ฉบับที่ 161 รถหาย! ถูกฟ้องเรียกค่ากุญแจ

พี่คะ  “แม่หนูถูกฟ้อง  ทำยังไงดี ”   คำถามของคุณจิราภรณ์ ที่ซื้อรถยนต์มือสอง ยี่ห้อ TOYOTA ซึ่งจัดไฟแนนท์กับ  กับบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) โดยใช้ชื่อคุณแม่ เพราะตนเองเพิ่งทำงานและพักอยู่กับแม่ที่ ปทุมธานี  ปลายปี 54  เกิดวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้ต้องอพยพทั้งข้าวของและรถยนต์มาพักบ้านพี่สาวแถวงามวงศ์วาน ทำให้บ้านคับแคบข้าวของต้องวางไว้นอกบ้าน จนจอดรถไม่ได้  เลยต้องนำรถไปจอดไว้ข้างทาง เหมือนที่ชาวบ้านทั่วไปเค้าจอดกัน  โดยล็อกพวงมาลัย ล็อกเบรก และล็อกกุญแจประตูรถยนต์  ตามที่จะสามารถล็อกได้ จอดไว้ได้ประมาณเกือบปี  รถหาย!ในวันเดียวกันกับที่ทราบเรื่อง น้องรีบพาแม่ไปแจ้งความ  ตำรวจแนะนำให้ไปขอหนังสือมอบอำนาจเพราะไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์รถแจ้งความเองไม่ได้  ตนเองกับแม่ก็รีบไปขอหนังสือฉบับนั้นทันที  แล้วรีบมาดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ตำรวจทำคดีอีกครั้ง จัดการเรื่องนี้เสร็จก็ทำหนังสือถึงไฟแนนท์ขอหยุดชำระทันที  ถูกไฟแนนท์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมไปอีก 500  บาท ตนเองเสียดายรถยังคิดที่จะตามหารถ โดยโพสต์ Facebook บ้าง ไปตามที่มีแหล่งข่าวว่ารถน่าจะถูกขายแถวไหนบ้าง ก็ไม่พบ เรื่องเงียบหายไปปีกว่า  อยู่ๆ แม่ก็ได้รับหมายศาลถูกไฟแนนท์ฟ้องเป็นจำเลย คดีผิดสัญญา  ไฟแนนท์เรียกให้คืนรถ หรือคืนเงิน  ชาวบ้านอย่างเรา จะสู้เค้ายังไง  มีแต่กุญแจ ไม่มีรถ  ไม่มีเงิน  จะหาทนายช่วยอย่างไร  ได้มาปรึกษากับมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหา เนื่องจากพยานหลักฐานของผู้ร้อง ที่มีอยู่ครบถ้วน  เช่น หลักฐานการแจ้งความที่มีรายละเอียดครบถ้วน, หนังสือบอกกล่าวให้บริษัท อยุธยาฯ  รับทราบว่ารถหายไม่ขอชำระค่างวด และใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมการหยุดใช้รถ ภาพถ่ายต่างๆ เช่น การโพสต์ใน Facebook เพื่อตามหารถยนต์ของตนเอง สถานที่จอดรถ เป็นต้น   โดยแนวทางการต่อสู้คดีนั้น ชี้ให้เห็นว่า “รถหายมิได้เกิดจากความประมาทของผู้ซื้อ  และผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับหรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายหรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร” อีกทั้งบริษัทฯ ทราบดีอยู่แล้วว่ารถยนต์คันเช่าซื้อสูญหายไป โดยการแจ้งของผู้ร้อง ตามหลักฐานที่ผู้ร้องมี แล้วยังนำคดีมาฟ้อง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม คดีนี้ได้ขอให้ศาลยกฟ้อง    ภายหลังการพิจารณาคดี  ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง คดีนี้บริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์   คงต้องตามกันต่อไปว่าจะสิ้นสุดอย่างไร //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 รถใหม่ป้ายแดง ใช้ได้แค่ 6 เดือน กุญแจพัง!

