ฉบับที่ 102 ช้อปช่วยโลก ซื้อของห้างไหนช่วยลดใช้ถุงพลาสติก

ฉลาดซื้อ ขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นให้ทุกคนหันมาสนใจปัญหาโลกร้อนกันอย่างจริงจัง เราจึงอยากชวนทุกคนมาช่วยกันลดขยะถุงพลาสติก ซึ่งเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก สิ้นเปลืองพลังงานในการผลิต แถมยังสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม เมื่อเรากำจัดมันไม่ได้ (เพราะถ้าเผาก็จะไปทำลายชั้นบรรยากาศ ถ้าฝังดินก็จะทำให้ดินเสื่อมสภาพ) เราก็ลองมาหาวิธีลด-ละ-เลิกการใช้ถุงพลาสติกกันดีกว่า   ในชีวิตประจำวันของเราคงเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ถุงพลาสติก เพราะร้านค้าเกือบแทบจะทุกแห่งต่างก็ใช้ถุงพลาสติกใส่ของให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นในตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือซูเปอร์มาร์เก็ต วงจรชีวิตการใช้งานของถุงพลาสติกนั้นสั้นมากๆ คือเมื่อของที่ใส่ถุงพลาสติกมาถูกนำไปใช้ ถุงพลาสติกก็จะถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะ มีบ้างที่เก็บไว้สำหรับใส่ของอื่นๆ (ซึ่งส่วนมากก็มักจะเป็นขยะ) ซึ่งเมื่อเก็บรวมกันไว้มากๆ เป็นเวลานานๆ แล้วไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อะไร สุดท้ายถุงพลาสติกทั้งหลายก็ต้องแปรสภาพกลายเป็นขยะอยู่ดี   ฉลาดซื้อ อยากชวนทุกคนมาลดการใช้ถุงพลาสติก เราเลยลองสุ่มสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างค้าปลีกต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ว่าแต่ละที่มีวิธีการจัดสรรถุงพลาสติกใส่ของให้กับลูกค้าอย่างไรบ้าง โดยเราได้กำหนดรายการสินค้าจำนวน 20 รายการ โดยเลือกสินค้าที่คนส่วนใหญ่ต้องซื้อใช้อย่างน้อยๆ ก็น่าจะเดือนละครั้ง อย่าง ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น กระดาษชำระ กาแฟ นม น้ำตาล เสริมด้วยพวกของสด อย่าง ผัก และลูกชิ้น เพื่อเพิ่มความหลากหลายของประเภทและลักษณะแพ็คเก็จบรรจุภัณฑ์ของสินค้า ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการจัดสินค้าใส่รวมลงในถุงพลาสติก ฉลาดซื้อ อยากรู้ว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไหนให้ถุงพลาสติกกับเราน้อยที่สุด ตารางแสดงผลสุ่มสำรวจการใช้ถุงพลาสติกของห้างค้าปลีกและซุปเปอร์มาร์เก็ต(รายชื่อสินค้า 1. ผงซักฟอก โอโมพลัส ดีโอเฟรช 1,100 กรัม 2.น้ำยาทำความสะอาดพื้น มาจิคลีน 900 มิลลิลิตร 3.น้ำยาล้างห้องน้ำ วิกซอล 900 มิลลิลิตร 4.น้ำยาซักผ้าขาว ไฮเตอร์ 600 ซีซ๊ 5.น้ำยาล้างจาน ซันไลต์ 600 ซีซี x 3 6.เนสกาแฟ เรดคัพ (ถุงเติม) 200 กรัม 7.ครีมเทียม .คอฟฟี่เมต 450 กรัม 8.น้ำตาล มิตรผล 1 กิโลกรัม 9.นม UHT โฟร์โมสต์ 225 มิลลิลิตร x 6 10.น้ำสละ เฮลส์ บลู บอย 710 ซีซี 11.กระดาษเช็ดหน้า เลดี้สก็อตต์ กล่อง 150 ชิ้น 12.กระดาษชำระ สก็อตต์เอ็กซ์ตร้า แพ็ค 6 ม้วน x 2 13 ผ้าอนามัน ลอริเอะซูเปอร์อัลตร้าสลิม 20 ชิ้น 14.บะหมี่คัพ มาม่า 60 กรัม x 3 15.มันฝรั่งทอดกรอบ เลย์ 125 กรัม 16.แฮม ซีพี แพ็ค 150 กรัม 17.ไข่เค็ม 18.อาหารสด 19.ผักสด)  *หมายเหตุ: เป็นการทดสอบสุ่มซื้อในช่วงวันที่ 16 – 22 กรกฎาคม 2552 ห้างเขาก็ใส่ใจเรื่องลดใช้ถุงพลาสติก“โลกร้อน” เป็นปัญหาของทุกคนบนโลกใบนี้ เราจึงต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ซึ่งบรรดาผู้ประกอบการห้างค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหลายก็ไม่ได้ใจร้าย ปล่อยให้ผู้บริโภคอย่างเราต้องหาวิธีลดใช้ถุงพลาสติกกันอยู่ฝ่ายเดียว เพราะแต่ละที่ก็คิดว่าวิธีการดีๆ เพื่อลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกในสถานประกอบการของตัวเอง วิธีที่ฮิตที่สุด คงหนีไม่พ้น “ถุงผ้าฟีเวอร์” ซึ่งก็มีอยู่หลายห้างที่ขานรับวิธีนี้ ซึ่งการแจกหรือจำหน่ายถุงผ้าของห้างค้าปลีกหรือซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เป็นวิธีการที่ช่วยกระตุ้นและสร้างความรู้สึกของการช่วยกันลดใช้ถุงพลาสติกให้กับผู้ที่มาซื้อสินค้าได้ชัดเจนที่สุด เช่น บิ๊กซี ที่มีแคมเปญให้ ซื้อถุงผ้าที่ห้างทำขึ้น จะได้รับค่าโทรศัพท์ฟรี 10 บาท หรือ คาร์ฟูร์ ที่มีการจำหน่ายถุงผ้าซึ่งผลิตจากสารที่ได้จากการรีไซเคิลขวดพลาสติก เพื่อให้ลูกค้านำมาใช้แทนถุงพลาสติก เป็นต้น บางห้างไม่ได้ทำออกมาแค่เพียงถุงผ้า แต่ยังผลิตถุงกระดาษออกมาใช้ด้วย เช่น เซ็นทรัล ฟู้ดส์ ฮอลล์ และ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่อยู่ในเครือ เซ็นทรัล รีเทล บางที่ก็ใช้วิธีให้ส่วนลดสำหรับคนที่หิ้วถุงผ้ามาซื้อสินค้า หรือจัดแคมเปญกระตุ้นจิตสำนึกเรื่องภาวะโลกร้อน เช่น Think Green ของเดอะ มอลล์ กรุ๊ปส์ (โฮม เฟรช มาร์ช และ กรูเมต์ มาร์เก็ต) ที่เป็นโครงเพื่อสิ่งแวดล้อม อย่างการจัดกิจกรรมให้ลูกค้าที่บอกไม่รับถุงพลาสติก 1 ใบ เท่ากับได้ร่วมปลูกต้นไม้ 1 ต้น หรืออย่าง ตั้งฮั้วเส็ง