ฉบับที่ 175 พบปัญหานมเสียก่อนวันหมดอายุ อย่าเพิ่งทิ้ง

เรื่องนมบูดเสียก่อนวันหมดอายุที่ระบุไว้ข้างกล่องไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกล่องที่บรรจุเครื่องดื่มนั้นอาจมีรอยรั่วเล็กๆ ที่สามารถทำให้อากาศเข้าไปทำปฏิกิริยากับน้ำนมจนเสียได้ แต่วิธีการจัดการปัญหาใกล้ตัวเพื่อรักษาสิทธิของตนเองที่เป็นผู้บริโภคนั้นกลับเป็นเรื่องที่น่าสนใจกว่า ดังเช่นกรณีต่อไปนี้ผู้ร้องพร้อมเพื่อนซื้อน้ำนมข้าวโพดยี่ห้อ เนเจอรี่ มาดื่ม จำนวน 6 แพค บรรจุแพคละ 3 กล่อง รวมเป็นเงิน 174 บาท จากท็อปส์ ซูเปอร์มาเก็ต ในห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ บางแค เมื่อวันที่ 4 เม.ย.58 และเมื่อดูวันหมดอายุข้างกล่อง ก็ระบุว่าเป็นวันที่ 5 ธ.ค.58  (051215)  หรืออีก 8 เดือนจึงจะหมดอายุ แต่พอนำกลับมาดื่มเช้าวันถัดมากลับพบว่า กล่องหนึ่งมีรสเปรี้ยวต่างไปจากที่เคยซื้อมารับประทาน นอกจากนี้เมื่อให้คนรอบข้างชิมก็รู้สึกเปรี้ยวตรงกัน จึงได้ลงความเห็นว่านมข้าวโพดกล่องนี้ต้องเสียแน่ๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่หมดอายุ อย่างไรก็ตามผู้ร้องก็ไม่ได้ทิ้งน้ำนมข้าวโพดกล่องนั้นไปเฉยๆ เพราะคิดว่าผู้ผลิตควรรับผิดชอบในการผลิตอาหารและเครื่องดื่มให้มีความปลอดภัย จึงได้มาร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แจ้งให้ผู้ร้องถ่ายภาพผลิตภัณฑ์  วันหมดอายุ เลขครั้งการผลิต ใบเสร็จรับเงินการซื้อสินค้า เพื่อส่งข้อมูลเพิ่มเติมมาให้มูลนิธิทางอีเมล์ พร้อมแนะนำให้แจ้งความลงบันทึกประจำวัน และทำหนังสือหรือไปแจ้งปัญหาที่ห้างสรรพสินค้าด้วยตัวเอง โดยนำหลักฐานต่างๆ พร้อมพยานไปด้วย ซึ่งหากสำนักงานใหญ่ของท็อป ซูเปอร์มาเก็ต ต้องการเอกสารเพิ่มเติม หรือในกรณีที่ไม่รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์ฯ ก็จะติดตามความรับผิดชอบให้อีกครั้ง ปรากฏว่า เมื่อผู้ร้องได้ดำเนินการตามคำแนะนำ บริษัทผู้ผลิตนมดังกล่าวได้ติดต่อมาเพื่อขอเจรจากับผู้ร้องที่มูลนิธิ โดยทางศูนย์ฯ ได้แจ้งผลการทดสอบเบื้องต้นให้ทราบว่า กล่องบรรจุภัณฑ์มีรอยชำรุดที่ไม่ทราบสาเหตุบริเวณด้านบนของกล่อง จึงคาดว่าอากาศน่าจะเข้าไปและทำให้น้ำข้าวโพดเสียได้ บริษัทจึงขอกล่องนมดังกล่าวไปตรวจสอบเพิ่มเติม และจะแจ้งผลการทดสอบให้ทราบภายใน 7 วัน ซึ่งผลการทดสอบก็พบว่ากล่องที่พบปัญหานมข้าวโพดเสียก่อนวันหมดอายุ มีรอยชำรุดจากการถูกของมีคมกรีดจริง จึงยินดีรับผิดชอบโดยการชดเชยค่าเสียหายให้เป็นจำนวน 10,000 บาท เรื่องราวยุติลงได้แบบนี้ผู้ผลิตก็สามารถรักษาลูกค้าเดิมไว้ได้ รวมทั้งผู้บริโภคเองก็ดีใจที่ได้รับความเป็นธรรมจากการรักษาสิทธิของตนเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 เหยื่อรถทัวร์ผี ความสูญเสียที่ไม่มีวันได้คืน

เทศกาลสงกรานต์หลายครอบครัวคงมีความสุขที่ได้กลับมาอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา แต่สำหรับครอบครัว นันตะนะ นี่คือการสูญเสียอย่างไม่มีวันได้คืน...เช้า 13 เมษายน 2553  บุญถม นันตะนะ ได้รับงานด่วนให้ไปที่จังหวัดอุบลราชธานี   บุญถมจึงรีบโทรศัพท์จองตั๋วกับ บ.รถทัวร์ แต่ทุกที่บอกเพียงว่า “ ให้มาก่อน บางทีเผื่อจะมีคนยกเลิกตั๋ว ไม่ก็มีรถเสริม ”  คล้อยบ่ายบุญถม จึงรีบเดินทางไปสถานีขนส่งหมอชิต 2  โดยหวังว่าจะมีตั๋วว่างสำหรับคืนนี้ค่ำวันนั้น “  พ่อได้ตั๋วแล้วนะแม่ ซื้อที่ช่องขายตั๋วเลย รถจะออกตอนสี่ทุ่มครึ่ง เดี๋ยวถึงแล้วจะโทรหาแม่นะ ” ...นี่คือเสียงสุดท้ายที่ ชุติกาญจน์ ได้ยินเสียงจากสามี  เพราะเช้ามืดวันที่ 14 เมษายน 2553  รถทัวร์ที่บุญถมนั่งไปประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำที่จังหวัดนครราชสีมา บุญถม พร้อมผู้โดยสารอีกหลายราย เสียชีวิตทันที และมีคนบาดเจ็บจำนวนมากหลังการเสียชีวิตของบุญถม ชุติกาญจน์ได้รับจดหมายแจ้งสิทธิการให้ความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เธอจึงมาร้องขอความช่วยเหลือ เพื่อให้ช่วยเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อให้ชุติกาญจน์ได้รับการเยียวยาตามสิทธิที่มีก่อนนั้น มูลนิธิฯ ได้นำเรื่องยื่นต่ออนุญาโตตุลาการ เพื่อมีคำสั่งให้บริษัทกมลประกันภัย จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับชุติกาญจน์ตามกรมธรรม์โดยทันที ผลการเจรจาไกล่เกลี่ย บริษัทยอมจ่ายค่าสินไหมตามกรมธรรม์ให้กับชุติกาญจน์ได้สำเร็จ ส่วนข้อเท็จจริงทางคดีจากทะเบียนรถยนต์คันเกิดเหตุ พบว่า รถทัวร์คันที่เกิดเหตุนั้น เป็นรถโดยสารไม่ประจำทางของบริษัท เฟิร์สแฟรงค์ทัวร์ จำกัด ที่นำมาเสริมวิ่งรับคนโดยสารในช่วงเทศกาลสงกรานต์กับบริษัท ขนส่ง จำกัด  แต่ บริษัท ขนส่ง จำกัด กลับปฏิเสธ อ้างไม่มีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์นี้ เพราะรถคันนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาวิ่งรับคนโดยสารในวันดังกล่าว ทำให้การเจรจาไม่สามารถยุติได้ ชุติกาญจน์ จึงจำเป็นต้องนำเรื่องขึ้นฟ้องนายชำนาญ มหาสังข์ คนขับ จำเลยที่ 1 , บริษัท เฟิร์สแฟรงค์ทัวร์ จำกัด เจ้าของรถ จำเลยที่ 2 และ บริษัท ขนส่ง จำกัด  จำเลยที่ 3 ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีผู้บริโภค เพื่อเรียกค่าเสียหาย เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554ในชั้นพิจารณาคดี ทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าสืบ ฝ่ายโจทก์ มีชุติกาญจน์ เบิกความยืนยันถึงความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ภายหลังที่สามีเสียชีวิต โดยมีคุณวิลาวรรณ  ผู้รอดชีวิตที่ขึ้นรถคันเดียวกับบุญถม มาเป็นพยานนำชี้จุดซื้อตั๋วและทางเดินไปที่ชานชาลา พร้อมยืนยันการขึ้นรถในสถานีขนส่ง ขณะที่ฝ่ายจำเลย  บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 3  ปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องทุกอย่าง โดยมีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัท มาเป็นพยานเบิกความถึงขั้นตอนการขออนุญาตนำรถเสริมเข้ามาวิ่งร่วมรับส่งคนโดยสารกับบริษัทในเทศกาลดังกล่าวศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ว่าจำเลยที่ 3 ที่จะนำพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่เบิกความทำนองว่า รถยนต์โดยสารที่จะนำเข้ามาวิ่งรับส่งคนโดยสารร่วมกับจำเลยที่ 3 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 3 และกรมการขนส่งทางบกก่อน ตามหนังสือขออนุญาตของจำเลยที่ 3 และจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจใบอนุญาตตั้งแต่ปากทางเข้าและทางออกอยู่ตลอดเวลานั้นแต่ตามหลักฐานเอกสารการขออนุญาตนำรถเข้าวิ่งร่วมของจำเลยที่ 3 ที่นอกจากจะระบุให้เจ้าของรถร่วมหมวด 2 มาร่วมวิ่งแล้ว ยังระบุให้สมาคมผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารด้วยรถโดยสารไม่ประจำทางมาร่วมวิ่งเสริมได้ด้วย ซึ่งรถยนต์คันเกิดเหตุอาจอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะนำรถเข้าวิ่งร่วมกับจำเลยที่ 3 และได้รับอนุญาตให้นำรถเข้ามาวิ่งร่วมกับจำเลยที่ 3 ได้ แม้จะไม่มีตราหรือสัญลักษณ์ใดๆ ของจำเลยที่ 3 ติดอยู่ก็ตาม เพราะมิฉะนั้นรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุคงไม่สามารถเข้ามาวิ่งร่วมรับคนโดยสารได้เพราะจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมยึดรถได้นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวยังระบุว่าให้เจ้าของรถร่วมและสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารไม่ประจำทางทุกคันต้องใช้ตั๋วรถโดยสารตามแบบตั๋วโดยสารที่จำเลยที่ 3 กำหนด นั้น ก็เป็นการสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ที่ว่าได้ซื้อตั๋วโดยสารที่ช่องจำหน่ายตั๋วและขึ้นรถที่ชานชาลาในสถานีขนส่งหมอชิต 2 อีกด้วยพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้อนุญาตจำเลยที่ 2 รถโดยสารเข้าร่วมวิ่งรับขนคนโดยสารกับจำเลยที่ 3 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นการชั่วคราวโดยมีผลประโยชน์ร่วมกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2  เมื่อพิเคราะห์จากความเสียหายที่โจทก์ได้รับแล้ว จึงกำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 1,312,000 บาท เมื่อหักจากเงินที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยไปแล้ว คงเหลือเป็นเงินที่จำเลยทั้งสามต้องจ่ายทั้งสิ้นจำนวน  682,000 บาทกรณีนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญและเป็นคดีตัวอย่างของผู้บริโภคที่อาจจะไม่มีทางเลือก และหลงใช้บริการรถทัวร์ผี ที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว อาจจะไม่มีผู้ใดออกมารับผิดชอบ แต่กรณีนี้โชคดีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้เสียชีวิตซื้อตั๋วที่ช่องจำหน่ายตั๋วและขึ้นรถภายในสถานีขนส่งหมอชิต 2ซึ่งแม้คดีจะจบลงด้วยศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าเสียหาย แต่คดีก็ใช้เวลานานกว่า 3 ปี อีกทั้งจำเลยทั้งสามยังมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาต่อได้ ทำให้คดียังไม่สิ้นสุด ชุติกาญจน์ จึงยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างแท้จริงแต่อุปสรรคดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ชุติกาญจน์ยอมแพ้  แม้จะเจ็บช้ำ แต่เธอยังมีหน้าที่ต้องสู้เพื่อสิทธิของครอบครัวเธอต่อไป  สู้จนกว่าเธอจะชนะ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 สมาร์ทโฟนแค่เดือนเดียวเจ๊งต้องขอเปลี่ยนคืน

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 เวลาประมาณ 6 โมงเย็นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ภูษิตเข้าไปซื้อสมาร์ทโฟน Sony Xperia SZ(LT26i) ในราคา 15,990 บาทจากบริษัท ทีจี เซลลูล่าร์เวิลด์ จำกัด สาขาที่ 108หลังจากใช้งานได้ประมาณ 1 เดือน มือถือเริ่มมีอาการค้างบูทเอง และเปิดเครื่องไม่ได้ในท้ายที่สุด“วันที่ 15 ตุลาคม 2555 ผมเอาเครื่องไปส่งซ่อมที่ศูนย์โซนี สาขามาบุญครอง ช่างบอกว่าต้องลงโปรแกรมใหม่ ใช้เวลา 2 ชั่วโมงมารับเครื่องได้ หลังจากรับเครื่องไปใช้ได้เพียงหนึ่งวัน เครื่องก็มีอาการเดิมครับ”“วันที่ 17 ตุลาคม 2555 ผมนำเครื่องกลับไปที่ศูนย์มาบุญครองอีก ช่างแจ้งว่าต้องนำไปที่ศูนย์ทองหล่อ ซอย 9 เพื่อตรวจสอบ เพราะอาจเสียที่ฮาร์ดแวร์และเป็นศูนย์ใหญ่แน่นอนกว่า”“ในวันเดียวกันผมจึงเดินทางไปที่ศูนย์ทองหล่อซอย 9 ช่างยืนยันจะลงโปรแกรมให้เหมือนเดิม อ้างว่าศูนย์มาบุญครองอาจลงไม่ครบ”“หลังจากที่ผมรอ 2 ชั่วโมงกลับมารับเครื่อง ระหว่างตรวจสอบก่อนรับเครื่องคืน เครื่องก็มีอาการดับเอง บูทเครื่องเองอีก ต้องใช้เวลานานมากเพื่อให้ช่างรับเครื่องไว้ เพื่อให้ตรวจสอบฮาร์ดแวร์”“ช่างพยายามบอกให้ผมนำเครื่องกลับไปใช้ก่อน แต่ผมไม่มีความมั่นใจอีกแล้ว สุดท้ายเจ้าหน้าที่จึงรับปากจะตรวจสอบฮาร์ดแวร์ให้อย่างละเอียด บอกว่าใช้เวลา 3 วัน” วันที่ 19 ตุลาคม 2555 ครบกำหนดสามวันภูษิตกลับไปรับเครื่อง เมื่อเปิดเครื่องตรวจสอบเครื่องก็ดับต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของศูนย์โซนีเลย“ผมไปรับเครื่องตั้งแต่บ่ายสามโมงเย็น คุยจนศูนย์ปิดห้าโมงเย็น ถามเจ้าหน้าที่ว่าเครื่องมีปัญหาชัดเจนแบบนี้ทำไมไม่ทำอะไรให้ ช่างจึงรับปากว่าจะเปลี่ยนเมนบอร์ดให้ แต่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 อาทิตย์”“ผมไม่มีความมั่นใจในบริการอีกแล้ว เครื่องไม่สามารถใช้ได้ต้องรอนาน ศูนย์ไม่ใส่ใจในการแก้ปัญหา ผมเขียนอีเมล์ถึงบริษัทโซนี เพื่อขอให้รับซื้อสินค้าคืน และขอร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยติดตามเรื่องด้วยครับ” แนวทางแก้ไขปัญหาโดยทั่วไป ผู้ประกอบธุรกิจมักจะมีระยะเวลารับประกันสินค้าหากเกิดความชำรุดบกพร่องอันเนื่องจากสภาพตัวเครื่องหรือการใช้งานตามปกติ และมักจะใช้วิธีการซ่อมแล้วซ่อมอีกซ่อมไปเรื่อยๆ จนหมดระยะเวลารับประกัน หลังจากนั้นก็โบกมือบ๊ายบายแต่เดี๋ยวนี้มือถือนี่เหมือนรถยนต์ ราคาไม่ใช่ถูก จึงเป็นสินค้าที่เอามาขายต่อได้ ซื้อมาใช้ อยากเปลี่ยนใหม่ก็ขายต่อได้ แต่ถ้าต้องเจอแบบซื้อมาแป๊บเครื่องซ่อมแล้วซ่อมอีก ซ่อมก็ไม่หายจะเอาไปขายต่อใครก็ไม่ได้ เพราะเครื่องยังเจ๊งอยู่ซ่อมไม่หาย ใช้งานไม่ได้ ขายไม่ได้ ดังนั้นผู้ขายผู้ผลิตจึงต้องรับผิดชอบที่เกิดขึ้นซ่อมได้ หายก็จบ ซ่อมไม่ได้ก็ต้องคืนสินค้าและเรียกร้องค่าใช้จ่ายทั้งหมดคืนหลังจากที่ภูษิตส่งอีเมล์ถึงโซนี และได้แสดงอาการเสียและความล้มเหลวในการซ่อมให้เห็นอย่างแจ่มแจ้ง และได้แสดงความประสงค์อย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการเปลี่ยนสินค้าตัวใหม่เพราะขาดความมั่นใจในคุณภาพของสินค้า ท้ายที่สุดโซนีจึงให้บริษัททีจี เซลลูล่าร์เวิลด์ จำกัด ผู้จำหน่ายสินค้า ชำระเงินคืนทั้งหมดจำนวน 15,990 บาทคืนแก่ภูษิตจนเป็นที่เรียบร้อย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ตีค่าราคามนุษย์ เยียวยาความเสียหายหรือเอาเงินฟาดหัว?

วันที่ 17 เมษายน 2556 วันสุดท้ายของโครงการ 7 วันอันตราย ตามนโยบายของรัฐบาลบนถนนสายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร  หนุ่มสาวยังคงสนุกสนานกับการเล่นน้ำ ยิ่งรถติดยิ่งสนุกโครม!! เสียงรถเมล์สาย 15 ชนกับท้ายรถยนต์คันหนึ่ง แต่ไม่รุนแรงมากนัก ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ จึงมีการถ่ายผู้โดยสารจากรถเมล์ที่เกิดอุบัติเหตุมายังรถเมล์สายเดียวกันที่แล่นตามมา เมื่อรวมผู้โดยสารทั้งหมดมาอยู่ในคันเดียวกัน ทำให้เกิดความแออัดยัดเยียดเบียดกันมาถึงบริเวณด้านหน้ารถติดคนขับ“ผู้โดยสารด้านหน้าช่วยเขยิบด้วยครับ ผมมองกระจกข้างไม่เห็น” เสียงลุงคนขับรถเมล์ตะโกนบอกแต่ด้วยเสียงเครื่องยนต์ที่ดังทำให้ผู้โดยสารคนนั้นไม่ได้ยิน ลุงคนขับจึงขยับตัวเอื้อมมือไปสะกิดผู้โดยสารคนที่ยืนบังกระจกมองข้าง โดยที่รถยังแล่นด้วยความเร็ว และเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นโครม!!! ลุงคนขับล้มลง ทำให้มือที่จับพวงมาลัยอยู่นั้น หักเข้าชนต้นไม้ข้างทางเข้าอย่างจัง ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บกว่า 20 รายวันที่ 23 เมษายน 2556 บริษัทประกันภัยที่รับทำประกันไว้กับรถเมล์คันที่เกิดเหตุ ได้นัดผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บมาเจรจาค่าเสียหาย วันนั้นเป็นวันธรรมดาผู้บาดเจ็บแต่ละคนต้องลางานมา  เมื่อผู้จัดการบริษัทประกันภัยมาถึง“เอ้า .. ใครก่อนดีครับ?” ผู้จัดการบริษัทประกันภัยตะโกนร้องเรียกเหมือนมาแจกของที่โรงทาน“ชั้นก่อนละกัน เดี๋ยวต้องรีบไปเปิดร้านขายของต่อ” หญิงคนหนึ่งยกมือแสดงตัว “300 พอมั้ย” ผู้จัดการคนนั้นเสนอตัวเลข โดยไม่ถามถึงความเสียหาย หรืออาการบาดเจ็บเลยแม้แต่น้อย“บ้าเหรอ  300  ชั้นหน้าบวมปูดไปตั้งหลายวันนะ ไปทำงานก็ไม่ได้ ชั้นมีใบเสร็จนะ”“ใบเสร็จนี้มันใช้ไม่ได้ มันไม่ได้ลงวันที่ .. เอางี้ ผมให้ 1,000 บาท จบเรื่องเลย ถือว่าผมช่วยละกัน” ผู้จัดการคนเดิมตอบ“ 1,000 ก็ได้ ชั้นกลัวเสียเวลา” หญิงคนนั้นตอบเมื่อตกลงตัวเลขเงินค่าเสียหายกันได้ด้วยวิธีแบบที่ว่ามา ผู้จัดการบริษัทประกันภัย จะส่งเรื่องให้ลูกน้องอีก 2-3 คน ดำเนินการเรื่องการประนีประนอมยอมความ และจัดการให้ผู้เสียหายแต่ละรายลงลายมือชื่อยอมให้รับเงินและไม่ติดใจเอาความทางคดีทั้งแพ่งและอาญาต่อไป จากนั้นผู้จัดการบริษัทประกันภัยก็ทำสิ่งที่เรียกว่า การเจรจาเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บาดเจ็บ” แบบเดิมซ้ำๆ จนครบทั้ง 20 คนคำถามคือ มาตรฐานการชดเชยเยียวยาของประกันภัยในอุบัติเหตุรถโดยสารอยู่ตรงที่ไหน? อยู่ที่ความเขี้ยวของตัวแทนประกัน หรือควรอยู่บนที่ตั้งแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้น แนวทางแก้ไขปัญหาดร.สุเมธ  องกิตติกุล  แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการศึกษา “อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ : ผลกระทบ การประกันภัย การชดเชยเยียวยา” ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้เปิดเผยว่า การชดเชยเยียวยาต่อผู้ประสบอุบัติเหตุจากระบบประกันภัยนั้นพบว่า วงเงินค่าเสียหายยังไม่มีความเหมาะสมเท่าที่ควรนอกจากนั้น ยังพบปัญหาการขาดการเชื่อมโยงระหว่างบริษัทประกัน ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตอย่างบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)  และบทบาทของบริษัทประกันมีอยู่น้อยในการสร้างระบบตรวจสอบ และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารจากการกำหนดเบี้ยประกัน ดังนั้นจึงเสนอให้มีการกำกับดูแลผู้ประกอบการ ทั้งผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตและผู้ประกอบการที่ร่วมบริการอย่างเข้มงวด รวมถึงให้เข้มงวดในการให้ใบอนุญาตที่พิจารณาถึงประวัติด้านอุบัติเหตุด้วย นอกจากนี้ยังต้องสร้างกลไกของบริษัทประกันภัยในการกำหนดเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของผู้ประกอบการแต่ละรายด้วยนอกจากนี้ ดร.สุเมธได้เสนอให้มีการปรับปรุงเงินชดเชยเยียวยาความเสียหายสำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หรือประกันภัยภาคบังคับที่รถยนต์ทุกคันต้องทำ โดยให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากไม่เกิน 15,000 บาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนค่าชดเชยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร ให้กับจาก 200,000 บาทเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาท และหากสูญเสียอวัยวะหรือพิการ ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตควรปรับให้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 240,000 บาทและระบบประกันภัย ควรปรับปรุงแก้ไขอุปสรรคปัญหาในการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้ประสบอุบัติเหตุ ได้แก่ ความล่าช้าในการพิสูจน์ถูก-ผิด และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การติดต่อประสานงานที่ไม่มีใบเสร็จ ทำให้ใช้เรียกร้องค่าเสียหายได้ยากด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 การเรียกความเสียหายในอุบัติเหตุรถโดยสาร

ตีหนึ่งครึ่ง ของคืนวันที่ 11 ตุลาคม 2554รถทัวร์สองชั้นของบริษัท ทรัพย์ไพศาลทัวร์ รับผู้โดยสารรวม 40 ชีวิต จาก จ.พัทลุง มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ แล่นมาถึงเขต อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ผู้โดยสารที่ยังไม่หลับเห็นว่าข้างหน้าเป็นทางแยก อ.ท่าแซะ มีรถบรรทุก รถทัวร์หลายคันจอดติดไฟแดงอยู่ แต่แทนที่รถทัวร์ที่โดยสารมา ซึ่งกำลังแล่นเข้าโค้งลงเนินก่อนถึงทางแยกจะชะลอความเร็วของรถลง และดูเหมือนว่าคนขับพยายามเบรกรถแต่รถกลับไม่เบรกดังใจ จึงตัดสินใจหักพวงมาลัยหลบรถด้านหน้า ทำให้รถทัวร์ขนาดสองชั้นพุ่งขึ้นเกาะกลางถนนพลิกคว่ำในชั่วพริบตาผู้โดยสารที่อยู่ในรถ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก ต่างร้องขอความช่วยเหลือระงม หลายรายได้รับบาดเจ็บ แขนขาหัก ศีรษะแตก เนื้อตัวมีบาดแผลถลอก เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เร่งเข้าช่วยเหลือผู้โดยสารออกจากตัวรถที่ล้มคว่ำตะแคง บางรายยังติดอยู่ในตัวรถ เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องใช้เครื่องตัด ถ่าง ตัดตัวถังรถเพื่อช่วยชีวิตของผู้โดยสารอย่างทุลักทุเลกรรณิการ์ เป็นหนึ่งในผู้โดยสาร เธอได้รับบาดเจ็บเจียนตายหากไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างทันท่วงที หลังเข้ารับการรักษาพยาบาล แพทย์ตรวจพบอาการบาดเจ็บหลายแห่ง กระดูกซี่โครงหัก 5 ซี่ แทงปอดฉีกขาด ต้องใส่สายระบายของเสีย กระดูกเบ้าตาขวาแตก ต้องแย็บแผลรอบดวงตา 3 เข็ม กระดูกสะบักขวาและกระดูกแขนขวาหักสะบั้น เส้นประสาทโดนทำลาย 3 เส้น จนไม่สามารถใช้แขนและมือหยิบจับสิ่งของได้ตามปกติ เขียนหนังสือหรือพิมพ์ดีดไม่ได้ เวลานอนต้องนอนหงายอย่างเดียว  เธอรู้สึกว่า ร่างกายเหมือนถูกบดแทบจะเป็นผุยผง นี้เป็นภาพชีวติหนึ่งของผู้โดยสาร 40 ชีวิต อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในดึกคืนนั้นทำให้มีผู้บาดเจ็บ 33 ราย และเสียชีวิตถึง 7 ราย แนวทางแก้ไขปัญหากรรณิการ์ ติดต่อร้องขอความช่วยเหลือมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอเรียกความเสียหายจากบริษัทรถและบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรเมื่อเกิดขึ้นอุบัติเหตุ ใครหลายคนมักทำอะไรไม่ถูก มีคำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติดังนี้ผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แม้จะมีสิทธิบัตรทอง บัตรข้าราชการ หรือสิทธิอื่นใด อย่าเพิ่งไปใช้ให้ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ. รถฯ) ก่อนเป็นลำดับแรก ความคุ้มครองที่จะได้รับ คือ1. ค่ารักษาพยาบาล ที่เกิดขึ้นจริงรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท เงินส่วนนี้โรงพยาบาลที่ผู้ประสบภัยไปรับการรักษาจะเป็นผู้ทำเรื่องรับแทน2. ค่าปลงศพ กรณีที่มีการเสียชีวิต ให้ทายาทโดยธรรม เช่น พ่อ-แม่ หรือคู่สมรส ติดต่อขอรับจากบริษัทประกันภัยซึ่งรถที่เกิดเหตุแต่ละคันทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.รถ) เช่นเดียวกัน จำนวนรายละ 2 แสนบาท (ทั้งนี้รวมค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนเสียชีวิตด้วยหากมี) ค่าใช้จ่ายจำนวนนี้รวมไปถึงกรณีสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวรด้วย3. เงินชดเชยรายวันกรณีต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล วันละ  200 บาท  รวมกันไม่เกิน 20 วัน (ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ตัวแทนบริษัทประกันมักไม่บอกให้ทราบ และโรงพยาบาลไม่ได้ยุ่งเกี่ยวด้วย ผู้ป่วยจึงควรเบิกเสียให้ครบ อย่างน้อยๆ ก็มีมูลค่าถึง 4,000 บาท )ความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ. รถฯ) ผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นตัวผู้โดยสารเองหรือทายาท สามารถติดต่อขอเบิกได้จากบริษัทประกันภัยซึ่งรถโดยสารที่เกิดเหตุแต่ละคันจะต้องทำประกันภัยนี้ไว้เนื่องจากเป็นประกันภัยภาคบังคับ หากมีปัญหาสะดุดติดขัดประการใด ให้ติดต่อไปที่สายด่วนประกันภัย 1186 หรือติดต่อ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด โทร 0-2100-9191ทีนี้ ยังมีความเสียหายอื่นๆ อีก ที่ผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุควรได้รับการชดเชยจากบริษัทรถและบริษัทประกันภัย แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ดูแลเฉพาะค่ารักษาและค่าปลงศพซึ่งจำกัดวงเงินไว้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเพิ่มเติม ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องได้จากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจที่รถโดยสารคันนั้นมีอยู่ หากไม่มีกรมธรรม์ในส่วนนี้ก็ให้เรียกร้องโดยตรงกับบริษัทเจ้าของรถโดยสารและบริษัทขนส่งจำกัดได้ ความเสียหายที่สามารถเรียกได้จากประกันภัยรถภาคสมัครใจหรือจากบริษัทรถ กรณีบาดเจ็บ กรณีเสียชีวิต - ค่ารักษาพยาบาลที่เกินจาก พ.ร.บ.รถ- ค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานในอนาคต- ค่าเสียหายอย่างอื่นที่มิใช่ตัวเงิน- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ระหว่างเจ็บป่วย - ค่าความเสียหายต่อทรัพย์สิน - ค่าขาดไร้อุปการะ - ค่าปลงศพ- ค่าใช้จ่ายอันจำเป็น- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย- ค่าขาดการงานในครัวเรือน ข้อควรระวัง ให้ระมัดระวังการลงลายมือชื่อรับค่าสินไหมทดแทนเบื้องต้นจากบริษัทรถยนต์หรือบริษัทประกันภัย หากมีเงื่อนไขในเอกสารการรับเงินหรือเอกสารข้อตกลงใด ๆ ว่า ให้ยินยอมรับเงินค่าเสียหายโดยไม่ติดใจเอาความกับบริษัทรถยนต์ เจ้าของบริษัทรถยนต์ บริษัทประกันภัย หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ในกรณีที่การเจรจาค่าเสียหายยังไม่เป็นที่ยุติ แต่หากผู้เสียหายได้ลงลายมือชื่อยินยอมไปแล้ว จะทำให้ไม่สามารถนำเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับศาลได้ ในกรณีของคุณกรรณิการ์ มูลนิธิฯได้แนะนำให้รวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมดและตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเงิน คุณกรรณิการ์ได้สรุปรวมตัวเลขที่ต้องการเรียกร้องกับบริษัทประกันภัยเป็นจำนวนเงินรวม 5 แสนบาท และยื่นข้อเสนอไปที่บริษัทประกันภัย ซึ่งบริษัทประกันภัยเจรจาต่อรองลดเหลือ 450,000 บาท คุณกรรณิการ์ตกลง เรื่องจึงเป็นอันยุติในขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ย ไม่ต้องเสียเวลาเทียวไปเทียวมาที่สถานีตำรวจหรือไปฟ้องร้องต่อศาล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 ตื่นเถิด กกพ.

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ที่ส่งผลให้มีผู้คนเดือดร้อนเสียหายจำนวนมาก  และที่สำคัญคือมีผู้เสียชีวิต ด้วยเหตุถูกไปช้อตตาย 100 กว่าคน ถือว่ามีคนตายด้วยเหตุนี้มากที่สุดในโลก  พูดถึงไฟฟ้า วันนี้ผู้เขียนมีเรื่องที่เกี่ยวกับไฟฟ้าที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง  เอาตั้งแต่โครงสร้างไฟฟ้าในบ้านเรา  ประเทศไทยเรามี พรบ. กำกับกิจการพลังงาน(ที่กำกับโครงสร้างทั้งราคาและบริหารน้ำมันไม่ได้เพราะเขียนกฎหมายยกเว้นน้ำมันไม่ให้อยู่ใน พรบ.นี้) เรามีกระทรวงพลังงาน(ที่กำลังวุ่นวายกรณีจะลอยตัวราคาแก๊ส) แต่น่ามหัศจรรย์มาก เพราะกระทรวงพลังงานดูแลได้แค่ ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเท่านั้น    ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยจะไม่ให้ว่ามันมหัศจรรย์ได้อย่างไร  ในเมื่อนโยบายกระทรวงพลังงานเป็นผู้ดูแล  แต่การบริหารจัดการมหาดไทยดูแล  โอ้ย...ยิ่งคิดยิ่งซับซ้อนเอา...มาเข้าเรื่องที่จะคุยวันนี้ดีกว่า   เรื่องมีอยู่ว่ามีกรณีผู้ใช้ไฟฟ้า ที่มีเหตุอันที่ทำให้ไปจ่ายค่าไฟฟ้าไม่ตรงเวลา แล้วถูกตัดไฟ   เมื่อไปจ่ายเงินและขอให้มาต่อมิเตอร์ไฟฟ้า  ผู้ร้องต้องเสียค่าต่อไฟฟ้า 107 บาท(บวกภาษี) ซึ่งเป็นที่รู้กัน แต่ก็มีกรณีซ้อนกรณีเข้ามาอีกนั่นคือ ไฟฟ้ายังไม่โดนตัดแต่ไปจ่ายไฟฟ้าเลยกำหนดก็ถูกเรียกเก็บ 107 บาท เช่นกัน   ซึ่งกรณีนี้มีผู้ร้องเรียนว่าเมื่อไฟฟ้ายังไม่ได้ไปตัดไฟ  ก็ยังไม่มีค่าใช้จ่ายแล้วมาเรียกเก็บเงินเขาค่าอะไร เรื่องนี้มีการร้องเรียนไปถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ(กกพ.)  จนนำไปสู่การทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กกพ.และไฟฟ้า  ว่าไฟฟ้าจะเรียกเก็บ 107 บาทได้เฉพาะกรณีมีการตัดไฟฟ้าจริงแล้วเท่านั้น(ไฟฟ้าไม่ดับปรับ 107 ไม่ได้) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่กลางปี 2554  ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี  แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น   ฝ่ายปฏิบัติ(การเงิน)ของการไฟฟ้าในหลายที่(ตามข้อมูลร้องเรียน)ยังเก็บเงิน107 บาท โดยไม่สนใจว่าไฟฟ้าจะถูกตัดหรือไม่ตัด   ยึดเพียงวันที่ตามบิลเรียกเก็บเงินเป็นหลักหากเลยวันที่กำหนดเรียกเก็บทันทีป้าอ้วน(คนที่มาร้องเรียนและเป็นคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตด้วย)เล่าให้ฟังว่า “ฉันเถียงเขาว่าฉันออกจากบ้านมาไฟฟ้าที่บ้านฉันยังไม่ถูกตัดเลย ทำไมมาเก็บเงินฉัน  ก็กกพ.มีข้อตกลงกับไฟฟ้าแล้วว่าไฟฟ้ายังไม่ถูกตัดจะไม่เก็บ 107 บาท”   เจ้าหน้าที่ตอบกลับมาว่าไม่สนใจข้อตกลงอะไรทั้งนั้นทำตามหน้าที่ไม่พอใจไปฟ้องร้องเอาผู้เขียนในฐานะประธานผู้ใช้พลังงานเขต  จึงได้ทำหนังสือไปหารือกับ กกพ.ถึงข้อตกลงที่ไฟฟ้าไม่ปฏิบัติตามก็ได้คำตอบว่า กกพ.ได้ทำหนังสือไปถึงการไฟฟ้าแล้ว 3 ฉบับ ในขณะที่มีเรื่องร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง   รายใดร้องเรียนก็จะได้เงินคืนรายใดไม่ร้องก็เสียเงินฟรี  เราก็ทำหนังสือกระตุ้นเข้าไปอีก  เพื่อให้ กกพ.ที่มีหน้าที่กำกับดูแลทำงานตามหน้าที่ ที่ต้องทำ  ไม่ใช่เข้ามานั่งเสวยสุขกันไปวันๆขอแรงพวกเราช่วยกันร้องเรียนและเฝ้าระวังให้องค์กรที่มีหน้าที่ ได้ทำงานตามหน้าที่(กันบ้าง?) คิดถึง พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จัง เมื่อไหร่จะคลอดเสียที.. จะได้มาช่วยดันก้น องค์กรเหล่านี้ให้ทำงานได้จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 แอร์หรือระเบิดเวลา?

ซื้อแอร์ใหม่ราคา 2 หมื่นเศษ แทนที่จะทำงานเย็นเฉียบเงียบสนิท ให้ความรู้สึกรื่นรมย์ในยามพักผ่อนหลับนอน แอร์เจ้ากรรมกลับมีเสียงดังติ๊กๆ น่ารำคาญหูเล็ดลอดตลอดเวลา พาอารมณ์หงุดหงิด สะกิดหัวใจ ฟังไปเรื่อยๆ ยิ่งหนัก คิดว่ากำลังนอนหลับกับระเบิดเวลา ลุ้นและเครียดเอาเรื่องเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา คุณสุรพิเชษฐ์ ได้ซื้อเครื่องปรับอากาศยี่ห้อไดกิ้น รุ่น F13 HV2S ในราคา 21,000 บาท จากบริษัท เจเอสบี แอร์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัดหลังจากให้ช่างมาติดตั้งเสร็จสรรพ เปิดใช้งานกะว่าเย็นฉ่ำสบายอารมณ์แน่ พอแอร์เริ่มทำงาน ความเย็นค่อยๆไหลไล่ความร้อนให้หลบหนี“อืม เย็นจัง” กำลังเคลิ้มๆ กับความเย็นแต่ก็ต้องร้องเอ๊ะ“ติ๊ก ติ๊ก ติ๊กๆๆๆๆ” มันดังไม่หยุด ดังอยู่ตลอดเวลาที่แอร์เปิดทำงานคุณสุรพิเชษฐ์เงี่ยหูฟังเสียงไม่พึงประสงค์แทรกเข้ามาพร้อมความเย็นฉ่ำจากการทำงานของแอร์ที่เพิ่งซื้อมา“เสียงอะไร เสียงจากไหน” คิดในใจพร้อมกับลองปิดแอร์เงียบ...! “ไหนลองเปิดอีกครั้งสิ”“ติ๊ก ติ๊ก ติ๊ก...” เสียงที่น่ารำคาญดังมาทันทีวันนั้นคุณสุรพิเชษฐ์ ลองปิด-เปิดแอร์อยู่หลายครั้ง และทุกครั้งก็มีเสียงดังติ๊กๆ ออกมา เหมือนว่าเป็นมาตรฐานติดมากับแอร์เครื่องนี้เมื่อพบความผิดปกติ จึงได้แจ้งบริษัท เจเอสบี แอร์ แอนด์ เซอร์วิส ให้ส่งช่างมาตรวจสอบ หลังจากที่ช่างมาตรวจสอบอยู่ครู่ใหญ่ จึงได้มีคำตอบที่น่าผิดหวังว่า เสียงติ๊กๆ ที่เกิดขึ้นช่างไม่สามารถซ่อมได้ ต้องให้ช่างของบริษัทไดกิ้นโดยตรงมาซ่อมให้ ซึ่งบริษัทเจเอสบีฯ จะติดต่อกับไดกิ้นให้ส่งช่างมาซ่อมต่อมาช่างของไดกิ้นเข้ามาซ่อมแก้ไขแอร์ โดยสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากเสียงของแผ่นพลาสติกที่ไปกระทบกันภายในเครื่องแอร์ จึงใช้แผ่นกำมะหยี่เป็นวัสดุแทรกกันการกระแทกสั่นไม่ให้เกิดเสียงดัง ปรากฏว่าเช้าวันต่อมาแอร์ที่เพิ่งซ่อมไปมีน้ำหยดออกมาจากตัวเครื่องคุณสุรพิเชษฐ์รู้สึกว่าเช้านั้นเซ็งอารมณ์สุดๆ“แอร์ซื้อมาใหม่ๆ แท้ๆ ครับ ใช้ไม่กี่วันก็ต้องเรียกให้ช่างมาซ่อมแล้วซ่อมอีก”“ช่างที่มาซ่อมบอกว่าที่บ้านก็ใช้แอร์รุ่นนี้ก็มีเสียงดังเหมือนกัน”เมื่อนำเหตุผลทั้งหมดมารวมกัน ความไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์สินค้าจึงเกิดขึ้น จึงได้ติดต่อไปที่บริษัทไดกิ้นเพื่อจะขอเปลี่ยนแอร์รุ่นใหม่ หลังติดต่อไปบริษัทก็ไม่ได้แสดงท่าทีตอบรับหรือปฏิเสธที่ชัดเจน ทำให้คุณสุรพิเชษฐ์มีความกังวลและคิดว่าบริษัทไดกิ้นอาจจะไม่ยอมเปลี่ยนแอร์รุ่นใหม่ให้ จึงโทรปรึกษามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาหลังรับฟังปัญหาของผู้บริโภคจนได้รายละเอียดเสร็จสิ้น เราจึงแนะนำให้คุณสุรพิเชษฐ์รีบทำจดหมายไปที่บรัทไดกิ้นโดยทันที โดยให้ระบุเนื้อหาในจดหมายว่า ผู้บริโภคได้ซื้อแอร์เครื่องใหม่และเลือกยี่ห้อไดกิ้นก็เพราะว่า เป็นสินค้าที่ดีมีมาตรฐาน แต่เมื่อใช้ไปได้ไม่กี่วัน เครื่องมีอาการผิดปกติ มีเสียงดังเล็ดลอดออกมาตลอดเวลาที่เครื่องเปิดใช้งาน การที่ได้ซื้อแอร์เครื่องนี้ในราคาเป็นหมื่น เพราะประสงค์ที่จะได้แอร์ที่ดีมีคุณภาพพร้อมทั้งมาตรฐานที่ดี เพื่อนำความสุขมาให้ครอบครัว แต่เมื่อแอร์เกิดปัญหาเช่นนี้โดยไม่ใช่ความผิดจากการใช้งานของผู้บริโภค บริษัทที่มีความรับผิดชอบจะต้องทำการเปลี่ยนเครื่องให้ใหม่ เพื่อที่จะรักษาชื่อเสียงและยี่ห้อของสินค้าให้คงอยู่ตลอดไป จึงขอให้ทางบริษัทไดกิ้นฯ ช่วยพิจารณาดำเนินการเปลี่ยนแอร์เครื่องใหม่ให้ด้วยหลังจากที่ได้ทำจดหมายออกไป ปรากฏว่าบริษัทไดกิ้น ได้แสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคด้วยการแจ้งว่า บริษัทยินดีที่จะเปลี่ยนแอร์เครื่องใหม่ให้กับคุณสุรพิเชษฐ์โดยไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใดใครที่มีปัญหาซื้อสินค้าใหม่ใช้งานแล้วไม่ได้ผลหรือเกิดปัญหาจนต้องเรียกช่างมาซ่อมแซมแก้ไข หากต้องการจะให้บริษัทเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ ลองใช้วิธีนี้ดู  ไม่สงวนลิขสิทธิ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 การบินไทยช่วยผู้โดยสารหลีกภัยนิวเคลียร์?

ยอมเปลี่ยนวันและเส้นทางบิน ปลอดค่าธรรมเนียมเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เมืองฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม 2554 นอกจากจะสร้างความสูญเสียให้ชาวอาทิตย์อุทัยเกือบทั้งเกาะแล้ว ยังสร้างความเสียหายให้กับสองแม่ลูกที่ตั้งใจจะเดินทางไปเที่ยวชมประเทศญี่ปุ่นในช่วงนั้นอีกด้วย แม้จะเป็นความเสียหายที่ดูเล็กๆ เมื่อเทียบกับการเจ็บการตายและบ้านที่พังถล่มทลายของชาวเมืองซากุระ แต่เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภค ทุกเรื่องที่เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถือเป็นเรื่องสำคัญเท่าเทียมกัน คุณไปรยา(นามสมมติ) เป็นสมาชิกสะสมไมล์รอยัลออร์คิด พลัส ของสายการบินไทย อุตส่าห์ดีใจได้แลกรางวัลไมล์สะสมเพื่อเดินทางไปยังกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นพร้อมคุณแม่ โดยมีกำหนดเดินทางไปในวันที่ 31 ตุลาคม 2554 และกลับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 ด้วยอากาศที่หนาว กับภาพหิมะที่ปลิวในสายลม เป็นช่วงการเดินทางที่ทำให้คนในเมืองไทยต้องอิจฉาแต่พอเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดไปหลายเตา ภาพปุยหิมะขาวๆ ละลายเป็นน้ำไปทันที นั่ง นอน ค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก็มีแต่ข่าวไม่ดี การแก้ไขปัญหาไม่มีความคืบหน้า นึกเห็นแต่ภาพเหยื่อกัมมันตภาพรังสีที่น่าขนพองสยองขวัญ“ไม่เอาแล้วโตเกียวเราเปลี่ยนเป้าหมายไปกรุงโซล เกาหลีใต้ ดีกว่า โซนเดียวกัน หนาวเหมือนกัน” เธอบอกกับแม่ คุณไปรยา จึงแจ้งกับการบินไทยเพื่อจะขอเปลี่ยนการเดินทางไปกรุงโซลแทนในวันที่ 2 ธันวาคม และกลับในวันที่ 10 ธันวาคม 2554 การบินไทยบอกเปลี่ยนได้แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 40 ดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นเงินไทยตกราว  1,200 บาทคุณไปรยาจึงถามกลับไปว่าทำไมต้องคิดค่าธรรมเนียมด้วย ใจน่ะอยากไปญี่ปุ่นแต่กลัววิกฤตินิวเคลียร์จะมาทำร้ายสุขภาพร่างกายของฉันกับแม่ฉันน่ะ เข้าใจไหม และการเดินทางก็อยู่ในโซนเดียวกันทำไมต้องมาคิดค่าธรรมเนียมกันด้วย และถ้าจะรอให้การบินไทยมีนโยบายอนุญาตให้เปลี่ยนตั๋วได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ก็มักจะประกาศในช่วงเวลาใกล้ๆ การเดินทาง ถึงตอนนั้นก็อาจหาตั๋วไม่ได้แล้ว และต้องเสียสิทธิสะสมไมล์ในท้ายที่สุดฝ่ายหนึ่งขอไม่ให้เก็บเพราะเป็นเหตุการณ์พิเศษ การบินไทยน่าจะเห็นใจลูกค้า แต่การบินไทยแจ้งว่าต้องเก็บเพราะเป็นระเบียบ คุยกันไม่จบ...เรื่องจึงมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในท้ายที่สุด แนวทางแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีจดหมายแจ้งไปถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท การบินไทย จำกัด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 เพื่อขอให้พิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมเป็นกรณีพิเศษให้กับผู้โดยสาร ต่อมาวันที่ 23  สิงหาคม 2554 คุณอมรา  ลีสวรรค์ ผู้จัดการกองบริการสมาชิกรอยัลออร์คิดพลัสของสายการบินไทย ได้มีหนังสือตอบกลับมา แจ้งว่า ทางการบินไทยได้พิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวันเดินทางและเปลี่ยนแปลงเส้นทางบินเป็นกรุงเทพฯ – โซล – กรุงเทพฯ ตามที่ผู้โดยสารประสงค์ โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม พร้อมทั้งชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่า โดยปกติการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการคืนไมล์ 3,750 บาท ต่อ 1 ฉบับ และทำบัตรโดยสารใหม่ในเส้นทางใหม่ และการเปลี่ยนวันเดินทางต้องเสียค่าธรรมเนียม 1,200 บาทต่อการเปลี่ยน 1 ครั้ง แต่ทั้งนี้การเปลี่ยนเส้นทางจะต้องทำการออกบัตรโดยสารใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดค่าภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้น โดยอัตรานี้อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะขึ้นอยู่กับราคาภาษีน้ำมันและวันที่ออกบัตรโดยสารใหม่ (โดยประมาณ 2,130 บาทต่อฉบับ) ซึ่งในส่วนนี้ผู้โดยสารจะต้องรับผิดชอบเอง เมื่อได้ทราบข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว และได้ตรวจสอบสถานการณ์ปัญหาวิกฤตินิวเคลียร์ว่าคลี่คลายไปมากคุณไปรยาจึงเปลี่ยนใจขอไปโตเกียวเหมือนเดิม มูลนิธิฯ ขอขอบคุณการบินไทยที่ใส่ใจสิทธิของลูกค้าเป็นอย่างดี ขอให้คุณไปรยาและคุณแม่เดินทางโดยปลอดภัยและไม่เอานิวเคลียร์มาเป็นของฝากกันนะขอรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 แสนสิริแพ้คดีบ้านไม่ได้มาตรฐาน ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 2 แสนบาท

 ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2548ในวันนั้น ด้วยความชื่นชมหลงใหลในแบบบ้านและคำโฆษณาของโครงการบ้านเศรษฐศิริ-รามอินทรา ซึ่งรับประกันคุณภาพด้วยชื่อเสียงของบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) คุณสุริยุ  และครอบครัวได้ตัดสินใจทำสัญญาซื้อบ้านหนึ่งหลังจากโครงการฯ ราคา 6,690,000 บาท พร้อมรับประกันการซ่อมแซม 1 ปีเมื่อรับโอนกรรมสิทธิบ้านกันเรียบร้อย คุณสุริยุก็ฮัมเพลง “บ้านคือวิมานของเรา” ขนข้าวของและพาสมาชิกครอบครัวเข้าพักอาศัยด้วยหัวใจอิ่มเอิบสมหวังแต่อยู่มาไม่นานสมาชิกของบ้านหลังนี้ก็ค่อยๆ พบว่า บ้านมีจุดชำรุดบกพร่องหลายแห่งผู้เสียหายได้พบว่า บ้านราคาเหยียบ 6.7 ล้านบาทหลังนี้มีความชำรุดบกพร่องหลายแห่งเวลาฝนตกหนักๆ น้ำรั่วเข้าห้องแม่บ้านทุกครั้ง ทำให้วอลเปเปอร์และเฟอร์นิเจอร์ในห้องได้รับความเสียหายเมื่อช่วยดูกันดีๆ พบว่าน้ำฝนรั่วเข้าทางวงกบประตูและหน้าต่าง ส่วนหลังคาด้านระเบียงบ้านชั้นล่างก็มีน้ำฝนรั่วซึม นอกจากนี้ยังมีการแตกร้าวของปูนตามผนังรอบตัวบ้าน ผนังบันไดและรั้วบ้าน มีการแตกร้าวของประตูห้องนอนและห้องน้ำ และยังพบว่าขนาดของประตูไม่มาตรฐานตามที่ใช้ในท้องตลาดต้องสั่งทำพิเศษ ส่วนชานบันไดชั้นสองช่างติดตั้งไม่ได้มาตรฐานเวลาเดินมีเสียงดังออดแอด พอขึ้นไปดูชั้นสอง พื้นชั้นสองปูด้วยไม้วีเนียร์ ปูไม่แน่นทำให้เวลาเดินพื้นจะยุบตัวลงและมีเสียงดัง ขณะที่ตามรายการวัสดุมาตรฐานท้ายสัญญาจะซื้อจะขายระบุว่าต้องเป็นพื้นไม้ปาร์เก้ แต่ที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดซึ่งมาพบในภายหลัง คือ มีการก่อสร้างบ้านผิดแบบแปลนจากที่ได้ทำสัญญาตกลงกัน จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่ว่ามา เนื่องจากแบบแปลนบ้านไม่ตรงนั่นเอง คุณสุริยุ จึงได้แจ้งให้บริษัทฯ เข้ามาซ่อมแซมและแก้ไข ซึ่งบางแห่งก็สามารถซ่อมแซมได้  แต่บางแห่งซ่อมแซมแล้วอาการยังเป็นเหมือนเดิม คุณสุริยุได้แจ้งบริษัทฯ มาตลอดเพื่อให้ซ่อมแซมอาการชำรุดให้แล้วเสร็จ แต่บริษัทฯไม่ดำเนินการแก้ไข  และพยายามผัดวันประกันพรุ่งมาตลอดท้ายสุด จึงตัดสินใจนำเรื่องยื่นฟ้องบริษัท แสนสิริฯ เป็นคดีผู้บริโภคที่ศาลแขวงมีนบุรีด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน  2552   ฐานผิดสัญญา เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน  258,448  บาท  และขอให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัทฯ ต้องส่งมอบแปลนบ้านที่ถูกต้องให้ด้วย หรือหากส่งมอบไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน  20,000 บาทแทนฝ่ายบริษัทแสนสิริที่ตกเป็นจำเลย ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่าการก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลนและยกเรื่องอายุรับประกันบ้านขึ้นต่อสู้ว่าการรับประกันการซ่อมเนื่องจากการก่อสร้างนั้นมีกำหนดระยะเวลาถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549  เท่านั้น และยังอ้างว่าบ้านชำรุดบกพร่องเกิดจากการใช้งาน หรือการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของวัสดุซึ่งเจ้าของบ้านมีหน้าที่ต้องดูแลระมัดระวังและบำรุงรักษาในระหว่างการใช้งาน จึงขอปฏิเสธค่าเสียหายที่เรียกมา ขอชดใช้ค่าเสียหายเพียง 30,000 บาทศาลแขวงมีนบุรีได้นัดไกล่เกลี่ย 3 ครั้ง ในช่วงเดือน มกราคม , มีนาคม และ พฤษภาคม 2553  ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลจึงนัดสืบพยานจำเลยและสืบพยานโจทก์ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2554แม้การฟ้องคดีผู้บริโภค ผู้บริโภคจะสามารถฟ้องคดีด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องใช้ทนายความ แต่เมื่อถึงขั้นที่ต้องพิจารณาคดีมีการสืบพยานกัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน คุณสุริยุจึงร้องมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องมาถึงขั้นนี้ จำเป็นต้องส่งผู้บริโภคให้ถึงฝั่ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงต้องจัดหนักทนายความจากศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคของมูลนิธิฯ ได้เข้าช่วยเหลือผู้บริโภครายนี้ในการพิจารณาคดี  และมีการสืบพยานเสร็จสิ้นในวันที่ 1 เมษายน 2554 วันที่ 26 พฤษภาคม 2554 คือวันประกาศชัยของผู้บริโภคศาลนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาตัดสินให้บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคเป็นเงิน 196,674.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันที่ฟ้องเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2552 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ส่งมอบแบบแปลนที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค  หรือถ้าไม่ส่งมอบก็ให้ใช้ราคาค่าจ้างเขียนแบบแปลนใหม่แทนจำนวน  20,000  บาท  พร้อมให้บริษัทจ่ายค่าทนายความจำนวน 5,000 บาท แทนผู้บริโภคด้วย ถือเป็นคำพิพากษาที่ค่อนข้างจัดหนักเช่นกัน บริษัท แสนสิริ ในฐานะจำเลยไม่อุทธรณ์  ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้บริโภคทั้งหมดที่ศาลมีนบุรีในวันที่ 7 กันยายน 2554“รู้สึกพอใจคำพิพากษาอย่างมากที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่า  ไม่ควรเอาเปรียบผู้บริโภค  และคิดว่ากระบวนการทางกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่  และขอบคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ให้ความช่วยเหลือด้านคดีโดยจัดหาทนายความให้  และสนับสนุนให้มีองค์กรที่เป็นประโยชน์ให้อยู่คู่กับผู้บริโภคต่อไป” คุณสุริยุกล่าวด้วยความซาบซึ้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 ลูกค้า 3BB เจ็บแล้วอย่าแค่จำ

