ฉบับที่ 200 รู้จักกฎหมาย “ขายฝาก” เป็นสัญญาซื้อขายแบบหนึ่ง ไม่ใช่สัญญาประกันหนี้

ช่วงเดือนที่ผ่านมา หลายท่านคงได้ติดตามข่าวฆาตกรรมที่มีปมจากเหตุฝากขายที่ดิน ที่ชาวบ้านหลายคนบอกว่าโดนหลอกให้ขายฝากที่ดิน แล้วถูกเอาที่ดินไปขายต่อโดยไม่รู้เรื่อง  ดังนั้นวันนี้ เรามาทำความรู้จักเรื่องการทำสัญญาขายฝากให้มากขึ้นกันดีกว่า เพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราเท่าทันเรื่องการขายฝากมากขึ้นครับ ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การขายฝาก คืออะไร ต่างกับสัญญาจำนองอย่างไร ซึ่งหากไปดูข้อกฎหมายจะทราบว่า การทำสัญญาจำนอง คือการเอาทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน ไปเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือบ้านยังเป็นของเราอยู่ไม่ได้โอนไป หากเราไม่ชำระหนี้เขาจะบังคับจำนองต้องลำบากไปฟ้องศาล ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ แต่ถ้าทำเป็นสัญญาขายฝาก เหมือนเอาทรัพย์ไปขายและถ้าครบกำหนดก็ให้ซื้อคืนได้ ฉะนั้นกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือบ้านก็จะโอนไปด้วย หากเราผิดนัดชำระหนี้แค่วันเดียว ก็มีสิทธิจะเอาทรัพย์เราไปขายต่อหรือไปทำอะไรก็ได้เพราะกรรมสิทธิ์มันโอนมาแล้ว ไม่ต้องลำบากไปขอศาลด้วย ดังนั้นในมุมผู้ที่เดือดร้อนเงิน แล้วจะนำที่ดินหรือบ้านไปกู้เงิน จึงขอแนะนำว่าไม่ควรทำเป็นสัญญาขายฝากนะครับ เพราะโอกาสที่จะเสียทรัพย์สินจะมีสูงกว่าเพราะกรรมสิทธิ์โอนให้เขาไปตั้งแต่วันทำสัญญาแล้ว  เราจะเห็นว่า สัญญาขายฝากมีเรื่องของ “กำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน” ไว้เป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากไม่มาไถ่คืนตามกำหนดเวลาที่ตกลงไว้ก็จะเสียสิทธิไถ่ทรัพย์คืน และทำให้ทรัพย์สินที่ขายฝากนั้นตกเป็นของผู้รับฝากทันที  อย่างไรก็ตามระยะเวลาไถ่ทรัพย์อาจขยายเวลาได้  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18460/2557            การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ จึงจะบังคับกันได้ การไม่นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คงมีผลทำให้คู่สัญญาไม่อาจยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง ดังนั้น การตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ตามหนังสือขอต่อสัญญาขายฝาก ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ผู้รับไถ่ลงลายมือชื่อไว้ แม้มิได้นำไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ไม่ได้ลงลายมือชื่อ แต่การที่จำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมในการกระทำของจำเลยที่ 1 กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการตกลงและทำหนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับไถ่ด้วย หนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่จึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยนำทรัพย์สินที่รับซื้อฝากไปขายก่อนครบกำหนดเวลาไถ่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ นอกจากนี้ ถ้ามีการกำหนดราคาไถ่ทรัพย์ที่สูงกว่าราคาแท้จริงที่ขายฝาก กฎหมายก็ให้ถือว่า ให้ไถ่กันตามราคาขายฝากที่แท้จริง และรวมประโยชน์ตอบแทนไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี เท่านั้น โดย “ราคาขายฝากที่แท้จริง” คือ ราคาที่ผู้ซื้อฝากได้ชำระราคาแก่ผู้ขายฝากในขณะทำสัญญากัน ซึ่งอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าราคาทรัพย์สินที่แท้จริง  เช่น ราคาขายฝากบ้าน 300,000 บาท กำหนดเวลาไถ่ 3 ปี กำหนดสินไถ่ เป็นเงิน 500,000 บาท เช่นนี้ ถือว่ากำหนดไว้เกินร้อยละ 15 ต่อปี เนื่องจากเมื่อคิดประโยชน์ตอบแทนจะได้ 