ฉบับที่ 204 ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์

เพราะการทำประกันชีวิตมีมากมายหลายแบบ ซึ่งมีลักษณะความคุ้มครองและผลประโยชน์แตกต่างกันออกไป ผู้บริโภคจึงควรศึกษารายละเอียดของประกันให้ดีก่อนตัดสินใจ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณธนพรได้รับการเชิญชวนให้ทำประกัน จากพนักงานของบริษัทกรุงไทยแอกซ่าประกันชีวิต เธอจึงแจ้งความประสงค์ไปว่าต้องการทำประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ ซึ่งพนักงานได้ตอบกลับมาว่ามีประกันชีวิตที่มีลักษณะคล้ายการออมแบบที่เธอต้องการ โดยเมื่อครบ 5 ปีจะได้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ย และที่สำคัญที่สุดคือลดเบี้ยประกันปีแรกอีก 10,000 บาท ทั้งนี้นอกจากข้อมูลที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นแล้ว พนักงานได้แจ้งรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเธอไม่ค่อยเข้าใจมากนัก แต่ก็ยินดีตกลงทำประกันดังกล่าว และตัดสินใจใช้บัตรเครดิตชำระค่าเบี้ยประกันไปจำนวน 40,000 บาทอย่างไรก็ตามเมื่อคุณธนพรถึงบ้าน และอ่านเอกสารการทำประกันที่ได้รับมากลับพบว่า ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่เธอต้องการ เพราะประกันดังกล่าวจะสามารถได้รับเงินออมต่อเมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิตไปแล้วเท่านั้น ในขณะที่เธอต้องการเพียงแค่ออมทรัพย์ไว้และได้รับเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายยามชราภาพ ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เป็นนี้ คุณธนพรจึงโทรศัพท์มายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้เมื่อผู้ร้องพบว่ากรมธรรม์ไม่ตรงกับที่พูดคุยเอาไว้ หรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการก็สามารถยกเลิกประกันได้ภายในกำหนดเวลาและได้เงินค่าเบี้ยประกันคืนทั้งหมด ตามประกาศของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่กำหนดให้บอกเลิกสัญญาภายได้ใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยได้รับกรมธรรม์ประกันภัยจากบริษัท หรือมากกว่า 15 วัน ขึ้นกับแบบกรมธรรม์ประกันภัยที่มีการเสนอขาย ซึ่งภายหลังศูนย์ฯ ได้ช่วยผู้ร้องทำจดหมายยกเลิกสัญญา และจดหมายปฏิเสธการชำระหนี้ของบัตรเครดิต และเมื่อได้รับเงินคืนเรียบร้อย ผู้ร้องก็ยินดียุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 ฝรั่งออสเตรเลีย ฟ้อง ธ.กรุงไทย หลังโดนหักเงินในบัตรเดบิตไม่ทราบเหตุ

ฝรั่งออสเตรเลียฟ้องธนาคารกรุงไทย ฐานหักค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้ใช้ เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1.25 แสน ศาลพิพากษาธนาคารผิดจริงให้จ่ายค่าเสียหายตามที่เรียกพร้อมค่าเสียหายเชิงลงโทษอีก 120,000 บาทเจฟฟรี ชายชราชาวออสเตรเลีย เข้ามาใช้ชีวิตบั้นปลายอาศัยอยู่ในเมืองไทยที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณปี 2548 เขาเปิดบัญชีออมทรัพย์ กับธนาคารกรุงไทย สาขาแม่สะเรียง เพื่อฝากเงินที่ได้รับจากสวัสดิการผู้สูงอายุประเทศออสเตรเลีย และเปิดใช้บริการบัตรเดบิตผ่านบัญชีดังกล่าวต่อมาราวปลายปี 2554 เจฟฟรี ใช้บัตรเดบิตเบิกเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม พบความผิดปกติว่าเงินในบัญชีลดลงอย่างมาก จึงติดต่อกับธนาคารกรุงไทย สาขาแม่สะเรียงเพื่อให้ตรวจสอบการหักเงินจากบัญชีเงินฝาก ผลการตรวจสอบของธนาคารพบว่า  มีรายการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่ประเทศสหรัฐอเมริกา  ติดต่อกันในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2554 เป็นเงินประมาณ 120,000 กว่าบาท ซึ่งการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นการใช้จ่ายที่ต้องใช้บัตรเดบิตพร้อมกับการลงลายมือชื่อของเจ้าของบัตรเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการซื้อสินค้าหรือบริการที่สามารถชำระด้วยการโอนเงินโดยใช้บัตรเดบิตพร้อมกับรหัสประจำตัวได้ปัญหาอยู่ตรงที่ รายการใช้จ่ายซื้อสินค้าดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่เจฟฟรียังพำนักพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย และบัตรเดบิตก็อยู่กับตัวเขาตลอดเวลา เจฟฟรีจึงมีหนังสือถึงธนาคารปฏิเสธรายการใช้บัตรเดบิตและเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธร จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานทันทีที่ทราบเรื่อง ต่อมาธนาคารกรุงไทยได้แจ้งผลการตรวจสอบรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต และปฏิเสธการคืนเงินให้กับเจฟฟรี อ้างว่าเป็นการใช้บัตรซื้อสินค้าและบริการตามปกติ ไม่ใช่การทำธุรกรรมของมิจฉาชีพ   แนวทางแก้ไขปัญหาหลังได้รับเรื่องร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ส่งอาสาสมัครขึ้นไปที่ จ.แม่ฮ่องสอนเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับเจฟฟรีและภรรยาชาวไทย และพยายามนัดเจรจากับ ธ.กรุงไทย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าใดนัก ด้วยข้ออ้างว่าธนาคารมีประสบการณ์ในการแยกแยะการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตของคนธรรมดาทั่วไปกับมิจฉาชีพ หากเป็นการใช้จ่ายของมิจฉาชีพจริง เมื่อปลอมบัตรหรือได้รหัสผ่านแล้วจะรีบนำเงินออกจากบัญชีให้เร็วที่สุด ไม่ใช่ใช้บัตรเดบิตเดินช้อปปิ้งซื้อของเล็กบ้างใหญ่บ้าง แถมยังใช้บัตรเดบิตจ่ายค่าแท๊กซี่ปรากฏอยู่ด้วย เป็นสภาพของการซื้อใช้สินค้าและบริการตามปกติของผู้คนทั่วไปที่ใช้บัตรเดบิตของตัวเอง จึงยืนกระต่ายขาเดียวปฏิเสธการคืนเงินให้แก่เจฟฟรีเมื่อหมดหนทางการพูดคุยในทางปกติ เราจึงถามใจเจฟฟรีว่าจะสู้กับธนาคารต่อหรือไม่ เจฟฟรีบอก ผมอยากได้รับความเป็นธรรม ผมไม่ได้เป็นคนซื้อสินค้าเหล่านี้ ธนาคารต้องคืนเงินให้กับผมวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 จึงเป็นวันที่เจฟฟรีเข้ายื่นฟ้องธนาคารกรุงไทย เป็นคดีผู้บริโภค กล่าวหาธนาคารกรุงไทยมีความผิดฐานผิดสัญญาการใช้บัตรเดบิต เรียกค่าเสียหาย 125,357 บาท พร้อมดอกเบี้ยในวันที่  7  พฤศจิกายน  2555   ศาลแขวงพระนครใต้ พิพากษาให้ ธนาคาร กรุงไทย จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้กับเจฟฟรี เป็นเงินตามจำนวนที่ฟ้อง พร้อมกับสั่งให้ธนาคารกรุงไทย จ่ายค่าเสียหายเชิงลงโทษตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เนื่องจากพบว่ามีการกระทำที่มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม เพิ่มอีก 120,599.35 บาท  รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 245,956.46 บาทเหตุที่ศาลชั้นต้นให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายชนะคดี เพราะว่าเมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงแล้วฟังได้ว่า กรณีนี้ธนาคารกรุงไทยยอมรับว่ามีผู้นำบัตรเดบิตที่ออกให้กับนายเจฟฟรี ไปใช้ในต่างประเทศจริงและทราบด้วยว่าใช้ที่ไหนบ้าง ซึ่งในการให้บริการดังกล่าวจะต้องมีเซลล์สลิปการใช้บริการหรือลายมือชื่อลูกค้าเป็นหลักฐาน แต่ธนาคารกลับไม่นำหลักฐานที่ว่ามาแสดงต่อศาล อีกทั้งพยานของธนาคารเองยังเบิกความย้ำว่า จากประสบการณ์ทำงานที่ยาวนานสันนิษฐานได้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากการถูกขโมยบัตรเดบิตไปใช้จริง ซึ่งหากมีกรณีบัตรถูกขโมยไปใช้นั้น ธนาคารจะไม่ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามสัญญาให้บริการ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับข้ออ้างของเจฟฟรีที่ยืนยันว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ใช้บัตรในช่วงขณะดังกล่าวดังนั้นเมื่อธนาคารไม่มีหลักฐานมาแสดงต่อศาลเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ว่าผู้บริโภคเป็นผู้ใช้เองหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นนำไปใช้ ธนาคารจึงไม่มีสิทธินำรายการดังกล่าวมาหักเงินจากบัญชีธนาคารของลูกค้า เมื่อธนาคารหักเงินจากบัญชีธนาคารของลูกค้าไปแล้ว ธนาคารจึงต้องคืนเงินที่หักไปจากบัญชีของลูกค้าทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยหักเงินไปจากบัญชี และการที่ธนาคารทราบอยู่แล้วว่า กรณีนี้เกิดจากการมีบุคคลอื่นขโมยบัตรเดบิตของลูกค้าไปใช้ เมื่อลูกค้าทวงถามแล้ว แต่ธนาคารกลับปฏิเสธไม่คืนเงินให้กับลูกค้า จึงถือว่าธนาคารมีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินชดเชยความเสียหายทั้งค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงและเงินในเชิงลงโทษให้กับเจฟฟรีตามจำนวนที่กล่าวมา และยังสั่งให้ธนาคารชำระค่าธรรมเนียมต่อศาลรวมทั้งค่าทนายความจำนวน 5,000 บาทแทนนายเจฟฟรีอีกด้วย“ผมรู้สึกพอใจกับคำพิพากษาของศาลไทยเป็นอย่างมาก ผมดีใจที่ได้ความยุติธรรมกลับคืนมา เนื่องจากการจ่ายเงินคืนของธนาคารเป็นการกระทำที่เอาเปรียบผู้บริโภคมาก ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวมีความจำเป็น แม้จะไม่มากมายแต่ก็เป็นเงินเพื่อใช้ในการยังชีพของผมที่อายุมากและภรรยา  ซึ่งผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ต้องเจอแบบนี้เหมือนกัน อยากให้ธนาคารให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมากกว่านี้” เจฟฟรี กล่าวนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า กรณีนี้เป็นคดีตัวอย่างสำหรับผู้บริโภค ที่ถูกธนาคารในฐานะผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบและจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะการกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษกับธนาคาร  ที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีของการป้องปรามหรือยับยั้งไม่ให้ผู้ประกอบการทำเช่นนี้กับใครอีก โดยเฉพาะการที่จำเลยในคดีนี้เป็นรัฐวิสาหกิจควรต้องมีการประกอบการที่สุจริตเป็นที่น่าเชื่อถือต่อนานาชาติ“ในคดีนี้กระบวนพิจารณาของศาลก็รวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคอย่างแท้จริง ทำให้ผู้บริโภคได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงทีโดยไม่ต้องรอนาน ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย  ทั้งนี้ศูนย์ทนายความอาสาฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะนำผลของคดีนี้ไปศึกษา เพื่อขยายผลและสร้างให้เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายต่อไป ” นายเฉลิมพงษ์กล่าว

อ่านเพิ่มเติม >