ฉบับที่ 248 รวมพลังกินให้เรียบ

        รายงาน Food Waste Index Report 2021 ของ UNEP ประเมินว่าในปี 2019 ทั่วโลกมีขยะอาหารประมาณ 931 ล้านตัน (ร้อยละ 61 มาจากครัวเรือน ร้อยละ 26 มาจากกิจการร้านอาหาร อีกร้อยละ 13 มาจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าปลีก) นั่นหมายความว่าร้อยละ 17 ของ “อาหาร” ที่ผลิตได้ ต้องถูกทิ้งไปเฉยๆ  ตัวเลขจากสหรัฐอเมริการะบุว่าผักผลไม้ที่ “เสีย” ไปในช่วงระหว่างการเก็บเกี่ยวมาจนถึงร้านค้านั้นมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านเหรียญ  นักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังระบุอีกว่า ร้อยละ 10 ของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็มีที่มาจากขยะอาหารเหล่านี้         นอกจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม “อาหารเหลือทิ้ง” ยังเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของครัวเรือนด้วย เช่น สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (U.S. Bureau of Economic Analysis) พบว่ามลรัฐที่ผู้คน “เสียเงินซื้อของกินมาทิ้ง” มากที่สุดในอเมริกาคือรัฐเวอร์มอนต์ ที่อัตราคนละ 1,374.24 เหรียญ (ประมาณ 45,800 บาท) ต่อปี ขณะที่ประชากรในรัฐโอคลาโฮมา ซึ่ง “ทิ้งของกิน” น้อยที่สุดในประเทศ ก็ยังทิ้งเงินไปถึง 743.58 เหรียญ (ประมาณ 24,800 บาท) ต่อคนต่อปี         ยังไม่นับเรื่องความย้อนแย้งที่เรามี “อาหารถูกทิ้ง” ปริมาณมหาศาล ในขณะที่ประชากรไม่ต่ำกว่า 690 ล้านคนทั่วโลก (อ้างอิงสถิติล่าสุดของสหประชาชาติ) อยู่อย่างอดอยาก         ปัญหาเรื่องการกินทิ้งกินขว้างนี้เกิดขึ้นทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา  ในอเมริกา ร้อยละ 30 – 40 ของสิ่งที่ควรจะเป็นอาหารกลับกลายไปเป็นขยะ ด้านสหภาพยุโรปก็มีขยะอาหารถึงร้อยละ 20 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด แต่นั่นยังไม่เท่าเมืองไทยใหญ่อุดมของเราที่มีขยะจากอาหารเหลือทิ้งถึงร้อยละ 64 ของขยะทั้งหมด ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี พ.ศ. 2560 ระบุว่า คนไทยหนึ่งคนสร้างขยะอาหารถึงปีละ 254 กิโลกรัมเลยทีเดียว         สิ่งที่หลายประเทศลงมือทำ หรือกำลังจะทำเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน คือการใช้กฎหมายเพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทั้งจากครัวเรือน ร้านอาหาร และร้านค้าปลีก ลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี 2025 (สหภาพยุโรป) หรือภายในปี 2030 (อเมริกาและไทย เป็นต้น)           ระหว่างที่บ้านเรากำลังศึกษาจัดทำมาตรการและแนวทางในการลดขยะอาหาร เราขอชวนคุณมาส่องกฎหมายหรือข้อบังคับของประเทศอื่นไปพลางๆ ก่อน ไอร์แลนด์         ประเทศนี้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะอาหารมาตั้งแต่ปี 2009 เขากำหนดข้อห้ามหรือข้อปฏิบัติสำหรับกิจการโรงแรม ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงพยาบาล สถานรับเลี้ยงดูเด็กหรือคนชรา รวมถึงโรงอาหารของสถานประกอบการประเภทโรงงานไว้อย่างชัดเจน เช่น ห้ามนำขยะอาหารไปฝังกลบ ต้องใช้บริการ “รถเก็บขยะ” จากหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น หากต้องการทำปุ๋ยหมักก็ต้องทำเรื่องขอใบอนุญาตก่อน แม้แต่การนำอาหารเหลือไปเลี้ยงสัตว์ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เกาหลีใต้         เกาหลีใต้มีกฎหมาย “จ่ายตามปริมาณที่ทิ้ง” มาตั้งแต่ปี 2013  เขากำหนดให้ครัวเรือนเก็บขยะอาหารลงในถุงที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แล้วนำไปทิ้งในถังอลูมิเนียมซึ่งสามารถชั่งน้ำหนัก คำนวณค่าธรรมเนียม แล้วส่งบิลไปเรียกเก็บถึงบ้านทุกเดือน ด้วยเทคโนโลยี RFID         วิธีนี้ได้ผลดีมาก นอกจากชาวบ้านจะ “รีดน้ำ” ออกจากขยะเพื่อประหยัดค่าธรรมเนียม (ร้อยละ 80 ของน้ำหนักขยะมาจาก “ความชื้น”) ทำให้โรงงานจัดการขยะไม่ต้องนำ “น้ำขยะ” ไปเทลงชายฝั่งถึงวันละ 3,800 ตันอย่างที่เคย ปัจจุบันเกาหลียังสามารถเปลี่ยนขยะอาหารให้เป็นปุ๋ยได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 จากที่เคยทำได้เพียงร้อยละ 2 เมื่อปี 1995         เกาหลีเคยเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ที่มีขยะอาหารเหลือทิ้งมากที่สุด เมื่อปี 2005 เขามีขยะอาหารถึงวันละ 17,100 ตัน สาเหตุหนึ่งคือวัฒนธรรมการกินแบบที่ต้องมี “บันชัน” หรือเครื่องเคียงถ้วยเล็กๆ ในทุกมื้อ บ้านไหนมีฐานะ เครื่องเคียงก็ยิ่งต้องหลากหลายมากขึ้น ของเหลือจึงเพิ่มตามไปด้วย ฝรั่งเศส         ในปี 2016 ฝรั่งเศสออกกฎหมายให้ซูเปอร์มาร์เก็ตนำอาหารที่ขายไม่หมดไป “บริจาค” เท่านั้น หากยังดื้อดึงจะ “ทำลาย” อาหารที่ยังอยู่ในสภาพที่รับประทานได้ ห้างเหล่านี้จะถูกปรับในอัตราร้อยละ 0.1 ของยอดขายในปีนั้น (นโยบายทำนองนี้มีใช้ในนอร์เวย์ เดนมาร์ก ญี่ปุ่น และเกาหลี เช่นกัน)         นอกจากนี้ยังกำหนดให้บริการจัดเลี้ยง จัดเตรียมถุงให้กับแขกที่มาในงานได้นำอาหารเหลือกลับไปรับประทานด้วย         ในขณะเดียวกันก็กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารทบทวน “วันที่ควรบริโภค” ที่แจ้งต่อลูกค้า โดยคำนึงถึงเรื่องการลดขยะอาหารด้วย    สิงคโปร์         สิงคโปร์สามารถจัดการกับขยะได้ดีอย่างที่เรารู้กัน แม้ขยะอาหารในประเทศเขาจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 11 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด แต่สิงคโปร์ตั้งเป้าไว้สูงกว่านั้น เขามีสิ่งที่เรียกว่า Zero Waste Masterplan ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายว่าด้วยความยั่งยืนของทรัพยากร ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2019         ภายใต้แผนดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการ เช่น ห้าง โรงแรม หรือโรงอาหาร จะต้องจัดให้มี “พื้นที่สำหรับจัดการขยะอาหาร” และเมื่อถึงปี 2024 ผู้ประกอบการจะต้องมีการคัดแยกขยะเพื่อนำไปจัดการ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่าย  ขณะเดียวกันก็มีการฝึกอบรมอาสาสมัครเพื่อให้เป็นตัวแทนออกไปให้ความรู้กับชุมชนด้วย จีน         จีนผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการห้ามทิ้งอาหารออกมาหมาดๆ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากจะสั่งแบนคลิปวิดีโอประเภท “โชว์กินแหลก” แล้ว (ฝ่าฝืนมีค่าปรับ 100,000 หยวน หรือประมาณ 520,000 บาท)  เขายังมีบทลงโทษร้านอาหารที่ให้พนักงานมาคอย “เชียร์” ให้ลูกค้าสั่งอาหารเยอะๆ (ค่าปรับ 10,000 หยวน หรือประมาณ 52,000 บาท) หรือร้านที่มีอาหารเหลือทิ้งมากเกินไป (ปรับ 5,000 หยวน หรือประมาณ 26,000 บาท)         ทั้งนี้เขาอนุญาตให้ร้านอาหารคิดเงินเพิ่มเพื่อเป็นค่าจัดการกับอาหารที่เหลือได้ โดยต้องมีการติดป้ายบอกลูกค้าให้ชัดเจน         ในปี 2020 มีการรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกัน “กินให้เกลี้ยงจาน” เพื่อลดขยะจากอาหาร และให้ร้านอาหารยอมให้ลูกค้าสั่งอาหารไม่ครบคนได้ (เช่น มากัน 5 คน แต่สั่งเพียง 4 จาน)  สเปน         กฎหมายของสเปนที่ออกมาในปีนี้ (2021) เจาะจงไปที่ร้านค้าปลีก ด้วยการกำหนดให้ทางร้านนำผักผลไม้หน้าตาไม่ดีออกมาจำหน่าย แทนที่จะคัดทิ้งไป และสำหรับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (พื้นที่เกิน 400 ตารางเมตร) ห้างต้องจัดโปรแกรม “ส่งเสริมการขาย” เพื่อจูงใจให้ลูกค้าอยากซื้อผักผลไม้ดังกล่าวด้วย          ในกรณีที่ขายไม่ได้จริงๆ เขากำหนดให้นำไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศลหรือธนาคารอาหาร หากฝ่าฝืนมีค่าปรับระหว่าง 6,000 – 150,000 ยูโร (ประมาณ 230,000 – 5,800,000 บาท)         ฟิลิปปินส์เพื่อนบ้านเราก็กำลังลุ้นร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ลดขยะอาหาร ที่มีสาระสำคัญคล้ายกับกรณีของสเปน เช่นกัน     เวียดนาม         กฎหมายที่จะเริ่มใช้ในปี 2022 ตามแผนการลดขยะครัวเรือนของเวียดนาม กำหนดให้แต่ละบ้านแยกขยะออกเป็น 3 ประเภท (ขยะรีไซเคิล ขยะอาหาร และขยะอื่นๆ )  จัดเก็บในถุงบรรจุชนิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดการขยะตามจำนวนถุงที่ใช้ โดยผู้ให้บริการเก็บขยะมีสิทธิที่จะปฏิเสธการเก็บได้ หากผู้ทิ้งไม่ทำตามเงื่อนไข    รายละเอียดเรื่องค่าธรรมเนียมอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ปัจจุบันครัวเรือนในเขตเมืองของเวียดนามจ่ายค่าธรรมเนียมการเก็บขยะเดือนละ 25,000 – 30,000 ดอง (ประมาณ 35 - 45 บาท)https://www.un.org/en/global-issues/foodhttps://www.bloomberg.com/news/articles/2021-07-21/food-waste-problem-is-even-bigger-than-we-thought#:~:text=An%20estimated%202.5%20billion%20tons,and%20U.K.%20retailer%20Tesco%20Plc.https://uspackagingandwrapping.com/blog/which-states-waste-the-most-food.html?fbclid=IwAR21gG1TcjzjEbZn6ysS4NcCRouWLqKsjWfrWoJ3-zLaWoX9brFmSeYObGchttps://www.unep.org/resources/report/unep-food-waste-index-report-2021https://www.bworldonline.com/food-waste-not-want-not/?fbclid=IwAR193Pe4ZQF1VYMdb0tjZ5nEKwuQmbwq97KpvaF78imj3fl7iEZ3Uh-rMfohttps://www.nycfoodpolicy.org/food-policy-snapshot-south-korea-food-waste/https://www.globaltimes.cn/page/202104/1222490.shtmlhttps://stopfoodwaste.ie/resource/food-waste-the-lawhttps://ec.europa.eu/food/safety/food-waste/eu-actions-against-food-waste_enhttps://www.pewtrusts.org/en/research-and-analysis/blogs/stateline/2021/07/08/waste-not-some-states-are-sending-less-food-to-landfillshttps://www.fda.gov/food/consumers/food-loss-and-wastehttps://www.thaihealth.or.th/Content/50924   https://e.vnexpress.net/news/news/vietnam-to-apply-pay-as-you-throw-model-by-2025-4193441.html

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ฉลาดซื้อ เปิดผลทดสอบครัวซองต์ ยี่ห้อไหนให้พลังงานสูง

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างครัวซองต์ที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ และใกล้เคียง จำนวน 31 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา เพื่อวิเคราะห์ค่าพลังงาน ไขมัน (ไขมันรวม ไขมันอิ่มตัว  ไขมันทรานส์) และปริมาณโซเดียม เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ เนื่องจากขนมอบชนิดนี้มีค่าพลังงานที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะพลังงานจากไขมัน และยังเป็นการเฝ้าระวังเรื่องไขมันทรานส์ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ปริมาณโซเดียมในขนมอบหรือเบเกอรีก็เป็นสิ่งทึ่ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญและตระหนักรู้ ว่านี่คือแหล่งอาหารชนิดหนึ่งที่มีปริมาณโซเดียมสูง แม้ไม่มีรสเค็ม         สรุปผลการวิเคราะห์ครัวซองต์มีดังนี้ ครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่าง จะมีค่าพลังงาน (กิโลแคลอรี) ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 415 – 511 กิโลแคลอรี ตัวอย่างที่มีพลังงานมากที่สุด คือ ครัวซองต์ของร้าน KANOM  สาขา สามย่านมิตรทาวน์ มีพลังงาน 511 กิโลแคลอรี่ (Kcal) ตัวอย่างที่มีพลังงานน้อยที่สุดคือ ครัวซองต์จาก Big C  สาขาบางปะกอก  พลังงาน 415 กิโลแคลอรี่ (Kcal)         ครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่าง จะมีค่าไขมันรวม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 21.6 – 33 กรัม  ค่าไขมันอิ่มตัว ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 9.53 – 19.83 กรัม ซึ่งถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ขนมอบเบเกอรี่ที่มีปริมาณไขมันทั้งหมดและไขมันอิ่มตัวที่สูง สำหรับไขมันทรานส์ ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 0.13 – 1.09 กรัม ทั้งนี้เมื่อนำมาคำนวณตามปริมาณในหนึ่งหน่วยบริโภค (1 ชิ้น) พบว่ามี 3 ยี่ห้อ   ที่มีปริมาณไขมันทรานส์ เกิน 0.5 กรัม  ได้แก่ กาโตว์ เฮ้าส์ (0.56 กรัม/หน่วยบริโภค 52 กรัม) Au bon pain (0.60 กรัม/หน่วยบริโภค 58 กรัม) และ พรมารีย์ เบเกอรี (0.63 กรัม/หน่วยบริโภค 63 กรัม)         ส่วนปริมาณโซเดียมของครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่างนั้นมีปริมาณโซเดียมต่อน้ำหนัก 100 กรัม ในช่วง 244.83 – 522.26 มิลลิกรัม         สำหรับการตรวจพบปริมาณไขมันทรานส์ รศ.ดร.วันทนีย์  เกรียงสินยศ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ปริมาณไขมันทรานส์ที่พบนั้นเป็นไขมันทรานส์จากธรรมชาติ”  องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization, FAO) แนะนำปริมาณสูงสุดในการบริโภคไขมันทรานส์ต้องไม่เกิน 1% ของค่าพลังงานต่อวัน (หรือประมาณ 2 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค) อย่างไรก็ตาม FAO ยังแนะนำปริมาณสูงสุดในการบริโภคไขมันอิ่มตัวที่ไม่เกิน 10% ของค่าพลังงาน (หรือประมาณ 20 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 5 กรัมต่อมื้อ) ไว้ด้วย เนื่องจากตระหนักว่าไขมันทั้งสองประเภทยังเป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น จึงต้องควบคุมปริมาณการบริโภคร่วมกัน”         แม้ประเทศไทยมีการแบนไขมันทรานส์ (ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดจะต้องไม่มีส่วนประกอบของน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 แล้ว แต่ไขมันทรานส์สามารถตรวจพบได้ในผลิตภัณฑ์อาหารชนิดต่างๆ เนื่องจากอาจมีการใช้วัตถุดิบบางชนิดที่ได้จากสัตว์เคี้ยวเอื้องซึ่งตามธรรมชาติมีไขมันทรานส์เป็นองค์ประกอบ เช่น นม เนย ชีส เป็นต้น  แต่ทั้งนี้แหล่งที่มาต้องไม่ใช่จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน        ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ส่วนใหญ่ให้พลังงานสูง โดยเฉพาะประเภทที่มีการใช้เนย/ครีมเป็นส่วนประกอบมาก มีทั้งไขมันทั้งหมดและไขมันอิ่มตัวในปริมาณที่สูง การบริโภคเป็นประจำเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ จึงควรระมัดระวังไม่รับประทานมากเป็นประจำ         เพื่อสุขภาพที่ดีควรบริโภคผัก ผลไม้ ให้มากพอ เป็นประจำทุกวัน        อ่านบทความเต็มได้ที่  https://www.chaladsue.com/article/3685         สนับสนุนการทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อให้ต่อเนื่องและยั่งยืนด้วยการสมัครเป็นสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อได้ที่ facebook แฟนเพจนิตยสารฉลาดซื้อ มลนิธิเพื่อผู้บริโภคหรือบริจาคสนับสนุนกิจกรรมทดสอบได้ที่ ธนาคารไยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 319-2-62123-1 และพบกับบูธนิตยสารฉลาดซื้อ O 07 (โอ ศูนย์ เจ็ด) ได้ที่งานหนังสือ ไบเทคบางนา ระหว่างวันที่ 17-25 เมษายน 2564 นี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ค่าพลังงาน ไขมัน และโซเดียม ในครัวซองต์

ขนมอบหรือเบเกอรีที่ร้อนแรงสุด พ.ศ.นี้ ไม่มีใครเกิน ครัวซองต์ (croissant) ซึ่งมีการประชันความอร่อย ความสวยงามของรูปทรง(เลเยอร์) ความกรอบ เบา ฟู และความหอมเนยที่เป็นวัตถุดิบสำคัญกันทั้งแผ่นดิน ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ก็ทนกลิ่นหอมยั่วยวนของครัวซองต์ไม่ไหว ต้องออกไปเก็บตัวอย่างมาถึง 31 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อวัดค่าพลังงาน ไขมัน (ไขมันรวม ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์) และปริมาณโซเดียม เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ เนื่องจากขนมอบชนิดนี้มีค่าพลังงานที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะพลังงานจากไขมัน และยังเป็นการเฝ้าระวังเรื่องไขมันทรานส์ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องปัญหาหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ปริมาณโซเดียมในขนมอบหรือเบเกอรีก็เป็นสิ่งทึ่ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญและตระหนักรู้ ว่านี่คือแหล่งอาหารชนิดหนึ่งที่มีปริมาณโซเดียมสูง (แม้ไม่มีรสเค็ม)              มาดูกันว่า ครัวซองต์ยอดนิยมแต่ละยี่ห้อมีค่าพลังงาน ไขมัน และโซเดียมเท่าไร                                                                                                หมายเหตุ : เก็บตัวอย่างเดือน กุมภาพันธ์ 2564                                                                                     ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น สรุปผลทดสอบ        ในการแสดงผลด้วยภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ จะเรียงลำดับด้วยผลการทดสอบต่อหนึ่งหน่วยบริโภคหรือ 1 ชิ้น ซึ่งแต่ละยี่ห้อจะมีน้ำหนักไม่เท่ากัน (มีน้ำหนักตั้งแต่ 20 – 94 กรัม)  และนำเสนอเปรียบเทียบในปริมาณต่อน้ำหนัก 100 กรัมไว้ในตาราง         พลังงาน         ครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่าง จะมีค่าพลังงาน (กิโลแคลอรี) ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 415 – 511 กิโลแคลอรี        ไขมัน         ครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่าง จะมีค่าไขมันรวม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 21.6 – 33 กรัม             ค่าไขมันอิ่มตัว ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 9.53 – 19.83 กรัม         ไขมันทรานส์ ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 0.13 – 1.09 กรัม ทั้งนี้เมื่อนำมาคำนวณตามปริมาณในหนึ่งหน่วยบริโภค (1 ชิ้น) พบว่ามี 3 ยี่ห้อ ที่มีปริมาณไขมันทรานส์ เกิน 0.5 กรัม  ได้แก่ กาโตว์ เฮ้าส์ (0.56 กรัม/หน่วยบริโภค 52 กรัม) Au bon pein (0.60 กรัม/หน่วยบริโภค 58 กรัม) และ พรมารีย์ เบเกอรี (0.63 กรัม/หน่วยบริโภค 63 กรัม)          โซเดียม         ครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมต่อน้ำหนัก 100 กรัม ในช่วง 244.83 – 522.26 มิลลิกรัม

อ่านเพิ่มเติม >

จะดีไหม.. ถ้าคนไทยจ่ายหนี้ได้ด้วยแดด ?