หากไม่ได้ใช้บริการและมีความเสียหาย ฟ้องคดีผู้บริโภค ดีที่สุดจากกรณีที่บริษัท ทริปเปิลทรี อินเทอร์เน็ต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 3BB ได้ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 12,000 รายการกระทำของบริษัท ทริปเปิลทรีฯ ที่ยกเลิกการให้บริการมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมโดยไม่ได้แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการทั่วประเทศ ถือเป็นการกระทำที่ขาดจริยธรรมทางการค้าเป็นอย่างยิ่งที่สังคมควรร่วมกันประณามและมีมาตรการลงโทษ ที่สำคัญยังเป็นการกระทำผิดทั้งด้านสัญญาและการโฆษณา คือนอกจากจะไม่ให้บริการตามสัญญาทั้งๆ ที่มีการเรียกเก็บเงินค่าบริการไปแล้ว ยังมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคด้วยการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง ด้วยการใช้ข้อความว่า “ต้องได้ทุกที่ ทุกแห่ง... ทั่วประเทศ 6 MB” ถือเป็นการกระทำผิดต่อผู้บริโภคที่ชัดแจ้งเป็นอย่างยิ่ง แนวทางแก้ไขปัญหาในขณะที่กำลังรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ขณะนี้พบว่าผู้ใช้บริการจำนวนมากที่ถูกระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจต่างได้รับความเสียหายกันโดยถ้วนหน้า โดยที่ยังไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาใดๆ จากผู้ให้บริการรายนี้เลย เห็นว่าผู้ใช้บริการควรมีมาตรการลงโทษบริษัท ทริปเปิ้ลทรีฯ ด้วยการใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ และสามารถเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเป็นรายวันได้อีกด้วย โดยสามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคกับศาลยุติธรรมที่ประจำอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ที่ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนได้เลยเพราะถือว่าได้เกิดเหตุการผิดสัญญา ณ ที่จังหวัดนั้น โดยการยื่นฟ้องผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมใดๆ การฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคสามารถไปยื่นฟ้องด้วยตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความในขั้นตอนยื่นฟ้องก็ได้ เพราะศาลทุกแห่งจะจัดให้มีเจ้าพนักงานคดีคอยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคที่ต้องการใช้สิทธิฟ้องร้องเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังอาจขอให้ศาลใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวด้วยการให้มีการเปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตแก่ผู้ใช้บริการได้ และกรณีนี้น่าจะเข้าข่ายการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจที่มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ผู้บริโภคที่ยื่นฟ้องสามารถขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นอีกได้“สำหรับผู้บริโภคที่มีความกังวลในการยื่นฟ้องด้วยตนเองสามารถติดต่อขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือดำเนินการได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายที่เบอร์โทรศัพท์ 02-2483734-7 หรือติดต่อที่ www.consumerthai.org”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 นมยูเอชทีบูด จะเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

เที่ยงวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม 2553 ณ ห้างกาฬสินธุ์พลาซ่า จังหวัดกาฬสินธุ์คุณวัลภาซื้อผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ ยูเอชที รสสตรอเบอรี่ ขนาด 225 ซีซี จำนวน 1 แพ็คกับห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ เมื่อนำนมยูเอชทีกลับมาถึงบ้าน จึงได้นำไปแช่ในตู้เย็นเตรียมไว้ให้ลูกกินไม่นาน...ลูกชายคนเล็กวัย 3 ขวบของคุณวัลภา ได้หยิบนมจากตู้เย็นมาดื่ม เพียงแค่อึกแรกที่ดูดจากหลอด เจ้าตัวน้อยทำหน้าเบะหันไปบอกพี่สาวทันทีว่า “นมบูด”ลูกสาวคนโตของคุณวัลภาจึงนำนมกล่องนั้นเททิ้ง และบอกให้คุณวัลภาทราบว่าน้องคนเล็กเจอนมบูดหนึ่งกล่องในเย็นวันนั้นทันที คุณวัลภาไม่ได้ว่าอะไรคิดว่าอาจเป็นไปได้ที่นมจะเน่าเสียบ้าง ไม่อยากจะร้องเรียนให้เสียเวลาแต่พอวันต่อมา คุณวัลภาได้นำนมกล่องที่ซื้อมาเปิดดื่มด้วยตนเอง พบว่านมกล่องที่สองก็บูดเสียเช่นกัน เจอกับตัวเองแบบนี้ คุณวัลภาเริ่มเครียดนึกถึงตอนเจ้าตัวเล็กดื่มนมบูดเข้าใจอารมณ์ของลูกทันที เลยหยิบกล่องที่สามขึ้นมาดูดเพื่อพิสูจน์ว่าจะบูดอีกหรือเปล่า คุณวัลภาไม่ผิดหวัง เพราะดูดปั๊บรู้ทันทีว่าบูดเหมือนกัน คว้ากล่องที่สี่มาดูดอีก็บูดอีกคุณวัลภาดูดไปหน้าก็บูดเบ้ไปตามจำนวนกล่องนมที่เจาะดูดพิสูจน์ไปด้วย กว่าจะได้บทสรุปว่านมที่ซื้อมาจากห้างบูดเสียทั้งแพ็ค ใบหน้าคุณวัลภาในวันนั้นก็บูดเบ้เสียทรงไปมากทีเดียว เมื่อตรวจดูวันหมดอายุระบุ 11/11/10 หรือวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดหมดอายุ อีกหลายเดือนในขณะนั้น “ทีแรกคิดว่าช่างมันเถอะเพราะคงแค่บูดกล่องเดียว แต่นี่เป็นทั้งแพ็คเลย” คุณวัลภาจึงได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน และร้องเรียนกับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ ก่อนที่ศูนย์ฯ แห่งนี้จะส่งเรื่องร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ทำการช่วยเหลือผู้บริโภคต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหาการที่นมปรุงแต่งซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องที่ปิดสนิทเกิดการเน่าเสียก่อนถึงกำหนดวันหมดอายุ ปัญหานี้อาจเกิดจากการผลิต การบรรจุ หรือเก็บรักษาไว้โดยไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นลักษณะของอาหารไม่บริสุทธิ์ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับมูลนิธิฯ จึงได้มีจดหมายถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนม “โฟร์โมสต์” และกรรมการผู้จัดการบริษัท กาฬสินธุ์พลาซ่า จำกัด ในฐานะผู้จำหน่ายสินค้า ให้ร่วมกันตรวจสอบในปัญหาที่เกิดขึ้นและพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งต่อมาผู้บริโภคได้พิจารณาเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 5,000 บาทโดยหวังให้ผู้ประกอบธุรกิจจะได้มีความระมัดระวังในการผลิตและจำหน่ายสินค้าของตนให้มากยิ่งขึ้นไม่นานตัวแทนของ บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ ได้นำผลิตภัณฑ์จำนวนหนึ่งไปมอบให้แก่ผู้ร้องเพื่อแทนคำขอบคุณสำหรับการแจ้งขอมูล ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นบริษัทฯ รับที่จะนำข้อมูลและตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยืนยันว่า บริษัทฯ ทำงานด้วยความตั้งใจที่จะมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยแก่ผู้บริโภคอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอนด้วยระบบเครื่องมือตรวจสอบที่ทันสมัยผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพต่างๆ ทั้ง GMP , HACCPs , ISO 9001 และ ISO 22000 และในเวลาต่อมา บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ฯ ได้รับผิดชอบต่อข้อร้องเรียนของผู้บริโภคเพิ่มเติม ด้วยการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ร้องเรียนเป็นจำนวน 5,000 บาทผู้ร้องมีความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหาของบริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ฯ จึงขอขอบพระคุณบริษัทฯ ผ่านทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ประกอบธุรกิจอย่างมีคุณภาพ โดยได้ดูแลผู้บริโภคเป็นอย่างดีเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 ประเทศไทย สองมาตรฐานจริงๆ

กว่าหนังสือเล่มนี้จะออกคงล่วงเลยเวลาที่มีบุคลากรทางการแพทย์แต่งชุดดำมาคัดค้าน พรบ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เราคงไม่บอกว่าการคัดค้านการสนับสนุนพรบ.ฉบับนี้ใครถูกใครผิด แต่มีประเด็นที่น่าคิดมากกว่านั้นคือ ประเด็นการคัดค้านของคุณหมอต่างๆ ที่ออกมาให้ข้อมูลกับสังคมว่า วันนี้ผู้ป่วยมากขึ้น หมอมีน้อย งานหนัก วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลน เตียงรองรับคนไข้ไม่เพียงพอ มาตรฐานการให้บริการยังต้องพัฒนากันอีกมาก งบบริการจัดการองค์กรเป็นไปด้วยความยากลำบากเราเข้าใจและเห็นใจเป็นอย่างยิ่งเพราะมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ และยอมรับว่าด้วยงานที่หนักมากทำให้เกิดความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างจำนวนผู้ที่ได้รับความเสียหายที่มาขอรับเงินชดเชย ตามมาตรา 41 แห่ง พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2552 (ผู้ไม่รู้สิทธิยังมีอีกมาก)จำนวน 810 ราย ผ่านเกณฑ์ช่วยเหลือ 660 รายไม่ผ่าน 150 ราย(เป็นไปตามอาการของโรค)เสียชีวิต 340 ราย พิการ 97 ราย เจ็บป่วยต่อเนื่อง 219 ราย สปสช.จ่ายเงินชดเชยไปทั้งสิ้น 73 ล้านบาท(ยังไม่รวมประกันสังคมและราชการ)   นี่คือตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีคนตายมากกว่าประเทศที่ทำสงครามอีก(อนิจจาระบบสาธารณสุขที่รักษาคนไทย)แต่อีกมุมหนึ่งในประเทศเดียวกัน เราก็เจรจาการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ โชว์สรรพคุณ คุณภาพมาตรฐานการบริสาธารณสุขที่โดดเด่นเป็นสากลไม่น้อยหน้าประเทศใดๆ ภายใต้ชื่อเมดดิคอลฮับ(ศูนย์กลางทางการแพทย์สากล) เกิดธุรกิจการแพทย์ ที่มีความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยจากต่างประเทศ คุณภาพมาตรฐานการรักษาระดับ 5 ดาว ที่เจริญเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด มีการนำโรงพยาบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อปั่นมูลค่ากันมากมาย ถึงขนาดบางมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรการแพทย์นานาชาติ เพื่อรองรับธุรกิจดังกล่าว จนเกิดเสียงเพรียกร้องจากประชาชน ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัย ผลิตแพทย์มารักษาคนไทยให้เพียงพอก่อน แล้วค่อยคิดถึงคนต่างชาติ แต่หานำพาไม่จนมีคำถามที่ถามทีเล่นทีจริงว่าหากมีคนไทย(คนจน) กับคนต่างประเทศที่เจ็บเจียนตายเหมือนกัน โรงพยาบาลเอกชนจะเลือกรักษาใคร ? เออ..เนาะใครรู้ช่วยตอบหน่อยซิ กี่รัฐบาลมาแล้วที่ปล่อยปละละเลย..เรื่องนี้ แล้วสังคมไทยจะโทษหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์ฝ่ายเดียวก็ไม่ได้เพราะคุณหมอก็ต้องทำงานบนข้อจำกัดมากมายเราอยากบอกคุณหมอดังๆ ว่าเราอยู่ข้างคุณหมอนะ เราเข้าใจความรู้สึกของคุณหมอ และเราก็เข้าใจความรู้สึกของผู้เสียหายเช่นกัน ก็ไม่รู้ว่าจะฝากเรื่องนี้ไว้ที่ใครดี คงต้องฝากคณะทำงานที่มีหน้าที่ปฏิรูปชุดต่างๆ ช่วยปฏิรูปเรื่องนี้ด้วย ไม่อย่างนั้นอาจต้องเขียนป้ายใหญ่ๆ ปิดไว้หน้าโรงพยาบาลว่า “การเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลนี้มีความเสี่ยงโปรดใช้วิจารณญาณในการเข้ารับการรักษา” ดีมั้ยท่านนา....ยกกกกก....

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 บทเรียนของพวกหากินกับหนี้เสีย

“ผมสงสัยว่าคดีหนี้ของผมจะขาดอายุความไปแล้ว อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยดูให้หน่อยครับ”บ่ายแก่ ๆ ของวันที่ 6 ตุลาคม 2552 คุณเสน่ห์ เดินเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพร้อมสำเนาคำฟ้องคดีผู้บริโภค ที่คุณเสน่ห์ตกเป็นจำเลยฐานผิดสัญญากู้ยืมเงินที่เอามาจากบริษัท อีซี่บาย จำกัด(มหาชน)และถูกเรียกให้ชำระหนี้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 82,000 กว่าบาท แต่ชื่อโจทก์ที่ยื่นฟ้องกลับเป็นชื่อบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด ที่ซื้อหนี้เสียมาจากบริษัทอีซี่บาย“ศาลนัดผมเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะแถลงด้วยวาจาว่าคดีของผมนั้นโจทก์ฟ้องขาดอายุความแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ของศาลแนะนำให้ผมเขียนคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรจะดีกว่า ผมจึงได้ขอให้ศาลเลื่อนพิจารณาไปอีกสักนัดเพื่อติดต่อหาทนายช่วยเขียนคำให้การเพราะผมไม่รู้ว่าจะเขียนอย่างไร ศาลจึงได้นัดพิจารณาคดีอีกครั้งเป็นวันที่ 15 ตุลาคม 2552 ซึ่งครั้งนี้ผมจะต้องมีคำให้การของจำเลยไปยื่นต่อศาลครับ ไม่อย่างนั้นผมถูกพิพากษาให้ต้องชำระหนี้ก้อนนี้แน่”“ถามหน่อยเถอะครับ...ว่าทำไมคุณถึงไม่ชำระหนี้เขาต่อและทำไมคิดว่าคดีนั้นขาดอายุความไปแล้ว?” เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนถาม “ผมกู้เงิน 1 แสนบาทจากอีซี่บายมาเมื่อปี 2544 ผมก็ชำระหนี้เรื่อยมาตลอดร่วม 2 ปี เป็นเงินร่วมแสนกว่าบาทแต่หนี้ในบัญชีมันไม่หมดสักที ดอกเบี้ยมันแพงมาก ตอนนั้นก็ลำบากมากเลยต้องหยุดจ่ายหนี้ไป จำได้ว่าผมจ่ายหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2546 แต่ในคำฟ้องแจ้งว่าผมไม่ชำระหนี้เงินกู้มาตั้งแต่งวดวันที่ 2 มิถุนายน 2546 เขามาฟ้องผมวันที่ 8 มิถุนายน 2552 นี่เอง ก่อนหน้านี้ผมได้เคยโทรมาปรึกษากับทางมูลนิธิฯ แล้วทราบว่า สัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลอายุความที่จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ต้องทำกันภายใน 5 ปีใช่ไหมครับ”“ใช่ครับต้องฟ้องร้องกันภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญา แต่ต้องขอดูรายละเอียดในคำฟ้องก่อนนะครับว่าจะช่วยเหลือได้อย่างไร”แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อพิจารณาในรายละเอียดคำฟ้องพบข้อมูลที่น่าสนใจมากสำหรับผู้ที่เป็นลูกค้าหรือลูกหนี้อีซี่บายดังนี้ครับ1. เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2551 บริษัท อีซี่บาย จำกัด(มหาชน) ได้ดำเนินการขายบัญชีหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อเงินสดให้กับบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด โดยมีจำนวนบัญชีลูกหนี้รวมกันทั้งสิ้น 17,170 ราย มูลหนี้รวมกันทั้งสิ้น 471 ล้านบาทเศษ โดยคิดค่าตอบแทนที่บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็สฯ จ่ายเพื่อซื้อหนี้เสียจากอีซี่บายก้อนนี้เป็นเงินเพียง 20 ล้านบาทเศษเท่านั้น หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 4.25 ของมูลหนี้ทั้งหมด2. ผลจากการซื้อขายหนี้เสียดังกล่าวทำให้บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็สฯ ได้มาซึ่งทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับหนี้ทั้งหมดตลอดจนการรับชำระหนี้แทนอีซี่บาย พูดง่ายๆ คือจ่ายเพียงแค่ร้อยละ 4.25 แต่ได้สิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แถมดอกเบี้ยอีกต่างหาก3. อัตราดอกเบี้ยที่อีซี่บายทำกับผู้บริโภครายนี้ซึ่งทำในช่วงปี 2544 นั้น จะคิดเป็นค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในอัตราร้อยละ 2.0 บาทต่อเดือนหรือร้อยละ 24 บาทต่อปี และยังคิดดอกเบี้ยอีกในอัตราร้อยละ 0.50 บาทต่อเดือนหรือร้อยละ 6 ต่อปีอีก จึงเท่ากับว่าผู้บริโภคต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 30 บาทต่อปี ซึ่งในขณะนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ได้เข้าไปกำกับการเรียกเก็บดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารทั้งหลาย การเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจึงเป็นการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมาย4. สัญญากู้ยืมเงินที่เรียกว่าประเภทสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น มีข้อตกลงว่าผู้บริโภคจะใช้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนให้กับเจ้าหนี้โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือนเป็นงวดๆ ดังนั้น การฟ้องเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นตามสัญญากู้ยืมเงิน จึงถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยพร้อมต้นเงินเพื่อผ่อนต้นทุนคืนเป็นงวด ๆ ซึ่งมีกำหนดอายุความไว้ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/32(2) ในคำฟ้องระบุว่าฝ่ายผู้บริโภคไม่ชำระหนี้เงินกู้มาตั้งแต่งวดวันที่ 2 มิถุนายน 2546 สิทธิเรียกร้องของฝ่ายเจ้าหนี้จึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2546 แต่โจทก์มาฟ้องวันที่ 8 มิถุนายน 2552 เกินกว่า 5 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความครับ คือต้องฟ้องก่อนวันที่ 3 มิถุนายน 2551 เท่านั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดตามที่กล่าวมาเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยคำแนะนำของหัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาจึงได้ช่วยเหลือผู้บริโภคโดยการร่างคำให้การจำเลยเพื่อให้ผู้บริโภคเป็นผู้ไปยื่นต่อศาลในวันนัด โดยได้ให้การใน 2 ประเด็นหลักคือ เรื่องการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมายและเรื่องคดีขาดอายุความ ซึ่งท้ายสุดศาลได้พิพากษายกฟ้องโจทก์เป็นที่เรียบร้อย ทำให้ผู้บริโภครายนี้พอที่จะลืมตาอ้าปากได้บ้างเนื่องจากอีซี่บายมีการขายหนี้เสียออกไปร่วมสองหมื่นราย และอาจมีหลายรายที่เจ้าหนี้เสียสิทธิในการเรียกร้องแล้วเนื่องจากขาดอายุความ แต่หากลูกหนี้ไม่ได้ยื่นคำให้การสู้คดีอย่างถูกต้อง ศาลจะพิพากษาให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ต่อไป ดังนั้นหากใครมีข้อสงสัยในประเด็นนี้รีบติดต่อมาที่มูลนิธิฯ โดยทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 ฮะจิบังเสนอเงินลูกค้า 5 หมื่น จบเรื่องอาหารทำพิษ

