นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทดสอบสารเคมีก่อมะเร็งกางเกงชั้นในชาย (สีดำ

        ปัจจุบันมีการใช้สารเคมีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในหลายผลิตภัณฑ์รอบตัวเรา ภัยเงียบใกล้ตัวที่สุดที่มักประมาทคือเสื้อผ้าที่เราสวมใส่อยู่ทุกวัน และยิ่งอ่อนไหวขึ้นไปอีกเมื่อเป็นชุดชั้นใน          นิตยสารฉลาดซื้อเคยเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชาย (สีดำ) มาตรวจหาสารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง, ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) และค่าความเป็นกรด-ด่างไปแล้วในฉลาดซื้อฉบับที่ 149 ปี 2556  พบสารฟอร์มัลดีไฮด์ซึ่งเป็นสารเคมีก่อมะเร็งในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน จำนวน  2 ตัวอย่าง จากตัวอย่างที่เก็บตรวจทั้งหมด  11 ตัวอย่าง           ในปี 2022 เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพจากเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย อย่างต่อเนื่อง นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชายชนิดสีดำ จำนวน  11 ตัวอย่างทั้งที่ผลิตในประเทศไทยและนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อตรวจหา สารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง (สีเอโซที่ให้อะโรแมติกแอมีน) , ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) และ ค่าความเป็นกรด-ด่าง อีกครั้งพบผลการทดสอบดังนี้          ·     มี 3  ตัวอย่างที่ตรวจพบ สารเคมีในสีย้อม โรแมติกแอมีน คือ  กางเกงใน GIORDANO,  กางเกงใน Me-Style และกางเกงใน DOUBLE GOOSE (ห่านคู่)  โดยสารที่ตรวจพบคือ 4,4'-Diaminodiphenylmethane (1 ใน 24 ตัวตาม มอก. 2346-2550) ปริมาณที่พบเกินมาตรฐาน คือ  ยี่ห้อ GIORDANO พบปริมาณ 61.40 มก./กก. ยี่ห้อ Me-Style พบ 59.89 มก./กก.  สำหรับ DOUBLE GOOSE (ห่านคู่) พบ 14.55 มก./กก. ไม่เกินค่ามาตรฐาน        ·     ตัวอย่างที่พบค่าความเป็นกรด – ด่างในสิ่งทอสูงคือ  Me-Style มีค่ากรด - ด่าง 7.26  แต่ไม่เกินมาตรฐาน (มาตรฐานคือช่วงระหว่าง 4-7.5)           ·     ทั้ง 11 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์         แม้ทั้ง การทดสอบของฉลาดซื้อจำนวน 11 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์  แต่สารเคมีอันตรายในกลุ่มเสื้อผ้าสิ่งทอ ยังน่าเป็นห่วง ล่าสุด (29 พ.ย.) กรีนพีซ เยอรมนี แถลงว่าจากการตรวจ สินค้า SHEIN ในหลายแห่งทั่วโลก ทั้งหมด 42 ชิ้น ประกอบไปด้วยเครื่องแต่งกาย รองเท้า ทั้งสำหรับผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก และผลิตภัณฑ์สำหรับทารก พบการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ 7 ชิ้น (คิดเป็น 15%) โดยการพบการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์นี้ผิดเงื่อนไขการจำกัดปริมาณสารเคมีของสหภาพยุโรป นอกจากนี้มีผลิตภัณฑ์ 5 ชิ้นจากทั้งหมดผิดเงื่อนไข โดยปนเปื้อนเกิน 100% หรือมากกว่านั้น และยังมีผลิตภัณฑ์ 15 ชิ้นจากทั้งหมดปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในระดับที่น่าเป็นห่วง (คิดเป็น 32%)…………………………………………………………………………………………………..อันตรายและค่ามาตรฐานของสารที่ดำเนินการตรวจ (  ที่มา อ้างอิงตาม มอก.2346-2550        ·     ฟอร์มาลดีไฮด์ หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฟอร์มาลีน”  คือสารเคมีทำให้ผ้าฝ้ายเรียบ รีดง่าย ยับยาก ยังผสมในสีทาบ้าน พลาสติก รวมถึงการดองศพ ฟอร์มาลดีไฮด์ที่สะสมอยู่ในผ้าจะระเหยออกมาในอากาศส่งผลต่อระบบประสาท ระคายผิวหนัง ทางเดินหายใจ และเป็นต้นเหตุของมะเร็งได้> ปริมาณต้องน้อยกว่า 75 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (เสื้อผ้าสำเร็จรูปชนิดที่ 2)         ·     ค่าความเป็นกรด – ด่างในสิ่งทอ หรือ pH ของผลิตภัณฑ์สิ่งทอเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญ สำหรับผิวหนังมนุษย์ที่มีความเป็นกรดอ่อนๆ เพื่อช่วยป้องกันเชื้อโรค แต่หากค่าความเป็นกรด-ด่าง จากเสื้อผ้าทำให้สมดุลผิวเสียไป ผิวหนังอาจระคายเคืองและเสียความสามารถในการปกป้องผิว ดังนั้นค่าความเป็น กรด-ด่าง ควรต้องอยู่ระหว่าง 4.0 ถึง 7.5 ตามมาตรฐานจึงจะมีความปลอดภัย             ·     สารเคมีในสีย้อม โรแมติกแอมีน 24 ชนิด เป็นกลุ่มสารอันตรายเมื่อสัมผัสผิวหนัง ทำให้ผิวเกิดอาการแพ้จนกระทั่งเกิดมะเร็งได้  บางชนิดทำให้เกิดความผิดปกติต่อพันธุกรรม และเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ>  ต้องมีไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม…………………………………………………………………………………………………..อ่านผลทดสอบกางเกงชั้นในชายสีดำ  ฉบับเต็มได้ที่  https://www.chaladsue.com/article/4145 #สิทธิผู้บริโภค#สารเคมีในชุดชั้นใน#FastFashion#WhoMadeMyClothes 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ผลทดสอบกางเกงชั้นในชายสีดำ

