ฉบับที่ 152 รู้เท่าทันคีเลชั่น 2

ในฉบับก่อน  การทำคีเลชั่นบำบัดนั้นมีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างระบบการแพทย์ตามมาตรฐานกับระบบการแพทย์ทางเลือก ทำให้คณะกรรมการคัดกรองศาสตร์การแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ทำการพิจารณาเรื่องนี้และจัดทำรายงานความเห็นเรื่องคีเลชั่นบำบัดเมื่อ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ว่า 1.1    ยังไม่มีหลักฐานการศึกษาวิจัยทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เพียงพอที่ยืนยันว่า การบำบัดด้วย คีเลชั่นจะรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้จริง  จึงยังไม่ควรเป็นมาตรฐานทางการแพทย์ในการให้บริการ 1.2    การให้การบำบัดด้วยคีเลชั่นในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ต้องใช้เป็นโครงการศึกษาวิจัยในคนเท่านั้น  ไม่สามารถใช้เพื่อการบริการและการรักษาในระบบบริการปกติ  การวิจัยในคนต้องปฏิบัติตามหลักจริยธรรมอย่างเคร่งครัด การประชุมวิชาการการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติครั้งที่ 6 วันที่ 2 - 4 กันยายน พ.ศ. 2552 ได้มีการจัดอภิปรายทางวิชาการเรื่อง “การบำบัดด้วยคีเลชั่น รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้จริงหรือ” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร  ข้อสรุปทางวิชาการมีดังนี้ 2.1 นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ได้กล่าวในการอภิปรายทางวิชาการประจำปีว่า  นายแพทย์สุรจิต สุนทรธรรม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทบทวนเอกสารความรู้จากแหล่งข้อมูลสำคัญ 4 แหล่ง (สมาคมหัวใจแห่งอเมริกา, สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา, COCHRANE และ สถาบันการแพทย์ทางเลือกในมหาวิทยาลัยของแคนาดา  ในปีพ.ศ. 2552 พบว่า 1)  สมาคมหัวใจแห่งอเมริกา มีรายงานสรุปว่า ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เพียงพอที่จะยืนยันว่า การบำบัดด้วยคีเลชั่นรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้ผล 2) สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ NIH ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานที่ดูแลการวิจัยทางการแพทย์ การสาธารณสุข สุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลกราบงานว่า ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่าวิธีนี้ใช้ได้ผล  และพบว่าอาจไม่มีความปลอดภัยโดยเฉพาะหากใช้โดยคนที่ไม่มีความรู้พอ NIH จึงมีการลงทุนการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ โดยใช้อาสาสมัครเป็นจำนวนมาก ใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี (เสร็จในปีพ.ศ. 2553) จึงจะสามารถสรุปประสิทธิผลของคีเลชั่นบำบัดได้  และเนื่องจากเป็นการศึกษาวิจัย  จึงต้องให้ข้อมูลอย่างเปิดเผยว่า เป็นการศึกษาวิจัย  ยังไม่ใช่มาตรฐานการรักษา  มีความเสี่ยงอะไร  และไม่สามารถเก็บ “ค่ารักษา” จากอาสาสมัครได้ 3)  โคเครน (COCHRANE) เป็นองค์กรที่รวบรวมผลการวิจัยต่างๆ ได้ทำการอภิวิเคราะห์ (metaanalysis) ได้ข้อสรุปว่า คีเลชั่นยังเป็นวิธีการรักษาซึ่งไม่มีหลักฐานที่พบว่าได้ผล 4) สถาบันการแพทย์ทางเลือกในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของประเทศแคนาดา มีรายงานว่า  ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่พบว่าได้ผล 2.2  นายแพทย์สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ได้กล่าวในการประชุมวิชาการว่า “องค์กรที่เป็นตัวชี้นำสังคมในแง่วิชาการความรู้คือโรงเรียนแพทย์หรือมหาวิทยาลัย  ถ้าโรงเรียนแพทย์ 3 แห่งหลักขึ้นไปทำก็เชื่อมั่นได้  เพราะโรงเรียนแพทย์เป็นแหล่งที่มีการพิสูจน์ทดลอง  ต้องสอนนักเรียนแพทย์เพื่อรักษาคน  ถ้าไม่มีการรักษา (คีเลชั่นบำบัด) ในโรงเรียนแพทย์  ขอให้รอก่อน....การรักษาที่จะนำไปใช้ เป็นงานวิจัยหรือการรักษา  ดูให้ดี  เท่าที่ทราบยังไม่มีโรงเรียนแพทย์ใดในประเทศไทยที่ทำคีเลชั่น” 2.3  นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ได้กล่าวว่า ตามปฏิญญาเฮลซิงกิ กำหนดหลักจริยธรรมของแพทย์ไว้ว่า ถ้าหากยังไม่มีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน แพทย์มีสิทธินำการรักษาใหม่ๆ มาใช้เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย  ซึ่งโรคหลอดเลือดหัวใจมีวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้วหลายวิธี  การนำวิธีการรักษาที่นอกเหนือจากนี้ต้องผ่านกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับ  ไม่เช่นนั้นแพทย์ที่นำไปใช้ถือว่าผิดจริยธรรม  ควรรอผลการวิจัยของ NIH เสียก่อน หน้ากระดาษหมดอีกแล้ว  คงต้องต่อในฉบับหน้า  ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย  เราจะดูผลการวิจัยของ NIH ว่าคีเลชั่นบำบัดสามารถรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้จริงหรือไม่

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 151 รู้เท่าทันคีเลชั่นบำบัด ตอนที่ 1

หลายท่านโดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบคงรู้จักหรือได้รับการชักชวนให้ทำคีเลชั่นบำบัด  แม้กระทั่งบางคนที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจหลอดเลือดตีบ  เพียงแค่มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง  โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งหรือแพทย์ในคลินิกเอกชนบางคนก็เสนอให้ทำเพื่อช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้น  ดูราวกับว่าการบำบัดด้วยคีเลชั่นนั้นเป็นการบำบัดสารพัดนึก  สามารถช่วยบำบัดอาการต่างๆ ได้แทบทุกอาการ  โรงพยาบาลของรัฐบางแห่งถึงกับทำแผ่นพับเสนอการทำคีเลชั่นบำบัดโดยข้าราชการสามารถเบิกจ่ายได้ส่วนหนึ่ง  และต้องจ่ายสมทบเองอีกส่วนหนึ่ง คีเลชั่นบำบัดคืออะไร  สามารถรักษาโรคอะไรได้บ้าง  สามารถรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้จริงหรือไม่ ระบบบริการทางการแพทย์ของประเทศไทยรับรองเป็นการรักษามาตรฐานทางการแพทย์หรือยัง  มีความเสี่ยงและอันตรายหรือไม่ เราควรรู้เท่าทันคีเลชั่นบำบัด  ดังต่อไปนี้ คีเลชั่นบำบัด (Chelation therapy) คือ การดึงเอาโลหะหนักในร่างกายออกมาโดยใช้สารเคมี EDTA (ethylene diamine tetra-acetic acid) ฉีดเข้าไปในร่างกาย  เดิมใช้กับคนไข้ธาลัสซีเมีย  เนื่องจากมีเหล็กสะสมมาก สะสมในตับ ตับอ่อน หัวใจ และอวัยวะต่างๆ นอกจากนี้ยังใช้ในการรักษาพิษตะกั่ว ปรอท ซึ่งเป็นการรักษาที่ทางการแพทย์แผนปัจจุบันรับรองให้เป็นวิธีการรักษาโรคดังกล่าว ต่อมามีการใช้คีเลชั่นบำบัดในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบราวปี พ.ศ. 2493 เพราะเชื่อว่า การเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นเพราะมีแคลเซียมเกาะตามหลอดเลือดต่างๆ ในร่างกาย การฉีด EDTA จะช่วยดึงแคลเซียมออกจากหลอดเลือด  ทำให้การตีบของหลอดเลือดลดน้อยลง มีการใช้คีเลชั่นบำบัดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก  ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่ทำโดยโรงพยาบาลของภาคเอกชนและถือว่าเป็นการแพทย์ทางเลือก ในประเทศไทยมีโรงพยาบาลและคลินิกแพทย์เอกชนหลายแห่งที่มีการให้บริการการบำบัดด้วยคีเลชั่นโดยบอกว่าสามารถบำบัดอาการหลอดเลือดหัวใจตีบ ไม่ต้องทำการสวนหัวใจหรือการผ่าตัด  นอกจากนี้สถานบริการของภาครัฐบางแห่งทำการโฆษณาการบริการบำบัดด้วยคีเลชั่น  และข้าราชการสามารถเบิกจ่ายจากกรมบัญชีกลางได้ สำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้จัดทำแนวเวชปฏิบัติที่ดีในการบำบัดด้วยคีเลชั่น และเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมเพื่อเสนอแนะให้กับบุคลากรสาธารณสุขในหน่วยงาน หรือสถานบริการที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค (การทำแนวเวชปฏิบัตินั้นหมายถึง แนวทางการบำบัดรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขกำหนดขึ้นหรือนำมาใช้เพื่อเป็นการให้การรักษาผู้ป่วย ซึ่งหมายความว่า การบริการนั้นๆ เป็นที่รับรองประสิทธิผล ความปลอดภัย ตามพ.ร.บ.การประกอบวิชาชีพหรือการประกอบโรคศิลปะที่เกี่ยวข้อง) การทำคีเลชั่นบำบัดมีการใช้สารสองตัว  ได้แก่ สารไดโซเดียมอีดีทีเอ ซึ่งมีแต่โซเดียม ไม่มีแคลเซียม โซเดียมเป็นตัวดึงแคลเซียมออกจากหลอดเลือดหัวใจ ใช้บำบัดธาลัสซีเมีย และ สารแคลเซียมไดโซเดียมอีดีทีเอ ซี่งมีแคลเซียม  สารตัวนี้จะไม่ดึงแคลเซียม  ใช้ดึงโลหะหนัก  ใช้รักษาพิษตะกั่ว  ในประเทศไทยมีการใช้สารทั้งสองชนิด ในอเมริกามีรายงานการเสียชีวิตจากการใช้สารไดโซเดียมอีดีทีเอ ประมาณ 20 ราย กลางปี พ.ศ. 2551  ทำให้บริษัทยาสองแห่งที่ขายยานี้ในอเมริกาถอนยาตัวนี้ออกจากตลาดยาในอเมริกา  แต่ในประเทศไทยยังมีการใช้ยาตัวนี้อยู่ สถาบันหลักของอเมริกาได้แก่ สมาคมหัวใจแห่งอเมริกา, สมาคมแพทย์อเมริกา, FDA (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา), ศูนย์การควบคุมและป้องกันโรค  และอีกหลายหน่วยงานมีความเห็นตรงกันว่า  ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้คีเลชั่นบำบัดในการรักษาโรคอื่นที่นอกเหนือจากรักษาโรคพิษจากโลหะหนัก การทำคีเลชั่นบำบัดอาจทำให้ผู้ป่วยขาดโอกาสในการได้รับการรักษาที่ดีและอยู่ในมาตรฐานการรักษาที่ยอมรับ  เช่น การควบคุมอาหาร  การออกกำลังกาย  และการสวนหัวใจหรือการผ่าตัด   ท่านผู้อ่านคงจะเห็นข้อมูลเบื้องต้น 9 ข้อที่กล่าวมาว่า  ในต่างประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์มากยังไม่รับรองการทำคีเลชั่นให้เป็นการรักษามาตรฐานสำหรับการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบเพราะยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เพียงพอ  แต่ในประเทศไทยมีการส่งเสริมการใช้อย่างแพร่หลายทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน  เราจะรู้เท่าทันคีเลชั่นบำบัดอย่างไรดี  คงต้องติดตามต่อฉบับหน้า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 150 ตัวอย่างหลักสูตร การคุ้มครองผู้บริโภคในโรงเรียน: ความเท่าทันสื่อ (Media Competency)

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการบทความนี้ผมได้แปลสรุปมาจากสื่อการเรียนการสอนของ องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี ที่ได้จัดทำสื่อให้กับคุณครูและเด็กนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดทำหลักสูตรดังกล่าวมีองค์กรภาคเอกชนหลายหน่วยงานได้เข้ามาร่วมกันทำงาน  สำหรับเนื้อหาในเรื่องความเท่าทันสื่อนี้ องค์กรคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนเข้ามามีบทบาทที่สำคัญ จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่างานบางอย่างรัฐไม่ได้ดำเนินการเอง แต่สนับสนุนให้องค์กรภาคเอกชนดำเนินการ แม้แต่เรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนในการศึกษาขั้นพื้นฐานรัฐก็ไม่ได้ผูกขาดไว้คนเดียว องค์กรปกครองส่วนท้องถื่นในบ้านเราที่มีความเข้มแข็งในการปกครองตนเอง ก็น่าจะนำไปประยุกต์ใช้กับ โรงเรียนในสังกัดกันบ้างนะครับ ในปี 1998 ผลการศึกษาของ JIM* การใช้มัลติมีเดียของวัยรุ่นอายุระหว่าง 12- 19 ปี พบว่ามีเพียง 19 % เท่านั้นที่ใช้อินเตอร์เน็ต และ 20 % ที่ไม่ได้มีโอกาสสัมผัสกับอินเตอร์เน็ตหรือ โทรศัพท์มือถือเลย ในขณะที่ผลการศึกษาในปี 2010 กว่า 90 % ของวัยรุ่นเล่นอินเตอร์เน็ตทุกวันและวันละหลายครั้ง วัยรุ่น 97 % มีโทรศัพท์มือถือส่วนตัว และหากนับรวมสื่ออื่นๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และยูทูบ ตลอดจนเกมส์คอมพิวเตอร์ จะเห็นว่าสื่อทั้งหลายเหล่านี้อยู่รอบๆ ตัวของวัยรุ่น เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ รับทราบ และเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ครู อาจารย์ยุคนี้ ที่กลัวว่าสื่อยุคใหม่จะส่งผลในเชิงลบต่อพฤติกรรมวัยรุ่นยุคนี้ จนเป็นที่มาของความเสื่อมในด้านวัฒนธรรม (Sittenverfall) การแพร่หลายของสื่อประเภทต่างๆ นี้ มีผลต่อวัยรุ่นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นผลทางด้านบวก หรือผลทางด้านลบ เป็นทั้งโอกาสและเป็นทั้งความเสี่ยง หน้าที่อย่างหนึ่งของคุณครูและพ่อแม่ต่อการรับมือกับสภาพของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นก็คือ เข้าไปทำความรู้จัก เรียนรู้ นำตัวอย่างที่ดีมาสอน อธิบายเรื่องความเสี่ยงและความน่ากลัวของสื่อ ให้วัยรุ่นรับฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่วัยรุ่นในยุคนี้จะต้องเรียนรู้ และสามารถคิดวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนกำหนดการใช้เวลาอยู่กับสื่อต่างๆ เหล่านี้ ได้ด้วยตนเอง จึงเป็นที่มาของหลักสูตร การเท่าทันสื่อ (Media Competency) พัฒนาการและการสนับสนุน หลักสูตรการเท่าทันสื่อ จะมีกระบวนการดังต่อไปนี้ คือความรู้ในเรื่องสื่อ (Knowledge) กระบวนการการประเมินผล (Reflexion) และกระบวน การการจัดการ (Take action) จากกระบวนการเรียนรู้การเท่าทันสื่อตามแนวความคิดดังกล่าว วัตถุประสงค์ของหลักสูตรนี้ คือ การสามารถวิเคราะห์การใช้สื่อต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งกระบวนการประเมินผล จะเป็นกระบวนการสำคัญ เนื่องจากเด็กวัยรุ่นจำนวนมากได้ใช้สื่อต่างๆ อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน การที่เปิดโอกาสให้เด็กสามารถทำการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้สื่อของตัวเอง การอภิปรายในเรื่องงานอดิเรกอื่นๆ ในเวลาว่าง และสามารถทำการประเมินระดับของการเสพติดสื่อได้ สำหรับคุณครูหรือพ่อแม่ที่ เกิดก่อนปี 1980 นั้นต้องเข้าใจว่า เป็นพวกอพยพเข้ามาสู่ยุคดิจิตอล(Digital Immigrants) ในขณะที่เด็กที่เกิดหลังปี 1980 นั้น จะเป็นพวกชนพื้นเมืองยุคดิจิตอล(Digital Natives) เนื่องจากคนกลุ่มนี้พอเกิดมาจำความได้ ก็รู้จักสื่อต่างๆ ที่รายรอบตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนที่เกิดมารุ่นก่อนต้องทำความเข้าใจในการสอน Media Competency ภายใต้หลักการที่ว่า เป็นกัลยาณมิตรต่อกันและกัน คือ ไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วยกับบางสิ่งบางอย่างที่คนรุ่นใหม่กระทำทุกเรื่อง แต่ภายใต้ความหวังดีที่มีให้นั้น ก็สามารถเป็นที่ปรึกษากับพวกเขาเหล่านั้นได้ เนื่องจากพ่อ แม่ ผู้ปกครองมีวุฒิภาวะที่สมบูรณ์ เพียบพร้อมกว่าเด็กวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนการเจริญเติบโต เนื้อหาในหลักสูตรนั้นทางองค์กรผู้บริโภค ได้จัดเตรียมไว้ให้กับคุณครูทางอินเตอร์เน็ต คุณครูสามารถดาวน์โหลด เพื่อมาประกอบการเรียนการสอนในห้องได้ นอกจากนี้ยังมีช่องทางให้คุณครูสามารถประเมินหลักสูตร เพื่อเป็นเสียงสะท้อนให้กับฝ่ายจัดทำหลักสูตรได้อีกด้วย เยอรมันเป็นชาติที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาทุกระดับ และสิทธิในการได้รับการศึกษาก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้ตราไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของไทย เพียงแต่เขาเอาจริง และทำจริงมากกว่าของเราในตอนนี้   *JIM เป็นโครงการการสำรวจอิทธิพลของสื่อที่มีต่อเด็กวัยรุ่น โดยทุกๆปี โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 1998 จะทำการสอบถามวัยรุ่นจำนวน 1,000 คน ในประเด็นดังต่อไปนี้ การทำกิจกรรมในยามว่าง หัวข้อที่สนใจและแหล่งของข้อมูล รายการโทรทัศน์ที่ชื่นชอบ การใช้สื่อประเภทต่างๆ ที่มีอยู่ การใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต แนวความคิดในการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์กับโรงเรียน การใช้โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point