ฉบับที่ 189 กระแสต่างแดน

งานวิจัยมีธงเรามักเข้าใจว่าคำแนะนำด้านโภชนาการนั้นมีเป้าหมายเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน แต่ถ้าได้รู้ที่มาที่ไปของงานวิจัยที่เป็นพื้นฐานของคำแนะนำเหล่านั้น เราอาจต้องคิดใหม่เดือนที่แล้วอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ค้นพบเอกสารชิ้นหนึ่งในชั้นใต้ดินของห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ทำให้รู้ว่าในยุค 60 นักวิทยาศาสตร์ที่นั่นรับจ้างอุตสาหกรรมอาหารทำงานวิจัยที่นำไปสู่ข้อสรุปว่า ไขมันคือสาเหตุหลักของโรคหัวใจ (น้ำตาล จึงรอดตัวจากการถูกสังคมรังเกียจ) ทุกวันนี้ค่ายอาหารก็ยังคงใช้วิธีเดิม งานวิจัยที่ได้ข้อสรุปชวนพิศวงว่า เด็กที่ไม่ได้รับประทานช็อคโกแล็ตแท่งมีน้ำหนักมากกว่าเด็กที่ทานบ่อยๆ ก็เป็นงานที่ได้รับทุนจากเฮอร์ชียส์ ผู้ผลิตช็อกโกแล็ตรายใหญ่นั่นเอง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กที่ศึกษาเรื่องการเป็นผู้สนับสนุนงานวิจัยของบริษัทอาหารพบว่าร้อยละ 90 ของงานเหล่านี้ มีข้อสรุปในทิศทางที่เป็นผลดีต่อผู้ให้ทุน นี่นับเฉพาะการสนับสนุนที่ทำอย่างเปิดเผยเท่านั้น ...ไม่เอาวันหมดอายุเงินเป็นสิ่งที่ไม่มีวันหมดอายุ แต่เมื่อเราเปลี่ยนมันเป็นบัตรของขวัญแล้วทำไมอายุของมันจึงถูกจำกัดอยู่แค่ 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี เท่านั้น ผลการสำรวจความเห็นของนักช้อปโดยองค์กรผู้บริโภคนิวซีแลนด์ระบุว่า คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรม และมูลค่าความสูญเสียจากการใช้บัตรกำนัล “ไม่ทันเวลา” สูงถึง 10 ล้านเหรียญต่อปี (250 ล้านบาท) จากกระแสเรียกร้องให้ขยายวันหมดอายุออกไปเป็น 5 ปี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์ให้ “ยกเลิกวันหมดอายุ” สำหรับบัตรกำนัลเหล่านี้ไปเลย เสียงตอบรับอยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีผู้ประกอบการร้านค้าปลีก 25 ราย ยอมเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข บางร้านยกเลิกวันหมดอายุ ในขณะที่บางเจ้าเลือกแบบขยายเวลาแต่ร้านค้าบางแห่งยังยืนยันใช้ระยะเวลา 1 ปีเหมือนเดิม โดยให้เหตุผลว่าผู้ถือบัตรจะไม่ได้รับผลกระทบเพราะเขาจะผ่อนผันหรือไม่ก็ออกบัตรใหม่ให้ ... ถ้าจะทำขนาดนั้นแล้วจะกำหนดวันหมดอายุไปทำไมกันมีขึ้นต้องมีลงผู้ใช้บริการรถเมล์และรถไฟฟ้าที่สิงคโปร์คงจะมีความสุขมากขึ้นในปีหน้า เพราะสภาการขนส่งสาธารณะประกาศปรับลดค่าโดยสารลงร้อยละ 4.2 สำหรับผู้ใช้บัตรโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคมนี้เป็นต้นไปผู้ใช้รถสาธารณะจำนวน 2.2 ล้านคน ทั้งที่ถือบัตรเดินทางสำหรับผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย และนักเรียน ต่างก็จะได้รับส่วนลดต่อเที่ยวระหว่าง 1 ถึง 27 เซนต์แล้วแต่ระยะทางและประเภทของบัตร เขาสามารถลดค่าโดยสารได้เนื่องจากปีนี้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลดลง แต่ไม่แน่ว่าต่อไปจะมีการปรับขึ้นหรือไม่ สิงคโปร์ขาดแคลนพนักงานขับรถ ผู้ประกอบการแต่ละเจ้าจึงแย่งกันเสนอเงินเดือนเพื่อให้ได้ตัวบุคลากรคุณภาพมาอยู่กับบริษัท พขร. ที่ได้เงินเดือนระหว่าง 40,000 ถึง 50,000 บาท นี้ต้องผ่านการอบรมหลายขั้นตอนทั้งจากบริษัทและหน่วยงานรัฐ นอกจากจะขับขี่อย่างปลอดภัยแล้ว ยังต้องมีความรู้เรื่องงานบริการ ระบบการออกตั๋ว ไปจนถึงกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ด้วยเคลียร์ไม่ได้ผลกระทบจากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับมาหลอกหลอนผู้คนที่ฟุกุชิมะอีกครั้ง หลังพบตะกอนกัมมันตรังสีในถังบำบัดน้ำเสียของศูนย์บริการล้างรถสูงเกินระดับที่รัฐกำหนดไปถึง 7 เท่าหลังเหตุระเบิดเมื่อเดือนมีนาคมปี 2011 ฝุ่นเถ้าต่างๆ ก็ปลิวมาติดรถยนต์ที่อยู่ในรัศมี เมื่อผู้คนในเมืองเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติและนำรถไปล้างในศูนย์บริการเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,700 แห่งในจังหวัดฟุกุชิมะ กากตะกอนเหล่านี้จึงไปรวมกันอยู่ที่นั่นห้าปีผ่านไป ถังบำบัดเริ่มเต็มจึงต้องมีการตักตะกอนออก แต่ตะกอนเหล่านี้ไม่ธรรมดา ไม่สามารถใช้พลั่วตักออกเฉยๆ เพราะเป็นอันตรายต่อคนทำงาน ต้องหาวิธีที่ปลอดภัยเพียงพอ และเมื่อตักออกมาแล้วก็ต้องหาวิธีทิ้งที่ปลอดภัยอีกเช่นกันสมาคมผู้ประกอบการศูนย์ล้างรถเคยเรียกร้องให้รัฐบาลและบริษัทโตเกียวพาวเวอร์ออกมารับผิดชอบ แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะกฎหมายดูแลมาไม่ถึงตะกอนในถังบำบัด ... นิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องที่จะเคลียร์กันได้ง่ายๆคุณคิดอะไรอยู่ทุกวันเฟสบุ้คถามผู้คนกว่า 1,700 ล้านคนว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ และผู้คนเหล่านี้ก็ยินดีตอบเสียด้วย งานสำรวจจากสหรัฐฯ ที่ติดตามโพสต์ของคนอเมริกัน 555 คน พบว่าสิ่งที่พวกเขาบอกเฟสบุ้คผ่านถ้อยคำหรือรูปภาพ รวมถึงความถี่ในการบอกนั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของพวกเขา เช่น คนที่ชอบสังคมมักจะโพสต์เรื่องราวกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน คนที่ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของตัวเองมักโพสต์เกี่ยวกับแฟนบ่อยๆ คนมีปัญหา จะเรียกร้องความสนใจหรือแสวงหาการยอมรับ และคนหลงตัวเองจะโพสต์ความสำเร็จเกี่ยวในการออกกำลังกายหรือควบคุมอาหาร เป็นต้น หลายคนบำบัดอารมณ์ตัวเองด้วยระบายความคับข้องใจลงในโพสต์ แต่งานวิจัยจากเม็กซิโกพบว่าการทำแบบนี้จะส่งผลร้ายมากกว่า และถึงกับออกคำเตือนให้คนเหล่านั้นไปพบแพทย์ตัวจริงแต่บอกไว้ก่อน การตัดขาดจากแวดวงออนไลน์ก็ไม่ใช่ทางออก มันอาจเป็นสัญญาณว่าเรากำลังมีปัญหาหรืออยู่ในภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 ป้ายลดราคาปิดทับวันหมดอายุ

ความคุ้มค่าของสินค้าลดราคา สามารถวัดได้จากสินค้าที่ยังอยู่ในสภาพดี เพราะหากเราได้สินค้าที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุไปแล้วก็ไม่ต่างจากการเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ที่ไหวตัวทันก่อนเสียรู้ได้ของหมดอายุที่นำมาลดราคาคุณสมศักดิ์ต้องการซื้อไข่ไก่สดจากห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซึ่งมีโปรโมชั่นลดราคาจาก 89 บาท เหลือ 44.50 บาท อย่างไรก็ตามก่อนตัดสินใจซื้อเขาได้พยายามหา ว/ด/ป หมดอายุที่ต้องระบุไว้ข้างกล่อง แต่ก็ไม่พบรายละเอียดดังกล่าว เขาจึงลองแกะป้ายลดราคาออกดูและพบว่าป้ายลดราคาได้ปิดทับวันหมดอายุไว้ ซึ่งภายหลังการตรวจสอบจึงทราบว่าไข่ไก่ดังกล่าวหมดอายุไปแล้วตั้งแต่ 2 วันก่อน และเมื่อตรวจสอบกล่องอื่นๆ ก็พบว่ามีการติดป้ายราคาทับวันหมดอายุในลักษณะเดียวกัน เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เขาจึงถ่ายรูปรายละเอียดต่างๆ เก็บไว้เป็นหลักฐาน และเขียนเล่าเหตุการณ์ลงสื่อสังคมออนไลน์ จากนั้นจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อให้ช่วยทำข่าวและเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้บริโภคคนอื่นๆแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องทำข่าวดังกล่าว และเผยแพร่ลงเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (http://www.consumerthai.org) พร้อมแนะนำว่าหากผู้ร้องต้องการแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าวก็สามารถทำได้ เนื่องจากการที่ห้างสรรพสินค้ามีการแสดงป้ายราคา โดยปิดทับวันเดือนที่ผลิตหรือหมดอายุ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด อาจเข้าข่ายการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายมาตรา 343 โดยมีโทษจำคุก 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องไม่ต้องการแจ้งความใดๆ เพียงแต่ต้องการแจ้งข่าวผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเตือนให้ผู้บริโภคคนอื่นมีความระมัดระวังในการเลือกซื้อสินค้าเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 นมเสื่อมคุณภาพก่อนวันหมดอายุ

วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริโภคทราบว่าสินค้าดังกล่าวยังคงมีคุณภาพหรือไม่ และจะเสื่อมสภาพเมื่อใด อย่างไรก็ตามใช่ว่าเราจะมั่นใจเช่นนั้นได้เสมอไป ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ที่พบปัญหาสินค้าเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุคุณพรพรรณซื้อนมจืดยี่ห้อไทยเดนมาร์ค จากห้างท๊อป ซุปเปอร์มาร์เก็ต ขนาด 200 มล. จำนวน 1 ลัง ราคา 315 บาท มาให้หลานชายรับประทาน ซึ่งเธอได้ตรวจสอบ ว/ด/ป ที่หมดอายุข้างกล่องแล้วว่าอีกหลายเดือนกว่าจะครบกำหนด อย่างไรก็ตามหลังนำมาเทใส่ขวดนมให้หลานรับประทาน กลับพบว่านมดังกล่าวมีลักษณะจับตัวเป็นก้อนคล้ายนมบูด เมื่อตรวจสอบกล่องอื่นๆ ก็พบว่ามีลักษณะคล้ายกัน เธอจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำปรึกษา โดยต้องการให้บริษัทเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องส่งหลักฐานประกอบการร้องเรียนมาเพิ่มเติม คือ สำเนาใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งรูปถ่ายลักษณะผิดปกติของนมดังกล่าว พร้อมส่งตัวอย่างของสินค้าให้ผู้ผลิตนำไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพ ซึ่งภายหลังการตรวจสอบโดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ภาคกลางพบว่า ผลการวิเคราะห์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการเสื่อมคุณภาพเฉพาะกล่อง ซึ่งมีสาเหตุจากกระบวนการผลิต การเก็บรักษาหรือการขนส่งทั้งนี้ทางบริษัทจึงแจ้งว่าจะเพิ่มความเข้มงวดในกระบวนการผลิต ตรวจสอบคุณภาพการขนส่งโดยปฏิบัติตามระบบคุณภาพ มาตรฐาน GMP HACCP ISO และ HALAL อย่างเคร่งครัด เพื่อปรังปรุงพัฒนาให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น และหากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์ที่กล่องบุบหรือชำรุดสามารถส่งคืนที่ อ.ส.ค. ให้ดำเนินการเปลี่ยนใหม่ได้ นอกจากนี้ก็ได้ชดเชยให้ผู้ร้องเป็นผลิตภัณฑ์นมจำนวน 5 ลัง ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอและไม่ติดใจปัญหาแล้วจึงยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2559แพทย์เฉพาะทางบาทเดียวปัจจุบันนี้มีการส่งต่อและแชร์ข้อมูลต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งมีข้อมูลจำนวนไม่น้อยที่ไม่ถูกต้อง หรือให้รายละเอียดไม่ครบถ้วน นำมาซึ่งความเข้าใจผิด หากนำไปใช้ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ จึงทำให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มแพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆ จากหลากหลายสถาบัน ในชื่อของ “แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว” (SOS Specialist) โดยกลุ่มแพทย์จิตอาสากลุ่มนี้จะคอยให้บริการตอบคำถามสุขภาพผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ทั้งเว็บไซต์และเฟซบุ๊ค เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถส่งข้อความเข้ามาสอบถามความรู้ที่ถูกต้องเรื่องสุขภาพ ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลกับแพทย์ผู้มีความรู้เฉพาะด้านได้โดยตรง โดยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนสอบถามและขอคำแนะนำเป็นจำนวนมากถึง 50,519 คำถาม ส่วนใหญ่เป็นคำถามจากห้องอายุรกรรมเกี่ยวกับโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง รูมาตอยด์ อัมพาต รองลงมาคือ ห้องเด็ก ห้องสูติ เช่น เรื่องการคุมกำเนิด ประจำเดือน ฯลฯ และห้องจิตเวช ซึ่งผู้ที่ส่งคำถามมาขอคำปรึกษาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพต้องการทราบข้อมูลเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ และกลุ่มที่ผ่านการตรวจรักษาแล้ว แต่ยังมีข้อสงสัย ใครที่สนใจอยากสอบถามปัญหาเรื่องสุขภาพและการรักษาพยาบาลกับแพทย์ตัวจริงเสียงจริง สามารถเข้าไปได้ที่เว็บไซต์ แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว www.sosspecialist.com หรือที่เฟซบุ๊คแพทย์เฉพาะทางบาทเดียว เลิกสงสัย!!! “น้ำผักชี” ไม่ช่วยล้างไตมีการแชร์ข้อมูลที่อ้างว่า “น้ำผักชี” ช่วยล้างไตได้ ซึ่งสร้างความสงสัยว่าข้อมูลดังกล่าวจริงเท็จประการใด จนล่าสุด ภก.พินิต ชินสร้อย เภสัชกรปฏิบัติการงานแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลวังน้ำเย็น  และรักษาการประธานชมรมเภสัชกรสมุนไพร ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า น้ำผักชีไม่ได้มีผลในการช่วยล้างไต ข้อมูลที่มีการแชร์กันอยู่เป็นเพียงการกล่าวอ้างเท่านั้น ไม่มีผลการศึกษาวิจัยใดเป็นตัวยืนยัน ที่สำคัญคือในผักชีมีสารโพแทสเซียมสูงถึง 540 มิลลิกรัมต่อผักชี 100 กรัม ซึ่งสารดังกล่าวส่งผลให้ไตทำงานหนัก เพราะถ้าร่างกายได้รับโพแทสเซียมมากเกินไปจะเป็นภาระต่อไตที่ต้องทำหน้าที่ขับออกจากร่างกาย ซึ่งปกติใน 1 วันร่างกายของเราควรได้รับโพแทสเซียที่ปริมาณ 4.7 มิลลิกรัมเท่านั้นแต่ทั้งนี้คนที่บริโภคผักชีทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะโดยปกติเรากินผักชีในปริมาณไม่มากถึงขนาดที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งผักชีถือเป็นผักที่มีประโยชน์ ช่วยในการขับลม ทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดีขึ้น ซื้อสินค้าลดราคา ระวังเจอของหมดอายุ!!!ใครที่ชอบซื้อสินค้าลดราคาโดยเฉพาะพวกอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค อย่าลืมเช็คเรื่องคุณภาพสินค้าและวันหมดอายุให้ดี ระวังได้จะของถูกแต่ไม่มีคุณภาพเหมือนกับกรณีที่มีการแชร์กันในสื่อออนไลน์ เมื่อมีผู้บริโภครายหนึ่งได้ซื้อไข่ไก่ลดราคาที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สุขาภิบาล 3 โดยผู้บริโภครายนี้พยายามมองหาข้อมูลวันหมดอายุที่ตัวสินค้า แต่กลับพบว่าป้ายที่แจ้งลดราคาแปะทับเอาไว้อยู่ เมื่อแกะป้ายราคาออกก็ต้องตกใจเมื่อเจอกับข้อมูลวันหมดอายุที่แจ้งว่าไข่ไก่แพ็คนี้หมดอายุมาแล้ว 2 วัน!!!นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ห้างสรรพสินค้าต้องแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะห้างมีหน้าที่ต้องตรวจสอบสินค้าก่อนที่จะขาย เมื่อสินค้าหมดอายุก็ควรรีบจัดเก็บทันที เพราะถ้าผู้บริโภคซื้อสินค้าและรับประทานเข้าไปก็อาจได้รับอันตรายจากการบริโภคอาหารหมดอายุได้ นอกจากนี้ยังถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่องอาหารที่ไม่ปลอดภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำและปรับโดยผู้บริโภคที่พบเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพบสินค้าหมดอายุถูกนำมาวางจำหน่าย การปกปิดข้อมูลเรื่องวันหมดอายุ หรือการแจ้งราคาสินค้าไม่ตรงกับราคาที่ขาย สามารถร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ ไมว่าจะเป็น อย., สคบ. และ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บังคับติด “ฉลากหวานมันเค็ม” บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป – อาหารแช่แข็งกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเพิ่มชนิดอาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ และค่าพลังงาน นํ้าตาล ไขมัน และ โซเดียม แบบ GDA (Guideline Daily Amounts) หรือ “ฉลากหวานมันเค็ม” จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ในอาหาร 5 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่งทอด ข้าวโพดคั่ว ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต และเวเฟอร์สอดไส้ โดยในประกาศฉบับใหม่จะมีการเพิ่มกลุ่มอาหารที่ผู้บริโภคนิยมรับประทาน อย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารแช่แข็งพร้อมปรุงเข้าไปประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 374) พ.ศ. 2559 เรื่อง อาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ และค่าพลังงาน นํ้าตาล ไขมัน และโซเดียมแบบจีดีเอ ได้กำหนดกลุ่มอาหารที่ต้องแสดงฉลากหวานมันเค็ม ออกเป็น 5 กลุ่ม 15 ชนิด ดังนี้1.อาหารขบเคี้ยว ได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วหรือทอดกรอบ ข้าวเกรียบทอดหรืออบกรอบ หรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ถั่วหรือนัตทอดหรืออบกรอบ หรืออบเกลือ หรือเคลือบปรุงรส สาหร่ายทอดหรืออบกรอบ หรือเคลือบปรุงรส และปลาเส้นทอดหรืออบกรอบ หรือปรุงรส2.ช็อกโกแลต และผลิตภัณฑ์ในทํานองเดียวกัน3.ผลิตภัณฑ์ขนมอบ ได้แก่ ขนมปังกรอบ แครกเกอร์ บิสกิต เวเฟอร์สอดไส้ คุกกี้ เค้ก พาย เพสตรี้ ทั้งชนิดที่มีและไม่มีไส้4.อาหารกึ่งสําเร็จรูป ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ไม่ว่าจะมีการปรุงแต่งหรือไม่ก็ตาม พร้อมซองเครื่องปรุง ข้าวต้มที่ปรุงแต่ง และโจ๊กที่ปรุงแต่ง5.อาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียว ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งตลอดระยะเวลาจําหน่ายทั้งนี้จุดมุ่งหมายของการบังคับให้อาหารเหล่านี้ต้องแสดงฉลากหวานมันเค็ม ก็เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคในการใช้เป็นข้อมูลในเลือกรับประทานให้เหมาะสมต่อสุขภาพ ลดการบริโภค หวาน มัน เค็ม ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของการป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็น มะเร็ง ความดัน เบาหวาน หัวใจ โดยผลิตภัณฑ์อาหารตามประกาศฉบับนี้จะต้องทำการติดฉลากหวานมันเค็มตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2559 นี้เป็นต้นไป เชิญร่วมงานเวทีประชุมแลกเปลี่ยน “ตลาดที่มีจิตสำนึก” ครั้งที่ 3ในยุคที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะฝากท้องไว้กับอาหารจากระบบอุตสาหรรม อาหารแปรรูปที่ผ่านการปรุงแต่งดัดแปลง ซึ่งแม้จะได้ความสะดวกสบายแต่กลับเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยและการปนเปื้อนของสารเคมีปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นสารกันบูด สีสังเคราะห์ สารปรุงแต่งรสและกลิ่น ฯลฯ ซึ่งสารเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรา    “ตลาดที่มีจิตสำนึก” จึงเกิดขึ้นมาจากความตั้งใจที่อยากให้ผู้ผลิต เกษตรกร ที่ใส่ใจในการผลิตอาหารปลอดภัย ได้นำสินค้าของตัวเองมาส่งต่อโดยตรงถึงมือผู้บริโภค คนกินได้อาหารที่ปลอดภัยไม่มีสารเคมีปนเปื้อน อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร สุขภาพร่างกายแข็งแรง ส่วนคนขายคนผลิตก็ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม เป็นธรรม ได้กำลังใจในการทำเกษตรกรที่ปลอดภัยที่ต้องใช้ความใส่ใจในปลูกมากกว่าการเกษตรทั่วไป    ในวันที่ 30 ส.ค. – 1 ก.ย 59 นี้ จะมีการจัดเวทีประชุมแลกเปลี่ยนตลาดทางเลือกในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเอเชีย ความร่วมมือระหว่างเกษตรกรรายย่อยผู้ประกอบการสังคมและผู้บริโภคสีเขียว ภายใต้ชื่องานว่า “ตลาดที่มีจิตสำนึก #3” ซึ่งในงานจะมีการพูดถึงความสำคัญของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่อสังคม โดยจะมีประสบการณ์จากต่างประเทศ ทั้ง ญี่ปุ่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย มาบอกเล่าในงานประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีตัวแทนผู้ประกอบการทางสังคมที่จะมาบอกเล่าว่าการทำธุรกิจโดยใส่ใจสังคมเป็นมิตรกับชุมชนนั้นต้องเริ่มต้นยังไง    ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถติดต่อสอบถามไปได้ที่ สวนเงินมีมา โทร. 02-622-0955, 02-622-2495-6 www.suan-spirit.com  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 ร้องเรียนเรื่องนมถั่วเหลืองบูดก่อนวันหมดอายุ

กลับมาแล้วจ้ะ  หลังจากหายหน้าไปนาน เล่มนี้เราจะมาเรียนรู้วิธีการพิทักษ์สิทธิของเราเอง  เมื่อเจอสินค้าเสื่อมคุณภาพ(สินค้าเน่าเสียก่อนวันหมดอายุ)   โดยต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม  ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ กรณีนมถั่วเหลืองชนิดยูเอชที เน่าเสียก่อนวันหมดอายุ(ตามที่ระบุไว้ที่กล่อง)   เอาล่ะเราก็ต้องตรวจสอบไล่เรียงเรื่องราวกันก่อน ได้ความว่าผู้ร้องได้ซื้อนมถั่วเหลืองยี่ห้อหนึ่งจากร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน  เพื่อนำไปแจกในงานศพญาติ  ก่อนซื้อได้ตรวจดูวันผลิตและวันหมดอายุแล้ว(ผลิตวันที่ 25 กุมภาพันธ์.59 หมดอายุ 25 ธันวาคม 59) ผู้ร้องซื้อสินค้าตอนต้นเดือนมีนาคม ห่างจากวันผลิตไม่ถึง 10 วัน จริงๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่หลังจากแจกจ่ายนมไปแล้ว   ปรากฏว่าแขกในงานที่ได้รับแจกนมกล่องไป ได้โทรมาต่อว่าผู้ร้อง ว่าแจกนมบูดไปให้เขากิน  ผู้ร้องจึงได้ไปตรวจสอบนม ที่เหลืออยู่ปรากฏว่าบูดเสียจริงทั้งแพ็กที่ซื้อมาจึงได้มาร้องเรียนที่สมาคมฯ   จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า เรื่องนี้ไม่สามารถไปเอาผิดกับร้านสะดวกซื้อได้ เพราะไม่ได้จำหน่ายสินค้าหมดอายุ  จึงต้องนำเรื่องไปร้องเรียนที่บริษัทผู้ผลิต ซึ่งเหตุการณ์นี้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดจากความบกพร่องในกระบวนการผลิต    ทางสมาคมฯ จึงได้แนะนำกับผู้ร้องให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้  1. ผู้ร้องต้องกลับไปซื้อนมร้านเดิม วันเดือนปี ผลิตเดียวกัน(ซึ่งพบว่ายังมีจำหน่ายอยู่) มาเปิดพิสูจน์อีกครั้งว่าเน่าเสียเหมือนกันหมดหรือไม่ 2. ถ้าพบว่านมนั้นเน่าเสีย  ให้นำนมนั้นไปเป็นหลักฐานในการแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งผลคือพบนมเน่าเสียทั้งหมด (อันที่จริงถ้าไม่พบที่ร้านอีกก็สามารถนำนมที่เหลืออยู่กับผู้ร้องไปแจ้งความได้) ผู้ร้องจึงได้ไปแจ้งความลงบันทึกตามคำแนะนำของสมาคมฯ จากนั้นสมาคมฯ ได้รวบรวมเอกสารหลักฐาน พร้อมส่งหนังสือร้องเรียนไปที่บริษัทผู้ผลิตนมยี่ห้อนั้น  ซึ่งทางบริษัทผู้ผลิตแสดงความรับผิดชอบต่อสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานของตน และได้ทำหนังสือมาขอโทษและแจ้งว่าบริษัทฯ ได้ตรวจสอบนมล็อตที่ถูกร้องเรียน ซึ่งพบว่า มีปัญหาเน่าเสียจริง อันเป็นผลจากกระบวนการขนส่งบริษัท และทางบริษัทฯ ได้เรียกเก็บนมล็อตนั้นออกจากตลาดแล้วทั้งหมด   จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการเจราจาความเสียหายของผู้ร้องเรียน  บริษัทเสนอชดเชยด้วยนมจำนวน 4 ลัง และขอให้เรื่องจบ   สมาคมฯ เห็นว่าไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้บริโภค และแจ้งบริษัทว่ากรณีร้องเรียนนี้ ผู้ร้องมิได้เสียหายแค่ซื้อสินค้ามาบริโภคเอง แต่มีการแจกจ่ายไปให้ผู้ร่วมงานศพ ทำให้เพื่อนบ้านในวงกว้าง เข้าใจผิด ทำให้ผู้ร้องเสียหายจากการถูกกล่าวหาว่าซื้อของเน่าเสียมาแจก  ทำให้เกิดความเสียหายทางด้านจิตใจ สมาคมฯในฐานะคนกลางในการไกล่เกลี่ย ได้เสนอการเยียวยาความเสียหายของผู้ร้อง 2 ข้อดังนี้ คือหนึ่งให้บริษัทเยียวยาความเสียหายของผู้ร้องเป็นจำนวนเงิน  20,000  บาท  สองให้บริษัททำหนังสือขอโทษ และสัญญาว่าจะระมัดระวังผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานทุกชิ้นก่อนถึงมือผู้บริโภค  จากนั้นมีการลงนาม 3 ฝ่าย (บริษัทผู้ผลิต สมาคมฯ ผู้รับเรื่องร้องทุกข์ ผู้ร้องเรียนในฐานะผู้เสียหาย) ในข้อตกลง และแต่ละฝ่ายเก็บข้อตกลงไว้คนละฉบับ ซึ่งทางบริษัทยินดีปฏิบัติตามข้อเสนอ      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 เครื่องสำอางเด็กหมดอายุ

การร้องเรียนกรณีห้างสรรพสินค้าวางจำหน่ายสินค้าที่หมดอายุแล้ว ยังคงมีเข้ามาเสมอ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ใช้สำหรับการบริโภค แต่สำหรับกรณีนี้กลับเป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอาง ซึ่งมีไว้ให้เด็กเล่นอีกต่างหาก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณดวงใจ เธอซื้อชุดแต่งหน้าสำหรับเด็กยี่ห้อ บาร์บี้ (Barbie) จากแผนกของเล่นเด็กที่ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล สาขาเวตส์เกต ในราคาลด 50% จากราคาเต็มเกือบสองพัน ลดแล้วเหลือเพียงเก้าร้อยกว่าบาท  ซึ่งก่อนซื้อเธอได้สอบถามพนักงานว่า สินค้าดังกล่าวมีตำหนิอะไรหรือไม่จึงนำมาลดราคา แต่พนักงานก็ไม่ได้แจ้งว่ามีปัญหาแต่อย่างใด เธอเห็นว่าสินค้าก็มีสภาพดีจริง จึงให้พนักงานนำสินค้าดังกล่าวไปห่อของขวัญ เพื่อนำมามอบเป็นของขวัญให้ลูกสาว อย่างไรก็ตามเมื่อนำกลับไปบ้าน เธอก็สังเกตเห็นฉลากที่ระบุวันผลิตและหมดอายุไว้ว่า สินค้านี้ผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2555 หรือ 4 ปีที่แล้วและหมดอายุไปเมื่อ 2 ปีก่อน เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เธอจึงต้องการร้องเรียนให้ทางห้างสรรพสินค้าแสดงความรับผิดชอบที่นำของหมดอายุมาจำหน่าย โดยส่งกล่องเครื่องสำอางดังกล่าวมาให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยตรวจสอบอีกครั้งด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์ฯ ได้ตรวจสอบเบื้องต้นและพบว่า สินค้าดังกล่าวมีการโฆษณาและแนะนำให้ใช้ในการแต่งหน้าเด็ก ซึ่งสามารถเข้าข่ายเครื่องสำอาง แต่ไม่มีฉลากที่ระบุว่าเป็นเครื่องสำอางที่มีการควบคุมของสำนักงานคณะ กรรมการอาหารและยา (อย.) มีเพียงฉลากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กำกับไว้ที่ข้างกล่องเท่านั้น นอกจากนี้ฉลากภาษาไทยกำกับไว้ว่า เหมาะสำหรับเด็กอายุ 3 – 12 ปี ก็ไม่ตรงกับฉลากภาษาอังกฤษที่ระบุไว้บนกล่องว่า เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป และมีคำเตือนกำกับไว้สำหรับผู้เล่นอายุต่ำกว่า 3 ปี เช่น ควรมีผู้ปกครองดูแล ศูนย์ฯ จึงทำหนังสือถึง 1. คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้มีการตรวจสอบของเล่นดังกล่าว ว่าเป็นของเล่นที่เข้าข่ายเป็นเครื่องสำอางหรือไม่ ซึ่งหากบ่งชี้ได้ว่าเข้าข่ายเป็นเครื่องสำอาง จะต้องมีการดำเนินการจดแจ้งกับ อย.ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 และหากไม่ขออนุญาตมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท 2. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้มีการตรวจสอบฉลากสินค้าภาษาไทยที่ระบุวันหมดอายุ ไม่ตรงกับข้างกล่อง เพราะถือว่าเป็นการทำผิด พ.ร.บ. ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในกรณีการขายสินค้าที่หมดอายุนั้น สคบ. มีอำนาจในการสั่งปรับผู้ผลิตและบริษัทผู้นำได้ไม่เกิน 50,000 บาท รวมทั้งผู้จัดจำหน่ายไม่เกิน 20,000 บาท3. ห้างสรรพสินค้าดังกล่าว เพื่อให้มีการตรวจสอบสินค้าประเภทเดียวกันที่นำมาจัดจำหน่ายว่า ยังมีกล่องไหนที่หมดอายุอีกหรือไม่4. ผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าหมดอายุ ทั้งนี้สำหรับผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไร ทางศูนย์ฯ จะติดตามความคืบหน้าต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 โปรดดูวันหมดอายุก่อนซื้อ

