ฉบับที่ 137 ปรอทในครีมหน้าขาว

นาทีนี้การมีผิวหน้าสะอาด ชุ่มชื้น เพียงอย่างเดียวมันไม่เพียงพอเสียแล้ว เรายังรู้สึกเหมือนเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีผิวอ่อนเยาว์ ไร้ริ้วรอย และที่สำคัญต้องขาวใสไร้จุดด่างดำอีกด้วย ผลิตภัณฑ์ที่จะตอบสนองความต้องการดังกล่าวจึงมีออกมาให้เลือกกันมากมายหลายสูตร จนเลือกกันไม่ถูกเลยทีเดียว   มูลนิธิบูรณนิเวศ และนิตยสารฉลาดซื้อได้ร่วมกันเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ครีมที่อ้างสรรพคุณว่าทำให้ผิวหน้ามีสีจางลงหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าครีมหน้าขาว มาตรวจหาสารปรอท ซึ่งกฎหมายประกาศห้ามใช้ งานนี้เรายังได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจังหวัด พะเยา ขอนแก่น กาฬสินธุ์ สมุทรปราการ สงขลา สุราษฎร์ธานี ในการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากพื้นที่เข้ามาให้ด้วย   ครั้งนี้เราตรวจหาสารปรอทใน 47 ผลิตภัณฑ์ ที่เราเก็บตัวอย่างครีมจากซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีก ร้านสินค้าสุขภาพ รวมถึงแผงขายเครื่องสำอางในตลาดนัด ระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2555 มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากกรุงเทพมหานคร 15 ตัวอย่าง และตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากพื้นที่ต่างจังหวัด ได้แก่ นนทบุรี สุราษฎร์ธานี พะเยา สงขลา สมุทรปราการ กาฬสินธุ์ และขอนแก่น อีก 32 ตัวอย่าง   ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ครีมหน้าขาวทั้งหมดถูกส่งไปวิเคราะห์หาปริมาณสารปรอททั้งหมด ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของบริษัท อินเตอร์เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยวิธีตามมาตรฐานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   เราบอกคุณไม่ได้ว่าทาครีมยี่ห้อไหนแล้วจะขาวกว่ากัน แต่เรารู้แน่ว่ามีถึง 10 ผลิตภัณฑ์ (จากทั้งหมด 47 ผลิตภัณฑ์) ที่มีสารปรอทปนเปื้อน โดย “ครีมน้ำนมข้าว” ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีคว้าแชมป์ผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรอทมากที่สุด มากถึง 99,070 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามด้วย “ครีมไวท์โรส” จากสงขลา ที่มีปริมาณปรอทปนเปื้อน 51,600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนที่เหลืออีก 8 ผลิตภัณฑ์นั้นดูได้จากรายละเอียดในหน้าถัดไป   ซื้อแพงไว้ก่อนดีหรือไม่? นี่เป็นอีกครั้งที่เราพบว่าราคาที่แพงกว่า ไม่ได้รับรองว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะปราศจากสารอันตรายเสมอไป เช่น ผลิตภัณฑ์ “ไบโอคอลลาเจน” ที่มีราคาถึง 28 บาท ต่อกรัม มีสารปรอทถึง 47,960 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือครีม “มาดาม” ที่ราคากรัมละ 30 บาท ก็มีสารปรอทถึง 3,435 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “เภสัช” ซึ่งเราตรวจพบปริมาณสารปรอทต่ำกว่า 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นั้นมีราคาต่อหน่วยเท่ากับ 0.4 บาทเท่านั้น                ที่มา : องค์การอนามัยโลก, 2011 ---   ยุทธศาสตร์ไซคัม ยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีระหว่างประเทศ หรือยุทธศาสตร์ไซคัม (Strategic Approach to International Organization on Chemicals Management หรือ SAICM) มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ส่งเสริมให้เกิดการจัดการสารเคมีอย่างเหมาะสมตลอดวงจรชีวิตของสารเคมีนั้น ๆ ภายในปี พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ. 2020 การผลิตและการใช้สารเคมีจะต้องให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่จะปกป้องสังคมโลกให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย   ความเคลื่อนไหวที่สำคัญภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ไซคัมที่กำลังจะเกิดขึ้น ได้แก่ การพัฒนาข้อตกลงสากลว่าด้วยเรื่องสารปรอท (Mercury Treaty) นั่นเอง   หลักการพื้นฐาน 5 ข้อของยุทธศาสตร์ไซคัม 1) ลดความเสี่ยงจากสารเคมีอันตราย 2) ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและการส่งเสริมองค์ความรู้ต่างๆ 3) สร้างธรรมาภิบาล 4) เสริมสร้างศักยภาพและความร่วมมือทางเทคโนโลยี และ 5) ห้ามการขนส่งของเสียอันตรายข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >