ฉบับที่ 272 ปัญหาที่มากกว่าวัยของโชเฟอร์

        แท็กซี่เป็นบริการรถสาธารณะที่เป็นที่ต้องการอยู่เสมอ เมื่อบริการขนส่งสาธารณะอื่นๆ อย่างรถเมล์ รถไฟฟ้า ไม่ตอบโจทย์ความต้องการส่วนบุคคล หลายประเทศจัดการเรื่องนี้ได้อย่างเหมาะสม นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ให้บริการ ในขณะที่ผู้บริโภคก็ได้รับบริการแบบมืออาชีพ ในราคาที่เหมาะสม และมีจำนวนรถให้เรียกใช้บริการเพียงพอ         ระยะหลังเราเริ่มได้ยินข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับวงการแท็กซี่ในต่างแดน เช่น กรณีของเกาหลีใต้ที่ร้อยละ 70 ของโชเฟอร์ ล้วนเป็นผู้ที่อยู่ในวัย 60 หรือ 70 กว่าปีขึ้นไป ที่ไม่นิยมออกรถในช่วงเวลาดึก เพราะเกรงจะเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากมองเห็นได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้เป็นปัญหาใหญ่ของผู้ที่ต้องการเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าว ภาครัฐเลยต้องเตรียมขึ้นอัตราค่าโดยสารเพื่อให้อาชีพขับแท็กซี่มีรายได้ดีพอจะดึงดูดคนวัยหนุ่มสาวที่หนีไปทำงานกับบริษัทขนส่งในช่วงโควิดระบาด ให้กลับมาขับแท็กซีกันมากขึ้น         ข่าวใหญ่ไม่แพ้กันคืออุบัติเหตุที่ฮ่องกงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อมีคนเดินถนนได้รับบาดเจ็บสามรายเพราะถูกรถแท็กซี่ชน หลังพวงมาลัยคือโชเฟอร์วัย 85 ปี ที่มีอาการเจ็บหน้าอกกะทันหันและไม่สามารถควบคุมรถได้ ในขณะที่คนขับแท็กซี่อีกคนในวัย 75 ก็หลับใน ขณะที่มีผู้โดยสารอยู่ในรถ โชคดีรถโดนเบรกโดยแผ่นปูนกั้น จึงไม่มีใครได้รับบาดเจ็บรุนแรง เพราะบริเวณนั้นเป็นย่านธุรกิจที่มีผู้คนพลุกพล่าน มากกว่าครึ่งของโชเฟอร์แท็กซี่ในฮ่องกงมีอายุเกิน 60 ปี และสถิติระบุว่าในปี 2023 มีคนขับแท็กซี่ที่อายุเกิน 70 ปี ถึง 31,000 คน         เมื่อดูสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับแท็กซี่ระหว่างปี 2013 ถึง 2022 จะพบว่ากลุ่มที่ประสบอุบัติเหตุขณะขับขี่รถให้บริการบ่อยที่สุดคือกลุ่มที่อายุ 20 ถึง 24 ปี (ใน 1,000 คน จะเกิดอุบัติเหตุ 51.3 คน) แต่สถิติของกลุ่มอายุมากกว่า 70 ปี อยู่ที่ 15.8 คน ต่อ 1,000 คน อาจดูเหมือนไม่มาก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือจำนวนครั้งของอุบัติเหตุที่เกิดกับคนขับสูงวัยเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่า (จาก 400 คน เป็น 1,100 คน)         ตามกฎหมายฮ่องกง ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ที่มีอายุเกิน 70 ปี จะต้องมีผลการตรวจร่างกาย เพื่อขอ/ต่อใบอนุญาตทุกๆ 3 ปี รายงานระบุว่าในข้อเสนอเรื่องการปรับปรุงความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถแท็กซี่ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในปีหน้า ฮ่องกงเตรียมจะเสนอให้เปลี่ยนกำหนดอายุจาก 70 เป็น 65 ปี เหมือนในสิงคโปร์ และลดระยะเวลาการต่อใบอนุญาตจาก 3 ปี เป็นทุก 1 ปี          ด้านสมาคมผู้ประกอบการแท็กซี่และผู้ขับขี่รถแท็กซี่ บอกว่ากำลังจะเปิดศูนย์ตรวจร่างกายที่นำเทคโนโลยีเอไอมาช่วยงานให้ได้ถึง 100 แห่งภายในสิ้นปีนี้ การตรวจดังกล่าวประกอบด้วยการตรวจร่างกายทั่วไป 37 รายการ การตรวจวัดสายตา การทดสอบการได้ยิน และปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ เป็นต้น         นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้นำระบบช่วยเบรกอัตโนมัติยามฉุกเฉิน หรือการแจ้งเตือนทันทีที่รถไม่อยู่ในเลนตัวเอง แบบเดียวกับที่ใช้ในญี่ปุ่นซึ่งมีโชเฟอร์แท็กซี่สูงวัยเป็นจำนวนมาก