ฉบับที่ 106 พลังงานสะอาดที่ครัวชมวาฬ

ครัวชมวาฬ วันนี้มีผู้คนแวะเวียนเข้ามาไม่ขาดสาย ยิ่งเป็นช่วงเสาร์ – อาทิตย์ คนจะเยอะยิ่งกว่าวันอื่นๆ กลิ่นไอการต่อสู้เพื่อบ้านเกิดของคนบ่อนอกก็ไม่จางหายไป กรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก ภรรยาของเจริญ วัดอักษร นักต่อสู้ผู้ล่วงลับ นับเป็นนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน ที่มีวิธีคิดโดดเด่นอย่างยิ่ง จากหญิงสาวที่เรียนหลักสูตรการโรงแรมและท่องเที่ยวนานาชาติ ที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพ แต่ชีวิตเธอต้องพลิกผันกลายไปเป็นนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนได้อย่างไร ฉลาดซื้อขอพาคุณไปรู้จักกับเธอ เรื่องเล่าวันวาน โรงไฟฟ้าที่ชาวบ้านไม่ต้องการจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อลดภาระในการลงทุนและการกู้ยืมเงินของรัฐบาล เมื่อปี 2537 โดยโครงการที่ได้รับการอนุมัติคือ โครงการโรงไฟฟ้าที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ของบริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์เจเนอเรชั่น ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้สร้างที่ ต.บ่อนอก และบริษัทยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดิเวลลอปเมนท์ ซึ่งจะสร้างที่หินกรูด แต่ประชาชนบางส่วนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไม่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ทั้ง 2 แห่งที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงได้รวมตัวกันคัดค้านและนำไปสู่การชุมนุมประท้วงและปิดกั้นการจราจรบนถนนเพชรเกษมในระหว่างวันที่ 8-10 ธันวาคม 2541 จนคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ให้จัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินโครงการก่อสร้างที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งท้ายสุดจะต้องลงเอยด้วยการอนุมัติโครงการอยู่นั่นเอง สุดท้ายชาวบ้านก็ต้องสู้ให้ถึงที่สุด ทั้งเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี และต้องหาข้อมูลทางวิชาการที่โรงไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการให้กับชาวบ้านในเรื่อง “รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม” หรือ อีไอเอ แกนนำในขณะนั้นคือ เจริญ วัดอักษร ซึ่งก็คือสามีของ กรณ์อุมา พงษ์น้อย เป็นประธานกลุ่มและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนนำจนกระทั่งได้ถูกลอบยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 หลังการต่อสู้ที่ยาวนาน ในปี 2546 ได้มีการแถลงข่าวว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะมีการย้ายโรงไฟฟ้าบ่อนอกไปสร้างที่จังหวัดสระบุรี และเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติ และปี 2547 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ย้ายโรงไฟฟ้าที่บ่อนอกไปสร้างที่แก่งคอย จังหวัดสระบุรี แต่กลิ่นไอของการต่อสู้ที่แลกด้วยชีวิตยังเคยไม่จางหาย พลังงานทางเลือก ที่ไม่ถูกเลือกจากการต่อสู้เพื่อท้องถิ่นของกรณ์อุมา บอกว่าจากจุดนี้เองที่เธอก็งงว่ารัฐพยายามบอกว่า จะใช้พลังงานที่ยั่งยืนในการผลิตไฟฟ้า แล้วทำไมไม่ส่งเสริมให้มาใช้พลังงานแสงแดด พลังงานลม“ความคิดเรื่องการใช้พลังงานสะอาด เกิดขึ้นตอนที่พวกเราคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้า แล้วเราก็ชูประเด็นในระดับนโยบายกับรัฐว่าการใช้เชื้อเพลิงที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมน่าจะปรับเปลี่ยนได้แล้ว และควรจะเป็นพลังงานสะอาดหรือพลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็น ลม แสงแดด เรานำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยใช้แผงโซ่ล่าเซลล์หรือกังหันลม ซึ่งรัฐเองก็บอกแต่ว่าต้นทุนสูง ซึ่งเราก็งงว่าจะต้องใช้ต้นทุนอะไร ในเมื่อสายลมแสงแดดเราไม่ต้องซื้อ ในขณะที่ถ่านหินต้องซื้ออีกอย่างตอนที่เจริญเขายังมีชีวิตอยู่ ก็เคยคุยๆ กันอยู่ ตอนที่ต่อสู้กันอย่างเข้มข้นว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะทำกังหันลม ซึ่งมองที่ดินสาธารณะที่ติดชายทะเลไว้ และเป็นที่ดินที่อยู่หน้าโรงไฟฟ้า ซึ่งถ้าหากพวกเราทำได้ก็น่าจะดี เรามองประเด็นเรื่องการท่องเที่ยวด้วย แต่ตอนนั้นมองภาพเป็นกังหันขนาดใหญ่ ก็พยายามมองหาเทคโนโลยีต่างๆ แต่เจริญก็เสียชีวิตไปก่อนครั้นเรามาสานต่อเรียนรู้ร่วมกับชุมชนถึงการทำกังหันโดยใช้วัสดุง่ายๆ ที่หาได้ที่บ้านเรา นั่นคือตัวกังหันต้องมีดุมล้อ ใบพัดกังหันก็ทำจากไม้ ก็สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ถึงมันจะไม่ได้มากนักแต่ก็เป็นพลังงานทางเลือกที่ทดแทนกันได้ในระดับหนึ่ง เราได้เขียนโครงการของบประมาณ สนับสนุนจาก สสส.ได้เงินให้ชุมชนทำพลังงานสะอาด เราขอทำกังหันไป 3 ตัว ตัวแรกก็คือตัวที่ตั้งที่ร้าน ซึ่งเราทดสอบกับลมทะเล อีกตัวก็ไปตั้งไว้ที่วัดซึ่งเรานำไปทดลองใช้กับวิทยุชุมชน ซึ่งเท่าที่ทดลองมาก็นำไฟฟ้ามาใช้งานได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่นับรวมว่าจะนำไปใช้กับแอร์ได้นะ ก็เสียบคอมพิวเตอร์ วิทยุได้แต่กระบวนการที่ผ่านมาก็ทำให้เราได้รู้ว่ากังหันลมที่เราทำขึ้นมา ก่อให้เกิดพลังงานได้จริง แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้ก็คือกระบวนการลองผิดลองถูก” ลองผิดลองถูกทำให้เรา รู้จริงกระบวนการที่กรณ์อุมาว่าก็คือตั้งแต่เริ่มซื้อแบตเตอรี่เพื่อเก็บไฟฟ้า กว่าจะรู้ว่าแบตเตอรี่มีความต่าง“ช่วงแรกๆ ก็ถือว่าเราหมดไปเยอะ อย่างซื้อแบตฯ เราก็คิดถึงการใช้งานระยะยาว ก็ไปซื้อแบตเตอรี่แห้ง เจ้าของร้านก็แนะนำเราอย่างดี พอซื้อมาใช้จริงๆ ถึงรู้ว่าเราเสียรู้ เอ่อ..อันนี้ไม่ฉลาดซื้อนะ” เธอพูดพลางหัวเราะก่อนจะอธิบายเพิ่มเติม“เสียรู้ก็คือเรามารู้ภายหลังว่าไฟฟ้าที่มาจากกังหันนั้น กระแสไฟฟ้าไม่สม่ำเสมอทำให้เราเก็บไฟไม่ได้เลย และที่เหมาะสมที่สุดคือแบตเตอรี่น้ำ เราก็เลยเสียแบตเตอรี่ไป 4 ลูก ตอนนั้นซื้อมาลูกละ 7,000 บาทได้นะ เลยทำให้เราเรียนรู้ว่า เราต้องมองหาแหล่งซื้อของให้มากขึ้น อย่างแม่เหล็กที่แผงวงจรไฟ เราก็ไปหาซื้อที่คลองถมจะซื้อได้ถูกกว่าแค่ 180 บาทจาก 250 บาท” นั่นคือบทเรียนที่เธอและชุมชนได้เรียนรู้ นอกจากจะศึกษาเองแล้ว เธอยังไปศึกษาเรียนรู้ดูงานกับเครือข่าย ที่ทำงานด้านพลังงานทางเลือก เพื่อพัฒนาร่วมกัน “ตอนนี้ก็เริ่มมีแนวคิดว่า จะพัฒนากังหันลมที่ทำอยู่ให้ได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใบพัดที่คงทน ระบบการผลิตและจัดเก็บไฟฟ้า แล้วถ้ามันสมบูรณ์แบบเมื่อไร ก็คิดว่าจะทำให้กังหันมีขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมทั้งขยายแนวคิดออกสู่ชุมชน ปัจจุบันคิดค่าต้นทุนทั้งกังหันลม แบ็ตเตอรี่เก็บไฟ ตัวเร็กกูเลเตอร์ เบ็ดเสร็จก็น่าจะ 50,000 บาท ต่อ 1 ชุด” เธอแจกแจงแนวคิดที่จะขยายโครงการ หากเธอนับหนึ่ง นับสอง ได้สำเร็จ ครั้นฉลาดซื้อถามถึงผลตอบรับจากบ้านว่าเป็นอย่างไร เธอตอบอย่างหน้าชื่นว่าคนผ่านไปมาก็ถาม ลูกค้ามาถาม บางคนก็เข้ามายินดีกับเธอที่เธอสามารถนับหนึ่งการใช้พลังงานสะอาดได้แล้ว “ความตั้งใจจริงๆ ที่ทางกลุ่มลงมือกันทำก็คือ อยากจะขยายไปสู่วัด โรงเรียน ก่อนที่เป็นรายบ้าน เพราะเมื่อทำงานกับโรงเรียนก็จะได้ทำงานกับเยาวชนด้วย ได้เพิ่มการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ด้วย” นั่นคือเป้าหมายที่เธอและทางกลุ่มคาดหวังไว้โรงไฟฟ้าแค่จิ๊กซอตัวเล็กๆ ในแผนพัฒนาอุตสาหกรรมภาคใต้“ตั้งแต่โรงไฟฟ้าไปชาวบ้านก็ทำงานของเขาตามปกติ คือปกติเขาก็ทำงานของเขาอยู่นะ แต่พอมีปัญหาการรวมตัวของชาวบ้านก็จะมาทันที ถ้าถามว่าโรงไฟฟ้ามันจบไหม คือ…เอาเข้าจริงๆ ประจวบฯไม่ได้เจอแค่โรงไฟฟ้านะ โรงไฟฟ้าเป็นเพียงจิ๊กซอตัวเล็กๆ ในแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด ที่ตอนนี้เริ่มขยับตัวแล้วโรงไฟฟ้าก็มีบ่อนอก หินกรูด แล้วก็ทับสะแก ตอนนั้นเราสู้ร่วมกัน ซึ่ง 3 โรงไฟฟ้านั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะรองรับอุตสาหกรรมที่จะตามมา ซึ่งนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าทางสภาพัฒฯ และเอดีบี ได้สำรวจและมีงานวิจัยออกมาแล้วว่าที่ อ.