        เสื้อผ้ากับสารเคมีต่างๆ ในกระบวนการผลิตไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย หากสารเคมีตัวใดตัวหนึ่งที่อยู่ในข่ายต้องเฝ้าระวังมีค่าเกินมาตรฐานย่อมเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อเคยเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชาย (สีดำ) มาตรวจหาสารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง, ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) และค่าความเป็นกรด-ด่างไปแล้วครั้งหนึ่ง ในฉลาดซื้อฉบับที่ 149 ในปี 2556          อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพจากเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะกางเกงชั้นในชายที่มีพื้นผิวสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ซึ่งดำเนินโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมกับ สสส. จึงจัดทำทดสอบเรื่องกางเกงชั้นในชาย (สีดำ) อีกครั้ง โดยเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชายอชนิดสีดำ จำนวน  11 ตัวอย่าง เป็นสินค้าที่มีทั้งที่ผลิตในประเทศไทยและนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อดำเนินการตรวจหา สารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง (สีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน) , ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) และ ค่าความเป็นกรด-ด่าง อีกครั้งเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องสรุปผลการทดสอบ        ผลการทดสอบกางเกงชั้นในชาย (ชนิดสีดำ) 11 ตัวอย่าง        ·     มี 3  ตัวอย่างที่ตรวจพบ สารเคมีในสีย้อม แอโรแมติกแอมีน คือ  กางเกงใน GIORDANO,  กางเกงใน Me-Style และกางเกงใน DOUBLE GOOSE (ห่านคู่)  โดยสารที่ตรวจพบคือ 4,4'-Diaminodiphenylmethane (1 ใน 24 ตัวตาม มอก. 2346-2550) ปริมาณที่พบเกินมาตรฐาน คือ  ยี่ห้อ GIORDANO พบปริมาณ 61.40 มก./กก. ยี่ห้อ Me-Style พบ 59.89 มก./กก.  สำหรับ DOUBLE GOOSE (ห่านคู่) พบ 14.55 มก./กก. ไม่เกินค่ามาตรฐาน        ·     ตัวอย่างที่พบค่าความเป็นกรด – ด่างในสิ่งทอสูงคือ  Me-Style มีค่ากรด - ด่าง 7.26  แต่ไม่เกินมาตรฐาน (มาตรฐานคือช่วงระหว่าง 4-7.5)           ·     ทั้ง 11 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 สั่งซื้อกางเกงออนไลน์ใส่ไม่ได้เพราะมันคือกางเกงเด็ก

        การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์นั้น แม้จะเลือกซื้อจากเว็บขายสินค้าของบริษัทที่มีชื่อเสียง ก็ยังคงต้องรอบคอบ และอย่ารีบร้อน มิฉะนั้นจะยุ่งยากทั้งการขอเปลี่ยนสินค้าหรือขอเงินคืน        คุณภูผา ท่องเว็บไซต์ขายสินค้าเพราะต้องการหาของขวัญวันเกิดให้พี่สาวคุณบุปผา ทันใดนั้นก็สะดุดตาเข้ากับกางเกงตัวหนึ่ง ที่ปักลายแบบที่คุณพี่สาวชอบ จึงคลิกเข้าไปดูรายละเอียดทันที “แหม ราคาดีมาก” เลยรีบกดสั่งซื้อเนื่องจากทางหน้าเว็บบอกว่า ราคาลดไปถึง 30 %          ภูผาสั่งซื้อด้วยวิธีการเก็บเงินปลายทาง ไม่กี่วันต่อมาเมื่อพนักงานขนส่งนำพัสดุมาให้ ภูผาก็รีบแกะถุงเพื่อเตรียมห่อของขวัญให้คุณพี่สาว “อ้าว นี่มันกางเกงเด็กนี่นา”  จึงรีบโทรศัพท์ไปแจ้งกับคอลเซ็นเตอร์ของเว็บไซต์ที่ขายเสื้อผ้าแห่งนั้น         เขาแจ้งพนักงานว่า การแสดงภาพสินค้าในเว็บไซต์ไม่มีตรงไหนบอกเลยว่า เป็นกางเกงของเด็ก ไซส์ที่ให้เลือกก็เป็นเบอร์อย่างไซส์ฝรั่ง คือ 2 4 6 8 เขาก็เข้าใจว่าเบอร์ที่เลือกให้พี่สาวคือเบอร์ 6 ต้องพอดีกับพี่สาวแน่ๆ เพราะเป็นไซส์กางเกงที่พี่สาวใส่อยู่ เขาอยากขอเปลี่ยนสินค้าได้หรือไม่ แต่พนักงานคอลฯ แจ้งว่า “กางเกงตัวนี้เป็นสินค้าราคาพิเศษไม่สามารถแลกหรือเปลี่ยนคืนเงินได้นะคะ” ภูผาจึงต่อรองขอตนเองลองคุยกับผู้จัดการได้ไหม