ฉบับที่ 200 โดนสวมรอยรูดบัตรเครดิต

ผู้ที่ถือบัตรเครดิตทุกคน อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ในการบอกข้อมูลส่วนตัวให้คนอื่นทราบ เพราะไม่แน่ว่าเราอาจโดนมิจฉาชีพสวมรอย แอบอ้างเป็นผู้ถือบัตรและไปรูดซื้อสินค้า ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ได้คุณโชนถูกชักชวนทางโทรศัพท์ให้ทำประกันคุ้มครองรถยนต์ โดยเซลล์ที่อ้างว่ามาจากศูนย์บริการใหญ่ แจ้งว่าจะส่งรายละเอียดของกรมธรรม์มาให้เขาตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ ที่บ้าน และหากเขาตกลงก็จะขอนัดมาพบที่บ้านเพื่อถ่ายรูปรถยนต์และชำระค่าใช้จ่าย ซึ่งคุณโชนได้สอบถามกลับไปว่าสามารถชำระด้วยบัตรเครดิตได้หรือไม่ เนื่องจากเขาสนใจประกันภัยดังกล่าวอยู่แล้ว ทำให้เซลล์ตอบกลับมาว่าสามารถทำได้ พร้อมขอเลขบัตรเครดิต 12 หลักและวันหมดอายุของบัตรเขาไว้ด้วย คุณโชนเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร จึงให้ข้อมูลบัตรตามที่เซลล์ขอไป อย่างไรก็ตามเหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างที่เขาคิด เมื่อภายหลังมีข้อความแจ้งเตือนจากบัตรเครดิตมาว่าได้มีการตัดยอดประกันไปแล้ว ทำให้เขาตกใจมาก เพราะทราบอยู่แล้วว่าบัตรดังกล่าวยอดวงเงินเต็มคุณโชนจึงโทรศัพท์ไปสอบถามที่ Call Center ของบัตรเครดิต ซึ่งแจ้งว่าก่อนหน้านี้เขาได้โทรศัพท์เข้ามาเพื่อขอเพิ่มวงเงินชั่วคราวและรูดชำระค่าประกันไป เขาจึงแจ้งว่าตนเองไม่เคยโทรศัพท์เข้ามาขอเพิ่มวงเงินใดๆ และสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเซลล์ขายประกันคนดังกล่าว มาแอบอ้างเป็นเขาและรูดบัตรไปโดยวิสาสะ ทำให้เขาโทรศัพท์ไปที่บริษัทประกันรถ เพื่อขอยกเลิกการชำระเงินดังกล่าว แต่ไม่สามารถทำได้ จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจ เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน พร้อมนำใบแจ้งความ ไปขอเทปบันทึกการสนทนาระหว่างพนักงานบัตรเครดิต กับเซลล์ขายประกันที่แอบอ้างเป็นเขา มาขอเพิ่มวงเงินและรูดชำระค่าประกันไป นอกจากนี้แนะนำให้ผู้ร้องทำจดหมายปฏิเสธการชำระเงิน โดยทำเป็นไปรษณีย์ตอบรับ ส่งไปยังธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตและธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขอปฏิเสธการชำระเงิน เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้เป็นคนกดเงินดังกล่าวไป และให้ธนาคารตรวจสอบดูอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในกรณีนี้หากพิสูจน์ได้ว่า ผู้ร้องไม่ได้กดเงินดังกล่าวด้วยตัวเองไปจริง ก็สามารถเรียกร้องเงินคืนได้ อย่างไรก็ตามเรื่องราวจะคืบหน้าต่ออย่างไร ยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >


ศาลยกฟ้องคดีบัตรเครดิต เหตุเอาเปรียบผู้บริโภค เตือนอย่ายอมจ่ายหนี้ หากเลิกสัญญาแล้ว

ศาลยกฟ้องคดีธนาคารฟ้องผู้บริโภค ไม่ชำระค่าบัตรเครดิต เหตุใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ด้านศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะอย่ายอมจ่ายหนี้บัตรฯ หากขอยกเลิกสัญญาในเวลากำหนดกรณีที่มีผู้บริโภคถูกธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ฟ้องคดี จากการค้างชำระค่าบัตรเครดิต หลังจากรูดซื้อบริการคอร์สเสริมความงาม และภายหลังได้ทำเรื่องขอยกเลิกการใช้บริการคอร์สเสริมความงามแล้วนั้นนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ กรณีใช้บัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ ซื้อคอร์สบริการเสริมความงามจากสถานเสริมความ ซึ่งเป็นคอร์สทำหน้าจำนวน ๑๐ ครั้ง ในราคา ๕๐,๐๐๐ บาทโดยผู้ร้องได้ทดลองทำหน้า ๑ ครั้ง และครั้งแรกเป็นการทดลองทำให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขณะที่ทำก็เกิดอาการแพ้ คันที่ใบหน้าและรอบดวงตา หลังจากนั้นก็ไปรักษาอาการแพ้ที่โรงพยาบาล ต่อมาจึงได้แจ้งสถานเสริมความงามเพื่อขอยกเลิกสัญญาในการใช้บริการ และแจ้งธนาคารฯ ให้ระงับการชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิตนางนฤมล เล่าต่อไปว่า ต่อมาทางธนาคารฯ ยื่นเรื่องฟ้องผู้บริโภครายนี้ต่อศาล จากการค้างชำระค่าบริการคอร์สเสริมความงาม ทั้งที่ผู้บริโภคส่งเรื่องไปให้ธนาคารฯ ระงับการจ่ายเงินแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ศาลพิพากษาว่า ธนาคารฯ กระทำโดยเอาเปรียบผู้บริโภค และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงให้ผู้ร้องไม่ต้องชำระค่าบริการของสถานเสริมความงาม และให้ยกฟ้อง“ผู้บริโภคมักถูกฟ้องคดี เวลาเอาบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้าหรือบริการ แล้วผู้ประกอบการผิดสัญญา พอบอกเลิกสัญญาไปแล้ว ก็ไม่ได้แจ้งกับธนาคารเจ้าของบัตรฯ หรือแจ้งไปแล้วก็ไม่ดำเนินการให้ ทั้งที่ธนาคารฯ ควรจัดการปัญหานี้ให้กับผู้บริโภคด้วย”  นางนฤมล กล่าวต่อว่า การที่ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ได้แปลว่าผู้บริโภคต้องยินยอมใช้หนี้ที่เกิดขึ้น ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ปี พ.ศ.๒๕๔๒ ข้อ ๓ (๗) (ข) ระบุว่า ถ้าผู้บริโภคไม่ได้รับสินค้า หรือบริการเป็นไปตามที่ตกลงไว้ มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ภายใน ๓๐ - ๔๕ วันแล้วแต่กรณีหัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะนำต่อไปว่า เมื่อเลิกสัญญากับผู้ประกอบการแล้ว ผู้บริโภคต้องแจ้งให้ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตระงับการจ่ายเงินให้กับคู่กรณีด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องทำทุกอย่างให้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐาน หากมีการฟ้องคดีเกิดขึ้น“อย่างกรณีนี้ ผู้บริโภคใช้บริการแล้วแพ้ ใช้บริการไม่ได้ หรือใช้บริการแล้วไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ สามารถยกเลิกสัญญาได้ตามสิทธิของผู้บริโภค และเมื่อผู้ร้องได้แจ้งกับธนาคารเจ้าของบัตรฯ แล้ว แต่ธนาคารฯ ยังจ่ายค่าบริการให้สถานเสริมความงามไป ทั้งที่ยกเลิกสัญญาแล้ว ดังนั้น ธนาคารฯ จะมาเรียกเก็บเงินกับผู้บริโภคไม่ได้” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าวทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ข้อ ๓ (๗) (ข) ระบุว่า ไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้บริโภคที่จะขอยกเลิกการซื้อสินค้า หรือรับบริการภายในระยะเวลา ๔๕ วัน นับแต่วันที่สั่งซื้อหรือขอรับบริการ หรือภายในระยะเวลา ๓๐ วัน นับแต่วันถึงกำหนดมอบสินค้า หรือบริการ ถ้าผู้บริโภคพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้รับสินค้า หรือบริการ หรือได้รับแต่ไม่ตรงตามกำหนด ไม่ครบถ้วน ชำรุดบกพร่องดาวน์โหลดตัวอย่างจดหมายบอกเลิกสัญญา คลิก!ข้อมูลนี้เป็นกรณีตัวอย่างจากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้เขียนมีความตั้งใจกระตุ้นเตือนและให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิทธิของตนที่พึ่งทำได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามก่อนการตัดสินใจซื้อบริการใดๆ ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 เมื่อถูกขโมยบัตรเครดิต

แม้บัตรเครดิตสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้า แต่ก็สามารถสร้างปัญหาใหญ่ได้ หากเราถูกขโมยบัตรไปใช้และโดนทวงหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องทั้ง 2 รายนี้เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นกับคุณสมหญิง เธอร้องเรียนมาว่าถูกคนร้ายขโมยบัตรเครดิตที่ทำไว้กับห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งไปใช้ ซึ่งนำไปรูดซื้อสินค้ารวมมูลค่ากว่า 10,000 บาท ส่วนเหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นกับคุณสมชายที่พกบัตรเครดิตติดตัวไปด้วยขณะเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้ใช้รูดซื้อสินค้าใดๆ แต่เมื่อกลับมาก็พบว่ามีใบแจ้งหนี้จากบัตรเครดิตดังกล่าวเป็นจำนวนเงินกว่า 100,000 บาท โดยเป็นยอดการใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าในประเทศที่เขาได้ไปเที่ยวมา แนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้ผู้ร้องทั้ง 2 รายเข้าแจ้งความ และแจ้งไปยังธนาคารของบัตรเครดิตเหล่านั้นภายใน  24 ชม. นับตั้งแต่ทราบว่าถูกขโมยบัตรไปใช้ พร้อมส่งหนังสือปฏิเสธการชำระเงินจำนวนดังกล่าวไปด้วย นอกจากนี้ต้องขอหลักฐานลายมือชื่อในการซื้อสินค้า เพื่อนำมาเป็นหลักฐานประกอบ โดยสามารถส่งพิสูจน์ลายมือได้ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคาร B ชั้น 9 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 หรือโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 02-1439112 รวมทั้งรูปจากกล้องวงจรปิดของร้านค้าในวันที่มีการซื้อสินค้าดังกล่าวด้วย ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร ศูนย์ฯ จะติดตามความคืบหน้าต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 ปฏิเสธการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต

เมื่อเราซื้อสินค้าหรือบริการด้วยการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตไปแล้ว แต่พบว่าสินค้าหรือบริการดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่พนักงานขายแจ้งไว้หรือมีการชำรุดบกพร่อง มีวิธีที่ดีกว่าการทำใจยอมรับคือ การปฏิเสธชำระเงินกับบัตรเครดิตนั้น ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมใจถูกชักชวนให้เข้ารับบริการคอร์สนวดหน้า จากสถาบันเสริมความงามแห่งหนึ่ง ซึ่งตอนแรกเธอได้ปฏิเสธไป เพราะรู้ว่าตนเองเป็นคนผิวแพ้ง่าย แต่พนักงานกลับยืนยันว่าการนวดหน้าดังกล่าว จะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้แน่นอน รวมทั้งตอนนี้จัดโปรโมชั่นให้ทดลองทำฟรีได้ 1 ครั้ง เมื่อถูกชักจูงใจเช่นนี้เธอจึงตกลงสมัครเข้าคอร์สดังกล่าว ซึ่งสามารถเข้ารับบริการได้ 10 ครั้ง ในราคา 50,000 บาทและชำระเงินผ่านบัตรเครดิต อย่างไรก็ตามเมื่อเธอเข้ารับบริการทดลองนวดหน้าฟรี กลับพบว่ามีอาการคันรอบๆ ใบหน้าและดวงตา จนต้องขอให้พนักงานหยุดให้บริการ และไม่นานก็มีผื่นขึ้นที่ใบหน้าของเธอ รวมทั้งมีอาการคันมากขึ้น ทำให้ต้องรับประทานยาแก้แพ้ เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสมใจจึงไม่ต้องการกลับไปใช้บริการที่สถาบันเสริมความงามนั้นอีก เพราะเชื่อว่าอาการแพ้ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการนวดหน้า เธอจึงส่งจดหมายไปยังสถาบันเสริมความงาม เพื่อขอยกเลิกสัญญาการเข้ารับบริการ และโทรศัพท์ไปที่บริษัทบัตรเครดิตที่ได้ชำระเงินไป เพื่อขอระงับการชำระเงิน ซึ่งพนักงานก็แจ้งว่าสามารถทำได้ โดยให้ส่งเอกสารปฏิเสธการชำระเงินมาทางแฟกซ์ แม้เธอจะโล่งใจว่าทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้ว แต่กลับพบว่ามีบิลแจ้งยอดให้ชำระเงินค่าคอร์สดังกล่าว และเมื่อโทรศัพท์ไปสอบถามก็ได้รับคำตอบว่า การยกเลิกสัญญาต้องให้ทางร้านเป็นผู้บอกเลิกเอง อย่างไรก็ตามคุณสมใจก็ไม่ยินยอมชำระค่าบริการดังกล่าว และส่งเรื่องมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหา  เบื้องต้นศูนย์ฯ ช่วยเป็นตัวกลางการเจรจา ระหว่างผู้ร้องให้เจรจากับสถาบันเสริมความงามดังกล่าว ซึ่งผู้ร้องต้องการให้บริษัทคืนค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ทางบริษัทปฏิเสธการคืนเงิน โดยยื่นข้อเสนอให้แทน คือ 1. สามารถโอนย้ายสิทธิให้ผู้อื่นได้ หรือ 2. เปลี่ยนแปลงคอร์สเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และ 3. หากต้องการยกเลิกคอร์สจะถูกหักเงินร้อยละ 70 ของราคาคอร์ส ตามสัญญาที่ระบุไว้ อย่างไรก็ตามผู้ร้องไม่ต้องการข้อเสนอใดๆ เพราะเธอได้บอกเลิกสัญญาการใช้บริการไปแล้ว ด้านบริษัทจึงขอเก็บข้อเสนอผู้ร้องกลับไปพิจารณาอีกครั้ง ถัดมาศูนย์ฯ ได้แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นลายลักษณ์อักษร ไปยังบริษัทบัตรเครดิต เนื่องจากตามกฎหมาย ผู้บริโภคมีสิทธิขอยกเลิกการซื้อสินค้าหรือบริการ ภายในเวลา 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สั่งซื้อหรือขอรับบริการ หรือภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่มีการส่งมอบสินค้าหรือบริการ ซึ่งถ้าบริโภคพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้รับสินค้าหรือไม่ได้รับบริการ หรือได้รับแต่ไม่ตรงตามจุดประสงค์ ไม่ครบถ้วนหรือชำรุดบกพร่อง อย่างไรก็ตามทางบริษัทบัตรเครติตยังคงติดตามทวงหนี้อยู่ และที่สุดก็มีการฟ้องดำเนินคดีกับผู้ร้อง ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายด้วยการเป็นทนายความให้ และภายหลังศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องไป ทั้งนี้สำหรับใครที่ต้องการปฏิเสธการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ควรทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรบอกเลิกสัญญา โดยส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนตอบรับไปยังบริษัทดาวน์โหลดเอกสารตัวอย่างบอกเลิกสัญญา คลิกที่นี่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2553 2 ธันวาคม 2553นักวิจัยเตือน ผักไฮโดรโปนิกเสี่ยงมะเร็ง ม.เกษตรศาสตร์ เปิดเผยงานวิจัยที่ชวนตกใจ ระบุผักที่ไฮโดรโปนิก รับประทานมากอาจเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็ง จากไนเตรทที่สะสมมากับผัก น.ส.พัชราภรณ์ ภู่ไพบูลย์ นักวิจัยจากฝ่ายเครื่องมือและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกับทีมวิจัย ร่วมกันศึกษาการสะสมไนเตรทในพืชผักที่มากเกินไป ซึ่งหากรับประทานเข้าไปไนเตรตจะไปรวมตัวกับสารเหนี่ยวนำทำให้เกิดมะเร็ง  ผลการศึกษาพบว่าผักที่ปลูกในน้ำยาไฮโดรโปนิกมีแนวโน้มการสะสมไนเตรตสูงสุด เพราะวิธีปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกมีการเติมน้ำยาให้พืชเจริญเติบโตมากเกินความต้องการตามธรรมชาติของผัก โดยผักคะน้าไฮโดรโปนิกมีค่าเฉลี่ยของไนเตรตสูงที่สุด รองลงมาคือ ผักบุ้ง  ดังนั้นจึงอยากขอให้เกษตรกรและผู้ปลูกผักไฮโดรโปนิกลดปริมาณการใส่น้ำยาหรือเติมน้ำเปล่าให้มากขึ้น ผู้บริโภคควรเลือกผักไฮโดรโปรนิกจากเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ส่วนการปลูกผักแบบอื่นๆ ก็ไม่ควรใส่ปุ๋ยมากเกินไป -------------------------------------------------------------------------------------------------------   16 ธันวาคม 2553ส่งเสริมสมุนไพรใช้รักษาโรคทั่วหน้า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคมากขึ้น โดยในปี 2554 นี้ จะผลักดันนโยบายด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพของสถานพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ และให้มีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการแพทย์แผนไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุแพทย์แผนไทยที่จบปริญญาตรี ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 1,000 คน ไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ยังไม่นับรวมแพทย์พื้นบ้านทั้งที่ขึ้นทะเบียนไว้และได้รับใบประกอบโรคศิลป์แล้วอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องยาและการนวดเป็นหลัก  นอกจากนี้ยังเตรียมตั้งโรงงานสมุนไพรแห่งชาติ เป็นศูนย์กลางวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาแผนไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะช่วยทำให้สมุนไพรไทยได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อนำมาผลิตเป็นยาหรืออาหารเสริมอย่างถูกต้องและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น -----------------------------------------------------------------------------------------------------   15 ธันวาคม 2553โฆษณานมเด็กเกินจริงมีสิทธิโดนแบน ถึงเวลาคุมเข้มโฆษณาอาหารสำหรับทารก เมื่อที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เตรียมผลักดัน พ.ร.บ.อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ตรวจสอบการโฆษณานมผงในเด็ก 0-2 ปี เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติคุณแม่ยุคใหม่ ให้หันกลับมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น  พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการชมรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วย “นมแม่” ในประเทศไทยลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5.4 เนื่องจากมีการโฆษณาและแจกตัวอย่างนมผงในโรงพยาบาลจำนวนมาก ซึ่งการโฆษณานมผงสำหรับทารกในปัจจุบันนี้สร้างความเข้าใจที่ผิดๆ ว่ากินแล้วจะช่วยสร้างพัฒนาการที่ดีหรือทำให้เด็กฉลาดกว่าเด็กคนอื่น ทำให้มีพ่อ-แม่จำนวนมากหันมาเลี้ยงลูกด้วยนมผงกันมากขึ้น ดูได้จากยอดการนำเข้านมผงจากต่างประเทศ ซึ่งสูงถึง 10,000 ล้านบาทต่อปี  พ.ร.บ.ฉบับนี้ น่าจะเริ่มใช้ในปี 2555 เพื่อควบคุมการส่งเสริมการขายในผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับเด็กแรกเกิด โดยกฎหมายฉบับนี้จะห้ามทำการโฆษณาและส่งเสริมการขายใดๆ ในผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับเด็กทารกถึงอายุ 2 ปี ------------------------------------------------------------------------------------------------------     มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยสถิติร้องเรียนปี 53 หนี้บัตรเครดิตครองแชมป์!!! มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลการทำงานการรับเรื่องร้องเรียนในปี 2553 ที่ผ่านมา ปัญหาหนี้บัตรเครดิต ถือเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนมากที่สุด ถึง 94% รองลงมาเป็นเรื่อง บริการสาธารณะ สินค้าและบริการ โทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ และบริการด้านสาธารณสุข น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงสถานการณ์การรับเรื่องร้องเรียนของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในรอบปี 2553 ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ฟ้องคดีกระทรวงคมนาคม กรณีดอนเมืองโทลเวย์ เป็นคดีสาธารณะ สนับสนุนการฟ้องคดีให้ผู้บริโภคจำนวน 386 คดี เป็นคดีที่ใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 178 คดี รวมทุนทรัพย์ทั้งสิ้น 212,576,590.07 บาท และมีคดีที่สิ้นสุดแล้วจนถึงปัจจุบันเป็นเงิน 27,244,803.39 ล้านบาท โดยรับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการช่วยเหลือทั้งสิ้น 798 คดี  สำหรับลักษณะปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตที่มาร้องเรียนนั้น มีหลายรูปแบบ เช่น เป็นหนี้บัตรหลายใบ ไม่มีความรู้ในการจัดการบริหารหนี้สิน ถูกติดตามทวงหนี้ไม่เป็นธรรม จนถึงขั้นถูกฟ้องศาล แนะรัฐฯ ต้องออกกฏหมายคุ้มครองอย่างเหมาะสม เช่น กฎหมายติดตามทวงหนี้ที่เป็นธรรม กฎหมายบัตรเครดิตที่มีการกำกับดูแลค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย หรือการมีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำโดยรัฐกำกับดูแล เป็นต้น  มูลนิธิฯ ตั้งความหวังว่าจะได้เห็น องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคจะเกิดขึ้นในปี 2554 นี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ภาครัฐฯ เข้ามาควบคุมดูแลกิจการที่คิดทำธุรกิจแบบผูกขาด และให้การสนับสนุนเรื่องมาตรการอาหารปลอดภัย ปรับปรุงคุณภาพบริการรถโดยสารสาธารณะ และเรียกร้องให้ภาคธุรกิจรับผิดชอบต่อผู้บริโภคให้เท่าเทียมกับความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคในต่างประเทศ ------------------------------------------------------------------------------------------------------   “สบท.” เดินหน้าทำงานต่อไปในยุค “กสทช.” นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ยืนยันว่า งานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมยังคงดำเนินต่อไป แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กลายเป็นสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพราะมีมาตรา 31 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบ กิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์   และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.กสทช. คอยรองรับอยู่ แต่เรื่องตัวสถาบันจะยังมีอยู่ต่อไปหรือไม่ ต้องรอหลังการจัดตั้งคณะกรรมการกสทช. ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งแนวโน้มอาจจะถูกควบรวม และแต่งตั้งเป็นสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคใหม่  ทั้งนี้ ในฐานะผู้อำนวยการ สบท.จะส่งหนังสือไปยังผู้ประกอบการทุกรายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.กสทช. ใหม่นี้ว่า ผู้บริโภคยังมีสิทธิร้องเรียนปัญหาได้ตามเดิม เพราะการจัดตั้งสบท. มีความชอบด้วยกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 เนื่องจาก สบท.มีผลสถานะเป็นหน่วยงานหนึ่งในสำนักงาน กทช. ยังมีสถานะอยู่ตามเดิม  นอกจากนี้ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศได้เสนอ 4 มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในช่วงจัดตั้งคณะกรรมการ กสทช. คือ 1. เร่งรัดให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์อย่างเร่งด่วน และคงบทบาทการทำงานของ สบท. ต่อไป 2. เร่งออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ กรณี เอสเอ็มเอสรบกวน และการขายสินค้าผ่านโทรศัพท์ และกำหนดมาตรการการคงสิทธิเลขหมาย ย้ายค่ายเบอร์เดิมผู้บริโภคต้องไม่เสียค่าใช้จ่าย 3. เร่งให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไม่ควรกำหนดอายุของบัตรเติมเงินตามประกาศของ กทช. และ 4. ขอให้ทำร่างแผนแม่บทคลื่นความถี่ที่รับผิดชอบก่อนมีกรรมการ กสทช.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 กระแสในประเทศ

กระแสในประเทศ ฉบับที่ 1012 มิถุนายน 2552 เรดบูลโคล่าพบโคเคน ขายต่างประเทศไทยคนละสูตร นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงข่าวสำนักงานความปลอดภัยด้านอาหาร กระทรวงอาหาร การเกษตร และคุ้มครองผู้บริโภค ประเทศเยอรมนี ตรวจพบร่องรอยของสารโคเคนในเครื่องดื่มเรดบูลโคล่าและไต้หวันอายัดเครื่องดื่ม Red Bull Energy Drink เพราะตรวจพบร่องรอยของสารโคเคนเจือปนอยู่เล็กน้อยหลังจากให้กองควบคุมอาหารเก็บตัวอย่างสินค้าเครื่องดื่มกระทิงแดงโคล่าที่ผลิตในประเทศไทยไปตรวจสอบอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม เรดบูลโคล่าในเยอรมนีถูกพัฒนาสูตรโดยบริษัท Red Bull GmbH ประเทศออสเตรีย และผลิตในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สำหรับเครื่องดื่ม Red Bull Energy Drink ที่จำหน่ายในประเทศไต้หวัน ผลิตและส่งออกจากบริษัทในออสเตรีย ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ผลการตรวจวิเคราะห์ในรุ่นการผลิตเดียวกันของประเทศออสเตรียไม่พบโคเคน ซึ่งจะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป "กระทิงแดงโคล่าที่จำหน่ายในประเทศไทย เป็นคนละสูตรกับผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในต่างประเทศ ไม่ได้ใช้แหล่งการผลิตเดียวกัน ขอให้ประชาชนผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนก อย.ได้เฝ้าระวังเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ให้มีการตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียดที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกด้วย ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจการดำเนินงานของ อย. เมื่อพบผลิตภัณฑ์ใดมีปัญหาจะเร่งตรวจเฝ้าระวังดำเนินการและชี้แจงให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลโดยเร็ว”   15 มิ.ย. 52ห้ามขาย-ห้ามทาน น้ำหวาน “แคนดี้ ไซรับ” นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับข้อมูลว่าพบร้านค้าบริเวณหน้าโรงเรียนใน จ.ราชบุรี มีการนำขนมที่มีชื่อว่า “แคนดี้ ไซรับ” ซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำหวานบรรจุในขวดสเปรย์ เวลารับประทานจะใช้วิธีการฉีดพ่นเข้าปาก มาจำหน่ายให้กับเด็กนักเรียน ทาง อย. จึงรีบออกมาแจ้งให้ทราบว่า ผลิตภัณฑ์ประเภท “น้ำหวานในขวดสเปรย์” ไม่มีการอนุญาตให้ผลิตหรือนำเข้า และเตือนให้เด็กๆ อย่าซื้อมารับประทานเป็นอันขาด อย. ได้ประสานต่อไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี พบว่า เลขเอกสารบนฉลากอาหารดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม ไม่ใช้ของหวานในขวดสเปรย์ นอกจากนี้ยังไม่พบข้อมูลผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อย. ฝากให้สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดช่วยตรวจตาและเฝ้าระวังการผลิต นำเข้า ทั้งผลิตภัณฑ์แคนดี้ ไซรับ และผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยและอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค 29 มิ.ย. 52เลิกบุหรี่อาจถึงตาย! อย่าใช้ “นิโคตินเจล”กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกโรงเตือนผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ ว่าอย่าซื้อ “นิโคตินเจล” มาใช้เด็ดขาด เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้รับการรับรองจาก อย. ผู้ที่ใช้อาจได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต การพิสูจน์ทางการแพทย์ระบุว่า การใช้นิโคตินทดแทนมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงในการเลิกบุหรี่ ซึ่งในต่างประเทศมีอยู่ด้วยกัน 6 วิธี คือ หมากฝรั่งเคี้ยวนิโคติน, แผ่นปิดผิวหนังนิโคติน, นิโคตินชนิดสูบพ่นทางปาก, นิโคตินชนิดสเปรย์พ่นจมูก, ยาอมนิโคติน และนิโคตินชนิดเม็ดอมใต้ลิ้น แต่สำหรับในเมืองไทยได้มีการขึ้นทะเบียนไว้เพียง 3 รูปแบบ คือ หมากฝรั่งเคี้ยวนิโคติน, แผ่นปิดผิวหนังนิโคติน และยาอมนิโคติน โดยผลิตภัณฑ์เพื่อการเลิกบุหรี่เหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเสียก่อน สำหรับ “นิโคตินเจล” ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน เนื่องจากยังต้องตรวจสอบเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยจาก อย. เพราะการใช้ยานิโคตินทดแทนที่ไม่ได้มาตรฐานอาจส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น หัวใจเต้นแรง และทำให้แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้หายช้า ผู้ที่มีประวัติการป่วยเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และผู้เป็นโรคแผลในทางเดินอาหาร ต้องพิจารณาให้ดีในการใช้ยานิโคตินเพื่อเลิกบุหรี่ ใครที่ต้องการเลิกบุหรี่และอยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติม โทร.ไปได้ที่ “สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600” 29 มิ.ย. 52ห้ามหักเงินในบัญชีใช้หนี้บัตรเครดิตนายนิโรธ เจริญประกอบ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยว่า สคบ.เตรียมออกประกาศห้ามไม่ให้ธนาคารพาณิชย์หักบัญชีเงินฝากของผู้บริโภคเพื่อนำมาชำระหนี้บัตรเครดิต หากยังเป็นกรณีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือยังไม่มี ข้อยุติใดๆ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย สคบ.เนื่องจากธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ทั้งนี้ สคบ.ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมากว่า ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่ธนาคารพาณิชย์หักเงินในบัญชีของผู้ฝากเงินเพื่อชำระหนี้ตามสัญญาบัตรเครดิตโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม “การที่สถาบันการเงินกำหนดข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตไว้ในสัญญาและกำหนดให้ผู้ถือบัตรทำหนังสือยินยอมให้ธนาคารมีอำนาจหักเงินจากบัญชีเงินฝากที่ผู้ถือบัตรมีอยู่กับธนาคารมาชำระหนี้บัตรเครดิตในทันที ถือเป็นข้อสัญญาที่มีผลให้คู่สัญญาต้องรับภาระเกินกว่าที่บุคคลธรรมดาจะสามารถคาดหมายได้ตามปกติ เพราะการไม่ชำระหนี้บัตรเครดิตอาจเกิดได้หลายกรณี โดยที่เจ้าของบัตรไม่มีเจตนาหรือจงใจ เช่น กรณีบัตรสูญหาย บัตรถูกลักขโมย ซึ่งยังไม่ได้พิสูจน์ความรับผิด นอกจากนี้ สคบ.ยังเห็นว่าเป็นการใช้ข้อสัญญาที่เลี่ยงกระบวนการยุติธรรมโดยไม่ไปใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อพิสูจน์ความผิดให้เสร็จสิ้นเสียก่อน” เทสโก้ แพ้คดีเรียก 1000 ล้าน ศาลอาญาสั่งยกฟ้องคดีที่ เทสโก้ โลตัส ฟ้อง ว่าที่ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในกรณีหมิ่นประมาททำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและรายได้ โดยทาง เทสโก้ โลตัส ได้เรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินถึงหนึ่งพันล้านบาท ซึ่งศาลสั่งยกฟ้องด้วยเหตุผลว่าการติชมเป็นการทำหน้าที่โดยสุจริตที่มาของการฟ้องร้องเกิดขึ้นเมื่อ ว่าที่ร.อ.จิตร์ ให้สัมภาษณ์ในหัวข้อข่าว “ค้ากำไรบนซากโชวห่วย เทสโก้สูบไทย 37% จากยอดขายทั่วโลก” ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ “ผู้จัดการรายวัน” ฉบับวันที่ 1 ต.ค.50 โดยเนื้อข่าวระบุว่า เทสโก้ โลตัส ดูดเงินจากผู้บริโภคชาวไทยส่งกลับไปยังบริษัทแม่ที่อังกฤษหลายหมื่นล้าน ทำให้เทสโก้ฯไต่ทะยานขึ้นเป็นบริษัทร่ำรวยที่สุดอันดับ 4 ของโลก มียอดขายรวมทั่วโลก 79,978 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมาจากไทยมากถึง 37% สวนทางกับผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยของไทย ที่ล้มตายอย่างรวดเร็วเหลือรอดไม่ถึงครึ่ง โดยที่ต่อมา ทาง “ผู้จัดการรายวัน” ได้แก้ไขตัวเลขยอดรายได้ของเทสโก้ฯในไทย จาก 37% เป็น 3.7% ตามที่ผู้บริหารของเทสโก้ฯแจ้งมาในภายหลัง ซึ่งทาง เทสโก้ฯ ไม่ได้ฟ้องหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เป็นจำเลยในคดี แต่ได้ฟ้อง ว่าที่ร.อ.จิตร์ โดยเรียกค่าเสียหายพันล้านบาท และฟ้องคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คือนายกมล กมลตระกูล นักสิทธิมนุษยชน และนางนงนาถ ห่านวิไล บรรณาธิการน.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ เรียกค่าเสียหายรายละ100 ล้าน ซึ่งเผยแพร่เนื้อหาว่า เทสโก้ฯ ขยายกิจการจนส่งผลกระทบต่อร้านค้าปลีกรายย่อยในชุมชนล่มสลาย สำหรับคำพิพากษาของศาลอาญา สรุปได้ว่า วันที่ 16 มิ.ย. 52 ความอาญาระหว่างบริษัทเอก–ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด เป็นโจทก์ฟ้อง ว่าที่ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ เป็นจำเลยฐานความผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ละเมิด เรียกค่าเสียหาย 1,000 ล้านบาท ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำบรรยายของว่าที่ร.อ.จิตร์ ที่พูดถึงปัญหาค้าปลีกในประเทศไทย มีฐานข้อมูล ในฐานะหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับจำเลยมาก่อน ส่วนเรื่องที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์เลี่ยงภาษี เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งประชาชนสามารถทำได้ ส่วนคำพูดที่ว่า โจทก์ใช้เล่ห์เหลี่ยมในการขายสินค้าโดยวิธีต่ำกว่าทุน จึงมิใช่จำเลยกล่าวอย่างเลื่อนลอย ไม่มีมูลความจริง จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ ส่วนที่โจทก์กล่าวว่า “โลตัสเปรต” เป็นเพียงการเรียกความสนใจของผู้ฟัง เป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สมควรตามวิสัยสันดานของแต่ละคน เป็นเพียงการใช้ถ้อยคำเกินเลยไป เมื่อฟังว่า คำบรรยายของจำเลยในงานสัมมนาไม่เป็นความผิด ในส่วนข้อความติชมนั้น ไม่ว่าจะให้สัมภาษณ์ในฐานะกรรมาธิการพาณิชย์ หรือไม่ก็ตาม จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยอ้างข้อมูลเท็จ อันจะทำให้ผู้อื่นเข้าใจโจทก์ผิด คดีของโจทก์จึงไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง ส่วนในคดีแพ่ง เมื่อจำเลยมิได้ทำผิดตามฟ้อง โจทก์จึงไม่เสียหาย การที่โจทก์ขอคิดค่าเสียหายโดยอ้างว่าทำให้ยอดขายสินค้าลดลงมา 1,000 ล้านบาทนั้น เป็นว่าส่อแสดงเจตนาเป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต พิพากษายกฟ้อง ยกเลิกบัตรทอง ใช้แค่บัตรประชาชน!นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศเตรียมยกเลิก “บัตรทอง” ทั่วประเทศปลายเดือน ก.ย. นี้ โดยจะเปลี่ยนมาใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียวเพื่อความสะดวก โดยจะเริ่มจากการใช้รักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิ พร้อมเตรียมให้ 8 จังหวัดนำร่องใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาลในจังหวัด เพื่อศึกษาข้อดี-ข้อเสียก่อนปรับใช้ทั่วประเทศ “กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินโครงการในการใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทนบัตรทองมาแล้ว 37 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ใน 13 จังหวัด และ 1 มิ.ย. อีก 24 จังหวัด และในเดือน ต.ค.นี้ จะนำร่องใน 8 จังหวัด ให้ใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ภายในจังหวัดนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิประกันตนที่ระบุในแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้ได้ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูความพร้อมของแต่ละโรงพยาบาลและพิจารณางบประมาณ ก่อนดำเนินการใช้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 รู้จัก “เครดิตลิมิต” ชีวิต 4G จ่ายไม่เกินร้อย

ข่าวดีของผู้ใช้โทรศัพท์แบบรายเดือนก็คือ คุณสามารถควบคุมค่าใช้บริการได้โดยการกำหนดวงเงินค่าใช้บริการ เครดิตลิมิต (Credit Limit) โดยแจ้งกับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่คุณใช้งานอยู่ว่าต้องการจำกัดวงเงินค่าบริการไว้ไม่ให้เกินกี่บาท ดังนั้นค่าบริการ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเน็ต ค่าโทรศัพท์ ค่า sms หรือบางคนอาจจะมีค่าบริการจากการซื้อแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่เรียกเก็บมาในบิล รวมแล้วจะต้องไม่เกินกว่าวงเงินที่คุณกำหนดไว้ โทรศัพท์มือถือ Smart Phone เดี๋ยวนี้ ทำอะไรได้มากมาย นอกจากเป็นโทรศัพท์ เอาไว้ติดต่อ โทรออก-รับสายแล้ว ยังใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ท่องเว็บไซต์ เล่นเกมส์ ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆ พูดคุยติดต่อสื่อสารกับผู้คนผ่าน Social Network หรือจะช็อปปิ้งซื้อของออนไลน์ก็สามารถทำได้ไม่ยาก จะดูหนัง ฟังเพลง ก็มีให้เลือกจนตาลาย หลายคนใช้แล้วก็ติดใจ เพราะมันทำให้ชีวิตมีสีสัน สะดวกสบาย และสนุกสนาน แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า “โลกนี้ไม่มีอะไร ฟรี” ทุกอย่างมีราคาที่เราต้องจ่าย บางคนได้รับบิลค่าโทรศัพท์แล้วแทบจะเป็นลม เพราะถูกเรียกเก็บค่าบริการอินเทอร์เน็ตหลายพัน หลายหมื่น หรือบางรายโดนกันไปเป็นแสนบาท ก็เคยมีมาแล้ว   ปัญหาทำนองนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเจ้าโทรศัพท์ Smart Phone รุ่นใหม่ๆ นี่แหละ ด้วยความที่มันฉลาดแสนรู้ สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เองโดยอัตโนมัติ เพื่อคอยอัพเดท App ต่างๆ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ นอกจากนี้ คนที่มีเพื่อนในโซเชียลเยอะๆ เดี๋ยวคนโน้นอัพรูปขึ้นเฟซบุ๊ค เดี๋ยวคนนี้แชร์คลิปมาในไลน์ เผลอแปล๊บเดียวใช้อินเทอร์เน็ตหมดแล้ว ซึ่งการใช้งานส่วนที่เกินจากแพ็คเกจที่สมัครไว้นี่ ถ้าไม่ได้ซื้อแบบเหมาจ่าย Unlimited บริษัทมือถือจะคิดค่าบริการตามปริมาณข้อมูลที่ใช้งาน ราคาประมาณ 1 -2 บาท/MB ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นของแต่ละค่าย และเป็นแนวโน้มของแพ็คเกจ 4G ที่เราจะไม่ค่อยเห็นโปรโมชั่นเหมาจ่าย Unlimited เพราะโครงข่ายไม่เพียงพอที่จะรองรับลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่มีพฤติกรรมต่อเน็ตทิ้งไว้ตลอดเวลา โปรโมชั่นของ 4G จึงมักจะกำหนดปริมาณข้อมูลที่ลูกค้าสามารถใช้งานได้ เช่น จ่าย 488 บาท เล่นเน็ตได้ 10 GB ส่วนเกินจากนี้คิดตามจริงเป็น MB ตามปริมาณ ซึ่งจะแตกต่างจากลักษณะโปรโมชั่นของ 3 G ที่ผ่านมา ที่เมื่อใช้เกินจะปรับลดความเร็วลงแต่ไม่ได้คิดเงินเพิ่ม ใครที่ใช้โทรศัพท์แบบเติมเงิน ปัญหาก็อาจจะไม่หนักมาก เพราะพอหมดเงินที่เติมไว้ โทรศัพท์มันก็ตัดบริการไปเอง แต่คนที่ใช้แบบรายเดือนจะเสี่ยงหน่อย เพราะค่าใช้จ่ายจะเกิดขึ้นตามการใช้งานของคุณ ซึ่งบอกไว้เลยว่า มือถือ 4G นี่ ยิ่งเน็ตแรงเท่าไร โอกาสที่ค่าบริการจะพุ่งก็มีมากเท่านั้น เพราะยิ่งโหลดไว ผู้บริโภคก็ยิ่งเพลิน ดูหนังฟังเพลงไปเรื่อย อย่างดู youtube นี่ เมื่อคำนวณออกมาจะใช้เน็ตประมาณ 1.5 MB/นาที ถ้าค่าบริการ MB ละ 1 บาท ดู 1 ชั่วโมง ก็ต้องจ่าย 90 บาท แล้วเดี๋ยวนี้คนเราจ้องหน้าจอมือถือวันละกี่ชั่วโมงก็ลองนึกดูแล้วกันครับ ข่าวดีของผู้ใช้โทรศัพท์แบบรายเดือนก็คือ คุณสามารถควบคุมค่าใช้บริการได้โดยการกำหนดวงเงินค่าใช้บริการ เครดิตลิมิต (Credit Limit) โดยแจ้งกับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่คุณใช้งานอยู่ว่าต้องการจำกัดวงเงินค่าบริการไว้ไม่ให้เกินกี่บาท ดังนั้นค่าบริการ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเน็ต ค่าโทรศัพท์ ค่า smsหรือบางคนอาจจะมีค่าบริการจากการซื้อแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่เรียกเก็บมาในบิล รวมแล้วจะต้องไม่เกินกว่าวงเงินที่คุณกำหนดไว้ เมื่อค่าใช้จ่ายใกล้เต็มวงเงินบริษัทจะโทรศัพท์ หรือ sms มาแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า และเมื่อมีค่าใช้จ่ายเกินบริษัทก็จะระงับบริการชั่วคราวเอาไว้ก่อน เพื่อมิให้เกิดค่าใช้จ่ายเกินกว่าวงเงินที่คุณกำหนดไว้ แต่หากวันดีคืนดีเกิดมีค่าใช้จ่ายเกินมา คุณก็สามารถร้องเรียนกับสำนักงาน กสทช. ได้ ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมได้เคยมีมติให้บริษัทมือถือคิดค่าบริการกับผู้ร้องเรียนได้เฉพาะในส่วนที่ไม่เกินกว่าวงเงินที่จำกัดไว้ จริง ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาตั้งแต่สมัย 2G แล้ว เพียงแต่ที่ต้องหยิบมาเล่าให้ฟังอีกครั้งก็เพราะในยุค 4G นี้ โอกาสเกิดปัญหา Bill Shock จากค่าบริการอินเทอร์เน็ตมันจะมีมากกว่า และความเสียหายจะร้ายแรงกว่า ดังนั้นลองหยิบใบแจ้งค่าใช้บริการของคุณมาตรวจสอบดูสิว่า ได้ระบุจำกัดวงเงินค่าใช้บริการไว้ตรงกับที่คุณแจ้งหรือไม่ เพราะเคยมีกรณีที่ผู้บริโภคจำได้ว่ากำหนดวงเงินค่าบริการไว้แค่ไม่กี่ร้อยบาท แต่ถูกเรียกเก็บค่าบริการเป็นพันบาท สอบถามไปจึงได้ความว่า บริษัทเห็นว่าเป็นลูกค้าชั้นดี จึงปรับเพิ่มวงเงินค่าบริการให้โดยพละการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ปัจจุบัน บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแต่ละราย กำหนดเงื่อนไขของเครดิตลิมิตไว้แตกต่างกัน บางค่ายไม่รวมค่าบริการตามแพ็คเกจที่สมัครไว้ เช่น ค่าบริการตามแพ็คเกจ 488 บาท เครดิตลิมิตไว้ 1,000 บาทแบบนี้บริษัทก็จะมีสิทธิคิดค่าบริการได้ในวงเงินไม่เกิน 488 + 1,000 บาท ไม่ใช่ 1,000 บาทถ้วนตามที่เราเข้าใจทั่วไป แต่ส่วนที่เหมือนกันเกือบทุกค่ายก็คือ เครดิตลิมิต นี้จะไม่รวมค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติระหว่างประเทศ (International Roaming) ดังนั้น ลองศึกษาเงื่อนไขจากผู้ใช้บริการของคุณ แล้วกำหนดวงเงินค่าใช้บริการให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์ของคุณ รับรองว่าคุณจะไม่กระเป๋าฉีกเพราะค่าโทร ค่าเน็ตแน่นอน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 177 บัตรเครดิต บัตรเดบิต ความเหมือนที่แตกต่าง

ในบรรดาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เราคุ้นเคยกัน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ทุกวันนี้จะต้องมีบัตรเครดิต(Credit) หรือบัตรเดบิต(Debit) พกติดกระเป๋าสตางค์อยู่อย่างน้อยคนละหนึ่งใบ     ดูเผิน ๆ บัตรทั้ง 2 แบบนี้ก็หน้าตาคล้ายกัน ใช้รูดซื้อของหรือกดเงินสดได้เหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วบัตรเครดิต และบัตรเดบิต เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีพื้นฐานต่างกันอย่างสิ้นเชิง เจ้าหนี้ – ลูกหนี้    เวลาที่คุณใช้บัตรเครดิตรูดซื้อเสื้อผ้าหรือเติมน้ำมันนั้น หมายความว่าคุณได้ทำสัญญาขอกู้ยืมเงินจากธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตให้ช่วยสำรองจ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการต่างๆ ให้ร้านค้าที่ใช้บริการไปก่อน แล้วเมื่อถึงกำหนดเวลาคุณจะเอาเงินไปจ่ายคืนในทางกฎหมายคุณจึงมีฐานะเป็น “ลูกหนี้” ดังนั้น แม้ว่าจะไม่มีเงินฝากกับธนาคารเจ้าของบัตร แต่คุณก็สามารถใช้บัตรเครดิตซื้อของได้ในวงเงินที่เจ้าหนี้ประเมินแล้วว่าคุณจะสามารถนำเงินมาจ่ายคืนได้     ส่วนการใช้บัตรเดบิตนั้นจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ คุณต้องมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารเจ้าของบัตร เมื่อใช้บัตรเดบิตชำระค่าสินค้านั่นก็คือ คุณกำลังสั่งให้ธนาคารโอนเงินจากบัญชีของคุณไปให้กับร้านค้าที่คุณใช้บริการ ซึ่งถ้าเงินในบัญชีมีน้อยกว่าราคาของที่จะซื้อ คุณก็ไม่สามารถใช้บัตรเดบิตทำรายการนั้นได้ การใช้บัตรเดบิตจึงไม่เป็นการก่อหนี้ เครดิต – ความน่าเชื่อถือ    การสมัครบัตรเดบิตนั้น เพียงคุณมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารคุณก็สามารถใช้บริการได้แล้ว ส่วนการสมัครบัตรเครดิตนั้นจะยุ่งยากกว่า เพราะคุณต้องแสดงหลักฐานว่า คุณมีรายได้เท่าไร หน้าที่การงานมั่นคงหรือไม่ เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหนี้บัตรเครดิตว่า คุณจะสามารถนำเงินมาชำระคืนได้ดังนั้น ใครที่มีบัตรเครดิตใช้ ก็แสดงว่าคุณมีความน่าเชื่อถือเพียงพอที่เจ้าหนี้เขาจะให้กู้เงิน ซึ่งถ้าบริหารหนี้เป็น ก็จะได้รับประโยชน์เช่น โทรทัศน์ราคา 20,000 บาท ใช้บัตรเครดิตผ่อน 0% แบ่งจ่ายได้ 10 เดือน แต่สำหรับบัตรเดบิตคุณไม่สามารถใช้ผ่อนสินค้าแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ ได้ ต้องถูกหักบัญชีเต็มจำนวนทันที หรือถ้าคุณมีเงินในบัญชีไม่ถึง 20,000 บาท คุณก็ใช้บัตรเดบิตรูดซื้อโทรทัศน์เครื่องนี้ไม่ได้ ความเสี่ยงภัย เมื่อบัตรถูกโจรกรรม    บัตรเดบิตนั้น ผูกติดกับบัญชีเงินฝากของคุณ นั่นหมายความว่า ใครก็ตามที่เอาบัตรเดบิตของคุณไปรูดซื้อสินค้า เงินในบัญชีก็จะถูกตัดไปทันที ซึ่งถ้าอยากได้เงินคืน คุณก็ต้องขวนขวายไปติดต่อธนาคารหาหลักฐานต่าง ๆ มายืนยัน ซึ่งถ้าการเรียกร้องเงินคืนยุ่งยากเท่าไร คุณก็ยิ่งเสียเปรียบเท่านั้น จนบางครั้งอาจจะท้อใจ ไปกับระยะเวลาที่เนิ่นนานและค่าใช้จ่ายในการร้องเรียนที่สูงเกินกว่ามูลค่าเงินที่หายไป     ในขณะที่การใช้บัตรเครดิตนั้น เป็นธุรกรรมที่ธนาคารได้ออกเงินทดรองจ่ายไปก่อนตามที่มีรายการแจ้งมา ดังนั้น เมื่อบัตรถูกขโมยไปใช้ คุณก็มีหน้าที่แค่แจ้งธนาคารว่า ไม่ได้เป็นคนใช้บัตรเครดิตทำรายการนั้น ถ้าธนาคารไม่เชื่อก็ต้องหาทางพิสูจน์เองว่าใครเป็นคนใช้บัตรเครดิต หรือหาทางฟ้องร้องเพื่อเรียกเก็บเงิน ซึ่งเป็นภาระของธนาคาร แม้จะทำให้คุณต้องวุ่นวายอยู่บ้าง แต่ก็ยังดี เพราะว่าคุณยังไม่ต้องเสียเงินจากกระเป๋า     ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม    บัตรเดบิตนั้นเป็นการใช้เงินจากบัญชีของคุณเอง ดังนั้น จึงไม่มีการคิดดอกเบี้ยจากการรูดซื้อสินค้า ส่วนบัตรเครดิตนั้นเป็นการกู้ยืมเงินทดรองจ่าย จึงต้องเสียดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินตามจำนวนที่คุณใช้ แต่บัตรเดบิตส่วนใหญ่ ก็จะคิดค่าธรรมเนียมอื่นๆ จากผู้ถือบัตร เช่น ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าธรรมเนียมรายปี ค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินข้ามเขตหรือเบิกถอนเกินจำนวนครั้งที่กำหนด จะหยิบบัตรไหนมาใช้ในครั้งต่อไป ก็เลือกให้ดี คิดให้รอบคอบนะครับ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 176 “หนี้จากบัตรเครดิตที่ไม่ได้ใช้”

อิทธิพลของยุคซื้อก่อนแล้วค่อยจ่าย ทำให้คนส่วนใหญ่นิยมใช้บัตรเครดิต เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระเงินในกระเป๋า จนบางครั้งเปิดกระเป๋ามาเจอบัตรเครดิตเยอะกว่าเงินก็มี อย่างไรก็ตามบัตรเครดิตเหล่านี้ก็อาจสร้างภาระให้เราแทนได้ หากเราใช้จ่ายมากเกินไปจนกลายเป็นหนี้ หรืออย่างในกรณีนี้ที่ไม่ได้ใช้จ่ายแต่ดันเป็นหนี้โดยไม่รู้ตัวเมื่อ 3 ปีก่อน ผู้ร้องเคยสมัครบัตรเครดิตกับธนาคาร UOB แต่ไม่เคยใช้ซื้อสินค้าใดๆ เพราะมีบัตรเครดิตอื่นที่ใช้บริการเป็นประจำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามแม้ไม่มีการเปิดใช้บริการ แต่ค่าธรรมเนียมรายปีก็ไม่ได้ยกเว้น เธอจึงตัดปัญหาภาระที่ไม่จำเป็น ด้วยการโทรศัพท์ไปที่ Call center ของธนาคารเพื่อยกเลิกบัตรใบนี้ ซึ่งพนักงานก็ได้ดำเนินการยกเลิกให้เธอเรียบร้อย แต่หลังจากนั้นเหตุการณ์กลับไม่ได้ดำเนินไปได้ด้วยดีอย่างที่คิดต้นปี 2557 เธอได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายเร่งรัดหนี้สินของธนาคารดังกล่าวว่า ขอให้ชำระหนี้จากการนำบัตรเครดิตไปกดเงินสดจากตู้ ATM รวมแล้วจำนวนกว่า 2 แสนบาท ซึ่งเธอก็ได้ชี้แจงกลับไปว่า ไม่เคยเปิดใช้บริการหรือทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ กับบัตรเครดิตใบนี้ เจ้าหน้าที่จึงให้เธอหาทางดำเนินการแก้ต่างให้ตัวเอง ด้วยการแนะนำให้โทรศัพท์ไปที่ Call center หรือฝ่ายตรวจสอบการทุจริตของธนาคาร ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยเลยกว่าจะได้รับการติดต่อประสานงานกลับมา พร้อมกับคำตอบว่าให้ไปแจ้งความเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริง เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นเจ้าของบัตรต้องรับผิดชอบเอง เมื่อได้รับคำตอบเช่นนั้นเธอจึงต้องทำตามคำแนะนำ โดยการไปแจ้งความขอภาพจากกล้องวงจรปิดตามตู้ ATM ต่างๆ ที่มีการกดเงินจำนวนนั้นไป และโทรศัพท์ไปยังธนาคารต่างๆ ให้เก็บภาพวงจรปิดไว้ ซึ่งในที่สุดก็เห็นว่าคนที่มากดเงิน เป็นชายใส่หมวกนิรภัยปิดหน้าที่เธอไม่รู้จัก ต่อมาจึงประสานกลับไปยังเจ้าหน้าที่ของธนาคารดังกล่าว เพื่อขอร้องให้ตรวจสอบข้อมูลของบัตรและพบว่า มีไฟล์เสียงของเธอที่ยืนยันการเปิดและยกเลิกบัตรเครดิตทางโทรศัพท์ โดยภายหลังได้ตกลงกับเจ้าหน้าที่ว่าจะถือบัตรเครดิตใบนี้ต่อ แต่ให้มีการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ดำเนินการให้เรียบร้อยจากข้อมูลที่เจ้าหน้าที่แจ้งมา เธอยืนยันกลับไปว่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะไม่เคยตกลงเจรจากับธนาคารเช่นนั้น จึงขอไฟล์บันทึกเสียงที่อ้างข้อมูลดังกล่าวมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง แต่ธนาคารกลับไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของเธอง่ายๆ คลิปเสียงที่จะเป็นพยานสำคัญในการเอาผิดผู้ร้องกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะธนาคารไม่ยอมส่งคลิปเสียงทั้งหมดมาให้ โดยอ้างว่าบางส่วนได้ทำลายทิ้งไปแล้ว และที่มีอยู่ก็เป็นไฟล์เสียงที่ไม่สมบูรณ์อีก มากไปกว่านั้น เมื่อผู้ร้องตรวจสอบวันเวลาของไฟล์ดังกล่าว ก็พบว่าไม่ตรงกับที่เจ้าหน้าที่อ้างไว้ตอนแรก นอกจากนี้การติดต่อกับเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องก็ยากขึ้นเรื่อยๆในที่สุดธนาคารจึงปล่อยไม้เด็ดคือ ไม่ตอบข้อร้องเรียนหรือหลักฐานไฟล์เสียงที่ผู้ร้องขอ เพียงส่งหนังสือระบุว่า ตามเงื่อนไขสัญญาการทำบัตรเครดิต เจ้าของบัตรต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้สถานะของผู้ร้องคือ เป็นหนี้แล้วไม่ยอมจ่าย และการที่ผู้ร้องทำหนังสือไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้มีการตรวจสอบข้อมูลนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะแม้จะเป็นธนาคารแห่งชาติก็ไม่มีสิทธิที่จะมาตรวจสอบระบบเชิงลึกรายบุคคล เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ผู้ร้องจึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้ผู้ร้อง ทำหนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ตามที่ธนาคารได้กล่าวอ้าง เพราะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าผู้ร้องเป็นผู้กดเงินสดจำนวนนั้นไป นอกจากนี้ข้อสังเกตต่างๆ ที่ผู้ร้องได้ทำหนังสือร้องเรียนก็ไม่ได้รับการอธิบาย โดยในระหว่างนี้เรื่องอยู่ระหว่างการเจราจาที่อัยการ ซึ่งผู้ร้องได้เรียกร้องให้ยุติการเรียกเก็บหนี้ทั้งหมดที่ธนาคารกล่าวอ้าง เพราะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารอื่นๆ ทั้งนี้ทางศูนย์ฯ ก็จะติดตามความคืบหน้าของกรณีนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ยกเลิกคอร์สทำหน้าแล้ว แต่บัตรเครดิตยังเรียกเก็บเงิน

