ฉบับที่ 231 เหล็กจ๋ามาได้อย่างไรในขนมถุง

        เมื่อเจอของแปลกปลอมในผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุในแพกเกจทันสมัย ดูสะอาดปลอดภัย ย่อมเป็นสิ่งที่สะท้อนปัญหาของขั้นตอนการผลิต ซึ่งผู้บริโภคไม่ควรมองข้าม เราต้องช่วยกันสะท้อนปัญหากลับไปสู่ผู้ผลิตให้รีบจัดการแก้ไข เพราะไม่เพียงช่วยให้เราได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม ยังเป็นการช่วยให้ผู้บริโภคคนอื่นได้รับการคุ้มครองด้วย         คุณเสาวลักษณ์ ชอบรับประทานขนมถุงกรุบกรอบมาก โดยเฉพาะขนมที่ทำจากแป้งข้าวโพด มียี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่งที่รับประทานเป็นประจำ แต่วันหนึ่งขณะกำลังจะหยิบชิ้นขนมเข้าปาก ตาก็เหลือบไปเห็นสิ่งผิดปกติเข้า สิ่งนี้สะท้อนแสงแวววาว ซึ่งไม่ควรจะมีอยู่ในถุงขนม มันคือ เศษเหล็ก คล้ายๆ ลวดตะแกรง          “ดีนะยังไม่ได้กินเข้าไป” คุณเสาวลักษณ์นึกดีใจนิดๆ แล้วรีบถ่ายภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน และโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ว่าควรทำอย่างไรดี แนวทางแก้ไขปัญหา         เมื่อเกิดปัญหาลักษณะนี้ สิ่งที่ต้องทำคือ รวบรวมหลักฐาน อย่างแรกคือ ถ่ายภาพสินค้าและสิ่งแปลกปลอม ภาพถ่ายของฉลาก วันหมดอายุ  และเก็บบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวไม่ให้ปะปนกับสิ่งอื่นต่อมาคือ ถ้าหากยังมีใบเสร็จหรือใบแสดงรายการสินค้า(สลิป) ที่เป็นหลักฐานการซื้อขาย ต้องเก็บไว้ให้ดี พร้อมนำหลักฐานที่รวบรวมได้ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ         จากนั้นควรติดต่อแหล่งจำหน่ายสินค้า ว่าจะช่วยเหลือหรือชดเชยอะไรให้กับเราได้บ้าง ควรกำหนดความต้องการไว้เป็นแนวทาง เช่น ขอเปลี่ยนหรือคืนสินค้า ในกรณีที่ซื้อสินค้าจากแหล่งที่ไกลบ้าน อาจกำหนดเรืองค่าเดินทางไว้ในรายการที่ต้องการให้ทางร้านค้าชดเชยให้กับเราด้วย          บางครั้งไม่อยากติดต่อกับแหล่งจำหน่าย ก็สามารถติดต่อไปที่แหล่งผลิตสินค้า เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น         อย่างไรก็ตาม หากมีการขอรับสินค้าไปตรวจสอบ ควรมีคนกลางเช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพยานในการส่งมอบสินค้าให้กับทางผู้ประกอบการหรือผู้ผลิต เพื่อเป็นหลักฐานการดำเนินการ         ในกรณีของคุณเสาวลักษณ์ ไม่ได้ต้องการการชดเชยเป็นตัวเงินหรือการเปลี่ยนสินค้า เพราะมูลค่าของสินค้าไม่ได้มีราคาสูง แต่ต้องการให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ช่วยในการแจ้งความผิดปกติของสินค้าต่อหน่วยงานกำกับดูแล  เพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิตของบริษัทขนมว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ทางศูนย์ฯ จึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และได้รับการตอบกลับจาก อย.ว่า ได้นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโรงงานผลิตขนมดังกล่าว และพบว่า ส่วนของสายพานที่เป็นตัวรองรับชิ้นส่วนของขนมข้าวโพดอบกรอบ มีบางส่วนชำรุดเสียหาย เนื่องจากความร้อนของเครื่องจักร ทำให้เหล็กบางส่วนหลุดเข้ามาในขนมที่ผ่านสายพาน ทางเจ้าหน้าทึ่จึงได้สั่งให้หยุดการใช้เครื่องจักรดังกล่าว และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เสร็จ และให้ทางโรงงานทำรายงานการซ่อมบำรุงเครื่องจักรส่งต่อยัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ทางโรงงานติดตั้งเครื่องตรวจจับโลหะเพื่อให้กระบวนการผลิตอาหารมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 ปลอมยาผีบอก

กรณีร้องเรียนนี้ ส่งมาจากเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเรื่องราวน่าสนใจที่เกี่ยวพันกับความเชื่อของคนเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับสูตรยาผีบอก หรือยาพื้นบ้าน ซึ่งผู้บริโภคสูงวัยมีแนวโน้มที่จะถูกหลอกได้โดยง่าย ดังเช่นผู้ร้องรายนี้คุณยายวัย 70 ปี ท่านหนึ่งถือซองยาผีบอกมาสอบถามเภสัชกรชุมชนขณะออกเยี่ยมบ้าน เนื่องจากคุณยายสังเกตเห็นความผิดปกติบางอย่างบนซองยา ซองแรกที่ซื้อมากินชื่อว่า ยาผงจินดามณี (ยาผีบอก) มีเลขทะเบียน อย 5120033820060 แต่ยาซองที่สองที่ซื้อมากิน ฉลากยาหน้าตาเปลี่ยนไป ชื่อว่ายาผงจินดามณี (ยาผีบอก) ทะเบียนยาเลขที่ G 185/48 และซองที่สามเพิ่งซื้อมาล่าสุด ฉลากยาก็มีหน้าตาเปลี่ยนไปจากเดิมอีก ชื่อว่ายาผงจินดามณี (สมุนไพรสูตรโบราณ) ทะเบียนยาเลขที่ G 185/48 จากการสอบถามพบว่า คุณยายเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าไปแล้ว 1 ข้าง เมื่อหลายปีก่อน ตอนนี้อีกข้างหนึ่งเริ่มมีอาการปวด ลูกหลานเห็นว่าอายุมาก ไม่อยากให้ผ่าตัด เพราะกลัวว่าจะกลับมาเดินไม่ได้อย่างเดิม ก็เลยไปหาซื้อยาโบราณมาให้กินตามความเชื่อ เมื่อกินแล้วหายปวดก็เริ่มติดใจ ไม่ยอมไปหาหมอที่โรงพยาบาล เคยมี อสม.มาวัดความดันให้ก็ไม่พบความผิดปกติ แถมช่วงนี้หน้าตาดูอิ่มเอิบ มีน้ำมีนวล ก็ยิ่งเชื่อมั่นในความวิเศษของยาที่ตัวเองใช้  ญาติพี่น้องคนไหนเจ็บป่วย ปวดเมื่อยก็แนะนำบอกต่อกันไป ยิ่งเมื่อรู้ว่าหาซื้อได้ที่วัดก็ยิ่งเกิดศรัทธา บางรายสั่งซื้อยากับหลวงพ่อขณะที่รอใส่บาตรยามเช้าก็มี   เรื่องนี้ต้องชื่นชมเภสัชกรชุมชนคนเก่ง ที่ทำงานเกาะติดในพื้นที่ได้ดีเยี่ยมมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเฝ้าระวังเรื่องยา ในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง สามารถไขข้อข้องใจคุณยายได้อย่างจัดเจน ตั้งแต่รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่น่าเชื่อถือมีการเปลี่ยนฉลากไปเรื่อยๆ (ปลอมตัวเอง) เวลาถูกตรวจสอบก็มักจะอ้างว่าฉลากแบบนี้ของปลอม ฉลากแบบนี้ของจริง มีการ ใช้เลข อย ปลอม หรือใช้เลขทะเบียนยาปลอมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ อย่างกรณีนี้พบว่าเป็นเลข อย ของขนมขบเคี้ยว (ยา ยาแผนโบราณ จะไม่มีการใช้เลข อย.) และเป็นทะเบียนยาน้ำแผนโบราณที่เคยมีปัญหาว่าตรวจพบสเตียรอยด์ ซึ่งเคยระบาดในพื้นที่เมื่อหลายปีก่อน แถมคุณยายก็เคยใช้ยาน้ำสมุนไพรดังกล่าวด้วยเช่นกัน พอเห็นรูปขวดยาถึงกับร้องอ๋อเลยทีเดียว เรื่องนี้ก็เลยจบลงไม่ยาก คุณยายยอมเลิกใช้ยาแต่โดยดี เบื้องต้นพบว่าคุณยายเริ่มมีอาการของการใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันมาต่อเนื่อง เช่น หน้าบวมกลม มีหนอกที่ต้นคอ ความดันต่ำ จึงได้ส่งตัวคุณยายเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ส่วนการแก้ไขปัญหายาในชุมชนก็ใช้วิธีประชาคมหมู่บ้าน ให้ความรู้ แนะนำ บอกต่อ และเยี่ยมบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อรวบรวมข้อมูลแหล่งจำหน่ายยา เส้นการกระจายยาส่งต่อให้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 สั่งของแท้ แต่ได้ของปลอม

ไม่ว่าใครก็ต้องการของดีราคาไม่แพง ทำให้หลายครั้งเราตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ที่หลอกลวงด้วยถ้อยคำโฆษณาและสินค้าราคาถูกกว่าปกติ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสุนีย์ตัดสินใจสั่งซื้อสร้อยไข่มุก Loperla Masami Jewelry Opera Set จากช่องทรูวิชชั่น ในราคา 5,990 บาท แต่โฆษณาลดเหลือ 5,690 บาท เนื่องจากคุณสุนีย์เห็นโฆษณาว่าเป็นไข่มุกเลี้ยงแท้ 100% พร้อมรายละเอียดต่างๆ ของสินค้าที่น่าสนใจ เช่น ขนาดเม็ดมุก  7 มม., มีจำนวนเม็ดไข่มุก 135 เม็ด, จี้ห้อย เป็นนิกเกิล ประดับคริสตัส และความยาวสร้อย 95.5 ซม. (รวมจี้และตะขอ)อย่างไรก็ตามหลังได้รับสินค้ากลับพบว่า สร้อยมีไข่มุกเพียง 127 เม็ด และความยาวน้อยกว่าที่โฆษณา ประมาณ 2 นิ้ว  เธอจึงแจ้งให้บริษัทเปลี่ยนสินค้าในวันเดียวกัน ต่อมาเมื่อบริษัทนำสินค้ามาเปลี่ยนให้ก็ยังพบปัญหาว่าไข่มุกมีขนาดเม็ดเล็กกว่าเส้นแรก เธอจึงแจ้งให้บริษัทเปลี่ยนสินค้าอีกครั้ง ซึ่งหลังได้รับการเปลี่ยนสินค้ารอบนี้ เธอได้ทดสอบไข่มุกด้วยการลนไฟ โดยหากเป็นไข่มุกเทียมจะเกิดการไหม้หลอมและหลุดลอก เเต่ถ้าเป็นไข่มุกเเท้ จะเป็นคราบเขม่าดำที่เกิดจากความร้อนซึ่งเช็ดออกได้หลังการทดสอบสินค้าเธอก็พบว่าผิวไข่มุกไหม้และลอกล่อน รวมทั้งเมื่อนำไข่มุกมาถูกัน ก็เกิดอาการลื่นออกจากกัน ต่างจากไข่มุกแท้ที่จะมีลักษณะฝืด ทำให้คุณสุนีย์แจ้งไปยังบริษัทฯ เพื่อขอคืนสินค้าและขอเงินคืนทั้งหมด ซึ่งบริษัทฯ แจ้งว่าจะขอทดสอบไข่มุกในห้องปฏิบัติการก่อน โดยใช้เวลาในการทดสอบ 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามหลังผ่านไปหลายเดือนก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เธอจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แจ้งให้ผู้ร้องส่งรายละเอียดการโฆษณาสินค้ามาให้เพิ่มเติม พร้อมทำหนังสือนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกับบริษัท ซึ่งผู้ร้องต้องการให้บริษัทเยียวยาความเสียหาย ดังนี้ 1. ให้ประกาศโฆษณาขอโทษ ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับที่ประกาศโฆษณาจำหน่ายสินค้า เป็นเวลา 1 ปี  และให้เรียกคืนสินค้าและคืนเงินให้ลูกค้าทุกรายที่ซื้อสินค้าดังกล่าว หรือ 2. หากไม่สามารถดำเนินการตามข้อ 1 ได้ ให้ชดเชยเยียวยาความเสียหาย เป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาทให้แก่ผู้ร้อง อย่างไรก็ตามทางบริษัทได้ขอเลื่อนการเจรจาออกไป แต่ส่งหนังสือชี้แจงกลับมาว่าบริษัทกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากผู้ผลิตในประเทศไต้หวัน ซึ่งอาจเกิดจากเหตุขัดข้องในการจัดส่งสินค้าที่ผิดไป โดยผู้ผลิตยินยอมส่งคืนสินค้าที่ถูกต้องให้ภายในระยะเวลา 30 วัน และได้ร่วมมือกับ บริษัท ทรู จีเอส จำกัด ในการประสานงานติดต่อผู้ซื้อทุกราย เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงสินค้าที่ถูกต้อง ภายใน 15 วันทำการ หรือรับคืนเงินเต็มจำนวนทันที สำหรับผู้ซื้อที่ไม่ประสงค์รอสินค้าด้านผู้ร้องพอใจกับข้อเสนอดังกล่าว แต่ต้องการให้บริษัทรับผิดชอบเพิ่มเติม ด้วยการโฆษณาการคืนสินค้าให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่รับทราบ ไม่ใช่คืนสินค้าเฉพาะรายอย่างเงียบๆ เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีการคืนสินค้ากันจริงหรือไม่ ซึ่งผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรต่อไป ยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 สิ่งแปลกปลอมในขนมปัง

อาหารที่สะอาดและรสชาติอร่อยเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ผลิตควรคำนึงถึง โดยไม่ควรปล่อยให้มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนมาในอาหาร เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ทั้งยังผิดกฎหมายอีกด้วย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ คุณสมชายซื้อขนมปังยี่ห้อ เลอแปง หน้าพิซซ่าฮาวายเอี้ยน ราคา 15 บาท จากร้านค้าขนาดเล็ก (มินิมาร์ท) แห่งหนึ่งมารับประทาน โดยขณะรับประทานจนเกือบหมดแล้วพบว่า เขาได้กัดชิ้นส่วนแปลกปลอมเข้าไป ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นสีดำอมเขียว ความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร โดยเขาสันนิษฐานว่าอาจเป็นชิ้นส่วนของพลาสติก คุณสมชายจึงโทรศัพท์ไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อร้องเรียนปัญหา ซึ่งพนักงานได้แจ้งว่าให้เก็บขนมปังดังกล่าวไว้ และจะเดินทางมารับไปตรวจสอบในวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้ภายหลังบริษัทเข้ามารับขนมปังดังกล่าวก็ได้มอบกระเช้าของขวัญให้คุณสมชาย และแจ้งว่าชิ้นส่วนดังกล่าวน่าจะเป็นเศษขนมปังเก่าที่สะสมมานาน ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตามคุณสมชายยังคงไม่มั่นใจและต้องการผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีนี้สามารถใช้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาอ้างอิงได้ โดยตามมาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายอาหารดังต่อไปนี้ (1) อาหารไม่บริสุทธิ์ (2) อาหารปลอม (3) อาหารผิดมาตรฐาน และ (4) อาหารอื่นที่รัฐมนตรีกำหนด นอกจากนี้ตามมาตรา 58 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25 (1) ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้ร้องสามารถเรียกค่าเสียหายกับทางบริษัทได้ตาม พ.ร.บ. นี้ได้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแจ้งผู้ร้องว่าหากยังไม่ได้รับความคืบหน้าจากทางบริษัท สามารถส่งรายละเอียดให้ศูนย์ฯ ช่วยประสานงานกับผู้ผลิตได้ โดยใช้หลักฐานในการดำเนินการ ดังนี้ 1.หลักฐานการซื้อสินค้า 2.ใบเสร็จรับเงิน 3. สินค้าที่พบความเสียหายพร้อมรูปถ่าย 5. ใบแจ้งความบันทึกประจำวัน และ 6. รูปภาพตอนรับกระเช้าของขวัญจากทางบริษัท ทั้งนี้ภายหลังผู้ร้องได้ตอบกลับมาว่า ทางบริษัทได้แจ้งผลการตรวจสอบแล้วว่า ชิ้นส่วนดังกล่าวคือเศษขนมปังเก่าจริง โดยชี้แจงวิธีการผลิตและขั้นตอนต่างๆ ซึ่งเขาพอใจการดำเนินการดังกล่าว และไม่ติดใจร้องเรียนค่าเสียหายต่อ จึงขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤศจิกายน 2559ทำ “ฟันปลอมเถื่อน” เสี่ยงติดเชื้อในช่องปากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เตือนเรื่อง “บริการทำฟันปลอมเถื่อน” ที่เดี๋ยวนี้มีให้เห็นได้ตามตลาดนัดแผงลอยริมถนนทั่วไป เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ผู้ใช้บริการจะได้รับอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด ผู้ใช้บริการมีโอกาสติดเชื้อหรือเกิดโรคในช่องปาก เพราะทั้งสถานที่และเครื่องมือที่ใช้อาจไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีขั้นตอนการฆ่าเชื้อก่อนและหลังการใช้งาน ที่สำคัญคือ ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ไม่ใช่ทันตแพทย์ จึงขาดความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในการทำฟันปลอมที่ถูกต้อง ซึ่งฟันปลอมจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่ง ผู้ที่ต้องการทำฟันปลอมควรขอคำแนะนำและรับบริการจากทันตแพทย์ในสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตการใช้ฟันปลอมเถื่อนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบฟันที่ไม่เหมาะสมส่งผลให้ฟันซี่ใดซี่หนึ่งรับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้ฟันซี่ที่แข็งแรงกลายเป็นฟันที่อ่อนแอ เกิดการโยก สึกกร่อน และหัก อาจทำให้เกิดแผลในช่องปาก การใส่ฟันปลอมโดยไม่เตรียมช่องปากที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักทันตกรรม เช่น ไม่อุดฟันซี่ที่ผุ ขูดหินปูน รักษารากฟัน หรือถอนฟันซี่ที่ไม่รักษาไว้ เมื่อเกิดปัญหาหลังการทำแล้วการแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติจะทำได้ยากรถไฟฟ้าสายสีม่วงยังไม่สะดวกสำหรับคนพิการนาย ชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม ออกมายอมรับเองว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงเส้นบางใหญ่-บางซื่อ ยังต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเรื่องการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งสถานีที่พบปัญหาประกอบด้วย บางซ่อน แยกนนทบุรี และบางพลู โดยปัญหาที่พบที่ต้องเร่งแก้ไขมีหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น ทางลาดชันในการขึ้นใช้ลิฟท์มีความลาดชันมากเกินไป ต้องปรับให้ลาดชันน้อยลง นอกจากนี้ผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ยังเห็นว่า ควรยกเลิกใช้เก้าอี้ที่ติดกับราวบันไดเพื่อเลื่อนขึ้นไปยังสถานี เพราะใช้แล้วไม่ปลอดภัย ควรปรับเป็นลิฟต์หรือทางลาดชันจะดีกว่า ป้ายแสดงเส้นทางต่างๆ ไม่ชัดเจน นอกจากนี้ต้องปรับปรุงเรื่องการบริการ การอำนวยความสะดวกต่างๆ ควรมีจุดที่จะเรียกใช้บริการเจ้าหน้าที่ และจัดเตรียมช่องซื้อตั๋วโดยสารโดยเฉพาะ เป็นต้น Service charge เก็บได้แต่ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบหลังจากที่ สคบ. ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคกรณีถูกเรียกเก็บค่าบริการเซอร์วิส ชาร์จ (Service charge) 10% โดยผู้บริโภครู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และอัตรา 10% ที่เรียกเก็บนั้นเหมาะสมหรือไม่ พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กล่าวว่า ได้มีการหารือแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้เร่งออกประกาศไว้เป็นข้อปฏิบัติและรับทราบโดยทั่วกันโดยที่ผ่านมา สคบ.ได้ประสานขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านอาหารให้ช่วยติดป้ายแสดงไว้ที่หน้าร้านอาหารของตนว่า ร้านนี้มีการคิดค่าเซอร์วิส ชาร์จ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบ แต่ก็ยังเป็นแค่การขอความร่วมมือเท่านั้น ส่วนกรมการค้าภายในฯ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เซอร์วิส ชาร์จ เป็นค่าบริการที่ผู้ประกอบการขายสินค้านั้นๆ คิดเพิ่มจากผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งอาจจะไม่ได้หมายถึงว่า ร้านอาหารนั้นต้องตั้งอยู่ในสถานที่หรูหรา ห้องแอร์ หรือพนักงานเสิร์ฟเป็นอย่างไร แต่ขึ้นอยู่กับการเพิ่มการบริการของร้านอาหารนั้นๆ ผู้ประกอบการมีสิทธิ์ที่จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เขาให้บริการแก่ลูกค้าได้ ซึ่งการเรียกเก็บค่าบริการ 10% กรมการค้าภายในมองว่า “เป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว” เนื่องจากเป็นอัตราที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่รับทราบตามสากล และยอมรับได้ทั้งนี้กรณีที่ผู้ประกอบการหรือร้านอาหาร เรียกเก็บค่าบริการ เซอร์วิส ชาร์จ โดยที่ไม่ได้ระบุหรือแจ้งให้ลูกค้าทราบ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ผู้ใดไม่แสดงราคาหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการแสดงสินค้าและบริการที่กำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทอันตราย “แมงลักอัดแคปซูล” ผสมไซบูทรามีนผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอันตรายหลอกลวงผู้บริโภคยังมีโผล่มาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ล่าสุดคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Mangluk Power Slim ที่ อย. ออกมาฟันธงแล้วว่า เข้าข่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย มีการปลอมเลขสารบบอาหาร โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และตรวจพบไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โดยจะมีอาการข้างเคียง คือ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ท้องผูก ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แนะผู้บริโภคอย่าซื้อมารับประทานเด็ดขาดจากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวฉลากระบุเลขที่ อย. 89-1-04151-1-0080 นำเข้าและจัดจำหน่ายโดยบริษัท THE RICH POWER NETWORK จังหวัดสมุทรสาคร รุ่นผลิต RI88-89/01 เมื่อตรวจเลขสารบบอาหาร พบว่าไม่ได้รับอนุญาตผลิตหรือนำเข้าแต่อย่างใด รวมทั้งไม่พบข้อมูลการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมจากเว็บไซต์โดยค้นหาชื่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษพบจำนวนเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกว่า 6 พันรายการ มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเช่น “ยับยั้งการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล ลดความอยากอาหาร DETOX ลำไส้ ไร้ผลข้างเคียง” “ช่วยเสริมระบบการย่อยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สามารถลดการสะสมของไขมันในเส้นเลือด ช่วยควบคุมความหิว ลดการดูดซึมของไขมันที่ไม่จำเป็นต่อร่างกายและขจัดสารพิษต่างๆ” เป็นต้น ทั้งนี้ อย.จะดำเนินการกับผู้กระทำผิดต่อไปโรงพยาบาลรับผิดทำผู้ป่วยเสียชีวิต หวังเป็นจุดเริ่ม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯถือเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่มีผู้เสียชีวิตจากการรับบริการทางการแพทย์ ที่ควรหยิบยกมาพูดถึง โดยเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์ เรื่องของผู้ใช้เฟซบุ๊ครายหนึ่ง ซึ่งพาแม่เข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ ด้วยอาการปวดหลังอย่างรุนแรง ซึ่งหลังการเอ็กซเรย์แพทย์ได้วินิจฉัยพบว่า เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น และทางแพทย์ได้มีการแนะนำให้ผ่าตัด แต่สุดท้ายเกิดเหตุสุดวิสัย แพทย์ผ่าตัดถูกเส้นเลือดดำที่ติดกับกระดูกสันหลัง ซึ่งแพทย์และทีมพยาบาลพยายามยื้อชีวิตอย่างเต็มที่แต่ก็สุดความสามารถโดยเหตุผลที่ญาติผู้เสียชีวิตเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ เพราะต้องการเรียกร้องความรับผิดชอบจากทางโรงพยาบาล ซึ่งแม้ทางแพทย์ผู้ผ่าตัดจะออกมายอมรับว่าผ่าตัดผิดพลาด แต่กลับไม่ได้รับการชดเชยใดๆ จากทางโรงพยาบาลเมื่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นถูกเผยแพร่และเป็นที่สนใจของผู้คนในสังคมออนไลน์ ไม่นาน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุปราการ และเป็น 1 ในกรรมการแพทยสภา ได้ออกมายืนยันว่าทางโรงพยาบาลจะให้การช่วยเหลือทายาทของผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ ด้วยการเยียวยาตามมาตรา 41 ว่าด้วยเงินช่วยเหลือเบื้องต้น แก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมทั้งทางโรงพยาบาลก็จะรับผิดชอบชดเชยให้ด้วยอีกส่วนหนึ่ง พร้อมกันนี้จะต้องมีการเยียวยาต่อสุขภาพจิตของแพทย์ ที่มีเจตนาที่จะช่วยคนไข้ เพื่อมีสภาพจิตใจสามารถกลับมาทำหน้าที่รักษาดูแลประชาชนได้ต่อไปทางด้าน นาง ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ในฐานะประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ที่ต่อสู้เรียกร้องเรื่องสิทธิของผู้ป่วยมาอย่างยาวนาน ได้แสดงความเห็นชื่นชมต่อการออกมาแสดงความรับผิดชอบของโรงพยาบาลต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ผ่านหน้าเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยให้ความเห็นว่า แพทย์เองก็เข้าใจดีอยู่แล้วความผิดพลาดจากการรักษาพยาบาลเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการผลักดันให้มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ถึงเวลาที่แพทยสภาจะต้องหันมาเร่งผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนมกราคม 2559อย.