ฉบับที่ 207 แนวทางความเป็นไปได้เพื่อแก้ปัญหาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพง

11 พ.ค. 2561 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน หรือ คอบช.โดยคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ พร้อมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้กำกับดูแลการกำหนดราคาค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนทั้งค่ายา ค่ารักษา และค่าเวชภัณฑ์ ด้วย 4 ข้อเสนอสำคัญ ค่ารักษา รพ.เอกชนแพง ปัญหาค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนที่แพงจนเป็นที่รู้กันนั้น แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมที่สะท้อนความคับข้องใจของคนไทย เมื่อนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้ชักชวนประชาชนร่วมลงชื่อกับ www.change.org/privatehospitals เมื่อปี 2558 เพื่อนำรายชื่อเข้าเสนอต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมค่ารักษาพยาบาล  “ทุกสื่อพร้อมใจกันประโคมข่าวชนิดที่ดิฉันไม่เคยเจอมาก่อน ต้องให้สัมภาษณ์ 3 คืน 4 วันติดกันจนไข้ขึ้น ผลคือประชาชนลงชื่อมากถึง 3.5 หมื่นชื่อในสองสัปดาห์” นางปรียนันท์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ผลจากเสียงสะท้อนของคนไทย รัฐบาล คสช.ที่ขณะนั้นกำลังต้องการสร้างผลงาน ท่านนายกรัฐมนตรีได้บัญชาการให้มีการจัดการปัญหาดังกล่าว จึงเกิดความเคลื่อนไหวทั้งจากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหา โดยแนวทางการแก้ไขที่วางไว้ในปีนั้น คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน ได้จัดตั้งคณะทำงาน มุ่งแก้ไข 3 ประเด็นหลัก ได้แก่1. รวบรวมข้อมูลค่ายา ค่าบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ ประกาศในเว็บไซต์กลางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจสอบได้ 2. เปิดสายด่วนรับเรื่องจากประชาชน 3 เบอร์ เพื่อให้ข้อมูลประชาชน และรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน 3. เรื่องบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 72 ชั่วโมง ฟรีทุกที ไม่มีการเรียกเก็บเงินจากประชาชน ถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2561 มีเพียงแนวทางที่ 3 คือ การให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินที่สำเร็จ  นอกนั้นยังอยู่ในขั้นศึกษาวิจัย ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ในระยะเวลาที่ผ่านมา  เกิดการผลักดันให้มีการควบคุมราคายา โดยกรมการค้าภายในได้กำหนดให้ยาเข้าไปอยู่ในประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2561 เรื่องการกำหนดสินค้าและบริการควบคุม  ซึ่ง ข้อ 3 (16) กำหนดให้ ยารักษาโรคเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งจะมีผลให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจดูแลป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่ายหรือกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรมได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองมาตรการที่ได้มา ยังไม่เพียงพอต่อการจัดการกับปัญหา   ความเคลื่อนไหวปี พ.ศ.2561เมื่อมองสภาพการณ์ปัจจุบัน แม้บทบาทของภาครัฐจะเริ่มอ่อนลงไป แต่ภาคประชาชนยังต้องเดินหน้าต่อ ในงานเสวนา “ความเป็นไปได้ในการตรวจสอบและกำกับค่ารักษาพยาบาลแพง” เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านบริการสุขภาพ  ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเราทุกคน เพราะทุกคนมีโอกาสจะป่วยหรือเป็นผู้บริโภคที่อาจต้องไปใช้บริการของโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ในช่วงปีที่ผ่านมา มูลนิธิผู้บริโภครวมถึงเครือข่ายตามพื้นที่ต่างๆ พบว่า หนึ่งในห้าอันดับต้นๆ ที่ได้รับการร้องเรียน เป็นเรื่องเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนมีราคาแพง” ดังนั้นภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้จุดประกายมาตั้งแต่ ปี 2558 จึงต้องก้าวต่อไป       ฉลาดซื้อได้ร่วมฟังเสวนาดังกล่าว พบว่า มีสาระที่น่าสนใจและน่าจะพอเป็นแนวทางให้ผู้บริโภคได้เข้าใจร่วมกันว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน สำหรับการที่จะทำให้ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนนั้น เหมาะสมและเป็นธรรม จึงขอนำเนื้อหาโดยสรุปมานำเสนอไว้ ณ ที่นี้  พ.ต.อ.รศ.พณาเจือเพชร์ กฤษณะราช อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดระยองกล่าวว่า ประสบการณ์ตรงคือ ญาติเส้นโลหิตในสมองแตก ถูกพาส่งโรงพยาบาลเอกชนตอนเที่ยงคืนในสภาพไม่รู้สึกตัว เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่กว่าจะได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทำการรักษาคือบ่ายสองโมงของวันถัดมา ประสบการณ์นี้ทำให้ต้องค้นหาข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งพบว่า โรงพยาบาลที่เกิดเหตุการณ์ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ประจำ ต้องตามตัวมาจากโรงพยาบาลรัฐ สิ่งนี้สวนทางกับความคาดหวังของญาติคนป่วย ที่ต้องการรักษาชีวิตคนให้ทันท่วงที จึงรีบพามาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งเรื่องที่ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำ คงเป็นเพราะโรงพยาบาลต้องการ “ตัดค่าใช้จ่าย” นั่นเอง  ประเด็นต่อมาคือ กรณีของญาติเข้าข่ายเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตนเองพบว่า ทาง รพ.ไม่ได้แจ้ง สพฉ. ตามระเบียบปฏิบัติ การเข้ารักษาตัวเพียงสองวันต้องจ่ายเงินไปเกือบล้านบาท เพราะทาง รพ.ไม่ทำตามเงื่อนไข และเมื่อตนโพสต์เรื่องราวบนโซเชียล กลับถูกตอบโต้จากแพทย์คนหนึ่ง ที่มีนามสกุลเดียวกันกับกรรมการแพทยสภา นี่เรียกว่า ผลประโยชน์ทับซ้อนของหน่วยงานที่ควรจะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่  บทเรียนครั้งนี้ทำให้ได้ข้อสรุปว่า เหตุที่โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลแพง เพราะประเทศไทยเราไม่มีกฎกติกาอะไรที่จัดการปัญหานี้ได้ เคยลองศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกา ส่วนใหญ่ก็เป็นประโยชน์ต่อทางโรงพยาบาลทั้งนั้น ภาครัฐเองก็สนับสนุน เช่น นโยบาย Medical Hub, การอนุญาตให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าตลาดหุ้น ซึ่งยิ่งส่งเสริมให้เกิดการแสวงหาผลกำไร ทั้งที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล  ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี ทุกสิ่งในโลกเป็นทวิภาวะ คือมีสองด้าน โรงพยาบาลเอกชนมีด้านมืด โรงพยาบาลรัฐก็มีเช่นกัน การมองอะไรด้านเดียวจะทำให้เราถูกบีบให้คิดกว้างไม่ได้ เดิมสังคมมนุษย์อยู่กันด้วยความไว้วางใจ แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนผ่านมีคนอยู่ร่วมกันมากมาย ความไว้ใจอาจไม่พอ ต้องมีรัฐเข้ามาเป็นคนจัดการ อย่างไรก็ตามเราก็ไม่อาจวางใจรัฐได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ สังคมวันนี้จึงมาถึงสิ่งที่เรียกว่า เทคโนโลยี ซึ่งไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ย่อมถือเป็นกติกาที่วางใจได้  ยกตัวอย่าง “ถ้าตนเองมีเทคโนโลยีที่มีข้อมูลส่วนตัวทุกอย่างอยู่ในนี้และควบคุมมันได้  หมายถึงอนุญาตให้ใครก็ได้เข้าถึงข้อมูลนี้  วันหนึ่งเกิดป่วยต้องไปหาหมอท่านหนึ่ง และเห็นข้อมูลรายการความสามารถในการรักษาโรคของหมอท่านนี้ เช่น ผ่าตัดมา 100 ราย รอด 70 ราย และมีท่านที่ 2,  3,  4  ให้เปรียบเทียบพร้อมกับราคา เมื่อเห็นว่าหมอท่านนี้ท่าทางจะเก็บเงินน้อยที่สุดด้วยฝีมือที่เท่ากัน เพราะฉะนั้นอนุญาตให้หมอเข้ามาหน้ากระดานอิเล็กทรอนิกส์ได้ นั่นแปลว่า หมอสามารถเปิดดูข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองได้ และถ้าหากตั้งโจทย์ไปว่า วันนี้มียาอยู่ 5 รายการ  แต่มีอาการมึนๆ ไม่แน่ใจว่าเกิดจากยาหรือไม่ ด้วยความเชี่ยวชาญของแพทย์ท่านนั้นก็จะบอกได้ เช่นให้ตัดยารายการที่ 4 ออกน่าจะดีขึ้น  พอหมอให้ความรู้มาก็จ่ายเงินไปอาจจะเป็น bitcoin หรืออะไรก็แล้วแต่   supply chain ซึ่งเป็นคนให้ยาก็จะรู้เลยว่า รอบหน้ายาขนานนี้ไม่ควรจ่ายให้อีก  นี่คือตัวอย่างของเทคโนโลยีที่ทำให้เราไม่ต้องมาเผชิญหน้ากัน” เรื่องการใช้เทคโนโลยีนี้เกิดการทดลองขึ้นแล้วในหลายประเทศ  อย่างไรก็ตามไม่ได้บอกว่านี่คือคำตอบสำเร็จที่จะให้ความหวังทั้งหมด  ในงานวิจัยของผมการได้ข้อมูลจากโรงพยาบาลเอกชนไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะไม่มีระบบที่จะเข้าถึงได้ ต้องพลิกแพลง สิ่งที่ค้นพบคือ เมื่อจำแนกโรงพยาบาลเอกชนเป็น 3 ประเภท คือ ในตลาดหลักทรัพย์  นอกตลาดหลักทรัพย์ และมูลนิธิ  ค่ารักษาพยาบาลในกลุ่มโรคและวิธีการรักษาที่ใกล้เคียงกัน  ราคาแพงที่สุดคือโรงพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์  รองลงมาก็คือโรงพยาบาลนอกตลาดหลักทรัพย์ และถูกที่สุดคือโรงพยาบาลของมูลนิธิ  โรงพยาบาลที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ราคาแพง เพราะถูกกดดันตามกติกาว่าต้องขยายผลกำไรและกิจการทุกๆ ปี คำถามคือ ถ้าฝากความหวังกับกลไกของรัฐ สามารถทำให้โรงพยาบาลเอกชนออกมาจากตลาดหลักทรัพย์ ได้หรือไม่ ถ้าทำได้ราคาจะไม่แพงอย่างที่เป็นอยู่ และเมื่อโรงพยาบาลเอกชนมีอยู่สามประเภท มีราคาขายที่แตกต่างกัน  ทำอย่างไรที่เราจะส่งเสริมให้โรงพยาบาลที่มีราคาขายถูกสุด มีบทบาทและได้ส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นในภาคเอกชน ทพ.อาคม  ประดิษฐ์สุวรรณ  ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการ สุขภาพ สำนักสถานพยาบาลและประกอบโรคศิลปะ ดูแลโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ 350 กว่าโรง  และคลินิกเอกชนประมาณ 20,000 กว่าแห่ง โรงพยาบาลเอกชนเองมีหลายประเภท ที่ปิดกิจการไปจำนวนมากก็มี ตนเองเห็นด้วยกับ นพ.ไพบูลย์ ว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่ควรเข้าตลาดหุ้น อย่างประเทศญี่ปุ่นบริการทางการแพทย์เข้าตลาดหุ้นไม่ได้ หมอของโรงพยาบาลรัฐบาลจะไปรักษาโรงพยาบาลเอกชน หรือหมอโรงพยาบาลเอกชนจะมารับราชการก็ไม่ได้ เขาห้ามและแยกเป็นสัดส่วนกัน   ในปี 2558 กระทรวงสาธารณสุขได้รับนโยบายให้แก้ไขปัญหาเรื่องราคาค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนที่แพงมาก แนวทางแยกเป็นสองเรื่อง คือ การแก้ไขปัญหายาราคาแพง กับค่ารักษาพยาบาลแพง จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ปัญหาแรกที่แก้ไขคือเรื่องของยาเป็นสินค้าควบคุม ที่ออกจากกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน  ทำอย่างไรจะควบคุมราคายาจากต้นทางได้ กระทรวงพาณิชย์มีกรรมการ เรียกว่า กรรมการควบคุมสินค้าราคากลาง(กกร.) คณะกรรมการนี้มีอำนาจเข้าไปกำหนดราคาสินค้าจากต้นทาง จากโรงงานได้ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์แล้ว กลับมาที่การควบคุมราคาบริการๆ ก็ผลักดันจนเกิดนโยบายเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน ฟรี 72 ชั่วโมง ซึ่งก็ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกหลายจุด แล้วเรื่องของค่ารักษาแพงได้ทำอะไรไปบ้าง ขณะนี้มีการจัดทำร่างประกาศ ตามมาตรา 3 เรื่องของการประกาศชนิดหรือประเภทของการรักษาพยาบาล  ยาเวชภัณฑ์ การบริการทางการแพทย์ หรือการบริการอื่นของสถานพยาบาล “การประกาศค่ารักษาพยาบาลต่อไปนี้ต้องทำเป็นแพ็คเกจ ถ้าราคาสามพันก็คือสามพัน จบกันแค่นี้ไม่มีอะไรเพิ่มเติม จะมาบอกว่าค่าผ้าก๊อซ ค่าเข็มฉีดยาเหมือนสมัยก่อนไม่ได้ ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมต้องแจ้ง  นี่คือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้ และเตรียมเสนอรัฐมนตรีเพื่อให้ประกาศออกมา น่าจะเสร็จในเร็วๆ นี้” อย่างไรก็ตามประกาศฉบับนี้ เราจะไม่สามารถกำหนดเรื่องราคาได้ เพราะบริการทางการแพทย์ไม่ใช่สินค้าควบคุม  ที่ทำได้คือ ต่อไปเมื่อโรงพยาบาลประกาศค่ารักษาพยาบาลแล้ว ต้องไม่เก็บเกินนั้น  ถ้าเกินคือผิดกฎหมายและมีบทลงโทษจำคุกด้วย ถ้าถามว่าแล้วกระทรวงสาธารณสุขจะมีนโยบายเรื่องกำหนดหรือควบคุมราคาไหม มองว่าปัญหาที่จะตามมาคือ เรื่องของมาตรฐานและคุณภาพ  เพราะโรงพยาบาลเอกชนมีหลายระดับ ในเรื่องเดียวกัน การควบคุมอาจต่างกัน ต้องมีการคิดทบทวนพอสมควร เพราะต้องยอมรับว่าตอนนี้ประเทศเราขายบริการทางการแพทย์อยู่ ปีที่แล้วมีคนเข้ารับบริการที่ประเทศเรามากที่สุดในโลกด้วย  และวันนี้ถ้าเราจะคิดเรื่องของการคุมราคา  มีคนเสนอให้คิดคนไทยราคาหนึ่ง คนต่างชาติราคาหนึ่ง แบบนี้ก็มีเรื่องสองมาตรฐานเกิดขึ้นแล้ว นางปรียนันท์  ล้อเสริมวัฒนา  ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ พูดกันตรงๆ ว่า ปัญหาอยู่ที่เวลาหน่วยงานรัฐทำงานไม่ค่อยให้ภาคประชาชนไปมีส่วนร่วม  จริงๆ แล้วเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ไม่อยากแตะเรื่องค่ารักษาเลย  เพราะว่าแค่ทำเรื่องความเสียหายก็ทำไม่ทันแล้ว แต่ว่าบังเอิญได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนเกี่ยวข้องกับมาตรฐานการรักษาด้วย ปัญหาเรื่องการเก็บค่ารักษาแพงมีเข้ามาอยู่เรื่อยๆ มีกรณีโรงพยาบาลเอกชนฟ้องร้องเรียกค่ารักษาจากคนไข้ ขนาดหน่วยงานอย่าง สปสช.