กุยบุรี เหมาะกับการสร้างเหล็กต้นน้ำ พูดง่ายๆก็คือโรงผลิตเหล็ก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมของบ้านเรา แต่มันเก่ามาจากต่างประเทศ อย่างสหรัฐ ฯ อังกฤษ ญี่ปุ่น แล้วตอนนี้เขาก็ย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศอย่างเราๆ เหมือนเป็นการล่าอาณานิคมสมัยใหม่ที่ใช้ระบบเศรษฐกิจในการล่า บ้านเราก็มีบทเรียนมาแล้วจากระยอง นั่นก็คือมาบตาพุด ไม่ว่าจะเป็นชื่อร้าน ชื่อโรงงานมีแต่ของต่างประเทศทั้งนั้น ที่มายึดไทยเป็นฐานการผลิตแล้วเอากำไรกลับประเทศเขาไปในประจวบฯ เองก็ไม่ใช่มีแค่เหล็กต้นน้ำ มันก็จะมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ตามมา คือมันก็จะเป็นแบบเดียวกับที่ระยอง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ต้องใช้คำว่าภาคใต้ถึงจะถูก ประจวบฯ เป็นแค่จังหวัดแรกของภาคใต้เท่านั้น โรงไฟฟ้าบ่อนอก ที่บอกว่าเหมือนจะจบแล้ว แต่มันยังไม่จบ เพราะรัฐได้ทำสัญญาไปแล้วก็ต้องย้ายไปสร้างที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี จากกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์เป็น 1,400 เมกะวัตต์ คือแต่ละที่ก็ต้องสู้ต่อ ถ้าถามว่าในทางนโยบายการผลิตไฟฟ้าที่ประจวบฯ ยังมีอยู่หรือเปล่า ที่ 4,000 เมกะวัตต์ ยังมีนะก็คือ บ่อนอก 700 เมกะวัตต์ บ้านกรูด 1,400 เมกะวัตต์ และที่ทับสะแกอีก 2,100 เมกะวัตต์ แต่ตอนนี้กำลังการผลิตที่ทับสะแกเปลี่ยนไปแล้วนะถ้าเขาสร้างได้เต็มที่จะอยู่ที่ 14,000 เมกะวัตต์ คือจะใหญ่กว่าแม่เมาะเลยทีเดียว และนั่นคือโรงไฟฟ้าถ่านหิน คิดดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นที่นี่ ไม่อยากจะให้รัฐมาขับไล่พวกเราอีก คือไม่ใช่ว่าเราต้านไปหมดทุกอย่างนะ เพียงแต่อยากให้รัฐทำให้ถูกที่ ทำไมจะต้องมาสร้างในชุมชน” กรณ์อุมา แสดงทัศนะและย้อนไปถึงโรงไฟฟ้าที่เป็นด่านแรกของแผนพัฒนาฯ เท่านั้น ยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังจะตามมา“ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2551-2564(PDP 2007) เขาจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วย ทั้งที่ปัจจุบันโรงไฟฟ้าเท่าที่มีอยู่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 29,891 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเมื่อปี 2551 อยู่ที่ 22,568 เมกะวัตต์ ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่เกินความต้องการถึง 7,323 เมกะวัตต์ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นที่บอกว่าถ้าไม่สร้างโรงไฟฟ้าที่ประจวบฯ จะทำให้ไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ ก็ไม่เข้าใจรัฐนะ แล้วการที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็บอกว่าเป็นพลังงานทางเลือกอีกตัวหนึ่ง เราก็งงมากในสมัยที่เราสู้เราก็บอกว่าพลังงานทางเลือกก็คือ สายลม แสงแดด พลังงานชีวมวล แต่ว่าพลังงานทางเลือกของรัฐตอนนี้คือก๊าซ ถ่านหิน นิวเคลียร์ แถมยังบอกเราว่าลดความเสี่ยง ทั้งที่สิ่งเหล่านี้มันเสี่ยงมากกับชีวิต กับสุขภาพ กับวิถีชีวิตของคน แต่รัฐอ้างเพียงว่าเชื้อเพลิงจะหมดไป แต่เรากลับมองต่างว่าสายลม กับแสงแดด