ฉบับที่ 263 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2566

5 อันดับ “Fake News”  ปี 2565         กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยสถานการณ์ข่าวปลอมปีที่ผ่านมา จากข้อมูลที่ได้รับการแจ้งเบาะแสและติดตามบทสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม พบว่า มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองถึง  517,965,417 ข้อความ โดยข่าวปลอม 10 อันดับที่มีการแชร์ซ้ำบ่อยมากที่สุด มีดังนี้ 1. เรื่องเคี้ยวเม็ดมะละกอสุกแล้วกลืนโดยไม่ต้องกินน้ำตาม วันละ 3 เม็ด รักษามะเร็งระยะสุดท้าย 2. ปรากฏการณ์ APHELION โลกจะอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ ระยะทาง 5 นาทีแสง หรือ 90,000,000 กิโลเมตร 3. อย. แพ้คดี หลังไฟเซอร์ถูกบังคับให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีน 4. กสทช. โทรแจ้งประชาชนขอระงับสัญญาณเบอร์โทรศัพท์ และจะติดแบล็คลิสต์ไม่สามารถเปิดเบอร์ใหม่ได้ 5. หากสแกน QR Code จากใบนัดนำจ่ายสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ สามารถถูกดูดเงินในบัญชีได้ ดังนั้นหากพบข่าวที่เข้าลักษณะข่าวปลอมควรตรวจสอบก่อนส่งแชร์ข้อความต่อ          เปิดเกณฑ์การตัดแต้ม “ใบขับขี่”          สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เริ่มใช้มาตรการตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ (ตัดแต้มใบขับขี่) เป้าหมายเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยมีกำหนดให้มี 12 คะแนน ทุกคนที่มีใบอนุญาตใบขับขี่ไม่ว่าจะชนิดใดก็ตาม ถ้าทำผิดกฎจราจรจะมีการตัดคะแนนตามเกณฑ์ที่ระบุไว้ ทั้งนี้ เกณฑ์การตัดคะแนนแบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้  แบบที่ 1 การ “ตัดคะแนนทันทีที่ทำผิด”         ตัด 1 คะแนน = ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่รัดเข็มขัด ขับรถเร็วเกินกำหนด ขับรถบนทางเท้า  ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย ไม่หลบรถฉุกเฉิน ขับรถโดยประมาท น่าหวาดเสียว ขับรถไม่ติดป้ายทะเบียน หรือเปลี่ยนแปลง ปิดบัง และไม่ติดป้ายภาษี          ตัด 2 คะแนน = การขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ขับรถย้อนศร ขับรถระหว่างโดนพักใช้ หรือเพิกถอยใบขับขี่         ตัด 3 คะแนน = ขับรถในขณะหย่อนความสามารถ ขับรถผิดวิสัยคนขับรถธรรมดา ขับรถชนแล้วหนี         ตัด 4 คะแนน = เมาแล้วขับ ขับรถในขณะเสพยาเสพติด แข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น         ทั้งนี้ แบบที่ 2 คือ “ตัดคะแนนเมื่อไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง” ค้างชำระ 1 ใบสั่ง ตัด 1 คะแนน นอกจากนี้ หากถูกตัดจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใบอนุญาตขับขี่ ห้ามขับรถทุกประเภท ในระยะเวลา 90 วัน ฝ่าฝืนขับรถในขณะยังถูกพักใบขับขี่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รัฐปิดเบอร์ซิมลวงกว่า 1 แสนเบอร์ อายัดบัญชีม้า 5.8 หมื่นบัญชี         รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาของอาชญากรรมทางออนไลน์ว่าสามารถดำเนินคดีผู้กระทำผิดได้จำนวนมาก ในปี 2565 สามารถปิดกั้นเบอร์โทรหลอกลวง/ข้อความ SMS หลอกลวง ได้ถึง 118,530 หมายเลข และอายัดบัญชีม้าได้ถึง 58,463 บัญชี รวมถึงการปิดกลุ่มโซเชียลซื้อขายบัญชีม้าได้ถึง 8 กลุ่ม และปิดกั้นเว็บพนัน จำนวน 1,830 เว็บ           การแก้ไขปัญหาสำหรับบัญชีม้าหรือบัญชีต้องสงสัย ทางสำนักงาน ปปง. ได้มีการจัดทำประกาศหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดหรือทบทวนรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง ในขณะที่สำนักงาน กสทช.ได้มีการแก้ไขปัญหาซิมผิดกฎหมายให้คนที่มี 100 ซิมขึ้นไป ซึ่งมีอยู่ประมาณ 8,000 รายนั้น ยืนยันตัวตนให้ถูกต้องภายในเดือน มกราคม 2566 เพื่อจะได้เป็นการตัดวงจรมิจฉาชีพที่จะนำซิม ไปเติมเงินเพื่อโทรไปหลอกลวงประชาชน และทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ระวังโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ         ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุ ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งปล่อยให้อยู่เพียงลำพังหรือกรณีสูญเสียคู่สมรสจะเกิดความเครียดกังวล ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า อาการที่พบคือ ผู้ป่วยจะเริ่มอยู่นิ่ง หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ชอบนอนเฉยๆ ไม่อยากทำอะไร กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เข้านอนเร็ว ตื่นบ่อย ตื่นนอนเช้ากว่าปกติ บางรายอาจมีอาการรับประทานอาหารจุและไม่ค่อยมีสมาธิหลงลืม  ไม่ทำกิจกรรมที่เคยทำประจำ เช่น ไม่ขับรถ ไม่ชอบเข้าวัดทำบุญ ไม่ทำงานอาสาต่างๆ เหมือนอย่างที่เคยทำ บางรายก็จะบ่นปวดหัว ชอบพูดประชด เสียดสี ในรายที่มีอาการซึมเศร้าหนัก ๆ จะชอบคิดว่าอวัยวะภายในร่างกายบางส่วนหายไป ซึ่งเป็นผลจากความจำหรือความรู้สึกนึกคิด และเป็นความบกพร่องที่อาจมีผลมาจากโรคซึมเศร้า หากพบว่าพ่อแม่รวมถึงญาติผู้ใหญ่ในบ้านมีอาการข้างต้นเกิน 2 สัปดาห์ อาจมีความเสี่ยงเข้าข่ายควรพาไปพบแพทย์ทันที มพบ.เรียกร้องสำนักงานอัยการสูงสุดยกเลิก MOU กับแพทยสภา         จากข่าวการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์โดยมีอัยการสูงสุด นายกแพทยสภาและประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมลงนามเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 นั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเกิดความกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนที่เป็นผู้ป่วยหรือผู้รับบริการสาธารณสุขหรือไม่ เพราะหากศัลยแพทย์ถูกร้องเรียนหรือถูกฟ้องร้องจะได้รับการปรึกษาหารือทางกฎหมายจากอัยการ ความร่วมมือนี้จะส่งผลทำให้อัยการมีความเห็นทางกฎหมายที่เอนเอียงไปกับฝ่ายศัลยแพทย์หรือไม่ และทำไมแพทยสภาจึงต้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายให้แก่หมอศัลยกรรมจากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นกรณีพิเศษ         ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แสดงความเห็นว่าองค์กรอัยการจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ปราศจากอคติ เพราะอัยการมีบทบาทหน้าที่พิจารณาสั่งฟ้องคดีอาญาที่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายร้องทุกข์ในคดีทางการแพทย์ อีกประเด็นที่น่ากังวลคือ หากพนักงานอัยการที่เป็นผู้บริหารให้คำปรึกษาแก่ศัลยแพทย์ แพทยสภาหรือราชวิทยาลัยศัลยแพทย์อาจทำให้มีผลผูกพันต่อการสั่งคดีทางอาญาหรือไม่ และอาจส่งผลต่อความเป็นอิสระเที่ยงธรรมของพนักงานอัยการผู้สั่งคดี กล่าวคืออัยการอาจสั่งไม่ฟ้องหมอศัลยกรรมในคดีต่างๆ เพราะเชื่อในข้อเท็จจริงของฝ่ายแพทย์ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ไม่ได้รับโอกาสพิสูจน์ความจริงในชั้นศาล         กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีความกังวลว่าการร้องเรียนหรือคดีทางการแพทย์ที่ประชาชนได้รับความเสียหาย เช่นจากการทำศัลยกรรมเสริมความงาม ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามกระแสนิยม โอกาสที่จะได้รับความเสียหายก็อาจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หากผู้บริโภคใช้สิทธิฟ้องร้องย่อมเกิดความกังวลเรื่องความเป็นกลาง องค์กรอัยการเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความน่าเชื่อถือและมีความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรม เป็นที่พึ่งสุดท้ายในการที่ผู้บริโภคจะได้รับความเป็นธรรม จึงควรทบทวนความจำเป็นและเหมาะสมในการทำความร่วมมือฉบับนี้ มิฉะนั้นจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในอัยการและกระบวนการยุติธรรม แล้วประชาชนจะหันหน้าไปพึ่งใคร

อ่านเพิ่มเติม >