เปรียบเทียบนโยบายพลังงาน รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ กับ รัฐบาลอินเดียโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสาท มีแต้มถ้าเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอินเดียนับจากช่วงต้นปี 2562 เป็นต้นมา พบว่ามีทั้งสิ่งที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ที่คล้ายคลึงกันก็คือมีการเลือกตั้งทั่วไปในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แต่ที่แตกต่างกันก็คือ รัฐบาลอินเดียใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลที่รวดเร็ว ในขณะที่รัฐบาลไทยใช้เวลา 4 เดือนกว่าจึงจะได้แถลงนโยบายรัฐบาลแต่ที่แตกต่างกันในสาระสำคัญที่มากกว่านั้นก็คือ การมีนโยบายเพื่อลดปัญหาสำคัญของชาติ คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งประเทศไทยเรามีความรุนแรงกว่าของประเทศอินเดียมาก กล่าวคือ ครัวเรือนของไทยมีจำนวนหนี้ที่มากกว่าหลายเท่าและเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่ามากในปี 2560 ขณะที่ครอบครัวชาวอินเดียมีหนี้รวมกันประมาณเพียงร้อยละ 12 ของจีดีพี และมีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2553 เพียงร้อยละ 1.5  แต่ครอบครัวคนไทยในปี 2560 มีหนี้รวมกันถึงร้อยละ 70 ถึง 76 ของจีดีพี และมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 ถึง 18  นับจากช่วงเดียวกัน  (ดูภาพประกอบ)จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อสิ้นไตรมาสแรกของปี 2562  “จำนวนเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน” ของคนไทยมีจำนวน 12.967 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 78.7 ของจีดีพี สูงเป็นอันดับที่ 10 จากการสำรวจ 89 ประเทศทั่วโลก - ข่าวสด 6 มิ.ย.62) หรือเฉลี่ยคนละ 195,000 บาท  ในขณะที่เมื่อสิ้นปี 2561 คนไทยมีหนี้สินเฉลี่ยคนละ 193,000 บาทอันตรายของการมีหนี้จำนวนเยอะๆ และเป็นเวลานานๆ  จะเป็นอย่างไรนั้น ผมจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ แต่จะขอกล่าวถึงสาเหตุของการมีหนี้และแนวทางการลดจำนวนหนี้ โดยจะยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมด้วยนโยบายโซลาร์เซลล์ โดยเน้นไปที่ประเทศอินเดียและประเทศไทย ซึ่งผมได้เรียนมาตั้งแต่ต้นว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจากบทความเรื่อง “วินัยทางการเงินของครัวเรือนไทยและบทบาทของ ธปท. ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน”  ในรายงานนโยบายการเงิน มีนาคม 2562  ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้จากการสอบถามความคิดเห็นในประเด็น “สาเหตุที่ทำให้ครัวเรือนมีหนี้” พบว่ามีผู้เห็นด้วยกับสาเหตุ “รายรับไม่พอกับรายจ่าย” และ “ขาดวินัยทางการเงิน” สูงเป็นดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับแต่ในความเห็นของผมแล้ว ผมคิดว่านโยบายของรัฐบาลก็มีส่วนสำคัญมากที่ทำให้คนไทยเป็นหนี้ โดยผมจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบจากโครงการโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐคุชราต (Gujarat- มีประชากร 60 ล้านคน) ของประเทศอินเดียและของประเทศไทยรัฐบาลอินเดียและรัฐบาลแห่งรัฐคุชราต ได้ออกนโยบายสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาจำนวน 2 แสนครอบครัวในปีงบประมาณ 2019-2020 โดยได้รับการอุดหนุนถึง 40% ของต้นทุนการติดตั้งที่ขนาดไม่เกิน 3 กิโลวัตต์ และ 20% สำหรับขนาดระหว่าง 3 ถึง 10 กิโลวัตต์  โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลแห่งรัฐรับค่าใช้จ่ายไปรวม 50% ที่เหลืออีก 50% เป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้านที่ต้องลงทุนเอง (https://cleantechnica.com/2019/07/11/gujarat-to-subsidize-rooftop-solar-systems-in-200000-homes/)ไฟฟ้าที่ผลิตได้ หากเหลือใช้ก็สามารถขายให้กับระบบสายส่งได้ แต่ในรายงานข่าวดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าจะรับซื้อในราคาเท่าใดโครงการดังกล่าวรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้ประมาณ 4,500 ล้านบาท สำหรับนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะแถลงในวันที่ 25-26 กรกฎาคม นี้  ผมยังเปิดไฟล์ทั้งหมดไม่ได้ (โดยอ้างว่าไฟล์เสีย) แต่ที่พบแล้วใน หัวข้อที่ 5.2 พัฒนาภาคอุตสาหกรรม มีเฉพาะประโยคที่ว่า “ส่งเสริมพลังงานทดแทน” โดยไม่มีรายละเอียดอะไรเลยอย่างไรก็ตาม ที่เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์บนหลังคาซึ่งกระทรวงพลังงานได้ประกาศไปแล้วเมื่อช่วงก่อนการเลือกตั้งเล็กน้อย  สรุปว่า “จะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ เฉพาะที่เหลือจากการใช้เอง ในราคาหน่วยละ 1.68 บาท เป็นเวลา 10 ปี ในขณะที่ทางการไฟฟ้าขายให้กับครัวเรือนที่ใช้เดือนละ 500 หน่วย ในราคาที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หน่วยละ 3.80 บาท (ความจริงคือ 3.93 บาท)” จากการศึกษาของกระทรวงพลังงานเองได้ข้อสรุปว่า ถ้าผู้อยู่อาศัยขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จำนวนครึ่งหนึ่งให้ทางการไฟฟ้าในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย อีกครึ่งหนึ่งสำหรับการใช้เอง จะทำให้ถึงจุดคุ้มทุนภายในเวลา 7.8 ถึง 10.2 ปี  โดยไม่มีการคิดค่าดอกเบี้ยที่เกิดจากการลงทุน นอกจากนี้อายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์ปกติจะนาน 25 ปี แล้วที่เหลืออีก 15 ปี จะให้นำไฟฟ้าไปขายให้ใคร ?เป็นที่น่าสังเกตว่า กติกาการรับซื้อดังกล่าว แตกต่างจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่อย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ทาง กฟผ. จะต้องจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ซึ่งหมายถึง ค่าลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าบำรุงรักษาและค่าดอกเบี้ยด้วย  แต่กับกรณีโซลาร์เซลล์บนหลังคาของคนธรรมดาซึ่งมีหนี้ท่วมหัว ทางกระทรวงพลังงาน (1) ไม่คิดดอกเบี้ยให้ (2) ซื้อในราคาที่ต่ำมาก ในขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงซื้อจาก กฟผ. ในราคา 2.72 บาทต่อหน่วย และ (3) รับซื้อเพียง 10 ปีเท่านั้น  โดยมีเป้าหมายในการรับซื้อ 100 เมกะวัตต์  หรือ 1 ถึง 3 หมื่นหลังโดยประมาณ ในขณะที่รัฐบาลอินเดียนอกจากจะจ่ายเงินอุดหนุนให้ถึง 20 ถึง 40% ถึง 2 แสนหลังแล้ว ยังรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือและยังไม่ต้องติดมิเตอร์ (ที่ไม่จำเป็นถ้ารับซื้อไฟฟ้าในราคาที่เท่ากับราคาขาย) เพิ่มอีก 7,500 บาทต่อหลังอีกด้วย นี่คือความไม่เป็นธรรมที่รัฐบาลไทยเลือกปฏิบัติระหว่างคนไทยธรรมดาๆ กับเจ้าของไฟฟ้าขนาดใหญ่ส่งผลให้เจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่คนหนึ่งซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.จำนวนประมาณ 11,910 เมกะวัตต์ กลายเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับที่ 267 ของโลก คือนาย Sarath Ratanavadi  (https://www.bloomberg.com/billionaires/)  และส่งผลให้คนไทยที่ถูกนโยบายพลังงานของรัฐบาลกดทับต้องมีหนี้ท่วมหัวดังที่กล่าวแล้วจริงอยู่ครับว่า สาเหตุของการเป็นหนี้มีหลายอย่าง แต่ตัวอย่างที่ผมยกมาเป็นแค่เรื่องไฟฟ้าที่มีมูลค่าทั้งประเทศปีละ 6.7 แสนล้านบาท ถ้าเราจัดสรรให้แต่ละหลังคาสามารถผลิตเองได้สัก 1 ล้านหลัง ขนาด 3 กิโลวัตต์ ในราคาหน่วยละ 3.90 บาท ก็จะสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ปีละ 17,400 ล้านบาท นอกจากจะเป็นการช่วยลดจำนวนหนี้แล้ว จะมีการจ้างงานจำนวนมากซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจอีกด้วยนะครับเนื่องจากว่า ผมยังเปิดไฟล์คำแถลงนโยบายของรัฐบาลฉบับเต็มยังไม่ได้ แต่เชื่อว่าจะเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี2018) ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เมื่อไม่นานมานี้เองผมมีข้อสังเกตต่อแผน พีดีพี 2018 ว่าคงยังเป็นแผนที่เอื้อต่อกลุ่มทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติและกีดกันสิทธิของคนธรรมดาต่อไป เพราะว่าได้กำหนดให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG นำเข้าจากต่างประเทศ) ผลิตไฟฟ้าจากร้อยละ 59.7 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 64.7 ในปี 2561 และปี 2568 ตามลำดับ ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากร้อยละ 7.9 เป็น 10.6 ในช่วงเดียวกันในขณะที่ในปี 2561 ประเทศสหราชอาณาจักรซึ่งมีแดดน้อยกว่าประเทศไทย แต่ได้ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไปแล้วร้อยละ 11.6 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 19.6  ในปี 2568  นี่แค่จากแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว ถ้ารวมพลังงานลมและชีวมวลก็จะเป็นร้อยละ 57 ในปี 2568 (https://interactive.carbonbrief.org)ขอปิดท้ายด้วยคำพูดของทีมงานของ Narendra Modi นายกรัฐมนตรีของอินเดีย  ภายหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ว่า  “เรามองพลังงานแสงอาทิตย์ว่าเป็นแหล่งรายได้ของเกษตรกรและเราจะกระตุ้นให้มีโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้ผลิตอาหารได้เปลี่ยนเป็นผู้ผลิตพลังงาน”แม้ว่าผมไม่เห็นด้วยกับโซลาร์ฟาร์ม แต่ก็ยังดีกว่าต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อก๊าซธรรมชาติปีละกว่าหนึ่งแสนล้านบาทครับ ผมว่าโซลาร์รูฟนั่นแหละเหมาะที่สุดและราคาถูกกว่าด้วยครับเราสามารถลดหนี้คนไทยได้ด้วยแสงแดดครับ  ทำไมพลเอกประยุทธ์มองเรื่องนี้ไม่ออก ?  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 ตุ๊กตาผี : เด็กดีผีคุ้ม

                ความเชื่อเรื่อง “ผี” ไม่เคยห่างเหินและสูญหายไปจากระบบคิดของสังคมไทย        เหตุผลที่ผียังคงสถิตอยู่เป็นความเชื่อของคนไทยก็น่าจะเป็นเพราะว่า ผีมีบทบาทหน้าที่กำกับควบคุมความเป็นไปในสังคม สำนวนที่ว่า “คนดีผีคุ้ม” นั้น ย่อมบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่า หากใครมีความประพฤติปฏิบัติที่ดี และเป็นไปตามข้อตกลงร่วมในสังคมไทย ภูตผีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ย่อมจะอภิบาลคุ้มครอง ไม่เว้นแม้แต่ “เด็กดี” ที่ “ผีย่อมต้องคุ้ม” ด้วยเช่นกัน        โดยปกติแล้ว สถาบันแรกสุดที่ถูกสังคมมอบหมายบทบาทและความชอบธรรมให้คุ้มครองชีวิตและความเป็นไปของเด็กๆ ก็คือ สถาบันครอบครัว แต่ทว่า ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ตุ๊กตาผี” นั้น ตัวละครเด็กอย่าง “แป้งร่ำ” ต้องมีเหตุให้ครอบครัวมิอาจดูแลคุ้มครองชีวิตของหนูน้อยจากภยันตรายรอบตัวได้เต็มที่นัก        เปิดฉากมาของเรื่องละคร เด็กหญิงแป้งร่ำได้เห็น “ธาดา” เจ้าของบริษัททิพย์พิมานผู้เป็นบิดาของเธอ ถูก “พิชิต” ทนายประจำบริษัทยิงตายต่อหน้าต่อตา แม้เด็กหญิงจะจำได้ว่ามือปืนก็คือพิชิต แต่หลังจากเห็นบิดาถูกฆาตกรรม เธอก็ไม่ยอมพูดจากับใครอื่นนอกจาก “ตุ๊กตาวาวา” ตุ๊กตาที่พ่อซื้อให้ก่อนจะเสียชีวิต        และในเวลาต่อมา “นวลทิพย์” มารดาของแป้งร่ำตกลงแต่งงานกับพิชิต โดยหารู้ไม่ว่าเขาคือฆาตกรฆ่าสามี แต่กลับเชื่อว่า เขาจะช่วยดูแลบริหารงานของบริษัทและดูแลแป้งร่ำไปด้วยในเวลาเดียวกัน หากแต่ว่าพิชิตกลับหวังที่จะปอกลอก และพยายามวางแผนเพื่อถือครองมรดกของนวลทิพย์และธาดามาเป็นของเขาแทน        จนเมื่อความโลภดำเนินไปถึงขีดสุด พิชิตก็หันไปร่วมมือกับ “เริงวุฒิ” เจ้าของกิจการคู่แข่ง ที่หวังจะกำชัยทางธุรกิจเหนือบริษัททิพย์พิมาน รวมทั้งต้องการครอบครอง “ตุ๊กตาหยก” ของศักดิ์สิทธิ์มีค่าประจำตระกูลของนวลทิพย์ ซึ่งเธอแอบซ่อนตุ๊กตาหยกนี้ไว้ในตัวตุ๊กตาวาวาของแป้งร่ำ และนั่นก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เด็กน้อยแป้งร่ำได้เห็นมารดาถูกฆาตกรรมต่อหน้า เนื่องเพราะความโลภของบรรดาผู้ใหญ่รอบตัวนั่นเอง        เมื่อขาดซึ่งพ่อแม่บุพการีที่จะคอยเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรดูแลคุ้มครองลูก เด็กน้อยอย่างแป้งร่ำจึงมีสถานะไม่ต่างจาก “เหยื่อ” ที่ตัวละครผู้ใหญ่ตัวโตทั้งหลายพยายามเข้ามาช่วงชิงผลประโยชน์จากเด็กที่ตัวเล็กกว่า        เริ่มตั้งแต่พิชิตที่มุ่งหมายจะครอบครองสิทธิ์ในมรดกทั้งหมดของแป้งร่ำ หรือ “ม่านฟ้า” ภรรยาใหม่ของพิชิตที่อีกด้านหนึ่งก็คือเมียลับๆ ของเริงวุฒิที่ต่างร่วมมือกันวางแผนชิงตุ๊กตาหยกมาเป็นของตน ไปจนถึงบรรดาเครือญาติอีกมากมายของพิชิตที่แห่กันเข้ามาอาศัยร่วมชายคาเดียวกันในบ้านหลังใหญ่ของแป้งร่ำ        ไม่ว่าจะเป็นตัวละครอย่าง “พุด” พ่อที่ติดการพนันงอมแงมจนหมดตัว “จัน” แม่ที่ติดหรูแบบจมไม่ลง “พิชัย” น้องชายที่หลักลอยไม่ทำงานการใดๆ “ละม่อม” สาวใช้ตัวร้ายของพุดและจัน รวมถึง “อาจารย์สมิง” หมอผีชื่อดังที่ใช้อาคมสะกดวิญญาณของธาดาเอาไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง        เพราะเด็กมักถูกรับรู้ว่าเป็นมนุษย์ตัวเล็กที่ “มีอำนาจน้อย” หรือ “ไร้ซึ่งอำนาจ” จะต่อรอง ดังนั้น บรรดาตัวละครผู้ใหญ่ที่เปี่ยมไปด้วยความโลภและมิจฉาทิฐิดังกล่าว ก็คอยตั้งท่าจะเอารัดเอาเปรียบและขูดรีดเพื่อพรากเอาทรัพย์สินผลประโยชน์ของแป้งร่ำให้กลายมาเป็นผลประโยชน์เฉพาะส่วนตน        อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแป้งร่ำเป็น “เด็กดี” และไม่เคยทำร้ายใครก่อน ด้านหนึ่งเด็กหญิงก็เลยมีผู้ใหญ่ที่ดีกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งคอยให้ความช่วยเหลืออยู่เป็นระยะๆ ซึ่งในท้องเรื่องก็คือ “ธนิดา” หลานสาวของธาดา กับ “อติรุจ” แฟนหนุ่มของเธอ รวมไปถึง “ป้าสาย” และ “ปลา” ญาติสนิทของนวลทิพย์ ที่คอยดูแลเด็กหญิงหลังจากสูญเสียพ่อแม่ไป        แม้ความเป็นจริงที่ว่า เด็กคือกลุ่มคนตัวเล็กที่ “มีอำนาจน้อย” อาจจะถูกต้องอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่ก็ไม่ได้แปลว่า เด็กตัวเล็กๆ จะกลายเป็นปัจเจกบุคคลหรือมนุษย์ที่ “ไร้ซึ่งอำนาจ” โดยสิ้นเชิง เพราะในขณะที่เด็กหญิงแป้งร่ำถูกกระทำทารุณต่อทั้งกายวาจาและจิตใจอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่กลไกทางสังคมบางอย่างก็คอยเสริมให้หนูน้อยมีศักยภาพหรือ “มีอำนาจ” ที่จะต่อกรกับผู้ใหญ่เหล่านั้นเอาไว้ได้เช่นกัน        หากดูผิวเผินแล้วเด็กก็อาจจะไม่มีอำนาจปะทะต่อสู้กับผู้ใหญ่ที่ตัวโตกว่าได้ แต่ถ้าเด็กคนหนึ่งยึดมั่นในความดี ข้อเท็จจริงที่ว่า “เด็กดีแล้วผีจะคุ้ม” ก็เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นจากกรณีของเด็กหญิงแป้งร่ำที่มีผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้องเธอจากผู้ใหญ่ตัวร้ายที่ยกขบวนกันมาแย่งชิงผลประโยชน์จากเธอ        ด้วยเหตุดังกล่าว “เด็กดีๆ” แบบแป้งร่ำจึงได้รับการดูแลจาก “ผีคุ้ม” ซึ่งก็คือเหล่าตุ๊กตาของหนูน้อยเอง ที่ภายหลังมีวิญญาณอันเป็นกัลยาณมิตรมาสิงสู่อยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาผีเจ้าสาว ตุ๊กตาผีกุ๊กผู้หญิง ตุ๊กตาผีตัวตลก ตุ๊กตาผีตำรวจ ตุ๊กตาผีช่างฟิตหนุ่ม ตุ๊กตาผีคู่กุมารหญิงและชาย และรวมไปถึงวิญญาณผีนวลทิพย์ที่ภายหลังก็มาร่วมสมาคมกับตุ๊กตาผีกลุ่มนี้ เพื่อคอยคุ้มครองป้องภัยให้กับบุตรสาวของเธอ        จากเด็กตัวเล็กอย่างแป้งร่ำที่เคย “ไร้ซึ่งอำนาจ” ก่อกลายมาเป็นเด็กที่ “มีอำนาจ” มาต่อสู้กับผู้ใหญ่ได้ ก็เมื่อหนูน้อยมีพันธมิตรที่เป็นบรรดาตุ๊กตาผีหลายตนมาคอยให้การปกป้องคุ้มครอง        จะว่าไปแล้ว ความคิดเรื่องตุ๊กตาที่มีผีมาสิงสถิตและคอยช่วยเหลือเด็กๆ ก็หาใช่เรื่องที่แปลกใหม่ในโลกทัศน์ของคนไทย เด็กไทยสมัยก่อนเคยมีความเชื่อเรื่องการเลี้ยงตุ๊กตารักยมให้เป็นทั้งพี่และเพื่อนในจินตนาการต่อสิ่งเหนือธรรมชาติของเด็ก และที่สำคัญ ในจินตนาการเรื่องเล่าของตุ๊กตาผีแบบนี้เองที่ “อำนาจ” จะถูกผกผันกลับหัวกลับหางให้เด็กมีพลังที่จะต่อสู้ต่อกรกับผู้ใหญ่ที่ตัวโตกว่าได้        ดังนั้น ฉากที่พันธมิตรตุ๊กตาผีของเด็กหญิงแป้งร่ำได้ใช้ความน่ากลัวของ “ความฝัน” สร้างจินตนาการเพื่อลงโทษกักขังทารุณกรรมพิชิตและวงศาคณาญาติของเขาเป็นการสั่งสอน โดยที่พิชิตและม่านฟ้าถูกจับขังและเผาไว้ในโลงศพ ขณะเดียวกับที่คนอื่นก็ถูกหลอกหลอนจนแทบไม่เป็นผู้เป็นคน ก็ทำให้เราเห็นว่า อำนาจนั้นไม่เข้าใครออกใคร แม้แต่มาอยู่ได้ในมือของเด็กตัวเล็กๆ เช่นกัน        หากความเชื่อเรื่องผีคือกลไกที่สังคมใช้ควบคุมคนดี และหาก “เด็กดีผีย่อมคุ้ม” ด้วยแล้ว กับบรรดาผู้ใหญ่ที่เลือกทำตนไม่ดีนั้น ผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็คงไม่เลือกอภิบาลปกป้องคนไม่ดีดังกล่าว เหมือนกับที่ธนิดาเคยพูดกระทบกระเทียบกับพิชิตว่า “ถ้าคนไม่ได้คิดร้ายกับผี ก็ไม่ต้องกลัวผีมาหลอกหรอก”        เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ต่อให้หนูน้อยแป้งร่ำไม่ได้เลือกจะทำร้ายผู้ใหญ่ที่มุ่งร้ายต่อเธอก็จริง แต่ก็เป็นบรรดาตุ๊กตาผีกัลยาณมิตรที่จะทำหน้าที่รักษากฎกติกาทางสังคม และลงโทษทัณฑ์คนร้ายและคนโลภเหล่านั้นทั้งในจินตนาการเหนือธรรมชาติและที่สัมผัสได้ในโลกความจริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 เลือดข้นคนจาง : ทฤษฎีสมคบคิดภายในสถาบันครอบครัว

                        เพราะครอบครัวเป็นสถาบันแรกและหลักที่สุดของสังคม ดังนั้นละครโทรทัศน์จึงมักหยิบเอาชีวิตครอบครัวมาผูกโยงเป็นเรื่องเล่าสู่สายตาของผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นด้านที่เปี่ยมด้วยความสุข หรือด้านที่ปะทุคุกรุ่นไปด้วยความขัดแย้ง ครอบครัวก็ยังเป็นสถาบันที่โลกสัญลักษณ์ของละครมักเลือกฉายภาพออกมาอยู่เสมอ        ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเนื้อหาสารชนิดอื่นๆ ที่นำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว ก็ยังไม่ปรากฏให้เห็นว่า จะมีพื้นที่อื่นใดที่สามารถกะเทาะความเป็นจริงแห่งสถาบันครอบครัวได้เข้มข้น ถึงแก่น และชัดเจนที่สุด ได้ทัดเทียมภาพสมมติของครอบครัวที่อยู่ในละครโทรทัศน์อีกแล้ว         และด้วยตรรกะเช่นนี้ “เลือดข้นคนจาง” ก็เป็นละครโทรทัศน์อีกหนึ่งเรื่องที่เลือกย้อนรอยให้เห็นความเป็นจริงในพื้นที่ของครอบครัว ยิ่งหากทุกวันนี้ ภายใต้กระแสจีนาภิวัตน์ที่สังคมไทยหันหน้าไปจูบปากกับความเป็นจีนกันอย่างดื่มด่ำด้วยแล้ว ฉากหลังของครอบครัวแบบจีนก็ถูกวาดขึ้นมาเพื่อสอดรับกับกระแสธารดังกล่าว โดยผ่านความสัมพันธ์ภายในตระกูล “จิระอนันต์” เจ้าของธุรกิจเครือโรงแรมขนาดใหญ่อย่าง “จิรานันตา”         โดยพื้นฐานของธรรมเนียมปฏิบัติแบบจีน นิยมพำนักอาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวขยาย หรือสำหรับครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่งคั่งอย่างจิระอนันต์ก็กินอยู่กันในลักษณะของระบบ “กงสี” โดยมีหลายๆ ครัวเรือนของลูกหลานที่อาศัยร่วมอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันแบบสายตระกูลขนาดใหญ่นั่นเอง        และเพราะครอบครัวเป็นสถาบันซึ่งดำรงอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวที่สุดของชีวิตมนุษย์ ก็หนีไม่พ้นกฎที่ครอบครัวจิระอนันต์จะต้องกอปรขึ้นด้วยด้านที่เป็น “หน้าฉาก” ที่เปิดม่านออกคนนอกรับรู้มองเห็นได้ กับส่วนที่เป็น “หลังฉาก” อันเป็นปริมณฑลส่วนตัว ซึ่งจะมีก็แต่สมาชิกครอบครัวเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้         ในด้านความเป็น “หน้าฉาก” ผู้ชมเองก็สัมผัสได้ตั้งแต่ม่านละครเปิดออกมาพร้อมกับภาพความสุขในงานเลี้ยงรวมญาติเพื่ออวยพรวันเกิดของ “อากงสุกิจ” ผู้ก่อตั้งโรงแรมจิรานันตา ซึ่งมีลูกชายคนโตหรือ “ประเสริฐ” กับลูกสาวคนที่สาม “ภัสสร” ที่ช่วยกันบริหารกิจการ ส่วนลูกชายคนที่สองคือ “เมธ” และลูกชายคนสุดท้อง “กรกันต์” ก็เป็นผู้ร่วมกินอยู่ในกงสีของตระกูล แม้ว่าจะไม่ได้บริหารงานโรงแรมโดยตรงก็ตาม        ฉากเริ่มต้นเรื่องที่ตัวละครทั้งหมดในทุกเจนเนอเรชั่นของครอบครัวมาร่วมโต๊ะกินข้าว ถ่ายรูปร่วมกัน หรือชื่นชมภาพวาดฝีมืออากง ก็คือด้านหน้าฉากซึ่งฉายบรรยากาศความสุขของตระกูลจิระอนันต์ที่เปิดออกให้สาธารณชนคนนอกอย่างเราๆ ได้รับรู้กัน                แต่ในอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็น “หลังฉาก” ของครอบครัวจิระอนันต์นั้น ตัวละครที่เราเห็นปรองดองกันอยู่เพียงไม่กี่ฉากในตอนต้นเรื่อง ก็ค่อยๆ ถูกวางโครงเรื่องให้ผู้ชมได้ขยับเข้าไปเห็นเบื้องหลังซึ่งมีทั้งการช่วงชิงผลประโยชน์ และการเก็บงำความลับบางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่ในโครงข่ายของสายตระกูลดังกล่าว        แม้โดยแก่นหลักของละครจะพยายามยืนยันกับผู้ชมอยู่ตลอดเรื่องว่า “เพราะครอบครัวสำคัญที่สุด” แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ภายในสถาบันครอบครัวที่ “สำคัญที่สุด” นี้เองที่ความขัดแย้งและการวางหมากวางเกมระหว่างกัน กลับเป็นคลื่นใต้มหาสมุทรที่มีผลประโยชน์ของสมาชิกแต่ละคนเป็นตัวแปรหลบเร้นอยู่เนื้อใน        ดังนั้น เมื่ออากงประมุขของตระกูลเสียชีวิตลง และทำพินัยกรรมไว้ตามธรรมเนียมนิยมแบบจีน โดยแบ่งมรดกกิจการโรงแรมเป็นสี่ส่วนให้ลูกชายสามคนกับ “พีท” หลานชายคนโตลูกชายของประเสริฐในฐานะของ “ตั่วซุง” ของบ้าน จึงนำไปสู่ความไม่พอใจของภัสสรในฐานะที่บุตรสาวที่ช่วยดูแลกิจการของครอบครัวมาโดยตลอด แต่เธอกลับแทบจะถูกมองไม่เห็นค่าในฐานะลูกผู้หญิงของตระกูล         และที่สำคัญ ภายหลังจากความขัดแย้งในการจัดสรรมรดกที่มีค่านิยมบางอย่างของสังคมกำกับไว้ ได้นำไปสู่ความรุนแรงที่พี่ชายคนโตอย่างประเสริฐถูกฆาตกรรม โดยมีน้องสาวคู่กรณีหลักอย่างภัสสรตกเป็นจำเลยต้องสงสัยลำดับแรกๆ         ด้วยการผูกเรื่องให้เป็นละครแนวดราม่าสืบสวนสอบสวน ด้านหนึ่งละครก็ค่อยๆ คลายปมให้เห็นว่า “ใครกันแน่ที่ฆ่าประเสริฐ” โดยที่ผู้ต้องสงสัยสามารถเป็นใครก็ได้ในครอบครัว แต่ในเวลาเดียวกัน โครงเรื่องที่ดำเนินไปก็ทำให้ผู้ชมได้เห็นความขัดแย้งของผลประโยชน์ในธุรกิจกงสีของตระกูลจิระอนันต์ไปพร้อมๆ กัน        แม้ในตอนจบของเรื่อง ละครจะเฉลยคำตอบว่า ภัสสรที่ถูกต้องสงสัยตั้งแต่ต้นเรื่องนั้นหาได้เป็นฆาตกรตัวจริงไม่ หากแต่เป็นเมธน้องชายคนรองที่ยิงประเสริฐเพราะลุแก่โทสะที่เขาปิดบังความลับเรื่องการตายของภรรยาตน แต่ทว่าแง่มุมที่ละครสะท้อนให้เราต้องย้อนคิดไปกว่านั้นก็คือ เบื้องหลังความรุนแรงในครอบครัวนี้ “คนที่ยิง” กับ “คนที่ฆ่า” อาจจะไม่ใช่คนเดียวกันเสมอไป        เพราะแม้เมธจะเป็นผู้ที่เหนี่ยวไกปืนสังหารพี่ชายของตนด้วยอารมณ์ชั่ววูบ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว กลับเป็นทุกคนที่เหลืออยู่ในตระกูลนั่นต่างหากที่สมคบคิดหรือมีส่วนไม่มากก็น้อยในการ “ฆ่า” ด้วยการหยิบปืนมาใส่ไว้ในมือของเมธให้ “ยิง” พี่ชาย เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของธุรกิจกงสีในฐานะที่เป็นผลประโยชน์แห่งตน        ว่ากันตามหลักทฤษฎีแล้ว เรื่องของ “เหตุผล” และ “ผลประโยชน์” ไม่ใช่สิ่งที่แยกจากกันโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังนั้น เมื่อมี “ผลประโยชน์” ที่ทุกคนต้องการร่วมสืบทอดและครอบครองมรดกอันเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจของครอบครัว ตัวละครต่างๆ จึงล้วนมีข้ออ้าง “เหตุผล” เพื่อสร้างความชอบธรรมของการใช้ความรุนแรงแม้แต่กับผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน        อากงและอาม่าก็เลือกจะรักลูกไม่เท่ากัน โดยอ้างเหตุผลเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติในการแบ่งมรดกของครอบครัวจีน พี่ใหญ่อย่างประเสริฐก็มีเหตุผลเรื่องความอยู่รอดของกิจการกงสีซึ่งต้องเป็นตนเท่านั้นที่ควรถือครองโดยชอบธรรม สะใภ้ใหญ่อย่าง “คริส” ที่ต้องการสร้างความมั่นคงในสถานภาพจนเลือกวางยาขับเลือดให้ภรรยาของเมธกินจนแท้งบุตร รวมไปถึงภัสสรที่แม้จะล่วงรู้ความลับของทุกคนในบ้าน แต่ก็เลือกจะปกปิดไว้เพียงเพื่อให้เธอมีโอกาสได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในมรดกของตระกูล        เหตุผลที่ต่างคนต่างอ้างความชอบธรรม โดยมีผลประโยชน์ของครอบครัวที่จะจัดสรรตกมาเป็นผลประโยชน์ส่วนตน ในท้ายที่สุดก็นำไปสู่อำนาจและความขัดแย้ง ที่ทุกคนนั่นเองสมคบคิดและมีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดเป็นความรุนแรงแห่ง “ศึกสายเลือด” ของตระกูลจิระอนันต์         กล่าวกันว่า การเมืองที่คุกรุ่นที่สุดในชีวิตมนุษย์นั้นไม่ได้อยู่ไกลโพ้นอย่างการช่วงชิงอำนาจในสภาผู้แทนราษฎรหรอก หากแต่เริ่มต้นกันตั้งแต่สนามรบในบ้านหรือครอบครัวนี่เอง เพราะฉะนั้น เมื่อผลประโยชน์เข้ามาเป็นตัวแปรแทรกกลางความสัมพันธ์ของมนุษย์ แม้แต่กับสมาชิกที่ “เลือดข้น” ในสถาบันครอบครัว มนุษย์เราก็พร้อมจะกลายพันธุ์เป็น “คนจาง” ซึ่งมีเหตุผลให้ห้ำหั่นกันและกันได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ริมฝั่งน้ำ : “คนไกลฝั่ง” กับ “ไม้ใกล้ฝั่ง”…เรารักกันนะ...จุ๊บจุ๊บ

           นั่งเรียบเรียงต้นฉบับครั้งนี้ ผู้เขียนเลือกวันดีๆ และสถานที่ดีๆ มาทอดอารมณ์เขียนงานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรับลมเย็นสบายๆ อันที่จริงแล้ว “ริมฝั่งน้ำ” แบบนี้ ถือเป็นแหล่งรวมของผู้ใช้ชีวิตหลายเพศ หลายรุ่น หลายวัย และหลายหลากสถานะทางสังคม และยังเป็นอาณาบริเวณอันน่าสนใจที่จะให้ผู้คนหลากหลายได้มาเห็นกันและกัน เพื่อเรียนรู้วิถีปฏิบัติและความเป็นไปในชีวิตทางสังคมที่แตกต่างจากตัวเรา            เฉกเช่นเดียวกับละครโทรทัศน์เรื่อง “ริมฝั่งน้ำ” ที่ทำให้เราได้หันมาทบทวนหวนคิดกับชีวิตของคนที่หลากหลายเพศ วัย และสถานะทางสังคม ไม่ต่างจาก “ริมฝั่งน้ำ” ที่เราสัมผัสกันอยู่ในโลกความจริงเลย            และเพราะตอนนี้โรดแม็พของสังคมไทยกำลังเลี้ยวโค้งเข้าสู่ “สังคมแห่งผู้สูงอายุ” กันอย่างแท้จริง ภาพของผู้คนที่ฉายอยู่ในโลกสัญลักษณ์ของละคร “ริมฝั่งน้ำ” ก็ต้องจำลองชีวิตของบรรดาปู่ย่าตายายทั้งหลาย กับมุมมองที่ผู้คนหลากหลายเจนเนอเรชั่นมีต่อผู้สูงวัยเหล่านี้            ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างรุ่นวัยดังกล่าว เวียนวนอยู่ในปริมณฑลแห่ง “บ้านร่มไม้ชายคา” บ้านพักคนชราที่เป็นมรดกตกทอดจากบิดามารดา มาอยู่ในมือของ “พิมพ์วีนัส” นางเอกของเรื่อง            เริ่มแรกเมื่อได้รับมรดกมา พิมพ์วีนัสก็ตั้งแง่รังเกียจบ้านพักคนชราแห่งนี้ ด้วยเพราะในอดีตพ่อแม่ของเธอต้องเสียชีวิต เนื่องจากอาสาช่วยคนแก่จมน้ำจนตัวเองต้องตายไป ยิ่งผนวกกับภาพลักษณ์และความหมายของบ้านพักคนชราในฐานะที่เป็นแหล่งรวมของบรรดา “ไม้ใกล้ฝั่ง” ซึ่งมีแต่จะร่วงโรยจากน้ำที่กัดเซาะตลิ่งจนผุพังไปตามกาลเวลา จึงเป็นสิ่งที่นางเอกคนสวยมิอาจรับได้ เพราะนั่นหาใช่ความฝันของคนรุ่นใหม่ที่ยืนอยู่ “ไกลฝั่ง” อย่างเธอคาดหวังจะถือครองได้เลย            ด้วยเหตุนี้ ในช่วงต้นของเรื่อง พิมพ์วีนัสจึงปฏิบัติการ “ตามล่าฝัน” ด้วยการหนีไปเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ตามแบบอุดมคติที่คนรุ่นใหม่ยุคนี้ฝันอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพอะไรสักอย่างหนึ่งในชีวิต แต่เมื่อต้องมานั่งตบยุงเพราะไม่มีลูกค้าเข้ามานั่งในร้านกาแฟเลย พิมพ์วีนัสก็ได้คำตอบว่า ความฝันกับชีวิตจริงของ “คนไกลฝั่ง” ที่ประสบการณ์อ่อนต่อโลกนั้น ยังอีก “ไกลแสนไกลกว่าจะถึงฝั่งฝัน”            จนเมื่อ “คุณยายพิกุล” ได้มาเตือนสติพิมพ์วีนัสผู้เป็นหลานสาวว่า “พ่อแม่หนูสร้างสร้างบ้านร่มไม้ฯ มาด้วยความรัก แต่หนูอย่าไปทำลายมันด้วยความเกลียดเลยนะ” นั่นจึงเป็นเหตุปัจจัยให้นางเอกของเราลองเปิดใจหันกลับมาดูแลกิจการบ้านพักคนชรา และค่อยๆ เห็นอีกด้านหนึ่งของชีวิต “ไม้ใกล้ฝั่ง” ที่ครั้งหนึ่งเธอมองข้าม หรือไม่อยากแม้แต่จะผาดตามอง            ณ บ้านร่มไม้ชายคาแห่งนี้เอง มีหลายชีวิตที่มาอยู่อาศัยรวมกัน ไม่ว่าจะเป็น “คุณตาชาญชัย” เจ้าของกิจการโรงแรมที่ไม่มีความสุขในช่วงบั้นปลายชีวิต เพราะลูกหลานแย่งชิงสมบัติกัน “คุณตาโตมร” อดีตอธิบดีที่วางอำนาจใส่ทุกคนในบ้าน เพื่อกลบเกลื่อนอาการเจ็บป่วยของตน “คุณยายนิ่มนวล” แม่ค้าขนมเปี๊ยะที่ลูกหลานไม่ดูแลเพราะเป็นอัลไซเมอร์ “คุณยายม้วน” ที่ช่างพูดช่างสมาคม รวมไปถึง “เชาว์” “อี๊ด” “กรรณิการ์” “ดวงใจ” “เฟรดริก” และคุณตาคุณยายหลายคนที่ร่วมกันขับเคลื่อนความเป็นไปในบ้านพักคนชราหลังนี้            จนกระทั่ง วันหนึ่ง “พฤกษ์” ผู้เป็นพระเอกของเรื่อง ได้ตัดสินใจพา “บุษกร” มารดาของตนเข้ามาพำนักร่วมกับเพื่อนผู้สูงวัยในบ้านร่มไม้ชายคา แม้บุษกรจะเคยเป็นคนที่ชอบเสียงเพลงและรักการเต้นรำ แต่ภายหลังจาก “เดชา” บิดาของพฤกษ์ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต มารดาของเขาก็กลายเป็นโรคซึมเศร้านับจากนั้นมา            แม้อาจารย์มหาวิทยาลัยหนุ่มอย่างพฤกษ์จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และร่ำเรียนความรู้เชิงทฤษฎีมาสอนด้านบริหารธุรกิจให้กับลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่กับการบริหารสถาบันครอบครัวจริงๆ ที่อยู่นอกห้องเรียน เขากลับล้มเหลวกับมรสุมชีวิตต่างๆ แบบไม่เป็นท่า ทั้งจากการเลือกปิดบังความลับเรื่องพ่อตายไม่ให้มารดารู้ และจากการตีกรอบชีวิตตัวเองเนื่องจากผิดหวังกับความรักมาก่อน            การผูกโยงให้ตัวละครเอกได้มาพบรักกัน และยังได้เรียนรู้ชีวิตจากผู้สูงวัยที่ “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ซึ่งแน่นอนว่า ครั้งหนึ่งก็เคยมีประสบการณ์ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมายิ่งกว่าเธอและเขาเสียอีก ในที่สุดทั้งพิมพ์วีนัสและพฤกษ์ก็ค่อยๆ ปรับโลกทัศน์ของตนต่อคนสูงอายุเสียใหม่ เหมือนกับหลายๆ ฉากที่ผู้ชมจะได้เห็นภาพคนรุ่นใหม่ที่ “ไกลฝั่ง” เหล่านี้ เดินเข้าไปมองสายน้ำอยู่ริมตลิ่งที่ “ใกล้ฝั่ง” นั่นเอง            ด้านหนึ่ง ด้วยสุขภาพร่างกายที่ป่วยกระเสาะกระแสะบ้าง ขี้หลงขี้ลืมบ้าง ขี้บ่นขี้โวยวายบ้าง แต่นั่นก็เป็นสัจธรรมของผู้สูงวัยที่เดินทางมาอยู่บั้นปลายชีวิต เฉกเช่นที่คุณตาชาญชัยได้พูดกับพิมพ์วีนัสว่า “นาฬิกาของฉันมันเดินถอยหลัง มันต่างจากนาฬิกาของหนู ซึ่งเดินไปข้างหน้า”            แต่อีกด้านหนึ่ง ประสบการณ์ที่มี “นาฬิกาชีวิต” หมุนผ่านมาหลายรอบนี้เอง ทำให้คนสูงวัยต่างมีภูมิความรู้และรู้เท่าทันโลก ในแบบที่อหังการของคนรุ่นใหม่ผู้อ่อนหัดไม่อาจทัดเทียมได้จริง เหมือนกับที่ “อานัส” หลานชายเพลย์บอยของคุณตาชาญชัยต้องเคยพ่ายแพ้เกมเล่นเปตองให้กับคุณตาโตมร ก็เป็นเพราะว่า เกมบางเกมไม่ใช่การใช้เรื่องแรงกาย แต่เป็นเรื่องของสมองและประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตต่างหาก            แม้ “เกิดแก่เจ็บตาย” จะเป็นธรรมดาของโลก แต่ในห้วงปลายทางของชีวิต ผู้สูงอายุในบ้านร่มไม้ชายคาก็ยังต้องเผชิญปัญหารุมเร้ามากมาย บางคนถูกทรมานทั้งกายวาจาใจจากคนรุ่นใหม่ ถูกปอกลอกโกงเงิน ถูกทอดทิ้ง รวมไปถึงถูกทำให้รู้สึกเหงา เหมือนกับที่คุณตาชาญชัยเคยเปรยกับพฤกษ์ว่า “ความเหงาคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตคนแก่”             แต่อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า สิ่งที่จะทำให้บรรดา “ไม้ใกล้ฝั่ง” ต้องเจ็บปวดมากที่สุดก็คือ การเฝ้ามองดูความเสื่อมถอยของบุตรหลานตน เหมือนเมื่อครั้งที่คุณตาชาญชัยต้องเสียน้ำตาให้กับลูกๆ หลานๆ เพราะหลานคนหนึ่งติดยาเสพติด อีกคนหนึ่งหนีคดีขับรถชนคนตาย ในขณะที่ลูกๆ ที่เหลือก็เอาแต่จะแย่งชิงมรดกมาเป็นของตน คุณตาถึงกับตัดพ้อว่า “คนแก่จะอายุยืนถ้าได้อยู่เห็นความกลมเกลียว ความรักกันของลูกหลาน มากกว่าที่จะได้ยินเสียงแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นระหว่างคนสายเลือดเดียวกัน”             หากบ้านร่มไม้ชายคาเป็นภาพจำลองให้เห็นสังคมไทยที่กำลังเดินหน้าสู่ “สังคมแห่งผู้สูงอายุ” ก็คงถึงเวลาแล้วกระมังที่ “คนไกลฝั่ง” จะได้จัดวางจังหวะชีวิตของตนให้หันมามองประสบการณ์และความเป็นไปของ “ไม้ใกล้ฝั่ง” กันบ้าง เมื่อยิ่งเรียนรู้และยิ่งผูกพันกัน บางทีความสัมพันธ์ที่เข้าอกเข้าใจกันของคนต่างวัยก็อาจเป็นดุจดังที่พิมพ์วีนัสได้เคยพูดบ้านร่มไม้ชายคาว่า “เราเคยเกลียดที่นี่ ไม่อยากจะเดินเข้ามาที่นี่ แต่วันนี้พอไม่มีคุณตาคุณยายแล้ว ทำไมเรากลับใจหายก็ไม่รู้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 การเลือกซื้อรถยนต์ให้สัมพันธ์กับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก

เมื่อทราบข่าวจากคุณแม่ว่าจะมีสมาชิกใหม่ในบ้าน หลายครอบครัวก็ต้องมาวางแผนในการที่จะต้องซื้อของเพื่อใช้ในการเลี้ยงเด็กทารก รถยนต์เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญ บางครั้งก็ถูกมองว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการเดินทางร่วมกันของครอบครัว ดังนั้นการเลือกซื้อรถยนต์ เพื่อตอบโจทย์ในเรื่อง ความเป็นมิตรกับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก (Family friendly car) จำเป็นต้องมีข้อมูลและแนวทางเบื้องต้นในการประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสิ่งที่ต้องคำนึงในการเลือกซื้อรถเข็นเด็กทั่วไป คือ ยิ่งเป็นรถขนาดใหญ่ยิ่งดีใช่หรือไม่?คำตอบคือ ถูกเพียงครึ่งเดียว สิ่งที่ควรพิจารณา คือ ความง่ายในการติดตั้งที่นั่งสำหรับเด็ก(car seat) และเข็มขัดนิรภัยของรถ สามารถติดตั้งได้ง่ายหรือไม่ ซึ่งในรถรุ่นเก่าก่อนปี 2004 จะไม่มีตะขอโลหะที่ซ่อนอยู่ใต้เบาะสำหรับติดตั้งที่นั่งสำหรับเด็ก แบบ Isofix ซึ่งเป็นชิ้นส่วนมาตรฐานสำหรับรถยนต์ในปัจจุบัน(โดยเฉพาะรถยนต์ ของประเทศยุโรป)  ที่มีไว้สำหรับการติดตั้ง car seat สำหรับเด็ก นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงความยาวของเข็มขัดนิรภัยในรถด้วย เพราะถ้าความยาวของเข็มขัดสั้นเกินไปอาจทำให้เกิดการรัดเข็มขัดที่ยากขึ้น หรือไม่สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้สำหรับกรณีการติดตั้งที่นั่งนิรภัยสำหรับทารกแบบ carry seat ซึ่งการติดตั้งในกรณีที่ติดตั้งอยู่ข้างหน้าข้างคนขับจะต้องล็อคไม่ให้กลไกถุงลมนิรภัยทำงาน เนื่องจากจะเป็นอันตรายแก่เด็กในกรณีเกิดอุบัติเหตุ  และหากเป็นไปได้ ก็ควรเลือกรถที่มี ประตู ปิด เปิด แบบสไลด์ นอกจากจะต้องคำนึงถึงรถยนต์คันใหม่ที่จะซื้อแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังต้องคำนึงถึง ที่นั่งนิรภัยที่จะซื้อตามมาอีกด้วย เพราะ ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ไม่ได้ทำมาเพื่อติดตั้งได้กับรถทุกคันในตารางที่แสดงผลการทดสอบ ความเหมาะสมของที่นั่งตำแหน่งต่างๆ ของรถยนต์หลากหลายยี่ห้อ หลากหลายแบบ ตั้งแต่ รถยนต์ กลุ่ม Middle class SUV VAN และ Compact wagon จำนวน 18 รุ่น จะเห็นได้ว่า การติดตั้งที่นั่งนิรภัยด้านข้างคนขับนั้นทุกยี่ห้อ ได้ผลการประเมินเพียงแค่ พอใช้ หรือผ่านเท่านั้น เนื่องจากเด็กไม่ควรนั่งข้างหน้าข้างคนขับ ยกเว้นในกรณีจำเป็น เพราะในกรณีเกิดอุบัติเหตุ เด็กจะได้รับการบาดเจ็บที่รุนแรงกว่า การที่นั่งข้างหลังสำหรับการให้คะแนนในการประเมินทางองค์กรที่ทดสอบการติดตั้งที่นั่งนิรภัยจะพิจารณาจากความยาวของเบาะที่นั่ง ที่ว่างด้านหน้าเบาะ ตำแหน่งของตะขอสำหรับการติดตั้งที่นั่งนิรภัยแบบ Isofix และความยาวของเข็มขัดนิรภัยที่มา วารสาร Test ฉบับที่ 7/2015

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ครัวใบโหนด ผลผลิตจากครัวชุมชนสู่คนทั้งหมด

ใน “ลานผักพื้นบ้าน อาหารกู้โลก” ของงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 6 “ผักพื้นบ้าน สร้างเศรษฐกิจไทย กู้ภัยวิกฤติ” ที่จัดระหว่างวันที่ 2 – 6 กันยายนนี้ ที่เมืองทองธานี 2552 มีกลุ่มชาวบ้านที่จัดว่าเป็นไฮไลต์ของลานที่มาตั้งร้านจำลองที่มีชื่อว่า “ครัวใบโหนด” ซึ่งมาพร้อมกับเมนูตัวอย่างจากคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลากว่า 10 ชนิด ใครๆ ได้ไปชิมแล้ว เป็นต้องออกปากชมเปาะ และติดใจในรสมือระดับแม่ครัวตัวยายของกลุ่มพวกเขา “เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ตาลโตนด และโครงการฟื้นฟูฯ คาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา”   ครัวใบโหนดจากการคิดและร่วมลงทุนลงหุ้นกันของสมาชิกในกลุ่มจำนวน 7 กลุ่ม 5,000 กว่าชีวิต จนมาเปิดร้านอาหารพื้นบ้านที่มีขนาดใหญ่แบบคนใจใหญ่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเรื่องราววิถีวัฒนธรรมการกินของชาวคาบสมุทรสทิงพระและเพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มให้คงอยู่ในรุ่นลูก รุ่นหลานสืบต่อไป อีกทั้งยังต้องการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้สนใจที่แวะเวียนเข้าลองชิมและอุดหนุน พร้อมๆ กับการเปิดมุมเผยแพร่แลกเปลี่ยนพันธุ์พืชท้องถิ่น และเป็นแหล่งรวบรวมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในคาบสมุทรสทิงพระอีกด้วย ก่อนที่จะมาเปิดร้าน ครัวใบโหนด เริ่มกันด้วยเครือข่ายออมทรัพย์ตาลโตนดก่อน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของชาวบ้านเมื่อ 24 ปีที่แล้วเพื่อทำกลุ่มออมทรัพย์ ส่งเสริมอาชีพของสมาชิกในชุมชน "คาบสมุทรสทิงพระ" ซึ่งเป็นพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลาอยู่ระหว่างทะเลสาบสงขลากับอ่าวไทย ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือทำนา ทำสวน ทำน้ำตาลโตนดและทำประมง เมื่อเริ่มมีเครือข่ายออมทรัพย์ ก็มีการตั้งกองทุนสวัสดิการ กองทุนเงินฌาปณกิจและกองทุนไถ่ถอนที่ดินเพื่อสนับสนุนการทำเกษตรกรรมยั่งยืนร่วมไปด้วย จนเมื่อปี 2549 เครือข่ายออมทรัพย์ตาลโตนดได้เริ่มทำการสำรวจภูมิปัญญาจากตำรับน้ำพริก และอาหารท้องถิ่นในปี 2550 เพื่อศึกษาความหลากหลายของพืชพื้นบ้าน รวมถึงคุณประโยชน์ในด้านการกินและสมุนไพรในการรักษา และด้านอื่นๆ จากสภาพพื้นที่ที่มีลักษณะผสมผสานระหว่าง ทุ่งนา ป่าตาลโตนดและทะเลน้ำจืด(ทะเลสาบตอนบนและตอนกลาง) ทะเลน้ำกร่อยในช่วงทะเลสาบสงขลาตอนใต้และน้ำเค็มในทะเลอ่าวไทย เรียกสั้นๆ ง่ายๆ “โหนด –นา – เล ของคาบสมุทร 3 น้ำ” ชาวบ้านพบว่า หนทางเดียวที่จะรักษาความหลากหลายของทรัพยากรอาหารกับภูมิปัญญาความรู้ในการเลือกกิน เลือกเก็บอาหารมาปรุงให้อร่อยและมีคุณค่าได้ คือการมีไว้ให้ลูกหลานกินนั่นเอง ที่ร้านครัวใบโหนด นอกจากมีอาหารดีๆ อร่อยๆ แล้วยังจัดสรรให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับที่มาที่ไปของอาหารในคาบสมุทรสทิงพระ เช่น พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน อาหารจากตาลโหนดในนา โดยปฏิบัติการตรงจากลุงป้าน้าอาและลูกหลานของชุมชน เพื่อนำเสนอสู่ผู้คนที่สนใจให้ได้ร่วมภาคภูมิใจในรสอร่อยของอาหาร ไปพร้อมๆ กับการสืบสานและสร้างสรรค์ให้พืชพันธุ์ท้องถิ่นอยู่คู่การกินแบบมีคุณภาพในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง เมนูที่ครัวใบโหนดเลือกมาสาธิตให้ผู้สนใจในลานผักพื้นบ้าน อาหารกู้โลกเมื่อวันงานที่เมืองทองธานี คือ “ยำสาย” หรือยำสาหร่ายจากทะเลสาบสงขลา (คนที่เคยได้ทดลองกินในงานมหกรรมสมุนไพรปีที่แล้วต่างยอมรับกันทั่วว่าอร่อยจริงๆ) เมื่อวันงานผ่านไปแล้ว อย่าเพิ่งเสียดายว่าจะไม่ได้ชิมอีก หลังจากเสร็จงานมหกรรมฯ ที่เมืองทองธานี พวกเขาจะเปิดร้านครัวใบโหนดอย่างเป็นทางการ ที่บ้านบ่อกุล อ.สิงหนคร ในคอนเซ็ปต์ “ผลผลิตจากครัวชุมชน สู่คนทั้งหมด” เตรียมเสิร์ฟอาหารท้องถิ่นรสอร่อยแท้ ปลอดสารพิษรสเด็ดแบบชาวคาบสมุทรสทิงพระกว่า 60 รายการที่คัดสรรอย่างดีมาให้กับลูกค้า เจ้าตำรับ : นางฆอยะ มณีโชติ อายุ 60 ปี จ.สงขลา วัตถุดิบในการทำยำสาย1. สาย(หรือสาหร่าย) 3 ขีด2. มะพร้าวคั่ว ? กิโลกรัม3. มะนาวลูกใหญ่ 5 ลูก4. หอมแดง 16 กลีบ5. น้ำตาลปีบ 3 ขีด6. มะม่วงพิมเสนเบา 4 ลูก7. พริกสด 10 ดอก8. น้ำกะทิสด 1 กิโลกรัม9. เกลือ 1 ช้อนชา10. กะปิ 2 ขีด วิธีทำยำสาย1. นำสาย/สาหร่าย ที่ล้างทำความสะอาดแล้วมาหั่นให้เหลือความยาวประมาณ 2 นิ้ว2. เอาน้ำกะทิตั้งไฟ ใส่กะปิ หั่นหอมแดงประมาณ 6 กลีบ และน้ำตาลปีบใส่ลงไป เคี่ยวจนละลายแล้วเติมเกลือ3. นำสายหรือสาหร่ายที่หั่นแล้วใส่ลงไป คนให้เข้ากัน แล้วยกลงเทใส่ภาชนะหรือถาด4. นำมะพร้าวคั่วมาตำให้ละเอียด แล้วนำไปคลุกกับสาย5. หั่นหอมแดง 10 กลีบที่เหลือบางๆ ใส่ลงไป ฝานหรือสับหรือซอยมะม่วงใส่ลงไป แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน6. ใส่พริกสด เกลือ กะปิ คลุกเคล้าอีกครั้งหนึ่งแล้วชิมรส

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 88 โรงเรียนกวดวิชา

กลับมาอีกครั้งกับผลสำรวจของฉลาดซื้อร่วมกับเครือข่ายที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ (ลำปาง เพชร์บูรณ์ ลพบุรี สระบุรี กาญจณบุรี ตราด สมุทรสงคราม สตูล ยะลา มหาสารคาม และอำนาจเจริญ) คราวนี้เราเลิกไปป้วนเปี้ยนแถวโรงเรียน แต่ไปสอบถามจากผู้ปกครอง จำนวน 498 คน ในฐานะที่เป็นแหล่งทุนสำหรับการเรียนพิเศษของเด็กๆ ทั้งในช่วงเปิดและปิดเทอม กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ปกครอง อายุระหว่าง 41-50 ปี และร้อยละ 60 เป็นผู้หญิงร้อยละ 32 จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ร้อยละ 26 มีการศึกษาระดับประถมศึกษา ตามด้วยอีกร้อยละ 24 ที่มีการศึกษาระดับมัธยม ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 28) รับราชการ ตามด้วย ร้อยละ 24 ที่ทำธุรกิจส่วนตัว รายได้ของครอบครัวของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 35) อยู่ที่ 10,000 ถึง 15,000 บาท อีกร้อยละ 26 มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท อีกร้อยละ 28 มีรายได้มากกว่า 20,000 บาทลูกหลานของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 43) กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ร้อยละ 64 ของนักเรียน เลือกเรียนสายวิทย์ เกือบร้อยละ 40 มีเกรดเฉลี่ยระหว่าง 2.5 ถึง 3 อีกร้อยละ 32 มีเกรดเฉลี่ยระหว่าง 3 ถึง 3.5 จากกลุ่มตัวอย่างที่เครือข่ายของเราไปสัมภาษณ์ พบว่ามีถึงร้อยละ 34 ที่เรียนกวดวิชาและในกลุ่มนี้  มีถึงร้อยละ 79 ที่ใช้บริการโรงเรียนกวดวิชา ที่เหลือเรียนตัวต่อตัวกับครูสอนพิเศษ จำนวนวิชาที่เรียนต่อเทอมหนึ่งวิชา 40.5สองวิชา 36.1สามวิชา 19มากกว่าสามวิชา 4.4วิชาที่เด็กๆนิยมเรียนเรียงตามลำดับความนิยมในกรณีที่เรียนเพียงหนึ่งวิชานั้น วิชาที่เด็กๆ เลือกเรียนคือ คณิตศาสตร์ (ร้อยละ 62.6) รองลงมาได้แก่ อังกฤษ (ร้อยละ 38) ฟิสิกส์ (ร้อยละ 28) และเคมี (26)  ว่าแต่ทำไมเด็กกลุ่มนี้ถึงต้องเรียนกวดวิชา สิ่งที่ผู้ปกครองกลุ่มนี้เห็นว่าเป็นเหตุผลหลักที่เด็กๆไปเรียนพิเศษ คือ เรียนเพื่อต้องการทำคะแนนให้ดีขึ้น (ร้อยละ 77.5) รองลงมาได้แก่เพื่อการเตรียมตัวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย (ร้อยละ 49.2) ตามด้วยการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ (ร้อยละ 45.2) มี ร้อยละ 26.3 ที่ให้เหตุผลว่าลูกหลานไปเรียนพิเศษ เพราะเรียนตามเพื่อนในห้องไม่ทัน (ร้อยละ 26.3) มีเพียงร้อยละ 8.6 เท่านั้นที่ตอบว่าเด็กไปเรียนเพราะต้องการมีกิจกรรมนอกบ้าน และไปสังสรรค์กับเพื่อนหลังเรียน เกณฑ์ในการพิจารณาเลือกโรงเรียน / ผู้สอนพิเศษให้กับบุตรหลาน คุณวุฒิของผู้สอน                 64.6ชื่อเสียงของผู้สอน            41.5เลือกตามคำแนะนำจากผู้ปกครองอื่นๆ     30.5แผ่นพับ/โฆษณา                14.8มาดูเรื่องเงินกันบ้างค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษ โดยประมาณส่วนใหญ่ (ร้อยละ 31.2) มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1,000 – 2,000 บาท ต่อภาคเรียน แต่ที่น่าสนใจคือมีอีกร้อยละ 25 ที่เสียค่าใช้จ่ายเทอมละมากกว่า 4,000 บาท กลุ่มที่ใช้จ่ายเรื่องเรียนพิเศษเทอมละ 2,001 – 3,000 บาท และ 3,001 – 4,000 บาท มีประมาณร้อยละ 18 และมีไม่ถึงร้อยละ 8 ที่จ่ายน้อยกว่า 1,000 บาท    ในกลุ่มที่เรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น มีมากกว่าร้อยละ 30 ที่ใช้จ่ายมากกว่า 4,000 บาทค่าใช้จ่ายในเดินทางค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเรียนพิเศษแต่ละครั้งของเด็กส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 50 ถึง 100 บาท หนึ่งในสี่ใช้น้อยกว่า 50 บาท และมีถึงร้อยละ 16 ที่มีค่าเดินทางมากกว่า 200 บาทบทสรุปความคุ้มค่าของการลงทุนหนึ่งในสี่ของผู้ปกครองเหล่านี้เชื่อว่าบุตรของตนมีผลการเรียนดีอยู่แล้วก่อนเรียนพิเศษ     ประมาณร้อยละ57 เชื่อว่าบุตรมีผลการเรียนดีขึ้นหลังเรียนพิเศษ แลประมาณร้อยละ 42 ใส่ใจการเรียนมากขึ้นหลังจากไปเรียนพิเศษแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีอยู่บ้าง (ร้อยละ 9) ที่ตอบว่าไม่มีความแตกต่างของผลการเรียนก่อนและหลังการเรียนพิเศษแล้วที่ไม่เรียนเพราะอะไรสาเหตุหลักคือเรื่องของความไม่พร้อมทางการเงิน (ร้อยละ 23.3) มีประมาณร้อยละ 20 ที่เห็นว่าบุตรหลานของตนเองมีผลการเรียนที่ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีการกวดวิชาก็ได้ ร้อยละ 10 เห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะต้องเรียน และที่ไม่เห็นด้วยกับการเรียนกวดวิชาจริงๆ มีเพียงร้อยละ 3     เท่านั้น ______________________________________________________

