ฉบับที่ 112-113 หลักฐานนะ มีมั้ย

ฉบับนี้มีคดีผู้บริโภคตัวอย่างที่น่าสนใจใหม่ล่าสุดมาให้สมาชิกได้อ่านดู เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคซื้อบ้าน แล้วบ้านไม่เสร็จเรียบร้อย แจ้งให้แก้ไขหลายครั้ง บริษัทฯ เลยบอกเลิกสัญญาริบเงิน แบบว่ารำคาญนั่นแหละ ดูกันซิว่าจะริบเงินได้หรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 453/2552 คดีระหว่าง นายวีรวุฒิ พงศ์สุรพัฒน์ โจทก์ กับ บริษัทควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) จำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง  โจทก์คือนายวีรวุฒิยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่โจทก์ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “....คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงจำเลยจะต้องปลูกบ้านตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2540 นั่นก็หมายความว่าบ้านจะต้องเสร็จทุกอย่างรวมทั้งรายละเอียดพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ แต่กลับปรากฏว่าภายในเดือนกันยายน 2540 ดังกล่าว บ้านหาได้แล้วเสร็จไม่ แต่โจทก์ก็ไม่ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลย เพียงแต่ขอระงับการผ่อนชำระค่างวดไว้ก่อน แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้เคร่งครัดเรื่องระยะเวลา แต่ถือเอาความสำเร็จเรียบร้อยของบ้านเป็นสำคัญ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2540 โจทก์ให้จำเลยแก้ไขงาน 9 รายการ จำเลยก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีรายการต้องแก้ไขเพียงแต่ขอให้โจทก์ชำระเงินดาวน์ที่ค้างอยู่ทั้งหมดก่อน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2541  จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธ์ และชำระเงินงวดสุดท้ายในวันที่ 18 มีนาคม 2541 ปรากฏว่าก่อนวันนัดโอนกรรมสิทธ์ 1 วัน คือในวันที่ 17 มีนาคม 2541 โจทก์ให้จำเลยแก้ไขงานอีก 21 รายการ ครั้นต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2541 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยสร้างบ้านให้โจทก์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้โจทก์ไปตรวจความเรียบร้อยของบ้านในวันที่ 16 เมษายน 2541 ซึ่งมีการตรวจความเรียบร้อยดังกล่าว โจทก์ให้จำเลยแก้ไขงานอีก 20 รายการ จากนั้นวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินงวดสุดท้ายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 ปรากฏว่าโจทก์ไม่ไปตามกำหนดนัด แต่หลังจากวันนัด 3 วัน คือในวันที่ 23 พฤษภาคม 2541 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่าบ้านยังไม่เสร็จเรียบร้อย ขอยกเลิกวันโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 ดังกล่าว จนกระทั่งวันที่ 27 พฤษภาคม 2541 จำเลยมีหนังสือฉบับสุดท้ายแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินงวดสุดท้ายในวันที่ 3 มิถุนายน 2541 แต่ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2541 ก่อนวันนัด 3 วัน บิดาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่า จำเลยยังแก้ไขงานไม่เสร็จเรียบร้อยเกือบ 30 รายการ เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าในทัศนะของโจทก์นั้น จำเลยยังก่อสร้างบ้านไม่เสร็จเรียบร้อย ดังนั้นเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ถือเอาระยะเวลาในการก่อสร้างบ้านเป็นสำคัญ แต่ถือเอาการก่อสร้างบ้านเสร็จเรียบร้อยเป็นสำคัญแล้ว เมื่อโจทก์ยังคงยืนยันว่าบ้านไม่เสร็จเรียบร้อย