ตนเองไม่ได้ต้องการเงินคืนแต่อยากขอซื้อสินค้าใหม่แล้วเพิ่มเงินจากยอดเดิมที่จ่ายไปได้ไหม (ก็ชอบกางเกงตัวนี้นะ) พนักงานคอลฯ ก็ตอบเหมือนเดิมว่า เป็นนโยบายของบริษัท ถ้าเป็นสินค้าลดราคา ไม่สามารถเปลี่ยนได้ค่ะ        ภูผาจึงมาปรึกษากับเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเองพอจะทำอะไรได้บ้างไหมแนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีคุณภูผา ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิได้แนะนำ ให้ทำหนังสือส่งถึงบริษัทเพื่อแจ้งขอคืนเงินพร้อมส่งสินค้าไปยังบริษัทตามสิทธิผู้บริโภคอ้างอิง  พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ซึ่งคุณภูผาก็ได้ดำเนินการตามคำแนะนำของมูลนิธิฯ           ต่อมาทางบริษัทได้ติดต่อกลับมาหาคุณภูผาว่า ทางบริษัทจะให้การชดเชยเป็นส่วนลด และลูกค้าสามารถนำส่วนลดนี้กลับมาซื้อสินค้าที่บริษัทใหม่ได้ ทั้งนี้ยังบอกด้วยว่า กางเกงแบบที่คุณภูผาสั่งซื้อมีแบบของผู้ใหญ่ด้วยนะคะ  ลูกค้าใส่กางเกงเบอร์อะไร คุณภูผาจึงตอบไปว่า เบอร์เอสหรือเอ็ม ซึ่งทางบริษัทวางสายไปสักพักและโทรกลับมาใหม่ว่า ไม่มีขนาดที่บอกสินค้าหมด คุณภูผาจึงยืนยันไปว่า ถ้างั้นขอเงินคืน พนักงานบริษัทแจ้งว่า จะต้องนำเรื่องกลับไปขออนุมัติกับหัวหน้าก่อนว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ คุณภูผารู้สึกร้อนใจจึงถามกับทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิฯ ว่า ถ้าบริษัทไม่คืนเงินเราจะทำอะไรเพิ่มได้ไหม         ผู้บริโภคสามารถดำเนินการได้โดยใช้สิทธิเลิกสัญญา กล่าวคือให้ส่งสินค้าคืนไปยังผู้ประกอบธุรกิจ หรือเก็บสินค้าไว้ภายในระยะเวลา 21 วันนับแต่วันที่ใช้สิทธิเลิกสัญญา และจะต้องคืนสินค้าให้ผู้ประกอบธุรกิจ โดยให้มารับสินค้าที่ภูมิลำเนาของผู้บริโภค หรือส่งสินค้าคืนทางไปรษณีย์โดยเรียกเก็บเงินปลายทาง ตามคำขอของผู้ประกอบการ และผู้บริโภคมีสิทธิยึดหน่วงสินค้าไว้ได้จนกว่าจะได้รับคืนเงินที่ผู้บริโภคจ่ายไปเพื่อซื้อสินค้านั้น เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาผู้ประกอบธุรกิจจะต้องคืนเงินเต็มจำนวน ภายในกำหนดเวลา 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา (พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง)         แต่ยังไม่ทันจะเตรียมตัวฟ้องร้อง บริษัทก็โทรมาแจ้งคุณภูผาว่า บริษัทจะคืนเงินให้ เป็นอันว่าจบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 กระแสในประเทศ

 ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2554 สวยด้วยแพทย์...ก็ยังมีเสี่ยง ใครที่อยาก “สวยด้วยแพทย์” ต้องอ่านข่าวนี้ให้ดีๆ เมื่อคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก. คปภ.) ได้ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สำหรับเสริมความงามที่นำเข้าอย่างผิดกฎหมายและไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. ภายในพงศักด์คลินิก สำนักงานใหญ่ใน จ.ระยอง ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดได้ล้วนเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความสวยความงาม ไม่ว่าจะเป็น  ยาฉีดโบท็อกซ์ , ยาฉีดฟิลเลอร์ เสริมจมูก เสริมคาง, ยาฉีดกลูตาไธโอน, ยาฉีดพลาเซนต้า หรือรกแกะ, ยาฉีดแอลคานีทีน และยาฉีดวิตามินซีผสมคอลลาเจล นอกจากนี้ยังมียาลดความอ้วน รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการเสริมความงาม เช่น เครื่องนวดเย็น เครื่องสลายไขมัน เครื่องยิงเลเซอร์ รวมมูลค่าสินค่าทั้งหมดกว่า 20 ล้านบาท อย.ฝากเตือนและขอความร่วมมือไปยังคลินิกเสริมความงามทั้งหลาย อย่าใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจาก อย. เพราะจะทำให้เกิดอันตรายกับผู้ที่มาใช้บริการอย่างที่เคยเห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ อย่างกรณีการฉีดฟิลเลอร์ที่ว่าสามารถช่วยเรื่องริ้วรอยบนใบหน้านั้น เคยมีข้อมูลจากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยว่า เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมาว่า มีผู้ที่ได้รับผลร้ายข้างเคียงจากการฉีดฟิลเลอร์จนทำให้ตาบอดจำนวนถึง 3 คน นอกจากนี้ฟิลเลอร์ยังอาจมีผลต่อสมองในระยะยาว หากฉีดในปริมาณมากหรือฉีดไม่ถูกวิธี คนที่อยากจะสวยทางลัดต้องศึกษาข้อมูลให้ดี ว่าการเสริมความงามแต่ละประเภทมีผลเสียหรือผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง ความน่าเชื่อถือของสถานบริการมากน้อยแค่ไหน และเรื่องผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ต้องให้แน่ใจว่าได้รับรองจากทาง อย.--------------------   ชอบใส่กางเกงฟิตมีสิทธิปวดหลัง ตอนนี้แฟชั่นกางเกงรัดรูป ไม่ว่าจะเป็นกางเกงขาเดฟ สกินนี่ หรือเลกกิ้ง กำลังได้รับความนิยม ฮิตใส่ทั้งหนุ่มๆ และสาวๆ แต่ความสวยความเท่ก็อาจกลายเป็นผลเสียต่อสุขภาพ เมื่อคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำเสนอผลการวิจัยที่น่าสนใจในหัวข้อที่ว่า “การสวมกางเกงขายาวแบบรัดรูปมีผลต่อองศาการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังส่วนเอวและการทำงานของกล้ามเนื้อลำตัว” ซึ่งข้อมูลจากการวิจัยพบว่า ขณะนี้มีวัยรุ่นในภาคอีสานกว่า 80% เป็นโรคปวดหลัง โดยส่วนใหญ่นิยมนุ่งกางเกงรัดรูปเอวต่ำ สำหรับวิธีการศึกษาในครั้งนี้ทำโดย ให้อาสาสมัครทำกิจกรรม 3 ประเภท คือ การนั่งยองๆ แล้วทำกิจกรรมต่างๆ การลองให้ยกของขึ้นจากพื้น และการนั่งเอื้อมมือไปหยิบวัตถุที่อยู่ด้านหน้า โดยใส่กางเกงขายาวแบบรัดรูป เทียบกับกางเกงขายาวแบบสวมใส่สบาย โดยอาสาสมัครจะได้รับการวัดองศาการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังระดับเอวและวัดศักย์ไฟฟ้าของกล้ามเนื้อลำตัวไปพร้อมกัน เพื่อเปรียบเทียบผลระหว่างกางเกงขายาวทั้งสองแบบ ซึ่งกางเกงขายาวแบบรัดรูป จะจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อสะโพก ส่งผลให้องศาการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังระดับเอวเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ การทำงานของกล้ามเนื้อหลังลดลง และทำให้ผู้สวมใส่เกิดความไม่สบายที่บริเวณหลังส่วนล่าง เมื่อเปรียบเทียบกับกางเกงขายาวแบบสวมใส่สบาย ------------------------------------------------   ลูกชิ้น (ต้อง) ไร้สารกันบูด คนที่ชอบลูกชิ้นรู้กันหรือยังว่า ลูกชิ้นที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นเนื้อ ลูกชิ้นไก่ ฯลฯ ถูก อย. ประกาศให้เป็นอาหารที่ห้ามใช้สารกันบูด(เว้นแต่ขออนุญาตก่อน) แต่ก็ยังมีผู้ผลิตบางรายที่ยังคงใส่สารกันบูดในลูกชิ้น จากการสำรวจตลาดของ อย. พบลูกชิ้นยี่ห้อ “หมูสยาม” มีวัตถุกันเสียชนิดกรดเบนโซอิกใน 3 ตัวอย่าง คือ ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นเอ็นหมู และลูกชิ้นเนื้อวัว พบกรดเบนโซอิกปริมาณ 3,745, 4,731 และ 4,770 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมตามลำดับ “หมูสยาม” ทั้งลูกชิ้นเอ็นหมู และลูกชิ้นเนื้อวัว จึงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งทาง อย. ได้ทำการลงโทษผู้ผลิต ระงับการผลิต และเรียกคืนผลิตภัณฑ์ทั้งหมดออกจากตลาดแล้ว------------------- “ตัดสัญญาณ คิดเงินผิด โทรไม่ติด” ปัญหา (ที่ยัง) ยอดฮิตของคนใช้โทรศัพท์นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวง กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยผลการร้องเรียนของผู้บริโภค ในปี 2554 ซึ่งมีจำนวนเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 4,615 เรื่อง เข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาแล้ว 2,077 เรื่อง คิดเป็น 45% ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จจำนวน 1,627 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 75% อินเตอร์เน็ต 19% โทรศัพท์พื้นฐาน 3.9% โทรศัพท์สาธารณะ 2.1% บริษัทผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์ทั้ง เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ และ ฮัทช์ ต่างก็ได้รับการร้องเรียนในหลายๆ เรื่อง ที่มากที่สุดคือ การกำหนดระยะเวลาของบัตรเติมเงินที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีเรื่อง คิดค่าบริการผิดพลาด และมาตรฐานการให้บริการ เช่น สัญญาณไม่ดี ไม่ชัด หลุดบ่อย ปัญหาเกี่ยวกับการใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย ถูกระงับบริการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ถูกยึดเลขหมายแล้วนำไปจำหน่ายให้ผู้บริโภครายใหม่ก่อนครบ 180 วัน ไม่สามารถใช้บริการที่สมัครได้ เปลี่ยนเงื่อนไขบริการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าใครที่มีปัญหาเรื่องบริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต สามารถติดต่อสอบถามไปยั งบริการ Call Center ของแต่ละค่ายผู้ให้บริการ หรือที่ กสทช. โทร.1200-----------------------------------------------------------------------   สรุปปัญหาผู้บริโภค ปี 54ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้สรุปสถานการณ์เรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคในปี 2554 ที่ผ่านมา โดยมีเรื่องร้องเรียนเข้ามายังศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ทั้งสิ้น 895 กรณี และยังมีการร้องเรียนผ่านเครือข่ายผู้บริโภคในส่วนภูมิภาคอีกจำนวนหนึ่ง โดยปัญหาหลักๆ ที่มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ยังคงหนีไม่พ้นปัญหาหนี้บัตรเครดิต ปัญหาด้านสินค้าและบริการ ปัญหาเรื่องผลิตภัณฑ์อาหาร และปัญหาด้านการบริการสุขภาพและสาธารณสุข ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร หลักๆ จะเป็นเรื่องหนี้บัตรเครดิต มีตั้งแต่ปัญหาเรื่องใบแจ้งหนี้ ที่บางบริษัทมีแต่ภาษาอังกฤษ ไม่แสดงรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่สามารถตรวจสอบได้ เหมือนจงใจให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน นอกจากนี้ผู้บริโภคมักจะถูกเชิญชวนกึ่งบังคับให้ทำประกันแบบคุ้มครองหนี้สินแต่ไม่มีค่าสินไหมตอบแทน และการหลอกล่อให้ผ่อนชำระเงินหนี้บัตรเครดิตในอัตราขั้นต่ำ ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ปัญหาด้านสินค้าและบริการ ปัญหาด้านการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร ยังคงเป็นเรื่องของประสิทธิภาพและคุณภาพของสินค้าและบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความไม่ชัดเจนของข้อมูลบนฉลากที่อ่านยากหรือไม่มีข้อมูลภาษาไทย ด้านการบริการก็มักขาดความจริงใจหรือเอาเปรียบผู้บริโภค ส่วนปัญหาด้านบริการสุขภาพ หนีไม่พ้นเรื่องการขาดมาตรฐานในการรักษาพยาบาล ซึ่งเกิดจากการที่มีการแบ่งสิทธิการรักษาพยาบาลออกเป็นหลายประเภท ทั้งระบบประกันสังคม ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง และระบบเฉพาะสำหรับข้าราชการ กลายเป็นปัญหาโดยเฉพาะกับโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งไม่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยที่ใช้บัตรประกันสุขภาพ นอกจากนี้โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งยังมีการโยกย้ายสิทธิของผู้ใช้บริการโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบ ด้านการฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคนั้น ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคในเรื่องการฟ้องคดี ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีผู้บริโภค โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุรถโดยสาร ซึ่งปี 54 ที่ผ่านมามีการฟ้องร้องทั้งสิ้น 124 คดี ผลคดีสิ้นสุดแล้ว 108 คดี สามารถเรียกร้องค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายได้ทั้งสิ้น 27,244,803.39 บาท จากปัญหาต่างๆ ที่พบทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการฟ้องคดีของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคให้มีข้อมูลและรู้เท่าทันการถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งเชื่อว่าถ้าหากมีองค์การอิสระผู้บริโภค จะสามารถทำหน้าที่ทั้งเผยแพร่ข้อมูล ให้ความเห็น และเสนอแนะแนวทางในการหาทางออกให้กับผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ควรมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ปรับปรุงพัฒนากฎหมายที่มีอยู่ในสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่สำคัญต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคให้มากที่สุด--------------------

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 ยีนส์ไฮเอนด์เจ้าไหน ใส่ใจสังคมกว่ากัน

