ฉบับที่ 207 ลูกเสียชีวิตหลังคลอด เรียกร้องอะไรได้บ้าง

หนึ่งในเรื่องไม่คาดคิดที่ทำให้หลายคนใจสลาย คือการที่เด็กเสียชีวิตหลังการคลอด ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ เราลองไปดูกันว่าเธอจะสามารถเรียกร้องสิทธิอะไรได้บ้างคุณนภาอยู่ในช่วงระยะเวลาใกล้คลอด จึงใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพเข้ารับการผ่าคลอดที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ซึ่งหลังจากได้รับการผ่าคลอดแล้วเรียบร้อยและได้ยินเสียงเด็กร้องแล้ว ทางพยาบาลก็เดินมาเรียกชื่อ ถามสิทธิต่างๆ พร้อมนำเด็กมาให้กินนมของเธอ ภายหลังคุณนภาหลับและตื่นมาอีกครั้ง ทางพยาบาลก็ได้เข้ามาแจ้งว่าจะวัคซีนให้ พร้อมเดินเข้ามาอุ้มเด็ก แต่ทันใดนั้นก็ส่งเสียงร้องตกใจและรีบนำเด็กออกไปจากห้อง ซึ่งเมื่อกลับเข้ามาอีกครั้งก็ได้แจ้งเรื่องที่ไม่คาดคิดว่า ลูกของเธอได้เสียชีวิตแล้ว โดยอาจมีสาเหตุจากโรคประจำตัวอย่างไรก็ตามหลังออกจากโรงพยาบาล คุณนภาตัดสินใจส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ ด้วยเหตุที่เธอไม่แน่ใจสาเหตุการเสียชีวิตของลูก นอกจากนี้ยังอยากทราบว่าจะสามารถเรียกร้องความรับผิดชอบอะไรจากโรงพยาบาลได้บ้างหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นสามารถเรียกร้องให้ทางโรงพยาบาลชดใช้เยียวยาความเสียหายได้ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นโดยเงินช่วยเหลือเบื้องต้น หมายถึง เงินที่จ่ายให้ผู้รับบริการหรือทายาทหรือผู้อุปการะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับค่าเสียหายจากการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการ โดยมิต้องรอการพิสูจน์ถูกผิด แต่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด  ทั้งนี้เกณฑ์การพิจารณาเงินช่วยเหลือ คือ 1. กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท 2. กรณีพิการหรือสูญเสียอวัยวะ จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท 3. กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 100,000 บาท 4. กรณีฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องและได้รับการดูแลตามมาตรฐานการฝากครรภ์ จนอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป และทารกเสียชีวิตในครรภ์ระหว่างการดูแลในหน่วยบริการ ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้เท่ากรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร และหากมารดาได้รับความเสียหายด้วยก็ให้ได้รับเงินช่วยเหลือได้อีกตามประเภทความเสียหายนั้น สำหรับกรณีนี้ศูนย์ฯ ได้ช่วยผู้ร้องทำหนังสือถึงโรงพยาบาลเพื่อให้มีการเยียวยาผู้ร้องก่อนเบื้องต้น พร้อมแนะนำให้รอผลการชันสูตรการเสียชีวิตเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่า ทางประกันสังคมได้ติดต่อมาแนะนำผู้ร้องว่า ขอให้ผู้ร้องให้ความร่วมมือกับทางโรงพยาบาลว่า มีการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เพื่อจะให้เบิกเงินประกันสังคมได้ และนัดให้ผู้ร้องไปรับฟังคำชี้แจงจากโรงพยาบาล ส่งผลให้ผู้ร้องไม่แน่ใจว่าควรจะเข้าไปฟังเองเพียงคนเดียวหรือไม่ ศูนย์ฯ จึงช่วยประสานงานให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ไปร่วมฟังคำชี้แจงด้วย ซึ่งผลชันสูตรพบว่าเด็กมีอาการไหลตาย และทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพจะชดเชยเยียวยาผู้ร้องเป็นจำนวน 320,000 บาท ด้านผู้ร้องไม่ติดใจอะไรเพิ่มเติมกับผลการชันสูตรและตกลงรับข้อเสนอดังกล่าว จึงยินดียุติการร้องเรียน ทั้งนี้ขอเพิ่มเติมเล็กน้อย สำหรับผู้ที่ต้องการยื่นเรื่องร้องเรียน สามารถยื่นคำร้องได้ 2 วิธี  คือ ด้วยตนเองที่หน่วยรับคำร้อง หรือส่งคำร้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาจังหวัด(สสจ.) ที่เกิดเหตุ หรือกรณีในกรุงเทพฯ สามารถส่งไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำกรุงเทพมหานคร โดยเตรียมเอกสารที่ดังนี้ 1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 2. สำเนาทะเบียนบ้าน 3. หนังสือมอบอำนาจ(กรณีที่มีการมอบอำนาจ) 4. เอกสารหรือหลักฐานแสดงรายละเอียดข้อมูลอื่นที่อาจใช้เป็นประโยชน์ประกอบการพิจารณา(ถ้ามี) และข้อสำคัญคือต้องยื่นเรื่องภายใน 1 ปี นับจากทราบความเสียหาย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 กระแสในประเทศ

 ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2555 คุณพ่อก็ลาคลอดได้รู้กันหรือยังว่า คุณพ่อก็ลาคลอดได้ ไม่ต้องสงสัยว่าผู้ชายจะคลอดลูกได้ไง เพราะสิทธิที่ได้คือการลาหยุดเพื่อไปดูแลภรรยาในช่วงหลังคลอดบุตร ซึ่งสิทธิประโยชน์นี้ได้ถูกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยคุณพ่อสามารถลาหยุดไปดูแลคุณแม่และลูกน้อยได้ 15 วัน โดยไม่ถือเป็นวันหยุด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากที่ให้คุณพ่อได้ไปช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลลูกทำให้คุณแม่สามารถพักฟื้นร่างกายได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยที่บอกว่า การที่สามีอยู่ใกล้ชิดภรรยาหลังคลอดจะทำให้ภรรยารู้สึกดีมีกำลังใจในการเลี้ยงลูก โดยภาวะหลังคลอดของผู้หญิง จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้เกิดความวิตกกังวล เกิดอาการซึมเศร้า เหนื่อยล้า ซึ่งอาจส่งผลทำให้ปริมาณน้ำนมแม่ลดลง แต่ก็ยังเป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะสิทธิวันหยุดนี้ยังให้สิทธิเฉพาะข้าราชการเท่านั้น พนักงานและลูกจ้างบริษัทเอกชนยังไม่มีโอกาสได้ใช้ ก็หวังว่าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันผลักดันสิทธิวันหยุดลาคลอดของผู้ชายให้ทุกคนได้ใช้กันอย่างเท่าเทียม-------------   ขนมจากชายแดน...วายร้ายอิมพอร์ต เรื่องขนมไม่ใช่เรื่องเล็กๆ หากซื้อมารับประทานสุ่มสี่สุ่มห้าระวังโรคร้ายถามหาไม่รู้ตัว ยิ่งตอนนี้ขนมที่ไม่ได้มาตรฐานที่ทะลักเข้ามาจากชายแดนกำลังระบาดหนัก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน ขนมที่ลักลอบจากประเทศเพื่อนบ้านแล้วนำมาขายในบ้านเรามักเป็นเป็นขนมที่มีคุณภาพต่ำ  ไม่มีการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ไม่มีการแสดงฉลากภาษาไทย ซึ่งเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสารปนเปื้อน ทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย และสีผสมอาหาร แถมยิ่งถ้ารับประทานแล้วเกิดเจ็บป่วยก็ยากที่จะหาผู้รับผิดชอบ เพราะไม่มีข้อมูลที่อยู่ผู้ผลิตที่จะเอาผิดได้ นอกจากขนมที่ลักลอบนำเข้ามาตามชายแดนแล้ว ทาง อย. ยังฝากเตือนให้ระวังอันตรายของขนมที่นำมาแบ่งขายหรืออยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่น่าสงสัย ไม่ได้มาตรฐาน และไม่มีการบอกข้อมูลใดๆ ทั้งชื่อผู้ผลิต ส่วนประกอบ และวันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ เพราะตอนนี้มีผู้ประกอบการที่ไม่หวังดีไปตระเวนรับซื้อขนมที่หมดอายุ ผลิตไม่ได้มาตรฐาน หีบห่อฉีกขาดจากโรงงาน จากนั้นนำมาใส่บรรจุภัณฑ์ใหม่และวางขายในราคาถูก------------------   แต่งไฟหน้ารถ ระวังผิดกฎหมายใครที่กำลังคิดจะแต่งหรือดัดแปลงโคมไฟหน้ารถสุดรักของตัวเอง อย่าลืมศึกษาข้อมูลทางกฎหมาย รวมทั้งอย่ามองข้ามเรื่องความปลอดภัย เพราะตอนนี้กองบังคับการตำรวจจราจรเขาเอาจริง เร่งกวดขันรถยนต์ที่ดัดแปลงไฟหน้าให้มีความสว่างมากกว่าปกติ ซึ่งแสงที่มีความสว่างมากเกินไปจะรบกวนการมองเห็นของผู้ขับขี่รายอื่นทำให้เกิดอันตราย ซึ่งสีของโคมไฟหน้ารถยนต์ที่ถูกต้องตามกฎหมายคือ สีขาวหรือสีเหลืองอ่อนเท่านั้น ถ้าเป็นสีอื่นนอกเหนือจากนี้ถือว่าผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก นอกจากนี้กองบังคับการตำรวจจราจรยังฝากเตือนถึงสินค้าตัวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่คนที่ชอบแต่งรถอย่าง ไฟซีนอนวงแหวน 2 ชั้น หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ไฟทรานส์ฟอร์เมอร์” เพราะมีลักษณะคล้ายดวงตาของหุ่นยนต์ในภาพยนตร์เรื่องทรานส์ฟอร์เมอร์ ซึ่งมีผลิตออกมาหลายสี ถ้าหากใช้สีอื่นๆ นอกจากสีขาวและสีเหลืองอ่อนถือว่าผิดกฎหมาย สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับโคมไฟรถยนต์ที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก โคมไฟแสงพุ่งไกลหน้ารถต้องมีความสูงจากพื้นถึงจุดศูนย์กลางดวงโคมไม่น้อยกว่า 0.6 เมตร แต่ไม่เกิน 1.35 เมตร โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงขาว มีกำลังไฟเท่ากัน ไม่เกินดวงละ 50 วัตต์ โดยขณะนี้นักวิชาการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) พยายามเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบกแก้ไขความสูงไฟหน้ารถจากพื้นราบถึงจุดศูนย์กลางดวงโคม จากเดิมกำหนดไม่เกิน 1.35 เมตร เปลี่ยนเป็นไม่เกิน 1.2 เมตร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะรถยนต์ประเภทกระบะหรือโฟร์วีล เมื่อบรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก รถยนต์จะเงยสูงขึ้นไปอีก ทำให้ทิศทางของแสงไฟหน้ารถรบกวนรถยนต์คันอื่นๆ---------------- เจ็บป่วยไม่สบาย รักษาหายด้วยการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าพัฒนาการแพทย์แผนไทย ประกาศให้การรับรองการรักษาจากภูมิปัญญาพื้นบ้านสามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยขณะนี้มี 8 โรคที่กระทรวงฯ ให้การรับรอง ได้แก่ 1.งูพิษกัด 2.โรคกระดูกหัก 3.โรคอัมพฤกษ์/อัมพาต 4.อาการปวดเมื่อย 5.ไหล่ติด 6.โรคเรื้อรังอาทิเบาหวาน 7.โรคสะเก็ดเงิน 8.โรคตับแข็ง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการดูแลสุขภาพแม่และเด็ก การบำรุงน้ำนมแม่หลังคลอด ซึ่งมีโรงพยาบาลที่รับรองการรักษาแล้วทั้งหมด 23 แห่ง ใน 16 จังหวัด  โดยแต่ละโรงพยาบาลก็จะให้การรักษาในแต่ละโรคแตกต่างกันไป ตามความถนัดของหมอพื้นบ้านในพื้นที่นั้นๆ ประกอบด้วย การรักษากระดูกหักที่โรงพยาบาลได้แก่ 1.รพ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี 2.รพ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี 3.รพ.กันทราลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ 4.รพ.สูงเม่น จ.แพร่ 5.รพ.สอง จ.แพร่ 6.รพ.พิชัย จ.อุตรดิถต์ 7.รพ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา 8. รพ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี 9.รพ.เทพา จ.สงขลา และ 10.รพ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา 11.รพ.ชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร 12.รพ.หลังสวน จ.ชุมพร  13.รพ.ละแม จ.ชุมพร การรักษาปัญหาไหล่ติดที่ รพ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี, รักษาอัมพฤกษ์/อัมพาตที่ รพ.เทิง จ.เชียงราย รักษาโรคเรื้อรังเช่นเบาหวานที่ รพ.คลองใหญ่ จ.ตราด,  และโรคปวดเมื่อยด้วยวิธีย่ำขางที่ รพ.แม่ลาว จ.เชียงราย, รักษาโรคสะเก็ดเงินและโรคตับแข็งที่ รพ.พระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ซึ่งจัดเป็นโรงพยาบาลศูนย์แห่งเดียวที่บริการด้านนี้, การรักษางูพิษกัด สัตว์พิษกัด ที่รพ.พนมดงรักเฉลิมพระเกียรติ และรพ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ------------- “เลิกเก็บ 30 บาท” “เครือข่ายประชาชนคนรักหลักประกันสุขภาพ” คือเครือข่ายที่เกิดจากการรวมตัวกันของภาคประชาชนที่ทำงานด้านสุขภาพจากทั่วประเทศ ที่ขอทำหน้าที่แทนคนไทยทั้งประเทศในการเป็นกระบอกเสียงส่งต่อไปถึงภาครัฐ เรื่องความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการบริการด้านการรักษาพยาบาลของประเทศไทย โดยมุ่งหวังให้เกิดการบริการด้านการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ เท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ โดยเรื่องเร่งด่วนที่ทางเครือข่ายฯ กำลังเดินหน้าเรียกร้องกับรัฐบาล คือเรื่องการขอให้ยกเลิกการเก็บค่าบริการ 30 บาทจากผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งผู้ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย และสิทธิในเรื่องการรักษาพยาบาลถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่ภาครัฐต้องจัดสรรให้กับประชาชนคนไทยทุกคน นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอด้านบริการสาธารณสุขอื่นๆ ที่เครือข่ายฯ วอนให้ภาครัฐช่วยปรับปรุงพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการขอให้รัฐบาลเร่งผลักดันให้มีระบบสุขภาพของประเทศ ที่มีคุณภาพเพียงมาตรฐานเดียว ซึ่ง ณ เวลานี้ประเทศไทยเรายังมีการแบ่งเรื่องการรักษาพยาบาลออกเป็นหลายระบบ ทั้งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม ระบบราชการ ทำให้ระบบการรักษาพยาบาลของบ้านเรามีหลายมาตรฐาน รวมทั้งการขอให้รัฐบาลสนับสนุนและผลักดันให้รัฐสภาเร่งพิจารณา(ร่าง)พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... ที่จะช่วยชดเชยผู้ป่วยในกรณีเกิดความผิดพลาดจากการรักษาพยาบาล โดยจะไม่มีการเอาผิดจากแพทย์ ซึ่งช่วยให้ไม่ต้องนำไปสู่การฟ้องร้องอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 คลอดบุตรตายในโรงพยาบาลของรัฐ ใครรับผิดชอบ? ตอนที่ 2

  ต่อกันจากคราวก่อน เรื่อง ฝากครรภ์ไว้กับโรงพยาบาลแล้ว หากเกิดปัญหาขึ้น มีทางสำหรับการชดเชยเยียวยาครับ มาดูตัวอย่างกรณีศึกษา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3749/2554 คดีระหว่าง นางสุภีย์  ศรีบุญเพ็ง โจทก์ กับ กระทรวงสาธารณสุข จำเลย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ การประเมินสถานการณ์ที่จะทำคลอดให้โจทก์ของ ส. แพทย์เวรผิดพลาด เมื่อโจทก์ไม่สามารถคลอดเองโดยธรรมชาติ ส. ได้ทำคลอดโดยใช้เครื่องดูดสุญญากาศถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่สามารถคลอดทารกออกมาได้  เป็นเหตุให้ทารกตกอยู่ในภาวะเครียดและถ่ายขี้เทาปนออกมาในน้ำคร่ำจนมาสู่การสำลักน้ำคร่ำ ปอดแตก และสมองขาดออกซิเจนจนถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา  ประกอบกับโจทก์อยู่ในสภาพที่พร้อมจะคลอดทารก แต่ต้องรอทำการคลอดเป็นเวลานานกว่า 12 ชั่วโมงโดยไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร  เมื่อแพทย์และพยาบาลเริ่มทำการคลอดให้โจทก์ด้วยวิธีการต่างๆ  ไม่ว่าการให้คลอดเองตามธรรมชาติและต่อมาโดยใช้เครื่องสุญญากาศดูดทารก ก็ไม่อาจนำทารกออกมาได้  ทั้งๆที่ก่อนคลอดสุขภาพโจทก์และทารกอยู่ในสภาพปกติ  ต้องถือว่าการตายของทารกมีผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินการทำคลอดที่ล่าช้าเนิ่นนานเกินไปและการเลือกใช้วิธีการทำคลอดที่ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของโจทก์อย่างทันท่วงที จึงเป็นการไม่ใช้ความละเอียดรอบคอบถี่ถ้วนและความระมัดระวังตามแกติวิสัยของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์และพยาบาลอย่างเพียงพอ นับเป็นความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่จำเลยต้องรับผิดชอบ"   หมายเหตุผู้เขียน คดีนี้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1,800,000  บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 120,000 บาท  ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยใช้เงิน 360,000 บาท ศาลฎีกาพิพากษายืนโดยให้ใช้ค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี โรงพยาบาลที่เกิดเหตุคือ โรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เรื่องทำนองเดียวกันนี้( ข้อเท็จจริงเหมือนกันเลย)  และผู้เสียหายไปฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ในชั้นไกล่เกลี่ย กระทรวงสาธารณสุขยอมจ่ายเงินค่าเสียหายให้ผู้เสียหาย 200,000 บาท  โรงพยาบาลที่เกิดเหตุคือ โรงพยาบาลสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี  สาวท้องแก่ใกล้คลอดขอให้เลือกโรงพยาบาลดีๆ หน่อยก็แล้วกัน   พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2538 “ หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย “ มาตรา 5 บัญญัติว่า “ หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เข้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่  ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง  แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบตามวรรคหนึ่ง “

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 คลอดบุตรตายในโรงพยาบาลของรัฐ ใครรับผิดชอบ? ตอนที่ 1

โรงพยาบาล ของรัฐในประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีสังกัดดังนี้ 1.กระทรวงสาธารณสุข 2.มหาวิทยาลัยของรัฐ 3.หน่วยงานตามกฎหมายเฉพาะ เช่น  กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา 4.หน่วยงานทหาร ตำรวจ 5.รัฐวิสาหกิจ เช่น โรงพยาบาลรถไฟ โรงพยาบาลยาสูบ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2538  มาตรา 4 บัญญัติว่า “ ในพระราชบัญญัตินี้ “ เจ้าหน้าที่ “ หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการหรือฐานะอื่นใด “   “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย“ และตาม มาตรา 5 บัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เข้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่  ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง  แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใด ให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบตามวรรคหนึ่ง“ มาตรา 6 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในการนั้นเป็นการเฉพาะตัว ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง แต่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้ “ มีปัญหาต่อไปว่าผู้เสียหายจะต้องฟ้องยังศาลไหน ศาลปกครอง หรือ ศาลยุติธรรม ? มีหลักดังนี้ กรณีต้องฟ้องต่อศาลยุติธรรม คือ 1.เป็นการกระทำละเมิดที่ไม่ได้เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ( เป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ ) 2.เป็นการกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ แต่มิใช่เกิดจาก  การใช้อำนาจตามกฎหมายปกครอง , การออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น  ,  จากการละเลยต่อหน้าที่ที่กฏหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ , จากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร  กรณีต้องฟ้องต่อศาลปกครอง คือ 1. การกระทำละเมิดเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ 2.การกระทำละเมิดตาม (1) เกิดจาก การใช้อำนาจตามกฏหมายปกครอง , การออกกฏ คำสั่งทางปกครอง หรือ คำสั่งอื่น , จากการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ , จากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร การที่แพทย์โรงพยาบาลของรัฐผ่าตัด/รักษาโรคแก่คนไข้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในทางปกครองหรือไม่นั้น ศาลปกครองสูงสุดและคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า  การปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ประจำโรงพยาบาล  ถือว่าเป็นการให้บริการสาธารณะเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยตามปกติ เป็นการกระทำทางกายภาพ มิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่   68/2544 , 70/2544, 213/2545, 250/2545,566/2545,546/2547   คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ (2/2545, 14/2548) ครั้งหน้า เราจะมีกรณีศึกษาเรื่องนี้มานำเสนอครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 คลอดเหมาจ่าย เลือกยังไงให้ถูกใจคุณแม่

ฉลาดซื้อฉบับนี้มาพร้อมกับบรรยากาศอบอุ่นไอรักรับช่วง “วันแม่” ด้วยข้อมูลดีๆ สำหรับคนที่กำลังเตรียมตัวจะเป็นคุณแม่ กับการเลือกใช้บริการ “แพ็คเก็จคลอดเหมาจ่าย”   แพ็คเก็จคลอดเหมาจ่ายสำคัญอย่างไร การคลอดแบบเหมาจ่าย ถือเป็นบริการที่ช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายใจคลายกังวลเรื่องการคลอด เพราะทางโรงพยาบาลจะรวบรวมการบริการที่จำเป็นสำหรับการคลอดมาไว้ในแพ็คเก็จ ที่สำคัญคือมีการระบุราคาเอาไว้ให้เรียบร้อย ทำให้คุณแม่สามารถวางแผนค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งปัจจุบันเกือบทุกโรงพยาบาลมีให้บริการการคลอดแบบเหมาจ่าย (โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน) ซึ่งแน่นอนว่าทุกที่ต่างแข่งขันกันเรื่องบริการและราคา ฉลาดซื้อจึงอยากนำเสนอคำแนะนำง่ายๆ สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่กำลังตัดสินใจเรื่องใช้บริการแพ็คเก็จคลอดเหมาจ่าย สิ่งที่คุณแม่ต้องได้รับจากบริการคลอดแบบเหมาจ่าย 1.แพทย์ ซึ่งต้องเป็น สูติแพทย์ กุมารแพทย์ และวิสัญญีแพทย์ กรณีผ่าตัดคลอดแล้วมีการใช้ยาสลบ ซึ่งในบางโรงพยาบาล เราสามารถเลือกแพทย์ที่จะทำการคลอดได้ด้วย   2.ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็นในการคลอด ซึ่งในส่วนนี้คุณแม่ต้องดูรายละเอียดให้ดี เพราะบางโรงพยาบาลก็จัดยาและเวชภัณฑ์เฉพาะที่ใช้ภายในห้องคลอดหรือเกี่ยวกับการคลอดเท่านั้น หากเป็นยาอื่นๆ เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้ อาจจะมีการคิดราคาเพิ่มนอกเหนือจากราคาที่ระบุไว้ในแพ็คเก็จ 3.ห้องคลอด ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่คอยทำงานอยู่ในห้อง พยาบาล แพทย์ ผู้ช่วย อุปกรณ์ เครื่องไม้ เครื่องมือต่างๆ ซึ่งในบางโรงพยาบาลจะมีการพาคุณแม่ไปชมห้องคลอดก่อนการตัดสินใจเลือกใช้บริการ 4.ค่าห้องพักทั้งของคุณแม่และคุณลูก ซึ่งในแพ็คเก็จจะมีการแจ้งระยะเวลาเอาไว้ชัดเจน เช่น 2 หรือ 3 คืน หากพักเกิน ทางโรงพยาบาลจะคิดค่าบริการเพิ่มตามจำนวนวันที่เกินมา นอกจากนี้ด้วยความที่โรงพยาบาลเอกชนแข่งขันกันเรื่องบริการ การจัดทำห้องพิเศษต่างๆ ก็ถือเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งที่ใช้จูงใจคุณแม่ที่อยากได้ความสะดวกสบาย ความมั่นใจ หรือความเป็นส่วนตัว เรียกว่าห้องพักโรงพยาบาลเอกชนเดี่ยวนี้ก็ไม่ต่างจากห้องพักตามโรงแรม 5 ดาว ซึ่งแน่นอนว่าความแตกต่างของห้องพักมีผลต่อความแตกต่างของราคา 5.การตรวจพื้นฐาน เช่น สุขภาพของคุณแม่ทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด สุขภาพของลูกในท้องสภาวะการเต้นของหัวใจ ตรวจสุขของเด็กหลังคลอด ความผิดปกติทางสมอง การตรวจเลือด เพื่อหาระดับฮอร์โมนสัมพันธ์ธัยรอยด์ การตรวจหาเชื้อซิฟิลิส 6.การให้วัคซีนป้องกันโรคแก่ทารกแรกเกิด ซึ่งประกอบด้วย วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันวัณโรค วิตามินเค รวมทั้งการยาหยอดตาเพื่อป้องกันตาอักเสบ และการตรวจคัดกรองการได้ยิน   แพ็กเก็จคลอดเหมาจ่าย ตารางแสดงตัวอย่างราคาแพ็คเก็จการคลอดของโรงพยาบาลต่างๆ โรงพยาบาล คลอดแบบธรรมชาติ ผ่าตัดคลอด ค่าคลอดธรรมชาติ จ่ายเพิ่มกรณีฉีดยาที่ไขสันหลัง (ลดการเจ็บปวด) เวลาที่ได้พักในโรงพยาบาล ค่าผ่าตัดคลอด เวลาที่ได้พักในโรงพยาบาล เกษมราษฎร์ บางแค   22,900 6,000 2 คืน 37,900 3 คืน ทักษิณ จ.สุราษฎร์ธานี 21,000 ตามค่าใช้จ่ายจริง 2 คืน 33,500 3 คืน บำรุงราษฎร์ 49,900 10,000 2 คืน 69,900 3 คืน ปิยะเวท 29,900 8,000 2 คืน 49,900 3 คืน พญาไท 37,000 6,000 2 คืน 51,000 3 คืน พระรามเก้า 39,000 6,000 2 คืน 59,000 3 คืน รามคำแหง 36,000   2 คืน 48,000 3 คืน ราษฎร์บูรณะ   20,000 4,000 2 คืน 34,000 3 คืน วิภาวดี 28,900 3,500 2 คืน 43,900 3 คืน นนทเวช 32,000 ตามค่าใช้จ่ายจริง 2 คืน 46,500 3 คืน ลาดพร้าว 29,900 ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม 2 คืน 39,900 3 คืน เวชธานี 36,900 10,000 2 คืน 49,900 3 คืน สมิตเวช สรีนครินทร์ 44,900 ตามค่าใช้จ่ายจริง 2 คืน 68,700 3 คืน หัวเฉียว 39,000 ตามค่าใช้จ่ายจริง 3 คืน 50,000 4 คืน รามาธิบดี 4,000 – 5,000 ตามค่าใช้จ่ายจริง 2 คืน 8,000 – 10,000 3 คืน   *สำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 *ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงควรสอบถามไปยังโรงพยาบาลก่อนใช้บริการ *ตามค่าใช้จ่ายจริง คือค่าบริการมาตรฐานปกติของโรงพยาบาล ควรสอบถามราคาและเงื่อนไขก่อนใช้บริการ   รู้ไว้ก่อนใช้บริการคลอดแบบเหมาจ่าย -ราคาค่าบริการต่างๆ ที่ระบุไว้ในแพ็คเก็จ โรงพยาบาลอาจปรับเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า -คุณแม่ที่สามารถใช้บริการได้ต้องเป็นคุณแม่ที่มีสุขภาพแข็งแรง มีอายุครรภ์อย่างน้อย 36 สัปดาห์ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ -คุณแม่ที่คลอดลูกแฝดหมดสิทธิใช้แพ็คเก็จ -ทางโรงพยาบาลมักจะขายพ่วงบริการอื่นๆ แถมไปกับแพ็คเก็จคลอด เช่น การทำหมัน ผ่าตัดไส้ติ่ง ซึ่งถ้าจะใช้บริการก็ต้องมีการจ่ายเพิ่มตามราคาที่แต่ละโรงพยาบาลกำหนด -หากหลังจากคลอดแล้วไม่ว่าจะแม่หรือเด็กเกิดภาวะแทรกซ้อนต้องได้รับการรักษาพยาบาลเพิ่มเติม ค่าบริการก็จะถูกบวกเพิ่มตามแต่อาการเจ็บป่วยและวิธีการรักษา ในบางโรงพยาบาลก็ใช้วิธีคิดค่าใช้จ่ายแยก เช่น