ฉบับที่ 118 จัดกระเช้าผลไม้ อย่าลืมตรวจสอบคุณภาพ

จัดกระเช้าผลไม้ อย่าลืมตรวจสอบคุณภาพโดย พชร  แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทยเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณที่ดี (นสธ.)  ใกล้ปีใหม่แล้ว เริ่มคิดจัดกระเช้าผลไม้ต้อนรับเทศกาลกันหรือยัง ถ้าตัดสินใจเลือกกระเช้าผลไม้เป็นของขวัญของฝาก เราก็ขอฝากข้อมูลไว้ให้พิจารณาเพิ่มด้วย ปีใหม่นี้จะได้แฮปปี้กันทั้งผู้ให้และผู้รับครับ  ผลไม้นั้นได้ชื่อว่าเป็นของดีต่อสุขภาพ แต่กระบวนการผลิตปัจจุบันอาจมีการแอบแฝงเข้ามาของสารเคมีกลุ่มยาฆ่าแมลงที่เหลือตกค้างอยู่ ดังนั้นก่อนรับประทานก็ต้องเลือกให้ดี และล้างให้สะอาด ถ้ายังไงลองนำข้อมูลที่นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ทำสำรวจไว้เป็นแนวทางในการพิจารณานะครับ แต่อย่าถึงขนาดเป็นทุกข์มากจนไม่รับประทานนะครับยังไงผลไม้ก็ดีต่อสุขภาพมากกว่าขนมครับ  ผมหยิบข้อมูลมานำเสนอสองชุด ข้อมูลชุดแรกเป็นข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลไม้นำเข้าจาก โครงการศึกษาระบบการจัดการอาหารนำเข้าที่ด่านอาหารและยาในเขตภาคเหนือของประเทศไทย ปี 2552 - 2553 ซึ่งได้ทำการตรวจวิเคราะห์คุณภาพตัวอย่างผักสดและผลไม้สดนำเข้ารวม 44 ตัวอย่าง (เป็นผลไม้สด 14 ตัวอย่าง) จากด่านอาหารและยาเชียงแสน (เชียงของ) ผลการวิเคราะห์พบยาฆ่าแมลง จำนวน 16 ตัวอย่าง โดยมี 7 ตัวอย่าง เป็นผลไม้สด ได้แก่ 1) องุ่น จำนวน 1 ตัวอย่าง พบแลมป์ดา-ไซแฮโลทริน (แอล-ไซแฮโลทริน) ยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ ที่ปริมาณ 0.03 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (มก./กก.) 2) ทับทิม จำนวน 2 ตัวอย่าง พบยาฆ่าแมลง 2 ชนิดคือคลอร์ไพริฟอสในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ที่ปริมาณ 0.02 – 0.09 มก./กก. และ ไซเพอร์เมทรินในกลุ่มไพรีทอยด์ที่ปริมาณ 0.02 มก./กก. 3) สาลี่ จำนวน 1 ตัวอย่าง พบพิริมิฟอสเมทิล    ในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตที่ปริมาณ 0.21 มก./กก. 4) ลูกพลับ จำนวน 3 ตัวอย่าง พบคลอร์ไพริฟอสในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตที่ปริมาณ 0.02 มก./กก. และไซเพอร์เมทริน กับ แอล-ไซแฮโลทริน ในกลุ่มไพรีทอยด์ที่ปริมาณ 0.02 และ 0.01 มก./กก. ตามลำดับ โดยสรุปจากข้อมูลชุดแรก ผลไม้นำเข้าทั้ง 4 ชนิดที่ทดสอบมีความเสี่ยงประมาณร้อยละ 50 ที่จะพบการปนเปื้อนของสารตกค้างทางการเกษตร แต่ทุกตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนเป็นสารเคมีที่ไม่มีมาตรฐานใดระบุให้ใช้ได้ในผลไม้ชนิดนั้น ๆ ทั้งมาตรฐานในประเทศและมาตรฐานสากล ทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าปริมาณสารเคมีที่พบแต่ละชนิดในผลไม้ต่าง ๆ นั้นเป็นอันตรายหรือ ไม่อย่างไร   ผลไม้จากโครงการเฝ้าระวังฯ ชุดนี้เป็นข้อมูลผลไม้สดที่จำหน่ายในประเทศ และทางโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังฯ ได้นำมาทดสอบ ได้แก่ ส้ม ส้มจีน แอ๊ปเปิ้ล สาลี่ ลูกพลับ เพื่อหาการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตร 4 ประเภทประกอบด้วย ยากันรา-คาร์เบนดาซิม ยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ (สารเลียนแบบโครงสร้างโมเลกุลจากสาร Pyrethrins ที่สกัดได้จากดอกไม้พวกดอกเบญจมาศ) กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (สารอินทรีย์ที่มีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ) และกลุ่มคาร์บาเมต (สารอินทรีย์ที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ) ในพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และสตูล โดยเก็บตัวอย่างทั้งสิ้น 4 ครั้ง ครั้งละ 2-3 ชนิด แบ่งเป็น 2 ครั้งในปี 52 คือเดือนกันยายนและเดือนพฤศจิกายน 2552 และอีก 2 ครั้งในปี 53 คือเดือนมกราคมและเดือนมีนาคม 2553 ส่วนผลการทดสอบการปนเปื้อนของสารเคมีตกค้างทางการเกษตรในผลไม้แต่ละชนิดเป็นอย่างไรกันบ้าง ไปดูกันเลยครับ   ส้ม เก็บตัวอย่างทั้งสิ้น 1 ครั้ง (ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้า) จำนวน 8 ตัวอย่างจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ได้แก่ บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส และคาร์ฟูร์ ในพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัดเมื่อเดือนกันยายน 2552 เพื่อส่งทดสอบหา การตกค้างของยากันรา-คาร์เบนดาซิม ยาฆ่าแมลงกลุ่ม ไพรีทอยด์ และยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ผลการทดสอบพบว่า 1) มีการตกค้างของยากันรา-คาร์เบนดาซิมในตัวอย่างจำนวน 3 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ37.5 ที่ปริมาณ 0.07 – 0.24 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยพบในตัวอย่างของ บ.เซนคาร์ จำกัด จากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่ บ.เอกชัยดิสทริบิวชั่นซิสเทม จำกัด จากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดสมุทรสงคราม และ บมจ. บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จากห้างบิ๊กซี สุขสวัสดิ์ กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามปริมาณสารเคมีที่พบจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารสากล (CODEX) ที่ระบุให้มีคาร์เบนดาซิมในส้มได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม   2) พบการตกค้างของยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตในต้วอย่างจำนวน 6 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 75 โดยพบการตกค้างของยาฆ่าแมลงตั้งแต่ 1 – 4 ชนิด ในแต่ละตัวอย่าง ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 0.004 – 0.64 มก./ กก.  ยาฆ่าแมลงที่พบประกอบด้วย คลอร์ไพริฟอส อีไทออน โพรฟิโนฟอส ไดเมโธเอต ไดอาซินอน และมาลาไธออน เมื่อนำมาตรฐานมาประกอบการพิจารณาจะพบว่าทั้ง 6 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรที่ไม่มีมาตรฐานใดระบุให้ใช้ได้และมี 3 ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนเกินมาตรฐานได้แก่ตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี สุขสวัสดิ์ กรุงเทพฯ ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดสมุทรสงคราม และตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี จังหวัดมหาสารคาม พบโพรฟิโนฟอสเกินมาตรฐานที่ปริมาณ 0.64 0.47 และ 0.45 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ   3) พบการตกค้างของยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์ในตัวอย่างจำนวน 4 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 50 โดยมี 3 ตัวอย่างที่พบการตกค้างของยาฆ่าแมลงชนิดที่ไม่มีมาตรฐานใดระบุให้ใช้ได้ ได้แก่ตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี มหาสารคาม ตัวอย่างจากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่ และตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดพะเยา ชนิดของยาฆ่าแมลงที่พบในแต่ละตัวอย่างมีตั้งแต่ 1 – 5 ชนิด ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 0.03 – 0.54 มก./กก. ประกอบด้วย ไซเพอร์เมทริน เดลทาเมทริน แอล-ไซฮาโลทริน ไซฟลูทริน และเฟนวาเลท   ข้อสังเกต 1. มีตัวอย่างจำนวน 2 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 25) ที่พบการตกค้างในทุกกลุ่มของสารเคมีที่ทำการทดสอบได้แก่ตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ กรุงเทพฯ และตัวอย่างจากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะตัวอย่างจากจังหวัดกรุงเทพฯ พบการตกค้างในปริมาณที่สูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ แต่ยังไม่เกินมาตรฐานยกเว้นโพรฟิโนฟอสที่ตกค้างสูงเกินมาตรฐาน และสารอื่นที่ไม่มีมาตรฐานกำหนด 2. และมีตัวอย่างจำนวน 2 ตัวอย่างเช่นกัน ที่ไม่พบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรเลยนอกจากนี้ทั้ง 2 ตัวอย่างเป็นตัวอย่างจากพื้นที่ภาคใต้ได้แก่ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดสตูล และ ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สรุปความเสี่ยงจากสารเคมีทางการเกษตรในส้มและคำแนะนำในการบริโภคมีความเสี่ยงในภาพรวมต่อการพบสารเคมีตกค้างอยู่ในระดับค่อนข้างสูง (ประมาณร้อยละ 60) และมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่จะได้รับอันตรายจากสารเคมีแต่ละชนิดที่ตกค้างโดยเฉพาะ โพรฟิโนฟอสในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการบริโภคติดต่อกันเป็นประจำในปริมาณมาก (เกินครึ่งกิโลกรัมต่อวัน)     ส้มจีนเก็บตัวอย่างจำนวน 1 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 8 ตัวอย่างในการเก็บตัวอย่างเดือนมกราคม 2553 จากตลาดสดหรือห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในพื้นที่ดำเนินงาน 8 จังหวัด จังหวัดละ 1 ตัวอย่างโดยทดสอบหาสารตกค้างทางการเกษตร 3 กลุ่มเช่นเดียวกับที่ทดสอบในส้ม คือคาร์เบนดาซิม ออร์กาโนฟอสเฟต และไพรีทอยด์ มีผลการทดสอบดังนี้ 1. พบยากันรา-คาร์เบนดาซิม จำนวน 3 ตัวอย่างได้แก่ตัวอย่างจาก ตลาดกิมหยง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ปริมาณ 0.06 มก./กก. ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดมหาสารคาม ที่ปริมาณ 0.05 มก./ และตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดสตูล ที่ปริมาณ 0.02 มก./กก. อย่างไรก็ตามปริมาณที่พบอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยต่อการบริโภคเนื่องจากไม่สูงเกินกว่ามาตรฐานอาหารสากล (CODEX) ซึ่งระบุไว้ที่ไม่เกิน 1 มก./กก. 2. พบยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตจำนวน 4 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 50 และ 3 จาก 4 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงชนิดที่ไม่มีมาตรฐานใดระบุไว้ให้ใช้ได้ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส และไตรอะโซฟอส ปริมาณสารเคมีที่พบในทั้ง 4 ตัวอย่างอยู่ระหว่าง 0.006 – 0.14 มก./กก. 3. พบยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์จำนวน 3 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 37.5 โดยมีตัวอย่างจำนวน 2 ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงที่ไม่มีมาตรฐานใดระบุให้ใช้ได้ ได้แก่ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาฟอร์จูน กรุงเทพฯ พบฟลูไซทริเนตที่ปริมาณ 0.02 มก./กก. และตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดพะเยา พบ แอล-ไซฮาโลทริน และ ไซฟลูทรินที่ปริมาณ 0.14 – 0.16 มก./กก. ตามลำดับ ข้อสังเกต 1. ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาฟอร์จูน กรุงเทพฯ พบการตกค้างของสารเคมีเมทิดาไธออน (Methidathion) ในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟส ซึ่งผ่านมาตรฐาน CODEX แต่เป็นสารเคมีที่อยู่ในรายการเฝ้าระวังการใช้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เนื่องจากมีอันตรายสูง อีกทั้งยังพบการตกค้างของสารเคมี ฟลูไซทริเนต (Flucythrinate) ซึ่งเป็นสารเคมีมีพิษร้ายแรงตามการจัดลำดับของ EPA (US Environmental Protection Agency) อย่างไรก็ตามปริมาณที่พบถือว่าไม่สูงนัก (ต่ำกว่า 0.02 มก./กก.) จึงไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแบบเฉียบพลันเมื่อบริโภค 2. มีเพียงตัวอย่างจากตลาดรถไฟ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ที่ไม่พบการตกค้างของสารเคมีกลุ่มใด ๆ เลย   สรุปความเสี่ยงของสารตกค้างในส้มจีนมีความเสี่ยงต่อการพบสารเคมีทางการเกษตรตกค้างอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง (ร้อยละ 35 – 50) และมีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากการได้รับสารเคมีตกค้างเข้าสู่ร่างกายอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างปลอดภัย (ปริมาณที่พบส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำกว่า 0.1 มก./กก.) แต่ไม่ควรบริโภคติดต่อกันเป็นประจำ   แอ็ปเปิ้ล  เก็บตัวอย่างจำนวน 2 ครั้ง รวม 15 ตัวอย่าง เมื่อเดือนกันยายน 2552 และเดือนมกราคม 2553 จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่หรือตลาดสดในพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัด จังหวัดละ 1 ตัวอย่าง/ครั้ง เพื่อทดสอบหาการตกค้างของสารเคมี 3 กลุ่มคือคาร์เบนดาซิม ออร์กาโนฟอสเฟต และไพรีทอยด์ ผลการทดสอบพบว่า 1. มีการตกค้างของยากันรา-คาร์เบนดาซิมจำนวน 4 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 27) เป็นตัวอย่างจากการเก็บตัวอย่างในเดือนกันยายน 52 จำนวน 1 ตัวอย่างคือแอ็ปเปิ้ลเขียวของ หจก. สยาม เอส ซี ที จากห้างบิ๊กซี จังหวัดมหาสารคาม ที่ปริมาณ 0.01 มก./กก. และเป็นตัวอย่างจากการเก็บตัวอย่างในเดือนมกราคม 53 จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ตัวอย่างจากตลาดรถไฟ จังหวัดขอนแก่นที่ปริมาณ 0.09 มก./กก. ตัวอย่างจากตลาดสดหาดใหญ่ใน จังหวัดสงขลา ที่ปริมาณ 0.06 มก./กก. และตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี จังหวัดมหาสารคาม ที่ปริมาณ 0.02 มก./กก. อย่างไรก็ตามไม่สามารถระบุได้ว่าสารเคมีที่พบเป็นอันตรายแค่ไหนหากบริโภคเนื่องจากไม่มีมาตรฐานใดระบุไว้ให้ใช้ได้หรือไม่และมากน้อยเพียงใดหากให้ใช้ในผลไม้ชนิดนี้ 2. มีการตกค้างของยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตจำนวน 3 ตัวอย่าง (ร้อยละ 20) จากการเก็บตัวอย่าง 2 ครั้ง โดยในเดือนกันยายน 52 พบ 2 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างจากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่พบอีไทออน และตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดพะเยา พบคลอร์ไพริฟอส และอีก 1 ตัวอย่างในเดือนมกราคม 53 พบสารเคมีชนิดคลอร์ไพริฟอสในต้วอย่างของบ.วิตี้เฟรชฟรุ๊ต จากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่ อย่างไรก็ตามปริมาณที่พบอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมากจนแทบจะตรวจไม่พบโดยเฉพาะตัวอย่างจากจังหวัดเชียงใหม่ที่เก็บเมื่อเดือนมกราคม 53 จึงไม่น่าเป็นอันตรายแต่อย่างใดต่อการบริโภค   3. มีการตกค้างของยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทอยด์จำนวน 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 40) แบ่งออกเป็น 4 ตัวอย่างในตัวอย่างที่เก็บเมื่อเดือนกันยายน 2552 ได้แก่ตัวอย่างจากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ปริมาณรวม 0.73 มก./กก. ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดพะเยา ที่ปริมาณรวม 0.08 มก./กก. ตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี จังหวัดมหาสารคาม ที่ปริมาณรวม 0.04 มก./กก. และตัวอย่างจากห้างคาร์ฟูร์สาขาลาดพร้าว กรุงเทพฯ ที่ปริมาณรวม 0.03 มก./กก. กับอีก 2 ตัวอย่างในตัวอย่างที่เก็บเมื่อเดือนมกราคม 2553 ได้แก่ตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี จังหวัดมหาสารคามที่ปริมาณรวม 0.02 มก./กก. และตัวอย่างจากตลาดรถไฟ จังหวัดขอนแก่นที่ปริมาณ 0.01 มก./กก. โดยพบสารเคมีตั้งแต่ 1 – 5 ชนิดได้แก่ แอล-ไซฮาโลทริน ไซเปอร์เมทริน เฟนวาเลท ไซฟลูทริน และเดลทาเมทริน และมีเพียงแค่ 2 ชนิดคือไซฟลูทรินและเดลทาเมทรินที่มีมาตรฐานกำกับการใช้ (มาตรฐานอาหารสากล-CODEX)   ข้อสังเกตมีตัวอย่างอย่างจาก 2 จังหวัดที่ไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรในแอ๊ปเปิ้ลเลยจากการเก็บตัวอย่างจำนวน 2 ครั้งได้แก่ตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดสมุทรสงครามและตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดสตูล   สรุปความเสี่ยงในแอ๊ปเปิ้ลและคำแนะนำในการบริโภคมีความเสี่ยงต่อการพบสารเคมีตกค้างอยู่ในระดับน้อยถึงเกือบปานกลาง และมีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสารเคมีในระดับต่ำยกเว้นสารเคมีกลุ่มไพรีทอยด์บางชนิด คำแนะนำในการบริโภค ควรปอกเปลือกและล้างทำความสะอาดก่อนการบริโภคเพื่อลดความเสี่ยงจากสารเคมีตกค้างให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point