ฉบับที่ 224 เปลี่ยนวิธีคิด เกษตรกรเป็นผู้อุปการคุณ ใครก็ต้องการผักผลไม้ที่ปลอดภัย

        กรณีสารเคมี 3 ตัว พาราควอต คลอไพรีฟอส และไกลโฟเสต ได้สร้างความเข้าใจผิดต่อคน จำนวนมากว่า หากเรายกเลิกสารเคมีสามตัวนี้ มีคนได้ประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ต้องตอบว่า องค์กรผู้บริโภคไม่ได้มีผลประโยชน์ ไม่สนับสนุนให้ใช้สารเคมี หรือไม่ใช้วิธีหนีเสือปะจระเข้ แต่สนับสนุนวิธีการอื่นๆที่เป็นทางเลือกที่มีอยู่จริงและหลากหลายทาง แต่จะก้าวพ้นความคิดที่มีมาตลอดในเวลา 50 ปี หากจะปลูกอะไรต้องรองสารเคมีก้นหลุม การใช้ เครื่องจักรกำจัดหญ้า สารกำจัดแมลงด้วยวิธีอินทรีย์ทั้งหลายที่มีมากขึ้น การเกษตรแบบอินทรีย์มีอยู่จริงและสามารถทำได้ในระดับอุตสาหกรรมเกษตร         อีกความเข้าใจผิดที่อ้างว่า หากยกเลิก 3 สารเคมีนี้ จะไม่มีพืชผักผลไม้รับประทานและราคาแพง ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นและไม่น่าจะเป็นความจริง หรือขณะที่เรามีสารเหล่านี้ใช้ ราคาผลไม้ที่ราคาถูกก็แพงจับใจในปัจจุบัน ปัญหาราคาคงมีเหตุผลอีกหลายปัจจัย ตราบเท่าที่เรายังมีพืชผักผลไม้ส่งออกหรือนำเข้าได้ ย่อมต้องมีจำหน่ายในประเทศไทยแน่นอน แถมหากยังใช้สารเคมีจะเป็นเหตุผลให้ส่งออกไม่ได้ คนไทยต้องได้รับอันตรายจากสารเคมีอันตรายที่ตกค้างเหล่านี้มานาน เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง พาร์กินสัน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และโรคอื่นๆอีกมากมาย          อันตรายชัดเจนต่อผู้บริโภคจากสารเคมีสามตัวที่ตกค้างในพืชผักผลไม้จากการตรวจสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้ไม่น้อยกว่าห้าปีที่ผ่านมาพบว่า 1 ใน 3 ของผัก ผลไม้ มีสารเคมีตกค้างและบางส่วนตกค้างเกินมาตรฐานหรือแม้กระทั่งการสำรวจล่าสุดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็พบว่าตกค้างสูงถึง 26.6 %         อันตรายถึงชีวิตต่อผู้ที่ฉีดพ่น ซึ่งมีอาชีพรับจ้างพ่นสารเคมี คนกลุ่มนี้ไม่มีทางเลือกมาก เพราะเจ้าของสวนหรือไร่นา หรือแปลงขนาดใหญ่ไม่ได้มีการดำเนินการฉีดพ่นเอง ดังที่ในสหรัฐอเมริกา โดยศาลสั่งให้บริษัทมอนซานโต ผู้ผลิตสารเคมีสำหรับการเกษตร จ่ายค่าชดเชย 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9,619 ล้านบาท) ให้ ดีเวย์น จอห์นสัน ซึ่งฟ้องร้องเมื่อปี 2016 ว่ายาฆ่าหญ้าราวด์อัพ และยากำจัดศัตรูพืช แรนเจอร์ โปร มีส่วนก่อมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีที่เหลือกว่า 5,000 คดี ที่โจทก์ยื่นฟ้องว่าผลิตภัณฑ์ของมอนซานโตมีส่วนก่อมะเร็ง https://www.posttoday.com/world/560676 การใช้ที่ถูกวิธีทำได้ลำบากและไม่เป็นความจริง เพราะประเทศไทยเป็นประเทศร้อน อันตรายตกกับเกษตรกรรับจ้างพ่นสารเคมีอันตราย ซึ่งคำแนะนำในการจัดการปัญหาสารเคมีทั่วโลก เสนอให้แก้ปัญหาที่ต้นทางคือการลดสารเคมีที่เป็นอันตรายให้ได้มากที่สุด         ส่วนปัญหาราคาแพง หากเราคิดและยอมรับว่า เกษตรกรเป็นผู้อุปการคุณต่อผู้บริโภคที่ทำงานหนัก รายได้ต่ำ สินค้าเกษตรราคาถูกเกินไปจนเกษตรกรไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ จึงต้องมีราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ เกษตรกรได้ขายสินค้าในราคาถูก ปัญหาดึกดำบรรพ์ที่ยังมีอยู่ การส่งเสริมการตลาดสำหรับเกษตรกร หรือ การจำหน่ายตรงสำหรับเกษตรกร การกำกับพ่อค้าคนกลาง ขณะที่ผู้บริโภคต้องจ่ายราคาแพงในปัจจุบัน         ส่งผลกระทบที่เสียหายชัดเจนต่อสิ่งแวดล้อม การตกค้างในดิน สิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และกลับมาในห่วงโซ่อาหารในท้ายที่สุดส่วนปัญหาราคาแพง เช่นกรณีน้ำปู๋ที่พบการตกค้างสารเคมีกลุ่มนี้มากกว่าปูนา         ทุกรัฐบาลต้องมีนโยบายประกันราคา จำนำสินค้าเกษตร หรือประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งในทางปฏิบัติ จะทำอย่างไรให้ใช้มาตรการนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่เกษตรอินทรีย์ให้มากที่สุด รวมทั้งมีเป้าหมายในการขยายเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรยั่งยืนที่ชัดเจน         สุขภาพต้องมาก่อนการค้า หลักการป้องกันไว้ก่อน คงเป็นเหตุผลเพียงพอ ว่า ทำไมต้องเพิกถอนทะเบียน ห้ามนำเข้า ห้ามผลิตและจำหน่ายสารเคมีอันตราย 3 ตัวนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ซื้อตั๋วรถทัวร์ล่วงหน้า แต่ว่าไม่มีที่นั่งในวันเดินทาง

        ปัญหาคลาสสิกของเรื่องการเดินทางช่วงวันหยุดยาวคือ การหารถโดยสารเพื่อเดินทาง เพราะคนมาก ความต้องการสูงแต่รถน้อย ดังนั้นหลายท่านจึงแก้ไขด้วยการจองตั๋วล่วงหน้า และถ้าได้ตั๋วมาไว้ในมือแล้ว ซึ่งมีพร้อมรายละเอียดทั้งเที่ยวรถและเลขที่นั่ง ย่อมจะมั่นใจว่าตนเองไม่พลาดการเดินทางแน่ แต่ระบบรถโดยสารประเทศไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้        คุณเนตรนภาและหลานสาวเป็นชาวจังหวัดแพร่ มีแผนที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในวันหยุดยาวที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากเกรงว่าตั๋วโดยสารจะเต็มเพราะเป็นช่วงเทศกาล คุณเนตรนภาจึงตัดสินใจซื้อตั๋วล่วงหน้าจากบริษัทรถทัวร์เชิดชัยทัวร์ จากท่ารถอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ในราคาใบละ 450 บาท ซึ่งตั๋วได้ระบุเวลาเดินทางและเลขกำกับที่นั่งไว้ชัดเจน 1 เอ และ 1 บี โดยมีรอบเดินทางเวลา 20.50 น.         เมื่อถึงวันเดินทางก่อนเวลาแค่ 20 นาที คือ 20.30 น. คุณเนตรนภาได้รับแจ้งจากพนักงานขายตั๋วโดยสารทางโทรศัพท์ว่า รถทัวร์คันที่คุณเนตรนภาได้ซื้อตั๋วล่วงหน้าเอาไว้นั้น เต็มตั้งแต่ต้นทางแล้ว ขอให้คุณเนตรนภารีบเดินทางไปซื้อตั๋วโดยสารใหม่ที่สถานีขนส่งแพร่         เมื่อคุณเนตรนภาเดินทางไปถึงสถานีขนส่งจังหวัด ก็ได้โต้เถียงกับพนักงานขายตั๋วว่า รถจะเต็มได้อย่างไร ในเมื่อตั๋วที่ซื้อมาระบุที่นั่งและเวลาไว้ชัดเจน ตนเองควรได้สิทธิในการนั่งเพราะตนเองจองและจ่ายเงินไปแล้ว  ไม่ควรต้องถูกปฏิเสธิการใช้บริการและไปเที่ยวหาซื้อตั๋วใหม่ ซึ่งไม่แน่ว่าจะได้ไหม  การที่บริษัททำแบบนี้ เอาเปรียบตนเองและหลานสาวมาก หากตนเองซื้อตั๋วใหม่ไม่ได้จะทำอย่างไร ที่พัก และอื่นๆ ที่จองไว้ก็จะพลาดทั้งหมด         คุณเนตรนภาพยายามใช้สิทธิอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายก็ต้องจำใจรับเงินค่าโดยสารคืนกลับมา เพราะการบริษัทปล่อยให้มีคนอื่นโดยสารในที่ของตนเองไปแล้ว อย่างเลี่ยงไม่ได้  เมื่อพาหลานสาวเดินหาตั๋วใหม่ในคืนนั้น ก็เป็นอย่างที่คิดคือ เที่ยวรถที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ นั้นเต็มหมดทุกเที่ยว คุณเนตรนภาและหลานสาวจึงต้องพลาดการเดินทางในคืนนั้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณเนตรนภาตัดสินใจร้องเรียนมายังศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดแพร่ ถึงการให้บริการที่ไม่ได้มาตรฐานของบริษัทรถทัวร์ จากการซื้อตั๋วโดยสารล่วงหน้าที่ระบุเลขที่นั่งชัดเจน แต่เมื่อถึงเวลาเดินทาง กลับไม่สามารถเดินทางได้เพราะที่นั่งเต็ม แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีดังกล่าว ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดแพร่ ได้ดำเนินการส่งเรื่องร้องเรียนไปยังบริษัทเชิดชัยทัวร์ และขนส่งจังหวัดแพร่เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ไม่พบว่ามีการตอบกลับมาจากทั้งสองแห่ง         อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ทางคุณเนตรนภาขอยุติเรื่องไปก่อน ดังนั้นหากผู้บริโภคเจอเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำให้ปฏิบัติ ดังนี้         1. ถ่ายภาพตั๋วโดยสาร สถานที่จำหน่ายตั๋ว และสอบถามชื่อพนักงานจำหน่ายตั๋วเก็บไว้เป็นหลักฐาน        2. แจ้งความลงบันทึกประจำวัน ณ สถานีตำรวจที่สะดวก กรณีเกิดความเสียหายจากการพลาดเที่ยวรถ เช่น ค่าปรับจากการผิดนัดติดต่องาน หรือเสียโอกาสจากการว่าจ้างงาน โดยท่านสามารถเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ให้บริการรถทัวร์โดยสารได้        3. ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ให้บริการรถทัวร์, ขนส่งประจำจังหวัด และ กรมการขนส่งทางบก รวมถึงส่งสำเนาหนังสือร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 สารเคมีตกค้าง

การใช้สารเคมีในภาคเกษตรนับเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรและผู้บริโภคภายในประเทศจำนวนมาก จนนำมาสู่การเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐยกเลิกสารเคมีหลายตัวที่หลายประเทศ แม้แต่ประเทศผู้ผลิตก็ได้ยกเลิกการใช้ไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าผู้เกี่ยวข้องจะดูใจเย็นกับเรื่องนี้เหลือเกินทั้งๆ มีรายงานตัวเลขผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิต ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในภาคเกษตรนับเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อยู่ที่หลักหลายพันคนต่อปี หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เฝ้าระวังผลผลิตที่วางจำหน่ายในท้องตลาด จะออกมาป่าวประกาศถึงสถานการณ์สารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ ในระดับที่น่าเป็นห่วงก็ตาม  ล่าสุด นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ให้ข้อมูลกับ ฉลาดซื้อ ว่าแต่ละปีมีการสำรวจสารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ แตกต่างกัน ซึ่งช่วงแรกๆ ที่ทำร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน มีการตรวจยาฆ่าแมลงแค่ 2 กลุ่ม ก่อนจะพัฒนามาเป็น 4 กลุ่มสารเคมี (organophosphates, carbamates, organochlorine  และ pyrethroids) ปัจจุบันมีการส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องแลปที่อังกฤษ ซึ่งสามารถวิเคราะห์สารเคมีได้มากกว่า 4 กลุ่ม ทำให้ช่วงหลังพบสารเคมีตกค้างมากขึ้น          สำหรับปี 2562 มีการเก็บตัวอย่างผัก ผลไม้จากห้างสรรพสินค้าและตลาดสด พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานประมาณ 41% ขณะที่สองปีก่อนส่งไปตรวจที่อังกฤษเหมือนกันพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 46% แต่ถ้าดูเฉพาะสารสี่กลุ่มที่ประเทศไทยสามารถวิเคราะห์ได้ จะพบปัญหาการตกค้างเกินค่ามาตรฐานลดลงเรื่อยๆ เหลือ 30% จนกระทั่งล่าสุดเหลืออยู่ที่ 20% และไม่ลงไปกว่านี้ อย่างไรก็ตาม แม้ของไทยจะลดลงแต่ยังถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป ที่สามารถตรวจได้ในระดับเดียวกันกับอังกฤษ การพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานอยู่ที่ ประมาณ 1-3% สำหรับสารที่ปีนี้ที่พบมากสุดคือ คาร์เบนดาซิม (carbendazim) ซึ่งเป็นสารป้องกันการเกิดเชื้อรา เป็นสารดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ ยกตัวอย่าง หากตกค้างใน “ส้ม” ถึงจะปอกเปลือกออก สารนี้ก็ยังอยู่ในเนื้อ  ปัจจุบันหลายประเทศยกเลิกการใช้แล้วเพราะทำให้คนที่ได้รับสารนี้มีโอกาสเป็นหมัน  นางสาวปรกชล ยังบอกอีกว่า จากการตรวจวิเคราะห์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในกลุ่ม “ผัก” ปัญหาจะหมุนเวียนชนิดกัน ขึ้นๆ ลงๆ เช่น ผักกวางตุ้ง คะน้า พริก กระเพรา ผักชี ถั่วฝักยาว จะอยู่ในอันดับต้นๆ ทุกปี ส่วน “ผลไม้” ที่เป็นอันดับหนึ่งที่พบสารเคมีตกค้างมาตลอด คือส้ม ตามมาด้วย องุ่น สลับกับ ฝรั่ง หรือ มะละกอ ชมพู่ และมีความเป็นไปได้ ที่ผัก ผลไม้หนึ่งตัวอย่างจะเจอสารเคมีตกค้างมากกว่าหนึ่งชนิด         “อย่างสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 41% อีกเกินครึ่งก็เจอสารเคมีในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน ซึ่ง 2 ใน 3 ของกลุ่มนี้มีสารเคมีตกค้างมากกว่าสองชนิดในหนึ่งตัวอย่าง มากสุดคือสารเคมีตกค้าง 20 ชนิดในหนึ่งตัวอย่าง ถือว่าเป็นปัญหามาก เพราะหน่วยงานภาครัฐไม่มีการประเมินความเสี่ยงสารตกค้างร่วมกับผู้บริโภคจึงไม่มีทางรู้เลยว่ารับประทานเข้าไปแล้วจะเกิดผลกระทบมากน้อยแค่ไหน”         ที่น่าสังเกตคือเราพบว่าตัวอย่างผัก ผลไม้ที่ขายในห้างฯ มีสารเคมีตกค้างมากกว่าที่วางขายในตลาดสดเล็กน้อย  แม้ว่าผลผลิตที่ขายในห้างฯ จะมีตรารับรองมาตรฐาน อย่างเช่น Q หรือ Organic Thailand ยังพบว่าไม่มีความปลอดภัย สารตกค้างยังคงเกินค่ามาตรฐาน ส่วนตัวมองว่าระบบการตรวจสอบรับรองยังคงมีช่องว่าง รวมถึงกระบวนการในการกำกับดูแลหลังให้ใบรับรองไปแล้ว ซึ่งเป็นไปได้ที่บางครั้งอาจจะไปถูกสวมสิทธิ์ที่ห้างหรือซับพลายเออร์ เท่ากับว่ากระบวนการให้ใบรับรองยังไม่แข็งแรงพอ ทำให้เรายังมั่นใจไม่ได้ 100% กับสินค้าที่มีตรารับรอง             “การล้างทำความสะอาดสามารถล้างสารพิษออกได้นิดหน่อย แต่ถ้าเป็นสารประเภทดูดซึมจะล้างไม่ออก ปีนี้เราพบสารพิษตกค้าง 90 ชนิด ในจำนวนนี้ 50 ชนิดเป็นสารตกค้างประเภทดูดซึม ล้างไม่ออกแน่ๆ ปอกเปลือกออกก็อยู่ในเนื้อ ส่วนที่ล้างออกประมาณ 40 ชนิด บางอย่างก็ล้างออกง่าย แค่เปิดน้ำไหลผ่าน การแช่ด่างทับทิม น้ำส้มสายชู เบคกิ้งโซดา ซึ่งสามารถขจัดสารเคมีได้แตกต่างกัน การล้างผัก ผลไม้จึงแค่เป็นการทำให้ตัวเองสบายใจ”         นางสาวปรกชล ระบุว่า เรื่องการใช้สารเคมีที่มีมากในประเทศไทยที่จริงเป็นปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมสารเคมี เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น 1.ไม่มีระบบการเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนภัยให้กับผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐที่มีการตรวจก็เก็บข้อมูลไว้ไม่ได้เปิดเผยให้ผู้บริโภคทราบ ทำให้ผู้บริโภคไม่มีข้อมูล จึงไม่สามารถแสดงความต้องการอาหารที่ปลอดภัย หรือความต้องการที่จะสนับสนุนสินค้าที่มีคุณภาพที่ไหนได้2. สารเคมีหลายตัวที่พบ เป็นสารที่หลายประเทศยกเลิกการใช้ไปแล้ว โดยเฉพาะประเทศต้นทางที่ผลิตสารเคมีเอง เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค แต่ประเทศไทยกลับยังนำเข้ามาใช้     แสดงว่าระบบการคัดกรองสารเคมีเหล่านี้ของประเทศไทยยังไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน ซึ่งนอกจากสารเคมี 3 ตัวที่ขอให้แบนคือพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แล้ว ยังมีสารเคมีอีกกว่า 100 ชนิด ที่ต้องมีการจัดการเช่นเดียวกัน         “วันนี้จึงทำให้เราประสบภาวะที่ว่านอกจากสารเคมีเกินค่ามาตรฐานแล้วยังมีสารเคมีหลายตัวที่ร้ายแรงมาก” 3.เกษตรกรมองว่าการใช้สารเคมีในภาคเกษตรคือคำตอบที่ถูกต้องและสมบูรณ์แบบ เนื่องจากบริษัทนำเข้าไม่ต้องเสียภาษีเลย เพราะฉะนั้นราคามันเลยไม่ได้รวมผลกระทบภายนอกทั้งทางด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เลยทำให้ดูเป็นทางเลือกที่ราคาถูกที่สุดในการทำเกษตรกรรม เกษตรกรจึงนิยมใช้ แถมยังไม่ควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขาย จึงทำให้มีการใช้มากเกินความจำเป็น        เพราะฉะนั้น วันนี้ ทางเลือกของผู้บริโภคอาจจะต้อง “เหนื่อย” และต้องการข้อมูลของผัก ผลไม้ว่ามีที่มาที่ไปอย่าง ไร ผักประเภทไหนเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย เพราะไม่สามารถดูได้จากหน้าตาผัก ผลไม้ ต่อให้มีรอยแมลงกัดก็ไม่สามารถการันตีอะไร ตรารับรองก็ไม่สามารถเชื่อมั่นได้ 100% ที่จริงแล้วผู้บริโภคมีอำนาจเต็ม เพราะเงินอยู่ในกระเป๋าเรา ทุกครั้งที่ใช้จ่ายจะเป็นการแสดงเจตจำนงว่ากำลังสนับสนุนเกษตรกรที่ใช้สารเคมี หรือจะสนับสนุนเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งราคาไม่ได้สูงเสมอไปหากไม่ซื้อในห้างฯ หรือให้เกษตรกรจัดส่งให้ที่บ้านก็ยังได้ ราคาถูกด้วย อีกทางหนึ่งควรปลูกผักกินเองบาง เช่น พริก กระเพรา เป็นต้น         นางสาวปรกชล ย้ำว่า สิ่งที่ไทยแพนอยากเห็นคือเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องพื้นฐาน ถ้ามีสารเคมีตกค้างก็ต้องไม่เกินมาตรฐานกำหนด ซึ่งประชาชนต้องช่วยกันกดดันภาครัฐให้มีการตรวจสอบและลงโทษกลุ่มเกษตรกรที่มีการใช้สารเคมี ปล่อยให้เกินค่ามาตรฐาน แถมยังเคลมว่าปลอดภัย แล้วขายในราคาแพงๆ หรือกดดันให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีบางตัวที่หลายประเทศยกเลิกไปแล้ว ทำไมไทยถึงยังยอมให้เข้ามาในระบบอาหารของไทย และช่วยกันส่งเสียงกระตุ้นให้เกิดระบบเฝ้าระวังและเตือนภัย ซึ่งสำคัญมาก เพราะการมีข้อมูลที่ชี้ปัญหาจะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้         อันที่จริงสถานการณ์ก็เหมือนจะดีขึ้น มีจำนวนเกษตรที่ลุกขึ้นมาปลูกผักที่ลดการใช้สารเคมี การเพิ่มตลาดสีเขียว ผู้บริโภคตื่นตัวมากขึ้น  แต่ว่าในภาพใหญ่ระดับโครงสร้างนโยบายที่ยังคงมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้องอาจจะยังต้องสู้กันอีกยาว ตรงนี้ต้องใช้พลังผู้บริโภคลุกขึ้นมาส่งเสียงว่าต้องการอาหารปลอดภัยและต้องร่วมกันแก้ปัญหาด้วยการปรับพฤติกรรมอุดหนุนเกษตรกรที่ปลูกผัก ผลไม้โดยไม่ใช้สารเคมี และอุดหนุนให้หลากหลายเพื่อเปิดตลาดให้กว้าง         รวมถึงการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการแสดงฉลาก เช่น ใช้ก็บอก ไม่ใช่ก็บอก มีการเรียกร้องให้โรงงานน้ำตาลแจ้งบนถุงน้ำตาลเลยว่า อ้อยมาจากการปลูกโดยใช้พาราควอตหรือไม่ และผู้บริโภคจะตัดสินใจเอง นี่คือการส่งเสียงเพื่อให้รัฐบาลตั้งใจแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย         ด้าน นพ.พูนลาภ ฉันทวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการปลูกผัก ผลไม้ในเมืองไทยยังมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีอยู่ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้มีการใช้มากเกินไปจนเกิดการตกค้างในผลผลิตเกินค่ามาตรฐาน จึงเป็นที่มาว่าเมื่อมีการสุ่มตรวจสารตกค้างในผลผลิตเหล่านี้แล้วยังเจอบ้าง ไม่เจอบ้าง แต่ถ้าไม่ได้มีปริมาณเกินค่ามาตรฐานก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่มีความปลอดภัย เกิดการตรวจการเฝ้าระวัง         “หากจะให้ไม่มีสารเคมีเลยนั้นยอมรับว่ายังยาก ดังนั้นคำแนะนำสำหรับประชาชนคือไม่ว่าจะซื้อผักผลไม้จากแหล่งใดก็ตามจะต้องมีการนำมาล้างด้วยวิธีการปล่อยให้น้ำไหลผ่านหรือการแช่น้ำเกลือ หรือเบกกิ้งโซดา สักช่วงเวลาหนึ่งก็จะช่วยลดปริมาณสารเคมีลงได้”         อย่างไรก็ตามในเรื่องของสารเคมีนั้นทางอย.ไม่ได้มีการดูโดยตรง และไม่เคยมีการออกตราสัญลักษณ์เพื่อรับรองมาตรฐาน หรือรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษแต่อย่างใด เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ แต่สิ่งที่อย.ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน คือกรณีที่มีการแบ่งบรรจุจำหน่ายผัก ผลไม้นั้น ให้ ทางห้างฯ ติดฉลากแหล่งที่มาของผลผลิตนั้นๆ ให้ชัดเจน เพราะหากตรวจเจอสารเคมีเกินค่ามาตรฐานก็จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มาและดำเนินการเอาผิดได้ ฐานเป็นอาหารไม่ปลอดภัย ตามพ.ร.บ.อาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท        ทั้งนี้ ที่ผ่านมาต้องเรียนว่ายังไม่มีการลงโทษถึงขั้นนั้นเนื่องจากเราต้องการใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือป้องปรามและการเฝ้าระวัง พยายามสร้างความตระหนักและทำให้เกษตรกร ไม่ใช้สารพิษในปริมาณที่มากเกินไปมากกว่า ซึ่งจากข้อมูลผัก ผลไม้ที่มีการแบ่งบรรจุขายในห้างสรรพสินค้า ในตลาดสดคิดเป็น 30% อีก 70% เป็นการขายส่ง ซึ่งผลจากแนวปฏิบัติดังกล่าว รวมถึงการขอความร่วมมือจากชุมชนท้องถิ่นให้ช่วยกันสุ่มตรวจผัก ผลไม้ โดยอาศัย พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 แก้ไข พ.ศ.2560 เข้ามาดำเนินการ ก็พบว่าปัญหาเรื่องสารพิษตกค้างในผัก ผลไม้ดีขึ้น อย่างที่ไทยแพนได้มีการสุ่มตรวจก็พบว่าน้อยลงเช่นกัน  ด้านกรมอนามัยได้มีการออกเอกสารเผยแพร่คำแนะนำแก่ประชาชน โดยใจความระบุว่าการรับประทานผักผลไม้เป็นประจำย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือปัญหาการตกค้างของสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย เพื่อความปลอดภัยประชาชนจึงควรใส่ใจการล้างผักให้สะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างหรือการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค โดยให้แช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร นาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด หรือใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด ซึ่งทั้ง 3 วิธีนี้ สามารถลดสารเคมีตกค้างจนไม่ก่อให้เกิดอันตรายได้ ขณะที่ นายธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การอ็อกซ์แฟมในประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อดูจากสถานการณ์ปัจจุบันโดยยังไม่ได้ดูในแง่ของสถิติจะพบว่ามีห้างสรรพสินค้ากว่า 3 พันสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ทั้งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ยังไม่นับรวมร้านสะดวกซื้ออีกจำนวนมาก ทำให้เห็นแนวโน้มว่าผู้บริโภคเลือกที่จะไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้ามากขึ้น เพราะสะดวกสบายไปครั้งเดียวก็ได้ของครบทุกอย่าง         ทั้งนี้ถ้ามองในแง่ของสถิติ นอกจากการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศแล้วยังพบว่ามีการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ แอปพลิเคชั่นต่างๆ ยิ่งเพิ่มความสะดวกในการซื้อสินค้ามากขึ้น แม้ตัวจะยังอยู่ที่บ้านก็ตาม เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าผู้บริโภคกับห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกมีความใกล้ชิดกัน อย่างน้อยในหนึ่งสัปดาห์ น่าจะเข้าห้างสรรพสินค้าราวๆ 1-2 ครั้ง         สำหรับการจำหน่ายสินค้ากลุ่มอาหารสด ผัก ผลไม้ นั้นทางอ็อกซ์แฟมยังไม่ได้มีการสำรวจและประเมิน จึงยังไม่สามารถบอกถึงความนิยมได้ เพราะที่มีประเมินอยู่คือ มิติทางด้านสังคม เช่น ความโปร่งใส เรื่องแรงงาน เรื่องเกษตรกรรายย่อย เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ การส่งเสริมบทบาทสตรี เป็นต้น          “ถ้าจับจากพฤติกรรมคนทั่วไปก็เห็นได้ว่า ทุกวันนี้คนนิยมซื้อสินค้าอาหารสด ผัก ผลไม้ในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น แทนการเดินตลาดสด ซึ่งปัจจุบันตลาดสดเองก็เริ่มมีน้อยลง แต่ถ้าพูดถึงคุณภาพ สินค้าและความปลอดภัยแล้ว ตนมองว่าปัจจุบันก็ค่อนข้างปฏิบัติตามมาตรฐานกฎหมายและค่อนข้างมีการพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภค”          อย่างไรก็ตาม ประมาณปลายปี 2562 หรือ ต้นปี 2563 จะมีการสำรวจ ประเมินมิติด้านความปลอดภัยทางอาหารร่วมด้วย ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สารเคมีต่างๆ รวมถึงการจัดซื้อที่เป็นมิตร แต่สิ่งที่อ็อกซ์แฟมและภาคีเครือข่ายดำเนินการอยู่ขณะนี้ คือการสนับสนุนให้ห้างฯ ซึ่งเป็นตลาดปลายทางที่รับสินค้ามาจากเกษตรกรถึงมือผู้บริโภค มีนโยบายเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับเกษตรกร ผู้แปรรูปอาหารต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกสินค้าที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ถ้ามีการออกเป็นนโยบายแล้วจะทำให้เกิดการปฏิบัติเหมือนกันของห้างฯ ทุกสาขา และมีการปฏิบัติอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันแนวปฏิบัติด้านต่างๆ ของห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยยังคงเป็นแบบโครงการ กิจกรรมซีเอสอาร์ ซึ่งตนไม่ได้บอกว่าโครงการเหล่านี้ไม่ดี เพียงแต่กรณีแบบนี้เมื่อจบโครงการก็คือจบ ถ้ามีการกำหนดเป็นนโยบายจะมีความยั่งยืนมากกว่า “นโยบายหมายความว่าจะต้องใช้กับทุกพื้นที่ ทุกผลิตภัณฑ์ และอยู่ถาวร มีการดึงมาสู่แผนงานแผนปฏิบัติ มี KPI หากปฏิบัติตามไม่ได้ก็ต้องปรับปรุง มีความยั่งยืน ถ้าไม่ดีก็ปรับปรุง ดังนั้นอยากให้ทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ยั่งยืนถาวรมากขึ้น เชื่อว่าห้างค้าปลีกไทยมีศักยภาพที่จะทำ เพราะดูจากนวัตกรรมทางการตลาดและการขยายธุรกิจไม่ได้น้อยหน้าต่างประเทศ หากเกิดนโยบายเชิงบวกเพื่อให้ผู้ผลิตอาหารในประเทศไทยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศดีขึ้น”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 แก้วขนเหล็ก : รักและทุนที่ไม่มีวันตาย

