ฉบับที่ 127 การบินไทยช่วยผู้โดยสารหลีกภัยนิวเคลียร์?

ยอมเปลี่ยนวันและเส้นทางบิน ปลอดค่าธรรมเนียมเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เมืองฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม 2554 นอกจากจะสร้างความสูญเสียให้ชาวอาทิตย์อุทัยเกือบทั้งเกาะแล้ว ยังสร้างความเสียหายให้กับสองแม่ลูกที่ตั้งใจจะเดินทางไปเที่ยวชมประเทศญี่ปุ่นในช่วงนั้นอีกด้วย แม้จะเป็นความเสียหายที่ดูเล็กๆ เมื่อเทียบกับการเจ็บการตายและบ้านที่พังถล่มทลายของชาวเมืองซากุระ แต่เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภค ทุกเรื่องที่เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถือเป็นเรื่องสำคัญเท่าเทียมกัน คุณไปรยา(นามสมมติ) เป็นสมาชิกสะสมไมล์รอยัลออร์คิด พลัส ของสายการบินไทย อุตส่าห์ดีใจได้แลกรางวัลไมล์สะสมเพื่อเดินทางไปยังกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นพร้อมคุณแม่ โดยมีกำหนดเดินทางไปในวันที่ 31 ตุลาคม 2554 และกลับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 ด้วยอากาศที่หนาว กับภาพหิมะที่ปลิวในสายลม เป็นช่วงการเดินทางที่ทำให้คนในเมืองไทยต้องอิจฉาแต่พอเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดไปหลายเตา ภาพปุยหิมะขาวๆ ละลายเป็นน้ำไปทันที นั่ง นอน ค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก็มีแต่ข่าวไม่ดี การแก้ไขปัญหาไม่มีความคืบหน้า นึกเห็นแต่ภาพเหยื่อกัมมันตภาพรังสีที่น่าขนพองสยองขวัญ“ไม่เอาแล้วโตเกียวเราเปลี่ยนเป้าหมายไปกรุงโซล เกาหลีใต้ ดีกว่า โซนเดียวกัน หนาวเหมือนกัน” เธอบอกกับแม่ คุณไปรยา จึงแจ้งกับการบินไทยเพื่อจะขอเปลี่ยนการเดินทางไปกรุงโซลแทนในวันที่ 2 ธันวาคม และกลับในวันที่ 10 ธันวาคม 2554 การบินไทยบอกเปลี่ยนได้แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 40 ดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นเงินไทยตกราว  1,200 บาทคุณไปรยาจึงถามกลับไปว่าทำไมต้องคิดค่าธรรมเนียมด้วย ใจน่ะอยากไปญี่ปุ่นแต่กลัววิกฤตินิวเคลียร์จะมาทำร้ายสุขภาพร่างกายของฉันกับแม่ฉันน่ะ เข้าใจไหม และการเดินทางก็อยู่ในโซนเดียวกันทำไมต้องมาคิดค่าธรรมเนียมกันด้วย และถ้าจะรอให้การบินไทยมีนโยบายอนุญาตให้เปลี่ยนตั๋วได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ก็มักจะประกาศในช่วงเวลาใกล้ๆ การเดินทาง ถึงตอนนั้นก็อาจหาตั๋วไม่ได้แล้ว และต้องเสียสิทธิสะสมไมล์ในท้ายที่สุดฝ่ายหนึ่งขอไม่ให้เก็บเพราะเป็นเหตุการณ์พิเศษ การบินไทยน่าจะเห็นใจลูกค้า แต่การบินไทยแจ้งว่าต้องเก็บเพราะเป็นระเบียบ คุยกันไม่จบ...เรื่องจึงมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในท้ายที่สุด แนวทางแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีจดหมายแจ้งไปถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท การบินไทย จำกัด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 เพื่อขอให้พิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมเป็นกรณีพิเศษให้กับผู้โดยสาร ต่อมาวันที่ 23  สิงหาคม 2554 คุณอมรา  ลีสวรรค์ ผู้จัดการกองบริการสมาชิกรอยัลออร์คิดพลัสของสายการบินไทย ได้มีหนังสือตอบกลับมา แจ้งว่า ทางการบินไทยได้พิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวันเดินทางและเปลี่ยนแปลงเส้นทางบินเป็นกรุงเทพฯ – โซล – กรุงเทพฯ ตามที่ผู้โดยสารประสงค์ โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม พร้อมทั้งชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่า โดยปกติการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการคืนไมล์ 3,750 บาท ต่อ 1 ฉบับ และทำบัตรโดยสารใหม่ในเส้นทางใหม่ และการเปลี่ยนวันเดินทางต้องเสียค่าธรรมเนียม 1,200 บาทต่อการเปลี่ยน 1 ครั้ง แต่ทั้งนี้การเปลี่ยนเส้นทางจะต้องทำการออกบัตรโดยสารใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดค่าภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้น โดยอัตรานี้อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะขึ้นอยู่กับราคาภาษีน้ำมันและวันที่ออกบัตรโดยสารใหม่ (โดยประมาณ 2,130 บาทต่อฉบับ) ซึ่งในส่วนนี้ผู้โดยสารจะต้องรับผิดชอบเอง เมื่อได้ทราบข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว และได้ตรวจสอบสถานการณ์ปัญหาวิกฤตินิวเคลียร์ว่าคลี่คลายไปมากคุณไปรยาจึงเปลี่ยนใจขอไปโตเกียวเหมือนเดิม มูลนิธิฯ ขอขอบคุณการบินไทยที่ใส่ใจสิทธิของลูกค้าเป็นอย่างดี ขอให้คุณไปรยาและคุณแม่เดินทางโดยปลอดภัยและไม่เอานิวเคลียร์มาเป็นของฝากกันนะขอรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 การบินไทยทำที่นั่งผู้โดยสารหาย

ไม่ได้ตั้งชื่อเรื่องขึ้นมาเพื่อความเท่นะครับแต่เกิดขึ้นจริงๆ ผู้โดยสารจ่ายเงินซื้อตั๋วชั้นธุรกิจล่วงหน้าแล้ว มีตั๋วอยู่ในมือแล้ว พอมาเช็คอินเจ้าหน้าที่บอกไม่มีชื่ออยู่ในระบบ ทำได้แค่จัดที่นั่งชั้นประหยัดให้แทน บริการประทับใจจริงๆคุณปัทมา เขียนเล่าความทุกข์ของตัวเองผ่านทางช่องทางร้องทุกข์ออนไลน์ในเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า อยากทราบว่ากรณีซื้อตั๋วเครื่องบินของการบินไทย ชั้นธุรกิจ มีตั๋วอยู่ในมือเรียบร้อยแล้ว แต่ในวันเดินทางเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์บอกว่า ไม่มีชื่ออยู่ในระบบการจองเพราะโดนตัดที่นั่งออกไปแล้ว อยากทราบว่ากรณีนี้ร้องเรียนได้หรือไม่คุณปัทมาได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่การบินไทยบอกว่าเป็นเพราะระบบ เห็นว่ามีการจองซ้ำซ้อนกับเอเยนต์ขายตั๋ว แต่ทางเราไม่ได้ซื้อกับทางเอเยนต์ แต่จ่ายเงินกับการบินไทยและได้ตั๋วมาเรียบร้อยแล้ว อยากทราบว่ากรณีนี้อย่างนี้จะเรียกร้องอะไรได้บ้าง เพราะในที่สุดเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์หาที่นั่งชั้นประหยัดให้แทนแต่จ่ายเงินในชั้นธุรกิจ “เราซื้อตั๋วแล้ว จ่ายเงินแล้ว ทำไมการบินไทยมีสิทธิตัดที่งนั่งได้ด้วยหรือ เอาที่นั่งของเราไปขายให้คนอื่นอย่างนี้ก็เท่ากับได้เงินสองต่อน่ะสิ” แนวทางแก้ไขปัญหาน่าสงสารจริง ๆ ครับ ไม่รู้มีตัวดีหรือผู้ยิ่งใหญ่ที่ไหนไปเบียดเบียนที่นั่งประชาชนคนธรรมดาที่ใช้สิทธิในความเป็นราษฎรเต็มขั้นซื้อตั๋วชั้นธุรกิจ จ่ายเงินแล้ว ได้ตั๋วอยู่ในมือแล้ว แต่ที่นั่งกลับหายไปเสียนี่โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลที่ชัดเจนจากการบินไทย ทำได้เพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการจัดที่นั่งชั้นประหยัดให้แทน คุณปัทมาถามว่าจะเรียกร้องอะไรได้มั้ย ได้สิครับอย่างแรกก็คือ ขอคำชี้แจงจากการบินไทยว่าทำไมถึงได้เกิดเหตุการณ์การบริการที่ประทับใจแบบนี้ขึ้นได้ อย่างที่สองคือ ค่าโดยสารส่วนเกินที่ได้จ่ายไปสำหรับที่นั่งชั้นธุรกิจแต่กลับได้บินไปกับที่นั่งชั้นประหยัด ซึ่งการบินไทยจะต้องคืนให้กับผู้โดยสารในช่องทางใดช่องทางหนึ่งที่ผู้เสียหายเขาประสงค์ และอย่างที่สามก็คือ เรื่องความเสียหายทางด้านจิตใจที่การบินไทยจะต้องพิจารณารับผิดชอบด้วย ก็แหมผู้โดยสารเขาอุตส่าห์ซื้อตั๋วและจ่ายเงินกับการบินไทยแท้ๆ กลับทำที่นั่งเขาหายไปเฉยๆ จะไม่รับผิดชอบในเรื่องนี้ได้อย่างไรข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือสอบถามไปถึงการบินไทยให้เรียบร้อยแล้วนะครับ โปรดรอผลตอบรับจากการบินไทยโดยพร้อมเพรียงกัน

อ่านเพิ่มเติม >