ฉบับที่ 129 ร่วมฝ่าวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ไปด้วยกัน

  “ผมว่าน้ำท่วมครั้งนี้ พวกเราใช้โอกาสเปลืองนะ เราพยายามกันน้ำทุกอย่าง กัน กัน และกันหมด กันจนน้ำไม่มีที่ไป แล้วน้ำในปริมาณเยอะก็เหมือนกับคอขวด ที่พยายามบีบให้ไปตามทางที่จำกัดไว้ แต่น้ำที่เห็นไม่ใช่น้ำในขวด น้ำก็จะหาทางลงสู่ที่ต่ำโดยการไปตามคลอง ไปตามท่อน้ำ ผุดขึ้นมาตามท่อบ้าง...” ฉลาดซื้อคราวนี้เราจะมาคุยกับ คุณกำชัย น้อยบรรจง  ชายหนุ่มจากเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสระบุรี ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง และอีกฐานะหนึ่งคือ อาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งจะได้สะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาโดยกำลังของอาสาสมัครคนหนึ่งที่เปี่ยมด้วยจิตอาสา ผู้ประสบภัยกลายเป็นผู้ให้“ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ประสบภัย ไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้นะ ทั้งที่มันไม่น่าท่วม อย่างปีก่อนไปช่วยที่นครราชสีมาซึ่งสูงกว่าสระบุรี  ช่วยเหลือเครือข่ายผู้บริโภคลพบุรี  น้ำท่วมที่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเหมือนโบราณ ไม่ใช่น้ำหลาก ที่คนโบราณมีภูมิปัญญาโบราณในการตั้งรับทั้งการดำเนินชีวิต การกิน การอยู่ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่  ส่วนหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือการก่อสร้างบ้านเรือนขวางทางน้ำ และการจัดการน้ำไม่เป็นระบบ” กำชัยให้ความเห็นในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่งของประเทศ  และจากบทเรียนการให้ความช่วยเหลือพี่น้องในปีที่ผ่านมา ทำให้เขามองเห็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ควรจะทำเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุดก็คือ “ระบบเครือข่าย” และ “อาสาสมัคร” “ระบบการลำเลียงของช่วยเหลือผู้ประสบภัยเราใช้ระบบเครือข่าย และอาสาสมัครในพื้นที่ อาสาสมัครส่วนหนึ่งก็เป็นอาสาสมัครที่เราทำงานในแต่ประเด็น เช่นในจังหวัดสิงห์บุรี เราก็ได้อาสาสมัครที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็นอาสาสมัคร ช่วยประสานงานในพื้นที่ และส่งข้อมูลเข้ามาให้เราว่าในพื้นที่เป็นอย่างไร  ทีมงานของเราและอาสาสมัครก็จะประเมินสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือว่าในส่วนของภาครัฐ ให้การช่วยเหลือถึงไหม หรือความช่วยเหลือเข้าไปเฉพาะบางจุด การให้ความช่วยเหลือเราก็ค่อยๆ เรียนรู้เหมือนกันนะ ช่วงแรกเราจะช่วยเหลือผู้อพยพตามศูนย์ผู้ประสบภัย เพราะเราเชื่อมั่นว่าหน่วยงานราชการไม่น่าจะตกสำรวจ แต่พอเราเข้าไปดูเราก็เห็นข้อจำกัด อย่างบางศูนย์ฯ รับคนได้ 500 คน พอคนเกินก็เกิดความแออัด  ผู้เดือดร้อนบางคนไม่ยอมออกมาเพราะความเป็นห่วงของในบ้าน หรือคนแก่ไม่ยอมออกจากบ้าน”   อาสาสมัครมีใจอย่างเดียวไม่พอเมื่อเริ่มเรียนรู้ ทีมงานของกำชัยก็กลับมาพูดคุย แลกเปลี่ยนถึงแนวทางและบทบาทการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่ออุดช่องโหว่ของรัฐในการให้ความช่วยเหลือ “พอเราเห็นช่องโหว่ก็กลับมาคุยกันในทีมทำงานในจังหวัดว่า ‘บทบาทของเราในการให้ความช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร’ ต้องบอกว่านะว่าอาสาสมัครแค่มีใจอย่างเดียวไม่พอนะ หนึ่งต้องมีเพื่อน สองต้องหาของไปช่วย สามต้องรู้ความต้องการของผู้ประสบภัย จริงไหม น้ำ ข้าวสาร อาหารแห้งไว้ให้พวกเขาได้ใช้หุงหาเองได้ เพราะแต่ละพื้นที่แตกต่าง เราเริ่มที่จังหวัดสระบุรีก่อน ที่ดอนพุดซึ่งหนักมากนะ หลังจากนั้นเราก็เริ่มประสานงานกับเครือข่ายผู้บริโภคในแต่ละจังหวัดและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในส่วนที่ความช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึงได้จริง  ส่วนตัวผมนะ ผมมองว่าถึงกลุ่มเป้าหมายนะ เพราะพื้นที่ที่เราจะเข้าไปต้องขนของใส่รถทหาร ไปถ่ายใส่รถอีแต๋น ไปถ่ายของลงเรือและนั่งเรืออีก 2 – 3 ชั่วโมง เข้าไป 20 กิโลเมตร ทำให้เราเห็นว่าคนที่ตกสำรวจจริงๆมันมีเยอะ และเข้าไม่ถึงทรัพยากร เข้าไม่ถึงน้ำใจคนที่ร่วมบริจาคมาให้มีอีกเยอะ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าการบริหารจัดการคน การบริหารจัดการของบริจาค ของหน่วยงานรัฐเข้าถึงผู้ประสบภัยแค่ไหน” กำชัยและทีมงานเป็นตัวประสานงานในการจัดหาของบริจาค ทั้งน้ำ ถุงยังชีพจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ข้าวสารจากชาวบ้าน ร่วมกับทีมทำงานช่วยกันแพ็กถุงยังชีพ บ้างก็ทำอาหารกล่องไปให้กับพี่น้องเครือข่ายผู้บริโภคที่จังหวัดสิงห์บุรี ลพบุรี ชัยนาท ปทุมธานี นอกจากนี้แล้วยังช่วยส่งน้ำ ให้กับเครือข่ายผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครอีกด้วย “ถ้าเทียบการจัดการถึงพื้นที่ต้องบอกว่าภาคประชาชนทำงานได้คล่องตัวกว่ารัฐบาล แต่ถ้าจะต้องช่วยอีกให้ปีต่อๆไป ต้องมาวางแผนให้ชัด วางจังหวะ และจัดการความรู้ในการแก้ปัญหา อย่างในเครือข่ายผู้บริโภคที่เกิดปัญหาจะต้องรับมืออย่างไร  ที่ตามมาก็คือเครือข่ายฯจะช่วยเพื่อน ช่วยชาวบ้านได้อย่างไร เหมือนกับการขยายเครือข่ายความร่วมมือในหลายๆเครือข่ายก้าวไปพร้อมๆกัน ไม่ต้องรอคอยหน่วยงานรัฐว่าจะมาแจกของเมื่อไร ต้องเตรียมครับ ฟันธงว่า ‘มีแน่นอน’”   แก้ปัญหาน้ำต้องให้คนรู้มาทำกรมชลประทานต้องบริหารงานน้ำให้เป็น ถ้าสอบผมว่าก็ตก การให้ข้อมูลกับประชาชนโดยหลักที่นานาประเทศใช้ก็คือสันนิษฐาน ถึงความเร็วร้ายที่สุดที่มันจะเกิด  และวางแผนรับว่าถ้ามันเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะมีแผงการตั้งรับแบบไหน ควรที่จะบอกประชาชนอย่างไร เขื่อนกำลังจะแตก น้ำจะไหลไปทางไหน ประชาชนจะต้องอพยพไปตรงไหน น้ำท่วมขนาดนี้คุณจะอยู่ได้กี่วัน จะต้องเตรียมตัวอย่างไร คือมันต้องชัดเจนในการให้คำตอบกับประชาชน ผมว่าน้ำท่วมครั้งนี้ พวกเราใช้โอกาสเปลืองนะ เราพยายามกันน้ำทุกอย่าง กัน กัน และกันหมด กันจนน้ำไม่มีที่ไป แล้วน้ำในปริมาณเยอะก็เหมือนกับคอขวด ที่พยายามบีบให้ไปตามทางที่จำกัดไว้ แต่น้ำที่เห็นไม่ใช่น้ำในขวด น้ำก็จะหาทางลงสู่ที่ต่ำโดยการไปตามคลอง ไปตามท่อน้ำ ผุดขึ้นมาตามท่อบ้าง น้ำท่วมครั้งนี้ผมไม่ถือว่าเป็นอุทกภัยนะผมมองว่าเป็นการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด จากคะแนนเต็ม 10 ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ผมให้ 4 นะ มีอย่างที่ไหนเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแต่กลับต้องมาย้ายหนีน้ำ แบบนี้มีที่ไหน ชาวบ้านหรือโดยเฉพาะชาวกรุงเทพต้องการความเชื่อมั่นนะ เปรียบเทียบง่ายๆ ประเทศญี่ปุ่น ถูกสึนามิ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่ว  เขาก็ให้ความเชื่อมั่นรัฐบาลว่าจะต้องแก้ไขได้ เขาก็ยอมอพยพ ถ้าเทียบความเชื่อมั่นในบ้านเราก็อาจจะเทียบกันไม่ได้เลย ผมว่าการบริหารจัดการน้ำต้องเป็นคนที่รู้และเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำเข้ามาจัดการและควรทำให้รวดเร็ว   อยู่ย้อนยุคกำชัยสะท้อนถึงการใช้ชีวิตหลังน้ำท่วมว่าควรที่จะกลับมาใช้ชีวิตแบบไม่ทำร้ายธรรมชาติ กลับมาใช้วิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน “ส่วนตัวผมนะผมว่าพวกเราต้องให้ความสำคัญกับการหันกลับมาใส่ใจวิถีการบริโภคที่ยั่งยืน การบริโภคที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติ ไม่ทำประเทศ บริโภคอย่างรู้จักความว่าพอ ไม่ใช่เป็นอย่างทุกวันนี้ ซึ่งก็จะนำไปสู่แผนพัฒนาประเทศต่อไปว่าควรจะเป็นไปในทิศทางไหน ถ้าสมมุติว่ารัฐบาลจะมีแผนพัฒนาประเทศต่อไปในระบบแบบอุตสาหกรรม ก็ต้องมีการวางแผนที่จัดการกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติและทางน้ำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก

อ่านเพิ่มเติม >