ฉบับที่ 274 สำรวจฉลากโภชนาการ “ขนมในกระเช้าปีใหม่”

        ช่วงเทศกาลส่งความสุขในปีใหม่นี้ ผู้บริโภคคนไหนกำลังคิดจะเลือกซื้อขนมอบกรอบหวานหอม และขนมขบเคี้ยวเค็มๆ มันๆ ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์สีสันสดใส มาจัดกระเช้าปีใหม่ ด้วยหวังว่าผู้รับจะชอบใจ อยากให้แตะเบรกไว้ก่อน เพราะแม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ยอดฮิตที่มักมอบให้กันในโอกาสพิเศษต่างๆ แต่อย่าลืมว่าขนมเหล่านี้มีส่วนผสมหลักเป็นแป้ง น้ำตาล เนย นม เกลือ ผงฟู และสารกันเสีย ซึ่งหากกินเข้าไปเยอะๆ บ่อยๆ อาจเกิดการสะสมของน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดได้         นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างขนมในกระเช้าปีใหม่ (คุกกี้ บิสกิต แครกเกอร์ และพาย) จำนวน 11 ตัวอย่าง ในช่วง 1 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2566 มาเปรียบเทียบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ (ปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม) และราคาต่อปริมาณ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคว่าจะเลือกขนมเหล่านี้จัดใส่กระเช้าปีใหม่ดีไหมหนอ  ผลการสำรวจ        ·     ทุกตัวอย่างระบุเลขที่ใบอนุญาตจาก อย. ไว้ถูกต้อง ตรวจสอบข้อมูลได้         ·     เมื่อพิจารณาฉลากโภชนาการของขนม 11 ตัวอย่าง พบว่า ยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค มีปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำมากที่สุดคือ 34 กรัม ส่วนยี่ห้อไฮไท แครกเกอร์ รสดั้งเดิม และ ยี่ห้อเดนม่า คุกกี้สอดไส้รสผลไม้ มีน้อยที่สุดคือ 25 กรัม         ·     เมื่อเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 หน่วยบริโภค พบว่า            -        ปริมาณพลังงานมากที่สุด = 180 กิโลแคลอรี คือยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค ส่วนยี่ห้อล็อตเต้ ช็อกโกพาย บานาน่า มีน้อยที่สุด  = 120 กิโลแคลอรี            -        ปริมาณน้ำตาลมากที่สุด = 11 กรัม  คือยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม ส่วนยี่ห้อไฮไท แครกเกอร์ รสดั้งเดิม มีน้อยที่สุด = 2 กรัม             -        ปริมาณไขมันมากที่สุด = 9 กรัม ได้แก่ ยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค และยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ส่วนยี่ห้อล็อตเต้ ช็อกโกพาย บานาน่า และยี่ห้อแซง มิเชล กาเลต โอ เบอร์ ทิน บัตเตอร์ คุกกี้ มีน้อยที่สุด = 5 กรัม             -        ปริมาณโซเดียมมากที่สุด = 135 มิลลิกรัม คือ ยี่ห้อแมคไวตี้ส์ ไดเจสทีฟ ออริจินอล(บิสกิตข้าวสาลี) ส่วนยี่ห้อเดนม่า คุกกี้สอดไส้รสผลไม้  มีน้อยที่สุด = 40 มิลลิกรัม         ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อบาวเซ่น เดโลบา บลูเบอร์รี่ แพงสุดคือ 0.95 บาท ส่วนยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม ถูกสุดคือ  0.22 บาท  ข้อสังเกต        - เมื่อคำนวณในปริมาณ 1 หน่วยบริโภคที่เท่ากัน คือ 30 กรัม (ปริมาณเฉลี่ย ได้จากผลรวมของปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ÷ 11) พบว่า ยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ มีปริมาณพลังงานมากที่สุด = 160 กรัม ส่วนยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม มีทั้งน้ำตาล (11.96 กรัม) และโซเดียม (141.30 มิลลิกรัม) ในปริมาณมากที่สุด         - หากเรากินโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม 1 ห่อ (3 ชิ้น) จะได้รับน้ำตาลเกือบครึ่งหนึ่งของที่แนะนำให้กินได้ต่อวัน(ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 