่างเพียงพอ นับเป็นความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่จำเลยต้องรับผิดชอบ"   หมายเหตุผู้เขียน คดีนี้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1,800,000  บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 120,000 บาท  ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยใช้เงิน 360,000 บาท ศาลฎีกาพิพากษายืนโดยให้ใช้ค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี โรงพยาบาลที่เกิดเหตุคือ โรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เรื่องทำนองเดียวกันนี้( ข้อเท็จจริงเหมือนกันเลย)  และผู้เสียหายไปฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ในชั้นไกล่เกลี่ย กระทรวงสาธารณสุขยอมจ่ายเงินค่าเสียหายให้ผู้เสียหาย 200,000 บาท  โรงพยาบาลที่เกิดเหตุคือ โรงพยาบาลสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี  สาวท้องแก่ใกล้คลอดขอให้เลือกโรงพยาบาลดีๆ หน่อยก็แล้วกัน   พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2538 “ หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย “ มาตรา 5 บัญญัติว่า “ หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เข้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่  ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง  แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบตามวรรคหนึ่ง “

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 คลอดบุตรตายในโรงพยาบาลของรัฐ ใครรับผิดชอบ? ตอนที่ 1

โรงพยาบาล ของรัฐในประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีสังกัดดังนี้ 1.กระทรวงสาธารณสุข 2.มหาวิทยาลัยของรัฐ 3.หน่วยงานตามกฎหมายเฉพาะ เช่น  กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา 4.หน่วยงานทหาร ตำรวจ 5.รัฐวิสาหกิจ เช่น โรงพยาบาลรถไฟ โรงพยาบาลยาสูบ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2538  มาตรา 4 บัญญัติว่า “ ในพระราชบัญญัตินี้ “ เจ้าหน้าที่ “ หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการหรือฐานะอื่นใด “   “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย“ และตาม มาตรา 5 บัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เข้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่  ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง  แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใด ให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบตามวรรคหนึ่ง“ มาตรา 6 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในการนั้นเป็นการเฉพาะตัว ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง แต่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้ “ มีปัญหาต่อไปว่าผู้เสียหายจะต้องฟ้องยังศาลไหน ศาลปกครอง หรือ ศาลยุติธรรม ? มีหลักดังนี้ กรณีต้องฟ้องต่อศาลยุติธรรม คือ 1.เป็นการกระทำละเมิดที่ไม่ได้เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ( เป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ ) 2.เป็นการกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ แต่มิใช่เกิดจาก  การใช้อำนาจตามกฎหมายปกครอง , การออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น  ,  จากการละเลยต่อหน้าที่ที่กฏหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ , จากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร  กรณีต้องฟ้องต่อศาลปกครอง คือ 1. การกระทำละเมิดเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ 2.การกระทำละเมิดตาม (1) เกิดจาก การใช้อำนาจตามกฏหมายปกครอง , การออกกฏ คำสั่งทางปกครอง หรือ คำสั่งอื่น , จากการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ , จากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร การที่แพทย์โรงพยาบาลของรัฐผ่าตัด/รักษาโรคแก่คนไข้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในทางปกครองหรือไม่นั้น ศาลปกครองสูงสุดและคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า  การปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ประจำโรงพยาบาล  ถือว่าเป็นการให้บริการสาธารณะเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยตามปกติ เป็นการกระทำทางกายภาพ มิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่   68/2544 , 70/2544, 213/2545, 250/2545,566/2545,546/2547   คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ (2/2545, 14/2548) ครั้งหน้า เราจะมีกรณีศึกษาเรื่องนี้มานำเสนอครับ

อ่านเพิ่มเติม >