ฉบับที่ 165 กระแสต่างแดน

บำบัดแบบโมบายผู้ประกอบการให้บริการแท็กซี่ Taxi Stockholm ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการแท็กซี่ และพบว่ากว่าร้อยละ 70 ของลูกค้าบอกว่า ช่วงเวลาการนั่งแท็กซี่เป็นเวลาที่ได้อยู่กับตัวเอง ได้คิดอะไรต่ออะไรไปเรื่อย แล้วก็เล่าให้คนขับฟัง เขาเลยเชื่อว่าน่าจะส่งนักจิตบำบัดออกไปนั่งประจำในรถแท็กซี่ เพื่อให้คำปรึกษากับผู้ใช้บริการที่อยากได้ใครสักคนคุยด้วยขณะนั่งรถเสียเลย โดยเขาจะทดลองให้บริการนี้เป็นเวลา 2 สัปดาห์  ซึ่งเขาคาดว่าธุรกิจนี้น่าจะไปได้ดีในเมืองที่ทั้งหนาว ทั้งขาดแสงอาทิตย์อย่างสต็อกโฮล์ม ในช่วงปลายปีอย่างนี้ มีอา ฟาเลน หนึ่งในนักจิตบำบัดในโครงการนี้บอกว่า เธอรับงานนี้เพราะรู้สึกว่ามันท้าทายและน่าจะทำให้เธอได้พบกับโจทย์การทำงานใหม่ๆ แต่กระนั้นเธอบอกว่า พอจะเดาได้ว่าผู้คนในเมืองนี้คงมีปัญหาคล้ายๆ กัน คือโรคเหงากำเริบ เพราะคนที่นี่ส่วนใหญ่อยู่คนเดียว คนจากประเทศอื่นที่เข้ามาทำงานหรือมาใช้ชีวิตในเมืองนี้ก็มีปัญหาในการปรับตัวเช่นกัน เธอบอกว่าที่นี่อยู่ยาก เพราะคนสวีเดนเขาเงียบเฉยมากๆ เลยนะจะบอกให้ การโทรเรียกแท็กซี่บำบัดนั้น ถูกกว่าการไปพบนักจิตบำบัดที่คลินิก ซึ่งปกติมีค่าบริการครั้งละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท และที่สำคัญในช่วงเวลาแค่ 10 นาทีบนรถ นักจิตบำบัดก็รู้ถึงปัญหาและสามารถให้คำแนะนำกับผู้ป่วย เอ้ย ... ผู้โดยสารให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือทัศนคติบางอย่างให้ชีวิตดีขึ้นได้ แท็กซี่ สต็อกโฮล์ม ยืนยันว่าความลับจะไม่รั่วไหล เพราะคนขับเขาเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้บริการไว้แล้ว สปาไม่น่าปลื้ม เรื่องร้องเรียนต่อธุรกิจสปาและธุรกิจเสริมความงามในสิงคโปร์ก็มีมากไม่แพ้บ้านเราเหมือนกัน ข่าวบอกว่าความพยายามของรัฐบาลในการควบคุมการประกอบธุรกิจดังกล่าวยังไม่เป็นผล สองปีที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนกว่า 2,000 เรื่อง แต่ตัวเลขนี้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะมีผู้บริโภคอีกมากที่ยังไม่ได้มาร้องเรียนกับ CASE (Consumers Association of Singapore) หรือสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์ แต่ที่แน่ๆ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีกรณีร้องเรียนถึง 227 กรณี (เทียบกับ 199 กรณีในปีที่แล้ว) และเรื่องที่ร้องก็หนีไม่พ้นเทคนิคการขายแบบ “ฮาร์ดเซล” ที่ลูกค้าจะต้องถูกต้อนเข้ามุมให้ซื้อบริการ คุณภาพงานบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ไปจนถึงการปิดกิจการลงไปเฉยๆ ข่าวบอกว่า ปัญหาหลักๆ มาจากระบบการขึ้นทะเบียนพนักงานผู้ให้บริการ ที่ยังไม่เข้าที่เข้าทาง เนื่องจากสถานประกอบการจะต้องขึ้นทะเบียนพนักงานก่อน