ฉบับที่ 230 ชีวิตหลัง โควิด 19

        วิกฤติ โคโรน่าไวรัส โรคระบาดที่ล็อคดาวน์ ชีวิตผู้คน ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของทุกคนถ้วนหน้า คนกลุ่มหนึ่งตกงานทันทีในวันรุ่งขึ้น เพราะเป็นลูกจ้างรายวัน หรือบริษัทปิดตัวลงเพราะไม่สามารถให้บริการได้ หรือบางกิจการไม่อนุญาตให้เปิดบริการเพราะมีปัญหาการควบคุมโรค หรือบางกิจการได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น การท่องเที่ยว มีการคาดการณ์ว่า มีคนตกงานไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา        การใช้ชีวิตผู้คนผูกติดกับเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งการสั่งของ สั่งอาหาร หรือการทำงานจากบ้าน WFH ที่ต้องพึ่งพิงระบบดิจิทัลมากขึ้น ทั้งที่ในอดีตมักปฏิเสธและอาจจะทำไม่ได้ง่ายนัก        หลายชุมชนหรือกลุ่ม ที่ผ่านมา ได้มีการสนับสนุนกันและกัน มีบทเรียนของการเตรียมพร้อมรับมือเพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเครือข่ายชุมชนแออัด มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก สวนผักคนเมือง มูลนิธิสุขภาพไทย สนับสนุนให้เกิดการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร เกิดความมั่นคงด้านอาหารหากเกิดวิกฤติในครั้งต่อไป        หรือกลุ่มชาวเล หาดราไวย์ ภูเก็ต ส่งปลาแลกข้าวกับชาวนา จังหวัดยโสธรร “ชาวเลมีปลา ชาวนามีข้าว สนับสนุนโดยมูลนิธิชุมชนไทยและสมาคมชาวยโสธร        หลายคนที่อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ คงเห็นตรงกันว่า ชีวิตที่เรียบง่ายเมื่อ WFH  เราใช้เสื้อผ้าอยู่ 2 ชุด ชุดนอน กับชุดอยู่บ้านสบายๆ  ตามสไตล์ของแต่ละคน หรือใส่เสื้อผ้าอยู่ไม่กี่ตัว ตัวที่ชอบก็ไม่ได้มีมากมาย        แล้วเราจะอยู่อย่างไร หลังโควิด 19 ที่ดูจะอยู่กับเรานาน และไม่ได้ไปง่าย ๆ เป็นคำถามสำคัญที่เราเหล่าผู้บริโภคต้องช่วยกันหาคำตอบ        ถึงแม้การคาดการณ์โรคยังคงต้องอาศัยวิชาการ แต่การควบคุมโรคต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของประชาชนเป็นสำคัญ การอยู่ร่วมกันต้องไม่รังเกียจกลัวซึ่งกันและกัน จนเกิดความรุนแรง เราต่างต้องคิดว่า เราอาจจะติดเชื้อ ถ้ายังไม่เคยตรวจ หรือแม้แต่ตรวจแล้วผลเป็นลบ อาจจะไม่ได้ลบจริง อยู่ในช่วงฟักตัว  ต้องป้องกัน ไม่ให้ระบาดมากขึ้น เราจะอยู่อย่างไรที่เป็นมิตรกับคนติดเชื้อ ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้ยินข่าว ลูกไม่ยอมส่งพ่อแม่ไปโรงพยาบาล พี่น้อง คนในชุมชน คนในคอนโดมิเนียมเดียวกัน ฟ้องคดีกัน เพราะกลัวคนที่ติดเชื้อ        สิ่งดีที่เกิดขึ้นในทุกจังหวัดที่ผ่านมา คือการกระจายอำนาจในการจัดการป้องกันโรค ทำให้เกิดความตื่นตัวของประชาชนในทุกจังหวัด ร่วมมือกันในการควบคุมโรค สนับสนุนกันและกันในทุกจังหวัด ซึ่งน่าเป็นโอกาสให้จังหวัดได้ตัดสินใจเพิ่มกิจกรรมเศรษฐกิจหรือกิจกรรมพึ่งตนเองของชุมชน จังหวัด รวมทั้งกิจกรรมเศรษฐกิจของกลุ่มต่างๆ เพราะการค้าขายต่างๆ ไม่น่าจะเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป        ความสำคัญในชีวิต คงไม่พ้นความจำเป็นพื้นฐาน อาหาร แต่ละชุมชน จังหวัดจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านอาหารอย่างไรในจังหวัดของตนเอง ชุมชนของตนเอง        ปัญหาความยากจน ระบบสวัสดิการทางสังคม จะถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วอย่างไร เพื่อแก้จุดอ่อนของระบบตรวจสอบความยากจน ตรวจสอบการทำงาน ตรวจสอบอาชีพ แต่เป็นระบบสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อให้ทันการเยียวยาในช่วงที่ทุกข์ยากได้อย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้ไม่น่าจะเกินกำลังความสามารถของผู้บริโภคเช่นเรา

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 126 “ถุงพลาสติก” สิ่งเล็กๆ ที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก

  ถือเป็นวาระแห่งชาติกับการแก้ปัญหาถุงพลาสติกครองโลก หลายคนคงพอจะรู้กันดีอยู่แล้วว่าถุงพลาสติกที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นตัวการร้ายทำลายโลกของเรา ทั้งจากขั้นตอนการผลิตที่ต้องอาศัยพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ไปจนถึงขั้นตอนการจัดการเมื่อกลายเป็นขยะ เพราะถุงพลาสติกยากต่อการทำลาย ถุงพลาสติกพวกนี้อายุยืนเป็นร้อยๆ ปี ถ้านำไปเผาก็ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปทำลายชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจก ทำให้โลกของเราร้อนขึ้น ซึ่งภัยธรรมชาติร้ายแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพอากาศในโลกของเราเปลี่ยนแปลงผันผวนไปอย่างน่าตกใจ  ดังนั้นแล้วทั้งโลกเขาก็เลยตื่นตัวกันมากเรื่อง การลดการใช้ถุงพลาสติก ในประเทศไทยของเราก็เริ่มมีความตื่นตัวในการลดการใช้ถุงพลาสติกด้วยเช่นกัน ซึ่งจากข้อมูลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พบว่าคนไทยผลิตขยะถุงพลาสติกถึง 7,391 ตันต่อวัน  ถุงพลาสติก ที่สิ้นเปลืองทรัพยากรทั้งในการผลิต การขนย้ายและกำจัด ยังเป็นปัญหาสำคัญสำหรับประเทศไทย เพราะมาตรการต่างๆ ในบ้านเราที่พยายามทำๆ กันอยู่นั้น ยังไม่ค่อยเห็นผลนัก “ฉลาดซื้อ” จึงอยากเชิญชวนทุกคนมาช่วยโลกของเรา มาร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติก เพราะฉะนั้นเรามาดูกันสิว่า เราจะบอกลาถุงพลาสติกด้วยวิธีไหนได้บ้าง   “นโยบายลดถุงพลาสติกจากภาครัฐ – ความฝันที่ยังเลือนราง”ปัญหาขยะถุงพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนในการหาทางแก้ไขปัญหา ซึ่งถึงวันนี้ทุกคนต่างก็รับรู้กันดีว่าถุงพลาสติกเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำเกิดสภาวะโลกร้อน ประเทศไทยของเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจขานรับภารกิจมนุษยชาติในการลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติก ซึ่งถ้าใครพอจะติดตามข่าวสารอยู่บ้างอาจจะเคยได้ยินข่าวการจัดกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ที่ทางภาครัฐนำมาใช้เป็นเป็นกลยุทธิหยุดพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของคนในประเทศ กิจกรรมที่น่าสนใจก็เช่น โครงการ “No Bag No Baht” ที่จัดโดยกรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโครงการที่ให้นักช้อปได้มีโอกาสแสดงพลังรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการบอกปฏิเสธไม่รับถุงพร้อมรับส่วนลดจากการซื้อสินค้าทันที 1 บาท แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเลือกที่จะขอรับถุงพลาสติกก็ต้องจ่ายเพิ่มอีก 1 บาท โดยร้านค้าที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ก็มีตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง ร้านสะดวกซื้อ ไปจนถึงร้านค้าในตลาดนัดจตุจักร   อีกหนึ่งกิจกรรมที่ทางภาครัฐจับมือกับบรรดาห้างร้านต่างๆ เพื่อหวังสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกให้เกิดขึ้นในสังคม คือกิจกรรม “45 วัน รวมพลัง ลดถุงพลาสติก ลดโลกร้อน” ซึ่งกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเจ้าเก่าเจ้าเดิมเป็นหัวเรือใหญ่ เป้าหมายของกิจกรรมก็คือการลดจำนวนการใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ กิจกรรมนี้จัดต่อเนื่องติดต่อกันเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2552  โดยมีรายงานว่าในช่วง 2 ปีแรกสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่ร่วมกิจกรรมได้ถึง 12 ล้านกว่าใบ   แม้จะมีกิจกรรมที่ส่งเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการลดการใช้ถุงพลาสติก แต่ก็เป็นแค่กิจกรรมที่ทำชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช้กิจกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประชาชนทั่วไปที่ใช้ชีวิตผูกพันกับถุงพลาสติกน้อยคนนักที่จะรับทราบข้อมูลของการจัดกิจกรรมดังกล่าว หรือพอหมดช่วงเวลาการจัดกิจกรรมผู้บริโภคและผู้ประกอบการ พ่อค้า แม่ค้า ก็กลับมามีพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกในแบบเดิม ซึ่งแน่นอนว่าภาครัฐต้องมีความจริงใจและจริงจังในการวางนโยบายและเดินหน้าปฏิบัติการลดถุงพลาสติกให้ต่อเนื่องและชัดเจนมากกว่านี้   อย่างที่บอกว่าหนทางการจัดการกับถุงพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ไม่ใช่แค่เมืองไทยเท่านั้นที่ปัญหานี้ยังเป็นคำถามที่ยังต้องหาคำตอบ หลายประเทศทั่วโลกก็คิดไม่ตกกับปัญหาขยะถุงพลาสติก  ซึ่งหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่เป็นเหมือนประตูปิดกั้นการสู้กับปัญหาถุงพลาสติกอย่างจริงจังในประเทศไทยเราก็คือ การที่ยังไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดการใช้ถุงพลาสติก ทำให้ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพียงแค่การขอความร่วมมือเท่านั้น การจะออกกฎหมายมาบังคับใช้เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นแนวทางที่น่าสนใจและต้องมีความพยายามในการเริ่มต้น แน่นอนว่าในสังคมปัจจุบันความต้องและจำเป็นในการใช้ถุงพลาสติกยังคงมีค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการเริ่มต้นการลดการใช้ถุงพลาสติกที่ภาครัฐควรทำให้เกิดขึ้น คือการสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค ส่งเสริมให้ผู้บริโภครู้จักเลือกใช้วัสดุอื่นที่ย่อยสลายง่าย และเมื่อกลายเป็นขยะแล้วไม่ไปทำลายสิ่งแวดล้อม แม้ว่าอาจต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการผลิต อย่างเช่น ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้หรือใช้เวลาน้อยลงในการย่อยสลาย หรืออาจให้มีการเก็บภาษีถุงพลาสติก หากจะซื้อสินค้าต้องเสียเงินค่าถุงพลาสติกซึ่งเป็นวิธีที่มีใช้ในหลายประเทศ แต่ก็ต้องเป็นไปตามความสมัครใจของผู้บริโภคด้วยต้องศึกษาความเป็นไปได้ให้ดีก่อนนำมาใช้ในบ้านเรา ขณะที่มาตรการขั้นเด็ดขาดอย่างการห้ามใช้ไม่ว่ากรณีใดๆ หากพบเห็นว่ามีการใช้ถือว่ามีความผิด ก็เป็นไปได้ยากที่จะนำมาใช้ในเมืองไทย เพราะดูเป็นวิธีการที่โหดร้ายไปหน่อย “ความร่วมมือจากห้างสรรพสินค้า – อีกหนึ่งความหวังในการบอกลาถุงพลาสติก” ขยะถุงพลาสติกที่กลายเป็นปัญหาในทุกวันนี้ สถานที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของมันคงหนีไม่พ้นห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ที่เปิดกระจายกันอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะในกทม. ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมบอกว่าในแต่ละสัปดาห์คนไทยนำถุงพลาสติกกลับบ้านมากกว่า 100 ล้านถุง   ความต้องการใช้ถุงพลาสติกของคนไทยยังคงมีค่อนข้างสูง เรายังคงรักความสะดวกสบายเวลาจับจ่ายสินค้าก็ต้องการถุงพลาสติกสำหรับใส่ของ เพราะถือง่ายและแข็งแรงทนทาน แถมหลายคนยังติดนิสัยชอบขอถุงพลาสติกเพิ่ม เวลาซื้อของหนักๆ ต้องขอซ้อนถุงก็ยิ่งกลายเป็นว่าไปเพิ่มปริมาณขยะถุงพลาสติกมากขึ้นไปอีก   เมื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมจะเปิดใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลดการใช้ถุงพลาสติก แล้วแบบนี้ทางฝั่งผู้ประกอบการอย่างบรรดาห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ จะพอมีหนทางอะไรบ้างในการช่วยลดการใช้ถุงพลาสติก   ฉลาดซื้อทำแบบสำรวจถึงบรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครือเซ็นทรัล เดอะมอลล์ เทสโก้ คาร์ฟูร์ บิ๊กซี ฯลฯ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือในการตอบแบบสำรวจสักเท่าไหร่ มีบริษัทที่เต็มใจตอบรับเพียง ซีพี ออลล์และฟู้ดแลนด์ เท่านั้น  บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ได้ให้ข้อมูลถึงนโยบายการลดการใช้ถุงพลาสติกของทางร้านว่า มีการรณรงค์กับทั้งลูกค้าและพนักงาน โดยในช่วงปี 2552 -2553 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำโครงการลดการใช้ถุงพลาสติก 3 โครงการที่น่าสนใจ คือ โครงการ “รับถุงด้วยไหม ครับ/ค่ะ”, โครงการ “บริจาคถุงพลาสติกคืน เพื่อรีไซเคิล” และ  โครงการ “ร่วมใจใช้ถุงผ้า ไม่เรียกหาถุงพลาสติก” ซึ่งผลจากการรณรงค์ทั้ง 3 โครงการ สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านได้มาประมาณ 12 ล้านถุง ส่วนในปี 2554 ได้มีทดลองลดการใช้ถุงพลาสติกภายในร้าน โดยนำร่องจำนวน 100 สาขา ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2554 ซึ่งผลปรากฏว่า สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้ 4,400 ใบต่อวัน  ขณะที่ ฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ก็ใช้วิธีการง่ายๆ อย่างการรณรงค์ให้ลูกค้าใช้ถุงพลาสติก ซึ่งรณรงค์มาต่อเนื่องตลอด 4 ปี   ส่วนแนวคิดที่ว่าจะเป็นไปได้แค่ไหนถ้าหากจะให้มีการยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกเป็นเด็ดขาด ทั้ง เซเว่น อีเลฟเว่น และ ฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ต่างก็ยอมรับว่า ยังไม่มีนโนบายเลิกใช้ถุงพลาสติกในร้านอย่างเด็ดขาดในตอนนี้ เพราะยังต้องอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ แต่ถ้าหากภาครัฐมีมาตรการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดใช้ถุงพลาสติกออกมา ก็พร้อมจะให้ความร่วมมือ  “เราทำได้ ลดการใช้ถุงพลาสติก” ในเมื่อยังไม่มีมาตรการหรือกฎหมายที่ออกมาบังคับเรื่องการลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องสร้างจิตสำนึกร่วมกันในการสร้างพฤติกรรมใหม่ในการใช้ถุงพลาสติก   -สำรวจพฤติกรรมของตัวเองว่าในแต่ละวันต้องเกี่ยวข้องกับการใช้ถุงพลาสติกในเรื่องอะไรบ้าง แล้วลองคิดดูสิว่ามีอะไรที่เราพอจะลดการใช้ถุงพลาสติกได้บ้าง เช่น เวลาซื้อของในร้านสะดวกซื้อของที่เราซื้อจำเป็นแค่ไหนที่ต้องใส่ถุงพลาสติก ถ้าซื้อของไม่กี่ชิ้นลองเลือกปฏิเสธถุงพลาสติก หรือเวลาที่ไปซื้อข้าวซื้อก๋วยเตี๋ยวลองเอาจานชามจากที่บ้านไปใส่ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติกมาจากที่ร้าน ถ้าจะเติมน้ำตาลน้ำปลาก็ปรุงมาให้เรียบร้อย ไม่ต้องขอใส่ถุงกลับมาปรุงที่บ้าน ฯลฯ   -ใช้ถุงผ้าให้ถูกวิธี ไม่ใช้แค่สะพายไว้เก๋ๆ เพื่อบอกใครๆ ว่าคุณรักโลก แต่จงใช้มันเพื่อช่วยโลกจริงๆ นำถุงผ้าไปใช้ใส่สิ่งของต่างๆ ไม่รับถุงพลาสติกจากร้านค้าเพราะว่าคุณมีถุงผ้าสำหรับใส่ของอยู่แล้ว   -จุดเด่นของถุงพลาสติกคือความทนทานพยายามนำกลับมาใช้งานหลายๆ ครั้ง ใช้ให้คุ้มค่าอย่าให้มันกลายเป็นขยะเร็วเกินไป   -อย่าลืมต่อบอกเทคนิคดีๆ ในการลดการใช้ถุงพลาสติกให้กับคนอื่นๆ อย่าลืมชักชวนคนใกล้ๆ ตัวให้เห็นถึงความสำคัญในการลดการใช้ถุงพลาสติก ถ้า 1 คนลดได้ 1 ใบ 10 คนก็ลดได้ 10 ใบ ถ้าทุกๆ คนช่วยกัน ถุงพลาสติกก็คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่ยากเกินจะแก้ไขอีกต่อไป   ความแตกต่างของถุงพลาสติกแต่ละประเภท ถุงพลาสติกทั่วไป -ทำจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ -ใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 100 – 450 ปี-ราคาถูก มีความเหนียวและทนทาน-เพราะความทนทานจึงสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ แต่ก็พึ่งระบบการคัดแยกขยะที่ดี-เป็นอันตรายต่อธรรมชาติมาก ทั้งต่อสัตว์ที่เผลอกินเข้าไป และมักจะเป็นต้นเหตุของน้ำท่วมตามเมืองใหญ่ๆ เพราะขยะถุงพลาสติกจไปอุดตันตามท่อระบายน้ำ   OXO-DEGRADABLE ออกโซดีเกรดเอเบิล -เป็นถุงพลาสติกที่มีการผลิตให้มีความเหนียวน้อยลง ทำให้ย่อยสลายได้ง่ายขึ้น-ถุงย่อยสลาย ภายใน 2 - 5 ปี ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การย่อยสลาย อาจมีชีวิตอยู่ยาวนาน เป็นร้อยปีได้เหมือนถุงพลาสติกธรรมดาทั่วไป-ราคาถุงกว่าถุงพลาสติกทั่วไป -ไม่มีปัญหาเรื่องการเก็บสต็อก-แม้จะย่อยสลายง่ายขึ้นแต่ก็ยังเป็นอันตรายกับธรรมชาติ   BIODEGRADABLE ไบโอดีเกรดเอเบิล (Bio Bag) -ทำจากพืช เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง -สามารถย่อยสลายได้ภายใน 6 – 9 เดือน แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คือ โดนแสงแดดและอากาศที่เหมาะสม-หมักเป็นปุ๋ยชีวภาพได้ ไม่เป็นสารพิษ-แต่มีราคาแพง แถมไม่สามารถเก็บไว้นานๆ ได้ เพราะถุงจะเปลี่ยนสภาพค่อยๆ เปื่อยลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถใช้งานได้ ----------------------------------------------------------------------------------------   การลดการใช้ถุงพลาสติกในต่างประเทศ อิตาลี ประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ แล้วให้ร้านค้าใช้ถุงกระดาษหรือถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้แทน