ยืนยันไม่เคยขึ้นทะเบียน “ยาฉีดสลายไขมัน” อย.ออกมายืนยันไม่เคยมีการขึ้นทะเบียนยาใดๆ ที่มีคุณสมบัติเพื่อสลายไขมัน หลังจากพบว่ามีการโฆษณาฉีดสารสลายไขมันจากผู้ที่แอบอ้างเป็นหมอ หรือ “หมอกระเป๋า” ที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องการรักษาใดๆ แต่รับฉีดยาให้กับผู้ที่ติดต่อซื้อบริการ ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายมาก อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตตามที่เคยปรากฎเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ อย.ย้ำว่าการที่ผลิตภัณฑ์ใดจะได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจะต้องผ่านการพิจารณาในด้านการควบคุมคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของยา โดยต้องผ่านการตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักวิชาและข้อกำหนดตามกฎหมาย ผลิตภัณฑ์สลายไขมันซึ่งใช้วิธีฉีดเข้าสู่ร่างกายที่มีจำหน่ายและบริการอยู่เป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย การฉีดสารแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดการแพ้ขั้นรุนแรง เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต การจะเข้ารับบริการฉีดสารใดๆ เพื่อผลเรื่องความสวยความงามหรือผลต่อสุขภาพนั้น ควรเข้ารับบริการจากสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับอนุญาตในการประกอบกิจการสถานพยาบาลเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย   ปปง.สั่งยึดทรัพย์ “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” แล้วหลังจากเป็นคดีมาตั้งแต่ปี 2555 ในที่สุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก็ได้ทำการดำเนินการยึดทรัพย์ บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน หลังจากทำการปิดสถานบริการออกกำลังกายชื่อดัง “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” โดยไม่มีการแจ้งให้กับผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้า แถมไม่มีการดำเนินการชดเชยใดๆ ให้กับสมาชิกที่มีมากกว่า 500 ราย มูลค่าความเสียหายหลาย 10 ล้านบาท  ซึ่งผู้เสียหายได้ร่วมตัวกันโดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครับเป็นตัวแทนในการดำเนินการฟ้องร้องตามกฏหมาย จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิบพบว่าบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ในช่วงที่มี นายเอริค มาร์ค เลอวียน เป็นกรรมการบริษัทอยู่ด้วยนั้น ได้มีการโอนเงินจากบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ไปซื้อที่ดิน จำนวน 5 แปลง โดยมีบริษัท ฟิตเนส เอสเตท จำกัด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าบริษัท ฟิตเนส เอสเตท มีรายชื่อของนายเอริค มาร์ค เลอวีน เป็นกรรมการบริษัท แม้ต่อมาได้มีการเปลี่ยนกรรมการบริษัท มีบริษัท ละติจูด 43 จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ละติจูด 43 จำกัด มีบุคคลผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง คือ นายเอริค มาร์ค เลอวีน ทั้งนี้ โดยการหลอกลวงนั้น ทำให้ประชาชนหลงเชื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกพร้อมจ่ายเงินเป็นค่าสมัครและใช้บริการ ก่อนจะปิดกิจการหนีหายไป จากพยานหลักฐานทั้งหมด จึงเชื่อว่าบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) กับพวกมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลอาญาแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ปปง. จึงมีมติอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรายบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) กับพวกไว้ชั่วคราว เป็นที่ดินในจังหวัดพังงาจำนวน 5 รายการ รวมประมาณ 17 ไร่ รวมราคาประเมินทั้งสิ้นประมาณ 88,332,500 บาท จากนี้ก็จะมีการดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป อิเกีย เรียกคืนของเล่นเด็กอิเกีย ร้านขายเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านที่มีสาขาไปทั่วโลก ล่าสุดอิเกียประเทศไทยได้เรียกคืนสินค้า “ไม้กลองและกลองทังก์ดรัม รุ่น LATTJO/ลัททิโอ” หลังมีรายงาน 6 ฉบับจากพนักงานอิเกียที่ระบุว่า หัวยางบนไม้กลองอาจหลุดหรือหมุนออกมาได้ และอาจติดคอเป็นอันตราย หากเด็กเล็กกลืนลงคอด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แม้ว่าสินค้านี้จะผ่านการทดสอบและรับรองตามมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับของเล่น แต่เมื่อมีการตรวจสอบในภายหลังแล้วพบว่าสินค้าอาจเกิดอันตราย อิเกียจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเบื้องต้นคือการเรียกคืนสินค้าและหยุดการจำหน่ายสินค้าดังกล่าว ที่ผ่านมา อิเกียประเทศไทยได้มีการเรียกคืนสินค้ามาแล้วหลายรายการ เช่น ชิงช้า รุ่น GUNGGUNG/ยุงยุง เนื่องจากพบว่าอุปกรณ์แขวนชิงช้าไม่ผ่านข้อกำหนดด้านคุณภาพ หรือแม้สินค้าประเภทอาหารอย่าง พาสต้ารูปกวางเอลก์ (PASTAÄLGAR) และพาสต้าโฮลเกรนรูปกวางเอลก์ (PASTAÄLGAR FULLKORN) เนื่องจากมีส่วนผสมของถั่วเหลืองแต่ไม่ได้ระบุไว้บนฉลาก ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับผู้แพ้ถั่วเหลือง ปี 58 จับยาปลอม-อาหารเสริมโม้สรรพคุณ มูลค่ารวมถึง 180 ล้านบาทในปี 2558 ที่ผ่านมา มีข่าวคราวเรื่องของการตรวจจับผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ทั้งอาหารเสริมและยาปรากฏตามสื่อต่างๆ เป็นจำนวนมาก เหมือนกับว่าปราบเท่าไหร่ก็ไม่หมด ยิ่งจับก็ยิ่งเจอ เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคไทยเรายังตะหนักถึงเรื่องอันตรายของยาและอาหารเสริมหลอกลวงสรรพคุณกันไม่มากพอ ทำให้เกิดเป็นช่องทางให้พ่อค้า-แม่ค้าที่ไม่หวังดีนำสินค้าอันตรายมาหลอกขาย มีข้อมูลในปี 2558 ที่ผ่านมา อย.ได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้ทำการการจับกุมและดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องสำอางจำนวน 101 ครั้ง พบผู้กระทำความผิดจำนวน 148 ราย จำนวนของกลาง 1,019 รายการ คิดเป็นมูลค่า 185.55 ล้านบาท แยกเป็น ยา มูลค่าของกลาง 31.17 ล้านบาท จำนวน 729 รายการ, อาหาร มูลค่าของกลาง 151.21 ล้านบาท จำนวน 181 รายการ, เครื่องสำอาง มูลค่าของกลาง 2.45 ล้านบาท จำนวน 84 รายการ, วัตถุอันตราย มูลค่าของกลาง 5 แสนบาท จำนวน 11 รายการ, วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มูลค่าของกลาง 1.7 แสนบาท จำนวน 13 รายการ และยาเสพติด 5 หมื่นบาท จำนวน 1 รายการ นอกจากนี้ ในปี 2558 อย. ยังมีการเผาทำลายของกลางผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ใช่ยาเสพติด ซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว รวมทั้งสิ้น 132 คดี น้ำหนัก 32,730 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าของกลางกว่า 100 ล้านบาท NGO ร้องรัฐบาลตรวจ สสส. ต้องโปร่งใส อย่าให้ประชาชนต้องเสียประโยชน์“ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน” ประกอบด้วย 20 เครือข่าย อาทิ ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายงดเหล้าและบุหรี่ เครือข่ายเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายนักวิชาการปฏิรูประบบสุขภาพ ฯลฯ ร่วมกันแถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยื่นต่อกรณีการปลดบอร์ดกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.ตามคำสั่งของ คสช. รวมถึงกรณีการสั่งชะลอโครงการกว่า 2,000 โครงการที่ภาคประชาชนรับงบสนับสนุนจาก สสส. ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำงานด้านพัฒนาสังคม งานพัฒนาสังคมหลายๆ ด้านต้องใช้พลังในการทำงานจากภาคประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามีงานที่ทำโดยภาคประชาชนแล้วเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานด้านการยกระดับการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน การให้ความรู้เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องการเท่าทันสื่อ เรื่องสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ซึ่งการทำงานทุกอย่างจำเป็นต้องมีงบประมาณในการทำงานซึ่งที่ผ่านมา สสส. ถือเป็นหน่วยงานหลักที่ค่อยทำหน้าที่สนับสนุนองค์กรภาคประชาชนในการทำงานด้านสังคมมาโดยตลอด หากรัฐบาล คสช. ยืนยันที่จะเปลี่ยนแปลงบทบาทการทำงานของ สสส. และยุติการสนับสนุนทุนให้กับกลุ่มองค์กรเครือข่ายที่ทำงานด้านพัฒนาสังคม ย่อมจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาและการเสริมสร้างความรู้ความเข้มแข็งของคนในประเทศอย่างแน่นอน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การออกมาแสดงจุดยืนร่วมกันครั้งนี้ ไม่ได้ออกมาเพื่อปกป้องบอร์ด สสส. แต่มาเพื่อประชาชน เพราะการเหมารวมตรวจสอบทุกโครงการทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ การตรวจสอบสามารถทำได้แต่ต้องโปร่งใสและยุติธรรม การปฏิรูป สสส. ต้องมีภาคประชาชนเจ้าไปมีส่วนร่วมด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 255310 ม.ค. 53แฟชั่นขนตาปลอม เสี่ยงตาบอดกระทรวงสาธารณสุข ฝากเตือนถึงสาวๆ ที่นิยมติดขนตาปลอม ให้ระวังเรื่องความสะอาดเป็นสำคัญ เพราะขนตาปลอมที่ดูแลไม่ดีอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ซึ่งจะมีผลทำให้ตาดำอักเสบ เสี่ยงต่อตาบอด ดังนั้นก่อนใส่ต้องล้างมือให้สะอาด ไม่ควรใช้ขนตาปลอมร่วมกับคนอื่น หรือใส่ต่อเนื่องกันนานๆ และหากมีอาการแพ้หรืออักเสบต้องรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที ด้านนายแพทย์ ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า ขนตาปลอมและกาวติดขนตา ที่มีวางจำหน่ายอยู่ขณะนี้ มีราคาตั้งแต่ 10 บาท ถึง 300 บาท มีทั้งที่ผลิตได้ตามมาตรฐานถูกต้องตามหลักวิชาการ และไม่ได้มาตรฐาน ขนตาปลอมมีทั้งอ่อนนุ่มไปจนถึงแข็งมาก มีหลากหลายรูปแบบ เช่น เป็นแผงเส้นตรง เส้นสานกัน แบบเป็นช่อ ฯลฯ ซึ่งกาวที่ใช้ติดขนตาปลอม ต้องมีคุณภาพดี ผลิตถูกต้องตามหลักวิชาการ มีส่วนประกอบสำคัญที่เหมาะกับการใช้เฉพาะที่ และต้องระบุฉลากชัดเจนว่าใช้กับดวงตาเท่านั้น หากใช้กาวอื่นมาติด อาจเป็นอันตรายได้ -------------------------------------------------------------------------------------------------------- 15 ม.