ที่เคยร่วมกับเขตหลักสี่ ส่งวิทยากรมาสาธิตประดิษฐ์และตกแต่งถุงผ้าในโครงการรณรงค์ใช้กระเป๋าผ้าลดภาวะโลกร้อน แถมแต่ละห้างที่เราสำรวจในครั้งนี้ก็เข้าร่วมในโครงการ “45 วัน รวมพลัง ลดถุงพลาสติก ลดโลกร้อน” ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ้าการลดการใช้ถุงพลาสติกเป็นเรื่องยาก ก็มีอีกหนึ่งทางเลือก คือ ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ หรือ oxo-biodegradable plastic bag ซึ่งถุงพลาสติกชนิดนี้สามารถย่อยสลายได้ด้วยความร้อนจากแสงอาทิตย์ และออกซิเจนในอากาศ ภายในระยะเวลา 1 - 2 ปี (แตกต่างจากถุงพลาสติกทั่วไปที่มีอายุยาวนานหลายร้อยปี) สาเหตุที่ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ยังไม่ค่อยแพร่หลาย คงเป็นเพราะต้นทุนที่สูงกว่าถุงพลาสติกทั่วไปประมาณ 5 – 10% ห้างค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใช้ถุงพลาสติกชนิดนี้ ก็อย่างเช่น วิลล่า มาร์เก็ต, โฮม เฟรช มาร์ช กับ กรูเมต์ มาร์เก็ต ในเครือ เดอะ มอลล์ กรุ๊ปส์ และ เซ็นทรัล ฟู้ดส์ ฮอลล์ กับ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ในเครือ เซ็นทรัล รีเทล   ไม่ใช้ถุงพลาสติก เราทุกคนทำได้-ถุงผ้ารักษาโลก –ถุงผ้าไม่ได้มีไว้สะพายตามแฟชั่นเท่านั้น แต่ประโยชน์ของมันคือการนำมาใช้แทนถุงพลาสติก ไม่ว่าจะซื้ออะไรก็เอามาใส่ไว้ในถุงผ้า แบบนี้ลดใช้ถุงพลาสติกได้แน่นอน-ถือเอาเลยก็ได้ ถ้าซื้อไม่กี่ชิ้น – ซื้อชิ้น 2 ชิ้น จะใส่ถุงทำไมให้เป็นขยะทำลายโลก ถือกลับมาเลยดีกว่า ไม่น่าจะลำบาก-ขับรถมาอย่าพาถุงไป –ใครที่ขับรถยนต์ไปซื้อของ ก็บอกกับห้างได้เลยว่าไม่เอาถุง แค่ใส่ของที่ซื้อมาลงในรถเข็นแล้วค่อยหยิบมาใส่ไว้ในรถได้เลย-รวมกันได้ในถุงใบเดียว – ถุงพลาสติกมีความยืดหยุ่นและทนทาน สามารถรองรับน้ำหนักได้ดี ถ้ามีของมากสามารถใส่ถุงเดียวกันได้ ก็บอกให้พนักงานเขาใส่รวมกันได้เลย-บอกอย่างมั่นใจ ว่าไม่เอาถุง – พยายามฝึกให้เป็นนิสัย ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้ถุงพลาสติก ซื้อของคราวหน้า บอกไปเลยว่า “ไม่เอาถุง”-ลดการซื้อ = ลดใช้ถุง – ซื้อเท่าที่ใช้ ใช้เท่าที่จำเป็น ทั้งช่วยโลกแล้วยังช่วยประหยัดอีกต่างหาก แถมจ้า! ตารางเปรียบเทียบราคาสินค้าจากการทดสอบการใช้ถุงพลาสติกของห้างค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ต*หมายเหตุ: เป็นราคาในช่วงระหว่างวันที่ 16 – 22 กรกฎาคม 2552 ประเทศไทยมีปริมาณขยะต่อวันเท่ากับ 40,000 ตันเฉพาะในกทม.มีปริมาณขยะต่อวันเท่ากับ 8,500 ตันขยะถุงพลาสติกเฉพาะในกทม.ต่อวันเท่ากับ 1,800 ตันเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บขนขยะต่อวันเป็นเงิน 1.78 ล้านบาท แต่ถ้าหากเราสามารช่วยกันลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้ จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการเก็บขนขยะได้ถึง 650 ล้านบาทต่อปี และยังช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจกได้ถึง 1 ล้านตันต่อปี(ข้อมูลจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 129 ภัยจากการซื้อสินค้าในห้างค้าปลีกสมัยใหม่

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ปฏิเสธได้ยากว่า ร้านสะดวกซื้อ  และห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้ง เซเว่น-อีเลฟเว่น บิ๊กซี เทสโก้-โลตัส ท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต และอื่น ๆ ที่จัดวางสินค้าและมีการบริหารจัดการแบบเดียวกัน เข้ามามีบทบาทสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในชีวิตของคนเมือง(วัดได้จากช่วงน้ำท่วมที่ของในห้างเหล่านี้ว่างเปล่าอย่างน่าตกใจ เพราะทุกคนต่างพากันกักตุนอาหาร) เหตุผลที่คนจำนวนมากเลือกที่จะเข้าไปจับจ่ายในสถานที่เหล่านี้แทนที่จะใช้บริการร้านค้าในชุมชนหรือโชห่วยใกล้บ้านแตกต่างกันไป เช่น มีอิสระที่จะเดินเลือกสินค้าด้วยตนเอง สะดวก เข้าถึงได้ง่าย เชื่อว่าสินค้าที่วางจำหน่ายจะมีคุณภาพและความปลอดภัยที่ดีกว่า และ ทำให้ได้สินค้าราคาถูกกว่า เป็นต้น อย่างไรก็ตามจากการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องความปลอดภัยด้านอาหารของเครือข่ายผู้บริโภคใน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ พะเยา สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง ตุลาคม 2554 พบว่าการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่และจากห้างนั้น อาจทำให้ผู้บริโภคพบปัญหาได้ไม่ต่างกัน (หรือแย่กว่า?) กับการซื้อสินค้าจากร้านใกล้บ้าน ไม่ว่าจะเป็น การจำหน่ายสินค้าหมดอายุบนชั้นวาง สินค้าเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ สินค้ามีคุณภาพผิดมาตรฐาน และราคาสินค้าไม่ตรงกับราคาป้ายหรือไม่มีสินค้าแถมตามการส่งเสริมการขายที่ระบุไว้ ปัญหาสินค้าหมดอายุเริ่มกันที่การจำหน่ายสินค้าหมดอายุบนชั้นวางสินค้า เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ ได้สำรวจการจำหน่ายสินค้าในห้างค้าปลีกสมัยใหม่และร้านสะดวกซื้อในจังหวัดรวมกันกว่า 15 สาขา ในปลายเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2554 พบสินค้าหมดอายุรวมกันบนชั้นวางทั้งสิ้นกว่า 40 รายการ ทั้งของสดและของแห้ง โดยที่กว่าครึ่งเป็นของแห้งโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งขนม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารเช้าสำหรับเด็ก(ซีเรียล) และจากการร้องเรียนของผู้บริโภคเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ว่าพบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่ารสต้มยำกุ้งทั้งน้ำข้นและน้ำใสและยำยำรสหมูสับหมดอายุบนชั้นวางของห้างบิ๊กซีสาขาสะพานควาย การจำหน่ายองุ่นนำเข้าหลังวันหมดอายุโดยนำมาจำหน่ายแบบลดราคาพิเศษในห้างท็อปส์ สาขาเซ็นจูรี่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อมาในเดือนสิงหาคม จากการสำรวจอาหารของโครงการฯ พบว่า นมข้นหวานกระป๋องตรามะลิจากห้างแมคโครสาขาแจ้งวัฒนะเสื่อมสภาพทั้งกลุ่มการผลิตก่อนวันหมดอายุบนฉลาก   โดยพบก้อนสีเหลืองอยู่ในกระป๋องนม และกรณีขนมปังยี่ห้อ เอ-พลัส ไส้สังขยา จากเซเว่น-อีเลฟเว่น สาขาอาคารหะรินธร ถนนสาทรเหนือ เขตบางรัก กทม. มีราขึ้นก่อนวันหมดอายุของสินค้าประมาณ 3 วัน   สินค้าไม่ตรงราคาป้าย กรณีราคาสินค้าไม่ตรงกับราคาป้าย สมาคมผู้บริโภคสงขลา หนึ่งในเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า   พบเห็นการส่งเสริมการขายโดยประกาศลดราคานมผงสำหรับเด็กจากหนังสือพิมพ์ จึงได้ไปซื้อสินค้าจากห้างเทสโก้ โลตัสสาขาหาดใหญ่ ตามประกาศ โดยได้ดูการแสดงราคาและเงื่อนไขต่างๆ ที่แสดงอยู่บนชั้นวางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อมาชำระเงินปรากฏว่ายอดชำระไม่ตรงตามราคาที่ปรากฏในการส่งเสริมการขาย ห้างฯ อ้างว่าเลยเวลาการส่งเสริมการขายทั้งที่โฆษณาและบนชั้นวางสินค้ายังคงแสดงข้อมูลอยู่   ห้างฯ ไม่ได้มาตรฐาน ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง เมื่อการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อและห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ไม่ได้มีความปลอดภัยและสะดวกอย่างที่เข้าใจกัน วิธีการหนึ่งที่จะช่วยผู้บริโภคได้ คือการอ่านฉลากอาหารและข้อมูลต่าง ๆ บนชั้นวางก่อนตัดสินใจซื้อ สิ่งที่ควรพิจารณาบนฉลาก ได้แก่ ชื่ออาหาร วันผลิต-วันหมดอายุ ส่วนประกอบของอาหาร เพื่อช่วยในการพิจารณาถึงคุณค่าของอาหารรวมทั้งเรื่องของวัตถุเจือปน น้ำหนักหรือปริมาตรสุทธิ อันนี้ช่วยให้ผู้บริโภครู้น้ำหนักช่วยในการเปรียบเทียบเลือกสินค้า และส่วนสุดท้ายที่ควรอ่านเป็นส่วนเสริม คือฉลากโภชนาการที่จะบอกให้ผู้บริโภครู้ข้อมูลเกี่ยวกับโภชนาการของอาหารนั้น ๆ ว่ามีมากน้อยเพียงใด คุ้มค่าไหมที่จะนำมาบริโภค เคล็ดลับที่ทาง โครงการอาหารฯ ขอแนะนำคือ  เวลาเลือกซื้อสินค้า ควรเลือกสินค้าที่แสดงวันหมดอายุหรือควรบริโภคก่อนอย่างชัดเจน หากแสดงแค่วันผลิตโดยไม่แสดงวันหมดอายุ ขอแนะนำว่าให้เลี่ยงไปก่อน ไม่ควรบริโภค ให้เลือกซื้อสินค้าของผู้ผลิตรายอื่นที่มีการแสดงข้อมูลบนส่วนนี้อย่างชัดเจนจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคได้มากกว่า สำหรับกรณีอาหารเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุนั้น หลายกรณีสามารถดูได้จากรูปลักษณ์ภายนอกของอาหาร เช่น บรรจุภัณฑ์บุบบวม ลักษณะของอาหารเปลี่ยนไปทั้งรูปและกลิ่น ซึ่งจะต้องใช้การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจึงจะสังเกตเห็น ฉลาดซื้อขอแนะนำว่าให้ใช้เวลาในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าในแต่ละชิ้นให้มากขึ้น ไม่ควรตรงเข้าไปหยิบสินค้าโดยที่ไม่สังเกต กรณีของสดที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิในการเก็บรักษา ขอให้พิจารณาอุณหภูมิของตู้แช่ว่า อุณหภูมิที่แสดงอยู่เหมาะสมหรือไม่กับการเก็บรักษาอาหาร หากอุณหภูมิต่ำหรือสูงไป ก็ไม่ควรที่จะซื้อสินค้าจากห้างสาขานั้น ๆ ควรใช้บริการสาขาอื่นหรือสถานที่จำหน่ายแหล่งอื่นจะช่วยลดความเสี่ยงจากการได้สินค้าเสื่อมสภาพได้ ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเลือกซื้อสินค้าจากที่ไหนปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นก็สามารถเกิดขึ้นได้ ผู้บริโภคจึงต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาที่เลือกซื้ออาหารใดๆ ก็ตาม อย่าให้ความเคยชินและความเร่งรีบ มาอ้างเป็นเหตุหนึ่งในการเลือกซื้อที่ไม่รอบคอบ และถ้าทำตามเราแนะนำแล้วแต่ยังพบสินค้าไม่ปลอดภัยอีก อย่าวางเฉยทิ้งอาหารนั้น ๆ ไป เพราะเรามีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการหรือผู้จัดจำหน่ายได้นะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 114 สินค้าตราห้าง..ราคา “ถูก”นี้ ใครได้? ใครเสีย?

