ฉบับที่ 272 กระแสต่างแดน

เงินไม่ถึง         ธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority) ประกาศคืนเงินให้กับผู้ซื้อ “ที่ทับกระดาษ” จากร้านขายสินค้าที่ระลึกของธนาคารเมื่อหกปีก่อน หลังพบว่าสิ่งที่อยู่ด้านในไม่เป็นไปตามที่แจ้งบนฉลาก         ของที่ระลึกดังกล่าวซึ่งอยู่ในรูปลักษณ์ของแก้วบรรจุธนบัตรมูลค่า 1,000 เหรียญฮ่องกงที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย วางจำหน่ายเมื่อต้นปี 2560 ในราคาชิ้นละ 100 เหรียญ (ประมาณ 450 บาท)         ฉลากและการประชาสัมพันธ์ของธนาคาร ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าที่ทับกระดาษคอลเล็คชันนี้ ทำขึ้นจากแบงก์พันเก่าจำนวน 138 ใบ รวมเป็นมูลค่า 138,000 เหรียญ         ล่าสุดธนาคารฯ ออกมายอมรับว่าได้ใส่กรวดเข้าไปเพื่อเพิ่มน้ำหนัก เท่ากับว่าในนั้นมีธนบัตรน้อยกว่าจำนวนที่แจ้ง ข้อมูลที่ให้ไว้จึงไม่ตรงตามความจริง ธนาคารฯ จึงขอแจ้งให้ผู้ที่ซื้อไปมาติดต่อขอรับเงินคืนได้         รายงานระบุว่าที่ทับกระดาษรุ่นดังกล่าวยังมีขายออนไลน์ในราคาระหว่าง 420 – 600 เหรียญ   เอาที่ไหนมาพูด        องค์กรผู้บริโภคสหภาพยุโรปร่วมกับ Consumentenbond องค์กรผู้บริโภคของเนเธอร์แลนด์  และองค์กรผู้บริโภคในอีก 12 ประเทศ  ยื่นขอให้มีการตรวจสอบคำกล่าวอ้างของบริษัทโคคาโคลา และบริษัทเนสท์เล่ เรื่องการรีไซเคิลขวดพลาสติก         เนื้อหาของข้อความที่เป็นปัญหาได้แก่ “100% ของขวดน้ำพลาสติกในยุโรปสามารถรีไซเคิลได้” และ “ขวดน้ำนี้ใช้วัสดุรีไซเคิล 100%”         นอกจากนั้นยังมีการใช้ภาพประกอบที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าขวดน้ำพลาสติกไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย         การกล่าวอ้างแบบข้างต้นถือว่าผิดระเบียบสหภาพยุโรป เพราะไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง         ปัจจุบันยุโรปมีอัตราการรีไซเคิลขวดพลาสติกอยู่ที่ร้อยละ 55 เท่านั้น ในขณะที่อัตราการนำกลับมาใช้ใหม่อยู่ที่ร้อยละ 30 และขยะบริเวณชายหาดของยุโรปส่วนใหญ่คือขวดน้ำพลาสติกนั่นเอง  ไม่หยุดบิน         สมาคมผู้ประกอบการสายการบินของสเปน ยืนยันว่าจะไม่ทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลที่ต้องการให้ยกเลิกเส้นทางบินระยะใกล้ที่สามารถเดินทางด้วยรถไฟภายในเวลาไม่เกินสองชั่วโมงครึ่ง         โดยให้เหตุผลว่าจะยกเลิกก็ต่อเมื่อมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ครอบคลุมเมืองหลัก รวมถึงมีรถไฟเชื่อมต่อกับสนามบินหลักอย่างเพียงพอ เช่น เส้นทางระหว่างเมืองมาดริดและบาราคัสควรจะมีรถไฟวันละ 8-10 เที่ยวต่อชั่วโมง ซึ่งในทางปฏิบัติยังต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่าเจ็ดปี         การสำรวจโดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า ร้อยละ 35 ของเที่ยวบินในสเปน (ที่ส่วนใหญ่ตั้งต้นจากเมืองมาดริด) สามารถถูกยกเลิกได้ และจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 10         รัฐบาลสเปนเริ่มแผนลดเที่ยวบินระยะสั้น (ไม่เกินสี่ชั่วโมง) โดยนำรถไฟความเร็วสูงเข้ามาแทนที่ได้ระยะหนึ่งแล้ว หลังเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมทำกิจการรถไฟ และดูเหมือนรถไฟของ Iryo และ Ouigo จะมีผลประกอบการดีกว่ารถไฟของรัฐฯ อย่าง Renfe ด้วย  ลดกระดาษ         พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเดนมาร์กอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปลงทะเบียนขอปิดบังข้อมูล “ที่อยู่สำหรับจัดส่งไปรษณีย์” กับกรมทะเบียนกลางได้ โดยคำขอดังกล่าวจะมีอายุครั้งละหนึ่งปี           การกระทำดังกล่าวจะทำให้กรมฯ ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลที่อยู่ของประชาชนให้กับเอกชนรายใดได้ และกฎหมายเดียวกันก็ห้ามผู้ประกอบการส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับผู้อื่น รวมถึงไม่สามารถขอที่อยู่จากกรมฯ ได้ ยกเว้นกรณีติดตามทวงหนี้         ส่วนโบรชัวร์โฆษณาชนิดไม่ได้ระบุชื่อที่อยู่ผู้รับ เขาก็มีทางออกให้เช่นกัน ใครที่ไม่อยากได้กระดาษล้นตู้จดหมายก็สามารถลงทะเบียนเข้าโครงการ “ขอบใจ แต่ขอไม่รับ” แล้วจะได้รับสติ๊กเกอร์ประกาศิตมาติดตู้จดหมาย รับรองว่าใครเห็นก็ไม่กล้าแจก         แน่นอนว่าเรื่องนี้ดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะดีลลดราคาหรือโฆษณาต่างๆ ก็สามารถเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้อยู่แล้ว   รวมกันเราอุ่น         ปัจจุบันมีห้องเช่าจำนวนไม่น้อยในฝรั่งเศสที่ยังใช้ระบบให้ความร้อนจากส่วนกลาง หมายความว่าผู้ “สั่งเปิด” ฮีตเตอร์ ได้คือเจ้าของตึกซึ่งมีหน้าที่ดูแลอาคารให้มีอุณหภูมิเหมาะกับการอยู่อาศัยนั่นเอง         หลักการคือถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 18 องศาเกินหนึ่งวัน ให้ถือว่าเข้าข่าย “หนาวเกินไป” และควรเปิดเครื่องทำความร้อน แม้กฎหมายจะไม่ระบุช่วงเวลาเปิดฮีตเตอร์ แต่ที่ปฏิบัติกันมาคือระหว่าง 15 ตุลาคม ถึง 15 เมษายน ของทุกปี         ใครที่รู้สึกหนาวก่อนนั้นก็สามารถยื่นคำร้องไปขอความเห็นชอบจากกลุ่มผู้เช่าได้ แต่ถ้าเพื่อนบ้านไม่หนาวด้วย หรือไม่อยากจ่ายค่าไฟเพิ่ม ก็ต้องทำใจ ใส่เสื้อหนาวเพิ่มหรือไปซื้อฮีตเตอร์มาใช้เอง         ฟังดูเป็นเรื่องทรมาน แต่วิธีนี้จะทำให้ทุกคนในตึกจ่ายค่าไฟน้อยลง เพราะการเปิดระบบให้ความร้อนตามเวลาที่ตกลงกันไว้กับบริษัทพลังงานจะได้อัตราค่าไฟที่ถูกกว่า และยังประหยัดพื้นที่วางฮีตเตอร์ ที่ผู้เช่าต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงโดยไม่มีคนร่วมแชร์ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ผลทดสอบสารตกค้างในส้มและน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท

        ส้มเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภค แต่ส้มก็เป็นผลไม้ที่มีโรคและศัตรูพืชมาก ทำให้การเพาะปลูกต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชมากชนิดตามไปด้วย ปัญหาที่ตามมาคือ ทุกครั้งที่มีการสำรวจการตกค้างของสารพิษในส้มในหลายปีที่ผ่านมา จะพบการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอด ทั้งจากการติดตามเฝ้าระวังของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไทยแพน หรือจากผลการทดสอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเอง และทุกครั้งที่มีการสะท้อนสถานการณ์ปัญหาก็จะมีการเคลื่อนไหวหลายอย่างทั้งจากหน่วยงานราชการ เกษตรกร ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อจะติดตามว่า ส้มไทยปลอดภัยต่อการบริโภคมากน้อยแค่ไหน นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และไทยแพน  จึงได้รับการสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ทำการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทยอีกครั้ง           การสุ่มเก็บตัวอย่างส้มทำในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 3-10 มกราคม 2565 โดยเก็บจากแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศ ครอบคลุมช่องทางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ ตลาดค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์  เป็นตัวอย่างส้ม 60 ตัวอย่าง และน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง รวมเป็น 70 ตัวอย่าง  ส่งวิเคราะห์สารพิษตกค้างแบบ multi-residue analysis ครอบคลุมสารพิษตกค้างจำนวน 567 รายการ แต่ไม่รวมสารกำจัดวัชพืชพาราควอตและไกลโฟเซต ที่ห้องปฏิบัติการ TÜV SÜD ITALY ประเทศอิตาลี ซึ่งได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025   รายละเอียดการเก็บตัวอย่างทดสอบ          ส้ม เน้นเก็บตัวอย่างส้มให้ครอบคลุมสายพันธุ์ส้มที่จำหน่ายในช่วงเวลา ซึ่งจำแนกเป็นสายพันธุ์ทางการค้าได้ทั้งสิ้น 13 สายพันธุ์ ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง ส้มเขียวหวาน 12 ตัวอย่าง ส้มโชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มแมนดาริน 8 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มนาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มเมอร์คอท 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง ส้มกัมควอท 1 ตัวอย่าง ส้มซันคิสท์ 1 ตัวอย่าง ส้มเอินชู 1 ตัวอย่าง และส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และหากจำแนกตามแหล่งผลิตจะเป็นส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง ส้มที่ปลูกในประเทศไทย 41 ตัวอย่าง ทั้งนี้ 12 ตัวอย่างใน 41 ตัวอย่างที่ปลูกในประเทศ เป็นตัวอย่างที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) 11 ตัวอย่าง และ ThaiGAP 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง ได้แก่ Aro, Tipco, Chabaa, UFC, Malee, DoiKham, Sunfresh, Harvey Fresh, Green Garden และ Smile   สรุปผลการทดสอบจากรายงานผลการวิเคราะห์ พบว่า        1. ส้มทั้ง 60 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างในทุกตัวอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดกำหนดไว้ใน ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) พ.ศ. 2563 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) พบว่า มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 57 ตัวอย่าง หรือ คิดเป็น 95% ของกลุ่มตัวอย่าง  และพบว่า 5% หรือ 3 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ส้มเขียวหวาน จากบิ๊กซี บางใหญ่ , Holy Fresh ส้มพันธุ์ เมอร์คอท จากกูเมต์มาร์เก็ต และ ส้มเช้ง ร้านเจ๊อ้อย 201 ผลไม้ ตลาดไท        2. น้ำส้มในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง มี 5 ตัวอย่างที่ไม่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่  น้ำส้มโชกุน ตรา Tipco, น้ำส้ม 100% ตรา UFC,  น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรามาลี (ส้มจากแม่สิน) และน้ำส้มนำเข้า ตรา Sunfresh และ Harvey Fresh อีก 5 ตัวอย่างที่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่ น้ำส้มเขียวหวานพร้อมเกล็ดส้ม 100% ตราARO , น้ำส้มสายน้ำผึ้ง 100% ตรา CHABAA, น้ำส้ม 98% ตราดอยคำ, น้ำส้มพร้อมเนื้อส้ม 100% ตรากรีนการ์เด้น และ น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรา SMILE ทั้งนี้จากการตรวจสอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 356 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  พบว่าไม่มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสารพิษตกค้างไว้ จึงไม่มีค่ามาตรฐานสำหรับเปรียบเทียบกับปริมาณสารพิษตกค้างที่พบ ข้อสังเกตจากการทดสอบ         จากรายงานผลการวิเคราะห์ว่า หากจำแนกตามแหล่งผลิต จะพบว่า ตัวอย่างส้มที่มาจากการปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง หรือคิดเป็น 100% ในขณะที่ส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 84.21% อีก 3 ตัวอย่างมีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน         สำหรับกลุ่มตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ สายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง เขียวหวาน 9 ตัวอย่าง โชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มน้ำตาล 1 ตัวอย่าง และส้มเขียวหวาน 1 ตัวอย่าง ซึ่งทุกตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  โดยในจำนวนนี้เป็นผลผลิตที่มาจากแปลง GAP (Good Agriculture Practices) ที่ได้รับรองโดยกระทรวงเกษตรฯ 11 ตัวอย่าง เป็นผลผลิตที่มีมาจากแปลงที่มีการรับรอง ThaiGAP โดยสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 1 ตัวอย่าง และไม่ระบุการรับรองมาตรฐานใดๆ 29 ตัวอย่าง ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ แมนดาริน 5 ตัวอย่าง ส้มไต้หวัน 3 ตัวอย่าง เมอร์คอท 2 ตัวอย่าง นาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง เอินชู 1 ตัวอย่าง กัมควอท/กิมจ๊อ 1 ตัวอย่าง ซันคิสต์ 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง สายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง มีเพียงส้มสายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และส้มเมอร์คอท 1 ตัวอย่าง ที่พบสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีก 16 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  สำหรับชนิดสารพิษตกค้างที่พบจากตัวอย่างส้มทั้งหมดรวม 48 ชนิด เป็นสารกำจัดแมลง 31 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 13 ชนิด และสารกำจัดไร 4 ชนิด มีรายละเอียดดังนี้        1. สารกำจัดแมลงที่พบตกค้างมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ Imidacloprid, Ethion และ Profenofos โดยพบในส้ม 56, 52 และ 49 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 93.33%, 86.67% และ 81.67% ตามลำดับ         2. ในขณะที่สามอันดับแรกของสารป้องกันและกำจัดโรคพืชคือ Benomyl/Carbendazim, Hexaconazole และ Prochloraz โดยพบใน 48, 42 และ 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 80.0%, 70.0% และ 51.67% ตามลำดับ         3. สารกำจัดไรที่พบตกค้างมากที่สุด คือ Propargite พบใน 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 51.67%         4. พบการตกค้างของ Chlorpyrifos-ethyl ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้แล้ว) 50% ของกลุ่มตัวอย่าง โดยตกค้างในส้มที่ผลิตในประเทศ 22 ตัวอย่าง และส้มนำเข้า 8 ตัวอย่าง         “กรณีที่พบการตกค้างของสารคลอร์ไพริฟอสที่แบนแล้วในตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ อาจเป็นไปได้ที่จะมีสารที่ค้างอยู่เป็นสต็อกของเกษตรกรหลังจากมีการแบนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเข้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการ”  รายการวิเคราะห์ ชนิดและปริมาณค่าสารพิษตกค้าง สามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ https://thaipan.org/action/2519  และสามารถดาวน์โหลด ผลทดสอบส้มฉลาดซื้อแนะ        • เลือกการสนับสนุนส้มที่ผลิตโดยวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี หรือผลผลิตที่ทราบที่มาและเชื่อถือได้ว่ามาจากกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย         • ล้างส้มทุกครั้งที่บริโภค แม้ไม่สามารถลดปริมาณของสารเคมีที่ตกค้างได้ทั้งหมด เพราะมีสารเคมีประมาณครึ่งหนึ่งที่ดูดซึมไปสู่เนื้อส้มได้ แต่ก็เป็นการลดปริมาณของสารเคมีได้ระดับหนึ่ง         • ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปการผลิต การจัดจำหน่าย และกลไกการกำกับดูแลสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 กระแสต่างแดน

รถไฟไฉไลกว่า        ผู้คนหันมาเดินทางด้วยรถไฟกันมากขึ้นในภูมิภาคยุโรป ตัวอย่างเช่นในสวีเดน ยอดขายตั๋ว Interrail ในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปี เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า         นี่อาจเป็นผลจากการรณรงค์ “flight shame” (หรือ flygskam ในภาษาสวีดิช) โดยสาวน้อยนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม เกรต้า ธันเบิร์ก และคุณแม่ของเธอ ที่เรียกร้องให้ผู้คนเปลี่ยนจากการเดินทางโดยเครื่องบินมาเป็นรถไฟ (ขณะเขียนข่าวนี้ เกรต้ากำลังเดินทางด้วยเรือยอทช์พลังแสงอาทิตย์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังนิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมการประชุมเรื่องสภาพอากาศ)         องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรประบุว่า การเดินทางด้วยเครื่องบินสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ 285 กรัมต่อหนึ่งกิโลเมตร สำหรับผู้โดยสารหนึ่งคน ในขณะที่ผู้โดยสารรถไฟจะสร้างคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 14 กรัมในระยะทางที่เท่ากัน         ตัวแทนขายตั๋วบอกว่าอีกเหตุผลสำคัญคือนักเดินทางเริ่มตระหนักว่าการเดินทางด้วยรถไฟสามารถเป็นไฮไลท์ของการเดินทางทริปนั้นได้ด้วยมีขยะขึ้นคันนี้         หากคุณจะไปไหนมาไหนในเมืองสุราบายา อย่าลืมพกแก้วหรือขวดพลาสติกที่ใช้แล้วไปด้วย เพราะมันสามารถใช้แลกตั๋วรถได้        รถบัสปรับอากาศเที่ยวพิเศษที่คิดค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสายนี้มีให้บริการทั้งสิ้น 20 คัน คุณจะเลือกจ่ายค่าตั๋วเป็นขวดพลาสติกขนาดใหญ่ 3 ขวด หรือขวดขนาดกลาง 5 ขวด หรือแก้วพลาสติก 10 ใบก็ได้         สุราบายา ซึ่งมีประชากรประมาณ 2.9 ล้านคน ทดลองโครงการนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เพื่อลดขยะและแก้ปัญหาการจราจรหนาแน่น ถึงตอนนี้เสียงตอบรับเป็นที่น่าพอใจ แต่ละสัปดาห์มีคนใช้บริการประมาณ 16,000 คน และบริษัทรถก็มีรายได้เป็นขวดพลาสติกเดือนละ 6,000 กิโลกรัม        ก่อนหน้านี้บาหลีได้ประกาศห้ามใช้หลอดพลาสติก ในขณะที่จาการ์ตาก็กำลังเล็งแผนงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง นี่คือส่วนหนึ่งของความพยายามของอินโดนีเซียที่จะลดปริมาณพลาสติกในทะเลลงให้ได้ร้อยละ 70 ภายในปี 2025        อินโดนีเซียก่อมลพิษทางทะเลมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีนยังมีความเสี่ยง         ปรากฎการณ์ฟาสต์แฟชั่นยังดำเนินต่อไป บังคลาเทศยังคงเป็นประเทศผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน และร้อยละ 16 ของเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมนี้ซึ่งมีการจ้างงานผู้คนไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน         แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างหลังเหตุการณ์ตึกรานาพลาซ่าถล่ม เมื่อปี 2013         โศกนาฎกรรมที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,100 คนทำให้บรรดาเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตในบังคลาเทศร่วมกันลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการปรับปรุงความปลอดภัยของอาคารโรงงาน และร่วมกันลงขันเพื่อช่วยให้เกิดการปรับปรุงดังกล่าวด้วย โดยมีกำหนดเวลาห้าปี         สมาคมผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของบังคลาเทศ เปิดเผยว่าขณะนี้มีโรงงานเพียง 200 แห่ง จาก 1,600 แห่ง ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย และมีอย่างน้อย 400 โรงงานที่ยังอยู่ในสภาพแย่มากจนต้องถูกสั่งห้ามรับออเดอร์จากต่างประเทศชีวิตติดจอ         ผลการวิจัยล่าสุดโดย The Shift Project องค์กรรณรงค์ด้านการใช้พลังงานทางเลือก พบว่า ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการดูวิดีโอออนไลน์ในปี 2018 มีมากถึง 300 ล้านตัน(เท่ากับการปล่อยก๊าซนี้จากประเทศขนาดเท่าสเปนในเวลาหนึ่งปี)         เขาคาดการณ์ว่าในอีกสามปีข้างหน้า ร้อยละ 60 ของประชากรโลกจะเข้าสู่สังคมออนไลน์ และร้อยละ 80 ของการใช้อินเทอร์เน็ตของคนเหล่านี้จะเป็นการดูวิดีโอ โดยร้อยละ 60 ของวิดีโอที่ดูจะมาจากบริการสตรีมมิ่ง เช่น ยูทูบ เน็ทฟลิกซ์ และวิมีโอ นั่นเอง         เขาพบว่าการรับ-ส่งข้อมูลไอทีแบบนี้ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าธุรกิจการบินด้วยซ้ำ นักวิจัยแนะนำว่าหากต้องการประหยัดพลังงาน เราควร... 1. ดูหนังจากโทรทัศน์แทนโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ (ถ้าเป็นไปได้) 2. ดูผ่านเครือข่ายไฟเบอร์ออปติก 3. ดูในจอเล็ก 4. ดูผ่านไวไฟ และ 5. เลือกความคมชัดธรรมดา เพราะความละเอียดที่มากขึ้นหมายถึงการใช้พลังงานมากขึ้นด้วยอย่าถามเยอะ         การใช้เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์อย่างกว้างขวางในการเสนอขายสินค้าหรือบริการ รวมถึงการสนับสนุนการจับจ่ายแบบไม่ใช้เงินสดทำให้ผู้บริโภคในประเทศจีนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น แต่มีคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว         สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีน (CCA) ระบุว่าร้อยละ 91 ของแอปพลิเคชันมือถือ กำหนดให้ผู้บริโภคกรอกข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริการนั้นเลย เช่น แอปฯ ซื้อตั๋วหนังที่ขอข้อมูลเกี่ยวกับการทำงาน         เมื่อไม่ให้ข้อมูล ผู้บริโภคก็จะซื้อตั๋ว สั่งอาหาร หรือจ่ายค่าสินค้าไม่ได้ ถ้าเป็นเมืองอื่นก็พอจะทำธุรกรรมแบบออฟไลน์ได้ แต่ในเมืองเทคโนโลยีล้ำอย่างเซินเจิ้น ผู้บริโภคแทบจะไม่มีทางเลือกเพราะต้องทำทุกอย่างผ่านแอปฯ เท่านั้น            การสำรวจระบุว่าร้อยละ 80 ของประชากรเคยมีประสบการณ์เบอร์มือถือหรือเบอร์โทรศัพท์ “รั่วไหล” ไปอยู่ในมือของพวกสแปมหรือโทรศัพท์มารบกวน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ขวดบรรจุน้ำสุญญากาศ

จะเลือกขวดน้ำหรือกระบอกน้ำแบบสุญญากาศอย่างไรดี? น่าจะเป็นคำถามที่หลายคนอาจจะเคยนึกสงสัย ด้วยว่าขวดหรือกระบอกน้ำประเภทนี้ มันมีหลากหลายราคาๆ แต่ที่แน่ๆ เริ่มต้นด้วยราคาที่แพงเอาเรื่อง และบางยี่ห้อแพงมากจนทำให้เกิดความกลัวว่าซื้อมาแล้วจะใช้คุ้มหรือไม่ เพราะฉะนั้นคราวนี้ นิตยสารฉลาดซื้อและเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค จะช่วยคลายข้อสงสัยด้วยผลทดสอบวัดประสิทธิภาพของขวดน้ำชนิดนี้กันแบบตัวต่อตัว เราสุ่มเก็บตัวอย่างขวดน้ำสุญญากาศ ในขนาด 0.35-0.50 ลิตร (350-500 มิลลิลิตร) จำนวน 12 ยี่ห้อ เมื่อเดือนธันวาคม 2560 เพื่อทดสอบใน 5 ประเด็นต่อไปนี้ โดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค1.สัดส่วนการบรรจุต่อน้ำหนักของขวดน้ำสุญญากาศ2.ทดสอบความสามารถในการเก็บรักษาอุณหภูมิ(ร้อน-เย็น)3.การทดสอบ ตกจากที่สูง 1.5 เมตร4.การประเมินความสะดวกในการใช้งาน (ทั้งน้ำเย็นและน้ำร้อน)5.สัดส่วนการบรรจุต่อน้ำหนักภาชนะสรุปผลการทดสอบตารางสรุปผลการทดสอบ ข้อสังเกต และคำแนะนำการเลือกซื้อขวดน้ำสุญญากาศ ควรคำนึงถึงลักษณะการใช้งานว่าจะใช้งานที่ไหน ในกรณีที่ใช้งาน Outdoor ควรคำนึงถึงภาชนะที่มีฝาปิดที่พร้อมใช้งานเป็นแก้วใช้รินสำหรับดื่มได้ กรณีที่ใช้งานสำหรับพกพา ขณะออกกำลังกาย ควรคำนึงถึงความสะดวกในการพร้อมดื่ม ควรพิจารณาขวดน้ำที่มีหลอดดูดอัตโนมัติกิตติกรรมประกาศเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องขอขอบพระคุณ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการและเมคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ ใช้เครื่องมือวัดและพื้นที่การทดสอบ มา ณ โอกาสนี้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2558 พบกล่องทีวีดิจิตอลตกมาตรฐาน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.ได้แจ้งมายังบอร์ด กสท.ว่าจากการสุ่มตรวจมาตรฐานทางเทคนิคของกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลในตลาดจำนวน 20 รุ่น พบว่ามีกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลจำนวน 6 รุ่น จาก 4 ยี่ห้อ มีการใช้ระบบเสียงไม่ถูกต้องตามตามที่แจ้งไว้ต่อ กสทช. ซึ่งจากนี้จะมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการทั้ง 4 ยี่ห้อที่มีการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานเดินทางมาชี้แจงยัง กสทช.โดยด่วน กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลที่ไม่ผ่านมาตรฐานทางเทคนิค ได้แก่ ยี่ห้อเอเจ รุ่น SVB-93 และ รุ่น DVB-92, ยี่ห้อครีเอเทค รุ่น CT-1 และ CT4, ยี่ห้อฟินิกซ์ รุ่น T2color และ ยี่ห้อโซเคน รุ่น DB233 สำหรับผู้บริโภคที่ได้นำคูปองไปแลกซื้อกล่องที่การตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐานไปแล้ว หากเกิดปัญหาจากการใช้สินค้า ทาง กสทช.จะหารือกับผู้ประกอบการเพื่อทางแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ ----------------------------------------------------------------------------------------   ห้ามใช้แล้ว!!! สาร “บีพีเอ” ในขวดนม จากนี้ไปคุณแม่ที่จะซื้อขวดนมให้ลูกน้อยต้องดูให้ดีว่าขวดนมพลาสติกที่ซื้อทำมาจากพลาสติกชนิดที่ชื่อว่า “พอลิคาร์บอเนต” หรือเปล่า เพราะอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสาร “บีพีเอ” หรือ สารบิสฟีนอลเอ ซึ่งเป็นสารที่ อย.ยืนยันแล้วว่าอาจเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 369) พ.ศ. 2558 เรื่อง ขวดนม และภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพื่อควบคุมการใช้สารพีบีเอในขวดนมและภาชนะสำหรับทารกอีกหลายประเภท กฎหมายฉบับนี้ควบคุบผลิตภัณฑ์สำหรับทารก ทั้งผลิตภัณฑ์ประเภทขวดนมและภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็กแบบใช้ซ้ำ เช่น ถ้วยหัดดื่ม ห้ามใช้พอลิคาร์บอเนตโดยเด็ดขาด โดยวัสดุอื่นทดแทน ได้แก่ แก้วชนิดบอโรซิลิเคต และพลาสติกชนิดพอลิพรอพิลีน พอลิอีเทอร์ซัลโฟน ส่วนภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็กแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ถุงพลาสติกที่ใช้เก็บน้ำนมมารดา ถุงพลาสติกบรรจุนมแบบใช้ครั้งเดียวที่ต้องใช้ร่วมกับขวดนม ให้ใช้วัสดุที่อนุญาต ได้แก่ พอลิพรอพิลีน และ พอลิเอทิลีน สำหรับหัวนมยาง ให้ใช้วัสดุที่อนุญาตได้แก่ ยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ ปัจจุบันแม้องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้จัดสารบีพีเอเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ก็มีข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง ว่าสารพีบีเออาจมีผลไปขัดขวาง การทำงานของฮอร์โมนเอสโทรเจนในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อระบบการสืบพันธุ์และระบบการผลิตฮอร์โมน นอกจากนี้หลายๆ ประเทศมีการห้ามผลิตหรือจำหน่ายขวดนมพอลิคาร์บอเนตแล้ว เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา เป็นต้น -------------------------------------------------------------------------------- “คะน้า - ถั่วฝักยาว” เจอสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ได้แถลงผลการสุ่มทดสอบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่ามีผักที่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขสูงถึง 22.5% โดยพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานในกะเพรามากที่สุด 62.5% ถั่วฝักยาวและคะน้าพบ 32.5% ผักบุ้งจีน กวางตุ้ง และมะเขือเปราะพบตกค้าง 25% แตงกวาและพริก12.5% ส่วนผักกาดขาวปลีและกะหล่ำปลีไม่พบการตกค้าง จากผลที่ออกมาทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องออกสุ่มทดสอบผักในท้องตลาดด้วยเช่นกัน เพราะถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง ซึ่งผลที่ได้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ยอมรับว่ามีผักที่พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานอยู่ในท้องตลาดจริง แม้จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วไม่เท่ากับผลของทาง Thai-PAN แต่นั้นก็เป็นการยืนยันชัดเจนว่าคนไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพจากกินผัก โดยผัก 2 ชนิดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่าที่การตกต้างของสารเคมีค่อนข้างสูงคือ คะน้าและถั่วฝักยาว โดยหลังจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะส่งเจ้าหน้าที่ไปสุ่มตรวจผักตามตลาดต่างๆ เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ผู้บริโภคก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการซื้อผัก เลือกซื้อผักตามฤดูกาล และล้างผักให้สะอาดก่อนรับประทาน ------------------------------------------------------------------------------------ “ผักเม็ด-ส้มเม็ด” หลอกลวงสรรพคุณ คนป่วยกินอาการยิ่งทรุด คนไทยยังคงตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลอกลวงสรรพคุณ ล่าสุดพบอาหารเสริม “ผักเม็ด” และ “ส้มเม็ด” โฆษณาอวดอ้างว่าสามารถรักษาโรคเบาหวานได้ เมื่อมีผู้ป่วยหลงเชื่อคำโฆษณาหาซื้อมารับประทานกลับพบว่าอาการทรุดลง อาการแผลที่เท้าซ้ายบวมแดงและปวดมากกว่าปกติ อีกทั้งยังพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงถึง 552 mg (ซึ่งค่าปกติควรอยู่ที่ 82 - 110 mg) ผักเม็ดมีลักษณะภายในเป็นของเหลวคล้ายน้ำมันตับปลา ส่วนส้มเม็ดมีลักษณะเป็นผงบรรจุในแคปซูล โดยผู้ขายแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวชนิดละ 4 เม็ด เช้า - เย็น และให้ใช้ทาแผลด้วย อย.ฝากเตือนถึงที่คิดจะกินอาหารเสริมเพื่อหวังผลในการรักษาโรคนั้น ขอให้คิดไว้เสมอว่าเป็นเรื่องที่โอ้อวดหลอกลวง เพราะอาหารไม่ใช่ยา ไม่มีผลในการรักษาโรค ยิ่งผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องรับประทานอาหารเสริมอย่างระมัดระวังเพราะอาจส่งผลต่อการเจ็บป่วยหนักได้ -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เคลือบฟันเทียม “วีเนียร์” ระวังได้ไม่คุ้มเสีย การเคลือบสีฟันเทียม หรือ วีเนียร์ (veneers) ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยทำให้สีฟันขาวขึ้นและปรับรูปฟันให้สวยงาม กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะกับกลุ่มสาวๆ ที่อยากมีฟันขาวสว่างใส พร้อมกับการที่มีสถานเสริมความงามด้านทันตกรรมเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่การทำเคลือบสีฟันมีผลโดยตรงต่อสุขภาพของฟันและเหงือกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การทำเคลือบผิวฟันเทียม คือการแปะวัสดุลงบนผิวฟันเพื่อเปลี่ยนสีผิวฟัน ซึ่งเดิมทีมีไว้ใช้แก้ปัญหาผู้ที่มีผิวฟันสีผิดปกติ เช่น ฟันตกกระ ฟันเป็นแถบสีน้ำตาลหรือดำ จากการกินยาแก้อักเสบกลุ่มเตตราไซคลิน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีการฟอกสีฟันได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะต้องกรอผิวฟันออกไปเล็กน้อยเพื่อแปะวัสดุใหม่ลงไปให้เท่ากับผิวฟันเดิมไม่ให้นูนขึ้นมามากเกินไป ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าการกรอฟันเป็นการทำลายผิวเคลือบฟันที่ดีออกไปและจะไม่มีวันขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้การปิดวัสดุนั้นต้องทำด้วยเทคนิคที่ดี วัสดุที่ปิดฟันต้องพอดีกับตัวเนื้อฟันไม่มีส่วนเกินเข้าไปในเหงือก หรือ มีรูรั่ว เพราะอาจทำให้เกิดเหงือกอักเสบ เกิดหินปูน เหงือกร่น ทำให้เกิดพื้นที่ให้เชื้อโรคไปเกาะและเกิดปัญหากลิ่นปากได้ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะทำเคลือบฟันเทียมต้องศึกษาให้ดี เคลือบฟันเทียบย่อมไม่มีแข็งแรงเท่าเคลือบฟันแท้ และการทำให้สีฟันขาวขึ้นยังมีวิธีอย่างการฟอกสีฟันซึ่งไม่ส่งผลเสียต่อเคลือบฟัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 25547 สิงหาคม 2554ไม่ถูกจริงมีสิทธิโดนฟ้อง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครจะชอบของฟรีของถูก แต่ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะห้างสรรพสินค้าสมัยนี้ชอบใช้วิธีโฆษณาจูงใจให้คนออกมาซื้อสินค้า โดยบอกว่ามีการจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ที่มักเห็นบ่อยๆ ตามแผ่นโบรชัวร์ที่เดินแจกกันตามบ้าน หรือไม่ก็ลงโฆษณากันในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่พอถึงเวลาไปซื้อสินค้าที่ห้างจริงๆ กลับไม่มีสินค้าที่บอกว่าแถมว่าถูกอย่างที่โฆษณาไว้วางขายอยู่ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็ถือว่าเข้าข่ายโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค งานนี้จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องออกโรงช่วยเหลือผู้บริโภค  สคบ.มีแนวคิดในการจัดทำร่างแนวทางการโฆษณาของการลด แลก แจก แถม หรือการจัดโปรโมชั่นของห้างสรรรพสินค้าใหม่ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค ซึ่งกลยุทธการโฆษณาจัดรายการโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ที่ห้างสรรพสินค้าใช้นั้น จริงๆ ก็เป็นเพียงการตลาดอย่างหนึ่งเพื่อดึงลูกค้าให้มาใช้บริการ และซื้อสินค้าอื่นแทน ถือว่าเป็นการเอาเปรียบ และเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค   สคบ. ก็ได้หาวิธีการแก้ไข หลังจากเริ่มการร้องเรียนถึงปัญหาที่กล่าวมาเพิ่มมากขึ้น โดย สคบ. จะบังคับกับทางห้างสรรพสินค้าว่า ต้องระบุจำนวนของสินค้าที่มีจำหน่ายแต่ละสาขาลงในโฆษณา เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลก่อนตัดสินใจไปซื้อคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา จะร่างแนวทางการโฆษณาสำหรับสินค้าที่จัดโปรโมชันในห้างสรรพสินค้า เพื่อขอความร่วมมือไปยังสินค้าและห้างสรรพสินค้าที่จัดรายการต่างๆ โดยคาดว่าจะสามารถประกาศเป็นกฎกระทรวงได้ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อป้องกันการเอาเปรียบ ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 30,000 บาท รวมทั้งสื่อที่โฆษณาก็จะต้องถูกเทียบปรับกึ่งหนึ่งคือ 15,000 บาทด้วย--------------------     28 สิงหาคม 2554ขวดพลาสติกใช้ซ้ำ ต้องระวังเรื่องความสะอาด บ้านใครที่ใช้ขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ซ้ำสำหรับใส่น้ำดื่มอีกรอบ คงต้องตั้งใจอ่านข่าวนี้ให้ดี เพราะกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกมาเตือนคนที่อยากประหยัดและช่วยลดโลกร้อนด้วยการนำขวดน้ำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ อย่าลืมดูเรื่องความสะอาด ก่อนนำมาใช้ก็ต้องล้างทำความสะอาดให้ดี โดยเฉพาะบริเวณปากขวดและฝาขวด ที่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคจากการสัมผัสกับมือและปากเวลาที่เราดื่มน้ำจากขวด นอกจากนี้ขวดที่นำกลับมาใช้ซ้ำเมื่อใช้ไปนานๆ สีของขวดอาจมีการเปลี่ยนแปลง ต้องคอยสังเกตดูว่าหากมีคราบสีเหลือง มีสีขุ่น ขวดไม่ใสเหมือนเดิม ก็ไม่ควรนำมาใช้ต่อ  ขวดที่บุบ มีรอยร้าว รอยแตก ก็ไม่เหมาะสำหรับนำมาใส่น้ำดื่ม  สำหรับพลาสติกที่ใช้สำหรับผลิตขวดน้ำดื่มจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ ขวดสีขาวขุ่น ทำจากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน (Polyethylene) หรือ PE และขวดใสไม่มีสีทำจากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (Poly Ethylene Terephthalate) หรือ ขวด PET ซึ่งนิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ขวดที่แบบขวดใสควรเก็บในที่แสงสว่างส่องไม่ถึง เพราะน้ำในขวดอาจเสื่อมคุณภาพหรืออาจเกิดตะไคร่ขึ้นภายในขวดได้-----------------------     31 สิงหาคม 2554อย.ลงดาบ “ซันคลาร่า” แค่อาหารเสริม...ไม่ใช่ยารักษาโรคอาหารเสริมตัวร้ายยังสร้างเรื่องวุ่นวายได้เรื่อยๆ ล่าสุด คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เอาผิดผลิตภัณฑ์อาหารเสริม “ซันคลาร่า” ที่กำลังโฆษณาขายกันอย่างแพร่หลาย ทั้งใน เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน และเว็บไซต์ ซึ่งอวดอ้างสรรพคุณครอบจักรวาล ทั้ง ดูแลผิวพรรณ ลดน้ำหนัก กระชับภายใน ต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคเบาหวาน พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ฯลฯ โดย อย. ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการโฆษณาอย่างผิดกฎหมาย เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเพียงแค่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค การโฆษณาในลักษณะดังกล่าวเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง สร้างความสับสนให้ผู้บริโภค ทาง อย. จึงได้ดำเนินคดีกับบริษัท สตาร์ ซันไชน์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งรับว่าเป็นผู้จัดทำข้อความโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ พร้อมทั้งมีหนังสือ ไปยังบริษัทฯ เพื่อระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวในทุกสื่อ  ผู้บริโภคต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี อย่าได้หลงเชื่อสรรพคุณว่าสามารถป้องกันหรือรักษาโรค เพราะนอกจากกินแล้วจะไม่หายป่วย อาจจะซวยได้โรคอื่มเพิ่มมาแทน แถมบรรดาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงที่ขายกันอยู่ทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่มีราคาแพง ใครที่หลงซื้อมารับประทานผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป-----------------------------------------------------------------     คลีนิคสำหรับคนเป็น “หนี้” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เปิดคลินิกให้คำปรึกษาปัญหาหนี้บัตรเครดิต รองรับนโยบายจากภาครัฐที่ใช้วิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนโดยการออกบัตรเครดิตให้กับประชาชนหลายกลุ่ม ทั้งบัตรเครดิตเพื่อเกษตรกร บัตรเครดิตพลังงาน รวมถึงนโยบายการเพิ่มฐานเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท ซึ่งเอื้อต่อการทำบัตรเครดิตเพิ่มมากขึ้น  นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากรัฐบาลเลือกใช้วิธีสนับสนุนให้ประชาชนใช้บัตรเครดิตเพื่อแก้ปัญหาความเป็นอยู่ รัฐบาลก็จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งการกำหนดฐานรายได้และยอดวงเงินรวมของผู้ถือบัตรเครดิตให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำหนี้ได้อย่างเหมาะสม การแก้ไขอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต้องไม่เกินร้อยละ 15 จึงจะถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม การมอบหมายให้มีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบที่ชัดเจนในการรับเรื่องร้องเรียน ให้คำปรึกษา และให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิต และต้องมีกฎหมายทวงหนี้ที่เป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันนี้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตถือเป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนและขอคำปรึกษาเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมากเป็นอันดับหนึ่ง  ด้าน นายชูชาติ  บุญยงยศ ประธานชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เล่าให้ฟังถึงสภาวะของลูกหนี้ในยุคปัจจุบันว่า ลูกหนี้บัตรเครดิตจำนวนมากต้องเจอกับวิธีการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ถูกกดดันจนเกิดภาวะเครียด หวาดกลัว เนื่องจากมองไม่เห็นทางออกในการหาเงินมาชำระหนี้ บางคนก็คิดสั้นจนถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองหรือครอบครัวอย่างที่ได้ยินข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำ ใครที่มีปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตหรืออยากรู้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับบัตรเครดิต สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซอยราชวิถี 7 ในวันทำการจันทร์ถึงศุกร์ตั้งแต่เวลา 09.00 – 18.00 น. เบอร์โทรศัพท์ 02-2483734-37 หรือผ่านทางเว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในส่วนชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ www.consumerthai.org/debt/ --------------------------------------     หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย ต่อไปนี้ใครที่พบเจอปัญหาจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถทัวร์ รถตู้ รถไฟ แท็กซี่ ฯลฯ อย่าเก็บไว้ในใจ เมื่อมีปัญหาเราต้องแก้ไข คิดใหม่ทำใหม่ ด้วยการมาสมัครเป็น “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” โครงการดีเพื่อสังคมโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานสัมมนาระดับชาติ “เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 10 ทศวรรษแห่งการลงมือทำ : Time for Action” เมื่อวันที่ 25 - 26 สิงหาคมที่ผ่านมา โดย “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” จะมีหน้าที่ในการช่วยกันแจ้งข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับความในปลอดภัยจากบริการรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถขับซิ่ง ขับประมาท คนขับหรือพนักงานเก็บเงินบริการไม่สุภาพ รวมทั้งเรื่องสภาพรถที่ไม่ปลอดภัย ผ่านมาที่สายด่วนคุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะ 1584 และที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยทุกครั้งที่แจ้งข้อมูลมายังมูลนิธิฯ จะได้รับแต้มสะสมเพื่อลุ้นของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ จากทางมูลนิธิฯ ซึ่งการบอกต่อปัญหาเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งวิธีในการช่วยแก้ไขปัญหาบริการรถโดยสารสาธารณะซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ที่เราทุกคนต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใครที่สนใจสมัครเป็น “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” สามารถโหลดใบสมัครและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.consumerthsi.org หรือที่ 02-248-3737

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 เอาไงดีกับขวดพลาสติกใส ตอน 2

จากที่กล่าวในฉลาดซื้อฉบับที่แล้วว่า “ทั้งที่ความจริงแล้วสารเคมีที่อาจก่อปัญหาสุขภาพของผู้บริโภคเนื่องจากการหลุดออกมาจากขวดพลาสติกคือ Bisphenol A” การลงท้ายในลักษณะนี้อาจทำให้ท่านผู้อ่านสับสนได้ว่า Bisphenol A นั้นอาจหลุดออกมาจากขวดพลาสติกใสทั่วไปได้ ท่านผู้อ่านโปรดอย่าสับสน เพราะขวดพลาสติกใสที่มีการใช้ใส่เครื่องดื่มหรือน้ำดื่มนั้นเป็นขวด PET ส่วนกรณีของ Bisphenol A นั้น เป็นการกล่าวถึงปัญหาของขวดพลาสติกใสอีกประเภทที่เรียกกันว่า โพลีคาร์บอเนต (polycarbonate) ซึ่งแตกต่างจากขวด PET ที่ใช้ใส่น้ำดื่มบรรจุขวด ในการผลิตพลาสติกประเภทโพลีคาร์บอเนตนั้นมีการใช้สาร Bisphenol A เป็นสารช่วยในการผลิต ดังนั้นต้องขอให้ท่านผู้อ่านตั้งสตินิดหนึ่งว่า พลาสติกทั้งสองนั้นต่างกันในเรื่อง การทนความร้อนและที่สำคัญคือ ราคาผู้บริโภคทั่วไปสามารถสัมผัส Bisphenol A จากอาหารเป็นหลัก เพราะมีการวิเคราะห์พบในเลือดคนทั่วไป ตลอดจนในเด็กทารก ซึ่งมีกระบวนการทำลายสารพิษไม่สมบูรณ์ ปริมาณที่วิเคราะห์ได้ในปัสสาวะคนสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.cdc.gov/nchs/about/major/nhanes/nhanes2003-2004/lab03_04.htm แต่ตามรายงานของโครงการพิษวิทยาแห่งชาติ (National Toxicology Program) ของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1982 ระบุว่าสาร Bisphenol A นี้ไม่เป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ท่านผู้อ่านอาจสัมผัส Bisphenol A ได้ในพลาสติกอีกประเภทคือ โพลีไวนิลคลอไรด์ ที่ใช้ทำท่อพีวีซี และแผ่นพลาสติกใสหุ้มอาหารหรือที่เรียกกันว่า แรบพ์ (wrap) ซึ่งชาวไทยหลายล้านคนได้มีประสบการณ์การใช้แผ่นพีวีซีจากแซนด์วิชต่างๆ ที่มีการขายแก้จน โดยไม่รู้ว่าถ้านำเอาแซนด์วิชที่มีแผ่นพลาสติกใสหุ้มอาหารอยู่นั้นไปอุ่นให้ร้อนด้วยไมโครเวฟ โอกาสที่ Bisphenol A จะหลุดออกมาก็พอมีได้แหล่งของสารเคมีนี้ที่ผู้บริโภคอาจได้รับอีกแหล่งคือ จากพลาสติกใสที่มีการนำไปเคลือบกระป๋องบรรจุอาหารที่ต้องผ่านความร้อนสูงวิกิพีเดีย (www.wikipedia.org) เล่าว่ามีงานวิจัยชิ้นหนึ่งทำในหนูถีบจักรเพศเมียที่ท้องพบว่า สาร Bisphenol A ที่ขนาด 1 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ก่อพิษต่อระบบสืบพันธุ์และก่อมะเร็งต่อตัวอ่อนที่ได้รับสารนี้ในช่วงการพัฒนาอวัยวะของตัวอ่อน นอกจากนี้สารเคมีดังกล่าวยังสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์สืบพันธุ์ของหนูถีบจักรที่เลี้ยงในหลอดทดลอง เมื่อเราเข้าไปดูข้อมูลใน http://www.emaxhealth.com เกี่ยวกับขวดนมพลาสติกซึ่งเป็นขวดใสพบว่า ในปีที่แล้วหน่วยงานด้านสุขภาพของแคนาดาได้ระงับใบอนุญาตจำหน่ายขวดนมพลาสติกที่มี Bisphenol A เป็นองค์ประกอบ ปฏิบัติการดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่หน่วยงานด้านกฎหมายของแคนาดาเริ่มจับตามองสาร Bisphenol A ทั้งที่หน่วยงานดังกล่าวเคยออกมาแถลงว่า ปริมาณการสัมผัสสารนี้อยู่ในระดับต่ำ สำหรับในสหรัฐอเมริกานั้น สภาสูงได้เริ่มขอให้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของสาร Bisphenol A และที่สำคัญฝรั่งเศสก็เป็นอีกประเทศที่เริ่มดำเนินการในเรื่องเกี่ยวกับการทบทวนการใช้พลาสติกที่มีสาร Bisphenol A ด้วยฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกนั้นได้กล่าวว่า ปริมาณการปนเปื้อนสู่อาหารของสารเคมีจากบรรจุภัณฑ์นั้น ส่วนใหญ่มีปริมาณค่อนข้างน้อยไม่น่าเป็นห่วง และที่สำคัญคือ ยังไม่มีสารเคมีอื่นมาแทนที่ Bisphenol A ได้ในการทำให้ผลิตภาชนะบรรจุที่ทนร้อนระดับการฆ่าเชื้อทางอุตสาหกรรมซึ่งป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้ การกล่าวนี้เหมือนกับบอกว่า ยอมๆ กันไปก่อนเถอะน่า ไว้หาสารตัวแทนมาได้ค่อยตื่นเต้นใหม่ผู้เชี่ยวชาญในการผลิตภาชนะบรรจุอาหารบริษัทหนึ่งได้กล่าวเสริมว่า ยังมีความจำเป็นในการทำการศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างการเจ็บป่วยที่มีความสัมพันธ์กับระบบฮอร์โมนเพศที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันซึ่งอาจเกิดเนื่องจากสารเคมีที่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศและปัญหาที่เกี่ยวกับเต้านม ต่อมลูกหมาก โรคอ้วน โรคเบาหวาน และภูมิแพ้ก่อน เพื่อให้มีการเชื่อมต่อกับข้อมูลการปนเปื้อนของสารเคมีในอาหาร จากนั้นจึงค่อยมากังวลกับการปนเปื้อนสารพิษนี้อย่างจริงจังการดื่มเครื่องดื่มจากขวดโพลีคาร์บอเนตแล้วสามารถตรวจสอบพบสาร Bisphenol A ในปัสสาวะของผู้บริโภคนั้นเป็นข้อมูลงานวิจัยของคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard School of Public Health) และศูนย์ควบคุมโรคกลาง (CDC) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ในกรณีขวดนมนั้นการปนเปื้อนสามารถเพิ่มขึ้นได้เนื่องจากความร้อนที่ใช้ในการอุ่นขวดนม ในสหรัฐอเมริกานั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และโครงการพิษวิทยาแห่งชาติ (National Toxicology Program) ได้เคยสรุปแล้วว่า Bisphenol A ไม่ก่อปัญหาในด้านสุขภาพ ซึ่งต่างจากหน่วยงานด้านสุขภาพในแคนาดาที่มองว่าปัญหาอาจเกิดต่อตัวอ่อนในท้องแม่ที่ได้รับสารดังกล่าว การวิเคราะห์ปริมาณปนเปื้อนของ Bisphenol A จากขวดพลาสติกที่มีสีสันสวยงามแบบหลอดนีออนพบได้ไม่ยาก ไม่ว่ามากหรือน้อย จึงมีหลายบริษัทที่ผลิตขวดพลาสติกได้เปลี่ยนไปผลิตพลาสติกที่ไม่ต้องใช้สารดังกล่าว ทั้งนี้เพราะขวดที่ใช้ Bisphenol A ในการผลิตจะมีการปนเปื้อนของสารออกมาเมื่อได้รับความร้อนไม่ว่าจากแสงแดดหรือจากไมโครเวฟ ในสหรัฐอเมริกาเองหน่วยงานท้องถิ่นของรัฐมินนิโซตาและคอนเน็คติกัค ได้เริ่มห้ามการจำหน่ายภาชนะพลาสติกที่มีสารดังกล่าวเป็นส่วนผสม และอย่างน้อยผู้ผลิตภาชนะพลาสติกรายใหญ่ 5 รายในสหรัฐอเมริกาได้หยุดการผลิตหรือเพิ่มทางเลือกในการผลิตพลาสติกประเภทอื่นที่ไม่มี Bisphenol A ให้ผู้บริโภคแล้ว ข้อมูลดังกล่าวดูได้จาก http://www.alternet.org/story/141196/ และ http://www.findingdulcinea.com/news/health/2009/june/Are-BPA-Marketers-Purposely-Misleading-the-Public.html ปรากฏการนี้ทำให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐต้องเริ่มทำการทบทวนเกี่ยวกับความปลอดภัยของพลาสติกที่มี Bisphenol A เป็นองค์ประกอบตั้งแต่ปี 2008ใน http://network.nationalpost.com นักสถิติชื่อ S. Robert Lichter จาก George Mason University และ Trevor Butterworth จาก edits.stats.org ได้เขียนบทความเกี่ยวกับแนวทางการเลิกให้ใบอนุญาตการใช้สาร Bisphenol A ในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป ทั้งที่ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนนัก อย่างไรก็ตามเมื่อทำการสอบถามความเห็นจากนักพิษวิทยาจำนวน 937 คน พบว่า มีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่คิดว่าสารนี้เป็นปัญหาร้ายแรงต่อสุขภาพ โดยเทียบกับอันตรายที่เกิดจากแสงแดด สุรา หรือ อะฟลาท็อกซิน ส่วนในกลุ่มของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเอง สารพิษนี้ก็ยังอยู่ที่ท้ายๆ ของบัญชีสารพิษที่ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อมนุษย์ อาจเนื่องจากปริมาณที่ประชากรโลกสัมผัสสารพิษนี้ค่อนข้างต่ำ ตามการประเมินของสถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Institute of Environmental Health Sciences) เคยมีนักพิษวิทยาคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกากล่าวว่า ปริมาณที่มนุษย์ได้รับแต่ละวันนั้นน้อยกว่าปริมาณที่ก่อให้เกิดพิษในสัตว์ทดลองถึง 500,000 เท่า อย่างไรก็ดีท่านผู้อ่านควรทราบว่า การศึกษาและการประเมินความเป็นพิษของสารเคมีที่อาจเข้าสู่ร่างกายมนุษย์นั้น เป็นการตั้งสมมุติฐานว่า มนุษย์ได้รับสารนั้นอย่างเดียว และสุขภาพมนุษย์ก็อยู่ในสภาวะที่ดีที่สุดด้วย ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่เลย ทั้งนี้เพราะถ้าเราคิดถึงปัจจัยเกี่ยวกับสุขภาพ สภาวะโภชนาการ ความแตกต่างทางพันธุกรรมที่บางคนกำจัดสารพิษได้ต่ำกว่าคนอื่นแล้ว ปริมาณสารพิษที่ดูน้อย อาจก่อให้เกิดปัญหาที่น่าตกใจได้ในวารสาร ScienceDaily (July 9, 2009) ของเว็บ http://www.sciencedaily.com กล่าวว่า Bisphenol A มีผลในการทำให้ไข่ของหนูถีบจักรพัฒนาตัวช้ากว่าปรกติ เนื่องจากผลที่มันเป็นสารที่มีฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศหญิง แต่เรายังไม่ทราบว่าเมื่อเทียบกับฮอร์โมนเพศหญิงธรรมชาติแล้ว มันมีฤทธิ์ต่ำกว่า หรือสูงกว่าฮอร์โมนเพศธรรมชาติ และข้อที่น่าสนใจอีกประการในรายงานนี้คือ การศึกษานี้เป็นการศึกษาระยะยาวในสัตว์ด้วยสารที่มีความเข้มข้นต่ำนอกจากนี้ โครงการพิษวิทยาแห่งชาติของสหรัฐอเมริกายังได้รายงานว่า สารเคมีนี้มีผลต่อสมอง พฤติกรรมและต่อมลูกหมากของลูกสัตว์ทดลองที่แม่ได้รับสารนี้ ซึ่งอาจเชื่อมโยงได้ว่ามีผลอย่างเดียวกันในคนเนื่องจากนักพิษวิทยาบางส่วนไม่สามารถกล่าวอย่างเต็มปากว่าสารเคมีนี้ปลอดภัย บริษัท Nalgene ซึ่งผลิตขวดพลาสติกหลายชนิดขาย ทั้งในห้องปฏิบัติการเคมี และใช้เป็นขวดบรรจุน้ำ อาหารและอื่น ๆ จึงได้แนะนำผู้บริโภคประมาณว่า ถ้าไม่แน่ใจในการใช้ขวดพลาสติกใสทนร้อนให้หันกลับไปใช้ขวดพลาสติกขุ่นที่บริษัทผลิตขายเช่นกันแทน เพื่อความสบายใจ ข้อมูลดังกล่าวหาดูได้จาก http://www.ecopledge.com/detoxnalgene.asp?id2=27717ดังนั้นถ้าท่านต้องการใช้ภาชนะพลาสติกใสที่ทนร้อนได้ ท่านคงต้องยอมเสี่ยงที่จะรับสารดังกล่าวบ้าง มันอาจไม่เลวร้ายนักเพราะเวลาล้างขวดนมด้วยการต้ม น้ำที่ใช้ต้มเราก็เททิ้ง แต่ยังไม่มีใครรับประกันว่าว่า มี Bisphenol A ติดอยู่ที่ผนังขวดหรือไม่ ดังนั้นน่าจะถึงเวลาหันกลับไปใช้ขวดนมแก้ว โดยยอมเสี่ยงกับการที่สาวใช้ทำขวดแตก เพราะท่านทำลูกเป็นอย่างเดียว แต่ทำงานบ้านไม่เป็น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 102 เอาไงดีกับขวดพลาสติกใส

รศ. ดร.แก้ว กังสดาลอำไพสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2552 เวลาใกล้ 20.00 น ข่าวพยากรณ์อากาศของสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ได้ให้ความรู้ในเรื่องที่นอกเหนือไปจากการพยากรณ์อากาศว่า การใช้ขวดพลาสติกใสที่เคยบรรจุน้ำดื่มซ้ำ อาจมีปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษออกมา โดยเฉพาะเมื่อเอาขวดบรรจุน้ำนั้นไปแช่ในช่องแช่แข็งแล้ว สารพิษในกลุ่มไดออกซินจะหลุดออกมาปนเปื้อนในน้ำดื่ม ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นที่น่าสนใจกันมานานแล้วว่า ข้อมูลดังกล่าวมาจากไหน มีความน่าเชื่อถือสักเท่าไร เพราะผู้เขียนเองก็เคยได้เห็นข้อมูลดังกล่าวใน Forward mail ตลอดจนในเว็บไซต์ของคนไทย ผู้ที่คิดว่าตนเองรู้รอบทิศ แค่เดาว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งนั้นก็เป็นจริงได้ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสารพิษ ซึ่งก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ผู้ได้รับข้อมูลแล้วไม่ใช้หลักกาลามสูตร จนต้องไปใช้บริการล้างพิษในธุรกิจส่วนตัวของผู้ให้ข่าว ดังนั้นในฉลาดซื้อฉบับนี้ ผู้เขียนในฐานะที่เป็นผู้ใช้ขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่มซ้ำซาก จึงค่อนข้างกระตือรือล้นในการหาความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ขวดน้ำพลาสติกซ้ำว่า ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพหรือไม่ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่า ควรไปซื้อขวดขุ่นมาใส่น้ำแช่ตู้เย็นหรือไม่ เริ่มแรกผู้เขียนหาข้อมูลจาก Google ด้วยกุญแจคำว่า drinking water bottle plastic reuse ก็ได้ความรู้เอามาแบ่งปันกัน เว็บแรกคือ http://www.snopes.com ซึ่งเป็นผู้ให้แหล่งที่มาของ e-mail ยอดนิยมที่คนชอบส่งต่อ ซึ่งเขียนว่า “No water bottles in freezer. A dioxin chemical causes cancer, especially breast cancer. Dioxins are highly poisonous to the cells of our bodies. Don't freeze your plastic bottles with water in them as this releases dioxins from the plastic...... เป็นเรื่องหนึ่ง และอีกเรื่องเขียนว่า “My husband has a friend whose mother recently got diagnosed with breast cancer. The doctor told her women should not drink bottled water that has been left in a car. The doctor said that the heat and the plastic of the bottle have certain chemicals that can lead to breast cancer. So please be careful and do not drink that water bottle that has been left in a car and pass this on to all the women in your life.” ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างน่ากลัว เนื่องจากพาดพิงถึงสารไดออกซิน (dioxin) ผู้เขียนขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ไดออกซิน ก่อนว่า เป็นกลุ่มสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูงที่สุดที่มนุษย์เคยประดิษฐ์ขึ้นมา ครั้งแรกที่สารกลุ่มนี้เป็นข่าวนั้นนานกว่า 30 ปีแล้ว โดยเป็นสารปนเปื้อนที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจในการผลิตสารกำจัดวัชพืชสองชนิดที่มีชื่อเล่นเรียกง่าย ๆ ว่า 2,4-D และ 2,4,5-T สารพิษเหล่านี้ประเทศมหาอำนาจผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในการโปรยจากเครื่องบินเพื่อทำให้ป่าทึบกลายเป็นป่าโปร่ง ทหารของประเทศมหาอำนาจจะได้ยิงทหารของประเทศด้อยอำนาจได้ง่าย ผลกรรมเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ ทหารที่อยู่บนเครื่องบินที่โปรยสารพิษนี้ก็ได้รับสารไดออกซิน เนื่องจากลมที่ตีกลับไปมาระหว่างการโปรยสารพิษนี้ และเมื่อกลับประเทศแบบผู้ปราชัย ทหารผู้โชคร้ายเหล่านั้นก็เป็นมะเร็งกันเป็นระนาว ส่วนข้าศึกที่อยู่ภาคพื้นดินก็รับกรรมไปชั่วลูกชั่วหลาน เพราะสารพิษนี้ตกค้างบนพื้นดิน กลายเป็นสารปนเปื้อนเข้าสู่วงจรอาหาร ทำให้ลูกหลานของคนในประเทศผู้ชนะสงครามมีความพิการมากมาย สารกลุ่มไดออกซินนั้นเป็นทั้งสารก่อมะเร็งและสารก่อลูกวิรูป (สารที่ทำให้เด็กในท้องพิการ) ด้วยเหตุนี้พอมีข่าวว่ามีสารพิษนี้หลุดออกมาจากขวดพลาสติกใส ใครๆ ก็ต้องกลัว อย่างไรก็ดีในเรื่องของขวดพลาสติกใสใส่น้ำนั้น เรื่องของไดออกซินเป็นเพียงสิ่งที่เข้าใจกันเองว่ามี ทั้งที่ความจริงไม่ควรมี เพราะไดออกซินนั้นมักเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตสารเคมีที่มีคลอรีนเข้าไปเกี่ยวข้อง ดังตัวอย่างการผลิตสารกำจัดวัชชพืช 2,4-D และ 2,4,5-T ซึ่งใช้คลอรีนเป็นองค์ประกอบสำคัญ ในขณะที่ขวดพลาสติกใสที่เรียกว่า ขวด PET นั้นไม่ได้มีคลอรีนร่วมในการผลิต โอกาสจะเกิดไดออกซินจึงไม่น่าเป็นไปได้ ผู้เขียนเข้าใจว่า บุคคลที่เริ่มต้นเขียนบทความเกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารพิษในขวดพลาสติกใสนั้น เข้าใจคลาดเคลื่อนและเขียนชื่อสารพิษอีกชนิดหนึ่ง (ซึ่งจะกล่าวต่อไป) ผิดไปเป็นไดออกซินทั้งนี้เพราะอาจชินกับชื่อสารพิษไดออกซินซึ่งมีประวัติอันยาวนาน ตัวอย่างความเข้าใจผิดในเรื่องชื่อสารเคมีของผู้ที่ไม่ได้เรียนด้านวิทยาศาสตร์โดยตรง ที่มักพบได้ในอินเตอร์เน็ตคือ ความเข้าใจผิดๆ ถูกๆ เกี่ยวกับคำว่า ฝนเหลือง หรือ Yellow rain คนทั่วไปในปัจจุบันมักคิดว่า ฝนเหลืองนั้นมีสารพิษคือ ไดออกซิน เป็นองค์ประกอบ ทั้งที่ความจริงแล้วไดออกซินนั้นเป็นสารปนเปื้อนที่เกิดจากสารกำจัดวัชพืชดังกล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งเวลานำไปใช้งานในสงครามนั้น สารผสมดังกล่าวถูกผลิตในรูปที่มีสีออกส้ม จึงเรียกว่า agent orange ไม่ใช่ Yellow rain ดังที่มีผู้กล่าวกันอย่างผิดๆ Yellow rain นั้นเป็นชื่อเรียกง่ายๆ ของสารพิษกลุ่ม Trichothecene ที่เรียกว่า T-2 Toxin ที่ได้จากเชื้อรากลุ่ม Fusarium, Myrothecium, Trichoderma, Trichothecium, Cephalosporium, Verticimonosporium และ Stachybotrys ซึ่งประเทศมหาอำนาจอีกประเทศได้นำสารนี้ไปใช้ในสงครามในเอเชียกลางเมื่อไม่นานมานี้ ข้อมูลเกี่ยวกับ Yellow rain หรือฝนเหลืองนั้น สามารถหาได้จาก www.wikipedia.org สารพิษ T-2 Toxin ในฝนเหลืองนี้ออกฤทธิ์ทำให้ผู้ได้รับมีอาการเหมือนโดนรังสีจากระเบิดปรมาณู เพราะสารพิษทำลายการสร้างเม็ดเลือดขาวของระบบภูมิต้านทานในไขกระดูก ดังนั้นโดยสรุปแล้ว การรายงานสารปนเปื้อนในรายการพยากรณ์อากาศที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นการเอาข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมารายงาน ซึ่งอาจเป็นเพราะความไม่ถูกต้องของแหล่งข้อมูล โดยเฉพาะถ้าเป็นแหล่งข้อมูลในอินเตอรเน็ตซึ่งไม่สามรถควบคุมความถูกต้องได้ อย่างไรก็ดี ในข้อเท็จจริงแล้วไม่ได้หมายความว่าไม่มีสารพิษหลุดออกมาจากขวดพลาสติกใส แต่จะเป็นสารอะไรนั้นขอให้ท่านผู้อ่านติดตามดูข้อมูลที่ผู้เขียนจะนำมาเสนอให้อ่านเป็นความรู้ประกอบการตัดสินใจว่า จะใช้ขวดพลาสติกใสใส่น้ำซ้ำหรือไม่ ก่อนอื่นต้องทบทวนกับท่านผู้อ่านว่า ขวดพลาสติกใสนั้นชื่อทั่วไปที่เป็นภาษาอังกฤษเรียกว่า ขวด PET ขวดพลาสติก PET ผลิตจากสารตั้งต้นชื่อ ethylene terepthalate ด้วยกระบวนการทางเคมีทำให้ได้สารโพลีเมอร์ชื่อ polyethylene terepthalate ซึ่งเป็นพลาสติกที่ได้รับการยอมรับจากสำนักคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศว่าสามารถใช้กับอาหารและยาได้ PET มีความสวยงาม และใสเหมือนขวดแก้ว หรืออาจจะเพิ่มสีสันให้กับขวดได้ตามความเหมาะสม มีน้ำหนักเบา และความเหนียวในเนื้อพลาสติกมีสูงจึงไม่เกิดความเสียหายในขณะขนส่ง จึงเหมาะอย่างยิ่งกับอุตสาหกรรมอาหาร ยา เคมี เครื่องดื่มและอื่นๆ ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาของสารที่อาจหลุดออกมาจากขวด PET นั้นควรเริ่มจากการเข้าไปดูได้ที่ www.wikipedia.org เช่นกัน ก่อนไปถึงเรื่องของสารเคมีที่อาจหลุดออกมาจากขวด PET เราคงต้องไปดูประเด็นว่า ทำไมเรื่องของไดออกซินในพลาสติกจึงถูกปล่อยออกมาทำให้มีความหวาดกลัวกันในหมู่ผู้บริโภค ในครั้งแรกที่ได้ยินเรื่องนี้ ผู้เขียนพยายามเดาว่า เป็นนโยบายที่ผู้ผลิตขวดพยายามให้มีการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อที่บริษัทจะได้ขายขวดได้มากขึ้น แต่เมื่อประเมินผลได้ผลเสียแล้ว คิดว่าผู้ผลิตคงไม่เสี่ยงทุบหม้อข้าวตัวเองแน่ ดังนั้นจึงลองค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ก็ไปพบว่าเรื่องดังกล่าวนี้มีใน wikipedia เจ้าประจำ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ในปี 2001 มีนักศึกษาคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐไอดาโฮได้รายงานในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทรายงานว่า สาร DEHA อาจหลุดออกมาจาก ขวดพลาสติกชนิดที่เรียกว่า PET (polyethylene terephthalate) ซึ่งถูกใช้ซ้ำหรือได้รับความร้อน จากนั้นในปี 2003 ข้อมูลดังกล่าวก็ถูกส่งว่อนไปทั้วอินเตอร์เน็ต สารเคมีดังกล่าวที่นักศึกษาผู้นั้นกล่าวถึงคือ bis(2-ethylhexyl) adipate (หรือ di(2-ethylhexyl) adipate) แต่ข้อมูลที่ส่งในอินเตอร์เน็ตกลับไปเข้าใจผิดว่าเป็นสาร diethylhydroxylamine ซึ่งก็มีชื่อเช่นเดียวกันคือ DEHA ด้วยเหตุ สมาคมผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกจึงไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ ต้องลุกขึ้นมาอัดมหาวิทยาลัยดังกล่าว โดยระบุว่าการใช้ขวด PET บรรจุน้ำดื่มนั้นได้ผ่านการรับรองจาก อย ของสหรัฐแล้ว และที่สำคัญสารดังกล่าวที่อาจหลุดออกมาจากขวด PET นั้นไม่ได้อยู่บัญชีสารก่อมะเร็งของ EPA (สำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา) และไม่ได้ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งตามบัญชีของ IARC ซึ่งเป็นสำนักงานระหว่างชาติที่ดูแลงานวิจัยเกี่ยวกับสารก่อมะเร็ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการพยายามเคลียร์กันแล้วแต่เรื่องที่เกิดในทางไม่ดีนั้น ไม่ว่าจริงหรือเท็จมักค้างคาใจ เหมือนใบสั่งการจอดรถผิดกฎหมาย ซึ่งถึงจ่ายค่าปรับแล้ว ผู้จ่ายก็ยังมักหงุดหงิดทุกครั้งที่เห็นคนเขียนใบสั่ง และมักรู้สึกไม่ดีตลอดไป ฉันใดก็ดี เรื่องสารพิษในขวดพลาสติกก็ยังพูดกันต่อๆ ไป แล้วมันก็กลายเป็นสารไดออกซินในที่สุด ทั้งที่ความจริงแล้วสารเคมีที่อาจก่อปัญหาสุขภาพของผู้บริโภคเนื่องจากการหลุดออกมาจากขวดพลาสติกคือ Bisphenol A ซึ่งขอยกไปคุยกันในฉบับหน้า สำหรับช่วงรอเดือนหน้าผู้เขียนได้จัดการกำจัดขวดพลาสติกใสในตู้เย็นให้หมดไป โดยได้ไปซื้อขวดบรรจุน้ำที่เป็นพลาสติกขุ่นที่กำหนดว่า ใช้ใส่น้ำดื่ม มาใช้ในการแช่น้ำในตู้เย็นแทน ท่านผู้อ่านจะทำตามหรือไม่ก็แล้วแต่ใจครับตอนนี้ตัวใครตัวมันก่อนแล้วกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 169 กรณีน้ำอัดลมระเบิดเป็นเหตุให้เจ็บตัว มาดูว่าเจ้าของบริษัทฯ ชี้แจงอย่างไร