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 ตะหลิวไนลอน

ตะหลิว เป็นอุปกรณ์คู่ครัวที่ขาดไม่ได้ เพราะต้องใช้กับงานผัด งานทอด ซึ่งวัสดุที่นิยมใช้ทำตะหลิว ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าไร้สนิม อะลูมิเนียม ซึ่งทนความร้อน แต่ตะหลิวพวกนี้มีความคม เนื่องจากการขึ้นรูปที่ต้องการความบาง แบน  เหตุนี้ตะหลิวเหล็กจึงไม่เหมาะกับกระทะสมัยใหม่ ที่เรียกว่า กระทะเทฟลอน หรือกระทะเคลือบเทฟลอน เพราะหากความคมของตะหลิวไปขูดเอาตัวเคลือบออก อันตรายจากการปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นพิษก็ตามมา กระทะเคลือบเทฟลอนจึงระบุห้ามใช้กับตะหลิวที่มีความคม ทำให้เกิดตะหลิวที่ทำจากพลาสติกทนความร้อน บางทีก็เรียกตะหลิวไฟเบอร์ ตะหลิวไนลอน หรือตะหลิวที่ทำจากไม้ขึ้น เพื่อให้เหมาะกับการใช้กระทะเคลือบเทฟลอน ปัญหาก็ตามมาอีกว่า ตะหลิวพวกนี้ ใช้งานได้จริงหรือไม่ ไม่เป็นอันตรายจริงหรือในเมื่อทำมาจากพลาสติก ซึ่งรู้กันอยู่ไม่ควรใช้กับความร้อนสูงๆ  ความจริงก็คือ ตะหลิวพวกนี้ใช้งานได้จริง แต่ต้องเลือกวัสดุที่ถูกต้องและใช้ให้เหมาะสม เพราะถึงเป็นพลาสติกทนความร้อน(ไนลอน) แต่หากใช้งานไม่ถูกต้องก็เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะกรณีที่เผลอติดนิสัยเดิมๆ วางตะหลิวไว้ในกระทะร้อนๆ ซึ่งห้ามเด็ดขาดหากเลือกใช้ตะหลิวไนลอน อีกอย่างหนึ่งควรพิจารณาเรื่องสำคัญคือ ตะหลิวนั้นทำมาจากไนลอน จริงหรือไม่ และจำเป็นต้องซื้อของแพงหรือเปล่า เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่าตะหลิวราคาถูกๆ อาจไม่ใช่พลาสติกชนิดทนความร้อนจริง ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องพิสูจน์ การพิสูจน์ครั้งนี้ ฉลาดซื้อได้เลือกซื้อตะหลิวพลาสติกที่วางจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป ทั้งหมด 11 ยี่ห้อ แล้วนำส่งให้เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคทำการทดสอบ ใน 4 ประเด็นคือ 1. ผลิตภัณฑ์ที่ทำการทดสอบเป็นพลาสติก ประเภทไนลอน หรือไม่ และเป็น ไนลอนประเภทใด 2. ความแข็งของวัสดุที่ใช้ทำตะหลิวมีค่าเป็นอย่างไร 3. จุดหลอมเหลวของตะหลิวแต่ละยี่ห้อเป็นเท่าใด และ 4. ชิ้นงานทนความร้อนที่อุณหภูมิ 200 °C ในเตาอบ และในน้ำมันได้หรือไม่ ข้อแนะนำ 1.ผู้บริโภคควรตรวจสอบตะหลิวว่าใช้วัสดุพลาสติกประเภทใดในการผลิต โดยดูจากฉลากสินค้า 2.ห้ามทิ้งหรือวางตะหลิวแช่ไว้บนภาชนะที่มีความร้อนสูงๆ เช่น ในน้ำมันที่ใช้ทอดอาหาร เป็นเวลานานๆ และควรหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติก ในการทำอาหารที่ต้องใช้ความร้อนสูง 3.ไม่ควรนำตะหลิวแช่หรือสัมผัสกรดหรือเกลือหรือด่างเข้มข้น เช่น น้ำปลา น้ำมะนาว น้ำส้มสายชู 4.ห้ามใช้กับเตาไมโครเวฟ 5.หลังการใช้งานควรทำความสะอาดทันที  ไม่ควรใช้ฝอยเหล็กขัดทำความสะอาด ควรใช้ฟองน้ำและผึ่งให้แห้งทุกครั้ง ข้อแตกต่างระหว่างไนลอน 6,6 และ ไนลอน 6 ไนลอนจัดเป็นพลาสติกในกลุ่ม semi crystalline เริ่มมีการสังเคราะห์ตั้งแต่ปี 1930 ไนลอนเป็นชื่อทางการค้า ชื่อดั้งเดิมทางวิทยาศาสตร์ คือ โพลีอาไมด์ (Polyamide: PA) ไนลอนมีหลายประเภท แต่ที่นิยมในการสังเคราะห์วัสดุ คือ ไนลอน 6,6 และ ไนลอน 6  ไนลอน 6,6 มีลักษณะความเป็นผลึกมากกว่า ส่งผลให้จุดหลอมเหลวสูงกว่า และมีความแข็ง และความต้านทานการสึกหรอดีกว่า ไนลอน 6 ผลการทดสอบ 1. การทดสอบเพื่อตรวจดูว่าเป็นพลาสติก ประเภทไนลอนประเภทไหน ในการทดสอบจะใช้เทคนิค FTIR และ DSC โดยการทดสอบได้รับการอนุเคราะห์จาก ภาควิชาวิทยาการและวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อบอกประเภทวัสดุพลาสติก เชิงคุณภาพว่าเป็นพลาสติกชนิดใด ขั้นตอนการทดสอบ การทดสอบหาโครงสร้างทางเคมีด้วยวิธีการ FTIR การทดสอบหาอุณหภูมิหลอมเหลวด้วย DSC การทดสอบการละลาย กราฟของ FTIR ของทุกตัวอย่างจะมีลักษณะดังภาพที่ 1  ซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างทางเคมีของ Nylon แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็น Nylon ชนิดใด ภาพที่ 1 FTIR spectrum ของตัวอย่าง เมื่อนำวัสดุของตะหลิวแต่ละยี่ห้อ มาหาช่วงอุณหภูมิหลอมเหลว (melting temperature) จะได้ผลดังตารางที่ 1 ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าอ้างอิงจากตารางที่ 2 จะพบว่า ตะหลิวยี่ห้อ Tesco, FACKELMANN (แฟคเคลมาน) และ Galaxy (นกเพนกวิน) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ ไนลอน 6 ในการผลิต ตะหลิวยี่ห้ออื่น ใช้วัสดุพลาสติก ประเภท Nylon 6,6 แม้ว่าลักษณะทางกายภาพจะดูคล้ายกันแต่ถ้าผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก Nylon 6 ก็จะทำให้ใช้งานได้ในช่วงความร้อนที่ต่ำกว่าและเสียรูปได้ง่ายกว่า ตารางสรุปผลการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพและวัสดุที่ใช้ทำตะหลิว   2 ผลทดสอบการวัดความแข็ง โดยทดสอบตามมาตรฐาน ASTM D2240 ใช้หัวกดชนิดกรวยมุมแหลม และใช้แรงกดขนาด 5 kgf การทดสอบค่าความแข็งได้นับการอนุเคราะห์จาก ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยวัดค่าความแข็งของ พลาสติกจำนวน 3 จุดแล้วหาค่าความแข็งเฉลี่ย โดยผลทดสอบของตะหลิวยี่ห้อ Tesco, FACKELMANN (แฟคเคลมาน) และ Galaxy (นกเพนกวิน) มีความแข็งต่ำกว่ายี่ห้ออื่น ซึ่งสอดคล้องกับ ผลการทดสอบที่ 1 เนื่องจากสมบัติความแข็งของไนลอนประเภท 6 จะมีค่าความแข็งโดยเฉลี่ยต่ำกว่า ไนลอน ประเภท 6,6 3 ผลการทดสอบการทนทานความร้อน ที่อุณหภูมิ 200 °C การทดสอบนี้ นำตะหลิว ไปวางในเตาอบอุณหภูมิ 200 °C ผลการทดสอบ พบว่า ชิ้นงานทุกชิ้นมีการเสียรูป และเริ่มมีการหลอมละลายของพลาสติก เมื่อเวลาผ่านไป 5 นาที ดังรูปที่ 1 รูปที่ 1 การเสียรูป ที่ตะหลิว หลังจาก ทิ้งไว้ในเตาอบ อุณหภูมิ 200 °C นาน 5 นาที   4 ผลการทดสอบการทนทานความร้อน ในน้ำมันพืช อุณหภูมิ 200 °C การทดสอบนี้ ตะหลิวทุกยี่ห้อ มีการเสียรูป และหลอมละลายในน้ำมัน เมื่อเวลา ผ่านไป 5 ชั่วโมง ดังรูปที่ 2 รูปที่ 2 การเสียรูป ที่ตะหลิว หลังจาก ทิ้งไว้ในน้ำมันพืช อุณหภูมิ 200 °C นาน 5 ชั่วโมง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 166 การเลือกมีดทำครัว

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการในปัจจุบันคนทั่วไปมักจะไม่ค่อยมีเวลาได้ทำกับข้าวรับประทานเอง เนื่องจากมีร้านสะดวกซื้อเปิดอยู่แทบทุกหัวถนน และเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงวันหยุดยาวสิ้นปีเก่า เริ่มปีใหม่นี้ การหาเวลาว่างทำอาหารรับประทานเองกันในครอบครัว เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่สังคมชาวตะวันตก ใช้เป็นอุบายในการทำกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความมีปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว อาวุธที่สำคัญในการทำครัว คือ มีดที่ต้องมีความคมสำหรับการหั่นเนื้อสัตว์ที่มีความเหนียว และหั่นผักที่มีความแข็ง เช่น แครอท บทความนี้จะขอแนะนำหลักการทั่วๆ ไป ในการเลือกซื้อมีดที่จะนำมาใช้ในการทำครัว แบบที่พ่อครัวมืออาชีพนิยมใช้ในการเตรียมอาหารทั้งประเภทเนื้อสัตว์และผัก ซึ่งสามารถแบ่งมีดทำครัวออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1. มีดที่ใช้ในครัว (Kitchen knife) มีดที่ใช้หั่น ฝรั่งเรียกรวมๆ กันว่ามีดในครัว (Kitchen knife) เป็นมีดที่ใช้หั่นทุกอย่างในครัว ใบมีดควรมีขนาดความหนาอยู่ระหว่าง 0-3 – 0.46 มิลลิเมตรและตอนปลายด้ามความหนาของมีดควรมีความหนากว่า มีดประเภทนี้สามารถใช้ในการเฉือนมะเขือเทศ หรือผัก ผลไม้ที่มีความแข็งไม่มากได้ดี โดยผักหรือผลไม้ เช่น มะเขือเทศไม่ช้ำ 2. มีดแบบญี่ปุ่น (Santoku) เป็นมีดที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่นที่ปัจจุบันได้รับความนิยมในยุโรปและอเมริกา เนื่องจากความคมของใบมีดและลักษณะการใช้งานที่หลากหลาย คำว่า Santoku แปลว่า คุณค่า 3 อย่าง เพราะมีดชนิดนี้สามารถ หั่น เฉือน และสับได้ด้วย บางยี่ห้อตรงด้านข้างของใบมีดจะมีรอยบุ๋มลึกลงไป ทำให้เวลาเฉือน เนื้อที่ถูกเฉือนออกมาไม่ติดกับใบมีด ทำให้เฉือนได้ง่ายขึ้น   วัสดุที่ใช้ในการทำมีด มีดที่มียี่ห้อส่วนใหญ่จะผลิตจากวัสดุ 2 ประเภทหลักคือ เหล็กกล้าไร้สนิมและเซรามิก สำหรับเหล็กกล้าไร้สนิมที่นิยมใช้ในการทำมีด (โดยเฉพาะมีดของแบรนด์เนมทั้งหลาย) คือเหล็กเกรด X50CrMoV15 โดยที่ -   X หมายถึง เป็นเหล็กกล้าผสมสูง (มาตรฐานเยอรมัน) -   50 หมายความว่า มีธาตุคาร์บอนผสมอยู่ในเนื้อเหล็ก 0.5 % ส่วนผสมของคาร์บอนนี้จะทำให้เหล็กมีความแข็ง -   15 หมายความว่า มีธาตุโครเมียมอยู่ 15 % ธาตุโครเมียมเป็นธาตุที่ป้องกันการเกิดสนิมในเหล็ก   นอกจากนี้ในเนื้อเหล็กยังมีธาตุอื่นผสมรวมอยู่ด้วยคือ ธาตุโมลิบตินัม และธาตุวาเนเดียม ธาตุ 2 ชนิดนี้ช่วยให้เหล็กทนต่อการสึกหรอและการกัดกร่อนได้ดี ความแข็งของวัสดุอย่างเดียวไม่ใช่เป็นหัวใจสำหรับความคมของมีด ความคมของมีดขึ้นอยู่กับเทคนิคในการเจียรใบมีด ซึ่งสามารถทดสอบความคมได้จากการทดลองเฉือนกระดาษทรายที่ซ้อนกัน และวัดความลึกของใบมีดที่กรีดลงไปว่ามีขนาดลึกเท่าใด นอกจากเหล็กกล้าไร้สนิมแล้ว ปัจจุบันมีดที่ทำจากเซรามิกเป็นที่นิยม เนื่องจากมีความแข็งมากกว่าเหล็กกล้า แต่ข้อเสียของมีดที่ทำจากวัสดุประเภทนี้คือ การลับคมมีด จำเป็นต้องใช้ผลึกเพชรมาเจียรใบมีดหลังจากใช้งานไปได้ระยะหนึ่ง และการเจียรใบมีดนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องปล่อยให้มืออาชีพเจียรใบมีด และข้อควรระวังในการใช้มีดเซรามิกคือ การแตกของใบมีดเนื่องจากวัสดุที่แข็งมากก็จะเปราะมากด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นการหั่นผักหรือผลไม้ที่มีความแข็งสูงๆ ก็ไม่เหมาะสม และหากมีดตกจากที่สูงสู่พื้น ก็อาจจะทำให้ใบมีดแตกได้อีกเช่นกัน การทำความสะอาดใช้เพียงฟองน้ำเช็ดบริเวณใบมีด และแขวนเก็บไว้ การทำความสะอาดไม่ควรใช้แผ่นโลหะขัด เพราะจะทำให้คมมีดทื่อ และใบมีดเป็นรอย เกิดสนิมได้ง่าย เนื่องในวารดิถีปีใหม่ผมขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ดลบันดาลให้เพื่อนสมาชิกฉลาดซื้อทุกท่าน เจริญด้วยอายุ วรรณะ พละ ฉลาดบริโภค โรคภัยไม่ถามหานะครับ

อ่านเพิ่มเติม >