ค. 53อย. คุมเข้มข้าวนำเข้านพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ภายหลังการประกาศลดอัตราภาษีสินค้าเกษตรตามข้อผูกพันภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) มีผลให้ผลิตผลทางการเกษตร 23 ชนิด ลดภาษีการนำเข้าลงเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป ซึ่งในเรื่องของข้าวนั้น หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เตรียมมาตรการรองรับอย่างเต็มที่ โดยได้มีการกำหนดมาตรการกำกับดูแลและติดตามการนำเข้าข้าว 5 มาตรการคือ 1) กำหนดคุณสมบัติของผู้นำเข้าข้าวและพิจารณาชนิดข้าวที่จะนำเข้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ 2) ต้องมีใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า 3) กำหนดด่านนำเข้า 4) กำหนดระยะเวลาการนำเข้า 5) กำหนดมาตรฐานคุณภาพข้าว มาตรการด้านสุขอนามัยที่เข้มงวดตามกติกาสากลและเงื่อนไขปลอด GMOs ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถ้ามีการอนุญาตนำเข้าข้าวเพื่อจำหน่ายผู้บริโภคโดยตรง ต้องได้รับอนุญาตนำเข้าจาก อย.และต้องมีฉลากระบุรายละเอียด เช่น ชื่ออาหาร ชื่อที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ ชื่อที่ตั้งของผู้นำเข้าและประเทศผู้ผลิต ปริมาณสุทธิ และส่วนประกอบที่สำคัญ เป็นต้น ----------------------------------------------------------------------------------------------------------- 17 ม.ค. 53เตือนคนชอบฟังเพลงเสียงดัง เสี่ยงหูตึงกระทรวงสาธารณสุขเตือนคนที่ชอบฟังเพลงจากหูฟังเสียงดังๆ ระวังเสี่ยงเกิดอาการหูตึง หูหนวก เนื่องด้วยปัจจุบันประเทศไทยมีวัยรุ่นจำนวนมากนิยมฟังเพลงจากเครื่องเล่นเพลงดิจิตอลพกพาต่างๆ ซึ่งปกติระดับเสียงที่ปลอดภัยต่อประสาทหูของคนเราคือไม่เกิน 80 เดซิเบล หากเกินกว่านี้จะส่งผลเสียต่อหู คือทำให้เกิดอาการหูอื้อ หูตึง หูหนวก แต่จากพฤติกรรมการฟังเพลงของวัยรุ่ยในปัจจุบันมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับระบบประสาทหูอย่างมาก เนื่องจากส่วนใหญ่นิยมฟังเพลงประเภทที่มีจังหวะเร็ว เสียงเบสดังกระแทกหนักๆ และมีความดังเกิน 80 เดซิเบล เป็นเวลานานๆ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการสำรวจการได้ยินของวัยรุ่นยุโรปที่ปัจจุบันอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายจากการใช้หูฟังมากกว่า 10 ล้านคน ด้วยพฤติกรรมที่ชอบฟังเพลงจากหูฟังเสียงดังๆ เช่นกัน ----------------------------------------------------------------------------------------------------------- 28 ม.ค. 53เทรนด์ใหม่มิจฉาชีพ!? หลอกโอนเงินตู้ ATMนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เชิญหน่วยงานต่างๆ รวม 23 หน่วยงาน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมสรรพากร สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ฯลฯ เพื่อหารือและวางแนวทางแก้ไขปัญหาประชาชนถูกหลอกลวงให้ทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็ม ซึ่งปัจจุบันพบว่า ยังมีมิจฉาชีพหลอกลวงต่อเนื่อง มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น โดยข้อมูลของกรมสรรพากรพบว่า ตั้งเดือนมกราคม -ธันวาคม 2551 มีผู้เสียหายร้องเรียนว่าตกเป็นเหยื่อทั้งสิ้น 2,662 ราย ขณะที่ช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2552 มีถึง 5,088 ราย ในส่วนของดีเอสไอ ได้รับเรื่องร้องเรียนและรับเป็นคดีพิเศษ 37 ราย มูลค่าประมาณ 2.6 ล้านบาท ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของคนร้ายที่มีการพัฒนามากขึ้น จากเดิมอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ติดต่อเพื่อคืนภาษี เปลี่ยนเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือเจ้าหน้าที่บัตรเครดิต เพื่อยืนยันการใช้บริการ หรือการบริการคืนเงิน อีกทั้งยังออกอุบายให้มีการสั่งซื้อสินค้า และชักชวนร่วมลงทุน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เราต้องตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ เราจะควรศึกษาและติดตามข้อมูล กลโกงใหม่ๆ ของกลุ่มผู้ไม่หวังดี เพื่อให้เรารู้เท่าทันก่อนภัยมาถึงตัว--------------------------------------------------------------------------------------------------------------- จับหนุ่มรับฉีดยาผิวขาวใช้รถเก๋งเป็นคลินิก อย.เตือนอันตรายอย. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าจับกุมหนุ่มปริญญาตรีลักลอบฉีดสารผิวขาว โดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม อาศัยรถเก๋งของตัวเองเป็นคลินิกเถื่อนเคลื่อนที่ ไปรอรับลูกค้าที่ลานจอดรถในห้างสรรพสินค้า โดยค่าฉีดจะอยู่ที่เข็มละ 1,200 – 1,800 บาท ซึ่งจากการตรวจค้นในกระโปรงท้ายรถ พบของกลางทั้ง เข็มฉีดยา หลอดฉีดยา น้ำเกลือ ยากลูตาไธโอนในหลอดแก้วหลายสิบหลอด วิตามินซีแบบน้ำ วิตามินบีรวมแบบน้ำ รกแบบฉีด อาหารเสริมชนิดเม็ดบรรจุกล่องพลาสติก ประเภทแอลคาเนทีน กลูตาไธโอน และคอลลาซีพลัส รวม 50 กล่อง ซึ่งจากการสอบสวนผู้ต้องหามีความผิดหลายข้อหา ตั้งแต่ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต และประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวเตือนว่า ขณะนี้มีการแอบฉีดยาผิวขาวหรือกลูตาไธโอนในสถานเสริมความงามหลายแห่ง เพราะมีความนิยมมากในกลุ่มวัยรุ่นที่อยากมีผิวขาว ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นยาจริงหรือไม่ อีกทั้งวิธีในการฉีดยังไม่มีการศึกษามาก่อนว่าควรได้รับในปริมาณเท่าใด ระยะเวลาในการฉีดควรห่างหรือบ่อยขนาดไหน ดังนั้นการฉีดในขณะนี้จึงเป็นเพียงการคาดเดาทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายอย่างมากต่อผู้ที่รับบริการ โดย อย.จะสุ่มตรวจและจับกุม ซึ่งหากพบว่ามีที่ใดทำผิดกฎหมายมีสิทธิ์ได้รับโทษหนัก “ฉลาดซื้อ” เคยลงบทความเรื่อง “สารกลูตาไธโอน” ในคอลัมน์ “สวยอย่างฉลาด” นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 83 เดือนมกราคม 2551 ที่อธิบายว่าการ “ใช้กลูตาไธโอนเพื่อช่วยให้ผิวขาว อาจเกิดผลข้างเคียงจากการยับยั้งการสร้างเซลล์เม็ดสีให้ผิวหนัง การฉีดเข้าเส้นหรือเข้ากล้ามเนื้อเช่นเดียวกับการรักษาโรคต่างๆนั้น อาการข้างเคียงของผิวขาวจะเป็นเพียงอาการชั่วคราวเท่านั้น นอกจากนี้การที่ร่างกายได้ รับสารกลูตาไธโอนเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เม็ดสีเมลานิน ทั้งที่ผิวหนังและที่จอตาลดลง ทำให้จอตารับแสงได้น้อยลง เสี่ยงต่อการมองเห็นได้ในอนาคต” --------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ฟ้องกรมทางหลวงและคณะรัฐมนตรีเพิกถอนสัมปทานโทลล์เวย์3 กุมภาพันธ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค สถาบันพัฒนานักกฎหมายสิทธิมนุษยชน นักศึกษา และประชาชนผู้เสียหายจากการขึ้นค่าผ่านทางโทลล์เวย์ ร้องต่อศาลปกครองกลาง ฟ้องอธิบดีกรมทางหลวง ปลัดกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพิกถอนสัญญาสัมปทาน เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนใช้อำนาจรัฐได้ตามอำเภอใจโดยไม่ต้องขอความเห็น จากรัฐและสาธารณชนในการขึ้นค่าบริการสาธารณะ รวมทั้งขัดรัฐธรรมนูญที่ไม่ขอความเห็นจากองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค จากการที่บริษัทดอนเมืองโทลล์เวย์ขึ้นค่าผ่านทางจาก 55 บาทเป็น 85 บาท ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมานั้น จนก่อให้เกิดความเสียหายเดือดร้อนต่อสาธารณะชนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและจิตใจที่เกิดจากความเครียดจากค่าใช้จ่ายการจราจร และปัญหาจราจร การฟ้องร้องครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อ ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการขึ้นค่าบริการ โดยให้กรมทางหลวงคิดค่าผ่านทางที่กำหนดบนพื้นฐานของต้นทุนการให้บริการจาก ผู้ใช้บริการสาธารณะ และให้เพิกถอนบันทึกข้อตกลง ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมถึงให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้บรรเทาทุกข์ชั่วคราว เพื่อให้จ่ายค่าบริการโทลล์เวย์ในอัตราเดิมจนกว่าคำพิพากษาจะถึงที่สุด ซึ่งในสัญญาสัมปทานนี้ กลุ่มผู้บริโภคและนักวิชาการด้านกฎหมาย พบว่ามีความฉ้อฉล เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ไม่รักษาผลประโยชน์สาธารณะ ขัดต่อสิทธิและแนวนโยบายแห่งรัฐตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ขัดหลักกฎหมายมหาชน และทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนโดยรวม หลายข้อ เช่น การคืนผลตอบแทนกลับสู่รัฐ กำหนดอยู่ในราคาที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ทรัพย์สินของรัฐตลอดระยะเวลาสัมปทาน 25 ปี คิดเพียงวันละประมาณ 22 บาท หรือ 8,000 บาทต่อปี ขณะที่บริษัทฯมีรายได้โดยเฉลี่ย 4.4 ล้านบาทต่อวัน บริษัทฯ เพิ่มรายได้ให้กับกิจการตนเอง โดยไม่คำนึงถึงปัญหาการจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิต ด้วยการขยายช่องเก็บอัตราค่าผ่านทางยกระดับโทลล์เวย์หลายช่อง ทำให้จำนวนช่องจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิตที่ใช้สำหรับการจราจรทางปกติลดลง เพราะต้องแบ่งทางจราจรดังกล่าวไปใช้สำหรับการขยายช่องเก็บอัตราค่าผ่านทางยกระดับข้างต้น และในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างทางยกระดับบริษัทฯ มิได้ใช้ความระมัดระวังและไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพย์สิน สาธารณะในระยะยาว ส่งผลให้เกิดความเสียหายบนถนนวิภาวดีรังสิตส่วนช่องจราจรด้านในติดกับเสา ตอม่อ และทำให้เกิดความเสียหายบนพื้นผิวจราจรเป็นลักษณะลูกคลื่นตลอดเส้นทาง ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่รถยนต์บนถนนวิภาวดีรังสิต อีกทั้ง ยังใช้งบประมาณของรัฐในการซ่อมแซมบำรุงพื้นผิวจราจรตลอดเส้นทางอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 กระแสในประเทศ

ประมลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 255215 กรกฎาคม 2552จุดจบ “ลวดดัดฟันแฟชั่น” สคบ. สั่งห้ามขายแบบเด็ดขาด “ลวดดัดฟันแฟชั่น” หลังจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ คคบ. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 36 ของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ออกคำสั่งห้ามจำหน่ายลวดดัดฟันแฟชั่นเป็นการถาวรแล้ว พ่อค้า – แม้ค้าคนไหนยังฝืนขายลวดดัดฟันแฟชั่นถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย แจ้งจับได้ทันที มาตรา 36 ของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่าหากพบสินค้าใดต้องสงสัยว่าเป็นอันตราย คณะกรรมการผู้บริโภคสามารถสั่งให้ตรวจพิสูจน์สินค้านั้นได้ ซึ่งในกรณีของลวดดัดฟันแฟชั่นไม่มีผู้ประกอบการรายใดขอทดสอบหรือพิสูจน์สินค้า ซึ่งคณะกรรมการผู้บริโภคพิจารณาแล้วสินค้าดังกล่าวเป็นอันตราย จากคำยืนยันของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกรมวิทยาศาสตร์บริการ หลังจากตรวจพบสารปนเปื้อนโลหะหนัก ทั้งตะกั่ว พลวง ซีลีเนียม โครเมียม และสารหนู รวมทั้งยังมีข้อมูลจาก อย.ว่าวัสดุที่ใช้ทำลวดดัดฟันไม่มีมาตรฐาน และลักษณะการนำมาคล้องที่ฟันด้วยลวดนั้นไม่แข็งแรงมีโอกาสล่วงหลุดลงคอจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 17 กรกฎาคม 2552ทลายโรงงาน “ซีอิ้วปลอม” ส่งขายตลาดนัดกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี หรือ ปศท. ได้ออกกวาดล้างโรงงานผลิตซีอิ้วปลอมและน้ำปลาปลอม ซึ่งสามารถตรวจพบแหล่งผลิตได้ถึง 3 หลาย ในเขตทวีวัฒนาและบางขุนเทียน โดยเจ้าหน้าที่สามารถยึดได้ทั้งอุปกรณ์การผลิตและบรรจุขวดซีอิ้วขาว พร้อมกับซีอิ้วขาวปลอม น้ำปลาปลอม ฝาขวด ขวดเปล่า ฉลากปลอม รวมทั้งสิ้นกว่า 190,000 ชิ้น ซึ่งรวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 9 ล้านบาทการเข้าตรวจค้นจับกุมครั้งนี้เนื่องจากมีตัวแทนบริษัทหยั่นหว่อหยุ่น จำกัด เข้าแจ้งความว่า สินค้าของบริษัทถูกปลอมแปลงออกจำหน่ายตามตลาดนัดและพื้นที่ทั่วไปในราคาถูก สำหรับสินค้าที่ตรวจยึดมานั้นพบว่ามีการวางขายตามตลาดนัดในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสินค้าปลอมเหล่านี้ไม่ได้คุณภาพ มีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ใช้วิธีการใส่เกลือ แต่งสี และปรุงแต่งรสขึ้นมา จากนั้นจะนำมากรอกใส่ขวดขาย หากซื้อมารับประทานอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย 23 กรกฎาคม 2552ชัวร์หรือมั่วนิ่ม? “ไข่ปลอมจากจีน” สร้างความตื่นตกใจให้กับผู้บริโภคไม่น้อย กับข่าวที่มีการพบไข่ไก่ปลอมวางจำหน่ายที่ประเทศจีน ซึ่งแม้จะมีการตรวจสอบยืนยันชัดเจนแล้วว่ายังไม่มีไข่ไก่ปลอมที่เป็นข่าววางขายในประเทศไทย แต่ อย. รับประกันมีการตรวจสอบเรื่องการลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนอย่างเคร่งครัด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ยืนยันยังไม่มีการตรวจพบไข่ไก่ปลอมวางจำหน่ายในประเทศไทย เพียงแต่เป็นกระแสจากการเผยแพร่ภาพของไข่ปลอมส่งต่อกันทางอินเตอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.อาหารระบุไว้ชัดเจนว่าหากมีการปลอมอาหารและจำหน่ายเพื่อบริโภค ให้ถือเป็นอาหารปลอม มีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งในเนื้อข่าวจากจีนระบุว่าไข่ปลอมใช่เจลาตินเป็นส่วนผสมในการทำไข่ขาว ส่วนไข่แดง จะถูกย้อมสีด้วยเกลือหรือเอสเตอร์ของกรดทาร์ทาริค เอซิด ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมถ่ายรูปและฟอกหนัง ขณะที่เปลือกไข่ทำจาก แคลเซียม คาร์บอเนต และพาราฟินแวกซ์ผสมกับน้ำ ซึ่งนอกจากจะไม่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมือนไข่จริงแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย 30 กรกฎาคม 2552โสมสกัด “เต็มพลัง” ห้ามดื่ม-ห้ามขาย ไม่มี อย.อย. ลงพื้นที่ภาคอีสาน จับกุมแหล่งผลิตเครื่องดื่มชื่อ “เต็มพลัง” ที่มีลักษณะเหมือนน้ำสมุนไพรแต่กลับมีรสชาติคล้ายผสมแอลกอฮอลล์ โดยบรรจุอยู่ในขวดขนาดเท่าขวดน้ำปลา ปิดปากขวดด้วยฝาเบียร์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ฉลากที่ขวดเขียนว่าเป็นสินค้าโอท็อปแต่ไม่ได้ระบุวันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ   เมื่อนำมาตรวจสอบพบสารไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) ซึ่งเป็นยาแก้แพ้ที่มีฤทธิ์ข้างเคียงกระตุ้นให้เจริญอาหาร โดยเครื่องดื่มดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตผลิตยา และไม่มีการขอขึ้นทะเบียนตำรับยา แต่อวดอ้างในคำบรรยายสรรพคุณว่าให้พลังงานสูง แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตมีเจตนาผลิตเป็นยา ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา ผู้ใดผลิตมีโทษทางกฎหมาย เตือนร้านค้าห้างวางจำหน่าย เพราะมีความผิดด้วยเช่นกัน โทรคมนาคมไทยยังมีปัญหา ต้องร่วมกันร้องเรียนเพื่อการพัฒนาปัจจุบันปัญหาด้านโทรคมนาคม ถือเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนไม่พอใจให้กับผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง โทรศัพท์มือถือ บัตรเติมเงิน sms สัญญาณโทรศัพท์ รวมทั้งเรื่องของสัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งหน่วยงานที่คอยดูแลแก้ปัญหาในเรื่องนี้ให้กับเราก็คือ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) องค์กรอิสระภายใต้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) โดย นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สบท. ได้เปิดเผยตัวเลขเรื่องร้องเรียนที่มีเข้ามาในหน่วยบริการประชาชนในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน พ.ศ. 2552 มีจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 662 เรื่อง มากกว่าปี 2551 ทั้งปีที่มีการร้องเรียน 334 เรื่อง แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคตระหนักในสิทธิของตัวเองมากขึ้น ซึ่งเรื่องที่ถูกร้องเรียนเข้ามามากที่สุด คือเรื่องคุณภาพของการให้บริการ เช่น ความเร็วอินเตอร์เน็ตต่ำกว่าที่โฆษณา ใช้แล้วสัญญาณหลุดบ่อย และเรื่องปัญหาโทรศัพท์โทรข้ามเครือข่ายติดยาก รวมทั้งเรื่องการแก้ไขปัญหาล่าช้า จำนวน 146 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 22.1 ปัญหาอื่นๆ ที่ถูกร้องเรียนรองลงมามีดังนี้ การคิดค่าบริการผิดพลาด จำนวน 137 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 20.7 การเรียกเก็บเงิน 107 บาท ค่าต่อคู่สายโทรศัพท์หลังถูกตัดสัญญาณ จำนวน 78 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 11.8 และการกำหนดระยะเวลาใช้บริการโทรศัพท์แบบเติมเงินล่วงหน้า จำนวน 75 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 11.3 ซึ่งในจำนวนเรื่องร้องเรียน 662 เรื่อง ทาง สบท. ได้ดำเนินการแก้ไขลุล่วงไปแล้ว 272 เรื่อง สำหรับเรื่องที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องในระดับนโยบาย เช่น การคิดค่าบริการผิดพลาด การกำหนดระยะเวลาใช้โทรศัพท์แบบเติมเงินล่วงหน้า หรือแม้แต่เรื่องความปลอดภัยจากเสารับ-ส่งสัญญาณ ซึ่งต้องมีการหารือเพื่อวางแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนต่อไป หวังว่าการใส่ใจ เข้าใจ และตระหนักในสิทธิของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น คงมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น  ภาคประชาชน ค้านพ.ร.บ.ผู้ประสบภัยรถยนต์ แนะรัฐฯ ตั้งกองทุน-ยกเลิกประกันเอกชนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมคนพิการ และมูลนิธิเมาไม่ขับ เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายผู้ประสบภัยจากรถ พร้อมแนะให้ตั้งกองทุนสินไหมผู้ประสบภัยจากรถแทน เพื่อแก้ปัญหาการบริหารงานซับซ้อน และลดภาระให้กับประชาชน   ตามที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ได้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพิ่มความคุ้มครองหลักในส่วนค่าสินไหม กรณีได้รับบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร จากเดิม 15,000 บาท เป็น 35,000 บาท และกรณีเสียชีวิตก็เพิ่มค่าสินไหมจาก 1 แสนบาท เป็น 2 แสนบาท รวมถึงเพิ่มค่าชดเชยรายวันให้วันละ 200 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 20 วันนั้น แม้มาตรการดังกล่าวดูเหมือนจะเอาใจใส่ผู้ประสบภัยรถยนต์ แต่ในความเป็นจริงเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะแก้ปัญหาพื้นฐานของระบบ ซึ่งขาดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย   จากการสำรวจผู้ประสบภัยรถยนต์ ใน 48 จังหวัดพบว่า ผู้ประสบภัยรถยนต์มากกว่าร้อยละ 55 ไม่ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายฉบับนี้ มีเพียงร้อยละ 42 ที่ใช้สิทธิ โดยผู้ประสบภัยเกือบทั้งหมดประสบปัญหาเมื่อใช้สิทธิ อาทิ การเบิกจ่ายยุ่งยากใช้เวลานาน บริษัทประกันบ่ายเบี่ยงไม่จ่ายค่าทดแทน ทำให้ผู้ประสบภัยต้องใช้สิทธิบัตรทองและประกันสังคมควบคู่ไปด้วยแทน ทั้งนี้ ในปี 2551 บริษัทประกันภัยเอกชน ใช้เงินเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการมากถึง 4,785 ล้านบาท หรือร้อยละ 47 ซึ่งมากกว่าการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่มีเพียง 4,534 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการจ่ายค่าตอบแทนผู้ขายประกัน หรือส่งเสริมการขายที่สูงถึงร้อยละ 45-50 ของค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ทั้งที่เป็นการประกันแบบบังคับ และจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของ คปภ. ดังที่กล่าวมา ทำให้กลุ่มประชาชนรวมตัวกันออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 แก้ไขปี พ.ศ. 2551 โดยให้ประชาชนที่ประสบอุบัติเหตุ รับการรักษาพยาบาลโดยใช้สิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพของตนเอง เพราะประชาชนทุกคนได้รับการคุ้มครองด้วยระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แล้ว และให้ออกกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อจัดตั้งกองทุนสินไหมผู้ประสบภัยจากรถ ที่คุ้มครองกรณีทุพพลภาพและเสียชีวิต โดยใช้งบประมาณในการบริหารกองทุนไม่เกินร้อยละ 5 ซึ่งจะทำให้ประชาชนจ่ายเบี้ยประกันตามกฎหมายจัดตั้งกองทุนฉบับใหม่ประมาณ 200 บาทสำหรับรถยนต์ และ 100 บาทสำหรับรถจักรยานยนต์ เป็นการช่วยลดภาระของประชาชน และทำให้ระบบโดยรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากลดความซ้ำซ้อนของกองทุนประกันสุขภาพต่างๆ และกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 ระวังสาหร่ายปลอม