เข้ามาใช้ด้วยแต่ “วัย” หรือสุขภาพของคนขับแท็กซี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น สิ่งที่เรื้อรังมานานและยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบคือสภาพการทำงาน         ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการนี้บอกว่าโชเฟอร์ก็ไม่ต่างอะไรกับ “เหยื่อ”  ของเจ้าของใบอนุญาตฮ่องกงได้จำกัดจำนวนใบอนุญาตไว้ที่ 18,000 ใบ มาตั้งแต่ปี 1994 ทำให้ราคาซื้อขายใบอนุญาตตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 14 ล้านบาท) ผู้ที่ถือครองจึงมีแต่นิติบุคคลเป็นหลัก ร้อยละ 90 ของโชเฟอร์ฮ่องกงใช้วิธีเช่ารถจากบริษัทเหล่านี้ ในอัตราวันละประมาณ 400 เหรียญ (ประมาณ 1,900 บาท) ต้นทุนการทำงานจึงอยู่ที่วันละ 500 เหรียญ (อีก 100 เหรียญ หรือประมาณ 470 บาท เป็นค่าเชื้อเพลิง)         รายงานระบุว่าโชเฟอร์ที่นั่นมีรายได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 60 เหรียญ และในหนึ่งกะหรือ 10 ชั่วโมง จึงมีรายได้ประมาณ 600 เหรียญ จากการขับรับส่งผู้โดยสาร 25 เที่ยว ใครที่ร้อนเงินก็จะพยายามขับให้ได้จำนวนเที่ยวมากขึ้นโดยไม่พักเลยซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวเองและผู้โดยสารได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนขับมีอายุมากหรือมีโรคประจำตัว         นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสภาพรถแท็กซีที่เก่าเกินไป จากรถแท็กซี่ 18,000 คัน มีรถชนิดห้าที่นั่งที่ใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงอยู่ 3,000 คัน รถเหล่านี้อายุเกิน 15 ปี แต่คนก็นิยมเช่ามาขับเพราะค่าเช่าถูกกว่า         ที่น่าสังเกตอีกประเด็นคือ แม้ฮ่องกงจะเป็นประเทศที่ไม่น้อยหน้าใครในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ผู้บริโภคที่นั่นยังไม่สามารถใช้บริการแอปฯ เรียกรถ เหมือนที่อื่นได้ เพราะขนส่งฯ ฮ่องกงยังไม่รับรอง ตรงข้ามกับจีนแผ่นดินใหญ่ที่บริการของ “ตีตี้ ชูซิง” ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จอย่างยิ่งเพราะได้รับการออกแบบมาให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เรื่องนี้ก็อยู่ในข้อเสนอที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นในปีหน้าเช่นกัน ก่อนหน้านี้ค่าย Uber เคยพยายามเข้ามาจดทะเบียนทำธุรกิจบนเกาะฮ่องกง แต่ถูกคัดค้านจากผู้ให้บริการแท็กซี่ท้องถิ่นจนต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้านไป          กลับมาที่คำถามว่าแล้วโชเฟอร์สูงวัยที่รายได้ไม่พอใช้ จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือไม่ ตามกฎหมายฮ่องกง ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐได้ โดยรัฐจะให้ในอัตราเดือนละ 4,060 เหรียญ (ประมาณ 19,000 บาท) สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 10,580 เหรียญ (ประมาณ 50,000 บาท) กรณีไม่มีคู่สมรสและมีทรัพย์สินไม่เกิน 388,000 เหรียญ และรายได้ไม่เกิน 16,080 เหรียญ (ประมาณ 75,800 บาท) สำหรับผู้ที่มีคู่สมรส และมีทรัพย์สินมูลค่าไม่เกิน 589,000 เหรียญ          https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2023/09/113_337693.html         https://www.chinadaily.com.cn/a/202309/29/WS65165246a310d2dce4bb8812.html             https://www.thestandard.com.hk/breaking-news/section/4/201069/Taxi-accident-brings-the-trade’s-aging-workforce-back-in-the-limelight

อ่านเพิ่มเติม >