ขอความกรุณาช่วยแนะนำด้วยค่ะได้ทำเรื่องยกเลิกคอร์สทำหน้ากับคลินิกแห่งหนึ่ง(ยังไม่เคยไปใช้บริการเลยค่ะ) จ่ายไปจำนวนเงิน 30,000 บาทเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 ทางเจ้าหน้าที่ของคลินิกได้ออกเอกสารทำเรื่องคืนเงินเข้าบัตรมาให้ 2 ฉบับและดิฉันได้ไปทำเรื่องขอปฏิเสธการชำระเงินพร้อมกับแนบเอกสารที่คลินิกออกให้กับดิฉันให้ทางธนาคารด้วย  แต่พอใกล้ ๆ สิ้นเดือนตุลาคม มีจดหมายใบแจ้งหนี้ยอดบัตรเครดิตส่งมาให้ โทรสอบถามกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารก็ได้รับคำตอบว่าในระหว่างดำเนินการตรวจสอบยอดจำนวนเงินที่ขอปฏิเสธการชำระไว้ ดิฉันต้องจ่ายเงินที่รูดไปให้กับทางธนาคารก่อน  ระยะเวลาในการตรวจสอบอาจนานถึง 120 วันดิฉันอยากจะถามว่าทำไมต้องตรวจสอบนานมากขนาดนั้นด้วยคะ ทั้ง ๆ ที่ดิฉันก็มีเอกสารที่ทางร้านค้าให้เป็นหลักฐานในการคืนเงินเข้าบัตรเครดิตแล้ว แล้วถ้าเกิดว่าทางร้านค้าไม่ยอมคืนเงินให้ดิฉันจะทำอย่างไรได้บ้าง โทรไปสอบถามกับทางธนาคารหลายทีแล้วว่าเรื่องได้ดำเนินการไปถึงไหนแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่เป็นประโยชน์เลยค่ะ ดูเหมือนทางธนาคารจะไม่สนใจไม่ยอมช่วยเหลืออะไรดิฉันเลย กลุ้มใจมากค่ะ อยากขอความช่วยเหลือ ขอคำแนะนำด้วยนะคะ แนวทางแก้ไขปัญหาคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้ ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 ในกรณีที่มีการชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการผ่านทางบัตรเครดิต แล้วผู้บริโภคเกิดเปลี่ยนใจไม่ต้องการที่จะซื้อสินค้าหรือบริการนั้นอีกต่อไปและทางผู้ให้บริการยินดียกเลิกสัญญาการใช้บริการโดยไม่มีเงื่อนไข จึงถือว่าผู้บริโภคไม่ได้เป็นผู้ขอรับบริการอีกต่อไปประกาศฉบับนี้ได้ให้ความคุ้มครองกับผู้บริโภคในกรณีดังกล่าว ด้วยการบังคับให้บัตรเครดิตต้องมีข้อสัญญาว่า ถ้าผู้บริโภคทักท้วงว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าหรือไม่ได้เป็นผู้ขอรับบริการ จากผู้ขายหรือผู้ให้บริการดังกล่าว ผู้ประกอบธุรกิจจะระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคทันที หรือในกรณีที่เรียกเก็บเงินไปแล้วจะคืนเงินให้กับผู้บริโภคทันที เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจจะพิสูจน์ได้ว่าภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของผู้บริโภคเองและใช้สิทธิเรียกคืนจากผู้บริโภคในภายหลังดังนั้น เมื่อผู้บริโภคได้ทักท้วงไปยังธนาคารที่ออกบัตรเครดิตว่า ไม่ได้เป็นผู้ขอรับบริการจากทางคลินิกแล้ว เมื่อธนาคารรับทราบแล้ว จะต้องปฏิบัติตามสัญญาควบคุมของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคทันที หากมีการเรียกเก็บเงินไปแล้วก็จะต้องคืนให้กับผู้บริโภคทันทีเช่นกัน หากมิได้ดำเนินการโดยทันที ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากธนาคารได้ โดยอาจเทียบเคียงจากเบี้ยปรับการชำระเงินล่าช้าที่ธนาคารเรียกเก็บก็ได้นอกจากนี้ ประกาศฉบับดังกล่าว ยังให้ความคุ้มครองในสิทธิของผู้บริโภคในการยกเลิกการซื้อสินค้าหรือรับบริการอีกด้วย ด้วยการออกข้อบังคับให้สัญญาบัตรเครดิตต้องมีเงื่อนไขที่จะไม่ตัดสิทธิของผู้บริโภคที่จะขอยกเลิกการซื้อสินค้าหรือรับบริการภายในระยะเวลา 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สั่งซื้อหรือขอรับบริการ หรือภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันถึงกำหนดการส่งมอบสินค้าหรือบริการ ในกรณีที่มีการกำหนดระยะเวลาส่งมอบสินค้าหรือบริการเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าผู้บริโภคพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้รับสินค้า หรือไม่ได้รับบริการ หรือได้รับแต่ไม่ตรงตามกำหนดเวลาหรือได้รับแล้วแต่ไม่ครบถ้วน หรือชำรุดบกพร่อง หรือไม่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์โดยผู้ประกอบธุรกิจจะระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค หรือในกรณีที่เรียกเก็บเงินไปแล้ว ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการภายในประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้ง ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายในระยะเวลา 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 “สปาเซ็นเตอร์” คนมีบัตรเครดิต ตั้งสติให้ดี ก่อนคิดใช้บริการ

 “สปาเซ็นเตอร์” ประกาศตัวเองว่าเป็นสถาบันลดน้ำหนักและกระชับสัดส่วน เปิดสาขาให้บริการตามห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ๆ ใช้พนักงานสาวหน้าตาดีออกมายืนเชิญชวนคนที่มีบัตรเครดิตให้สมัครเข้าไปใช้บริการปรากฏว่าขณะนี้ได้มีผู้บริโภคทยอยเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า หลงเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกใช้บริการเพราะทนคำรบเร้าของสาวพนักงานไม่ได้  แต่เมื่อเข้าไปใช้บริการแล้วพบว่าการบริการไม่เป็นไปตามที่สาวนักขายโฆษณาไว้ อยากจะบอกเลิกสัญญาขอเงินที่จ่ายผ่านทางบัตรเครดิตคืน ก็ขอคืนไม่ได้เพราะสัญญาที่ไปเซ็นไว้มีข้อผูกมัดที่จะไม่คืนเงินให้กับผู้บริโภคในทุกๆ กรณี“ดิฉันซื้อคอร์สมา 30,000 บาทเมื่อ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา” ผู้บริโภครายหนึ่งได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ประสบมา“ตอนนั้นจำได้ว่ารีบมากจะต้องไปธุระต่อ แต่พนักงานขายคะยั้นคะยอบวกกับความเกรงใจและหวังว่าจะเห็นผลเพราะราคาไม่ใช่ถูกๆ คอร์สจริงเซลอ้างว่า 70,000 บาท แต่ลดลงมาเหลือ 45,000 บาท แต่ดิฉันจ่ายไม่ไหวเซลเลยลดให้เหลือ 30,000 บาท”“กลับมาบ้านสมองก็ตึงๆ ไปเหมือนกัน เพราะราคาสูงมาก ไม่รู้ตกลงไปได้ยังไงดิฉันชำระผ่านบัตรเครดิตค่ะ 3000x10 เดือน ตอนนั้นยังไม่เอะใจกับคำว่า "ไม่คืนเงินทุกกรณี" ถ้าสติดีกว่านี้ ตอนนั้นคงยกเลิกไปทันทีที่พนักงานให้เซ็นเอกสาร”เมื่อผู้บริโภครายนี้เข้าไปใช้บริการก็พบว่ามีการให้บริการที่ผิดไปจากเงื่อนไขที่พนักงานเสนอขาย“จากการที่ไปใช้บริการ 1 ครั้ง การบริการไม่เหมือนคอร์ส 30,000 บาทเลยค่ะ ผิดหวังกับการบริการมาก แถมตอนขายคอร์สบอกจำนวนที่ใช้บริการประมาณ 15 ครั้งแต่สอบถามเจ้าหน้าที่อีกครั้ง ตกใจมากที่หดเหลือ 10 ครั้ง แถมอีก 1” ผู้บริโภคอีกรายร้องเรียนมาว่า สปาฯ ไม่มีบริการพอกตัวมีแต่นวดตัว และไม่มีอ่างน้ำวนบริการ ทั้งๆ ที่ตอนที่พนักงานสาวเสนอขายบอกว่ามีบริการทั้งหมด แต่พอถึงเวลาไปใช้บอกว่ากำลังติดตั้งอ่างน้ำยังไม่เสร็จปัญหาส่วนใหญ่ที่ร้องเรียนเข้ามาก็คือ ใช้บริการไปได้เพียงแค่ครั้ง 2 ครั้งแต่เมื่อเห็นว่าบริการไม่คุ้มค่าเงินที่จ่ายไปจึงอยากจะเลิกบริการขอเงินคืน แต่บริษัทไม่ยอมให้คืน โดยอ้างข้อความในสัญญาที่ระบุว่าจะไม่มีการคืนเงินให้ในทุกกรณีแนวทางแก้ไขปัญหาลักษณะสัญญาของสปา มีข้อผูกมัดคล้ายๆ กับข้อสัญญาของฟิตเนสชื่อดังหลายแห่ง เช่น ต้องอยู่เป็นสมาชิกอย่างน้อย 12 เดือน ห้ามบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด เน้นวิธีการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต ดังนั้น คนที่มีบัตรเครดิตโดยเฉพาะคุณผู้หญิงจึงตกเป็นเหยื่อของสัญญาลักษณะนี้กันเป็นจำนวนมากคำถามสำคัญของคุณผู้หญิงที่หลงเข้าไปสมัครใช้บริการกับสถานบริการเหล่านี้คือ ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนได้หรือไม่ ขอตอบว่าได้หากผู้บริโภคพบว่าทางผู้ประกอบการไม่จัดให้มีบริการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นข้อสำคัญในสัญญาหรือโฆษณาก็ให้ใช้เป็นเหตุผลในการบอกเลิกสัญญาได้เลยครับ เช่น เป็นสปาแต่ไม่มีอ่างน้ำวน หรือบอกว่าเป็นนวดน้ำมันแต่พอไปใช้จริงเหมือนโดนลูบตัวหรือถูขี้ไคลเสียมากกว่า ไม่ได้ใช้ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีใบอนุญาตมาให้บริการ อย่าไปใช้เหตุผลว่าไม่มีเวลา ไม่อยากไปเล่น ไม่สะดวกอย่างนั้นอย่างนี้ ขืนพาซื่อไปใช้เหตุผลแบบนี้ รับรองโดนตามทวงหนี้หัวหงอกแน่ เพราะฝ่ายผิดสัญญาจะเป็นผู้บริโภคนั่นแหละที่ไม่รู้จักประเมินตัวเอง เห็นว่าเงินหาง่าย แล้วไปเที่ยวเซ็นสัญญาทิ้งๆ ขว้างๆวิธีบอกเลิกสัญญาเคยเขียนไว้ในเล่มก่อนๆ แต่เพื่อไม่ต้องไปค้นย้อนหลังเลยขอย้ำอีกครั้งว่า การแจ้งเลิกสัญญาและขอเงินคืนนั้น อย่าไปใช้วิธีโทรศัพท์หรือเดินไปบอกด้วยตัวเองอย่างเดียวครับ ต้องทำเป็นจดหมายบอกเลิกสัญญาส่งไปที่กรรมการผู้จัดการบริษัท และให้สำเนาจดหมายนี้ส่งไปที่บริษัทบัตรเครดิตที่จ่ายเงินแทนด้วย เพื่อให้ระงับการเรียกเก็บเงินจดหมายที่ส่งไปทั้งสองที่ให้ส่งเป็นจดหมายแบบไปรษณีย์ตอบรับเท่านั้น จะได้มีหลักฐานไว้ยันกันในภายหลัง หากต้องเป็นคดีความกันวิธีการแก้ไขปัญหาสัญญาจำพวกผูกมัดไม่ให้เลิกใช้บริการแบบนี้ใช้ได้กับบริการพวกฟิตเนสหรือ บริการที่มีการเรียกเก็บเงินล่วงหน้าผ่านบัตรเครดิตได้เช่นกันครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 แม่บ้านดวงอับ ถูกแบงค์ฟ้องหนี้บัตรเครดิต

