ฉบับที่ 141 ชวนลงทุนไม้กฤษณา ผลตอบแทนอาจต่ำกว่าที่คิด

ด้วยราคาอันสูงลิ่วของน้ำมันกฤษณา และมักมีข่าวการลักลอบตัดไม้กฤษณาถี่ขึ้นเรื่อยๆ จึงมีคนหัวใสตั้งบริษัทลงทุนปลูกไม้กฤษณาขึ้นมา ชวนคนมาร่วมระดมทุน นำเสนอผลตอบแทนแบบสูง แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับไม่เป็นอย่างที่คิดไม้กฤษณา เป็นสินค้าส่งออกราคาสูงของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 ...ในประเทศไทย บริษัท ทัชวู้ด ฟอร์เรสตรี จำกัด ได้รับอนุญาตจัดตั้งโรงงานกลั่นน้ำมันกฤษณา เพื่อการขายและการส่งออกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันจะส่งผลให้บริษัทฯ เป็นศูนย์กลางในการกลั่นน้ำมันไม้กฤษณาขนาดใหญ่ได้ในอนาคตด้วย...”เมื่อสัก 6 ปีที่แล้ว คุณอัฐวุฒ ได้เห็นข้อความโฆษณาชวนลงทุนปลูกต้นกฤษณาจากนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ชื่อดังฉบับหนึ่ง และบริษัทแห่งนี้ยังไปจัดบูธกิจกรรมตามห้างสรรพสินค้าใหญ่  ข้อความโฆษณาที่โดนใจเอามากๆ คือ ผลประโยชน์ทางการเงินจากการร่วมลงทุน แจ้งว่า ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ร่วมลงทุน ในระยะเวลา 6 ปี สามารถได้รับผลประโยชน์ถึง 230,000 บาท จากเงินลงทุนเพียง 82,000 บาท และสูงสุดถึง 3,680,000 บาท จากเงินลงทุน 1,173,000 บาท  ทำให้เขาซึ่งเป็นช่างภาพอิสระและเป็นคนรักธรรมชาติ คิดอยากจะเพิ่มรายได้จากเงินออมที่เก็บไว้ด้วยการเข้าร่วมลงทุนปลูกต้นกฤษณากับบริษัทแห่งนี้คุณอัฐวุฒเข้าทำสัญญาซื้อขายแปลงปลูกต้นไม้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2549 โดยเลือกโปรแกรมการลงทุนขนาดเล็กสุดคือ เนื้อที่ปลูก 25 ตารางวา กับไม้กฤษณาจำนวน 23 ต้น โดยวางเงินก้อนแรก 55,000 บาท และต้องจ่ายเป็นรายปีในปีต่อๆ มาอีกปีละ 5,500 บาทเป็นเวลา 5 ปี รวมเป็นเงินร่วมลงทุนทั้งสิ้น 82,500 บาท   ซึ่งบริษัทฯ ได้แสดงราคาผลตอบแทนทางการตลาดที่ผู้ร่วมลงทุนจะได้รับอยู่ที่ประมาณ 138,000-230,000 บาท โดยประเมินจากมูลค่าทางการตลาดของต้นกฤษณา ณ เวลาที่เก็บเกี่ยวคือ 10,000 บาทต่อต้น เวลา 6 ปีผ่านไปไวเหมือนฝัน หลังจากส่งเงินค่างวดไปจนครบ ตามสัญญาบริษัทบอกว่าจะตัดต้นไม้ในปีนี้ คุณอัฐวุฒนั่งดีดลูกคิดทันที ปลูกไว้ 23 ต้น ต้นละ 10,000 บาท จะได้เงิน 230,000 บาท ลงทุนไป 82,500 บาท   กำไร 147,500 บาท หาร 6 ปี เท่ากับว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 24,583 บาทเหมือนรู้ใจ...