ฉบับที่ 110 กลวิธีตุ๋นเงินทางโทรศัพท์

ถ้าคุณเห็นเบอร์ประหลาดแบบที่ชาวบ้านชาวช่องเขาไม่ใช้กันขึ้นโชว์บนโทรศัพท์ ขอเตือนอย่ายุ่งกับมันเด็ดขาด มิเช่นนั้นคุณอาจจะสูญเสียทรัพย์ได้เหมือนเช่นชายคนนี้เช้าวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2553 เวลาประมาณ 10.00 น.ขณะที่สมชายกำลังนั่งดูทีวีอยู่ที่บ้าน พลันเสียงสัญญาณโทรศัพท์เข้าได้ดังขึ้น สมชายหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมองดูเลขหมายที่โทรเข้ามา เป็นเบอร์ลักษณะประหลาดมีเครื่องหมายบวกตามด้วยหมายเลขยาวเหยียดมากกว่า 10 หลัก แต่เขากดรับด้วยความเคยชิน….“สวัสดีค่ะ คุณสมชาย ใช่ไหมคะ”“ครับ...ใช่ครับ”“ดิฉันโทรมาจากธนาคารกรุงเทพ ขอแจ้งว่าคุณมีรายการยอดเงินค้างชำระจากการซื้อสินค้าผ่านทางบัตรเครดิตเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 95,000 บาทค่ะ ขอให้คุณสมชายรีบไปชำระด้วยนะคะ”สมชายตกใจ ย้อนถามกลับไปว่า เขาไปซื้อของที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไมถึงมีราคามากกว่าวงเงินที่ธนาคารให้กับบัตรเครดิตของเขา คุณเธอที่อ้างว่าเป็นพนักงานของธนาคารกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่ามีการไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งเมื่อวันที่นั้น เวลานี้ พร้อมยืนยันว่าธนาคารมีรายละเอียดยืนยันอย่างชัดเจน“เป็นไปไม่ได้ครับ ผมไม่ได้ใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าแน่ อีกอย่างบัตรเครดิตที่ผมถืออยู่วงเงินมันไม่ถึงที่จะซื้อสินค้าได้ถึงเก้าหมื่นบาทหรอกครับ” สมชายบอกปฏิเสธ“ถ้าอย่างนั้นคุณสมชายเคยทำเอกสารพวกบัตรประชาชนสูญหายไหมคะ” คุณเธอขยับหลุมพรางเข้ามาสู่ขั้นที่สอง “ก็เคยครับ แต่นั่นมันนานมาแล้ว แล้วมันเกี่ยวอะไรด้วยครับ”“คุณสมชายอาจโดนมิจฉาชีพนำบัตรประชาชนไปทำบัตรเครดิต ด้วยการปลอมแปลงลายเซ็นต์ค่ะ และเขาอาจจะนำไปใช้รูดซื้อสินค้าเพิ่มเติมอีกก็ได้”“โอยตายล่ะ แล้วอย่างนี้ผมจะทำยังไงดีครับ ไม่งั้นผมมีหนี้ที่ไม่ได้ก่อบานตะไทแน่”“ใจเย็น ๆ ค่ะ คุณสมชาย ธนาคารมีวิธีแก้ไข” คุณเธอกล่าวปลอบด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนพร้อมกล่าวต่อไปว่า“เนื่องจากขณะนี้มีการปลอมแปลงบัตรเครดิตของพวกมิจฉาชีพไปใช้อย่างที่คุณสมชายเจอ ธนาคารกรุงเทพจึงได้มีระบบประสานงานพิเศษกับตำรวจดีเอสไอเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาแบบนี้ค่ะ เดี๋ยวดิฉันจะโอนสายของคุณเข้าสู่ระบบรับเรื่องของตำรวจดีเอสไอให้ โปรดรอสักครู่นะคะ”เสียงสัญญาณรอสายดังขึ้นเพียงแค่ไม่กี่อึดใจ หลุมพรางหลุมที่สามก็หลุดเข้ามาในสาย“สวัสดีค่ะ ดิฉันร้อยตำรวจตรีหญิงปานเดือน เจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุตำรวจดีเอสไอ มีอะไรให้รับใช้คะ”สมชายคลายใจที่ได้ยินเสียงหวาน ๆ ของตำรวจหญิงปานเดือน