จากกรณีนี้  ที่คุณณิชาพร ได้เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  ว่าบุตรชายได้รับบาดเจ็บสาหัสจากขวดแก้วน้ำอัดลมระเบิดใส่  จนตาซ้ายบอดสนิทใช้การไม่ได้นั้น (จากฉบับที่ 165 )หลังการรับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้แนะนำให้คุณณิชาพรรวบรวมพยานหลักฐาน และนัดเจรจาไกล่เกลี่ยให้กับคุณณิชาพร กับบริษัทผู้ประกอบการน้ำอัดลมเอส ในวันที่ 23 มกราคม 2558  โดยภายหลังการเจรจาบริษัทผู้ประกอบการน้ำอัดลมเอส ได้ชี้แจงเป็นหนังสือถึงสาเหตุการแตกของผลิตภัณฑ์ให้กับศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ทราบ โดยผู้เขียนขอสรุปเนื้อหาสาระสำคัญให้ผู้อ่านได้ทราบทั่วกัน ดังนี้“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้เศษแก้วของขวดน้ำอัดลมกระเด็นเข้าที่คางและตาด้านซ้ายของผู้บาดเจ็บ ทั้งนี้ภายหลังเกิดเหตุ ผู้บาดเจ็บไม่ได้รักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ เกิดเหตุประมาณ 2.00 น. นายจ้างพาไปส่ง รพ. 3.00 น. แต่ได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประมาณ 8.00 น.จากข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัทฯ ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า กระบวนการผลิตน้ำอัดลมของบริษัทฯ มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัยกับผู้บริโภค มีมาตรการควบคุมคุณภาพในการผลิตที่เข้มงวดทุกขั้นตอน โดยกระบวนการผลิตด้วยระบบเครื่องจักรอัตโนมัติที่ทันสมัย มีการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ตลอดถึงระบบการผลิตภายใต้ระบบคุณภาพและสุขลักษณะที่ดีในการผลิต GMP&HACCP ตามมาตรฐานสากล บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วที่ใช้สำหรับน้ำอัดลมซึ่งมีแรงดันจากก๊าซภายในขวด สำหรับมาตรฐานการผลิตขวดประเภทนี้จะต้องมีความหนาและสามารถทนต่อแรงดันได้ โดยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรม (มอก) “ขวดแก้วสำหรับเครื่องดื่มประเภทอัดก๊าซ” การทดสอบความต้านทานต่อความดัน มาตรฐานที่ 229 ปอนด์/ตร.นิ้ว ซึ่งสำหรับขวดแก้วของบริษัทฯ มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่า 253 ปอนด์/ตร.นิ้ว ออกแบบไว้มีค่าสูงกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่กำหนดไว้และสามารถทนแรงดันได้มากกว่า ซึ่งขณะบรรจุผลิตภัณฑ์มีความดันก๊าซในขวดเพียง 35-45 ปอนด์/ตร.นิ้ว ซึ่งขวดแก้วบรรจุน้ำอัดลมของบริษัทฯ สามารถทนแรงดันและมีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับการนำไปใช้งานข้อชี้แจงดังกล่าว จึงสรุปได้ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับผู้บาดเจ็บ ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติหรือความบกพร่องในกระบวนการผลิตของบริษัทแต่อย่างใด ”จากการชี้แจงของบริษัทฯ ชัดเจนมากกว่า บริษัทฯ ไม่ประสงค์จะเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดพลาดของบริษัทฯ  ส่วนที่ขวดแก้วน้ำอัดลมระเบิด จะเกิดจากอะไรก็สุดแต่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะคิดไปเอง  เพราะบริษัทฯ บอกไม่รับรู้ด้วยแล้ว       แล้วอย่างนี้ผู้บริโภคที่เสียหายจะขอความเป็นธรรมได้อย่างไรเห็นคำชี้แจงมาแบบนี้ ผู้เขียนคิดเอาเองว่า ต่อจากนี้ผู้อ่านทุกท่าน ผู้บริโภคทุกคนคงต้องมีความระมัดระวัง  และตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยด้วยตนเองตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาจะดื่มน้ำอัดลมที่เป็นขวดแก้ว หรือแค่อยู่ใกล้ๆ น้ำอัดลมที่เป็นขวดแก้ว เพราะว่าสักวันอาจจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นได้ใครจะรู้  เนื่องจากไม่เคยมีคำเตือน ให้ระวัง หรือการแจ้งเตือนจากผู้ประกอบการถึงวิธีการป้องกันหรือการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้แต่อย่างใด  แน่นอนกรณีแบบนี้ไม่ใช่กรณีแรก แต่พอเกิดเหตุขึ้น ก็ไม่มีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบเหมือนทุกครั้งไปต่อจากนี้คงต้องเป็นการตัดสินใจของคุณณิชาพร ผู้เสียหาย ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร จะใช้สิทธิทางกฎหมายของผู้เสียหายฟ้องคดีหรือไม่อย่างไรทั้งนี้หากจะต้องฟ้องร้องเป็นคดีความกันจริง ผู้เขียนขอเสริมตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากันอีกซักนิดกรณีนี้ เข้าลักษณะการเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ตามนิยามความหมายตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ที่หมายความว่า สินค้าที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุจากความบกพร่องในการผลิตหรือการออกแบบ หรือไมได้กำหนดวิธีใช้ วิธีเก็บรักษา คำเตือน หรือข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า หรือกำหนดไว้แต่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจนตามสมควร ทั้งนี้โดยคำนึงถึงสภาพของสินค้า รวมทั้งลักษณะการใช้งาน และการเก็บรักษาตามปกติธรรมดาของสินค้าอันพึงคาดหมายได้ซึ่งตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 นี้ มีอายุความ 3 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย และสามารถเรียกร้องค่าเสียหายต่อจิตใจได้ด้วยดังนั้นกรณีนี้ผู้อ่านฉลาดซื้อจะต้องติดตามเสียงผู้บริโภคกันอย่างไม่คลาดสายตา เพราะหากเรื่องนี้ฟ้องเป็นคดีความและมีความคืบหน้าเมื่อไหร่ ผู้เขียนจะต้องนำมาขยายผลให้ท่านผู้อ่านรับทราบกันอย่างแน่นอน อย่าลืมติดตามกันนะครับ !!!อัพเดทล่าสุด 31 พ.ค. 60 ศาลแพ่งพิพากษาให้เครื่องดื่มน้ำอัดลม เอส จ่ายค่าเสียหายให้ผู้บริโภคกว่า 2 ล้านบาท หลังพิสูจน์พบว่ากระบวนการผลิตสินค้าไม่ปลอดภัย ผู้บริโภคเสนอให้เยียวยาผู้บริโภคทันทีจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ31 พ.ค. 60 ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลการพิทักษ์สิทธิให้กับผู้บริโภค กรณีได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 57 ผู้บริโภคซึ่งเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้ทำงานพิเศษช่วงเย็นเป็นพนักงานร้านอาหารขณะนำขวดเครื่องดื่มน้ำอัดลมยี่ห้อดังกล่าวใส่ถาดไปเสิร์ฟให้ลูกค้าเกิดระเบิดขึ้น ทำให้เศษแก้วกระเด็นเข้าตาข้างซ้ายเป็นเหตุให้เลนส์ตาซ้ายแตกทำให้ตาบอด หลังการเกลี่ยไกล่ไม่ได้ผลจึงยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค โดยฟ้องตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 เรียกค่าเสียหาย 10,897,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 บาท ต่อปี นับจากวันยื่นฟ้อง นั่นคือวันที่ 18 พ.ค. 58หลังการพิจารณาคดีศาลได้พิพากษาเมื่อวันที่ 8 ก.พ.60 ให้จ่ายค่าเสียหายจำนวน 1,430,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันเกิดเหตุไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยคิดดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง รวมทั้งชำระค่าสูญเสียความสามารถในการประกอบอาชีพทั้งปัจจุบันและอนาคตอีก 900,000 บาท โดยให้สงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับค่าเสียหายอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน รวมถึงค่ารักษาพยาบาลในอนาคตไว้จนกว่าจะรักษาเสร็จ ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่มีคำพิพากษานายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความจากศูนย์ทนายอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้รับผิดชอบคดีกล่าวว่า การยื่นฟ้องในคดีนี้ ภาระการพิสูจน์อยู่กับผู้ประกอบการ ที่จะต้องพิสูจน์ว่าสินค้าของตัวเองปลอดภัย“ในการสู้คดีนั้นสู้กันด้วยหลักวิชาการซึ่งพบว่าแม้จะมีการตรวจวัดแรงดันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขวดน้ำอัดลม แต่มีการนำขวดเก่ากลับไปใช้ซ้ำ จะเลิกใช้ขวดที่ชำรุดก็ต่อเมื่อขวดชำรุดเห็นประจักษ์ ซึ่งขวดที่อาจมีการชำรุดเราจะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นเลย รวมถึงการขนส่ง การนำไปแช่ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบเชียบพลัน การถูกกระแทกเวลาขนส่ง ล้วนส่งผลต่อการชำรุดของขวด เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ศาลจึงตัดสินว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย” นายเฉลิมพงษ์กล่าวนอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าเพื่อจะวิเคราะห์ได้รวดเร็วขึ้นผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าไม่ปลอดภัยควรเก็บหลักฐานนั้นไว้ด้วย เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้พิสูจน์ รวมถึงหากมีบิลค่ารักษาพยาบาลต่างๆก็ควรเก็บไว้เพื่อใช้ประกอบการเรียกค่าชดเชยต่างๆได้นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าไม่เฉพาะผู้ประกอบการรายนี้เท่านั้น อยากให้รายอื่นๆตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย อยากให้มีกระบวนการเยียวยาผู้บริโภคที่รวดเร็วเพราะความเสียหายจากสินค้าอาจเกิดขึ้นได้“การได้รับความเสียหายจากสินค้าอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วการชดเชยเยียวยาให้กับผู้บริโภคเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องชดเชยให้กับผู้บริโภค ไม่ต้องให้ผู้บริโภคฟ้องแล้วถึงจะเยียวยา ถ้าผู้ประกอบการตระหนักถึงจุดนี้น่าจะเป็นผลดีที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการใช้สินค้านั้นต่อไป และเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าของตัวเองด้วย” นางนฤมลกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 ตาบอด เพราะขวดน้ำอัดลมระเบิด !!!

ทุกวันนี้บ้านเรามีน้ำอัดลมหลายยี่ห้อหลายสีให้เลือกดื่ม ทั้งดำ แดง เขียว ส้ม หรือกระทั่งสีฟ้า ความต้องการของผู้บริโภคทำให้น้ำอัดลมแทบจะกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคหลายคนขาดไม่ได้ไปแล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จะไปไหน กินอะไร ก็ต้องสั่งน้ำอัดลม ทั้งที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าน้ำอัดลมไม่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเลยก็ตาม แต่ผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่ก็ไม่กลัวและพร้อมที่จะสั่งจะน้ำอัดลมมาดื่มกัน แต่จะมีใครรู้ไหมว่า บางครั้งน้ำอัดลมก็นำมาซึ่งความอันตรายที่คาดไม่ถึงเหมือนเช่นกรณีนี้...ช่วงสายของวันที่ 23 กันยายน 2557  คุณณิชาพร ได้โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ช่วยป้าด้วย ลูกชายป้าถูกขวดน้ำอัดลมระเบิดใส่ทำให้ตาบอด อยากให้มูลนิธิช่วยเหลือ…เจ้าหน้าที่จึงสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ความว่า บุตรชายเป็นลูกจ้างร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น  ทำหน้าที่เป็นพนักงานเสิร์ฟ เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 2 นาฬิกาของคืนวันที่ 18 พฤษภาคม 2557 ขณะนั้นบุตรชายอยู่ระหว่างการทำงาน และได้ไปรับออเดอร์ของลูกค้า โดยลูกค้าได้สั่งน้ำอัดลม 1 ขวด บุตรชายจึงเดินมารับน้ำอัดลมที่เคาน์เตอร์ โดยมีเพื่อนพนักงานหยิบน้ำอัดลมที่ยังไม่ได้เปิดฝามาวางบนเคาน์เตอร์ เพื่อให้บุตรชายหยิบขวดน้ำอัดลมใส่ถาดเตรียมนำส่งลูกค้าเมื่อบุตรชายหยิบน้ำอัดลมวางบนถาดทันใดนั้นขวดน้ำอัดลมก็ระเบิด เศษแก้วได้กระเด็นเข้าตาซ้ายของบุตรชาย เพื่อนพนักงานรีบนำตัวบุตรชายส่งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ทันที โดยได้รับการรักษาเย็บ 5 เข็ม แต่ก็ไม่สามารถรักษาดวงตาข้างซ้ายให้มองเห็นได้ ปัจจุบันบุตรชายตาซ้ายบอดสนิทใช้การไม่ได้กรณีแบบนี้จะมีใครช่วยรับผิดเยียวยาความเสียหายให้กับบุตรชายได้ไหม  แนวทางแก้ไขปัญหา กรณีนี้ ทางศูนย์ฯ ได้แนะนำให้คุณณิชาพร รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการบาดเจ็บ รายละเอียดค่ารักษาพยาบาล พยานวัตถุที่เสียหาย (ถ้ามี)  ภาพถ่ายต่างๆ หรือพยานบุคคลที่อยู่ใกล้เคียง รวมถึงข้อมูลการสั่งซื้อ การจัดส่ง การเก็บรักษา การจัดวางสินค้า เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเจรจาค่าเสียหายกับผู้ประกอบการ และให้ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการเพื่อขอให้เยียวยาความเสียหายด้วย และเมื่อคุณณิชาพร รวบรวมเอกสารหลักฐานทั้งหมดแล้ว ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จะดำเนินการนัดหมายเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง เพื่อหามาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บาดเจ็บต่อไป ซึ่งกรณีนี้อาจจะต้องพิสูจน์ถึงสาเหตุของการระเบิดด้วยว่าเกิดจากอะไร โดยหากไม่สามารถเจรจาเยียวยาเพื่อหาข้อยุติได้นั้น ผู้บาดเจ็บที่เสียหายสามารถใช้สิทธิฟ้องศาลได้อีกช่องทางหนึ่งเพิ่มเติมด้วยข้อมูลเพิ่มเติมทั้งนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มีข้อมูลดีๆ โดยนายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี ที่เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้มาให้ทราบเป็นอุทาหรณ์กันครับ“ ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ปี 2557 ที่ผ่านมา มีคนงานโรงงานผลิตน้ำอัดลม 1 ราย ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา เนื่องจากขวดน้ำอัดลมระเบิด