ช่วงนี้ปลายปี อากาศเริ่มหนาว ถ้าได้กินต้มจืดใส่สาหร่ายร้อนๆ ซักถ้วยคงจะดีว่ามั้ยครับ  อาหารอร่อย หาง่าย ใครก็ชอบ แต่สาหร่ายที่วางขายกันในตลาดทุกวันนี้ก็มีหลายชนิดหลายยี่ห้อ  แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า นั่นคือสาหร่ายจริง....วันที่ 2  พฤศจิกายน  2557 ที่ผ่านมา คุณสายฝน ได้โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ได้ซื้อสาหร่ายอบแห้งห่อหนึ่งมาจากตลาดสดในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อนำมาทำอาหารรับประทานกันในครอบครัว แต่เมื่อนำสาหร่ายมาแช่ในน้ำ กลับพบว่าสาหร่ายดังกล่าวขยายตัวเป็นแผ่น ลักษณะเหนียวๆ เป็นยางยืดคล้ายกับถุงพลาสติกสีดำ แต่ยังคงมีกลิ่นและสีสันคล้ายกับสาหร่ายที่เคยซื้อมารับประทาน  แต่คุณสายฝนรู้สึกผิดปกติจึงไม่นำมาทำอาหารต่อ  เพราะกลัวว่าเมื่อรับประทานไปแล้วจะเป็นอันตราย จึงโทรศัพท์มาร้องเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือ ให้มูลนิธิฯ ช่วยตรวจสอบหน่อยว่ามันเป็นอะไรกันแน่“ปกติที่บ้านก็ซื้อสาหร่ายมากินเป็นประจำ แต่นี่เห็นว่าเป็นยี่ห้อใหม่ ราคาไม่แพง เลยลองซื้อมา ป้าไม่คิดว่าจะเจอของปลอมแบบนี้ ”เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ  ได้สอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และขอให้คุณสายฝนเก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ทั้งหมด   ในกรณีนี้คือ ห่อบรรจุภัณฑ์ของสาหร่าย และตัวผลิตภัณฑ์สาหร่าย เพื่อตรวจสอบฉลาก  และต้องนำตัวอย่างสาหร่ายที่ยังไม่ได้นำมาทำอาหารส่งหน่วยงาน เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ อย. เพื่อให้ตรวจสอบว่าเป็นสาหร่ายปลอมหรือไม่   และเบื้องต้นพบว่าบรรจุภัณฑ์ของสินค้าไม่มีการรับรองจากทาง อย. ไม่มีแหล่งที่ผลิตสินค้า ผู้นำเข้าด้วยตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522  หากพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ผู้ประกอบการเข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 6 (10)  มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีลักษณะเป็นอาหารปลอม ผู้ประกอบการเข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 25 (2) มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000  บาท ถึง 100,000  บาท ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลสองด้าน เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ ฯ  จึงประสานไปยังศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดแม่ฮ่องสอน และอำเภอแม่สะเรียง เพื่อลงพื้นที่ซื้อตัวอย่างสาหร่ายยี่ห้อดังกล่าวในตลาดสดอำเภอแม่สะเรียงและอำเภอใกล้เคียงว่า สินค้ายังมีขายอยู่หรือไม่ เพื่อนำมาตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วยจึงขอให้ผู้บริโภคต้องมีความตระหนักถึงความปลอดภัยด้านอาหารด้วยเช่นกัน การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารแต่ละชนิดควรต้องดูสินค้าที่มีฉลากภาษาไทยระบุชื่ออาหาร ชื่อบริษัทผู้ผลิต/ผู้นำเข้า สถานที่ตั้ง ปริมาณสุทธิ วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุชัดเจนอย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 เรื่องพบสาหร่ายปลอมที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน กลายเป็นข่าวฮือฮา ลงหน้าหนึ่งในสื่อต่างๆ รวมถึงโซเชียลมีเดียเกือบทุกที่ โดยมีข่าวว่าสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) จะลงไปตรวจสอบสินค้าในอำเภอแม่สะเรียง ดังนั้นผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายของปลอมจึงไหวตัวทันเก็บสินค้าออกจากตลาดไปทั้งหมด ก่อนที่พี่น้องศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดจะลงไปเก็บตัวอย่างสินค้านั้นผลพิสูจน์เบื้องต้นออกเมื่อ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เผยผลตรวจสอบสาหร่ายดังกล่าว(ที่เป็นข่าวในโซเชียล)  พบว่าไม่ใช่สาหร่ายปลอม หลังชาวบ้านแม่ฮ่องสอนร้องเรียนให้ตรวจสอบ ยันเป็นเซลล์สาหร่ายชัด ไร้พลาสติกปลอมปน ส่วนความเหนียวขึ้นอยู่กับสายพันธุ์สาหร่าย คาด 2 สัปดาห์ รู้ผลตรวจปนเปื้อนโลหะหนักหรือไม่ ย้ำมีความผิดฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับ 3 หมื่นบาทนพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า “ กรณีชาวบ้าน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร้องเรียนต่อสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) แม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์สาหร่ายยี่ห้อหนึ่ง หลังพบซื้อมาประกอบอาหารแล้วมีความผิดปกติ เหนียวคล้ายกับพลาสติก ว่า เบื้องต้น สสอ.แม่สะเรียงได้ตรวจสอบสาหร่ายดังกล่าวแล้ว โดยการส่องกล้องจุลทรรศน์ พบว่า เห็นเซลล์สาหร่ายชัดเจน ส่วนที่มีลักษณะเหนียวคล้ายพลาสติกนั้นขึ้นอยู่ที่พันธุ์ของสาหร่าย เพราะสาหร่ายแต่ละสายพันธุ์จะมีลักษณะความเหนียว ความยืดหยุ่นต่างกัน ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถือว่ามีความผิดในเรื่องฉลากไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีชื่อผู้ผลิต และสถานที่ผลิต อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบสถานที่จำหน่ายไม่พบสินค้าดังกล่าวแล้ว เนื่องจากผู้จำหน่ายทราบข่าวจึงส่งสินค้าคืนต้นทางที่รับมาจาก จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง อย. จะตรวจสอบต่อไป ส่วนร้านอื่นๆ ในพื้นที่ก็ไม่พบการจำหน่ายสาหร่ายดังกล่าวเช่นกัน แต่หากผู้ใดจำหน่ายอาหารที่มีฉลากไม่ถูกต้องจะมีโทษปรับ 30,000 บาททั้งนี้สาหร่ายดังกล่าวไม่ใช่สาหร่ายปลอม ซึ่งผู้บริโภคสามารถสังเกตได้โดยนำไปแช่น้ำจะสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าว่าสีของสาหร่ายจะไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากเม็ดสีกระจายไม่เท่ากัน ส่วนขอบไม่เรียบ มีรอยหยัก เนื้อสัมผัสลื่น ไม่แข็งกระด้าง มีกลิ่นคาว และมีความยืดหยุ่น ซึ่งจะขึ้นกับแต่ละสายพันธุ์ของสาหร่าย อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการปนเปื้อนโลหะหนัก จำพวกสารหนู ตะกั่ว และปรอทนั้น ได้นำส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.เชียงใหม่แล้ว คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะทราบผล  ”สุดท้ายข่าวสาหร่ายนี้ แม้ผลการตรวจจะพบว่าไม่ใช่สาหร่ายปลอม อย่างที่หลายคนสงสัยกัน แต่ก็ยังไม่มีผลตรวจสอบใดยืนยันได้ว่า สาหร่ายนี้ปลอดภัยจากสารปนเปื้อนชนิดอื่น เนื่องจากผลิตภัณฑ์สาหร่ายนี้ก็ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลขที่ อย. กำกับไว้ ซึ่งผู้บริโภคต้องมีความระมัดระวังในการบริโภคเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี หากผู้บริโภคพบเห็นการนำเข้าหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สาหร่ายโดยไม่มีฉลากภาษาไทย หรือสงสัยว่าจะเป็นของปลอม สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือ สายด่วน อย. 1556 ได้ทันทีขอขอบคุณข้อมูลสัมภาษณ์ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 ถูกปลอมลายเซ็นสมัครฟิตเนส

ณ สำนักงานชั่วคราว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อาคารเซนจูรี่มูฟวี่ ชั้น 6 ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พวกเราระเห็จเข้ามาปักหลักในสำนักงานชั่วคราวแห่งนี้ได้ประมาณเดือนเศษ หลังจากตึกมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ซอยราชวิถี 7 ถูกไฟไหม้ไปบางส่วนอันเนื่องจากการลอบวางเพลิงในช่วงเหตุการณ์การเมืองชุลมุนคุณปราณีพร้อมลูกสาววัยยี่สิบเข้ามาร้องเรียนกับเราในวันนั้น เธอบอกว่าเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2552 เธอกับบุตรสาวได้ไปเดินเล่นในศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับการชอปอยู่นั้น ได้มีเซลล์ของสถานบริการฟิตเนสแห่งหนึ่ง สมมติชื่อว่าตุ๊ดตู่ฟิตเนสเข้ามาชักชวนให้สมัครเป็นสมาชิก ก็ตามสูตรของนักขายมืออาชีพเขาล่ะ คุยซะไม่มีเนื้อมีแต่น้ำ แต่ก็ได้ผลทำให้สองแม่ลูกเดินตามเข้าไปในฟิตเนสจนได้“ก็ไม่ตั้งใจจะเล่นจริงๆ จังๆ หรอกค่ะแต่เห็นเขาอัธยาศัยดี เขาถามว่าเราจะสมัครเป็นแบบ 6 เดือนหรือ 12 เดือนก็ได้ ก็บอกเขาว่าไม่อยากเล่นนานขนาดนั้น ขอทดลองเล่นสักครั้งได้มั้ย เขาก็บอกว่าได้จ่ายแค่ 2,399 บาท ก็เข้าเล่นได้เลยถ้าเรามีเวลาว่างมา ไม่ต้องสมัครเป็นปีก็ได้”“แล้วเค้าก็เอาใบสัญญาสมัครสมาชิกมาติ๊กมากรอกเองทั้งหมดโดยมีดิฉันกับลูกสาวนั่งดู โดยที่เราไม่ได้เซ็นชื่อในใบสมัครสมาชิกที่อยู่ส่วนหน้า ไม่ได้ให้ข้อมูลเลขบัตรเครดิตเพราะเป็นคนไม่มีบัตรเครดิตใช้อยู่แล้ว แต่ยอมรับว่าได้เซ็นชื่อในเอกสารที่แนบตามหลังใบสมัคร เช่น แบบทบทวนความเข้าใจสำหรับสมาชิกใหม่อะไรทำนองนี้ ส่วนลูกสาวตอนนั้นอายุก็ยังไม่ครบยี่สิบปี เราในฐานะแม่ก็ไม่ได้เซ็นยินยอมอะไรไป แต่ก็เห็นเซลล์เขานั่งติ๊กนั่งกรอกแบบฟอร์มให้ลูกสาวเราด้วยก็คิดว่าเป็นการทำเอกสารเพียงเพื่อให้เราเข้าไปใช้บริการหนึ่งครั้ง”จากนั้นคุณปราณีก็ได้จ่ายเงินค่าเข้าใช้บริการไปคนละ 2,399 บาท โดยได้ใบสำเนาใบสมัครสมาชิกที่ไม่มีลายเซ็นของตัวเองกลับมา หลังจากนั้นก็ได้เข้าไปใช้บริการเพียงหนึ่งครั้งและไม่ได้เข้าไปใช้บริการอีกเลยเพราะคิดว่าตัวเองมีสิทธิเล่นกันเพียงตามที่ได้จ่ายเงินไปเท่านั้น ข้ามเข้าปี 2553 เดือนกุมภาพันธ์มีจดหมายจากตุ๊ดตู่ฟิตเนสแจ้งเชิญชวนให้คุณปราณีสมัครเป็นสมาชิกสัญญาระยะสั้นเวลา 6 เดือนค่าสมัคร 9,000 บาท ที่สำคัญจะมีการเรียกเก็บค่าบริการสมาชิกที่คงค้างอยู่ หากได้เปลี่ยนเป็นสัญญาระยะสั้นนี้คุณปราณีได้รับเอกสารก็งงๆ แต่ไม่ใส่ใจอะไรมากนักเพราะไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปออกกำลังกายในฟิตเนส อีกทั้งยังแพงอีกด้วย จึงไม่ใส่ใจกับหนังสือเชิญชวนฉบับนั้นพอเข้าต้นเดือนมีนาคม 2553 ตุ๊ดตู่ฟิตเนสมีจดหมายเซอร์ไพรส์แจ้งกับคุณปราณีว่ามีหนี้ค้างค่าบริการรายเดือนจำนวน 2 เดือนเป็นเงินจำนวน 4,700 กว่าบาท พร้อมกำชับว่าถ้าอยากแก้ปัญหานี้ก็น่าจะเข้าไปทำสัญญาเป็นสัญญาระยะสั้น 6 เดือน“ดิฉันมั่นใจว่าดิฉันไม่ได้เป็นหนี้เขา และที่ฟิตเนสบอกว่า ไม่สามารถเรียกเก็บเงินบัตรเครดิตจากธนาคารได้ดิฉันก็งงมากค่ะเพราะดิฉันไม่เคยมีบัตรเครดิต”คุณปราณีคิดว่าตุ๊ดตู่ฟิตเนสคงจะเข้าใจผิดหรือส่งจดหมายผิดคนก็เลยเฉยๆ กับจดหมายฉบับนั้นไป ปรากฏว่าถึงเดือนมิถุนายน 2553 เจ้าตุ๊ดตู่ฟิตเนสมีหนังสือรังควานมาอีกฉบับ แต่จดหมายฉบับนี้เล่นซะคุณปราณีอยู่ไม่สุข เพราะแจ้งว่าคุณปราณีมีหนี้ค้างรวมเป็น 11,000 กว่าบาท และหากไม่ชำระหนี้นี้จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจนถึงที่สุด ตัดสินใจหยิบมือถือโทรไปสอบถามที่ฟิตเนสว่าตัวเองเป็นหนี้อะไร“ได้คำตอบว่าเป็นหนี้ค่าบริการฟิตเนสสัญญา 12 เดือน เราก็แปลกใจก็บอกว่าสมัครแค่เดือนเดียวนี่ไม่ใช่ 12 เดือน แล้วของลูกสาวน่ะมีหนี้ด้วยหรือเปล่า”“อ๋อของลูกสาวไม่มีนะคะเพราะไม่ได้เซ็นชื่อสมัคร”“ดิฉันก็ไม่ได้เซ็นชื่อสมัครเหมือนกันนะคะวันนั้น”“มีนะคะลายมือชื่อของคุณพี่อยู่ในใบสมัครชัดเจนค่ะ”คุณปราณีแปลกใจหยิบใบสำเนาใบสมัครสมาชิกที่เก็บไว้ยกขึ้นมาดูในช่องลงชื่อผู้สมัคร/ผู้ซื้อ เห็นแต่ความว่างเปล่า“งั้นช่วยส่งแฟกซ์ใบสมัครมาให้ดูหน่อยได้มั้ยคะ” คุณปราณีอยากรู้ไม่นานเกินรอแฟกซ์ใบสมัครสมาชิกได้มาอยู่ในมือคุณปราณี มันมีลายเซ็นชื่อคุณปราณีชัดเจน แต่เมื่อเพ่งดูนิ่งและนานขึ้น เอ๊ะนี่ไม่ใช่ลายมือของเรานี่ ไม่ได้เรื่องแล้วคุณปราณีรวบรวมเอกสารทั้งหมดที่มีอยู่และเพิ่งได้ แจ้นมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือทันทีแนวทางแก้ไขปัญหาหลังจากสอบถามรายละเอียดกันจนชัดแล้ว และให้คุณปราณีลองช่วยเซ็นลายมือชื่อของตัวเองให้เราดูกันหลายรอบก็พบความผิดปกติจนได้ในลายเซ็นที่ปรากฏในใบสมัครที่ตุ๊ดตู่ฟิตเนสส่งแฟกซ์มาว่ามันมีความผิดเพี้ยนในตัวอักษรหลายจุดแต่เพื่อไม่ให้กระต่ายตื่นตัว เราจึงช่วยร่างจดหมายปฏิเสธหนี้ให้กับคุณปราณีแล้วส่งไปให้กรรมการผู้จัดการของบริษัทตุ๊ดตู่ฟิตเนส เพื่อให้ตรวจสอบว่ามีพนักงานขายคนไหนเล่นไม่ซื่อบ้าง ปรากฏว่ามีโทรศัพท์อ้างว่ามาจากฝ่ายกฎหมายยืนยันให้คุณปราณีต้องชำระหนี้ ไม่งั้นจะดำเนินการฟ้อง คุณปราณีก็บอกว่างั้นก็ฟ้องมาเลย เพราะใจนั้นอยากเห็นบริษัทใช้ใบสมัครที่มีลายเซ็นที่ไม่ใช่ของตนเองถูกแสดงต่อหน้าศาล จะได้ดำเนินการขั้นเด็ดขาดให้โดนโทษอาญาให้เข็ดไปเลย มูลนิธิฯ ก็รออยู่เหมือนกันพร้อมจัดทนายอาสาเข้าช่วยทำคดี แต่จนถึงวันนี้ไม่มีวี่แววว่าตุ๊ดตู่ฟิตเนสจะรังควานมาอีกเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 แบงค์จ่ายเงินให้เช็คปลอม ขอรับผิดครึ่งเดียว