ก่อนที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์จำเลยจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยก็ไม่มีเอกสารใดมานำสืบให้เห็นว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผิดวิสัยที่จำเลยเป็นถึงบริษัทมหาชนรับสร้างบ้านที่มีคุณภาพแต่ไม่ปรากฏเอกสารใดมายืนยันว่าที่โจทก์ให้มีการแก้ไขงานนั้นได้แก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีวิศวกรผู้ควบคุมงานเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องเห็นว่าเสร็จเรียบร้อยจริง แม้จำเลยมีนายชาญรงค์ ทัพกฤษณ์ ผู้ควบคุมงานก่อสร้างของจำเลยเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยได้แก้ไขงานครั้งสุดท้ายให้แก่โจทก์เรียบร้อยแล้วก็ตาม ก็เป็นคำเบิกความที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน อันเป็นการผิดวิสัยของผู้รับสร้างบ้านที่มีคุณภาพพึงกระทำ โดยเฉพาะกรณีของโจทก์มีการขอให้แก้ไขงานหลายครั้งชี้ให้เห็นว่าลูกค้ารายนี้น่าจะมีปัญหา แต่จำเลยก็ไม่ได้ดำเนินการให้มีเอกสารหรือภาพถ่ายประกอบสัญญาไว้ เมื่อโจทก์ยังคงยืนยันว่าจำเลยยังก่อสร้างบ้านไม่เสร็จเรียบร้อย จำเลยกลับบอกเลิกสัญญาโดยที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว การบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.พ.พ.มาตรา 387 เมื่อปรากฏว่าจำเลยขายบ้านไปแล้ว และโจทก์ก็ไม่ประสงค์จะซื้อบ้านอีกต่อไปสัญญาจึงเป็นอันเลิกกันและต่างฝ่ายต่างกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวน 2,343,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่ได้รับไว้ ตามมาตรา 391 วรรคสอง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2542 จึงให้ตามที่โจทก์ขอ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 5,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 การรอนสิทธิคืออะไร.

ในการซื้อขายทรัพย์สินกันนั้นนอกจากผู้ขายจะต้องรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่ขายแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังได้กำหนดให้ผู้ขายจะต้องรับผิดในการ รอนสิทธิในทรัพย์สินที่ขายด้วย เพราะนอกเหนือจากการที่ผู้ซื้อมีความประสงค์ที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ผู้ซื้อยังต้องการที่จะครอบครองทรัพย์สินที่ตนได้ซื้อมาโดยปกติสุขปราศจากการรบกวนของบุคคลอื่นด้วย  มาตรา 475 จึงบัญญัติว่า “หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันที่จะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลนั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น “ จากบทบัญญัติมาตรา 475 นี้ จึงกล่าวได้ว่าการรอนสิทธิ คือการที่มีบุคคลผู้ใดก็ตาม มาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้น ไม่ว่าการรอนสิทธินั้นจะเป็นการรอนสิทธิทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ในทรัพย์สินที่ซื้อขายก็ตาม นอกจากบทบัญญัติ มาตรา 475 ที่วางหลักให้ผู้ขายต้องรับผิดในการรอนสิทธิไว้เบื้องต้นแล้ว มาตรา 479 ยังบัญญัติต่อมาอีกว่า “ ถ้าทรัพย์สินที่ซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เพราะเหตุการณ์รอนสิทธิก็ดี หรือว่าทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่การที่จะใช้ หรือเสื่อมความสะดวกในการใช้สอย หรือเสื่อมประโยชน์อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้น แลซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด " สิทธิของบุคคลผู้รบกวนขัดสิทธินั้นจะต้องเป็นสิทธิที่มีโดยชอบด้วยกฎหมายอันจะทำให้ผู้ขายต้องรับผิด เช่น สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิการเช่า สิทธิอาศัย โดยสิทธินั้นไม่จำเป็นต้องเป็นทรัพย์สิทธิเสมอไป แม้เป็นบุคคลสิทธิ เช่น ตามสัญญาเช่า ก็ก่อให้เกิดการรอนสิทธิได้ อุทาหรณ์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจมีดังนี้ คำพิพากษาฎีกาที่ 2053/2538 จำเลยผู้ขายต้องรับผิดในการรอนสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 