ฉบับที่ 135 Broadband

  โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการนโยบายในด้าน Broadband ของรัฐบาลเยอรมนี สภาสูงแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี (Bundesrat) มีมติเห็นชอบ พรบ. โทรคมนาคม (Telekommunikation Gesetz: TKG) เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเนื้อหาใน พรบ.ดังกล่าว ส่งผลให้ผู้บริโภคที่ใช้บริการ call center  ขณะรอสาย ไม่ต้องจ่ายค่าใช้บริการ เนื่องจากในปัจจุบัน มีผู้ให้บริการบางราย คิดค่าใช้บริการ call center ในช่วงที่รอสายเป็นราคาที่สูงมาก เอาเปรียบผู้บริโภค กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา( Bundesgesetzblatt (Federal Law Gazette) ในเร็วๆ นี้   กฎหมายดังกล่าวได้ผ่าน การลงมติเห็นชอบในสภาล่าง (Bundestag) มาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา แต่มาติดขัดในชั้นการพิจารณาของสภาสูง เนื่องจากมีประเด็นถกเถียงกันในเรื่อง การลงทุนสร้างเครือข่าย Braodband เนื่องจาก สภาสูงซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายมลรัฐต่างๆ นั้น ไม่เห็นด้วยที่จะใช้เงินภาษีของประชาชน ในการลงทุนครั้งนี้ จนกระทั่งเมื่อวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมาธิการร่วมได้เห็นชอบกับร่าง พรบ.ดังกล่าว ซึ่งในร่างที่กรรมาธิการเห็นชอบนั้น  ทำให้แต่ละมลรัฐสามารถประหยัดงบประมาณในการลงทุนถึง  90,000 ล้านยูโร และสามารถทำให้เกิดอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีก 10,000 ตำแหน่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับบริษัทขนาดกลางและบริษัทขนาดเล็ก ตามคำให้สัมภาษณ์ของ นางเคลาเดีย เบอร์เกล โฆษกพรรคร่วมรัฐบาลของพรรค FDP (Free Democratic Party) โดยได้มีการตกลงภายในกรรมาธิการร่วมที่ผ่านมา โดยรัฐบาลกลางจะจัดสรรงบประมาณที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 4G เมื่อ 2 ปีที่แล้วให้กับแต่ละมลรัฐ สำหรับการลงทุนในโครงสร้าง Broadband จะให้ภาคเอกชนลงทุน ผ่านความช่วยเหลือจาก ธนาคารเพื่อส่งเสริมการลงทุนของรัฐ (Kreditanstalt für Wiederaufbau) โดยจะเก็บค่าใช้โครงข่าย Broadband จากภาคเอกชนภายใต้หลักการ “ใครใช้คนนั้นต้องจ่าย” สำหรับในพื้นที่ ที่ห่างไกล ไม่สามารถเชื่อมต่อกับโครงข่าย Broadband และไม่สามารถดำเนินการในเชิงธุรกิจได้นั้น ทางรัฐบาลจะสนับสนุนให้ใช้การใช้การเชื่อมต่อโดยใช้คลื่นความถี่แทน   กรณีเปรียบเทียบประเทศไทย สำหรับประเทศไทยนั้น ในด้านการประมูล 3 G เรากำลังตั้งตารอคอยให้เกิดการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในไตรมาสสามของปีนี้ ซึ่งหลายฝ่าย อยากให้การประมูลครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ภายใต้หลักการ โปร่งใส เป็นธรรม และส่งเสริมการแข่งขัน และมีมิติด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเงื่อนไขที่สำคัญสำหรับการประมูลครั้งนี้ เหมือนกับที่หลายๆ ประเทศใช้เป็นเงื่อนไขในการเปิดประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรแผ่นดินที่มีมูลค่ามหาศาล ความจริงแล้วในประเด็นเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ในด้านการใช้บริการ call center นั้น สำหรับบริการโทรคมนาคมได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ ในประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2549 เรื่องกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ หมวดสอง หน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตให้บริการ ข้อ 15 ให้ผู้รับใบอนุญาตให้บริการมีหน้าที่จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นแยกออกจากหน่วยงานตอบคำถามหรือข้อสงสัยทั่วไป  เพื่อทำหน้าที่ดูแลการรับเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนโดยไม่คิดค่าธรรมเนียมและค่าบริการ และจัดให้มีบริการรับแจ้งเรื่องร้องเรียนทางโทรศัพท์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย...   จะเห็นว่าผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมจากประกาศฉบับนี้ สำหรับกิจการโทรคมนาคม ในอนาคตหาก พรบ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่กำลังรอการพิจารณาของทั้งสองสภาอยู่ตอนนี้ อยู่รอดปลอดภัยไม่ถูกดองจนแท้งไปเสียก่อนแล้ว ประชาชนผู้บริโภคคนไทย อาจจะได้เห็นกฎหมายและมาตรการดีๆ  ที่จะตามมาอีกหลายฉบับ เพราะองค์การอิสระนี้มีหน้าที่ในการเสนอความเห็นในการออกกฎหมาย ที่จะมีผลกระทบกับผู้บริโภค และจะมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากสำหรับเขตการค้าเสรี AEC ในปี 2558 ภายใต้หลักการที่ว่า การค้าเสรีที่ไม่เอาเปรียบ (ผู้บริโภค)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point