เดี๋ยวนี้เวลาเดินซื้อของในห้างสรรพสินค้าไม่ว่าจะเป็นห้างฯ ไหนๆ “สินค้าตราห้าง” หรือเรียกกันอีกชื่อว่า“สินค้าเฮาส์แบรนด์” (House Brand) ที่ผลิตและจำหน่ายเฉพาะในห้างฯ นั้นๆ เช่น ยี่ห้อบิ๊กซี คาร์ฟูร์ เทสโก้ท็อปส์ โฮมเฟรชมาร์ท ฯลฯ ก็มักวางขายให้เราเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และราคาก็มัก “ถูก” ล่อตาล่อใจยิ่งนัก ผู้เขียนเองยังอยากลองซื้อสินค้าตราห้างมาใช้หลายครั้ง เผื่อจะช่วยประหยัดตังค์ในกระเป๋าอันบางๆ ลงบ้าง(ฮา) แต่ติดอยู่ที่รู้สึกไม่มั่นใจในคุณภาพสินค้าสักเท่าไร สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่ควักตังค์ซื้อสินค้าตราห้างมาลองใช้สักทีคราวนี้ได้โอกาส บก. บอกให้ไปซื้อสินค้าตราห้างมาทดสอบคุณภาพดู ฉลาดซื้อฉบับนี้ จึงขอพาคุณผู้อ่านช้อปปิงตระเวนซื้อสินค้าตราห้างตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ มาพิสูจน์กันว่าสินค้าตราห้างจะมีคุณภาพ “ดี” สักแค่ไหน แถมตีตั๋วฟรีลัดเลาะข้ามฟากไปฟังเสียงจากฝั่งของผู้ผลิต ผู้ประกอบการห้างฯ และมุมมองนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์กันดูบ้าง ให้รู้ไปว่าสินค้าตราห้างที่ว่าขายได้ในราคาถูกนั้น มัน “ถูก” มาจากปัจจัยอะไร? ส่งผลดีผลเสียต่อใคร? อย่างไร? ถ้าพร้อมแล้วไปตะลุยหาคำตอบพร้อมๆ กันเลย.....   คุณภาพไม่ต่าง แต่ราคาได้ใจผู้บริโภค ฉลาดซื้อสำรวจพฤติกรรมการซื้อและความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้าตราห้างของผู้บริโภคในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งหมด 295 คน เป็นหญิงร้อยละ 72.9 ชาย ร้อยละ 27.1 อยู่ในช่วงอายุ16 - 25 ปี ร้อยละ48.5 ช่วงอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 34.2 มีผู้บริโภคที่ใช้สินค้าตราห้างมากถึงร้อยละ 80.7 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระดาษชำระ ผงซักฟอก เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ฯลฯ เหตุผลที่ใช้สินค้าตราห้าง “ราคา” เป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจเลือกซื้อ คิดเป็นร้อยละ 73.6รองลงมาคือ ปริมาณ ร้อยละ 23.4 และคุณภาพร้อยละ 18 เปรียบเทียบคุณภาพกับราคาของสินค้าตราห้างที่ใช้ ร้อยละ 35.9 ระบุว่าคุณภาพดีสมราคา ในขณะที่ร้อยละ 29.8 บอกว่าคุณภาพต่ำสมราคา เคยเจอปัญหาเกี่ยวกับการใช้สินค้าตราห้างหรือไม่ ร้อยละ 55.9 บอกไม่เคย อีกร้อยละ 21 เคย ปัญหาที่พบ เช่น วุ้นเส้นไม่เหนียวนุ่ม บรรจุภัณฑ์ชำรุด มีแมลงในขนมปัง น้ำยาซักผ้าเจือจางต้องใช้ปริมาณมาก ฯลฯ พบปัญหาแล้วทำอย่างไร ร้อยละ 14.6 ของผู้เคยเจอปัญหาเลิกใช้สินค้าตราห้าง ร้อยละ 7 ใช้สิทธิร้องเรียน อีกร้อยละ 5.8 เฉยๆ ไม่ทำอะไร สาเหตุที่สินค้าตราห้างมีราคาถูก ร้อยละ 51.5 คิดว่าเพราะไม่มีต้นทุนโฆษณาร้อยละ 27.5 คิดว่าวัตถุดิบคุณภาพต่ำ ร้อยละ 17.6 คิดว่าเป็นกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้า ต่อข้อคำถาม “คุณคิดว่าสินค้าตราห้างกับสินค้าทั่วไปมีคุณภาพต่างกันหรือไม่ อย่างไร” ร้อยละ 27.8 คิดว่าไม่ต่างกัน ร้อยละ 62.7 บอกว่าสินค้าทั่วไปมีคุณภาพดีกว่าสินค้าตราห้าง มีเพียงร้อยละ 6.8 เท่านั้น ที่เห็นว่าสินค้าตราห้างมีคุณภาพดีกว่าสินค้าทั่วไป แสดงว่า แม้ราคาจะเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้บริโภคใช้สินค้าตราห้างก็ตาม แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่มั่นใจในคุณภาพของสินค้ามากเท่าไรนัก ฉลาดซื้อทดสอบฉลาดซื้อสุ่มทดสอบสินค้าตราห้างและไม่ห้างทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ ถ่านอัลคาไลน์ AA, เมล็ดถั่วเขียว, กระดาษทิชชู, สมุดปกอ่อน และไม้จิ้มฟัน เป็นสินค้าเฮาส์แบรนด์ของผู้ค้าปลีกทั้งหมด 6 ราย ได้แก่บิ๊กซี คาร์ฟูร์ โลตัส ท็อปส์ เดอะมอลล์ วัตสัน (สำรวจแล้วบางรายก็ไม่มีสินค้าบางชนิด) และเป็นสินค้าทั่วไปในท้องตลาดอีก 2 ยี่ห้อส่วนเหตุผลที่นำสินค้าเหล่านี้มาทดสอบ เพราะเป็นสินค้าที่หาวิธีทดสอบได้ไม่ยาก ผู้บริโภคอย่างเราๆก็สามารถทดสอบเองได้ แต่ถ้าเป็นเหตุผลที่อาจดูดีหน่อยเพราะฉลาดซื้อเราเห็นว่าผู้บริโภคหลายคนอาจมองข้ามหรือไม่ใส่ใจอะไรมากนักกับคุณภาพของสินค้าเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ซึ่งคงไม่มีใครมานั่งนับเสี้ยนไม้จิ้มฟัน ชั่งเมล็ดถั่วเขียว วัดความยาวกระดาษทิชชู ฯลฯแต่เรื่องเล็กๆ แบบนี้นี่แหละที่เราไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง เราจะได้รู้ว่าผู้ผลิตเขาจะซื่อสัตย์หรือเอาเปรียบเล็กๆ น้อยๆ กับผู้บริโภคหรือไม่ ผลทดสอบ ถึงเวลามาปฏิบัติการล้วงลับหาคำตอบกันแล้วว่าสินค้าตราห้างกับสินค้าทั่วไปที่เราไปเลือกซื้อมา ดูกันว่าการทดสอบและผลที่ได้เป็นอย่างไรบ้าง เชิญติดตาม... - การทดสอบถ่านอัลคาไลน์ AA วิธีนี้ง่ายๆ แค่อาศัยความอดทนในการรอๆๆ แล้วก็รอจนกว่าไฟฉายจะดับ โดยนำถ่านมาใช้กับไฟฉายใหม่เปิดพร้อมกันทั้งหมด 7 ยี่ห้อในห้องสว่าง ยึดเวลาที่ไฟฉายดับครั้งแรกเป็นหลัก และนำเวลามาหาค่าเฉลี่ยถ้าราคา 1 บาทจะใช้ได้นานกี่นาที เราพบว่า ยี่ห้อที่ใช้งานกับไฟฉายได้นานที่สุดคือ เทสโก้ เวลา 4.18 ชม. ยี่ห้อที่ซื้อ 1 บาทแล้วคุ้มก็ยังเป็นเทสโก้ 21.06 นาที ส่วนยี่ห้อที่ใช้งานได้น้อยสุด คือ พานาโซนิค 10.24 นาที (ฉลาดซื้อทดสอบใช้ถ่านกับงานเบาเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงการใช้งานหนัก เช่น กล้องถ่ายรูปที่ต้องชาร์จพลังงานในการถ่ายแต่ละรูป การทดสอบแต่ละวิธีจึงอาจให้ผลต่างกันได้ เช่น ถ่านเทสโก้ ใช้กับไฟฉายได้นาน อาจใช้กับกล้องถ่ายรูปได้ไม่นาน ทางกลับกันถ่านวัตสัน ใช้กับไฟฉายได้ไม่นาน แต่อาจใช้กล้องถ่ายรูปได้นาน เป็นต้น ดังนั้นต้องพิจารณาด้วยว่า ความคงทนของถ่านขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานด้วยนะคะ) - การทดสอบกระดาษทิชชู หากใครยังพอจำได้ ฉลาดซื้อฉบับที่ 97 เราเคยทดสอบความยาวและคุณสมบัติการกระจายตัวในน้ำของกระดาษทิชชูไปแล้ว คราวนี้ก็เช่นกันแต่เราทดสอบกับสินค้าตราห้างด้วย โดยวัดความยาวหาค่าเฉลี่ยยี่ห้อละ 3 ม้วน และทดสอบคุณสมบัติการกระจายตัวในน้ำเพื่อดูความเปื่อยยุ่ย ซึ่งจะนำกระดาษทิชชูเป็นแผ่นมาแช่น้ำ 30 วินาที แล้วใช้นิ้วชี้สอดลงใต้แผ่นกระดาษดึงขึ้นมาด้วยแรงพอประมาณ เพื่อดูผลรอบแรกว่าเป็นอย่างไร จากนั้นก็แช่น้ำต่อไปอีก 30 วินาที ก่อนจะดึงขึ้นมาดูผลอีกครั้งว่ากระดาษทิชชูขาดรุ่ยหรือไม่ ผลออกมาเรื่องความยาวต้องยกนิ้วให้ผู้ผลิต เพราะทุกยี่ห้อมีความยาวมากกว่าที่ระบุไว้ในฉลาก ยี่ห้อที่มีความยาวเกินมามากที่สุด ได้แก่ พริมโรส วัดได้ 20.67 ม. เกิน 3.67 ม. แต่ความเปื่อยยุ่ยนั้นมีทั้งยอดเยี่ยมและยอดแย่ ยี่ห้อที่แช่น้ำ 30 วินาทีแรกเมื่อดึงขึ้นมาก็เริ่มแตกรุ่ย คือ ซิลค์ คอตตอน, โฮมเฟรชมาร์ท Economy และเทสโก้ ส่วนยี่ห้อที่เริ่มแตกรุ่ยเมื่อดึงขึ้นมาครั้งที่2 คือ บิ๊กซี ขณะที่พริมโรส, คาร์ฟูร์, ออริต้า และท็อปส์นั้น แม้จะแช่น้ำ 2 ครั้งก็ยังเป็นแผ่นอยู่ - การทดสอบสมุดปกอ่อน อาศัยวิชาเลขเล็กน้อยในการนับจำนวนแผ่นและชั่งขนาด แกรมของกระดาษสมุด โดยการทดสอบครั้งนี้ฉลาดซื้อใช้กระดาษรูปวงกลม มีพื้นที่ 95 ตร.ซม. นำไปชั่งและอ่านค่าที่ได้ (ขนาดแกรมที่ระบุไว้บนปกสมุดคือ น้ำหนักของกระดาษ เช่น ระบุว่า 60 แกรม ก็หมายถึงกระดาษหนัก 60 กรัมต่อ 1 ตร.ม. ก่อนนำกระดาษไปชั่งเราจึงย่อสัดส่วนลง อาจเป็นรูปวงกลมหรือรูปสี่เหลี่ยมที่ขนาดต้องเท่ากันทุกด้าน (กว้างxยาว) เช่น 10x10 ซม.) ผลออกมา ยี่ห้อที่มีขนาดแกรมน้อยกว่าที่ระบุไว้ในฉลาก คือ คาร์ฟูร์, อนุรักษ์ไทย, และลายไทย น้อยกว่า 5 แกรม ส่วนจำนวนแผ่นกระดาษนั้น ทุกยี่ห้อมีครบตามจำนวนที่ระบุ แต่ต้องรวมปกด้วยนะ ถ้าไม่นับก็จะขาดไป 2 แผ่น ยกเว้นเทสโก้แวลูที่ไม่ต้องนับรวมปก - การทดสอบเมล็ดถั่วเขียว ง่ายๆ แค่ชั่งน้ำหนักถั่วเขียวเทียบกับปริมาณที่ระบุไว้ในฉลาก และสุ่มทดสอบประมาณ 1 ถ้วย เพื่อคัดดูเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์มีรู/ครึ่งซีก และดูสิ่งแปลกปลอมที่ปะปนมา เช่น เศษดิน เมล็ดถั่วเขียวยี่ห้อที่มีปริมาณน้อยกว่าที่ระบุไว้ในฉลาก คือ ท็อปส์ นอกนั้นมีปริมาณมากกว่าส่วนยี่ห้อที่พบเมล็ดไม่สมบูรณ์มากสุด มีรูบ้าง ครึ่งซีกบ้าง คือ เทสโก้ จำนวน 163 เมล็ด และพบเศษดินขนาดเล็กปะปนมา 2 ยี่ห้อ คือ เทสโก้กับข้าวทอง - การทดสอบไม้จิ้มฟัน แค่นับไม้จิ้มฟันๆ ธรรมดา...แต่ก็ไม่ธรรมดาอย่างที่คิด เล่นเอาผู้นับตาเหลือกตาลายถึง 3 วัน 3 คืนมาแล้ว โดยนับจำนวนไม้จิ้มฟันทั้งหมด 7 ยี่ห้อ ยี่ห้อละ 2 แพ็ก นำมาเฉลี่ยเทียบกับปริมาณที่ระบุไว้ในฉลากและนับดูไม้จิ้มฟันที่มีเสี้ยน, ไม้แตกปลาย, ไม้ครึ่งซีก รวมทั้งวัดหาค่าเฉลี่ยความหนาบางของไม้จิ้มฟันโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า เวอร์เนียร์คาลิปเปอร์ งานนี้ภูมิใจเสนอผล พบไม้แตกปลาย,เสี้ยนในทุกยี่ห้อ โดยคาร์ฟูร์พบมากที่สุด 163 ก้าน (จาก480ก้าน) และบิ๊กซี 120 ก้าน (จาก360 ก้าน) ส่วนยี่ห้อที่พบปริมาณไม้จิ้มฟันน้อยกว่าที่ระบุไว้ คือ ไผ่แดง มี 347 ก้าน(ระบุไว้ 360 ก้าน) ยี่ห้ออื่นแม้จะมีปริมาณมากกว่าที่ระบุก็ตาม แต่เมื่อคัดไม้แตกปลาย/เสี้ยนออกแล้ว เกือบทุกยี่ห้อเหลือปริมาณน้อยกว่าที่ระบุไว้เช่นกัน ได้แก่ คาร์ฟูร์, บิ๊กซี, โลตัส,ไผ่แดง ยกเว้นยี่ห้อแบมบีบู, ท็อปส์และโฮมเฟรชมาร์ท สรุปแล้วสินค้าตราห้างก็ไม่ได้มีคุณภาพแย่ตามราคาที่ถูกลงของมัน และบางทีคุณภาพก็อาจไม่ต่างกับสินค้าทั่วไปมากมายนัก แต่ผลนี้เป็นเพียงกลุ่มสินค้าที่สุ่มทดสอบเท่านั้น เพราะสินค้าแต่ละชนิด แต่ละยี่ห้อก็มีให้เราเลือกซื้อเลือกหากันมากมาย ท้ายที่สุดสินค้านั้นจะดีหรือไม่ก็คงขึ้นอยู่กับการใช้งาน ความต้องการและที่สำคัญ คือการตัดสินใจของผู้บริโภคแต่ละคนนั่นเอง --------------------------------------------------------------------------------------------- ข้อสังเกต • ไม้จิ้มฟันยี่ห้อไผ่แดงจะมีขนาดใหญ่และค่อนข้างเท่ากันทุกก้าน ส่วนไม้จิ้มฟันยี่ห้ออื่นมีขนาดเล็กๆ บางๆ ไม่เท่ากัน สงสัยคงเพื่อให้ได้จำนวนมากๆ อย่างยี่ห้อคาร์ฟูร์ก่อนจะนำ มาหาค่าเฉลี่ยนั้น จากที่ระบุไว้ 480 ก้าน/แพ็ก นับจริงมีมากถึง 532 ก้าน หักลบไม้เสี้ยนไปก็เหลือแค่ 344 ก้าน• ฉลาดซื้อเพิ่งรู้เหมือนกันว่าขนาดกระดาษสมุดนั้น เจ้าหน้าที่โรงพิมพ์ที่ช่วยทดสอบเขาบอกว่าโดยทั่วไปผู้ผลิตเขาสามารถเผื่อขาดเผื่อเกินได้ 5 แกรม อย่างนี้ไม่รู้ว่าใครได้  เปรียบเสียเปรียบ แต่ที่รู้แน่ๆ ถ้าไม่ “เกิน” ก็ไม่ควรจะ “ขาด” ใช่หรือไม่?• สมุดส่วนใหญ่จะระบุจำนวนกระดาษไว้บนปกให้รู้ว่ากี่แผ่น แต่ไม่ได้บอกให้ชัดเจนว่า “รวมปก” ด้วย มีเพียงยี่ห้อเทสโก้แวลูที่ระบุไว้ให้เรารู้ว่า “รวมปก”• สมุดยี่ห้ออนุรักษ์ไทยไม่ได้เป็นสินค้าตราห้าง สงสัยราคาจะแพงที่ปกซึ่งเป็นกระดาษอาร์ตพิมพ์สี จำนวนแผ่นกระดาษข้างในก็เลยมีน้อยกว่ายี่ห้ออื่น• ขณะสำรวจเลือกซื้อ สินค้าตราห้างส่วนใหญ่มีตำแหน่งอยู่บนชั้นวางในระดับสายตาใกล้ๆ กับสินค้าแบรนด์ดังๆ โดยโทนสีของบรรจุภัณฑ์ หีบห่อจะดูละม้ายคล้ายคลึงกัน ราคา“ถูก” ที่ใคร?ฉลาดซื้อเคยสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมสินค้าตราห้างส่วนใหญ่มักมีราคาถูก บ้างก็ว่าไม่มีต้นทุนโฆษณา บ้างก็ว่าวัตถุดิบคุณภาพต่ำ ผู้ผลิตถูกกดขี่จากห้างค้าปลีกบ้าง ว่ากันไปสารพัดแง่มุม ข้อมูลจากนิตยสารผู้จัดการรายวันเคยนำเสนอผลศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทยถึงผลกระทบจากการผลิตสินค้าตราห้างว่า ผู้ผลิตรายใหญ่จะต้องทุ่มงบฯ เพื่อตอกย้ำให้ผู้บริโภคภักดีต่อยี่ห้อของตัวเองมากขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตรายย่อยที่มักรับผลิตสินค้าตราห้างก็อาจมีรายได้จากการผลิตสินค้าขาย โดยที่ไม่ต้องทำการตลาดเอง แต่ผู้ผลิตที่มีสินค้าของตัวเองอยู่แล้วหากรับผลิตสินค้าตราห้างอีกก็เท่ากับเป็นการผลิตสินค้าแข่งกับสินค้าตัวเอง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวก็คือ ถ้าห้างค้าปลีกมีคู่แข่งน้อยลงหรือคู่แข่งหมดไป ก็อาจเกิดอำนาจผูกขาดทำให้เป็นผลเสียต่อผู้บริโภคได้ ฉลาดซื้อเราจึงสอบถามไปยังผู้ผลิตและผู้ประกอบการห้างค้าปลีก มาดูกันสิว่าพวกเขาจะให้คำตอบแบบ “ตรงๆ” กับเราอย่างไรบ้าง เสียงที่ “ไม่ค่อยได้ยิน” จากผู้ผลิต• การผลิตสินค้าตราห้างได้รับผลกระทบหรือไม่?“ทำธุรกิจก็ต้องทำใจ 50 - 50” ผู้ผลิตรายหนึ่งให้สัมภาษณ์และว่า บางธุรกิจอาจได้รับผลกระทบ บางธุรกิจอาจไม่ได้รับ แล้วแต่ประเภทการแข่งขันสินค้า “ธุรกิจอื่นๆ ผมไม่รู้นะว่าได้รับผลกระทบหรือไม่ ถ้าเป็นสินค้าที่แข่งขันกันสูงก็อาจได้รับผลกระทบ สำหรับผมเป็นธุรกิจที่รับจ้างผลิตสินค้าอยู่แล้ว ก็เลยไม่เสียเปรียบ แต่ก็เคยถูกกดดันเรื่องราคาเหมือนกันคือ บางครั้งถูกขอลดราคาลงเรื่อยๆ ถูกมากๆ แบบรับไม่ได้ ทางเรามีสิทธิปฏิเสธนะ ถ้ารับไม่ไหวจริงๆ เราจะปฏิเสธ ก็เจรจาตกลงกันได้ ไม่เสียเปรียบอะไร” • “มันเป็นธุรกิจแบบพึ่งพาอาศัยกัน”ผู้ผลิตรายนี้บอกว่า “ทางเราชอบผลิตสินค้าขายให้กับห้างฯ เพราะมีความปลอดภัยด้านการเงิน และข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ ห้างฯ เขาจะเข้ามาตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา มันทำให้เราสามารถควบคุมคุณภาพสินค้าและผู้บริโภคก็มั่นใจได้ มันเป็นธุรกิจแบบพึ่งพาอาศัยกัน” • แล้วสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพล่ะ?“เราควบคุมคุณภาพมาตรฐานในการผลิตสินค้าทุกขั้นตอน และไม่ได้ตั้งใจให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้น สินค้าบางตัวอาจมีตำหนิบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ผลดีมันมากกว่าผลเสีย ผู้บริโภคก็ไม่เสียหายอะไรมาก เราทำสุดความสามารถ ทำให้ลูกค้าซื้อไปแล้วจะต้องไม่ขาดทุน” • “ถ้าอนาคตห้างฯ กลายเป็นหนึ่งเดียว...” นี่คือคำบอกกล่าวของผู้ผลิตรายนี้ที่แอบรู้สึกหวาดกลัวคือ การว่าจ้างผู้ผลิตจากต่างประเทศของห้างค้าปลีกรายใหญ่ๆ ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก อาจทำให้ต่างชาติกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญของผู้ผลิตภายในประเทศได้ “เรื่องผูกขาดน่ากลัวมาก ถ้าอนาคตห้างฯ กลายเป็นหนึ่งเดียว เขาอาจติดต่อกับต่างประเทศจ้างผู้ผลิตเข้ามาแข่งกับผู้ผลิตในประเทศเราได้” เสียงของผู้ผลิตอีกรายหนึ่งกล่าวถึงการผลิตสินค้าตราห้างคล้ายๆ กันว่า เป็นผลดีกับผู้บริโภคด้านราคา เพราะบางคนต้องการของถูก ส่วนผลกระทบต่อผู้ผลิตนั้นก็ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจสินค้าและลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ต่างกันเช่นกัน แต่ผู้ผลิตรายเล็กๆ คงเสียเปรียบเพราะไม่สามารถผลิตสินค้าของตนแข่งขันได้ แต่คำตอบที่ได้รับจากผู้ผลิตรายนี้กลับตรงข้ามกับรายแรก คือ การกำหนดเงื่อนไขในการผลิตสินค้าของห้างฯ ทำให้เกิดผลกระทบในทางลบมากกว่า “แน่นอน เราถูกบีบกดดันเรื่องข้อกำหนดในการผลิตสินค้า ทางห้างเขาจะเป็นผู้กำหนดควบคุมการผลิตตามที่เงื่อนไขที่เขาวางไว้ อย่างบางครั้งอยากได้คุณภาพดีแต่จะเอาราคาถูก เราก็แย่สิ ทางเราก็มีมาตรฐานการผลิตเกรดเดียวกันหมดอยู่แล้ว” อีกฟากฝั่งจากผู้ประกอบการห้าง คุณมนธชา สุดอำพัน รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายกิจการบรรษัทสื่อสารองค์กร ของเทสโก้ โลตัส• สินค้าราคาถูกมีปัจจัยมาจากอะไร?