               วาทกรรมที่ว่า “ความรักย่อมไม่มีวันตาย” “เราจะรักกันชั่วนิจนิรันดร” หรือ “ไม่มีวันที่ใครจะพรากความรักไปจากกัน” จะถูกต้องเป็นจริงหรือไม่ ก็คงจะมีเพียงบุคคลที่สิ้นลมหายใจและดำรงชีวิตอยู่ได้หลังความตายแล้วเท่านั้น ที่จะตอบคำถามข้อนี้ได้อย่างประจักษ์จริง         กับการพิสูจน์ความรักแท้ดังกล่าวนี้เอง ได้กลายเป็นโครงหลักของละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซีอย่าง “แก้วขนเหล็ก” ที่ผูกเรื่องให้ตัวละคร “เมฆินทร์” ประมุขแห่งผีแวมไพร์ เฝ้ารอคอยความรักข้ามภพชาติก่อนที่จะได้พานพบกับ “บุญปลื้ม” หญิงคนรักที่กลับมาเกิดอีกครั้ง เพื่อยืนยันให้เห็นว่า “รักแท้ย่อมไม่มีวันตาย” จริงๆ         เรื่องราวความรักอมตะข้ามเวลาถูกโยงไปตั้งแต่อดีต เมื่อครั้งเมฆินทร์เป็นตำรวจมือปราบผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรมความสามารถ เขามีความรู้ด้านไสยเวทและคาถาอาคมซึ่งใช้ปราบปรามได้ทั้งเหล่าคนร้ายและบรรดาวิญญาณร้ายต่างๆ จนได้สมญานามว่าเป็นมือปราบผู้แข็งกร้าวและไม่เคยยอมใคร         ในอีกด้านหนึ่ง เมฆินทร์เองก็คือบุตรชายของ “เจ้าคุณเทวรักษ์” คหบดีเจ้าของปราสาทพยับเมฆ และเนื่องด้วยเจ้าคุณต้องการเลือกคู่ครองที่คู่ควรให้กับเมฆินทร์ ท่านจึงหมั้นหมายบุตรชายเพื่อให้แต่งงานกับสตรีที่สมฐานะศักดิ์ชั้นอย่าง “รำพึง” แม้ว่านั่นจะเป็นการคลุมถุงชนที่เมฆินทร์เองก็ไม่ได้สมยอมแต่อย่างใด         จนกระทั่งเมฆินทร์ได้มาพบและเกิดผูกจิตปฏิพัทธ์กับบุญปลื้ม แม้ความรักที่มีหญิงสาวชาวบ้านจะทำให้เมฆินทร์เปลี่ยนจากบุรุษผู้หยาบกระด้างกลายเป็นผู้ชายที่อ่อนโยน แต่ทว่าความรักที่ต่างชั้นชนเช่นนี้ก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าคุณเทวรักษ์ ซึ่งต่อมาได้วางแผนให้ชายหนุ่มอย่าง “เที่ยง” ซึ่งแอบรักบุญปลื้มอยู่ลึกๆ พาหล่อนหลบหนีไปจากปราสาทพยับเมฆ และสาบสูญไปจากชีวิตของเมฆินทร์         เมื่อต้องถูกบิดาพรากนางอันเป็นที่รักไปจากชีวิตของเขา ทั้งความรักและความแค้นที่รุมเร้ารอบด้านเยี่ยงนี้ ทำให้มือปราบอย่างเมฆินทร์เลิกยึดมั่นในคุณธรรมความดี และหันมาปวารณาตัวเข้ากับด้านมืดที่ซ่อนเร้นอยู่ จนกลายเป็นปีศาจแวมไพร์ผู้มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการดื่มเลือดของมนุษย์ด้วยกัน และถูกเจ้าคุณเทวรักษ์จองจำไว้ในปราสาทพยับเมฆที่ปิดตาย วิญญาณของเมฆินทร์จึงเฝ้าแต่รอคอยวันกลับมาแก้แค้นและทวงคืนคนรักข้ามภพชาติ         ด้วยพล็อตแฟนตาซีเหนือจริงที่ผูกเรื่องราวให้มนุษย์คนหนึ่งได้กลายเป็นผีดิบแวมไพร์ และรอคอยวันฟื้นคืนชีพเพื่อกลับมาครองคู่อยู่กับหญิงคนรักเช่นนี้ ด้านหนึ่งผู้สร้างก็น่าจะได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมตะวันตกฉบับคลาสสิกอย่าง Bram Stoker’s Dracula อะไรทำนองนั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งเช่นกัน ละครแฟนตาซีแนวนี้ ก็เป็นประหนึ่งจินตกรรมที่ลึกๆ แล้วฉายภาพด้วยว่า ผู้คนในโลกความจริงกำลังสะท้อนย้อนคิดถึงชีวิตตนเองและสังคมรอบตัวกันอย่างไร         เพราะเมฆินทร์เป็นตัวละครที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่สังคมยุคจารีตดั้งเดิม โดยในยุคศักดินานั้น ผู้คนต่างผูกพันกันภายใต้ระบบอุปถัมภ์ เฉกเช่นที่เจ้าคุณเทวรักษ์ก็คือตัวแทนของระบบมูลนายและไพร่ ซึ่งมีอำนาจกำหนดความเป็นความตายของทุกชีวิตในปราสาทพยับเมฆ รวมไปถึงการกำกับแม้แต่ชะตากรรมการครองคู่ของบุตรชายกับหญิงคนรักด้วยเช่นกัน         แต่เมื่อระบอบจารีตเดิมได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่วิถีการผลิตแบบทุนนิยมใหม่ ในระบอบแห่งทุนซึ่งเชื่อกันว่าตั้งอยู่บนฐานคิดแบบปัจเจกชนนิยมนั้น มนุษย์ต่างล้วนถูกตัดสายสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยยึดเหนี่ยวผู้คนเอาไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน         จากผู้คนที่เคยถูกยึดโยงเข้าไว้ในสังกัดหรือในกลุ่มมูลนายเดียวกัน ก็เริ่มถูกริดสายสัมพันธ์และตกอยู่ในสภาวะที่แปลกแยกต่างคนต่างอยู่ แบบเดียวกับที่เมฆินทร์พยายามสลัดตัวให้หลุดออกจากกรงขังของบิดา สถาบันครอบครัว และระบบจารีตที่ดำรงอยู่มาแต่เดิม ซึ่งผลที่ตามมาก็ทำให้เขากลายเป็นปีศาจที่ถูกจองจำเอาไว้อย่างโดดเดี่ยวอ้างว้าง และความรักที่ถูกพรากไปก็คือสิ่งที่เขาเฝ้าตามหากันแบบข้ามภาพข้ามชาติ         จนเมื่อระบอบทุนเติบโตมาถึงยุคปัจจุบัน ตัวละครเมื่อครั้งอดีตอย่างบุญปลื้มก็ได้กลับมาเกิดใหม่เป็น “รมณีย์” ในขณะที่เที่ยงเองก็กลับมาเกิดเป็น “วิทวัส” ชายหนุ่มคู่ปรับที่พยายามใช้คุณธรรมความดีกำจัดปีศาจเมฆินทร์ และยังกลายมาเป็นศัตรูหัวใจของเขาอีกครั้งในชาตินี้         ขณะเดียวกัน เมื่อถูกปลุกวิญญาณให้คืนชีพขึ้นมาอีกครา เมฆินทร์ในโฉมใหม่หาได้เพียงแต่แปลกแยกและโหยหาหญิงคนรักที่พลัดพรากกันมาแต่อดีตเท่านั้น หากแต่เขายังเริ่มออกอาละวาดสูบเลือดมนุษย์เพื่อต่อชีวิตอันเป็นอมตะของตน ไม่แตกต่างจากบรรดานายทุนที่เฝ้าสูบเลือดขูดรีดเพื่อพรากปัจจัยการผลิตของแรงงานมาต่อลมหายใจแห่งระบอบทุนนิยมออกไป         ภาพฉากที่เมฆินทร์ออกล่าสูบเลือดของโสเภณีและตัวละครหลายคนตั้งแต่ต้นเรื่อง ก็คงไม่ต่างจากคำยืนยันว่า ในวิถีการผลิตแบบนี้ นายทุนเองก็อาจไม่เคยเห็นโสเภณีหรือมนุษย์เป็นมนุษย์แบบเดียวกับตน หากแต่เป็นเพียงแรงงานในระบบที่สามารถขูดรีดเลือดเนื้อได้อย่างชอบธรรมและไม่ต้องรู้สึกผูกพันแต่อย่างใด         และเพื่อสืบทอดให้ระบอบทุนดำเนินต่อไปได้เช่นนี้ เมฆินทร์ก็ได้สร้างสมาชิกใหม่ขึ้นมาช่วยค้ำจุนรักษาระบบในฐานะบริวารของเขา ไม่ว่าจะเป็น “นฤดม” ทายาทผู้สืบมรดกปราสาทพยับเมฆ รวมไปถึงผีดิบหญิงสาวอีกสามคนคือ “โชติรส” “ลำเจียก” และ “ผู้หมวดตอง” ที่หลังจากได้ลิ้มรสดื่มเลือดมนุษย์คนอื่นแล้ว ก็รู้สึกอิ่มเอมจนสมยอมขายวิญญาณของตนเป็นอมนุษย์เช่นเดียวกับปีศาจเมฆินทร์ไปในที่สุด         เพราะฉะนั้น ในโลกแฟนตาซีเหนือจริงเช่นนี้ ไม่เพียงแต่สภาวะแปลกแยกที่ทำให้ผู้คนยึดมั่นความรักเป็นสรณะ และโหยหา “ความรักที่ไม่วันตาย” เท่านั้น หากแต่วิถีแห่งระบอบทุนเองก็ดูเหมือนจะดำเนินไปแบบ “ไม่มีวันตาย” ดุจเดียวกับความรักที่เป็นอมตะด้วยเช่นกันเมื่อ “รักและทุนที่ไม่มีวันตาย” ต้องแลกมาด้วยเลือดและวิญญาณของมนุษย์ผู้อื่น คงไม่แปลกที่ตลอดทั้งเรื่องละคร เราจะได้เห็นภาพมนุษย์บางคนอย่างวิทวัสและผองเพื่อนที่ยังไม่สมาทานให้กับระบอบแห่งทุน ต่างร่วมมือกันเสาะแสวงหา “แก้วขนเหล็ก” หินศักดิ์สิทธิ์ที่มีพลังแห่งคุณธรรมซึ่งใช้ปราบปีศาจเมฆินทร์ได้        ด้วยความมุ่งมั่นแห่งตัวละครที่จะกำจัดจอมปีศาจ และด้วยความศักดิ์สิทธิ์แห่งสัญลักษณ์ของ “แก้วขนเหล็ก” เช่นนี้ คงบอกกับเราผู้ใช้ชีวิตแหวกว่ายในระบอบแห่งทุนได้ว่า ถึงเวลาแล้วกระมังที่ความศักดิ์สิทธิ์และคุณธรรมความดีจะกลายเป็นความหวังเล็กๆ ที่ช่วยมนุษย์ให้สลัดหลุดออกจากชีวิตที่แปลกแยกและการขูดรีดยังคงดำรงอยู่แบบ “ไม่มีวันตาย”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ทำไมต้องลดหวาน กับทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล

        เมื่อนิตยสารฉลาดซื้อวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มยอดฮิตอย่างชานมไข่มุก ผลการทดสอบทำให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ผู้บริโภคเครื่องดื่มสายหวานเป็นอย่างมาก ทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล รองผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ที่ทำงานรณรงค์เรื่องการลดการบริโภคน้ำตาลมายาวนาน เราลองมาติดตามคุณหมอดูว่าเห็นผลทดสอบชานมไข่มุกแล้วคิดอย่างไร เด็กไทยไม่กินหวานต้องทำงานหนักขึ้นอีกหรือไม่ โครงการเด็กไทยไม่กินหวาน ตอนนี้มีกิจกรรมอะไรบ้างคะ        ตอนนี้เป้าหมายจะไปอยู่ในกลุ่มของศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนที่ทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 ที่เริ่มมีเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ทีนี้ก็จะมีเป้าหมายให้จังหวัดพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดในส่วนภูมิภาคที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในแต่ละจังหวัดเราตั้งเป้าไว้ในแต่ละปีว่าจะทำในพื้นที่ไหน ศูนย์เด็กเล็กอะไร โรงเรียนอะไร ประเด็นหลักเน้นก็คือ จะเน้นเรื่องการบริโภคน้ำตาล ในส่วนนี้เองตอนนี้ก็จะเพิ่มเป็นประเด็นรณรงค์ในส่วนไม่ดื่มน้ำอัดลมเสร็จแล้ว คือทุกโรงเรียนไม่ดื่มน้ำอัดลมไม่มีจำหน่าย แล้วก็นมเป็นนมจืด         ในส่วนประเด็นต่อมาคือเรื่องการจัดการสภาพแวดล้อม มีประเด็นให้เน้นในเรื่องของโรงเรียน โรงอาหารอ่อนหวาน มีการบูรณาการร่วมกับทางอาหาร ในเรื่องของโรงอาหารอ่อนหวานโรงอาหารปลอดภัย ให้โรงเรียนหาผักปลอดภัย สารเคมีก็อาจจะยังมีอยู่บ้างแต่อยู่ในปริมาณที่ยอมรับได้ แล้วก็ถ้าที่ไหนสามารถมีการปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมีในโรงเรียนก็นำสิ่งเหล่านั้นมาปรุงอาหาร แล้วในส่วนนี้เองก็บูรณาการกับโรงอาหารที่จะไม่มีการจำหน่ายของว่างที่เป็นพิษเป็นภัย คือกินของว่างแบบไหนที่จะปลอดภัย ก็ไปกินตามฉลากเขียว เหลือง แดง ที่ทาง อย.น้อยกำหนดว่าเป็นพลังงาน เกลือ ไขมัน น้ำตาล ว่าควรมีเท่าไหร่ต่อวันต่อคน ซึ่งก็จะเน้นว่าในโรงอาหารต้องมีความรู้ตรงนี้เพื่อให้มันติดตา ทั้งเด็กที่จะได้ดูรับรู้ว่าของที่เราชอบกินนั้นมันไม่ควรกิน ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องที่พยายามเชิญชวนโรงเรียนให้เข้าโครงการนี้อยู่         เครือข่ายของเราที่ร่วมทำงานด้วยกันจะไปดำเนินการในโรงเรียนที่ยินดี มีความพร้อม เรายังทำได้ไม่ทุกโรง ในส่วนของบางจังหวัดที่เขาสนใจก็จะเอาตัวนี้ไปทำด้วย จริงๆ แล้วพยายามจะสื่อสารว่า มันควรทำทุกแห่งทั่วประเทศ ทุกโรงเรียนควรจะได้รับโอกาสนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้ การรู้แล้วถ้าไม่เอื้อให้ทำได้ เขาก็จะมีพฤติกรรมเดิมๆ อย่างเช่นเครื่องดื่มมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราเน้นว่าให้ดื่มน้ำสมุนไพรแทน คือถ้าไม่ดื่มน้ำอัดลมแล้วจะดื่มอะไร ดื่มน้ำหวานน้ำสมุนไพรแทน ส่วนใหญ่เด็กก็จะพยายามทานน้ำสมุนไพร เราพบว่าน้ำสมุนไพรหวานเราเลยต้องมีเงื่อนไขว่าการจะให้ดื่มน้ำอื่นๆ ก็จะต้องมีน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์มันก็ใช้วิธีคำนวณได้ถ้าเราทำเอง        มันก็มีที่บางโรงเรียนอาจจะไม่ทำเอง โรงเรียนก็ต้องควบคุมต้องบอกให้เขาพยายามทำรสชาติที่อ่อนหวาน ใช้ปริมาณน้ำตาลน้อยก็จะต้องมีเครื่องมือไปจับวัดและให้เขาปรับปรุงลดปริมาณน้ำตาลลง ในส่วนของโรงเรียนขนาดใหญ่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ยังทำไม่ได้ก็ให้มีทางเลือก แทนที่จะบอกว่าไม่มีเลย ก็จะมีเครื่องดื่มประเภทอ่อนหวานกับเครื่องดื่มที่หวานปกติ ในตรงนี้ก็ต้องมีการสร้างแรงจูงใจสร้างความตระหนักให้กับนักเรียนหรือกลุ่มคนในนั้นว่าให้เลือกซื้อในส่วนนี้ด้วย เพราะมันจะมีปัญหาว่าถ้าเราไปเน้นให้เขาอ่อนหวานแต่คนบริโภคไม่นิยม ไม่นิยมอ่อนหวานเขาก็จำหน่ายไม่ได้สุดท้ายก็จะทำไม่สำเร็จ  ในเรื่องของการปรับพฤติกรรมปรับนิสัยมันต้องใช้เวลา เช่น อาหารในโรงเรียนที่ไม่วางน้ำตาลเอาไว้ นักเรียนก็จะมีปัญหาว่ารสชาติไม่อร่อยเพราะเคยชินกับรสหวาน แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ เด็กก็จะเคยชินตอนหลังก็คือสามารถทำได้สำเร็จ การปรับพฤติกรรมต้องใช้ความร่วมมือในส่วนไหน ทำงานตรงนี้กับพวกกลุ่มอย่างไรบ้าง        เราทำงานทั้งกลุ่มของครอบครัว กลุ่มของครอบครัว หมายความว่าบางทีเราก็จะมีกิจกรรมในกลุ่มของผู้ปกครองเด็กเล็กก่อนที่จะมาเข้าโรงเรียน มีการทำกิจกรรมฐานความรู้ อย่างของจังหวัดราชบุรีมีชมรมคนรักฟัน เรามีการทำกิจกรรมให้ความรู้ในเรื่องของการเลือกบริโภคทั้งเด็กทั้งผู้ปกครอง ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้มีการนำผู้ปกครองเด็กอนุบาลมาเข้าร่วมกิจกรรมแล้วก็สอนในเรื่องของการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน สอนในเรื่องของสุขภาพช่องปาก ส่วนเรื่องการบริโภคนี่สำคัญมาก เพราะว่าหลายปีที่ผ่านมาฟันผุไม่ลดลงเลยและเด็กอ้วนมากขึ้น พบว่าการบริโภคน้ำตาลมากเกินบริโภคหวานทำให้เด็กฟันผุแล้วเด็กก็อ้วนด้วย การที่เราจะรณรงค์ให้สำเร็จก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน หากมัวแต่รณรงค์เรื่องแปรงฟันอย่างเดียว แต่เด็กยังมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูก กินขนมหวาน ดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากฟันเขาก็ผุอยู่ดี ให้รณรงค์อย่างไรฟันเขาก็ผุอยู่ดี ถ้าอย่างนี้แล้วก็ต้องดูแลเรื่องการบริโภคให้ถูกต้องเพื่อให้ฟันแข็งแรง แต่เรื่องกิจกรรมการแปรงฟันก็ต้องคงอยู่ เพราะในข้อเท็จจริงแล้วเราไม่สามารถห้ามให้เด็กบริโภคหลายๆ อย่างได้แต่เราสามารถบอกให้เขาเลือก อย่างน้อยค่อยๆ แทรกซึมในสิ่งที่เขาเลือกอาหารที่ปลอดภัยของว่างที่ควรกินได้ อันไหนที่ควรหลีกเลี่ยงแล้วก็แปรงฟัน เมื่อสร้างสุขนิสัยอันนี้เด็กก็จะเคยชินพอโตขึ้นเขาก็รู้แล้วว่าควรกินอาหารประเภทไหน กินน้ำตาลให้น้อยลงแล้วลิ้นก็จะปรับได้ เหมือนสมัยก่อนตัวเองกินกาแฟต้องใส่ครีมเทียม ซึ่งพบว่าครีมเทียมเป็นไขมันทรานส์ที่ไม่ควรกิน ปัจจุบันก็กินกาแฟเปล่าๆ ที่ไม่ต้องใส่แล้วก็กินกาแฟที่ไม่ต้องใส่น้ำตาลก็อร่อยได้เช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นแต่ก่อนก็จะบอกว่าไม่ได้ไม่อร่อย ในส่วนของผู้ใหญ่เองต้องทำให้เป็นตัวอย่างไหมคะ         อย่างยิ่งเลยค่ะ ถ้าเราจะบอกเด็กว่าไม่ควร แต่ผู้ใหญ่ยังบอกว่าขอกินหน่อยค่ะอันนี้มันก็ไม่ได้ ก่อนอื่นเลยผู้ปกครองต้องลองฝึกที่ตัวเองก่อนไม่พยายามหาของที่เป็นอันตรายเข้าบ้าน อีกอันหนึ่งที่เราจะใช้ก็คือวิธีสำรวจตู้เย็น สำรวจตู้เย็นที่บ้านว่ามีของพวกนี้อยู่ไหมเรายังไปซื้อน้ำอัดลมประเภทไซค์บิ๊กที่บอกว่ามันประหยัด แต่ก่อนเราเชื่อว่ามีโปรโมชันเราก็จะซื้อในฐานะแม่บ้านว่ามันถูก แต่ลืมไปว่าการที่เราซื้อของถูกเหล่านี้ไว้ในบ้านมันก็หยิบกินง่าย แต่ถ้าเราไม่มีเด็กก็ไม่มีโอกาสที่จะกิน มันเป็นกลไกการตลาดที่จะทำให้พ่อบ้านแม่บ้านอยากจะซื้อเข้าบ้าน สมัยก่อนตัวหมอเองก็เป็น แต่พอเรารู้ว่ามันไม่ควรกินให้มันราคาถูกอย่างไรเราก็ไม่ซื้อ อันนี้จะลดความเสี่ยง  คือถ้าไม่ซื้อเข้าบ้านเด็กๆ ก็จะไม่มีโอกาสกินและก็ให้ซื้อของที่มีประโยชน์ผักผลไม้ให้ติดเป็นนิสัย แล้วเด็กๆ เขากินแต่ของพวกนี้เขาก็จะอิ่มท้อง คือลดโอกาสที่จะไปกินของที่ไม่มีประโยชน์ มันมีอีกวิธีคือการที่ทำให้เขาอิ่มด้วยของที่มีประโยชน์ก่อน เพราะถ้าให้กินของที่ไม่มีประโยชน์เขาก็จะกินได้อีก กลายเป็นว่าเขาจะอิ่มของที่ไม่มีประโยชน์ไปก่อนทำให้เขาสุขภาพไม่ดีจะเป็นเด็กอ้วนที่แบบไม่แข็งแรง กับเรื่องผลการทดสอบชานมไข่มุกที่ทางฉลาดซื้อเพิ่งแถลงข่าวไป         ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้ทำการศึกษาและเผยแพร่ในนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ดีมากที่ได้เผยแพร่เรื่องนี้ออกไป เพราะจริงๆ แล้วทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานพยายามรณรงค์เรื่องของการลดการบริโภคน้ำตาลมาโดยตลอด เราเริ่มทำงานกันมาตั้งแต่ปี 2548 แล้วก็ชวนเครือข่ายในระดับภูมิภาค เริ่มต้นมีแค่ 10 จังหวัด แล้วตอนนี้ก็มีรณรงค์เพิ่มเติมขึ้นมาเป็น 25 จังหวัด มีจังหวัดที่สนใจเข้าร่วมโดยที่ไม่ได้ขอทุนไปดำเนินการอีกประมาณ 30 กว่าจังหวัด ในส่วนที่เรารณรงค์กันเบื้องต้นเราเน้นเรื่องของน้ำอัดลม ลดปริมาณการบริโภคน้ำอัดลมเพราะว่า เท่าที่ศึกษากันมาก็มีปริมาณน้ำตาลที่สูงเกินในการบริโภค กลายเป็นว่าเราเน้นเรื่องน้ำอัดลม แต่มีน้ำอื่นมาแทน โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคปัจจุบันชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตที่คนทุกวัยทานได้         ก่อนหน้านี้อาจจะมีชาเขียวที่น้ำตาลเยอะ กลายเป็นว่าพอชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มยอดฮิต ซึ่งเห็นข้อมูลตรงนี้แล้วถ้าเราดื่มน้ำอัดลมสักกระป๋องเราก็กินอย่างอื่นดื่มอย่างอื่นไม่ได้แล้ว เพราะน้ำตาลเกิน กลายเป็นว่าตอนนี้ชานมไข่มุกแค่แก้วเดียวก็เกินไปถึงไหนๆ จะมีอยู่ก็แค่สองยี่ห้อที่อยู่ในปริมาณที่ไม่เกิน แต่ว่าตามองค์การอนามัยโลกกำหนดว่าคนเราจะสามารถบริโภคน้ำตาลต่อวันต่อคนแค่ 6 ช้อนชา จะสังเกตว่าขนาดชานมไข่มุกยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาล 4 ช้อนชา แค่วันนั้นก็แทบจะเติมอย่างอื่นไม่ได้แล้ว โดยนิสัยคนไทยแล้วถ้าไปดู ก็ยังดื่มน้ำอัดลมกันอยู่ ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งน้ำอัดลมก็ยังครองแชมป์น้ำตาลสูง ยิ่งมาผสมกับการกินชานมด้วยก็ยิ่งไปกันใหญ่         ทุกวันนี้จะสังเกตว่าโรงพยาบาลทุกแห่งจะคนแน่นด้วยเป็นโรคทางระบบเลือด โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะที่ทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานสนใจมาก คือปริมาณน้ำตาลที่มันไปเชื่อมโยงกับโรคฟันพุแล้วมันก็ไปถึงโรคอ้วน ทำไมส่วนใหญ่ทางเครือข่ายกลุ่มคนที่เข้ามารณรงค์จะเป็นหมอฟันที่ไปจับมือกับนักโภชนาการ งานส่งเสริมสุขภาพ ประเด็นนี้เราต้องช่วยกันเพราะว่าสุขภาพฟันก็เป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพร่างกายเพราะถ้ามีปัญหาเรื่องฟันก็จะมีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยว ทำให้ได้รับสารอาหารได้ไม่เต็มที่  ในเรื่องของประเด็นน้ำตาลนั้นส่งผลทั้งในเรื่องของฟันผุ แล้วก็ที่ห่วงใยไปถึงสุขภาพร่างกายด้วยคือโรคทางระบบ โรคเรื้อรัง โรคติดต่อที่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต จากตรงนี้เราจะทำอย่างไร ให้คนได้รับรู้ ต้องขอบคุณนิตยสารฉลาดซื้อ แค่นี้คงไม่พอต้องอาศัยสื่อมวลชนช่วยเผยแพร่และกระตุ้น        สิ่งที่ทางเครือข่ายเริ่มพยายามจะรุกคืบก็คือ พยายามที่จะเชิญชวนร้านกาแฟ เราจะไปห้ามไม่ได้เพราะมันคือธุรกิจ จะบอกไม่ให้เขาขายคงเป็นไปไม่ได้ บอกไม่ให้คนกินก็คงยากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราก็จะใช้วิธีการลดปริมาณขนาดที่จะให้ได้บริโภคต่อวัน คือในคนที่เลิกได้หันมาดื่มน้ำเปล่าแทนก็คือสุดยอดแล้ว ห่วงใยสุขภาพตัวเอง แต่ในเด็กกับกลุ่มคนที่อยากดื่ม เหมือนเราห้ามคนสูบบุหรี่เราก็ห้ามไม่ได้ ต้องอยู่ที่เขาตระหนักเอง คงต้องร่วมด้วยช่วยกันว่าทำอย่างไรจะสร้างความตระหนักให้สังคมรับรู้ว่าเราจะต้องไม่เอาสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย มันเปรียบเหมือนสารพิษนะคะ แต่ว่ามันเป็นสารให้ความหวานทำให้เรารู้สึกมีความสุขกินแล้วก็อิ่มอร่อย แต่ทำอย่างไรจะให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพิษภัยต่อร่างกาย แล้วแค่ต่อมื้อก็มากแล้ว ต่อวันเข้าไปอีกแล้วสะสมหลายๆ วัน ซึ่งอีกทางที่จะช่วยป้องกันก็คือเรากินเข้าไปเผาผลาญมันออกมันก็จะช่วยลดตรงนี้ได้ แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถจัดการเอาออกได้จากสิ่งที่เอาเข้าสู่ร่างกาย         ดังนั้นวิธีที่ไม่ให้ฝืนธรรมชาติคือ คิดว่าหลายๆ คนก็ยังรู้สึกว่ายังอยากจะกิน ยังอยากมีรสชาติของชีวิตอันนั้นคงอาจจะต้องเลือกไซด์ของการบริโภคให้เล็กลง ค่อยๆ ลดลงมาหรือเป็นไปได้ก็ไม่ไปบริโภคมัน อย่างที่บอกว่าเราพยายามที่จะไปเชิญชวนหรือหาแนวร่วมของร้านกาแฟ ร้านที่ขายเครื่องดื่มให้หันมาเป็นร้านกาแฟอ่อนหวาน ซึ่งก็จะมีเกณฑ์ให้เป็นไซต์เล็กขายเป็นแก้วเล็ก ซึ่งอาจจะขัดแย้งเพราะว่าส่วนใหญ่ร้านค้าก็อยากขายแก้วใหญ่ ในเรื่องของกำไร แต่ส่วนนี้ถ้าเราสามารถเชิญชวนร้านค้าที่เขาอยากมีกำไรแล้วก็รู้สึกว่าอยากช่วยสังคมต้องร่วมด้วยช่วยกันเผยแพร่ว่า ปริมาณตัวนี้ที่เขาใส่เข้าไปมันส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง         อีกอันที่อยากเชิญชวนและให้เขารู้สึกว่าอยากเป็นแนวร่วมกับเราว่า การลดปริมาณน้ำตาลลง ลดเศรษฐกิจของเขา ลดต้นทุนของเขาถ้าเขาสามารถใส่น้ำตาลได้น้อยลงต้นทุนต่อแก้วก็น้อยลง แต่ปัญหาประเด็นที่เขาห่วงคือกลัวว่ารสชาติของเขาไม่เป็นที่ยอมรับ คือถ้าเขาลดปริมาณน้ำตาลหวานน้อยลง บางคนติดหวานก็จะไม่ซื้อเขา ซึ่งตรงนี้ต้องร่วมด้วยช่วยกันในหลายส่วนคือในเรื่องของพฤติกรรมของแต่ละคนก็สร้างนิสัยที่ให้บริโภคหวานน้อยลง ถ้าเราลดความหวานลง ผู้บริโภคก็เลือกที่จะบริโภคหวานน้อยเทรนด์นี้ก็จะมาแรง เป็นประเด็นที่อยากให้ร่วมด้วยช่วยกัน       ในส่วนของทางเครือข่ายเองก็ออกไปรณรงค์ในโรงเรียน เข้าไปเชิญชวนโรงเรียน ให้มีโรงเรียนมีโรงอาหารอ่อนหวาน ซึ่งจะคุมในเรื่องปริมาณสัญญาณไฟจราจรเขียวเหลืองแดง ปริมาณแคลอรี่ ปริมาณพลังงานน้ำตาล ไขมัน ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม พอควบคุมตัวนี้ได้สำคัญที่ตัวผู้บริโภคก็ต้องมีการหาแกนนำนักเรียน มีการให้ความรู้มีการบริโภคตามข้อแนะนำ สิ่งสำคัญคือต้องให้เขารับรู้ว่าควรที่จะบริโภคเท่าไหร่ การที่มาเผยแพร่ตรงนี้ให้กว้างขวางและให้รับรู้อยู่บ่อยๆ ก็จะช่วยได้เพราะบางทีเราก็จะจำไม่ได้ว่าควรเป็นเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งในฉลากเราก็มีการรณรงค์เรื่องฉลากบริโภค ซึ่งพยายามสอนให้ความรู้ประชาชนและนักเรียน สิ่งสำคัญที่สุดเลยคือผู้ปกครอง ผู้ปกครองต้องมามีส่วนร่วมอย่างยิ่ง เพราะตอนนี้ที่เราทำสำเร็จคือทำกับโรงเรียน โรงเรียนก็บอกว่าน้ำอัดลมโรงเรียนไม่จำหน่ายแล้ว แต่รอบรั้วโรงเรียนยังมีอยู่ แล้วรอบรั้วโรงเรียนก็จำหน่ายน้ำเหล่านี้ ซึ่งชานมไข่มุกที่นำมาเผยแพร่ข้อมูลในวันนี้น่าตกใจมากเป็นที่นิยมมากด้วย แต่เราจะทำอย่างไร คือถ้าเขาขาย เราไม่บริโภคเขาก็ขายไม่ได้ เขาก็จะต้องปรับกลยุทธ์ที่จะปรับให้มีน้ำตาลน้อยลง ฝากสื่อมวลชนช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลตรงนี้ออกไป แล้วก็ช่วยกันเป็นต้นแบบในการบริโภคหวานให้น้อยลง ทั้งหวานมันเค็ม โรคทางระบบรักษาหายยากเป็นแล้วเป็นเลยมันไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ว่าลดความรุนแรงได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 นางสาวไม่จำกัดนามสกุล : ตัวตนที่ย้อนแย้งและยังสร้างไม่เสร็จ

                ทุกวันนี้ คนชั้นกลางคือกลุ่มคนที่เล่นบทบาทสำคัญในการกุมบังเหียนขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจการเมืองและสังคมไทย แต่หากจะถามว่า แล้วคนชั้นกลางเป็นใครกัน หรือตัวตนหน้าตาแบบใดที่จัดว่าเป็นกลุ่มคนชั้นกลาง         เมื่อเทียบกับคนกลุ่มอื่นที่ดำรงอยู่มานานแล้วในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนชั้นสูง หรือกลุ่มชนชั้นชาวไร่ชาวนา คนชั้นกลางเป็นกลุ่มสังคมที่ถือกำเนิดขึ้นในภายหลัง แม้ว่าพวกเขาจะมีศักยภาพสั่งสมทุนทางเศรษฐกิจอย่างมั่งคั่ง แต่ดูเหมือนว่าอัตลักษณ์ตัวตนของคนกลุ่มนี้ช่างคลุมเครือและย้อนแย้งยิ่งนัก ไม่ต่างไปจากชีวิตของตัวละครอย่าง “เรียม” ผู้ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนของ “นางสาวที่ไม่จำกัดนามสกุล”        เรียมเป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่ชีวิตของเธอเป็นเหมือนในเนื้อเพลงว่า “ตื่นขึ้นมาทุกวันฉันยังเหมือนเดิมเริ่มชีวิตด้วยแสงสว่าง” และด้วยชีวิตที่ซ้ำซากเหมือนเดิมๆ แบบนี้ อีกด้านหนึ่งของเรียม เธอจึงบอกตนเองว่า “แต่พอมองเข้าไปที่ใจฉันเอง กลับได้พบแค่ความเดียวดาย เก็บความเงียบเหงาไว้ในใจมานาน...”        พื้นเพภูมิหลังของเรียมก็คือ ผู้หญิงที่พลัดถิ่นฐานภูมิลำเนามาจากต่างจังหวัด แม้ที่บ้านของเธอจะเปิดร้านขายหมูยอจนมีชื่อเสียงโด่งดังในจังหวัดภาคอีสาน แต่เรียมก็ตระหนักว่า นั่นหาใช่ “คำตอบสุดท้าย” ในชีวิตของเธอไม่ เรียมจึงเลือกเข้ามาเสาะแสวงหาโชคและทำงานเป็นเซลส์ขายอาหารสุนัขในเมืองหลวง ดุจเดียวกับกลุ่มคนชั้นกลางรุ่นใหม่ของไทยอีกหลายๆ คน ที่ก็มีพื้นฐานเป็นคนพลัดถิ่นเฉกเช่นนี้        และในสังคมเมืองใหญ่ที่แตกต่างไปจากพื้นถิ่นพื้นฐานบ้านเกิดนี่เอง ตัวตนของเรียมก็ดำเนินไปท่ามกลางสภาวะที่แปลกแยกกับโลกภายนอก คอนโดที่เธอพักอาศัยก็ไม่เพียงจะจับผู้คนมาแยกอยู่ในกล่องหรือห้องใครห้องมัน ความเปลี่ยวเหงาในสังคมเมืองกรุงก็ทำให้ชีวิตมนุษย์เวียนวนจนเป็นสายพาน และขาดสายสัมพันธ์กับคนที่อยู่รอบข้างรอบตัว        จากอาการแปลกแยกกับสายสัมพันธ์ทางสังคม ในที่สุดก็ก่อกลายมาเป็นสภาวะที่ปัจเจกบุคคลอย่างเรียมก็เริ่มแปลกแยกกับตัวของเธอเอง เมื่อหมอตรวจพบว่าเรียมมี “ช็อกโกแลตซีสต์ในมดลูก” แม้ว่าซีสต์จะเป็นภาวะทางร่างกายที่ท็อปฮิตกันในหมู่คนยุคใหม่ แต่ขณะเดียวกัน ก้อนซีสต์ก็บ่งนัยว่า มนุษย์เรานับวันจะแปลกแยกกับตนเองมากขึ้น จนสามารถสร้างก้อนเนื้อใดๆ ขึ้นมาเป็นซีสต์ให้คับข้องใจกันได้ตลอดเวลา        เพื่อจัดการกับสภาวะแปลกแยกดังกล่าว หมอจึงแนะนำว่า ทางเดียวเท่านั้นที่จะหายขาดก็คือ ต้องหาผู้ชายสักคนมาแต่งงานและมีลูก ซีสต์หรือความแปลกแยกต่อร่างกายของเรียมก็จะค่อยๆ มลายหายไป ด้วยเหตุฉะนี้ ปฏิบัติการสลายชอกโกแล็ตซีสต์และปฏิบัติการค้นหาตัวตนของผู้หญิงคนชั้นกลางอย่างนางสาวเรียมจึงเริ่มต้นขึ้น เฉกเดียวกับท่วงทำนองที่ว่า “อยากมีใครสักคนที่เดินเข้ามาให้ความรักและความอบอุ่น...”        ชายหนุ่มคนแรกที่เข้ามาในปฏิบัติการสลายซีสต์ก็คือ “ปกรณ์” CEO หนุ่มรูปหล่อทายาทเจ้าของธุรกิจนับพันล้าน ในการคบหากับปกรณ์นั้น เรียมก็ต้องตัดแต่งตัวตนของเธอให้กลายเป็นสาวสังคมชั้นสูง ไปรับประทานดินเนอร์สุดหรู เปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ให้เข้ากับชีวิตมหาเศรษฐี แม้ในความเป็นแล้ว เธอเองก็ยังคงเป็นแค่ลูกสาวเจ้าของร้านขายหมูยอ ฐานะอันแตกต่างกันนี้เองจึงเป็นชนวนเหตุให้รักของทั้งคู่ต้องสิ้นสุดลง        เมื่อเลิกราไปจากปกรณ์ เรียมก็มาคบหาดูใจกับศิลปินนักร้องหนุ่มสไตล์โอปป้าแสนอบอุ่นอย่าง “พีท” ชีวิตรักที่ได้ผูกพันกับเซเลบริตี้ขวัญใจแฟนคลับมากมาย ทำให้ตัวตนของเรียมแปลกแตกต่างและตื่นเต้นกระชุ่มกระชวยมากขึ้น แม้ในภายหลัง เธอเองก็พบว่า ความรักกับบุคคลสาธารณะแบบนี้หาใช่คำตอบเสมอไปสำหรับเรียมผู้ที่อีกด้านก็รักชีวิตสันโดษแบบเราสอง        จากศิลปินนักร้องชื่อดัง ผู้ชายคนถัดมาที่เรียมเลือกไว้ก็คือ หนุ่มโสดหล่อล่ำกล้ามโตอย่าง “อาร์ม” ที่ด้านหนึ่งก็เป็นเทรนเนอร์ฟิตเนส แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นอดีตเพื่อนเที่ยวของผู้หญิงมากหน้าหลายตา แม้การคบหากับอาร์มจะทำให้เรียมได้ย้อนกลับมาใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกาย รวมถึงพร้อมจะอยู่กับปัจจุบันโดยไม่สนใจความทรงจำจากอดีต แต่ในที่สุด ไลฟ์สไตล์แบบใหม่นี้ก็เป็นโจทย์ที่ความรักของทั้งคู่ไม่อาจดำเนินต่อไปได้        ถัดจากเทรนเนอร์ฟิตเนส เรียมก็เริ่มผูกจิตปฏิพัทธ์กับ “ทวีป” สัตวแพทย์หนุ่มนักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม ทวีปทำให้เรียมเข้าใจชีวิตว่า ตัวตนของคนชั้นกลางก็น่าจะทำประโยชน์หรือขับเคลื่อนสังคมไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น แต่นั่นก็เป็นอีกครั้งที่เธอพบว่า ทางสองแพร่งที่อยู่ระหว่างจิตสาธารณะและความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนรัก ก็ดูจะยากยิ่งที่ไหลมาบรรจบกันได้        กับ “นางสาวไม่จำกัดนามสกุล” อย่างเรียมที่ประกอบร่างสร้างตัวตนแบบนี้ สะท้อนนัยให้เห็นว่า อัตลักษณ์คนชั้นกลางไทยไม่เพียงแต่ “ยังสร้างไม่เสร็จ” และ “รื้อสร้างใหม่ไปได้เรื่อยๆ” หากแต่ยังมี “ความย้อนแย้ง” แทรกซึมอยู่ในตัวตนคนชั้นกลางยิ่งนัก        แม้การสั่งสมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญแห่งคนชั้นกลาง แต่ภูมิหลังการเป็นลูกแม่ค้าหมูยอก็ทำให้ฝันไม่อาจบรรลุถึงฝั่งได้ หรือแม้ต้องการจะใช้ชีวิตสาธารณะโลดแล่นมีชื่อเสียง แต่หากชีวิตสาธารณะเข้ามาคุกคามชีวิตส่วนตัวเกินไป คนชั้นกลางก็พร้อมจะสละความปรารถนาดังกล่าวไปได้        หรือแม้คนชั้นกลางเลือกพร้อมที่จะลบลืมอดีตของปัจเจกและมองทุกอย่างไปที่อนาคต แต่พวกเขาก็ยังไม่พร้อมจะให้อดีตมาคอยหลอกหลอนชีวิตปัจจุบันอยู่เช่นกัน และท้ายสุด แม้คนกลุ่มนี้จะพยายามก่อรูปจิตสำนึกสาธารณะ แต่พวกเขาก็ไม่อาจยอมรับได้ถ้าประโยชน์สาธารณะจะบั่นทอนประโยชน์สุขส่วนบุคคล        เมื่อตัวตนคนชั้นกลางช่างย้อนแย้งเป็นทางสองแพร่งที่ไม่อาจลงรอยกันได้เยี่ยงนี้ เรียมก็ค่อยๆ ย้อนคิดตริตรองใหม่จนได้คำตอบว่า การวิ่งตามหาใครสักคนมาอยู่ข้างๆ หรือผูกติดตัวตนของเรากับสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ มันก็อาจไม่ใช่อัตลักษณ์หรือเป็นความใฝ่ฝันของคนชั้นกลางได้เลย        เพราะฉะนั้น ในตอนท้ายของเรื่อง หลังจากผ่านตัวเลือกชายหนุ่มมากมายในชีวิต เรียมก็ตระหนักว่า ความสุขไม่ได้อยู่ไกลแต่อย่างใด เพราะเป็นพระเอกหนุ่มอย่าง “องศา” ที่อยู่ข้างห้องนี่เอง ที่เป็นสายสัมพันธ์ซึ่งยึดโยงรู้จักกันมาตั้งแต่วัยเรียน เป็นคนที่อยู่เคียงข้างในทุกปัญหาที่เธอเผชิญ และเป็นผู้ชายที่พูดกับเรียมด้วยประโยคว่า “ฉันชอบตัวเองเวลาอยู่กับแก”        ไม่ว่า “นางสาวไม่จำกัดนามสกุล” อย่างเรียม หรือจะเป็นคนชั้นกลางอย่างเราๆ ที่ดำรงอยู่ท่ามกลาง “ซีสต์แห่งความแปลกแยก” หรือ “ตัวตนที่ย้อนแย้งและยังสร้างไม่เสร็จ” แต่ท้ายที่สุดแล้ว ประโยคที่เรียมพูดกับองศาในฉากจบก็ช่างถูกต้องยิ่งนักว่า “แค่คนที่พอดี มันก็ดีพอแล้ว...บางทีคนที่ใช่มันก็อยู่ใกล้แค่นี้เอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 ผลไม้อบแห้ง ปริมาณพลังงานและน้ำตาล