รายงานความคืบหน้า กรณีลูกค้าฮะจิบังร้องเรียนว่ามีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงหลังรับประทานอาหารที่ร้านฮะจิบัง ราเมน สาขาเทสโก้ โลตัส พระราม 3จากความเดิมต่อจากฉบับที่แล้ว กรณีคุณแพรวพรรณ(นามสมมติ) และครอบครัวไปนั่งรับประทานอาหารที่ร้านฮะจิบังสาขาดังกล่าวแล้วเกิดท้องเสียอย่างรุนแรง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 หลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังฟสือแจ้งไปยังบริษัท ไทยฮะจิบัง จำกัด เพื่อขอให้บริษัทพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภคด้วยความเป็นธรรมตามสมควร ต่อมาในวันที่ 2 มิถุนายน 2552 บริษัทไทยฮะจิบัง จึงได้มีหนังสือตอบกลับมาที่มูลนิธิฯ ใจความสรุปได้ว่า ในวันเกิดแหตุที่ผู้บริโภคได้ร้องเรียนนั้น ร้านฮะจิบังสาขาดังกล่าว ได้จำหน่ายอาหารชนิดเดียวกันกับที่ผู้ร้องเรียนและครอบครัวรับประทานให้แก่ลูกค้าอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ปรากฏว่ามีลูกค้ารายใดมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับรายของผู้ร้องเรียนและครอบครัวแต่อย่างใด หากการเจ็บป่วยของผู้ร้องเรียนและครอบครัวเกิดจากอาหารที่รับประทานจากร้านของบริษัทจริง ลูกค้ารายอื่น ๆ จะต้องมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงด้วย ดังนั้น อาการท้องร่วงของนางสาวพรรณราย และครอบครัวอาจเกิดจากการได้รับเชื้อโรคบิดชนิดเฉียบพลันจากที่อื่นก่อนมารับประทานอาหารที่ร้านฮะจิบัง ราเมน เมื่อยังไม่ได้พิสูจน์ว่าเชื้อโรคบิดชนิดเฉียบพลันเกิดจากการรับประทานอาหารของร้านฮะจิบังราเมน บริษัทฯจึงยังไม่อาจพิจารณาเยียวยาค่าเสียหายได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยินดีที่จะพิสูจน์หาความจริงจนเป็นที่แน่ชัดเสียก่อนล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา ตัวแทนของบริษัท ไทยฮะจิบัง ได้เข้าเจรจากับผู้ร้องเรียนที่สำนักงานเขตยานนาวา โดยผู้ร้องเรียนได้เสนอเรียกค่าเสียหายไปทั้งสิ้น 168,000 กว่าบาท แต่ทางบริษัทฯ ยินดีที่จะจ่ายเพื่อเป็นการแสดงความมีน้ำใจให้กับลูกค้าที่อาจเกิดความเข้าใจผิดในบริการของร้านฮะจิบัง ราเมนเป็นเงิน 50,000 บาทถ้วน และขอให้ยุติเรื่องพิพาททั้งหมด ผู้ร้องเรียนปฏิเสธและขอเดินหน้าที่จะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป ความคืบหน้าในการตรวจสอบด้านความปลอดภัยของอาหารในร้านฮะจิบัง ราเมน สำนักงานเขตยานนาวา ได้ดำเนินการตรวจสอบสุขลักษณะของร้านฮะจิบัง ราเมน สาขาเทสโก้ โลตัส พระราม 3 และทำการสุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร น้ำแข็ง และน้ำดื่ม ไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2552 หลังเกิดเหตุประมาณ 3 สัปดาห์ ผลการตรวจวิเคราะห์พบอาหารจำนวน 8 จาก 11 รายการที่ไม่อยู่ในมาตรฐาน โดยส่วนใหญ่พบเชื้อแบคทีเรียโคลิฟอร์ม เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ทั้งในน้ำแข็งและอาหารที่สุ่มตรวจ โดย 1 ตัวอย่างพบเชื้อแบคทีเรียอีโคไลเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดสำหรับอาหารปรุงสุก สำนักงานเขตจึงมีคำสั่งให้ร้านอาหารแห่งนี้มีการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการผลิตอาหารให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค อาทิเช่น การมีคำสั่งให้ไม่แช่สิ่งของอื่นใดในภาชนะที่บรรจุน้ำแข็งที่ใช้ดื่ม ให้ทำความสะอาดวัตถุดิบด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนนำมาปรุงประกอบอาหาร ให้ผู้ที่สัมผัสอาหารทุกคนล้างมือก่อนและหลังสัมผัสอาหาร เป็นต้นต่อมาในวันที่ 28 เมษายน 2552 สำนักงานเขตยานนาวาได้เข้าตรวจสอบสุขลักษณะของร้านฮะจิบัง ราเมนแห่งนี้อีกครั้ง เพื่อติดตามผลการปฏิบัติตามคำสั่งและสุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร รวม จำนวน 11 รายการเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจครั้งนี้พบว่ายังมีการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในผักโรยหน้าและน้ำแข็ง ส่วนอาหารชนิดอื่นไม่พบปัญหาใด ๆ สำหรับผลการตรวจสุขภาพของพนักงานในร้าน พบว่า เป็นใบรับรองแพทย์ที่ส่งให้เจ้าหน้าที่มาจากคลินิกเอกชน เจ้าหน้าที่จึงให้ตรวจสุขภาพใหม่ โดยให้เข้ารับการตรวจสุขภาพที่สถานพยาบาลของรัฐ และแนบผลการตรวจ Lab ส่งต่อเจ้าหน้าที่ด้วยทุกคน ซึ่งสำนักงานเขตยานนาวาได้รายงานผลการดำเนินการเฝ้าระวังทั้งหมดนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ไปด้วยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 ตกร่องน้ำในห้างดัง เรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

พื้นที่ในห้างสรรพสินค้าถือเป็นพื้นที่ของเอกชนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้บริการได้ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งเจ้าของพื้นที่มีหน้าที่ต้องดูแลรับผิดชอบความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม หากวันใดคุณเกิดอุบัติเหตุหกล้มหัวร้างข้างแตกเพราะทางห้างมิได้จัดอุปกรณ์ป้องกันภัยให้เหมาะสม ในฐานะผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ในเวลาเย็นย่ำของวันที่ 12 มกราคม 2550 ระหว่างที่คุณสุดา กำลังเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อไปยังจังหวัดลำปาง เธอได้ขับรถยนต์แวะเข้าไปใช้บริการที่ห้างบิ๊กซีซูปเปอร์ สาขาลำปาง เพื่อซื้อเครื่องใช้ส่วนตัว ครั้นซื้อสินค้าเสร็จสิ้นและกำลังเดินทางกลับมาขึ้นรถที่บริเวณลานจอดรถ ตรงทางสามแยกปรากฏว่ามีรถยนต์คันหนึ่งวิ่งตรงมาตามทางเดินรถที่ไม่มีลูกระนาดด้วยความเร็วในระยะประชิด คุณสุดาตกใจเกรงว่าตนจะถูกรถชน จึงก้าวขึ้นไปบนเกาะกลางถนนที่ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างเพื่อหลบรถยนต์ที่วิ่งเข้าใส่“เฮ้อ....” คุณสุดา ถอนหายใจด้วยความโล่งอกที่ไม่ต้องถูกรถมาเชี่ยวชน เพื่อความปลอดภัยเธอจึงตัดสินใจหลบไปอีกด้านหนึ่งและก้าวลงจากเกาะกลางถนนด้านที่มืดสลัว โดยไม่ทันได้สังเกตว่าจุดที่ก้าวเท้าเหยียบลงไปนั้นเป็นร่องรางน้ำรูปตัววีที่ไม่มีฝาปิด ทำให้เท้าทั้งสองข้างลื่นไถลตกลงร่องรางน้ำรูปตัววีต่างระดับนั้นและเสียหลักลื่นล้มลงอย่างแรง กระดูกข้อเท้าขวาหลุดและแตกหัก อาการหนักพอดู....หลังเกิดเหตุคุณสุดาถูกนำตัวส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเขลางค์นครราม-ลำปาง แต่ถึงอาการจะหนัก เธอยังพอมีสติที่จะถามเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวแทนของห้างฯที่มาเยี่ยม “เอ่อ..ทางห้างฯ ต้องขอยอมรับกับสภาพที่เกิดเหตุที่มีปัญหาและจะเร่งแก้ไขนะครับ และสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นทางห้างฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเองครับ โดยเราขอให้คุณพักรักษาตัวที่ลำปางนี้นะครับ” ตัวแทนของห้างแจ้งให้ทราบ ในขณะที่คุณสุดายังไม่ได้คิดอะไร เพราะมึนกับอาการบาดเจ็บวันต่อมาคุณสุดา ครุ่นคิดในใจหลังได้ปรึกษากับญาติและทีมแพทย์ของโรงพยาบาลพระมงกุฎฯที่กรุงเทพ ที่แนะนำให้มาฟื้นฟูร่างกายที่กรุงเทพฯ จะดีกว่า เนื่องจากเธอเป็นคนสูงอายุและไม่ใช่คนในพื้นที่ การที่ญาติจะมาดูแลย่อมเป็นเรื่องที่ลำบาก เธอจึงตัดสินใจแจ้งกับตัวแทนของห้างฯ เพื่อขอย้ายตัวมารักษาฟื้นฟูร่างกายที่กรุงเทพฯ แทน “ทางเรายังคงขอให้คุณรักษาตัวที่นี่ต่อไปนะครับ ห้างฯ สาขาลำปางไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนอกพื้นที่จังหวัดลำปางได้ครับ แต่ยังไงต้องขอนำข้อเสนอนี้กลับไปเรียนผู้บริหารอีกครั้งก่อน และจะแจ้งกลับมาให้ทราบอีกครั้งครับ “ ตัวแทนระดับหัวหน้าผู้ดูแลลูกค้าแจ้งให้ทราบคุณสุดา เฝ้ารอคำตอบจากห้างอยู่สองวันก็ยังไม่มีคำตอบใดๆ จึงตัดสินใจเดินทางเพื่อมารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ กรุงเทพฯ ตามคำแนะนำของญาติและแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดในเวลาเดียวกัน คุณโสภณเพื่อนของคุณสุดาที่อยู่ลำปางนั้นได้เข้าพบตัวแทนของห้างระดับผู้บริหารเพื่อรับฟังคำอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งคำอธิบายที่ได้รับฟังนั้นสอดคล้องกับหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงของห้างที่มีถึงคุณสุดาว่า บริษัทมีความมั่นใจโดยสุจริตว่า บริษัทมิได้มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบต่อความบาดเจ็บทั้งหมด.....”สรุปง่ายๆ คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นคุณสุดาทำเองไม่เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของห้างฯ เลย และจากคำชี้แจงฉบับลายลักษณ์อักษรของห้างฯ นับเป็นการแสดงความรับชอบแต่ไม่รับผิด ในฐานะผู้ประกอบการที่ปราศจากความระมัดระวังในการให้บริการประชาชนผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการแต่อย่างใดคุณสุดา จึงแจ้งเรื่องเข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เพื่อขอเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายและความรับผิดชอบจากทางห้าง และอยากให้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ร่วมกับศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ได้ดำเนินการสรุปเรื่องและส่งฟ้องบริษัทบิ๊กซีซูปเปอร์เซ็นเตอร์เป็นจำเลยในคดีต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เรียกค่าเสียหายจำนวน 1,231,205 บาท ในประเด็นความผิดพลาดและความประมาทในฐานะผู้ประกอบการที่มีพื้นที่ให้ประชาชนจำนวนมากเข้าใช้บริการ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายของผู้ใช้บริการศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีเหตุผลอันควรที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ จากความประมาทและผิดพลาดในการจัดการพื้นที่ภายในห้างสรรพสินค้า ศาลจึงมีคำพิพากษาให้บริษัทบิ๊กซีซูปเปอร์เซ็นเตอร์ในฐานะจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับคุณสุดาเป็นเงินจำนวน 405,808.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5% นับแต่วันที่ละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 81,275 บาทภายหลังสิ้นสุดคดีในศาลชั้นต้น คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาล ทั้งนี้จำเลยได้ขอใช้สิทธิทุเลาการบังคับคดีเพื่อไม่ให้ต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งศาลได้ให้โอกาสจำเลยในการนำหลักทรัพย์มาวางประกันต่อศาล แต่จำเลยกลับประวิงเวลาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลในการนำหลักทรัพย์มาวางประกันในชั้นทุเลาบังคับคดี ดังนั้นศาลอุทธรณ์ จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาบังคับคดีของจำเลยเสีย.... ซึ่งแสดงว่า โจทก์ในคดีนี้สามารถตั้งเรื่องยึดทรัพย์บังคับคดีจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ในระหว่างอุทธรณ์นั่นเอง.... เป็นเวลาเกือบสองปีสำหรับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของคุณสุดา “ประเด็นสำคัญของการใช้สิทธิทางกฎหมายคือ เราอยากให้เรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะ ให้สังคมได้รับรู้ในสิ่งที่ห้างสรรพสินค้าในฐานะผู้ประกอบการจะต้องมีความรับผิดชอบที่ดีต่อประชาชนผู้บริโภค ซึ่งถือว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง“ คุณสุดากล่าวทิ้งท้าย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 ยังต้องระวัง ไส้กรอกสีสด

  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังทำหน้าที่เฝ้าระวังเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารอย่างต่อเนื่อง ปีที่แล้วถ้าจำกันได้ เราตรวจหาสีและวัตถุกันเสียในไส้กรอกหมูและไส้กรอกไก่ ทำให้รู้ว่า หลายยี่ห้อใส่วัตถุกันเสีย(สารกันบูด) เกินมาตรฐาน   ผ่านไปปีกว่าๆ  ฉลาดซื้อและมูลนิธิฯ เลยขอตามติดใกล้ชิดไส้กรอกกันอีกสักรอบว่า สถานการณ์ดีขึ้นหรือแย่ลง โดยเก็บตัวอย่างไส้กรอกกลุ่มพรีเมี่ยมทั้งแบบบรรจุถุงและแบบตักแบ่งขาย (ยี่ห้อเดิมที่เคยเก็บเท่าที่หาซื้อได้) จากห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และตัวอย่างไส้กรอกสำหรับตลาดล่างจากตลาดสด รวมทั้งสิ้น 19 ตัวอย่าง แบ่งเป็นไส้กรอกหมู 9 ตัวอย่าง ไส้กรอกไก่ 6 ตัวอย่าง และไม่ระบุประเภทเนื้อที่ใช้ 4 ตัวอย่าง   ชื่อผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิต / จำหน่าย ว.ด.ป. ผลิต / หมดอายุ ส่วนประกอบที่ระบุ การระบุฉลากเรื่องวัตถุกันเสีย ผลทดสอบ เบนโซอิค (มก./กก.) ซอร์บิค (มก./กก.) ไนเตรท* (มก./กก.) ไนไตรท์* (มก./กก.) สี (มก./กก.) ซีพี – แฟรงค์เฟริตเตอร์ บ.กรุงเทพโปรดิ้วส์ จำกัด (มหาชน) จำหน่าย ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง 26/7/54 25/8/54 เนื้อสัตว์ น้ำตาล เกลือ เครื่องเทศ ไม่ระบุ ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ หมูตัวเดียว ไส้กรอกหมูคอกเทล บ.บางกอกแฮมโปรดักส์ ซิฟฟลาย จำกัด 22/7/54 22/8/54 เนื้อหมู เครื่องเทศ น้ำตาล ไม่ระบุ ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ S&P ไส้กรอกคอกเทล บ.S&P ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) 14/7/54 28/8/54 เนื้อหมู เครื่องปรุงรส น้ำ เครื่องเทศ ไม่ระบุ (บอกว่าไม่ใส่สีไม่ใส่ผงชูรส) ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ TGM ไส้กรอกเวียนนาหมู บ.ไทยเยอรมันมีทโปรดักท์ จำกัด จำหน่าย บ.ไทยซอสเซส มาร์เก็ตติ่ง จำกัด 20/7/54 19/8/54 เนื้อหมู 80% น้ำ 15% เครื่องปรุงรส 5%   ระบุ (ใช้โมโนโซเดียมกลูตาเมต) ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ คุ้มค่า tesco คอกเทลหมู บ.ซีพีเอฟ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด 22/7/54 3/8/54 เนื้อหมู น้ำตาล เกลือ เครื่องเทศ ไม่ระบุ   ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ หมู 2 ตัว คอกเทลหมู บ.ไทยเยอรมันมีทโปรดักท์ จำกัด 27/7/54 3/8/54 ไม่ระบุ ไม่ระบุ ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ หมู 2 ตัว ไส้กรอกไก่ (ตักขาย) บ.ไทยเยอรมันมีทโปรดักท์ จำกัด (โลตัส บางประกอก) 31/7/11 7/8/11 - - ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ หมูตัวเดียวคอกเทลไก่ (ตักขาย) ซื้อที่ โลตัส บางประกอก 31/7/11 7/8/11 - - ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ ซีพี คอกเทลไก่ (ตักขาย) ซื้อที่ โลตัส บางประกอก 31/7/11 7/8/11 - - ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ เทสโก้ ไส้กรอกเวียนนาหมู บ.กรุงเทพโปรดั๊กส์ จำกัด  (มหาชน) ผลิตให้เฉพาะเทสโก้ 24/7/11 17/8/11 เนื้อสัตว์ เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส ใช้ผลชูรส ใช้วัตถุกันเสีย ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ BK Products ฮอทดอก กริลไก่ บ.กรุงเทพโปรดั๊กส์ จำกัด  (มหาชน) ซีพี เทรดดิ้ง จำกัด จัดจำหน่าย   27/7/54 11/8/54 เนื้อไก่ น้ำ เครื่องเทศ, เครื่องปรุงรส มีส่วนผสมของกลูเตนจากข้าวสาลี โปรตีนจากถั่วเหลือง แป้งมันสำปะหลังดัดแปลง ใช้วัตถุกันเสีย ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ PF foods (ไม่ได้แจ้งว่าเป็นไส้กรอกอะไร) บ.ฟลายฟูดส์ จำกัด 99/9 ม.3 ตำบลนาดี อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ไม่แจ้ง - -   ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ บีลัคกี้ เวียนนาหมู หจก.บีลัคกี้ 15/7/54 13/8/54 เนื้อหมู 80% น้ำ 15% เครื่องเทศ 5% ระบุว่าไม่ใส่สารกันบูด และไม่ใส่สี ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ แหลมทอง แฟรงค์ไก่ บ.แหลมทองโปรตีนฟู้ด จำกัด วันหมดอายุ 6/8/54 เนื้อไก่ เครื่องเทศ เครื่องปรุง ไม่ใช้วัตถุกันเสีย ไม่พบ ไม่พบ 0.77 0.173 ไม่พบ ซีพี มินิคอกเทล (ไม่แจ้งว่าเป็นเนื้ออะไร บ.กรุงเทพโปรดิ๊วส์ จำกัด (มหาชน) 30/7/54 11/8/54 เนื้อสัตว์ น้ำตาล เกลือ เครื่องเทศ - 742.61 339.90 - - ไม่พบ JPM ไส้กรอกหมู บ.เจพีเอ็ม ซอสเซส จำกัด 23/7/54 23/8/54 เนื้อหมู 83% ไขมัน  10% เครื่องปรุง 4% แป้ง 2% น้ำแข็ง 1%     ไม่ระบุ 895.68 ไม่พบ - - ไม่พบ M A ไส้กรอกเวียนนาหมู บ.เจ แอนด์ โอ โปรเซสซิ่ง จำกัด 23/7/11 23/8/11 เนื้อสัตว์ น้ำตาล เกลือ เครื่องเทศ - 977.90 ไม่พบ - - ไม่พบ Better food ไส้กรอกเวียนนารมควัน บ.อาหารเบทเทอร์ จำกัด   14/7/54 13/8/54 เนื้อสัตว์อนามัย ไขมัน น้ำตาล เกลือ เครื่องเทศ ไม่ระบุ ไม่พบ 648.54 - - ไม่พบ Better Food ไส้กรอกนม (ไส้กรอกไก่) บ.อาหารแบทเบอร์ จำกัด 27/7/11 16/8/11 เนื้อไก่ 78% เครื่องปรุงรส+เครื่องเทศ 5% น้ำแข็ง 10% แป้ง 4% หางนม 3% - ไม่พบ 1,953.99 - - 3.79   ผลทดสอบไส้กรอก ยังพบว่ามีการใช้วัตถุกันเสียที่เกินมาตรฐานในบางยี่ห้อ (บางยี่ห้อซ้ำเดิมกับที่เคยพบเมื่อครั้งก่อน)  ในบางยี่ห้อที่ตรวจพบวัตถุกันเสียโดยที่ ไม่มีการแสดงฉลากระบุว่า มีการใช้วัตถุกันเสีย ซึ่งถือเป็นการแสดงฉลากที่ไม่ถูกต้อง  จากการทดสอบในครั้งนี้ (19 ตัวอย่าง) พบว่า กลุ่มวัตถุกันเสียที่ใช้เป็นกลุ่มเบนโซอิคและซอร์บิค โดยกติกาของ อย. ยอมรับให้ใส่วัตถุกันเสียในกลุ่มเบนโซอิคได้ ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่ต้องขออนุญาตก่อน ส่วนซอร์บิคนั้น ไม่ได้รับการยอมรับให้นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสัตว์ จึงอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย  ผลทดสอบวัตถุกันเสีย กลุ่มเบนโซอิคและซอร์บิค1. ไม่พบผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่ใส่กรดเบนโซอิคเกินมาตรฐาน แค่เฉียดๆ คือ M A ไส้กรอกเวียนนาหมู 977.90  มิลลิกรัม/กิโลกรัม (เกือบไป)  2. พบกรดซอร์บิคในตัวอย่าง 3 ยี่ห้อจาก 19 ยี่ห้อที่ส่งทดสอบ ได้แก่ Better Food ไส้กรอกนม(ไส้กรอกไก่) 1,953.99 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, Better food ไส้กรอกเวียนนารมควัน 648.54 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และซีพี มินิคอกเทล(ไม่ระบุประเภทเนื้อสัตว์)  339.90  มิลลิกรัม/กิโลกรัม  3. พบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทั้งกรดเบนโซอิคและกรดซอร์บิคร่วมกันจำนวน 1 ตัวอย่าง คือ ไส้กรอกซีพี มินิคอกเทล ปริมาณรวมที่พบคือ 1,082.51 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แบ่งเป็นกรดเบนโซอิค 742.61 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และกรดซอร์บิค 339.90 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  4. วัตถุกันเสีย กลุ่มไนเตรทและไนไตรท์ พบไนเตรทและไนไตรท์ ในแหลมทอง แฟรงค์ไก่ ในปริมาณน้อยมาก คือ 0.77 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 0.173 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  การใช้สีผสมในอาหาร (ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ไส้กรอกห้ามใส่สี)  5. พบการใช้สีสังเคราะห์ใน Better Food ไส้กรอกนม (ไส้กรอกไก่)   3.79   มิลลิกรัม/กิโลกรัม   สรุป โดยภาพรวมต้องถือว่า ไส้กรอกในระดับยี่ห้อพรีเมี่ยม มีระดับความปลอดภัยจากเรื่องวัตถุกันเสีย และสี ค่อนข้างสูง จากการเฝ้าระวังในครั้งนี้ ต้องขอบคุณผู้ผลิตทุกรายที่รักษาคุณภาพมาตรฐานในผลิตภัณฑ์ของตน และหวังว่าจะทำได้ดีตลอดไป  ไส้กรอก เป็นเทคนิคการถนอมอาหารที่เก่าแก่อย่างหนึ่ง นับถอยหลังไปได้ถึง สมัยบาบิโลเนีย หรือเมื่อประมาณ 3,500 ปีมาแล้ว กุนเชียง ไส้อั่ว หมูยอ หม่ำ และไส้กรอกอีสาน ก็นับเป็นไส้กรอกชนิดหนึ่งเช่นกัน   ไส้กรอกอย่างฝรั่ง เรียกว่า sausage มีรากศัพท์จากภาษาละติน “salsus" หมายถึง เนื้อสัตว์ที่มีการเก็บรักษาโดยใช้เกลือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 กระแสต่างแดน

น้ำขวดหรือจะสู้น้ำประปา บริษัทที่ขายน้ำดื่มในอเมริกานั้นทำกำไรได้ปีละหลายล้านเหรียญจากความเชื่อที่ว่าน้ำดื่มบรรจุขวดนั้นสะอาดบริสุทธิ์กว่าน้ำประปาบ้านๆ แต่หารู้ไม่ว่าการผลิตน้ำขวดดังกล่าวมีการควบคุมดูแลน้อยกว่าน้ำประปาด้วยซ้ำ รายงานที่นำเสนอในสภาคองเกรสของสหรัฐระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐมีอำนาจน้อยมากในการกำกับดูแลความปลอดภัยของน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่ในบางมลรัฐที่พอจะมีอำนาจจัดการอยู่บ้างก็ให้ความสำคัญกับการควบคุมการผลิตน้ำประปามากกว่า บาร์ท สตูพัค ผู้แทนจากรัฐมิชิแกนบอกว่า คนอเมริกันยินดีจ่ายเงินซื้อน้ำบรรจุขวด ซึ่งมีราคามากกว่าน้ำจากก๊อกถึง 1,900 เท่า และใช้พลังงานมากกว่า 2,000 เท่าในการผลิตและการขนส่ง ในขณะที่มีน้ำดื่มบรรจุขวดถูกเรียกคืนเพราะมีการปนเปื้อนของสารหนู โบรเมท เชื้อรา และแบคทีเรีย อยู่เป็นระยะๆ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา   แม้แต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาก็มีรายงานข่าวว่ามีเด็กนักเรียนนับสิบรายที่ป่วยหลังจากดื่มน้ำบรรจุขวดที่ซื้อจากตู้ขายน้ำอัตโนมัติ รายงานดังกล่าวยังระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐไม่ได้ควบคุมปริมาณของสารประกอบ DEHP (ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ) ในน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่หน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมมีการควบคุมปริมาณสารดังกล่าวในน้ำประปา แต่ทางสมาคมผู้ผลิตน้ำบรรจุขวดบอกว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีสารนี้ในน้ำดื่มบรรจุขวดซึ่งผ่านการควบคุมมาหลายขั้นตอนแล้ว สมาคมฯ บอกว่าในปีที่ผ่านมา คนอเมริกันนั้นดื่มน้ำกันไปทั้งหมด 8,700 ล้านแกลลอน หรือ ประมาณคนละ 28.5 แกลลอน รายได้จากการขายน้ำดื่มบรรจุขวดในปีดังกล่าวสูงถึง 11,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 380,000 ล้านบาท) ที่นี่ไม่มีน้ำขวดคราวนี้ข้ามทวีปมาที่ออสเตรเลียกันบ้าง มาดูปรากฏการณ์น่าสนใจที่เมืองบันดานูน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซีดนีย์ ประชากร (ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 2,500 คน) ของเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้เห็นร่วมกันว่าควรจะกำจัดสิ่งที่เรียกว่า “น้ำดื่มบรรจุขวด” ออกไปจากเมืองเสียที เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขั้นตอนการบรรจุขวดและการขนส่ง แต่ไม่ต้องกลัวว่าไปเที่ยวเมืองนี้แล้วจะไม่มีน้ำดื่มดับกระหายนะพี่น้อง เขามีขวดเปล่าเอาไว้ให้รองน้ำจากตู้กดน้ำที่ตั้งไว้ทั่วไปตามท้องถนนเอาไว้ดื่มกันให้เปรม ส่วนกับทางร้านค้านั้น เขาก็ไม่ได้บังคับขืนใจให้หยุดขายน้ำดื่มบรรจุขวดแต่อย่างใด ปล่อยให้เป็นความสมัครใจของร้านค้าต่างๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 50 ร้าน การรณรงค์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะมีบริษัทที่ชื่อว่า นอร์เล็กซ์ โฮลดิ้ง จะมาตั้งโรงงานเพื่อสูบเอาน้ำจากเมืองนี้แล้วส่งเข้าไปบรรจุขวดในโรงงานที่ซีดนีย์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 120 กิโลเมตร ผู้คนที่เมืองนี้คัดค้านแผนการดังกล่าว และขณะนี้บริษัทฯ ก็ยังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาล เป็นใครก็คงรับไม่ได้ ถ้าจะมีคนมาสูบน้ำไปจากบ้านเราแล้วเอาไปใส่ขวดกลับมาขายเราอีก การรณรงค์ของชาวเมืองบันดานูนนี้ถือว่าได้ผลทีเดียวเพราะรัฐนิวเซาท์เวลส์ก็รับลูกทันที ผู้ว่าการรัฐออกมาประกาศว่าต่อไปนี้ห้ามหน่วยงานของรัฐใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดเด็ดขาด คนออสซี่ก็ใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดไม่น้อย ถึงปีละ 500 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 13,000 กว่าล้านบาท) เลยทีเดียว ผู้หญิงเชิญตู้อื่น... นะครับใครจะไปนึกว่าวันหนึ่งคุณสุภาพบุรุษชาวญี่ปุ่นเขาจะออกมาเรียกร้องขอรถไฟตู้พิเศษสำหรับชายล้วน ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ต้องมีการเบียดเสียดกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เพราะว่ากลัวจะโดนผู้หญิงแต๊ะอั๋งหรอกนะ แต่เป็นเพราะไม่อยากถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคุณสุภาพสตรีมากกว่า ก็รถมันแน่นซะขนาดนั้น จะทำตัวล่องหนก็วิทยายุทธ์ยังไม่แก่กล้าพอ จากข้อมูลของตำรวจญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2550 มีคุณผู้ชายถูกจับข้อหาลวนลามสตรีเพศถึง 2,000 คนเลยทำให้บริษัทที่จัดการเรื่องรถไฟต้องมีการกำหนดให้ตู้โดยสารบางตู้เป็นเขตปลอดผู้ชาย ที่นี้เลยทำให้เกิดไอเดียสุดเจ๋งตามมา คือมีการขอตู้โดยสารสำหรับชายล้วนๆ บ้าง ผู้ที่เสนอไอเดียเรื่องตู้โดยสารสำหรับชายล้วนนี้ได้แก่ผู้ถือหุ้นจำนวนสิบคน (ข่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง) ของบริษัทเซบุ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟในเขตโตเกียว ที่เสนอทางออกในการแก้ปัญหาหลังจากที่บริษัทได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณผู้หญิงจำนวนมากว่าถูกลวนลาม และในขณะเดียวกันก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ชายที่ถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคนอื่นๆ ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ทำด้วย ว่าแล้วก็เลยเสนอว่าน่าจะจัดตู้พิเศษสำหรับชายล้วนด้วยมันถึงจะเท่าเทียม แต่คณะกรรมการเขาลงมติไม่รับข้อเสนอนี้ โดยให้เหตุผลว่าจนถึงขณะนี้มีผู้โดยสารชายออกมาโวยวายน้อยมาก ก็เลยต้องขอรบกวนให้นั่งตู้เดียวกับคุณผู้หญิงต่อไป งานนี้ไม่รู้ใครกลัวใครแล้ว ผิดด้วยหรือที่ไม่อยากโชว์แขน ร้านเสื้อผ้ายี่ห้อดัง อะเบอร์ครอมบี้แอนด์ฟิทช์ (Abercrombie & Fitch) ถูกพนักงานขายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 25,000 ปอนด์ หรือประมาณ 1.4 ล้านบาท โทษฐานที่เลือกปฏิบัติต่อเธอ พนักงานขายคนนี้ชื่อ เรียม ดีน เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน เธออายุ 22 ปีและใช้แขนเทียมมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ตอนแรกที่รับเธอเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขายนั้น ทางร้านอะเบอร์ครอมบี้ ในย่านหรูของลอนดอน อนุญาตให้ดีนใส่เสื้อแขนยาวเพื่อปกปิดแขนเทียมไว้ในขณะให้บริการลูกค้าได้ แต่ผ่านไปไม่กี่วันทางร้านก็บอกกับเธอว่าเธอต้องถอดเสื้อคลุมแขนยาวนั้นออกให้เหลือแต่เสื้อยืดตัวในเหมือนพนักงานคนอื่นๆ เมื่อเธอปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น จึงเท่ากับว่าเธอฝ่าฝืนนโยบายเรื่องการแต่งกายของบริษัท เธอจึงถูกย้ายเข้าไปทำงานในห้องเก็บสินค้า ทั้งนี้ผู้ใหญ่ของบริษัทให้เหตุผลว่าควรให้ดีนทำงานอยู่หลังร้านไปจนกว่าจะถึงฤดูหนาวที่พนักงานทุกจะได้ใส่เสื้อแขนยาวได้โดยไม่ผิดระเบียบ เมื่อมีข่าวเรื่องนี้ออกมา ทางร้านก็ปฏิเสธเสียงแข็งว่าดีนคงเข้าใจอะไรผิดไปแน่ๆ เพราะความจริงแล้วทางบริษัทมีนโยบายต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างแข็งขันเลยทีเดียวนะ แต่ดีนอาจจะเข้าใจถูกก็ได้ เพราะในปี พ.ศ. 2547 เพียงปีเดียว บริษัทนิว อัลบานี เจ้าของแบรนด์ดังกล่าว ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ก็เคยถูกฟ้องร้องเพราะการเลือกปฏิบัติ และต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานเป็นจำนวนถึง 50 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1,700 ล้านบาท) มาแล้ว อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดภายในปี พ.ศ. 2555 กว่า 1.3 ล้านครัวเรือนในนิวซีแลนด์ จะต้องติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้อยู่อาศัยกับบริษัทที่ให้บริการไฟฟ้า และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถประหยัดเงินค่าไฟได้ นี่ย่อมเป็นเรื่องดีเห็นๆ แต่ปัญหามันอยู่ที่รัฐบาลปล่อยให้บรรดาผู้ให้บริการไฟฟ้า (ซึ่งในนิวซีแลนด์มีอยู่ถึง 11 บริษัท) เป็นผู้ที่รับผิดชอบติดตั้งมิเตอร์เหล่านี้กันเอง โดยไม่มีการควบคุมดูแล แจน ไรท์ กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐสภานิวซีแลนด์ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้บรรดาผู้ประกอบการเหล่านั้น พยายามหลีกเลี่ยงการตั้งการทำงานของมิเตอร์ดังกล่าวในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งคุณไรท์ก็บอกว่าไม่น่าแปลกใจ เพราะการใช้ไฟมากขึ้นย่อมหมายถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ประกอบการนั่นเอง ความจริงแล้วมิเตอร์อัจฉริยะที่ว่านี้นอกจากจะทำให้บริษัทสามารถรู้ปริมาณการใช้ไฟของแต่ละครัวเรือนโดยไม่ต้องส่งคนมาเดินจดแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงินและสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าอัตราค่าไฟในขณะนั้นเป็นเท่าไร และช่วงไหนเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ากันมาก โดยไมโครชิพในมิเตอร์จะทำหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบอัจฉริยะที่จะมีออกมาจำหน่ายในอนาคตอันใกล้นี้ มิเตอร์ที่ว่าจะปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะได้โดยอัตโนมัติ ในช่วงที่มีการใช้ไฟสูง แต่บริษัทกลับไม่ได้ใส่ไมโครชิพที่ว่าให้กับมิเตอร์ที่กำลังติดตั้งกันอยู่ในขณะนี้ให้กับ 800,000 ครัวเรือน และมิเตอร์เหล่านั้นก็ไม่มีระบบแสดงข้อมูลตามเวลาจริงเพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้บริโภคด้วย เช่น บางคนอาจจะยังเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นในสระว่ายน้ำไว้เพราะไม่รู้ตัวว่าค่าไฟได้ขึ้นราคาไปแล้ว เป็นต้น คุณไรท์ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ติดตั้งไมโครชิพที่ว่านี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะออกมาขายทำไม และถ้าจะติดตั้งเพิ่มในภายหลังก็จะมีค่าใช้จ่ายอีกถึง 60 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์ (ประมาณ 1,300 ล้านบาท) อีกด้วย สรุปว่าถ้ารัฐบาลยิ่งปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคต้องติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดกันไปโดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 เช็คเดินทางหาย แต่ผู้เสียหายมีส่วนผิดด้วย ผลจะเป็นอย่างไร

คดีนี้เป็นเรื่องผู้บริโภคซื้อเช็คเดินทางของโจทก์ 50 ฉบับ สั่งจ่ายเงินรวม 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากตัวแทนของโจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องลงลายมือชื่อในเช็คทุกฉบับที่ช่องด้านล่างทันทีที่ได้รับเช็ค หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวโจทก์จะไม่คืนเงินให้ ต่อมาจำเลยแจ้งโจทก์ว่าเช็คเดินทางทั้งหมดหายไปโดยจำเลยลงลายมือชื่อในเช็คทุกฉบับที่ช่องด้านล่างไว้แล้ว โจทก์คืนเงินให้แก่จำเลยไป ต่อมามีผู้นำเช็คเดินทางดังกล่าวทั้งหมดไปขึ้นเงินกับธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งโดยปรากฏว่าจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในเช็คเดินทางดังกล่าวไว้ตามที่แจ้งความเท็จแก่โจทก์ โจทก์จึงมาฟ้องศาลให้บังคับจำเลยให้คืนเงิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 1,287,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และเรียกค่าเสียหายอีก 100,000 บาท ศาลฎีกาโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6235/2555 ได้วินิจฉัยว่า “...การที่มีการซื้อเช็คเดินทางซึ่งต้องยอมเสียเงินซื้อในอัตราร้อยละหนึ่ง ก็เพราะมีความปลอดภัยกว่าการนำเงินสดติดตัวไป และถ้าเช็คหายไปก็สามารถแจ้งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คได้ แต่เหตุที่มีผู้นำเช็คเดินทางของโจทก์ที่จำเลยซื้อ ไปเบิกเงินต่อธนาคารตามเช็คและธนาคารตามเช็คได้จ่ายเงินไป ทั้งๆ ที่จำเลยแจ้งโจทก์แล้วว่าเช็คเดินทางหายไปและโจทก์ได้จ่ายเงินจำนวนตามเช็คคืนให้จำเลยแล้วนั้น เป็นเพราะโจทก์ไม่ได้แจ้งธนาคารตามเช็คจึงเป็นความบกพร่องของโจทก์นั่นเอง  ส่วนเงื่อนไขการซื้อเช็คเดินทางที่กำหนดให้ผู้ซื้อเช็คลงลายมือชื่อผู้ถือที่ข้างล่างด้านซ้ายของเช็คแต่ละฉบับทันทีที่ได้รับเช็คนั้น เป็นเพียงเงื่อนไขที่จะทำให้ผู้ที่ได้รับเช็คดังกล่าวโดยไม่ชอบไม่สามารถเบิกเงินไปได้โดยง่าย เพราะจะมีการตรวจสอบเปรียบเทียบลายมือชื่อด้วย ดังนั้น แม้จำเลยจะไม่ได้ลงลายมือชื่อตามเงื่อนไขดังกล่าว โจทก์ก็ไม่อาจยกเป็นเหตุมาปฏิเสธไม่จ่ายเงินคืนจำเลยตามเงื่อนไขการซื้อเช็คไม่ได้ อย่างไรก็ตามการที่จำเลยไม่ได้ลงรายมือชื่อผู้ถือที่ข้างล่างด้านซ้าย แต่กลับแจ้งโจทก์ว่าลงลายมือชื่อแล้วย่อมเป็นเหตุให้โจทก์คาดว่าจะไม่มีใครนำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงิน จึงไม่ได้แจ้งธนาคารให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็ค และจำเลยทิ้งเช็คไว้ในกระเป๋าใส่กล้องถ่ายรูปซึ่งวางไว้ในรถเข็นกระเป๋าเดินทางหน้าห้องน้ำที่สนามบินสุวรรณภูมิโดยไม่นำติดตัวไปด้วยจึงทำให้หายไปถือได้ว่าจำเลยมิได้ระมัดระวังมิให้เช็คสูญหายหรือถูกลักขโมยเช่นเดียวกับที่จักต้องกระทำต่อเงินสดของตน ตามเงื่อนไขการซื้อในกรณีขอคืนเงิน จำเลยจึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายด้วย โดยเห็นสมควรให้ร่วมรับผิดกึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 442  ประกอบมาตรา 223” คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ 947,000 บาท  พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์แสดงว่าพอใจในความเสียหายดังกล่าว จำเลยจึงต้องใช้เงินให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งของค่าเสียหายดังกล่าวคิดเป็นเงิน 473,500 บาท พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน 473,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 23 มิถุนายน 2540)เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 ฟังเสียงหัวใจ ผู้เสียหายทางการแพทย์

จาก 2516 ถึง 2552 เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง“พ่อออกมาจากห้องไอซียู ไม่เกิน 48 ชั่วโมงแบบที่หมอบอก พ่อก็จากพวกเราไปอย่างสงบ” ครอบครัวตันทวีวงศ์ เสียบุคคลอันเป็นที่รักไปเมื่อ 5 เมษายน 2552 หากย้อนไปเมื่อปี 2516 ครอบ ครัวตันทวีวงศ์ก็เคยเสียบุคคลอันเป็นที่รักในฐานะแม่ไปด้วยสาเหตุคล้ายๆ กัน “ตอนนั้นแม่ไม่ได้ป่วยอะไรเลยนะ เพียงแค่แม่ต้องการไปเช็คสุขภาพเท่านั้นที่โรงพยาบาลเพราะแม่เป็นโรคหอบหืด หมอเลยทำการเช็คหัวใจด้วย เพราะอาจจะเป็นโรคหัวใจโตได้ แม่ก็นอนที่โรงพยาบาลเพื่อจะเช็คหัวใจให้ละเอียด พอเช้าวันรุ่งขึ้นโรงพยาบาลก็ทำการฉีดสีเพื่อตรวจหัวใจ แล้วแม่ก็ช็อคเพราะแม่แพ้และจากไปในวันนั้น ซึ่งทำให้ทุกคนช็อคมาก เพราะด้วยวัยและสุขภาพของแม่ที่แข็งแรงดี แค่การเข้าไปตรวจสภาพร่างการเท่านั้น ทำให้ครอบครัวต้องเสียโอกาสในชีวิตไปหมด” อภิญญา ตันทวีวงศ์ เผยลิ้นชักความทรงจำถึงการจากไปของแม่ด้วยอายุเพียง 34 ปี หลังจากมีลูกสาวให้พ่อได้เชยชม 3 คนในวัยไล่เลี่ยกันพี่สาวคนโต 9 ขวบ น้องสาววัย 3 ขวบ และเธอ 6 ขวบ พ่อจึงกลายเป็นแม่ในอีกบทบาทหนึ่งของครอบครัว และเลี้ยงลูกมาโดยลำพัง และเธอยอมรับว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นนำความทุกข์ และชิงโอกาสต่างๆของคำว่าครอบครัวไปจากเธอ เมื่อเธอเติบโตขึ้นเธอเคยถามพ่อว่า ‘เคยคิดที่จะฟ้องหมอไหม’ พ่อตอบว่าเคยคิด แต่ครั้นปรึกษาผู้ใหญ่แล้ว การยื่นฟ้องศาลถือเป็นเรื่องใหญ่มาก และองค์การด้านสิทธิผู้บริโภคก็ยังไม่เกิด การฟ้องรังแต่จะสร้างภาระให้กับครอบครัวเพิ่มมากขึ้น พ่อจึงไม่เอาความหมอแต่ความทุกข์นั้นก็ไม่ได้หายไปจากใจของพ่อ และทำหน้าที่ทั้งพ่อและแม่เลี้ยงลูกจนเติบโตทั้งสามคน หลังจากล้มเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2551 ด้วยวัย 81 ปี พ่อของอภิญญาเส้นเลือดในสมองซีกซ้ายแตก ครอบครัวพาพ่อส่งโรงพยาบาลที่พ่อมีสิทธิประกันสังคม ซึ่งถึงแม้พ่อจะออกจากงานแล้วก็ส่งมาตลอด ระหว่างนั้นลูกๆ ก็เฝ้าพยาบาลพ่อจนออกจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นที่บ้านได้ จากนั้นก็ฟื้นฟูด้วยการพาไปทำกายภายบำบัดอยู่เสมอๆ จนเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน พ่อของเธอมีการเกร็ง กระตุก และชัก เธอจึงพาพ่อส่งโรงพยาบาลอีกครั้ง ครั้นถึงโรงพยาบาล แพทย์มองว่าพ่ออยู่ในภาวะวิกฤตจึงนำตัวเข้าห้องไอซียู และติดตามดูอาการในห้องไอซียู 48 ชม.เพื่อป้องกันการชักซ้ำ ซึ่งอาจทำให้สมองขาดออกซิเจนได้ในขณะชัก หลังจากนั้นพ่อก็กลับไปพักฟื้นที่บ้านโดยทุกคนในครอบครัวช่วยกันดูแลใกล้ชิดพ่อตลอดเวลา ซึ่งถึงแม้พ่อจะไม่กลับมาเดินได้อีกครั้งแต่พ่อก็รู้สึกตัว มีสติ จำทุกคนได้หมด จนพ่อมีอาการเกร็งกระตุก อีก 2 ครั้ง ในเดือนกันยายนและตุลาคมซึ่งก็ได้รับการดูแลที่ดีจากโรงพยาบาลมาโดยตลอด ปลายปี 2551 โรงพยาบาลแห่งนี้ก็จะออกจากประกันสังคม ทางครอบครัวจึงมองหาโรงพยาบาลใกล้บ้านไว้เพราะหมอได้บอกไว้ว่า อาการพ่อของเธอนั้นเมื่อเกิดอาการชัก เกร็ง ซึ่งเป็นลักษณะอาการของคนที่เส้นเลือดในสมองแตก จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้สมองได้รับความเสียหายและอาจเสียชีวิตได้ ทางครอบครัวจึงเลือกโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสังกัดประกันสังคม ย่านถนนรามคำแหง ซึ่งใช้เวลาเดินทางเพียง 15 – 20 นาทีก็ถึงโรงพยาบาล และด้วยความเป็นห่วงพ่อ ทางครอบครัวจึงพาพ่อไปหาหมอที่โรงพยาบาลแห่งใหม่ดังกล่าว เพื่อจะได้มีการทำประวัติและบันทึกอาการของพ่อของเธอไว้เป็นข้อมูลพื้นฐาน เพื่อเตรียมการในกรณีป่วยฉุกเฉิน แล้วภาวะนั้นก็มาถึง วันที่ 19 มีนาคม 2552 พ่อของเธอชักอีกครั้ง และนั่นเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ได้ใช้สิทธิที่โรงพยาบาลแห่งใหม่ “พ่อชัก เกร็งกระตุก ด้วยอาการแบบนี้ เราก็รีบนำตัวพ่อส่งโรงพยาบาล พอถึงโรงพยาบาลเวลา 9.45 น. ก็ถูกนำตัวเข้าห้องฉุกเฉินและฉีดยากันชักให้ พร้อมห่มผ้าให้พ่ออย่างหนา ซึ่งทำให้เราไม่เห็นว่าพ่อยังชักอยู่ไหม ยังมีการเกร็งอยู่หรือเปล่า แล้วก็วัดความดันเป็นครั้งคราว เราก็ยืนอยู่ข้างเตียงพ่อแล้วก็ถามว่าจะรักษาพ่อต่ออย่างไร เขาบอกต้องทำซีทีสแกนสมองก่อน สักพักเวลา 10.30 น. เขาก็พาพ่อไปทำซีทีสแกนและส่งขึ้นหอผู้ป่วยตอน 11 โมงแล้วก็ตรวจวัดความดันอีกเช่นเดิม ไม่มีหมอมาตรวจ มีเพียงพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลเท่านั้น สักเที่ยงก็เลยไปถามพยาบาลว่า ‘เมื่อไรหมอประจำวอร์ดจะมาดูอาการ’ พยาบาลบอกว่าหมอไปทำธุระที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ จะเข้ามาดูอาการหลังบ่าย 3 แต่หมอสั่งยาทางโทรศัพท์ไว้แล้ว ไม่ต้องห่วง เราก็กังวลละสิทีนี้ ระหว่างนั้นเราก็ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องรออย่างอดทน สักบ่าย 2 บุรุษพยาบาลก็มาวัดความดันพ่ออีกครั้ง ครั้งนี้ความดันพ่อสูงเกิน 200 แต่พยาบาลก็ไม่ได้ทำอะไร ได้แต่บอกว่าเป็นเรื่องปกติของผู้ป่วยแบบนี้ สักพักพ่อก็ตาค้าง ไม่มีสติ เราก็ขอร้องให้พยาบาลตามหมอมาที พยาบาลก็โทรไปหาหมอเล่าอาการของพ่อ แล้วหมอก็สั่งให้พยาบาลฉีดยาให้กับพ่อเพิ่ม พ่อก็ยังเกร็ง และกระตุกอยู่ จนบ่ายสามโมงครึ่ง หมอก็มาดูอาการของพ่อ บอกว่าผลซีทีสแกนออกมาแล้ว พ่อมีน้ำคั่งในโพรงสมอง แต่เขาช่วยอะไรไม่ได้ เพราะเขาเองเป็นหมออายุรกรรมทั่วไป ต้องให้หมอด้านสมองมาดู ซึ่งหมอสมองนี่ก็เป็นคุณหมอพาร์ทไทม์อีก ไม่รู้จะมาเมื่อไร เราก็โห...นี่รอหมอมาครึ่งค่อนวัน แล้วยังช่วยอะไรไม่ได้อีก” เมื่อรู้ว่าการรอคอยอย่างอดทนกว่า 7 ชั่วโมง ที่มีชีวิตของพ่อเป็นเดิมพันไม่มีสัญญาณที่ดี เธอจึงขอย้ายพ่อไปรักษาอีกโรงพยาบาลในย่านเดียวกัน ก่อนจะย้ายทางโรงพยาบาลนั้น หมอบอกกับเธอว่าพ่อของเธออยู่ในภาวะวิกฤตต้องใช้เครื่องช่วยหายใจขณะย้าย ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายได้ พร้อมส่งเอกสารให้เธอเซ็น 1 ฉบับ ถึงแม้จะอยู่ในช่วงชุลมุนเธอก็ยังมีสติที่จะอ่าน ซึ่งใจความบอกว่า จะไม่เอาความและไม่ฟ้องร้องโรงพยาบาลหากเกิดความเสียหายเกิดขึ้น และเธอก็ใช้นาทีชุลมุนเก็บเอกสารนั้นมาด้วย เพราะเธอมองว่ามันไม่ยุติธรรมเลยที่โรงพยาบาลจะทำแบบนี้ ถ้าหากเป็นญาติผู้ป่วยรายอื่นๆ อาจจะเซ็นไปแล้วก็ได้เพราะเวลานั้นเป็นช่วงเวลาเร่งรีบและอาจเกรงว่าถ้าไม่เซ็นโรงพยาบาลจะไม่ให้พาตัวออกไปก็เป็นได้ บ่ายสี่โมงครึ่ง พ่อของเธอก็ถึงอีกโรงพยาบาล ซึ่งขณะนั้นพ่อของเธออยู่ในภาวะหัวใจวาย และโคม่า จึงถูกนำตัวเข้าห้องไอซียู และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา  ตลอด 15 วันที่พ่อนิ่งสนิทไม่รู้สึกตัว เธอและครอบครัวอยู่ดูแลไม่ห่างถึงแม้จะเข้ามาเยี่ยมได้บางเวลาเท่านั้น แต่ก็อยู่ที่หน้าห้องไอซียูเสมอ การงานที่เคยทำของลูก หนังสือที่เคยเรียนของหลาน ความกังวลใจต่างๆ นานา ถาโถมเข้าสู่ครอบครัวตันทวีวงศ์อีกครั้ง ทำให้เธอเกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบการรักษาพยาบาล เมื่อคราวแม่และเมื่อคราวของพ่อ ที่ระยะเวลาห่างกันถึง 37 ปี แต่เหตุการณ์คล้ายๆ กันก็ยังเกิดขึ้น “หมอเรียกพวกเราไปคุยและบอกว่าพ่อจะไม่กลับมาเหมือนเดิมแล้วนะ ถึงแม้พ่อจะฟื้นขึ้นมา เพราะสมองของพ่อขาดออกซิเจนนานเกินไปแล้วตั้งแต่ก่อนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนี้ ต้องเป็นผู้ป่วยนอนเตียงเวลากินก็กินทางสายยาง การรับรู้ก็น้อยมากเพราะสมองเสียหายไปมากตั้งแต่ตอนเริ่มชัก และทางเลือกที่มีอยู่ก็คือการเจาะคอเพื่อที่จะให้อาหารและให้อากาศ เพื่อให้พ่อมีชีวิตอยู่ได้ พอได้ฟังแบบนั้นเราก็ปรึกษากัน หาข้อมูลต่างๆ ว่าจะทำอย่างไร เราจะยอมให้พ่อตื่นขึ้นมาทุกครั้งแล้วอยู่กับความเจ็บปวดไหม ของที่ชอบก็ไม่ได้กิน หายใจเองก็ยังทำไม่ได้ สุดท้ายพวกเรายอมให้พ่อจากไป ยอมให้หมอถอดเครื่องช่วยหายใจและย้ายพ่อมารักษาที่ห้องพักฟื้นผู้ป่วย ไม่เกิน 48 ชั่วโมง พ่อก็จากไปอย่างสงบท่ามกลางลูกหลานครบทุกคน” เธอเล่าถึงนาทีสุดท้ายที่ได้อยู่กับพ่อ หลังการจากย้ายโรงพยาบาลมาอยู่โรงพยาบาลใหม่ อภิญญาบอกว่าทางโรงพยาบาลเดิมก็มาเยี่ยม และส่งเจ้าหน้าที่มาเจรจา เพราะเธอไม่ได้ส่งใบสัญญานั้นคืนให้โรงพยาบาล  ด้วยหลักฐานต่างๆ ที่เธอมีมันพร้อมที่จะเอาผิดโรงพยาบาลได้ แต่เธอเลือกที่จะไม่ฟ้องหมอหรือโรงพยาบาล เธอหวังเพียงจะให้เกิดการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน และเพื่อปกป้องผู้ประกันตนคนอื่นๆ อยากให้เกิดการกำกับดูแลมาตรฐานโรงพยาบาลนั้นที่มีการบันทึกเวชระเบียนที่เป็นเท็จหลังจากเธอยื่นขอเวชระเบียนไป เหตุการณ์นี้ทำให้เธอนำเรื่องเข้าร้องเรียนต่อประกันสังคม สุดท้ายหลังการเจรจา ทางโรงพยาบาลยอมจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นทั้งหมดราวๆ 340,000 บาท “ญาติที่ฟ้องหมอหรือโรงพยาบาล จริงๆ แล้วไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการเห็นอะไรบางอย่างต้องการความรับผิด ต้องการการดูแลที่ดีจากโรงพยาบาล ต้องการวัดใจกันว่าทางโรงพยาบาลรู้สึกสำนึกไหมกับสิ่งที่ทำลงไปไหม ก็รู้สึกเสียใจที่พาพ่อส่งโรงพยาบาลผิด ถ้าเราพาพ่อส่งโรงพยาบาลถูกพ่อก็จะอยู่กับเราต่อ ถึงแม้ญาติๆ จะมีความรู้บ้างแต่ถึงที่สุดแล้วความรู้ความเชี่ยวชาญจริงๆ ก็ต้องเป็นหมอ และอีกอย่างการรักษาพยาบาลก็ไม่ใช่การซื้อของที่ไม่พอใจก็ไปซื้อที่อื่น ในขณะที่พ่อชักอยู่ก็พาพ่อขึ้นรถไปโรงพยาบาลอื่น มันไม่ใช่ เราไม่ฟ้องหมอหรือโรงพยาบาล เราเพียงแค่อยากให้มีการควบคุมดูโรงพยาบาล อยากให้ประกันสังคมเข้าไปควบคุมดูแลให้สมกับเงินที่จ่ายให้ประกันสังคมทุกเดือนๆ หน่อย เราไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครอีก อยากให้เรื่องของพ่อเป็นบทเรียนในการปรับปรุงบริการ ถ้าหมอมองว่าผู้ป่วยจะใช้โอกาสที่เขาพลาดเพื่อฟ้องเรียกเงิน 10 ล้าน 20 ล้าน มันไม่ใช่เลย ความสูญเสียต่างๆ มันเกิดขึ้น อย่างโรงพยาบาลทำแม่ตาย ถ้ามองว่าเราสูญเสียอะไรบ้าง เราเสียโอกาสการได้รับการเลี้ยงดูที่ดี เสียคุณภาพชีวิต เสียแม่ ซึ่งถ้าหากจะคิดเป็นตัวเงินเพื่อฟ้องร้องตอนนั้นมันก็มีเหตุผลที่ฟ้องร้องกันได้ ถ้าเทียบกับกรณีของพ่อ ค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลต้องจ่ายมันเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยมากๆ “พอเห็นหน้าเขาก็ดีใจนะ ดีใจที่เขาเกิดมาปกติ ไม่พิการ” เนื้องอกที่มีหัวใจ ของบังอร มีประเสริฐ “แม่ใครน่ะ ใครเหรอ” น้องอาร์มแฝดคนน้องเซ้าซี้ถามบังอร มีประเสริฐ ผู้เป็นแม่ด้วยความใคร่รู้ว่าแม่พูดโทรศัพท์กับใคร ส่วนน้องอั้มแฝดคนพี่ นั่งคลอเคลียไม่ห่างแม่  ลูกชายแฝดวัย 8 ขวบของบังอร  ที่ครั้งหนึ่งหมอมีคำวิจฉัยว่าเขาสองคนเป็นเนื้องอกในมดลูกของบังอรเมื่ออยู่ในท้องได้ 6 เดือน ย้อนไปเมื่อปี 2545 เดือนเมษายน บังอร มีประเสริฐ รู้อึดอัดแน่นท้อง อีกทั้งท้องก็โตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลังจากเธอมีลูกชายให้สามีได้เชยชมแล้ว 1 คน บังอรก็กินยาคุมมาตลอด 9 ปี จึงแน่ใจว่าไม่ได้ตั้งท้องอย่างแน่นอน แต่อาการผิดปกติทำให้กังวล เธอจึงให้สาธิต  นาคขันทอง ผู้เป็นสามี พาไปตรวจที่สถานีอนามัยปากมาบ แต่ด้วยความจำกัดด้านอุปกรณ์ หมออนามัยจึงใช้การคลำท้องและพบว่ามีก้อนเนื้อภายในท้อง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเนื้องอกหรือว่าบังอรตั้งท้องกันแน่ จึงแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาล ผลการตรวจของโรงพยาบาลซึ่งตรวจด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ พบว่าบังอรไม่ได้ท้อง หมอจึงวินิจฉัยว่าเหตุที่บังอรท้องโตนั้นเกิดจากเนื้องอก ดังนั้นทางโรงพยาบาลจึงทำการผ่าตัดเพื่อผ่าตัดเนื้องอกในท้องของบังอร แต่แล้วหลังการผ่าตัดที่หมอวินิจฉัยว่าเป็น “เนื้องอก” นั้นแท้จริงแล้วเป็นเด็กแฝด 2 คนอยู่ในมดลูกของบังอรที่ขณะนี้มีอายุครรภ์ถึง 6 เดือนแล้วหลังการผ่าตัดคุณหมอได้ออกมาแสดงความยินดีกับครอบครัวของบังอรที่หน้าห้องผ่าตัดว่า ‘ยินดีด้วย เพราะบังอรไม่ได้เป็นเนื้องอกในท้อง แต่บังอรท้องเด็กแฝด’ กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ ไม่มีอะไรต้องกังวล ‘ไม่มีอะไรต้องกังวล’ แต่กลับเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลและความลำบากให้กับครอบครัวของบังอรเป็นอย่างมาก การตั้งท้องดูจะเป็นเรื่องยากเย็นที่สุดของผู้หญิงแล้ว แต่บังอรอุ้มท้องลูกแฝด  ซ้ำร้ายกว่านั้นเป็นท้องที่มีแผลผ่าตัดที่ยาวกว่าคืบ การจะพลิกตัวแต่ละครั้งจึงเป็นเรื่องที่แสนสาหัสสำหรับบังอร  อีกทั้งกังวลว่าแผลจะปริออกด้วยเพราะท้องเธอก็โตขึ้นทุกวันๆ  ตลอดระยะ 3 เดือน ที่รักษาแผลให้หายจนผ่าตัดคลอด สามีจึงต้องคอยอยู่ดูแลบังอรเกือบจะตลอดเวลา งานรับจ้างและทำประมง ด้วยรายได้ 2 คนที่ตกวันละ 200 – 300 บาท จึงมีอันต้องหยุดลง และประทังชีวิตครอบครัวด้วยการหยิบยืมเงินเพื่อนบ้านเพื่อเลี้ยงปากท้อง ในเดือนกรกฎาคม 2545 น้องอั้มและน้องอาร์ม ลูกชายฝาแฝด ของบังอรก็ลืมตาดูโลก ร่างกายสมบูรณ์ดีด้วยน้ำหนัก 3 ก.ก. กรัม เมื่อแรกคลอดทั้งคู่ ซึ่งเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลเดิม หากแต่ว่าเปลี่ยนหมอในการผ่าตัด “พอเห็นหน้าเขาก็ดีใจนะ ดีใจที่เขาเกิดมาปกติ ไม่พิการ” ความกังวลของบังอรหมดไป 1 เปาะ แต่มีอีกเปาะที่เธอยอมรับว่าท้อเหลือเกินในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการเยียวยา ความผิดพลาดของทางโรงพยาบาล 23 พฤษภาคม 2545 บังอรได้ได้ยื่นเรื่องต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้พิจารณาชดเชยค่าสินไหม ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2535 เพราะเธอถูกผ่าท้องฟรีและได้สร้างความวิตกกังวลว่า การผ่าท้องที่เกิดขึ้นจะทำให้ส่งผลกระทบต่อลูกแฝดในท้องหรือไม่ เธอเฝ้ารอผลการร้องเรียนด้วยใจหวัง แต่แล้ววันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 ผลที่ออกมาทำให้เธอถึงกับเข่าอ่อน นั่นเพราะว่าสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าการผ่าตัดของหมอนั้นเหมาะสมแล้ว และนั่นเป็นการผ่าท้องเพื่อวินิจฉัยโรค ไม่ใช่การรักษาโรค ทำให้เธอสงสัยว่าเดี๋ยวนี้เขาวินิจฉัยโรคกันอย่างนี้เลยหรือ หลังจากได้ฟังคำตอบจากสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เธอไม่เชื่อว่านั่นเป็นการวินิจฉัยโรค เธอยังคงตามหาความเป็นธรรมต่อไปด้วยการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเมื่อต้นปี 2546 เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และขอให้หมอที่ทำการผ่าตัดเธอ และโรงพยาบาลร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับครอบครัวของเธอเป็นเงิน 500,000 บาท แต่เธอก็ต้องผิดหวังอีกครั้ง เพราะวันที่ 18 มีนาคม 2546 ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง ในเรื่องให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย แต่ก็ทำให้ใจเธอชื้นขึ้นมาบ้างเพราะศาลยอมรับคำฟ้องในข้อหาขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานปลัดฯ 3 ปีผ่านไป บังอรกลับมาใช้ชีวิตด้วยอาชีพรับจ้าง และทำประมง เลี้ยงครอบครัวดังเช่นปกติ โดยคดีของเธอยังคงดำเนินต่อไป และวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ผลการรับคำฟ้องไปเมื่อ 3 ปีก็ออกมาว่าศาลยกฟ้อง เพราะกระบวนการในการออกคำสั่งของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว 29 มิถุนายน 2549 เธอจึงยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด และการรอคอยก็ผ่านไปอีก 1 ปี 15 สิงหาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาว่า การผ่าตัดเธอนั้นถือเป็นการกระทำละเมิด และให้โอนคดีของเธอกลับไปยังศาลยุติธรรม จังหวัดที่เกิดเรื่องนั่นก็คือที่จังหวัดสมุทรสงคราม  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 เธอจึงยื่นเรื่องฟ้องศาลใหม่อีกครั้ง ในที่สุด 15  พฤษภาคม 2551 ก็มีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยเกิดขึ้นระหว่าง ครอบครัวของบังอร โดยมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไป ร่วมเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งทราบว่าหมอที่ทำการผ่าตัดบังอรได้เสนอค่าเยียวยาเธอมาเป็นจำนวนเงิน 80,000 บาท ซึ่งการฟ้องครั้งนี้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคและบังอร ต้องการให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ได้ต้องการรับค่าเสียหายจากหมอ จึงยื่นข้อเสนอสำนักงานปลัดจ่ายไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท วันที่ 23 พฤษภาคม 2551 จึงมีการเจรจาไกล่เกลี่ยอีกครั้ง โดยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดยินดีที่จะรับผิดชอบแทนสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอยากจะยุติเรื่องราวทั้งหมด เพราะส่วนตัวแล้วหมอเองก็รู้สึกเสียใจกับเรื่องที่ผ่านมา จึงยินดีช่วยเหลือเยียวยาค่าเสียหายและเป็นทุนการศึกษาให้กับลูกชายทั้งสองของบังอร เป็น 120,000 บาท  สุดท้ายวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 บังอรได้รับการชดเชยเยียวยาจำนวนเงิน 140,000 บาท กว่า 6 ปีของเส้นทางการตามหาความยุติธรรมของบังอร เธอบอกว่าระยะเวลาการต่อสู้นานขนาดนี้ ทำให้เธอท้อมาก “พอเห็นหน้าเขาก็ดีใจนะ ดีใจที่เขาเกิดมาปกติ ไม่พิการ” แต่ยาใจสำคัญที่ทำให้เธอมีแรงสู้ต่อก็คือ “ลูก” ของเธอนั่นเอง และเธอหวังว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งกำลังรอพิจารณาอยู่ในสภาฯ ขณะนี้จะมีส่วนในการช่วยลดความขัดแย้งระหว่างหมอกับผู้ป่วย และจะมีกระบวนการเยียวยาที่รวดเร็ว รวมถึงน่าจะช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยด้วยเช่นกัน -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เรื่องเล่าจากหัวใจพ่อ กลางดึกวันที่ 6 กรกฎาคม 2552 ขวัญอุทัย แสนทายก ในฐานะพ่อ กำลังส่งใจไปยื้อหัวใจลูกสาวคนเล็ก “น้องครีม” วัย 1 ขวบ 22 วัน ที่เต้นแผ่วลงทุกทีๆ ในห้องรักษาของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องยื้อหัวใจที่ยังเต้นตุบๆ หากแต่ว่าสลายไปแล้วของ สริชญา ติดสันโดษ  ภรรยาของเขา ที่ร่ำไห้ปานจะขาดใจอยู่หน้าห้อง “หมอบอกว่าลูกเราจะไม่เป็นไร แต่ทำใจดีๆ ไว้นะ” คำปลอบของเขากลับทำให้ภรรยาร้องไห้หนักขึ้น ด้วยคำว่า “ทำใจดีๆ” และนั่นเป็นถ้อยคำที่ดีที่สุดแล้วของเขา  ย้อนไปเมื่อเช้าของวันที่ 6 กรกฎาคม ย่าพาน้องครีมมาหาหมอด้วยอาการอาเจียนและถ่ายท้องอย่างหนัก หลังหมอตรวจอาการแล้ว บอกว่าเป็นไวรัสลงกระเพาะ ไม่เป็นอะไรมากให้กลับไปพักที่บ้านได้ ในขณะที่ขวัญอุทัย ซึ่งลางานมาเฝ้า “น้องคริส” ลูกสาวแฝดผู้พี่ที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ก่อนหน้า 2 วันแล้วด้วยอาการเดียวกัน รู้สึกเบาใจขึ้นมาบ้างหลังรู้ว่าลูกสาวคนเล็กไม่เป็นอะไรมาก ทว่าตกเย็นวันนั้น “น้องครีม” อาการทรุดลงขึ้นจึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง โดยโรงพยาบาลนำตัวไปที่ห้องฉุกเฉินและปล่อยให้รออย่างนั้นกว่า 1 ชั่วโมง โดยไม่มีการตรวจรักษา ขวัญอุทัยจึงขอปรอทจากพยาบาล มาวัดไข้ลูกเองซึ่งปรอทขึ้นถึง 38 องศา ทำให้เขากังวลว่าน้องครีมจะช้อคเพราะน้องเคยช้อคมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อไข้ขึ้นถึง 39 องศา หลังวัดไข้เสร็จ “น้องครีม” ก็เปลี่ยนจากการงอแง เป็นเริ่มนิ่งแบบไม่ตอบสนอง เขาจึงขอให้หมอและพยาบาลช่วยรักษาให้หน่อย จึงได้รับการตอบสนองโดยพยาบาลนำตัวน้องครีมไปเช็ดตัว จนน้องเริ่มตัวเย็นลงแล้วก็ให้มาอุ้มไว้เช่นเดิม จนเวลา 4 ทุ่ม ทางโรงพยาบาลจึงให้เข้าพักรักษาตัว และพักอยู่เตียงใกล้ๆกับ “น้องคริส” แฝดผู้พี่ “มันเป็นช่วงเวลาการรอคอยที่ยาวนานมากครับ ไปตั้งแต่ 5 โมงเย็น กว่าจะได้ขึ้นไปห้องผู้ป่วยในก็ 4 ทุ่ม แต่ก็อุ่นใจครับเพราะเตียงอยู่ใกล้ๆกันกับพี่สาวของเขา ทำให้ดูแลได้ง่ายขึ้น น้องครีมจะแข็งแรงกว่าพี่สาว อย่างครั้งนี้ก็เหมือนกันพี่สาวเขาเป็นหนักกว่า” ขวัญอุทัยย้อนเล่าเหตุการณ์ที่เขาไม่อาจลืมได้ แต่แล้วขณะแม่น้องครีมกำลังให้นมอยู่กับอก ไข้ขึ้นสูงและเกิดอาการช็อค นักศึกษาแพทย์ที่กำลังจะเช็ดตัวให้ ก็รีบนำตัวเข้าห้องรักษา นักศึกษาแพทย์ก็กรูกันเข้าไปช่วยกัน โดยไม่มีหมอประจำการอยู่ที่นั่น จนเวลาผ่านไปกว่า 45 นาที ที่นักศึกษาแพทย์ช่วยกันปั๊มหัวใจ สักครู่ก็มีคนเข้ามา และบอกให้เขาทำใจ… สุดท้ายน้องครีมจากไป เวลาตี 1 วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2552 ด้วยสาเหตุระบุว่า “หัวใจล้มเหลว” “คือเหมือนหัวใจผมมันสลายไปแล้ว" ตอนแรกผมก็อุ่นใจเพราะที่นี่เป็นโรงพยาบาล เกิดอะไรขึ้นก็จะช่วยเหลือได้ทัน แต่พอถึงเวลาฉุกเฉินจริงๆ กลับช่วยเหลือไม่ได้เลย ผมเชื่อว่าลูกผมไม่ได้ตายเพราะโรค เพราะครั้งหนึ่งน้องเคยช้อคมาครั้งหนึ่งแล้วแต่ได้รับการช่วยเหลือทัน แต่ครั้งนี้ กดกันจนหน้าอกช้ำแล้วหมอก็ไม่มีอยู่เวร การเยียวยาหลังการเสียชีวิตของน้องครีมครอบครัวของขวัญอุทัย ขอพบผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งตอนนั้นคิดไว้ว่าหากไม่ยอมดำเนินการอะไรต่อเรื่องการเสียชีวิตของ “น้องครีม” ทางครอบครัวก็ตกลงกันว่าจะฟ้องร้องให้ถึงที่สุด ด้วยหวังว่าอยากให้ทางโรงพยาบาลปรับปรุงบริการ และดูแลเอาใจใส่คนอื่นๆให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะแสดงอาการเจ็บป่วยหรือไม่ ก็ควรจะดูแลไม่ควรที่จะเพิกเฉยต่อการรักษาและควรจะมีทีมหมอพร้อมถึงแม้จะเป็นวันหยุดยาว ไม่ใช่ปล่อยไปแบบนี้ พร้อมเรียกค่าเยียวยาและค่าเลี้ยงดูไป 290,000 บาท ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ซึ่งขณะนั้นลูกสาวคนโตยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล หลังการเข้าพบทางโรงพยาบาลมีการเรียกประชุมผู้บริหาร และเข้าเจรจากับครอบครัวขวัญอุทัย พร้อมให้การดูแลน้องคริสเป็นอย่างดี และชดเชยเยียวยาค่ารักษาพยาบาลเต็มจำนวนที่เรียกไปในวันที่ 22 ตุลาคม 2552 “ผมว่าถ้าเขาดูแลน้องครีมดีแบบนี้ตั้งแต่ตอนแรก การสูญเสียทั้งสองฝ่ายก็ไม่เกิดขึ้น เพราะเงินที่นำมาชดเชยให้ผมก็เป็นเงินจากภาษีประชาชนนั่นเอง และเงินจำนวนเพียงเท่านี้ถ้าเทียบกับชีวิตของลูกสาวผม มันเทียบกันไม่ได้เลย” นอกจากการได้รับการเยียวยาจากทางโรงพยาบาลแล้ว ครอบครัวของขวัญอุทัย ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ยื่นเรื่องไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในเดือนเดียวกันและได้รับการเยียวยาในวันที่ 21 มกราคม 2553 จำนวนเงิน 200,000 บาท อีกหนึ่งชีวิตที่ยังเหลืออยู่ เมื่ออีกหนึ่งชีวิตจากไป อีกสามชีวิตที่อยู่จะอยู่ต่ออย่างไร แม่น้องครีมบอกเพียงว่า ไม่อยากจะพูดถึง เธอบอกได้เพียงเท่านั้น หยาดน้ำตาก็รื้นขึ้นมาเล่าเรื่องราวแทนถ้อยคำ “มันพูดยากครับ เพราะเขาสองคนเคยเล่นอยู่ด้วยกัน กินด้วยกัน นอนด้วยกัน แล้วชีวิตคู่แฝดเขาจะมีความสัมพันธ์กัน เขาก็จะไปเล่นกับลูกของเพื่อนบ้าน มีอะไรเขาก็แบ่งปันให้ เขาคงคิดว่าเป็นน้องของเขาเวลาเห็นหน้าน้องคริส แล้วจะคิดถึงน้องครีมตลอด คือเราจะคิดว่าถ้าน้องครีมยังอยู่นะโตเท่านี้แล้วนะ พ่ออุ้มคนนั้น แม่อุ้มคนนี้ คือมัน…ขาดไปหลายอย่าง อืม…ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรดีครับ” เขาหยุดผ่อนลมหายใจอีกครั้งและนั่นเป็นการอธิบายที่ดีแล้วสำหรับเขา ถึงแม้จะผ่านไปกว่า 1 ปีแล้ว แต่ทุกอย่างยังคงชัดเจนสำหรับเขาเสมอ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point