และฝาจีบปิดขวดกระเด็นใส่ดวงตา ขณะทำงานขนย้ายน้ำอัดลมที่บรรจุขวดแล้ว แรงระเบิดทำให้แก้วตาดำเป็นแผล ฉีกขาด และมีเลือดออกช่องหน้าม่านตา ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ เพื่อรักษาแผลให้หาย ป้องกันการติดเชื้อ และให้เลือดที่ออกในช่องม่านตาหยุดไหลและถูกดูดซึมตามธรรมชาติ จากการสอบถามผู้ป่วยพบว่าขวดที่ระเบิดใส่ เป็นขวดแก้วบรรจุน้ำอัดลมที่บรรจุก๊าซและปิดด้วยฝาจีบโลหะ เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ เป็นภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งการเกิดระเบิดของขวดน้ำอัดลม เกิดขึ้นได้ทั้งจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น หรือจากการกระแทกขณะขนส่ง โดยที่คนงานไม่มีการป้องกันตัวแต่อย่างใดทั้งนี้ น้ำอัดลม เป็นเครื่องดื่มที่ประชาชนนิยมดื่มในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อน เครื่องดื่มประเภทนี้ จะอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในขวด เพื่อให้มีความซ่า เพิ่มความสดชื่นแก่ร่างกาย เมื่อขวดน้ำอัดลมถูกแดดหรืออยู่ในอากาศที่ร้อนจัด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในขวดจะขยายตัว ดันฝาขวดและขวดแก้วแตก โดยเฉพาะโซดาจะมีปริมาตรก๊าซสูงกว่าน้ำอัดลมชนิดอื่นๆ จึงมีโอกาสเสี่ยงเกิดการระเบิดได้ง่ายกว่าด้วย โดยหากฝาจีบปิดขวดหรือเศษแก้วที่แตก กระเด็นใส่หน้า ถูกดวงตาซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญและมีความบอบบางมาก หากได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง มีบาดแผลที่ตาดำ หรือมีเลือดออกในช่องหน้าม่านตา อาจทำให้ตาบอดได้ หรืออาจระเบิดระหว่างเปิดฝาขวดใส่มือ ทำให้เกิดบาดแผล หรือนิ้วมือขาดได้เช่นกัน ขอแนะนำว่า ในช่วงที่มีอากาศร้อนอบอ้าว อย่าเปิดฝาขวดโดยใช้มือหรือใช้ฝาขวด 2 ขวดมางัดกัน และอย่าเปิดฝาทันที เพราะอาจทำให้ฝาขวดกระเด็นโดนตา มือ หรืออวัยวะอื่นๆ จนเกิดการบาดเจ็บได้ วิธีที่ดีที่สุดคือให้ใช้อุปกรณ์เปิดขวด ก่อนเปิดให้ใช้ผ้าขนหนูพันที่เปิดขวด และค่อยๆ เปิดฝาขวดทีละน้อย เพื่อให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ค่อยๆ ไหลออกมา ลดแรงดันของก๊าซในขวดลงก่อน ” นายแพทย์ฐาปนวงศ์ กล่าวเมื่อทราบถึงข้อควรระวังกันแบบนี้แล้ว สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงถูกแรงระเบิดจากขวดน้ำอัดลมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานส่งของ ขายของ พ่อค้าแม่ค้า หรือผู้บริโภคที่ชอบดื่มน้ำอัดลม ควรต้องตระหนักถึงความระมัดระวังในส่วนนี้อย่างมากด้วยครับ เพราะผู้เขียนเชื่อว่าทุกอย่างสามารถป้องกันได้ อย่าลืมครับ กันไว้ดีกว่าแก้ ดีกว่าแย่แล้วแก้ไม่ทัน ครับผม....ขอบคุณข้อมูลบทสัมภาษณ์นายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จาก thairat.co.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 กระแสต่างแดน

น้ำขวดหรือจะสู้น้ำประปา บริษัทที่ขายน้ำดื่มในอเมริกานั้นทำกำไรได้ปีละหลายล้านเหรียญจากความเชื่อที่ว่าน้ำดื่มบรรจุขวดนั้นสะอาดบริสุทธิ์กว่าน้ำประปาบ้านๆ แต่หารู้ไม่ว่าการผลิตน้ำขวดดังกล่าวมีการควบคุมดูแลน้อยกว่าน้ำประปาด้วยซ้ำ รายงานที่นำเสนอในสภาคองเกรสของสหรัฐระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐมีอำนาจน้อยมากในการกำกับดูแลความปลอดภัยของน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่ในบางมลรัฐที่พอจะมีอำนาจจัดการอยู่บ้างก็ให้ความสำคัญกับการควบคุมการผลิตน้ำประปามากกว่า บาร์ท สตูพัค ผู้แทนจากรัฐมิชิแกนบอกว่า คนอเมริกันยินดีจ่ายเงินซื้อน้ำบรรจุขวด ซึ่งมีราคามากกว่าน้ำจากก๊อกถึง 1,900 เท่า และใช้พลังงานมากกว่า 2,000 เท่าในการผลิตและการขนส่ง ในขณะที่มีน้ำดื่มบรรจุขวดถูกเรียกคืนเพราะมีการปนเปื้อนของสารหนู โบรเมท เชื้อรา และแบคทีเรีย อยู่เป็นระยะๆ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา   แม้แต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาก็มีรายงานข่าวว่ามีเด็กนักเรียนนับสิบรายที่ป่วยหลังจากดื่มน้ำบรรจุขวดที่ซื้อจากตู้ขายน้ำอัตโนมัติ รายงานดังกล่าวยังระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐไม่ได้ควบคุมปริมาณของสารประกอบ DEHP (ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ) ในน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่หน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมมีการควบคุมปริมาณสารดังกล่าวในน้ำประปา แต่ทางสมาคมผู้ผลิตน้ำบรรจุขวดบอกว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีสารนี้ในน้ำดื่มบรรจุขวดซึ่งผ่านการควบคุมมาหลายขั้นตอนแล้ว สมาคมฯ บอกว่าในปีที่ผ่านมา คนอเมริกันนั้นดื่มน้ำกันไปทั้งหมด 8,700 ล้านแกลลอน หรือ ประมาณคนละ 28.5 แกลลอน รายได้จากการขายน้ำดื่มบรรจุขวดในปีดังกล่าวสูงถึง 11,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 380,000 ล้านบาท) ที่นี่ไม่มีน้ำขวดคราวนี้ข้ามทวีปมาที่ออสเตรเลียกันบ้าง มาดูปรากฏการณ์น่าสนใจที่เมืองบันดานูน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซีดนีย์ ประชากร (ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 2,500 คน) ของเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้เห็นร่วมกันว่าควรจะกำจัดสิ่งที่เรียกว่า “น้ำดื่มบรรจุขวด” ออกไปจากเมืองเสียที เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขั้นตอนการบรรจุขวดและการขนส่ง แต่ไม่ต้องกลัวว่าไปเที่ยวเมืองนี้แล้วจะไม่มีน้ำดื่มดับกระหายนะพี่น้อง เขามีขวดเปล่าเอาไว้ให้รองน้ำจากตู้กดน้ำที่ตั้งไว้ทั่วไปตามท้องถนนเอาไว้ดื่มกันให้เปรม ส่วนกับทางร้านค้านั้น เขาก็ไม่ได้บังคับขืนใจให้หยุดขายน้ำดื่มบรรจุขวดแต่อย่างใด ปล่อยให้เป็นความสมัครใจของร้านค้าต่างๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 50 ร้าน การรณรงค์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะมีบริษัทที่ชื่อว่า นอร์เล็กซ์ โฮลดิ้ง จะมาตั้งโรงงานเพื่อสูบเอาน้ำจากเมืองนี้แล้วส่งเข้าไปบรรจุขวดในโรงงานที่ซีดนีย์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 120 กิโลเมตร ผู้คนที่เมืองนี้คัดค้านแผนการดังกล่าว และขณะนี้บริษัทฯ ก็ยังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาล เป็นใครก็คงรับไม่ได้ ถ้าจะมีคนมาสูบน้ำไปจากบ้านเราแล้วเอาไปใส่ขวดกลับมาขายเราอีก การรณรงค์ของชาวเมืองบันดานูนนี้ถือว่าได้ผลทีเดียวเพราะรัฐนิวเซาท์เวลส์ก็รับลูกทันที ผู้ว่าการรัฐออกมาประกาศว่าต่อไปนี้ห้ามหน่วยงานของรัฐใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดเด็ดขาด คนออสซี่ก็ใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดไม่น้อย ถึงปีละ 500 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 13,000 กว่าล้านบาท) เลยทีเดียว ผู้หญิงเชิญตู้อื่น... นะครับใครจะไปนึกว่าวันหนึ่งคุณสุภาพบุรุษชาวญี่ปุ่นเขาจะออกมาเรียกร้องขอรถไฟตู้พิเศษสำหรับชายล้วน ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ต้องมีการเบียดเสียดกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เพราะว่ากลัวจะโดนผู้หญิงแต๊ะอั๋งหรอกนะ แต่เป็นเพราะไม่อยากถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคุณสุภาพสตรีมากกว่า ก็รถมันแน่นซะขนาดนั้น จะทำตัวล่องหนก็วิทยายุทธ์ยังไม่แก่กล้าพอ จากข้อมูลของตำรวจญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2550 มีคุณผู้ชายถูกจับข้อหาลวนลามสตรีเพศถึง 2,000 คนเลยทำให้บริษัทที่จัดการเรื่องรถไฟต้องมีการกำหนดให้ตู้โดยสารบางตู้เป็นเขตปลอดผู้ชาย ที่นี้เลยทำให้เกิดไอเดียสุดเจ๋งตามมา คือมีการขอตู้โดยสารสำหรับชายล้วนๆ บ้าง ผู้ที่เสนอไอเดียเรื่องตู้โดยสารสำหรับชายล้วนนี้ได้แก่ผู้ถือหุ้นจำนวนสิบคน (ข่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง) ของบริษัทเซบุ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟในเขตโตเกียว ที่เสนอทางออกในการแก้ปัญหาหลังจากที่บริษัทได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณผู้หญิงจำนวนมากว่าถูกลวนลาม และในขณะเดียวกันก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ชายที่ถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคนอื่นๆ ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ทำด้วย ว่าแล้วก็เลยเสนอว่าน่าจะจัดตู้พิเศษสำหรับชายล้วนด้วยมันถึงจะเท่าเทียม แต่คณะกรรมการเขาลงมติไม่รับข้อเสนอนี้ โดยให้เหตุผลว่าจนถึงขณะนี้มีผู้โดยสารชายออกมาโวยวายน้อยมาก ก็เลยต้องขอรบกวนให้นั่งตู้เดียวกับคุณผู้หญิงต่อไป งานนี้ไม่รู้ใครกลัวใครแล้ว ผิดด้วยหรือที่ไม่อยากโชว์แขน ร้านเสื้อผ้ายี่ห้อดัง อะเบอร์ครอมบี้แอนด์ฟิทช์ (Abercrombie & Fitch) ถูกพนักงานขายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 25,000 ปอนด์ หรือประมาณ 1.4 ล้านบาท โทษฐานที่เลือกปฏิบัติต่อเธอ พนักงานขายคนนี้ชื่อ เรียม ดีน เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน เธออายุ 22 ปีและใช้แขนเทียมมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ตอนแรกที่รับเธอเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขายนั้น ทางร้านอะเบอร์ครอมบี้ ในย่านหรูของลอนดอน อนุญาตให้ดีนใส่เสื้อแขนยาวเพื่อปกปิดแขนเทียมไว้ในขณะให้บริการลูกค้าได้ แต่ผ่านไปไม่กี่วันทางร้านก็บอกกับเธอว่าเธอต้องถอดเสื้อคลุมแขนยาวนั้นออกให้เหลือแต่เสื้อยืดตัวในเหมือนพนักงานคนอื่นๆ เมื่อเธอปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น จึงเท่ากับว่าเธอฝ่าฝืนนโยบายเรื่องการแต่งกายของบริษัท เธอจึงถูกย้ายเข้าไปทำงานในห้องเก็บสินค้า ทั้งนี้ผู้ใหญ่ของบริษัทให้เหตุผลว่าควรให้ดีนทำงานอยู่หลังร้านไปจนกว่าจะถึงฤดูหนาวที่พนักงานทุกจะได้ใส่เสื้อแขนยาวได้โดยไม่ผิดระเบียบ เมื่อมีข่าวเรื่องนี้ออกมา ทางร้านก็ปฏิเสธเสียงแข็งว่าดีนคงเข้าใจอะไรผิดไปแน่ๆ เพราะความจริงแล้วทางบริษัทมีนโยบายต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างแข็งขันเลยทีเดียวนะ แต่ดีนอาจจะเข้าใจถูกก็ได้ เพราะในปี พ.ศ. 2547 เพียงปีเดียว บริษัทนิว อัลบานี เจ้าของแบรนด์ดังกล่าว ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ก็เคยถูกฟ้องร้องเพราะการเลือกปฏิบัติ และต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานเป็นจำนวนถึง 50 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1,700 ล้านบาท) มาแล้ว อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดภายในปี พ.ศ. 2555 กว่า 1.3 ล้านครัวเรือนในนิวซีแลนด์ จะต้องติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้อยู่อาศัยกับบริษัทที่ให้บริการไฟฟ้า และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถประหยัดเงินค่าไฟได้ นี่ย่อมเป็นเรื่องดีเห็นๆ แต่ปัญหามันอยู่ที่รัฐบาลปล่อยให้บรรดาผู้ให้บริการไฟฟ้า (ซึ่งในนิวซีแลนด์มีอยู่ถึง 11 บริษัท) เป็นผู้ที่รับผิดชอบติดตั้งมิเตอร์เหล่านี้กันเอง โดยไม่มีการควบคุมดูแล แจน ไรท์ กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐสภานิวซีแลนด์ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้บรรดาผู้ประกอบการเหล่านั้น พยายามหลีกเลี่ยงการตั้งการทำงานของมิเตอร์ดังกล่าวในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งคุณไรท์ก็บอกว่าไม่น่าแปลกใจ เพราะการใช้ไฟมากขึ้นย่อมหมายถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ประกอบการนั่นเอง ความจริงแล้วมิเตอร์อัจฉริยะที่ว่านี้นอกจากจะทำให้บริษัทสามารถรู้ปริมาณการใช้ไฟของแต่ละครัวเรือนโดยไม่ต้องส่งคนมาเดินจดแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงินและสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าอัตราค่าไฟในขณะนั้นเป็นเท่าไร และช่วงไหนเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ากันมาก โดยไมโครชิพในมิเตอร์จะทำหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบอัจฉริยะที่จะมีออกมาจำหน่ายในอนาคตอันใกล้นี้ มิเตอร์ที่ว่าจะปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะได้โดยอัตโนมัติ ในช่วงที่มีการใช้ไฟสูง แต่บริษัทกลับไม่ได้ใส่ไมโครชิพที่ว่าให้กับมิเตอร์ที่กำลังติดตั้งกันอยู่ในขณะนี้ให้กับ 800,000 ครัวเรือน และมิเตอร์เหล่านั้นก็ไม่มีระบบแสดงข้อมูลตามเวลาจริงเพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้บริโภคด้วย เช่น บางคนอาจจะยังเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นในสระว่ายน้ำไว้เพราะไม่รู้ตัวว่าค่าไฟได้ขึ้นราคาไปแล้ว เป็นต้น คุณไรท์ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ติดตั้งไมโครชิพที่ว่านี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะออกมาขายทำไม และถ้าจะติดตั้งเพิ่มในภายหลังก็จะมีค่าใช้จ่ายอีกถึง 60 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์ (ประมาณ 1,300 ล้านบาท) อีกด้วย สรุปว่าถ้ารัฐบาลยิ่งปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคต้องติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดกันไปโดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 มาตรฐานขวดนมเด็ก: ถึงเวลาที่ผู้ปกครอง ต้องใส่ใจ