24 กรัมต่อวัน) ถ้าเผลอกินเพลินเกิน 2 ห่อต่อวัน ร่างกายจะได้น้ำตาลเกินจำเป็น         - วัยผู้ใหญ่ไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้น หากกินขนมแมคไวตี้ส์ ไดเจสทีฟ ออริจินอล (บิสกิตข้าวสาลี) 2 ชิ้น หรือโอรีโอ ช็อกโกแลตครีม 3 ชิ้น ก็จะได้รับโซเดียมเกินครึ่งหนึ่งของที่แนะนำไว้แล้ว        - เมื่อลองนำเกณฑ์สัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกสุขภาพ” มาพิจารณา ในปริมาณขนม 100 กรัม         ขนมบิสกิตและแครกเกอร์   กำหนดให้มีน้ำตาล ≤ 7 กรัม  และโซเดียม ≤ 500 มิลลิกรัม พบว่าทุกตัวอย่างมีน้ำตาลเกิน และมีโซเดียมอยู่ในเกณฑ์        ขนมคุกกี้  กำหนดให้มีน้ำตาล ≤ 20 กรัม และ โซเดียม ≤ 300 มิลลิกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างมีน้ำตาลเกิน และมีโซเดียมเกินเกณฑ์นี้ 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม (471.01 มก.)  ยี่ห้อบาวเซ่น เดโลบา บลูเบอร์รี่ (348.48 มก.) และยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค (323.53 มก.)         - ทุกตัวอย่างบอกวันผลิตและวันหมดอายุไว้ มีอายุตั้งแต่ 10 – 21 เดือน โดยมี 8 ตัวอย่างที่อายุ 1 ปี         - ยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ระบุวันหมดอายุ 01.12.23 และมีอายุนับจากวันผลิตนานถึง 21 เดือน         - มี 3 ตัวอย่างที่ผลิตในประเทศไทย ส่วนใหญ่ผลิตจากต่างประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เยอรมันฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร         - ทุกตัวอย่างแสดงข้อความเตือนว่า “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ”     ฉลาดซื้อแนะสำหรับผู้ให้        - หากจะซื้อขนมมาจัดกระเช้าปีใหม่ ต้องดูวันหมดอายุให้ดีๆ เพราะอาจมีสินค้าใกล้หมดอายุมาวางขายปะปนบนชั้นได้ ยิ่งถ้าใครซื้อแบบกระเช้าสำเร็จรูปก็ต้องตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ         - เลือกซื้อขนมที่ผลิตในประเทศไทย สนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ         - เปลี่ยนเป็นขนมที่ดีต่อสุขภาพแทน เช่น กระเจี๊ยบมอญอบกรอบ บร็อคโคลี่อบแห้ง งาดำอัดแท่งหวานน้อย ลูกเดือยกล้อง ถั่วเปลือกแข็ง (อัลมอนด์ วอลนัท) อบไม่ปรุงรส ดาร์คช็อคโกแล็ต (มี %cocoa มากกว่า 70%) เป็นต้น         - อย. แนะนำให้มอบกระเช้าของขวัญปีใหม่ในแบบ “สุขใจผู้ให้ ห่วงใยผู้รับ” โดยเลือกที่มีสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองแล้วว่ามีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมต่อสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สำหรับผู้รับ        - เมื่อได้รับขนมเหล่านี้เป็นของขวัญ มักได้เป็นกล่องหรือกระป๋องใหญ่ แกะแบ่งห่อเล็กปันคนอื่นๆ ด้วยก็ดีไม่ต้องเก็บไว้เยอะ และอย่าเผลอกินเกินจำนวนหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลากโภชนาการ เดี๋ยวจะอ้วน         - ถ้าวันไหนรู้ตัวว่ากินคุกกี้ แครกเกอร์ เยอะเกินแล้ว ก็ควรจะออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไป จะได้กินขนมให้อร่อยต่อไปได้โดยไม่ต้องกลัวอ้วนหรือรู้สึกผิดต่อตัวเอง         - กินขนมคู่กับน้ำเปล่าดีที่สุด หากไม่อยากได้รับน้ำตาล ไขมันและโซเดียมเพิ่มอีก         - อย่าชะล่าใจ กินขนมอบกรอบรสหวานๆ เสี่ยงเป็นเบาหวานแล้วยังเสี่ยงเป็นโรคไตด้วย เพราะโซเดียมไม่ได้มีแต่ในเกลือที่ให้รสเค็ม แต่ยังแฝงอยู่ในผงฝูและสารกันบูดที่เป็นส่วนผสมของขนมเหล่านี้ด้วย  ข้อมูลอ้างอิงwww.thaihealth.or.thwww.oryor.com

อ่านเพิ่มเติม >