ฉบับที่ 130 กระแสในประเทศ

 ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤศจิกายน 2554 8 พฤศจิกายน 2554สคบ.ระดมหน่วยงานช่วยเหลือผู้บริโภคที่ประสบภัยน้ำท่วมสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. จับมือร่วมกับหลากหลายองค์กร เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด โดยจะดูแลให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขอความร่วมมือจากสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ดูแลช่วยเหลือผู้บริโภคในเรื่องการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เช่นการพักชำระหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ส่วนสมาคมอู่กลางแห่งประเทศไทยก็จะเข้ามาดูแลเรื่องการซ่อมรถยนต์ ควบคุมเรื่องค่าบริการของอู่ซ่อมต่างๆ ให้มีความเป็นธรรม โดยต้องมีการแสดงเอกสารใบเสร็จให้ชัดเจน เพื่อความสบายใจของผู้ที่มาใช้บริการด้านการไฟฟ้านครหลวงก็ได้จัดทำคู่มือแนะนำ ข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังน้ำท่วม ส่วนผู้ที่ต้องการซ่อมแซมบ้านที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ สคบ. ได้ขอความร่วมมือจากสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร จัดทำข้อมูลราคากลางการซ่อมแซมบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งในส่วนของค่าแรงและค่าวัสดุ เพื่อไว้ใช้เปรียบเทียบกับราคาที่ผู้ประสบภัยจะใช้ว่าจ้างกับผู้รับเหมาก่อนตัดสินใจซ่อมแซมบ้าน สามารถดูเอกสารแสดงราคากลางการซ่อมแซมบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม ได้ที่เว็บไซต์ของ สคบ.ผู้ประสบภัยที่ต้องการความช่วยเหลือหรือขอคำแนะนำจากหน่วยงานต่างๆ ที่กล่าวมา สามารถติดต่อได้ตามเบอร์โทร. เหล่านี้ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน โทร.02-570-0153, สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย โทร. 02-655-0240-55, สมาคมนายหน้าประกันภัย โทร. 02-645-1133, สำนักงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โทร. 1186 และ การไฟฟ้านครหลวง โทร. 1130__________________________________________________________   28 พฤศจิกายน 2554ยาย้อมผมไม่ใช่แชมพู ใช้บ่อยอันตราย คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เตือนคนที่ชอบเปลี่ยนสีผม ให้ระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผมรูปแบบแชมพู เพราะไม่ใช่แชมพูสระผมทั่วไป ใช้บ่อยอาจได้รับอันตราย เนื่องจากผลิตภัณฑ์ย้อมผมส่วนใหญ่มีสารที่เป็นสีย้อมผมที่อาจทำให้เกิดการแพ้ได้ ซึ่งขณะนี้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ย้อมผมในรูปแบบแชมพู โดยให้ผู้ใช้นำส่วนผสมที่บรรจุอยู่ในซองผสมเข้าด้วยกันแล้วชโลมบนเส้นผมให้ทั่ว จากนั้นล้างออกด้วยน้ำเหมือนการสระผมปกติ จึงมีการโฆษณาทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทแชมพูสระผมที่สระแล้วทำให้สีผมเปลี่ยนไป จนผู้บริโภคบางส่วนเข้าใจผิดว่าสามารถใช้สระผมได้ทุกวันเหมือนแชมพูทั่วไป ผลิตภัณฑ์ย้อมผมมากกว่าร้อยละ 60 ที่จำหน่ายในท้องตลาดมีสาร p-phenylenediamine หรือ PPD เป็นสีย้อมผมถาวร ซึ่งอาจทำให้เกิดการแพ้ได้ การใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผมจึงควรใช้อย่างระมัดระวัง และถึงแม้จะอยู่ในรูปแบบแชมพูก็ไม่สามารถใช้บ่อยเหมือนการสระผมทั่วไป เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งเราสามารถทดสอบการแพ้ก่อนใช้ได้ โดยทาผลิตภัณฑ์ย้อมผมที่ผสมแล้วใต้ท้องแขนหรือหลังใบหู ทิ้งไว้ 24 - 48 ชั่วโมง หากมีอาการคัน เป็นผื่นแดง บวม หรือมีอาการผิดปกติอื่นใดก็ตามให้หยุดใช้ทันที-----------------------------------------   30 พฤศจิกายน 2554นอนกางเต็นท์ระวังเป็นผู้ป่วย ช่วงหน้าหนาวปลายๆ ปีแบบนี้ ถือเป็นช่วงที่หลายๆ คนนิยมไปเที่ยวพักผ่อน ซึ่ง 1 ในกิจกรรมยอดฮิตของนักเที่ยวก็คือ การไปกางเต็นท์นอนตามป่าหรือภูเขา รวมทั้งการนอนดูดาวกลางแจ้ง แต่อย่ามัวเพลิดเพลินกับบรรยากาศจนลืมดูแลตัวเอง เพราะกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาเตือนนักท่องเที่ยวที่จะไปกางเต็นท์นอนบนพื้นหญ้าตามป่าตามเขาระวังถูกตัวไรอ่อนที่อยู่ตามป่ากัด สาเหตุของโรคสครับไทฟัส ซึ่งอาจทำให้เกิดไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง อาจมีอาการทางปอดและสมองได้ เวลาที่เราถูกไรอ่อนกัดจะสังเกตเห็นเป็นแผลไหม้ เล็กๆ คล้ายกับโดนบุหรี่จี้ ตรงกลางเป็นสะเก็ดสีดำ และรอบๆ แผลจะแดง โดยอาการป่วยจะแสดงหลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน นอกจากนี้ยังให้ระวังอย่าให้ถูกยุงก้นปล่องกัด เพราะอาจป่วยเป็นโรคมาลาเรีย ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต สำหรับการป้องกันไม่ให้ไรอ่อนกัด ควรใส่รองเท้า ถุงเท้าหุ้มปลายขากางเกงไว้ ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ และเหน็บปลายเสื้อเข้าในกางเกงปิดทางเข้าของไรมายังร่างกาย ส่วนการเลือกที่ตั้งค่ายพักในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือที่หญ้าขึ้นรก และเมื่อกลับมาถึงที่พัก ควรทำความสะอาดเสื้อผ้าที่ใส่ทันที รายงานโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศในปี 2554 พบมีผู้ป่วยโรคสครับไทฟัส 5,721 ราย เสียชีวิต 2 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 63 พบในภาคเหนือ มากที่สุดคือ จ.น่าน เชียงราย และตาก รองลงมาคือ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนโรคมาลาเรีย ในปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยทั้งสิ้น 17,636 ราย เสียชีวิต 8 ราย พบมากที่สุดที่ภาคเหนือ 11,150 ราย ภาคใต้ 3,028 ราย ภาคกลาง 2,694 ราย จังหวัดที่พบมากที่สุด คือ จ.ตาก แม่ฮ่องสอน และยะลา ----------------------------------------------------------     จัดการเชื้อราในบ้านหลังน้ำลด เมื่อน้ำลดก็ถึงเวลาที่แต่ละครอบครัวจะต้องกลับไปฟื้นฟูและซ่อมแซมบ้านของตัวเอง ซึ่งสิ่งที่ต้องระวังที่สุดคือ “เชื้อรา” ที่เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีความชื้นสูง การสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราที่ปลิวอยู่ในอากาศภายในบ้านเข้าไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น เกิดโรคภูมิแพ้ มีไข้ จาม น้ำมูกไหล โรคปอดอักเสบจากภูมิแพ้ โรคหอบหืด ก่อให้เกิดระคายเคืองต่อตา จมูก หลอดลม ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน และอาการแพ้เป็นผื่นลมพิษ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ฝากข้อแนะนำในการกำจัดเชื้อราในบ้านหลังน้ำลด  เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเชื้อรา ซึ่งขั้นตอนที่ควรทำมีดังต่อไปนี้ 1.การป้องกันตนเอง โดยการสวมรองเท้าบู้ทยาง สวมถุงมือยาง เพื่อป้องกันเชื้อราสัมผัสผิวหนังโดยตรง 2.ต้องระบายอากาศในระหว่างทำความสะอาด ให้อากาศถ่ายเทและให้มีแสงแดดส่องถึง ที่สำคัญไม่ควรเปิดแอร์ และพัดลมในระหว่างการทำความสะอาดเพราะจะทำให้สปอร์ของเชื้อราฟุ้งกระจายได้ 3.การทำความสะอาด หากพบเชื้อราภายในบ้าน ให้ใช้แอลกอฮอล์ หรือน้ำยาฟอกผ้าขาวผสมน้ำ (อัตราส่วน 1 ถ้วย หรือ 240 มิลลิลิตร ในน้ำประมาณ 4 ลิตร) เช็ดคราบเชื้อราทิ้งไว้ 15 นาที แล้วใช้น้ำล้างออก ส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อราและทำให้แห้งได้ เช่น พรม เบาะผ้า ที่นอน ฟูก วอลเปเปอร์ ฯลฯ ไม่ควรเก็บไว้ใช้ต่อควรทิ้งโดยใส่ในถุงพลาสติกและมัดอย่างดีเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อราสู่อากาศ 4.หลังทำความสะอาดและฆ่าเชื้อราในบ้านเสร็จแล้วให้เปิดพัดลมเป่าในบ้านและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เปิดหน้าต่าง ประตู เพื่อให้อากาศถ่ายเท 5.ตรวจสอบเชื้อรา หลังจากทำความสะอาดไปแล้ว 2-3 วัน ให้สังเกตว่ามีเชื้อราเจริญเติบโตอีกหรือไม่ ถ้ายังพบว่ามีเชื้อราให้ทำความสะอาดซ้ำ หากมีเชื้อราเกิดขึ้นอีกให้ตรวจสอบระบบระบายอากาศ ระบบแอร์ทั้งหมด และระดับความชื้นภายในบ้านด้วย    ภาครัฐรวมพลังแก้ปัญหาโฆษณาอาหาร - ยาโม้เกินจริงปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาเกินจริงที่กำลังแพร่หลายอย่างมากทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องรีบหาทางแก้ไข ถึงเวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาจัดการ ก่อนที่ผู้บริโภคจะตกเป็นเหยื่อมากไปกว่านี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), กรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย, บุคลากรสาธารณสุข และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ ระดมสมองหาทางออกร่วมกัน จัดทำร่างข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะเรื่อง “การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม” เพื่อนำไปพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ในวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2555 สำหรับข้อเสนอฯ เบื้องต้น มีร่างมติ 9 ข้อ เช่น ขอระบุให้ อย.เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ และมีการเสนอให้เพิ่มโทษหากละเมิดกฎหมายว่าด้วยยาและอาหาร รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่ง กสทช. จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ฯ พร้อมทั้งจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม ภายในปี 2555 ด้านกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ก็จะเข้ามาควบคุมในส่วนของการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคเองก็ต้องติดตามข่าวสารและใช้วิจารณญาณในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาเกินจริงทั้งหลาย ทั้งอันตรายและราคาแพง อย่าหลงซื้อมาใช้โดยเด็ดขาด ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังและรับร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพของ อย. ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนกันยายน 2554 ก็พบว่ามีเรื่องร้องเรียนโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายสูงถึง 1,461 เรื่อง จำแนกเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร 556 เรื่อง ยา 335 เรื่อง เครื่องสำอาง 319 เรื่อง เครื่องมือแพทย์ 208 เรื่อง และวัตถุอันตราย 73 เรื่อง  

อ่านเพิ่มเติม >