  เดี๋ยวจะหาว่าฉลาดซื้อไม่มีเรื่องตรงใจแฟชั่นนิสต้าเหมือนนิตยสารขายดีเล่มอื่นๆ คราวนี้เราเลยเอาใจบรรดาสาวกบลูยีนส์ กันด้วยการนำเสนอผลสำรวจความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทผู้ผลิตยีนส์เจ้าใหญ่ระดับอินเตอร์ที่คนไทยส่วนใหญ่ก็รู้จักกันดี (และอาจจะเคยควักกระเป๋า หรือแคะกระปุก อุดหนุนไปบ้าง) เช่น ลีวายส์ แรงเลอร์ ลี หรือดีเซล เป็นต้น   สมาชิกฉลาดซื้ออาจเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วว่ากว่าจะได้กางเกงยีนส์หนึ่งตัวนั้น มันได้ทำให้เกิดการใช้สารเคมีมากมายเพียงใด ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกผ้าย มาจนถึงการกัด/ย้อมสี และการฟอก นี่ยังไม่นับกระบวนการทำให้ยีนส์ดูเหมือนผ่านการใช้งานอย่างสมบุกสมบัน ซึ่งต้องใช้แรงงานคนและเทคนิควิธีการที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสักเท่าไร   แล้วสารเคมีที่ว่านี้ถูกจัดการอย่างไร ได้รับการบำบัดก่อนที่มันจะถูกปล่อยลงแหล่งน้ำหรือไม่ พนักงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การนำผ้าเดนิมม้วนมหึมามาตัดตามแบบ เย็บประกอบเป็นกางเกง รีดตะเข็บ ฟอก ย้อม ทำให้เก่า /ยับ/ ขาด (และอื่นๆ ตามความต้องการของดีไซเนอร์) ไปจนถึงการบรรจุส่งไปยังร้านค้าปลีกนั้น เขาได้รับการดูแลอย่างไร ได้หยุดพักผ่อนบ้างหรือไม่   ที่สำคัญบริษัทข้ามชาติที่ทำกำไรได้มากมายในแต่ละปีจากการจำหน่ายยีนส์มีราคาเหล่านี้มีความจริงใจที่จะรับผิดชอบต่อสังคม และเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้สังคมได้รับรู้มากน้อยเพียงใด คำตอบมีอยู่ในผลการสำรวจซึ่งจัดทำโดยองค์การทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research and Testing) ในหน้าถัดไป   การเก็บข้อมูลการสำรวจ รวมถึงการเยี่ยมชมโรงงานและสัมภาษณ์พนักงาน (สำหรับบริษัทที่ให้ความร่วมมือ)ครั้งนี้ทำในระหว่างเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2554ทีมสำรวจส่งแบบสอบถามไปยังบริษัทผู้ผลิตยีนส์ทั้งหมด 15 แห่ง   มี 7 บริษัทที่ตอบกลับมาและยินดีให้เข้าเยี่ยมชมโรงงาน ได้แก่ คิก  ลีวายส์  นูดียีนส์  เอชแอนด์เอ็ม  แจ็คแอนด์โจนส์  จีสตาร์ รอว์  และซารายีนส์   อีก 8 บริษัทที่ไม่ส่งคำตอบกลับมาได้แก่  ดีเซล  ลี  แรงเลอร์  ฮิวโก้ บอส  ซาลซ่า  กูยิชิ (ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการผลิตยีนส์จากฝ้ายออกานิก) ฟริตซ์ยีนส์ และเซเว่นฟอร์ออลแมนคายนด์ น้ำหนักในการให้คะแนนมีดังนี้ ร้อยละ 35 นโยบายด้านสังคม ในเรื่องสายการผลิต เช่นแรงงานสัมพันธ์  ชั่วโมงทำงาน การดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน การไม่เลือกปฏิบัติ การไม่ใช้แรงงานเด็ก เป็นต้น ร้อยละ 25 นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ในสายการผลิต เน้นการจัดการกับมลภาวะของบริษัทที่รับจ้างผลิต ร้อยละ 15 นโยบายของบริษัทโดยรวมเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม นโยบายและเงื่อนไขการจ้างผลิต ข้อปฏิบัติทางสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยีนส์ ร้อยละ 15 ความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูลต่อสังคม ได้แก่การให้ความร่วมมือตอบแบบสอบถามและอนุญาตให้เยี่ยมชมโรงงานร้อยละ 5 การดูแลพนักงานภายในบริษัท        ร้อยละ 5 ผู้บริโภคและสังคม ในการสำรวจ ครั้งนี้ มีการเก็บตัวอย่างกางเกงยีนส์ของแต่ละยี่ห้อไปตรวจหาสารเคมีตกค้างด้วยเราพบสารหนูในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายใน ตัวอย่างกางเกงยีนส์จาก 3 ยี่ห้อ ได้แก่  ลี ลีวายส์ และเอชแอนด์เอ็มแต่พบทองแดงในปริมาณที่เกินมาตรฐานสำหรับเสื้อผ้าที่ต้องสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง ซึ่งกำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สำหรับผู้ใหญ่ ในตัวอย่างกางเกงยีนส์ยี่ห้อแรงเลอร์ อาจจะเกิดจากการกำจัดไม่หมดในขั้นตอนการซัก  ทองแดงนั้นถ้าได้รับมากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อตับ   แต่นี่คือการทดสอบจากยีนส์ที่ออกจากโรงงานมาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการใช้สารเคมีในการผลิต ----  กว่าจะได้เป็นยีนส์ 1. การปลูก อย่างที่รู้กันว่าขั้นตอนนี้ต้องใช้น้ำ ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงปริมาณไม่น้อย ร้อยละ 10 ของสารเคมีปราบศัตรูพืชที่ใช้ทั้งหมดในโลก ใช้ในการปลูกฝ้ายนั่นเอง   2. การขนส่ง ฝ้ายนั้นจัดเป็นนักเดินทางตัวยงเลยทีเดียว ตั้งแต่จากไร่ฝ้ายไปยังโรงปั่น โรงทอ โรงงานเย็บ จนเข้าไปเก็บตัวในโกดัง และอาจจะต้องขึ้นเครื่องบินหรือลงเรือข้ามประเทศ ไปพักในโกดังต่างชาติ จากนั้นไปโชว์ตัวในร้านค้าปลีก จนกระทั่งผู้บริโภครับกลับบ้านไปอยู่ด้วย   3. การปั่นด้าย ขั้นตอนนี้ก็มีการบริโภคพลังงานและทำให้เกิดมลภาวะซึ่งมีผลต่อชั้นโอโซน และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แถมยังต้องใช้สารเคมีปริมาณมากเพื่อทำความสะอาดเมล็ดฝ้ายให้สะอาดเอี่ยมไม่มีหญ้าหรือทรายปะปนแต่สิ่งทอมักมีการปนเปื้อนของ พาราฟิน ขี้ผึ้งหรือน้ำมัน และกาว ซึ่งเป็นตัวช่วยในการปั่นด้าย โดยทั่วไปมันควรหลุดออกไปเมื่อผ่านการซักล้างนอกจากนี้ยังต้องมีสารเคมีบางชนิดที่ต้องใส่ลงไปเพื่อช่วยให้ผ้านุ่มและติดสีได้ดีขึ้นอีกด้วย   4. การทอเป็นผืนผ้า ด้ายจะถูกย้อมเป็นสีครามด้วยสีสังเคราะห์ ขั้นตอนการย้อมนี้เองที่เป็นสิ่งที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด แม่น้ำในเมืองทวากันในเม็กซิโกที่เคยเป็นศูนย์กลางการผลิตยีนส์ในยุค 90 นั้นได้กลายเป็นสีน้ำเงินไปแล้วการย้อมผ้านั้น มักทำในประเทศที่กฎหมายไม่ค่อยเข้มงวดในอัฟริกา อเมริกาใต้ และจีน น้ำเสียจากโรงงานมักจะถูกปล่อยลงในแม่น้ำโดยไม่ผ่านการบำบัดสีย้อมทำให้เกิดอาการแพ้ เป็นสารก่อมะเร็ง และในประเทศเหล่านี้คนที่ทำงานย้อมผ้ามักจะไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่ดีพอ   5. ขั้นตอนการเย็บประกอบขึ้นเป็นยีนส์ (รวมการตกแต่ง ตอกหมุด การทำซับในด้วย) ขั้นตอนนี้ก็ต้องใช้ทั้งไฟฟ้า น้ำและมีส่วนทำให้เกิดน้ำเสียได้เช่นกันการทำให้มันดูเก่า ซีด ยับ ถลอก ขาด หรือเปื้อน ล้วนแล้วแต่ต้องทำด้วยฝีมือมนุษย์เท่านั้น ขั้นตอนนี้จึงอาจเป็นอันตรายต่อตัวคนที่ทำหน้าที่ดังกล่าวด้วยเมื่อยีนส์มาถึงเราแล้ว เราก็ยังต้องใช้พลังงานในการซัก ปั่นแห้ง และรีดต่อไป นอกจากนี้เราก็มีส่วนในการสร้างมลภาวะด้วยการใช้ผงซักฟอกสำหรับเครื่องซักผ้าที่มักจะมีไนเตรตและฟอสเฟตซึ่งเป็นอาหารของเชื้อราที่เป็นอันตรายต่อพืชและสัตว์ในน้ำสุดท้าย เมื่อยีนส์หมดอายุขัย มันก็มักจะถูกนำไปเผาหรือนำไปถมดิน   การผลิตกางเกงยีนส์หนึ่งตัวใช้น้ำประมาณ 2,866 แกลลอน ซึ่งเป็นสองเท่าของปริมาณน้ำที่ใช้ในการซักยีนส์ตัวดังกล่าวเดือนละครั้งเป็นเวลา 5 ปี  - ข้อมูลจากหนังสือเรื่อง The Green Blue Book  โดย Thomas M. Kostigen   ปัจจุบันหลายแบรนด์ดังเริ่มหันมาใช้ฝ้ายที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี หรือที่เรียกกันว่าฝ้ายออกานิกเป็นวัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้าแล้ว ราคาไม่ถูกนักแต่ถือว่าเราได้แสดงความรับผิดชอบในส่วนของผู้บริโภค แทนที่จะมีหลายตัวเราก็อาจจะซื้อยีนส์จากฝ้ายออกานิกเพียงตัวเดียว เป็นต้น   เล็กๆน้อยๆ เพื่อความเก๋าอย่างพอเพียง  • เชิดใส่ ! ยีนส์ที่ดูเก่ายับเยินตั้งแต่อยู่ที่ร้าน เพราะคุณอยากเป็นคนทำให้มันเก่าไปเองมากกว่า และเพราะขั้นตอนการทำให้มันดูเซอร์นั้น ต้องขอบอกว่ามันไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเลยจริงๆ • ไม่ซื้อยีนส์ใหม่เพียงเพราะมันติดป้ายลดราคา คุณจะใส่ตัวเดิมจนกว่ามันจะเก่าไปพร้อมกับตัว เบื่อขึ้นมาก็เอาไปแลกกันใส่กับเพื่อน หรือบริจาคก็ได้• ใส่กางเกงยีนส์มากกว่าหนึ่งครั้งก่อนจะนำมันไปซัก• ซักยีนส์ที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศา รวมกับกางเกงผ้าหนาอีกหลายตัวให้พอดีโหลดซักของเครื่องซักผ้า• ใช้ผงซักฟอก เน้นว่าผง เพราะมันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าน้ำยาซักผ้าหรือผงซักฟอกสูตรน้ำ และไม่ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม• ใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์เสมอ เพราะมันทำให้กางเกงยีนส์ตัวเก่งทั้งแห้งและหอม• หาซื้อกางเกงยีนส์มือสองมาใส่ เพื่อจะได้ลุคเก่าๆ เซอร์ๆ เพราะมันถูกดีแถมนุ่มอีกด้วย • ซักเสื้อผ้าที่ซื้อมาใหม่ทุกครั้งก่อนสวมใส่ นอกจากจะไม่โดนเพื่อนล้อว่าบ้าเห่อแล้ว ยังจะไม่ต้องคันยุบยิบเพราะแพ้สารเคมีที่ยังติดค้างอยู่บนเนื้อผ้าด้วย ___   เศรษฐศาสตร์ยีนส์  เรามาดูโครงสร้างราคาของยีนส์กันใกล้ๆ ว่าเงินที่ออกจากกระเป๋าเรา ไปเข้ากระเป๋าใครบ้าง 50% > ร้านค้าปลีก และภาษีมูลค่าเพิ่ม 24%  > แบรนด์ การจัดการและการโฆษณา13%  > การขนส่ง บรรจุหีบห่อ12%  > ผ้าและโรงงานผลิต1% > แรงงาน----   ข่าวล่ามาเร็ว เขาบอกว่าด้วยค่าแรงที่สูงขึ้นและฝ้ายซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักนั้นหาได้ยากขึ้น จะทำให้ยีนส์มีราคาแพงขึ้น แม้แต่ของเมดอินไชน่าก็จะไม่ถูกเหมือนเดิม ผู้เชี่ยวชาญด้านยีนส์ที่ฮ่องกงให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ เดอะเทเลกราฟ ของอังกฤษว่า ราคาฝ้ายได้ถีบตัวขึ้นมาถึงปอนด์ละ 60 บาทเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จากราคาปอนด์ละ 