155,000 บาท เท่านั้น(ราคาขายฝากที่แท้จริง x ประโยชน์ตอบแทน ร้อยละ 15 x กำหนดเวลาไถ่) จึงได้เท่ากับ 455,000 บาทเท่านั้น ดังนั้นค่าสินไถ่ที่กำหนดไว้ 500,000 บาทจึงตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับได้เพียงไม่เกินที่กฎหมายกำหนดกล่าวคือ ผู้มีสิทธิไถ่ย่อมชำระสินไถ่เพียง 455,000 บาท เท่านั้น     อีกทั้ง กฎหมายเขียนเรื่องประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี  ทำให้บางคนเข้าใจว่าเป็นสัญญาประกันหนี้ เพราะมีลักษณะคล้ายดอกเบี้ยเงินกู้  แต่แท้จริงคือการทำสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2559       บันทึกเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความสรุปว่า จำเลยได้รับขายฝากที่ดินพิพาท จำเลยยินดีจะทำสัญญาซื้อขายตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2556 ตามสัญญาเดิมที่ทำไว้พร้อมดอกเบี้ย โดยบันทึกดังกล่าวมีการอ้างถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมที่ น. มารดาโจทก์ทำไว้ก่อนตาย ซึ่งหากเป็นการตกลงจะซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างกันใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมไว้ ทั้งยังตกลงให้โจทก์ต้องชำระสินไถ่พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาขายฝากเดิมให้แก่จำเลยภายในวันที่ 26 มกราคม 2556 กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์  โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้รับไถ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง แล้ว น. มารดาโจทก์ผู้ขายฝากและจำเลยผู้รับซื้อตกลงคิดดอกเบี้ยเดือนละ 12,000 บาท กรณีนี้จึงเป็นการกำหนดราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากสูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ราคาสินไถ่ที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 คนกันเองยิ่งต้องระวัง

 หลังเทศกาลสงกรานต์หมาดๆ   น้องวดี ตื่นตระหนกพบว่า เงินในบัญชีธนาคารที่มีสัญลักษณ์ใบโพธิ์  สาขาหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ของตน ได้ล่องหนโดยไม่ทราบสาเหตุมากถึง 35,000 บาท  สำหรับเด็กอายุเพียง 20 ปีมันเป็นเรื่องใหญ่มาก น้องรีบไปแจ้งความต่อสถานีตำรวจเจ้าของพื้นที่ แล้วก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ เพราะตำรวจไม่ได้บอกความคืบหน้าใดๆ  แม่ยาคุณแม่ของน้องวดีความร้อนใจมาก จึงโทรมาขอคำปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อให้ช่วยติดตามหาความจริงวันต่อมา เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ให้ผู้ร้องดำเนินการนำใบแจ้งความยื่นขอตรวจสอบจากธนาคาร จึงพบว่ามีการใช้บัตรเอทีเอ็ม กดเงินที่ตู้เอทีเอ็มหน้าตลาดธานินทร์ เชียงใหม่ จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรก 15,000 บาทและครั้งที่สองอีก 20,000 บาท  ซึ่งตู้เอทีเอ็มตั้งอยู่บริเวณใกล้บ้านเสียด้วย  เมื่อทราบข้อมูลดังกล่าว  แม่ยาจึงได้ลองสอบถามผู้อาศัยในบ้านของตนเอง(สอบเค้น)  จนมาทราบในเวลาต่อมาว่า ผู้พักอาศัยภายในบ้านหรือคนใกล้ตัวนี่แหละ เป็นผู้นำบัตรเอทีเอ็มไปกดเงินสด 35,000 บาท    แม่ยาได้แจ้งต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ไม่ติดใจที่ดำเนินการต่อแล้ว เพราะยังไงก็เป็นญาติกัน แนวทางแก้ไข  หากกรณีที่มีเงินในบัญชีธนาคารหายไป ผู้บริโภคต้องปฏิบัติดังนี้ 1. รีบดำเนินการแจ้งคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารเจ้าของบัตร เพื่ออายัดการทำธุรกรรมต่างๆ 2. แจ้งความดำเนินคดีต่อสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินการหาผู้กระทำความผิดและเป็นหลักฐาน 3. ทำหนังสือหรือจดหมายถึงธนาคารฯ เพื่อตรวจสอบว่าเงินหายไปได้อย่างไร เช่น มีผู้อื่นนำบัตรเอทีเอ็มไปกดเงิน เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 อุทาหรณ์ ของ ลูกหนี้ ที่ทำสัญญา “ขายฝาก”