             ผลไม้แห้ง เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ จัดอยู่ในกลุ่มอาหารแห้ง(dried food) หรืออาหารกึ่งแห้ง การอบแห้งผลไม้เป็นหนึ่งในวิธีการดั้งเดิมที่ใช้ในการถนอมรักษาอาหารให้สามารถเก็บรักษาได้ยาวนาน โดยใช้หลักการในการลดความชื้นของอาหารให้อยู่ในระดับที่เชื้อจุลินทรีย์ไม่สามารถเจริญได้ การอบแห้งโดยทั่วไปจะอาศัยพลังงานความร้อนในการระเหยน้ำออก ผลไม้อบแห้งที่ฉลาดซื้อเลือกมาดูปริมาณพลังงานและน้ำตาลในคราวนี้ เป็นผลไม้กึ่งแห้งที่มีวางจำหน่ายบนชั้นวางทั่วไปในห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อ ได้แก่ ลูกเกด ลูกพรุน และมะม่วง             ผลไม้อบแห้งสามารถใช้เป็นของว่างที่มีประโยชน์ทดแทนขนมหวานหรือขนมขบเคี้ยวได้ อย่างไรก็ตามบางผลิตภัณฑ์มีการปรุงแต่งให้มีรสหวานเพิ่มขึ้นจากความหวานดั้งเดิมที่อยู่ในเนื้อผลไม้ จึงควรตรวจสอบฉลากเพื่อรับประทานให้เหมาะสม นอกจากนี้กลุ่มผลไม้อบแห้งนี้ในกระบวนการผลิตจะมีการใช้สารประเภทซัลไฟต์เพื่อคงสภาพสีของผลไม้ให้น่ากิน หรือใช้เป็นวัตถุกันเสีย ซึ่งอาจมีผลต่อคนที่มีความไวต่อสารชนิดนี้เป็นพิเศษ ควรพิจารณาฉลากก่อนรับประทานมีอะไรในผลไม้อบแห้งนอกจากผลไม้ กรด การใช้กรดในผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ เพื่อช่วยปรับปรุงกลิ่น รส และยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ การเลือกใช้กรดจะขึ้นอยู่กับชนิดของกรดที่มีอยู่มากในผลไม้ ส่วนมากจะมีกรดซิตริก (กรดมะนาว) องุ่นมีกรดทาร์ทาริก (หรือเรียกว่ากรดมะขาม) เป็นต้น  สารที่ให้คงรูปสารคงรูป เพื่อปรับปรุงคุณภาพทางด้านเนื้อสัมผัสของผลไม้ให้ดีขึ้น สารคงรูปที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยโบราณ คือ ปูนขาว ปูนแดง และสารส้ม แต่เนื่องจากสารเหล่านี้มักมี องค์ประกอบอื่น ๆ ที่มีผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันในอุตสาหกรรมการแปรรูปผักและผลไม้จึงใช้แคลเซียมคลอไรด์ สารที่ใช้เพื่อป้องกันการเกิดสีน้ำตาลส่วนมากใช้วัตถุเจือปนอาหารเพื่อป้องกันปฏิกิริยาดังกล่าว ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสารประกอบซัลไฟต์ วัตถุกันเสียเป็นสารประกอบเคมีที่ช่วยในการถนอมหรือยืดอายุการเก็บอาหาร หรือช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นสาเหตุในการเสียของผลิตภัณฑ์ประเภทผักและผลไม้การใช้สารประเภทซัลไฟต์ในผลไม้แห้ง             ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นสารเคมีที่สำคัญที่ใช้ในการรักษาสีของผลไม้อบแห้ง มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยทำหน้าที่ยับยั้งปฏิกิริยาการเกิดสีน้ำตาลในผลไม้ สารประกอบที่ใช้ได้แก่ เกลือซัลไฟต์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งได้รับการยอมรับจาก GRAS ให้สามารถใช้ได้ในผลิตภัณฑ์อาหาร (Generally recognized as safe คือ สารเคมีที่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยา ว่าสามารถใช้เติมลงไปในอาหารได้อย่างปลอดภัย สารที่ได้รับรองว่า เป็น GRAS ส่วนใหญ่ จะไม่จำกัดปริมาณการใช้ แต่จะให้ใช้เท่าที่จำเป็น)  การรมก๊าซกำมะถัน เป็นการนำผลไม้เก็บไว้ในห้องปิดสนิท ที่ได้ทำการเผาผงกำมะถันไว้ ห้องที่ใช้สามารถทำด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ไม้ PVC หรือซีเมนต์ มักใช้กับผลไม้ที่ทำแห้ง โดยการตากแดด เช่น แอพริคอต พีช แพร์ ลูกเกด ปริมาณการดูดซึมและปริมาณซัลเฟอร์ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์จะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ระยะเวลาในการรม ความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ขนาด สภาพของผลไม้ ระดับความสุก พันธุ์ของผลไม้ ฯลฯ ผลไม้ที่มีความแก่จะดูดซึมได้มากกว่าแต่มีซัลเฟอร์ที่อยู่ในเนื้อผลไม้น้อยกว่าผลไม้ที่อ่อนกว่า อุณหภูมิที่สูงมีแนวโน้มที่จะลดการดูดซึมแต่จะทำให้มีระยะเวลาที่ซัลเฟอร์อยู่ในผลไม้ได้นานกว่า            ผลไม้ที่ผ่านการรมหรือแช่สารประกอบซัลเฟอร์ ไม่บรรจุในภาชนะประเภทโลหะ เนื่องจากซัลเฟอร์จะทำปฏิกิริยากับโลหะทำให้ผลไม้เกิดการเปลี่ยนสี หากต้องบรรจุในภาชนะโลหะให้บรรจุในถุงพลาสติกก่อน อายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ผลไม้อบแห้งจะประมาณ 1 ปี ที่ 15 oซ ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร  http://www.tistr-foodprocess.net/fruit_dry.htmlภูมิแพ้ซัลไฟต์ หรือภูมิแพ้สารกันบูดซัลไฟต์ ถูกใช้ในเครื่องดื่มและอาหารหลากหลายชนิด เพื่อเป็นสารกันเสีย (Preservatives) อาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงอาการที่ถึงแก่ชีวิตไม่ว่าจะเป็นคัน ไอ มีเสมหะ หายใจไม่สะดวก ลมพิษปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียนเวียนศีรษะหน้ามืดเป็นลมหลอดลมหดเกร็งจากการบวมของหลอดลมทำให้หายใจลำบากความดันโลหิตลดลงอาจจะต่ำจนช็อกชีพจรเต้นเร็วภาวะหอบหืด หน้ามืดเป็นลม และหมดสติ เราเรียกอาการนี้ว่า Anaphylaxis ที่อาจถึงแก่ชีวิตซัลไฟต์จะอยู่บนฉลากอาหารดังปรากฏด้านล่างนี้ INS ชื่อ 227 Calcium hydrogen sulfite 228 Potassium bisulfite 224 Potassium metabisulfite 225 Potassium sulfite 222 Sodium hydrogen sulfite 223 Sodium metabisulfite 221 Sodium sulfite 220 Sulfur dioxide  ตารางแสดงรายละเอียดผลไม้อบแห้ง ลูกเกด ลูกพรุน มะม่วง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 ลูกไม้ลายสนธยา : คงจะมีรักจริงรออยู่ ที่ดินแดนใดสักแห่ง

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสังคมมนุษย์เราปลอดซึ่งอคติทั้ง 4 อันได้แก่ รัก โลภ โกรธ และหลง ในขณะเดียวกัน สังคมที่ปราศจากอคติทั้ง 4 อันถูกเชื่อว่าเป็นแหล่งที่มาของกิเลส และเป็นวิถีปฏิบัติไปในทางที่ผิดเช่นนี้ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และจะนำมาซึ่งความสุขแห่งมนุษยชาติที่แท้จริงได้หรือไม่   ในวรรณกรรมคลาสสิกของ เซอร์โธมัส มอร์ ที่เขียนไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ได้เคยเสนอภาพดินแดนอุดมคติซึ่งเรียกว่า “ยูโทเปีย” ที่ผู้คนมีชีวิตอยู่ดีกินดี มีระบบแห่งการแบ่งสันปันส่วนชนิดที่ไม่ต้องแก่งแย่งกัน ไม่มีร้านเหล้าหรือสิ่งอบายมุขใดๆ ผู้คนไม่ยึดติดกับวัตถุ ไม่มีความขัดแย้งและสงครามใดๆ หรือถ้าสรุปแบบง่ายๆ ยูโทเปียก็เป็นประหนึ่งรัฐในฝันที่ผู้คนอยู่กันโดยไร้อคติ แต่อาศัยศีลธรรมคุณธรรมในการดำเนินชีวิต    อย่างไรก็ดี ตามทัศนะแบบตะวันตก สังคมอุดมความสุขเช่นนี้ถือเป็นเพียงจินตนาการที่หาได้มีอยู่จริง และถูกวาดขึ้นเป็นนัยเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามต่อสภาวะวิกฤติที่เกิดในระบบเศรษฐกิจการเมืองของสังคมของยุคนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ ยูโทเปียกับโลกจริงจึงเป็นสองดินแดนที่มีเส้นแบ่งแยกขาดจากกันอย่างชัดเจน   แต่ในทางกลับกัน หากเป็นในทัศนะแบบคนไทย เรามีมุมมองแตกต่างไปว่า โลกอุดมคติที่เหนือจริงหาใช่เป็นพรมแดนที่แยกขาดจากโลกที่มนุษย์เราใช้ชีวิตเวียนว่ายอยู่ในกิเลสโดยสิ้นเชิง ดินแดนที่แตกต่างกันทั้งสองกลับดำเนินอยู่แบบคู่ขนาน และอาจมีบางจังหวะเงื่อนไขที่ทั้งสองโลกดังกล่าวเวียนวนมาบรรจบพบกันได้   ปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลกยูโทเปียกับโลกความเป็นจริงแบบไทยๆ ดูจะเป็นเส้นเรื่องหลักที่ถูกวางพล็อตเอาไว้ในละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกจินตนิมิตอย่าง “ลูกไม้ลายสนธยา” ที่จำลองภาพความขัดแย้งของสังคมไทยผ่านการแก่งแย่งช่วงชิงสิทธิ์ในการถือครอง “บ้านรัชดาพิพัฒน์” อันเป็นสถานที่ซ่อนของประตูสู่อีกมิติของดินแดนอุดมคติที่เต็มไปด้วยความสุข   ในโครงเรื่องที่ผูกขึ้นของละครนั้น โลกจริงอันเป็นสถานที่ซึ่งมนุษย์เราวนว่ายอยู่ในกิเลส ถูกเรียกขานว่าเป็นดินแดน “ชมพูทวีป” ในขณะที่ภาพสมมติแทนอุดมคติยูโทเปียก็ถูกวาดขึ้นมาในชื่อของ “อุตรกุรุทวีป” โดยมีคำอธิบายตั้งแต่ต้นเรื่องว่า ในอดีตกาลนั้น สองทวีปนี้เคยมีสะพานเชื่อมข้ามมิติไปมาหากันได้ แต่เมื่อมนุษย์ในชมพูทวีปเริ่มสั่งสมบาปกรรมและความโลภโมโทสันกันจนล้นเกิน ประตูแห่งกาลที่กั้นทางเข้าอุตรกุรุทวีปจึงปิดตัวลง เพื่อมิให้มนุษย์และกิเลสต่างๆ ได้ข้ามไปแปดเปื้อนดินแดนแห่งอุดมคติดังกล่าว   แม้ยูโทเปียกับโลกจริงจะเป็นสองอาณาบริเวณที่แยกขาดจากกันในตอนต้นเรื่อง แต่พลันที่ “เหมหิรัญญ์” พระเอกหนุ่มในดินแดนอุตรกุรุทวีปเกิดมีข้อสงสัยขึ้นว่า เหตุใดชมพูทวีปทุกวันนี้จึงได้กลายสภาพเป็นที่สั่งสมไว้ซึ่งกิเลสและอคติต่างๆ และที่สำคัญ ผู้คนในทวีปแห่งนี้จะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางอคติที่ถาโถมอยู่รอบทิศนั้นได้อย่างไร ปมปัญหาที่ละครผูกไว้กับยูโทเปียจึงได้เริ่มต้นขึ้นมา   เพราะบ้านรัชดาพิพัฒน์เป็นแกนกลางที่ตัวละครต่างๆ หวังจะเข้ามาครอบครอง จนนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของ “ประพิม” ผู้กำความลับเรื่องผ้าลูกไม้ลายสนธยา ในฐานะกุญแจไขไปสู่ดินแดนอุตรกุรุทวีป เหมหิรัญญ์จึงสวมวิญญาณเป็นนักวิจัยภาคสนามมาทั้งสืบเงื่อนปมการตาย และเข้าไปสังเกตการณ์ชีวิตตัวละครที่ต้องมนต์กิเลสในการถือครองคฤหาสน์หลังงามดังกล่าว   เมื่อได้ลงสนามในชมพูทวีป เหมหิรัญญ์ก็ค้นพบว่า รักโลภโกรธหลงเป็นสิ่งที่ “มี” และ “ผลิดอกออกผล” ได้ไม่สิ้นไม่สุด ไม่ว่าจะผ่านกลุ่มตัวอย่างอย่าง “นายหัววรงค์” และ “แก้วเพชร” หรือ “ทองมาตย์” และ “รัตนพรรณ” ที่ความเป็นสามีภรรยาของทั้งสองคู่ชีวิตถูกสะบั้นลงได้เพียงเพราะต้องการครอบครองบ้านหลังเดียว หรือกรณีของ “หันตรา” “ดิถี” และ “วโรชา” ที่ความรักความหลงทำให้ “ตาบอด” ขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ไปจนถึง “สารวัตรทัศน์เทพ” ที่ยอมทรยศอุดมการณ์ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เพียงเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ส่วนตน   แม้ตัวละครจำนวนมากจะเป็นภาพแสดงการก่อและขยายตัวของกิเลสแห่งมนุษย์ในชมพูทวีป แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเหมหิรัญญ์ได้มาพบกับ “เดือนพัตรา” นางเอกผู้ได้รับบ้านรัชดาพิพัฒน์เป็นมรดกสืบต่อจากคุณยายประพิมที่เสียชีวิตไป เขากลับได้คำตอบเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางวังวนมหาสมุทรแห่งกิเลส ก็ยังมีผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่พยายามต่อสู้ทุกทางเพื่อรักษาคุณงามความดีอยู่ในมุมเล็กๆ ของความขัดแย้งแก่งแย่งกัน ซึ่งแตกต่างไปจากภาพของอุตรกุรุทวีปที่อวลอบเอาไว้ด้วยคุณธรรมความดีแต่เพียงด้านเดียว   ในโลกยูโทเปียแบบอุตรกุรุทวีปนั้น แม้จะเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์งดงามและยึดถือความดีเป็นที่ตั้ง แต่อันที่จริงแล้ว อะไรก็ตามที่สุดขั้วไปทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอุดมคติดีงามสุดขั้ว หรือโลภโมโทสันอย่างสุดโต่ง มันก็ช่างขัดแย้งกับวิถีคิดพื้นฐานแบบ “ทางสายกลาง” ด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นแม้แต่ในดินแดนที่เพียบพร้อมความสุขแบบเปี่ยมล้นเอง ก็มีอีกด้านที่ผู้คนไม่เคยได้สัมผัสหรือขาดซึ่ง “ภูมิต้านทานความทุกข์” เพราะมัวแต่ “สำลักความสุข” กันเพียงอย่างเดียว   ด้วยเหตุนี้ แม้ชมพูทวีปจะเต็มไปด้วยกิเลสรอบตัว แต่การที่เดือนพัตรายังคงยืนหยัดยึดมั่นความดีเป็นสรณะท่ามกลางสิ่งเร้ารายรอบได้ เหมหิรัญญ์ก็พบว่า ความดีที่ฝ่าพายุคลื่นลมของกิเลสแบบนี้ “ดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน” จนทำให้เขาตกหลุมรักเดือนพัตรา และต้องการใช้ชีวิตอยู่กับเธอที่ชมพูทวีป โดยยอมรับกติกาที่ว่ายิ่งใช้ชีวิตอยู่นานเท่าใด อายุขัยของเขาก็จะลดลงไปตามกฎแห่งโลกมนุษย์    ครั้งหนึ่ง เมื่อ “ผู้กองมรุต” นายตำรวจที่ช่วยเหลือเดือนพัตราสืบเรื่องราวความตายของคุณยาย และถูกลอบทำร้ายจนต้องเข้าโรงพยาบาล ภาพที่หญิงสาวคอยปรนนิบัติดูแลผู้กองหนุ่ม ก็ทำให้เหมหิรัญญ์เข้าใจความจริงแห่งความทุกข์ และพูดกับเธอว่า “โลกของผมไม่มีการเจ็บป่วย แต่ถ้าผมรู้ว่าเวลาเจ็บป่วยแล้วมีคนมาดูแลเอาใจใส่แบบนี้ การเจ็บป่วยมันก็ดีเหมือนกัน”    ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า “หากไม่รู้จักเจ็บปวด ก็คงไม่ซึ้งถึงความสุขใจ” นี้เอง ในท้ายที่สุด หลังจากคลี่คลายปมว่าใครคือฆาตกรที่ฆ่าคุณยายประพิม และจัดการปัญหาของบ้านรัชดาพิพัฒน์ลงได้ เหมหิรัญญ์ก็ตัดสินใจละทิ้งดินแดนอุดมคติ เพื่อมาใช้ชีวิตแบบ “ทุกข์บ้างสุขบ้าง” เคียงคู่กับเดือนพัตราที่ชมพูทวีปนั่นเอง   “ทุกข์สุขอยู่ที่ใจ” น่าจะเป็นสัจธรรมที่ถูกต้องแล้ว เพราะฉะนั้น คงไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายให้ตนไปอยู่ในดินแดนอุดมคติยูโทเปีย หรือไม่ต้องทนวนว่ายในกระแสธารกิเลสที่เปี่ยมล้นหรอก บางทีผ้าที่มีสีขาวหรือสีดำไปด้านใดด้านหนึ่ง ก็ไม่ทำให้เราเข้าใจสีสันชีวิตแบบ “ทางสายกลาง” ได้เหมือนกับผ้าที่มี “ลูกไม้ลายสนธยา” ซึ่งมีเลื่อมลายทุกข์บ้างสุขบ้างสลับกันไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 กระแสต่างแดน

ขายให้ชัดหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าและตลาดและของอังกฤษ  เริ่มลงมือจัดการกับดาราและบุคคลมีชื่อเสียงที่โพสต์ภาพของตนเองร่วมกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยไม่ระบุให้ชัดว่าได้เงินค่าโฆษณาจากแบรนด์หรือไม่ตามกฎหมายอังกฤษ โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟสบุ้ค อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ ที่ผู้โพสต์ได้รับเงินจากการแชร์เรื่องราวนั้น จะต้องทำให้ผู้บริโภคสามารถดูออกทันทีว่าเป็นการโฆษณา ขณะนี้มีคนดังถูกดำเนินการแล้วสี่ราย ตั้งแต่ดาราที่โพสต์รูปวิตามินพร้อมโค้ดส่วนลด บล้อกเกอร์ด้านการแต่งหน้าที่ลงรูป “ชาลดพุง” ในอินสตาแกรม  พิธีกรรายการโทรทัศน์ที่ทวิตบอกผู้ติดตามของเธอว่าโปรดปรานขนมยี่ห้อหนึ่งเป็นพิเศษ ไปจนถึงดาราที่ลงรูปเครื่องดื่มพร้อมแฮชแท็ก #sp (ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าหมายถึง sponsored post หรือโพสต์ที่มีสปอนเซอร์) การสืบสวนจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และอาจนำไปสู่การฟ้องร้อง ซึ่งไม่มีเพดานค่าปรับสูงสุดด้วยจ่ายแพงกว่าเพื่อ?อเมซอน ร้านค้าออนไลน์ถูกสั่งงดโฆษณาบริการสมาชิกแบบ “อเมซอน ไพรม์” ที่รับประกันการ จัดส่งสินค้า “ภายในหนึ่งวัน”   หน่วยงานดูแลมาตรฐานการโฆษณาของอังกฤษ ได้รับเรื่องร้องเรียน 280 กรณี จากสมาชิกบริการไพร์มที่มีค่าธรรมเนียมเดือนละ 7.99 ปอนด์ (ประมาณ 350 บาท) ที่ไม่ได้รับสินค้าที่สั่งภายในหนึ่งวัน อเมซอน อธิบายว่าได้แจ้งไว้ (ตรงไหนสักแห่ง) ในเว็บไซต์ว่าผู้สั่งซื้อจะได้รับสินค้า “หนึ่งวันทำการหลังจากเริ่มจัดส่ง” และ “เวลาในการจัดส่งขึ้นอยู่กับเวลาที่สั่งซื้อ” ด้วย  แต่หน่วยงานดังกล่าวฟันธงว่าผู้ใช้เว็บไซต์ส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นข้อความเหล่านี้ก่อนตัดสินใจสมัครสมาชิกแบบ “ไพร์ม” องค์กรผู้บริโภค Citizens Advice บอกว่า ไม่เพียงลูกค้าของอเมซอนเท่านั้นที่ประสบปัญหานี้ ร้อยละ 40 ของลูกค้าระดับ “พรีเมียม” ของร้านออนไลน์ ได้รับสินค้าช้ากว่าที่คาดหวังทั้งๆ ที่จ่ายแพงขึ้น  ที่สำคัญขณะนี้ยังไม่มีช่องทางการชดเชยเยียวยาที่สะดวกในกรณีที่เกิดความเสียหายจากความล่าช้าด้วยภาษีลดสูบญี่ปุ่นซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องประชากรที่สุขภาพดีและอายุยืน กำลังเผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์  กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลว่าในปีงบประมาณ 2015 รัฐบาลใช้เงินไม่ต่ำกว่า 2,000,000 ล้านเยนเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่  ด้านหนึ่งคือค่ารักษาพยาบาล 1,200,000 ล้านเยน (โรคมะเร็ง หัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ และภาวะสมองเสื่อม) ทั้งในผู้สูบบุหรี่และผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ ส่วนที่เหลือเป็นความเสียหายจากเหตุไฟไหม้ที่มีสาเหตุจากก้นบุหรี่ ญี่ปุ่นมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 18.2 ของประชากร ซึ่งถือว่าลดลงมากแล้วเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน แต่มาตรการลดการสูบบุหรี่ของรัฐบาลญี่ปุ่นยังดำเนินต่อไป ล่าสุดได้ประกาศเพิ่มภาษีบุหรี่ ทำให้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี  2019 ราคาบุหรี่จะขึ้นเป็นซองละ 500 เยน (ประมาณ 150 บาท) เช่นเดียวกับในสหภาพยุโรปที่ราคาบุหรี่ต่อซองจะเพิ่มขึ้นเป็น 385 บาทในปี 2020ไม่สวยก็กินได้ประมาณร้อยละ 35 ของผักผลไม้จากสวนของเกษตรกรในยุโรป ไม่เคยมีโอกาสได้พบปะผู้บริโภคซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะพวกมันมีหน้าตาประหลาดหรือขนาดไม่ตรงสเปคงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเอดินบะระพบว่า ผักผลไม้ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านตันถูกทิ้งไปเพราะ “ผู้บริโภคไม่ชอบแบบนี้” ในขณะที่เกษตรกรต้องลงทุนผลิตในปริมาณที่มากกว่าที่ทำสัญญาไว้กับห้างค้าปลีก เพื่อให้มีส่งครบตามที่สั่งหลังจากบางส่วนถูกคัดออกความสูญเสียที่ว่านี้มาจากมาตรการที่เข้มงวดของภาครัฐ รวมกับมาตรฐานสินค้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ตตั้งไว้สูงเกินไป และความคาดหวังของตัวผู้บริโภคเองที่ต้องการแต่ผักผลไม้ที่ดูดีไร้ตำหนิ ผู้วิจัยเรียกร้องให้ผู้บริโภคใส่ใจกับการเลือกซื้อสินค้าอย่างยั่งยืนมากขึ้น พร้อมๆ ขอให้ห้างค้าปลีกให้ที่ยืนกับผักผลไม้ที่หน้าตาไม่สมบูรณ์แบบบ้าง ที่ผ่านมา ห้าง Sainsbury และ ห้าง Morrisons ได้เริ่มลงโครงการกับกล้วยและอโวคาโดแล้วเจ็บมาเยอะสาวๆ เกาหลีนัดกันหยุดใช้จ่ายทุกๆ วันอาทิตย์แรกของเดือน เพื่อประท้วงการดูถูกผู้หญิงและการเอาเปรียบโดยผู้ประกอบการต่างๆ ที่มักจะตั้งราคาสินค้าสำหรับผู้หญิงแพงกว่าสินค้าสำหรับผู้ชายพวกเธอบอกว่า ไม่เป็นธรรมเลยที่สังคมเกาหลีคาดหวังให้ผู้หญิงต้องดูดีดูสวยตลอดเวลา แต่สินค้าที่พวกเธอต้องซื้อกลับมีราคาแพงเกินไป แจ็กเก็ตสำหรับผู้หญิงซึ่งมีแต่กระเป๋าหลอก ใส่ของอะไรไม่ได้ ราคาแพงกว่าแจ็กเก็ตชาย กางเกงแบบไร้รอยยับสำหรับผู้ชายก็ถูกกว่าและสวมใส่สบายกว่าด้วย  กลุ่มนี้ซึ่งมีผู้ติดตามในทวิตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 5,000 คน บอกว่าอยากให้ธุรกิจรู้ว่ายอดขายจะร่วงลงแค่ไหนหากผู้หญิง “ไม่ช้อป” และหันมาทำอาหารกลางวันไปรับประทานเอง ถีบจักรยานไปไหนต่อไหนเอง รวมถึงยกเลิกการจองโต๊ะสำหรับอาหารเย็น เป็นต้น  เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการประท้วงของผู้หญิงในไอซ์แลนด์ เมื่อหลายสิบปีก่อนที่รวมตัวกันไม่ไปทำงานและหยุดทำงานบ้าน เพื่อให้เห็นว่าโลกจะไปต่อไม่ได้หากผู้หญิงไม่ไปด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ไม่พอใจบริการบริษัทหาคู่ ทำอะไรได้บ้าง

บริการแม่สื่อหรือการหาคู่ดูตัว ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะมีมาแต่โบราณ เพียงแค่ไม่ได้เป็นธุรกิจใหญ่โตเช่นปัจจุบัน มีการประมาณการว่า ธุรกิจจัดหาคู่ เฉพาะตลาดเมืองไทยนั้น มูลค่าปีละกว่า 5,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตได้อีก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากอยู่คนเดียวไปตลอด แต่จะเที่ยวไปค้นหาเองอาจไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย  ธุรกิจนี้จึงตอบสนองชีวิตคนเหงาที่ไม่ค่อยมีเวลา ด้วยการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้บริการที่น่าจะมีรูปแบบการใช้ชีวิตใกล้เคียงกัน ให้ได้มาเจอกัน เพียงแค่จ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ให้บริการ ซึ่งมีตั้งแต่หลักหมื่นบาทถึงล้านบาทคุณลัดดาเป็นหญิงสาวคนหนึ่งที่สนใจบริการจัดหาคู่  โดยก่อนจะมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เธอได้จ่ายเงิน 40,000 บาทให้แก่บริษัทจัดหาคู่แห่งหนึ่ง ซึ่งเธอตรวจสอบแล้วว่า มีชื่อเสียงพอสมควรตามคำอ้างของพนักงานที่ว่า เคยออกรายการโทรทัศน์และมีการรับรองธุรกิจจากต่างประเทศ จำนวนเงินที่จ่ายนี้เป็นแพ็กเกจที่จะได้รับคำแนะนำให้ออกเดท(นัดพบ) กับบุคคลที่ทางบริษัทคัดเลือกจากฐานข้อมูลของบริษัท โดยรับรองว่าจะพยายามหาผู้ที่มีความเหมาะสมตามความต้องการที่คุณลัดดาได้เคยตอบแบบสอบถามไว้ “ก่อนจะมีเดทแรก บริษัทส่งโปรไฟล์คู่เดทมาให้ดิฉันดู ต้องบอกว่า ไม่ตรงกับความต้องการที่ดิฉันเคยทำสัมภาษณ์ไว้ แต่พนักงานก็พยายามโน้มน้าวว่า ส่วนที่ไม่ตรงกับสเปคของคุณนั้น ไม่เป็นสาระสำคัญของชีวิตคู่”เมื่อได้พบกันจริง คุณลัดดาผิดหวังมากกับคู่เดทที่บริษัทเลือกให้ เพราะเขาไม่เพียงไม่ตรงกับคนที่ใช่ เขายังเป็นผู้ชายที่ทำในสิ่งที่เธอเคยให้ข้อมูลไว้กับบริษัทว่า เธอไม่ชอบพฤติกรรมแบบนี้เอามากๆ เธอจึงขอยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนทั้งหมดในการเจรจาด้วยตัวเองนั้น เธอได้รับคำตอบว่า บริษัทจะคืนเงินให้ส่วนหนึ่ง แต่เธอไม่ยินยอม บริษัทก็ขอเป็นเงื่อนไขว่า ถ้าบริษัทคืนเงินให้ทั้งหมด คุณลัดดาต้องเซ็นยินยอมในเอกสารเป็นภาษาอังกฤษว่าจะไม่นำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ในสื่อทุกชนิด เรื่องนี้ทำให้คุณลัดดาเห็นว่า ไม่เป็นธรรม และเชื่อว่าเพราะเหตุนี้เมื่อตอนที่เธอค้นหาข้อมูลในคราวแรก จึงไม่เคยมีเรื่องการร้องเรียนบริษัทนี้ในสื่อใดๆ เลย เธอมองว่าทำให้เธอเสียโอกาสในการพิจารณาเข้าใช้บริการสำหรับเรื่องที่คุณลัดดาขอคำปรึกษามีอยู่ 2 ประเด็น1.สามารถขอรับเงินคืนทั้งหมด โดยไม่เซ็นสัญญาเรื่องห้ามเปิดเผยข้อมูลได้หรือไม่2.สามารถเรียกค่าเสียหายอะไรได้บ้าง เพราะต้องเสียเวลาไปนัดพบกับบุคคลที่ไม่ใช่ตามที่เคยให้ข้อมูลแก่บริษัทไว้ แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างเจรจาเพื่อให้ผู้ร้องได้ประโยชน์สูงสุด แต่ขอตอบคำถามทั้งสองข้อไว้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคท่านอื่น กรณีนี้เป็นการซื้อขายบริการ ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามสัญญา คู่สัญญามีสิทธิบอกยกเลิกสัญญาได้ กรณีที่บริษัทมีเงื่อนไขว่า จะคืนเงินทั้งหมดหากยินยอมเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูล บริษัทสามารถทำได้ และถึงแม้จะมีการไกล่เกลี่ยกันในชั้นศาล ข้อตกลงดังกล่าวนี้ก็ยังทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่หากดำเนินการฟ้องร้องจนศาลมีคำพิพากษา สามารถนำผลของคดีมาเผยแพร่ได้ เงื่อนไขนี้เป็นอันตกไป ส่วนในเรื่องของค่าเสียหาย ผู้ร้องสามารถเรียกเพิ่มเติมเป็นค่าเสียเวลา ค่าเดินทางได้ตามที่เกิดขึ้นจริง สุดท้ายคุณลัดดาฝากถึงผู้บริโภคท่านอื่นๆ ที่กำลังตัดสินใจใช้บริการธุรกิจจัดหาคู่ ให้เพิ่มความระมัดระวังเรื่องการที่จะต้องออกไปพบกับคู่เดท เพราะอาจจะเสียความรู้สึกและเกิดอันตรายได้ หากคนที่บริษัทนัดให้มาเจอกันนั้นมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 4 สงสัย 2 ส่งต่อ : วิธีจัดการผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัยให้อยู่หมัด

การจัดการผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยไม่ให้ไปทำร้ายผู้บริโภค จำเป็นต้องมีเครื่องมือง่ายๆ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ป้องกันตัวเอง เครื่องมือง่ายๆ เริ่มจากการ “สงสัย” และ ”ส่งต่อ” ข้อมูลเพื่อร่วมมือกันในการจัดการปัญหา1. สงสัย : ไม่มีหลักฐานการอนุญาต?เมื่อพบเห็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เริ่มสงสัยทันทีว่า ผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการนั้นๆ มีหลักฐานว่าได้รับอนุญาตหรือยัง เช่น ยาต้องมีเลขทะเบียนตำรับยาเช่น Reg.No…. , อาหารต้องมีเลขสารบบอาหาร... (หรือที่เรารู้จักกันดีคือเลข อย...) , เครื่องสำอาง ต้องมีเลขจดแจ้ง… , สถานพยาบาลต้องมีหลักฐานใบอนุญาตประกอบกิจการและดำเนินการ , หน่วยตรวจสุขภาพต้องมีหลักฐานการได้รับอนุญาต “หากไม่มีแสดงว่ายังไม่ได้รับอนุญาต”2. สงสัย : ขาดข้อมูลแหล่งที่มา?เมื่อพบเห็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เริ่มสงสัยทันทีว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแหล่งผลิตจริงหรือไม่ เพราะตามกฎหมายฉลากและเอกสารโฆษณาต้องระบุชื่อที่อยู่ผู้ผลิตชัดเจน “หากไม่มีชื่อที่อยู่ผู้ผลิต จะรู้ได้อย่างไรว่าใครผลิต? เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาจะตามผู้ผลิตได้ที่ไหน?”3. สงสัย : โฆษณาเวอร์เกินไป?เมื่อพบเห็นผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการนั้นๆ ให้เริ่มสงสัยทันทีว่า สรรพคุณที่โฆษณาเป็นไปได้จริงหรือไม่ หากอวดอ้างว่าได้ผลดีแบบมหัศจรรย์ จะพิสูจน์ได้อย่างไร? อย่าเพิ่งเชื่อบุคคลที่เขาอ้างอิงในโฆษณา ถ้าไม่รู้จักเขาดีพอ เพราะอาจเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งสิ้น หากได้ผลจริง ผลิตภัณฑ์หรือบริการเหล่านี้ จะต้องได้การรับรองจากหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานที่ได้มาตรฐาน หรือมีการนำไปใช้ในสถานพยาบาลอย่างชัดเจน “จำให้ขึ้นใจว่าผลิตภัณฑ์เทวดาไม่มีในโลก”4.  สงสัย : ใช้แล้วผิดปกติ?ให้เริ่มสงสัยทันที หากพบว่าหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ แล้ว เห็นผลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปรกติ เช่น หายปวดเมื่อยทันที ผอมลงอย่างรวดเร็ว อาการต่างๆ ของโรคเรื้อรังหายหมด ผิวขาวขึ้นทันใด ฯลฯ “หากได้ผลรวดเร็วขนาดนี้ อาจมีอะไรที่ไม่ปลอดภัยผสมลงไปในผลิตภัณฑ์”2 ส่งต่อ1. ส่งต่อข้อมูลเตือนภัยเมื่อเราเจอผลิตภัณฑ์หรือบริการสุขภาพที่ต้องสงสัยหรือมีพิรุธ อันดับแรกต้องรีบแจ้งเตือนข้อมูลเบื้องต้นให้คนรอบข้างทราบโดยเร็ว แม้ว่าเรายังไม่อาจสรุปได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ ไม่ปลอดภัยจริงหรือไม่ แต่การแจ้งข้อมูลให้ผู้บริโภคหรือคนในชุมชนทราบเบื้องต้น เป็นการช่วยเตือนไม่ให้ผู้บริโภคผลีผลามไปใช้ และยังเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนช่วยกันเฝ้าระวัง ในระหว่างรอผลการตรวจสอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ “ยิ่งแจ้งได้เร็ว ก็เท่ากับช่วยให้คนข้าง เราให้เสี่ยงลดลง”2. ส่งต่อเจ้าหน้าที่รีบส่งต่อข้อมูลผลิตภัณฑ์หรือบริการสุขภาพที่ต้องสงสัยหรือมีพิรุธให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบโดยเร็ว ข้อมูลที่แจ้งเจ้าหน้าที่ควรรวบรวมรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เช่น ผลิตภัณฑ์อะไร สรรพคุณที่อ้างอิงในการโฆษณา วิธีการขาย แหล่งที่มา ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังจากการใช้ ฯลฯ “ยิ่งแจ้งข้อมูลอย่างละเอียด จะทำให้เจ้าหน้าที่ตามรอยต้นตอแหล่งผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 เมื่อ ‘จิตใจ’ ไม่สบาย สิทธิของผู้ป่วยจิตเวช