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการร้องเรียนจำนวนมาก เกี่ยวกับอาหารหมดอายุที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งทางบริษัทฯ ทั้งหลายก็ยินดีที่จะตรวจสอบให้มากขึ้น แต่ปัจจุบันเราก็พบว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าไรนัก ทำให้ผู้บริโภคที่ไม่ได้ตรวจสอบฉลากก่อนซื้อ ต้องเสี่ยงดวงว่าจะสังเกตเห็นก่อนรับประทานเข้าไปหรือเปล่า อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่ดวงดีอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมชายซื้อนมกล่องยี่ห้อดูแม็กไฮคิววัน จำนวน 2 แพ็ค ราคา 132 บาท จากห้างเทสโกโลตัสแถวบ้าน ภายหลังลูกชายนำนมไปดื่มก็มีอาการอาเจียนและอุจจาระเหลว เขาจึงนำนมกล่องดังกล่าวมาตรวจสอบดูและพบว่า มีกลิ่นเปรี้ยวผิดปกติและเลยวันหมดอายุไปตั้งแต่ 3 เดือนที่แล้ว เขาจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ โดยต้องการให้ทางห้างสรรพสินค้าดังกล่าวมีความรอบคอบในการวางจำหน่ายสินค้า และแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นอีกกรณีหนึ่ง ผู้ร้องซื้อกาแฟยี่ห้อมอคโคน่า ราคา 99 บาท จากห้างเทสโกโลตัสสาขามหาชัย โดยไม่ได้ตรวจสอบวันหมดอายุ ภายหลังนำกลับมาที่บ้านจึงสังเกตเห็นว่าสินค้าดังกล่าวหมดอายุไปเมื่อ 3 เดือนก่อน เธอจึงนำสินค้าพร้อมใบเสร็จรับเงิน กลับไปที่ห้างดังกล่าว ซึ่งภายหลังการติดต่อที่จุดบริการลูกค้า เธอเรียกร้องให้ทางห้างเยียวยาค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,000 บาท แต่พนักงานกลับนำกระเช้าของขวัญมาให้ พร้อมขอเก็บสินค้าดังกล่าวไปแทน ซึ่งเธอยินยอมให้สินค้าไป แต่ยืนยันที่จะขอรับค่าเสียหาย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้พนักงานจึงเสนอให้คูปองเงินสดจำนวน 1,000 บาท ด้านผู้ร้องเห็นว่าห้างดังกล่าวควรมีความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นมากกว่านี้ จึงปฏิเสธข้อเสนอของพนักงานและขอสินค้านั้นคืน แต่พนักงานก็ได้แจ้งว่าทำสินค้าดังกล่าวหายไปแล้ว เธอจึงร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับ 2 กรณีข้างต้นมีประเด็นเหมือนกันคือ สินค้าหมดอายุแล้วแต่ยังวางจำหน่าย และมีคู่กรณีเดียวกันคือห้างสรรพสินค้าเทสโกโลตัส ศูนย์ฯ จึงนัดเจรจาพร้อมกันระหว่างผู้ร้องทั้ง 2 กรณีและสำนักงานใหญ่ของห้างสรรพสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้สำหรับในกรณีแรกผู้จัดการห้างได้ติดต่อผู้ร้องเพื่อขอตรวจสอบสินค้า และพร้อมจ่ายค่าเยียวยาให้จำนวน 5,000 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังการนัดเจรจา ผู้ร้องทั้งคู่ต้องการค่าชดเชยคนละ 20,000 บาท ทำให้ทางบริษัทฯ ขอนำข้อเรียกร้องดังกล่าวกลับไปพิจารณาก่อน ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร ผู้บริโภคจะได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ ทางศูนย์ฯ ก็จะคอยติดตามความคืบหน้าต่อ ทั้งนี้แนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหา เมื่อเราซื้อสินค้ามาโดยไม่ได้ตรวจสอบฉลากก่อน แล้วพบว่าหมดอายุไปแล้ว สิ่งที่เราควรทำคืออย่ารีบทิ้งสินค้าดังกล่าว โดยให้ถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ / วันหมดอายุ / ใบเสร็จรับเงิน* และแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการร้องเรียน*หมายเหตุ เนื่องจากใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานสำคัญในการเอาผิด เราจึงไม่ควรทิ้งทันทีที่ซื้อของเสร็จ เพราะหากมีปัญหาอาจทำให้การฟ้องร้องเป็นไปอย่างลำบาก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 อาหารหมดอายุ แต่ทำไมยังวางจำหน่าย

ในคอลัมน์เสียงผู้บริโภคเล่มก่อนๆ เราเคยเสนอประเด็นเรื่อง “ของหมดอายุควรมีอยู่ในห้างหรือไม่” เพราะผู้บริโภคอย่างเรา ไม่ได้มีหน้าที่นำสินค้าที่หมดอายุไปคืน แต่ควรเป็นทางร้านมากกว่าที่ต้องวางขายสินค้าที่ไม่หมดอายุให้กับเรา อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวก็ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ จนเกิดคำถามจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ว่า เมื่อไรที่ปัญหานี้จะได้รับการดูแลอย่างจริงจังจากผู้จัดจำหน่ายสินค้านั้นๆกรณีนี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่ซื้ออาหารจากห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี โดยเขาได้ซื้อฟักทองนึ่ง และปลานิลทอด 4 ตัว เมื่อนำกลับมารับประทานที่บ้าน(ไม่เกิน 20 นาที นับจากเวลาที่ชำระเงินเรียบร้อย) ก็พบว่าฟักทองดังกล่าวมีกลิ่นบูดและมียางเหนียวๆ ติดมือ และปลานิลทอดก็มีกลิ่นเน่าโชยออกมาทุกตัว เขาจึงตัดสินใจเก็บใส่ตู้เย็นไว้ และโทรศัพท์ไปร้องเรียนที่ห้างดังกล่าวในวันรุ่งขึ้นเมื่อได้รับการแจ้งร้องเรียนพนักงานของทางห้างได้แจ้งว่า ให้นำใบเสร็จมารับเงินคืน แต่ผู้ร้องเห็นว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งทางห้างควรให้ความสนใจมากกว่าประเด็นเรื่องการคืนเงิน เขาจึงขอพูดสายกับผู้บริหารระดับสูง เพราะต้องการให้ห้างดังกล่าวมีความรับผิดชอบมากกว่านี้อย่างไรก็ตามพนักงานกลับโอนสายให้ผู้จัดการระดับแผนกเป็นผู้รับเรื่องแทน ผู้ร้องจึงตอบกลับไปว่า จะไม่เป็นฝ่ายไปรับเงินคืนที่ห้าง แต่ให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของห้างเป็นผู้มารับสินค้ากลับไปและมารับเรื่องร้องเรียนด้วยตนเองแทน แต่ก็กลับพบว่าคนที่มารับสินค้าเป็นเพียงหัวหน้าแผนกซีฟู้ด ซึ่งได้ขอโทษและคืนเงินให้ ทำให้ผู้ร้องเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เขาจึงนำคลิปที่ถ่ายอาหารดังกล่าวไว้ลงในสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook ส่วนตัว) และเว็บไซต์ยูทูบ เพื่อเผยแพร่ข่าวสาร และร้องเรียนมายังมูลนิธิ เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แนวทางการแก้ไขปัญหาทางศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องทำจดหมายแจ้งรายละเอียด และความประสงค์ส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของห้างสรรพสินค้าดังกล่าว และนัดให้มีการเจรจาที่มูลนิธิฯ ซึ่งภายหลังการเจรจาตัวแทนของบริษัทฯ ยืนยันที่นำข้อเสนอต่างๆ ของผู้ร้องกลับไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้มีมาตรฐานในการดูแลสินค้าให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคต่อไปทั้งนี้สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการร้องเรียนในประเด็น อาหารหมดอายุ หรือเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ สามารถทำได้ตามขั้นตอนดังนี้1. เก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้า และใบเสร็จรับเงินมาเป็นหลักฐาน อย่างไรก็ตามในกรณีที่ไม่มีใบเสร็จรับเงิน สิ่งที่สามารถเรียกร้องได้โดยทั่วไปคือการเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ (ขึ้นอยู่กับการต่อรองกับผู้ขาย) ซึ่งควรดำเนินการทันทีที่พบว่าได้บริโภคอาหารหมออายุ หรือเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ2. ถ่ายรูป ฉลาก (ที่ระบุ ว/ด/ปี ที่ผลิต – หมดอายุ) รูปสินค้า และใบเสร็จรับเงิน 3. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่4. ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งควรคิดล่วงหน้าว่าต้องการให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร เช่น เปลี่ยนสินค้าใหม่ คืนเงิน จ่ายค่าเสียเวลา หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติดังกล่าว 5. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร โดยบรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง ถึงประธานกรรมการบริหารที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทนั้นๆ ซึ่งสามารถให้ทางศูนย์ฯ ช่วยตรวจสอบข้อมูลก่อนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 ของหมดอายุ ควรมีอยู่ในห้างหรือไม่

