ฉบับที่ 115 ขอนแก่นโมเดล

“เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นทางการรักษา เราก็ต้องขอโทษและแสดงความรับผิดชอบ เยียวยาและชดเชยความเสียหายในสิ่งที่เขาควรจะได้ ไม่มีใครอยากให้เกิดความผิดพลาดขึ้นหรอกครับ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราก็ต้องกล้าที่จะยอมรับและขอโทษ” นายแพทย์วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2552 โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นตกเป็นข่าวครึกโครม เมื่อคนไข้ที่ผ่าตัดต้อกระจกจากโรงพยาบาลฯ ติดเชื้อจากการรักษาถึง 10 ราย ตาบอดถาวร 7 ราย มองเห็นเลือนลาง 3 ราย แต่ที่นี่ไม่มีคนไข้รายใดฟ้องร้องคุณหมอหรือโรงพยาบาล นับเป็นกรณีตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ที่น่าสนใจ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ยังลูกผีลูกคนรอเข้าสภาอยู่ และมีแพทย์บางกลุ่มออกมาคัดค้านเสียงดังว่า หากกฎหมายตัวนี้มีการบังคับใช้ คุณหมอและโรงพยาบาลจะถูกฟ้องมากขึ้น ความกังวลของกลุ่มแพทย์ที่คาดเดาไปต่างๆ นานาเกี่ยวกับอนาคตที่อาจต้องตกเป็นจำเลยเพราะถูกฟ้องร้องวุ่นวายจากคนไข้ ฉลาดซื้อฉบับนี้เราจะพาคุณผู้อ่านไปคุยกับ น.พ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้ซึ่งผ่านอนาคตอันน่าเป็นห่วงของหมอบางกลุ่มมาแล้ว "ขอนแก่นโมเดล" ห้องทดลองภาคปฏิบัติของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ถ้ามี พ.ร.บ.ตัวนี้ออกมาตอนนั้นผมคิดว่าจะช่วยคนไข้กับโรงพยาบาลของผมได้เยอะนะในตอนที่เกิดเหตุขึ้น เพราะคนไข้ที่ตาบอด 10 รายเป็นคนไข้บัตรทอง 6 ราย และอีก 4 รายใช้สิทธิข้าราชการ พอเกิดเหตุขึ้นก็กลายเป็นว่าคนไข้บัตรทองได้สิทธิที่ดีกว่า เพราะได้รับสิทธิการชดเชยตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งจะไม่ครอบคลุมถึงสิทธิของข้าราชการ เชื้อแบคทีเรียที่คนไข้ติดเชื้อชื่อว่า ซูโดโมแนส ออรูจิโนซ่า ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ในตัวคนก็มี ทางเราก็รักษาความสะอาดอย่างถึงที่สุดแล้ว แต่เมื่อเกิดติดเชื้อก็ถือเป็นเหตุสุดวิสัย พอเรารู้ว่ามีการติดเชื้อเราก็เรียกคนไข้ที่ผ่าตัดในช่วง 1 – 3 วัน กลับมาทั้งหมด คนที่ติดเชื้อเราก็รับตัวเข้ารักษา จะมีบางรายที่เขาไม่มั่นใจก็ขอย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลขอนแก่น ทางเราก็ทำเรื่องให้ บางรายต้องการไปรักษาที่โรงพยาบาลโรคตาเราก็ส่งตัวให้ไปรักษา การเยียวยาดำเนินการอย่างไร และทำอย่างไรให้คนไข้หรือญาติเข้าใจ คนไข้บางรายที่เกิดการติดเชื้อเร็วก็จะมาหาเราก่อนเพราะเขาปวดและบวม ญาติเขาก็เกิดความสับสนไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น บางคนก็โวยวาย บางคนก็เริ่มกังวลว่าตาจะบอดไหม จะรักษาได้ไหม จะต้องทำอย่างไร ตอนนั้นคำถามก็พรั่งพรูมาเต็มไปหมด ญาติคนไข้ก็เครียดหน้านิ่วคิ้วขมวด อารมณ์ก็ร้อน ทำไมตรวจช้ารักษาช้า คล้ายๆ ว่า “เขาไม่ได้คำตอบจากเรา” ทีมหมอและพยาบาลก็เครียด การเกิดเหตุแบบนี้นานๆ จะเกิดสักที