บอกว่า คนไข้ไม่ต้องจ่าย แต่ในทางเอกสารหลักฐาน คนไข้จะแพ้คดี เพราะมีการเซ็นลายมือชื่อยินยอมไปแล้วว่า “ยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น”   ถามว่าเซ็นทำไม เวลาจริงๆ ที่เราหรือญาติเรากำลังจะเป็นจะตาย พนักงานโรงพยาบาลจะเอาเอกสารมากมายมาให้ก็ต้องเซ็นทั้งนั้น ภาพคนแก่หอบโฉนดที่ดินเอาไปมอบให้ทนายของโรงพยาบาลเอกชนเพื่อชดใช้หนี้นั้น  มันเศร้ามาก ต่อมาที่เครือข่ายได้ทำแคมเปญลงลายมือชื่อเสนอนายกฯ ให้แก้ปัญหา ก็มีการสั่งให้ตั้งกรรมการแต่อย่างที่ท่าน ผอ.อาคมพูด ตั้งแล้วก็ทิ้งภาคประชาชนเอาไว้ข้างหลัง  ไม่ให้เราไปมีส่วนร่วมเหมือนเราก็เต้นอยู่ข้างนอก พูดอะไรไปเขาไม่ให้ราคาเราเลย  คุยแต่วงราชการด้วยกัน หน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้  ภาคประชาชนถูกละเลยอย่างชัดเจน ปัจจุบันปัญหาก็ยังอยู่จุดเดิม คือเมื่อเกิดเรื่องขึ้นประชาชนยังต้องไปร้องเรียนหลายหน่วยงาน แค่ผู้บริโภคมีปัญหา สงสัยเรื่องบิลใบเดียว ค่าหมอ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ 1-2   รายการ  จำนวนเงินเป็นแสนๆ คืออะไรบ้าง  ต้องวิ่งไปหลายหน่วยงาน ไม่มี  One Stop Service   ทางออกที่ ท่าน อ.ไพบูลย์ กับ ท่าน สว.เสนอ น่าสนใจมาก  แต่ในฐานะประชาชนที่นอนอยู่กับปัญหา วันนี้จึงขอถามว่ามีความเป็นไปได้ไหม ถ้าเราอยากได้กรรมการที่จะเป็นจุดที่ช่วยประชาชนได้ ไม่ต้องวิ่งไปหลายหน่วยงาน แค่ไปที่นี่ที่เดียว   ข้อเสนอและทางออกที่น่าสนใจจากวงเสวนา “ตอนนี้อยากขอให้ช่วยกันลงชื่อใน Change.org ให้ครบห้าหมื่น เพื่อยื่นนายกฯ อีกครั้ง ว่าขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล  เราเสนอชื่อไปเลยและฟอร์มทีมไปเลย ถ้าเราเอาห้าหมื่นชื่อไปยื่นแล้วรัฐบาลไม่ขยับ เราจะตั้งกันเองเป็น “แพทยสภาเพื่อประชาชน” คู่ขนานกันไป เวลาวินิจฉัยเรื่องอะไรให้ประชาชนร้องเข้ามา เราก็จะมีข้อมูล  โปรโมทกรรมการชุดนี้ให้เต็มที่เลย  หลังจากนั้นค่อยเคลื่อน เอานักวิชาการและผู้รู้เข้ามา” นางปรียนันท์  ล้อเสริมวัฒนา  “เพิ่มอำนาจซื้อของกองทุน ที่สหรัฐอำนาจซื้อของเขามากพอที่จะทำให้โรงพยาบาลเอกชนจำนวนไม่น้อยต้องกังวลที่จะถูกตัดทอนสิทธิ แต่ถามว่ารายได้ของโรงพยาบาลเอกชนไทยส่วนใหญ่มาจากไหน คำตอบคือไม่ได้มาจากกองทุนของรัฐ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องคิดกลไกที่ให้รัฐไปส่งเสริมให้โรงพยาบาลเอกชนที่ทำตัวดีได้รับประโยชน์มากกว่าโรงพยาบาลที่มีปัญหา สุดท้าย ข้อเสนอของตนเองก็คือ การใช้เทคโนโลยี ภาษาอังกฤษเรียกว่า Block Chain  ที่ตัดคนกลางออกไปจากวงจรปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนที่จะมาแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการทุกชนิด จะทำให้การสื่อสาร  การรู้เท่าทันกันดีขึ้นมาก  รวมทั้งจะทำให้สังคมอยู่กันโดยมีกติกา  โดยที่ไม่ต้องฝากความหวังไว้กับคนกลาง”    ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล  “ส่งเสริมโรงพยาบาลรัฐให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการมากขึ้น แทนที่จะเอาเงินไปจ่ายเอกชน จ่ายให้รัฐดีกว่า รวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องและใช้ประโยชน์จากกฎหมายให้มากที่สุด สุดท้ายประชาชนต้องช่วยกันทำให้แพทยสภาเป็นที่พึ่งของประชาชนได้จริง ไม่สับสนในบทบาทตนเอง” พ.ต.อ.รศ.พณาเจือเพชร์ กฤษณะราช--------------------------------------------4 ข้อเสนอของ คอบช. ยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 25611. ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดออกประกาศให้ "บริการสาธารณสุข" เป็นบริการควบคุม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 โดยให้ผู้ประกอบการ สถานพยาบาลดำเนินการส่งรายการราคาต้นทุนการรักษา ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลส่งให้ทางกรมการค้า เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดราคาควบคุม2. กำหนดมาตรการระยะสั้น โดยประกาศราคาสูงสุดหรือราคากลาง อาทิ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการวิชาชีพ โดยให้นำราคากลางตามที่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กองทุนหลักประกันสุขภาพ ทั้ง 3 ระบบ (บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ) และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน มาใช้ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการประกาศราคาควบคุมตามข้อ 13. พัฒนาระบบรับเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาค่าบริการรักษาพยาบาล ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ค่าบริการวิชาชีพ ที่มีราคาแพง เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและรับประกันการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในกรณีจำเป็น เพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค4. ทบทวนมาตรการควบคุมราคายาและบริการรักษาพยาบาล ตัวอย่างเช่น "ยารักษาโรคซึ่งกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการฉบับที่1 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดสินค้าและบริการควบคุม หมวดยารักษาโรค (16 )" เช่นเดียวกันกับการควบคุมราคาผ้าอนามัย โดยให้มีการแจ้งต้นทุนราคาและรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 นายจ้างเรียกค่ารักษาพยาบาลคืนจากผู้ทำละเมิดลูกจ้าง “ไม่ได้”

สวัสดีครับ ครั้งนี้มาคุยกันเรื่องของสิทธินายจ้าง ลูกจ้างกันนะครับ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกท่าน ซึ่งบางท่านอาจจะเป็นทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เช่นเดียวกับที่ท่านอาจเป็นทั้งผู้บริโภคที่ซื้อและขายสินค้าในคนเดียวกัน โดยมีคดีเรื่องหนึ่งน่าสนใจมาก เป็นเรื่องของนายจ้างคนหนึ่งซึ่งมีลูกจ้างไปขับรถตักยกสินค้าประมาท โดยขับรถตักยกสินค้าเพื่อยกเยื่อกระดาษอัดลงจากรถยนต์บรรทุก โดยไม่ตรวจสอบก่อนว่าเยื่อกระดาษอยู่ในตำแหน่งที่อาจหล่นได้หรือไม่ เป็นเหตุให้เยื่อกระดาษหล่นจากรถยนต์บรรทุกมาทับลูกจ้างอีกคนตาย หลังเกิดเหตุ นายจ้างก็รับผิดชอบต่อครอบครัวของผู้ประสบเหตุ จ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าโลงศพ และค่าฉีดยาศพ พร้อมค่าขนศพมายังภูมิลำเนาลูกจ้างผู้ตาย รวมเป็นเงินกว่าแสนบาท   และต่อมา นายจ้างและครอบครัวของลูกจ้างที่ตาย ลูกจ้างที่ขับรถตักยก ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแต่ไม่ยอมชดใช้เงินให้นายจ้าง นายจ้างจึงมาฟ้องคดีต่อศาล  ซึ่งฝั่งจำเลยที่เป็นครอบครัวของลูกจ้างที่ตายก็สู้ว่าผู้ตายเป็นลูกจ้างของโจทก์ประสบเหตุขณะทำงานให้โจทก์ ผู้ตายเข้ารับการรักษาและโดยความยินยอมของโจทก์ โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ ขอให้ยกฟ้อง ท้ายที่สุด ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า การที่นายจ้างจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิแก่นายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้าง เพราะไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทน ดังนั้นนายจ้างจึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายไปคืนได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7630/2554          การรับช่วงสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจของกฎหมาย จึงต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้รับช่วงสิทธิได้ การที่โจทก์จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษซึ่งใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้างโดยเฉพาะ มิใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหายและกฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์ได้แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไปคืนจากจำเลยที่ 7 ได้ โดยสรุปคือ การจ่ายเงินของนายจ้างกรณีตามคดีนี้ เป็นการจ่ายเงินทดแทนตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษที่ใช้บังคับกรณีลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายจากการทำงานให้นายจ้างโดยเฉพาะ ไม่ใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย และกฎหมายก็ไม่ได้ให้สิทธินายจ้างเรียกเอาเงินที่จ่ายทดแทนไปนั้นจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้นนายจ้างซึ่งเป็นโจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปคืนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 กระแสต่างแดน

ยาลดภาษีค่ารักษาพยาบาลที่ญี่ปุ่นนั้นจัดว่าถูกมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ  จึงมีคนจำนวนไม่น้อยไปพบแพทย์โดยไม่จำเป็น  ถึงขั้นมีสำนวน “หาหมอเหมือนเข้าร้านสะดวกซื้อ” แม้แต่คลินิกชุมชนกลายเป็นแหล่งแฮงเอาท์ของผู้สูงอายุที่มาพบทั้งแพทย์และเพื่อนไปในคราวเดียว รัฐบาลลงมือแก้ปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลและคลินิกด้วยนโยบายคืนภาษีให้กับผู้ที่พยายามรักษาตัวเองด้วยยาชนิดที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ เช่น ยาแก้หวัด แก้ปวด ยาหยอดตา ยาแก้แพ้ ครีมทาสิว(รวมทั้งหมด 1,600 ผลิตภัณฑ์ 83 ตัวยา)แต่หลักฐานการขอคืนภาษีไม่ใช่แค่ใบเสร็จค่ายาที่มีมูลค่ารวมมากกว่า 12,000 เยน(ประมาณ 3,800 บาท) คุณต้องมีหลักฐานว่าได้พยายามหลีกเลี่ยงโอกาสเจ็บป่วยด้วยการเข้ารับการตรวจสุขภาพ รับวัคซีน  คัดกรองภาวะอ้วน หรือตรวจหามะเร็ง  อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยก่อนหน้านี้คนญี่ปุ่นก็ใช้ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลขอคืนภาษีได้อยู่แล้วหากมีค่าใช้จ่ายเกิน 100, 000 เยน เพียงแต่ปีนี้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นสำหรับคนที่ไม่ต้องการพบแพทย์ คุณต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งกระทรวงการคลังประมาณการว่าจะขาดรายได้ 3,000 ล้านเยนต่อปี แต่ก็น่าจะคุ้มเพราะทำให้คนหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง และยังลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของประเทศที่นับวันมีแต่จะเพิ่มเพราะประชากรส่วนใหญ่อายุมากขึ้น ขาดแคลนก๊าซ  ออสเตรเลียมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติไปหล่อเลี้ยงธุรกิจและอุตสาหกรรมในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อีกสามปีข้างหน้าเขาจะแซงกาตาร์ขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) รายใหญ่ที่สุดของโลกแต่ขณะนี้ออสเตรเลียกำลังเผชิญกับ “วิกฤติพลังงาน” ที่พรรคฝ่ายค้านออกมาโจมตีและเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขด่วน ครัวเรือน สำนักงาน และโรงงานต่างๆ ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของประเทศกำลังประสบภาวะขาดแคลน LNG และต้องซื้อในราคาที่แพงกว่าที่ส่งออกไปต่างประเทศด้วยซ้ำนายกฯ จึงเรียกบริษัทด้านพลังงานอย่าง เชลล์ เอ็กซอนโมบิล และซานโตส มาร่วมประชุมหาแนวทางแก้ไข ในขณะที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก็เตรียมจะตรวจสอบโครงสร้างราคาก๊าซทั้งที่ขายในประเทศและส่งออก เพื่อให้ตลาด LNG มีความโปร่งใสขึ้น … เรื่องนี้ต้องติดตาม ราคาไม่บันเทิง เว็บไซต์ Viagogo และ Ticketmaster Resale เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างคนที่มีตั๋วคอนเสิร์ตแต่ไม่ว่างไปดู กับคนที่มีเวลาไปดูแต่ไม่มีตั๋ว... ฟังดูน่าจะดี แต่กลับมีปัญหาร้องเรียนมากขึ้นทุกวันCHOICE องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียประณามการกระทำที่ไม่รับผิดชอบของสองเว็บนี้ ทั้งเรื่องของราคาตั๋วที่แพงลิบลิ่วและการปล่อยให้มีการหลอกลวงผู้บริโภค  ทางเว็บบอกว่าผู้ขายเป็นฝ่ายกำหนดราคา แต่ที่ไม่ได้บอกคือ Ticketmaster Resale คิดค่าคอมมิสชั่นร้อยละ 21 ในขณะที่ Viagogo หักร้อยละ 28 แถมยังไม่มีบริการดูแลลูกค้า ส่งอีเมลไปก็ไม่มีใครตอบ แฟนเพลงของจัสติน บีเบอร์ ต้องจ่ายถึง 2,587 เหรียญ (67,000 บาท) สำหรับตั๋วราคา 525 เหรียญ ในขณะที่มีคนยอมจ่าย 5,000 เหรียญ (130,000 บาท) สำหรับที่นั่งในโซนที่ดีที่สุดในการชมคอนเสิร์ตของอเดล (ราคาจริง 750 เหรียญ)  อย่างน้อยคนกลุ่มนี้ก็ได้ที่นั่งที่ต้องการ บางคนจ่ายราคาที่นั่งในโซนสำหรับรถเข็นแต่กลับได้นั่งในโซนธรรมดา บางคนเข้างานไม่ได้เพราะตั๋วซื้อมาในราคา 850 เหรียญเป็นตั๋วปลอม ของนอกดีกว่าเกษตรกรชาวเวียดนามไม่ค่อยปลื้มกับเขตการค้าเสรีอาเซียนเท่าไรนัก เพราะผักผลไม้ที่นำเข้าจากไทยกำลังทำให้พวกเขาเดือดร้อนปัจจุบันไทยคือผู้ส่งออกผลไม้รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 50 (จีนครองร้อยละ 19)เกษตรกรกลุ่มนี้เรียกร้องให้รัฐบาลเจรจากับไทยแบบตัวต่อตัว นำเข้าเฉพาะผัก ผลไม้ที่เวียดนามปลูกไม่ได้ และห้ามนำเข้าผลไม้อย่างลำไย มะม่วง ทุเรียนและแก้วมังกรที่เกษตรกรของเขาปลูกอยู่แล้วอีกกลุ่มบอกว่าการกีดกันทางการค้าคงช่วยไม่ได้มาก เพราะผู้บริโภคเชื่อว่าผลไม้ที่ปลูกในประเทศนั้นไม่ปลอดภัย และของจากไทย “ดีกว่า” ทั้งคุณภาพและราคา เบื้องต้นทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (VietGap) ให้ได้ก่อนนอกจากนี้ยังเรียกร้องให้จำกัดส่วนแบ่งตลาดสำหรับชาวต่างชาติไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 40 เพราะธุรกิจค้าส่งและกระจายสินค้าเริ่มตกมาอยู่ในมือนักธุรกิจไทยมากขึ้น …  ต้องเร็วกว่าเดิมเวียดนามก็ติดอันดับเรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนนเช่นกัน สถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ต่อประชากร 100,000 คน/ปี อยู่ที่ 24.5 คน (ของไทย 36.2) ในช่วงสามวันอันตรายเมื่อตรุษจีนที่ผ่านมาเวียดนามมีผู้เสียชีวิตรวม 55 ราย (ของไทยก็ 55 รายเช่นกัน แต่เป็นตัวเลขต่อวันในช่วงสงกรานต์)  ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้สถานีอนามัยที่อยู่ใกล้ทางหลวงในรัศมี 50 กม. จัดบริการฉุกเฉินไว้รองรับผู้ประสบอุบัติเหตุ ที่ผ่านมามีผู้ที่ต้องพิการหรือเสียชีวิตทั้งๆ ที่อาการบาดเจ็บไม่รุนแรง เพราะไม่มีการดูแลเบื้องต้นและผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลช้าเกินไป  นโยบายนี้เริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จึงยังขลุกขลักอยู่บ้างทั้งเรื่องการประสานงานและจำนวนรถพยาบาลที่ไม่เพียงพอ แต่เมื่อเข้าที่เข้าทางแล้วมันจะลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 10 แพทย์ให้ความเห็นว่าผู้ได้สัมปทานทำถนนควรให้ความสนใจกับที่พักริมทางหรือศูนย์แพทย์ฉุกเฉินบ้างและหวังว่าทางหลวงใหม่ที่กำลังจะสร้างอีก 21 สายจะมาพร้อมศูนย์ฯ ที่พร้อมช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ใครจ่ายเมื่อบาดเจ็บ

หากเราประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝัน สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่ทราบว่าสามารถเบิกจากที่ไหนได้บ้าง ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณสุชาติส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า เขาประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้มแขนหัก ขณะที่กำลังขี่ไปทำงาน ทำให้ต้องหยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งทางบริษัทได้ออกค่านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลให้ อย่างไรก็ตามคุณสุชาติพบว่าตนเองได้ทำประกันตาม พ.ร.บ. ไว้กับบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ด้วย จึงต้องการทราบว่าสามารถเบิกค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมได้อีกหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ ได้ชี้แจงการเบิกใช้สิทธิ พ.ร.บ. ในวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้น ดังนี้กรณีบาดเจ็บ เบิกจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล ในวงเงินตามที่รักษาจริงไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน (ปรับเพิ่มจากเดิมคุ้มครองเพียง 15,000 บาท) โดยผู้ประสบภัยจะเบิกเองหรือมอบอำนาจให้โรงพยาบาลตั้งเบิกกับบริษัทกลางฯ ผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทกลางฯ ได้จัดทำระบบสินไหมอัตโนมัติ (ระบบสินไหมอัตโนมัติ หรือ e-claim online บริษัทกลางฯ จะโอนเงินจ่ายคืนโรงพยาบาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ส่งเรื่องตั้งเบิก) และขอความร่วมมือโรงพยาบาลทุกแห่งเข้าใช้ระบบ เพื่อลดภาระของประชาชนและผู้ประสบภัยจากรถอย่างไรก็ตามในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลเกินกว่านี้ ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิจากวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้นไปก่อน 30,000 บาท ส่วนเกินที่เหลือสามารถเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้จาก 1.สิทธิบัตรทอง 30 บาท (ถ้ามี) 2.สิทธิประกันสังคม (ถ้ามี) หรือ 3.ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งในกรณีนี้ต้องรอผลสรุปทางคดีและสามารถเรียกร้องเอาจากคู่กรณีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ตายไม่กลัว กลัวไม่สวย

“วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2559 เวลา 18.00 น. ห้องฉุกเฉิน รพ.ปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับตัว ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 33 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการผื่นแดงตามตัว มีอาการชาไปทั่วร่างกาย หายใจไม่สะดวก ผู้ป่วยให้ข้อมูลว่าประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนเกิดอาการ ตนได้รับประทานยามา 5 เม็ด(เภสัชกรได้เข้าไปตรวจสอบยาดังกล่าว จึงทราบว่าเป็นยา แก้ปวดลดไข้ (Paracetamol) ยาแก้ปวดอักเสบ(Ponstan) ยาปฏิชีวนะ(Ampicillin) ยา Danzen)” ทีมงานรากยา หมอยาบ้านนอก ได้ส่งต่อข้อมูลเพิ่มเติมมาให้ผมทราบว่า ผู้ป่วยรายนี้ได้ทำศัลยกรรมใบหน้าที่ร้านเสริมสวยแห่งหนึ่ง(ย้ำนะครับว่าร้านเสริมสวย) ในอำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ โดยเจ้าของร้านเสริมสวยแห่งนี้ได้แนะนำผู้ป่วยว่า “ที่ร้านตนมีหมอศัลยกรรมที่มีประสบการณ์จากคลินิกเสริมความงามในกรุงเทพฯ มีความเชี่ยวชาญมานานกว่า 20 ปี   มีลูกค้าหลายคนที่มาทำกับหมอคนนี้แล้วสวย ไม่พบอันตราย” ผู้ป่วยจึงเลยตัดสินใจทำศัลยกรรมทั้งใบหน้า (ร้อยไหม ฉีดคาง เติมหว่างคิ้ว ฉีดตีนกา ฉีดฝ้า ทำหน้าใส และฉีดร่องแก้ม ) รวมค่าบริการ 15,000 บาท โดยก่อนทำ 1 ชั่วโมง  ชายผู้ที่อ้างว่าเป็นหมอได้นำยา 5 เม็ดดังกล่าวมาให้ผู้ป่วยรับประทาน  หลังจากนั้นจึงได้เริ่มฉีดคาง และฉีดยาชาตามบริเวณต่างๆ ของใบหน้า และเริ่มฉีดเติมในส่วนต่างๆ ขณะที่กำลังทำนั้น ผู้ป่วยมีอาการวิงเวียน และเริ่มชาตามส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย จนตนขยับตัวเองไม่ได้  เริ่มแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก จนญาติต้องเร่งนำส่งตัวมาที่โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ได้รักษาและวินิจฉัยว่า เป็นอาการแพ้สารเคมีจนช็อกกะทันหัน (Anaphylactic shock) ในระหว่างที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาล ชายที่อ้างตนเป็นหมอยังติดตามมาพูดคุยรายละเอียดต่างๆ กับแพทย์เจ้าของไข้ และยังนำตัวอย่างยามาให้ดู โดยมีพิรุธที่ไม่สามารถบอกชื่อยาได้ นอกจากบอกว่า “ไม่เคยเจอใครมีอาการแบบนี้ ทุกคนที่ทำล้วนกลับออกจากร้านด้วยความสวยงาม ผู้ป่วยรายนี้อาจใช้ยาอื่นมาก่อน” หลังจากรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 คืน ผู้ป่วยอาการดีจึงได้ติดต่อกับชายที่อ้างตนเป็นหมอเสริมความงามผู้นี้เพื่อให้รับผิดชอบค่าเสียหาย แน่นอนว่า ผู้ก่อความเสียหายไม่ยอมรับผิดชอบ เพียงรับปากจะทำศัลยกรรมให้ใหม่จนหายปกติ ผู้ป่วยจึงได้มาแจ้งเรื่องร้องเรียนที่กลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.ปทุมราชวงศา ข้อมูลเพิ่มเติมคือ คนไข้เคยรับประทานยาที่ชายคนนี้จ่ายมาหลายครั้งแล้ว  นอกจากนี้ยังเคยรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลดความอ้วน และหยุดรับประทานมา 3 เดือน ก่อนทำศัลยกรรม รวมทั้งยังเคยทายาชาเพื่อสักคิ้วมาก่อน (สรุปว่ามีพฤติกรรมสวยแบบเสี่ยงมาโดยตลอด) กลุ่มงานเภสัชกร จึงได้ดำเนินการประสานกับตำรวจ ลงพื้นที่ไปติดตามข้อมูลที่ร้านเสริมสวย ซึ่งเจ้าของร้านให้ข้อมูลว่า ตนเองรู้จักชายคนนี้ จากการแนะนำของเพื่อนในจังหวัดจึงติดต่อให้มาใช้สถานที่ภายในร้านเสริมสวยเป็นห้องทำศัลยกรรม โดยตนเองจะเป็นคนหาลูกค้าให้ ซึ่งตนจะได้ค่านายหน้าและได้ทำศัลยกรรมใบหน้าฟรี ซึ่งทำหลายครั้งแล้ว ไม่เคยมีใครเกิดอาการผิดปกติ  (สรุปว่าเสี่ยงกันมาแล้วหลายคน) ล่าสุดชายคนดังกล่าวได้เก็บของหนีไปแล้ว จากข้อมูลที่ได้มา สะท้อนให้เห็นว่าเทคนิคในการออกล่าเหยื่อที่อยากสวย ของมิจฉาชีพในปัจจุบันมีมากมาย ในขณะที่ผู้คนในยุคปัจจุบันหลายคน อยากสวยโดยยอมเสี่ยงอันตราย พวกเราคงต้องช่วยกันให้ความรู้ และเตือนสติผู้บริโภค ตลอดจนช่วยกันสอดส่องดูแลมิให้มิจฉาชีพพวกนี้มาทำร้ายผู้คนนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 ยาฝาแฝด “ปัญหาจาก ฉลากยา(มหัศจรรย์) ดูให้ดีก่อนกิน”

ฉลากยาเป็นเครื่องมือที่กฎหมายกำหนดให้แสดงไว้ข้างภาชนะบรรจุยา วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สั่งใช้ และผู้ที่จะต้องใช้ยา ได้อ่านเพื่อที่จะได้ใช้ยาอย่างถูกต้องปลอดภัย โดยกฎหมายจะกำหนดให้ฉลากยาต้องมีรายละเอียดที่จำเป็นครบถ้วน ได้แก่ ชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า เลขทะเบียนยา สรรพคุณของยา วันผลิตและวันหมดอายุ แต่บางครั้งเราพบว่าฉลากยาหลายรายการกลับมีรูปแบบที่ใกล้เคียงกันมาก มากจนอาจเรียกได้ว่าเป็น “ ยาฝาแฝด จนทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน หรือเกิดความเสี่ยงในการใช้ยาอย่างผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ ลองดูตัวอย่างที่ฉลาดซื้อ ได้สำรวจ และสอบถามข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความสับสนเหล่านี้ จากเภสัชกร ชมรมเภสัชชนบท ตัวอย่างเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นผู้ป่วยชายไทย อายุ 41 ปี มารับยาจิตเภท (Schizophrenia) ตามนัด หลังจากเภสัชกรได้ตรวจสอบยาเดิมที่ผู้ป่วยนำติดตัวมา โดยผู้ป่วยรายนี้ได้รับยาชนิดเดียวกัน แต่ 2 ความแรง คือ Risperidone 1 mg และ Risperidone 2 mg ตามภาพประกอบโดยเวลารับประทานยาทั้ง 2 เหมือนกันคือ ครั้งละ 1 เม็ด ก่อนนอน จากการสอบถามผู้ป่วยและญาติเข้าใจผิดคิดว่าอันเดียวกันเนื่องจากดูเหมือนๆกันจึงเก็บยาทั้ง 2 ความแรงไว้ในซองเดียวกัน โดยหยิบรับประทานครั้งละ 2 เม็ด ก่อนนอนและไม่ทราบว่าเป็นยาคนละความแรง ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากความสับสนในฉลากยากลุ่มนี้ยาพาราเซตามอล ไซรัป ผู้ประกอบการได้ผลิตในรูปแบบความแรงที่แตกต่างกัน 4 ขนาดคือ 1. 120 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 120 มิลลิกรัม 2. 160 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 160 มิลลิกรัม 3. 250 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 250 มิลลิกรัม 4. 