ฉบับที่ 222 กลิ่นกาสะลอง : กลิ่นหอมแห่งอดีตที่ตามหลอกหลอน

        เส้นทางการพัฒนาประเทศที่ครอบงำสังคมไทยมาเกินกว่ากึ่งศตวรรษที่ผ่านมานั้น เรามีแนวโน้มจะเชื่อและใฝ่ฝันถึงวิถีการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบพุ่งทะยานเป็นเส้นตรง จากสังคมที่ไร้ระเบียบค่อยๆ “กำลังพัฒนา” ไปสู่สังคมที่เป็นระบบระเบียบและเจริญทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ        บนเส้นกราฟการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยเยี่ยงนี้ ผู้คนจำนวนมากมักยอมรับกันว่า “เมื่อวานอาจจะดูสวยดี แต่วันนี้จักต้องสวยกว่าเมื่อวาน” และ “วันพรุ่งนี้ก็จะต้องสวยและดียิ่งๆ ขึ้นไปกว่าวันนี้และวันวาน”        และหากการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยสัมพันธ์กับเส้นทางเดินไปสู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าวันนี้และวันวานด้วยแล้ว ระบบคิดเรื่องความทันสมัยก็น่าจะก่อร่างมาจากสำนึกของผู้คนที่เชื่อว่า เวลาในชีวิตของคนเรามักจะดำเนินไปแบบเป็นเส้นตรง จากอดีตมาสู่ปัจจุบัน และจากปัจจุบันก็เคลื่อนไปสู่อนาคตอย่างไม่อาจผันแปรไปจากนี้ได้        ก็เหมือนกับตัวละครอย่าง “พิมพ์พิศา” ในเรื่อง “กลิ่นกาสะลอง” ที่ชีวิตดูจะดำเนินไปตามโลกทัศน์ของเวลาที่เดินทางเป็นเส้นตรงมาตั้งแต่เกิด พิมพ์พิศาหรือชื่อเล่นที่ถูกครอบครัวตั้งเอาไว้อย่างเก๋ไก๋ว่า “พริมพี่” เป็นคุณหมอสาวแสนสวยที่พบรักกับพระเอกหนุ่ม “ทินกฤต” ตั้งแต่ทั้งคู่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ จนกระทั่งเรียนจบมาเป็นหมอประจำโรงพยาบาลที่บิดาของนายแพทย์หนุ่มเป็นเจ้าของอยู่         เส้นทางชีวิตที่เป็นเส้นตรงและกำลังก้าวหน้าทั้งในเรื่องการงาน ความรัก และความมั่นคงทางเศรษฐกิจแบบนี้ ในตอนต้นก็ดูจะเป็นบทพิสูจน์ว่า สำนึกแห่งเวลาของปัจเจกบุคคลที่จะต้องดำเนินและเติบโตจากอดีตและปัจจุบันไปสู่อนาคตเช่นนี้ ก็น่าจะเป็นสัจธรรมที่ถูกต้องแล้วในความคิดของตัวละครคนรุ่นใหม่อย่างพริมพี่และทินกฤต         จนกระทั่งวันหนึ่งที่ทั้งพริมพี่และทินกฤตได้เดินทางไปดูที่ดินที่เชียงใหม่ ทินกฤตได้บังเกิดความรู้สึกคุ้นชินกับเรือนไม้โบราณในที่ดินผืนนั้น ไม่เพียงแต่จะเก็บเอามาฝันถึงบ่อยครั้ง แต่ในความฝันนั้น เขาก็มักจะได้กลิ่นดอกปีบหรือที่ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ดอกกาสะลอง