ธุรกิจรับจำนำ  ขายฝาก  เฟื่องฟูมากในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงเปิดเทอม เงินในกระเป๋าของผู้ปกครองคงชักหน้าไม่ถึงหลัง  ช่วงนี้โรงรับจำนำ  ร้านทอง  จึงเนื่องแน่นไปด้วยผู้คนที่นำทรัพย์สินมาจำนำเพื่อหาเงินไปต่อชีวิตตัวเอง   กรณีคุณรัชนี ก็เช่นกัน  แต่เธอไม่ได้พึ่งพาโรงรับจำนำ  กรณีของเธอคือ นำเครื่องไอโฟน 5  ไปทำสัญญาขายฝากกับร้านโทรศัพท์มือถือ  เพราะต้องการใช้เงินด่วนมากคุณรัชนีได้เงินมา 7,000 บาท    โดยตกลงกับร้านว่าครบกำหนดไถ่ถอน ในวันที่ 27 ตุลาคม 57 จะต้องนำเงินไปไถ่ถอนจำนวน 7,700  บาท  แต่ปรากฏว่าเธอไม่ได้ไปไถ่ถอนตามกำหนด      เพราะหาเงินไม่ทันและคิดว่าไม่เป็นไร เพราะร้านอื่นที่เคยทำสัญญาขายฝากไม่เคยมีปัญหาอะไร  ถ้าเลยกำหนดไปบ้าง  ในวันที่  28 ตุลาคม  จึงได้ติดต่อไปที่ร้านโทรศัพท์ ล่าช้าไปเพียง  1  วัน  เธอบอกว่าไม่สามารถติดต่อได้แล้วและหลังจากนั้นอีกวันเธอเดินทางไปที่ร้านโทรศัพท์  แต่เจ้าของร้านบอกว่าขายโทรศัพท์ไปแล้ว  แกรู้สึกเสียดายโทรศัพท์อยากได้คืน  จึงมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดีศูนย์พิทักษ์สิทธิได้รับฟังปัญหา  ได้ชี้แจงเบื้องต้นให้กับผู้ร้องฟังว่า การขายฝาก เป็นสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่ง   ซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกเป็นของผู้ซื้อฝากทันที แต่มีข้อตกลงว่าผู้ขายฝากอาจไถ่ทรัพย์คืนได้ภายในเวลาที่กำหนด  โดยต้องชำระค่าไถ่ถอนตามที่ตกลงกัน เรียกว่า สินไถ่ สัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายทรัพย์สินได้ทุกประเภททั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์โดยมีข้อตกลงว่า ให้ผู้ขายมีสิทธิมาไถ่ทรัพย์สินที่ขายคืนได้ภายในกำหนดระยะตามที่ตกลงกัน  ซึ่งสัญญาประเภทนี้ หากผู้ขายฝากทราบอยู่แล้วว่าจะไถ่ถอนไม่ทัน ผู้ขายฝากสามารถที่จะแจ้งต่อผู้ซื้อฝากก่อนครบกำหนดไถ่ถอนได้   แต่ต้องทำข้อตกลงการขยายระยะเวลาเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน   แต่หากไม่ติดต่อและไม่ไถ่ถอนตามกำหนด  ร้านค้าจะยึดทันทีโดยเฉพาะทรัพย์สินที่มีราคาสูงเป็นที่ต้องการของตลาด  ร้านค้าได้กำไรงาม จึงเห็นได้ว่าสัญญาขายฝากเป็นสัญญาที่เอาเปรียบผู้ขายฝากเป็นอย่างยิ่ง และยิ่งหากเผลอไผลไม่ไปไถ่ถอนในกำหนดเวลาก็จะต้องเสียกรรมสิทธิทันที   ต่างกับ “สัญญาจำนำ” ที่ผู้รับจำนำต้องมีแนวปฏิบัติก่อนยึดทรัพย์จำนำดังนี้ 1.ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ลูกหนี้จัดการชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่างๆ (ถ้ามี) ภายในเวลาอันสมควรซึ่งได้กำหนดไว้ในหนังสือบอกกล่าว 2. ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามหนังสือบอกกล่าว ผู้รับจำนำมีสิทธินำเอาทรัพย์สินที่จำนำออกขายทอดตลาดได้ 3. ผู้รับจำนำต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้จำนำทราบถึงวันที่จะขายทอดตลาดและสถานที่ที่จะขายทอดตลาด ข้อยกเว้น แต่ถ้าลูกหนี้ค้างชำระเกินกว่าเวลาที่กำหนด 1 เดือน และไม่สามารถจะบอกกล่าว ก่อนได้ผู้รับจำนำไม่ต้องบอกกล่าวให้ลูกหนี้ทราบก่อนแต่อย่างใด ผู้รับจำนำมีอำนาจนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดได้ทันที (ป.พ.พ. มาตรา 765)เรื่องนี้จึงเป็นอุทาหรณ์ แก่ผู้ที่จะนำทรัพย์สินไปขายฝาก   ต้องรู้ว่าหน้าที่ของตนเองต้องไปไถ่ถอนตามเวลา  เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ซื้อทรัพย์

อ่านเพิ่มเติม >