60 mg / 0.6 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 0.6 มิลลิลิตร มียาพาราเซตามอล 60 มิลลิกรัมจะสังเกตได้ว่า ยาพาราเซตามอล ไซรัป ที่อยู่ในรูปแบบของชนิดหยด ใช้สำหรับเด็กทารกแรกเกิด มีความแรงของยาในขนาดที่สูงกว่ารูปแบบยาน้ำเชื่อมถึง 4 เท่า และยาในรูปแบบยาน้ำเชื่อมมีความแรงของยาที่แตกต่างกันถึง 3 ขนาด ซึ่งผู้บริโภคต้องทราบว่า ไม่เพียงแต่รสชาติ กลิ่นของยาน้ำเชื่อม จะแตกต่างกันเท่านั้น ความแรงของยาก็มีความแตกต่างกันด้วย ซึ่งยาพาราเซตามอล หากใช้เกินขนาด อาจทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย นำไปสู่ภาวะตับวายและเสียชีวิตได้ ซึ่งขนาดการใช้ยาพาราเซตามอลในเด็ก ไม่เกิน 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง (และไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/ครั้ง) รวมทั้งไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/24 ชั่วโมง (ไม่เกิน 3,250 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง) และไม่ควรใช้ยาพาราเซตามอล ติดต่อกันนานเกิน 5 วัน ในเด็กข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหา ฉลากยาที่คล้ายกันปัญหาจากกลุ่ม “ยาฝาแฝด” หรือ “ยารูปพ้อง-มองคล้าย” ต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาร่วมกันจากทุกส่วน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายถึงผู้ใช้ยา นอกจากนี้ แม้ว่าโรงพยาบาลทุกแห่งจะมีมาตรการจัดการด้านยา “ชื่อพ้องมองคล้าย”อย่างจริงจังแล้วก็ตาม ตัวผู้ใช้ยาหรือผู้ดูแลผู้ป่วยเอง ก็ต้องมีการทบทวนยาที่ตนใช้ให้ละเอียดรอบคอบทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ที่สำคัญที่สุด คือ “การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุตั้งแต่การขอขึ้นทะเบียนยา” ควรให้มีการบรรจุเกณฑ์การพิจารณาฉลากยาบรรจุภัณฑ์ของยานั้นๆ เช่น แผงยา ขวดยา หลอดยา ไม่ให้มีความเหมือน หรือคล้ายคลึงกับยาอื่น นอกจากนี้ ไม่ควรอนุญาตให้ใช้ชื่อทางการค้าเดียวกัน โดยที่ส่วนประกอบของตำรับยาเป็นคนละชนิดกัน และไม่ควรอนุญาตให้ยาชนิดเดียวกัน ที่มีความแรงของยาที่ไม่เท่ากัน ใช้ชื่อทางการค้าเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤษภาคม 2559ไขข้อข้องใจการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มเป็นแบบชิปการ์ดธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตเป็นแบบชิป(Chip Card) หลังจากมีกระแสข้อสงสัยหลายเรื่องถูกแชร์ต่อๆ กันในโลกออนไลน์ เช่นว่าการเปลี่ยนบัตรต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือไม่ หรือเมื่อเปลี่ยนบัตรพนักงานธนาคารจะเปลี่ยนให้เป็นบัตรที่พ่วงประกันซึ่งมีค่าธรรมเนียมรายปีสูงกว่า ฯลฯโดยข้อเท็จจริงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงออกมามีดังนี้1.ผู้ที่ออกบัตรใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2559 เป็นต้นไป จะได้รับบัตรเป็นแบบชิป ซึ่งธปท.บอกว่ามีความปลอดภัยในการใช้งานกว่าบัตรแบบเดิม(แถบแม่เหล็ก)2.บัตรแบบเดิมยังใช้งานได้ถึง 31 ธันวาคม 2562 หรือตามกำหนดของธนาคารแต่ละแห่ง3.คนที่อยากเปลี่ยนบัตรเป็นแบบชิปสามารถแจ้งกับธนาคารได้ทันที โดยมีค่าธรรมเนียมตามธนาคารแต่ละแห่งจะกำหนด4.ธนาคารบางแห่งอาจยกเว้นค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนบัตร เพื่อส่งเสริมการขาย ซึ่งก็เป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคารแต่ละแห่ง5.บัตรแบบชิปสามารถใช้ได้กับตู้เอทีเอ็มได้ตามปกติ แต่ในระยะแรกอาจมีตู้บางตู้ในบางพื้นที่ของบางธนาคารที่ยังไม่พร้อมในการใช้งาน โดยตู้ที่ยังไม่รองรับจะมีการแสดงข้อความให้ผู้ใช้บริการทราบปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตให้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละบัตรมีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปีแตกต่างกัน ก่อนใช้บริการทุกครั้งควรสอบถามข้อมูลกับพนักงานให้ชัดเจน เพื่อให้ได้บัตรที่ตรงกับความต้องการของเรามากที่สุด และมีสิทธิปฏิเสธการใช้บริการหากไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน   สั่งปิด “โรงพยาบาลเดชา”กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ได้มีคำสั่งปิดการให้บริการของโรงพยาบาลเดชา พญาไท ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.2559 ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่า รพ.อยู่ในสถานภาพที่ไม่พร้อมให้บริการ ถูกตัดไฟ มีแพทย์เหลือเพียงแค่ 1 คน ซึ่งการสั่งปิดเป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541สบส.เชื่อว่าการสั่งปิดโรงพยาบาลเดชา จะไม่กระทบกับผู้ป่วย เพราะทาง รพ.ทราบอยู่ก่อนแล้ว โดยก่อนที่ รพ.จะถูกสั่งปิดมีผู้ป่วยในที่ยังคงรักษาจำนวน 7 คน เป็นผู้ป่วยในระบบประกันสังคม โดยได้ประสานส่งตัวไปรักษายัง รพ.อื่นต่อไป ส่วนผู้ป่วยนอกนั้นมีน้อยอยู่แล้ว จึงไม่น่าเกิดผลกระทบอะไรกับผู้ป่วย รพ.เดชา พญาไท เปิดดำเนินกิจการมายาวนานกว่า 35 ปี ก่อตั้งโดย นพ.เดชา สุขารมณ์ แต่ที่ผ่านมาได้ให้บริษัท ศรีอยุธยา จำกัด เช่าและบริหารงานโรงพยาบาลเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยคิดค่าเช่าเดือนละ 1 ล้านบาท แต่ผู้เช่ารายดังกล่าวได้ค้างค่าเช่าเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท ทำให้เป็นคดีความกันอยู่ ส่งผลต่อการบริหารงานใน รพ.ก่อนจะมาถูกสั่งให้ปิดการให้บริการลงในที่สุด ภาคประชาชนค้านนโยบายเลิกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากการที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังจะมีนโยบายยกเลิกจ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้เกินเดือนละ 9,000 บาท หรือมีสินทรัพย์สูงเกิน 3 ล้านบาท เพื่อลดภาระงบประมาณด้านสวัสดิการภาครัฐ ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนต้องออกมารวมตัวกันแถลงไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะเป็นการลดทอนสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ และเป็นการกระทำโดยไม่ยึดหลักเรื่องความเสมอภาคเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ประกอบด้วยเครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายสวัสดิการชุมชน และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านนโยบายดังกล่าว พร้อมทั้งมีข้อเรียกร้องให้กระทรวงการคลัง เลือกใช้วิธีอื่นในการแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณไม่ใช่การลดสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นงบประมาณที่ได้จากการเก็บภาษีโดยในการเก็บภาษีก็ไม่ได้แบ่งแยกคนรวยคนจน ดังนั้นเรื่องการจัดสรรสวัสดิการพื้นฐานก็ไม่ควรแบ่งแยกคนรวยหรือคนจนเช่นกัน อย. ยัน “Derma Roller” อันตราย!!! ห้ามใช้เด็ดขาดอย.ได้ออกมายืนยันแล้วว่า เครื่องลูกกลิ้งนวดหน้า (Derma Roller) ที่โอ้อวดว่าช่วยรักษารอยสิว รอยแผลเป็นบนใบหน้า ลบรอยเหี่ยวย่น เป็นสินค้าที่ไม่มีการอนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่เพียงพอในการสนับสนุนประสิทธิภาพ หรือข้อบ่งใช้ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พร้อมฝากเตือนว่าตามที่สินค้าดังกล่าวโฆษณาโอ้อวดไว้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้คนที่มีปัญหารอยแผลจากสิว มีริ้วรอยเหี่ยวย่นกลับมามีผิวที่มีสุขภาพดีขึ้นได้ ทำให้หน้าเรียบใส โดยการทำให้ผิวเกิดรอยแผล แล้วผิวจะซ่อมแซมตัวเองโดยการสร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่นั้น เป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบที่ผิวหนัง เกิดการระคายเคืองจากสารที่ทาบนผิวหนัง และอาจเป็นอันตรายต่อดวงตาเมื่อนำไปใช้ใกล้บริเวณรอบๆ ดวงตา หากอุปกรณ์ไม่สะอาดก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้นไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยเด็ดขาด เจอสารเคมีปนเปื้อนในผัก-ผลไม้เพียบ แม้แต่ที่มีตรา “Q” ก็เจอเกินมาตรฐานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือ Thai-PAN เปิดเผยผลการสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมรับประทาน เช่น กะหล่ำปลี แตงกวา ผักบุ้งจีน มะเขือเทศ ผักกาดขาวปลี คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ กะเพรา และพริกแดง แตงโม มะม่วงน้ำดอกไม้ มะละกอ แก้วมังกร ฝรั่ง และส้มสายน้ำผึ้ง  รวมทั้งหมด 138 ตัวอย่าง พบว่ามีผักและผลไม้ตกค้างเกินมาตรฐานนั้นสูงถึง 46.4% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่ตรวจ จากผลการวิเคราะห์พบประเด็นที่น่าสนใจคือ ผักและผลไม้ซึ่งได้รับตรา Q โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด  โดยพบสูงถึง 57.1% นอกเหนือจากนั้นผักและผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับการรับรอง Organic Thailand ซึ่งไม่ควรตรวจพบการตกค้างของสารเคมีกลับพบการตกค้างสูงเกินมาตรฐานถึง 25% ของจำนวนตัวอย่างโดยหลังจากที่ได้มีการเผยแพร่ผลการวิเคราะห์ออกไป กลับได้รับคำตำหนิจากหน่วยงานรัฐอย่างกรมวิชาการเกษตรที่ออกมาให้ข่าวว่าจะดำเนินการฟ้องร้อง Thai-PAN ที่สร้างความเสียหายต่อหน่วยงานรัฐ สร้างความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภคแต่ทั้งนี้ Thai-Pan ก็เตรียมฟ้องกรมวิชาการเกษตรในฐานที่ละเลยการตรวจสอบคุณภาพผัก-ผลไม้ โดย น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการโครงการกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่าประเด็นการฟ้องร้องจะแบ่งเป็น 2 กรณีคือ 1.กรมวิชาการเกษตรละเลยการควบคุมสินค้าที่มีเครื่องหมาย Q เนื่องจากพบปัญหาสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานทั้งที่ผ่านการรับรองแล้ว 2.พบการตกค้างของสารอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นสารเคมีที่ห้ามจำหน่ายในประเทศไทย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 2556 ระวัง “กลลวงทดสอบคุณภาพน้ำ” การประปานครหลวง (กปน.) ฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับการทดสอบความสะอาดและคุณภาพของน้ำดื่ม เพราะทั้งสร้างความเข้าใจผิดเรื่องความสะอาดของน้ำดื่ม แถมยังหวังหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงซื้อผลิตภัณฑ์ปรับคุณภาพน้ำ   มีการโฆษณาชวนเชื่อโดยการนำเครื่องมือทดสอบ ชนิดเครื่องแยกสารละลายด้วยไฟฟ้า หรือ เครื่องอิเล็กโทรไลซิส (Electrolysis) ซึ่งประกอบด้วยขั้วไฟฟ้า 2 ขั้ว คือเหล็ก และอะลูมิเนียม โดยเมื่อนำเครื่องมือทดสอบดังกล่าวจุ่มลงไปในน้ำดื่มทั่วไปที่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุ และทำให้ไฟฟ้าไหลผ่านน้ำที่ทดสอบ ขั้วไฟฟ้าที่ทำด้วยเหล็กจะละลายและทำปฏิกิริยากับน้ำ ทำให้เกิดตะกอนที่มีสีน้ำตาลแดงคล้ายสนิมเหล็ก เรียกว่า เหล็กไฮดรอกไซด์ ซึ่งตะกอนที่ละลายออกมาจากเครื่องมือนี้เอง ที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนว่าน้ำที่มีตะกอนละลายคือน้ำที่ไม่สะอาด มีสิ่งเจือปน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งความจริงแล้ว น้ำดื่มที่เหมาะแก่การบริโภค ต้องมีส่วนประกอบของแร่ธาตุอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม จึงไม่แปลกที่เมื่อนำเครื่องมือดังกล่าวมาทดสอบแล้วเกิดสีหรือตะกอน ในขณะที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวนำน้ำบริสุทธิ์หรือน้ำที่ผ่านกระบวนการ Reverse Osmosis หรือการขจัดแร่ธาตุทุกชนิดออกไปจากน้ำ จนไม่มีสิ่งใดๆ เจือปนอยู่เลยเทียบเท่าได้กับน้ำกลั่นมาทดสอบ จึงไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ ขึ้นทั้งสิ้น และทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าน้ำดังกล่าวคือน้ำที่สะอาดที่สุด   กปน.ยืนยันว่าน้ำประปาที่ผลิตได้นั้น ได้มาตรฐานน้ำดื่มตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก     ขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาล นโยบายปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลเริ่มส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วนของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการรักษาพยาบาล เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเตรียมปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาล โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปรับตามสภาวะเศรษฐกิจ หลังจากที่ไม่ได้ปรับราคามาตั้งแต่ปี 2547 โดยทางกระทรวงฯ เชื่อว่าจะไม่กระทบกับคนไทยส่วนใหญ่ซึ่งมีระบบหลักประสุขภาพรองรับ ทั้งระบบบัตรทอง ระบบประกันสังคม และระบบราชการ แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ที่จะต้องรับผลกระทบโดยตรงแน่นอน เพราะเมื่อมีประกาศเรื่องการขึ้นราคารักษาพยาบาลจากกระทรวงฯ โรงพยาบาลเอกชนเองก็จะต้องปรับขึ้นราคาตามประกาศ หรือแม้แต่กลุ่มผู้ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ก็อาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในกลุ่มประกันสังคมอาจมีการเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มจากทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ใช้สิทธิประกันสังคม   ค่าบริการใหม่ครั้งนี้มีรายการที่จะออกประกาศใหม่ทั้งหมด 2,713 รายการ หมวดที่เพิ่มขึ้นสูงสุด คือ ค่าตรวจรักษาโรคโดยวิธีพิเศษซึ่งเพิ่มขึ้น 53% เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีใหม่ รองลงมา คือค่าบริการรังสีวินิจฉัย เวชศาสตร์นิวเคลียร์และรังสีรักษา เพิ่ม 23%รายการที่เพิ่มต่ำสุด คือ ค่าบริการเทคนิคการแพทย์ 8%     กสทช. แจกคูปองส่วนลดกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การรับชมโทรทัศน์ในบ้านเราจะมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาณเป็นระบบดิจิตอลที่มีความคมชัดของทั้งภาพและเสียงดีกว่าสัญญาณระบบอนาล็อกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการส่งสัญญาณในครั้งนี้จะมีผลทำให้แต่ละบ้านต้องมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการรับชม แต่ผู้บริโภคว่าไม่ต้องกังวลว่าถึงขนาดต้องเปลี่ยนโทรทัศน์ใหม่ เพราะสามารถใช้กล่องรับสัญญาณหรือ set top box รับสัญญาณชมรายการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้ตามปกติ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมแจกจ่ายคูปองส่วนลดให้กับประชาชนทุกครัวเรือนเพื่อนำไปซื้อ Set-top-box เพื่อเตรียมพร้อมสู่การรับชมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล   ข้อดีของทีวีดิจิตอล คือ ในหนึ่งช่องสัญญาณจะสามารถนำมาส่งได้หลายรายการโทรทัศน์ สำหรับรายการดิจิตอลทีวีของประเทศไทยจะมีจำนวน 48 ช่อง ได้แก่ ช่องบริการชุมชน 12 ช่อง ช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง ช่องบริการธุรกิจ (เชิงพาณิชย์) 24 ช่อง ซึ่งยังแบ่งออกเป็นในหมวดรายการเด็กและเยาวชน 5 ช่อง หมวดข่าวสารและสาระ 5 ช่อง หมวดช่องทั่วไป 10 ช่อง หมวดช่องรายการที่มีคุณภาพความคมชัดสูง (HD) 4 ช่อง     โทรนาทีละ 99 สตางค์ จากนี้ไปผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายต้องคิดค่าโทรในอัตรานาทีละไม่เกิน 99 สตางค์ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีประกาศเรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ.2555 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2555   จากการตรวจสอบของ กสทช. พบว่าต้นทุนการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ไม่เกินนาทีละ 1 บาท ประกาศฉบับนี้จึงทำให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการในราคาที่เป็นธรรม   โดยตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นบริการในระบบเติมเงินหรือเหมาจ่ายรายเดือน ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือห้ามคิดค่าโทรเกิน 99 สตางค์ หากใครพบว่ามีการฝ่าฝืนสามารถแจ้งข้อมูลหรือร้องเรียนเข้ามาได้ทางสายด่วนรับเรื่องร้อนของ กสทช. หมายเลข 1200     ปั่นจักรยานดันกฎหมายผู้บริโภค กลุ่มผู้บริโภคจากทั่วประเทศรวมกันขี่จักรยานและเดินเท้า ถือป้ายรณรงค์กฎหมายองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค และนำรายชื่อประชาชน 107,905 รายชื่อ สนับสนุนการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ให้ช่วยเร่งจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556   โดยกิจกรรมการ “ปั่นจักรยานทวงสิทธิของคุณคืนมาด้วยมาตรา 61” ถือเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่เริ่มต้นตั้งแต่การรวมตัวปั่นจักรยานของกลุ่มเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่บริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 และกิจกรรมครั้งที่ 2 คือการปั่นจักรยานที่สวนรถไฟในวันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ ก่อนจะปิดท้ายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ด้วยกิจกรรมขบวนจักรยานและเดินเท้าของกลุ่มพี่น้องเครือข่ายผู้บริโภคจากทั่วประเทศกว่า 500 คน จากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า มายังหน้ารัฐสภา เพื่อเป็นการแสดงพลังและส่งเสียงทวงถามถึงความคืบหน้าในการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับสำคัญที่มาจากประชาชน พร้อมกันนี้มีการยื่นหนังสือต่อ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายวัฒนา เซ่งไพเราะ และ ส.ส. ส.ว. อีกหลายท่าน เช่น นายบุญยอด สุขถิ่นไทย  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  นางสาวรสนา  โตสิตระกูล  สว.สรรหากรุงเทพมหานคร  นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย   สมาชิกวุฒิสภา สรรหา และนายวิทยา บูรณะศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ตำแหน่งประธานวิปรัฐบาล เพื่อให้ช่วยกันผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้   แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 61 กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดตั้งองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคขึ้น ซึ่งประชาชนได้ทำการเข้าชื่อกันกว่า 10,000 ชื่อเพื่อเสนอกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 แต่ปัจจุบันการพิจารณาก็ยังค้างคาอยู่ในกระบวนการจัดตั้งกรรมาธิการร่วม ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งกลุ่มองค์กรผู้บริโภคเห็นว่ากระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้ล่าช้าเกินไป ทั้งที่เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ และเกรงว่าร่างกฎหมายจะตกไปหากหมดสมัยประชุมสภา กลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคจึงต้องออกมารวมพลังเรียกร้องในครั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายฉบับนี้ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 ค่ารักษาพยาบาลมหาโหด

เช้ามืดวันหนึ่ง ขณะที่หลายคนกำลังหลับใหล แต่คุณใหญ่ กลับทรมานด้วยอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว  และมีอาการปวดหลังร่วมด้วย พอเหมาะกับสามีก็ไปทำงานต่างจังหวัด จึงได้โทรศัพท์ให้น้องชายพาไปโรงพยาบาล ขณะที่เดินทางไปพบแพทย์คุณใหญ่เล่าว่าตัวเองมีสติครบถ้วน  และรู้สึกตัวดีทุกประการ  ไม่มีอาการของผู้ป่วยในลักษณะรุนแรง หรือฉุกเฉินแต่อย่างใด   โดยเมื่อมาถึงโรงพยาบาล  แพทย์ที่ทำการรักษาเบื้องต้นได้สอบถามอาการต่างๆ และยังสอบถามกับคุณใหญ่ว่าประสงค์จะนอนพักที่โรงพยาบาล  หรือจะเพียงฉีดยาแล้วเอายากลับไปรับประทานที่บ้าน และตรวจสอบสิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปด้วย  ซึ่งคุณใหญ่ก็แจ้งข้อมูลว่า ได้ทำประกันไว้กับ บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งพร้อมกับแสดงบัตรของบริษัทประกันภัยดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลก็ทำการรับตัวเข้าเป็นผู้ป่วยในทันที“เจ้าหน้าที่พาดิฉันไปเปลี่ยนเสื้อผ้า  เจาะเลือด  ฉีดยา  ให้น้ำเกลือ  และนำสารเคมีอะไรบางอย่างมาให้ ดิฉันดมจนหมดสติไป     ฟื้นขึ้นมาอีกทีก็ทราบว่านอนอยู่ในห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน( ห้อง ไอ ซี ยู ) เสียแล้ว”จากการสอบถามแพทย์ว่าเพราะเหตุใดท้องเสียต้องเข้ารักษาในห้องไอ ซี ยู   แพทย์ตอบว่าความดันต่ำต้องดูแลใกล้ชิด   คุณใหญ่ได้โต้แย้งว่าความดันต่ำเป็นโรคประจำตัวและเป็นปกติอยู่แล้ว  ไม่มีปัญหาอะไร  และขอออกจากห้อง ไอ ซี ยู   แต่แพทย์ไม่ยอมให้ออกท่าเดียวโดยอ้างเรื่องความดันต่ำ เป็นเหตุให้คุณใหญ่ต้องอยู่ในห้อง ไอ ซี ยู  เป็นเวลาถึง  3 วัน                             .ในระหว่างอยู่ในห้อง ไอ ซี ยู  มีการตรวจรักษามากมายหลายรายการ เช่น มีการให้เลือด การเอ็กซ์เรย์ปอด  มีการตรวจช่องท้องโดยอัลตร้าซาวด์  มีการตรวจมะเร็งที่สำไส้ และที่รังไข่  และอื่น ๆ อีกมาก  ทั้ง ๆ ที่ คุณใหญ่เองได้แจ้งต่อแพทย์ ผู้ตรวจตลอดเวลาว่าตนเองไม่ได้เป็นอะไรมาก และได้ตรวจร่างกายครั้งใหญ่เมื่อเดือนที่ผ่านมา  ผลการตรวจร่างกายก็ไม่มีสิ่งใดผิดปกติเลย  แต่แพทย์ก็ยังฝืนตรวจร่างกายอย่างบ้าคลั่ง เกินความจำเป็น  และไม่เกี่ยวกับโรคที่มาเข้ารับการรักษา   เป็นเหตุให้ค่ารักษาพยาบาลสูงมากถึง  139,553 บาท  หักประกันจำนวน  16,400 บาท  แล้วคง เหลือที่จะเรียกเก็บเป็นเงินจำนวน  122,573 บาท  คุณใหญ่เห็นว่าค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวเป็นค่ารักษาที่เกินความจริง เกินความจำเป็น  จึงไม่ชำระเงิน และออกจากโรงพยาบาลมาโดยยังไม่ได้ชำระเงินแต่อย่างใด ผ่านมาเกือบ 2  ปี คุณใหญ่ได้รับหมายศาล เพราะโรงพยาบาลฟ้องเรียกค่าเสียหาย  จึงได้เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ  ซึ่งมูลนิธิได้ให้การช่วยเหลือและจัดให้ทนายความอาสาของมูลนิธิให้การแก้ต่างในคดีนี้ แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวหากผู้บริโภคเห็นว่าค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น ไม่สมเหตุสมผล แพงเกินจริง หรือมีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเกินความจำเป็นกว่าโรค (เจ็บเกินโรค) สามารถดำเนินการได้ดังต่อไปนี้ ยอมรับสภาพหนี้ที่เกิดขึ้นกับทางสถานพยาบาล แต่ต้อง “ทักท้วง” ในส่วนที่เป็นความผิดปกตินั้นเพื่อให้ทางสถานพยาบาลแสดงถึง ข้อเท็จจริง เอกสารใบเสร็จ กระบวนการขั้นตอนการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น ว่ามีความจำเป็น และ เหมาะสมจริงหรือไม่ หากสถานพยาบาลไม่สามารถแสดงข้อมูลได้ ผู้บริโภคควรสงวนสิทธิที่จะจ่ายค่าบริการที่เรียกเก็บ ในกรณีที่สถานพยาบาล แสดงเอกสารข้อมูลมาแล้ว แต่ผู้บริโภคเห็นว่า ไม่สามารถรับได้ ก็สามารถสงวนสิทธิที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้เช่นกัน ในกรณีที่สถานพยาบาล จะใช้วิธีการกักขัง-หน่วงเหนี่ยว** ตัวผู้บริโภคไว้ ไม่ให้ออกจากสถานพยาบาล โดยอ้างว่าจะปล่อยตัวเมื่อชำระค่าใช้จ่ายหมดสิ้นก่อน ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิดำเนินคดีอาญากับทางสถานพยาบาลนั้นๆ ได้ เพราะมีความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 310 โปรดจงจำไว้ว่า ค่ารักษาพยาบาล เป็นคดีความทางแพ่ง หากผู้บริโภคไม่มีเงินจ่าย ไม่ต้องกลัวว่าจะติดคุก** กักขัง-หน่วงเหนี่ยว  คือ ผู้ใด หน่วงเหนี่ยว หรือ กักขัง ผู้อื่น หรือกระทำการด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าการกระทำความผิด ตามวรรคแรกเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว  ถูกกักขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้น ถึงแก่ความตาย หรือได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำ ต้องระวางโทษดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 290 มาตรา 297 หรือ มาตรา 298 นั้น //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 ผ่าตัดเกินพอดี

นิตยามีอาการปวดใต้ลิ้นปี่ ไปเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่ถือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แพทย์ตรวจพบว่ามีนิ่วอยู่ในถุงน้ำดี จึงทำการผ่าตัดออก และนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ 6 วันแพทย์จึงให้กลับบ้าน แต่เมื่อกลับไปพักที่บ้านได้ 1 อาทิตย์ เกิดอาการผิดปกติตัวเหลืองตาเหลืองไม่มีแรง นิตยาจึงเข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิอีกครั้ง แพทย์ได้เอ็กซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจหาว่ามีนิ่วไปอุดท่อถุงน้ำดีอีกหรือไม่ และแจ้งว่าหากอาการผิดปกติยังไม่หายจะส่งตัวผู้ร้องไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราชจากนั้นจึงให้เธอกลับไปรอดูอาการที่บ้าน“อาการของดิฉันรู้สึกแย่ลงมาก ตัวเหลือง ตาเหลืองมากขึ้น อีกประมาณ 10 วัน หมอนัดตรวจอาการ แต่เป็นหมอคนใหม่บอกว่ามารักษาแทนหมอคนเดิมที่ทำการผ่าตัด ดิฉันบอกกับหมอที่มารักษาแทนว่า หมอคนเดิมบอกว่าถ้าพบสิ่งผิดปกติจะส่งตัวไปที่โรงพยาบาลศิริราชแล้วทำไมถึงเงียบ หมอถามว่า หมอคนเดิมบอกแบบนั้นหรือ ดิฉันก็ตอบว่าใช่ค่ะ แล้วคุณหมอท่านนั้นก็บอกว่าผมจะส่งคุณไปเอง”นิตยาถูกทำเรื่องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชในเวลาต่อมา แต่ก็พบปัญหาว่าผลเอ็กซเรย์ของโรงพยาบาลเอกชนที่ส่งมานั้นดูผลได้ไม่ชัดต้องเอ็กซเรย์ใหม่ แต่ติดที่ต้องจ่ายค่าเอ็กซเรย์เองหากจะให้ศิริราชดำเนินการ     นิตยาจึงต้องย้อนกลับไปติดต่อที่โรงพยาบาลแห่งเดิม ซึ่งได้แจ้งให้เธอไปเอ็กซเรย์กับโรงพยาบาลในเครืออีกแห่งแล้วถึงได้นำผลเอ็กซเรย์ไปให้โรงพยาบาลศิริราชวินิจฉัยทำการรักษาต่อไปนิตยาใช้เวลาในการเดินเรื่องขั้นตอนนี้กว่า 2-3 เดือน ขณะที่สภาพร่างกายแย่มากขึ้นเรื่อยๆ กว่าจะได้รับการผ่าตัดอีกครั้งจากโรงพยาบาลศิริราช“ก่อนผ่าตัดคุณหมอบอกว่า การผ่าตัดครั้งนี้ต้องตัดไส้มาเย็บต่อน้ำดี เนื่องจากว่าท่อน้ำดีถูกตัดสั้นจนเกินไป(จากการผ่าตัดครั้งที่ผ่านมา) เลยทำให้การเย็บต่อก่อให้เกิดการตีบตันของทางเดินเลือด จึงเป็นสาเหตุทำให้ตัวเหลือง ตาเหลือง น้ำหนักลดจาก 55 เหลือ 44 กิโลกรัม” ปัญหาจากการผ่าตัดครั้งแรกทำให้น้ำหนักตัวของนิตยาลดลงถึง 11 กิโลกรัมภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว จากตัวเหลืองก็กลายเป็นดำและคันตามตัวเป็นอย่างมากและตาก็เหลืองมากขึ้น ด้วยร่างกายที่อ่อนแอลงทำให้เธอไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม ขณะที่ต้องรับภาระส่งลูกเรียกระดับ ปวช. ส่งค่าบ้านที่จำนองไว้กับธนาคารก่อให้เกิดหนี้สินมากมายเพราะไม่สามารถประกอบอาชีพได้ในช่วงรักษาตัวและทำการผ่าตัด ทำให้นิตยาต้องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือในการเรียกร้องค่าเสียหายจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรก แนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้า ภายหลังการยื่นเรื่องตามคำแนะนำของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นิตยาได้รับพิจารณาเงินช่วยเหลือจำนวน 50,000 บาท  ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนที่ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดในครั้งแรก ได้รับคำร้องเรียนของนิตยาและรับที่จะรับผิดชอบเยียวยาในความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลได้ทำประกันภัยความเสี่ยงจากการรักษาพยาบาลไว้กับบริษัทประกันภัย ในที่สุดนิตยาได้รับการพิจารณาเยียวยาความเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 240,000 บาท เรื่องจึงเป็นอันยุติโดยมิต้องดำเนินการฟ้องร้องให้เป็นคดีความกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 เพื่อชีวิต