ผู้บริโภคส่วนใหญ่เมื่อเลือกซื้อสินค้าสำหรับการบริโภค สิ่งหนึ่งที่จำเป็นในการตรวจสอบคือ วันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุ แต่หากเรารีบและไม่ได้ซื้อจำนวนมาก ผู้บริโภคบางส่วนก็อาจจะลืมตรวจสอบสิ่งสำคัญเหล่านี้ไป ซึ่งหากเราดวงซวยไปซื้อของที่หมดอายุมากิน ก็มีวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าการทิ้งไปเฉยๆ ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้คุณกิตติยาซื้อขนมปัง ยี่ห้อ เอ พลัส ราคา 14 บาท จากมินิ บิ๊กซี ที่ปั๊มน้ำมัน บางจาก สาขา นวมินทร์ มารับประทาน ด้วยความเร่งรีบจึงไม่ได้ตรวจสอบวันเดือนปีที่หมดอายุ เพราะคาดว่าทางร้านไม่น่าจะวางจำหน่ายสินค้าที่หมดอายุไปแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อจะนำมารับประทานก็พบว่าขนมปังดังกล่าวขึ้นรา และเลยวันหมดอายุตามที่ระบุไว้ข้างซองมานานแล้วผู้ร้องจึงเก็บใบเสร็จที่ซื้อไว้ และส่งเรื่องมาร้องเรียนที่มูลนิธิ เพราะอยากให้ห้างดังกล่าวมีความรับผิดชอบในการนำสินค้ามาวางจำหน่ายมากกว่านี้ เนื่องจากอาจมีผู้บริโภคคนอื่นที่รีบซื้อสินค้า และพบปัญหาเดียวกันกับเธอก็ได้ ซึ่งเธอก็ต้องการให้ทางบริษัทรับผิดชอบ ด้วยการชดใช้เป็นเงินจำนวน 20,000 บาท แนวทางการแก้ไขปัญหา หลังจากผู้ร้องส่งเรื่องร้องเรียนมาทางอีเมล์ โดยแนบรูปขนมปังดังกล่าวและใบเสร็จมาด้วย ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงติดต่อไปยังสำนักงานใหญ่ของห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี ซึ่งทางบริษัทฯ ได้นัดเจรจาติดต่อกับลูกค้า โดยภายหลังได้มีการขอโทษและมอบกระเช้าให้ผู้ร้อง แต่สำหรับการชดใช้เป็นจำนวนเงินดังกล่าว ทางบริษัทฯ ได้ขอพิจารณาก่อน ซึ่งในที่สุดบริษัทก็ได้แจ้งว่า ยินยอมที่จะชดใช้ให้เป็นจำนวน 12,000 บาท แม้ตอนแรกผู้ร้องจะยืนยันจำนวนเท่าเดิม แต่เพื่อไม่ให้เรื่องยืดเยื้อไปนานกว่านี้ จึงต้องยินดีตอบตกลงจำนวนเงินนั้นไปถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ผู้ร้องรักษาสิทธิของตนเอง เพราะ การวางจำหน่ายสินค้าที่หมดอายุ แสดงให้ถึงความรับผิดชอบของผู้ขาย นอกจากนี้ผู้บริโภคอย่างเรา ไม่ได้มีหน้าที่นำสินค้าที่หมดอายุไปคืน แต่ควรเป็นทางร้านมากว่า ที่ต้องวางขายสินค้าที่ไม่หมดอายุให้กับเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 “สังฆทาน บาป”

“สังฆทาน บาป” รู้หรือไม่ว่าของในถังสังฆทานที่ซื้อมาหมดอายุก่อนวันซื้อ คุณทำได้มากกว่าการนำไปเปลี่ยนคืนธ.ก.ส. ลดหนี้มโหฬาร ล้างบาป “กลุ่มเกษตรกรพันธุ์ใหม่” เมื่อกลุ่มเกษตรกร “คนรุ่นใหม่” ต้องตกเป็นเหยื่อจากการดำเนินโครงการด้านการเกษตรที่ล้มเหลวของรัฐสังฆทาน เป็นชื่อเรียกการถวายทานแก่พระสงฆ์อย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามีอานิสงส์มาก โดยเฉพาะการถวายสังฆทานแก่คณะพระสงฆ์จะมีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานเฉพาะเจาะจงแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง หรือแม้แต่การถวายทานแก่พระพุทธเจ้าแม้ยังทรงพระชนม์อยู่ ก็ยังได้บุญสู้การถวายทานแก่พระสงฆ์ที่เป็นหมู่คณะไม่ได้...ผู้รู้ทางพุทธศาสนาท่านว่าไว้อย่างนั้นแต่เดี๋ยวนี้...ในยุคสังคมแบบ “เร็วเข้าว่า ช้าไม่เป็น” สังฆทานถูกแปรรูป แปรเจตนาไปเยอะ มีการจัดชุดสังฆทานขายอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ต้องการบุญแบบแดกด่วน หวังกำไรมาก ไม่คิดถึงบาปบุญ จนกลายเป็นปัญหาขึ้นมาทั้งคนทำบุญและสงฆ์ที่รับทานคุณบารมี ไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตตราดอกบัว ย่านรังสิต เดี๋ยวนี้แทบทุกห้างมีแผนกนี้ล่ะ “แผนกเครื่องสังฆภัณฑ์” บารมีเตรียมหาของไปทำบุญวันเข้าพรรษา เห็นป้ายโฆษณาขายชุดถังสังฆทานใส่ในถังพลาสติกใบเหลืองเล็ก ขนาดพอหิ้วดูเก๋ไก๋ แกว่งไปมาได้ไม่เจ็บข้อมือ “ซื้อ 1 แถม 1” ราคา 155 บาท“โอว พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ...ได้บุญมาก ราคาไม่แพง แถมยังแบ่งกับเพื่อนได้อีกถัง” บารมีเห็นหนทางนิพพานของตัวเองทันที หิ้วถังสังฆทาน 2 ใบ ไปที่ทำงาน เห็นพลาสติกใสหุ้มสิ่งของจนล้นปากถังเลยอยากรู้ว่ามีอะไรอยู่บ้างดูซะล้นถังอย่างนั้น ชวนเพื่อนที่จะเป็นคู่บุญกันมาแกะดูสิ่งของที่อยู่ในถัง ขาดเหลืออะไรจะได้ซื้อเพิ่มเติมได้รายการของที่มีอยู่ในทั้งสองถังเหมือนกันเด๊ะ คือ ยาหอม 1 ถุง คงเข้าใจว่าพระเป็นลมบ่อยเลยใส่เข้ามา ชาจีน 1 กล่อง ถือเป็นมาตรฐานสังฆทานต้องมีชาจีน ชาเก๊กฮวย 1 กล่อง เผื่อพระไม่ชอบชาจีน น้ำส้มผสม 1 ขวด เผื่อให้พระเวลาสวดเวลาเทศน์เสียงจะได้สดได้ใส เกลือ 1 ถุง อาจจะเอาไว้ให้พระใส่เติมเพิ่มรสชาติน้ำชา น้ำส้ม ขันน้ำพลาสติกสีเหลือง 1 ใบ มีความบางจนน่าจะเขียนคำเตือนว่า “อย่าตักน้ำแรงเดี๋ยวขันแตก” และของที่ใหญ่ที่สุด สูงที่สุดซึ่งอยู่ก้นถัง และเป็นตัวการสำคัญที่ทำของดูพอกพูนจนล้นถัง มันคือ กระดาษชำระเนื้ออย่างเลว 1 ห่อ พิจารณาดูเนื้อกระดาษแล้ว หากนำไปเช็ดก้นเป็นประจำก็อาจทำให้เป็นริดสีดวงทวารได้ ว่างั้นเหอะ รวมกับถังพลาสติกใบเล็ก 1 ใบที่ใช้ใส่สิ่งของรวมเป็นชุดสังฆทาน 1 ชุดทั้งหมด ราคา 155 บาทแถมอีก 1 ถัง“ถึงว่าทำไมขายลดราคาได้” บารมีเริ่มตรัสรู้แต่เอ๊ะ...น้ำส้ม ทำไมวันหมดอายุไม่เหมือนกัน บารมีกับเพื่อนช่วยกันดู แล้วก็นะจังงัง เพราะน้ำส้มที่อยู่ในถังสังฆทานใบหนึ่ง มันหมดอายุไปเป็นเดือนแล้ว“ยังดีนะที่ไม่ได้เอาไปถวายพระ ไม่งั้นคงบาปแย่ เพราะนำของหมดอายุไปถวาย” บารมีรำพึงกับเพื่อนสรุปว่า วันเข้าพรรษาครานั้นบารมีและเพื่อนต้องไปหาซื้อของจัดชุดสังฆทานเพื่อถวายพระกันใหม่ ส่วนชุดสังฆทานที่ซื้อมาแล้วก็ต้องหิ้วมาร้องเรียนกันที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาสังฆทานจัดชุดแล้วนำมาขายให้ชาวพุทธเกิดปัญหาบ่อยมาก เพราะเป็นการนำสินค้าหลายชนิดมาบรรจุหุ้มห่อรวมกัน สินค้าบางชนิดที่นำมารวมนั้นโดยเฉพาะจำพวกอาหารการกิน มีกำหนดอายุหรือเวลาที่ควรใช้ แต่คนที่ซื้อก็ไม่รู้ว่ามันหมดอายุหรือเปล่าเพราะถูกหุ้มห่อไว้ด้วยพลาสติกใสใส่ในถัง ผู้ผลิตที่แย่ๆ บางรายก็ชอบเอามาซุกมาห่อรวมกันขาย อีกปัญหาคือความไม่ลงรอยของสินค้าที่ถูกยัดใส่ในถังรวมกัน ชอบทำปฏิกิริยาหาเรื่องใส่กัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนสี กลิ่น หรือรส จนมาสร้างความซวยให้กับพระสงฆ์องค์เจ้าให้ท้องไส้ปั่นป่วนได้ ที่สำคัญตัวสินค้าในชุดสังฆทานน่ะต้นทุนไม่เท่าไหร่แต่ค่าจัดชุดสังฆทานนี่สิแพงที่สุดร่วม 30-40%ของราคาสินค้าทั้งหมด แถมของที่จัดมาพระสงฆ์ไม่ได้ใช้เลย เพราะเป็นของไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณภาพคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงออกประกาศให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ประกาศเมื่อปี 2550 ใครจะขายต้องมีการแสดงฉลากแสดงรายละเอียดของรายการสินค้า ที่ระบุขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก จำนวน และราคาของสินค้าแต่ละรายการ ต้องแสดงชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ต้องแสดงวันเดือนปีที่หมดอายุ หรือวันเดือนปีที่ควรใช้ก่อน ของสินค้าใดสินค้าหนึ่งที่นำมารวมนั้นระบุว่าเร็วที่สุด ต้องระบุวันเดือนปีที่บรรจุ และราคารวมชุดจัดบรรจุระบุหน่วยเป็นบาทประกาศฉบับนี้ยังควบคุมไปถึงปัญหาสินค้าที่อยู่ในชุดสังฆทานจะทำปฏิกิริยากันจนทำให้มีสี กลิ่น หรือรสเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่พระสงฆ์ หรือผู้บริโภคได้ จึงให้มีการระบุคำเตือนในฉลาก ด้วย เช่น ใบชา ข้าวสาร สบู่ และผงซักฟอก อาจทำปฏิกิริยากัน จนทำให้มีสี กลิ่น หรือรสเปลี่ยนแปลงไปซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคเนื่องในการใช้หรือโดยสภาพของสินค้านั้นได้ ดังนั้น ผู้ใช้ควรแยกสินค้าที่อาจทำปฏิกิริยากันได้นั้นออกจากกันโดยเร็ว แม้จะเป็นคำเตือนที่ดูแปลกๆ เพราะหากสินค้ามันจะเกิดปฏิกิริยากันมันก็สามารถเกิดได้ตั้งแต่ตอนวางขายอยู่ในห้างแล้ว แม้จะแยกกันออกมาภายหลัง สี กลิ่น หรือรส ที่เปลี่ยนแปลงไปก็คงไม่สามารถเรียกกลับคืนได้ง่าย สุดท้ายก็ต้องทิ้งของนั้นไป แต่ก็ถือว่าเป็นความพยายามของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้ามาควบคุมดูแลการขายชุดสังฆทานจากที่ไม่เคยมีมาก่อนตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 52 ได้กำหนดโทษไว้ว่า ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายสินค้าที่มีฉลากที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก(ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) สั่งเลิกใช้ โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าการกระทำข้างต้นเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในประเทศเพื่อขาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วยโทษที่สูงเอาการ เราจึงแนะนำให้ผู้ร้องเรียนไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เพื่อเป็นหลักฐานก่อน ยังไม่ต้องแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ และมีจดหมายเชิญตัวแทนห้างดอกบัวในฐานะผู้ขายสินค้ามาเจรจาเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภค ผลการเจรจาทางห้างยินยอมเยียวยาความเสียหายให้เป็นจำนวนเงิน 15,000 บาท  ซึ่งผู้ร้องยินดีรับค่าเยียวยาความเสียหายและไม่ติดใจเอาความใดๆ ส่วนห้างเมื่อต้องจ่ายค่าเสียหายไปแล้ว ก็เดินหน้าเช็คบิลเอาผิดกับผู้ผลิตชุดสังฆทานต่อไป โดยจะทำการตรวจสอบสินค้าและหากพบว่าสินค้าที่อยู่ในชุดสังฆทานหมดอายุจริง ก็จะให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการฟ้องร้องกับบริษัทผู้ผลิตชุดสังฆทาน ขณะที่ผู้ร้องเรียนก็ยินยอมที่จะเป็นพยานในชั้นศาลอีกด้วย   กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 52 ได้กำหนดโทษไว้ว่า ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายสินค้าที่มีฉลากที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก(ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) สั่งเลิกใช้ โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำข้างต้นเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในประเทศเพื่อขาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 ชอบของจัดโปรโมชั่น ระวังสินค้าหมดอายุ

“ซื้อ 1 แถม 1” ถือเป็นข้อความโดนใจของนักช้อป ถ้าเจอโปรโมชั่นแบบนี้จากของที่ไม่เคยซื้อเคยกินก็ต้องเปลี่ยนใจรีบซื้อทันที เป็นกลยุทธ์การขายที่ใช้ได้ดีมาตลอดสานีต้องหยุดเดินทันทีเมื่อเห็นป้าย “ซื้อ 1 แถม 1” ของเครื่องดื่มนมผสมงาดำ เนเจอร์อัพสูตรบิวตี้ไซน์ ในบิ๊กซีซูเปอร์มาร์เก็ตย่านราชดำริ พอดูรายละเอียดแล้วยิ่งน่าสนใจใหญ่เพราะไม่ใช่แค่ซื้อกล่องแถมกล่อง แต่แถมเป็นแพ็คเลย แพ็คละ 3 กล่องจัดวางกันเป็นคู่ขาย 36 บาท ประหยัดตั้ง 18 บาท แต่วันนั้นสานีดีใจสุดๆ หยิบมา 4 แพ็ค จ่าย 72 บาท ในใจคิดได้ฟรี 2 แพ็คประหยัดไปตั้ง 36 บาทแน่ะพอกลับมาถึงบ้านก็จับกล่องเจาะดื่มเลย ปรากฏว่านมรสชาติออกแนวเสียๆ บ้วนทิ้งแทบไม่ทัน เลยต้องตรวจสอบฉลากขนานใหญ่ พบ 2 แพ็คที่ติดมาเป็นของแถมฉลากแสดงวันที่หมดอายุมันผ่านเลยมาแล้วร่วมเดือน จึงนำเรื่องนี้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ แต่ยังชั่งใจไม่ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการรับทราบ เพราะคิดว่าห้างคงไม่ได้ตั้งใจหลอกขายสินค้าให้ผู้บริโภคต่อมาอีกวัน ไปที่ห้างเดิมไปซื้อไก่สดมาปรุงอาหาร ยี่ห้อ KCF ของบริษัท เกษมชัยฟาร์มกรุ๊ป จำกัด พอนำกลับมาถึงบ้านเพิ่งสังเกตฉลาก อั๊ยย่ะ หมดอายุไปแล้ว 3 วัน ตัดใจต้องทิ้งลงถังขยะไม่กล้าฝืนใจนำไปทำอาหาร “โอ้ย...ทำไมฉันถึงซวยอย่างนี้” แนวทางแก้ไขปัญหาสานีแบกเอาปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องสองวันติดกันและเกิดจากห้างเดียวกันมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อเราตรวจสอบข้อเท็จจริงกันแล้วเห็นว่า แม้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารจะมีการแสดงฉลากของอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 194 พ.ศ.2543 ครบถ้วน แต่การนำมาจำหน่ายหลังวันหมดอายุไปแล้วทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารเข้าลักษณะไม่ปลอดภัยในการบริโภค มีสรรพคุณไม่เป็นที่เชื่อถือ หรือมีคุณค่าหรือคุณประโยชน์ต่อร่างกายในระดับที่ไม่เหมาะสม ซึ่งผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 25(4) ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ได้ มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิของผู้บริโภคโดยตรงและผู้ประกอบการได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้เชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาเจรจาเพื่อพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค ผลของการเจรจาห้างบิ๊กซีตกลงให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคเป็นเงิน 10,000 บาทผู้บริโภคยอมรับ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอขอบพระคุณห้างบิ๊กซีที่ใส่ใจในการปกป้องสิทธิของผู้บริโภคอย่างจริงใจ และได้นำปัญหาข้อร้องเรียนไปพัฒนาปรับปรุงการบริการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 เหตุผลที่ “สก๊อต” ไม่แสดงวันหมดอายุ

 คุณพรทิพย์ร้องเรียนมาว่า เครื่องดื่มสกัดเข้มข้น สก๊อต เพียวเร่ แสดงฉลากระบุเฉพาะวันที่ผลิต แต่ไม่มีการระบุวันหมดอายุหรือวันที่ควรบริโภคก่อน และการระบุวันที่ผลิตบนฉลากผลิตภัณฑ์บางส่วนพิมพ์ทับอยู่บนรูปภาพเครื่องหมายทางการค้า ขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยตรวจสอบให้ด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหามูลนิธิฯ ได้มีหนังสือแจ้งข้อร้องเรียนข้างต้นไปถึงผู้ประกอบการคือ บริษัท สก๊อต อินดัสเตรียล(ประเทศไทย) จำกัด และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)บริษัท สก๊อตฯ มีหนังสือตอบกลับมาว่า บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ.2543 เรื่องฉลาก ข้อ 11.2 (ตามจริงคือ ข้อ 3(11.2)) กล่าวคือ  แสดง เดือนและปีที่ผลิต หรือ วันเดือนและปีที่หมดอายุการบริโภคสำหรับอาหารที่เก็บไว้ได้เกิน 90 วัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ เข้าข่ายตามข้อกำหนดดังกล่าว จึงเลือกระบุเฉพาะเดือนและปีที่ผลิตลงบนฉลากผลิตภัณฑ์ ส่วนตัวเลขด้านหลังที่ต่อจากเดือนและปีที่ผลิตตามที่ผู้บริโภคร้องเรียนมาว่า เลือนรางนั้น เป็นตัวเลขแสดงรหัสสินค้าการผลิตสำหรับใช้ตรวจสอบภายในบริษัทฯ เท่านั้น ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า สำนักงานฯ(อย.) ขอความร่วมมือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีตรวจสอบสถานที่ผลิตบริษัทสก๊อตฯ พบว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มพรุนสกัดเข้มข้น ตราสก๊อตเพียวเร่ และเครื่องดื่มตราสก๊อตเพียวเร่ เท็นเบอร์รี่ ที่ฉลากไม่มีระบุวันเดือนปีที่หมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน และวันที่ผลิตมีการระบุไว้แต่ไม่ชัดเจน เนื่องจากพิมพ์ทับบนตราสินค้า แต่อาหารประเภทเครื่องดื่มสกัดเข้มข้น มิได้มีกฎหมายบังคับให้ต้องแสดงวันหมดอายุ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี จึงได้มีหนังสือขอความร่วมมือกับทางบริษัทฯ ให้แสดงวันหมดอายุบนฉลากผลิตภัณฑ์ และแสดงวันที่ผลิตให้ชัดเจน เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคสรุปว่า อาหารที่เก็บไว้ได้เกิน 90 วัน ตามกฎหมายปัจจุบันไม่จำเป็นต้องแสดงวันหมดอายุก็ได้ จะบังคับเฉพาะอาหารที่เก็บได้ไม่เกิน 90 วันเท่านั้นที่ต้องแสดงวันหมดอายุบนฉลาก คำถามคือว่า แล้วชาวบ้านธรรมดาๆ เขาจะรู้ไหมนะว่า อาหารไหนเก็บได้เกินหรือไม่เกิน 90 วัน อันที่จริงหากจะเก็บได้เกิน 90 วัน ก็ควรจะมีขอบเขตอายุการขายอยู่บ้างน่าจะดีกว่ากระมัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 ร้องข้าวเกรียบโครงการหลวง ฉลากวันหมดอายุซ้อนทับ

คุณพชร ซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบโครงการหลวง สูตรแครอท ที่ร้านโครงการหลวง สาขาคิงพาวเวอร์ สนามบินสุวรรณภูมิ“ราคาห่อละ 25 บาทครับ ก็เปิดถุงมานั่งกิน ระหว่างนั่งกินก็ดูรูปประกอบ ดูข้อมูลต่างๆ ที่แสดงอยู่ตามข้างถุงไปเรื่อย ผมมาสะดุดมือสะดุดตาตรงสติ๊กเกอร์ที่แปะแสดงวันผลิต วันหมดอายุครับ แกะออกมาดูมันมี 2 อันแปะทับกันอยู่”สติ๊กเกอร์อันบนระบุวันผลิตไว้ที่ 05/12/54 วันหมดอายุ 05/01/55 ส่วนอันที่ถูกแปะทับปิดไว้ ระบุวันผลิตเป็นวันที่ 25/11/54 วันหมดอายุ 25/12/54 วันที่คุณพชรซื้อข้าวเกรียบห่อนี้นั้นคือวันที่ 10 ธันวาคม 2554“ถึงแม้ว่าจะยังไม่ถึงวันหมดอายุที่ระบุไว้ทั้งสองฉลากก็ตาม แต่ก็ทำให้ผมไม่แน่ใจว่าแล้ววันผลิตวันหมดอายุที่แท้จริงคือวันไหนกันแน่”นอกจากนี้ คุณพชร ยังสังเกตพบว่า มีการนำสติ๊กเกอร์ที่มีคำว่าสูตรแครอท มาแปะทับบนบรรจุภัณฑ์แต่ว่าไม่มีการระบุรายละเอียดในส่วนประกอบหลังบรรจุภัณฑ์ว่ามีแครอทผสมในสัดส่วนเท่าไหร่“ผมว่าการแสดงฉลากแบบนี้เป็นการหลอกลวงผู้บริโภค อยากจะให้มูลนิธิฯ ช่วยประสานไปยังผู้ผลิตให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหานี้ด้วยครับ” แนวทางแก้ไขปัญหา ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 การที่อาหารที่มีฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต ถือว่าเป็นอาหารปลอม ห้ามผลิตหรือจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาทด้วยการกระทำที่อาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามข้อกฎหมายดังกล่าว มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือร้องเรียนไปยัง มูลนิธิโครงการหลวงในฐานะผู้ผลิตสินค้า และบริษัท คิงพาวเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ในฐานะผู้จำหน่าย ให้ช่วยกันตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นและได้พิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคตามสมควรไม่นานมูลนิธิโครงการหลวง ได้มีหนังสือชี้แจงตอบกลับมา โดยมีข้อชี้แจงที่สำคัญดังนี้ประเด็นที่ 1 การนำสติ๊กเกอร์วันผลิตแปะทับกันเนื่องจากพนักงานติดสติ๊กเกอร์วันผลิต (25/11/54) ที่ถุงในจำนวนที่เผื่อไว้ เมื่อถึงรอบการผลิตชุดใหม่ (05/01/55) พนักงานไม่ได้แกะสติ๊กเกอร์อันเดิมออกจากถุงที่เผื่อไว้ แต่แปะสติ๊กเกอร์อันใหม่ทับไป ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดว่าผู้ผลิตนำสินค้าเก่ามาติดวันผลิตใหม่ ซึ่งระบบการผลิตนั้น ผู้ผลิตจะทำการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าเท่านั้น โดยไม่มีการผลิตสินค้าสต๊อกไว้ จึงไม่มีสินค้าที่เป็นชุดการผลิตเก่าส่งจำหน่ายให้ลูกค้า อนึ่งทางผู้ผลิตได้ทำการตักเตือนพนักงาน รวมทั้งอบรมกระบวนการทำงานให้พนักงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจถึงกระบวนการทำงานที่ถูกต้อง เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีกประเด็นที่ 2 การนำสติ๊กเกอร์ที่มีคำว่า สูตร Carrot มาติดที่บรรจุภัณฑ์เนื่องจากผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบโครงการหลวงมีทั้งหมด 3 สูตร คือ สูตรแครอท สูตรฟักทอง และสูตรเห็ดหอม ซึ่งการผลิตถุงอลูมิเนียมฟอยด์นั้นจำเป็นต้องสั่งซื้อจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ผลิตจึงใช้บรรจุภัณฑ์แบบเดียวกันในการบรรจุผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบทั้ง 3 สูตร แต่จะมีสติ๊กเกอร์ที่มีการระบุสูตรติดไว้ด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ เพื่อเป็นการควบคุมต้นทุนการผลิต ซึ่งการใช้บรรจุภัณฑ์แยกชนิดกันนั้นจะทำให้ผู้ผลิตมีต้นทุนในการทำบล๊อกพิมพ์ และต้นทุนในการสั่งผลิตบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า ทั้งนี้ส่วนประกอบที่แจ้งในบรรจุภัณฑ์นั้นเป็นส่วนประกอบจริงของผลิตภัณฑ์ เช่น สูตรแครอท ในส่วนประกอบระบุว่า มีผลิตผลโครงการหลวง 36% ความหมายคือ มีแครอทเป็นส่วนประกอบอยู่ 36% หรือ สูตรฟักทอง ในส่วนประกอบระบุว่ามีผลิตผลโครงการหลวง 36% ความหมายคือ มีฟักทองเป็นส่วนประกอบอยู่ 36% เป็นต้น ดังนั้นผู้ผลิตจะให้พนักงานขายชี้แจงให้ลูกค้าทุกรายเข้าใจถึงส่วนประกอบของผลิตผลโครงการหลวง“ฝ่ายตลาด มูลนิธิโครงการหลวง ขอขอบพระคุณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคุณพชร เป็นอย่างสูงที่ได้แจ้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ทางมูลนิธิฯ(โครงการหลวง)ได้รับทราบ ซึ่งทางมูลนิธิฯ(โครงการหลวง) จะนำไปปรับปรุงต่อไป สำหรับการพิจารณาเยียวยาในความเสียหายแก่ผู้ร้องนั้น ทางมูลนิธิโครงการหลวงจะขอมอบกระเช้าเป็นการตอบแทนในคำแนะนำ และขอโทษที่ทำให้คุณพชร เข้าใจผิด...”คุณพชรมีความพึงพอใจในคำชี้แจงและการดำเนินการที่ได้รับ ส่วนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ขอบพระคุณมูลนิธิโครงการหลวงเป็นอย่างสูงต่อการใส่ใจในปัญหาของผู้บริโภคในครั้งนี้    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ห้างใหญ่หนีอาญาขายของหมดอายุยอมชดใช้ผู้บริโภค

 “ฮัลโหล...มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคใช่ไหมคะ”“ค่ะ ใช่ค่ะ ไม่ทราบว่ามีปัญหาอะไรจะร้องเรียนคะ”“ชื่อสุนีย์นะคะ คืออย่างงี้ค่ะ ตอนนี้กำลังยืนเรียกค่าเสียหายจากทางห้างอยู่ เพราะเขาเอาของหมดอายุมาขายให้เรา เราจะเรียกค่าเสียหายกับเขาได้ไหมคะ”พอได้ยินคำถาม เจ้าหน้าที่รับเรื่องของเราถึงกับตื่นเต้น ก็ไม่ให้ตื่นเต้นได้ไงเจอผู้บริโภคที่รักษาสิทธิของตัวเองเต็มที่อย่างนี้ไม่ได้หาได้ง่ายๆ และเป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ จึงค่อยๆ ปล่อยคำถามหารายละเอียดออกไป “ไหนช่วยเล่ารายละเอียดหน่อยนะคะว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงต้องคิดเรียกค่าเสียหายกับเขา” แล้วคุณสุนีย์ก็เล่าเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเอง เธอบอกว่าตอนนี้กำลังอยู่ที่ห้างตราดอกบัว สาขาแจ้งวัฒนะ เพื่อมาเรียกร้องค่าเสียหายกับทางห้าง เป็นค่ารถ ค่าเสียเวลา รวมเป็นเงิน 500 บาท ซึ่งก่อนหน้าที่จะมายืนเรียกค่าเสียหายนั้น ประมาณสัก 4-5 วันที่ผ่านมาคือวันที่ 6 มิถุนายน 2552คุณสุนีย์ได้มาซื้อสินค้าประเภทอาหารที่ห้างแห่งนี้แล้วนำกลับไปรับประทานที่บ้าน แต่เมื่อมาตรวจดูสินค้าพบว่าสินค้าหมดอายุไปแล้วเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552 คุณสุนีย์เห็นว่าไม่เป็นธรรมจึงขับรถกลับมาร้องเรียนเรียกค่าเสียหาย “ตอนนี้กำลังรอทางห้างเขาตัดสินใจอยู่ว่าจะเอาไง” แนวทางแก้ไขปัญหา ตามกฎหมายอาหารที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เป็นผู้ดูแลอยู่ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารหมดอายุที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ จะเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ อาจถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และหากพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับถึง 3 หมื่นบาท ผู้บริโภคที่พบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารหมดอายุ หากต้องการให้มีการดำเนินคดี ให้แจ้งไปที่สายด่วน อย.โทร.1556 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดแต่สำหรับคุณสุนีย์ต้องการเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 500 บาทเพื่อเป็นค่ารถค่าเสียเวลาที่มาซื้อของหมดอายุ ท้ายสุดห้างซูเปอร์สโตร์แห่งนี้ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 500 บาทตามที่ผู้บริโภคเรียกร้อง นับเป็นการใช้สิทธิและบทลงโทษกับผู้ประกอบการด้วยฝีมือผู้บริโภคชั้นเยี่ยม ขอปรบมือให้ 40 แปะ!  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 หมูยืดอายุ พรานทะเล ยอมจ่ายหนึ่งหมื่นชดใช้ผู้บริโภค

จากกรณีร้องเรียนเรื่อง “หมูยำพรานทะเล หมดอายุแล้วยังต่ออายุได้” ซึ่งตีพิมพ์ในฉลาดซื้อฉบับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บัดนี้มีข้อยุติแล้ว หลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังสือไปถึงบริษัท พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่นซิสเต็ม จำกัด ผู้ประกอบการห้างเทสโก้โลตัส เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2552 ผู้บริหารของบริษัท พรานทะเลฯ ได้มีหนังสือชี้แจงแสดงความรับผิดชอบตอบกลับมาใจความสรุปได้ว่า บริษัทฯ ได้เคยเสนอชดใช้ค่าเสียหายเพื่อเยียวยาข้อบกพร่องในการบรรจุสินค้าเป็นเงิน 5,000 บาทกับผู้ร้อง ซึ่งคิดเป็นเงิน 100 เท่าของมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อไป (ยำ 2 แพ็ค รวมมูลค่า 40 บาท) และชี้แจงเรื่องคุณภาพของอาหารว่า ปลอดภัยเพื่อให้ผู้ร้องเข้าใจความผิดพลาดในกระบวนการบรรจุว่าเนื้อหมูแดงดังกล่าวยังไม่หมดอายุแต่สามารถรับประทานได้เนื่องจากผ่านกระบวนการถนอมสภาพด้วยวิธีแช่แข็งทำให้เก็บได้นาน 18 เดือน แต่ซองบรรจุระบุวันหมดอายุก่อนเพราะแต่เดิมผลิตแบบซีล(แช่เย็น) ซึ่งเก็บไว้ได้นาน 15 วัน ผู้บริหารของบริษัท พรานทะเล ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ต่อมาผู้ร้องได้โทรศัพท์ติดต่อบริษัทฯ ขอค่าเสียหายเป็นเงิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นเงินสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อไปมากหลายเท่า บริษัทฯ จึงได้ต่อรองขอให้ผู้ร้องมารับค่าเสียหายไปจำนวน 10,000 บาท แต่ผู้ร้องปฏิเสธ...บริษัทฯ จึงเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความเป็นธรรมและให้ช่วยประสานงานให้ผู้ร้องมารับเงินซึ่งบริษัทยินดีชดใช้เยียวยาค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท มูลนิธิฯจึงได้มีหนังสือสอบถามไปยังผู้ร้องว่า ยินดีที่จะรับเงินเยียวยาความเสียหายตามที่บริษัทฯเสนอมาหรือไม่ ได้รับคำตอบจากผู้ร้องว่ายินดีและพร้อมที่จะถอนแจ้งความบริษัทด้วย ในที่สุดทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายผู้บริโภคกับฝ่ายเจ้าของสินค้าได้ไปส่งมอบเงินกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สถานีตำรวจภูธรบางเสาธง สถานีย่อยในนิคมเมืองใหม่บางพลี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2552 เรื่องนี้ถือเป็นตัวอย่างของผู้บริโภคที่ไม่มองข้ามปัญหาที่บางคนอาจเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับผู้บริโภครายนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และใช้สิทธิร้องเรียนโดยทันที จนได้รับการเยียวยาความเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจโดยที่ไม่ต้องฟ้องร้องกัน ในขณะเดียวกันต้องขอชมเชยบริษัทพรานทะเลฯ ที่ผิดแล้วก็ยอมรับในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคโดยรวดเร็ว งานนี้ขอปรบมือดัง ๆ ให้กับทั้งสองฝ่าย มีข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่จะใช้สิทธิร้องเรียนเมื่อพบอาหารไม่ปลอดภัย หรือติดฉลากไม่ตรงตามความเป็นจริง สิ่งที่ควรทำคือให้เร่งดำเนินการคือการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการถ่ายรูป มีพยานบุคคล หรือการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานโดยทันทีเพื่อป้องกันการถูกกล่าวหาว่าเป็นการร้องเรียนที่มีเจตนาไม่ชอบ และประสานไปยังผู้ขายหรือผู้ผลิตให้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่นอาจให้มาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน และควรมีการเรียกค่าเสียหายที่ชัดเจนตามสมควร หากผู้ขายหรือผู้ผลิตไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ถ้าต้องการเรียกค่าเสียหายสามารถร้องเรียนมาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งจะช่วยเหลือทั้งการเจรจาและการช่วยเขียนคำฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ ส่วนความผิดในทางอาญานั้นหากเป็นอาหารสำเร็จรูปคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ โทษส่วนใหญ่ที่ผู้ประกอบการได้รับคือการถูกปรับเป็นเงินเข้ารัฐทั้งหมด ส่วนผู้เสียหายอาจได้เงินค่าสินบนนำจับจำนวนหนึ่งหลังจากคดีเสร็จสิ้น ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นข่าวจาก อย. ว่าได้จ่ายเงินสินบนนำจับกับผู้แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนแต่ละปีเป็นเงินเท่าไหร่ ถ้าเป็นไปได้ขอให้ช่วยลงประกาศในเว็บไซต์ของ อย. ก็ยังดี ชาวบ้านจะได้ตื่นตัวช่วยกันเฝ้าระวังสินค้าไม่ปลอดภัยอย่างมีชีวิตชีวา  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 หมูยำพรานทะเล หมดอายุแล้วยังต่อได้

เรื่องนี้เหตุเกิดขึ้นที่ห้างเทสโกโลตัส สาขาซิตี้พาร์ค บางพลี เวลาประมาณสองทุ่มของวันที่ 12 มกราคม 2552 คุณปานกับแฟนหนุ่มได้ไปเดินหาซื้ออาหาร เดินกันสักพักใหญ่มาประสบพบเจอกับชุดยำหมูกึ่งสำเร็จรูปของพรานทะเลวางจำหน่ายอยู่ เห็นป้ายแจ้งว่า ลดราคาเพียงแค่ชุดละ 20 บาท ไม่รอช้าสายตากวาดไปที่ป้ายราคาเพื่อมองหาวันผลิต-วันหมดอายุ ตามคำแนะนำของ อย. โดยทันที ฉลากระบุวันผลิตเป็นวันที่ 12 มกราคม 2552 มีวันหมดอายุถัดไปอีก 2 วันคือคือวันที่ 14 มกราคม 2552 เห็นแล้วมั่นใจว่า “ยังสดใหม่” คุณปานกับแฟนหนุ่มจึงตัดสินใจหยิบใส่ตะกร้า 2 ชุดทันทีเพื่อนำไปแบ่งรับประทานคนละชุด กลับมาถึงบ้านยัดใส่ตู้เย็นไว้ก่อน มาเปิดอีกทีก็เข้าวันที่ 14 มกราคม เพราะเกรงว่าของจะหมดอายุเสียก่อน ความจริงถึงได้ปรากฏ เพราะเมื่อแกะห่อชั้นนอกก็พบห่อชั้นในที่เป็นห่อเนื้อหมูแดงที่จะใช้ทำยำ มาตกใจกับป้ายฉลากของพรานทะเลที่ระบุวันผลิตวันหมดอายุอีกชิ้นหนึ่งแปะอยู่บนซองเนื้อหมูแดง เพราะระบุวันที่ผลิตเป็นวันที่ 17 กันยายน 2551 และวันหมดอายุเป็นวันที่ 2 ตุลาคม 2551 “ตายแล้ว นี่มันหมดอายุไปตั้ง 3 เดือนแล้วนี่” คุณปานอุทานกับตัวเองด้วยความตกใจ พร้อมกับหยิบเปลือกห่อด้านนอกที่ฉลากเป็นของห้างเทสโกโลตัสมาดูอีกที.... วันที่ผลิต วันที่หมดอายุไม่ตรงกันจริงๆ คุณปานจึงโทรไปต่อว่าที่โลตัส พนักงานรับสายบอกว่า “มันเป็นของพรานทะเลไม่ใช่ของโลตัส” เจอคำตอบแบบนี้ไฟที่แค่คุก็ลุกเป็นเพลิงทันที เพราะเป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบชัดๆ คุณปานจึงจูงมือแฟนหนุ่มในฐานะพยานไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานกับสถานีตำรวจท้องที่ ก่อนจะย้อนกลับไปยื่นสำเนาใบแจ้งความที่ห้างโลตัสสาขาดังกล่าวในวันเดียวกับที่พบความผิดปกติของสินค้านั่นเอง วันรุ่งขึ้นจึงได้รับการติดต่อจากพรานทะเลเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมคำขอโทษ และได้รับอีเมล์ชี้แจงตอบกลับมาใจความสรุปได้ว่า “การที่ซองหมูแดงที่แพ็คอยู่ด้านในระบุวันหมดอายุวันที่ 2 ตุลาคม 2551 แต่ที่แพ็คของสินค้ายำระบุวันหมดอายุวันที่ 14 มกราคม 2552 นั้น เกิดจากพนักงานบรรจุสินค้าเป็นพนักงานใหม่ทำให้หยิบสินค้าสลับแพ็ค โดยนำหมูแดงที่ใช้สำหรับจัดเป็นชุดชิมรสชาติมาใส่เป็นชุดยำ ที่มาของหมูแดงชุดนี้ เดิมเป็นสินค้าที่ตั้งใจผลิตแบบ chilled หรือหมูสดแช่เย็น เพื่อนำไปขายในร้านสะดวกซื้อ มีอายุการเก็บ 15 วัน และมีสินค้าเหลือจากยอดสั่งเกิดขึ้นจำนวนหนึ่ง ทางพรานทะเลจึงนำไปผ่านกระบวนการ freeze หรือแช่แข็งเพื่อยืดวันหมดอายุออกไป พรานทะเลอ้างว่าเก็บได้นานถึง 18 เดือน แต่ไม่ได้มีการแก้ไขวันผลิตและวันหมดอายุ เนื่องจากตั้งใจใช้หมูแดงเหล่านี้จัดเป็นชุดสำหรับให้ชิมรสชาติเท่านั้น ไม่คิดจะเอามาใส่ลงในชุดยำ” จากคำชี้แจงทำให้คุณปานและแฟนหนุ่มถึงกับอึ้ง แม้ว่าพรานทะเลจะแจ้งว่าได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคุณปาน แฟนหนุ่ม รวมถึงผู้บริโภครายอื่นที่หลงซื้อสินค้าเพราะคิดว่าใหม่สดตามฉลากที่แจ้ง ทั้งเทสโกโลตัสและพรานทะเลยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนใดๆ คุณปานจึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เป็นลักษณะของการนำอาหารที่ไม่สดแล้วมาแสดงฉลากว่าเป็นอาหารสดใหม่ ถือเป็นแสดงฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในคุณภาพของผลิตภัณฑ์สินค้า ผู้ผลิต และผู้จำหน่าย อาจมีความผิดฐานผลิตและจำหน่ายอาหารปลอมตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปีและปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 10,000 บาท ซึ่งผู้เสียหายควรแจ้งความดำเนินคดี ส่วนการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนั้น มูลนิธิฯ ได้ส่งจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียนอยู่ในขณะนี้ หากไม่มีการจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียนตามสมควร ผู้ร้องเรียนสามารถมอบอำนาจให้มูลนิธิฯ ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่งครับ

อ่านเพิ่มเติม >