ไม่นานเกินรอ บริษัทฯ ได้ส่งเอกสารขออนุญาตตัดต้นไม้มาให้ พร้อมให้เซ็นชื่อรับเงิน ด้วยอารามดีใจจรดปากกาเซ็นรับเงินทันที พอเซ็นไปแล้วถึงเพิ่งเห็นจำนวนเงินที่บริษัทฯจะจ่ายให้ เป็นเงิน 138,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นผลตอบแทนขั้นต่ำสุดของการลงทุน ไม่รู้จะแก้ไขยังไงเพราะตัวเองเซ็นชื่อลงไปแล้ว ตอนหลังจึงโทรไปถามพนักงานดูแลของบริษัทฯ ว่า สภาพการปลูกต้นไม้เสียหายอะไรบ้างหรือเปล่า ทำไมถึงได้รับแค่นี้ พนักงานก็ตอบว่า ไม่มีความเสียหายใดๆ แม้แต่เรื่องของน้ำท่วมก็ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ปลูกคุณอัฐวุฒ ไม่รู้จะทำอย่างไรก็ได้แต่เลยตามเลย ส่งเอกสารพร้อมลายเซ็นยอมรับค่าตอบแทนจำนวนดังกล่าวกลับคืนให้บริษัทฯ มาขุ่นใจเพิ่มเติมตรงที่ว่า จะได้รับเงินต้องรออีก 3 เดือน พอมีเวลาว่างเลยคิดทบไปทบมาว่าเกิดอะไรขึ้น มีอะไรไม่ตรงไปตรงมาตรงไหน ตัวเองจะได้เงินหรือเปล่า สับสนวุ่นวายไปหมดท้ายที่สุดเลยส่งเรื่องมาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของสติเป็นสำคัญ ดีที่คุณอัฐวุฒไม่โลภมากเลือกลงทุนในโปรแกรมที่เล็กที่สุดก่อนกับธุรกิจที่ตัวเองไม่มีความสันทัด หรือมีข้อมูลประกอบในการตัดสินใจค่อนข้างน้อยในเอกสารของบริษัทฯ ที่แสดงเงื่อนไขการได้รับผลตอบแทน ให้ข้อมูลว่า ผลตอบแทนจะอิงกับราคารับซื้อคืนต้นไม้ที่ปลูก โดยราคารับซื้อคืน หมายถึง ถ้า ณ วันเก็บเกี่ยว ราคาตลาดของกฤษณาลดลงน้อยกว่าราคารับซื้อคืน บริษัทฯ จะจ่ายผลตอบแทนให้ไม่น้อยกว่าราคารับซื้อคืน โดยที่ทางบริษัทจะเป็นผู้ให้ข้อมูลความเคลื่อนไหวของการตลาด รวมทั้ง กำหนดเวลาการเก็บเกี่ยวของลูกค้าแต่ละราย กระบวนการเก็บเกี่ยว ทางบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด โดยจะแจ้งรายละเอียด ขนาด ข้อมูลของต้นไม้ น้ำหนัก ราคาโดยมีการคำนวณก่อนการตัดโค่น เพื่อให้ลูกค้าทราบล่วงหน้า และหลังการเก็บเกี่ยวไม่เกิน 30 วัน บริษัทฯ จะดำเนินการจ่ายคืนลูกค้าตามราคาตลาดเต็มจำนวนถ้าพูดกันแบบสั้น ราคาตลาดที่บริษัทว่ามา ก็คือราคาตลาดที่บริษัทกำหนดมานั่นเอง เพราะเป็นทั้งผู้ปลูก ผู้กำหนดจำนวนปลูก ผู้กำหนดเวลาปลูก ผู้กำหนดเวลาเก็บเกี่ยว ผู้เก็บเกี่ยวและวัดขนาด น้ำหนักของต้นไม้ และเป็นผู้จำหน่ายไม้กฤษณาด้วย จึงทำให้บริษัทเป็นผู้กุมข้อมูลสภาพการตลาดทั้งหมด      ดังนั้น ผู้ร่วมลงทุนจึงแทบไม่มีข้อมูลที่จะต่อรองได้เลย ซ้ำยังไม่มีความรู้พื้นฐานของการตลาดว่าจะไปเช็คตรวจสอบราคาตลาดเปรียบเทียบได้ที่ไหน ไม่เคยไปดูสภาพการเจริญเติบโตของต้นไม้ ไม่เคยเห็นขนาดของต้นไม้ที่ตนเองปลูกชัดๆ  ข้อมูลทุกอย่างบริษัทฯจัดทำให้ ผู้ร่วมลงทุนเป็นแต่เพียงผู้รับทราบข้อมูลที่บริษัทแจ้งมาเท่านั้น และที่สำคัญเมื่อเซ็นยินยอมรับในราคาแล้วก็ยากจะดึงกลับคืนมาได้มีจุดเดียวที่พอจะต่อสู้กันได้คือ การจ่ายเงินคืนลูกค้าเกิน 30 วัน จึงได้แนะนำให้ติดตามเงินผลตอบแทนที่บริษัทฯ ตกลงจะจ่ายให้อย่างใกล้ชิด ท้ายสุดคุณอัฐวุฒได้ถอนหายใจโล่งอกเมื่อได้รับเงินขั้นต่ำสุดในท้ายที่สุดในเวลาไม่นานนัก โดยได้กำไรเพิ่ม 55,500 บาทด้วยระยะเวลาลงทุน 6 ปี“เอาน่ะ ยังได้” คุณอัฐวุฒรำพึง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 โกงกันเห็นๆ