ผ่าตัดไปหนึ่งหมื่นก็จะเกิดขึ้นสักรายหรือสองราย เราก็ตั้งใจรักษาพยาบาล ดูแลพวกเขาเต็มที่ สักพักทั้งคนไข้และญาติก็เริ่มสงบลง เราก็ถามญาติว่าต้องการรักษาที่ไหนที่ไม่ใช่โรงพยาบาลของเราบ้าง เราก็ทำเรื่องส่งไป ขณะเดียวกันเราก็จะทำทีมขึ้นมาเพื่อดูแลผู้ป่วย จะมีทีมสอบสวนโรค ทีมรักษาโรค คนที่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลขอนแก่นเราก็ไปดูแลทุกวัน ตามไปดู ไปคุยกับหมอที่นั่นเพื่อร่วมกันรักษา และเฝ้าติดตามอาการของพวกเขา ใครที่ดีขึ้นแล้วและอยากกลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลของเราก็ไปรับกลับมา ส่วนค่าใช้จ่ายที่ไปรักษาต่างโรงพยาบาลเราก็รับผิดชอบ พออาการอักเสบทุเลาลงเราก็จะเริ่มรู้แล้วว่า บางรายต้องควักลูกตาออก บางรายต้องขูดเนื้อเยื่อออก บางรายรู้แบบนี้ก็ร้อนขึ้นมาอีก เราต้องคุยกับคนไข้และญาติตลอด จะมีหมอและพยาบาลเป็นทีมไกล่เกลี่ย ทำความเข้าใจ แต่หลักๆ เราจะสร้างสัมพันธภาพระหว่างกัน ไม่ทอดทิ้งเขา อยู่เป็นเพื่อนเขาให้เขารู้สึกว่า “เขายังพึ่งเราได้” จากนั้นเราก็เริ่มการเยียวยาและชดเชยด้านสิทธิการรักษา ใครมีสิทธิตามมาตรา 41 เราก็ทำเรื่องให้ ไปแจ้งกรรมการกองทุนชดเชยและเยียวยา และคุยกับกรรมการว่าให้เร่งพิจารณาให้หน่อย ส่วนนี้ก็ได้รับการเยียวยาเต็มที่ซึ่งตามสิทธิของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ว่าถ้าพิการต้องชดเชย 120,000 บาท ส่วนกลุ่มข้าราชการก็ใช้หลักการเดียวกัน แต่ใช้เงินจากโรงพยาบาลเยียวยาให้ บางรายก็พอใจ แต่บางรายไม่พอใจ เราก็เจรจากันใหม่ ก็จ่ายไปเท่าๆ กัน ซึ่งตามหลักการแล้วผมคิดว่ากฎหมายใหม่น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะครอบคุลมไปถึงสิทธิการรักษาอื่นๆ ด้วย เพราะมาตรา 41 จะมีข้อจำกัดการรักษาแค่สิทธิผู้ถือบัตรทอง ระหว่างการรักษาเยียวยามีการเรียกร้อง(ฟ้องร้อง)ค่าชดเชยจากคนไข้ไหม คนไข้เขาก็ดีนะ เขาไม่ได้เรียกร้องโดยตรง เขาจะถามว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป แต่เราต้องเร็วและต้องรู้ว่าสัญญาณแบบนี้คือสัญญาณบอกเหตุ อย่างการพาทนายมาด้วย มาดูว่านอกจากการรับรักษาต่อแล้ว เราจะทำอย่างไรต่อไปไหม อย่างผู้ป่วยบางรายพอเข้ารักษาตัว เขาก็ไม่ได้ทำงาน ไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน ตรงนี้เราก็ต้องดูแล บางรายลูกหรือสามีต้องมาเฝ้าแล้วไม่ได้ไปทำงาน ไม่มีรายได้ เราก็ต้องเข้าถึงผู้ป่วยนะ แรกๆ เขาก็ไม่บอกเราหรอกว่าเขามีปัญหา เราก็ถามไป พอเขาบอกเราก็รู้แล้วว่าเขาเดือดร้อน แล้วก็ช่วยเหลือเบื้องต้นไปก่อน ชาวบ้านที่มารักษายากจน หาเช้ากินค่ำ คนที่มีฐานะดีเขาก็อยากรู้ว่าเราจะช่วยเหลืออะไรเขาบ้าง เขาไม่ได้ถามนะว่าเราจะให้เท่าไร แต่เราต้องรู้ เราต้องเปิดเวทีเจรจาพูดคุยกัน เราก็ตั้งโต๊ะกลมเจรจาขึ้น มีหมอ พยาบาล นักจิตวิทยา ฟังคนไข้กับญาติระบายความกังวล ความคับข้องใจ และต่อว่าต่อขานเรา เราก็ต้องรับฟังและต้องขอโทษตลอด ต้องแสดงความรับผิดชอบ และต้องไม่ทอดทิ้ง เราต้องเป็นที่พึ่งเขาได้ เบื้องต้นเราเยียวยาให้ก่อน 3,000 บาท เพราะครอบครัวเขาเดือดร้อน แล้วก็เพิ่มเป็น 50,000 บาท แล้วสุดท้ายเราเยียวยาให้เขารายละ 300,000 บาท แต่เราจะให้เขาเท่าไรมันก็ไม่สมกับที่เขาต้องสูญเสียดวงตาของเขาหรอกนะ พอเราทำดีกับเขาเขาก็เห็นความจริงใจของเรา และเห็นใจเรา เพราะว่าเราเองก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้เรื่องแบบนี้เกิด เขาก็เห็นใจหมอ เห็นใจพยาบาล ก็ให้กำลังใจ และนี่คือสัญญาณที่ดีแล้ว เพราะคนไข้ให้กำลังใจ บางรายยกมือท่วมหัวขอให้คุณพระ คุณเจ้าคุ้มครอง อวยพรให้เราด้วยทั้งที่เขาตาบอด นอกจากเราจะเยียวยาผู้ป่วยแล้ว ทีมหมอที่รักษาเราก็ต้องดูแลพวกเขาด้วยเหมือนกันเพราะเรื่องแบบนี้ไม่มีใครอยากให้เกิด แรกๆ ที่เกิดเหตุก็จะมีการถามถึงคุณหมอว่าหมอคนไหนรักษา เราก็ต้องดูแลหมอด้วยเหมือนกัน คุณหมอมีความเห็นอย่างไร ต่อท่าทีของหมอหลายคนที่กังวลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ว่า หากมีกฎหมายขึ้นมาจะทำให้หมอถูกฟ้องมากขึ้น บางคนกังวลว่าจะมีการฟ้องร้องมากขึ้น ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนมากขึ้น หรืออาจจะมีคนมาหากินกับกองทุนนี้หรือเปล่า แล้วทำให้หมอไม่กล้ารักษาผู้ป่วยหนักเพราะกลัวจะผิดพลาด นั่นก็เป็นธรรมดามันเป็นเรื่องความกังวล เพราะหมอเขารักษาผู้ป่วยทุกวัน ก็อาจจะมีสักวันที่เกิดพลาดขึ้นมา ผมคิดว่าก็น่าจะมีการศึกษาให้เข้าใจมากขึ้น แล้วก็ต้องมองโลกในแง่ดีว่าถ้าเกิดความผิดพลาดเกิดขึ้น คนที่เขาจะฟ้องอย่างไรก็ต้องฟ้อง แต่จากประสบการณ์ตรง คนที่ฟ้องน่ะไม่เยอะ แต่คนที่ร้องเรียนมีเยอะ อย่างพูดไม่เพราะ หรือผ่าตัดไม่ดี หรือว่ารักษาไม่ถูกต้อง แต่ส่วนใหญ่ก็จะคลี่คลายได้ด้วยการเจรจาต่อรองและช่วยเหลือให้เขาพอใจ มีน้อยรายที่จะฟ้อง เพราะถ้าฟ้องปุ๊บก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่แล้วก็จะเรียกร้องค่าเสียหายเยอะ คุยกันจะดีกว่าเพราะว่าคนไข้ก็ไม่ตั้งใจจะฟ้องหรอกถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ หมอเองก็ไม่ได้มีเจตนาจะรักษาให้ผิดพลาดแต่เพราะมันสุดวิสัยจริงๆ ถ้าหากว่ามีกองทุนตาม พ.ร.บ.นี้มาก็น่าจะทำให้บรรยากาศไม่ร้อนแรง เพราะจะมีการเยียวยาก่อนโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ให้บรรเทาความเดือดร้อนไปก่อน ตามธรรมชาติของคนไข้ถ้าเขาไม่มีที่พึ่ง เขาก็จะหันไปหาทนาย หันไปหาสื่อหรือว่าไปแจ้งตำรวจ พอได้รับการเยียวยาเบื้องต้นไปแล้วความร้อนแรงก็จะลดลง และก็จะเป็นเวทีในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ และเป็นการพัฒนามาตรฐานการให้บริการด้วย แต่ความกังวลต่างๆ ก็เกิดขึ้นได้หากยังขาดความเข้าใจ ผมว่าถ้าเลือกที่จะมาเป็นหมอแล้ว ก็จะไม่บ่ายเบี่ยงที่จะไม่รักษาคนไข้หรอก ขอเพียงหมอมีความรู้ความเข้าใจ และมีความสามารถที่เพียงพอ หรือถ้าไม่พร้อมก็จะมองหาลู่ทางส่งต่อการรักษาแล้วว่าจะส่งไปที่ไหน ผมว่ากระบวนการเหล่านี้ก็จะได้รับการพัฒนาไปด้วยเช่นกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point