จั่วหัวอย่างนี้ท่านผู้อ่านคงไม่คิดว่าผู้เขียนจะเขียนถึงบรรดาเพลงเพื่อชีวิตใช่มั้ย....เพราะเราจะเขียนเรื่องเพื่อชีวิตจริงๆ ที่เกิดขึ้น ณ ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าจังหวัดสมุทรสงครามพอดีวันนั้นผู้เขียนมีเหตุอันต้องพาผู้บาดเจ็บไปทำแผลที่นั่นพอดี  ส่งคนเจ็บเข้าห้องฉุกเฉินไปแล้ว ก็นั่งอ่านหนังสือรอเพื่อพาคนเจ็บกลับบ้าน นั่งได้สักพักก็ได้ยินเสียงคนร้องให้ช่วยด้วยๆ ดังแว่วมาพร้อมกับเสียงบีบแตรรถดังตามมา เสียงนั้นดังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว  และสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นในโรงพยาบาลก็เกิดขึ้น  เมื่อมีรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างขับบุกขึ้นมาบนโรงพยาบาล(ขึ้นมาตามทางลาดสำหรับคนพิการ)บนรถมีผู้หญิงอุ้มเด็กพาดบ่าซ้อนท้ายมาด้วย  ปากก็ตะโกนร้องช่วยด้วยๆ และตื่นซิลูกๆ ตลอดเส้นทางมอเตอร์ไซด์ปรี่มายังห้องฉุกเฉิน  โดยไม่มีรปภ.และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลคนใดมาขัดขวาง เรียกได้ว่าเข้ามาแบบโล่งๆ กันเลย   และพอถึงหน้าห้องฉุกเฉินก็มีภาพที่ผู้เขียนรู้สึกประทับใจมากคือพยาบาลในห้องฉุกเฉินเปิดประตูให้รถคันนั้นเข้าไปส่งเด็กที่ป่วยถึงในห้องฉุกเฉิน  ผู้เขียนนั่งตะลึง รู้สึกขณะนั้นว่า เฮ้ย..มันเกิดอะไรขึ้นเนี่ย...     ณ นาทีนั้นเห็นได้ว่าไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนออกมาบอกว่าเข้าไม่ได้ผิดระเบียบโรงพยาบาล แม้แต่ห้องฉุกเฉินก็ไม่กลัวเชื้อโรคที่ติดมากับรถแต่อย่างใดผู้เขียนเห็นสีหน้าแววตาของคนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง เขามีความมุ่งมั่นที่จะช่วยชีวิตเด็กคนนั้นจริงๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงแต่ค่าโดยสาร เพราะเขาส่งเด็กแล้วเขาไม่ได้เรียกเงินค่าจ้าง ซ้ำยังยืนรอว่าเด็กที่เขาพามาจะรอดหรือไม่   ทุกฝ่ายมุ่งเพื่อชีวิตจริงๆ ทุกฝ่ายต่างมุ่งที่การช่วยชีวิตของเด็กคนนั้นเป็นสำคัญโดยไม่ยอมให้กฎระเบียบใดๆ มาขัดขวางการช่วยเหลือ  สรุปเด็กคนนั้นปลอดภัยผู้เขียนก็โล่งอกไปด้วย  ใครจะว่าเจ้าหน้าที่ละเลยปล่อยให้มอเตอร์ไซด์เข้าไปในห้องฉุกเฉินได้อย่างไรก็ตาม แต่ผู้เขียนรู้สึกซาบซึ้งกับภาพที่เห็นอย่างบอกไม่ถูก  และพูดได้เลยว่านี่แหละสังคมไทยที่แท้จริง  คือเราต้องเอื้ออาทรกับความทุกข์ร้อนของเพื่อนมนุษย์ มากกว่าจะเอากฎระเบียบมาเป็นอุปสรรค    เห็นอย่างนี้แล้วไม่อยากเก็บไว้คนเดียวจึงเขียนมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นกำลังใจให้กันว่าสังคมไทยของเรายังอบอุ่นและยังมีความเอื้ออาทรต่อกัน   แม้สังคมไทยจะสับสนวุ่นวายแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างไร แต่คนไทยก็ยังเป็นคนไทยอยู่วันยังค่ำ เราไปเป็นคนอื่นไม่ได้วิถีเราเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นอย่างที่คนบางกลุ่มอยากให้เป็น ประเทศไทยเรายังมีเรื่องน่ารักๆอย่างนี้อีกมากมาย เรายังมีความหวังขอให้กำลังใจต่อคนทำดีและขอคารวะด้วยใจจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 ไม่เก็บได้ไหม 30 บาท

  เหตุผลที่รัฐบาลไม่ควรกลับมาใช้นโยบาย “30บาท รักษาทุกโรค” จากกระแสข่าวที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับปัญหาของสถานพยาบาลที่อยู่ในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มักประสบกับภาวะขาดทุนเป็นประจำ เพราะมีคนมาใช้บริการมากขึ้น จึงเป็นข้ออ้างที่ทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ต้องนำนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” กลับมาทบทวนอีกครั้ง เพื่อลดปัญหาการขาดทุนของสถานพยาบาล และต้องการให้ประชาชนใช้บริการสุขภาพเท่าที่จำเป็น แต่ในมุมของกลุ่มที่เห็นต่างมองว่า การให้ประชาชนต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับระบบสาธารณสุขไทย รัฐบาลจึงไม่ควรกลับมาใช้นโยบาย30 บาทรักษาทุกโรค ด้วยเหตุผลดังนี้… เป็นการผลักภาระให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องรับผิดชอบเพียงระบบเดียว รายได้หลักของสถานพยาบาลของรัฐ มาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งทั้ง 2 กองทุนนี้เป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นทุกปี และกองทุนที่ได้จากประกันสังคมอีกเล็กน้อย เพื่อนำไปใช้จ่ายในส่วนของค่ายา วัสดุทางการแพทย์ เงินเดือนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ   หากวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในส่วนของค่ายา ค่าวัสดุทางการแพทย์ และเงินเดือนที่จ่ายประจำเดือนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ จะเติบโตในระดับคงที่ ในขณะที่ค่าตอบแทน ซึ่งหมายถึงค่าล่วงเวลา ค่าธรรมเนียมแพทย์ ค่าตอบแทนอื่นๆที่ไม่ใช่เงินเดือน เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปีงบประมาณ 2552 และ 2553 โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป มีต้นทุนที่เป็นค่าตอบแทน เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 30 – 40 ส่วนต้นทุนที่เป็นเงินเดือน และค่ายา เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1 – 2 เท่านั้น โดยต้นทุนค่าตอบแทนนั้นเกิดจากการให้บริการแก่ผู้ป่วยในทุกระบบประกันสุขภาพ หากกระทรวงสาธารณสุขต้องการเพิ่มรายได้ให้กับสถานพยาบาล ก็ต้องพิจารณาดูว่าสถานพยาบาลแต่ละแห่ง ไม่ได้รักษาเฉพาะผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น แต่รวมถึงสิทธิประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการด้วย “ดังนั้น การผลักภาระให้ผู้ป่วยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาท เพียงระบบเดียว ดูจะไม่เป็นธรรมกับผู้รับบริการในระบบดังกล่าวเลย”   จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่เพราะรักษาฟรี การเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องนำปัจจัยอื่นๆ มาประเมินร่วมด้วย ทั้งการขยายชุดสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น การจ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวี ทั้งในสูตรพื้นฐานและสูตรดื้อยา รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง การรักษาผู้ป่วยวัณโรค ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย การผ่าตัดต้อกระจก การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ การผ่าตัดลิ้นหัวใจ การรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น จึงทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนประชาชนแทบจะไม่มีโอกาสเข้ารับการรักษาในกลุ่มโรคดังกล่าวเลย รวมถึงจากการศึกษาตัวเลขในเชิงระบาดวิทยา ที่อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและโรคไม่ติดต่อ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ มะเร็ง ในระดับภาพรวมของประเทศ ตั้งแต่ปี 2544 – 2552 มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสภาพแวดล้อม วิถีชีวิต และอาหารการกินที่เปลี่ยนไป จึงทำให้ประชาชนป่วยมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น แต่ผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการ และผู้ประกันตนก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน   จะไปสถานพยาบาลต้องคิดให้ดี ถึงรักษาฟรีแต่ก็มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องออกเอง ประชาชนที่ใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่วนใหญ่จะไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ รองรับเป็นกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ เป็นแรงงานนอกระบบ รับจ้างรายวัน ไม่มีรายได้ที่แน่นอน ซึ่งแตกต่างจากการรับราชการหรือการเป็นพนักงานในสถานประกอบการต่างๆ หากประชาชนที่มีรายได้แบบรายวัน จะเข้ารับบริการในสถานพยาบาลแต่ละครั้ง ก็ต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีสวัสดิการในการลาป่วย ไม่มีหลักประกันชดเชยเมื่อขาดรายได้ หากต้องหยุดงาน นั่นหมายถึงการสูญเสียรายได้ไปในทันที ในขณะที่รายจ่ายยังมีเหมือนเดิม หรืออาจจะมากขึ้นกว่าเดิม เช่น ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล ค่าอาหาร ค่าที่พัก ฯลฯ ดังนั้น ในยุคที่คนต้องทำมาหากินหาเงินมาเลี้ยงปากท้อง การหยุดงานบ่อยๆ เพื่อเข้ารับการรักษาที่เกินความจำเป็น ดูจะไม่มีความสมเหตุสมผล อีกทั้งการให้ประชาชนร่วมจ่ายครั้งละ 30 บาท ก็ยังสร้างความไม่เป็นธรรมและสร้างภาระให้กับประชาชนอยู่ไม่น้อย เพราะข้าราชการก็มีระบบสวัสดิการจากรัฐดูแลค่ารักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ ระบบประกันสังคม ก็มีนายจ้าง ผู้ประกัน และรัฐร่วมกันจ่าย แต่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประชาชนที่ต้องจ่ายเงินครั้งละ 30 บาท เป็นเงินส่วนตัวที่ต้องควักออกจากกระเป๋าร้อยละ 100 ดังนั้น ผลกระทบที่มาจากการร่วมจ่ายก็จะตกอยู่กับประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อย แม้รัฐบาลจะมองว่า การจ่ายเงิน 30 บาท เน้นในกลุ่มที่มีกำลังจ่าย ส่วนคนที่ไม่มีเงินก็ให้รักษาฟรี เพียงแต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าจนจริงๆ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ดูถูกดูแคลนในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง   รายได้จากการเก็บ 30 บาท เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายรายหัวที่รัฐต้องจัดสรร เมื่อปี 2546 รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บค่ารักษาพยาบาลครั้งละ 30 บาท รวมทั้งหมด 1,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวทั้งหมดที่รัฐต้องจัดสรรเข้าระบบ การยกเลิกเก็บ 30 บาท จึงไม่ส่งผลให้สถานพยาบาลได้รับผลกระทบมากนัก และยังลดภาระงานให้กับโรงพยาบาลในการจัดเก็บข้อมูลลงบัญชีอีกด้วย และหากใช้ข้อมูลปี 2552 ซึ่งมีผู้มารับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 163 ล้านครั้ง คิดเป็นจำนวนครั้งที่คาดว่าจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 30 บาททั้งสิ้นประมาณ 65 ล้านครั้ง คาดว่าจะเก็บค่าธรรมเนียมได้ประมาณ 1,900 ล้านบาท จะพบว่ารายได้จากการจ่ายร่วมเป็นมูลค่าที่น้อยนิดเพียงร้อยละ 1.75 ของงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ต้องการทั้งหมดในปีงบประมาณ 2552 ดังนั้นการร่วมจ่ายจึงไม่ใช่แหล่งทุนหลักที่จะใช้ในการแก้ปัญหาการเงินของโรงพยาบาลเลย   ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ใช่จำเลยที่ทำให้ระบบสาธารณสุขต้องล้มละลาย ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการตั้งงบเหมาจ่ายให้กับโรงพยาบาล เป็นระบบปลายปิด โดยค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยนอก จะเป็นงบเหมาจ่ายรายหัว โอนตรงให้กับโรงพยาบาลเต็มจำนวน ตามการดูแลประชากรในความรับผิดชอบ ส่วนงบผู้ป่วยใน จะจ่ายตามน้ำหนักสัมพัทธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือระบบดีอาร์จี (DRG) ซึ่งเป็นการจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลในราคาที่ตกลงล่วงหน้า โดยประเมินราคาบนต้นทุนของการรักษาที่มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งจะจ่ายให้โรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยในต่อครั้ง ทำให้โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการในการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด ขณะเดียวกันรัฐก็สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ และยังทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงมากขึ้น ส่วนระบบสวัสดิการข้าราชการ เป็นระบบปลายเปิด ที่รัฐต้องจ่ายค่าบริการตามรายการและอัตราที่สถานพยาบาลเรียกเก็บ และรัฐเองยังไม่มีกลไกในการตรวจสอบการจ่ายเงินที่ให้แต่ละสถานพยาบาล ทำให้สถานพยาบาลไม่ประหยัดค่าใช้จ่าย และยังเป็นช่องว่างในการแสวงหาผลกำไรเกินจำเป็น เช่น การจ่ายยา หรือเลือกใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่แพงเกินจำเป็น แต่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงเป็นสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการล้มละลายสูง เพราะรัฐไม่สามารถควบคุมการเบิกจ่ายงบประมาณในการรักษาพยาบาลได้ หากรัฐบาลจะหันมาใช้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคอีกครั้ง นับเป็นการสร้างอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทั้งที่เป็นบทบาทของรัฐในการจัดระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน เพราะคนที่มีกำลังในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้มาก ย่อมเข้าถึงการรักษาได้มากกว่าคนที่มีรายได้น้อย นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค จึงเป็นนโยบายที่...   “สร้างความเหลื่อมล้ำ ลดความเป็นธรรม ให้กับระบบสาธารณสุขของไทยอย่างชัดเจน”   อ้างอิงข้อมูลจาก “การพิจารณาความเหมาะสมในการใช้นโยบายเรียกเก็บเงิน 30 บาทต่อครั้ง ในการใช้บริการด้านสุขภาพของผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย(สวปก.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ผลการสำรวจค่าใช้จ่ายในการไปโรงพยาบาลของประชาชนภายใต้ระบบ UC กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ: ผู้ป่วยที่เคยไปรับบริการโดยใช้สิทธิบัตรทอง ระยะเวลาที่ทำการสำรวจ: 10-15 กุมภาพันธ์ 2555 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 589 คน พบว่าเป็นเพศหญิง 390 คน (66.2%) เพศชาย 199 คน (33.8%) ตามลำดับ เป็นผู้ป่วยที่มีอายุอยู่ระหว่าง 1 – 90 ปี มีอายุเฉลี่ย 51 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 40.4 และพบว่ามีถึงร้อยละ 8.3 เป็นผู้ว่างงาน อาชีพหลัก จำนวน ร้อยละ รับจ้างทั่วไป 238 40.4 ค้าขาย 160 27.2 ทำสวน 4 0.7 แม่บ้าน/พ่อบ้าน 53 9.0 ธุรกิจส่วนตัว 13 2.2 นักเรียน นักศึกษา 20 3.4 อสม. 3 0.5 พนักงานบริษัท 5 0.8 สูงอายุ 35 5.9 เด็ก 0-6 ปี 9 1.5 ว่างงาน 49 8.3   รายได้เฉลี่ยต่อวันอยู่ระหว่าง 0-2,000 บาท (ประกอบธุรกิจส่วนตัว) โดยมีรายได้เฉลี่ย 210 บาทต่อวัน ในการรับบริการสุขภาพครั้งล่าสุด ส่วนใหญ่ไปรับบริการที่โรงพยาบาล ร้อยละ 49.2   Frequency Percent ศูนย์บริการสาธารณสุข 170 28.9 คลินิก 129 21.9 โรงพยาบาล 290 49.2 Total 589 100.0 ในการรับบริการครั้งล่าสุดเป็นบริการแบบผู้ป่วยนอกถึง 538 ราย (ร้อยละ 91.3)   Frequency Percent ผู้ป่วยนอก 538 91.3 ผู้ป่วยใน 51 8.7 Total 589 100.0 การเจ็บป่วยในกรณีผู้ป่วยนอกนั้นกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 55) เป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคเรื้อรังไปรับการรักษาต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 28.3  (81 ราย)ผู้ป่วยเบาหวาน ร้อยละ 18.9 (54 ราย) และเป็นทั้งเบาหวานและความดันร้อยละ 17.1 (49 ราย) นอกจากนี้ยังมีผู้ติดเชื้อ HIV อีก 3 รายที่เข้ารับยาต้านไวรัส ความเจ็บป่วย จำนวน ร้อยละ โรคเรื้อรัง 286 55.0 มีไข้ ไอ 62 11.9 ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ 43 8.3 ปวดศีรษะ 20 3.8 โรคแผลในกระเพาะอาหาร 18 3.5 อุบัติเหตุ 15 2.9 โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ 12 2.3 ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ 11 2.1 ตรวจสุขภาพ 11 2.1 ทันตกรรม 9 1.7 ทำแผล 5 1.0 อื่นๆ 28 5.4 รวม 520 100.0   สำหรับความเจ็บป่วยในกรณีที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน 7 ราย (ร้อยละ 13.7) ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 5 ราย (ร้อยละ 9.8) ผู้ป่วยที่มาคลอดบุตร 4 ราย (ร้อยละ 7.8) ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ 3 ราย ผู้ป่วยมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง 3 ราย ผู้ป่วยโรคหัวใจ 3 ราย โรคมะเร็ง 2 ราย ตามลำดับ ความเจ็บป่วย จำนวน ร้อยละ เบาหวาน 9 17.6 ความดันโลหิตสูง 6 11.8 คลอดบุตร 4 7.8 ท้องเสีย 3 5.9 อุบัติเหตุ 3 5.9 หัวใจ 3 5.9 แผลในกระเพาะอาหาร 3 5.9 มะเร็ง 2 3.9 เข้ารับการผ่าตัด 2 3.9 อื่นๆ 16 31.4 Total 51 100   การเจ็บป่วยในครั้งล่าสุดนั้นต้องมีญาติหรือบุคคลอื่นพาไป 224 คน คิดเป็นร้อยละ 38.0   ในการเดินทางไปใช้บริการครั้งล่าสุด ผู้ป่วยเดินทางด้วยรถ Taxi เป็นหลัก   Frequency Percent เดิน 27 4.6 รถเมล์ 80 13.6 รถมอเตอร์ไซค์ 128 21.7 เหมารถ 22 3.7 รถยนต์ส่วนตัว 36 6.1 Taxi 280 47.6 รถประจำทางในหมู่บ้าน 16 2.7 Total 589 100.0   ค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการในแต่ละครั้ง แบ่งตามลักษณะการเข้ารับการรักษา พบว่า ตารางที่  ต้นทุนทางตรงที่ไม่ใช่การรักษาพยาบาลและต้นทุนทางอ้อมในการเข้ารับบริการด้านสุขภาพของผู้ป่วย ค่าใช้จ่าย ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ค่าเดินทาง 113 157 ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ 59 101 ค่าใช้จ่ายในการให้ผู้อื่นดูแลบ้านแทนตนเอง 2 5 ค่าขาดรายได้ในระยะเวลาที่เข้ารับบริการ 181 461   ในการรับบริการแบบผู้ป่วยนอกนั้น ผู้ป่วยร้อยละ 13.5 ต้องใช้เวลาในการเดินทางนับตั้งแต่ออกจากบ้านจนถึงกลับบ้าน เป็นเวลาทั้งวัน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสูญเสียรายได้จากการขาดงานในวันนั้น   Frequency Percent ไม่เกิน 3 ชั่วโมง 270 50.2 ไม่เกิน 6  ชั่วโมง 196 36.3 1 วัน 73 13.5   ในการรับบริการแบบผู้ป่วยในนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 56.9 ต้องใช้เวลาในการเดินทางนับตั้งแต่ออกจากบ้านจนถึงกลับบ้าน มากกว่า 1 วัน โดยเฉลี่ยเวลาที่เสียไปจากการเข้าพักรักษาตัวแบบผู้ป่วยในอยู่ที่ 2.4 วัน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสูญเสียรายได้จากการขาดงานดังกล่าว   Frequency Percent 1 วัน 22 43.1 มากกว่า 1 วัน 29 56.9 Total 51 100.0   ความคิดเห็นต่อการร่วมจ่าย 30 บาทนั้น ผู้ป่วยร้อยละ 67.8 ไม่เห็นด้วยเนื่องจากเห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วยและจะทำให้ผู้ที่ไม่มีเงินร่วมจ่ายเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล   Frequency Percent เห็นด้วยเพราะโรงพยาบาลจะบริการดีขึ้น 142 24.1 เห็นด้วยเพราะจะได้ใช้บริการอย่างมีศักดิ์ศรี 47 8.0 ไม่เห็นด้วยเพราะเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย 362 61.5 ไม่เห็นด้วยเพราะจะทำให้ผู้ที่ไม่มีเงินร่วมจ่ายไม่ได้รับการรักษา 37 6.3 แบบใดก็ได้ 1 0.2 Total 589 100   ในกลุ่มผู้ป่วยที่เห็นด้วยกับการร่วมจ่าย 30 บาทนั้นส่วนใหญ่คิดว่าควรยกเว้นบางกลุ่ม เช่น ผู้ด้อยโอกาส เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่ไม่ต้องร่วมจ่าย   Frequency Percent ทุกคน 54 28.6 ยกเว้นบางกลุ่ม เช่นผู้ด้อยโอกาส เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ 135 71.4   189 100 ในกลุ่มผู้ป่วยที่เห็นด้วยกับการร่วมจ่าย 30 บาทส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70.9) คาดหวังว่าจะได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ และมีการบริการที่ดีขึ้น   Frequency Percent คุณภาพ 134 70.9 ศักดิ์ศรี 51 27.0 มีส่วนร่วม 2 1.1 ไม่คาดหวังอะไร 2 1.1 Total 189 91.2    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 179 กระแสต่างแดน

สร้างแลนด์มาร์คชาวเมืองโอลกีอาสโตร ซิเลนโต เมืองเล็กๆ ในแคว้นคัมพาเนีย ของอิตาลี ออกมาคัดค้านแผนการสร้างรูปปั้นแลนด์มาร์คของเมือง ด้วยงบประมาณ 150 ล้านยูโร (เกือบ 6,000 ล้านบาท) ทั้งๆ ที่ถนนและระบบประปายังอยู่ในสภาพย่ำแย่ เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงพ่อพีโอ นักบุญผู้เป็นที่เคารพรักของชาวอิตาลี นายกเทศมนตรีเมืองนี้ประกาศว่าจะสร้างรูปปั้นของท่านให้มีความสูงถึง 85 เมตร (เทพีเสรีภาพของอเมริกา หรือรูปปั้นพระเยซูมหาไถ่ในบราซิล ซึ่งสูงประมาณ 46 เมตร จะดูเล็กไปเลย)   ชาวบ้านส่วนใหญ่(จากทั้งหมด 2,200 คน) ไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อน ทั้งๆที่โครงการนี้มีมูลค่าสูงลิบ เงินเหล่านี้ควรนำไปปรับปรุงท่อส่งน้ำประปา สร้างถนนเพิ่ม หรือไม่ก็สร้างสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกที่มีแผนจะสร้างมาตั้งแต่ 22 ปีก่อนให้เสร็จเสียที นายกฯ เขายืนยันว่ารูปปั้นนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาใช้จ่ายเงิน เพิ่มรายได้ให้คนท้องถิ่น โครงการดังกล่าวดำเนินต่อไป โดยยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้เงินทุนจากแหล่งใด เงินภาษี? เงินอียู? หรือเงินบริจาคจากภาคเอกชน?  คืนข้ามปีเป็นที่รู้กันว่าโรงพยาบาลที่ไหนๆ ต่างก็เจอศึกหนักในคืนข้ามปี ยืนยันได้ด้วยรายงานตัวเลขผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคแอลกอฮอลเกินกว่าเหตุ แต่ปีนี้ที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย ทั้งตำรวจและทีมแพทย์ฉุกเฉินต่างยินดีเป็นที่ยิ่ง เพราะมีเหตุวุ่นวายน้อยลงกว่าปีก่อนหน้า อาจมีคนเรียกรถพยาบาลบ้าง แต่ก็เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ผู้อำนวยการแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลเซนต์วินเซนต์ ถึงกับกล้าฟันธงว่า ปีใหม่ที่ผ่านมานี่ถือว่าเป็นปีใหม่ที่ยอดเยี่ยมที่สุด เขาดีใจที่การรณรงค์ที่ผ่านมาได้ผลดีจนคนออสซี่เริ่ม “ดื่ม” แบบศิวิไลซ์มากขึ้น เป็นการส่งสัญญาณว่า แม้จะไม่เมาแต่เราก็ยังดูการแสดงดอกไม้ไฟตอนเคานท์ดาวน์ได้สนุกเหมือนเดิม     ด้านนายกเทศมนตรี ก็เป็นปลื้มที่วัฒนธรรมการดื่มของผู้คนกำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับในอีกหลายๆ ประเทศ (อาจยังไม่รวมประเทศไทย) แต่ที่กรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล เหตุการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง ทั้งตำรวจ ทั้งหน่วยกู้ภัยต่างงานล้นมือกันในคืนก่อนปีใหม่ มีผู้ป่วยถูกนำตัวเข้ามารับการรักษาฉุกเฉินที่โรงพยาบาลมาเกน เดวิด ถึง 461 คน ในจำนวนนี้มีเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลเพราะดื่มแอลกอฮอลมากไปถึง 63 คน   เรื่องไม่กล้วยนักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ออกมาเตือนว่า อีกไม่นานกล้วยหอมเขียวคาเวนดิช ซึ่งเป็นกล้วยพันธุ์ยอดนิยมที่สุดในขณะนี้กำลังจะถูกล้างเผ่าพันธุ์โดยเชื้อรา TR4 เชื้อราสายโหดนี้สามารถกบดานรอเวลาจู่โจมได้ถึง 30 ปี มันลงมือด้วยการทำลายกลไกการส่งน้ำ ต้นกล้วยจึงเหี่ยวเฉาอย่างรวดเร็วและแห้งตายในที่สุด TR4 (Tropical Race 4) ถูกค้นพบครั้งแรกในไต้หวัน หลังจากมันเป็นสาเหตุการตายหมู่ของต้นกล้วยจำนวนมาก 3 ปีก่อนหน้านั้น แต่เรื่องนี้มีคนรู้ค่อนข้างน้อย ต่อมามันได้แพร่กระจายเข้าไปในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงที่อื่นๆ เช่น จอร์แดน ปากีสถาน เลบานอน โอมาน และออสเตรเลีย ที่สำคัญ ยาฆ่าเชื้อราที่มีอยู่ขณะนี้ไม่สามารถทำอะไรมันได้ และถ้ามันขึ้นฝั่งละตินอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตกล้วยหอมร้อยละ 80 ของโลกได้ เราคงจะลำบากแน่   แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ครั้งหนึ่งกล้วยหอมพันธุ์กรอส