ฉบับที่ 147 กานพลู ครบเครื่องเรื่องปากและฟัน

กานพลู เป็นชื่อของเครื่องเทศระดับเอบวก เป็นพืชประจำถิ่นเขตร้อนชื้นของเอเชียที่สร้างมูลค่ามหาศาลในตลาดโลกตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ในภาษาฝรั่งเรียก กานพลู ว่า clove รากศัพท์คำว่า clove มาจากภาษาละตินคำว่า clavus หมายถึงเล็บ ที่เรียกเช่นนั้นคงเพราะส่วนที่กานพลูถูกนำมาใช้ประโยชน์คือ ดอกตูมแห้ง ที่มีลักษณะคล้ายเล็บ ดอกแห้งมีสีน้ำตาลเข้ม กลิ่นหอมและรสเผ็ดร้อน เมื่อใช้เป็นเครื่องเทศ จะใช้เพื่อให้กลิ่นในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ซอส ซุป เครื่องแกง ผักดอง หรือเป็นส่วนผสมของเครื่องพะโล้ ใช้แต่งกลิ่นลูกกวาด ขนมเค้ก หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และยังนิยมแต่งกลิ่นอาหารกระป๋องและเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก แฮม เรื่องอาหารก็ว่ากันไป แต่สรรพคุณในทางยา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอนามัยในช่องปากต้องยกให้ กานพลูว่า ครบเครื่อง หากที่บ้านมีปลูกไว้สักต้นก็นับว่าคุ้ม หรือมีกานพลูแห้ง ซึ่งหาซื้อได้จากร้านยาจีนทั่วไปเก็บไว้บ้าง ก็ใช้แก้ไขปัญหาเรื่องปากแบบเร่งด่วนได้หลายประการ เมื่อประมาณ 200 กว่าปีก่อนคริสต์ศักราช ฮ่องเต้จีนจะใช้ดอกกานพลูอมเพื่อดับกลิ่นปาก และเมื่อกานพลูเข้ามาเผยแพร่ในยุโรปกานพลูก็จัดเป็นยาแก้ปวดฟัน ราวศตวรรษที่ 19 นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา สามารถกลั่นน้ำมันจากกานพลูได้ เรียกกันว่า clove oil ซึ่งถูกนำมาใช้ รักษาโรคเหงือกและใช้แก้ปวดฟัน ต่อมาน้ำมันกานพลู ก็เป็นที่แพร่หลาย ถ้าไปพลิกๆ ดูฉลากยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปาก บางทีจะเจอ clove oil เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญอยู่ในผลิตภัณฑ์ การใช้กานพลูรักษาอาการปวดฟัน แบบง่ายๆ คือ กลั่นเอาน้ำมันจากดอกกานพลูใส่ฟัน หรือใช้ทั้งดอกเคี้ยวแล้วอมไว้ตรงบริเวณฟันที่ปวด เพื่อระงับอาการปวดฟัน หรือนำดอกกานพลูตำพอแหลก ผสมกับเหล้าขาวเพียงเล็กน้อยพอแฉะ ใช้สำลีจิ้มอุดฟันที่ปวด เพื่อระงับอาการชั่วคราว ก่อนไปพบทันตแพทย์ ถ้าจะใช้เพื่อดับกลิ่นปาก ให้อมดอกตูมไว้สัก 1 นาทีจะช่วยลดกลิ่นปากลงได้ กานพลูน้ำมันหอมระเหยสูงมาก หลักๆ คือ ยูจีนอล (eugenol) ซึ่งมีฤทธิ์ขับลมและแก้ท้องเสีย ใช้ดอกตูมแห้งของกานพลู 5 - 8 ดอก ชงน้ำเดือดดื่มเฉพาะส่วนน้ำเพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ท้องอืดเฟ้อได้ ข้อห้ามสำหรับการใช้กานพลู ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ไวคือ ห้ามในหญิงมีครรภ์  หญิงให้นมบุตร  เด็กเล็ก  ผู้ป่วยโรคตับไตและผู้ป่วยเบาหวาน

อ่านเพิ่มเติม >