อ่านเรื่องนี้แล้วคุณคงนึกถึงนิทานเรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” คุณโส่ยเป็นผู้มีอันจะกิน ได้รับเลี้ยงเด็กชายคนหนึ่งไว้เป็นลูกบุญธรรมเลี้ยงจนโตเป็นหนุ่ม เฝ้าฟูมฟักรักถนอมและให้ความไว้วางใจเหมือนลูกในไส้ แต่บุญคุณที่ให้ไปกับลูกบุญธรรมดูเหมือนน้ำที่เติมลงในถังที่มีรูรั่วเต็มไปหมด เติมเท่าไหร่ไม่เคยพอ จนสร้างความทุกข์ใจให้คุณโส่ยและครอบครัวตลอดมา ท้ายสุดของจุดแตกหักที่คุณโส่ยไม่อาจให้อภัยได้ เมื่อรู้ว่าลูกบุญธรรมแอบย่องเบาเข้าไปในห้องนอนและไปเปิดลิ้นชักลักขโมยเช็คเปล่าของคุณโส่ยออกไปทีละฉบับๆ หายไปถึง 31 ฉบับ ช่างมีความอุตสาหะกระทำการย่องเบาขยันลักเช็คทั้งกลางวันและกลางคืนในช่วงที่ไม่มีคนอยู่เมื่อคุณโส่ยไปตรวจสอบเงินในบัญชีที่ฝากไว้กับธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรสาคร พบว่ามีเงินหายไปจำนวนมาก หลายกรรม หลายวาระ ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2551ส่วนใหญ่จะหายไปครั้งละ 20,000-30,000 บาท ทุกครั้งล้วนเป็นฝีมือของเจ้าลูกเนรคุณทั้งสิ้น โดยเป็นผู้สวมลายมือปลอมลายเซ็นของคุณโส่ยสั่งจ่ายเงินตามตัวเลขที่กรอกเอาตามอำเภอใจแล้วนำไปขึ้นเงินกับพนักงานของธนาคารเมื่อคุณโส่ยเห็นลายเซ็นไม่ได้มีความเหมือนกับลายเซ็นของตัวเอง ก็เฝ้าถามธนาคารว่าปล่อยเงินออกไปได้อย่างไรถึง 20 ฉบับเป็นเงินกว่า 710,000 บาท นี่หากรู้ความจริงช้ากว่านี้คุณโส่ยอาจต้องสูญเงินเพิ่มอีกหลายแสนแน่เพราะยังมีเช็คที่ถูกลักไปเหลืออยู่ในมือลูกเนรคุณอีก 11 ฉบับคุณโส่ยทั้งช้ำทั้งแค้นเมื่อรู้ความจริง จึงไล่ลูกเนรคุณออกจากบ้านและแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ตำรวจได้ออกหมายจับและสามารถติดตามจับกุมนำตัวลูกบุญธรรมคนนี้มาขึ้นศาลได้ และศาลได้พิพากษาให้ต้องรับโทษจำคุกถึง 22 ปีฐานความผิดปลอมเอกสาร ความผิดใช้เอกสารปลอมและความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 11 ปี และให้ชดใช้ราคาเช็ค 20 ใบเป็นเงิน 300 บาทแก่ผู้เสียหาย ถือเป็นคดีลักทรัพย์เล็ก ๆ แต่โทษสูงมากทีเดียวครับแต่เรื่องนี้ยังไม่จบครับเพราะเงินในบัญชีกว่า 7 แสนบาทที่หายไปจะทำอย่างไร ใครควรรับผิดชอบ ตัวคุณโส่ยหรือธนาคารแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครับซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาออกมาเป็นแนวไว้ตามฎีกาที่ 6280/2538 ว่า จำเลยประกอบธุรกิจธนาคาร การจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งของจำเลยซึ่งต้องปฎิบัติอยู่เป็นประจำ จำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายหรือไม่ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา ทั้งจำเลยจะต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่วๆ ไป การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้นำมาเรียกเก็บเงินไปโดยที่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ ทั้งที่มีตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยกับมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่จำเลย จึงเป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลย เป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์ จำเลยจะยกข้อตกลงยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ตามแนวฎีกานี้มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายเรียกร้องต่อธนาคารเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบธุรกิจที่ดีที่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคก่อนเป็นเบื้องต้น หากมามุขปฏิเสธหรือประวิงเวลาผู้บริโภครายนี้สามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายต่อไปได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 กระแสต่างแดน

ยังไม่พร้อมความพร้อมในการอพยพผู้อยู่อาศัยในบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าเซนได(ซึ่งคาดว่าจะกลับมาใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม) ยังคงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยของญี่ปุ่นทั้งประเทศการสำรวจโดยหนังสือพิมพ์อาซาฮีพบว่า มีสถานพยาบาล 2 แห่งจาก 85 แห่ง และศูนย์พักฟื้น 15 แห่ง จาก 159 แห่งในรัศมี  30 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวเท่านั้นที่เตรียมพร้อมแผนอพยพในกรณีฉุกเฉินถ้ารวมความพร้อมในเขตโรงงานนิวเคลียร์ทั้งประเทศจะพบว่า มีเพียงร้อยละ 34 เท่านั้นจัดทำแผนอพยพแล้ว ในปี 2012 รัฐบาลญี่ปุ่นขยายเขตการเตรียมตัวเมื่อเกิดภัยพิบัติ จากรัศมี 8 – 10 กิโลเมตรเป็น 30 กิโลเมตร และกำหนดให้สถานพยาบาลต่างๆ ระบุสถานที่พักสำหรับคนไข้ เส้นทางการอพยพ รูปแบบการเดินทางขนส่งที่จะใช้ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการอพยพผู้ป่วยและชาวบ้านเหมือนเหตุการณ์ที่เมืองฟุกุชิมะนอกจากนี้ยังกำหนดให้เมืองและหมู่บ้าน 135 แห่งในรัศมี 30 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้าทุกโรง รวบรวมรายชื่อผู้ที่ไม่สามารถอพยพด้วยตนเองได้เอาไว้ด้วย แต่การสำรวจพบว่า 1 ใน 4 ของหมู่บ้านเหล่านี้ยังไม่ได้ทำ ปัจจุบันเตาปฏิกรณ์ปรมาณูทุกตัวในญี่ปุ่นถูกพักงาน แต่บริษัทคิวชู อิเล็กทริก พาวเวอร์ กำลังผลักดันให้เซนไดเป็นโรงงานแรกที่เริ่มใช้งานเตาดังกล่าวอีกครั้ง ภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น และในอนาคตอัน โรงไฟฟ้าทากาฮามาและโรงไฟฟ้าอิคาตะก็จะเริ่มเดินเครื่องเตาเหล่านี้เช่นกัน   ระวัง “ของนอก” อาหารปลอมจากจีนระบาดไปหลายประเทศ จึงไม่แปลกที่เราจะได้ยินข่าวว่าคนจีนก็ไม่ไว้ใจอาหารในประเทศตัวเองผู้ประกอบการหลายเจ้าจึงไม่ยอมพลาดโอกาสจัดหาสินค้าแบรนด์นอกเข้ามาสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการอาหาร “ปลอดภัยและมีคุณภาพ”  นมผงสำหรับทารกเป็นหนึ่งในสินค้าที่ว่า บรรดาผู้ผลิตนมผงยี่ห้อที่ได้รับความน่าเชื่อถือในต่างประเทศต้องกำหนดโควตาการส่งออกไปยังประเทศจีน เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนในประเทศตัวเอง แม้แต่นักท่องเที่ยวที่ถือโอกาสไปหิ้วมาด้วยตนเองก็เริ่มพบอุปสรรค เพราะต้นทางเขาจำกัดจำนวนซื้อ (ฮ่องกงอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนซื้อได้คนละ 2 กระป๋อง ออสเตรเลียให้ซื้อได้คนละ 4 กระป๋อง) โอกาสใหม่สำหรับพ่อค้าหัวใสจึงบังเกิด เขาเอาใจผู้นิยมของนอกด้วยการ “จ้าง” โรงงานในประเทศที่มีชื่อเสียงด้านผลิตภัณฑ์นม อย่างออสเตรเลีย เป็นผู้ผลิตให้ บนกระป๋องมีฉลากที่ระบุว่า “มาจากออสเตรเลีย” และ “ได้รับการรับรองโดยหน่วยงานที่ดูแลผลิตภัณฑ์นมของออสเตรเลีย” แล้วขายออนไลน์ในราคาถูกจนไม่น่าเชื่อขนาดรวมค่าจัดส่งแล้ว นมผงกระป๋องขนาด 1,800 กรัม ราคาประมาณ 600 บาทเท่านั้นมันเป็นสินค้า “จากออสเตรเลีย” ที่คุณหาซื้อไม่ได้ในออสเตรเลียแน่ๆ แล้วก็ได้แต่สงสัยว่ามัน “ผลิตในออสเตรเลีย” จริงหรือเปล่า  อยากรู้ ต้องได้รู้กฎหมายที่กำหนดให้ไม่ต้องมีการติดฉลากอาหารที่มีส่วนประกอบผ่านการดัดแปรพันธุกรรม หรือ  Safe and Accurate Food Labeling Act กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาโดยวุฒิสภาอเมริกันเร็วๆ นี้ร่างกฎหมายนี้มีคนตั้งชื่อให้ว่า DARK Act หรือ Denying Americans the Right–to-Know Act เพื่อประชดที่กฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิที่ผู้บริโภคจะได้รู้ว่ามีอะไรอยู่ในอาหารที่พวกเขารับประทาน Just Label It หนึ่งในองค์กรที่คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวระบุว่า ร้อยละ 90 ของคนที่พวกเขาสอบถาม เห็นด้วยกับการติดฉลาก และยังมีอีกกว่า 200,000 คนที่ลงชื่อออนไลน์ว่าไม่เห็นด้วยกับ “พรบ. มืด” ดังกล่าว ดาราสาวกวินเน็ธ พาลโทรว์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอมาร่วมประท้วงในฐานะคุณแม่ที่ต้องการให้ลูกๆได้สิ่งที่ดีและสมควรได้รู้ว่าเธอกำลังให้พวกเขารับประทานอะไร  คุณแม่ของเธอก็มาด้วยเพราะเชื่อว่ายังมีเรื่องที่ต้องพิสูจน์อีกมากเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารดัดแปรพันธุกรรม ด้านอุตสาหกรรมอาหารอ้างว่า การติดฉลากจะทำให้ผู้บริโภคสับสน แถมยังต้องจ่ายเงินมากขึ้นถึงปีละ 500 เหรียญ (17,500 บาท) ต่อครัวเรือน แถมยังแขวะดาราสาวว่าหาเรื่องเกาะกระแสแก้ตกเทรนด์หรือเปล่า    ปัจจุบัน จีน บราซิล รัสเซีย ออสเตรเลีย ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ รวม 64 ประเทศ มีกฎหมายบังคับการติดฉลากระบุว่ามีส่วนผสมที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรมแล้ว    โดนเรียกคุยหลังจากชาวเน็ตในสิงคโปร์พากันแชร์รูปพนักงานร้าน BreadTalk เทนมถั่วเหลืองยี่ห้อ Yeo’s ลงในขวดแบ่งของทางร้าน ที่ติดฉลากว่า “freshly prepared” (ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าทางร้านทำเองทุกวัน)ทางร้านออกมาขอโทษและหยุดขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว BreadTalk ยอมรับว่าเขาแบ่งนมถั่วเหลืองพาสเจอไรส์ยี่ห้อเย่วอี้มาใส่ขวดขายในร้านจริง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ร้านอาหารนิยมทำ(แต่ร้านอื่นเขาไม่ได้ติดฉลากที่ว่านะคุณ)ร้านให้เหตุผลว่าปกติแล้วขวดเหล่านั้นเป็นขวดสำหรับใส่น้ำผลไม้คั้นสด ไม่ได้ใช้สำหรับนมถั่วเหลือง และจะดูแลไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก  แต่นั่นยังไม่เพียงพอ สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์ CASE – Consumers Association of Singapore บอกว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และเรียกร้านขนมปังเจ้าดังสัญชาติสิงคโปร์ (ซึ่งมีสาขาอยู่ในบ้านเราด้วย) เข้ามาพูดคุยปรับความเข้าใจเนื่องจากฉลากทำให้เข้าใจได้ว่าทางร้านเป็นผู้ผลิตนมถั่วเหลืองเองทุกวัน ซึ่งสอดคล้องกับการมีราคาสูงกว่านมถั่วเหลืองที่เทจากกล่อง ผู้บริโภคจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำดังกล่าวได้   บอลลิวูดลดโลกร้อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้พลังงานมหาศาลและสร้างผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางของทีมงาน นักแสดง การใช้แสง สี เสียง และเอฟเฟคต่างๆ รวมถึงอาหารการกิน ไหนจะวัสดุต่างๆที่นำมาสร้างฉากอีก ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้เกิด “รอยเท้าคาร์บอน” ภาพยนตร์เรื่อง “Aisa Yeh Jahaan” เป็นภาพยนตร์อินเดียเรื่องแรกที่มีการบันทึกข้อมูลรอยเท้าคาร์บอน การถ่ายทำภาพยนตร์ดรามาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเรื่องนี้ สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ 78.47 ตัน คิดจากการใช้พลังงานทั้งทางตรง (ไฟฟ้าที่ใช้) และทางอ้อม (อาหาร การเดินทาง ฯลฯ)  เพื่อเป็นการชดเชยมลพิษที่สร้างขึ้น ผู้สร้างต้องปลูกต้นไม้ทั้งหมด 560 ต้น แนวทางการวัดและจัดการร้อยเท้าคาร์บอนสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ถูกกำหนดขึ้นโดยสมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์ BAFTA ของอังกฤษ และ PGA ของอเมริกา ที่ผ่านมาพบว่าหนังค่ายเล็กๆ จะสร้างคาร์บอนฯประมาณ 100 ตัน แต่ถ้าเป็นหนังฟอร์มยักษ์ ก็อาจสร้างคาร์บอนฯ ได้มากถึง 10,000 ตันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของลอนดอนเจ้าเดียวก็ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 125,000 ตัน ต่อปี (เทียบเท่ากับปริมาณจากบ้าน 24,000 หลังเลยทีเดียว)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 กระแสต่างแดน

ได้เวลาตัดสัญญาณ ปัจจุบันประเทศเคนยามีผู้ใช้มือถืออยู่ประมาณ 29 ล้านคน แต่มือถือที่ชาวบ้านร้านตลาดถือกันอยู่นั้น มีไม่น้อยที่เป็น “เครื่องปลอม” หรือเครื่องที่หมายเลขอีมี่ไม่ปรากฏในฐานข้อมูลระหว่างประเทศ พูดง่ายๆ คือมือถือประเภทที่แอบหิ้วเข้ามาขายกันเองจากจีน ไนจีเรีย หรือ อัฟริกาใต้นั่นแหละ รัฐบาลเคนยาตัดสินใจเด็ดขาด ให้บรรดาผู้ประกอบการทั้ง 4 เจ้า ระงับการให้สัญญาณกับ ”เครื่องปลอม” ที่ว่านั้นทันทีหลังเที่ยงคืนวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา (ข่าวบอกว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลประกาศเลื่อนเวลาการตัดสัญญาณไปแล้ว 3 ครั้ง) รัฐบาลเขาบอกว่า “เครื่องปลอม” นั้นเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติและของบุคคลทั่วไป เพราะโทรศัพท์พวกนี้ทำให้ประสิทธิภาพของเครือข่ายลดลง และยังอาจถูกนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมด้วย ผู้ประกอบแต่ละรายมีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป ซาฟารีคอมมีลูกค้าได้รับผลกระทบถึง 670,000 คน ตามด้วยแอร์เทลเคนยา 100,000 คน เทเลคอมออเรนจ์ 20,000 คน และยูโมบายอีก 45,000 คน ทางออกของผู้บริโภคคือต้องไปซื้อเครื่องใหม่มาใช้ก่อนกำหนดตัดสัญญาณดังกล่าว   รวมๆ แล้ว มีเลขหมายที่ถูกตัดสัญญาณทั้งหมด 800,000 เลขหมาย (รวมซิมการ์ดแบบไม่จดทะเบียนด้วย) ทั้งนี้ กสทช. ของเคนยา บอกว่าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการตัดสัญญาณให้กับผู้ประกอบการ แต่ไม่ได้บอกว่าผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยอย่างไร หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่โทรศัพท์ “ปลอม” สามารถผ่านชายแดนเข้ามาขายในประเทศได้ ก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐเช่นกัน เพราะผู้บริโภคทั่วไปจะไปตรวจสอบหมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์ด้วยตนเองได้อย่างไรกัน บอลจบ คนยังจบไม่ได้ ชาวฉลาดซื้อคงยังจำกันได้ว่าเมื่อ 2 ปีก่อน ทีมนักเตะจากสเปนได้ตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลโลก (World Cup 2010) ไปครอง สำหรับพวกเราที่นี่พอได้รู้ว่าใครเป็นแชมป์ก็บ้านใครบ้านมัน แต่จนถึงวันนี้ มีผู้บริโภคชาวสเปนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าเกมนี้ยังไม่จบ คนเหล่านี้คือผู้บริโภคที่ซื้อโน้ตบุ้ค และเครื่องรับโทรทัศน์ ยี่ห้อทอม ทอม และโตชิบา รุ่นที่โฆษณาในช่วงก่อนและขณะที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศอัฟริกาใต้ว่า “ถ้าสเปนได้แชมป์ พวกเขาจะสามารถมาขอเงินคืนได้ทันที” ผ่านไปแล้ว 2 ปี บางคนก็ยังไม่ได้เงินคืน แต่ได้รับคำตอบจากบริษัททั้งสองแห่งว่า เป็นเพราะพวกเขาไม่ได้เข้าไปลงทะเบียนในเว็บไซต์หลังการซื้อ (แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้บอกไว้ชัดเจนในโฆษณา) องค์กรผู้บริโภค FACUA ของสเปนบอกว่าขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาท่วมท้น และทีมกฎหมายขององค์กรก็กำลังเตรียมที่จะฟ้องบริษัทอยู่ เนื่องจากโฆษณาที่ว่านั้นเข้าข่ายทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด ซึ่งเป็นตามมาตรา 5 ของ พรบ.การค้าที่เป็นธรรม ของสเปน ความจริงโฆษณานี้ก็มีในประเทศอื่นในยุโรปด้วยเช่นกัน ทอม ทอม ทำโฆษณาใน 8 ประเทศ ในขณะที่โตชิบาก็โฆษณาใน เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี สเปน และโปรตุเกส แต่ไม่เป็นปัญหาที่ประเทศอื่นเพราะประเทศเหล่านั้นไม่ได้แชมป์   อาหารกลางวันเยอรมนี เดือนที่แล้วนักเรียนกว่า 11,000 คนในเยอรมนีตะวันออก (เบอร์ลิน แบรนเดนเบิร์ก แซ็กโซนี เทอริงเกีย)  ต้องล้มป่วยลงด้วยอาการอาหารเป็นพิษ สาเหตุเบื้องต้นคาดว่าน่าจะมาจากชุดอาหารกลางวันที่มีสตรอเบอรี่แช่แข็งเป็นของหวานอยู่ด้วย ระบบอาหารกลางวันที่โน่นเขาใช้การจ้างบริษัทเอกชนจัดส่งให้ตามโรงเรียน สถาบันควบคุมและป้องกันโรค สถาบันประเมินความเสี่ยง และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของที่นั่น สันนิษฐานว่าโรงเรียนที่มีเด็กป่วยเหล่านี้ น่าจะได้รับอาหารจากบริษัทที่ชื่อ โซเด๊กโซ เหมือนกัน  และสาเหตุน่าจะมาจากไวรัสที่แฝงตัวมาในอาหาร อย่าง โนโรไวรัส โซเด๊กโซ ยืนยันว่ามีเพียงร้อยละ 5 ของโรงเรียนที่เขาส่งอาหารให้เท่านั้นที่มีนักเรียนมีอาการอาหารเป็นพิษ แต่ข่าวล่าสุด ระบุว่าโซเด๊กโซยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด (แต่ไม่ได้เปิดเผยตัวเลข) เนื่องจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากบริษัทที่มารับช่วงการผลิตนั่นเอง นายกผู้ประกอบการอาหารโรงเรียนแห่งเบอร์ลินและแบรนเดนเบิร์ก บอกว่าเขาไม่แปลกใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะราคาวัตถุดิบแพงขึ้นในขณะที่งบช่วยเหลือที่รัฐบาลให้กับพวกเขาก็น้อยลง เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการ 6 รายร่วมกันหยุดส่งอาหารตามโรงเรียนจนกว่าเทศบาลจะอนุมัติเพิ่มเงินช่วยเหลือ งานวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ก็ระบุว่ารัฐจะต้องเพิ่มงบประมาณอีกอย่างน้อย 1 ยูโรต่อหัว จึงจะสามารถมีอาหารกลางวันที่ดีตามมาตรฐานของสมาคมโภชนาการแห่งเยอรมนีให้กับเด็กนักเรียนได้ ปัจจุบันงบอาหารกลางวันอยู่ที่ประมาณ 2.50 ยูโรต่อหัว (99 บาท) แต่เขาบอกว่าถ้าจะให้ดีต้องมีถึง 3.17 – 4.25 ยูโรต่อหัว (126 – 168 บาท)     นายก (อียิปต์) หยุดได้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าต่างประเทศของอียิปต์ กำลังเล็งจะรื้อฟื้นการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 10 ของ พรบ. คุ้มครองการแข่งขันและป้องกันการผูกขาดทางการค้าขึ้นมาอีกครั้ง กลุ่มประชาชนต่อต้านการขึ้นราคาสินค้า (Citizens Against Price Rise Association CAPRA) สนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าวเต็มที่ เพราะกฎหมายดังกล่าวระบุให้นายกรัฐมนตรีมีสิทธิกำหนดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ ในยามจำเป็นหรือเมื่อประเทศเกิดวิกฤติ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าอียิปต์จะกลับไปใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบเผด็จการ ที่กำหนดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทุกชนิดเหมือนในอดีต เขาแค่ต้องการจัดระเบียบการค้าและป้องกันผู้บริโภคจากผู้ค้าบางรายที่อาศัยช่วงชุลมุนมาผูกขาดราคาสินค้า หลังเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 และเหตุการณ์ต่อเนื่องหลังจากนั้น กลุ่ม CAPRA บอกว่ารัฐบาลปฏิบัติต่อนักธุรกิจพวกนี้ราวกับว่าพวกเขาเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นหลักและใส่ใจความเดือดร้อนของคนในสังคม ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วผู้ค้าเหล่านั้นไม่ได้มีความรับผิดชอบถึงระดับนั้น ข่าวบอกว่า ราคาสินค้าที่สูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทานแต่อย่างใด แต่เป็นผลพวงจากการคอรัปชั่นในช่วงการปกครองของนายมูบารัคนั่นเอง    ยักษ์ใหญ่ยอมแล้ว ในที่สุดห้างยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของอังกฤษอย่างเทสโก้ก็ยินยอมที่จะใช้ฉลากอาหารระบบไฟจราจร เหมือนห้างอื่นๆ ในประเทศเสียที เทสโก้บอกว่าได้ทำการสำรวจความเห็นของลูกค้าแล้วพบว่า พวกเขาชอบฉลากแบบไฟจราจรที่แสดงให้เห็นกันไปเลยว่าอาหารดังกล่าวมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และเกลือ เกินไปหรือไม่ ในขณะเดียวกันก็ชอบฉลากแบบ GDA ที่ให้ข้อมูลละเอียดเป็นร้อยละด้วย เลยตัดสินใจจะใช้ฉลากระบบ “ลูกครึ่ง” ที่มีทั้งสองอย่างด้วยกัน ความจริงแล้ว ก่อนหน้านี้ห้างอื่นๆ (Sainsbury, Mark & Spencer, Asda) เขาเปลี่ยนมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว อีกสองห้างได้แก่ Lidl และ Aldi ก็เปลี่ยนไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน และข่าวล่าสุดห้าง Morrisons ก็เปลี่ยนแล้วเช่นกัน องค์กรมาตรฐานอาหารของอังกฤษ ระบุว่าฉลากไฟจราจร จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพและจัดการไขปัญหาโรคอ้วนของคนอังกฤษได้ดีที่สุด ข้ามฝั่งมาดูทางอเมริกาเขาบ้าง บริษัทน้ำอัดลม โค้ก เป๊ปซี่ และดร.เปปเปอร์ กำลังจะเปิดตัวตู้ขายน้ำอัดลมอัตโนมัติที่จะแจ้งปริมาณแคลอรี่ ให้ทราบก่อนลูกค้าจะตัดสินใจซื้อ โดยจะเริ่มจากตึกราชการในเมืองชิคาโก และซานอันโตนีโอ และจะใช้ตู้ดังกล่าวทั่วประเทศในปี 2556

อ่านเพิ่มเติม >