มีผู้ซื้อประกันภัยมากกว่า 3 ราย ได้ทำหนังสือร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีมุมที่น่าสนใจมาก เขาบอกว่าที่เขาตัดสินใจยอมเสียเงินทำประกันภัยไว้ก็เพื่อประกันความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยที่เขาไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด(จ่ายเพื่อความสบายใจ) โดยเฉพาะการที่ยอมเสียเงินเพิ่มทำประกันภัยรถยนต์ ประเภทประกันชั้น 1   ที่ต้องเสียเงินมากกว่า 10,000 บาทเพราะเห็นว่าสิทธิประโยชน์ตามสัญญาในกรมธรรม์ มีวงเงินจ่ายความเสียหายแต่ละครั้ง 10 ล้านบาท หากมีผู้เสียชีวิตจ่ายในวงเงิน 500,000 หรือ 250,000 บาทต่อราย(แล้วแต่ตกลงกันในสัญญา) และยังมีวงเงินสำหรับประกันตัวในกรณีที่มีคดีความอีกด้วยนับว่าการจ่ายเงินของเขาเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อเกิดเหตุขึ้นบริษัทประกันจะได้มารับภาระแทนเขาตามสัญญาที่ทำไว้ คือ 1. เมื่อเกิดเหตุก็มีคนจ่ายเงินให้ 2.เมื่อมีคดีความก็มีคนดูแลแต่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น คนที่มาร้องเรียนเขาบอกกับเราว่าเขาตัดสินใจทำประกันไว้กับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด     เพราะชอบที่โฆษณาที่ว่าเมื่อเกิดเหตุ   จะไปเร็ว เคลมเร็ว  แต่เมื่อเขาพลาดประสบเหตุเฉี่ยวชนคนตาย เขาต้องใช้เวลาโทรหาตัวแทนประกันนานมาก....  ต่างจากโฆษณาลิบลับ โทรไปที่บริษัทใหญ่ บริษัทฯ ก็ให้เบอร์สาขาโทรไปสาขา สาขาก็ให้เบอร์ตัวแทน  เรียกว่าเอาเข้าจริงที่โฆษณาไว้ก็ไม่จริง เพราะกว่าตัวแทนจะมาถึงก็เป็นชั่วโมงๆ(กว่าจะมาตำรวจลากรถไปไว้โรงพักแล้ว)เมื่อเขาต่อว่า ว่าไม่เห็นมาเร็วเหมือนโฆษณาเลย ก็ได้คำตอบจากตัวแทนว่า อ๋อนั่นเฉพาะในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดไม่เร็วหรอกเพราะคดีเยอะ มีเจ้าหน้าที่น้อย(แล้วทำไมตอนโฆษณาไม่บอกว่าเฉพาะกรุงเทพฯ อย่างนี้มันหลอกลวงกันชัดๆ) เมื่อตัวแทนมาถึงก็จดๆ ถ่ายรูป แล้วตำรวจก็นัดเจรจากันอีกครั้งโดยมีการกำหนดวันเวลาไว้ชัดเจนเมื่อถึงวันนัดคู่กรณีมาพร้อมขาดเพียงตัวแทนบริษัทประกัน ตำรวจบอกให้มาคุยกันต่อหน้าตำรวจเลยจะเอาอย่างไรก็ว่ามา เขาบอกว่าเขางงมาก เพราะไม่รู้จะเจรจาอย่างไร เขาไม่รู้อะไรเลย จริงๆ หน้าที่เจรจาต้องเป็นหน้าที่ของประกัน