มันไม่มีวันหมดอยู่แล้ว” รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาดหลังเหตุการณ์ ต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้า ซึ่งนั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตกรณ์อุมา จากคนที่รักสงบ แต่ปัจจุบันเธอต้องรับหน้าที่เป็นประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก แล้วยังเป็นแกนนำคนสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อให้ชาวบ้านในจังหวัดประจวบฯ ได้เข้าใจถึงผลกระทบที่จะตามมาของโครงการพัฒนาฯ จนเกิดเป็นกลุ่ม “เครือข่ายพันธมิตร สิ่งแวดล้อมประจวบฯ” รวมถึงมีส่วนในการก่อตั้ง “เครือข่ายประชาชนภาคใต้” เพื่อต่อสู้กับแผนพัฒนา ที่กำหนดให้ภาคใต้เป็นเมืองอุตสาหกรรม ต้องเดินทางเกือบจะตลอดเวลา ชีวิตรักสงบของเธอจึงเปลี่ยนไป “โอ้โห มันเปลี่ยนไปแบบไม่เหลือเลย จากคนที่ไม่ชอบความวุ่นวาย วันๆ ก็อยู่กับการทำมาหากิน มีเวลาก็จะอ่านหนังสืออยู่กับบ้าน ไม่ชอบไปไหน พอถึงวันนี้การต่อสู้ที่ผ่านมาโดยเริ่มจากปัญหาของตัวเอง พอเรามาจับปัญหาแล้วมันทำให้เรารู้ว่าบ้านเมืองเรายังมีปัญหาอีกเยอะมาก โดยเฉพาะแผนพัฒนาฯ ถ้าเราไม่ช่วยกันก็จะเป็นปัญหาในระยะยาว ก็คิดนะว่าถ้าเราทำอะไรเพื่อใครได้ก็อยากจะไปเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับส่วนอื่นๆ มันก็เหนื่อยนะ แต่พอพักมันก็หาย” ครัวชมวาฬ ครัวเพื่อการเรียนรู้ของชุมชน“พอเราต้องออกเดินทางบ่อยๆ เราก็ยกร้านอาหารให้พี่สาวมาช่วยดูแล เพราะมันต้องมีคนมาดูแลทั้งร้าน ทั้งที่พัก มีคนยุให้เปิดที่พักอีก แต่แค่นี้ก็พอแล้ว เราทำไม่ได้กะจะหวังร่ำรวยอะไร แค่พอมีเงินมาจุนเจือครอบครัว ให้คนในชุมชนได้มีงานทำ แล้วก็เปิดให้คนข้างนอกเข้ามาพัก เข้ามาดูว่าบ่อนอกเป็นอย่างไรแค่นี้ก็พอแล้ว คนที่มาพักก็มีสงสัยนะว่าทำไมไม่เห็นปลาวาฬบรูด้าเลย คือเราก็ไปบังคับให้มันมาว่ายไม่ได้ คือบ้านเราเห็นมันมาจนเป็นปกติ บ้านเราเรียกว่าปลาเจ้า ช่วงที่ต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้า ซึ่งเขาบอกว่าอีกไม่นานหรอกที่นี่อาชีพประมงจะล่มสลายเพราะทะเลไม่อุดมสมบูรณ์ เรื่องปลาวาฬ จึงถูกหยิบยกเพื่อมาสู้กันในเรื่อง อีไอเอ ความอุดมสมบูรณ์ของทะเล ปลาวาฬกินอาหารทีเป็นตันๆ แบบนี้คุณจะมาบอกว่าบ้านเราไม่สมบูรณ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนที่จะมาที่นี่เขาก็จะมาศึกษาธรรมชาติ มาพัก เราก็จะสกรีนลูกค้าเราได้ส่วนหนึ่งแล้ว บางวันมีม็อบเราก็จะบอกว่าไม่ขายนะคะ ไปม็อบ เพราะคนที่ทำงานที่นี่ก็เป็นคนในชุมชน เวลาที่จะออกไปต่อสู้หรือเรียกร้องอะไร ก็จะพากันไปหมด เพราะทุกคนอยากสู้เพื่อชุมชน สู้เพื่อบ้านเกิดของตัวเอง” ใครที่อยากชิมอาหารครัวชมวาฬ แวะกันไปด้วยทุกวันค่ะ (ยกเว้นไว้ไปม็อบ) เข้าไปดูรายละเอียด ได้ที่ www.kruachomwhale.com

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point