ฉบับที่ 196 ตั๋วรถไฟมีเลขที่นั่ง แต่ไม่มีเก้าอี้

ใครที่เคยเดินทางโดยสารด้วยรถไฟของบ้านเรา คงเจอปัญหารถไฟมาช้าไม่ตรงเวลากันมาบ้าง แต่จะมีสักกี่คนที่เจอปัญหาซื้อตั๋วที่มีเลขนั่งแล้ว แต่บนรถไฟกลับไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง เพราะเก้าอี้เบอร์ดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณสมชาย เขาซื้อตั๋วรถไฟที่สถานีรังสิต เพื่อที่จะกลับบ้านที่จังหวัดสุรินทร์ โดยได้ซื้อตั๋วนั่งชั้นที่ 2 ในราคา 190 บาท ซึ่งเป็นขบวนรถเร็ว กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และเมื่อรถไฟมาถึงผู้ร้องจึงขึ้นไปที่โบกี้ชั้น 2 และเดินดูหมายเลขที่นั่งตามตั๋วที่ซื้อมา แต่เขาไม่พบเบอร์เก้าอี้ของตนเอง จึงไปสอบถามกับพนักงานตรวจตั๋ว ซึ่งตอบกลับมาว่า ชั้น 2 มีที่นั่งถึงเบอร์ 20 กว่าเท่านั้น ส่วนเบอร์อื่นได้ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว เพราะทางการรถไฟได้ตัดตู้ชั้น 2 ไปหนึ่งตู้ ทำให้เบอร์ที่นั่งของผู้ร้องหายไป แต่สามารถไปร้องเรียนหรือขอคืนเงินค่าตั๋วได้ที่สถานีปลายทาง ส่วนตอนนี้ถ้ามีที่ว่างก็นั่งไปก่อนได้ แต่ถ้าเจ้าของหมายเลขเขาขึ้นมาก็ต้องลุกให้เขานั่งแทน ดังนั้นผู้ร้องจึงไปนั่งเก้าอี้ที่ว่าง ซึ่งภายหลังก็มีเจ้าของหมายเลขขึ้นมา ทำให้ผู้ร้องต้องลุกไปนั่งที่อื่นสลับไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหมาย เมื่อลงจากรถไฟ คุณสมชายจึงไปสอบถามกับพนักงานขายตั๋ว ซึ่งเขาไม่ได้ต้องการเงินคืน เพียงแต่ไม่เข้าใจว่าหากไม่มีเบอร์หมายเลขที่นั่ง แล้วพนักงานจะขายตั๋วเบอร์ดังกล่าวให้ทำไม ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคมาก อย่างไรก็ตามพนักงานขายตั๋วก็ไม่สามารถให้คำตอบใดๆ กับคุณสมชายได้ เขาจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอให้มีการตรวจสอบการทำงานของการรถไฟ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์สอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับตั๋วโดยสารว่า ผู้ร้องได้ไปคืนตั๋วที่ปลายทางหรือยังและได้รับเงินคืนหรือไม่ เพราะถ้าไม่ได้รับเงินคืนจะได้ทำจดหมายขอเงินคืนในครั้งเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องแจ้งว่า ยังไม่ได้ไปขอเงินคืน เนื่องจากจะเก็บไว้เป็นหลักฐาน  จึงขอให้ผู้ร้องส่งรูปถ่ายมาให้กับศูนย์ฯ เพิ่มเติม จากนั้นจึงช่วยผู้ร้องทำหนังสือถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย และสำเนาถึงปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรยังคงต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 กระแสต่างแดน

มาถูกทางแล้วค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงเป็นประวัติการณ์ในอินเดีย… อีกแล้วผู้ประกอบการโซล่าฟาร์มในรัฐราชสถานของอินเดียบอกว่าปีนี้เขาผลิตขายได้ที่อัตราขายส่ง  2.62 รูปี/kwh (ต่ำกว่าราคา “ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์” ของปีก่อนที่ 4.34 รูปี) พูดง่ายๆ ตอนนี้ถูกกว่าอัตราของค่าไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 3.20 รูปี/kwh เหตุที่ขายได้ถูกลงถึงร้อยละ 40 นั้นเป็นเพราะผู้ที่จะเข้ามาทำธุรกิจนี้สามารถกู้เงินได้ง่ายขึ้น แถมดอกเบี้ยก็ถูกลงเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากความจริงจังและชัดเจนของรัฐบาลในการสนับสนุนธุรกิจด้านนี้ ถามว่าจริงจังแค่ไหน? เอาเป็นว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานพูดออกสื่อแทบทุกวัน  และธุรกิจพลังงานทางเลือกก็ได้รับการยกเว้นภาษีด้วยนอกจากนี้ เพื่อลบภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศที่สร้างมลพิษมากเป็นอันดับสามของโลก อินเดียยังร่วมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ปารีสเมื่อสองปีก่อน และให้คำมั่นว่าจะผลิตพลังงานทางเลือกให้ได้ถึง 175 กิกะวัตต์ภายในปี 2022 และเมื่อถึงปี 2027 เขาจะทำได้ถึง 275 กิกะวัตต์แม้จะมีความท้าทายที่ต้องผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อผู้คนเป็นพันล้าน แต่การเติบโตของธุรกิจพลังงานทางเลือก (ลม น้ำ ขยะ แสงอาทิตย์) ทั้งจากผู้ประกอบการท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติก็ทำให้อินเดียไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ไปอีกอย่างน้อย 10 ปีเหตุที่ของขึ้นการสำรวจความเห็นคุณแม่ชาวสิงคโปร์โดยหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ พบว่าคุณแม่ส่วนใหญ่เชื่อว่าสาเหตุที่นมผงราคาแพงขึ้นเกือบเท่าตัวในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น แต่คณะกรรมการด้านการแข่งขันทางการค้าพบว่า ระหว่างปี 2010 และ 2014 งบการตลาดของผู้ผลิตนมผงสำหรับเด็กนั้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42.4คุณแม่คนหนึ่งเล่าว่าเธอถูกตัวแทนขายนมผงเด็กมาถามซ้ำๆ เรื่องนมผงที่ใช้และถูกตื้อให้ทดลองยี่ห้อใหม่ สถานที่เกิดเหตุก็คือคลินิกเด็กในโรงพยาบาลนั่นเอง คุณแม่ที่มาคลอดบางรายพบว่าลูกตัวเองได้รับการป้อนนมยี่ห้อหนึ่งไปโดยที่เธอไม่ได้เลือกซึ่งหมายความว่าลูกของเธอจะไม่คุ้นชินกับนมแม่ด้วย รัฐบาลสิงคโปร์กำลังเตรียมแบนการอวดอ้างสรรพคุณใดๆ ก็ตามไม่ว่าจะด้วยคำหรือภาพบนฉลากนมผงสำหรับทารก และสื่อสารให้พ่อแม่เด็กเข้าใจว่าราคาของนมผงเหล่านี้ไม่ได้ยืนยันคุณภาพแต่อย่างใด ไม่ใช่แค่กิ้งก่าในที่สุดบริษัทดอยช์บาห์น ผู้รับผิดชอบโปรเจค Stutgart 21 หรือโครงการทางรถไฟมูลค่าหลายพันล้านยูโรทางตอนใต้ของเยอรมนี ยอมจ่ายค่าขนย้ายกิ้งก่าใกล้สูญพันธุ์ออกจากพื้นที่ก่อสร้างรางรถไฟช่วงระหว่างชตุทท์การ์ทและเมืองอุลม์ เป็นมูลค่า 15 ล้านยูโร (ประมาณ 575 ล้านบาท) ตัวเลขนี้มาจากไหน? ดอยช์บาห์นเขาคำนวณจากค่าจ้างทีมมาจับกิ้งก่าหลายพันตัว ค่าใช้จ่ายในการขนส่งเป็นระยะทาง 6 ไมล์ และการจัดหาที่อยู่ใหม่ในเมือง Unterturkheim และค่าดูแลความเป็นอยู่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน เฉลี่ยแล้วตกหัวละ 2,000 – 4,000 ยูโร กลุ่มพิทักษ์สัตว์บอกว่าที่แพงขนาดนี้ก็เป็นเพราะการเตะถ่วงของบริษัทเอง ถ้ารีบจัดการตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2015 ที่รู้ปัญหาก็จะประหยัดเงินได้มากโขโครงการรถไฟสายทรานส์ยูโรเปียนนี้เริ่มก่อสร้างในปี 2010 และมีกำหนดเปิดใช้งานในปี 2021 งบประมาณขณะนี้อยู่ที่ 6,300 ล้านยูโร (204,000 ล้านบาท) ++  ไม่มีต่อเวลากรมสุขภาพของไต้หวันยืนยันว่า วิกเกอร์ โคโบ ผู้ผลิตพายสับปะรดยี่ห้อดัง มีความผิดฐานเปลี่ยนวันหมดอายุบนแพ็คเกจสินค้าจริงแม้การไปสุ่มตรวจในร้านโดยกรมฯ จะไม่พบหลักฐานการกระทำผิด แต่เขาก็ได้รวบรวมหลักฐานจากผู้แจ้งเบาะแสแล้วชงเรื่องต่อให้กับสำนักงานอัยการเมืองชิหลินทำการสืบสวนต่อไปเขาพบว่ามีขนมหลายชนิด เช่น พายสับปะรด พายไข่แดง ถูกเรียกคืนเพื่อเปลี่ยนวันหมดอายุเพื่อยืดเวลาออกไปอีก 10 วันจริง ความผิดนี้มีโทษปรับ 40,000 ถึง 4,000,000 เหรียญ  วิกเกอร์ โคโบ เป็นที่รู้จักกันดีในไต้หวันและในหมู่นักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อขนมดังจากไต้หวันไปเป็นของฝาก แต่พฤติกรรมนี้ทำให้สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวประกาศงดพาลูกทัวร์เข้าร้านชั่วคราวเพราะไม่ต้องการเสียชื่อไปด้วยโฆษกสมาคมฯ บอกว่าเข้าใจดีว่าช่วงนี้ธุรกิจไม่ดีเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวจากจีน แต่การขยายวันหมดอายุนี่มันแก้ปัญหาอะไรได้หนอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 Transit การเดินทางด้วยรถไฟและรถไฟฟ้าแต่ละประเทศ

ตั้งแต่การคมนาคมสะดวกรวดเร็ว มีสายการบินเพิ่มขึ้นหลากหลาย ทำให้ผู้บริโภคที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศมีทางเลือกมากขึ้น ประกอบกับราคาค่าเดินทางของสายการบินที่แข่งขันกัน จึงทำให้ราคาถูกมากกว่าเดิม และลองสังเกตดีๆ จะเห็นว่าราคาตั๋วเครื่องบินไปต่างประเทศถูกมากเมื่อเทียบเท่ากับราคาตั๋วเครื่องบินที่เดินทางภายในประเทศ จึงเป็นจุดที่ทำให้ผู้คนหันเหไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นฉบับนี้ผู้เขียนขอเอาใจผู้ที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวไปประเทศต่างๆ แบบท่องเที่ยวด้วยตนเองสักหน่อย แอพพลิเคชั่นนี้จะทำให้ผู้เดินทางสามารถเรียนรู้เส้นทางการเดินรถไฟและรถไฟฟ้าของประเทศนั้นได้ก่อนเดินทางไป โดยไม่ต้องไปเสียเงินซื้อคู่มือเส้นทางการเดินรถแอพพลิเคชั่นนี้ผลิตโดยประเทศญี่ปุ่น แต่ได้พัฒนาไว้หลายประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน อังกฤษ เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย จีน ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน อินโดนีเซีย สวิตเซอร์แลนด์ และอาจจะมีมากกว่านี้การค้นหาแอพพลิเคชั่นให้ใช้คำว่า Transit ตามหลังชื่อประเทศที่ต้องการดาวน์โหลด เช่น ประเทศเกาหลี ใช้คำว่า Korea Transit, ประเทศฮ่องกง ใช้คำว่า Hong Kong Transit, ประเทศสิงคโปร์ใช้คำว่า Singapore Transit เป็นต้น ภายในแอพพลิเคชั่นจะมีภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่นของประเทศกำกับ ผู้ใช้สามารถเลือกสถานีที่เริ่มต้นและสถานีปลายทางที่ต้องการไป โดยให้กดตรงสัญลักษณ์วงกลมของสถานีนั้นๆ แล้วเลือกว่าเป็นสถานีเริ่มต้นหรือสถานีปลายทาง และตรงสัญลักษณ์ยังปรากฏคำว่า hotels around the spot หมายถึง ข้อมูลโรงแรมที่ตั้งโดยรอบสถานี ซึ่งจะทำให้สะดวกในการค้นหาโรงแรมที่ใกล้กับสถานีรถไฟได้อีกด้วยเมื่อได้สถานีที่ต้องการเดินทางแล้วให้กดเลือก Depart now แอพพลิเคชั่นจะแสดงเส้นทางสายรถไฟที่ต้องเดินทางหรือต้องเปลี่ยนขบวน พร้อมทั้งช่วงเวลาในการเดินทางการ เพื่อใช้สำหรับคำนวณระยะเวลาในการเดินทางแต่ละทริปด้วยนอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่นที่มีลักษณะเดียวกัน โดยใช้การค้นหาแอพพลิเคชั่นคำว่า Rail ตามหลังชื่อประเทศที่ต้องการดาวน์โหลดเช่นกัน แอพพลิเคชั่นนี้จะเพียงแค่กดเลือกสถานีที่ต้องการเริ่มต้น หลังจากนั้นจะปรากฏเส้นทางการเดินทางที่ต้องผ่านแต่ละสถานีให้เลือกอีกครั้งแอพพลิเคชั่นทั้งสองรูปแบบมีเส้นทางการเดินทางของประเทศไทยเช่นกัน ชื่อแอพพลิเคชั่น Bangkok Transit และ Thailand Rail และขอแนะนำว่าผู้อ่านลองดาวน์โหลดรูปแบบการเดินทางของประเทศไทยมาศึกษาก่อน เพื่อให้เกิดความชำนาญและเข้าใจมากขึ้น เมื่อไปใช้แอพพลิเคชั่นของประเทศต่างๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 กระแสต่างแดน

