ฉบับที่ 165 ตาบอด เพราะขวดน้ำอัดลมระเบิด !!!

ทุกวันนี้บ้านเรามีน้ำอัดลมหลายยี่ห้อหลายสีให้เลือกดื่ม ทั้งดำ แดง เขียว ส้ม หรือกระทั่งสีฟ้า ความต้องการของผู้บริโภคทำให้น้ำอัดลมแทบจะกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคหลายคนขาดไม่ได้ไปแล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จะไปไหน กินอะไร ก็ต้องสั่งน้ำอัดลม ทั้งที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าน้ำอัดลมไม่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเลยก็ตาม แต่ผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่ก็ไม่กลัวและพร้อมที่จะสั่งจะน้ำอัดลมมาดื่มกัน แต่จะมีใครรู้ไหมว่า บางครั้งน้ำอัดลมก็นำมาซึ่งความอันตรายที่คาดไม่ถึงเหมือนเช่นกรณีนี้...ช่วงสายของวันที่ 23 กันยายน 2557  คุณณิชาพร ได้โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ช่วยป้าด้วย ลูกชายป้าถูกขวดน้ำอัดลมระเบิดใส่ทำให้ตาบอด อยากให้มูลนิธิช่วยเหลือ…เจ้าหน้าที่จึงสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ความว่า บุตรชายเป็นลูกจ้างร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น  ทำหน้าที่เป็นพนักงานเสิร์ฟ เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 2 นาฬิกาของคืนวันที่ 18 พฤษภาคม 2557 ขณะนั้นบุตรชายอยู่ระหว่างการทำงาน และได้ไปรับออเดอร์ของลูกค้า โดยลูกค้าได้สั่งน้ำอัดลม 1 ขวด บุตรชายจึงเดินมารับน้ำอัดลมที่เคาน์เตอร์ โดยมีเพื่อนพนักงานหยิบน้ำอัดลมที่ยังไม่ได้เปิดฝามาวางบนเคาน์เตอร์ เพื่อให้บุตรชายหยิบขวดน้ำอัดลมใส่ถาดเตรียมนำส่งลูกค้าเมื่อบุตรชายหยิบน้ำอัดลมวางบนถาดทันใดนั้นขวดน้ำอัดลมก็ระเบิด เศษแก้วได้กระเด็นเข้าตาซ้ายของบุตรชาย เพื่อนพนักงานรีบนำตัวบุตรชายส่งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ทันที โดยได้รับการรักษาเย็บ 5 เข็ม แต่ก็ไม่สามารถรักษาดวงตาข้างซ้ายให้มองเห็นได้ ปัจจุบันบุตรชายตาซ้ายบอดสนิทใช้การไม่ได้กรณีแบบนี้จะมีใครช่วยรับผิดเยียวยาความเสียหายให้กับบุตรชายได้ไหม  แนวทางแก้ไขปัญหา กรณีนี้ ทางศูนย์ฯ ได้แนะนำให้คุณณิชาพร รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการบาดเจ็บ รายละเอียดค่ารักษาพยาบาล พยานวัตถุที่เสียหาย (ถ้ามี)  ภาพถ่ายต่างๆ หรือพยานบุคคลที่อยู่ใกล้เคียง รวมถึงข้อมูลการสั่งซื้อ การจัดส่ง การเก็บรักษา การจัดวางสินค้า เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเจรจาค่าเสียหายกับผู้ประกอบการ และให้ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการเพื่อขอให้เยียวยาความเสียหายด้วย และเมื่อคุณณิชาพร รวบรวมเอกสารหลักฐานทั้งหมดแล้ว ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จะดำเนินการนัดหมายเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง เพื่อหามาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บาดเจ็บต่อไป ซึ่งกรณีนี้อาจจะต้องพิสูจน์ถึงสาเหตุของการระเบิดด้วยว่าเกิดจากอะไร โดยหากไม่สามารถเจรจาเยียวยาเพื่อหาข้อยุติได้นั้น ผู้บาดเจ็บที่เสียหายสามารถใช้สิทธิฟ้องศาลได้อีกช่องทางหนึ่งเพิ่มเติมด้วยข้อมูลเพิ่มเติมทั้งนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มีข้อมูลดีๆ โดยนายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี ที่เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้มาให้ทราบเป็นอุทาหรณ์กันครับ“ ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ปี 2557 ที่ผ่านมา มีคนงานโรงงานผลิตน้ำอัดลม 1 ราย ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา เนื่องจากขวดน้ำอัดลมระเบิด และฝาจีบปิดขวดกระเด็นใส่ดวงตา ขณะทำงานขนย้ายน้ำอัดลมที่บรรจุขวดแล้ว แรงระเบิดทำให้แก้วตาดำเป็นแผล ฉีกขาด และมีเลือดออกช่องหน้าม่านตา ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ เพื่อรักษาแผลให้หาย ป้องกันการติดเชื้อ และให้เลือดที่ออกในช่องม่านตาหยุดไหลและถูกดูดซึมตามธรรมชาติ จากการสอบถามผู้ป่วยพบว่าขวดที่ระเบิดใส่ เป็นขวดแก้วบรรจุน้ำอัดลมที่บรรจุก๊าซและปิดด้วยฝาจีบโลหะ เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ เป็นภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งการเกิดระเบิดของขวดน้ำอัดลม เกิดขึ้นได้ทั้งจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น หรือจากการกระแทกขณะขนส่ง โดยที่คนงานไม่มีการป้องกันตัวแต่อย่างใดทั้งนี้ น้ำอัดลม เป็นเครื่องดื่มที่ประชาชนนิยมดื่มในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อน เครื่องดื่มประเภทนี้ จะอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในขวด เพื่อให้มีความซ่า เพิ่มความสดชื่นแก่ร่างกาย เมื่อขวดน้ำอัดลมถูกแดดหรืออยู่ในอากาศที่ร้อนจัด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในขวดจะขยายตัว ดันฝาขวดและขวดแก้วแตก โดยเฉพาะโซดาจะมีปริมาตรก๊าซสูงกว่าน้ำอัดลมชนิดอื่นๆ จึงมีโอกาสเสี่ยงเกิดการระเบิดได้ง่ายกว่าด้วย โดยหากฝาจีบปิดขวดหรือเศษแก้วที่แตก กระเด็นใส่หน้า ถูกดวงตาซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญและมีความบอบบางมาก หากได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง มีบาดแผลที่ตาดำ หรือมีเลือดออกในช่องหน้าม่านตา อาจทำให้ตาบอดได้ หรืออาจระเบิดระหว่างเปิดฝาขวดใส่มือ ทำให้เกิดบาดแผล หรือนิ้วมือขาดได้เช่นกัน ขอแนะนำว่า ในช่วงที่มีอากาศร้อนอบอ้าว อย่าเปิดฝาขวดโดยใช้มือหรือใช้ฝาขวด 2 ขวดมางัดกัน และอย่าเปิดฝาทันที เพราะอาจทำให้ฝาขวดกระเด็นโดนตา มือ หรืออวัยวะอื่นๆ จนเกิดการบาดเจ็บได้ วิธีที่ดีที่สุดคือให้ใช้อุปกรณ์เปิดขวด ก่อนเปิดให้ใช้ผ้าขนหนูพันที่เปิดขวด และค่อยๆ เปิดฝาขวดทีละน้อย เพื่อให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ค่อยๆ ไหลออกมา ลดแรงดันของก๊าซในขวดลงก่อน ” นายแพทย์ฐาปนวงศ์ กล่าวเมื่อทราบถึงข้อควรระวังกันแบบนี้แล้ว สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงถูกแรงระเบิดจากขวดน้ำอัดลมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานส่งของ ขายของ พ่อค้าแม่ค้า หรือผู้บริโภคที่ชอบดื่มน้ำอัดลม ควรต้องตระหนักถึงความระมัดระวังในส่วนนี้อย่างมากด้วยครับ เพราะผู้เขียนเชื่อว่าทุกอย่างสามารถป้องกันได้ อย่าลืมครับ กันไว้ดีกว่าแก้ ดีกว่าแย่แล้วแก้ไม่ทัน ครับผม....ขอบคุณข้อมูลบทสัมภาษณ์นายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จาก thairat.co.th

อ่านเพิ่มเติม >