แทบเป็นลมล้มทั้งยืนเมื่อเห็นหมายศาลส่งมาถึงบ้านแจ้งให้ไปศาลในวันที่ 17 สิงหาคม 2552 และให้ชำระหนี้บัตรเครดิตให้กับธนาคารกรุงเทพ เป็นเงินสามหมื่นกว่าบาท“ได้รับเงินแค่เดือนละ 4-5 พันบาท จะเอาปัญญาที่ไหนไปใช้เงินเขา ที่สำคัญยังไม่รู้เลยว่าเคยไปทำบัตรเครดิตใบนี้ไว้ตอนไหน”คุณชิดชนก แม่บ้านทำความสะอาดอยู่ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) โอดครวญ“ก็เคยได้รับจดหมายทวงหนี้จากธนาคารมาก่อนเหมือนกัน เขาบอกว่าเราได้รับอนุมัติให้ใช้บัตรเครดิตของธนาคาร และก็มียอดหนี้แจ้งมาในจดหมาย เรากับสามีก็งงๆ เพราะบัตรเครดิตสักใบก็ไม่เคยเห็น ไม่เคยใช้แล้วจะมีหนี้ได้อย่างไร ไม่มีความรู้ทางข้อกฎหมายด้วยว่าจะต้องทำยังไงต่อไป คิดในแง่ดีไปว่าเขาอาจจะส่งผิดก็ไม่ได้สนใจอะไร”เมื่อไม่มีการทักท้วงใดๆ ออกไป ในที่สุดหมายฟ้องคดีจึงมาเกาะที่หน้าประตูบ้านทันที คราวนี้ทั้งบ้านเหมือนร้อนเป็นไฟอยู่เฉยกันไม่ได้ ต้องมานั่งตรวจเอกสารต่างๆ ที่แนบมากับหมายฟ้อง ก็มาสะดุดกับลายเซ็นชื่อของตัวเองในใบสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิต“ไม่ใช่ลายเซ็นของเราแน่นอน” คุณชิดชนกยืนยัน”“คนอื่นอาจจะดูเหมือนมาก แต่เราเห็นแล้วบอกเลยว่าไม่ใช่ ส่วนรายละเอียดอย่างอื่น เช่น ยอมรับว่าชื่อ-นามสกุลเป็นของเรา เลขบัตรประชาชนก็เป็นของเรา แต่ที่อยู่บ้าน เบอร์โทรศัพท์ ไม่ใช่ เป็นบ้านใครเบอร์โทรศัพท์ใครก็ไม่รู้ มาดูชื่อสถานที่ทำงานก็ไม่ใช่บริษัทที่เราทำงานให้อยู่ แถมแจ้งรายได้ถึง 3 แสนบาทต่อปีอีก มันไม่ใช่ตัวเราเลยน่ะ เงินเดือนเราแค่ 4-5 พันเท่านั้น” หลังจากนั้นคุณชิดชนกจึงหอบหลักฐานประจำตัว หลักฐานตามสำนวนฟ้องคดีที่ได้รับมาโดยไม่ต้องการวิ่งไปหาธนาคารกรุงเทพ เพื่อปฏิเสธภาระหนี้ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2552 แต่ด้วยความร้อนใจที่วันนัดของศาลใกล้เข้ามาเรื่อยๆ คุณชิดชนกจึงดิ้นรนไปร้องทุกข์กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้รับเรื่องในเวลาต่อมาแนวทางแก้ไขปัญหา สำหรับผู้บริโภคที่โดนแจ็คพอตมีหนี้บัตรเครดิตทั้งที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของบัตรหรือใช้บัตร ให้ใช้หลักทักท้วงและปฏิเสธโดยทันที ดังนี้ครับ1.เมื่อผู้บริโภคตรวจสอบพบว่าตนไม่ได้เป็นผู้เข้าทำสัญญาขอใช้บัตรเครดิตกับธนาคาร หรือไม่ได้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือบริการตามที่มีใบแจ้งหนี้มา ให้ทำหนังสือปฏิเสธสัญญาหรือรายการใช้จ่ายดังกล่าวโดยทันทีและส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนตอบรับถึงธนาคารโดยทันที(การโทรไปที่ศูนย์บริการของผู้ประกอบธุรกิจมีข้อดีคือสะดวก ง่าย แต่ผู้บริโภคจะไม่มีหลักฐานไว้ยืนยันในภายหลัง)2.ถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต หรือธนาคารที่จะเป็นผู้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการทำสัญญาว่ามีผู้ปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสารมาทำสัญญาหรือไม่3. หนี้ที่เกิดขึ้นถือเป็นหนี้เสียของธนาคารที่ธนาคารจะต้องติดตามดำเนินคดีเองกับผู้กระทำผิด มิใช่ผู้บริโภคในส่วนผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาของคุณชิดชนกได้รับการชี้แจงจากธนาคารกรุงเทพว่าหลังคุณชิดชนกมาแจ้งเรื่อง ธนาคารจึงได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการขอทำบัตรเครดิตและยอมรับว่าเป็นเอกสารที่ไม่เกี่ยวข้องกับคุณชิดชนกแต่ที่ช้าไปบ้างก็เพราะธนาคารต้องใช้เวลาตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้แน่ใจโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 3 อาทิตย์ ท้ายที่สุดธนาคารยินยอมที่จะถอนฟ้องคุณชิดชนกในวันที่ศาลนัดโดยทันที แต่เพื่อความปลอดภัย... มูลนิธิฯ จึงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่พร้อมทนายไปเป็นพี่เลี้ยงในวันขึ้นศาลด้วย หากธนาคารเกิดเปลี่ยนใจคุณชิดชนกจะสามารถต่อสู้คดีได้ทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 95 Blacklist บัตรเครดิตเจ้าไหนใจร้ายสุด

ปีที่ผ่านมานักวิจัยของฉลาดซื้อได้รวบรวมแผ่นพับเชิญชวนให้คนเป็นหนี้ เอ้ย…ไม่ใช่ เชิญคนสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตเกือบทุกเจ้าในประเทศไทย โดยรวบรวมทั้งที่เป็นธนาคารและไม่ใช่ธนาคาร แล้วก็ลองพินิจพิเคราะห์ดูว่า แต่ละเจ้ามีความใส่ใจในผู้บริโภคมากแค่ไหน ข้อความมีความละเอียดเพียงพอต่อการตัดสินใจหรือมีการระบุข้อความอะไรที่เข้าข่ายจะละเมิดสิทธิผู้บริโภคบ้าง ปรากฎว่าข้อมูลเยอะมากมายจนสามารถทำเป็นซีรี่ส์เรื่องบัตรเครดิตยอดเยี่ยม ยอดแย่ได้ทีเดียว แต่เพราะเนื้อที่เราจำกัดมาก ฉบับนี้จึงขอนำเสนอเฉพาะกรณีเกี่ยวกับการทวงหนี้ ซึ่งพบว่ามีผู้ประกอบการหลายเจ้าทีเดียว ที่ระบุเสียชัดเจนว่า สามารถทวงหนี้กับใครอื่นก็ได้ที่ไม่ใช่เรา แต่จะอ่านเจอหรือไม่ อันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสายตาของผู้บริโภคเพราะว่า ตัวอักษรมันเล็กมากๆ น้อยกว่า 2 มิลลิเมตรเสียอีก ฉลาดซื้อทดสอบ1.บัตรเครดิต ที่ระบุเงื่อนไขว่า บริษัทฯ สามารถกระทำการทวงถามติดตามหนี้สินได้ จากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือบัตร ได้แก่ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารยูโอบี และ บ.จีอี แคปปิตอล ประเทศไทย จำกัด (เฟิร์สช้อยส์ วีซ่า, บัตรเซ็นทรัล มาสเตอร์การ์ด, บัตรเครดิต โรบินสัน วีซ่า, บัตรเครดิต เทสโก้ วีซ่า)2.บัตรสินเชื่อบุคคล ที่ระบุเงื่อนไขว่า บริษัทฯ สามารถกระทำการทวงถามติดตามหนี้สินได้ จากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือบัตร ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (สินเชื่อหมุนเวียนสปีดี้แคช/สินเชื่อบุคคลสปีดี้โลน) บ.จีอี แคปปิตอล ประเทศไทย จำกัด (สินเชื่อเงินสด พาวเวอร์บาย) 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point

ฉบับที่ 149 กระแสต่างแดน

คุณบอกดาว! มาตรการใหม่จากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรของออสเตรเลียจะทำให้คุณแอบอิจฉา เพราะต่อไปนี้จะมีการ “ติดดาว” ให้กับอาหารสำเร็จรูปเพื่อบอกให้รู้ว่าอาหารนั้นดีต่อสุขภาพมากน้อยเพียงใด Health Star Rating ที่ว่านี้มีตั้งแต่ ครึ่ง ถึง 5 ดาว โดย 5 ดาวหมายถึงอาหารที่มีประโยชน์สุดๆ จะกี่ดาวไม่ว่า แต่เขากำหนดให้ผู้ผลิตนำเสนอดาวอย่างชัดเจนบนฉลากด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์เท่านั้น เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน กว่าจะตกลงกันได้ รัฐบาล ผู้ผลิต องค์กรด้านสุขภาพ และองค์กรผู้บริโภค ก็ใช้เวลาหลายปี ไหนจะมีการล็อบบี้จากอุตสาหกรรมอาหารเข้าแทรกเป็นระยะ   ด้านผู้ผลิตก็มีความหงุดหงิดอยู่บ้างเป็นธรรมดา เขาบอกว่าต้องใช้เงินถึง 200 ล้านบาท ในการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของแพคเก็จ และยังบอกด้วยว่ายังไม่เห็นหลักฐานจากงานวิจัยที่บอกว่าการติดดาวนี้จะแก้ปัญหาโรคอ้วนได้ ออสเตรเลีย ซึ่งประชากร 10 ล้านคน (จากทั้งหมด 23 ล้านคน) อยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน ตั้งเป้าจะลดอัตราการเกิดโรคเรื้อรังและโรคอ้วนได้ด้วยวิธี “ติดดาว” ซึ่งถือเป็นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ขั้นแรกเขาให้เป็นความสมัครใจของผู้ผลิต แต่ถ้าสองปีผ่านไปแล้วคนสมัครใจยังมีน้อยมาก ก็จะเปลี่ยนเป็นแบบบังคับกันล่ะครับผม   การศึกษาดีเริ่มที่บ้าน ที่เมืองจีนนั้นคุณจะไม่มีสิทธิเลือกโรงเรียนถ้าคุณต้องการให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาล เพราะกฎหมายกำหนดให้คุณส่งลูกเรียนในโรงเรียนใกล้บ้านเท่านั้น แต่โรงเรียนดีๆ ที่สามารถการันตีอนาคตเด็กได้กลับมีน้อยมาก (คุ้นๆนะ) เรียกว่าถ้าใครมีบ้านอยู่ในเขตเดียวกับโรงเรียนดังก็เหมือนถูกหวยเลยทีเดียว ถึงไม่มีก็ไม่ยาก ถ้าคุณมีเงิน ในข่าวเขายกตัวอย่างของครอบครัวหนึ่งที่ตัดสินใจขายบ้านหลังใหญ่ ในย่านที่มีสภาพแวดล้อมยอดเยี่ยม เพื่อนำเงินมาซื้ออพาร์ตเมนต์ในเขตเดียวกับโรงเรียนที่หมายตาไว้ให้ลูก ซึ่งจะเข้าโรงเรียนในอีก 3 ปีข้างหน้า (กฎของเมืองเซี่ยงไฮ้กำหนดให้เด็กต้องมีชื่อเป็นผู้อาศัยในเขตเดียวกับโรงเรียนอย่างน้อย 3 ปี) แต่คุณต้องทำใจ เพราะที่อยู่อาศัยในเขตเดียวกับโรงเรียนดังนั้นจะมีราคาแพงกว่าที่อยู่นอกเขตเป็นเท่าตัว และยังไม่นับว่าสภาพก็ค่อนข้างจะย่ำแย่ด้วย อพาร์ตเมนท์ขนาด 28 ตารางเมตร ที่ครอบครัวนี้ตัดสินใจซื้อนั้น แม้จะอายุ 30 ปีแล้ว ก็ยังขายได้ราคาประมาณ 250,000 บาท (50,000 หยวน) ต่อตารางเมตร ไม่ว่าจะแพงแค่ไหน พ่อแม่เหล่าก็ยินดีจ่ายโดยไม่ลังเล เพราะช้าเดี๋ยวหมดแล้วลูกจะอดเรียน ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจีนมีคอนโดสร้างใหม่ที่ไม่มีใครไปซื้ออยู่ ... คงเป็นเพราะไม่มาสร้างในย่านที่มีโรงเรียนดีๆ นี่เอง     คนรุ่นใหม่เชิดใส่บัตรเครดิต เรากำลังพูดถึงคนอเมริกันในยุคเศรษฐกิจชะลอตัวที่กลัวการเป็นหนี้ ข้อมูลจาก FICO (คล้ายๆ บริษัทเครดิตบูโรที่บ้านเรา) ระบุว่า คนอายุระหว่าง 18 – 29 นิยมไม่มีบัตรเครดิตกันมากขึ้น ข้อมูลปี 2012 ระบุว่ามีถึงร้อยละ 16 และหนี้บัตรเครดิตของกลุ่มอายุนี้ก็ลดลงด้วย เมื่อ 5 ปีก่อนเป็นหนี้เฉลี่ยคนละ 3,073 เหรียญ (95,500 บาท) ปีที่แล้วลดลงมาเหลือ 2,087 เหรียญ (65,000 บาท) ข่าวบอกว่าสาเหตุหนึ่งคือ พ.ร.บ.บัตรเครดิต ที่ประกาศใช้เมื่อสี่ปีที่แล้วนั้นทำให้คนอายุต่ำกว่า 21 ปีขอมีบัตรเครดิตได้ยากขึ้นกว่าเดิม และภาวะฝืดเคืองยังทำให้หนุ่มสาวอเมริกันเลือกที่จะไม่ซื้อรถเพราะต้องการเก็บเงินสำรองไว้ยามจำเป็น และไม่ใช้บัตรเครดิตเพราะกลัวว่าจะเมื่อมีปัญหาไม่สามารถชำระเงินได้ ก็จะถูกบันทึกประวัติ ทำให้ไม่สามารถขอกู้เงินในยามฉุกเฉิน และคนกลุ่มนี้ยังนิยมใช้การจ่ายเงินผ่านมือถือหรือการหักบัญชีธนาคารกันมากขึ้นด้วย แต่เดี๋ยวก่อน ... แม้จะไม่มีหนี้บัตรเครดิต แต่หนุ่มสาวเหล่านี้กลับมีหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษามากขึ้น จากหนี้เฉลี่ยคนละ 6,500 เหรียญ (202,000 บาท) เมื่อ 5 ปีก่อน เพิ่มเป็น 11,500 เหรียญ (358,000 บาท) ในปี 2012   กีวีนิยมกินกล้วย สำนักงานสถิติแห่งชาติของนิวซีแลนด์ระบุว่า ผลไม้ที่ชาวกีวีนิยมซื้อหามารับประทานมากที่สุดคือกล้วยหอม สถิติระบุว่า ประชากรหนึ่งคนจะบริโภคกล้วยหอมปีละ 18 กิโลกรัม (หรือสัปดาห์ละ 2 ลูก) และแต่ละครัวเรือนจะมีค่าใช้จ่ายเรื่องกล้วยๆ ไม่ต่ำกว่าปีละ 2,000 บาท แซงหน้าแอปเปิ้ลและส้ม ซึ่งมียอดซื้ออยู่ที่ 1,500 และ 650 บาท ต่อครัวเรือนต่อปีไปขาดลอย อาจเป็นเพราะผู้คนรู้สึกว่ากล้วยเป็นอาหารที่คุ้มค่าเงินที่สุด ในขณะที่ราคาอาหารในนิวซีแลนด์พากันขึ้นราคาเป็นสามเท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กล้วยหอมมีราคาเพิ่มจากเดิมเพียงสองเท่าเท่านั้น (จาก 34 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 68 บาท) แถมกล้วยหอมยังเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง ถูกใจคนที่ต้องการอิ่มท้องแต่ไม่ต้องเสียเงินมากอีกด้วย แต่ขอบอกว่านิวซีแลนด์ไม่ได้ปลูกกล้วยหอมเองเลย เขาต้องพึ่งพากล้วยหอมนำเข้าจากเอกวาดอร์และฟิลิปปินส์ ความต้องการเยอะขนาดนี้ เกษตรกรไทยสนใจจะปลูกไปขายเขาบ้างไหม?     ระวังผู้ติดตาม แม้ปัจจุบันการมีผู้ติดตาม หรือ Follower ในเว็บโซเชียลทั้งหลายจะไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนาจะมีให้มากไว้ แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากคนอเมริกันจะถูกรัฐบาลแอบฟังเป็นประจำแล้ว (ตามที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนออกมาแฉ) แล้ว พวกเขายังเป็นเป้าหมายการติดตามของบรรดาเว็บไซต์ต่างๆ ที่ต้องการข้อมูลส่วนบุคคลอีกด้วย งานวิจัยชิ้นล่าสุดจากมหาวิทยาลัยเซาท์เธิร์นแคลิฟอเนีย พบว่ามีคน “อยากรู้ว่าคุณอยากรู้อะไร” เพื่อนำไปประเมินหรือตีความว่าสุขภาพร่างกายจิตใจของคุณปกติดีหรือไม่ นักวิจัยทดลองใส่คำค้นเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ อย่าง “โรคซึมเศร้า” หรือ “มะเร็ง” ลงไปในเว็บไซต์ด้านสุขภาพ เช่น เว็บของสถาบันสุขภาพ องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ WebMD และ Weight Watcher แล้วใช้ซอฟต์แวร์ฟรี DoNotTrackMe และ Ghostery ตรวจจับว่าบุคคลที่สาม (Third Party) ในเว็บไซต์ที่เข้าไปมีใครบ้าง แล้วใช้ซอฟท์แวร์อีกตัวหนึ่งตรวจหาว่ามีการส่งต่อข้อมูลจากเว็บนั้นไปยัง Third Party ด้วยหรือไม่ ผลคือทุกเว็บที่สำรวจต่างก็มี “บุคคลที่สาม” และมีอยู่ 13 จากทั้งหมด 20 เว็บที่คอยติดตามข้อมูลผู้ใช้ สำคัญที่สุดคือมี 7 เว็บจาก 20 เว็บที่ส่งต่อข้อมูลการค้นหาของคุณออกไปให้คนอื่น ทั้งนี้ผู้วิจัยให้เหตุผลว่า เว็บไซต์ต่างๆ ยังสามารถทำอย่างนี้ได้ก็เพราะกฎหมายของอเมริกายังไม่ชัดเจนเรื่องการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้นั่นเอง นักวิจัยเตือนว่า การถูกเปิดเผยว่าเรากำลังวิตกกับอาการเจ็บป่วยอะไรนั้นไม่ได้แค่ทำให้เราอับอาย แต่มันหมายถึงเราอาจถูกปฏิเสธโอกาสในการได้งานทำด้วย //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 กระแสต่างแดน