ซึ่งสาเหตุมาจากที่คนตาลีใช้ถุงพลาสติกกันมากถึง 20 พันล้านใบต่อปี ทำให้เกิดมลพิษทางธรรมชาติ ทั้งในทะเล แม่น้ำ และป่า โดยห้างร้านต่างๆ ในอิตาลีก็ขานรับนโยบายนี้กันอย่างพร้อมเพียง แต่ว่ามาตรการนี้เพิ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 54 ที่ผ่านมา ต้องรอดูกันต่อว่าจะได้ผลแค่ไหน   จีนมีกฎห้ามผลิต จำหน่าย และใช้ถุงพลาสติกที่มีความบางน้อยกว่า 0.025 มิลลิเมตร หรือเรียกว่าถุงชนิดบางมาก รวมทั้งห้ามห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ให้แจกถุงพลาสติกฟรีกับลูกค้าถ้าอยากได้ต้องซื้อ หรือไม่ก็นำถุงพลาสติกหรือถุงผ้ามาเอง   พม่าห้ามผลิต ห้ามใช้ และเข้มงวดถึงขั้นห้ามไม่ให้ร้านค้าร้านขายของชำเก็บถุงและเชือกพลาสติกไว้ในร้าน โดยกฎหมายนี้เริ่มทยอยบังคับใช้ตามเมืองสำคัญๆ ของประเทศอย่าง มัณฑะเลย์ เนปิตอว์ และย่างกุ้ง แถมยังมีโครงการเก็บขยะถุงพลาสติกและการนำกลับมารีไซเคิลเปลี่ยนเป็นท่อพลาสติก เพื่อลดปัญหาขยะถุงพลาสติกล้นเมือง   ไต้หวันถ้าหากไปซื้อตามร้านสะดวกซื้อต่างๆ แล้วอยากได้ถุงพลาสติก คุณต้องยอมจ่ายเงินเพิ่ม ซึ่งประชาชนก็ให้ความร่วมมือดี เป็นมาตรการที่สามารถลดขยะถุงพลาสติกได้เป็นจำนวนมาก   อินเดียใช้ไม้แข็งในการจัดการกับปัญหาขยะถุงพลาสติกล้นเมือง โดยใช้วิธีทั้งจำทั้งปรับคนที่ใช้ถุงพลาสติก แต่ต้องบอกว่าวิธีการดังกล่าวยังถือว่าล้มเหลว เพราะคนส่วนใหญ่ก็ยังใช้ถุงพลาสติกกันเป็นปกติหาได้หวั่นเกรงต่อกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งเหตุผลก็เป็นเพราะว่าหากไม่ใช้ถุงพลาสติกก็ยังไม่เห็นตัวเลือกอื่นที่จะสามารถนำมาใช้แทนได้   สหรัฐอเมริกามีหลายเมืองในอเมริกาที่ออกกฎหมายรองรับการลดการใช้ถุงพลาสติก หรือเปลี่ยนมาใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายง่ายขึ้น และเน้นให้มีการรีไซเคิลถุงพลาสติกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แถมหลายๆ เมืองยังมีการเรียกเก็บภาษีถุงพลาสติกเพิ่มขึ้น แม้ในอเมริกาจะมีมาตการลดการใช้ถุงพลาสติกที่ดูเข้มแข็ง แต่ก็ยังติดปัญหาสำคัญตรงที่อุตสาหกรรมผลิตถุงพลาสติกในอเมริกามีการจ้างงานอยู่มากกว่า 1 หมื่นตำแหน่ง ถ้าหากมีปรับลดการใช้ถุงพลาสติกแบบทันทีทันใดก็อาจจะส่งผลต่อคนงานเหล่านี้   เม็กซิโกร้านค้าในเม็กซิโกเปลี่ยนมาใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายง่ายหลังจากรัฐบาลออกกฎหมายบังคับเรื่องการลดการใช้ถุงพลาสติก แม้กฎหมายฉบับนี้ยังมีผลบังคับใช้แค่ในเมืองหลวงของประเทศอย่างเม็กซิโก ซิตี้ แต่ที่นี่ก็มีประชากรอยู่มากถึง 9 ล้านคน บวกกับประชากรที่อาศัยอยู่ตามเมืองรอบอีกกว่า 10 ล้านคน ก็สามารถลดขยะถุงพลาสติกไปได้พอสมควร   ฮ่องกง นักช้อปจะต้องจ่ายค่าถุงพลาสติกในราคา 50 เซนต์ฮ่องกง สำหรับถุงพลาสติก 1 ใบ มีข้อมูลบอกว่าที่ฮ่องกงมีการใช้ถุงพลาสติก 23 ล้านใบต่อปี หรือ เฉลี่ยวันละ 3 ใบต่อคน แต่ก็ใช่ว่าพอเก็บตังค์แล้วคนจะใช้ถุงพลาสติกน้อยลง เพราะนักช้อปส่วนใหญ่ก็ยังเต็มใจจ่ายค่าถุงพลาสติกอยู่ดี ฮ่องกงเลยใช้วิธีรณรงค์ให้ใช้ถุงพลาสติกมากกว่า 1 ครั้งเป็นตัวเสริมเข้าไป ซึ่งก็สามารถช่วยลดปริมาณขยะถุงพลาสติกภายในประเทศได้พอสมควร

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point