20 บาทในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว  ----  ภูมิศาสตร์ยีนส์ ศูนย์กลางการผลิตยีนส์ของโลกอยู่ที่เมืองซินตัง เรียกว่าถ้ายีนส์ที่คุณสวมอยู่ไม่ได้ผลิตมาจากที่นี้ก็ต้องทำจากผ้าเดนิมที่ทอออกมาจากที่นี่อยู่ดี ที่นี่มีตั้งแต่อุตสาหกรรมครอบครัวไปจนถึงโรงงานที่ผลิตยีนส์ออกมาได้วันละ 60,000 ตัว แต่ละปีมีกางเกงยีนส์เดินทางออกจากเมืองนี้ไปไม่ต่ำกว่า 260 ล้านต้ว (ไม่มากมาย แค่ 1/3 ของยีนส์ที่ผลิตได้ทั้งหมดในโลกเท่านั้น)   ฉลาดซื้อได้มีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนจากเครือข่ายแรงงานนอกระบบ 2 ท่าน เลยมีเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆมาฝากกัน  --- คุณกุศล หนูเดช  อายุ 54 ปี อดีตคนเคยเย็บยีนส์ฟอก ในโรงงานย่านดินแดง ปัจจุบันรับงานเย็บเสื้อแบบขายประตูน้ำ เริ่มตั้งแต่สร้างแพทเทิร์น ตัดผ้า เย็บต้นแบบ และกระจายงานให้คนในซอย โรงงานของเถ้าแก่เป็นตึกแถวสองชั้น ชั้นล่างทำหน้าที่ตัดผ้าออกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ของยีนส์ คุณกุศลทำงานอยู่ชั้นสอง ทำหน้าที่เย็บประกอบให้เป็นตัวยีนส์ เคยเย็บได้ประมาณวันละไม่ต่ำกว่า 10 ตัว (ทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม) จากนั้นจะมีรถมารับไปที่โรงงานฟอก ซึ่งบางครั้งจะมีการส่งกลับมาซ่อมหูเข็มขัดอีกเพราะบางครั้งด้ายจะขาดหลังการฟอก  ปัจจุบันค่าตอบแทนในการเย็บกางเกงยีนส์หรือกางเกงนักศึกษา อยู่ที่ประมาณตัวละ 30 – 40 บาท   ผลข้างเคียงจากการทำงานคือมีอาการแพ้ตามมือบ้างจากฝุ่นผ้า แต่ที่หนักเลยคือสีจากผ้าจะติดตามมือตามเสื้อผ้าทำให้เขียวปี๋กันหมด ในฐานะคนเคยเย็บยีนส์ เชื่อว่าการลงทุนสำหรับยีนส์ที่ตัดเย็บดีๆ ผ้านุ่มๆ สักตัว น่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 500 บาท ที่สำคัญ อย่าลืมดูตะเข็บ โดยเฉพาะตะเข็บเอวและส่วนที่เป็นหูเข็มขัดด้วยโดยส่วนตัวแล้วคุณกุศลไม่ชอบใส่ยีนส์เพราะรู้สึกอึดอัด เนื่องจากตัดเสื้อผ้าได้ เลยชอบตัดกางเกงใส่เองมากกว่า ขี้เกียจซักด้วย แต่ไฮไลท์มาอยู่ตรงลูกชายที่เป็นสาวกกางเกงยีนส์ และนิยมใส่หลายๆ เดือนก่อนซัก มีเรื่องเล่าว่ากางเกงที่ใส่ไม่ซักอยู่หลายเดือนนั้นมีร้านยีนส์ที่ตะวันนามาขอซื้อด้วยการแลกกับยีนส์ใหม่ 2 ตัวด้วย คุณสมชาย คำปรางค์   อายุ 61 ปี เคยดูแลการผลิตยีนส์ทุกขั้นตอนในโรงงานยีนส์สัญชาติไทยอยู่ 8 ปี ปัจจุบันทำธุรกิจครอบครัวซึ่งเคยรับผลิตเสื้อยีนส์แต่เปลี่ยนเป็นมาเป็นผ้ายืดแล้ว คุณลุงสมชายเคยทำเสื้อและแจ็คเก็ตยีนส์ ตั้งแต่ขั้นตอนการตัดผ้าและเย็บเสร็จเป็นตัวเสื้อ (แต่ส่งฟอกไปฟอกที่โรงงาน) เหตุที่เลิกเย็บผ้ายีนส์ไปเพราะมันหนัก ช่างที่บ้านไม่ค่อยถนัด เลยเปลี่ยนมาเป็นผ้ายืดดีกว่า ถามความเห็นเรื่องยีนส์ถูกจากจีนที่เข้ามาตีตลาดบ้านเรายีนส์จีนคุณภาพต่ำกว่า ลุงบอกว่าแบบอาจจะดูสวยแต่ต้องลองใส่ดูแล้วจะรู้ว่า ทรงไม่สวย เนื้อผ้า ด้ายทอ ไม่ดีเท่ายีนส์ไทย (แต่แกยอมรับยีนส์จากเกาหลี เพราะออกแบบได้ดี และ “ผ้าเขาดีกว่าเราจริงๆ” ยีนส์ขึ้นห้างโดยทั่วไป ต้นทุนค่าผ้ากับค่าแรง ตัวละไม่เกิน 350 บาท ยกเว้นยีนส์ที่เป็นของบริษัทต่างประเทศส่งวัตถุดิบเข้ามาตัดเย็บในเมืองไทย อาจจะมีต้นทุนไม่ต่ำกว่า 500 บาท  ไม่จำเป็นต้องราคาแพง แต่เวลาเลือกให้จับดูเนื้อผ้า ผ้ายีนส์ที่ดีจะต้องทอมาแน่น มีความละเอียดมาก ลองสวมดู ว่ากระชับ เข้ารูป เข้าทรงกับตัวเราดีหรือยัง   ลุงสมชายให้ข้อสังเกตว่า ยีนส์โรงงานเดียวกัน ถ้าทำมาคนละล็อตก็ไม่เหมือนกัน เพราะผ้าที่เข้าโรงงานมานั้นมากจากการทอคนละล็อตกัน บางล็อตทอมาแน่นดี บางล็อตพันด้ายมาหลวมไป บวกกับทอไม่ครบ 200 เส้นต่อหนึ่งตารางนิ้วอีก ซึ่งทำให้ยีนส์หดหลังการซักครั้งแรกนั่นเอง   ที่ลือกันมาว่ามียีนส์ปลอมนั้น เป็นเรื่องของ “ยีนส์ลดเกรด” คืออาจจะใช้แบรนด์เดิม แต่ในขั้นตอนต่างๆ มีการ “ลดต้นทุน” เช่น ลดเกรดของด้ายทอ จากฝ้ายร้อยเปอร์เซ็นต์ (Cotton 100%) ก็เปลี่ยนมาผสมโพลีเอสเตอร์ลงไปประมาณร้อยละ 20 - 30 หรือแทนที่จะทอด้วยเส้นใย 200 เส้นต่อตารางนิ้ว ก็ลดเหลือเพียง 180 เส้นหรือไม่เช่นนั้นก็ลดเกรดสีย้อม เป็นต้นส่วนขั้นตอนการใช้กระดาษทรายขัดให้ยีนส์ดูเก่านั้น ลุงบอกว่าเมื่อก่อนแถวบ้านก็มีแม่บ้านที่อยู่บ้านเฉยๆ รับงานมาทำกัน แต่ตอนนี้ก็เลิกไปหมดแล้วเพราะเขาทนฝุ่นกันไม่ไหว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point