  บัตรของเรา เรทของเรา บริษัทบัตรเครดิตวีซ่างานเข้า เมื่อถูกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลียฟ้องในข้อหาพยายามใช้อำนาจทางการตลาดผูกขาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ   ข่าวบอกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น นักท่องเที่ยวที่ถอนเงินจากตู้กดเงินอัตโนมัติด้วยบัตรวีซ่าจะต้องใช้อัตราแลกเงินที่วีซ่าเป็นผู้กำหนดเท่านั้น   แม้คุณจะเลือกจ่ายค่าสินค้าบริการด้วยบัตรเครดิต บริษัทเขาก็กำหนดให้ร้านค้าต่างๆ ที่เปิดรับการจ่ายเงินด้วยบัตรวีซ่าใช้อัตราแลกเปลี่ยนของเขาอยู่ดีนั่นแหละ   คณะกรรมการฯ เป็นห่วงว่าจะเกิดการผูกขาดในธุรกิจบริการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และเจ้าอื่นจะพากันล้มหายตายจาก ไม่เหลือทางเลือกให้ผู้บริโภคในที่สุด  นั่นสินะ.. เวลาจะแลกเงินเรายังต้องเสาะหาว่าจะไปแลกเงินกับเจ้าไหนดีให้ได้อัตราสูงที่สุด แต่เวลาใช้บัตรเรากลับหมดทางเลือกไปซะอย่างนั้น     ภาษีที่เลี่ยงได้ คือกำไรของเรา? เว็บไซต์ www.ethicalconsumer.org ของอังกฤษกำลังชักชวนให้ผู้บริโภคบอยคอตอเมซอน ร้านหนังสือออนไลน์ที่เรารู้จักกันดี เพื่อกดดันให้บริษัทจ่ายภาษีให้สมน้ำสมเนื้อกับผลกำไรมหาศาลเสียที   อเมซอนไม่ใช่บริษัทเดียวที่เลี่ยงภาษี แต่ที่ถูกเพ่งเล็งหนักเพราะเว็บนี้เขาเชื่อว่าอเมซอนใช้การเลี่ยงภาษีเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของการทำธุรกิจ   รายงานในหนังสือพิมพ์ The Guardian ระบุว่า 1 ใน 4 ของลูกค้าของบริษัทอยู่ในอังกฤษ คิดเป็นยอดขายในประเทศนี้ถึง 7,500 ล้านปอนด์ (350,000 ล้านบาท) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา   แต่บริษัทไม่ได้เสียภาษีจากผลกำไรดังกล่าวให้กับรัฐบาลอังกฤษเลย เขาคาดว่าการสูญเสียครั้งนี้มีมูลค่าประมาณ 100 ล้านปอนด์ (4,600 ล้านบาท)   เมื่อพ.ศ. 2551 นิตยสาร Business Week ระบุว่าอเมซอนจ่ายภาษีให้รัฐบาลอเมริกันเพียงร้อยละ 4 ของผลกำไรเท่านั้น ... น้อยกว่าอีก 488 บริษัทที่อยู่ใน 500 อันดับบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ   ถัดมาอีก 3 ปี อเมซอนใช้เงิน 5 ล้านเหรียญ(ประมาณ 150 ล้านบาท) สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายภาษีของรัฐแคลิฟอร์เนียให้เป็นประโยชน์ต่อบริษัทมากขึ้นด้วย       ใครอยากบอยคอตก็ให้ไปซื้อหนังสือจากเว็บของสำนักพิมพ์โดยตรง หรือไม่ก็อุดหนุนร้านหนังสือแถวบ้านดีกว่า(แต่ใครจะเข้าไปเปิดดูตัวอย่างหนังสือจากเว็บของอเมซอนฟรีๆ อันนี้ไม่ว่ากัน)     เมื่อสตาร์บัคส์ชักจะไม่หอมกรุ่น หลังจากสตาร์บัคส์อังกฤษถูกเปิดโปงในรัฐสภาว่ามีมาตรการเลี่ยงภาษีที่ “ไร้จริยธรรม” บริษัทจึงรีบแก้ไขสถานการณ์ด้วยการออกนโยบายลดเงินเดือนและสวัสดิการพนักงานเสียเลย โดยให้เหตุผลว่าต้องลดรายจ่ายเพื่อให้มีเงินเหลือมาจ่ายภาษีมากขึ้น   นโยบายนี้มีผลต่อพนักงานประมาณ 7,000 คน ของร้านกาแฟสตาร์บัคส์กว่า 750 สาขาในอังกฤษ ที่ต่อไปนี้จะไม่ได้ค่าจ้างในช่วงพักกลางวัน 30 นาที ค่าจ้างในวันแรกของการลาป่วย เงินโบนัสพิเศษ หรือแม้แต่คูปองกินฟรีในวันเกิด   พนักงานบอกว่าพวกเขามีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ หนึ่งเซ็นรับทราบข้อตกลง/เงื่อนไขการจ้างงานใหม่ แล้วทำงานต่อไปเงียบๆ อย่าหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุยเป็นอันขาด สองไม่เซ็นก็ได้ แต่ต้องลาออกไปโดยพลัน   สตาร์บัคส์แถลงว่า รายจ่ายของธุรกิจร้านกาแฟของบริษัทหมดไปกับค่าจ้างและสวัสดิการพนักงานมากที่สุด บริษัทจึงใช้เวลาในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมาปรับโครงสร้างรายจ่ายให้สมดุลกับการพัฒนาธุรกิจ   บริษัทบอกว่าได้ทำความเข้าใจกับพนักงานแล้ว โดยบางคนได้รับคำอธิบายจากผู้จัดการว่าสตาร์บัคส์ขาดทุนค่อนข้างมากในยุโรป จึงต้องหาวิธีลดรายจ่ายลง   แต่รายงานข่าวในช่วงก่อนหน้านี้บอกว่า ด้วยวิธีการอันซับซ้อนซ่อนเงื่อน ทำให้สตาร์บัคส์เสียภาษีเพียง 8.6 ล้านปอนด์ (403 ล้านบาท) จากรายได้ทั้งหมด 3,100 ล้านปอนด์ (145,200 ล้านบาท) ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา   ด้านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษก็ตั้งข้อสงสัยว่า มันเป็นไปได้อย่างไรที่บริษัทนี้จะขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตลอดเวลา 15 ปีที่เปิดกิจการในอังกฤษ ทั้งๆ ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 30   และที่สำคัญยังแถลงต่อผู้ถือหุ้นว่าบริษัททำกำไรได้ร้อยละ 15 ต่อปีด้วย   ตกลงมันยังไงกันแน่? แล้วทำไมภาระภาษีถึงมาตกอยู่กับพนักงานรายได้น้อยไปเสียได้?     บอกแล้วให้ซื้อรถใหม่ เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งของ สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์สิงคโปร์ (คล้ายๆ สคบ.บ้านเรา) ปีนี้ได้แก่ “รถมือสอง” ที่เบียดแชมป์เก่าอย่าง “ผลิตภัณฑ์ความงาม” ตกถนนไปเลย   ข่าวบอกว่าเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับรถมือสองที่เคยครองอันดับ 9 ในปีที่แล้ว ขึ้นจากมาครองตำแหน่งแชมป์ในปีนี้ ด้วยสถิติเรื่องร้องเรียนถึง 2,255 กรณี (เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 80)   สาเหตุเพราะปัจจุบันการจะซื้อรถใหม่ที่สิงคโปร์นั้นต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่อง “ใบรับรองการเป็นเจ้าของรถ” ที่สูงถึง 92,100 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 2 ล้านกว่าบาท ... โอ้แม่เจ้า ... นี่ยังไม่ได้รวมราคารถเลยนะ) ที่สำคัญเขาบอกว่าใบรับรองฯ ที่ว่านี้ยังสามารถแพงได้อีก   ก็คงมีแต่เศรษฐีเท่านั้นที่จะซื้อรถใหม่ได้ ส่วนครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางก็ต้องพึ่งรถมือสองซึ่งนอกจากจะเกเรอยู่บ่อยๆ แล้วยังจะฝ่าฝืนนโยบายลดมลพิษด้วยการพ่นควันดำกระจาย...ให้รัฐบาลปวดหัวอีกด้วย     เวียดนามร้องซีพีขายไข่ไก่แพง หลังจากชาวบ้านร้องเรียนกันเข้ามามากว่าราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี   กรมอุตสาหกรรมและการค้าแห่งนครโฮจิมินห์เรียกตัวแทนของซีพีเวียดนามเข้าชี้แจงนโยบายการตั้งราคาไข่ไก่ของบริษัทโดยด่วน   กรมฯ บอกว่า ไข่ที่นำเข้าตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วก็ยังเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ  ราคาอาหารไก่ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง แล้วเหตุใดซีพีท่านจึงขึ้นราคาเสียเล่า   ซีพีออกมายอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับราคาไข่ไก่ขึ้นหลายครั้ง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนเทศกาลเต๊ดหรือตรุษจีนของเวียดนาม ที่ความต้องการสูงเป็นพิเศษ แต่สัญญาว่าต่อไปนี้จะตั้งราคาให้เป็นธรรมขึ้น   เกษตรกรขายไข่ให้ซีพีในราคาฟองละ 1550 ด็อง (2.2 บาท)  รวมค่าขนส่งค่าบรรจุหีบห่อแล้วก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,700 ด็อง (2.4 บาท) แต่ ณ วันที่ 15 มกราคม ซีพีเวียดนามขายที่ราคา 2,500 ด็อง (3.5 บาท)   ตามกฏหมายเวียดนาม การฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้ามีความผิด ต้องเสียค่าปรับร้อยละ 5 – 10 ของรายได้บริษัท   ปี 2011 ซีพีเวียดนามมีรายได้ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (44,670 ล้านบาท) //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 สัญญาไม่เป็นธรรมกรณีบัตรเครดิตหาย

ฉบับนี้ขอนำเสนอเรื่อง ข้อตกลงที่กำหนดให้ผู้ใช้บัตรเครดิตต้องรับผิดต่อธนาคารฯ ในกรณีที่บัตรเครดิตสูญหาย ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ในการยื่นคำขอมีบัตรเครดิตนั้นผู้ยื่นจะต้องลงลายมือชื่อในสัญญาตามที่ทางธนาคารฯ เจ้าของบัตรเครดิตได้กำหนดไว้  ซึ่งในสัญญาดังกล่าวจะมีข้อตกลงต่างๆ ที่ทางธนาคารฯ เจ้าของบัตรเครดิตกำหนดไว้ สัญญาดังกล่าวจึงเป็น “สัญญาสำเร็จรูป” “สัญญาสำเร็จรูป” หมายความว่า สัญญาที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรโดยมีการกำหนดชื่อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะทำในรูปแบบใด ซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำมาใช้ในการประกอบกิจการของตน” สัญญาสำเร็จรูปมีผลก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมความไม่เสมอภาคในการทำสัญญา เพราะจะมีการกำหนดความละเอียดหลักเกณฑ์ทางสัญญาไว้เป็นแบบสำเร็จรูป คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีเวลาพอที่จะตรวจสอบหรือหากสามารถตรวจสอบได้ก็ไม่อาจจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ต่อรองเงื่อนไขให้เป็นประการอื่นใด ทำให้เกิดปัญหาการทำสัญญาโดยไม่สมัครใจ หรืออยู่ในภาวะที่ต้องยอมรับข้อเสียเปรียบที่อาจเห็นอยู่แล้วตั้งแต่ตอนทำสัญญา  ในทางปฏิบัติจะเห็นได้ว่า  สัญญาสำเร็จรูปมีลักษณะของความไม่เป็นธรรมตั้งแต่รูปแบบของสัญญา กล่าวคือ ใช้ตัวเล็ก มีข้อความละเอียดมากมาย ใช้ศัพท์เทคนิคเข้าใจได้ยาก และมีการพัฒนามาจากกรณีความผิดพลาดที่คู่สัญญาฝ่ายที่นำมาใช้เคยประสบมาก่อน จึงมีการเขียนในลักษณะปิดช่องทางที่เคยผิดพลาดและพยายามเอาเปรียบอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น เพราะเคยผ่านบทเรียนมามากในขณะที่อีกฝ่ายเพิ่งจะเข้าทำสัญญาเป็นครั้งแรกหรือเพิ่งเคยทำไม่กี่ครั้ง ทำให้ขาดประสบการณ์ ไม่สามารถรู้เท่าทันอีกฝ่ายหนึ่งได้ จึงเป็นลักษณะของมืออาชีพกับมือสมัครเล่น   ซึ่งมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540  ได้บัญญัติไว้ว่า “ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น” ในกรณีที่มีข้อสงสัยให้ตีความสัญญาสำเร็จรูปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป ข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น (8) ข้อตกลงในสัญญาบัตรเครดิตที่กำหนดให้ผู้บริโภคต้องชำระดอกเบี้ยปรับ ค่าใช้จ่ายหรือประโยชน์อื่นใดสูงเกินกว่าที่ควรในกรณีที่ผิดนัดหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการชำระหนี้ “ ลองมาดูตัวอย่างที่ศาลฎีกานำบทบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมมาปรับบทบังคับสักเรื่องหนึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1989/2552 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่กำหนดให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่บัตรเครดิตสูญหาย ถูกลักขโมย หรือถูกใช้โดยบุคคลอื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ถือบัตร(จำเลย) ที่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ศูนย์บัตรเครดิตของธนาคาร(โจทก์)ทราบแล้วโดยพลันเพื่อให้ระงับการใช้บัตรเครดิต ในภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นก่อนมีการแจ้งดังกล่าวในจำนวนเงินที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตร ซึ่งถูกนำไปใช้โดยมิชอบ รวมถึงภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นหลังจากแจ้งให้ธนาคารทราบแล้วไม่เกิน 5 นาที นอกจากจะขัดแย้งกับข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 6 วรรคสอง แล้ว ยังถือเป็นข้อสัญญาที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระในหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยไม่ได้ก่อขึ้นและไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย  ทั้งโจทก์ยังมีทางแก้ไขความเสียหายของโจทก์ได้โดยหากโจทก์ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลยผู้ถือบัตร  โจทก์สามารถเรียกเงินที่ได้จ่ายไปคืนจากร้านค้าได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยบัตรเครดิตได้สูญหายไปเพื่อขอให้โจทก์ระงับการใช้บัตรเครดิต โจทก์จะต้องรีบดำเนินการให้จำเลยโดยเร็ว ก็จะทราบได้ทันทีว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลย แสดงว่าร้านเจมาร์ทไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อในเซลสลิป  ย่อมทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากร้านเจมาร์ทแทนการมาเรียกเก็บจากจำเลยได้ซึ่งเป็นธรรมกับทุกฝ่าย  แต่โจทก์มิได้ทำเช่นนั้น โดยเห็นว่ามีข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่ให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว ถือเป็นการเอาเปรียบจำเลยเกินสมควรและเป็นการผลักภาระให้จำเลยต้องรับผิดเกินกว่าวิญญูชนทั่วไปจะคาดหมายได้ตามปกติ อันเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 จึงไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 ดอกเบี้ยบัตรเครดิต

เดือนนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยบัตรเครดิตมาฝากแฟนๆ ฉลาดซื้อ คดีนี้โจทก์คือบริษัทกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ยื่นฟ้องผู้บริโภคเป็นจำเลย ส่วนจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ( ภาษาชาวบ้านก็คือไม่ได้ไปศาล ขี้เกียจไปซะอย่างงั้นละ ) โจทก์มัดมือชกจำเลยอยู่ข้างเดียว ดูมวยคู่นี้ซิผลจะออกมาอย่างไร ออกหัวหรือก้อย ดูตัวเลขจำนวนเงินให้ดีๆ นะครับ  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2551 โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 21,342.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 14,923.09 บาท และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอัตราร้อยละ 6 ต่อปี ของต้นเงิน 14,923.19 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 11,704 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 ทวิ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อกำหนดซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 8 แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาต ตาม ข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58( เรื่องสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ ไว้ในข้อ 4.4(1) ให้ผู้ประกอบธุรกิจอาจเรียกดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ เกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ทั้งนี้ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บต้องไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ (ร้อยละ 15 ต่อปี) โดยอัตรารวมสูงสุดของดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ ดังกล่าว รวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี (Effective rate) โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ โดยอัตรารวมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี แต่ข้อเท็จจริงตามหนังสือแจ้ง ผลการพิจารณาสินเชื่อบุคคลปรากฏว่า ในการที่โจทก์อนุมัติเงินกู้ให้แก่จำเลยจำนวน 18,900 บาทนั้น โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 1.25 ต่อปี หรือร้อยละ 15 ต่อปี และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของวงเงินกู้ที่โจทก์อนุมัติ กับค่าดำเนินการอนุมัติเงินกู้ซึ่งเป็นค่าบริการจำนวน 1,000 บาท ซึ่งสามารถคำนวณเป็นร้อยละได้อัตราร้อยละ 5.29 ของวงเงินกู้ที่โจทก์อนุมัติ เมื่อรวมอัตราดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินและค่าดำเนินการ การอนุมัติเงินกู้ซึ่งเป็นค่าบริการเข้าด้วยกันแล้วจะเป็นอัตราร้อยละ 30.29 เกินกว่าอัตราร้อยละ 28 ต่อปีที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าว การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยค่าบริการและค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าว จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 พิพากษายืน “ อ้าว!!! โจทก์เตะผิดลื่นหงายหลังหัวฟาดพื้นสลบไปซะแล้วครับ ท่านผู้ชม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 อายุความสินเชื่อบัตรเรดดี้เครดิต

รู้กฎหมายกับทนายอาสาsmbuyer@hotmail.comอายุความบัตรเครดิตนั้นมีอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามหนังสือทวงถามซึ่งเป็นระยะเวลาอันสั้น ทางฝ่ายสถาบันการเงินจึงพยายามทำสัญญาต่างๆ เพื่อลากให้เป็น “บัญชีเดินสะพัด” ให้ได้เพราะบัญชีเดินสะพัดมีอายุความถึง 10 ปี ถึงขนาดให้ลูกค้าเปิดบัญชีกระแสรายวันแล้วมอบเช็คให้ไว้เบิกจ่ายเลยทีเดียว เรามาดูกันสิว่าศาลท่านจะเล่นด้วยหรือไม่  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10262/2550 แม้สัญญาให้บริการสินเชื่อเรดดี้เครดิตโจทก์กับจำเลยต้องเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับโจทก์เพื่อให้จำเลยใช้บัญชีดังกล่าวเบิกถอนเงินโดยการใช้เช็คที่โจทก์มอบให้จำเลยไว้และมีข้อตกลงให้โจทก์หักทอนเงินในบัญชีเพื่อการชำระหนี้ใดๆ ที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามสัญญาก็ตาม แต่เมื่อตามสัญญาใช้สินเชื่อข้อ 11 ระบุไว้ว่า หากผู้กู้นำเงินสดและ/หรือเช็คเข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันที่ผู้กู้เปิดไว้โดยผู้กู้ไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ใดๆ แก่ธนาคาร ผู้กู้ยอมให้ธนาคารโอนเงินจำนวนดังกล่าวหรือที่เรียกเก็บได้ตามเช็คเข้าฝากในบัญชีเงินฝากประเภทไม่มีดอกเบี้ยที่ธนาคารจัดให้มีขึ้นทันที  ทั้งนี้ ผู้กู้ตกลงและรับทราบว่าในเวลาใดๆ เวลาหนึ่ง ยอดเงินฝากคงเหลือในบัญชีกระแสรายวันจะมีจำนวนเท่ากับศูนย์ ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่า จำเลยไม่มีโอกาสเป็นเจ้าหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันอันจะเป็นเหตุให้ต้องหักทอนบัญชีกัน ทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีก็ปรากฏว่าจำเลยใช้เช็คที่โจทก์มอบให้เบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยเพียงช่วงแรกเท่านั้น หลังจากนั้นจำเลยเบิกถอนเงินโดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติเพียงอย่างเดียว ในการคิดดอกเบี้ยเนื่องจากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คิดดอกเบี้ยอย่างทบต้นแต่อย่างใด บัญชีกระแสรายวันที่จำเลยเปิดไว้จึงเป็นบัญชีกระแสรายวันที่ใช้ให้เพื่อให้จำเลยชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเรดดี้เครดิตของจำเลยฝ่ายเดียวโดยเฉพาะ ไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวขึ้นโดยมีเจตนาตกลงกันโดยตรงให้หักทอนบัญชีหนี้อันเกิดขึ้นแก่กิจการในระหว่างโจทก์กับจำเลย และคงชำระหนี้แต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือ อันเป็นลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 865  การที่โจทก์ออกบัตรซิตี้การ์ดพร้อมเลขรหัสประจำตัวให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยใช้เบิกถอนเงินสดจากพนักงานของโจทก์หรือจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติโดยไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเบิกเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของโจทก์เท่านั้น ซึ่งหากจำเลยเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของสถาบันการเงินอื่นๆ โจทก์ต้องออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยไปก่อน อันเป็นการรับทำการงานแทนนั่นเอง ส่วนการมอบเช็คให้จำเลยไว้ใช้ในการเบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลย หรือออกรหัสประจำตัวแก่จำเลยเพื่อให้จำเลยสามารถใช้บริการสินเชื่อเรดดี้เครดิตได้นั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการอำนวยความสะดวกดังกล่าว  กรณีถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่างๆ ให้จำเลยเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 20 มีนาคม 2546 ตามที่กำหนดไว้ในใบแจ้งยอดบัญชี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2546 การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้วันที่ 25 เมษายน 2548 ซึ่งพ้นกำหนด 2 ปี แล้วสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ  สรุปว่า ศาลท่านไม่เล่นด้วยนะครับ อายุความยังเป็น 2 ปีเช่นเดิมสำหรับบัตรเรดดี้เครดิต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 บัตรเครดิตปลอมและถูกลัก

รู้กฎหมายกับทนายอาสาsmbuyer@hotmail.com กรณีที่มีบุคคลอื่นทำปลอมบัตรเครดิตหรือลักบัตรเครดิต เช่น เป็นการลักหรือโจรกรรมข้อมูลจากบัตรเครดิตในขณะมีการใช้บัตรเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ โดยผู้ขโมยข้อมูลเป็นพนักงานของร้านค้าหรือสถานบริการ หรือข้อมูลถูกขโมยจากเครื่องมืออิเล็กโทรนิกส์ที่คนร้ายลักลอบติดตั้งไว้บริเวณด้านบนของเครื่อง เอ ที เอ็ม (มีการถ่ายภาพหรือบันทึกข้อมูล ขณะมีการใช้บัตรเครดิตนั้นกดรหัสประกอบบัตรเครดิตเบิกถอนเงินจากเครื่อง เอ ที เอ็ม) ซึ่งเจ้าของบัตรเครดิตไม่ทราบเรื่อง หรือขโมยจากข้อมูลที่ธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตเก็บรักษาไว้ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ แล้วนำข้อมูลนั้นมาทำบัตรเครดิตปลอม แล้วมีการนำบัตรปลอมนั้นออกไปซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมทั้งการเบิกถอนเงินจากเครื่อง เอ ที เอ็ม ซึ่งกรณีที่สองนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า สมาชิกหรือเจ้าของบัตรเครดิตที่ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมให้มีการทำบัตรเครดิตปลอม ไม่ต้องรับผิดใช้เงินที่ธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตได้ออกทดรองไปก่อน จากการใช้บัตรเครดิตปลอมของบุคคลอื่น เพราะธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตจะต้องจัดทำบัตรเครดิตและจัดเก็บข้อมูลเป็นความลับ ให้ยากต่อการถูกลักหรือโจรกรรมข้อมูลไปได้ เว้นแต่เจ้าของบัตรเครดิตมีส่วนรู้เห็นให้บุคคลอื่นทำบัตรเครดิตปลอมขึ้นมา แล้วมีการนำบัตรเครดิตไปใช้ซื้อสินค้าและบริการ รวมทั้งเบิกถอนเงินสดจากเครื่อง เอ ที เอ็ม เจ้าของบัตรเครดิตนั้นต้องรับผิดชอบหนี้ที่เกิดขึ้น ดังนั้นหากสมาชิกบัตรเครดิตได้รับใบแจ้งยอดหนี้ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตเป็นรายเดือนจากธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตแล้ว ถ้าตรวจสอบใบแจ้งยอดหนี้แล้วเห็นว่าตนมิได้ใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าและบริการรายใด รวมทั้งการเบิกถอนเงินสดจากเครื่อง เอ ที เอ็ม ก็ต้องรีบแจ้งและทักท้วงเป็นลายลักษณ์อักษรไปทันที เพื่อธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตจะได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อยกเลิกบัตรเครดิตใบดังกล่าว แล้วออกบัตรเครดิตใหม่ให้แทนต่อไป  สำหรับกรณีบัตรเครดิตถูกคนร้ายลักไปแล้วนำไปใช้นั้น มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยล่าสุด ซึ่งมีความน่าสนใจดังนี้  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2840/2550 ข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ระบุว่า บัตรเครดิตนี้ธนาคารได้ออกให้และสงวนไว้เฉพาะผู้ถือบัตรเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ถือบัตรยินยอมอนุญาตหรือนำบัตรเครดิตไปให้บุคคลอื่นใช้ ดังนั้นในกรณีที่มีบุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ที่ออกให้แก่จำเลยไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการแก่สถานประกอบกิจการและร้านค้าเป็นการใช้บัตรเครดิตซึ่งมิได้เป็นไปโดยถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติและ/หรือเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตจะต้องรับผิดชำระหนี้อันเกิดจากการที่มีบุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ต่อเมื่อจำเลยได้ยินยอม อนุญาตหรือนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปให้บุคคลอื่นใช้ตามข้อตกลงดังกล่าวข้างต้น การที่บัตรเครดิตของจำเลยถูกคนร้ายลักไปย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าจำเลยมิได้ยินยอมอนุญาตหรือนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปให้บุคคลอื่นใช้ตามข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ที่บุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ ถ้าบัตรเครดิตถูกขโมยไปใช้ เราก็ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ที่เราไม่ได้ก่อขึ้นครับ

อ่านเพิ่มเติม >