ข่าวครึกโครมกรณี  รถยนต์ยี่ห้อดัง  เชฟโรเลต รุ่นครูซ ที่ผลิตปี 2011-2012 เกียร์พัง   ทำให้ คุณสุษมา  โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเช่นกัน ว่าตนได้รับความเสียหายจากการใช้รถยนต์ยี่ห้อนี้เหมือนกัน  แต่เป็นรุ่นแคปติวา  ผลิตปี 2013 ที่ใช้ชื่อพี่ชายเป็นผู้ซื้อมาตั้งแต่เดือนเมษายน 56  ในงานมอเตอร์โชว์ และซื้อเป็นเงินสดถึงหนึ่งล้านหกแสนกว่าบาทรถยนต์ใช้ไปได้ประมาณ  6  เดือน  คุณสุษมาขับรถไปทำธุระ พอจะขับรถกลับบ้าน  เปิดรีโมทกุญแจพบว่า ไม่ปลดล็อก  จึงใช้กุญแจไขเข้าไป แต่กลับใช้กุญแจสตาร์ทรถไม่ได้ และมีไฟสัญลักษณ์ต่างขึ้นบนหน้าปัดรถเต็มไปหมด  จึงโทรเรียก Call Center 1734บริษัทฯ รีบส่งทีมช่างมาตรวจ แต่แก้ไขไม่ได้   จึงส่งเข้าศูนย์บริการสาขาแจ้งวัฒนะในวันรุ่งขึ้น   ช่างที่ศูนย์ตรวจสอบ  3 สัปดาห์ หาสาเหตุไม่พบ   ศูนย์ได้ประสานให้ช่างจากสำนักงานใหญ่มาตรวจสอบ ได้ทำการรื้อเบาะและคอนโซลรถออกทั้งหมด  จึงพบว่า ชุดสายไฟที่อยู่ด้านล่างมีปัญหา(น่าจะเกิดจากความบกพร่องของวัสดุสายไฟและจากการผลิตรถยนต์)“ดิฉันได้สอบถามที่ Call Center   ทางนั้นชี้แจงว่ามีการสั่งอะไหล่จากศูนย์ฯ แล้ว แต่ยังไม่มีกำหนดส่งให้ศูนย์ฯ  ดิฉันก็พยายามติดต่อกับบริษัทอีกหลายครั้ง(เพราะรถต้องใช้งาน) ทั้งทางโทรศัพท์และทำหนังสือสอบถามและเร่งให้ดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมส่งทางเมล์  ไม่ได้รับการติดต่อกลับหรือมีความคืบหน้าใดๆ เลย” ล่าสุดประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 57  ได้รับแจ้งว่า ซ่อมระบบไฟแล้ว แต่เมื่อใส่เบาะกลับไปพบว่าสตาร์ทไม่ติดอีก  คุณสุษมาจึงขอให้บริษัทส่งรถทดแทนให้ใช้  แต่สุดท้ายต้องนำไปคืนเพราะรถเบรกไม่อยู่ เหตุการณ์นี้นอกจากจะมีความรู้สึกที่แย่กับการให้บริการของบริษัท ยังสร้างความเสียหายให้แก่คุณสุษมาเป็นอย่างมาก  จนอยากให้บริษัทซื้อรถคืนไป การแก้ไขปัญหาเมื่อมูลนิธิฯ ได้รับโทรศัพท์จากผู้ร้อง จึงแนะนำให้ผู้ร้องเก็บหลักฐานการซ่อมรถและทำหนังสือถึงศูนย์บริการสาขาแจ้งวัฒนะสอบถามว่า เหตุใดจึงซ่อมไม่ได้  เสียเพราะอะไร  และเชิญผู้ร้องมาที่ศูนย์พิทักษ์เพื่อพูดคุยและสอบถามถึงวัตถุประสงค์ว่าต้องการเรียกร้องอย่างไร  ซึ่งผู้ร้องและพี่ชายเข้ามาที่มูลนิธิฯ ขอให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย   โดยผู้ร้องยังประสงค์ใช้รถต่อ  แต่ขอให้บริษัทขยายการรับประกันเป็น 7 ปี หรือ 200,000 กม. จ่ายค่าชดเชยที่ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์วันละ 1,500 บาทหลังการเจรจาไกล่เกลี่ย  คุณสุษมายอมรับข้อเสนอของบริษัทฯ ที่ยอมขยายระยะเวลารับประกันเป็น 5 ปีหรือ 150,000  กม. แล้วแต่เงื่อนไขใดถึงก่อน และได้รับเงินชดเชยค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ เดือนละ 35,000  บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงิน 105,000 บาทก็ต้องขอขอบคุณบริษัทฯ ที่มองเห็นความสำคัญและพร้อมแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค //

อ่านเพิ่มเติม >