ซึ่งหอมรวยรินและอวลอบอยู่ในห้วงสุบินดังกล่าว        ไม่เพียงแต่ชายหนุ่มที่ผูกพันอยู่กับกลิ่นดอกกาสะลองที่คลุ้งเคล้าอยู่ในฝันเท่านั้น ในส่วนของพริมพี่เอง การที่เธอได้กลับไปยังเรือนไม้หลังนั้น เธอก็ได้รับปิ่นเงินจากชายลึกลับคนหนึ่ง และการครอบครองปิ่นเงินดังกล่าวก็รบกวนจิตใจให้เธอหลับฝันประหลาดอยู่เนืองๆ ไม่แตกต่างจากทินกฤตหนุ่มคนรักเสียเลย         ปิ่นเงินกับกลิ่นดอกกาสะลอง อาจทำให้ตัวละครในเรื่องผูกโยงเข้าสู่โลกแห่งความฝันร่วมกัน แต่ในเวลาเดียวกันนั้น โลกของความฝันก็ค่อยๆ ฉายภาพเรื่องราวในชาติภพก่อน ที่เผยให้เห็นว่า ปัจจุบันขณะที่ทั้งทินกฤตและพริมพี่ดำเนินชีวิตอยู่นั้น ยังมี “เงาทะมึน” แห่งอดีตคอยหลอกหลอนอยู่เป็นเบื้องหลังตลอดเวลา        หากพุทธศาสนายืนยันในข้อเท็จจริงที่ว่า “มนุษย์เรามีกรรมเป็นเงาตามตัว” ดังนี้แล้ว แม้จะมาถือกำเนิดใหม่ในชาติภพร่วมสมัย แต่วัฏฏะแห่งกรรมในชาติปางก่อนก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ปัจจุบันมิอาจหลีกเลี่ยงไปได้เลย         ในอดีตชาตินั้น ทินกฤตก็คือ “ทรัพย์” หมอหนุ่มเชื้อสายจีนรูปงาม ที่ผูกพันรักใคร่อยู่กับ “กาสะลอง” หญิงสาวที่เคยช่วยชีวิตเขาไว้จากการพลัดจมน้ำ และที่สำคัญ กาสะลองก็คือพี่สาวฝาแฝดของ “ซ้องปีบ” ที่ในภพภูมิปัจจุบันกลับมาเกิดเป็นคุณหมอพริมพี่นั่นเอง         ซ้องปีบในชาติปางก่อนเป็นหญิงสาวที่เอาแต่ใจตัวเองอย่างร้ายกาจ และลึกๆ แล้วก็ยังอิจฉาริษยาแฝดผู้พี่อย่างกาสะลองสุดขั้วหัวใจ ยิ่งเมื่อเธอเองก็แอบหลงรักอ้ายทรัพย์อยู่ แต่หมอหนุ่มไม่ได้มีใจให้แต่อย่างใด ซ้องปีบจึงคิดแค้นและวางแผนจะทำลายความรักระหว่างหมอทรัพย์กับกาสะลองในทุกวิถีทาง         ไม่ว่าจะเป็นการอาละวาดอย่างคุ้มคลั่ง การสร้างเรื่องลวงโดยมี “นายมั่น” บิดาคอยให้ท้าย การใช้เสน่ห์ยาแฝด การวางแผนสลับตัวกับพี่สาว การทำร้ายทั้งกายและใจกับแฝดผู้พี่ ไปจนถึงการใช้เล่ห์กลกักขังกาสะลองไว้ในยุ้งข้าวให้ต้องเผชิญกับผู้ชายที่หมายข่มขืนหญิงสาว และต้องทุกข์ทรมานอยู่ในยุ้งข้าวที่กักขังนั้นจนหมดลมหายใจไปในที่สุด         แม้ตอนเป็นคนที่ยังมีชีวิตอยู่ กาสะลองจะเลือกถือคติประจำใจว่า “ได้แต่ยินยอมรับความเจ็บปวด” ไม่ว่าจะจากน้องสาว จากบิดาที่ลำเอียง หรือจากทุกคนที่คุกคามทำร้ายร่างกายและจิตใจของเธอ แต่ทว่า เมื่อตายไปแล้ว ความเจ็บปวดเมื่อครั้งเป็นคน ก็ได้กลายเป็น “แรงขับ” ให้วิญญาณกาสะลองเลือกลุกขึ้นมาทวงสิทธิ์และความยุติธรรมที่เธอไม่เคยได้รับมาเลยตลอดชีวิต แบบที่ผีกาสะลองเคยกล่าวว่า “ถ้ามีใครเลือกชีวิตตนเองได้ ก็ไม่ต้องทนทรมานแบบนี้”         ด้วยเหตุดังกล่าว ความทรงจำในอดีตที่ถูกหลงลืมไปของทั้งทินกฤตและพริมพี่ จึงถูกกาสะลองใช้กลิ่นดอกปีบเป็นสื่อที่ค่อยๆ กอบกู้สะกิดไฟล์ความทรงจำนั้นกลับคืนมา รวมไปถึงการใช้อำนาจในสร้าง “โลกเสมือน” ที่จับทินกฤตมากักกันไว้ในเรือนไม้โบราณ และจับพริมพี่มากักขังไว้ในรถยนต์ที่พลิกคว่ำจากอุบัติเหตุ        นัยหนึ่งก็ไม่ต่างจากการให้บทเรียนว่า ถ้าตัวละครทั้งสองกำลังมีความสุขสำราญกับเส้นกราฟที่พุ่งทะยานไปข้างหน้า พวกเขาและเธอก็ต้องไม่หลงลืมความจริงที่ว่า กำเกวียนกงเกวียนซึ่งเวียนหมุนมาจากอดีตชาติ ก็คือกรรมที่ต้องมีวันวนรอบมากำหนดความเป็นไปในชีวิตของผู้คนปัจจุบันด้วยเช่นกัน         และที่สำคัญ ไม่ใช่แค่ตัวละครเอกอย่างทินกฤตกับพริมพี่เท่านั้นที่จะมีกลิ่นหอมแห่งอดีตตามมาหลอกหลอนชีวิตในปัจจุบัน ตัวละครอื่นๆ รายรอบก็ถูกวาดวางให้มี “เงาทะมึน” แห่งอดีต ทำให้ต้องหมุนวนมาใช้ชีวิตร่วมกันอีกคำรบหนึ่ง ทั้ง “หมอภาคภูมิ” และ “วิจิตรา” เพื่อนรักของทินกฤตและพริมพี่ “ราเมศ” นายตำรวจที่มาสืบคดีรถคว่ำของพริมพี่ “นายแพทย์สุนทร” และ “พุดแก้ว” พ่อแม่ของพริมพี่ ตัวละครต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่มี “เงาแห่งกรรม” ที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าให้ได้เวียนกลับมาพบกันอีก ณ กาลปัจจุบัน         จนเมื่อตัวละครทั้งหลายเริ่มเข้าใจได้ว่า สิ่ง “ที่เป็นอยู่” ต่างมี “ที่เป็นมา” และ “ที่เป็นไป” ร้อยรัดไว้เป็นความสัมพันธ์ของอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต วิญญาณของกาสะลองจึงเลือกที่จะหลุดพ้นไปจากปัจจุบัน เพื่อไปรอคอยที่จะพบกับหมอทรัพย์หรือทินกฤตที่จะกลับมาเกิดอีกครั้งในภพชาติถัดไป        กลิ่นดอกกาสะลองที่หอมข้ามภพข้ามชาติเฉกเช่นนี้ จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากสำนึกความคิดแบบไทยๆ ที่ลึกๆ แล้วก็เชื่อว่า อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ไม่เคยมีเส้นแบ่งที่แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง เหมือนกับที่ทินกฤตหรือหมอทรัพย์ได้พูดกับกาสะลองว่า “ไม่ว่าผมจะอยู่ที่ไหน ผมก็คิดถึงที่นี่เสมอ...”

อ่านเพิ่มเติม >