มิเชล ก็เคยถูกโรคปานามากวาดล้างไปแล้ว นักวิจัยเสนอให้เร่งพัฒนากล้วยหอมสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถต้านทานโรคนี้ได้ ปัญหาคือมันต้องใช้ต้นทุนสูง แล้วใครจะอยากลงทุนวิจัยและพัฒนา “พืชกำพร้า” อย่างกล้วยหอม ถ้ามันถูกจัดให้เป็น “พืชเศรษฐกิจ” ก็คงจะดี ฉันก็เป็น ... ผู้หญิงคนหนึ่งสาวประเภทสองชาวญี่ปุ่นนางหนึ่ง ประกาศจะฟ้องสถานออกกำลังกายที่ไม่ยอมให้เธอใช้ห้องน้ำหญิง โดยอ้างว่าตามกฎหมายแล้วเธอยังเป็นผู้ชายอยู่ สุภาพสตรีรายนี้ประกาศว่าจะยื่นฟ้องต่อศาลแขวงเมืองเกียวโต เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย 4.8 ล้านเยน (ประมาณ 1.5 ล้านบาท) จากบริษัทโคนามิ สปอร์ตคลับ   ในปี 2552 เธอเป็นสมาชิกของสถานออกกำลังกาย สาขาในเกียวโต ในสถานภาพของผู้ชาย หลังจากถูกวินิจฉัยในปี 2555 ว่าเธอมีภาวะความไม่พอใจในเพศของตัวเอง เธอจึงเริ่มทานฮอร์โมนตามคำแนะนำของแพทย์ และเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศในปี 2557 ก่อนการผ่าตัด เธอได้ปรึกษาครูฝึกว่าถ้าเธอกลับมาในรูปลักษณ์ของผู้หญิง เธอจะสามารถใช้ห้องน้ำและห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าของผู้หญิงได้หรือไม่? แต่เธอได้รับคำตอบปฏิเสธจากผู้จัดการสาขา ซึ่งยืนยันว่าเธอจะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อเธอได้แจ้งเปลี่ยนเพศอย่างเป็นทางการแล้วแต่เธอทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะเธอมีลูกสาวที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี(กฎหมายญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 20 ปีแจ้งเปลี่ยนเพศ เพื่อป้องการการเกิดกระทบทางจิตใจต่อเด็ก) เธอบอกว่าอยากให้สังคมญี่ปุ่นเห็นความสำคัญของการเคารพสิทธิในการเลือกตัวตน และเธอต้องการเรียกร้องสิทธิที่จะใช้ชีวิตตามเพศที่เธอเลือก เพราะเธอมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ตามมาตรา 13 ในรัฐธรรมนูญ  ทำไมไม่แจ้ง?ตามประกาศฉบับใหม่ ผู้ใช้บริการรถไฟที่ได้รับความเดือดร้อนจากการยกเลิกเที่ยววิ่งหรือมาช้ากว่ากำหนดจะมีสิทธิขอเงินคืนได้ แต่การสำรวจล่าสุดของ Which? องค์กรผู้บริโภคในอังกฤษพบว่ามีเพียง 1 ใน 3 ของผู้โดยสารกลุ่มดังกล่าวเท่านั้นที่ยื่นเรื่องขอเงินคืน และเมื่อถามว่า ครั้งล่าสุดที่รถไฟของคุณมาสาย คุณได้รับการแจ้งสิทธิเรื่องการขอเงินคืนหรือไม่? ก็มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ตอบว่าได้รับแจ้ง สายสืบที่ปลอมตัวไปเป็นผู้โดยสารในสถานีรถไฟ 102 สถานี พบว่า มีไม่ถึง 1 ใน 5 ของสถานีเหล่านั้นที่อธิบายให้ผู้โดยสารเข้าใจเงื่อนไขการขอเงินคืน และมากกว่าร้อยละ 60 ไม่แจ้งผู้โดยสารว่าพวกเขามีสิทธิดังกล่าว ทั้งๆ ที่ผู้โดยสารเข้าไปถามกับเจ้าหน้าที่โดยตรง    สำนักงานกำกับดูแลการขนส่งทางรางและทางถนน Office of Rail and Road (ORR) ก็มีข้อมูลที่ยืนยันว่าผู้โดยสารมีการรับรู้เรื่องนี้น้อยมาก ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการได้มาร่วมลงนามเรื่องการให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้ที่มาซื้อตั๋วโดยสาร (ข้อมูลที่ว่านั้นหมายรวมถึงสิทธิในการได้รับเงินคืนด้วย)ผู้ประกอบการรถไฟบางเจ้ามีระบบคืนเงินอัตโนมัติ กรณีที่ผู้โดยสารซื้อตั๋วล่วงหน้าผ่านบัตรเครดิต แล้วขบวนรถเที่ยวนั้นมาสาย บางเจ้าใช้วิธีแจกตั๋วฟรีให้นำไปใช้วันหลัง เป็นต้น    เรื่องนี้ต้องติดตามตอนต่อไป Which? กำลังยืนเรื่องต่อ ORR ให้สอบสวนว่าเหตุใดผู้ประกอบการเหล่านั้นจึงไม่มีการแจ้งผู้โดยสารตามที่ได้ตกลงกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 กระแสต่างแดน

  น้ำนำเข้า สมาชิกฉลาดซื้อคงจะอึดอัดคับข้องใจ ว่าปีนี้บ้านเราน้ำมากซะเหลือเกิน มาเปลี่ยนบรรยากาศไปดูที่น้ำน้อยกันบ้างดีกว่า ในแต่ละปี ฮ่องกงซึ่งเป็นเขตการปกครองพิเศษของจีน ต้องนำเข้าน้ำจากแม่น้ำตงเจียง ในมณฑลกวางตุ้งประเทศจีนเป็นปริมาณหลายร้อยล้านลูกบาศก์เมตร ล่าสุดฮ่องกงทำสัญญาซื้อน้ำจากแหล่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี ปีละ 820 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นมูลค่ารวมทั้งหมด 44,000 ล้านบาท ร้อยละ 80 ของน้ำที่ประชากรฮ่องกงใช้อยู่มาจากแม่น้ำตงเจียง มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มาจากอ่างเก็บน้ำในฮ่องกงเอง ถามว่าทำไมฮ่องกงซึ่งเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบมากมาย ถึงไม่ลงทุนตั้งโรงกรองเพื่อเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดไว้ใช้เอง ข่าวเขาบอกว่าการทำเช่นนั้นจะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลและต้นทุนในการผลิตก็ค่อนข้างสูง เรียกว่าถ้าจะให้คุ้มก็ต้องขายน้ำในราคาลูกบาศก์เมตรละ 47 บาท ปัจจุบัน ราคาน้ำที่ฮ่องกงนั้นอยู่ที่ 16 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร (12 ลูกบาศก์เมตรแรก รัฐให้ใช้ฟรี) นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าสิ่งที่รัฐบาลฮ่องกงควรทำก่อนอื่นใดคือรณรงค์อย่างจริงจังให้ผู้คนใช้น้ำอย่างประหยัดกว่าที่เป็นอยู่ และอาจจะต้องขึ้นค่าน้ำกันบ้างเพื่อลดความอยากใช้ด้วย ทั้งนี้เพราะ ใดๆ ในโลกล้วนไม่แน่นอน มณฑลกวางตุ้งเองก็เริ่มพบกับความแห้งแล้งเป็นระยะ และเริ่มมีโควต้าของน้ำที่จะขายให้กับฮ่องกงแล้ว ไม่ใช่ว่ามีเงินก็จะซื้อได้เสมอไป เหตุการณ์นี้คุ้นๆ เหมือนเคยเจอที่ไหนมาก่อน ... แต่ถึงแม้กวางตุ้งจะหมดน้ำส่งออก เราก็ยังมีภาคกลางของประเทศไทย ที่มีน้ำเหลือเฟือเป็นพันล้านลูกบาศก์เมตร ให้ใช้กันได้เหลือเฟือทั้งเกาะเลยนะจะบอกให้   ไปรษณีย์โฉมใหม่ ยุคสมัยที่การส่งจดหมายลดลงเพราะใครๆ ก็พากันส่งแต่อีเมล์ อีการ์ด ฯลฯ บริการไปรษณีย์ของหลายๆประเทศในยุโรป จึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ข่าวจากเมืองดูเซลดอร์ฟ เยอรมนีเขาบอกว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ดอยทช์โพสต์ได้โละสถานที่ทำการไปรษณีย์ จาก 29,000 แห่ง เหลือเพียง 24 แห่ง แถมยังลดอัตราจ้างงานไปอีก 100, 000 คน แม้จะยังรับบริการส่งจดหมายหรือพัสดุ 6 วันต่อสัปดาห์ แต่ไปรษณีย์เยอรมันหรือ “ดอยทช์โพสต์” เขาปรับลดขนาดลงเหลือเพียงเคานท์เตอร์ในมุมหนึ่งของธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านเครื่องเขียนเท่านั้น และถ้าเป็นในชุมชนที่ค่อนข้างเล็ก ก็อาศัยบ้านของชาวบ้านในพื้นที่เป็นศูนย์บริการไปเสียเลย โดยรวมแล้ว การใช้บริการออนไลน์นั้นส่งผลดีต่อผู้บริโภค ทั้งรวดเร็ว สะดวก ประหยัด และยังช่วยลดการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดตัวลงของที่ทำการไปรษณีย์ได้แก่ บรรดาผู้สูงอายุในเขตที่เคยเป็น “เยอรมันตะวันออก” ที่นอกจากจะไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิตัลแล้ว ยังขาดพื้นที่ ที่เคยได้ใช้เป็นแหล่งชุมนุมพบปะกันอีกด้วย ไม่ใช่มีแต่ไปรษณีย์ไทยเท่านั้นที่มีบริการเสริม เช่น การรับสั่งซื้อสินค้าโอท็อป ไปรษณีย์เยอรมันก็ทำกิจการร้านค้าออนไลน์คล้ายๆ eBay ในขณะที่ “Posten” หรือไปรษณีย์สวีเดน ก็มีบริการเปลี่ยนรูปภาพจากกล้องหรือโทรศัพท์มือถือให้เป็นโปสการ์ดให้บรรดานักท่องเที่ยวได้ส่งกลับบ้านกัน ส่วน “PostNord” หรือที่ทำกิจการไปรษณีย์ทั้งสวีเดนและเดนมาร์ก ก็หันมาทำธุรกิจส่งโบรชัวร์ขายสินค้าตามบ้านไปเสียเลย บ้านเสมือน (คุก)ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลกอย่างนี้ จะไปอาศัยกินข้าวฟรีในคุกก็ยังเป็นเรื่องยาก หลายๆ ประเทศในยุโรปกำลังหาวิธีลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้กระทำความผิดสถานเบา ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน เช่น เมาแล้วขับ หรือลักเล็กขโมยน้อย ด้วยการกักกันบริเวณให้อยู่ในบ้านตัวเอง วิธีที่ว่านั้นคือการให้ “นักโทษ” สวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ไว้ที่ข้อเท้าตลอดเวลา โดยมีเจ้าหน้าที่เรือนจำคอยควบคุม ผ่านทางสัญญาณที่อุปกรณ์ดังกล่าวส่งกลับมาที่ศูนย์บัญชาการนั่นเอง ในขั้นทดลองนี้มีนักโทษที่ถูก”คุมขัง” ด้วยวิธีดังกล่าวอยู่ 110 คน เขาบอกว่าด้วยระบบนี้ “นักโทษ” ที่มีหน้าที่ออกไปทำงานรับใช้สังคมเป็นเวลา 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะยังสามารถไปทำธุระ ไปทำงาน ไปเรียน ได้ตามปกติ หรือจะไปเข้าซาวน่า ก็ยังได้ แต่ถ้าออกนอกบริเวณที่ตกลงกันไว้ โดยไม่ขออนุญาตล่วงหน้าเมื่อไหร่ ก็จะถูกย้ายจากเรือนจำเสมือน ไปอยู่เรือนจำจริงๆ ทันที กรมราชทัณฑ์ของฟินแลนด์บอกว่า ระบบดังกล่าวซึ่งจะนำมาใช้จริงในปี ค.ศ. 2014 นั้น สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดูแลนักโทษไปได้มากกว่าครึ่ง ปัจจุบันเรือนจำมีค่าใช้จ่ายต่อหัวในการดูแลนักโทษวันละ 200 ยูโร (8,600 บาท) ในขณะที่ระบบควบคุมผ่านกำไลข้อเท้านั้นใช้งบประมาณเพียง 60 ยูโร (2,500 บาท) ต่อคน เท่านั้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือ มีสถิติที่ระบุว่านักโทษที่ถูกคุมขังทางไกล ในบ้านตัวเองนี้ มีแนวโน้มในการกระทำผิดซ้ำน้อยกว่านักโทษที่ถูกคุมขังในเรือนจำ นั่นเอง และที่ดียิ่งไปกว่านั้นคือแม้ที่บ้านจะน้ำท่วมก็ไม่เป็นปัญหา เพราะกำไลข้อเท้าที่ว่านั้นสามารถกันน้ำได้ที่ความลึกถึง 5 เมตรเลยเชียว   กินจุเกินไปต้องจ่ายเองสองสามปีมานี้ ที่ไต้หวันเขาจัดการแข่งขันกินจุกันบ่อยเหลือเกิน จนหน่วยงานเฝ้าระวังของรัฐ หรือ The Control Yuan ต้องออกมาเรียกร้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพ งดจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับบรรดาพวกที่เอาชีวิตตัวเองเข้าเสี่ยงกับการแข่งขันประเภทนี้ Control Yuan บอกว่า นอกจากผู้เข้าแข่งขันจะทำร้ายร่างกายตัวเองโดยไม่จำเป็นแล้ว การแข่งกินบะหมี่ กินลูกชิ้น หรืออะไรก็ตามในปริมาณมากๆ นั้นยังสร้างภาระให้กับระบบสาธารณสุขที่มีไว้รองรับคนทั้งประเทศอีกด้วย ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งกับคนที่ต้องเจ็บป่วยเพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ หน่วยงานดังกล่าวยังเรียกร้องให้ยกเลิกการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับคนที่เข้ารับการรักษาตัวหลังจากเข้าร่วมการแข่งขันกระเพาะเหล็ก และให้รัฐเลิกจัด เลิกเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันดังกล่าว และต้องระบุให้สื่อมวลชนมีคำเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเสมอเมื่อมีการเผยแพร่ชักชวนผู้คนมาร่วมแข่งขัน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพของไต้หวันบอกว่า ตอนนี้กำลังเจรจากับบรรดาผู้จัดการแข่งขันกินจุทั้งหลาย ให้เป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้เข้าแข่งขันด้วย ไต้หวันเป็นอีกประเทศที่กำลังถูก “ภัยอ้วน” คุกคาม อัตราการเป็นโรคอ้วนของเด็กๆ ที่นั่นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6 เมื่อ 10 ปีก่อน มาเป็นร้อยละ 25 ในปี ค.ศ.2009 ด้วย สธ. ของไต้หวันคงต้องคิดหนัก เพราะมีผลการสำรวจออกมาว่ากิจกรรมยามว่างที่คนที่นั่นนิยมทำมากที่สุดคือการรับประทานอาหารนอกบ้านนั่นเอง   ไฟดับนานไป มีจ่ายชดเชยอินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ชาวบ้านต้องเจอกับไฟฟ้าดับกันแทบทุกวัน จนขณะนี้หลายๆ รัฐต้องประกาศให้มีการจ่ายค่าชดเชยกับผู้บริโภคที่ต้องพบกับภาวะไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลานานเกินควร มีตัวอย่างจากรัฐอุตตรประเทศ ที่เขาต่อสู้กันมาถึง 6 ปี ในที่สุดก็ผ่านกฎหมายที่ระบุให้มีการจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 50 รูปี (35 บาท) ในกรณีที่ไฟฟ้าดับต่อเนื่องเกิน 6 ชั่วโมง แต่ถ้าผ่านไปแล้วเกิน 10 ชั่วโมงก็ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เขาก็จะให้ 100 รูปี (70 บาท) เขาเน้นว่าต้องต่อเนื่องจริงๆ นะ เขายกตัวอย่างว่า ถ้าดับไป 5 ชั่วโมง แล้วซ่อมกลับมาได้ แม้จะเพียง 5 นาที แล้วดับต่อ ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ แต่ทั้งนี้จะไม่มีการจ่ายเงินชดเชยในกรณีที่ไฟฟ้าดับเนื่องจากพายุหรือฝนฟ้าคะนอง (น้ำท่วมก็คงจะไม่เข้าข่ายเช่นกัน) ข่าวบอกว่ายังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าแผนนี้จะดำเนินการอย่างไรในทางปฏิบัติ เพราะบริษัทผู้ผลิตไฟในแคว้นดังกล่าวออกมาบอกว่า ยังไม่ทราบเลยว่าขณะนี้มีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่กี่ครัวเรือน

อ่านเพิ่มเติม >