จึงจะได้ใบอนุญาตประกอบกิจการจากตำรวจ แต่การปฏิบัติตามกฎดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องการจ้างบุคลากรจากต่างประเทศ และการกำกับดูแลค่อนข้างหละหลวม กิจการที่ไม่ขึ้นทะเบียนลูกจ้างจึงยังเปิดกันได้ทั่วไป และถ้าถูกจับได้ก็เสียค่าปรับแค่ประมาณ 1,000 เหรียญ (ประมาณ 25,000 บาท) เท่านั้น น้ำฟรีต้องมีบ้างนักการเมืองพรรคสังคมนิยมของสวิสเซอร์แลนด์ กำลังผลักดันกฎหมายใหม่ ห้ามไม่ให้ร้านอาหารคิดค่าน้ำเปล่า ซึ่งไม่น่าจะมีค่าใช้จ่ายอะไรมากมาย เพราะเปิดมากจากก๊อกน้ำ ปัจจุบันมีบางร้านคิดค่าน้ำเปล่า ซึ่งทำให้ลูกค้าก็รู้สึกไม่คุ้ม จะเสียเงินทั้งทีขอสั่งเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มรสหวานแทนดีกว่า (ซึ่งไม่น่าจะดีต่อสุขภาพเท่าการดื่มน้ำเปล่า) ด้านสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ยืนยันว่าให้แต่ละร้านมีสิทธิตัดสินใจเองดีกว่า เพราะปัจจุบันมีบางร้านที่ต้องทำอย่างนั้นเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ เขายกตัวอย่างร้านพิซซาแห่งหนึ่ง ที่ต้องพึ่งพารายได้จากเครื่องดื่มถึงร้อยละ 75 และทางร้านก็คิดค่าน้ำเปล่าเหยือกละ 85 บาทเท่านั้น แถมยังยกเว้นให้กับนักเรียน นักศึกษาด้วย ตามธรรมเนียมของร้านอาหารในเมืองเจนีวานั้น ถ้าคุณอยากได้น้ำธรรมดา ต้องบอกเขาให้ชัดๆ มิเช่นนั้นทางร้านจะถือว่าคุณต้องการน้ำแร่บรรจุขวด ไม่ต้องรู้สึกอายใครที่จะสั่งน้ำธรรมดาที่ไขมาจากก๊อก เพราะบริษัท SIG ผู้จัดหาแก๊ส ไฟฟ้า และน้ำประปาให้กับประชากรเมืองนี้เขายืนยันว่า น้ำของเขาซึ่งได้จากทะเลสาบเจนีวานั้นคุณภาพดีกว่าน้ำแร่ด้วยซ้ำ  เสี่ยงทั้งภูมิภาค ถ้าถามผู้คนในละตินอเมริกาว่ากลัวอะไรมากที่สุด จะได้รับคำตอบว่ากลัวโดนปล้น โดนฆ่าโดยแก๊งค์โจร แก๊งค์ค้ายาเสพติด แต่คุณเชื่อหรือไม่ว่าในอุรุกวัย (ซึ่งเป็นประเทศที่จัดว่าปลอดภัยที่สุดในละตินอเมริกา) ความเป็นไปได้ที่จะประสบอุบัติเหตุทางถนนมีมากกว่าการถูกปล้นด้วยซ้ำ ในอาร์เจนตินา อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนอายุต่ำกว่า 32  ในขณะที่ “รถเมล์นรก” ก็มีอยู่เต็มท้องถนนในเมืองลิมาประเทศเปรู และรถเก่าๆ ทั้งจากอเมริกาและรัสเซียตั้งแต่ยุคสงครามเย็นที่ยังถูกใช้อยู่ในคิวบา ก็มีส่วนเพิ่มอัตราการเกิดอุบัติเหตุไม่น้อย ในการากัส เมืองหลวงของเวเนซูเอล่า กว่า 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนก็คือผู้โดยสารที่ใช้บริการ “โมโตแท็กซี่” (คล้ายกับพี่วินที่บ้านเรา ต่างกันตรงที่เขานิยมนั่งซ้อนมากกว่าหนึ่งคน บางทีมากันทั้งครอบครัวพร้อมสัมภาระ และไม่มีใครใส่หมวกกันน็อคอีกต่างหาก) สัญญาณไฟจราจรที่นี่ไม่มีความหมาย ไม่มีใครเคารพการจำกัดความเร็วหรือชะลอเมื่อถึงบริเวณทางม้าลาย สิทธิของคนเดินเท้าในภูมิภาคนี้เรียกได้ว่าตกต่ำถึงขีดสุด แม้อุบัติเหตุจากการจราจรจะสูงกว่าอาชญากรรมนั่นคือ ในประชากร 100,000 คนจะมี 16 คนที่เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุบนท้องถนน (อ้างอิงสถิติปี 2013) แต่ประชากรในภูมิภาคนี้เขาก็ยังไม่นับความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอยู่นั่นเอง ขอหักมุมมาที่ประเทศไทยบ้าง สถิติของเราคือ 38.1 คนต่อประชากร 100,000 คน (สถิติปี 2010) หนักหนากว่าเขาอีกนะนี่ ...  ประหยัดเกินจริงฮุนได มอเตอร์ และเกีย มอเตอร์ ถูกศาลสหรัฐฯ สั่งปรับเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 300 ล้านเหรียญ โทษฐานที่แจ้งข้อมูลการประหยัดน้ำมันเกินจริงในรถกว่า 1,200,000 คัน ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืน “กฎหมายอากาศสะอาด” ของสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมาสองบริษัทนี้โฆษณาว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่วิ่งได้ไกลกว่ารถยนต์ของคู่แข่งด้วยน้ำมันในปริมาณเท่ากัน แต่ในปี 2012 ทั้งฮุนไดและเกียซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทแม่ ฮุนได มอเตอร์กรุ๊ป ออกมายอมรับว่าตนเองแจ้งข้อมูลการประหยัดน้ำมันสูงเกินจริงในรถที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ในช่วงสองปีก่อนหน้านั้น (แจ้งพลาดไปถึง 6 ไมล์ต่อแกลลอน)การยอมรับนี้เกิดขึ้นหลังจากสำนักงานสิ่งแวดล้อม (EPA) เข้ามาตรวจสอบเนื่องจากมีผู้บริโภคร้องเรียนมาว่า รถที่ซื้อไปไม่เห็นจะวิ่งได้ไกลเท่าที่แจ้งไว้บนสติ๊กเกอร์บนกระจกรถเลย บริษัทออกมาขอโทษในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทดสอบที่ทำขึ้นกับรถฮุนได อิลันทรา และเกีย ริโอ กฎหมายฉบับนี้ระบุว่า ผู้ผลิตจะต้องทดสอบอัตราการใช้เชื้อเพลิงของรถแต่ละรุ่น และติดสติ๊กเกอร์แสดงให้ผู้บริโภคได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ  ที่ผ่านมาบริษัททำการทดสอบทั้งหมดในประเทศเกาหลี แต่คำตัดสินของศาลระบุว่า ต่อไปนี้การทดสอบจะต้องทำในห้องปฏิบัติการในสหรัฐฯ ที่สร้างขึ้นเพื่อทดสอบการใช้เชื้อเพลิงโดยเฉพาะ คำตัดสินนี้ได้รับเสียงชื่นชมจากองค์กรสิ่งแวดล้อม ซึ่งมองว่าเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปถึงอุตสาหกรรมรถโดยรวม และเป็นก้าวสำคัญที่จะควบคุมให้รถรุ่นต่างๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามที่โฆษณา ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ก็ยืนยันว่าธุรกิจที่เล่นตามกฎกติกาไม่ควรจะต้องมาแข่งขันในเกมเดียวกับธุรกิจที่ละเมิดกฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 กระแสต่างแดน

ตราไม่รับรอง บ่อยครั้งที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ให้ความไว้วางใจ “ตรารับรอง” โดยลืมถามตัวเองว่าตราสัญลักษณ์ดังกล่าวนั้น “รับรอง” อะไรกันแน่ องค์กรต่อต้านการทารุณสัตว์ SAFE (Safe Animals from Exploitation) ที่นิวซีแลนด์ออกมาแฉกันเต็มๆ ว่า ตรารับรอง “PigCare Accredited” ที่ติดอยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น ไม่ได้มีความหมายอะไร นอกจากจะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถขายของได้มากขึ้น  เพราะผู้บริโภคปัจจุบันต้องการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสัตว์ ตรารับรองที่ว่าจึงทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าหมูน้อยเหล่านั้นเคยมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายตามอัตภาพ ไม่ทุกข์ทรมานเพราะถูกกักขังบริเวณอยู่ในกรงจนขยับไม่ได้  แต่ความจริงแล้วเงื่อนไขที่จะได้ตรารับรอง “PigCare” นั้นไม่ได้ครอบคลุมไปถึงเรื่องการห้ามใช้กรงขัง หรือการห้ามเลี้ยงแบบอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ ในขณะที่ฟาร์มที่เลี้ยงแบบเปิด ต่างก็ไม่เข้าร่วมขอฉลากรับรองที่ว่าเพราะไม่เห็นด้วยกับการรับรองดังกล่าว  ฮานส์ ครีก ผู้อำนวยการของ SAFE บอกว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ผู้บริโภคควรมองหาคือตรารับรอง “Free range” หรือ “Free farmed” (ฟาร์มเปิด) มากกว่า  อืม ... จะบริโภคอย่างรับผิดชอบนี่มันไม่ง่ายเลยจริงๆ ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------     คันต่อไปครับ แค่สาวนางหนึ่งถูกปฏิเสธโดยแท็กซี่ 6 คันซ้อน ก็เป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์ที่นิวซีแลนด์ซะแล้ว (ไม่อยากจะคุยว่าที่บ้านเรา แค่นี้จิ๊บๆ) วิคตอเรีย กริฟฟิน ออกจากงานเลี้ยงที่บริษัทในย่านเวียดักท์ เมื่อตอนเที่ยงคืนครึ่งของคืนวันเสาร์ที่ 18 ธันวาคมปีที่แล้ว เพื่อมาเรียกรถแท็กซี่ที่จอดรออยู่มากมาย แต่เธอกลับถูกปฏิเสธถึง 6 ครั้งติดต่อกันเพียงเพราะบ้านเธออยู่ใกล้เกินไป คนขับรายหนึ่งบอกให้เธอเดินกลับบ้านเอง มีรายหนึ่งรีบล็อคประตูไม่ให้เธอเปิดเข้าไปเลยด้วยซ้ำ   ค่าโดยสาร(ถ้าเธอได้ขึ้น) จะประมาณ 15 เหรียญ หรือ 350 บาท แต่ค่าปรับซึ่งคนขับแท็กซี่จะต้องจ่าย เพราะทำผิดกฎหมายฐานปฏิเสธผู้โดยสารนั้นอยู่ที่ 400 เหรียญ หรือประมาณ 9,000 บาท เวียดักท์ เป็นหนึ่งในย่านที่มีสถิติการปฏิเสธผู้โดยสารมากที่สุด ทิม เรดดิช ประธานสหพันธ์แท็กซี่นิวซีแลนด์ประเมินว่าอย่างน้อยๆ ต้องมีการถูกปฏิเสธไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง รวมๆ แล้วก็น่าจะหลายพันครั้งต่อปี (แต่มีคนร้องเรียนเข้ามาจริงๆ เพียงปีละ 20 ครั้งเท่านั้น) ตามกฎหมายนิวซีแลนด์ คนขับแท็กซี่สามารถปฏิเสธผู้โดยสารได้เมื่อรู้สึกว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยต่อตนเอง เมื่อผู้โดยสารอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งมึนเมาหรือสิ่งเสพติด เมื่อผู้โดยสารพกพาน้ำหรืออาหารมาด้วย เมื่อผู้โดยสารส่งเสียงดังหรือมีพฤติกรรมรุนแรงหรือนำสัตว์ซึ่งไม่ใช่สัตว์นำทางมาด้วย เมื่อมีผู้โดยสารจำนวนมากเกินไป นอกจากนี้ยังให้ปฏิเสธได้ในกรณีที่ผู้โดยสารมีเงินไม่พอจ่าย (คนขับสามารถถามล่วงหน้าได้)  เอาเป็นว่ายังไงก็ไม่อนุญาตให้ปฏิเสธเพราะระยะทางสั้นเกินไป --------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เข็มขัดมาช้า คราวนี้มาดูการขนส่งในฮ่องกงกันบ้าง ซึ่งขณะนี้รถที่มีเป็นประเด็นมากที่สุดเห็นจะเป็นมินิบัส ซึ่งมีผู้ใช้บริการถึง 1.85 ล้านคนต่อวันในบรรดารถทั้งหมดที่วิ่งอยู่บนท้องถนนนั้นมีมินิบัสที่จดทะเบียนอยู่ร้อยละ 0.76 แต่กลับมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงถึงร้อยละ 5 และจากสถิติเมื่อสองปีที่แล้ว ร้อยละ 9 ของจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นผู้โดยสารรถมินิบัสนั่นเอง  หลังจากเกิดอุบัติเหตุสองครั้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 รายเมื่อปี 2009 กรมการขนส่งฮ่องกงประกาศบังคับให้มินิบัสทุกคันติดตั้ง “กล่องดำ” และอุปกรณ์จำกัดความเร็ว  นอกจากนี้กรมฯ ยังประกาศให้รถมินิบัสที่ขึ้นทะเบียนหลัง 1 สิงหาคม 2004 ทุกคันติดเข็มขัดนิรภัย และมีการคาดการณ์ไว้ว่า ร้อยละ 60 ของรถมินิบัสจะมีเข็มขัดนิรภัยภายในปี 2008 แต่จนถึงกันยายนปีที่แล้วมีรถมินิบัสที่มีเข็มขัดนิรภัยเพียงร้อยละ 55 เท่านั้น  ผู้ตรวจการประเมินว่าภายในปี 2015 จะยังมีรถที่ไม่ปลอดภัยวิ่งอยู่บนท้องถนนอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 คัน และคงต้องใช้เวลา 8 ปี จึงจะทำให้รถทุกคันมีเข็มขัดนิรภัยได้   แอพหน้าขาวเชื่อหรือไม่ อินเดียเป็นตลาด “ครีมหน้าขาว” ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเช่นเดียวกับบ้านเรา ความอยากขาวนั้นไม่เข้าใครออกใคร ที่นั่นตลาดครีมไวท์เทนนิ่งสำหรับผู้ชายเติบโตถึงร้อยละ 25 (สูงกว่าตลาดครีมสำหรับผู้หญิงร้อยละ10) ถึงขนาดเฟสบุ๊คที่อินเดียเขามีแอพพลิเคชั่นให้หนุ่มๆได้อัพโหลดรูปถ่ายหน้าตัวเองเข้าไป แล้วลองลากเส้นผ่าน เพื่อให้รู้กันไปว่าจะหล่อขึ้นได้สักเท่าไรเมื่อหน้าขาวขึ้น (ด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล) แอพพลิเคชั่นดังกล่าวออกมาพร้อมกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดและไวท์เทนนิ่งสำหรับผู้ชายยี่ห้อวาสลีนนั่นเอง   โดยมีดาราบอลลีวูดชื่อดัง ชาฮิด คาปูร์ เป็นพรีเซ็นเตอร์แสดงให้เห็นครึ่งหน้าที่ผิวคล้ำและผิวขาวขึ้นด้วยแอพฯ ดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสมากมายในเฟสบุ๊ค ทางวาสลีน บอกว่าไม่ใช่เรื่องของการกีดกันสีผิว มันก็เหมือนๆ   กับที่ผู้คนในอเมริกาเหนือหรือยุโรปอยากมีผิวสีแทนนั่นแหละ แต่นักธุรกิจชาวอินเดียที่เปิดแฟนเพจในเฟสบุ๊คเพื่อรณรงค์ต่อต้านเทรนด์ “ต้องขาว” ในอินเดีย บอกว่าการที่คนตะวันตกไม่มีผิวสีแทน ไม่ได้เป็นเหตุให้พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติ มันเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่ในอินเดียนั้นผู้คนเชื่อว่าการมีผิวขาวหมายถึงการประสบความสำเร็จในชีวิต ข่าวแถมข้อมูลมาว่า จากการสำรวจที่ทำกับผู้คนจำนวน 12,000 คน ในปี 2009 โดยเว็บหาคู่ออนไลน์ พบว่าสีผิวเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลือกคู่ของหนุ่มสาวในสามรัฐทางตอนเหนือของอินเดีย ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เศรษฐศาสตร์ต้นคริสต์มาส ราคาต้นคริสต์มาสที่เดนมาร์กซึ่งเป็นผู้ส่งออกต้นคริสต์มาสรายใหญ่ที่สุดในยุโรป นาทีนี้อยู่ที่ 160 โครเนอร์ (ประมาณ 850 บาท) ต่อความยาวหนึ่งเมตร เขาบอกว่าราคานี้ขึ้นมาจากปีก่อนร้อยละ 25  สมาคมผู้ปลูกต้นคริสต์มาสแห่งเดนมาร์กบอกว่าที่แพงก็เพราะเขาไม่สามารถประเมินความต้องการของผู้บริโภคล่วงหน้าได้ เพราะเจ้าต้นไม้ประจำเทศกาลนี้ต้องใช้เวลาในการปลูกถึง 9 ปี   อย่างไรก็ดี ข้ออ้างที่ว่านี้ยังไม่สามารถคลายข้อข้องใจของสมาคมผู้บริโภคที่นั่นได้เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว สมาคมฯ ถูกศาลสั่งปรับ 500,000 โครเนอร์ (ประมาณสองล้านหกแสนกว่าบาท) โทษฐานที่ชักชวนให้สมาชิกร่วมกันตั้งราคาขั้นต่ำสำหรับต้นคริสต์มาสในช่วงระหว่างปี 2002 ถึง 2006   ข่าวบอกว่าระหว่างปี 2005 ถึง 2009 ราคาต้นคริสต์มาสเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 โดยพันธุ์ยอดฮิตที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าได้แก่พันธุ์นอร์ดมันเฟอร์ --------------------------------------------------------------------------------------------------------------   คูปองสองมาตรฐาน องค์กรผู้บริโภคของเดนมาร์กไม่เห็นด้วยกับการแจกคูปองลดราคาเป็นโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เพราะมันหมายถึงการจ่ายเงินจำนวนต่างกันสำหรับสินค้า/บริการเดียวกัน  ความจริงแล้วตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา ที่เดนมาร์กมีกฎหมายห้ามการแจกคูปองลดราคา เพื่อการันตี “ความเท่าเทียม” เรียกว่าใครบังอาจแจกเป็นอันต้องถูกจับและปรับกันไป   เรื่องการแจกคูปองกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อสหภาพยุโรปได้ทำข้อตกลงเมื่อปี 2009 ที่ระบุว่าให้สามารถทำได้ ทั้งนี้ข้อตกลงดังกล่าวก็เขียนไว้ชัดเจนว่าให้แต่ละประเทศถือปฏิบัติตามกฎหมายของตนเองไปจนถึงปี 2013   แต่บรรดาผู้ประกอบการที่นั่นไม่รอช้า รีบใช้ประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวของสหภาพยุโรปทันที แถมยังบอกว่าลูกค้าส่วนใหญ่พึงพอใจกับคูปองลดราคาที่ว่าอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >