ฉบับที่ 237 FoodChoice ตัวช่วยของการรับประทานอาหาร

        สุขภาพที่แข็งแรงย่อมเกิดมาจากการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย ดังนั้นอาหารที่เลือกรับประทานในชีวิตประจำวันมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนเองเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ฉบับนี้จึงมาแนะนำการเลือกรับประทานอาหารในแบบฉบับใส่ใจและลงลึกถึงสารอาหารและข้อมูลทางโภชนาการกันดีกว่าค่ะ         เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีการเปิดตัวแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “FoodChoice” ที่ได้รับการพัฒนาจากกระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอีกหลายฝ่าย และหนึ่งในนั้นคือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         แอปพลิเคชั่น “FoodChoice” ตั้งใจมีไว้เพื่อให้ข้อมูลด้านโภชนาการอาหารและเครื่องดื่มให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะจำแนกข้อมูลต่อหนึ่งหน่วยบริโภคของปริมาณสารอาหาร ได้แก่ พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน ให้ข้อมูลในหน่วยช้อนชา และทำให้ผู้บริโภคได้รับทราบเกณฑ์มาตรฐานโภชนาการอีกด้วย         ภายในแอปพลิเคชั่นจะมี 3 หมวด ดังนี้ หมวดแรกคือประวัติการค้นหา จะช่วยเก็บข้อมูลที่ได้ค้นหาข้อมูลบนฉลากโภชนาการทั้งหมด หมวดสองใช้สำหรับสแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์เพื่อให้แอปฯ ประมวลผลข้อมูลบนฉลากโภชนาการ และหมวดสามเป็นข้อมูลทั่วไปของแอปพลิเคชั่น ได้แก่ การใช้งาน เกณฑ์สีและการจัดเรียงข้อมูล หน่วยงานที่ร่วมพัฒนา ช่องทางการติดต่อ และข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้         เมื่อต้องการทราบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ ให้สแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์นั้นๆ หลังจากนั้นจะปรากฎภาพข้อมูลโภชนาการในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้ง่าย โดยแยกเป็นสารอาหารในปริมาณต่างๆ พร้อมคำแนะนำว่าผลิตภัณฑ์เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับผู้บริโภคที่เป็นโรคใดบ้าง และช่วยเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีการจำแนกสีของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถเลือกบริโภค และกำหนดปริมาณการกินให้เหมาะสมได้ ดังนี้        1) สีเขียว หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ที่กําหนด        2) สีเหลือง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง        3) สีแดง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ที่สูงเกิน 2 เท่าของเกณฑ์ที่กำหนด        4) สีฟ้า หมายถึง ปริมาณโปรตีน แคลเซียม วิตามินบีสอง ซึ่งเป็นสารอาหารที่ดีแต่มีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์มาก          ในกรณีที่ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสแกนบาร์โค้ดบนผลิตภัณฑ์แล้วไม่พบข้อมูล ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสามารถถ่ายรูปของด้านหน้าผลิตภัณฑ์ ข้อมูลโภชนาการ ส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ และเลขอย. 13 หลัก เพื่อแชร์รูปภาพให้ข้อมูลในแอปพลิเคชั่นทันสมัย และครบถ้วนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้บริโภคจะช่วยกันเพิ่มข้อมูลด้านโภชนาการและแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกัน         การใช้แอปพลิเคชั่น “FoodChoice” อย่างน้อยก็ช่วยสร้างให้ผู้บริโภคได้ตระหนักในการเลือกบริโภคและใส่ใจกับข้อมูลโภชนาการที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ เพื่อประกอบการตัดสินใจที่จะเลือกบริโภคและพิจารณาถึงคุณค่าของสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวันให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไปและน้อยเกินไป ซึ่งจะช่วยทำให้ร่างกายได้รับแต่อาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์

อ่านเพิ่มเติม >