475 แม้จะไม่รู้ถึงสาเหตุแห่งการรอนสิทธิก็ตาม และเมื่อโจทก์ต้องจำยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์พิพาทซึ่งซื้อมาจากจำเลยไปเพราะเป็นรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมมา ความรับผิดของจำเลยดังกล่าวจึงไม่อยู่ในบังคับอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 481 แต่มีอายุความ 10 ปี ตาม มาตรา 193/10 คำพิพากษาฎีกาที่ 6472/2539 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแม้ไม่มีข้อตกลงให้ผู้ขายต้องรับผิดในการรอนสิทธิ แต่โดยผลของกฎหมายผู้ขายต้องรับผิด เมื่อปรากฏว่ามีการรอนสิทธิในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้วในเวลาทำสัญญาจะซื้อจะขาย แม้จำเลยผู้ขายจะไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทถูกรอนสิทธิ แต่โจทก์ผู้ซื้อได้แจ้งให้จำเลยทราบก่อนถึงกำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยมีหน้าที่ต้องขจัดเหตุที่ถูกรบกวนสิทธิไปเสียก่อนถึงกำหนดนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อจำเลยไม่ดำเนินการ โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและยังไม่ตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์และไม่มีสิทธิริบเงินที่โจทก์วางไว้ตามสัญญา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 สิทธิบอกเลิกสัญญาของผู้เช่าซื้อและผู้ให้เช่าซื้อ

ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อในสภาพที่ไม่เหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์ของผู้เช่าซื้อ หรือผู้ให้เช่าซื้อไม่จัดการแก้ไขทรัพย์สินที่เช่าซื้อให้อยู่ในสภาพที่เหมาะแก่การใช้ประโยชน์แล้ว ผู้เช่าซื้อก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อนั้นคืนให้แก่ผู้เช่าซื้อและผู้ให้เช่าซื้อก็ต้องมอบค่าเช่าซื้อทั้งหมดที่รับมานั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่ทั้งนี้ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องมอบค่าใช้ทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตลอดระยะเวลาที่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นด้วย ดังกรณีศึกษาดังต่อไปนี้ “ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3010/2543 ระบบไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบอันเป็นสาระสำคัญของรถยนต์ หากระบบไฟฟ้าใช้การไม่ได้ย่อมส่งผลให้เครื่องยนต์ ระบบทำความเย็นและอื่นๆ ใช้การไม่ได้ไปด้วย การที่ระบบไฟฟ้ารถยนต์คันที่จำเลยเช่าซื้อไปจากโจทก์เสียทั้งระบบ 3 ครั้ง ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันรับมอบรถยนต์ถือได้ว่าความชำรุดบกพร่องนั้นถึงขนาดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งหมายจะใช้เป็นปกติ อันผู้ขายต้องรับผิด จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อจัดการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงรถยนต์คันใหม่ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ จำเลยจึงไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดต่อมาและใช้สิทธิเลิกสัญญาเสียได้ และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยผู้เช่าซื้อต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันผลแห่งการเลิกสัญญาดังกล่าว คู่สัญญาจะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม เมื่อจำเลยมิได้ผิดสัญญาก็ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายใดๆ ให้แก่โจทก์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4974/2545 จำเลยเป็นผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ย่อมมีหน้าที่ต้องส่งมอบสำเนาทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ผู้เช่าซื้อ เพราะสำเนาทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์เป็นสาระสำคัญในการใช้รถ จำเลยส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อโดยรถยนต์ไม่มีสภาพเหมาะสมจะใช้งานได้ตามประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาเช่าซื้อจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 ประกอบ มาตรา 547 จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ จะอ้างเหตุอันเกิดจากบริษัท น. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ยังไม่โอนทะเบียนยังไม่โอนทะเบียนรถยนต์ให้จำเลยไม่ได้ เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและไม่ชำระค่าเช่าซื้อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะไม่สามารถจัดการแก้ไขให้รถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่ในสภาพใช้งานได้ตามประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ถือได้ว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องส่งมอบรถยนต์คืนจำเลยก่อนเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 นั้นเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญาในกรณีที่ไม่มีการผิดสัญญา ฉะนั้น เมื่อคู่สัญญาเลิกสัญญาโดยชอบแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โดยโจทก์ต้องคืนรถยนต์พิพาทให้จำเลยและต้องใช้เงินตามค่าแห่งการใช้สอยรถยนต์พิพาทให้จำเลยด้วย ส่วนจำเลยต้องคืนค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ “ แต่ถ้าผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่ใช้เงินค่าเช่าซื้อสองงวดติดต่อกันหรือผิดสัญญาในข้อสำคัญ ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดที่ผู้เช่าซื้อชำระไปแล้ว และผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 574

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 มัดจำคืออะไร ผลของมัดจำมีแค่ไหน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 377 บัญญัติว่า “ เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว  อนึ่งมัดจำนี้ย่อมเป็นประกันที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย “ ดังนั้นมัดจำต้องเป็นสิ่งที่คู่สัญญามอบให้ไว้แก่กันเมื่อเข้าทำสัญญา  ซึ่งต้องเป็นสังหาริมทรัพย์ที่สามารถส่งมอบให้ไว้แก่กันได้และและต้องเป็นเงินหรือสิ่งของซึ่งมีค่าในตัวเอง เช่น เงินทอง ช้างม้าวัวควาย ฯ  หากไม่มีค่าในตัวเองแม้จะเป็นทรัพย์สินก็ย่อมจะส่งมอบให้ไว้เป็นมัดจำไม่ได้ เช่น โฉนด น.ส. 3ก. สัญญากู้ยืม หนังสือค้ำประกันของธนาคาร ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้มีค่าในเพียงฐานะที่เป็นเพียงเอกสารสิทธิไม่อาจริบได้เมื่อมีการผิดสัญญาหรือจะริบเอกสารไปก็ไม่เกิดประโยชน์อย่างใด  แต่เช็คหรือตั๋วเงินอื่นๆ เป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเองเพราะสามารถเรียกเก็บเงินหรือโอนเปลี่ยนมือได้  จึงส่งมอบให้ไว้แก่กันเป็นมัดจำได้  แต่เมื่อริบมัดจำก็ต้องฟ้องเรียกเงินตามเช็คหรือตามตั๋วเงินภายในอายุความ  กรณีทำสัญญากู้แทนการวางมัดจำเป็นเงินตามสัญญาจะซื้อขาย  สัญญากู้จึงมีมูลหนี้มาจากการที่มีหนี้จะต้องวางมัดจำตามสัญญาจะซื้อขาย  เมื่อผู้ซื้อผิดสัญญาซึ่งผู้ขายมีสิทธิริบเงินมัดจำ ผู้ขายย่อมฟ้องบังคับตามสัญญากู้ได้  กรณีเช่นนี้ถือว่ามีการส่งมอบเงินให้ผู้กู้แล้ว  สำหรับจูบมัดจำนั้นก็เป็นแต่เพียงชื่อเพลงไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด หากมีการผิดสัญญาก็เป็นเพียงผิดสัญญาใจไปฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้ ผลแห่งมัดจำนั้นก็เป็นไปตาม มาตรา 378 บัญญัติว่า “ มัดจำนั้น  ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้ (1) ให้ส่งคืนหรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้ (2) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้  หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น และ (3)  ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจอยู่คดีหนึ่งกล่าวคือ ผู้บริโภคไปวางเงินจำนวนหนึ่ง ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดิน  แต่ในสัญญาว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์ ต่อมาผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาปัญหามีว่าเงินที่วางไว้ดังกล่าวในวันทำสัญญาจะเป็นเงินมัดจำหรือไม่ ถ้าเป็นผู้ประกอบธุรกิจก็ริบได้ ถ้าไม่เป็นก็ต้องคืน คำพิพากษาฎีกาที่ 9514/2544 วินิจฉัยว่า  แม้โจทก์จะได้วางเงินจำนวน 55,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินก็ตาม  แต่เงินดังกล่าวก็มิได้หมายความว่าจะเป็นมัดจำไปเสียทั้งหมด ต้องขึ้นอยู่กับเจตนาของคู่กรณีเป็นสำคัญ เมื่อเจตนาของโจทก์และจำเลยปรากฏชัดแจ้งอยู่ในสัญญาแล้วว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์  จึงต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์  ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ผ่อนชำระไปแล้วอีก 10 งวด จำนวน 87,000 บาท ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่าไม่ใช่เงินมัดจำ  เพราะเป็นเงินที่ผ่อนชำระกันหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญา  จำเลยจะริบเงินเหล่านี้โดยอ้างว่าเป็นเงินมัดจำที่อาจริบตามกฎหมายไม่ได้ คดีมันพลิกครับท่าน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 ข้อควรระวังก่อนซื้อบ้านหรืออาคารชุด

ในการซื้อบ้านหรืออาคารชุดผู้บริโภคมักจะต้องวางเงินจอง ผ่อนเงินดาวน์ก่อน ส่วนเงินที่เหลือที่จะชำระในวันโอนถ้ามีเงินไม่พอก็ต้องกู้สถาบันการเงินและผ่อนชำระเป็นรายเดือนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งหน้าที่จัดหาสถาบันการเงินนั้นเป็นหน้าที่ของผู้บริโภค การที่สำนักงานขายของโครงการมีโฆษณาว่าสถาบันการเงินต่างๆ ชักชวนให้ลูกค้าไปกู้เงินก็ดี การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายเรียกหลักฐานจากผู้บริโภคเพื่อติดต่อสถาบันการเงินให้ก็ดี รวมทั้งเอกสารที่สถาบันการเงินมีถึงบริษัทเจ้าของโครงการแสดงความยินดีสนับสนุนลูกค้าที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากโครงการก็ดี สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เอกสารที่ผูกพันอันจะฟ้องได้ว่าทางผู้ประกอบธุรกิจมีสัญญาจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ผู้บริโภค ซึ่งศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานดังนี้ “คำพิพากษาฎีกาที่ 529/2541 ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่มีข้อสัญญาใดระบุหน้าที่จำเลยว่าเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินกู้ให้แก่โจทก์ การที่สำนักงานขายจำเลยมีโฆษณาของสถาบันการเงินต่างๆ ชักชวนให้ลูกค้าจำเลยไปกู้ยืมเงินถือเป็นเรื่องของสถาบันการเงินที่จะโฆษณาหาลูกค้า หามีผลผูกพันให้จำเลยต้องจัดหาสถาบันการเงินให้แก่โจทก์ไม่ แม้พนักงานของจำเลยจะเรียกหลักฐานจากโจทก์เพื่อติดต่อสถาบันการเงินให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องให้ความสะดวกแก่โจทก์เพื่อประโยชน์แก่การขายอาคารชุดของจำเลยมากกว่าที่จำเลยจะผูกพันในรูปสัญญาจัดหาแหล่งเงินกู้ให้โจทก์ ส่วนเอกสารที่สถาบันการเงินมีถึงจำเลยแสดงความยินดีสนับสนุนลูกค้าที่ซื้ออาคารชุดจำเลย ก็ไม่ใช่เอกสารที่ผูกพันอันจะฟังได้ว่าจำเลยมาสัญญาจัดหาแหล่งเงินกู้ให้โจทก์ " ซึ่งในสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจมักจะระบุว่า “ในกรณีที่ผู้จะซื้อผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้จะขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่ผู้จะซื้อได้ชำระมาแล้วทั้งหมดทันที