เขาบอกว่าเขาพยายามโทรหาตัวแทนอยู่หลายครั้ง เริ่มจากคนที่เคยคุยไว้ครั้งแรกก็ได้คำตอบว่าไม่ได้อยู่จังหวัดนี้ย้ายไปจังหวัดอื่นแล้ว และให้เบอร์ตัวแทนคนใหม่มา เขาก็โทรหาอีก คนที่รับสายบอกว่าไม่รู้เรื่อง เขาก็พยายามโทรหาบริษัท บริษัทก็บอกเดี๋ยวจะติดต่อสาขาให้แล้วให้เบอร์สาขามา โทรหาสาขา สาขาก็บอกว่าเดี๋ยวจะส่งตัวแทนไป(เหตุการณ์คุ้นไหม) ซึ่งขณะนั้นเขาอยู่ในสภาพที่ถูกกดดันมาก คู่กรณีก็นั่งจ้องหน้า ตำรวจก็เร่งให้เจรจาเพราะมีคดีอื่นรออยู่ ตัวแทนประกันที่เขาหวังพึ่งก็ยังไม่มา เขาถามตัวเองว่าเขาเสียเงินทำประกันไปทำไม? เมื่อมีปัญหาแล้วพึ่งไม่ได้เมื่อมีการเจรจาจริงคู่กรณีได้เรียกร้อง 700,000 บาท   เขาบอกว่าเขาอุ่นใจ เพราะเขาทำ พรบ.ไว้ 2 ส่วน คือ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ วงเงินที่จ่ายกรณีเสียชีวิต 200,000 บาท และหน้ากรมธรรม์ชั้น1 อีก 500,000 บาท รวมแล้วก็พอดีเลย   ตัวแทนก็รับไปคุยกับบริษัทโดยนัดให้ตอบในนัดต่อไปเมื่อถึงวันนัดตัวแทนประกันบอกว่าบริษัทยอมจ่ายเพียง 300,000  บาท  “จะบ้าเหรอแค่ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ(พรบ.ภาคบังคับที่เขาจ่ายเงินไป 600 บาท)บริษัทก็ต้องจ่ายเต็ม 200,000 บาทแล้ว” เพราะฝ่ายเราเป็นฝ่ายผิด แต่ประกันชั้น 1 ที่เขาเสียเงินเกือบ 20,000 บาท  บริษัทจ่าย 100,000 เดียวเหรอแล้วก็ได้คำตอบจากตัวแทนว่าประกันของเขากำหนดวงเงินไว้เพียง 250,000 บาท “ทางบริษัทพิจารณาอนุมัติวงเงินเพียงเท่านี้ผมไม่มีอำนาจตัดสินใจ” เขาบอกอีกว่าเขาได้คุยกับคู่กรณีเรื่องวงเงิน คู่กรณีบอกว่าหากจ่าย 450,000  บาท เขาก็ยินดีจะจบเรื่องเขาก็ได้แจ้งตัวแทนบริษัทไป จากนั้นมีการนัดเจรจากันอีกหลายครั้ง ครั้งนึงบริษัทก็เพิ่มวงเงินทีละประมาณ 5,000 บาท บ้างไม่เพิ่มบ้าง (โอ้โห....เล่นใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อหวังผลประโยชน์ของบริษัท บนความเดือดร้อนของทั้งผู้ซื้อประกันและผู้เสียหายอย่างนี้ก็แย่ซิ. โกงกันชัดๆ.)จนทำให้คู่กรณีไม่พอใจ และมายืนจ้องเขาแล้วบอกกับเขาว่า  “เอาลูกชั้นคืนมาชั้นไม่ได้อยากได้เงิน” ทั้งๆ ที่เรื่องควรจบได้หากบริษัทยอมจ่ายเงินตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ น้องที่ศูนย์ฯ บอกกับผู้เขียนว่าอย่างนี้แหละพี่ไปเจรจาต่อหน้าเจ้าหน้าที่คปภ. ก็ไม่ได้เรื่อง บริษัทก็ไม่ยอมจ่ายคปภ.ก็ไม่มีน้ำยาผู้เสียหายต้องฟ้องร้องเอง ท่านผู้อ่านรู้สึกเหมือนผู้เขียนไหมว่า ผู้บริโภคอย่างเราๆ ขาดที่พึ่งจริงๆ  ทั้งๆ ที่เรามีสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ยังทำอะไรไม่ได้ น่าเหนื่อยใจจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >