ฉบับที่ 154 แก้ด้วยกลิ่นหอม

คราวที่แล้วว่าถึง คนที่แพ้ความหอม ซึ่งมีอยู่จริง(และมีทีท่าว่าจะมากขึ้น) แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า มนุษย์เราคงขาดความหอมไม่ได้ ด้วยตั้งแต่เริ่มมีอารยธรรมก็มีการบันทึกถึงเรื่องการใช้กลิ่นหอมเพื่อสร้างบรรยากาศ ซึ่งสมัยแรกๆ นั้นจะเป็นบรรยากาศของความขรึมขลังในเชิงศาสนา จากบันทึกของชาวอียิปต์ที่เผาไม้หอมเพื่อบูชาเทพเจ้า ยังมีการใช้กลิ่นจากพืชเพื่อความสดชื่น ด้วยการผสมน้ำมันนวดหรือผสมลงในอ่างแช่ ชาวกรีกเองก็ได้นำน้ำมันหอมระเหย มาใช้บำบัดรักษาโรค ชาวจีน ชาวอินเดีย ต้นสายอารยธรรมในภูมิภาคเอเชียก็มีบันทึกถึงการรักษาด้วยการใช้กลิ่นหอมเช่นกัน กลิ่นและเนื้อของน้ำมันหอมระเหยที่สามารถช่วยบรรเทาอาการไม่สบายต่างๆ ของร่างกายได้นี้ ในการแพทย์ทางเลือกยกให้เป็นศาสตร์หนึ่งเรียกกันว่า สุคนธบำบัด หรือ อะโรมาเธอราปี(aromatherapy)   อะโรมาเธอราปีคืออะไร อะโรมาเธอราปี (aromatherapy) มาจากรากศัพท์ 2 คำ คือ aroma ซึ่งหมายถึง กลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหย และ therapy ซึ่งหมายถึง การบำบัด จึงหมายถึง ศาสตร์ของการใช้น้ำมันหอมระเหยจากพืชเพื่อส่งเสริมให้สุขภาพจิตและสุขภาพกายให้ดีขึ้น ในอดีตหลายพันปีก่อน การใช้ประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยต่อร่างกายและจิตใจส่วนใหญ่มักจะทำโดยการ สูดดมและการใช้ผ่านผิวหนัง ซึ่งในกรณีการใช้ผ่านผิวหนังมักจะมีการเจือจางก่อนเสมอในน้ำมันพืช(เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยนั้นได้จากการสกัดสารหอมระเหยที่เข้มข้น ถ้าไม่เจือจางจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมากกว่าให้คุณ) น้ำมันหอมระเหย หรือ Essential Oil ที่จะนำมาใช้ในการรักษายังต้องผ่านการทำให้บริสุทธิ์และมีการควบคุมคุณภาพตั้งแต่การเพาะปลูกพืชที่จะนำมาสกัดน้ำมันหอม การสกัดซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ส่วนพวกน้ำหอมหรือเพอร์ฟูมจะไม่มีผลในการรักษายิ่งที่เป็นกลิ่นจากสารเคมีสังเคราะห์ Fragrance อันนี้ก่อให้เกิดอาการแพ้มากกว่าช่วยเรื่องรักษา การบำบัดหรือรักษาด้วยน้ำมันหอมระเหยมีด้วยกันหลายวิธี ทั้งการนวด อาบ ประคบ การสูดดม สูดไอน้ำ รวมถึงการผสมกับเครื่องหอมน้ำมันหอมและเครื่องสำอาง ซึ่งแต่ละวิธีต่างมีความเหมาะสมในการใช้แตกต่างกัน โดยหลักการสำคัญคือ เมื่อร่างกายได้รับสาระสำคัญ(สารออกฤทธิ์) จากน้ำมันหอมระเหยแล้วจะมีผลต่อระบบการทำงานในร่างกายที่ควบคุมระบบประสาทและการหลั่งฮอร์โมน (การสูดดมน้ำมันหอมระเหย โมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยจะซึมผ่านเยื่อบุช่องจมูกและส่งสัญญาณไปที่สมองหรือลงสู่ปอดและเข้าสู่กระแสเลือด หากได้รับผ่านทางผิวหนังก็จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปมีผลต่อระบบอวัยวะ ต่างๆ และถูกขับออกได้เช่นเดียวกับโมเลกุลของยา) น้ำมันหอมระเหยจึงถูกนำมาใช้บำบัดโรคที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และจิตใจ ตลอดจนการหลั่งฮอร์โมนบางชนิด ตัวอย่าง วิธีการนำน้ำมันหอมระเหยมาใช้ในการดูแลสุขภาพ 1. ใช้สูดหายใจโดยหยดน้ำมันหอมระเหย 1-2 หยด ใส่ผ้าเช็ดหน้าหรือน้ำร้อนสูดดมแก้หวัด คัดจมูก เช่น น้ำมันยูคาลิปตัส น้ำมันทรีทรี น้ำมันลาเวนเดอร์ เป็นต้น 2. ใช้ผสมในน้ำมันนวดตัวน้ำมันหอมระเหยไม่เกิน 2.5% ในน้ำมันเบส 3. ใช้ผสมน้ำมันอุ่นอาบหรือแช่ตัว หยดน้ำมันหอมระเหย 6-10 หยด ลงในอ่างน้ำอุ่นผสมให้น้ำมันกระจายทั่วอ่าง โดยค่อยๆ หยดทีละหยดใต้ก๊อกในขณะที่เปิดน้ำ 4. ใช้ประคบ หยดน้ำมันหอมระเหย 10 หยดในน้ำ 100 มิลลิลิตร ใช้ผ้าขนหนูซุบน้ำประคบบริเวณที่ต้องการ 5. ใช้ในการนั่งแช่ 2-3 หยดในน้ำประมาณนั่งท่วมเอว 6. ใช้ผสมน้ำแช่มือ 7. ใช้ในรูปสเปรย์ฉีดห้องหรือเตาเผาน้ำมันหอมระเหยแบบต่างๆ 8. ใช้ผสมในครีมและโลชั่น ผสมน้ำมันหอมระเหยในอัตราส่วน 0.5-1% ในครีมหรือโลชั่นเบส   ตัวอย่างการเลือกใช้นำมันหอมระเหย และข้อควรระวัง น้ำมันหอมระเหย คุณสมบัติ ข้อควรระวัง Holy Basil อบอุ่น กระตุ้น ด้านการอักเสบ ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ Bergamot เย็นสดชื่น มีชีวิตชีวา ชื่นชอบ ถูกแสงแดดจะเป็นผื่น Eucalyptus Radiata สดชื่น และกระตุ้น ปลอดภัยสำหรับเเด็ก Eucalyptus Citriodora สดชื่น และกระตุ้น - Frankincense สงบ อบอุ่น และมีชีวิตชีวา - Geranium Rose ปลอดโปร่ง ปรับสมดุล อาจก่อให้เกิดผื่นที่ผิวหนัง Grapefruit สดชื่น เย็น ฟื้นฟู - Jusmine (มะลิ) สดชื่น มีชีวิตชีวา สงบ กระตุ้นกำหนัด - Juniper อบอุ่น มีชีวิตชีวา ปลอดโปร่ง ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์และผู้ป่วยโรคไต Lavender สงบ เย็น สมดุล - Lemon บริสุทธิ์ สดชื่น ถูกแสงแดดจะเป็นผื่น Lemongrass (ตะไคร้) กระตุ้น มีชีวิตชีวา บำรุง อาจระคายเคืองผิวหนัง Orange (ส้ม) มีชีวิตชีวา อบอุ่น และสร้างเสริมความมั่นใจ - Peppermint สดชื่น กระตุ้น ปรับสมดุล อาจแพ้ได้ Rose Otto ร่าเริง เย็น และโล่ง ห้ามใช้ในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก Rosemary สดชื่น มีชีวิตชีวา ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคลมชัก และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง Rosewood หวาน อบอุ่น ปรับสมดุล - Sage บริสุทธิ์ และอบอุ่น ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์และผู้ป่วยโรคลมชัก Tea Tree แก้สิว และกลิ่นสงบ อาจแพ้ได้ Thyme กระตุ้น ร้อน และแห้ง ระวังในผู้ป่วยความดันสูง ที่มา : เอกสารประกอบการบรรยาย การประชุมวิชาการกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เรื่อง "Aromatherapy" โดย รศ.ดร.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ มหาวิทยาลัยรังสิต   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point