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ เด็กและทารก เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิมากที่สุด ปัจจุบันผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กในประเทศไทยนั้น ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานเฉพาะเพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็ก โดยเฉพาะการควบคุมปริมาณสารเคมีอันตรายที่ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก จึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อและคุณแม่จะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการเลือกซื้อ โดยจะขอยกตัวอย่างเรื่อง ขวดนม  เนื่องจากเด็กและทารกมีระดับความต้านทานต่อสารพิษได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวดกว่า การเพิ่มระดับการป้องกันในเชิงกฎหมายที่เข้มข้นกว่าสินค้าทั่วๆ ไปจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่การออกกฎหมายหรือมาตรฐานสินค้านั้นใช้เวลานานและไม่ทันต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บทความนี้จะกล่าวถึงผลิตภัณฑ์ประเภทขวดนมสำหรับเด็กและทารก ความเสี่ยงและอันตรายของสารเคมี Bisphenol A ที่ยุโรปมีออกมาตรการที่เข้มที่สุด คือ คำสั่งห้ามผลิต ห้ามและห้ามจำหน่าย การป้องกันอันตรายจากสารเคมี และผลข้างเคียงจากการใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ตลอดจนมาตรการในการจัดการของหลายๆ ประเทศ เรื่องความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทขวดนมเด็ก ซึ่งหลายๆประเทศ ได้ห้ามการจำหน่ายสินค้าประเภทขวดนมเด็ก หากตรวจพบสารเคมี Bisphenol A  จริงๆ แล้ว องค์กรผู้บริโภคในประเทศยุโรปได้เรียกร้องให้มีการสั่งห้ามผลิต และห้ามขายขวดนมที่มีสาร Bisphenol A มานานแล้ว จนกระทั่งในระดับประเทศ คือ ประเทศฝรั่งเศส และ เดนมาร์ค เป็นประเทศแรกๆ ที่ได้เริ่มสั่งห้ามผลิต ห้ามจำหน่ายก่อน และในที่สุดกรรมาธิการยุโรปด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เกรงว่าจะเกิดการลักลั่นกัน ในประเทศสมาชิก จึงได้มีคำสั่งห้ามผลิต ห้ามจำหน่ายในประเทศสมาชิกอียูตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554  สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่มีการจัดการอย่างเป็นรูปธรรมกับผลิตภัณฑ์ประเภทขวดนมสำหรับเด็กนี้ ซึ่งในเบื้องต้นจะต้องมีการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนและชุมชน เพื่อหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่อาจมีสารเคมีอันตรายแอบแฝงอยู่ และสำหรับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องควรเข้ามามีบทบาทในการจัดการอย่างรีบด่วนที่สุด เพื่อยกระดับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ และเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ และเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศไทย   Bisphenol A ภัยร้ายในขวดนมบิสฟีนอลเอ (Bisphenol A) เป็นสารเคมีที่ใช้กันทั่วไปในการผลิตโพลีคาร์บอเนต หรือพลาสติกแบบใส เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ 50 อันดับแรกที่ผลิตโดยอุตสาหกรรมปิโตรเคมี บิสฟีนอลเอ พบได้ในสินค้าบริโภคหลากหลายชนิดรวมถึงขวดนมพลาสติกแบบใส ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านและเพื่อการบริโภคอีกหลายสิบชนิดที่มีสารบิสฟีนอลเอ เช่น ขวดน้ำที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้บางประเภท กล่องบรรจุอาหารที่ใช้ในไมโครเวฟได้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ หมวกกันน็อคใส่เล่นกีฬา เลนส์แว่นตา ฯลฯ ยังพบ บิสฟีนอลเอ ได้ใน อีพ็อกซี่เรซิน ที่พบในวัสดุอุดฟันสีขาว วงจรพิมพ์สีทาบ้าน กาว สารเคลือบในกระป๋องโลหะที่บรรจุอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้ ยังพบว่า บิสฟีนอลเอ เป็นสารเจือปนในพลาสติกประเภทอื่นที่ใช้ในการผลิตของเล่นเด็กด้วย   บิสฟีนอลเอก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างไร จากการศึกษาและรายงานผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากการได้รับ บิสฟีนอลเอ แสดงให้เห็นว่า บิสฟีนอลเอ สามารถเปลี่ยนแปลงหน่วยพันธุกรรมหลายร้อยหน่วย ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื้อเยื่อบางชนิดและขึ้นอยู่กับจำนวนเวลาที่ได้รับ อีกทั้งการศึกษาในสัตว์ทดลองมากกว่า 150 ชนิด บ่งชี้ว่าการได้รับ บิสฟีนอลเอ มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพมากมาย รวมถึงมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านม ภาวะอ้วนผิดปกติ ภาวะไม่อยู่นิ่ง เบาหวาน ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง จำนวนอสุจิลดลง และการเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าปกติ   กลุ่มเสี่ยงคือ เด็ก เด็กที่กำลังเจริญเติบโตมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารเคมีเป็นพิษในสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะตามธรรมชาติของเด็กมักจะมีความรู้สึกไวต่อสิ่งเหล่านั้น เด็กได้รับสารตั้งแต่อยู่ในครรภ์ผ่านรกในร่างกายของมารดาที่ตั้งครรภ์ได้ มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดการได้รับสาร บิสฟีนอลเอ ระหว่างช่วงที่มีพัฒนาการจะไม่แสดงออกมาในขณะนั้น แต่จะปรากฏอาการภายหลังการได้รับสารดังกล่าวหลายปี ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการป้องกันเด็กไม่ให้เด็กได้รับสาร บิสฟีนอลเอ จากผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาใช้อยู่ทุกวัน   บิสฟีนอลเอสามารถก่อให้เกิดความผิดพลาดในการเรียงโครโมโซม บิสฟีนอลเอเป็นที่รู้จักกันมากยิ่งขึ้นในฐานะที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การเรียง โครโมโซมผิดพลาด ในปี 2003 ดร.แพท ฮันท์ และทีมงานได้ค้นพบว่า บิสฟีนอลเอ สามารถทำให้โครโมโซมเรียงตัวกันผิดพลาดได้ ถึงแม้จะได้รับในปริมาณที่ต่ำมากก็ตาม โดยปกติเซลล์สืบพันธุ์จะแบ่งเป็นสองเซลล์เมื่อสร้างไข่ แล้วแบ่งโครโมโซมเท่าๆ กันระหว่างเซลล์ลูกแต่ละเซลล์ เซลล์พวกนี้สามารถเข้าสู่กระบวนการสืบพันธุ์ และเมื่อผสมกับอสุจิ จะเกิดการปฏิสนธิขึ้น ดร.ฮันท์ แสดงให้เห็นว่าการได้รับ บิสฟีนอลเอ จะส่งผลให้โครโมโซมไม่สามารถจัดเรียงอย่างถูกต้อง ส่งผลให้การเรียงลำดับโครโมโซมผิดพลาดคล้ายกับที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome)    ขัดขวางพัฒนาการทางสมอง ในการศึกษาส่วนมาก พบว่า บิสฟีนอลเอเลียนแบบการทำงานของเอสโตรเจนในการพัฒนาประสาท อย่างไรก็ตาม ในบางส่วนของสมอง บิสฟีนอลเอ มีผลในการขัดขวางกิจกรรมของเอสโตรเจน ซึ่งปกติจะเพิ่มการเจริญเติบโตและควบคุมการเชื่อมโยงระหว่างเส้นประสาทด้วยเหตุนี้ บิสฟีนอลเอจึงมีสมบัติคล้ายคลึงกับ ทาม็อกซิเฟน ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งเต้านม คือกระตุ้นการตอบสนองแบบเอสโตรเจนในเนื้อเยื่อบางประเภท และขัดขวางการตอบสนองแบบเอสโตรเจนในเนื้อเยื่ออื่นๆ จะเห็นได้ว่าผลกระทบจากบิสฟีนอลเอ คือ สารบิสฟีนอลเอ เป็นตัวขัดขวางการเรียนรู้และความทรงจำ นอกจากนี้ บิสฟีนอลเอยังมีผลกระทบต่อการพัฒนาสมองหรือทำให้เกิดการเชื่อมโยงในสมองในเวลาที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้น จากการที่บิสฟีนอล เอเปลี่ยนแปลงพัฒนาการของสมอง จึงนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงมากมาย เช่น   ภาวะไม่อยู่นิ่ง : ดร.มาซาโตชิ โมริตะและทีมงานที่สถาบันศึกษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติญี่ปุ่น รายงานว่า การให้สารบิสฟีนอลเอ 30 g/kg/วัน กับหนูอายุ 5 วันเพียงครั้งเดียว ทำให้หนูมีพฤติกรรมไม่อยู่นิ่งนักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกว่าการได้รับสารบิสฟีนอลเอ เปลี่ยนแปลงระบบส่งสัญญาณโดปามีนที่พัฒนาในเซลล์สมอง ส่งผลให้ตัวรับและตัวส่งโดปามีนน้อยลง โดปามีนเป็นตัวส่งสัญญาณประสาทที่สำคัญในสมอง และการสูญเสียประสาทที่ผลิตโดปามีนเกิดขึ้นในโรคพาร์กินสัน เพิ่มความก้าวร้าว : การได้รับสารบิสฟีนอลเอที่ปริมาณ 2 – 40 g/kg/วัน ทำให้ทารกหนูเพศผู้ในครรภ์มีพฤติกรรมก้าวร้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการที่ความเข้มข้นของเทสโทสเตอโรนเพิ่มขึ้น   บทสรุปและข้อเสนอแนะ ปัจจุบันผู้บริโภคมีข้อมูลไม่มากนักที่จะช่วยประกอบการตัดสินใจเวลาซื้อสินค้าสำหรับครอบครัว  การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและผลิตภัณฑ์เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยคุ้มครองสุขภาพและสามารถเลือกใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย  ในส่วนของผู้ผลิตเองควรมีการติดฉลากในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ถ้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีสารเคมีที่เป็นอันตรายหรือมีศักยภาพที่จะเป็นอันตรายเป็นส่วนประกอบ นอกเหนือจากการระบุชื่อส่วนผสมที่เป็นอันตรายหรืออาจเป็นอันตรายแล้ว ความเสี่ยงทางสุขภาพที่เกี่ยวกับสารเคมีดังกล่าวควรจะมีการอธิบายไว้บนผลิตภัณฑ์ด้วย   ในหลายประเทศได้มีการตระหนักถึงอันตรายที่แอบแฝงอยู่ของ บิสฟีนอลเอ จนมีมาตรการออกมาหลายอย่าง เช่น คณะกรรมาธิการด้านนโยบายสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ออกประกาศห้ามบริษัทผู้ผลิตขวดนมสำหรับเด็กใช้สารเคมีบิสเฟอนอล-เอ (บีพีเอ) เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าพลาสติกทั้งหมด โดยประกาศห้ามจะมีผลบังคับใช้ในกลุ่มประเทศสมาชิกอียูตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 เป็นต้นไป องค์การการกุศลด้านเด็กและครอบครัว (NCT) ประเทศอังกฤษ ออกมาเรียกร้องให้ติดป้ายแสดงส่วนประกอบที่ใช้ผลิตขวดนมว่ามีสารพิษที่เป็นอันตรายหรือไม่ เป็นต้น   สำหรับในประเทศไทยเองเริ่มมีการตื่นตัวเกี่ยวกับอันตรายที่แอบแฝงอยู่ในขวดนมพลาสติกขึ้นมาบ้าง  องค์กรภาครัฐเริ่มขยับ แต่ถ้ามองจากผู้บริโภค และผู้ปกครองแล้ว กว่าจะมีประกาศห้ามผลิตและห้ามจำหน่ายนั้น คงจะใช้เวลาอีกนาน  ดังนั้นการเลือกซื้อขวดนม ขอให้เลือกจากผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากว่า ปลอด Bisphenol A อย่าเห็นแกของถูก ควรศึกษาหาความรู้ในด้านวิธีการใช้งานขวดนมพลาสติกที่ถูกต้องและปลอดภัย จากแหล่งข้อมูล ที่เชื่อถือได้ และคำนึงถึงการคุ้มครองสุขภาพสวัสดิภาพของเด็กมากกว่าประโยชน์ทางการค้า ก็จะช่วยเด็กไทยให้มีความปลอดภัยจากสารเคมี   ---------------------------------------------------------------------------------------------- การเลือกขวดใช้ขวดนมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กควรเลือกขวดนมพลาสติกที่ปราศจาก Bisphenol A ซึ่งจะมีสัญลักษณ์ ตามรูป หรือขวดนมแก้ว ขวดนมพลาสติกเกือบทั้งหมดผลิตจากโพลีคาร์บอเนตพลาสติกที่มี บิสฟีนอลเอ เพียงแค่การล้าง 50-100 ครั้ง ปริมาณของบิสฟีนอลเอ จำนวนมากสามารถรั่วออกมาปนเปื้อนสู่นมของเด็กเล็กๆ ได้ วิธีการหลีกเลี่ยง คือ เปลี่ยนไปใช้ขวดนมแก้วสำหรับการใช้งานของทารก หากยังจำเป็นต้องใช้ขวดนมพลาสติก เวลาที่จะล้างทำความสะอาดให้หลีกเลี่ยงน้ำยาล้างจานที่ความเข้มข้นสูง หรือน้ำร้อนเวลาที่ล้าง เพื่อลดการรั่วไหลของสาร BPA อย่าใส่ขวดนม บรรจุภัณฑ์หรือ ในเครื่องล้างจาน และให้ทิ้งขวดนม บรรจุภัณฑ์หรือจานชามพลาสติกที่เริ่มมีรอยขีดข่วนหรือขุ่นมัว และห้ามทิ้งนมไว้ในขวดพลาสติกเป็นเวลานาน บทความนี้ ได้จัดทำขึ้น ภายใต้โครงการพัฒนาเวบไซต์ เพื่อการทดสอบสินค้า ศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และอนุกรรมการทดสอบและพิสูจน์สินค้า  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point