ฉบับที่ 245 อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะทดลองให้ถนนบางสายเป็น Bus Lane

        คงไม่มีใครคิดว่าประเทศไทยจะมาถึงจุดนี้ จุดที่ระบบสาธารณสุขใกล้จะล่มสลาย และระบบขนส่งมวลชนกำลังจะสิ้นใจ อันเป็นผลมาจากความรุนแรงของการแพร่ระบาดโควิด 19 ระลอกใหม่นี้ กับตัวเลขรวมผู้ติดเชื้อรายวันที่แตะหลักหมื่นคน         ทุกวันนี้ถามแต่ละคนได้เลยว่า ในเวลานี้หากเลือกได้ใครบ้างอยากใช้ชีวิตแบบปกติ หรือออกจากบ้านใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างเดิมไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถไฟฟ้า รถตู้ รถทัวร์ เรือโดยสาร  แท็กซี่ หรือแม้แต่วินจักรยานยนต์รับจ้าง เพราะที่บอกมาทั้งหมดนั้น คือ บริการขนส่งมวลชนที่มีอัตราความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทบทั้งนั้น เนื่องมาจากลักษณะของการแพร่ระบาด คือ การที่มีประชาชนจำนวนมากจากหลายทิศทางมารวมตัวอยู่ในยานพาหนะเดียวกัน ซึ่งหากมีผู้ติดเชื้อเพียงหนึ่งคนที่อาจจะไม่รู้ตัว และมีพฤติกรรมประมาทไม่ระมัดระวัง รวมถึงผู้โดยสารท่านอื่นที่อาจจะไม่ทันระมัดระวังตัวเอง ผู้ที่มีเชื้อก็อาจจะกลายเป็นพาหนะนำเชื้อแพร่สู่บุคคลอื่นได้อีกเป็นจำนวนมาก         ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้จากโควิด 19 สายพันธุ์แรกเริ่ม ที่พบว่าผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนที่ไม่มีภูมิต้านทาน และไม่ป้องกันตัวได้ 2.4 - 2.6 คน ขณะที่สายพันธุ์อัลฟาที่โจมตีประเทศไทยไปก่อนหน้านี้ การแพร่เชื้อจะอยู่ที่ 4 - 5 คนในเงื่อนไขเดียวกัน แต่เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตาที่กำลังกลายเป็นตัวอันตรายหลักในตอนนี้ ผู้ติดเชื้อ 1 คนสามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ถึง 5 - 8 คน เลยทีเดียว         ชี้ชัดว่าความรุนแรงของโควิดระลอกใหม่นี้น่ากลัวจริงๆ และยังส่งผลกระทบต่อระบบขนส่งสาธารณะและการจราจรทั้งระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้นว่าคนใช้รถยนต์ส่วนตัวอาจจะชื่นชอบเพราะถนนหนทางในกรุงเทพมหานคร โล่งขับสบาย เหมือนการจราจรในช่วงเทศกาลหยุดยาว แต่หากมองออกนอกกระจก ชมเมืองรอบนอกรถแล้วจะพบความจริงที่แสนน่ากลัว เห็นแต่ความทุกข์และคราบน้ำตาของ ผู้คน พ่อค้าแม่ขาย ร้านค้า ผู้ประกอบการรายย่อย คนขับรถสาธารณะ เพราะกรุงเทพมหานครในตอนนี้อาจจะเรียกได้ว่าเข้าใกล้ความเป็นเมืองร้างไปแล้ว         จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางราง ยิ่งตอกย้ำถึงความยากลำบากของบริการขนส่งสาธารณะที่ระบุว่า ในช่วงวันหยุดที่ 10 – 11 ก.ค. มีอัตราการใช้บริการขนส่งทางรางทุกระบบน้อยที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 คือ มีผู้โดยสารมาใช้บริการระบบขนส่งทางรางทุกระบบไม่ถึง 2 แสนราย ขณะที่ในวันทำการปกติวันที่ 12 – 13 ก.ค. มีอัตราผู้โดยสารขนส่งทางรางทุกระบบอยู่ที่ประมาณ 2.75 – 3 แสนราย ด้วยจำนวนตัวเลขผู้โดยสารที่ลดน้อยลงเช่นนี้ นั่นเท่ากับว่าประชาชนเลือกที่จะไม่ออกจากบ้านกันแล้ว และหากสถานการณ์ยังไม่ดีและรุนแรงขึ้น อัตราของผู้โดยสารก็อาจจะลดน้อยลงได้อีก         นอกจากนี้จากสถานการณ์โควิด 19 ยังส่งผลให้ รถเมล์ รถโดยสารต่างๆ มีจำนวนผู้โดยสารลดน้อยมากกว่า 80% เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มรถร่วมเอกชน ทั้งรถเมล์ รถตู้ และรถทัวร์โดยสารต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน หลายรายถึงขั้นถอดใจจอดรถหยุดวิ่งและบางรายยอมขาดทุนเลิกกิจการไปเลยก็มี เพราะไม่สามารถทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและค่าเชื้อเพลิงอีกต่อไปได้แล้ว         แตกต่างกับ ขสมก. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจและรัฐยังอุดหนุนค้ำจุนอยู่ แม้จำนวนผู้โดยสารจะลดลง แต่พันธะหน้าที่บริการรถเมล์ให้กับประชาชนของ ขสมก. จะหยุดตามไม่ได้ เพราะบริการรถเมล์ ขสมก. ถือเป็นเส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงไปทั่วทุกเส้นทางในเมืองหลวงแห่งนี้ หากหยุดวิ่งบริการเมื่อไหร่ เชื่อได้ว่าจะยิ่งส่งผลกระทบซ้ำเติมประชาชนในช่วงสถานการณ์ความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เพราะอย่าลืมว่าแม้รัฐบาลจะออกมาตรการขอความร่วมมือเชิงสั่งการให้ Work From Home 100% แต่ก็ยังมีประชาชนคนทำงานจำนวนมากที่ไม่สามารถทำได้ และคนเหล่านี้แหละ คือ กลุ่มคนที่ทำให้ ขสมก. อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้         อย่างไรก็ดีการให้บริการเดินรถเมล์ ขสมก. ภายใต้ความเสี่ยงของสถานการณ์โควิดแบบนี้ พนักงานด่านหน้าของ ขสมก. กลับกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ในทันที โดยพบว่ามีพนักงาน ขสมก. ทั้ง พนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสารจากหลายเส้นทางที่ทยอยกลายเป็นผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แม้ว่าเกือบทั้งหมดจะเป็นการติดเชื้อจากที่พักอาศัย ไม่ได้มีต้นทางจากการให้บริการ แต่พนักงานที่ติดเชื้อก็ต้องให้พักงานเพื่อรักษาตัว และพักการใช้รถ ทำความสะอาดฆ่าเชื้อ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่ใช้รถโดยสารสาธารณะอยู่ในขณะนี้         การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด 19 รอบนี้สั่นคลอนประเทศในทุกระบบจริง ๆ  และถ้าภายในสองถึงสามสัปดาห์ข้างหน้าต่อไปนี้ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ยังคงเป็นไปอย่างที่เป็นมา เชื่อว่าคงเป็นเรื่องยากที่เราจะฟื้นฟูทุกอย่างให้กลับคืนมาได้ทัน เพราะตอนนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายของทุกคนแล้ว ก่อนที่ระบบทั้งหมดจะพังทลายลง อย่างไรก็ดีหากจะมองหาแง่ดี (ที่น้อยนิด) ของวิกฤตครั้งนี้ที่อาจจะเป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส คือสามารถทำให้ระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองได้รับการพัฒนา เนื่องจากในขณะนี้ปัญหารถติดไม่ใช่ปัจจัยหลักอีกต่อไปแล้ว เพราะการจราจรบนท้องถนนในช่วงนี้อย่างน้อยก็ไม่ติดขัดเหมือนช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด 19         ดังนั้นการปรับนโยบายทดลองนำร่องให้ถนนบางสายบางช่วงเวลาเป็น Bus Lane สำหรับรถเมล์โดยไม่ต้องลงทุนก่อสร้างอะไรเพิ่ม รวมถึงการทดลองปรับระบบ และการควบคุมเวลาเดินรถให้สามารถทำรอบตามเวลาที่กำหนดได้ เพื่อเตรียมความพร้อมใช้งานยามเมื่อสถานการณ์โควิด 19 เบาบางลงแล้ว ก็ย่อมจะเป็นทางออกที่ดีของทุกฝ่ายและควรคิดที่จะเริ่มปรับแผนทดลองกันตั้งแต่ตอนนี้เลย แบบนี้จะดีไหมทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >