ฉบับที่ 134 คนรักหลักประกันสุขภาพ

  สร้างความเท่าเทียมมาตรฐานรักษาพยาบาล ดีกว่าร่วมจ่ายเพื่อการสร้างความเท่าเทียมในการจ่ายรักษา หลังการแถลงข่าวของกลุ่มคนรักหลักประกันเมื่อวันที่ 22 ก.พ.55 ถึงเหตุผลในเรื่องที่รัฐไม่ควรกลับไปใช้นโยบายร่วมจ่าย 30 บาท ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยนำเสนอ ผลการศึกษาของสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนา หลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่พบว่า การกลับมาเก็บ 30 บาท มีเหตุผลที่ไม่เชื่อมโยงหลายประการ โดยเฉพาะหากต้องการรีแบรนด์เพื่อช่วยสถานพยาบาลที่ประสบภาวะขาดทุน ยิ่งไม่ใช่ เนื่องจากข้อมูลพบว่าสาเหตุหลักของโรงพยาบาล (รพ.) ขาดทุนมาจากปัญหาค่าตอบแทน ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 30-40% ของปีงบประมาณ 2552 ซึ่งค่าตอบแทนนี้เป็นค่าตอบแทนในการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน แต่การจะมาผลักภาระโดยให้ประชาชนในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง เป็นผู้แบกโดยการร่วมจ่าย 30 บาท ถือว่าไม่ถูกต้อง แต่ท้ายที่สุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานการประชุมวิชาการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในศตวรรษที่ 2 จัดขึ้น ณ โรงแรมรามาการ์เด้น วันที่ 22 มี.ค.55 ว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นระบบที่รัฐบาลตั้งใจดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลยามเจ็บป่วย โดยไม่ต้องห่วงเรื่องการล้มละลาย ซึ่งตลอดมาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ คือกว่า 47 ล้านคน ช่วยลดความยากจนจากการจ่ายค่ารักษาประกันสุขภาพได้กว่า 76,000 ครัวเรือน ซึ่งก้าวต่อไปของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะยกเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่จะลดความเหลื่อมล้ำ และบริการที่ดี ครอบคลุม โดยจะกลับมาเก็บเงินสมทบ 30 บาท เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม และรู้สึกเป็นผู้ซื้อบริการ ไม่ใช่เป็นผู้มาขอรับบริการเท่านั้น   ฉลาดซื้อจึงขอพาคุณไปคุยกับกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังอย่างชมรมเพื่อนโรคไต เครือข่ายโรคมะเร็ง กันค่ะว่า จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ควรจะเพิ่มหรือพัฒนาการอะไรบ้าง หรือทางออกที่ดีของการสร้างหลักประกันสุขภาพควรจะเป็นอย่างไร สหรัฐ ศราภัยวานิช อาสาสมัครชมรมเพื่อนโรคไต ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า การเก็บค่าบริการ 30 บาท ใครอื่นอาจจะมองดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่คนที่ใช้สิทธิอยู่มันไม่มี 100 บาทก็ไม่มี 30 บาท ก็ดูจะยาก “การที่จะเก็บ 30 บาทแล้วบอกว่าเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ใช้บริการ ไม่ให้ประชาชนมาหาหมอพร่ำเพรื่อ แต่ถ้ามองในความจริงแล้ว ไม่มีใครอยากไปหาหมอหรอกครับถ้าไม่เจ็บป่วยจริงๆ” สหรัฐมองต่อประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการเข้าไปรับบริการสุขภาพซึ่ง เขาเองใช้สิทธิประกันสังคม เขาเองก็ยอมรับว่าสิทธิของประกันสังคมในเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นค่อนข้างครอบคลุม แต่กระนั้นก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นเข้ามา “ค่าเดินทางไปฟอกเลือดทีก็ 200 บาท ค่าอาหาร บางอย่างก็มีการเก็บเพิ่มเช่น ค่ากระดาษรองแขน คิดอาทิตย์ละ 100 บาท อย่างผมไปฟอกไตอาทิตย์ละ 3 ครั้ง เรื่องยาก็สำคัญนะครับ บางตัวหมอไม่ได้จ่ายให้ แต่เราจำเป็นต้องกิน ก็ต้องซื้อกินเองเดือนละ 300 บาท รวมประมาณการ เดือนละ 1,000 บาทครับ” แต่ค่าใช้จ่ายข้างต้น สหรัฐให้ความเห็นว่าเพราะเขารู้ช่องทางการไปฟอกไต จึงทำให้ค่าใช้จ่ายถูก แต่บางคนต้องเดินทางมาจากสมุทรปราการ บางทีมาจากประจวบฯ เพื่อมาฟอกไตที่ รพ.สงฆ์ “ก่อนที่จะมีโครงการฟอกไต ต้องบอกว่าตกเดือนละ 30,000 บาท ทั้งค่าฟอกไต ค่ายาฉีดเพิ่มเลือด ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายมากครับ มากจนบางคนล้มละลายไปเลยก็มี ต้องขายที่ดินเพื่อรักษาตัวเอง แต่พอการรักษาครอบคลุม ทุกอย่างดีขึ้นเยอะครับ แต่ถ้ามองดูสิทธิการรักษาระหว่างสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้สิทธิในการล้างช่องท้อง สำหรับคนเป็นโรคไต หลังปี 51 จะเลือกการรักษาโดยการฟอกเลือดไม่ได้ ต้องจ่ายเงินเองทั้งหมด บางคนกลัวว่าล้างช่องท้องแล้วจะติดเชื้อ ก็ยอมจ่ายค่าฟอกเลือด 1,000 ถึง 1,500 บาทก็ยอมจ่าย” การไปฟอกเลือดแต่ละครั้งจะใช้เวลา 4 ชั่วโมงในการฟอกเลือด แต่ยังไม่ได้รวมเวลาในการเข้าคิวรอ บางรายมารอตั้งแต่ตี 4 เพื่อที่จะได้ฟอกเลือด 6 โมงเช้า จะได้กลับบ้านก็ 11 โมง   ส่งเสริมสิทธิการรักษาให้เท่าเทียม การรักษาโรคไตมี 2 มาตรฐานนั่นคือ คนที่ได้รับสมุดฟอกเลือด กลุ่มแรกเป็นก่อนแล้วค่อยมาทำบัตรประกันสังคม กลุ่มที่สองทำบัตรประกันสังคมก่อนแล้วถึงเป็นโรคไต ซึ่งกลุ่มที่สองนั้นสิทธิจะครอบคลุมหมดเลยการฟอกเลือด 1 ครั้งประกันสังคมจะจ่ายให้ 1,500 บาท “ส่วนกลุ่มแรกนั้น ประกันสังคมจ่ายให้ 1,000 บาท ในเรื่องสิทธิของการเปลี่ยนไตนั้นเท่าเทียมกัน สามารถยื่นคำขอเปลี่ยนไตได้ แต่จะมีความแตกต่างกันในเรื่องค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือด แต่ถ้าเทียบกับสิทธิผู้ป่วยไตของกลุ่มหลักประกันสุขภาพนั้นในเรื่องค่ายากดภูมิ ไม่จำกัดเรื่องวงเงิน ซึ่งชมรมเพื่อนโรคไตพยายามผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันในเรื่องการรักษาพยาบาล” อีกเรื่องที่สหรัฐชี้ให้เห็นก็คือเรื่องยาในบัญชียาหลัก ที่มีความแตกต่างการจ่ายยาของแต่ละโรงพยาบาลแตกต่างกัน ส่งผลต่อการรักษาของผู้ป่วย “ในเรื่องของผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ผู้ที่เป็นโรคไตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ผู้ป่วยไม่ต้องร่วมจ่าย สำหรับบริการทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งบริการทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมนั้น เริ่มให้บริการในวันที่ 1 ตุลาคม 51 ซึ่งจะให้บริการฟอกเลือดสำหรับผู้ป่วยรายเก่าที่เลือกวิธีการฟอกเลือดต่อไป จะได้รับความคุ้มครองโดยร่วมจ่ายไม่เกิน 500 บาท สปสช.ชดเชยให้หน่วยบริการ 1,000 บาท ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ที่ยืนยันจะใช้วิธีฟอกเลือดต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ซึ่งชมรมเพื่อนโรคไตกำลังพยายามผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกัน คือถ้าหากมีการรวมกองทุนและสร้างความเท่าเทียมกันในเรื่องมาตรฐานการรักษา จะดีมากเลย คือเรื่องความสะดวกสบายน่ะไม่เป็นไร เราต้องการความเท่าเทียมกันด้านมาตรฐานการรักษามากกว่า” การรวม 3 กองทุน สู่มาตรฐานสุขภาพ ดาราณี โพธิน อาสาสมัครเครือข่ายโรคมะเร็ง เป็นอีกหนึ่งที่ใช้สิทธิประกันสังคมในการรักษาโรคมะเร็ง และเป็นผู้ประกันตนที่ร่วมส่งเงินสมทบตามมาตรา 39 นั่นคือเงินบำนาญ ซึ่งเธอให้ความเห็นว่าประกันสังคมน่าจะนำเงินส่วนกองทุนสุขภาพ มาเพิ่มในส่วนของเงินบำนาญ เพราะเมื่อชราภาพลงก็น่าจะมีกองทุนที่ช่วยเยียวยา “เราเห็นสิทธิการรักษาพยาบาลแล้ว มองว่ามันยังไม่ครอบคลุมเหมือนสิทธิหลักประกันสุขภาพ และเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ในเรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเอง หากจะมีการกลับมาเก็บ 30 บาทอีกนั้น ก็น่าจะมีการพัฒนาในเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น ทั้งเวลาที่รวดเร็วขึ้น ไม่ใช่ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ 6 โมงเช้า เพื่อไปรอหมอ กว่าจะได้พบหมอ ได้รักษาก็ครึ่งค่อนวัน คนในชุมชนเองซึ่งก็ทำงานรายวัน อย่างขายน้ำ พอไปหาหมอ 1 วัน วันนั้นรายได้ก็จะไม่มีเข้ามาแล้ว ไหนจะค่ารถ ค่าอาหาร หากจะกลับมาเก็บ 30 บาท ต้องมีอะไรที่ดีขึ้นกว่าเดิม ในส่วนตัวแล้วมองว่า 3 กองทุนสุขภาพ นั่นคือกองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคมและกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก อย่างคนในชุมชนใช้สิทธิประกันสุขภาพนอนดูอาการ อยู่หลายวัน แต่สิทธิข้าราชการ สามารถเข้ารับการตรวจได้เลย อีกส่วนหนึ่งที่เจ็บใจก็คือสิทธิของประกันสังคม ด้อยกว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพ ทั้งที่ประกันสังคมต้องจ่ายเงิน แต่สิทธิด้านการรักษาโรคยังครอบคลุมน้อยกว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพซะอีก เลยอยากให้นำส่วนที่เราจ่ายเงินไปสบทบในส่วนกองทุนชราภาพให้เราใช้ตอนแก่ยังจะดีกว่า เพราะสภาพสังคมแบบนี้จะมัวไปพึ่งลูกหลานอยู่ก็ไม่ได้ หากเป็นไปได้การจะพัฒนาเรื่องสุขภาพจริงๆ ก็ควรที่จะพัฒนาในเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้เท่าเทียมกัน ดูจะเป็นทางออกที่ดีกว่า”  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point