ฉบับที่ 230 ชีวิตหลัง โควิด 19

        วิกฤติ โคโรน่าไวรัส โรคระบาดที่ล็อคดาวน์ ชีวิตผู้คน ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของทุกคนถ้วนหน้า คนกลุ่มหนึ่งตกงานทันทีในวันรุ่งขึ้น เพราะเป็นลูกจ้างรายวัน หรือบริษัทปิดตัวลงเพราะไม่สามารถให้บริการได้ หรือบางกิจการไม่อนุญาตให้เปิดบริการเพราะมีปัญหาการควบคุมโรค หรือบางกิจการได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น การท่องเที่ยว มีการคาดการณ์ว่า มีคนตกงานไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา        การใช้ชีวิตผู้คนผูกติดกับเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งการสั่งของ สั่งอาหาร หรือการทำงานจากบ้าน WFH ที่ต้องพึ่งพิงระบบดิจิทัลมากขึ้น ทั้งที่ในอดีตมักปฏิเสธและอาจจะทำไม่ได้ง่ายนัก        หลายชุมชนหรือกลุ่ม ที่ผ่านมา ได้มีการสนับสนุนกันและกัน มีบทเรียนของการเตรียมพร้อมรับมือเพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเครือข่ายชุมชนแออัด มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก สวนผักคนเมือง มูลนิธิสุขภาพไทย สนับสนุนให้เกิดการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร เกิดความมั่นคงด้านอาหารหากเกิดวิกฤติในครั้งต่อไป        หรือกลุ่มชาวเล หาดราไวย์ ภูเก็ต ส่งปลาแลกข้าวกับชาวนา จังหวัดยโสธรร “ชาวเลมีปลา ชาวนามีข้าว สนับสนุนโดยมูลนิธิชุมชนไทยและสมาคมชาวยโสธร        หลายคนที่อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ คงเห็นตรงกันว่า ชีวิตที่เรียบง่ายเมื่อ WFH  เราใช้เสื้อผ้าอยู่ 2 ชุด ชุดนอน กับชุดอยู่บ้านสบายๆ  ตามสไตล์ของแต่ละคน หรือใส่เสื้อผ้าอยู่ไม่กี่ตัว ตัวที่ชอบก็ไม่ได้มีมากมาย        แล้วเราจะอยู่อย่างไร หลังโควิด 19 ที่ดูจะอยู่กับเรานาน และไม่ได้ไปง่าย ๆ เป็นคำถามสำคัญที่เราเหล่าผู้บริโภคต้องช่วยกันหาคำตอบ        ถึงแม้การคาดการณ์โรคยังคงต้องอาศัยวิชาการ แต่การควบคุมโรคต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของประชาชนเป็นสำคัญ การอยู่ร่วมกันต้องไม่รังเกียจกลัวซึ่งกันและกัน จนเกิดความรุนแรง เราต่างต้องคิดว่า เราอาจจะติดเชื้อ ถ้ายังไม่เคยตรวจ หรือแม้แต่ตรวจแล้วผลเป็นลบ อาจจะไม่ได้ลบจริง อยู่ในช่วงฟักตัว  ต้องป้องกัน ไม่ให้ระบาดมากขึ้น เราจะอยู่อย่างไรที่เป็นมิตรกับคนติดเชื้อ ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้ยินข่าว ลูกไม่ยอมส่งพ่อแม่ไปโรงพยาบาล พี่น้อง คนในชุมชน คนในคอนโดมิเนียมเดียวกัน ฟ้องคดีกัน เพราะกลัวคนที่ติดเชื้อ        สิ่งดีที่เกิดขึ้นในทุกจังหวัดที่ผ่านมา คือการกระจายอำนาจในการจัดการป้องกันโรค ทำให้เกิดความตื่นตัวของประชาชนในทุกจังหวัด ร่วมมือกันในการควบคุมโรค สนับสนุนกันและกันในทุกจังหวัด ซึ่งน่าเป็นโอกาสให้จังหวัดได้ตัดสินใจเพิ่มกิจกรรมเศรษฐกิจหรือกิจกรรมพึ่งตนเองของชุมชน จังหวัด รวมทั้งกิจกรรมเศรษฐกิจของกลุ่มต่างๆ เพราะการค้าขายต่างๆ ไม่น่าจะเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป        ความสำคัญในชีวิต คงไม่พ้นความจำเป็นพื้นฐาน อาหาร แต่ละชุมชน จังหวัดจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านอาหารอย่างไรในจังหวัดของตนเอง ชุมชนของตนเอง        ปัญหาความยากจน ระบบสวัสดิการทางสังคม จะถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วอย่างไร เพื่อแก้จุดอ่อนของระบบตรวจสอบความยากจน ตรวจสอบการทำงาน ตรวจสอบอาชีพ แต่เป็นระบบสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อให้ทันการเยียวยาในช่วงที่ทุกข์ยากได้อย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้ไม่น่าจะเกินกำลังความสามารถของผู้บริโภคเช่นเรา

อ่านเพิ่มเติม >