จึงเล่าถึงปัญหาว่ามีคนใช้บัตรประชาชนของเขาไปออกบัตรเครดิตโดยปลอมลายเซ็นต์แล้วนำไปรูดซื้อสินค้า ซึ่งเป็นข้อมูลที่เพิ่งได้รับแจ้งจากหญิงที่อ้างตัวว่าเป็นพนักงานธนาคารกรุงเทพเมื่อไม่กี่นาทีก่อนหน้านี้ร้อยตำรวตรีหญิงปานวาดได้ซักถามข้อมูลเพิ่มเติมอย่างละเอียด ไล่ตั้งแต่ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน บัตรเครดิตอื่นๆ ที่มีพร้อมวงเงินของแต่ละบัตรเครดิต รวมถึงบัญชีธนาคารที่มีบัตรเอทีเอ็ม“ผมบอกเขาไปหมดเลยครับ บอกว่ามีบัญชีธนาคารกสิกรไทยอยู่และมีบัตรเอทีเอ็มด้วย เพราะหลงเชื่อว่าเขาเป็นตำรวจดีเอสไอจริงๆ” สมชายให้เหตุผลหลังจากได้ข้อมูลจากเหยื่อจนครบถ้วน ร้อยตำรวจตรีหญิงปานวาดจึงเริ่มดำเนินการเปิดหลุมพรางหลุมที่สี่ให้เหยื่อหล่นลึกไปยิ่งขึ้น“จากข้อมูลที่คุณสมชายให้มา ดีเอสไอจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาผู้ร้ายให้อย่างเร่งด่วนค่ะ แต่เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพไปสวมรอยใช้บัตรเครดิตใบอื่นๆ ของคุณได้ ขอแนะนำให้คุณสมชายไปรูดเงินออกจากบัตรเครดิตทุกใบที่มีอยู่ให้หมด แล้วนำเงินทั้งหมดไปฝากเก็บไว้ในบัญชีของธนาคารกสิกรไทยที่คุณเปิดบัญชีอยู่เพราะถือเป็นบัญชีที่ปลอดภัยที่สุด เนื่องจากขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับธนาคารกสิกรไทยเพื่อป้องอาชญากรรมในลักษณะนี้อยู่ค่ะ ให้ไปดำเนินการทันทีเดี๋ยวนี้เลยนะคะก่อนที่มิจฉาชีพจะสามารถใช้บัตรเครดิตของคุณจนเกิดความเสียหายเพิ่มเติมได้”วางหูเสร็จสมชายคว้ากุญแจรถเผ่นผลึงบึ่งไปหาตู้เอทีเอ็มใกล้บ้านทีละตู้ๆ ไล่รูดเงินสดออกมาจากบัตรเครดิตทั้งหมดที่มีอยู่ 3 ใบจนหมดวงเงินรวมเป็นเงิน 90,000 บาท ในระหว่างนั้นได้มีเสียงผู้ชายอ้างตัวว่ามียศเป็นพันตำรวจตรีจากดีเอสไอโทรศัพท์เข้ามาสอบถามอยู่ตลอดเวลาว่าได้กดเงินออกมาหมดหรือยัง เอาเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทยหรือยัง เพราะได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารกสิกรไทยให้เตรียมรับเงินอยู่คุณสมชายเห็นว่าเป็นคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ตำรวจดีเอสไอจึงรีบปฏิบัติตามทุกขั้นตอน ท้ายสุดขับรถมาที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกสิกรไทยเพื่อทำการฝากเงินสดเข้าตู้เอทีเอ็ม ฝากเงินสดเข้าธนาคารเรียบร้อยคุณสมชายถอนหายใจคิดว่าเรื่องจบแล้ว เดินกลับจะไปขึ้นรถ พลันเสียงโทรศัพท์ไม่แสดงเลขหมายก็ดังเข้ามาที่มือถือ หลุมพรางหลุมสุดท้ายเริ่มเปิดฉาก“สวัสดีค่ะ คุณสมชายนะคะ ดิฉันร้อยตำรวจตรีหญิงปานเดือนค่ะ คุณสมชายนำเงินเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทยแล้วหรือยังคะ”“ฝากเข้าแล้วครับ มีอะไรอีกหรือครับ”“คุณสมชายต้องรีบกลับไปที่ตู้เอทีเอ็มธนาคารกสิกรก่อนนะคะ คุณจะต้องดำเนินการเปลี่ยนข้อมูลในแถบแม่เหล็กบัตรเอทีเอ็มของคุณก่อนไม่งั้นอาจเกิดปัญหาได้หากมีการปลอมบัตรเอทีเอ็มของคุณได้อีก เดี๋ยวดิฉันจะบอกขั้นตอนการเปลี่ยนข้อมูลให้ค่ะ ให้ไปที่ตู้เดี๋ยวนี้เลยค่ะ”คุณสมชายกลับไปที่ตู้เอทีเอ็มพร้อมแนบโทรศัพท์ไว้ที่หูฟังขั้นตอนที่ตำรวจหญิงปานวาดแนะนำ ขั้นแรกถูกแนะนำให้กดถอนเงินสดออกมา 100 บาท และถูกสอบถามว่ามีเงินเข้ามีเงินเหลือยู่ในบัญชีอยู่เท่าไหร่ หมายเลขตู้เอทีเอ็มคือหมายเลขอะไร เมื่อตรวจสอบจนแน่ใจว่าเหยื่อนำเงินเข้าบัญชีแล้วจริง และมีเงินอยู่ในบัญชีเป็นจำนวนเท่าไหร่ ตำรวจหญิงปานวาดจึงทำทีบอกรหัสการเปลี่ยนข้อมูลในแถบแม่เหล็กของบัตรเอทีเอ็ม ซึ่งความจริงแล้วคือขั้นตอนการโอนเงินเข้าไปอีกบัญชีหนึ่งที่มิจฉาชีพกลุ่มนี้เปิดรอไว้ และเตรียมที่จะกดเอทีเอ็มถอนออกมาเป็นเงินสดทันทีเมื่อเงินเข้าบัญชีเรียบร้อยคุณสมชายนั้นให้ข้อมูลไปทั้งหมด พร้อมทำตามทุกขั้นตอน เพราะคิดว่าคุยกับตำรวจอยู่จริง รับใบสลิปจากตู้เอทีเอ็มเสร็จจึงขับรถกลับบ้าน กว่าจะเอะใจหยิบสลิปมาดูแล้วพบว่าถูกหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีของมิจฉาชีพก็ช้าไปเสียแล้ว แนวทางการแก้ไขปัญหาถ้ามาถึงขั้นนี้แล้วต้องบอกว่าเรียบร้อยโรงเรียนโจรล่ะครับ เพราะบัญชีที่มิจฉาชีพเปิดทิ้งไว้นั้น ได้มาจากการไปหลอกเหยื่อให้มาเปิดบัญชีพร้อมทำบัตรเอทีเอ็มทิ้งไว้ เงินเข้าไปเมื่อไหร่ก็กดออกมาทันที เป็นเรื่องที่ตำรวจจะต้องตามล่าหาตัวกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้มาลงโทษให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะสร้างความเสียหายให้กับสุจริตชนมากขึ้นเรื่องนี้ถือว่าเป็นช่องโหว่ของกฎหมายด้านโทรคมนาคมที่ยังไม่มีมาตรการป้องกันการก่ออาชญากรรมทางโทรศัพท์และทางโทรคมนาคมอื่นๆ ดังนั้น ประชาชนจะต้องรู้จักป้องกันตนเองเป็นเบื้องต้น คือขั้นที่หนึ่ง หากมีใครโทรมาบอกว่าเราเป็นหนี้ธนาคารหรือสถาบันการเงินใดก็แล้วแต่ ก่อนที่จะคุยอะไรกันต่อไปต้องขอให้เขาส่งเอกสารหลักฐานรายการแจ้งหนี้มาแสดงต่อเราโดยไม่ต้องแจ้งที่อยู่ของเราให้เขาทราบ เพราะหากเป็นเจ้าหนี้ตัวจริงก็จะส่งข้อมูลตามที่อยู่ที่ได้รับแจ้งไว้ได้ หากเป็นตัวปลอมก็จะบ่ายเบี่ยงโยกโย้ หรือเร่งเร้าให้เรานำเงินไปชำระหนี้ตามตู้เอทีเอ็ม เจออย่างนี้ให้ยุติการพูดคุยโดยทันทีขั้นที่สอง หากมีการส่งเอกสารแจ้งหนี้มา ให้ตรวจสอบรายการใช้จ่าย หากพบว่ามีรายการใดหรือทั้งหมดเราไม่ได้เป็นผู้ใช้จ่ายจริง ให้ทำหนังสือทักท้วงปฏิเสธโดยทันที ไม่ควรใช้วิธีโทรศัพท์เพียงอย่างเดียวกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการบัตรเครดิตที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นการกระทำของผู้ใช้บัตรเครดิตจริง หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ หรือเรียกเก็บเงินไปแล้วก็ต้องคืนให้ผู้บริโภคครับ

อ่านเพิ่มเติม >