รถไฟลงขันการมีรถไฟเป็นของตัวเองไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา LOCOMORE รถไฟสายสตุทท์การ์ท-เบอลิน ที่เกิดจากการลงขันของผู้บริโภคที่อยากได้รถไฟที่ตรงใจกว่าทั้งราคาและบริการ ได้เริ่มออกวิ่งแล้ว เงิน 600,000 ยูโร (22.6 ล้านบาท) ที่รวบรวมได้ถูกนำไปจัดซื้อรถไฟเก่ายุค 70 และสร้างระบบการจองตั๋วล้ำๆ ที่ใครจองก่อนจะได้ราคาถูกกว่า แต่ถึงจะจองช้าค่าตั๋วก็ยังถูกกว่าผู้ให้บริการเจ้าหลัก Deutsch Bahn ครึ่งหนึ่งอยู่ดีนอกจากนี้ยังมีโซนที่นั่งตามความสนใจเพื่อลดความเบื่อหน่ายในการเดินทาง(ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6.5 ชั่วโมง) เช่น โซนงานฝีมือ โซนคนในวงการสตาร์ตอัพ และโซนคนชอบเล่นเกมกระดาน เป็นต้น LOCOMORE ซึ่งวิ่งไปกลับเพียงวันละหนึ่งรอบ ยังไม่ใช่คู่แข่งของ Deutsch Bahn ที่มีรถไฟวันละ 700 ขบวนที่ขนส่งผู้โดยสารได้วันละ 5.5 ล้านคนแต่เขามีระบบคืนกำไร ที่ผู้โดยสารจะได้ส่วนลดร้อยละ 3 หากมีการจองที่นั่งเกินร้อยละ 75 และถ้าเต็มทุกที่นั่ง ทุกคนจะได้ส่วนลดร้อยละ 7 ไปเลย มื้อสำคัญการไม่ทานอาหารเช้าอาจทำให้เกิดความวุ่นวายกับสังคมอย่างที่คุณไม่คาดคิด Fertagus ผู้ประกอบการรถไฟสายลิสบอน-เซตูบัลเขามีหลักฐานมายืนยัน ในรอบหกเดือน เขามีผู้โดยสารเป็นลมบนรถ 46 คน ทำให้รถไฟเสียเวลาไป 51 ขบวน รวมเวลารถไฟล่าช้าทั้งหมด 209 นาที ซึ่งเขาบอกว่าเรื่องนี้สามารถป้องกันได้ ถ้าผู้โดยสารจะให้ความร่วมมือรับประทานอาหารเช้าก่อนมาขึ้นรถเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำถ้าจะให้ดี กรุณาพกน้ำดื่มขึ้นมาด้วย(ไม่ได้ให้งดน้ำงดอาหารเหมือนบางที่นะ) ที่สำคัญคือ ถ้ารู้สึกไม่ดีเมื่อไรให้รีบลงที่สถานีที่ใกล้ที่สุดทันที Fertagus เป็นผู้ประกอบการขนส่งเอกชนที่ให้บริการรถไฟจากกรุงลิสบอนไปยังแหลมเซตูบัล รองรับผู้โดยสารวันละ 70, 000 คน บนเส้นทาง 54 กิโลเมตร ที่มีสถานีให้บริการ 14 สถานี  ต้องพักได้ทุกคนกิจการเปิดบ้านให้คนเข้าพักของ Airbnb กำลังเติบโตก้าวกระโดดเพราะมันเป็นโอกาสทำเงินของคนที่มีห้องว่างเหลือในบ้านและเป็นทางเลือกที่ถูกกว่าของคนเดินทางแต่มันทำให้เกิดภาวะขาดแคลนที่พักของคนในท้องถิ่น ที่มาทำงานหรือเรียนหนังสือในเมืองที่เป็นจุดหมายท่องเที่ยว และอาจละเมิดสิทธิของเพื่อนบ้านที่ไม่ต้องการความพลุกพล่านจอแจรัฐจึงต้องมีข้อกำหนดต่างๆ ขึ้นมา เช่น เบอลินห้ามเจ้าของบ้านใช้พื้นที่ในบ้านเกินร้อยละ 50 รองรับการเข้าพักรายวัน ใครฝ่าฝืนจะโดนปรับหนึ่งแสนยูโร (3.7 ล้านบาท) โฮสต์ของ Airbnb ในปารีส สามารถเปิดบริการห้องพักรายวันได้ไม่เกินปีละ 120 วัน และต้องเรียกเก็บภาษีนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกับโรงแรมลอนดอนกำหนดจำนวนวันสูงสุดไว้ที่ 90 วัน ในขณะที่อัมสเตอดัมให้เพียง 60 วัน และกำหนดให้เปิดรับเรื่องร้องเรียนจากเพื่อนบ้านด้วย ปัจจุบัน Airbnb ซึ่งมีมูลค่าทางการตลาด 30,000 ล้านเหรียญ มีกิจการดังกล่าวใน 34,000 เมืองทั่วโลกขออภัย เราไม่ส่งคุณจะส่งหูฉลามไปกับสายการบินใดก็ได้ แต่คุณจะใช้บริการสายการบินแห่งชาติของจีน Air China ไม่ได้ เขาประกาศแล้วว่าแต่นี้ต่อไป ไม่รับส่งหูฉลามนะจ๊ะ จีนต้องการพลิกภาพลักษณ์จากการเป็นตลาดมืดค้าสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาเป็นผู้นำในการแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจังความพยายามนี้มีมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี เหยาหมิง นักบาสเก็ตบอลชื่อดังก็เคยเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับการรณรงค์ให้งดบริโภคหูฉลามมาแล้วขณะนี้มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น การนำเข้าหูฉลามระหว่างปี 2011 ถึง 2014 ลดลงมากกว่าร้อยละ 80 และราคาขายก็ลดลงมากกว่าร้อยละ 50 ด้วยมุกนี้ของ Air China ทำให้ FedEx บริษัทขนส่งเจ้าใหญ่สัญชาติอเมริกันอายไปเลย เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวว่า บริษัทเลือกที่จะรับส่งแพ็คเกจหูฉลามต่อไปทั้งๆ ที่มีคนกว่า 300,000 คนมาร่วมลงชื่อขอให้ยกเลิกบริการดังกล่าว เหมือนกับ DHL และ UPS ที่ได้ยกเลิกไปแล้ว ต้องติดตามโลหะชนิดหนึ่งที่จำเป็นในการบัดกรีชิ้นส่วนต่างๆ ของโน้ตบุ้ค สมาร์ตโฟน ทีวีจอแบน หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ คือ ดีบุกหนึ่งในสามของดีบุกที่เราใช้ มาจากเกาะบังกาและเกาะเบลิตง ในอินโดนีเซีย การทำเหมืองบนเกาะเหล่านี้เป็นไปโดยไม่มีมาตรฐานหรือกฎระเบียบควบคุม ทั้งเรื่องความปลอดภัยของคนทำงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชาวบ้านที่รวมตัวกันออกเรือประมงเก่าๆ ไปหาดีบุกบอกว่าพวกเขามีรายได้คนละประมาณ 500 กว่าบาทต่อวัน และทีมสี่คนสามารถหาได้วันละประมาณ 30 กิโลกรัมครึ่งหนึ่งของดีบุกที่ได้ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยผ่านพ่อค้าคนกลางหลายคน ทำให้ยากที่จะพิสูจน์ทราบแหล่งที่มา (ทั้งๆ ที่เรามีอุปกรณ์สมาร์ตมากมาย)Apple  Samsung  Microsoft และ Sony ต่างก็เคยรับปากจะกวดขันดูแลเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมายังไม่พบความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤศจิกายน 2559ทำ “ฟันปลอมเถื่อน” เสี่ยงติดเชื้อในช่องปากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เตือนเรื่อง “บริการทำฟันปลอมเถื่อน” ที่เดี๋ยวนี้มีให้เห็นได้ตามตลาดนัดแผงลอยริมถนนทั่วไป เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ผู้ใช้บริการจะได้รับอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด ผู้ใช้บริการมีโอกาสติดเชื้อหรือเกิดโรคในช่องปาก เพราะทั้งสถานที่และเครื่องมือที่ใช้อาจไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีขั้นตอนการฆ่าเชื้อก่อนและหลังการใช้งาน ที่สำคัญคือ ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ไม่ใช่ทันตแพทย์ จึงขาดความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในการทำฟันปลอมที่ถูกต้อง ซึ่งฟันปลอมจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่ง ผู้ที่ต้องการทำฟันปลอมควรขอคำแนะนำและรับบริการจากทันตแพทย์ในสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตการใช้ฟันปลอมเถื่อนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบฟันที่ไม่เหมาะสมส่งผลให้ฟันซี่ใดซี่หนึ่งรับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้ฟันซี่ที่แข็งแรงกลายเป็นฟันที่อ่อนแอ เกิดการโยก สึกกร่อน และหัก อาจทำให้เกิดแผลในช่องปาก การใส่ฟันปลอมโดยไม่เตรียมช่องปากที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักทันตกรรม เช่น ไม่อุดฟันซี่ที่ผุ ขูดหินปูน รักษารากฟัน หรือถอนฟันซี่ที่ไม่รักษาไว้ เมื่อเกิดปัญหาหลังการทำแล้วการแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติจะทำได้ยากรถไฟฟ้าสายสีม่วงยังไม่สะดวกสำหรับคนพิการนาย ชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม ออกมายอมรับเองว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงเส้นบางใหญ่-บางซื่อ ยังต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเรื่องการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งสถานีที่พบปัญหาประกอบด้วย บางซ่อน แยกนนทบุรี และบางพลู โดยปัญหาที่พบที่ต้องเร่งแก้ไขมีหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น ทางลาดชันในการขึ้นใช้ลิฟท์มีความลาดชันมากเกินไป ต้องปรับให้ลาดชันน้อยลง นอกจากนี้ผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ยังเห็นว่า ควรยกเลิกใช้เก้าอี้ที่ติดกับราวบันไดเพื่อเลื่อนขึ้นไปยังสถานี เพราะใช้แล้วไม่ปลอดภัย ควรปรับเป็นลิฟต์หรือทางลาดชันจะดีกว่า ป้ายแสดงเส้นทางต่างๆ ไม่ชัดเจน นอกจากนี้ต้องปรับปรุงเรื่องการบริการ การอำนวยความสะดวกต่างๆ ควรมีจุดที่จะเรียกใช้บริการเจ้าหน้าที่ และจัดเตรียมช่องซื้อตั๋วโดยสารโดยเฉพาะ เป็นต้น Service charge เก็บได้แต่ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบหลังจากที่ สคบ. ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคกรณีถูกเรียกเก็บค่าบริการเซอร์วิส ชาร์จ (Service charge) 10% โดยผู้บริโภครู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และอัตรา 10% ที่เรียกเก็บนั้นเหมาะสมหรือไม่ พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กล่าวว่า ได้มีการหารือแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้เร่งออกประกาศไว้เป็นข้อปฏิบัติและรับทราบโดยทั่วกันโดยที่ผ่านมา สคบ.ได้ประสานขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านอาหารให้ช่วยติดป้ายแสดงไว้ที่หน้าร้านอาหารของตนว่า ร้านนี้มีการคิดค่าเซอร์วิส ชาร์จ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบ แต่ก็ยังเป็นแค่การขอความร่วมมือเท่านั้น ส่วนกรมการค้าภายในฯ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เซอร์วิส ชาร์จ เป็นค่าบริการที่ผู้ประกอบการขายสินค้านั้นๆ คิดเพิ่มจากผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งอาจจะไม่ได้หมายถึงว่า ร้านอาหารนั้นต้องตั้งอยู่ในสถานที่หรูหรา ห้องแอร์ หรือพนักงานเสิร์ฟเป็นอย่างไร แต่ขึ้นอยู่กับการเพิ่มการบริการของร้านอาหารนั้นๆ ผู้ประกอบการมีสิทธิ์ที่จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เขาให้บริการแก่ลูกค้าได้ ซึ่งการเรียกเก็บค่าบริการ 10% กรมการค้าภายในมองว่า “เป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว” เนื่องจากเป็นอัตราที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่รับทราบตามสากล และยอมรับได้ทั้งนี้กรณีที่ผู้ประกอบการหรือร้านอาหาร เรียกเก็บค่าบริการ เซอร์วิส ชาร์จ โดยที่ไม่ได้ระบุหรือแจ้งให้ลูกค้าทราบ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ผู้ใดไม่แสดงราคาหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการแสดงสินค้าและบริการที่กำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทอันตราย “แมงลักอัดแคปซูล” ผสมไซบูทรามีนผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอันตรายหลอกลวงผู้บริโภคยังมีโผล่มาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ล่าสุดคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Mangluk Power Slim ที่ อย. ออกมาฟันธงแล้วว่า เข้าข่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย มีการปลอมเลขสารบบอาหาร โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และตรวจพบไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โดยจะมีอาการข้างเคียง คือ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ท้องผูก ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แนะผู้บริโภคอย่าซื้อมารับประทานเด็ดขาดจากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวฉลากระบุเลขที่ อย. 89-1-04151-1-0080 นำเข้าและจัดจำหน่ายโดยบริษัท THE RICH POWER NETWORK จังหวัดสมุทรสาคร รุ่นผลิต RI88-89/01 เมื่อตรวจเลขสารบบอาหาร พบว่าไม่ได้รับอนุญาตผลิตหรือนำเข้าแต่อย่างใด รวมทั้งไม่พบข้อมูลการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมจากเว็บไซต์โดยค้นหาชื่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษพบจำนวนเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกว่า 6 พันรายการ มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเช่น “ยับยั้งการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล ลดความอยากอาหาร DETOX ลำไส้ ไร้ผลข้างเคียง” “ช่วยเสริมระบบการย่อยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สามารถลดการสะสมของไขมันในเส้นเลือด ช่วยควบคุมความหิว ลดการดูดซึมของไขมันที่ไม่จำเป็นต่อร่างกายและขจัดสารพิษต่างๆ” เป็นต้น ทั้งนี้ อย.จะดำเนินการกับผู้กระทำผิดต่อไปโรงพยาบาลรับผิดทำผู้ป่วยเสียชีวิต หวังเป็นจุดเริ่ม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯถือเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่มีผู้เสียชีวิตจากการรับบริการทางการแพทย์ ที่ควรหยิบยกมาพูดถึง โดยเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์ เรื่องของผู้ใช้เฟซบุ๊ครายหนึ่ง ซึ่งพาแม่เข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ ด้วยอาการปวดหลังอย่างรุนแรง ซึ่งหลังการเอ็กซเรย์แพทย์ได้วินิจฉัยพบว่า เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น และทางแพทย์ได้มีการแนะนำให้ผ่าตัด แต่สุดท้ายเกิดเหตุสุดวิสัย แพทย์ผ่าตัดถูกเส้นเลือดดำที่ติดกับกระดูกสันหลัง ซึ่งแพทย์และทีมพยาบาลพยายามยื้อชีวิตอย่างเต็มที่แต่ก็สุดความสามารถโดยเหตุผลที่ญาติผู้เสียชีวิตเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ เพราะต้องการเรียกร้องความรับผิดชอบจากทางโรงพยาบาล ซึ่งแม้ทางแพทย์ผู้ผ่าตัดจะออกมายอมรับว่าผ่าตัดผิดพลาด แต่กลับไม่ได้รับการชดเชยใดๆ จากทางโรงพยาบาลเมื่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นถูกเผยแพร่และเป็นที่สนใจของผู้คนในสังคมออนไลน์ ไม่นาน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุปราการ และเป็น 1 ในกรรมการแพทยสภา ได้ออกมายืนยันว่าทางโรงพยาบาลจะให้การช่วยเหลือทายาทของผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ ด้วยการเยียวยาตามมาตรา 41 ว่าด้วยเงินช่วยเหลือเบื้องต้น แก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมทั้งทางโรงพยาบาลก็จะรับผิดชอบชดเชยให้ด้วยอีกส่วนหนึ่ง พร้อมกันนี้จะต้องมีการเยียวยาต่อสุขภาพจิตของแพทย์ ที่มีเจตนาที่จะช่วยคนไข้ เพื่อมีสภาพจิตใจสามารถกลับมาทำหน้าที่รักษาดูแลประชาชนได้ต่อไปทางด้าน นาง ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ในฐานะประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ที่ต่อสู้เรียกร้องเรื่องสิทธิของผู้ป่วยมาอย่างยาวนาน ได้แสดงความเห็นชื่นชมต่อการออกมาแสดงความรับผิดชอบของโรงพยาบาลต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ผ่านหน้าเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยให้ความเห็นว่า แพทย์เองก็เข้าใจดีอยู่แล้วความผิดพลาดจากการรักษาพยาบาลเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการผลักดันให้มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ถึงเวลาที่แพทยสภาจะต้องหันมาเร่งผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 เชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้า 3 สาย

ฉบับนี้มาทำความรู้จักกับแอพพลิเคชั่นการเดินทางโดยรถไฟฟ้าทั้ง  3 รูปแบบกันบ้างดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า BTS  รถไฟฟ้า MRT และ Airport Link รถไฟฟ้าทั้ง 3 รูปแบบที่กล่าวถึงนั้น ช่วยอำนวยความสะดวกกับผู้ที่ต้องการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ในเวลาเร่งด่วน และต้องการหลีกหนีจากการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนนของกรุงเทพมหานคร  คนกรุงเทพฯ  จึงนิยมโดยสารรถไฟฟ้าเป็นอย่างมาก อีกทั้งรถไฟฟ้า 3 สายยังมีจุดเชื่อมต่อสำหรับการเดินทางไปในส่วนต่างๆ ด้วย ผู้เขียนหวังว่าแอพพลิเคชั่นที่จะแนะนำนี้ จะช่วยให้คนต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางเข้ามาในกรุงเทพมหานคร ได้ใช้ประโยชน์ได้พอควร โดยมี 2 แอพพลิเคชั่นที่จะแนะนำ ได้แก่ แอพพลิเคชั่น BKK Metro และแอพพลิเคชั่น Airport Link แอพพลิเคชั่น BKK Metro เป็นแอพพลิเคชั่นที่บอกรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ของรถไฟฟ้าBTS  และรถไฟฟ้า MRT โดยภายในจะแบ่งเป็นหมวด และสามารถเลือกมุมมองแผนที่ที่ต้องการดูได้ว่าจะดูแบบลายเส้นหรือแบบภาพเสมือนจริง หมวดแรกจะให้หาพิกัดที่ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นยืนอยู่ว่าใกล้กับสถานีใดที่สุด เพื่อให้ตัดสินใจเลือกที่จะขึ้นสถานีนั้นๆ ต่อจากนั้นหมวดต่อมาจะบอกถึงสถานีต่างๆ ว่ามีสถานที่ใดใกล้เคียงกับสถานีนั้นๆ บ้าง และสามารถใช้ทางออกหมายเลขใด เพื่อให้สะดวกกับการเดินทางมากยิ่งขึ้น หมวดที่สามจะบอกราคาค่าโดยสารระหว่างสถานีต้นทางกับสถานีปลายทางที่เลือก แอพพลิเคชั่นจะคำนวณราคาค่าใช้จ่ายมาให้เรียบร้อย และถ้ามีความไม่เข้าใจในเรื่องราคา การซื้อบัตร หรือข้อมูลต่างๆ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดในหมวดสุดท้ายได้ หรือโทรศัพท์ไปสอบถามตามหมายเลขที่แจ้งไว้ภายในแอพพลิเคชั่น อีกแอพพลิเคชั่นหนึ่ง คือ แอพพลิเคชั่น Airport Link จะบอกถึงรายละเอียดการเดินทางระหว่างสถานีต่างๆ ว่าสถานีนั้นสามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าแบบธรรมดาหรือแบบด่วนพิเศษ โดยจะแจ้งเรื่องเวลาที่ต้องใช้ในการเดินทางระหว่างสถานีว่าต้องเวลากี่นาที และผ่านสถานีใดบ้าง ซึ่งจะช่วยให้สามารถคำนวณเวลาในการเดินทางไปจุดหมายได้ รวมถึงบอกราคาในการเดินทางแต่ละสถานี ประโยชน์ของแอพพลิเคชั่นทั้ง 2 ชนิดนี้ จะช่วยให้ผู้เดินทางสามารถคำนวณเวลาตามระยะทางที่เกิดขึ้นจริง และคำนวณราคาในการเดินทางในแต่ละครั้ง ซึ่งถือว่าช่วยวางแผนการเดินทางได้ในระดับหนึ่ง รถไฟฟ้าทั้ง 3 รูปแบบ ถือว่าเป็นตัวช่วยที่ดีในการหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรภายในกรุงเทพมหานคร แต่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางย่อมสูงไปด้วย ถ้าผู้อ่านลองพิจารณาแล้วเห็นว่าเสียค่าใช้จ่ายมากเกินไป อาจจะกลับไปเลือกแอพพลิเคชั่น “รถเมล์” แทนก็ได้นะ ได้อย่างก็ต้องเสียอย่างเป็นธรรมดา!!!

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 เทียบตารางเวลารถไฟไทยบนปลายนิ้ว

ฉึกกะฉักๆ  ปู๊นๆ เสียงนี้เป็นที่คุ้นเคยกันทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเด็กเล็กจนไปถึงผู้ใหญ่  เสียง “ฉึกกะฉักๆ  ปู๊นๆ”  ยังคงเป็นเอกลักษณ์ของรถไฟเหล็กไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลง  และในตำราเรียนในช่วงวัยเด็ก  ทุกคนต้องได้เรียนประวัติศาสตร์รถไฟไทยกันมาบ้าง ไม่มากก็น้อย หลายคนอาจจะยังไม่มีโอกาสได้ขึ้นรถไฟเหล็กของไทย แต่ก็มีหลายคนเช่นกันที่ต้องใช้รถไฟเป็นพาหนะในการเดินทางไปไหนมาไหน ทุกวันในช่วงเช้าและช่วงเย็น มีประชาชนไม่น้อยที่ต้องโดยสารรถไฟมาทำงาน เหมือนกับการใช้บริการรถสาธารณะในรูปแบบอื่นๆ  ฉบับที่ผ่านมาได้พูดถึงรถเมล์ที่ประชาชนต้องใช้โดยสารในชีวิตประจำวันไปแล้ว  ฉบับนี้จึงขอเอาใจผู้อ่านที่ใช้รถไฟเหล็กกันบ้าง ฉบับนี้มารู้จักกับแอพพลิเคชั่น Thai Railway กันบ้าง แอพพลิเคชั่นนี้จะเน้นเรื่องการบอกตารางเวลาแต่ละเส้นทางการเดินรถไฟ โดยสามารถค้นหาข้อมูลตารางเดินรถไฟในประเทศไทย  ค้นหาเส้นทางการเดินรถไฟของแต่ละภาคในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคชานเมือง และมีให้เลือกใช้ 2 ภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ภายในแอพพลิเคชั่นจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นตารางเวลา สามารถค้นหาโดยใส่ชื่อจุดหมายปลายทาง หรือหมายเลขขบวนรถ จากนั้นจะปรากฏเส้นทางที่ขบวนรถไฟจะผ่านในแต่ละสถานีว่าผ่านสถานีใดบ้าง และถึงสถานีนั้นๆ ในเวลากี่โมง นอกจากนั้นยังบอกว่าขบวนรถไฟสายนี้เป็นขบวนรถเร็ว รถด่วน หรือรถด่วนพิเศษ รถพิเศษชานเมือง รถท้องถิ่น อีกด้วย สังเกตได้จากกรอบสีตรงหมายเลขขบวนนั้นๆ ได้แก่ กรอบสีฟ้า หมายถึงรถด่วนพิเศษ กรอบสีแดง หมายถึงรถด่วน  กรอบสีเขียว หมายถึงรถเร็ว  กรอบสีเทาเข้ม หมายถึงรถธรรมดา  กรอบสีชมพู หมายถึงรถพิเศษชานเมือง  กรอบสีเทาอ่อน หมายถึงรถชานเมือง รถท้องถิ่น ส่วนที่สอง เส้นทางเดินรถ มีไว้เพื่อให้ค้นหาขบวนรถไฟโดยแบ่งออกเป็นแต่ละภาค เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในหาค้นหาได้ดียิ่งขึ้น และส่วนสุดท้ายเป็นส่วนของการค้นหาทั่วไป เมื่อค้นหาขบวนรถไฟที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว  สามารถจองตั๋วโดยสารรถไฟทางโทรศัพท์ผ่านสายด่วน 1690 โดยคลิกผ่านแอพพลิเคชั่น Thai Railway ได้เลย แบบนี้จะเลือกโดยสารรถไฟขบวนไหน มีแอพพลิเคชั่นนี้ก็สามารถทำให้รู้ตารางเวลาการเข้าออกสถานีต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลาได้ ช่วยให้ใช้ชีวิตในการเดินทางง่ายขึ้นทีเดียว    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 นิวเคลียร์ อาหาร และผีเสื้อ

หลังจากเกษียณราชการแล้วผู้เขียนมีเวลาว่างมากขึ้น จึงนั่งคิดถึงสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตที่ผ่านไป วันหนึ่งก็คิดถึงนโยบายหนึ่งของรัฐบาลที่ลาออกก่อนถูกปฏิวัติว่า ต้องการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งได้รับการต้อนรับแบบว่าทั้งโขกทั้งสับจากวิญญูชน เนื่องจากเป็นโครงการใช้ภาษีซึ่งรีดจากประชาชนมหาศาล เพื่อตอบสนองความต้องการของคนขยุ้มมือหนึ่งในการนั่งรถไฟไปไหนเร็วๆ ทั้งที่ค่าเครื่องบินของสายการบินราคาประหยัดก็แพงกว่ารถทัวร์ไม่เท่าไรแล้ว ดังนั้นการปฏิวัติจึงทำให้โครงการนี้หยุดไปก่อน หลายท่านคงภาวนาให้รถไฟฟ้าความเร็วสูงอย่าเพิ่งกลับมาตอนนี้ แบบว่าขอให้กลับมาในยุคพระศรีอาริยเมตไตรยแล้วกัน(เพราะในยุคนั้นอะไรๆ ก็ฟรี) เนื่องจากค่าโดยสารรถไฟฟ้าความเร็วสูงเช่นรถไฟหัวจรวดในญี่ปุ่นนั้นแพงมาก เมื่อราวยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ผู้เขียนเคยขึ้นรถสายชินคันเซนจากโตเกียวไปเมืองฮามะมะสึ จังหวัดชิสุโอกะ ระยะทางราว 210 กิโลเมตรนั้น ค่าโดยสารเที่ยวเดียวก็ปาเข้าไปเจ็ดพันกว่าบาทไทย ดังนั้นจึงต้องเป็นการขึ้นฟรีอย่างเดียว(แบบรถเมล์และรถไฟชั้นสาม)เท่านั้นกรรมกรและชาวนาจึงมีสิทธิขึ้นได้ โดยไม่ต้องฆ่าตัวตายเมื่อถึงปลายทาง สาเหตุของความแพงในค่าโดยสารนั้นคงเป็นเพราะต้นทุนการวางรางและตู้รถไฟสูงมาก ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเคยได้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูงแบบจริงจังหรือไม่ ผู้เขียนใช้การค้นหาทางอินเตอร์เน็ทพบเอกสาร (pdf file) 2 ชิ้นชื่อ “มาตรฐานสากลด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) กรณีศึกษา: รถไฟความเร็วสูง ตอนที่ 1 และตอนที่ 2” เขียนโดย ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ แห่งศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ และรูปแบบเอกสารสวยดี สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนหาข้อมูลไม่พบในเอกสารของ ดร.ไกรสร คือ พลังงานไฟฟ้าที่จะนำมาใช้ขับเคลื่อนรถไฟฟ้าความเร็วสูงนั้นมาจากไหน เพราะโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ที่เรามีอยู่ก็ผลิตไฟฟ้าไม่พอใช้อยู่แล้ว ต้องซื้อไฟจากลาวมาใช้ จนถ้าวันใดลาวไม่ขายไฟให้เรา(เพราะลาวเองก็กำลังพัฒนาบ้านเมืองอย่างก้าวกระโดดโดยไม่กลัวคอหัก) คนไทยที่ชอบเดินห้างสรรพสินค้า ชอบความฟุ้งเฟ้อตอนค่ำคืน คงได้ลงแดงกันบ้าง   ด้วยความใคร่รู้ ผู้เขียนจึงต้องพึ่ง Professor Wikipedia ภาคภาษาไทยว่า รถไฟฟ้าความเร็วสูงได้พลังงานไฟฟ้ามาแหล่งใด ปรากฏข้อมูลสรุปได้ว่า มีน้อยมากที่รถไฟความเร็วสูงใช้เชื้อเพลิงดีเซลหรือเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ โดยในประเทศญี่ปุ่นและฝรั่งเศสที่มีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ครอบคลุมมาก สัดส่วนใหญ่ของกระแสไฟฟ้ามาจากพลังงานนิวเคลียร์ พลังงานนิวเคลียร์นั้นดีร้ายเช่นใดมีคนวิเคราะห์และสรุปไว้มากมายแล้ว ข้อมูลที่ปรากฏนั้นขึ้นกับว่าคนสรุป ชอบหรือกลัวนิวเคลียร์ มีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเยอรมันซึ่งพบได้ใน wikipedia หัวข้อ Nuclear power in Germany กล่าวว่า Merkel's government announced that it would close all of its nuclear power plants by 2022 ซึ่งหมายความว่า อีกไม่กี่ปีเยอรมันจะเป็นประเทศที่เลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ (โดยหันไปใช้พลังงานทางเลือกเช่น กังหันลม โซลาร์เซลล์ เป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า) โดยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเพียงอนุสรณ์สถานทำไมคนเยอรมันจึงกลัวนิวเคลียร์ถึงขนาดบีบให้รัฐบาลสร้างแนวทางเลิกใช้นั้น ใน wikipedia ได้อธิบายไว้แล้ว โดยมีประเด็นหนึ่งที่พาดพิงถึงปัญหาของโรงไฟฟ้าปรมาณูของญี่ปุ่นที่โดนสึนามิถล่มแล้วยังแก้ไขไม่จบจนถึงวันนี้ ท่านผู้อ่านคงพอจำได้ว่า ในปี 2011 นั้นโรงไฟฟ้าปรมาณูฟูกูชิมะ ที่เมืองเซ็นได ซึ่งเป็นเมืองเอกของจังหวัดมิยะงิ ประเทศญี่ปุ่นเกิดปัญหาในการควบคุมปฏิกิริยาของแท่งเชื้อเพลิงปฏิกรณ์หลังโดนสึนามิทำให้เกิดการรั่วไหลของสารรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อม รัฐบาลท้องถิ่นจำเป็นต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่โดยรอบวารสารออนไลน์ชื่อ sciencedaily ฉบับวันที่ 23 กันยายนปีนี้มีบทความชื่อ Food affected by Fukushima disaster harms animals, even at low-levels of radiation, study shows ซึ่งมีใจความว่าจริงอยู่แม้ว่าไม่มีความเสียหายถึงชีวิตของประชาชนแต่นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยริวกิว (Rukyus) จังหวัดโอกินะวะ (Okinawa) ก็ได้ติดตามตรวจสอบอันตรายที่กระทบต่อสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติบริเวณนั้น โดยศึกษาในผีเสื้อสายพันธุ์ pale grass blue butterflies (Zizeeria maha หรือ Pseudozizeeria maha ซึ่งมีชื่อภาษาไทยที่ค้นได้คือ ผีเสื้อเซลจุดป่าสูง) ที่กินใบไม้ที่เก็บจากเมืองรอบๆ โรงไฟฟ้าปฏิกรณ์ปรมาณูฟูกูชิมะ ผลงานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Evolutionary Biology ชุดที่ 14 หน้า 193 ปี 2014ที่จริงแล้วการศึกษาในลักษณะดังกล่าวนี้ได้เคยกระทำหลังการระเบิดไม่นานนัก พบว่าการให้ผีเสื้อกินใบไม้ในบริเวณที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีระดับสูงนั้นทำให้ผีเสื้อมีปัญหาทางสุขภาพ โดยผีเสื้อที่กินใบไม้ที่เก็บจากต้นที่อยู่ในรัศมี 20 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้าซึ่งมีระดับรังสีเป็นพันๆ เบคเคอเรลต่อน้ำหนักใบไม้ 1 กิโลกรัม มีขนาดตัวเล็กและมีสัณฐานร่างกายโดยเฉพาะปีกที่ผิดปรกติ สำหรับการศึกษาครั้งล่าสุดในปี 2013 นั้น ได้ทดลองให้ผีเสื้อกินใบไม้ที่เก็บตั้งแต่ปี 2012 จากบริเวณที่มีการปนเปื้อนต่ำ 6 จุด ซึ่งอยู่ห่างจากตำแหน่งของโรงไฟฟ้า 59-1760 กิโลเมตร และพบว่าช่วงชีวิตของผีเสื้อนั้นต่างกันขึ้นกับว่าใบไม้นั้นมีการปนเปื้อนของธาตุกัมมันตรังสีซีเซียมเป็นเท่าใด (ซึ่งอยู่ระหว่าง 0.2-161bq/kg) ศาสตราจารย์ โจจิ โอตากิ ซึ่งเป็นผู้ทำวิจัยหลักได้กล่าวว่า สิ่งมีชีวิตในธรรมชาตินั้นได้รับอันตรายในระดับต่างๆ กันแม้ว่าอยู่ในบริเวณที่มีการปนเปื้อนรังสีระดับต่ำ ในการศึกษาเดียวกันนั้นมีภาคที่ 2 ซึ่งนักวิจัยได้เฝ้าสังเกตผีเสื้อรุ่นลูกและพบว่า ลูกผีเสื้อ(ได้จากพ่อแม่ ซึ่งกินใบไม้ปนเปื้อนสารรังสีระดับสูง)ที่ถูกเลี้ยงให้กินใบไม้ที่ไม่มีรังสีนั้น มีอวัยวะเกือบทุกอย่างเหมือนผีเสื้อธรรมดายกเว้นปีก ซึ่งเล็กกว่าผีเสื้อที่ได้จากพ่อแม่กลุ่มควบคุม(ที่ไม่ได้กินใบไม้ปนเปื้อนรังสี) ประเด็นที่น่าสนใจคือ ลูกผีเสื้อที่ได้จากพ่อแม่ที่กินใบไม้ปนเปื้อนรังสีและต้องกินใบไม้ปนเปื้อนรังสีด้วยนั้นมีความผิดปรกติในระดับที่สูงมากกว่า ซึ่งแสดงว่าอันตรายของสารรังสีที่ปนเปื้อนในอาหารสิ่งมีชีวิตนั้นสามารถสืบต่อขยายผลไปได้ในรุ่นลูกหลานที่ยังกินอาหารปนเปื้อนต่อไป ดังนั้นวิธีลดอันตรายจากสารรังสีทำได้โดยไม่กินอาหารปนเปื้อนสารรังสี ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (ซึ่งเราคงสร้างแน่ถ้ามีรถไฟฟ้าความเร็วสูง) ที่นำเสนอนั้น ก็เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักว่า การจะได้อะไรที่คิดว่าสุดดีนั้น อาจจำเป็นต้องแลกกับความเสี่ยงซึ่งสุดเลวอยู่เหมือนกัน เมืองไทยมีสึนามิมาแล้ว ดังนั้นถ้าจะสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณูอยู่ใกล้ทะเล (ซึ่งนิยมทำกันเพราะสะดวกในเรื่องเกี่ยวกับน้ำที่ต้องใช้และอื่นๆ) ผู้คนที่อยู่บริเวณนั้นคงนอนตาไม่หลับกันแน่ (ยกเว้นจะเอาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างทั้งหมดไปอาศัยอยู่แถวนั้นสักสิบปี) ที่สำคัญอาหารทั้งที่เป็นพืชหรือสัตว์ก็อาจเกิดปัญหาได้ถ้ามีความบกพร่องเกิดขึ้นดังที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ที่น่ากลัวสุดๆ ก็คือ เวลาเกิดปัญหาทางเทคนิคใดๆ ก็ตามในประเทศไทยนั้น เจ้าหน้าที่มักปกปิดจนกว่าปัญหามันเกินเลยถึงขั้น ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิดไม่มิด จึงมีการออกมารับผิดแบบมีข้อแก้ตัวต่างๆ นานา จากนั้นเรื่องก็เงียบ ขาดคนซึ่งหน้าบางพอที่จะลาออกจากตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดพลาด ไม่เหมือนนักบริหารของญี่ปุ่นและเกาหลีที่ อะไรนิดหน่อยก็ลาออกหรือฆ่าตัวตาย ซึ่งหลายคนในเมืองไทยคิดว่ามันโง่หน้าบางเองนี่หว่า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 181 กระแสต่างแดน

โทรทัศน์จีนแฉธุรกิจยอดแย่ทุกๆ ปีในวันสิทธิผู้บริโภคสากล 15 มีนาคม สถานีโทรทัศน์แห่งชาติของจีน Central China Television หรือ CCTV จะถ่ายทอดรายการ “315 Gala” ซึ่งเป็นที่รอคอยของผู้ประกอบการทั้งหลายที่ ลุ้นตัวโก่งว่าจะติดบัญชีดำของรัฐบาลจีนหรือไม่315 Gala นำเสนอผลสำรวจปัญหายอดฮิตจากผู้บริโภค รวมถึงคลิป “ซ่อนกล้อง” เข้าไปแอบถ่ายการทำธุรกิจของผู้ประกอบการหลายๆ เจ้าด้วย ร้อยละ 25 ของปัญหาที่ผู้บริโภคพบในปีที่ผ่านมาได้แก่ การได้รับ “ของปลอม” ทั้งๆ ที่สั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ (แต่ไม่ได้บอกว่าเจ้าไหนบ้าง)ปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเข้ามามากเป็นอันดับสองคือปัญหาการซื้อขายรถ ที่ผู้ขายบังคับให้ผู้ซื้อจ่ายค่าประกันและค่าป้ายทะเบียน หรือนำรถรุ่นที่ถูกประกาศเรียกคืนแล้วมาขาย เป็นต้น  อันดับสามได้แก่ โทรศัพท์มือถือที่ชำรุดบกพร่อง หรือไม่มีบริการหลังการขายที่ดี ที่ผ่านมารายการนี้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับบริษัทใหญ่ๆ ของจีนเอง อย่าง ไชน่าโมไบล์ เจเอซีมอเตอร์ส หรือแม้แต่ ไป่ตู้อิงค์ และบริษัทต่างชาติอย่าง แลนด์โรเวอร์ และแอปเปิ้ล มาแล้วเจมส์ เฟลด์แคมป์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์จัดอันดับสินค้าและบริการ www.Mingjian.com ให้ความเห็นว่าผู้ประกอบการในจีนเริ่มตระหนักแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าตัวเองตกเป็นดาราจำเป็นในรายการนี้ จึงหันมาเพิ่มความโปร่งใสเป็นธรรมในการทำธุรกิจ เพื่อจะได้ไม่ถูกประจานออกทีวีเบน คาเวนเดอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยการตลาดในเซี่ยงไฮ้บอกว่ารายการนี้ช่วยยกระดับการรับรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภคของผู้บริโภค และเมื่อพวกเขารู้สึกว่าตนเองได้รับการดูแลคุ้มครอง พวกเขาก็จะเกิดความมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น  เคเบิลทีวี ... บริการนี้ต้องเลือกได้กสทช.ไต้หวันเสนอให้บริษัทเคเบิลทีวีเพิ่มทางเลือกให้สมาชิกสามารถจ่ายเงินเฉพาะช่องที่อยากดู ปัจจุบันสมาชิกเคเบิลทีวีจ่ายค่าบริการรายเดือนในอัตราเดียว (ระหว่าง 500 ถึง 600 เหรียญไต้หวัน) แลกกับช่องรายการกว่า 100 ช่อง (รวมช่อง must-carry ที่ผู้ประกอบการต้องจัดให้เป็นพื้นฐานแล้ว)ปีหน้าผู้ประกอบการถึงคิวต้องมีระบบคิดค่าบริการที่หลากหลายขึ้น กสทช. เขาเสนอให้มีแพ็คเกจที่สมาชิกสามารถเลือกเฉพาะช่องที่ต้องการดู แล้วจ่ายเงินตามนั้น เขาไม่ได้กำหนดเพดานของค่าบริการรายเดือน เนื่องจากไต้หวันมีผู้ประกอบการหลายเจ้า แล้วยังมีบริการทีวีอินเตอร์เน็ทโดยผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดอีก กลไกตลาดจะทำงานของมันเอง ที่สำคัญคือผู้บริโภคจะมีเวลา 1 สัปดาห์ในการ “ทดลองดู” ถ้าไม่พอใจก็สามารถยกเลิกได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินทางสิงคโปร์ก็ไม่น้อยหน้า ตามข้อกำหนดใหม่ ถ้าผู้ประกอบการขึ้นค่าบริการหรือยกเลิกรายการหลักๆ ผู้บริโภคสามารถยกเลิกบริการก่อนกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญาได้เลยโดยไม่เสียค่าปรับ แต่ต้องไปรับดำเนินการภายใน 30 วันนับจากรับทราบความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  รถไฟเยอรมันเตรียมยกเครื่องปีที่ผ่านมา ดอยทช์บาห์น หรือการรถไฟเยอรมนี มีรายรับมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 40,000 ล้านยูโร (1.5 ล้านล้านบาท) แต่ในขณะเดียวกันก็ประสบการขาดทุนสูงที่สุดในรอบ 12 ปี สาเหตุมาจากการลดมูลค่าของสินทรัพย์ในธุรกิจรับส่งสินค้า การรวมตัวนัดหยุดงานของเจ้าหน้าที่ และการที่ผู้โดยสารหันไปใช้บริการรถบัสกันมากขึ้นแผนเพิ่มผลกำไรของดอยทช์บาห์น ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ ณ จุดนี้ได้แก่การวางมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย และขายกิจการบางอย่างให้กับเอกชน ที่ฮือฮามากที่สุดคือแผนเลิกธุรกิจรับส่งสินค้า ที่อาจทำให้พนักงานกว่า 3,500 คนทั่วประเทศถูกเลิกจ้าง  บริษัทประกาศว่าจะปรับปรุงคุณภาพบริการ โครงสร้างพื้นฐาน ตัวรถ ระบบราง ฯลฯ ให้ทันสมัย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้เงินถึง 55 ล้านยูโร (ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท) งบประมาณที่ใช้บางส่วนจะมาจากบริษัทเอง แต่อีกส่วนที่ใหญ่กว่าจะมาจากงบประมาณกลาง สื่อเยอรมันบอกว่ารัฐบาลเลยไม่ปลื้มกับแผนนี้สักเท่าไร  กิน เที่ยว ต้องเรื่องเดียวกันผู้ว่าฯ เมืองฟลอเรนซ์บอกว่าเมืองเก่าระดับ “มรดกโลก” ของอิตาลีนี้กำลังจะสูญเสียภาพลักษณ์เพราะบรรดาร้านที่ขายแต่อาหารต่างถิ่นและร้านขายของคุณภาพต่ำที่นำเข้ามาจากต่างประเทศสมาชิกสภาเมืองเชื่อว่านักท่องเที่ยวที่มาเยือนควรได้ลองลิ้มชิมรสอาหารที่มีชื่อเสียงประจำเมืองนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ จึงออกข้อบังคับให้ร้านอาหารที่กำลังจะเปิดใหม่ขายเฉพาะอาหารท้องถิ่นดั้งเดิมที่ใช้วัตถุดิบจากแคว้นทัสกานีเท่านั้น ส่วนร้านที่เปิดมาก่อนแล้ว ก็ยังมีเวลา 3 ปีในการปรับเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นให้ได้ถึงร้อยละ 70 เรื่องนี้ ออสกา ฟาริเน็ตติ เจ้าของ Eataly เครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตระดับโลกเห็นต่าง เขาบอกว่าตัวเลข ร้อยละ 70 นั้นสูงเกินไปและจะสร้างภาระให้กับร้านอาหารมากเกินไปอย่างไรก็ตาม มีข่าวออกมาแล้วว่าเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ก็อาจนำเอาข้อบังคับนี้ไปใช้เช่นเดียวกัน   เรื่องนี้เข้าทางนักท่องเที่ยว แต่ถ้ามีการควบคุมราคาด้วยจะดียิ่งขึ้นไปอีกนะนี่  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 กระแสต่างแดน