หากในกรณีที่คลอดแล้วคุณแม่ปกติแต่ลูกมีภาวะแทรกซ้อน ก็ใช้วิธีคิดค่าบริการเฉพาะของแม่แล้วหักของลูกออก โดยจะนำไปคิดค่าใช้จ่ายรวมกับการรักษาพยาบาลในส่วนความผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังคลอด -บางโรงพยาบาลมีการกำหนดเรื่องของเวลา เช่น หากคุณแม่เจาะจงเลือกคลอดบางช่วงเวลาก็ไม่สามารถใช้ราคาแพ็คเก็จได้ เช่น โรงพยาบาลนนทเวช แจ้งไว้ว่าหากคุณแม่คนไหนต้องการคลอดช่วง 21.00 - 07.00 น. จะไม่สามารถใช้แพ็คเก็จผ่าคลอดได้ ---------------------------------------------------------------------------------------   สิทธิที่เกี่ยวกับการคลอด สิทธิประกันสังคม สำหรับคุณแม่ที่ใช้สิทธิประกันสังคม จะได้รับเงินค่าคลอดบุตรจำนวน 13,000 บาท โดยสามารถใช้สิทธิได้ 2 ครั้ง (แต่ถ้าคุณพ่อก็ใช้ประกันสังคมเหมือนกันก็จะได้รับสิทธิเพิ่มอีก 2 ครั้ง) โดยสามารถฝากคลอดกับโรงพยาบาลใดก็ได้ นอกจากนี้คุณแม่คนใหม่ยังจะได้รับเงินชดเชยการหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร โดยจะได้รับในอัตรา 50% ของเงินเดือนเฉลี่ย 90 วัน สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ใช้สิทธิคลอดบุตรได้ 2 ครั้ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลที่แจ้งสิทธิไว้ โดยสามารถขอรับบริการด้านสุขภาพการตั้งครรภ์ทั้งก่อนและหลังคลอด สิทธิข้าราชการ นอกจากจะสามารถเบิกค่าคลอดในโรงพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งได้แล้ว คุณแม่ยังมีสิทธิลาคลอดได้อีก 90 วัน และที่ตากต่างจากสิทธิ์อื่นๆ คือคุณพ่อที่เป็นข้าราชการยังสามารถลาไปช่วยคุณแม่เลี้ยงลูกได้ 15 วัน นอกจากนี้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ได้กำหนดไว้ลูกจ้างหญิงสามารถลาคลอดได้ 90 วัน โดยยังได้รับค่าจ้าง 45 วัน How to คุณแม่มือใหม่ เพราะการตั้งครรภ์ถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ในชีวิตของลูกผู้หญิง แม้จะเป็นเรื่องที่น่าดีใจแต่ก็มีเรื่องที่ทำให้คุณแม่มือใหม่ (หรือแม้แต่คุณแม่มืออาชีพที่เคยมีประสบการณ์มาแล้ว) ต้องหนักใจด้วยเช่นกัน กลัวไปสารพัดอย่าง ดังนั้นขอเอาใจคนใกล้เป็นแม่ หรือเตรียมตัวเป็นคุณแม่ ด้วยเรื่องราวที่ควรรู้เบื้องต้น ดังต่อไปนี้ 1.การฝากครรภ์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นคุณแม่ ซึ่งในการฝากครรภ์กับสถานพยาบาลต่างๆ คุณหมอหรือแพทย์ที่ดูแลจะให้ทั้งคำแนะนำในการดูแลครรภ์ การดูแลคุณแม่ไม่ให้เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทั้งทางร่างกายและจิตใจที่อาจส่งผลต่อสุขภาพครรภ์ ที่สำคัญคือการตรวจสุขภาพของคุณแม่ว่ามีภาวะเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกในท้องหรือแม้แต่ตัวคุณแม่เองหรือไม่ ซึ่งหากตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ในระยะต้นก็อาจจะช่วยรักษาหรือหาทางแก้ไขที่อาจจะเกิดขึ้นได้ สำหรับระยะเวลาในการฝากครรภ์ที่เหมาะสม คือ ไปฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ โดยในช่วงอายุครรภ์ 7 เดือนแรก (28 สัปดาห์) จะต้องมีการนัดพบกับคุณหมอผู้ดูครรภ์อย่างน้อยทุกๆ 4 สัปดาห์ หรือเดือนละครั้ง ในช่วงเดือนที่ 8 ให้เพิ่มเป็น 2 อาทิตย์ต่อครั้ง พออายุครรภ์ครบ 9 เดือน ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคุณหมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จนกว่าจะถึงกำหนดคลอด   2.เลือกสถานพยาบาล สิ่งที่คุณแม่มือใหม่ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและน่าจะเป็นคำถามลำดับแรกๆ ในใจของหลายๆ คนก็คือ “การเลือกโรงพยาบาลสำหรับฝากครรภ์” ฉลาดซื้อมีคำแนะนำง่ายๆ ให้คุณแม่นำไปใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกโรงพยาบาลเพื่อการคลอด   -ดูที่ความสะดวกในการไปใช้บริการ แน่นอนว่าการคลอดลูกเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญ คุณแม่ทุกคนอยากให้ลูกที่จะคลอดออกมาได้รับการบริการและดูแลอย่างดีที่สุด คุณแม่ส่วนใหญ่ก็อยากจะไปฝากครรภ์กับโรงพยาบาลชื่อดังเพราะมั่นใจเรื่องการบริการ แต่ก่อนเลือกก็อย่าลืมดูเรื่องความเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องการเดินทาง ถ้าหากการไปพบหมอแต่ละครั้งนำมาซึ่งความยากลำบาก ยิ่งเมื่อคุณแม่ท้องใหญ่ขึ้นการเดินเหินไปไหนมาไหนก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนุกแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นหากจะเลือกโรงพยาบาลเพื่อฝากครรภ์ก็อย่าลืมช่างใจระหว่างโรงพยาบาลที่ไว้วางใจกับโรงพยาบาลที่เดินทางไปได้สะดวก เวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉินคุณแม่จะได้ไปพบแพทย์ได้ทันท่วงที   -เปรียบเทียบค่าบริการ เรื่องของค่าบริการน่าจะเป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจเรื่องแรกๆ ของหลายๆ คน ซึ่งถ้าหากจะเปรียบเทียบเรื่องของราคาให้เห็นภาพได้ง่ายที่สุด ก็ต้องแบ่งประเภทของโรงพยาบาลออกเป็น โรงพยาบาลของรัฐ กับ โรงพยาบาลของเอกชน ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องของราคาจะมีความแตกต่างกันมาก ในโรงพยาบาลของรัฐค่าบริการเรื่องการคลอดก็จะอยู่ในหลักพันบาทจนไปถึงหมื่นต้นๆ แต่หากเป็นของโรงพยาบาลเอกชนก็จะขยับสูงขึ้นไปถึงระดับหลายหมื่นบาท เรียกว่าแตกต่างกันค่อนข้างมาก แน่นอนว่าความแตกต่างของราคาก็ย่อมมีผลกับเรื่องของการให้บริการ ในโรงพยาบาลของรัฐซึ่งจะผู้มาใช้บริการมากกว่าในโรงพยาบาลเอกชน การเข้าไปใช้บริการก็อาจต้องมีการรอคิวอยู่บ้าง คุณหมอที่มาตรวจก็อาจมีการสลับสับเปลี่ยนกันไป เพราะคุณหมอในโรงพยาบาลรัฐมักไม่ใช่คุณหมอที่อยู่ประจำ แต่ก็สามารถติดต่อนัดเป็นพิเศษได้ แต่หากเป็นในโรงพยาบาลของเอกชนเราสามารถเลือกที่จะตรวจกับคุณหมอที่เราต้องการได้ สามารถเลือกห้องที่ต้องการได้ ไม่ต้องรอคิว ส่วนความเชื่อที่ว่าโรงพยาบาลของเอกชนรักษาดีกว่าโรงพยาบาลของรัฐนั้น อาจไม่จริงเสมอไป เพราะเดี๋ยวนี้ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆ ที่ใช้อยู่ในโรงพยาบาลก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก เพราะฉะนั้นราคาที่แพงกว่าอาจไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าจะได้รับการบริการทีดีกว่า เอาเป็นว่าขอให้เป็นเรื่องของความสบายใจ ใครที่พอจะมีเงินอยู่บ้างแล้วรู้สึกว่าการคลอดโรงพยาบาลเอกชนน่าจะอุ่นใจสบายใจกว่าก็คงไม่เป็นปัญหาที่จะเลือกใช้บริการ แต่ถ้าใครไม่มีทุนทรัพย์มากพอหรืออยากใช้เงินอยากประหยัดจะเลือกใช้บริการของโรงพยาบาลของรัฐก็ไม่ต้องกังวลใจ ขอแค่ให้ศึกษาเรื่องบริการต่างๆ ให้เข้าใจ คำนวณค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ เมื่อเลือกแล้วก็ขอให้ทำจิตใจให้สบาย ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพียงแค่นี้ก็รับรองได้ว่าการคลอดก็จะเป็นไปอย่างปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกน้อย   -ศึกษารายละเอียดการให้บริการของแต่ละโรงพยาบาล ปัจจุบันนี้บรรดาโรงพยาบาลต่างๆ (โดยเฉพาะโรงพยาบาลของเอกชน) ได้จัดทำแพ็คเก็จการคลอดแบบเหมาจ่ายมาให้คุณแม่ได้เลือกใช้บริการ ซึ่งแน่นอนว่าจุดเด่นของโรงพยาบาลเอกชนก็คือเรื่องของการบริการ ดังนั้นหากคิดจะเลือกใช้บริการการคลอดแบบเหมาจ่ายกับโรงพยาบาลเอกชน คุณแม่ก็ต้องศึกษารายละเอียดบริการต่างๆ ที่จะได้รับให้ดี เพราะแต่ละที่ราคาไม่เท่ากัน (แถมราคาก็สูงมากด้วย) แม้บริการหลักๆ คือการทำคลอดเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดปลีกย่อยอาจแตกต่างกัน เช่น ระยะเวลาในการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ประเภทของห้องที่พัก บริการเสริมอื่นๆ ที่บางโรงพยาบาลอาจมีการเพิ่มเข้าไป อย่างการอบรมการเลี้ยงลูกให้กับคุณแม่ เทคนิคการให้นมแม่ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ให้กับทารก ฯลฯ เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรศึกษาเปรียบเทียบดูหลายๆ โรงพยาบาล เพื่อให้ได้รับการบริการที่คุ้มค่าคุ้มราคา ตรงตามความต้องการของคุณแม่ มั่นใจและปลอดภัยมากที่สุด   -สอบถามข้อมูลจากคนที่มีประสบการณ์ เป็นธรรมดาที่คุณแม่ท้องแรกหรือคุณแม่มือใหม่ จะมีความกังวลใจเรื่องการคลอด การสอบถามพูดคุยกับผู้มีประสบการณ์ถือเป็นตัวช่วยที่ดีที่จะทำให้คุณแม่มือใหม่คลายความสงสัยและคลายความกังวลใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point