คุณมนธชาบอกว่า 3 ปัจจัยที่ทำให้สินค้าตราห้างมีราคาถูก คือหนึ่ง ไม่มีค่าการทำโฆษณาเหมือนสินค้าที่เห็นทั่วๆ ไปในท้องตลาด เนื่องจากมีร้านเป็นของตนเอง เวลาคนเดินเข้ามาในห้างฯ คนก็เห็นสินค้า จึงไม่จำเป็นต้องโฆษณา สอง ไม่มีค่าวางสินค้าบนชั้นวาง ซึ่งโดยปกติการจำหน่ายสินค้าทั่วไปจะมีเรื่องของค่าจัดตำแหน่งในจุดที่น่าสนใจเพื่อให้ได้อยู่จุดที่ดีกว่าคู่แข่ง สาม สินค้าไม่ได้ผ่านคนกลาง เพราะผลิตโดยตรงจากโรงงานไม่มีการส่งต่อกันหลายทอด ทำให้ราคาต่อหน่วยถูกกว่าสินค้าทั่วไป • บางคนคิดว่าราคาถูกเพราะวัตถุดิบคุณภาพต่ำ?“ถ้าคุณภาพไม่ดีและผู้บริโภคไม่พึงพอใจ มันไม่ได้เสียเฉพาะสินค้าตัวนั้น แต่มันเสียไปทั้งหมด จึงเป็นสิ่งที่เราระวังมาก เราจะช่วยเหลือซัพพลายเออร์ในเรื่องของการทำสินค้าให้ได้มาตรฐาน ทั้งเรื่องเทคนิคการผลิต การทดลองสินค้า เรามีการตรวจโรงงานที่ผลิตสินค้าให้เราเป็นประจำทุกๆ ปีอยู่แล้ว มันทำให้เรามั่นใจว่าคุณภาพสินค้าของเราดี” • แต่ผู้ผลิตบางรายไม่ชอบการกำหนดเงื่อนไข?“มันต้องอยู่ที่การยอมรับตรงนี้ด้วย เพราะว่าผู้ผลิตหลายๆ รายก็ยินดี เพราะว่าตัวของเขาเองก็มีขั้นตอนการผลิตที่มีการรับรองคุณภาพอยู่แล้ว เราจะกรองโรงงานก่อนที่จะให้ผลิต ถ้ามาตรฐานได้อยู่แล้ว อาจจะปรับอีกนิดหนึ่งให้สามารถผลิตให้ดีขึ้น หรือมาตรฐานดีอยู่แล้วก็แค่ผลิตเพิ่มเท่านั้นเอง” • กดขี่ผู้ผลิต?“ถ้าเข้มงวดน่ะใช่ คิดว่ามันน่าจะเป็นผลดีกับผู้ผลิตมากกว่า ทำให้เขาสามารถใช้เครื่องจักรหรือแรงงานคนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น,,,หมายความว่าโรงงานเขาสามารถผลิตงานได้มากขึ้น มีรายได้มากขึ้น ” • เคยประสบปัญหาหรือมีเรื่องร้องเรียนหรือไม่“มีบ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องของคุณภาพหรือความที่ไม่ปลอดภัย เช่น เบเกอรี่ อย่างครัวซองส์ อาจจะอบสีคล้ำหรือสีอ่อนไป ผู้บริโภคก็จะบอกว่าไม่น่าทานหรือว่าอาจจะเป็นสินค้าที่ไม่เป็นไปตามสเป็ก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะถูกคัดออกไปก่อนที่จะถึงมือผู้บริโภค วิธีการจัดการก็คือว่า เราจะคัดกรองให้เรียบร้อยก่อนอยู่บนชั้นวาง ถ้ามันหลุดรอดมาก็จะรีบจัดการดึงออก หรือถ้าผู้บริโภคไม่พึงพอใจในสินค้าก็เอามาคืนได้ในเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ก็จะส่งผู้เชี่ยวชาญไปดูที่โรงงานด้วย เพราะว่าเราไม่อยากให้เกิดซ้ำอีก” • ทิศทางและแนวโน้มของการผลิตสินค้าตราห้างอนาคตธุรกิจของการผลิตสินค้าตราห้างจะเป็นอย่างไรนั้น คุณมนธชาบอกว่า “จะต้องดูตลาดว่าความต้องการของผู้บริโภคอยู่ตรงไหน คงจะขยายไปตามความต้องการของผู้บริโภคมากกว่า สินค้าตัวไหนที่ผลิตออกมาแล้วขายไม่ดีหรือผู้บริโภคอาจจะไม่นิยมก็จะเลิกผลิตเหมือนกัน” คุณฤดี เอื้อจงประสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ ของบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์เมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้สินค้าตราห้างมีราคาถูก คุณฤดีให้คำตอบเช่นเดียวกับโลตัสว่า “เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายงบด้านการตลาด เพราะอาศัยแบรนด์ของทางห้าง จึงทำให้สินค้ามีราคาถูกลง 20-30 เปอร์เซ็นต์” ส่วนที่หลายคนคิดว่าอาจเป็นเรื่องของวัตถุดิบคุณภาพต่ำนั้น คุณฤดีบอกว่า “ไม่ค่ะ เพราะหากมองโดยภาพกว้างแล้ว สินค้าพวกนี้มันจะเป็นโลโก้ของบริษัท มันน่าจะเป็นตัวการันตีของสินค้าพวกนี้ไปในตัว นอกจากนี้โรงงานที่ผลิตจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน”• กดขี่หรือสร้างผลกระทบให้กับผู้ผลิต?“คิดว่ามันไม่น่าจะเกี่ยวกันเลยนะคะ ในตัวของซัพพลายเออร์เราจะมองด้านเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องของกำลังการผลิต อย่างโรงงานหนึ่งอาจจะมีกำลังการผลิตร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เขาอาจจะขายภายใต้แบรนด์ของเขาได้เพียงแค่ 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ เขาก็ผลิตสินค้าตราห้าง มันน่าจะทำให้เขาสามารถใช้กำลังการผลิตได้เต็มที่ มันจึงไม่น่าจะมีปัญหานะคะ” • ผู้ผลิตบางรายบอกว่าถูกกดดันเงื่อนไขมากเกินไป“เหตุผลที่ทางห้างต้องตรวจสอบคุณภาพในการพัฒนาสินค้าตราห้าง เป็นเพราะเรามองว่าสินค้าตราห้างเป็นสินค้าที่ลูกค้าจับตามองอยู่แล้ว การผลิตสินค้าตราห้างให้ลูกค้ามีความชอบหรือมีความไว้วางใจ มันจะต้องมากกว่าเนเชอรัลแบรนด์ด้วยความที่มันไม่ได้ทำการตลาด เราต้องการสร้างความพึงพอใจในสินค้าตราห้างให้กับลูกค้า” • ที่ผ่านมามีปัญหาหรือมีเรื่องร้องเรียนหรือไม่?“ไม่ค่อยมีนะคะ มันเป็นเรื่องของแนวทางป้องกันมากกว่า เพราะสินค้าตราห้างมันเป็นภาพลักษณ์ของบริษัทอยู่แล้ว แนวทางแก้ไขของเราคือ จะตรวจสอบทันที เราเน้นความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ บางอย่างถ้าไม่ชอบก็เปลี่ยนให้ เราจะดูว่าปัญหามันเกิดตรงไหน เกิดจากแหล่งผลิตหรือเปล่า แต่เรามีการดูแลควบคุมที่เคร่งครัดอยู่แล้ว ปัญหาไม่ค่อยเกิดขึ้น” ขอบคุณภาพจากhttp://www.apacnews.net • ผูกขาดในอนาคต?“คิดว่าไม่น่าจะถึงวันนั้น คนไทยเป็นคนที่ชอบความหลากหลาย จะเห็นว่าสินค้าแต่ละชนิดมีซัพพลายเออร์หลายเจ้า แต่เรามองเพียงแค่ว่าเราอยากเป็นหนึ่งในทางเลือกให้กับลูกค้า”• แนวโน้มทิศทางของการผลิตสินค้าตราห้าง?“อยากเน้นเซ็กเมนต์ให้มันเพิ่มมากขึ้น เพราะเรามองว่ามีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว สิ่งที่จะพัฒนาต่อไปคือ ต้องเป็นสินค้าคุณภาพดี คุณภาพสูง” มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ รศ.หงษ์ฟ้า ทรัพย์บุญเรือง อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)• ผลกระทบต่อผู้ผลิต?อาจารย์หงส์ฟ้ากล่าวเช่นเดียวกันกับผู้ผลิตว่า ผลกระทบนั้นขึ้นอยู่กับการแข่งขันแต่ละธุรกิจสินค้า “บางรายรับจ้างผลิต อาจจะเป็นผลดีต่อผู้ผลิตด้วยกันเอง เพราะผู้ผลิตสามารถเอาปัจจัยการผลิตต่างๆ มาผลิตสินค้า เมื่อจำนวนผลิตมากขึ้นราคาก็ต้องถูกลง เขาจึงสามารถต่อรองลดราคาให้กับผู้ที่มาว่าจ้างได้ มันน่าจะเป็นผลดีมากกว่า ยกเว้นว่าผู้ผลิตรายนั้นเป็นเจ้าของเดิมที่ขายสินค้าตนเอง นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” • ผลกระทบในระยะยาวต่อผู้บริโภค?“อะไรก็ตามที่เป็นไปโดยกลไกตลาดและมีการแข่งขันย่อมมีเรื่องราคาและคุณภาพของสินค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง หากวันใดที่ห้างสามารถครองตลาดหรือกีดกันไม่ให้คนอื่นเข้ามาผลิตแข่งได้ตอนนั้นผู้บริโภคจะเริ่มเสียเปรียบ” •แสดงว่าอาจเกิดการผูกขาดได้ในอนาคต?“ไม่คิดว่าจะถึงวันนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วสินค้าอุปโภคบริโภครายวัน ไม่ว่าจะเป็นแชมพู สบู่ เป็นอะไรต่างๆ ลักษณะของสินค้าไม่สามารถที่จะผูกขาดด้วยตัวมันเองได้ ไม่เหมือนกับน้ำมันหรือเหมืองแร่ที่มันผูกขาดและตั้งราคาได้ และหากห้างตั้งราคาเพิ่มทำให้ขายสินค้าได้กำไรดีจริงๆ ก็จะมีผู้ค้ารายย่อยเกิดขึ้นทันทีเข้ามาสู้แข่งขันกันอีก” • “สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของข้อมูลข่าวสาร”หากจะป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่หลายคนหวั่นวิตก อาจารย์หงส์ฟ้าบอกว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของข้อมูลข่าวสาร ถ้าข้อมูลข่าวผู้บริโภคไม่ชัดเจน คลุมเครือ ถูกหลอกโดยการโฆษณาว่าสินค้าชนิดนี้อร่อยมาก กินแล้วสุขภาพดี ในความจริงตัวต้นทุนสินค้าอาจแค่ 5 บาท แล้วขาย 500 บาท มันคือข้อมูลข่าวสารหลอก ถ้าคนรู้ว่าราคา 500 แต่ต้นทุน 50 บาท ก็จะมีผู้ผลิตเข้ามาแข่ง และผู้บริโภคก็ไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้ารายเดิม ราคาจะสูงอย่างเดิมก็ไม่ได้ เพราะข้อมูลข่าวสารเริ่มชัดเจนขึ้น ซึ่งสคบ.ควรที่จะให้ข้อมูลข่าวสารตรงนี้” ลองมาดูอีกแง่มุมหนึ่งที่เราอาจไม่สามารถหาคำตอบได้จากผู้ผลิตกับอาจารย์ท่านนี้ รศ.ดร.สมดี หงส์ไพศาลวิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. • “ยิ่งถูก ยิ่งซื้อ ยิ่งทำให้ฟุ่มเฟือย...ท้ายที่สุดผู้บริโภคก็ตาย” อาจารย์สมดีบอกว่า อำนาจและความยิ่งใหญ่ของห้างสรรพสินค้าสามารถผลิตสินค้าต่างๆ สู่ตลาดและกำหนดราคาให้ถูกได้ เมื่อสินค้ามีราคาถูกในระยะสั้นๆ ก็จะเกิดผลดีต่อผู้บริโภค แต่ในระยะยาวจะทำให้เกิดการบริโภคมากขึ้น ยิ่งถูก ยิ่งซื้อ ยิ่งทำให้ฟุ่มเฟือย ยิ่งเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมห้างสรรพสินค้าผลิตสินค้าต่างๆ ออกมามาก ท้ายที่สุดผู้บริโภคก็ตาย • “เกิดการเอาเปรียบคนงาน...”“เมื่อห้างสรรพสินค้าบีบซัพพลายเออร์ให้ผลิตสินค้าที่มีราคาถูก ผู้ผลิตก็ไปบีบแรงงาน เกิดการเอาเปรียบคนงาน เพื่อลดต้นทุนในการผลิตลงอีกที ทำให้แรงงานมีรายได้กำไรน้อย สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ เดือดร้อนกันหมด เกิดการเอารัดเอาเปรียบในรูปของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ส่งผลทั้งในระยะสั้นและยาว”

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point