สร้างแลนด์มาร์คชาวเมืองโอลกีอาสโตร ซิเลนโต เมืองเล็กๆ ในแคว้นคัมพาเนีย ของอิตาลี ออกมาคัดค้านแผนการสร้างรูปปั้นแลนด์มาร์คของเมือง ด้วยงบประมาณ 150 ล้านยูโร (เกือบ 6,000 ล้านบาท) ทั้งๆ ที่ถนนและระบบประปายังอยู่ในสภาพย่ำแย่ เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงพ่อพีโอ นักบุญผู้เป็นที่เคารพรักของชาวอิตาลี นายกเทศมนตรีเมืองนี้ประกาศว่าจะสร้างรูปปั้นของท่านให้มีความสูงถึง 85 เมตร (เทพีเสรีภาพของอเมริกา หรือรูปปั้นพระเยซูมหาไถ่ในบราซิล ซึ่งสูงประมาณ 46 เมตร จะดูเล็กไปเลย)   ชาวบ้านส่วนใหญ่(จากทั้งหมด 2,200 คน) ไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อน ทั้งๆที่โครงการนี้มีมูลค่าสูงลิบ เงินเหล่านี้ควรนำไปปรับปรุงท่อส่งน้ำประปา สร้างถนนเพิ่ม หรือไม่ก็สร้างสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกที่มีแผนจะสร้างมาตั้งแต่ 22 ปีก่อนให้เสร็จเสียที นายกฯ เขายืนยันว่ารูปปั้นนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาใช้จ่ายเงิน เพิ่มรายได้ให้คนท้องถิ่น โครงการดังกล่าวดำเนินต่อไป โดยยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้เงินทุนจากแหล่งใด เงินภาษี? เงินอียู? หรือเงินบริจาคจากภาคเอกชน?  คืนข้ามปีเป็นที่รู้กันว่าโรงพยาบาลที่ไหนๆ ต่างก็เจอศึกหนักในคืนข้ามปี ยืนยันได้ด้วยรายงานตัวเลขผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคแอลกอฮอลเกินกว่าเหตุ แต่ปีนี้ที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย ทั้งตำรวจและทีมแพทย์ฉุกเฉินต่างยินดีเป็นที่ยิ่ง เพราะมีเหตุวุ่นวายน้อยลงกว่าปีก่อนหน้า อาจมีคนเรียกรถพยาบาลบ้าง แต่ก็เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ผู้อำนวยการแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลเซนต์วินเซนต์ ถึงกับกล้าฟันธงว่า ปีใหม่ที่ผ่านมานี่ถือว่าเป็นปีใหม่ที่ยอดเยี่ยมที่สุด เขาดีใจที่การรณรงค์ที่ผ่านมาได้ผลดีจนคนออสซี่เริ่ม “ดื่ม” แบบศิวิไลซ์มากขึ้น เป็นการส่งสัญญาณว่า แม้จะไม่เมาแต่เราก็ยังดูการแสดงดอกไม้ไฟตอนเคานท์ดาวน์ได้สนุกเหมือนเดิม     ด้านนายกเทศมนตรี ก็เป็นปลื้มที่วัฒนธรรมการดื่มของผู้คนกำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับในอีกหลายๆ ประเทศ (อาจยังไม่รวมประเทศไทย) แต่ที่กรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล เหตุการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง ทั้งตำรวจ ทั้งหน่วยกู้ภัยต่างงานล้นมือกันในคืนก่อนปีใหม่ มีผู้ป่วยถูกนำตัวเข้ามารับการรักษาฉุกเฉินที่โรงพยาบาลมาเกน เดวิด ถึง 461 คน ในจำนวนนี้มีเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลเพราะดื่มแอลกอฮอลมากไปถึง 63 คน   เรื่องไม่กล้วยนักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ออกมาเตือนว่า อีกไม่นานกล้วยหอมเขียวคาเวนดิช ซึ่งเป็นกล้วยพันธุ์ยอดนิยมที่สุดในขณะนี้กำลังจะถูกล้างเผ่าพันธุ์โดยเชื้อรา TR4 เชื้อราสายโหดนี้สามารถกบดานรอเวลาจู่โจมได้ถึง 30 ปี มันลงมือด้วยการทำลายกลไกการส่งน้ำ ต้นกล้วยจึงเหี่ยวเฉาอย่างรวดเร็วและแห้งตายในที่สุด TR4 (Tropical Race 4) ถูกค้นพบครั้งแรกในไต้หวัน หลังจากมันเป็นสาเหตุการตายหมู่ของต้นกล้วยจำนวนมาก 3 ปีก่อนหน้านั้น แต่เรื่องนี้มีคนรู้ค่อนข้างน้อย ต่อมามันได้แพร่กระจายเข้าไปในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงที่อื่นๆ เช่น จอร์แดน ปากีสถาน เลบานอน โอมาน และออสเตรเลีย ที่สำคัญ ยาฆ่าเชื้อราที่มีอยู่ขณะนี้ไม่สามารถทำอะไรมันได้ และถ้ามันขึ้นฝั่งละตินอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตกล้วยหอมร้อยละ 80 ของโลกได้ เราคงจะลำบากแน่   แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ครั้งหนึ่งกล้วยหอมพันธุ์กรอส มิเชล ก็เคยถูกโรคปานามากวาดล้างไปแล้ว นักวิจัยเสนอให้เร่งพัฒนากล้วยหอมสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถต้านทานโรคนี้ได้ ปัญหาคือมันต้องใช้ต้นทุนสูง แล้วใครจะอยากลงทุนวิจัยและพัฒนา “พืชกำพร้า” อย่างกล้วยหอม ถ้ามันถูกจัดให้เป็น “พืชเศรษฐกิจ” ก็คงจะดี ฉันก็เป็น ... ผู้หญิงคนหนึ่งสาวประเภทสองชาวญี่ปุ่นนางหนึ่ง ประกาศจะฟ้องสถานออกกำลังกายที่ไม่ยอมให้เธอใช้ห้องน้ำหญิง โดยอ้างว่าตามกฎหมายแล้วเธอยังเป็นผู้ชายอยู่ สุภาพสตรีรายนี้ประกาศว่าจะยื่นฟ้องต่อศาลแขวงเมืองเกียวโต เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย 4.8 ล้านเยน (ประมาณ 1.5 ล้านบาท) จากบริษัทโคนามิ สปอร์ตคลับ   ในปี 2552 เธอเป็นสมาชิกของสถานออกกำลังกาย สาขาในเกียวโต ในสถานภาพของผู้ชาย หลังจากถูกวินิจฉัยในปี 2555 ว่าเธอมีภาวะความไม่พอใจในเพศของตัวเอง เธอจึงเริ่มทานฮอร์โมนตามคำแนะนำของแพทย์ และเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศในปี 2557 ก่อนการผ่าตัด เธอได้ปรึกษาครูฝึกว่าถ้าเธอกลับมาในรูปลักษณ์ของผู้หญิง เธอจะสามารถใช้ห้องน้ำและห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าของผู้หญิงได้หรือไม่? แต่เธอได้รับคำตอบปฏิเสธจากผู้จัดการสาขา ซึ่งยืนยันว่าเธอจะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อเธอได้แจ้งเปลี่ยนเพศอย่างเป็นทางการแล้วแต่เธอทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะเธอมีลูกสาวที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี(กฎหมายญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 20 ปีแจ้งเปลี่ยนเพศ เพื่อป้องการการเกิดกระทบทางจิตใจต่อเด็ก) เธอบอกว่าอยากให้สังคมญี่ปุ่นเห็นความสำคัญของการเคารพสิทธิในการเลือกตัวตน และเธอต้องการเรียกร้องสิทธิที่จะใช้ชีวิตตามเพศที่เธอเลือก เพราะเธอมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ตามมาตรา 13 ในรัฐธรรมนูญ  ทำไมไม่แจ้ง?ตามประกาศฉบับใหม่ ผู้ใช้บริการรถไฟที่ได้รับความเดือดร้อนจากการยกเลิกเที่ยววิ่งหรือมาช้ากว่ากำหนดจะมีสิทธิขอเงินคืนได้ แต่การสำรวจล่าสุดของ Which? องค์กรผู้บริโภคในอังกฤษพบว่ามีเพียง 1 ใน 3 ของผู้โดยสารกลุ่มดังกล่าวเท่านั้นที่ยื่นเรื่องขอเงินคืน และเมื่อถามว่า ครั้งล่าสุดที่รถไฟของคุณมาสาย คุณได้รับการแจ้งสิทธิเรื่องการขอเงินคืนหรือไม่? ก็มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ตอบว่าได้รับแจ้ง สายสืบที่ปลอมตัวไปเป็นผู้โดยสารในสถานีรถไฟ 102 สถานี พบว่า มีไม่ถึง 1 ใน 5 ของสถานีเหล่านั้นที่อธิบายให้ผู้โดยสารเข้าใจเงื่อนไขการขอเงินคืน และมากกว่าร้อยละ 60 ไม่แจ้งผู้โดยสารว่าพวกเขามีสิทธิดังกล่าว ทั้งๆ ที่ผู้โดยสารเข้าไปถามกับเจ้าหน้าที่โดยตรง    สำนักงานกำกับดูแลการขนส่งทางรางและทางถนน Office of Rail and Road (ORR) ก็มีข้อมูลที่ยืนยันว่าผู้โดยสารมีการรับรู้เรื่องนี้น้อยมาก ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการได้มาร่วมลงนามเรื่องการให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้ที่มาซื้อตั๋วโดยสาร (ข้อมูลที่ว่านั้นหมายรวมถึงสิทธิในการได้รับเงินคืนด้วย)ผู้ประกอบการรถไฟบางเจ้ามีระบบคืนเงินอัตโนมัติ กรณีที่ผู้โดยสารซื้อตั๋วล่วงหน้าผ่านบัตรเครดิต แล้วขบวนรถเที่ยวนั้นมาสาย บางเจ้าใช้วิธีแจกตั๋วฟรีให้นำไปใช้วันหลัง เป็นต้น    เรื่องนี้ต้องติดตามตอนต่อไป Which? กำลังยืนเรื่องต่อ ORR ให้สอบสวนว่าเหตุใดผู้ประกอบการเหล่านั้นจึงไม่มีการแจ้งผู้โดยสารตามที่ได้ตกลงกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 กระแสต่างแดน

ป่วยเลือกได้วันนี้คนอเมริกันมีเว็บไซต์ที่พวกเขาสามารถค้นหาและเลือกศัลยแพทย์สำหรับการผ่าตัดชนิดไม่เร่งด่วนแล้ว เว็บ SurgeonRating.org จัดอันดับศัลยแพทย์ 50,000 คนในอเมริกา โดยใช้ข้อมูลของโครงการสิทธิประโยชน์เมดิแคร์ในปีพ.ศ. 2552 – 2556  แพทย์และนักสถิติจะเป็นผู้จัดอันดับโดยใช้เกณฑ์ต่างๆ เช่น อัตราการเสียชีวิต อาการของผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด และผลการประเมินโดยแพทย์อื่นๆ  ผู้ที่ต้องการค้นหาว่าควรเข้ารับการผ่าตัดจากแพทย์ท่านไหนสำหรับอาการเจ็บป่วยของตนเอง สามารถเข้าไปที่เว็บนี้ พิมพ์รหัสไปรษณีย์ลงไป แล้วเลือกประเภทการผ่าตัด (ณ ปัจจุบันมีให้เลือก 14 ประเภท เช่น ผ่าตัดเข่า ผ่าตัดสะโพก หรือต่อมลูกหมาก เป็นต้น) ระบบก็จะขึ้นชื่อแพทย์มาให้เลือกศัลยแพทย์ที่ไม่มีชื่อในระบบคือกลุ่มที่ยังมีประวัติการรักษาในระบบเมดิแคร์ไม่มากพอ หรือไม่ก็ได้คะแนนประเมินต่ำกว่าค่าเฉลี่ยส่วนเว็บ SurgeonScorecard จะประเมินศัลยแพทย์ 17,000 คนที่เคยทำการผ่าตัดชนิดไม่เร่งด่วนที่นิยมกันมากที่สุด 8 ประเภท โดยใช้ข้อมูลของเมดิแคร์เช่นกัน (จากปีพ.ศ. 2552 – 2557) โดยผู้ป่วยสามารถค้นหาจากรัฐ โรงพยาบาล หรือชื่อศัลยแพทย์ได้เลย แพทย์ 24 คนและทีมงานของเว็บไซต์จะเป็นผู้จัดอันดับ โดยใช้ข้อมูลอาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด (กรณีผู้ป่วยกลับเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลอีกครั้งภายใน 30 วัน) แต่เขาจะตัดกรณีที่คนไข้ป่วยหนัก มีความเสี่ยงสูง อายุมาก สุขภาพไม่ดี หรือโรงพยาบาลมีผลการดำเนินงานต่ำออกไปแต่กว่าจะได้ข้อมูลมาใช้ในเว็บไซต์เหล่านี้ก็ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี  เมื่อปีพ.ศ. 2552 องค์กร Center for the Study of Services/Consumers’ Checkbook (ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บ SurgeonRating.Org) ฟ้องศาลเพื่อขอสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลสถิติการผ่าตัดของแพทย์ แต่เขาเพิ่งจะได้ข้อมูลครบสมบูรณ์ในเดือนตุลาคม ปีที่แล้วนี่เอง    ร็อคไม่ดีมีคืนคณะกรรมการตัดสินข้อพิพาทระหว่างผู้ประการกับผู้บริโภคของฟินแลนด์ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากแฟนเพลงที่ซื้อตั๋วไปดูคอนเสิร์ตของชัค เบอรี่ ที่เมืองเฮลซิงกิ เมื่อสองปีก่อน แฟนเพลงระบุว่าตำนานร็อคแอนด์โรลในวัย 89 ปี ดูเหมือนจะยืนเล่นกีตาร์แทบไม่ไหว เจ้าตัวก็ออกปากขอโทษกับแฟนๆ กลางเวทีเรื่องสภาพร่างกายของตัวเอง เรียกว่าคอนเสิร์ตวันนั้นค่อนข้างกร่อย    คณะกรรมการฯ ตัดสินว่า เมื่อศิลปินทำการแสดงไม่ได้ตามมาตรฐานที่คาดหวัง แฟนเพลงที่เสียเงินเข้าชมก็มีสิทธิขอเงินคืนได้ครึ่งหนึ่งของราคาตั๋วที่จ่ายไป แต่นั่นต้องเป็นความเห็นร่วมกันของแฟนเพลงนะ ไม่ได้หมายความว่า ถ้าคุณไปดูคอนเสิร์ตแล้วรู้สึกหงุดหงิดไม่ชอบอยู่คนเดียวก็จะไปขอเงินคืนได้ถ้ายังจำกันได้ เมื่อ 7 ปีก่อน ศิลปินร็อครุ่นใหญ่อย่าง นีล ยัง ก็ประกาศคืนเงินให้แฟนเพลง 11,000 คนที่ผิดหวังจากการมาดูคอนเสิร์ตของเขาที่โอไฮโอ เพราะเขารู้ตัวดีว่าเสียงแหบ ร้องไม่ดี และผู้คนพากันทยอยเดินออกตั้งแต่คอนเสิร์ตยังไม่จบ  รอกันอีกนิดนึง ข่าวดี! การรถไฟฝรั่งเศส (SNCF) สั่งซื้อรถไฟที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มาวิ่งในเส้นทางสาย TER เลียบชายหาดริเวียร่า เพื่อรองรับผู้โดยสารจำนวนมากที่เดินทางระหว่างฝรั่งเศสและอิตาลี ปัจจุบันมีถึงวันละ 130,000 คนเดือนกรกฎาคม บริษัทบอมบาเดียร์ผู้รับสัมปทานได้ส่งมอบรถไฟรุ่น Regio 2N ที่รองรับผู้โดยสารได้ขบวนละ 1,000 คน เรียบร้อยแล้ว แต่ข่าวร้ายคือ ขณะนี้รถไฟขบวนดังกล่าวยังคงสิ้นสุดเส้นทางที่เมือง Menton ของฝรั่งเศสเท่านั้น เพราะอะไรน่ะหรือ? หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Nice Matin ออกมาเปิดเผยว่าเป็นเพราะรถไฟใหม่นี้มันสูงเกินกว่าที่ควรไปประมาณ 2-3 มิลลิเมตร จึงไม่สามารถลอดอุโมงค์จากฝรั่งเศสเข้าไปถึงอิตาลีได้ปัญหาแนวนี้ไม่ได้เพิ่งเคยเกิดขึ้นกับ SNCF หรอกนะ ปีที่แล้วเขาก็ต้องใช้งบประมาณถึง 50 ล้านยูโร (ประมาณ 1,859 ล้านบาท) เพื่อขยายชานชาลากว่า 1,300 แห่ง หลังจากพบว่ามันแคบเกินไปสำหรับรถไฟที่สั่งมาใหม่จำนวนหลายร้อยตู้ ข่าวไม่ได้บอกว่าปัญหาตัวรถสูงไปนี้จะต้องใช้งบในการแก้ไขเท่าไร บอกแต่ว่าใครที่รอจะขึ้นสายนี้เต็มเส้นทางก็ต้องรอถึงเดือนพฤศจิกานะจ๊ะ ... ขอเวลาขูดเพดานอุโมงค์แพ้บ!! เพิ่ม 20 ลด 20นักวิจัยนิวซีแลนด์พบว่า การเพิ่มภาษีอาหารที่มันหรือเค็มเกินพิกัดขึ้นร้อยละ 20 พร้อมๆ กับการลดภาษีผัก/ผลไม้ลงร้อยละ 20 จะสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้ปีละ 2,400 คน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยโอทาโก้ มหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ค้นพบว่าสูตรเพิ่ม 20 ลด 20 นี้จะทำให้คนเลือกซื้ออาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น พวกเขาใช้ข้อมูลจาก Statistics NZ มาเป็นฐานในการจำลองเรื่องราคา ปริมาณการซื้อ และอัตราการตายจากหัวใจวาย โรคเบาหวาน หรือมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับนิสัยการกินสิ่งที่พบคือ อัตราการตายโดยรวมจะลดลงร้อยละ 6.8 เมื่อราคาอาหารกลุ่มที่มีเกลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และอัตราดังกล่าวจะลดลงร้อยละ 5 เมื่อราคาอาหารในกลุ่มที่มีไขมันสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในขณะเดียวกัน ถ้าลดราคาผัก/ผลไม้ลงร้อยละ 20 อัตราการตายจะลดลงไปอีกร้อยละ 1.9   คุณอาจสงสัยว่าทำไมเขาไม่พูดถึงเรื่องภาษีน้ำตาล คำตอบคือข้อมูลที่ไม่ยังไม่เพียงพอจะนำมาสร้างแบบจำลองได้นั่นเอง   รับประกันสอบตกใครๆ ก็พูดถึงไอเดียสตาร์ทอัพ  นักศึกษาหนุ่ม 3 คนจากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และการเงินแห่งเซี่ยงไฮ้ก็เช่นกันเด็กกลุ่มนี้เกิดปิ๊งไอเดียการทำธุรกิจขึ้นมาได้ตอนที่สมาชิกในกลุ่มคนหนึ่งสอบตก แล้วรำพึงรำพันว่า ... ถ้ามีประกันการสอบตกนี่มันน่าจะดีนะ ว่าแล้วก็พากันรวบรวมข้อมูลอัตราการสอบตกย้อนหลังของเพื่อนๆในรุ่น แล้วพบว่า ... อืม ... ดูถ้าพวกเราคงจะทำธุรกิจได้ จากนั้นก็เคาะออกมาว่า เขาจะเก็บ “เบี้ยประกัน” จากเพื่อนๆที่สนใจคนละ 5 หยวน (25 บาท) ด้วยเงื่อนไขว่าพวกเขาจะได้รับเงินชดเชย 30 หยวน (150 หยวน) ถ้าสอบไม่ผ่าน แต่ถ้าพวกเขาทำคะแนนได้มากกว่าร้อยละ 90 ก็จะได้เงินไป 20 หยวน (100 บาท) เช่นกันไอเดียนี้ได้รับความสนใจพอสมควร ขนาดเริ่มเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ยังมีเพื่อนนักศึกษาสนใจ “ทำประกันภัยสอบตก” ถึง 150 คน เขาบอกว่าถ้าเริ่มธุรกิจก่อนสอบปลายภาค จะมีคนสนใจมากกว่านี้อีกพวกเขาคิดจะตั้งบริษัททำธุรกิจนี้เต็มรูปแบบ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้ความเห็นว่า แบบนี้ทำเล่นๆ ก็พอได้ แต่ถ้าเป็นธุรกิจจริงๆขึ้นมาก็ต้องมีหน่วยงาน มีกฎหมายเข้ามาควบคุมเพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจถูกหลอกกันได้ทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับการประกัน เดี๋ยวจะพาลกลุ้มใจเสียดายเงินจนสอบไม่ผ่านกันหมดนะจ๊ะเด็กๆ    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 กระแสต่างแดน

บริการไม่เข้าป้ายฟังแล้วเฉยไว้ อย่าไปอิจฉาเขา … รถไฟที่อิตาลีเขามีการตรวจสอบคุณภาพกันอย่างสม่ำเสมอโดยองค์กรปกครองท้องถิ่นที่รถไฟวิ่งผ่านล่าสุดแคว้นทัสคานีเขาตรวจสอบแล้วได้ความว่าต้องสั่งปรับบริษัทเทรนอิตาเลียหรือการรถไฟอิตาลี เป็นเงิน 644,000 ยูโร (25 ล้านบาท) โทษฐานที่ฝ่าฝืนสัญญาจ้างหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่การไม่จัดจำนวนตู้โดยสารให้เพียงพอกับจำนวนคน ไม่แจ้งข้อมูลแก่ผู้บริโภคเมื่อขบวนรถเกิดการล่าช้า ไม่มีป้ายหรือสัญลักษณ์ที่เพียงพอในตัวสถานี ไปจนถึงเรื่องห้องน้ำไม่สะอาด หรือระบบปรับอากาศไม่ทำงาน เป็นต้นนี่คือผลจากการตรวจทั้งหมด 14,000 ครั้ง เมื่อปีที่แล้ว แต่เท่านั้นยังไม่พอ รฟต. ยังถูกปรับเพิ่มอีก 4,000 ยูโร (150,000 บาท) เพราะไม่ยอมรับโทรศัพท์สายด่วนสำหรับร้องเรียนบริการ ปิดท้ายขบวนด้วยเรื่องความล่าช้าหรือยกเลิกการเดินทาง ที่ทำให้เทรนอิตาเลียโดนปรับเพิ่มอีก 4.3 ล้านยูโร หรือประมาณ 160 กว่าล้านบาท (นี่ขนาดสถิติการตรงเวลาเขาอยู่ที่ร้อยละ 90 นะ)สาเหตุของความล่าช้านั้น ข่าวบอกว่าเป็นเพราะความหนาแน่นที่สถานีฟลอเรนซ์ ตั้งแต่เริ่มมีระบบรถไฟความเร็วสูงในปี 2008 มาจนบัดนี้ การประสานงานเชื่อมต่อของรถไฟทั้งสองประเภทก็ยังไม่ลงตัวอ้าว ... ตกลงว่าถ้ามีรถไฟความเร็วสูงแล้ว รถไฟธรรมดาๆ จะต้องใช้เวลามากขึ้นหรือนี่ ?!! เสื้อผ้าดีๆมีที่ไหน? ถ้าผู้บริโภคต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตจากโรงงานที่มีสภาพการทำงานที่เป็นมิตรและปลอดภัยต่อลูกจ้าง เขาหรือเธอจะไปช้อปที่ไหน? อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  แต่คุณทราบหรือไม่ว่ามีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ที่เป็นการผลิตเสื้อผ้าด้วยกระบวนการผลิตที่ผ่านมาตรฐาน “จริยธรรม” จริงๆ ยกตัวอย่างที่บังคลาเทศเอง ซึ่งอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าถึง 20,000 ล้านเหรียญ โรงงานส่วนใหญ่ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีทางหนีไฟ และมีความเสี่ยงที่จะถล่มลงมา ตัวอย่างเช่น ตึกรานา พลาซ่า ที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 700 คน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตึกดังกล่าวมีโรงงานผลิตเสื้อผ้าอยู่ทั้งหมด 5 โรง ที่ผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ดังๆ จากสหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ อิตาลี เสปน เยอรมนี และเดนมาร์ค ความจริงแล้วแบรนด์เหล่านี้ได้กำหนดมาตรฐานโรงงานไว้แล้ว ขาดแต่การกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพราะการตรวจสอบโรงงานในต่างประเทศจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือยังไม่ได้รับแรงกดดันมากพอจากผู้บริโภค แต่อุบัติเหตุครั้งใหญ่ๆ ที่ผ่านมา ก็ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการค้าปลีกเสื้อผ้าอยู่บ้าง เช่น วอลมาร์ท ห้างค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศเมื่อเดือนมกราคมว่าจะยกเลิกสัญญากับโรงงานที่ไม่ผ่านการตรวจสอบทันทีที่พบว่าฝ่าฝืนข้อตกลง (เปลี่ยนจากของเดิมคือแค่ตักเตือน) หรือกรณีของบริษัท The Gap ก็บอกว่าจะจ้างเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบเรื่องของความเสี่ยงไฟไหม้ให้กับโรงงานที่รับจ้างผลิตเสื้อผ้าของบริษัททั้งหมดในบังคลาเทศ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีเจ้าไหนยินดีลงนามรับข้อเสนอขององค์กรพัฒนาเอกชนและสหภาพแรงงานบังคลาเทศที่ต้องการยกระดับความปลอดภัยของโรงงานผลิตเสื้อผ้าในบังคลาเทศ เพราะเท่ากับเป็นการผูกมัดให้บริษัทต้องรับผิดเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้รวมถึงต้องจ่ายเงินเพื่อการซ่อมแซมโรงงานด้วย เรื่องนี้ยังต้องติดตามตอนต่อไป .. แต่การระบุสถานที่ผลิตไว้ในฉลากสินค้าก็น่าจะช่วยให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคได้บ้าง หรือว่านี่ก็ทำให้ต้นทุนเพิ่มอีก?   อวสานธุรกิจกระดาษ? การรณรงค์ลดการใช้กระดาษในประเทศฟินแลนด์เขาได้ผลจริงๆ หลักฐานคือการปรับตัวขนานใหญ่ของอุตสาหกรรมกระดาษในประเทศ อุตสาหกรรมนี้จ้างแรงงานถึง  40,000 คน และนี่คือตัวเลขที่ลดลงไป 3 เท่าแล้วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหานี้มีกันทั่วยุโรป เมื่อธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่นิตยสาร ไปจนถึงตั๋วเครื่องบิน พากันทำทุกอย่างโดยไม่ง้อกระดาษ UPM-Kymmene Corp ผู้ผลิตกระดาษสำหรับแม็กกาซีนเจ้าใหญ่ที่สุดในโลก ลดการผลิตลงไป 850,000 ตันในปีนี้ ซึ่งการลดกำลังการผลิตลงร้อยละ 7 นี้ส่งผลกระทบต่อ โรงงานทั้งในฟินแลนด์ เยอรมนี และฝรั่งเศส ส่วน Stora Enso เจ้าใหญ่อีกรายหนึ่งก็ประกาศลดกำลังผลิตลงมาเหลือ 475,000 ตัน ทำให้ต้องปิดโรงงานในสวีเดนไป 2 โรง แต่เดี๋ยวก่อน ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไป บริษัท UPM หันมาเอาดีทางด้านพลังงานทางเลือก ด้วยการลงทุน 150 ล้านยูโรสร้างโรงกลั่นแห่งแรกของโลกที่ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากน้ำมันที่เป็นผลพลอยได้จากการนำต้นสนมาผลิตกระดาษ และเพราะความต้องการใช้กระดาษที่อื่นๆในโลกไม่ได้ลดลงเหมือนที่ฟินแลนด์ UPM จึงไปลงทุนสร้างโรงงานกระดาษในประเทศจีน เช่นเดียวกับ Stora Enso ที่ไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตกระดาษกล่อง ในมณฑลกวางสี และร่วมทุนกับบริษัทจากชิลีเปิดโรงงานกระดาษในอุรุกวัย เป็นต้น   ประหยัดได้อีก จุดขายของรถนาทีนี้ ไม่มีอะไรแรงไปกว่าเรื่องของการประหยัดน้ำมันอีกแล้ว แต่ใครเลยจะรู้ว่าระยะทางที่วิ่งได้ต่อน้ำมันหนึ่งแกลลอนนั้นเป็นไปตามที่โฆษณาไว้หรือไม่? บังเอิญว่านิตยสารผู้บริโภคของอังกฤษ Which? เขามีทุนมากพอจะทดสอบได้ เลยพบข้อมูลที่น่าสนใจทีเดียว Which? ทดสอบรถเล็ก 2 รุ่น ที่อ้างว่าประหยัดน้ำมัน ได้แก่ ฟอร์ด เฟียสต้า 1.0 อีโคบู๊สต์ และ เรโนลด์ คลิโอ 0.9 TCE 90 และพบว่า ฟอร์ด เฟียสต้า 1.0 อีโคบู๊สต์ วิ่งได้น้อยกว่าที่โฆษณาไว้ถึง 9.2 ไมล์ต่อแกลลอน (โฆษณาบอกว่า วิ่งได้ 76.4 mpg สำหรับนอกเมือง แต่การทดสอบของ Which? พบว่าวิ่งได้ 65.7 mpg เท่านั้น) และค่าเฉลี่ยสำหรับการวิ่งในเส้นทางทุกประเภทอยู่ที่ 56.5 ไมล์ต่อแกลลอน ไม่ใช่ 65.7 เหมือนที่อ้างด้วย เมื่อลองคำนวณดู โดยใช้ราคาน้ำมันในปัจจุบัน และสมมุติระยะทางใช้รถไว้ที่ 12,000 ไมล์ต่อปี ก็หมายความว่า รถรุ่นนี้จะต้องใช้เงินค่าน้ำมันเกินกว่าที่ตั้งใจไว้ถึง 185 ปอนด์ (ประมาณ 8,400 บาท) ต่อปี เช่นเดียวกับ เรโนลด์ คลิโอ 0.9 TCE 90 ที่วิ่งได้น้อยกว่าโฆษณา 8.5 ไมล์ต่อแกลลอน ซึ่งหมายความว่าเจ้าของรถรุ่นนี้จะต้องใช้เงินค่าน้ำมันเกินกว่าที่ตั้งใจไว้ถึงปีละ 186 ปอนด์ (ประมาณ 8,450 บาท) Which? ยืนยันว่าวิธีการทดสอบของเขาใกล้เคียงกับการใช้รถจริงมากกว่าการทดสอบของ EU ด้วย   ทำงานที่นี่มีความสุข ความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการเป็นเรื่องที่เราได้ยินกันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ที่ไต้หวันเขามีมุมมองใหม่ เขาจะใช้มันเพื่อเพิ่มระดับความสุขให้คนในประเทศ รัฐบาลไต้หวันให้ความเชื่อมั่นว่าถ้าคุณมีงานทำ คุณก็จะมีความสุข อย่างน้อยก็ใน 1,600 บริษัทที่ร่วมลงนามใน “คำประกาศว่าด้วยความสุขในที่ทำงาน” ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ 6 กระทรวง กระทรวงเศรษฐกิจเขาบอกว่ารัฐบาลต้องการลดความเครียดของผู้คนในช่วงเศรษฐกิจขาลง และโครงการนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำ “ดัชนีความสุขในที่ทำงาน” ด้วย เขาเน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นหลัก ตั้งแต่การมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม การทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล การคืนกำไรให้กับสังคมและร่วมดูแลผู้ด้อยโอกาส นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องความปลอดภัยในที่ทำงาน การมีพื้นที่ทำงานที่สะดวกสบาย มีโอกาสได้รับการจ้างงานและได้รับความก้าวหน้าเท่าเทียมกัน มีเงินช่วยเหลือหลังเกษียณ ฯลฯ และต้องให้พนักงานได้มีสมดุลระหว่างเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว มีวันหยุดเพียงพอ เลือกชั่วโมงทำงานได้ ฯลฯ  ที่สำคัญที่สุดคือการผลิตสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ เพราะความสุขจะกระจายออกไปถึงผู้บริโภคหรือพลเมืองทุกคนนั่นเอง //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 กระแสต่างแดน

  จับจริงปรับจริง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ดานัง ซึ่งเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่อันดับ 4 ของประเทศเวียดนาม เขาจะเพิ่มความเข้มข้นของการปราบปรามการทำผิดกฎจราจรขึ้นอีกระดับ อย่างแรก ถ้าคุณทำผิดกฎจราจร คุณจะต้องเสียค่าปรับแพง อย่างที่สอง ตำรวจจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 4 เส้นทางหลักในการเข้า/ออกตัวเมืองดานัง ซึ่งมีความวุ่นวายจอแจไม่ธรรมดา จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกคนละ 5 ล้านด็อง (ประมาณ 7,400 บาท) จากอัตราเงินเดือนปกติ 2 ล้านด็อง (ประมาณ 3,000 บาท) ในขณะที่สารวัตรจราจรจะได้เงินเพิ่มอีกเดือนละ 2 ล้านด็อง (ประมาณ 3,000 บาท) แถมด้วยส่วนแบ่งอีกร้อยละ 10 จากค่าปรับที่เรียกเก็บจากพวกที่ทำผิดกฎจราจรอีกต่างหาก เท่านั้นยังไม่พอ เขาจะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ตามจุดตรวจเพื่อลดการติดสินบนเจ้าหน้าที่อีกด้วย ใครมีภาพตัวเองรับสินบน ไม่ว่ามากหรือน้อย จะต้องถูกไล่ออกทันที อีกหน้าที่หนึ่งของตำรวจจราจรที่ดานังคือการตรวจคุณภาพของหมวกกันน็อคของบรรดาผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ด้วย เพราะเมืองนี้กำลังมีปัญหาหมวกกันน็อคปลอมระบาด ที่คนนิยมซื้อมาใช้เพราะราคาถูกกว่ากันครึ่งต่อครึ่ง   ข่าวบอกว่าตำรวจเขาจะเชิญสิงห์มอเตอร์ไซค์เข้าไปนั่งรอการตรวจหมวกกันน็อคในที่ร่มๆ ให้สบายใจ ถ้าพบว่าเป็นชนิดที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เขาก็จะเก็บไว้ แล้วให้ซื้อหมวกกันน็อค ที่ทั้งคุณภาพดี มีมาตรฐาน และราคาเพียงใบละ 80 บาทใส่กลับบ้านไปด้วย เหตุที่ผลิตออกมาได้ถูกนั้นก็เพราะ เทศบาลเมืองดานังเขาให้เงินกู้แบบไม่คิดดอกเบี้ย (ประมาณ 11.7 ล้านบาท) กับผู้ผลิตหมวกกันน็อค เพื่อเป็นต้นทุนในการผลิตหมวกนิรภัยที่มีมาตรฐาน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องผลิตหมวกนิรภัยให้กับเทศบาล 100,000 ใบ ภายในระยะเวลา 2 ปี   รถไฟสายพิเศษ การรถไฟแห่งประเทศฝรั่งเศส ถูกศาลสั่งให้จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 1,500 ยูโร (ประมาณ 60,000 บาท) ให้กับสาวนางหนึ่งที่ไปทำงานสายถึง 6 ครั้งในช่วงทดลองงาน เพราะรถไฟที่เธอใช้เพื่อเดินทางจากบ้านไปยังสำนักงานในเมืองลียงนั้นมาไม่ตรงเวลา เธอคนนี้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก SNCF หรือ Société Nationale des Chemins de fer Français (ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟเจ้าใหญ่ของยุโรป รวมถึงเป็นเจ้าของกิจการรถไฟความเร็วสูง TGV ด้วย) ไปทั้งหมด 45,000 ยูโร (ประมาณ 1.8 ล้านบาท) โทษฐานที่ทำให้เธอต้องได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ และสูญเสียรายได้ที่อาจเกิดขึ้นถ้าเธอผ่านการทดลองงานด้วย เธอบอกว่าระยะเวลาที่ต้องรอนั้นมีตั้งแต่ 10 ถึง 75 นาที และสำนักงานกฎหมายที่เธอเข้าทดลองงานในเดือนมิถุนายน ปี 2010 ก็ยืนยันว่าการมาสายของเธอเป็นผลเสียต่อกิจการของบริษัท ศาลเห็นด้วยว่าการที่รถไฟมาไม่ตรงเวลานั้น ทำให้เธอเกิดความเครียด จึงสั่งให้ SNCF จ่ายเงินชดเฉยให้กับเธอเป็นเงิน 1,500 ยูโร แม้ว่าผู้บริโภคจะไม่ได้ค่าชดเชยทั้งหมดที่เรียกร้องไป แต่ข่าวบอกว่านี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่การรถไฟฝรั่งเศสจะต้องเตรียมตัวรับมือต่อไป สองปีก่อน การรถไฟฝรั่งเศสเคยถูกศาลสั่งให้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ทนายคนหนึ่งเป็นเงิน 5,000 ยูโร (ประมาณ 200,000 บาท) เพราะรถไฟมาสายและทำให้เขาพลาดรถที่จะต้องต่อไปพบลูกความที่เมืองนีมส์ มาแล้ว     วันนี้ห้ามขาย สำนักงานเทศบาลของ 25 เขตในกรุงโซลลงความเห็นร่วมกันว่า แต่นี้ต่อไป ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และสาขาย่อยที่เรียกกันว่า SSM (super supermarkets) ของห้างเหล่านั้น จะต้องปิดทำการในวันอาทิตย์ที่สองและสี่ของเดือน นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะช่วยให้ร้านค้าแบบดั้งเดิม (หรือที่บ้านเราเรียก “โชว์ห่วย”) ให้สามารถอยู่ควบคู่กันไปกับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องปิดกิจการนั่นเอง กรุงโซลเป็นหนึ่งในหลายๆ เมือง ที่กำลังปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ ที่ให้อำนาจแก่องค์กรท้องถิ่น ในการสั่งให้ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่และสาขาย่อย ปิดทำการได้ถึงเดือนละ 2 ครั้ง และการฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 30 ล้านวอน(ประมาณ 800,000 บาท) ทั้งนี้มีข้อยกเว้นสำหรับห้างที่ยอดขายเกินร้อยละ 50 มาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากการเกษตรและปศุสัตว์ ร้าน Hanaro Club ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกที่ดำเนินงานโดยสหพันธ์สหกรณ์การเกษตรแห่งชาติของเกาหลีก็เข้าข่ายนี้เช่นกัน และแน่นอนที่สุด สมาคมร้านค้าปลีกของเกาหลี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ทบทวนกฎหมายดังกล่าว เพราะ “มันเป็นการละเมิดสิทธิของห้างในการประกอบธุรกิจ และละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในการจับจ่าย”  นอกจากนี้ยังบอกว่าจะล่ารายชื่อ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อคัดค้านกฎหมายนี้ สมาคมฯ โอดครวญว่า ทีพวกขายของทางโทรทัศน์หรือทางอินเตอร์เน็ทยังขายได้ทุกวัน วันละ 24 ชั่วโมงเลย (ว่าแต่ร้านโชว์ห่วยเขาขายของแบบเดียวกันกับร้านพวกนี้หรือไงนะ?)     แคลอรี่ บลา บลา? เนื่องจากประชากรของเขามีอัตราการเกิดโรคอ้วนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของยุโรป รัฐบาลอังกฤษเลยตัดสินใจประกาศแผนลดความอ้วนระดับชาติ ด้วยการกำหนดให้ผู้ผลิตลดปริมาณแคลอรี่ในอาหารสำเร็จรูปลง เบื้องต้นได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ 17 ราย ซึ่งรวมถึง โคคา โคล่าที่ประกาศว่าจะลดปริมาณแคลอรี่ในเครื่องดื่ม (บางชนิด) ของตนเองลงร้อยละ 30 เช่นเดียวกับ Mars ที่บอกว่าจะทำขนมหวานรสช็อคโกแล็ต แต่ละชิ้นให้มีแคลอรี่ไม่เกิน 250 หรือห้าง Asda ที่ประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์แบรนด์ใหม่ที่จะผลิตเฉพาะอาหารแคลอรี่ต่ำ เป็นต้น เรื่องนี้จะว่าดีก็ใช่ แต่มันยังไม่ถึงที่สุด พรรคแรงงานออกมาตั้งคำถามกับรัฐบาลว่าทำไมถึงไม่คิดถึงทางเลือกอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากกว่านี้ เช่น กำหนดให้ผู้ประกอบการปรับปรุงฉลากอาหาร หรือจำกัดการโฆษณาอาหารขยะทั้งหลายที่เด็กๆ พบเห็นบ่อยเกินไปในโทรทัศน์ เป็นต้น อีกความพยายามที่น่าสนใจของรัฐบาลอังกฤษคือการขอให้ผู้ผลิตทำบรรจุภัณฑ์ที่เอื้อต่อการเก็บไว้รับประทานในคราวต่อไปได้ด้วย     ถนนนี้เราจอง คุณอาจเคยได้ยินชื่อ เอมิเรตส์ สเตเดียม ในกรุงลอนดอน หรือถ้าคุณเป็นแฟนของทีมฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ คุณก็คงจะรู้จักคิง พาวเวอร์ สเตเดียม แต่ “แบรนด์” ต่างๆ สามารถไปได้ไกลกว่านั้น อย่างน้อยๆ ก็ที่รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เพราะเขาประกาศขายสิทธิในการตั้งชื่อถนน ทางหลวง สะพาน ฯลฯ ให้กับใครก็ตามที่ยินดีให้ราคาสูงสุดในการประมูล เวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับที่ 12 ของอเมริกา ตัดสินใจผ่านกฎหมายดังกล่าวเพื่อหางบประมาณมาซ่อมแซมถนน ซึ่งแต่ละสายก็อายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี นักการตลาดบอกว่านี่เป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการในยุคที่ “แบรนด์” ทั้งหลายแข่งกันสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค แทนที่จะไปทุ่มเทเงินให้กับนักกีฬาหรือทีมกีฬาที่รวยอยู่แล้ว บริษัทต่างๆ ควรใช้เงินเพื่อสนับสนุนการดูทรัพย์สินสาธารณะดีกว่า ในทางกลับกัน ฝ่ายที่คัดค้านมองว่ามันเป็นการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการค้า ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องถูกแวดล้อมไปด้วยโฆษณาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 กระแสต่างแดน

      คนบ้านเดียวกันประเทศมั่งคั่งอย่างแคนาดาก็มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารกับเขาเหมือนกันหรือนี่   สมาพันธ์การเกษตรแห่งแคว้นโนวา สโกเชีย บอกว่าในทุกๆ 1 เหรียญที่คนแคนาดาใช้จ่ายกับการซื้ออาหารนั้น มีเพียง 13 เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นรายได้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น งานวิจัยที่ติดตามเรื่องนี้มาเป็นเวลากว่า 3 ปี พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว อาหารที่ประชากรของแคว้นนี้รับประทานกันอยู่นั้น ต้องเดินทางรอนแรมมาไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลเมตร โดยปกติแล้วครัวเรือนในแคนาดานั้นใช้จ่ายกับเรื่องอาหารค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว  เมื่อเทียบกับประชากรในอเมริกา หรือออสเตรเลีย   แต่งานวิจัยเรื่องนี้ระบุว่าปรากฏการณ์ห้างค้าปลีกเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรในแคว้นนี้ต้องปิดกิจการกันไปเป็นจำนวนมาก เช่นปัจจุบันแคว้นนี้มีฟาร์มหมูเหลืออยู่เพียง 4 ฟาร์มเท่านั้น จากที่เคยมีถึง 90 ฟาร์มเมื่อ 10 ปีก่อน อย่างที่รู้ๆ กัน ซูเปอร์มาเก็ตเจ้าใหญ่ๆ สามารถนำเข้าสินค้าเกษตรในปริมาณมากและในราคาที่ค่อนข้างต่ำทำให้สามารถขายให้กับผู้บริโภคในราคาที่ถูกกว่าผลผลิตในท้องถิ่นได้ เกษตรกรในพื้นที่จึงต้องหันไปทำอย่างอื่นแทน  พูดง่ายๆ แคว้นนี้กำลังสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหารนั่นเอง เพราะคนรุ่นใหม่ก็ไม่สนใจที่จะสานต่อกิจการของเกษตรกรรุ่นปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้มีอายุเฉลี่ย 55 ปีแล้วด้วย แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ถึงกับหมดหวัง รายงานดังกล่าวประเมินว่าถ้าผู้คนในแคว้นโนวา สโกเชียหันมาอุดหนุนเนื้อวัวที่ผลิตในท้องถิ่น จะทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 65.5 ล้านเหรียญ และสร้างงานได้ถึง 1,300 ตำแหน่งทีเดียว นั่นไง ฮีโร่ตัวจริงก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ นี่เอง   นักศึกษาก็ผู้บริโภค ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษาในอังกฤษและเวลส์เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยตัวเอง มากขึ้นร้อยละ 50 รายงานของสำนักงานตุลาการอิสระระบุว่า สาขาวิชาที่มีนักศึกษาร้องเรียนมากที่สุดได้แก่ บริหารธุรกิจ กฎหมาย และแพทย์ศาสตร์ และส่วนใหญ่มักเป็นนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาหรือนักศึกษาต่างชาติ รายงานดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า การร้องเรียนที่เพิ่มขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่านักศึกษาเริ่มมองเห็นตนเองในฐานะ “ผู้บริโภค”มากขึ้น และเริ่มรับ “การศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐาน” ไม่ได้ เพราะนักศึกษาทุกวันนี้เริ่มมีหนี้สินมากขึ้น จึงทำให้มีความเครียด และความคาดหวังมากขึ้น   (แม้จะเป็นพียงแค่ร้อยละ 0.05 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นเพราะการร้องเรียนนั้นมีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก)   ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 1,007 เรื่อง และ 1 ใน 5 ของเรื่องร้องเรียนเหล่านี้   "เป็นเรื่องที่ฟังขึ้น" ข้อร้องเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวกับการที่มหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการของตัวเองตามที่ได้แจ้งนักศึกษาไว้  ทั้งนี้สำนักงานตุลาการอิสระสามารถตรวจสอบว่ามหาวิทยาลัยได้ให้สิ่งที่สัญญาไว้กับผู้เรียนหรือไม่ แต่ไม่สามารถตรวจสอบเรื่องของการให้คะแนน การตัดเกรด หรือคุณภาพการสอนได้ในปี พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยเหล่านี้ต้องจ่ายค่าชดเชยไปเป็นจำนวนทั้งสิ้น 163,000 ปอนด์  (ประมาณ 8 ล้านกว่าบาท) ซึ่งเป็นการจ่ายให้กับ การสูญเสียโอกาสในการได้งานทำ โอกาสในการก้าวหน้าทางการงานหรือความเครียด เป็นต้น   นักศึกษาคนหนึ่งได้รับเงินชดเชย 750 ปอนด์ (37,800 บาท) กับการที่ไม่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนเพราะมีคุณสมบัติไม่ครบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เขาร้องเรียนว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้แจ้งคุณสมบัตินั้นไว้ให้ชัดเจน อีกรายหนึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่ได้ค่าชดเชยไป 45,000 ปอนด์ (2 ล้าน 2 แสนบาท) จากการที่เขาต้องเสียเวลาไปกับกระบวนการตรวจสอบทางวินัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งไปถึง 3 ปีเต็ม -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   รถ ICE ที่ไม่เย็น คลื่นความร้อนที่เล่นงานประเทศต่างๆในยุโรป นั้นลุกลามเข้าไปถึงห้องโดยสารติดแอร์ของรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งระหว่างเมืองของเยอรมนี Inter City Express (ที่เรียกย่อๆ ว่า ICE) กับเขาด้วยดอยท์ชบาห์น หรือการรถไฟเยอรมนี จึงต้องรับผิดชอบด้วยการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้โดยสารที่ต้องพบแพทย์เพราะอาการเจ็บป่วยอันสืบเนื่องมาจากความร้อนที่ว่า คนละ 500 ยูโร (20,000 บาท) พร้อมกับคืนเงินค่าตั๋วให้ด้วย ขณะนี้มีคนมารับเงินชดเชยไปแล้วถึง 2,200 คน   สื่อเยอรมันรายงานว่าอุณหภูมิในห้องโดยสารนั้นสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส ในขณะที่ระบบเครื่องปรับอากาศของตู้โดยสารนั้นสามารถรับมือกับอุณหภูมิได้สูงสุดแค่ 32 องศาเท่านั้น รูดิเกอร์ กรูบ ซีอีโอ ของการรถไฟเยอรมันตั้งคำถามกับประสิทธิภาพของรถไฟที่บริษัทใช้วิ่งอยู่ แต่นายกสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟเยอรมนี ปฏิเสธข้อสงสัยดังกล่าว โดยยืนยันว่าบริษัทผู้ผลิตไม่มีทางทำรถไฟไก่กาที่ระบบแย่ๆ ออกมาแน่นอน ปัญหาน่าจะเป็นเพราะการดูแลรักษาที่ไม่ดีพอมากกว่า   อย่างไรก็ตามข่าวเขาบอกมาว่า ด้วยอากาศที่เปลี่ยนไป รถไฟรุ่นหน้าที่จะเข้าประจำการปีหน้านั้นจะทำมาให้สามารถรับมืออุณหภูมิได้ถึง 40 องศาเซลเซียสกันไปเลย@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   เบียดเบียนคนแก่ สถานีโทรทัศน์ Nos ของเนเธอร์แลนด์ ออกมาแฉว่าเดี๋ยวนี้บรรดาบ้านพักฟื้นหรือบ้านพักคนชราจะเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้บริการมากขึ้น ด้วยการเรียกเก็บค่าบริการเล็กๆ น้อยๆ ประปราย เช่น ค่าผลไม้ ค่ากระดาษทิชชู ค่าพาไปเดินออกกำลัง เป็นต้น ที่ต้องแฉก็เพราะว่าบรรดาบริการเหล่านี้ถือเป็นบริการที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของระบบประกันสุขภาพอยู่แล้วนั่นเอง   Nos TV บอกว่า ผู้ป่วยหรือคนชราที่พักอยู่ในสถานบริการเหล่านั้น ต้องจ่ายเงินเพิ่มค่ากาแฟ น้ำอัดลมหรือขนมขบเคี้ยว บางคนถูกเรียกเก็บค่าต่อสัญญาณโทรทัศน์หรือการอาบน้ำเพิ่มอีกหนึ่งครั้ง มีรายหนึ่งที่ต้องจ่ายค่าถุงมือและน้ำยาฆ่าเชื้อที่พยาบาลใช้ด้วย  สำนักงานประกันสุขภาพของเนเธอร์แลนด์บอกว่าได้รับเรื่องร้องเรียนมากขึ้นเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับใบเรียกเก็บเงินของสถานบริการเหล่านี้ และได้ประกาศให้บรรดาศูนย์บริการเหล่านั้นรีบแก้ไข ไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายค่าปรับ แต่ยืนยันว่ายังไม่มีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคถูกเก็บเงินเพิ่มเข้ามาเลย  ปัจจุบันในเนเธอร์แลนด์ มีคนที่ใช้บริการบ้านพักเหล่านี้อยู่ประมาณ 260,000 คน ประชาชนชาวดัทช์ทุกคนจะต้องทำประกันสุขภาพที่เรียกว่า AWBZ ที่ตนเองต้องจ่ายเบี้ยประกันในอัตราร้อยละ 12 ของเงินเดือน ซึ่งครอบคลุมการใช้บริการสถานพักฟื้นและบ้านพักคนชราด้วย ขณะนี้มีคน 600,000 คนภายใต้การดูแลของระบบประกันที่ว่านี้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 22,000 ล้านยูโร (ประมาณ 920,000 ล้านบาท) ต่อปี@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   สวยต้องเสี่ยงลิปสติกสีแดงนั้นท่านว่ามักมีการปนเปื้อนของสารตะกั่ว สาวปากแดงโปรดระวัง องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้ทดสอบหาปริมาณสารตะกั่วในลิปสติกสีแดงทั้งหมด 22 ยี่ห้อ และ พบว่า ลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลและลอรีอัล นั้นมีตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณสูงที่สุด องค์กรผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ลิปสติกสองยี่ห้อที่ว่ามานั้น ได้รับความนิยมในระดับต้นๆ บอกว่า องค์กรนี้กำลังเรียกร้องให้มีกฎหมายที่บังคับให้มีการแสดงส่วนประกอบรอง (เช่นตะกั่ว) ในเครื่องสำอางไว้บนฉลากด้วย(กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้มีการแสดงเฉพาะส่วนผสมหลักเท่านั้น) เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารตะกั่วด้วย ผู้อำนวยการสมาคมน้ำหอมและเครื่องสำอาง การ์ธ วิลลี่ บอกว่าการทำลิปสติกสีแดงให้ปราศจากตะกั่วนั้นแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และปริมาณสารตะกั่วที่เกิดขึ้นในแต่ละล็อตแตกต่างกันไป บางล็อตอาจไม่มีเลย ในขณะที่บางล็อตก็แทบจะสูงเกินมาตรฐานที่กำหนด   ด้านโฆษกพร็อกเตอร์แอนด์แกมเบิล ผู้ผลิตลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลบอกว่าไม่ได้ใช้สารตะกั่วในการผลิต แต่ที่ตรวจพบนั้นเป็นตะกั่วที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่ปริมาณที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทางลอรีอัล ก็ยืนยันว่ามีตะกั่วในลิปสติกในปริมาณต่ำมากเช่นกัน นักพิษวิทยา ดร.ไมเคิล บีสลีย์ บอกว่าการจะระบุว่าปริมาณเท่าใดจึงจะเป็นอันตรายนั้นค่อนข้างยาก เพราะการเป็นพิษนั้นมีปัจจัยในเรื่องของการสะสมด้วย แต่ทั้งนี้ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ได้ประกาศห้ามใช้สารตะกั่วในลิปสติกทุกชนิดแล้ว อ้าว ... เรื่องสวยก็มีสองมาตรฐานกับเขาเหมือนกันหรือนี่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 กระแสต่างแดน

น้ำขวดหรือจะสู้น้ำประปา บริษัทที่ขายน้ำดื่มในอเมริกานั้นทำกำไรได้ปีละหลายล้านเหรียญจากความเชื่อที่ว่าน้ำดื่มบรรจุขวดนั้นสะอาดบริสุทธิ์กว่าน้ำประปาบ้านๆ แต่หารู้ไม่ว่าการผลิตน้ำขวดดังกล่าวมีการควบคุมดูแลน้อยกว่าน้ำประปาด้วยซ้ำ รายงานที่นำเสนอในสภาคองเกรสของสหรัฐระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐมีอำนาจน้อยมากในการกำกับดูแลความปลอดภัยของน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่ในบางมลรัฐที่พอจะมีอำนาจจัดการอยู่บ้างก็ให้ความสำคัญกับการควบคุมการผลิตน้ำประปามากกว่า บาร์ท สตูพัค ผู้แทนจากรัฐมิชิแกนบอกว่า คนอเมริกันยินดีจ่ายเงินซื้อน้ำบรรจุขวด ซึ่งมีราคามากกว่าน้ำจากก๊อกถึง 1,900 เท่า และใช้พลังงานมากกว่า 2,000 เท่าในการผลิตและการขนส่ง ในขณะที่มีน้ำดื่มบรรจุขวดถูกเรียกคืนเพราะมีการปนเปื้อนของสารหนู โบรเมท เชื้อรา และแบคทีเรีย อยู่เป็นระยะๆ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา   แม้แต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาก็มีรายงานข่าวว่ามีเด็กนักเรียนนับสิบรายที่ป่วยหลังจากดื่มน้ำบรรจุขวดที่ซื้อจากตู้ขายน้ำอัตโนมัติ รายงานดังกล่าวยังระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐไม่ได้ควบคุมปริมาณของสารประกอบ DEHP (ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ) ในน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่หน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมมีการควบคุมปริมาณสารดังกล่าวในน้ำประปา แต่ทางสมาคมผู้ผลิตน้ำบรรจุขวดบอกว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีสารนี้ในน้ำดื่มบรรจุขวดซึ่งผ่านการควบคุมมาหลายขั้นตอนแล้ว สมาคมฯ บอกว่าในปีที่ผ่านมา คนอเมริกันนั้นดื่มน้ำกันไปทั้งหมด 8,700 ล้านแกลลอน หรือ ประมาณคนละ 28.5 แกลลอน รายได้จากการขายน้ำดื่มบรรจุขวดในปีดังกล่าวสูงถึง 11,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 380,000 ล้านบาท) ที่นี่ไม่มีน้ำขวดคราวนี้ข้ามทวีปมาที่ออสเตรเลียกันบ้าง มาดูปรากฏการณ์น่าสนใจที่เมืองบันดานูน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซีดนีย์ ประชากร (ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 2,500 คน) ของเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้เห็นร่วมกันว่าควรจะกำจัดสิ่งที่เรียกว่า “น้ำดื่มบรรจุขวด” ออกไปจากเมืองเสียที เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขั้นตอนการบรรจุขวดและการขนส่ง แต่ไม่ต้องกลัวว่าไปเที่ยวเมืองนี้แล้วจะไม่มีน้ำดื่มดับกระหายนะพี่น้อง เขามีขวดเปล่าเอาไว้ให้รองน้ำจากตู้กดน้ำที่ตั้งไว้ทั่วไปตามท้องถนนเอาไว้ดื่มกันให้เปรม ส่วนกับทางร้านค้านั้น เขาก็ไม่ได้บังคับขืนใจให้หยุดขายน้ำดื่มบรรจุขวดแต่อย่างใด ปล่อยให้เป็นความสมัครใจของร้านค้าต่างๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 50 ร้าน การรณรงค์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะมีบริษัทที่ชื่อว่า นอร์เล็กซ์ โฮลดิ้ง จะมาตั้งโรงงานเพื่อสูบเอาน้ำจากเมืองนี้แล้วส่งเข้าไปบรรจุขวดในโรงงานที่ซีดนีย์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 120 กิโลเมตร ผู้คนที่เมืองนี้คัดค้านแผนการดังกล่าว และขณะนี้บริษัทฯ ก็ยังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาล เป็นใครก็คงรับไม่ได้ ถ้าจะมีคนมาสูบน้ำไปจากบ้านเราแล้วเอาไปใส่ขวดกลับมาขายเราอีก การรณรงค์ของชาวเมืองบันดานูนนี้ถือว่าได้ผลทีเดียวเพราะรัฐนิวเซาท์เวลส์ก็รับลูกทันที ผู้ว่าการรัฐออกมาประกาศว่าต่อไปนี้ห้ามหน่วยงานของรัฐใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดเด็ดขาด คนออสซี่ก็ใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดไม่น้อย ถึงปีละ 500 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 13,000 กว่าล้านบาท) เลยทีเดียว ผู้หญิงเชิญตู้อื่น... นะครับใครจะไปนึกว่าวันหนึ่งคุณสุภาพบุรุษชาวญี่ปุ่นเขาจะออกมาเรียกร้องขอรถไฟตู้พิเศษสำหรับชายล้วน ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ต้องมีการเบียดเสียดกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เพราะว่ากลัวจะโดนผู้หญิงแต๊ะอั๋งหรอกนะ แต่เป็นเพราะไม่อยากถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคุณสุภาพสตรีมากกว่า ก็รถมันแน่นซะขนาดนั้น จะทำตัวล่องหนก็วิทยายุทธ์ยังไม่แก่กล้าพอ จากข้อมูลของตำรวจญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2550 มีคุณผู้ชายถูกจับข้อหาลวนลามสตรีเพศถึง 2,000 คนเลยทำให้บริษัทที่จัดการเรื่องรถไฟต้องมีการกำหนดให้ตู้โดยสารบางตู้เป็นเขตปลอดผู้ชาย ที่นี้เลยทำให้เกิดไอเดียสุดเจ๋งตามมา คือมีการขอตู้โดยสารสำหรับชายล้วนๆ บ้าง ผู้ที่เสนอไอเดียเรื่องตู้โดยสารสำหรับชายล้วนนี้ได้แก่ผู้ถือหุ้นจำนวนสิบคน (ข่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง) ของบริษัทเซบุ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟในเขตโตเกียว ที่เสนอทางออกในการแก้ปัญหาหลังจากที่บริษัทได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณผู้หญิงจำนวนมากว่าถูกลวนลาม และในขณะเดียวกันก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ชายที่ถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคนอื่นๆ ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ทำด้วย ว่าแล้วก็เลยเสนอว่าน่าจะจัดตู้พิเศษสำหรับชายล้วนด้วยมันถึงจะเท่าเทียม แต่คณะกรรมการเขาลงมติไม่รับข้อเสนอนี้ โดยให้เหตุผลว่าจนถึงขณะนี้มีผู้โดยสารชายออกมาโวยวายน้อยมาก ก็เลยต้องขอรบกวนให้นั่งตู้เดียวกับคุณผู้หญิงต่อไป งานนี้ไม่รู้ใครกลัวใครแล้ว ผิดด้วยหรือที่ไม่อยากโชว์แขน ร้านเสื้อผ้ายี่ห้อดัง อะเบอร์ครอมบี้แอนด์ฟิทช์ (Abercrombie & Fitch) ถูกพนักงานขายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 25,000 ปอนด์ หรือประมาณ 1.4 ล้านบาท โทษฐานที่เลือกปฏิบัติต่อเธอ พนักงานขายคนนี้ชื่อ เรียม ดีน เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน เธออายุ 22 ปีและใช้แขนเทียมมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ตอนแรกที่รับเธอเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขายนั้น ทางร้านอะเบอร์ครอมบี้ ในย่านหรูของลอนดอน อนุญาตให้ดีนใส่เสื้อแขนยาวเพื่อปกปิดแขนเทียมไว้ในขณะให้บริการลูกค้าได้ แต่ผ่านไปไม่กี่วันทางร้านก็บอกกับเธอว่าเธอต้องถอดเสื้อคลุมแขนยาวนั้นออกให้เหลือแต่เสื้อยืดตัวในเหมือนพนักงานคนอื่นๆ เมื่อเธอปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น จึงเท่ากับว่าเธอฝ่าฝืนนโยบายเรื่องการแต่งกายของบริษัท เธอจึงถูกย้ายเข้าไปทำงานในห้องเก็บสินค้า ทั้งนี้ผู้ใหญ่ของบริษัทให้เหตุผลว่าควรให้ดีนทำงานอยู่หลังร้านไปจนกว่าจะถึงฤดูหนาวที่พนักงานทุกจะได้ใส่เสื้อแขนยาวได้โดยไม่ผิดระเบียบ เมื่อมีข่าวเรื่องนี้ออกมา ทางร้านก็ปฏิเสธเสียงแข็งว่าดีนคงเข้าใจอะไรผิดไปแน่ๆ เพราะความจริงแล้วทางบริษัทมีนโยบายต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างแข็งขันเลยทีเดียวนะ แต่ดีนอาจจะเข้าใจถูกก็ได้ เพราะในปี พ.ศ. 2547 เพียงปีเดียว บริษัทนิว อัลบานี เจ้าของแบรนด์ดังกล่าว ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ก็เคยถูกฟ้องร้องเพราะการเลือกปฏิบัติ และต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานเป็นจำนวนถึง 50 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1,700 ล้านบาท) มาแล้ว อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดภายในปี พ.ศ. 2555 กว่า 1.3 ล้านครัวเรือนในนิวซีแลนด์ จะต้องติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้อยู่อาศัยกับบริษัทที่ให้บริการไฟฟ้า และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถประหยัดเงินค่าไฟได้ นี่ย่อมเป็นเรื่องดีเห็นๆ แต่ปัญหามันอยู่ที่รัฐบาลปล่อยให้บรรดาผู้ให้บริการไฟฟ้า (ซึ่งในนิวซีแลนด์มีอยู่ถึง 11 บริษัท) เป็นผู้ที่รับผิดชอบติดตั้งมิเตอร์เหล่านี้กันเอง โดยไม่มีการควบคุมดูแล แจน ไรท์ กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐสภานิวซีแลนด์ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้บรรดาผู้ประกอบการเหล่านั้น พยายามหลีกเลี่ยงการตั้งการทำงานของมิเตอร์ดังกล่าวในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งคุณไรท์ก็บอกว่าไม่น่าแปลกใจ เพราะการใช้ไฟมากขึ้นย่อมหมายถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ประกอบการนั่นเอง ความจริงแล้วมิเตอร์อัจฉริยะที่ว่านี้นอกจากจะทำให้บริษัทสามารถรู้ปริมาณการใช้ไฟของแต่ละครัวเรือนโดยไม่ต้องส่งคนมาเดินจดแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงินและสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าอัตราค่าไฟในขณะนั้นเป็นเท่าไร และช่วงไหนเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ากันมาก โดยไมโครชิพในมิเตอร์จะทำหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบอัจฉริยะที่จะมีออกมาจำหน่ายในอนาคตอันใกล้นี้ มิเตอร์ที่ว่าจะปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะได้โดยอัตโนมัติ ในช่วงที่มีการใช้ไฟสูง แต่บริษัทกลับไม่ได้ใส่ไมโครชิพที่ว่าให้กับมิเตอร์ที่กำลังติดตั้งกันอยู่ในขณะนี้ให้กับ 800,000 ครัวเรือน และมิเตอร์เหล่านั้นก็ไม่มีระบบแสดงข้อมูลตามเวลาจริงเพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้บริโภคด้วย เช่น บางคนอาจจะยังเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นในสระว่ายน้ำไว้เพราะไม่รู้ตัวว่าค่าไฟได้ขึ้นราคาไปแล้ว เป็นต้น คุณไรท์ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ติดตั้งไมโครชิพที่ว่านี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะออกมาขายทำไม และถ้าจะติดตั้งเพิ่มในภายหลังก็จะมีค่าใช้จ่ายอีกถึง 60 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์ (ประมาณ 1,300 ล้านบาท) อีกด้วย สรุปว่าถ้ารัฐบาลยิ่งปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคต้องติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดกันไปโดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 คอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้า บนมิติความเหลื่อมล้ำ

ภายใต้การเร่งรัดของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้รถไฟฟ้าทั้ง 10 สายแล้วเสร็จภายในปี 2562 ลองมโนถึงวันที่โครงข่ายรถไฟฟ้าแผ่คลุมทั่วกรุงเทพ ชีวิตคนเมืองน่าจะสะดวกสบายกว่านี้ ไม่ต้องทุกข์ทนกับสภาพการจราจรอันเจ็บปวด มันเป็นภาพดีๆ ในอนาคตที่โครงสร้างพื้นฐานมอบให้เรา    ทว่า ยังมีอีกด้านของเหรียญที่ไม่ถูกพูดถึง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมันไม่ได้กระทบโดยตรงต่อปัจเจกในเวลาอันสั้น แต่มีแนวโน้มจะหมักหมมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่บ่มเพาะความเหลื่อมล้ำและปัญหาด้านผังเมืองในอีกหลายปีข้างหน้า เรากำลังพูดถึงการกระจุกตัวของที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าและการผุดคอนโดมิเนียมอย่างแทบจะไร้การควบคุม ซึ่งวันนี้เราเริ่มเห็นบ้างแล้วตามแนวรถไฟฟ้าทั้งเส้นเก่า เส้นใหม่ และเส้นที่กำลังจะสร้าง---------------------------------------------------------------------เส้นทางรถไฟฟ้า 10 สาย1.ชานเมืองสายสีแดงเข้ม เส้นทางหัวหมาก-บางซื่อ-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต2.ชานเมืองสายสีแดงอ่อน เส้นทางตลิ่งชัน-บางซื่อ-หัวหมาก3.ส่วนต่อขยายแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เส้นทางพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง4.สายสีม่วง เส้นทางบางใหญ่-บางซื่อ5.สายสีเขียว เส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ6.สายสีน้ำเงิน เส้นทางบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค7.สายสีส้ม เส้นทางศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี8.สายสีชมพู เส้นทางแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี9.สายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง10.สายสีเขียวเข้ม เส้นทางยศเส-สนามกีฬาฯ-สะพานตากสิน-บางหว้า---------------------------------------------------------------------รถไฟฟ้ามา ที่ดินราคาพุ่ง    จากการศึกษาของดวงมณี เลาวกุล และเอื้อมพร พิชัยสนิธ ในปี 2551 พบว่า พื้นที่รวมผู้ถือครองที่ดินเนื้อที่มากที่สุด 50 อันดับแรกในกรุงเทพฯ คือ 41,509.67 ไร่ ขณะที่พื้นที่รวมผู้ถือครองที่ดินเนื้อที่น้อยที่สุด 50 อันดับสุดท้ายมีเพียง 0.32 ไร่ เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนการถือครองที่ดินมากที่สุด 50 อันดับแรกต่อ 50 อันดับสุดท้าย ช่องว่างนี้เท่ากับ 129,717.72 ไร่ แม้ตัวเลขนี้จะเป็นตัวเลขปี 2551 แต่ในภาวะที่ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ ถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขข้างต้นน่าจะยังไม่ล้าสมัย     ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ ถีบตัวสูงขึ้นอย่างมหาศาลคือการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าและปริมาณที่ดินในเขตเมืองมีน้อยลง ยกตัวอย่างย่านรัตนาธิเบศร์ ปัจจุบันราคาที่ดินตารางวาละประมาณ 2.5-3 แสนบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณร้อยละ 20 แต่ถ้าเทียบย้อนหลังไป 3 ปี พบว่าราคาขยับสูงขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 100-120การสำรวจการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลปี 2558 ของ บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) ซึ่งมี ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นประธานกรรมการบริหาร พบว่า ในรอบ 16 ปี ตั้งแต่ปี 2541-2557 ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 84 แต่ในเขตชั้นในกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 158 เนื่องจากเขตใจกลางเมืองมีระบบขนส่งมวลชน ส่วนเขตชั้นนอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 69-89 ขณะที่ในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2557 ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 55 ทำเลที่ราคาที่ดินเพิ่มสูงสูงสุดยังคงเป็นเขตชั้นใน เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.8 เขตชั้นนอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9-49.9 โดยเฉพาะในศูนย์ธุรกิจ (CBD: Central Business District) ปรับตัวสูงสุดถึงร้อยละ 59.5-92.2ส่วนในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าปรับเพิ่มร้อยละ 3.5 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ส่วนต่อขยาย อ่อนนุช-แบริ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 ส่วนต่อขยายตากสิน-บางหว้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 ส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0ส่วนราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าใต้ดินหรือ MRT ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 แนวแอร์พอร์ต ลิงค์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 รถไฟฟ้าสายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 สายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 และสายหัวลำโพง-บางแค เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 โดยราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้าที่มีอัตราการเพิ่มต่ำสุดคือสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7    ถามว่า ราคาที่ดินบริเวณใด เพิ่มขึ้นมากที่สุดในการสำรวจของ AREA ครั้งนี้ คำตอบคือที่ดินบริเวณรถไฟฟ้าสยาม ชิดลม และเพลินจิต คิดเป็นตารางวาละ 1.75 ล้านบาท หรือไร่ละ 700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ตารางวาละ 1.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 ทั้งยังคาดการณ์ว่า สิ้นปี 2558 ราคาที่ดินในบริเวณนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.9-2.0 ล้านบาท---------------------------------------------------------------------จำนวนคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าข้อมูลจาก TerraBKK Research สำรวจคอนโดมิเนียมตามแนวส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2010-2015 และกำลังเปิดขายในปัจจุบัน มีดังนี้ส่วนต่อขยายสายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จำนวน 12 โครงการ 4,253 ยูนิต ช่วงราคา 50,500-91,500 บาท/ตร.ม.แนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว กรุงธนบุรี-บางหว้า จำนวน 8 โครงการ 4,958 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 61,000-28,000 บาท/ตร.ม. แนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว บางจาก-แบริ่ง จำนวน 21 โครงการ 7,353 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 60,000-127,500 บาท/ตร.ม.แนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี จำนวน 17 โครงการ 7,943 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 43,000-72,000 บาท/ตร.ม.ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค จำนวน 20 โครงการ 16,857 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 46,000-125,000 บาท/ตร.ม.สายสีม่วง เตาปูน–บางใหญ่ จำนวน 42 โครงการ 34,373 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 45,000-85,000 บาท/ตร.ม.    ขณะที่ข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ (14 พฤษภาคม 2558) รายงานจำนวนโครงการตั้งแต่ช่วงแคราย-หลักสี่ พบจำนวนโครงการดังนี้       บริเวณแยกแคราย 4 โครงการ ได้แก่ เดอะ พาร์คแลนด์ 635 ยูนิต สร้างเสร็จและขายหมดแล้ว, ศุภาลัย ปาร์ค แคราย-งามวงศ์วาน 697 ยูนิต, เดอะ ไพรเวซี่ ติวานนท์ 156 ยูนิต และศุภาลัย วิสต้า 404 ยูนิตบริเวณแจ้งวัฒนะ 8 โครงการ ได้แก่ โครงการฮอลล์มาร์ค 427 ยูนิต, แอสโทร 484 ยูนิต, เดอะซี้ด 210 ยูนิต, เดอะ เบส 2 อาคาร 1,231 ยูนิต, โครงการกรีเน่ 376 ยูนิต, เรียล 837 ยูนิต, ศุภาลัย ลอฟท์ 435 ยูนิต และศุภาลัย ซิตี้ รีสอร์ท 752 ยูนิตโครงการใกล้ศูนย์ราชการ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการมิกซ์ทาวน์ 38 ยูนิต, เรสต้า แจ้งวัฒนะ เฟส 1 80 ยูนิต เฟส 2 78 ยูนิต และรีเจนท์ โฮม รวม 1,358 ยูนิต---------------------------------------------------------------------อนาคตจะเห็นคอนโดฯ ตารางวาละ 3 แสนบาทแน่นอนว่า ราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบลูกโซ่ต่อราคาคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า ยิ่งใกล้สถานีมากเท่าไหร่ ราคาก็ยิ่งขยับสูงขึ้น เช่น คอนโดมิเนียม 2 แห่งที่กำลังก่อสร้างใกล้สถานีรถไฟฟ้าสะพานควายอย่าง The Signature และ The Editor ของพฤกษา แห่งแรกราคาเริ่มต้นที่ 4.9 ล้านบาท ส่วนแห่งที่ 2 ราคาเริ่มต้นที่ 4.29 ล้านบาท เรียกว่าเป็นราคาที่ซื้อบ้านเดี่ยวในเขตชานเมืองและต่างจังหวัดได้สบายๆผู้บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งยืนยันตรงกันในเรื่องนี้ว่า โครงข่ายรถไฟฟ้ามีส่วนสำคัญทำให้ที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าราคาประเมินของราชการ บางแห่งสูงขึ้นกว่าเท่าตัว ยิ่งถ้าเป็นที่ดินตามเส้นสุขุมวิทราคาที่ดินจะปรับสูงกว่าบริเวณอื่น 3-4 เท่า ซึ่งการที่ผู้ประกอบการคอนโดมิเนียมได้ที่ดินมาในราคาสูง จึงผลักให้ราคาขายคอนโดมิเนียมสูงตามเพื่อให้คุ้มกับต้นทุนราคาที่ดินเฉลี่ยแล้วราคาที่ดินจะปรับขึ้นปีละประมาณร้อยละ 8-20 โดยราคาเฉลี่ยคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 9.4 หมื่นบาทต่อตารางเมตร ปรับขึ้นจาก 8.8 หมื่นบาทต่อตารางเมตรในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และยังคาดว่าในอนาคต คนกรุงเทพฯ จะได้เห็นคอนโดมิเนียมราคา 3 แสนบาทต่อตารางเมตรอย่างเลี่ยงไม่ได้รถไฟฟ้ากับการจัดการที่ดิน    การเกิดขึ้นของโครงข่ายรถไฟฟ้าผูกโยงกับการพุ่งขึ้นของราคาที่ดินและราคาคอนโดมิเนียม หากมองในมิติเศรษฐกิจ มันก็ดูสมเหตุสมผลตามกลไกตลาดและกฎอุปสงค์-อุปทาน ใครมีกำลังซื้อย่อมสามารถเข้าถึงที่พักอาศัยตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งมีความสะดวกสบายในการเดินทางได้ ...ถือเป็นเรื่องปกติ    แต่จริงๆ แล้วไม่ปกติ ไม่ปกติตรงที่ โดยทั่วไปแล้ว การสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างรถไฟฟ้าในเมืองจะต้องคิดควบคู่ไปกับการจัดการที่ดิน เนื่องจากรถไฟฟ้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดิน“บางครั้งการจัดการที่ดินที่ดีอาจไม่ต้องใช้รถไฟฟ้าก็ได้ หรือทำให้รถไฟฟ้านั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเปิดพื้นที่ให้รถไฟฟ้าวิ่งเข้าไปจุดหนึ่ง แล้วจัดรูปแบบการใช้ที่ดินให้ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ใช่มองแต่จะเอารถไฟฟ้าถมลงไปที่ปากซอยหรือมองว่าที่ดินเป็นเรื่องของเอกชน” ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ และอาจารย์พิเศษ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวหลักการประการหนึ่งของการจัดการที่ดินก็เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้ระหว่างเอกชนและชุมชน/สังคม เช่น คนที่รถไฟฟ้าผ่านที่ดินของตน ทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้น ดังนั้น ส่วนหนึ่งของมูลค่าที่ได้เพิ่มขึ้นจะต้องถูกจัดสรรคืนให้แก่สังคม อาจจะเป็นพื้นที่บางส่วน ผศ.ดร.พิชญ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมสังคมไทยจึงคิดเรื่องการแบ่งปันที่ดินแค่ระหว่างคนจนแบ่งที่ดินกับราชการ แต่ไม่มีคนรวยในสมการนี้ ทั้งที่ถ้าพื้นที่หนึ่งแปลงได้กำไรมากมหาศาลจากรถไฟฟ้า ก็ควรเวนคืนครึ่งแปลงมาสร้างประโยชน์ให้คนอื่น เพราะพื้นที่ครึ่งแปลงเดิมก็ได้ประโยชน์อยู่แล้วทำไมต้องสนใจเรื่องนี้ทำไมเราต้องสนใจเรื่องรถไฟฟ้ากับการจัดการที่ดิน ทำไมเราต้องสนใจว่าราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าจะสูงขึ้นหรือไม่ ทำไมราคาคอนโดมิเนียมที่สูงถึงเกี่ยวข้องกับเรา มันเกี่ยวข้องกับเราๆ ที่เป็นผู้บริโภคอย่างไรในภาพเล็ก คอนโดมิเนียมที่ผุดขึ้นอย่างไร้การควบคุมย่อมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในละแวกนั้นๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการถ่ายเทอากาศและความร้อน กระทบต่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยและประชาชนใกล้เคียงหากเกิดเหตุไฟไหม้ แต่เพราะที่ดินมีราคาแพง ผู้ประกอบการจึงพยายามใช้สอยที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งอาจหมายถึงการละเลยพื้นที่สำหรับให้รถดับเพลิงเข้าถึงจุดเกิดเหตุ ในที่นี้หมายถึงทั้งตัวคอนโดมิเนียมเองและที่อยู่อาศัยใกล้เคียงในเชิงมหภาค รถไฟฟ้ากำลังผลักไสผู้คนที่เป็นฟันเฟืองของเมืองจำนวนมากให้ออกห่างจากเมืองยิ่งขึ้น และหากคุณเป็นผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลาง การเข้าถึงที่พักอาศัยตามแนวรถไฟฟ้าก็คงเป็นสิ่งที่เกินเอื้อม และนี่คือความเหลื่อมล้ำครั้งแรกที่รถไฟฟ้าเกิดขึ้นเมื่อ 16 ปีก่อนในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 วัตถุประสงค์หลักเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ณ เวลานั้น การจัดการที่ดินยังเป็นประเด็นที่ไม่มีใครกล่าวถึง แต่ผลของรถไฟฟ้าสายแรกเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันผศ.ดร.พิชญ์ อธิบายว่า ส่วนตัวแล้วไม่แน่ใจว่าภาครัฐไม่มีการวางแผนจัดการที่ดินหรือมีมุมมองในการวางแผนจัดการที่ดินในแบบที่ภาครัฐเข้าใจ แต่อาจไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสังคม เมื่อขาดกลไกการจัดการที่ดินที่ดีพอจึงทำให้ผลประโยชน์ไม่ตกแก่สังคมทั้งหมด โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรายได้น้อยที่เป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง ขณะที่มิติการแก้ไขปัญหาจราจร การไม่จัดรูปที่ดิน ยังส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของกิจกรรมในสถานีสุดท้าย“คำถามคือคนที่มีรายได้น้อยจะสามารถเข้าถึงรถไฟฟ้าได้มากน้อยแค่ไหน เขายังจะต้องต่อไปอีกกี่ต่อ เช่น รถเมล์ รถมอร์เตอร์ไซค์ รถสองแถว ที่อยู่อาศัยเดิมที่เขาเคยอยู่ราคาค่าเช่าอาจเพิ่มขึ้น จนเขาต้องขยับต่อไปอีก ส่วนพวกที่มีเงินก็ซื้อคอนโดฯ ปล่อยให้เช่า มีเก็บภาษีเขาไหม อันนี้ไม่นับการที่ขาดการวางแผนชุมชนที่ชัดเจนว่าจำนวนคอนโดฯ มากมายที่โถมถล่มลงมาในซอยบ้านแล้วมาแย่งพื้นที่ถนน พื้นที่กินข้าว หรือกระทั่งมาเปลี่ยนรูปแบการใช้ที่ดินเดิม มันจะส่งผลกระทบให้ชุมชนเดิมอย่างไร”กล่าวคือผู้ที่เข้าถึงคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าเป็นชนชั้นกลางระดับบนขึ้นไปที่มีรายได้ค่อนข้างสูง มีความสามารถผ่อนจ่ายได้ และเมื่อที่พักอาศัยใกล้แนวรถไฟฟ้ามีราคาสูง ราคาค่าหอพักย่อมถีบตัวสูงตาม ภาระจึงตกอยู่บนบ่าของผู้ที่มีรายได้น้อย หากต้องการหอพักราคาย่อมเยาก็ต้องถอยห่างจากแนวรถไฟฟ้าออกไป กลายเป็นว่าจุดมุ่งหมายของรถไฟฟ้าที่ต้องการเป็นระบบขนส่งแก่คนทุกกลุ่ม ผู้ที่มีฐานะดีกลับได้ประโยชน์มากกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงที่พักอาศัยใกล้แหล่งงานในเมืองไม่ได้ พวกเขาก็ต้องขยับออกไปไกลขึ้น ค่าเดินทางสูงขึ้น ทั้งที่คนกลุ่มนี้คือกลุ่มแรงงานที่ขับเคลื่อนเมือง-ผู้ใช้แรงงาน, แม่บ้าน, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย, พ่อค้าริมทาง เมื่อจักรกลสำคัญของเมืองเหล่านี้ถูกกระทบ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองคงไม่สามารถเลี่ยงผลพวงที่ตามมาได้ นี้จึงเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่เกิดจากการขาดการวางแผนการจัดการที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า แต่ส่งผลแผ่คลุมคนเมืองส่วนใหญ่ สิ่งที่พอทำได้กับอนาคตรถไฟฟ้า 10 สายถึงตรงนี้ บางคนอาจคิดว่าการจัดการที่ดินให้สอดคล้องกับแนวรถไฟฟ้าคงเป็นไปไม่ได้ในมหานครอย่างกรุงเทพฯ ซึ่งไม่จริง กรณีสิงคโปร์ถือเป็นต้นแบบความสำเร็จของการจัดการที่ดินกับระบบขนส่ง ในสิงคโปร์เราจะไม่เห็นที่พักอาศัยผุดเป็นดอกเห็ดตามแนวรถไฟฟ้า แต่ที่พักอาศัยจะขยับออกห่างจากแนวรถไฟฟ้าในระยะทางที่พอเดินถึง แต่อยู่ใกล้แนวรถเมล์มากกว่า ส่วนบริเวณที่มีรถไฟฟ้าก็มักจะเป็นจุดกระจายคนและท่ารถ“คำถามก็คือคุณจะวัดการประสบความสำเร็จจากอะไร? จากการที่คนมีบ้านอยู่ เข้าถึงรถไฟฟ้าได้ และมีทางเลือกในการจราจร หรือจะวัดจากการที่มีโครงการขึ้นมากมาย มีการเก็งกำไร และมีคนที่มีบ้านอยู่แล้วปล่อยคอนโดให้คนอื่นเช่า? คุณจะวัดความสำเร็จจากคนที่มีอาหารการกินที่ดีใกล้บ้าน หรือจะวัดจากโฆษณาตลกร้ายของคอนโดฯ หรูระยับที่ไม่เคยบอกเลยว่าพวกนี้หาข้าวหาปลากินที่ไหน ถ้าไม่ลงมาเบียดกับคนอื่นๆ บนถนนอยู่ดี” ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวอนาคตรถไฟฟ้า 10 สายในกรุงเทพฯ จึงไม่ได้มีภาพสวยงามของความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางเพียงอย่างเดียว ผศ.ดร.พิชญ์ ประเมินสถานการณ์ข้างหน้าว่า คนจะต้องออกไปอยู่ไกลขึ้นเรื่อยๆ เพราะสู้ราคาไม่ได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่สถานีสุดท้ายของรถไฟฟ้าแต่ละเส้นทางจะมีคนกระจุกตัวเพื่อต่อรถ ส่วนกรณีคนที่ต้องการพักอาศัยในบ้านเดี่ยวก็จะต้องอยู่ออกไปไกลขึ้นเช่นกัน ทำให้ต้องเลือกขับรถเข้ามาในเมืองเหมือนเดิม อีกคำถามที่ ผศ.ดร.พิชญ์ ชวนให้ขบคิดต่อคือ ในพื้นที่ที่มีแต่คอนโดมิเนียมเหล่านั้น มีโรงเรียน โรงพยาบาล และสิ่งอำนาวยความสะดวกเพียงพอหรือไม่ และใครจะรับผิดชอบให้มีสวนสาธารณะส่วนประเด็นระยะยาว คือคอนโดมิเนียมเหล่านี้มีวันหมดอายุเมื่อใด เนื่องจากคอนโดมิเนียมไม่สามารถทุบได้ตามอำเภอใจเพราะมีเจ้าของร่วม หากไม่มีการเตรียมรับมือในประเด็นนี้ ในอนาคตยาวๆ คอนโดมิเนียมสวยงามในวันนี้อาจเป็นแหล่งเสื่อมโทรมลอยฟ้าทว่า ในสถานการณ์ที่แผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าเดินหน้าไปแล้วโดยปราศจากแนวทางการจัดการที่ดินเช่นนี้ ยังพอมีหนทางใดที่จะบรรเทาปัญหาได้บ้าง ผศ.ดร.พิชญ์ แสดงทัศนะว่า ต้องเพิ่มอำนาจให้เขตต่างๆ เขตต้องมีอำนาจการจัดวางผังในระดับเขตโดยประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เพิ่มข้อบังคับการจัดหาพื้นที่สาธารณะให้เขตมากขึ้น“เขตในวันนี้ โครงสร้างขาดการมีส่วนร่วม เพราะผู้อำนวยการเขตเป็นข้าราชการแต่งตั้งมาจากส่วนกลางของ กทม. สมาชิกสภาเขตไม่มีอำนาจในการจัดทำงบประมาณ โครงการต่างๆ นอกจากจะต้องรับผิดชอบในพื้นที่ของตน จะต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวมคือเขตด้วย จะสนใจแค่ค่าส่วนกลางของโครงการอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีเงินส่วนหนึ่งในการรับผิดชอบค่าส่วนกลางของเขต เพราะคุณเข้ามาเปลี่ยนสภาพที่ดินอย่างมากมาย ทำให้คนที่อยู่เดิมเดือดร้อน“หรือเราอาจต้องจัดรูปแบบใหม่ เช่น รถไฟฟ้าวิ่งเข้าไปในพื้นที่ราชการขนาดใหญ่ที่แปรสภาพเป็นที่พักอาศัยให้เช่า เป็นต้น และจากนั้นเราจะสามารถออกแบบชุมชนทุกอย่างได้ สิ่งนี้จะทำให้เรามองเรื่องการแก้ปัญหาการใช้ที่ดินในอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่มองแค่ว่าใครจะโชคดีที่มีที่ติดรถไฟฟ้า มาสู่การเอาที่ติดรถไฟฟ้ามาเวนคืน แล้วแบ่งสรรประโยชน์ เช่น เป็นทั้งที่พักอาศัยและแหล่งธุรกิจ เอาผลกำไรจากธุรกิจมารองรับส่วนของที่พักอาศัย”ขณะเดียวกัน การจัดการที่ดินจะต้องเน้นคุณภาพชีวิตของผู้คนให้มาก เช่น ถ้าโครงการคอนโดมิเนียมแห่งใดเพิ่มความร้อนหรือเพิ่มมลพิษให้กับพื้นที่ โครงการนั้นก็จะต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ด้าน รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การเก็บภาษีที่ดินรอบสถานีรถไฟฟ้าจะช่วยลดการเก็งกำไร และทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินมีประสิทธิภาพมากขึ้น และควรลดข้อกำหนดเกี่ยวกับที่จอดรถที่จะต้องมีสำหรับอาคารที่ก่อสร้างใกล้สถานี เพราะว่าในปัจจุบันนี้ แม้อาคารจะอยู่ติดสถานีรถฟ้า แต่ก็ยังต้องสร้างที่จอดรถเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่จำเป็นและทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงโดยใช้เหตุ ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงเกินไป อีกทั้งทำให้คนที่ไม่ใช้รถแต่ต้องการซื้อทรัพย์สินใกล้สถานีต้องแบกรับต้นทุนในส่วนนี้โดยไม่จำเป็น และกล่าวเสริมว่า“โดยเฉพาะคนที่อยู่ใกล้สถานีบางส่วนกลับขับรถยนต์ ไม่ได้ใช้รถไฟฟ้า หรือพวกนักเก็งกำไร ซื้อแล้วไม่ได้อยู่ เป็นการเสียโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากที่พักอาศัยเหล่านั้น ขณะที่คนจนที่ต้องการใช้รถไฟฟ้าก็ไม่สามารถซื้อได้ รัฐจึงควรแทรกแซงโดยสร้างที่พักให้คนจน อาจไม่ต้องใกล้รถไฟฟ้ามาก เช่น ในรัศมี 1 กิโลเมตรก็พอ ไม่ต้องมีที่จอดรถ ทำทางเดินเท้าหรือจักรยานเชื่อมต่อให้ดี”ยังมีประเด็นน่าสนใจที่ ผศ.ดร.พิชญ์ ทิ้งท้ายเอาไว้ว่าด้วยเทคโนโลยีและอำนาจ กล่าวคือในนิวยอร์คมีพื้นที่บางส่วนที่รถไฟฟ้าเข้าไม่ถึงหรือเข้าถึงได้น้อย ทำให้เป็นแหล่งที่พักอาศัยของคนที่มีรายได้ไม่สูงนัก แต่ก็รัฐก็ยังสามารถจัดรูปที่ดินได้โดยใช้รถเมล์เข้าไปรองรับการเดินทาง วิธีคิดเรื่องการขนส่งจึงไม่จำเป็นต้องหมกมุ่นในเชิงเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ต้องมองว่าเรื่องการจัดการเมือง การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจเช่นเดียวกับการจราจร รถเมล์ควรต้องไปก่อนรถยนตร์หรือรถยนต์ต้องไปก่อนรถเมล์ รถเมล์เร็วหลายเมืองในโลกใช้รถเมล์เร็วแทนรถไฟฟ้าโดยใช้หลักการง่ายๆ ว่าใครควรไปก่อนใคร แล้วจึงกั้นเลนให้รถเมล์วิ่ง“อำนาจสำคัญกว่าเทคโนโลยีครับ เทคโนโลยีต้องรองรับอำนาจ ถ้าเราไม่จัดการอำนาจ เทคโนโลยีก็รองรับคนที่มีอำนาจเดิมนั่นแหละ”    อาจกล่าวได้ว่า ทั้งหมดนี้คือผลกระทบที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาการจราจรในเมือง โดยขาดการเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ –ที่ดิน คนเมือง แรงงาน การขนส่ง ฯลฯ  ผลลัพธ์ที่ได้ เมืองอาจดูทันสมัยและพัฒนา แต่ถึงที่สุดแล้ว ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมีและไม่มีกลับไม่เคยหดแคบลงเลยในมหานครกรุงเทพฯ แห่งนี้---------------------------------------------------------------------ซื้อคอนโดฯ อย่างไรไม่เจ็บตัว    คอนโดมิเนียมเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาสูง มันอาจหมายถึงภาระผูกพันนานหลายสิบปี การซื้อคอนโดจึงจำเป็นยิ่งยวดที่ต้องมีสติพอๆ กับสตางค์ ไม่ว่าบริษัทที่ขายคอนโดมิเนียมให้คุณจะมีชื่อเสียงน่าเชื่อถือแค่ไหน หากคุณคิดจะซื้อคอนโดมิเนียมสักห้องเพื่ออยู่อาศัย สิ่งที่ นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายต่อจากนี้ คุณควรทำโดยเคร่งครัดเพื่อรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคเช่นคุณ1.ประเมินความสามารถในการผ่อนชำระ เป็นหัวใจสำคัญข้อแรกที่ต้องคำนึงถึง หากผ่านข้อนี้ได้จึงพิจารณาข้อต่อไป2.ตรวจสอบว่าคอนโดมิเนียมแห่งนั้นก่อสร้างหรือยัง ตรวจสถานะของผู้ประกอบการให้ชัดเจนว่ามีความมั่นคงมากพอที่จะก่อสร้างคอนโดมิเนียมหรือไม่ ถ้าก่อสร้างแล้ว จะแล้วเสร็จประมาณเมื่อไหร่“ถ้าคุณซื้อคอนโดฯ ที่มีแต่ที่ดินก็มีโอกาสเสี่ยงที่คอนโดฯ อาจไม่สร้าง เคยมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น เพราะการก่อสร้างคอนโดฯ มีกรอบกำหนดว่า การจะประกาศขายคอนโดฯ ได้ต้องผ่านการขออนุญาตก่อสร้างให้เรียบร้อย แต่ผู้ประกอบการบางรายลักไก่ขายเพื่อเอาเงินดาวน์มาสร้างบางส่วนก่อน ถ้าตรงไหนกฎหมายบอกว่าผิดก็ค่อยไปแก้ ทั้งที่ที่ดินตรงนั้นอาจสร้างไม่ได้ เพราะเป็นที่ดินที่ไม่เหมาะกับการก่อสร้างอาคารสูง”3.แบบของสัญญาที่ใช้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แบบสัญญาดังกล่าวเรียกว่า อช.22 ซึ่งจะมีการระบุรายละเอียดสำคัญและสิทธิของผู้บริโภคตามแนวทางที่กรมที่ดิน เช่น กำหนดความรับผิดของผู้ประกอบการว่า ถ้าไม่ส่งมอบตามระยะเวลา ผู้บริโภคมีสิทธิ์เลิกสัญญาหรือใช้สิทธิ์เรียกค่าปรับ เป็นต้น ซึ่งถึงแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องใช้แบบสัญญานี้ มิเช่นนั้นจะถือว่าโมฆะ ผู้บริโภคก็ควรตรวจดูให้แน่ใจ อย่างน้อยจะได้ไม่ต้องเสียเวลาภายหลัง4.ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือการตรวจสภาพห้องก่อนรับโอน มีผู้บริโภคหลายรายที่ต้องประสบปัญหาห้องไม่ได้คุณภาพ อันเนื่องจากความเผลอเรอในจุดนี้ นฤมล แนะนำว่า ก่อนจะทำสัญญารับโอน ผู้บริโภคต้องตรวจสภาพห้องอย่างละเอียด ควรมีลิสต์รายการที่ต้องตรวจรับและช่างส่วนตัวร่วมตรวจสอบด้วย เช่น หลอดไฟสามารถใช้ได้ทุกดวงหรือไม่ ห้องน้ำมีจุดไหนชำรุดหรือเปล่า มีการติดตั้งสายดินเรียบร้อยหรือไม่ ฯลฯ หากตรวจภายในวันเดียวไม่เสร็จ ก็ต้องยอมเสียเวลาตรวจต่อวันที่ 2เมื่อพบจุดบกพร่องให้แจ้งผู้ประกอบการดำเนินซ่อมแซมแก้ไข โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน ผู้บริโภคควรเก็บสำเนาไว้ที่ตนเอง 1 ฉบับ หากผู้ประกอบการไม่ดำเนินการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อย อย่ารับโอนเด็ดขาดนฤมล อธิบายว่า ปกติแล้วการซื้อคอนโดมิเนียมจะมีการรับประกันตัวโครงสร้าง 5 ปีและส่วนควบ 2 ปี ซึ่งอายุการรับประกันจะเริ่มต้นเมื่อเกิดการโอนกรรมสิทธิ์ ดังนั้น หากผู้บริโภครับโอนกรรมสิทธิ์ตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จหรือรับโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่ตรวจสภาพห้องอย่างถี่ถ้วน ผู้บริโภคอาจได้รับความเสียหายเมื่อห้องมีความชำรุดบกพร่อง กรณีที่มักเกิดขึ้นเสมอๆ คือผู้ประกอบการอ้างว่า ผู้รับยินยอมรับโอนห้องในสภาพนั้นเองหรือไม่ก็อ้างว่าความเสียหายส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคหลังจากที่เข้าอยู่อาศัยแล้วนอกจากนี้ การซ่อมแซมบางครั้งอาจยืดเยื้อเกินกว่าที่คาดไว้หรือผู้ประกอบการผัดผ่อนจนครบกำหนดการรับประกัน ถึงตอนนี้ผู้ประกอบการสามารถบอกปัดความรับผิดชอบได้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ผู้บริโภคจะกลายเป็นผู้รับภาระเอง เหตุนี้การตรวจสภาพห้องก่อนการรับโอนจึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากในการซื้อคอนโดมิเนียม“ถ้าเป็นคอนโดฯ มือสองมือสามก็ทำเหมือนกัน ไปเรียกร้องกับผู้ขายที่เป็นเจ้าของห้องเดิมให้จัดการห้องให้เรียบร้อยก่อนรับโอน แต่กรณีซื้อต่อมือสองจะแตกต่างอยู่ตรงที่ว่า มันเป็นเรื่องที่สองฝ่ายจะตกลงกัน ผู้ขายอาจขายซากห้องก็ได้ ถ้าผู้ซื้อพอใจหรือต้องการตกแต่งเองก็สามารถทำได้ เป็นข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย”  

อ่านเพิ่มเติม >