“ปี 2556 ประชาชนในกรุงเทพมหานครที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีอาการป่วยทางจิตเวชและมีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 11.5 หรือประมาณ 520,000 คน” น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ปัจจุบัน เราคุ้นเคยกับความป่วยไข้ทางจิตเวชมากขึ้น โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า อาจจะเป็นเพราะมีผู้ป่วยที่เปิดเผยตัวเอง ข่าวคราวของดารา นักร้องที่เป็นโรคซึมเศร้า (ขนาดว่าช่วงหนึ่งมีการพูดถึงกระแส ‘อยากซึมเศร้า’ เพราะรู้สึกว่าความป่วยไข้ชนิดนี้เท่) ถึงกระนั้น ตัวเลขข้างต้นก็น่าตกใจ เพราะมันหมายความว่าทุกๆ 10 คนที่เดินเหินในมหานครแห่งนี้ มี 1 คนที่ป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพจิต‘ฉลาดซื้อ’ จะพาไปรู้จักอาการทางจิตเวช แนวทางดูแลตัวเอง การอยู่ร่วมกับผู้ป่วย และสิทธิบางประการที่ควรรู้ เพราะเราทุกคนอาจป่วยทางจิตได้เหมือนกับที่ใครๆ ก็ป่วยเป็นไข้หวัดได้ซึมเศร้าเรื้อรัง เอก (นามสมมติ) รับรู้ถึงความผิดปกติบางอย่างในตัวเอง มันเริ่มจากความรู้สึกเศร้าและอยากร้องไห้แบบไม่มีต้นสายปลายเหตุ ตอนแรกเขาก็ยังไม่ได้สนใจอะไร กระทั่งอาการดังกล่าวเกิดขึ้นติดต่อกัน 2 วันจนเกือบทำการทำงานไม่ได้ เอกไม่ได้มีความเชื่อผิดๆ ที่ว่าการไปพบจิตแพทย์คือการถูกตีตราว่า ‘บ้า’ เขาจึงตัดสินใจลองไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลจิตเวชของรัฐแห่งหนึ่ง หลังการพูดคุยกับจิตแพทย์เกือบ 2 ชั่วโมง เอกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Dysthymia หรือโรคซึมเศร้าเรื้อรัง จิตแพทย์จ่ายยาให้เขา แม้ว่าเอกจะพยายามต่อรองเพื่อขอรับการรักษาแบบอื่นที่ไม่ต้องใช้ยา เช่น การทำจิตบำบัด แต่ก็ไม่อาจทัดทานได้ เขากินยาอยู่ได้ไม่กี่วัน เนื่องจากไม่ชอบผลข้างเคียงจากยาดังกล่าว นัดพบจิตแพทย์ครั้งที่ 2 แพทย์ยังคงยืนกรานให้เขาทานยา แม้ว่าเขาจะยังขอพบนักจิตวิทยา กระทั่งครั้งที่ 3 จิตแพทย์จึงยอมให้เขาพบนักจิตวิทยาเพื่อทำจิตบำบัด ระหว่างการทำจิตบำบัด เอกรู้สึกว่าอาการแย่ลง ความรู้สึกเศร้าเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น เขาจึงตัดสินใจไปพบจิตแพทย์อีกครั้งในโรงพยาบาลที่เขามีสิทธิประกันสังคมอยู่ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและรับฟัง Second Opinion ทว่า ก่อนที่จะได้พบแพทย์ทั่วไป  ซึ่งจะเป็นผู้วินิจฉัยเรื่องการส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทาง พยาบาลที่ทำการตรวจสุขภาพแจ้งแก่เขาว่า อาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือนเพื่อทำนัดและรอพบจิตแพทย์ คำพูดดังกล่าวทำให้เอกตัดสินใจเดินออกมา นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และอดีตคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในประกันสังคมมักหลีกเลี่ยงที่จะส่งต่อแพทย์เฉพาะทาง เพื่อต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้นผู้มีสิทธิจะต้องเรียกร้อง ร้องเรียน หรือยืนยันสิทธิในการรักษาของตน แน่นอนว่าเอกไม่รู้เรื่องนี้และไม่ได้ยืนยันสิทธิที่ว่า และก็ไม่น่าจะใช้เอกคนเดียวที่ไม่รู้เรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของเอกสะท้อนแง่มุมต่อผู้ป่วยจิตเวชหลายประการ มันไม่เหมือนอาการป่วยกายเสียทีเดียว การไปหาหมอเป็นกระบวนการทั่วๆ ไปที่ใครๆ ก็พอจะนึกออก แต่พอเป็นความเจ็บป่วยทางจิต เอกและเชื่อว่าผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร “สังคมไทยอาจไม่คุ้นชินกับการที่ใครสักคนต้องไปพบจิตแพทย์ เรายังมองเป็นเรื่องประหลาด เป็นคนบ้า ซึ่งเราอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า ความเจ็บป่วยทางจิตเป็นโรคโรคหนึ่ง ไม่ใช่อะไรที่แปลกประหลาด” นิมิตร์ เทียนอุดมสิทธิของเรา นิมิตร์บอกว่า โดยหลักทั่วไปแล้ว สิทธิประกันสังคมให้การดูแลสวัสดิการสุขภาพแก่ผู้ถือสิทธิไม่ต่างจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักเป็นเบื้องต้น คือเรามีสิทธิได้รับสวัสดิการสุขภาพ ผู้ป่วยจิตเวชก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นแต่เชื่อหรือไม่? กว่าจะถึงวันนี้ วันที่ผู้ป่วยจิตเวชได้รับการรักษาอย่างเสมอหน้าอาการป่วยไข้ทั่วไป ต้องผ่านการต่อสู้ไม่ต่างจากโรคเรื้อรังอื่นๆ“สมัยแรกที่มีสิทธิประโยชน์ กรณีจิตเวชถูกตีความว่าต้องรักษายาวนานเกินกว่า 180 วัน ทำให้มีปัญหาว่าบางทีโรงพยาบาลรับมารักษาแล้ว 180 วันก็ไม่ได้ดีขึ้น แค่ทุเลา ต้องจำหน่ายออก แล้วก็รับใหม่ หรือบางทีก็ให้กลับบ้านเลย ไปดูแลตัวเองที่บ้าน ทำให้เกิดปัญหา จึงมีการผลักดันให้ยกเลิกและปรับแก้กติกาที่ว่า การรักษาที่เกิน 180 วันจะไม่คุ้มครอง ไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งจุดนี้เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเพราะทำให้ได้รับการรักษาต่อเนื่อง เนื่องจากโรคทางจิตเวชเป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง ต้องอยู่ในความดูแล ต้องกินยา การยกเลิกกติกาข้อนี้จึงถือเป็นเรื่องที่พวกเราช่วยกันเคลื่อน จนผู้ป่วยจิตเวชก็ได้รับสิทธิประโยชน์นี้และมันก็ได้อานิสงค์ไปยังโรคอื่นๆ ที่ต้องรักษาเกิน 180 วันด้วยประการที่ 2 คือปัญหาเรื่องยาที่ต้องสั่งจ่ายให้แก่ผู้ป่วยจิตเวช ช่วงหนึ่งแพทย์ที่พร้อมจะดูแลยกประเด็นนี้ขึ้นมาว่า ทำอย่างไรยาจึงจะถูก เพราะถ้าไปอยู่ในค่าเหมาจ่ายรายหัว แล้วยาแพง โรงพยาบาลก็รู้สึกเป็นภาระและอาจจะปฏิเสธการรักษาได้ ดังนั้น ตอนที่มีการสู้เรื่องซีแอล (มาตรการบังคับใช้ Compulsory Licensing: CL) ก็ดูยาตัวนี้ด้วย ทำให้ได้ยาริสเพอริโดน (Risperidone) ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชกลับมามีชีวิตปกติได้” นิมิตร์ กล่าวเรื่องสิทธิและยาได้รับการแก้ไข ถึงกระนั้นใช่ว่าปัญหาจะหมดไปโดยสิ้นเชิง ในทางปฏิบัติ ทุกวันนี้ยังคงมีปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยที่ยุ่งยาก เนื่องจากผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องใช้โรงพยาบาลใกล้บ้าน หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวช แล้วโรงพยาบาลแห่งนั้นไม่มีจิตแพทย์ก็จำเป็นต้องส่งต่อ แล้วใช่ว่าทุกพื้นที่จะมีจิตแพทย์ หมายความว่าการหาหมอใกล้บ้านกลายเป็นหาหมอไกลบ้าน สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือการบ่ายเบี่ยงการส่งตัว เพราะโรงพยาบาลที่ส่งตัวต้องตามไปจ่ายค่ารักษาให้แก่หน่วยบริการที่รับผู้ป่วยไปดูแลโรงพยาบาลต้นทางอาจทำใบส่งตัวครั้งละ 3 เดือนให้แก่ผู้ป่วยหรือที่หนักกว่า คือต้องทำใบส่งตัวใหม่ทุกครั้งที่นัดพบแพทย์ สร้างความยุ่งยากในชีวิตผู้ป่วยและญาติ นิมิตร์เสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จะขจัดความยุ่งยากด้วยการปรับกติกาเสียใหม่ เช่น การทำใบส่งตัวครั้งละ 1 ปี เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติไม่ต้องเดินทางมารับใบส่งตัวบ่อยๆอีกด้านหนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขคงต้องลงมาศึกษาอย่างจริงจังว่า ด้วยสถานการณ์สุขภาพจิตที่หนักมือขึ้นทุกขณะ ปัจจุบันประเทศไทยมีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเพียงพอแล้วหรือยังส่วนด้านการดูแลรักษาต่อเนื่อง สปสช. ยังคงเดินหน้านโยบายดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนอย่างต่อเนื่องโดยจับมือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดระบบบริการจิตเวชในชุมชน ตั้งแต่การกินยาต่อเนื่องจนถึงการปรับทัศนคติคนในชุมชนและลดการตีตรา“สังคมไทยอาจไม่คุ้นชินกับการที่ใครสักคนต้องไปพบจิตแพทย์” นิมิตร์กล่าวเสริม “เรายังมองเป็นเรื่องประหลาด เป็นคนบ้า ซึ่งเราอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า ความเจ็บป่วยทางจิตเป็นโรคโรคหนึ่ง ไม่ใช่อะไรที่แปลกประหลาด”ดูแลตัวเอง จิตแพทย์อภิชาติ แสงสิน นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เห็นว่า ปัจจุบันความเข้าใจของผู้คนต่อผู้ป่วยจิตเวชเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีและรับรู้ว่าเป็นความป่วยไข้อย่างหนึ่งที่ต้องได้รับการรักษา เพียงแต่โรคทางจิตเวชค่อนข้างนามธรรม จับต้องได้ยากกว่าโรคทางกาย มาถึงตรงนี้ เมื่ออาการทางจิตเวชเป็นความป่วยไข้ไม่ต่างจากไข้หวัดหรือปวดท้อง มันก็ย่อมมีแนวทางที่เราจะดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากปัญหาสุขภาพจิต การออกกำลังกาย การพักผ่อนหย่อนใจ คลายความตึงเครียดจากภาระในชีวิตประจำวันเป็นอะไรที่น่าจะรู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่เรายังมีคำแนะนำเพิ่มเติมจากจิตแพทย์อภิชาติ นั่นคือการคอยติดตามตนเองหรือมีสติรู้ตัวอยู่กับปัจจุบัน(ต้องเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า คำว่า การมีสติ ในที่นี้ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางศาสนาแต่อย่างใด) มีด้วยกัน 3 เทคนิค คือ 1.การอยู่กับการกระทำ คอยรู้ตัวเสมอว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพราะหลายครั้งที่เรามักเผลอไผล ทำบางสิ่ง แต่ใจคิดอีกอย่าง ซึ่งมักจะเป็นอดีตไม่ก็อนาคต 2.การรับรู้ความคิด คอยรู้เสมอว่ากำลังคิดอะไรอยู่ 3.การรับรู้อารมณ์ คอยติดตามอารมณ์ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร เฉยๆ เสียใจ เศร้า ดีใจ หรือโกรธ เป็นต้น ซึ่งการติดตามอารมณ์จะค่อนข้างยากกว่าการติดตามการกระทำหรือความคิด จิตแพทย์อภิชาติเสริมว่า เราไม่สามารถตามดูทั้ง 3 อย่างพร้อมกันได้ ดังนั้น อะไรที่เด่นชัดที่สุดให้ตามดูสิ่งนั้น ประโยชน์ของเทคนิค 3 ข้อ คือการทำให้เราสามารถรับรู้สัญญาณปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ทันท่วงที จิตแพทย์อภิชาติกล่าวว่า “แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราป่วย สังเกตได้จากความรับผิดชอบที่เราควรทำได้ปกติเกิดสูญเสียไป ความรับผิดชอบที่ว่าแบ่งเป็น 3 ด้านคือความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เช่น เพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว ชุมชน เป็นต้น หน้าที่การงาน และการฟื้นคืนสภาพจิตใจหรือการผ่อนคลายความตึงเครียดได้ ถ้าทั้ง 3 เรื่องนี้หรือด้านใดด้านหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องทั้ง 3 ด้าน เกิดบกพร่องหรือสูญเสีย ก็มีแนวโน้มว่าน่าจะป่วย ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินว่ามีปัญหาอย่างไร เพื่อจะได้รักษาต่อไป”เมื่อนำกรณีของเอกไปสอบถาม จิตแพทย์อภิชาติอธิบายว่า “จริงๆ ผู้ป่วยกับจิตแพทย์สามารถคุยกันได้ ต้องดูก่อนว่าความเจ็บป่วยที่ว่านั้นคืออะไร และดูว่าภาวะการตัดสินใจของผู้ป่วยมีมากน้อยแค่ไหน เขามีสิทธิเลือกการรักษาที่เหมาะกับเขาได้ แต่ถ้าแพทย์เห็นว่าไม่เหมาะสมหรือจะเป็นอันตราย หรือไม่มีประโยชน์ต่อการรักษา แพทย์ก็อาจต้องให้คำแนะนำหรือเลือกทางที่ดีที่สุด แต่ในกรณีผู้ป่วยจิตเวชที่ความสามารถในการตัดสินใจบกพร่องไปแล้ว ไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ไม่สามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้ กรณีนี้ก็ต้องมีผู้ทำการแทน เช่น คู่สมรส ญาติ หรือบุตร ตัดสินใจแทนเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการดูแลรักษาให้มากที่สุด การรักษาอาการทางจิตเวช การให้ยาก็ส่วนหนึ่ง การทำจิตบำบัดก็ส่วนหนึ่ง ในกรณีทั่วไป การให้ยาจะช่วยให้อาการดีขึ้นเร็ว การทำจิตบำบัดก็มีข้อดีและช่วยได้ แต่จะช้ากว่าการให้ยา เพราะปัจจุบันความรู้ทางการแพทย์พัฒนา โรคทางจิตเวชคือการทำงานของสมองที่ผิดปกติไป ยาเข้าไปช่วยปรับให้สมองทำงานได้ดีขึ้น อาการก็จะดีขึ้น การทำจิตบำบัดก็จะช่วยเสริมตรงนี้ด้วย เสริมในด้านการปรับความคิด พฤติกรรม อารมณ์” กรณีที่ผู้ป่วยทานยาแล้วแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียง ให้หยุดยาและกลับไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเปลี่ยนหรือปรับขนาดยา แต่หากไม่แพ้หรือไม่มีผลข้างเคียง ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเอง เนื่องจากการรักษาโรคทางจิตเวชซึ่งเป็นโรคเรื้อรังต้องทานยาต่อเนื่อง ยาทางจิตเวชกว่าจะออกฤทธิ์เต็มที่ต้องใช้เวลา 2-4 สัปดาห์ ต้องค่อยๆ ติดตามผลว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เมื่อหายดีแล้วก็ยังต้องทานยาต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้พ้นระยะโรค เมื่อพ้นระยะแล้วก็ใช่ว่าจะหยุดยาได้ทันที แต่ต้องค่อยๆ ลดยาลง ขณะที่โรคทางจิตเวชบางโรคต้องกินยาตลอดชีวิต วินัยในการทานยาจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ป่วยและญาติต้องตระหนัก“หลายครั้งที่คนรอบข้างพยายามเข้าไปจัดการ แก้ปัญหา หรือแนะนำ ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของผู้แนะนำโดยไม่ได้เข้าใจปัญหาของผู้ป่วยจริงๆ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญกว่าการแนะนำคือการรับฟัง บางครั้งผู้ป่วยแค่ต้องการคนรับฟังหรือเข้าใจสิ่งที่ต้องการพูดเท่านั้น”อยู่ร่วมกัน สำหรับผู้ที่ต้องอยู่กับผู้ป่วยจิตเวช สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือการปรับทัศนคติ โรคทางจิตเวชจับต้องยาก อธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ยาก หลายครั้งถูกมองว่าเรียกร้องความสนใจหรือแกล้งทำบ้าง คนรอบข้างต้องปรับทัศนคติใหม่ว่ามันคือความเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่ไม่มีใครอยากเป็น ประการต่อมา จิตแพทย์อภิชาติบอกว่า ต้องรับฟังอย่างเข้าใจ หลายครั้งที่คนรอบข้างพยายามเข้าไปจัดการ แก้ปัญหา หรือแนะนำ ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของผู้แนะนำโดยไม่ได้เข้าใจปัญหาของผู้ป่วยจริงๆ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญกว่าการแนะนำคือการรับฟัง บางครั้งผู้ป่วยแค่ต้องการคนรับฟังหรือเข้าใจสิ่งที่ต้องการพูดเท่านั้น ซึ่งอาจได้ผลดีกว่าการแนะนำให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้เสียอีก ประการที่ 3 เฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วย เมื่อเห็นความผิดปกติ ความเปลี่ยนแปลง ดูไม่เป็นคนเดิม ควรพามารับการรักษาหรือการบำบัด เพราะหลายครั้งที่มองข้ามไป ละเลย รู้อีกทีก็อาการรุนแรงเสียแล้ว และประการสุดท้าย เก็บอาวุธหรือสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ให้ห่างจากผู้ป่วย เพราะอารมณ์เป็นสิ่งที่ไว เมื่อมันผุดขึ้นมาโดยไม่เท่าทัน อาจนำไปสู่กระทำที่ไม่ทันยั้งคิดทั้งต่อตนเองและผู้อื่น หากไม่ใช่กรณีที่หนักหนาจริงๆ ผู้ป่วยจิตเวชสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ เพียงเราปรับทัศนคติ ลดการตีตรา และรับฟัง ก็ไม่ยากนักที่เราจะเป็นเพื่อนกับผู้ป่วยจิตเวช

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 เช่าบ้าน แต่ไม่จ่าย ผู้ให้เช่าปิดห้องเลยได้ไหม

สวัสดีครับฉบับนี้ ผมขอเขียนถึงเรื่องสัญญาเช่า เพราะตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป หากทุกท่านติดตามข่าวกันจะทราบว่า สคบ. ได้ออกประกาศฉบับหนึ่ง เพื่อคุมธุรกิจเช่าอาคารเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีประโยชน์กับผู้บริโภคหลายประการ ทั้งเรื่องเงินประกันค่าเช่าที่เก็บล่วงหน้าได้ไม่เกินหนึ่งเดือน ผู้เช่าเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าได้โดยทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า 30 วัน  ค่าน้ำค่าไฟที่ต้องคิดตามจริง  ทำสัญญาเช่าแล้วต้องส่งมอบสัญญาให้ผู้เช่า ห้ามคิดค่าต่อสัญญา เมื่อเลิกสัญญาหรือสัญญาเช่าสิ้นสุด เงินประกันต้องคืนภายใน 7 วัน เป็นต้น  นอกจากนี้  ยังมีอีกเรื่องที่ประกาศดังกล่าวได้คุ้มครองผู้เช่า เพื่อแก้ปัญหาการเข้าไปปิดกั้นการใช้ห้องเช่า หรืออาคาร ซึ่งเมื่อย้อนไปก่อนมีกฎหมายนี้ เคยมีเรื่องที่ทะเลาะกันจนขึ้นศาลฏีกา และศาลเคยตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วว่า ในกรณีที่ผู้เช่าบ้านไม่ชำระค่าเช่าและไม่ยอมย้ายออกจากบ้านเช่า ผู้ให้เช่าไปล็อกกุญแจไม่ให้ผู้เช่าเข้าบ้าน หรือบางทีก็งัดบ้านแล้วทำการขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกไป โดยผู้ให้เช่าไม่ทราบ เช่นนี้ ถือเป็นความผิดฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา คำพิพากษาฎีกาที่ 1/2512 “การที่เจ้าของบ้านใช้ไม้กระดานตีขวางทับประตูบ้านเช่า ที่ผู้เช่าได้ครอบครองอยู่ และโต้แย้งสิทธิตามสัญญาเช่า ทำให้ผู้เช่าเข้าบ้านไม่ได้ ถือว่าการกระทำของเจ้าของบ้านเป็นการล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครองของผู้เช่า อันเป็นการรบกวนการครอบครองบ้านของผู้เช่า เจ้าของบ้านจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี”ดังนั้น กรณีผู้เช่าผิดนัดค่าเช่า ผู้ให้เช่าจึงไม่มีสิทธิไปปิดกั้น ล็อกกุญแจ หรือไปขนย้ายทรัพย์สินผู้เช่า แต่ต้องไปใช้สิทธิทางศาล บอกเลิกสัญญาและฟ้องขับไล่ ซึ่งจากฏีกาข้างต้น เห็นได้ว่าเป็นการบุกรุกเพราะอยู่ระหว่างที่สัญญาเช่ายังมีผลใช้บังคับ ผู้เช่าจึงมีสิทธิครอบครองใช้สอยทรัพย์สินที่เช่าอยู่  แต่หากเป็นกรณีสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ศาลฏีกา ก็ได้ตัดสินไว้เช่นกันว่า ต้องไปใช้สิทธิทางศาล เพราะถึงแม้จะมีการตกลงกันไว้ในสัญญาเช่าโดยชัดแจ้งว่าเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ผู้ให้เช่ามีสิทธิกลับเข้าครอบครองพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกไปได้ แต่อย่างไรก็ดีการที่ผู้ให้เช่ากลับเข้าครอบครองพื้นที่เช่า และขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกไปด้วยตนเอง ทำให้ผู้เช่าได้รับความเสียหาย การกระทำของผู้ให้เช่า จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เช่า คำพิพากษาฎีกาที่ 3379/2560 เหตุละเมิดในคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าเข้าปิดร้านขับไล่โจทก์ผู้เช่าแล้วเอาคืนการครอบครองพื้นที่ และขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินออกจากพื้นที่ที่โจทก์เช่าและนำออกขายได้ราคาต่ำ นับแต่สิ้นสุดสัญญาเช่าและระยะเวลาที่ผ่อนผันให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินออกไป โจทก์ไม่ยินยอมออกไปจากพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายทรัพย์สินไป ถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าแล้วแต่ต้น ดังนี้แม้ตามข้อสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์จะให้สิทธิจำเลยที่หนึ่งกลับเข้าครอบครองพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกไปได้ก็ตาม แต่การบังคับแก่บุคคลโดยการขับไล่หรือขนย้ายออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเมื่อมีการโต้แย้งสิทธิ จำเลยที่ 1 ต้องใช้สิทธิฟ้องร้องทางศาลและดำเนินการบังคับคดีโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 ทวิ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ดำเนินการแต่กลับไปเข้าครอบครองพื้นที่เช่า หรือกระทำในสิ่งที่จำเลยที่ 1 เรียกว่าเข้าขอคืนพื้นที่ และเวลาต่อมายังได้ไปขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกไปโดยตนเองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ตัดกระแสไฟฟ้าโจทก์ก็นำแบตเตอรี่มาใช้เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างและใช้เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าและได้ซื้อน้ำแข็งมาให้ความเย็นเพื่อรักษาสินค้า การกระทำของฝ่ายโจทก์แสดงออกถึงความดื้อดึงที่คิดแต่จะอยู่ในทรัพย์สินที่เช่าต่อไป ไม่คำนึงถึงพันธสัญญาที่ตนได้ทำไว้และไม่คำนึงถึงสิทธิประโยชน์ตลอดถึงความเดือดร้อนของอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองพื้นที่เช่าและขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินของโจทก์ออกไปจะเป็นการละเมิด แต่ถึงอย่างไรการกระทำก็ยังพออาศัยอ้างอิงไปตามข้อสัญญาจากเบาไปหาหนัก ซึ่งสำหรับสินค้าและทรัพย์สินในร้านของโจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะขนย้ายไปเก็บรักษาไว้ ในเวลาต่อมานั้นจำเลยที่ 1 ก็ได้มีหนังสือถึงฝ่ายโจทก์ให้โอกาสขนย้ายไปได้ และสำหรับการขายสินค้าและทรัพย์สินก็ปรากฏว่าจำเลยที่หนึ่งได้กระทำโดยการขายทอดตลาดมีลักษณะเปิดเผย แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คอยดูแลติดต่อสอบถามและรับเอาสินค้ารวมถึงทรัพย์สินคืนหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขายทอดตลาดนั้น อย่างไรจำเลยที่ 1 จึงขายทอดตลาดทรัพย์สินไป พฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าเป็นกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เพราะความผิดของโจทก์ผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 442 โดยให้นำบทบัญญัติมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม  ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ก็มีการกำหนดไว้ชัดเจนในเรื่องนี้ว่า ผู้ให้เช่าจะทำสัญญาเช่า ต้องไม่ใช้ข้อสัญญาในทำนองว่าผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิกระทําการปิดกั้นไม่ให้ผู้เช่าเข้าใช้ประโยชน์อาคารหรือมีสิทธิเข้าไปในอาคารเพื่อยึดทรัพย์สิน หรือขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่า ในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกี่ยวกับการเช่าอาคาร  หรือท่านผู้อ่าน เจอสัญญาเช่าที่เขียนในลักษณะเช่นนี้ ถือว่าข้อสัญญาดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับนอกจากคำพิพากษาข้างต้นจะรับรองสิทธิของผู้เช่า และสิทธิในการเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดแล้ว ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ก็มีการกำหนดไว้ชัดเจนในเรื่องนี้ว่า ผู้ให้เช่าจะทำสัญญาเช่า ต้องไม่ใช้ข้อสัญญาในทำนองว่าผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิกระทําการปิดกั้นไม่ให้ผู้เช่าเข้าใช้ประโยชน์อาคารหรือมีสิทธิเข้าไปในอาคารเพื่อยึดทรัพย์สิน หรือขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่า ในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกี่ยวกับการเช่าอาคาร  หรือท่านผู้อ่าน เจอสัญญาเช่าที่เขียนในลักษณะเช่นนี้ ถือว่าข้อสัญญาดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับ และสามารถใช้สิทธิร้องเรียน ต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือ สคบ. ให้ดำเนินการตรวจสอบสัญญาเช่าดังกล่าวได้ เพราะการใช้ข้อสัญญาที่ขัดต่อประกาศ สคบ. ดังกล่าว มีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับครับ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 สะสมแต้มครบ แต่แลกของไม่ได้

หนึ่งในกลยุทธ์ส่งเสริมการขายที่โดนใจผู้บริโภคมากที่สุด หนีไม่พ้นวิธีการสะสมแต้มเพื่อแลกรับของรางวัล ซึ่งนอกจากจะทำให้ธุรกิจนั้นๆ มียอดขายที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่รู้สึกว่าเงินที่เสียไป สามารถสร้างประโยชน์กลับคืนมาได้อีกอย่างไรก็ตามกลยุทธ์ดังกล่าวอาจสร้างปัญหาได้ ในกรณีที่ผู้บริโภคสะสมแต้มครบ และทำตามกติกาที่กำหนดไว้ทุกอย่าง แต่กลับแลกรับของรางวัลไม่ได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณพชรเข้าร่วมกิจกรรมสะสมดาว (แต้มที่จะได้รับหลังการซื้อสินค้า) เพื่อแลกรับของรางวัล ของห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส ซึ่งภายหลังเขาสะสมครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ และต้องการแลกรับของรางวัลเป็นหมอนสุขภาพ กลับได้รับการแจ้งจากพนักงานว่า ระหว่างนี้สินค้าดังกล่าวหมด แต่สามารถเขียนใบจองไว้ก่อนได้ ซึ่งหากสินค้ามาถึงจะโทรศัพท์ติดต่อกลับไปหลังผ่านไปนานหลายสัปดาห์ และใกล้ครบกำหนดวันที่สามารถแลกรับของรางวัลได้ คุณพชรก็ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากพนักงานของห้างฯ ดังกล่าวแต่อย่างใด เขาจึงทดลองไปสอบถามโดยตรงกับพนักงานอีกครั้ง ซึ่งได้รับการตอบกลับมาว่า สินค้าหมดและหมดเวลาแลกแล้ว ถึงจะมีใบจองไว้ก็หมดสิทธิเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณพชรจึงไม่พอใจมากและนำเรื่องราวดังกล่าวไปโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งหลังจากนั้นได้มีผู้บริโภครายอื่นๆ จำนวนมาก ได้เข้ามาแสดงคิดเห็นว่าประสบปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน ส่งผลให้คุณพชรส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพราะต้องการให้ห้างฯ แสดงความรับผิดชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีดังกล่าว พบว่า ผู้ร้องทำตามกติกาที่ทางห้างฯ ระบุไว้ แต่ไม่สามารถแลกรับของรางวัลได้ตามโปรโมชั่น เนื่องจากสินค้าหมด ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณา มาตรา 22 กำหนดไว้ว่า การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวมโดยให้ข้อความดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม (1) ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง(2) ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง หรือไม่ก็ตาม(3) ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ(4) ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน(5) ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งตาม (5) ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2534) นั้น กำหนดให้ ข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ระบุหรือประกาศว่า ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีการประกวดชิงรางวัล โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดดังต่อไปนี้ ถือเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค(ก) หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข หรือข้อกำหนดในการเสี่ยงโชคหรือในการประกวดชิงรางวัล(ข) วัน เดือน ปีที่เริ่มต้นและสิ้นสุดของการจัดให้มีการเสี่ยงโชคหรือการประกาศชิงรางวัล เว้นแต่กรณีที่เป็นการโฆษณาทางวิทยุ โทรทัศน์ ข้อความโฆษณาที่กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการเสี่ยงโชคหรือการประกวดชิงรางวัลนั้นจะให้ปรากฏในส่วนที่เป็นภาพหรือในส่วนที่เป็นเสียงอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ แต่ข้อความโฆษณาที่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดนั้นจะต้องให้ปรากฏทั้งในส่วนที่เป็นภาพและส่วนที่เป็นเสียง(ค) ประเภทและลักษณะของของแถมพก หรือรางวัลจำนวนและมูลค่าของของแถมพกหรือรางวัลแต่ละสิ่ง หรือมูลค่ารวมในแต่ละประเภท เว้นแต่กรณีที่การโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่ระบุมูลค่าของของแถมพกหรือรางวัล แต่ละสิ่ง หรือมูลค่ารวมในแต่ละประเภทก็ได้   แต่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องระบุมูลค่ารวมของแถมพกหรือรางวัลทุกประเภทไว้แทน(ในกรณีที่สิ่งซึ่งจัดเป็นของแถมพกหรือรางวัลเป็นสิ่งซึ่งมีมูลค่าที่ผู้บริโภคอาจทราบได้โดยทั่วไป  และข้อความโฆษณานั้นได้แสดงให้ผู้บริโภคทราบถึงประเภทและลักษณะของของแถมพกหรือรางวัลไว้โดยชัดแจ้งแล้ว  ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่ระบุมูลค่าของของแถมพกหรือรางวัลนั้นไว้ก็ได้)(ง) เขตหรือถิ่นที่มีการจัดให้มีการเสี่ยงโชคหรือการประกวดชิงรางวัล เว้นแต่กรณีที่เป็นการจัดให้มีขึ้นทั่วราชอาณาจักร(จ) วัน เดือน ปี เวลา และสถานที่ซึ่งกำหนดไว้สำหรับการทำการเสี่ยงโชคหรือการตัดสินการประกวดชิงรางวัล(ฉ) สื่อโฆษณาที่จะใช้ในการประกาศรายชื่อผู้ได้รับของแถมพกหรือรางวัลจากการเสี่ยงโชคหรือการประกวดชิงรางวัลดังนั้นจากเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ การที่ห้างฯ ไม่ระบุจำนวนของรางวัลไว้ให้ผู้บริโภคทราบ และอ้างว่าสินค้าหมดนั้น อาจเข้าข่ายการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งผู้บริโภคสามารถร้องเรียนขอให้มีการตรวจสอบได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 ชายไม่จริง หญิงแท้ : ได้เวลาประกาศเจตนารมณ์ของกะเทย

ในท่ามกลางเพศสภาพที่สังคมจัดแบ่งมนุษย์ออกเป็นเพศหญิงกับเพศชายนั้น “กะเทย” เป็นกลุ่มวัฒนธรรมที่ถูกพินิจพิจารณาว่า เป็นเพศที่แปลก แตกต่าง หรือแม้แต่มีวัตรปฏิบัติที่ผิดแผกไปจากเพศสภาพที่สังคมพึงยอมรับได้ จนถูกกดทับให้กลายเป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อยของสังคมไป แต่ข้อที่น่าคิดก็คือ แม้ในเชิงปริมาณแล้วชุมชนวัฒนธรรมย่อยของกะเทยอาจมิใช่กลุ่มสังคมเล็กๆ ที่ผู้คนรับรู้กันทั่วไป แต่ทว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่และยังมีอำนาจเข้ามากำกับความเป็นไปของระบบสังคมเศรษฐกิจของไทยเสียด้วยซ้ำ ไม่เว้นแม้แต่การเข้ามามีบทบาทและอำนาจในสถาบันสื่อสารมวลชน อย่างที่ปรากฏอยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ชายไม่จริง หญิงแท้”  เงื่อนปมของเรื่องเริ่มต้นเมื่อ “หญิงแท้” สู้ชีวิตที่มีภูมิลำเนาจากต่างจังหวัดอย่าง “ริน” ต้องจับพลัดจับผลูมาเจอกับ “ชายไม่จริง” ผู้เป็นกะเทยร่างท้วมดีกรีนางโชว์ตัวแม่อย่าง “เคน” ที่พัฒนาการของเรื่องทำให้ความขัดแย้งของทั้งคู่ในตอนต้นกลายมาเป็นความเข้าใจและมิตรภาพในฉากจบเรื่อง  ในขณะที่เปิดฉากมา “หญิงแท้” อย่างรินเองต้องมีเหตุตกงาน เพราะบริษัทที่เธอรับผิดชอบทำงานอยู่เกิดล้มละลาย พร้อมกับทิ้งภาระหนี้สินมากมายที่มิเธออาจปลดได้หมด ส่วนตัวละคร “ชายไม่จริง” อย่างเคน ก็มีสถานะไม่แตกต่างกัน เมื่ออยู่ในสภาวะนางโชว์รุ่นเก่าและสังขารที่ร่วงโรย เคนก็มีอันต้องระเห็จต้องออกจากงานมาคลุกฝุ่นอยู่หน้าคลับนางโชว์ เมื่อความขัดสนทางเศรษฐกิจกลายเป็นปัญหาที่ไม่เข้าใครออกใคร และเป็นปัญหาร่วมกันของปุถุชนโดยไม่จำแนกเพศวิถีว่าคนๆ นั้นจะเป็น “ชายไม่จริง” หรือ “หญิงแท้” รินกับเคนก็เลยได้โคจรมาพบและกลายเป็นเพื่อนผู้ร่วมอยู่ในชะตากรรมอันจนตรอกเหมือนกัน เพราะเคนมีสถานภาพเป็นนางโชว์ที่ตกกระป๋องไปจากวงการแล้ว เคนจึงสวมบทบาทใหม่เป็น “เจ๊เคน” เจ๊ดันที่ตัดแต่งแปลงโฉมให้รินปลอมตัวเป็น “ซิน ศรัณยา” นางโชว์กะเทยวัยสะพรั่ง เพื่อเข้าประกวดในเวทีแข่งขันของสาวประเภทสอง และจะได้เงินรางวัลมาจุนเจือปากท้องทางเศรษฐกิจของทั้งคู่ และต่อมา หลังจากรินในร่างกะเทยปลอมของซินได้คว้ารางวัลชนะเลิศในเวที Miss Queen Beauty ของชาวสีม่วงแล้ว รินก็ได้ก้าวขึ้นเป็นดารานางเอกกะเทย โดยมีเจ๊เคนเป็นผู้จัดการส่วนตัว และมี “ภาค” ผู้กำกับหนุ่มของบริษัทละคร “เสือทะยานฟ้า” มารับหน้าที่ผู้กำกับละครเรื่องแรกของรินที่ชื่อว่า “นางงิ้ว” ในมุมหนึ่ง เมื่อ “หญิงแท้” อย่างรินได้ก้าวเข้ามาอยู่ในชุมชน “ชายไม่จริง” นั้น ก็นำไปสู่ความอลหม่านมากมายที่ทั้งรินและเคนก็ต้องร่วมกันแสดงบทโกหกตัวละครรอบตัว ไล่เรียงตั้งแต่ผู้เป็นแม่และน้าอย่าง “สุมน” และ “หทัย” ผู้จัดและออร์แกไนเซอร์กะเทยชื่อดังอย่าง “พี่แทนนี่” ตัวละครทั้งหลายในกองถ่ายละคร ไปจนถึงแม้แต่กับบรรดาผู้ชมและแฟนคลับของซิน ศรัณยา ที่รินก็ต้องสร้างเรื่องตบตาอยู่เป็นระยะๆ  แต่ในอีกมุมหนึ่ง เมื่อได้เข้ามาใช้ชีวิตในอีกแวดวงของเพศวิถีที่ต่างออกไป ก็เปิดโอกาสให้รินเองได้เรียนรู้ความเป็นจริงอีกด้านของเพื่อนๆ ผู้ต่างเพศวิถีที่รินไม่เคยสัมผัสมาก่อนในชีวิต ในชุมชนของกะเทยนั้น แท้จริงแล้วก็ดูไม่แตกต่างไปนักจากชีวิตของชายหญิงรักต่างเพศทั่วไป ทั้งนี้ หากรักโลภโกรธหลงเป็นอคติที่หล่อเลี้ยงจิตใจปุถุชนทั้งหลาย กะเทยเองก็มีทั้งโลภะโทสะโมหะไม่ต่างกันเลย เพียงแต่ว่า ด้วยเป็นวิถีปฏิบัติแบบกลุ่มคนชายขอบทางเพศวิถี ชุมชนแห่งนี้จึงก่อรูปก่อร่างสร้างอัตลักษณ์เฉพาะบางอย่างของตนขึ้นมา ในลำดับแรกสุด เมื่อ “หญิงแท้” ต้องเข้ามาสวมบทบาทเป็น “ชายไม่จริง” ซินก็ต้องปรับแต่งบุคลิกจริตจะก้านเสียใหม่ ตั้งแต่ดัดเสียงและขับเน้นวิธีพูดให้ต่างออกไปจากเดิม แต่งหน้าแต่งตัวให้ดูจัดจ้านกว่าที่เคยเป็นมา หรือเติมแต่งจริตวาจาแบบจิกๆ กัดๆ ให้มากขึ้น เหล่านี้เป็นรูปแบบวัฒนธรรมย่อยที่สาวประเภทสองได้สร้างอัตลักษณ์เฉพาะของคนกลุ่มนี้ขึ้นมา ในลำดับถัดมา ความขัดแย้งกันบนผลประโยชน์เช่นที่ “นนท์” กะเทยเจ้าของไนท์คลับ ที่คอยตามราวีทั้งซินและเจ๊เคนทุกวิถีทาง ไปจนถึง “อิทธิ” ที่หลงเสน่ห์และหวังจะล่วงละเมิดทางเพศต่อซิน โดยไม่รู้ความลับว่าเธอเป็น “หญิงแท้” ปลอมตัวมา ก็สะท้อนชัดเจนถึงการเอารัดเอาเปรียบกันด้วยมิจฉาทิฐิในชุมชนเพศที่สาม และเมื่อซินกับภาคได้แอบคบหาปลูกต้นรักกัน “หญิงแท้” อย่างรินก็พบว่า ความรักในหมู่เพศทางเลือกก็เกิดขึ้นได้เป็นปกติทั่วไป หากแต่การไม่ยอมรับของสังคมทำให้ความรักกลายเป็นเรื่องซ่อนเร้น แบบเดียวกับผู้จัดการดารากะเทยอย่าง “อ๊อฟ” ที่ต้องมีรักแบบหลบๆ ซ่อนๆ กับนักแสดงหนุ่มอย่าง “ชาย” นั่นเอง แม้จะมีความรักขึ้นมา แต่เพราะรักของเพศเดียวกันถูกมองว่าผิดไปจากจารีตปฏิบัติอันดี สายตาของสังคมจึงใช้อำนาจเลือกปฏิบัติและกดทับความรักแบบนี้เอาไว้ ไม่ต่างจากประโยคที่ “แองจี้” ใช้วาจาเชือดเฉือนซินที่แย่งชายหนุ่มอย่างภาคไปว่า “…คุณเป็นกะเทย เวลาอดอยากคงแบ่งกันกินแบ่งกันใช้กันจนชิน แต่สำหรับผู้หญิง ไม่มีใครใจกว้างพอที่จะให้คนอื่นมายุ่งกับของของตัวเองหรอกนะ...”  อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความขัดแย้งกันบ้างหรือถูกเอารัดเอาเปรียบในสายตาของสังคมอยู่ตลอดเวลา แต่รินก็พบว่า มิตรภาพที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในชุมชนของเพศทางเลือกนี้เอง ที่ขับเคลื่อนให้ชีวิตกะเทยที่ว่ายวนในพื้นที่ดังกล่าวดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ซินกับเจ๊เคนได้ถักทอช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตั้งแต่ต่างคนต่างตกงานมาด้วยกันแต่ต้นเรื่อง ไปจนถึงบทบาทของพี่แทนนี่ที่คอยผลักดันสนับสนุนซินเข้าสู่แวดวงบันเทิงได้ทัดเทียมกับบรรดา “ชายจริงหญิงแท้” ก็บอกเป็นนัยว่า ถ้ากลุ่มวัฒนธรรมย่อยของเพศที่สามจะสามารถมีอำนาจและศักดิ์ศรีในวงสังคมได้ ก็ต้องด้วยสูตรที่ว่า “รวมกันกะเทยอยู่” และต้อง “รวมกันอยู่ด้วยความจริงใจ” เท่านั้น  เฉกเช่นประโยคที่พี่แทนนี่พูดกับซินด้วยความผิดหวัง เมื่อความลับเรื่องการปลอมตัวถูกเปิดเผยออกมาว่า “มันจะมีสักกี่คนที่ได้ยินคำว่ากะเทยแล้วไม่สะดุดด้วยอคติ ถ้าซินเป็นนางเอกละครที่ประสบความสำเร็จ เขาก็จะมองถึงความสามารถของพวกเราเสียที...” กับการก่อตัวของชุมชนวัฒนธรรมย่อยของเพศที่สาม และภาพสะท้อนการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งทั้งความจริงใจ มิตรภาพ และการเกื้อกูลกันของตัวละครเพศทางเลือกทั้งหลาย ที่รินได้เรียนรู้และมาใช้ชีวิตร่วมในชุมชนแห่งนี้นั้น คงบอกกับเราๆ ถึงเจตนารมณ์ที่พวกเขาประกาศเอาไว้ว่า ถึงเวลาแล้วที่ชุมชนของ “ชายไม่จริง” จะดำรงอยู่ได้และดำเนินต่อไปอย่างมีอำนาจและศักดิ์ศรีไม่ต่างจากบรรดา “ชายจริงหญิงแท้” ในสังคม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 สิทธิของผู้ซื้อบ้านที่ก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญา

ผมจะพาทุกท่านมารู้จักกับเรื่องสิทธิของผู้บริโภคอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในสัญญา โดยขอยกกรณีตัวอย่างของการทำสัญญาซื้อขายบ้านนะครับ ก่อนทำสัญญาใดๆ ก็ตามเราต้องตรวจดูข้อสัญญาให้ดีๆ เพราะสัญญาที่กำหนดขึ้นนั้น ผู้ขายเขาร่างมาให้ เราต้องดูให้ดีว่ามีข้อใดที่เอาเปรียบเราหรือไม่ หากเห็นข้อใดไม่สมเหตุผล ก็คุยกันและขอให้แก้ไขได้นะครับเพราะเป็นสิทธิของเราในฐานะผู้บริโภคครับ เพราะเมื่อทำสัญญาไปแล้วจะเกิดสิทธิและหน้าที่ทั้งผู้ซื้อผู้ขายต้องปฏิบัติให้เป็นตามสัญญา เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเรื่องของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้าน ซึ่งตอนไปทำสัญญาก็แน่นอนว่า บ้านยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง หลังทำสัญญาไปแล้ว ก็จ่ายเงินผ่อนบ้านเรื่อยมา แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ ปรากฏว่า กลับจ่ายเงินเขาไม่ครบ จ่ายไม่ตรงเวลา ทั้งที่สัญญาก็ระบุไว้ว่าต้องจ่ายเมื่อไหร่ ส่วนผู้ขายก็สร้างบ้านไม่เสร็จตรงตามกำหนด เรียกว่าทั้งสองฝ่ายไม่ปฏิบัติให้ตรงตามสัญญากันเลย ผู้บริโภคท่านนี้เห็นบ้านสร้างไม่ยอมเสร็จสักที ก็ไปฟ้องศาลขอเรียกเงินค่างวดคืน ปัญหาที่เกิดคือ แบบนี้ตัวเองก็ผิดนัดเขาไม่ชำระเงินให้ตรงตามเวลาที่ตกลง จะมีสิทธิทวงเงินคืนได้หรือไม่  ซึ่งสุดท้ายเรื่องก็ไปสู่ศาลฎีกา และศาลก็ได้ตัดสินให้ผู้ขายคืนเงินแก่ผู้บริโภค เนื่องจากก่อนฟ้อง ผู้ขายมีหนังสือทวงถามให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อชำระค่างวด แต่ผู้ซื้อไม่ยอมจ่ายและมีหนังสือเลิกสัญญาไปถึงผู้ขายเช่นกัน ศาลมองว่าทั้งสองฝ่ายต่างต้องการเลิกสัญญาต่อกัน จึงมีผลให้สัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน ซึ่งตามกฎหมาย ผลของการเลิกสัญญา ทำให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องกลับสู่ฐานะเดิม ดังนั้น ผู้ขายจึงต้องคืนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระทั้งหมดให้แก่ผู้บริโภคพร้อมดอกเบี้ย คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6327/2549           โจทก์มิได้ชำระเงินค่างวดตรงตามเวลาและครบถ้วนในกำหนดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนจำเลยก็มิได้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในกำหนดวันที่โจทก์ต้องชำระเงินค่างวด งวดสุดท้ายและจำเลยตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ จึงถือว่าต่างฝ่ายต่างมิได้ถือกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นสาระสำคัญต่อไป หนี้ที่ต่างต้องชำระต่อกันจึงไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนต่างฝ่ายย่อมเรียกอีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลันโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคแรก          สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนและล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้มาแล้วประมาณ 10 เดือน ดังนั้นหนังสือบอกกล่าวของจำเลยที่ทวงถามให้โจกท์ชำระเงินค่างวดที่ค้างเพื่อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้น จำเลยจะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ด้วยว่าจำเลยพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิไม่ชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยยังก่อสร้างบ้านไม่แล้วเสร็จในขณะที่มีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ค่างวดที่ค้าง จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะที่พร้อมที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนให้แก่โจทก์ได้ การที่โจทก์ไม่ชำระเงินค่างวดที่ค้างให้แก่จำเลยจึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่โจทก์ชำระแล้ว          หลังจากที่จำเลยมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระค่างวดที่ค้างแล้ว โจทก์ไม่ชำระแต่ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย และต่อมาจำเลยก็ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์อีก ดังนี้เท่ากับคู่สัญญามีเจตนาเลิกสัญญาต่อกัน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ในคดีนี้ มีประเด็นน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต้องรู้หน้าที่ของตน ผู้ขายรู้ว่าตนมีหน้าที่ต้องสร้างบ้านให้เสร็จ และโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินให้โจทก์ แต่ปรากฎว่าในขณะมีหนังสือแจ้งให้โจทก์จ่ายเงินค่างวดบ้าน ตนเองก็ยังไม่พร้อมจะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินให้โจทก์ แสดงว่าจำเลยผู้ขายไม่สามารถปฏิบัติตามหน้าที่ของตนตอบแทนตามสัญญา  ดังนั้น การที่โจทก์ยังไม่จ่ายเงินค่างวดจึงยังไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา ผลที่ตามมาคือ ผู้ขายไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและจะริบเงินของโจทก์ไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 204 พ่อยุ่งลุงไม่ว่าง : แล้วใครจะปั้นวัวปั้นควายให้ลูกหลานเล่น?

จากอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยได้มอบหมายภารกิจให้ครอบครัวกลายเป็นสถาบันหลักและสถาบันแรกที่ทำหน้าที่อบรมบ่มเพาะดูแลเด็กและเยาวชน ด้วยเหตุผลเบื้องต้นก็เป็นเพราะว่า ช่วงเวลาและพื้นที่ที่เด็กๆ ใช้ชีวิตอยู่ด้วยมากที่สุดก็หนีไม่พ้นในปริมณฑลของสถาบันครอบครัว เมื่อครอบครัวเป็นหน่วยที่ประกอบขึ้นด้วยพ่อแม่พี่น้อง ปู่ยาตายาย ลุงป้าน้าอา และเครือญาติอีกมากมาย สมาชิกที่ใกล้ชิดชีวิตของเยาวชนนี้เองที่ต้องมีภาระรับผิดชอบขับเคลื่อนชีวิตของเด็กๆ ให้เดินไปข้างหน้าตามที่สังคมคาดหวังไว้ แต่ทว่า คำถามจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสมาชิกผู้ใหญ่ในบ้านไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวให้กับลูกๆ หลานๆ ได้แล้ว ผลต่อการเติบโตของเด็กตามความคาดหวังของสังคมจะเป็นเช่นไร ก็คงคล้ายๆ กับชีวิตของ “น้องกาโม่” ที่เกิดมาในครอบครัวที่ทั้ง “พ่อเองก็ยุ่ง” แถม “ลุงก็ยังไม่ว่างอีก” กาโม่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าหากครอบครัวไม่อาจทำหน้าที่ที่สังคมคาดหวังได้แล้ว จะเกิดปัญหาอันใดบ้างกับเด็กๆ ที่จะเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติ ปัญหาของเด็กน้อยกาโม่เริ่มต้นเมื่อ “โต๊ด” และ “พาย” พ่อแม่วัยใสที่มีลูกตั้งแต่วัยเรียน แต่ไม่กล้าบอกกับทางบ้าน เพราะกลัวว่าตนจะถูกตัดออกจากกองมรดกของตระกูล จึงนำกาโม่มาฝากไว้ให้ “เต็ง” พระเอกของเรื่องผู้มีศักดิ์เป็นลุงคอยเลี้ยงดู และทั้งคู่ก็ตัดสินใจทิ้งลูกน้อยเพื่อไปเรียนต่อเมืองนอก ด้วยอาชีพการงานของเต็งที่เป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ที่แทบจะไม่มีเวลาว่างเอาเสียเลย กอปรกับภาระใหม่ที่ต้องมาสวมบทบาท “คุณพ่อจำเป็น” แทนน้องชาย ลุงเต็งจึงไปติดต่อเนิร์สเซอรี และได้พบกับ “ชิดดาว” ซึ่งเขาไม่เพียงแต่จ้างให้เธอมาช่วยเลี้ยงดูกาโม่เท่านั้น แต่ชิดดาวยังกลายเป็น “รักแรกพบ” ที่เต็งสะดุดตกหลุมรักเมื่อแรกเจอ ความใกล้ชิดระหว่างเต็งกับชิดดาวค่อยๆ ก่อตัวเป็นความรักขึ้นมา ยิ่งเมื่อ “โต้” แฟนหนุ่มของชิดดาวเกิดนอกใจเลือกไปคบหากับ “ละออง” ผู้จัดการดารา เพื่อหวังใช้หล่อนเป็นทางลัดหรือสะพานไต่เต้าอยู่ในแวดวงบันเทิงด้วยแล้ว ชิดดาวจึงเลือกที่จะหันมาคบหาดูใจกับเต็งแบบเต็มตัว ลุงเต็งซึ่ง “ยุ่ง” อย่างมากกับหน้าที่การงาน ก็จึงยิ่งต้อง “ยุ่ง” กับภาระแห่งหัวใจเพิ่มขึ้นไปอีก แม้ว่าความรักระหว่างเต็งกับชิดดาวจะดำเนินไปได้ด้วยดีก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งอุปสรรคขวากหนามใดๆ เลย เพราะละครได้ผูกเรื่องเอาไว้ตามสูตรตำราที่ว่า หากตัวละครเอกจะ “lucky in love” แล้ว พวกเธอและเขาก็ไม่ควรจะ “lucky in game” ได้ง่ายนัก ฉะนั้น ในฟากของเต็งเองนั้น โต้ก็คือตัวละคร “ศัตรูหัวใจ” ที่เข้ามาขัดขวางและคอยทำตัวเป็น “สุนัขหวงก้าง” ราวีทุกวิถีทางที่จะเขี่ยเต็งออกไปจากชีวิตของชิดดาว และกลั่นแกล้งเขาในหน้าที่การงานด้วยการถอดรายการโทรทัศน์ที่เต็งและเพื่อนๆ รับผิดชอบอยู่ ให้หลุดออกไปจากผังของสถานี เมื่อปัญหาการงานรุมเร้าเข้ามา เราจึงเห็นภาพฉากที่หลายๆ ครั้ง ลุงเต็งก็พกพาเอาความหงุดหงิดจากนอกชายคาเข้ามาระบายออกในพื้นที่ของบ้าน และดุว่าหลานน้อยกาโม่ ที่ดึงดื้อตามประสาเด็กด้วยอยากจะเรียกความสนใจจากคุณลุงนั่นเอง ในขณะที่ทางฟากของชิดดาวนั้น ปัญหาที่ต้องเผชิญหน้ากับคำข่มขู่ของละอองที่หึงหวงไม่อยากให้เธอเข้าไปพัวพันกับชีวิตของโต้ ทำให้ชิดดาวเลือกตัดสินใจทิ้งปัญหารุมเร้าและหลบเร้นตัวเองออกไปจากชีวิตของเต็งและกาโม่ แม้ว่าเต็งจะเคยพูดกับเธอในฐานะคนรักว่า “ผมทุ่มสุดตัว พุ่งชนปัญหามาขนาดนี้ ผมต้องการกำลังใจมากนะครับ...” ก็ตาม ด้วยเหตุที่ผู้ใหญ่ก็เอาแต่สนใจและเล็งเห็นแต่ปัญหาของตนว่าเป็นศูนย์กลางของปัญหาทั้งมวลในโลกนี้ ไม่เพียงแค่ “พ่อที่ยุ่ง” เพราะหายตัวไปกับแม่ตั้งแต่ต้นเรื่อง และ “ลุงที่ไม่ว่าง” เพราะสาละวนแต่จะแก้ปัญหาสารพันในที่ทำงาน แถมซ้ำด้วย “อาที่เอาแต่จะหนีปัญหา” แล้ว คำถามก็คือ ใครกันจะมาทำหน้าที่ “ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกหลานของเรากัน”? เพราะสถาบันครอบครัวไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ตัวละครหน้าใหม่อย่าง “ทอย” ที่เป็นเพื่อนร่วมงานและแอบหลงรักเต็ง ก็กลายมาเป็นตัวกลางใหม่ที่เข้ามาแทรกกลางความสัมพันธ์ระหว่างเต็งกับกาโม่ ในขณะที่ชิดดาวตัดสินใจตีจากเต็งเพื่อหนีปัญหาทั้งปวง ทอยก็ถือโอกาสเข้ามาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคนใหม่ดูแลกาโม่แทนชิดดาวเสียเลย แม้จะมีความรักใส่ใจเด็กน้อยกาโม่อยู่บ้าง แต่ลึกๆ แล้ว ทอยก็มี “ผลประโยชน์” ที่อยากจะช่วงชิงเป็นเจ้าของหัวใจของเต็งให้ได้ เด็กน้อยจึงมิใช่ “เป้าหมาย” ที่ทอยอยากจะทำหน้าที่ฟูมฟักดูแลจริงๆ หากแต่เป็นเพียง “เครื่องมือ” ที่ถูกใช้เพื่อบรรลุ “เป้าหมาย” อันเป็น “ผลประโยชน์แฝงเร้น” ของเธอเท่านั้น  ด้วยมิจฉาทิฐิที่มีอยู่ในจิตใจ ทอยก็เริ่มต้นเป่าหูให้กาโม่เป็นสะพานเชื่อมเธอเข้าไปอยู่ในหัวใจลุงเต็ง เสแสร้งเป็นแม่คนใหม่ที่คอยดูแลกาโม่ และที่สำคัญ เมื่อชิดดาวย้อนกลับมาคบหากับเต็งอีกครั้ง ทอยก็ยุแยงให้กาโม่เกลียดและทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางความรักของคุณลุง  เมื่อเทียบกับบรรดาพ่อแม่ลุงป้าน้าอาหรือสมาชิกครอบครัวด้วยกัน ที่ผลประโยชน์หลักมักจะตั้งต้นที่ตัวของเด็ก ตัวละครแบบทอยก็คือตัวอย่างของคนนอกบ้านที่พร้อมจะเสี้ยมสอนและใช้เด็กเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ของตนเสียมากกว่า  จนมาถึงตอนท้ายของเรื่อง ก่อนที่ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่จะลุกลามจนเกินเยียวยา บรรดาผู้ใหญ่ก็เริ่มหันมาทบทวนตัวเองและเข้าใจว่า บทบาททางสังคมในการดูแลบุตรหลานหาใช่การฝากฝังไว้ในมือของคนอื่น แต่เป็นภารกิจแรกๆ ที่ตนมิอาจเพิกเฉยไปได้  เริ่มจากโต๊ดและพายที่ตัดสินใจกลับมาจากเมืองนอก เพราะได้เข้าใจแล้วว่า พ่อแม่เป็นบุคคลแรกที่ต้องเลี้ยงดูเด็กน้อยโดยชอบธรรมที่สุด ในขณะที่เต็งก็เรียนรู้ว่า ภาระงานนอกบ้านก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องแลกมาด้วยความสุขความทุกข์ของหลานชายตัวน้อยได้เลย หรือแม้แต่ชิดดาวที่ตระหนักว่า การเอาแต่วิ่งหนีปัญหานั้น นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ ได้แล้ว ยังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ลุกลามเป็นไฟไม่สิ้นไม่สุด “พ่อที่เลิกยุ่ง” กับ “ลุงที่เริ่มทำตัวว่างๆ” พร้อมกับ “อาผู้หญิงที่หันหน้ามาสู้กับปัญหา” ก็คือคำตอบแก่เราๆ ว่า อยู่บ้านของตนก็อย่ามัวนั่งนิ่งดูดายเสียเอง เพราะลูกหลานยังรอให้เราคอยอบรมดูแล หาไม่แล้วก็อาจมี “บ่างช่างยุ” จากนอกบ้าน ที่ย่างก้าวเข้ามา “ปั้นวัวปั้นควาย” ให้ลูกๆ หลานๆ เล่นแทนเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 เรื่องราวของน้ำไม่ธรรมดา

ผู้เขียนเคยอ่านบทนำของอาจารย์ประเวศ วะสี ในนิตยสาร หมอชาวบ้าน ฉบับหนึ่งซึ่งแนะนำว่า หลังออกกำลังกายเสียเหงื่อนั้นเครื่องดื่มที่ดีที่สุดคือ น้ำเปล่า ข้อมูลดังกล่าวนี้ตรงกับความรู้ที่เรียนมาในวิชาสรีรวิทยาที่กล่าวประมาณว่า ถ้าไตเราอยู่ในสภาพปรกติ ไตนั้นจะเป็นตัวปรับสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายเอง การดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่นั้นเป็นแค่ช่วยเร่งการปรับระบบให้เร็วขึ้นเท่านั้น ซึ่งอาจมีประโยชน์บ้างในแง่การป้องกันตะคริวของผู้ออกกำลังกายหนัก อย่างไรก็ดีการดื่มเครื่องเกลือแร่นั้น ต้องระวังไม่ให้ได้รับเกลือแร่มากเกิน เพราะอาจทำให้ไตต้องทำงานหนักในการที่ต้องขับเกลือแร่ส่วนเกินออกจากร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตและ/หรือความดันโลหิตสูง เพราะในการออกกำลังกายเพื่อให้เหงื่อออกนั้น จะเกิดการขับเกลือต่างๆ ออกจากร่างกายโดยผ่านทางต่อมเหงื่อ ซึ่งเป็นการลดภาระการทำงานของไตอีกทางหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่มีโรคประจำตัวดังกล่าวจึงควรดื่มแต่น้ำเปล่าหลังออกกำลังกายน่าจะดีที่สุด พอมาถึงปัจจุบันในปีที่เราหวังเป็น ไทยแลนด์ 4.0 ผู้เขียนได้อ่านข้อความในจดหมายอีเล็คทรอนิคของ Time Health เรื่อง Is Hydrogen Water Actually Good For You? เขียนโดย Alice Park เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2017 ซึ่งได้เอ่ยถึงประโยชน์ของน้ำเปล่าดังเช่นที่อาจารย์ประเวศกล่าวว่า เป็นของเหลวที่เหมาะสุดหลังการออกกำลังกาย และให้ประเด็นเพิ่มว่า การดื่มน้ำเปล่านั้นเป็นการเลี่ยงการได้รับน้ำตาลและสารเคมีที่ใช้ในการปรุงแต่งเครื่องดื่มอื่น(ที่ไม่ใช่น้ำเปล่า) เพื่อให้มีรสชาติต่าง ๆ บทความของ Alice Park ได้ตั้งคำถามว่า เมื่อน้ำเปล่านั้นดีต่อสุขภาพแล้ว การเพิ่มก๊าซไฮโดรเจนลงไปในน้ำดื่มนั้นจะช่วยให้มีผลดีต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้เพราะปัจจุบันได้มีคนสมองใสนำเอาน้ำเปล่ามาเติมก๊าซไฮโดรเจนบรรจุกระป๋องขาย โดยอวดอ้างว่า มีคุณความดีต่าง ๆ นานา อีกทั้งผู้ที่เคยไปทัศนาจรในประเทศญี่ปุ่นอาจได้พบโฆษณาว่า มีการผสมก๊าซไฮโดรเจนในบ่ออาบน้ำของร้านทำสปาในหลายพื้นที่ก๊าซไฮโดรเจนผสมน้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ถ้าท่านผู้อ่านลองใช้วลีต่อไปนี้คือ hydrogen fortified drinking water ใน google ก็จะพบบทความจากเว็บต่างๆ ซึ่งเบื่อจะฟันธงว่า จริงหรือไม่ เพราะมันต้องไตร่ตรองกันมากๆ หน่อยเช่น ผู้เขียนขอยกบทความเรื่อง Effects of drinking hydrogen-rich water on the quality of life of patients treated with radiotherapy for liver tumors ซึ่งเป็นบทความวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของ Ki-Mun Kang และคณะ ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Medical Gas Research เมื่อปี 2011 (ผู้อ่านที่สนใจสามารถดาว์นโหลดมาอ่านได้ฟรี) พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ในเครือของ Springer ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างคุ้นชินว่า บทความวิจัยที่มาจากเครือสำนักพิมพ์นี้(ควรจะ) ผ่านการคัดกรองแล้วระดับหนึ่ง จากการเข้าไปหาดูข้อมูลเกี่ยวกับวารสาร Medical Gas Research นั้นพบว่า เพิ่งเปลี่ยนสำนักพิมพ์ในเดือน พฤศจิกายน 2015 จาก BioMed Central ไปเป็น Medknow Publications ผู้เขียนเข้าใจว่า สำนักพิมพ์หลังนี้คงยังอยู่ในเครือข่ายของ Springer  ซึ่งปัจจุบันได้หันมาทำธุรกิจด้านวารสาร Online เหมือนสำนักพิมพ์ใหญ่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง โดยสรุปของบทความนี้กล่าวว่า การให้ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกที่ตับ ดื่มน้ำที่มีการเติมก๊าซไฮโดรเจนเข้มข้นนั้นพบว่าผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดตัวบ่งชี้การออกซิเดชั่นหลังการรับการฉายรังสี แต่อย่างไรก็ตามต้องฟังหูไว้หูแม้จะมีการประกาศที่ท้ายบทความของเหล่าผู้นิพนธ์ (ทั้งจากเกาหลีและญี่ปุ่น) ในทำนองว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนก็ตามคราวนี้ย้อนกลับมาพิจารณางานวิจัยของ Ki-Mun Kang และคณะนั้น เราสามารถพบว่า มีความน่าสงสัยในงานวิจัยนี้หลายประการ โดยเฉพาะวิธีการทำน้ำที่มีก๊าซไฮโดรเจนผสมนั้น เป็นวิธีการที่นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องชาวญี่ปุ่นหลายคนใช้ในการทำน้ำชนิดนี้ขาย เชื่อได้หรือไม่ ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญานคิดดู ซึ่งถ้าพบว่าตนเองมีวิจารณญานไม่พอ เพราะลืมแล้วว่าครูสอนเคมีกล่าวว่าอย่างไร ก็ขอให้ไปถามนักเคมีดูว่า น่าหัวเราะหรือไม่ เนื่องจากผู้วิจัยได้ใช้วิธีแยกน้ำด้วยไฟฟ้าให้ได้เป็นก๊าซไฮโดรเจนออกมาผสมกับน้ำ โดยใช้แท่งโลหะแมกนีเซียมเป็นขั้วอิเล็คโทรด ใครก็ตามที่เรียนระดับมัธยมศึกษาในสายวิทยาศาสตร์คงเคยทำการทดลองดังกล่าวมาแล้ว ผลที่ได้จากการให้กระแสไฟฟ้าชนิดตรงผ่านอิเล็คโทรดลงน้ำนั้น ทำให้โมเลกุลน้ำแตกตัวเป็นก๊าซไฮโดรเจนวิ่งไปที่อิเล็คโทรดขั้วลบ ส่วนก๊าซออกซิเจนวิ่งไปที่อิเล็คโทรดขั้วบวก ก๊าซทั้งสองจะถูกเก็บในภาชนะด้วยวิธีการแทนที่น้ำ เนื่องจากก๊าซไฮโดรเจนและออกซิเจนนั้นละลายน้ำน้อยมากค่าการละลายน้ำของไฮโดรเจนคือ 0.00016 กรัม ต่อน้ำ 100 กรัม ส่วนของออกซิเจนคือ 0.0043 กรัม ต่อน้ำ 100 กรัม (ข้อมูลจาก www.wiredchemist.com/chemistry/data/solubilities-gases) ดังนั้นในบทความงานวิจัยของ Ki-Mun Kang และคณะจึงทำเป็นลืมบอกว่า น้ำที่ให้คนไข้ดื่มนั้นมีไฮโดรเจนเท่าไร(เพราะตัวเลขมันคงน้อยมาก) และทำนองเดียวกันใครก็ตามที่ไปซื้อน้ำกระป๋องที่ผสมก๊าซไฮโดรเจนมาดื่มคงต้องยอมรับในการไม่รู้ว่า ในน้ำนั้นมีก๊าซไฮโดรเจนเท่าไร ผู้เขียนได้พยายามสืบค้นว่า มีงานวิจัยในวารสารวิชาการที่เชื่อถือได้กล่าวถึงก๊าซไฮโดรเจนว่าบำบัดโรคใดได้บ้างหรือไม่ ก็ไม่พบสักบทความวิจัย ยกเว้นผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Pharmacology เมื่อปี 2015 ที่กล่าวเป็นเชิงว่า เมื่อให้คนไข้กิน Acarbose ซึ่งเป็นสารต้านการย่อยแป้ง(ทำหน้าที่เป็นยาต้านเบาหวานชนิดที่ 2) แล้วทำให้เกิดการสร้างก๊าซไฮโดรเจนในร่างกาย ซึ่งมีผลบางประการเกี่ยวกับระบบภูมิต้านทาน ว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะถ้าใครกินอาหารแล้วเกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อนั้นจะพบว่า เป็นเพราะมีระดับก๊าซไฮโดรเจนเพิ่มขึ้นในทางเดินอาหารแล้วรั่วออกมาทางลมหายใจ ซึ่งรวมถึงลมที่ผายออกมาด้วยประเด็นหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของเหล่านักเขียนบนอินเทอร์เน็ตคือ การพยายามอธิบายว่า ก๊าซไฮโดรเจนนั้นมีความสามารถในการรีดิวส์สารที่มีสถานะออกซิไดซ์ เช่น อนุมูลอิสระ ได้ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไฮโดรเจนที่จะทำงานลักษณะนี้ได้นั้นต้องเป็นไฮโดรเจนที่เป็นองค์ประกอบของสารอินทรีย์บางชนิดในผักและผลไม้ ซึ่งระหว่างออกฤทธิ์นั้นต้องอาศัยเอ็นซัมในเซลล์สิ่งมีชีวิตเป็นตัวช่วย เพราะอยู่ๆ สารเหล่านี้จะไม่สามารถทำงานได้เอง สำหรับไฮโดรเจนซึ่งอยู่ในรูปของก๊าซนั้น ถ้าจะสามารถทำหน้าที่เป็นตัวรีดิวส์ในหลอดทดลองได้ ก็ต้องมีแร่ธาตุบางชนิดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วกระบวนนี้ไม่น่าเกิดได้ในเซลล์Alice Park ผู้เขียนบทความเรื่อง Is Hydrogen Water Actually Good For You? ได้เอ่ยชื่อของชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ Dr. Nicholas Perricone ซึ่งมีอาชีพขายน้ำยี่ห้อ Dr. Perricone Hydrogen Water ในราคากระป๋องละ 3 เหรียญดอลล่าร์อเมริกัน มีข่าวกล่าวว่า Dr. Perricone เคยใช้สินค้าของตนเองในการ (อ้างว่า) ช่วยให้พลังงานของเซลล์ผิวหนังของอาสาสมัครดีขึ้น แต่ตัว Dr. Perricone เองก็ตอบไม่ได้ว่า ไฮโดรเจนในน้ำนั้นไปออกฤทธิ์อีท่าไหนในร่างกายมนุษย์ ได้แต่อ้อมแอ้มว่าเป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับเอ็นซัมต้านออกซิเดชั่น อย่างไรก็ตามที่แน่ ๆ คือ คนประเภท Dr. Perricone นั้นรวยแบบไม่รู้เรื่องไปหลายคน ซึ่งอาจรวมถึงคนไทยบางคนในอนาคตไม่ไกลนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 รถตู้โดยสารไม่ประจำทางกับความปลอดภัยของผู้โดยสาร

เป็นเวลาเกือบครบปี  หลังจากที่เราผ่านความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ กับอุบัติเหตุรถตู้โดยสารประจำทาง สายจันทบุรี – กรุงเทพ  พุ่งข้ามเลนประสานงากับรถกระบะที่สวนทางมา จนเกิดเพลิงลุกไหม้รถทั้งสองคัน มีผู้เสียชีวิตเป็นคนไทยด้วยกันเองมากถึง 25 คน  จากเหตุการณ์ครั้งนั้น นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่เข้มข้นหลายอย่าง ที่ออกมาเพื่อควบคุมความเร็วและพฤติกรรมคนขับรถโดยสาร ทั้งการติด GPS ห้ามวิ่งเกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง การบังคับทำประกันภาคสมัครใจ การปรับลดเบาะที่นั่ง การมีช่องทางออกฉุกเฉิน และการรณรงค์ให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเมื่อเดินทาง โดยมุ่งหวังเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซากแบบนั้นอีกแต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ก็ยังมีเหตุสะเทือนขวัญที่เกิดกับรถตู้โดยสารอยู่เป็นระยะๆ เป็นเหมือนฝันร้ายที่คอยวนเวียนหลอกหลอนผู้โดยสารที่ต้องใช้บริการอยู่ทุกวันว่า วันไหนจะเกิดขึ้นกับใคร ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเอง คนรู้จัก เพื่อน ญาติสนิทหรือไม่ หลายฝ่ายต่างพุ่งเป้าไปที่กลุ่มรถตู้โดยสารประจำทางที่มีอยู่มากกว่า 15,000 คันทั่วประเทศ โดยเฉพาะรถที่วิ่งระหว่างจังหวัดว่าเป็นกลุ่มรถความเสี่ยงสูง ที่หลายคนจำเป็นต้องใช้เพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน แม้จะกลัวการเกิดอุบัติเหตุเวลานั่งรถตู้โดยสาร แต่กลับพบว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่ยังไม่เห็นถึงความสำคัญที่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย นั่นเท่ากับว่า ผู้ใช้บริการส่วนหนึ่งยังไม่ตระหนักในเรื่องความปลอดภัยให้กับตัวเองมากนักขณะที่คนจำนวนมากกำลังจับตามองไปที่กลุ่มรถตู้โดยสารประจำทางว่าเป็นกลุ่มรถเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย แต่เราอาจลืมไปว่า ยังมีรถตู้โดยสารอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงไม่น้อยกว่ากัน นั่นก็คือ กลุ่มรถตู้โดยสารรับจ้างไม่ประจำทางที่มีปริมาณรถอยู่ในระบบมากกว่า 27,000 คันทั่วประเทศ โดยรถในกลุ่มนี้มีทั้งในรูปแบบผู้ประกอบการใหญ่ที่เป็นนิติบุคคล หรือกลุ่มรายย่อย ที่เจ้าของรถขับเอง และมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือเครือข่ายเพื่อการติดต่อรับจ้างทางธุรกิจ แน่นอนว่า ความแตกต่างที่สำคัญ นอกจากเรื่องระบบการออกใบอนุญาตและการกำกับดูแลตามมาตรการของรัฐแล้ว โดยปกติรถตู้โดยสารประจำทางจะวิ่งได้ในเฉพาะในเส้นทางที่ขออนุญาตเส้นทางไว้เท่านั้น ห้ามวิ่งออกนอกเส้นทาง ในเส้นทางระยะไกลห้ามวิ่งเกินวันละ 2 รอบ หรือวันละไม่เกิน 8 ชั่วโมงตามกฎหมายแรงงาน แต่รถตู้โดยสารรับจ้างไม่ประจำทางนั้น  วิ่งได้ในทุกเส้นทางทั่วไทยตามที่ว่าจ้าง ไม่มีใครคอยตรวจสอบว่าคนขับพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ก่อนมาให้บริการ   ถือได้ว่าเป็นกลุ่มรถมีความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยมากกว่า สอดคล้องกับผลการเก็บข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุของรถตู้โดยสารของเครือข่ายเฝ้าระวังรถโดยสารปลอดภัย พบว่า กลุ่มรถตู้โดยสารรับจ้างไม่ประจำทาง มีอัตราการเกิดเหตุและอัตราการบาดเจ็บของผู้โดยสารมากกว่ากลุ่มรถตู้โดยสารประจำทาง โดยมีแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุ ที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเช่น โศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดของวันที่  8  พฤศจิกายน  ที่ผ่านมา กรณีรถตู้โดยสารรับจ้างไม่ประจำทางของบริษัท อาร์แอลเซอร์วิส ประสบอุบัติเหตุชนท้ายรถบรรทุกสิบล้อ ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  จากการสอบปากคำคนขับรถตู้โดยสารที่รอดชีวิต ได้ยอมรับกับทางเจ้าหน้าที่ว่า ในวันที่เกิดเหตุตนเองเข้านอนเวลา 24.00 น.และตื่นในเวลา 04.00 น.ของวันที่เกิดเหตุ และในเวลา 05.00 น.ได้เดินทางไปรับคณะนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นพร้อมไกด์คนไทย ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อนำทั้งหมดเดินทางมาท่องเที่ยวตามโปรแกรมที่วางไว้ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนจะประสบอุบัติเหตุหลับในชนท้ายรถบรรทุก ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 5 ราย  แม้หลังเกิดเหตุกรมการขนส่งทางบกจะมีมาตรการเด็ดขาดสั่งถอนทะเบียนรถตู้คันเกิดเหตุออกจากบัญชีประกอบการขนส่ง และให้บริษัทฯ นำรถในบัญชีทั้งหมด จำนวน 84 คัน เข้ารับการตรวจสภาพโดยละเอียดอีกครั้ง และให้พนักงานขับรถทุกคนของบริษัทฯ เข้ารับการอบรมด้านความปลอดภัย พร้อมเปรียบเทียบปรับฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัยในอัตราโทษสูงสุดเป็นจำนวนเงิน 50,000  บาท รวมถึงเพิกถอนใบอนุญาตขับรถของคนขับรถคันเกิดเหตุทันที แต่มาตรการดังกล่าวก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของทุกฝ่ายกลับคืนมา  โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ยังมีประเด็นปัญหาสำคัญที่รอให้จัดการ คือ การกำหนดแนวทางการประกอบธุรกิจรถรับจ้างไม่ประจำทาง ที่ทุกวันนี้ยังไม่มีมาตรการกำกับหรือควบคุมที่ชัดเจนแต่อย่างใด ทำให้มีผู้ประกอบการรายย่อยหลายรายที่นำรถทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายออกมาวิ่งรับจ้างไม่ประจำทางอีกเป็นจำนวนมาก โดยที่ผู้บริโภคต้องกลายเป็นคนแบกรับชะตากรรมนั้นเสียเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 สถานบริการเสริมความงามไม่สะอาด

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้บริการสถานบริการเสริมความงาม หนีไม่พ้นเรื่องความสะอาดของสถานที่ เพราะจัดว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสถานที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตามหากเราบังเอิญเข้ารับบริการแล้วเผอิญพบว่า สถานที่ดังกล่าวไม่มีการรักษาความสะอาดเท่าที่ควร จะสามารถแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง ลองไปดูกันคุณสมปองเข้าใช้บริการร้อยไหมแก้มที่สถานบริการเสริมความงามแห่งหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้เข้าไปพักในห้องพักของสถานบริการดังกล่าว เธอพบว่าห้องพักมีการนำเตียง 3 – 4 เตียงมาวางเรียงกัน โดยมีเพียงผ้าม่านโปร่งกั้นไว้ แต่ในวันที่คุณสมปองเข้าไปใช้บริการกลับไม่มีการกั้นม่านแต่อย่างใด อีกทั้งเตียงด้านข้างของคุณสมปองก็เป็นลูกค้าผู้ชาย ซึ่งในขณะนอนพักนั้นคุณสมปองมีเพียงผ้าขนหนูผืนเล็กสำหรับปิดช่วงหน้าอกเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อลูกค้าได้รับบริการเสร็จเรียบร้อยและลุกออกจากเตียง พนักงานก็จะทำความสะอาดเตียงด้วยการสะบัดและพับผ้าให้เข้าที่โดยไม่มีการเปลี่ยนผืนใหม่ และสิ่งที่เธอรู้สึกรับไม่ได้มากที่สุดคือ พยาบาลไม่ใส่ถุงมือ ใช้เพียงมือเปล่าหยิบเครื่องมือแพทย์ หรือหยิบยาที่ส่งให้กับลูกค้ารับประทาน ทำให้คุณสมปองส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบมาตรฐานการดำเนินงานของสถานบริการเสริมความงามดังกล่าวแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ส่งหนังสือส่งถึง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานสถานพยาบาลดังกล่าว ด้วยเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และได้รับหนังสือตอบกลับมาดังนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้เข้าตรวจสอบสถานบริการเสริมความงามดังกล่าวแล้ว ซึ่งพบว่าเป็นสถานพยาบาลที่ได้รับการจดแจ้งถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน  พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และเมื่อเจ้าหน้าที่ของกรมสนับสนุนฯ ได้เข้าไปตรวจสอบสถานบริการดังกล่าวก็พบว่า มีลักษณะเป็นจริงตามที่มีการร้องเรียนมา ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการเพื่อปรับปรุงแก้ไข ดังนี้1. กรณีห้องพักของสถานพยาบาล (ห้อง Treatment) สามารถจัดรวมให้มีได้ 4 เตียง ตามมาตรฐานทางการแพทย์ และเปลี่ยนม่านกั้นเป็นแบบทึบแสง กั้นระหว่างเตียง เพื่อให้เป็นสัดส่วน มิดชิดและมีความปลอดภัยต่อผู้รับบริการ นอกจากนี้ให้เปลี่ยนผ้าปูเตียง และผ้าอื่นๆ ที่ใช้แล้วทุกครั้ง เพื่อความอนามัยและป้องกันการติดเชื้อ2. ให้ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์อย่างเหมาะสม โดยทำตามคู่มือการทำความสะอาดเพื่อให้เครื่องมือปราศจากเชื้อ นอกจากนี้ให้พนักงานสวมถุงมือทุกครั้งที่ทำหัตถการ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้รับบริการ 

อ่านเพิ่มเติม >