รวมทั้งมีสิทธินำห้องชุดที่จะซื้อจะขายกันตามสัญญานี้ไปขายให้กับบุคคลใดก็ได้โดยผู้จะซื้อไม่มีสิทธิโต้แย้งหรือเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าทดแทนใดๆ จากผู้จะขายทั้งสิ้น " ดังนั้นการที่ผู้บริโภคกู้ไม่ผ่านไม่มีเงินไปโอนกรรมสิทธิ ตามวันที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือในวันที่ผู้ประกอบธุรกิจนัดไปโอน ฝ่ายผู้บริโภคจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา อาจถูกริบเงินต่างๆ ได้ นี่คือเหตุผลที่ต้องทดลองกู้เพื่อประเมินศักยภาพของตนเองว่าจะกู้ได้แค่ไหนเพียงใดก่อนที่จะตัดสินใจซื้อบ้านหรืออาคารชุด ซึ่งถ้าหากผู้บริโภคชายจะซื้อบ้านหรืออาคารชุดเพื่อเป็นเรือนหอ หากคนเดียวกู้ไม่ผ่าน ก็อาจจะต้องให้แฟนมาช่วยร่วมกู้ด้วยเผื่อจะกู้ผ่านได้วงเงินตามที่ต้องการ แต่ถ้าตัวเองกับแฟนร่วมกันกู้แล้วไม่ผ่านก็คงต้องปรับลดวงเงินหรือปรึกษากับทางสถาบันการเงินว่าจะต้องทำอย่างไรดี ส่วนข้อตกลงในสัญญาที่ว่าหากฝ่ายผู้จะซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้วให้เงินที่ฝ่ายผู้จะซื้อชำระมาแล้วทั้งหมดตกเป็นของฝ่ายผู้จะขายได้นั้นข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ถ้าเบี้ยปรับสูงเกินสมควรศาลมีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ ดังคำพิพากษาฎีกาต่อไปนี้ “คำพิพากษาฎีกาที่ 3301/2547 โจทก์ชำระเงินจำนวน 30,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันจอง และจำนวน 120,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดิน ดังนั้นเงินจำนวน 150,000 บาท จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้แก่จำเลยแล้วในวันทำสัญญา เพื่อให้จำเลยยึดไว้เป็นการชำระหนี้บางส่วนและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาจึงถือเป็นมัดจำ ส่วนหลังจากวันทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว โจทก์ยังผ่อนชำระให้แก่จำเลยรวม 12 งวด เป็นเงิน 840,000 บาท ย่อมไม่อาจถือเป็นมัดจำ แต่เป็นการชำระราคาบ้านและที่ดินบางส่วน ดังนั้นเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 150,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378(2) และเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน เงินที่โจทก์ชำระค่าบ้านและค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าวต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 การที่โจทก์และจำเลยตกลงกันว่า ถ้าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้วให้เงินที่โจทก์ชำระมาแล้วทั้งหมดตกเป็นของจำเลยได้นั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดไว้เป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินสมควรศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ “ คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 400,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย จากยอดเงิน 840,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 107 ธนาคารปล่อยให้ดอกเบี้ยบานแล้วนำมาฟ้อง

“ในการใช้สิทธิแห่งตนนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 บัญญัติว่า  ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี  บุคคลทุกคนต้องกระทำการโดยสุจริต” คดีตัวอย่างในฉบับนี้เป็นเรื่องของธนาคารไม่รีบฟ้องคดีเมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ แต่กลับเลี้ยงไข้ให้ดอกเบี้ยบานแล้วนำมาฟ้อง  โดยส่วนที่หักเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของลูกหนี้เพื่อมาชำระหนี้บัตรเครดิต เพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลงก็น่าเกลียดมากคือหักมา 6.68 บาท (สงสัยทั้งบัญชีมีอยู่เท่านั้น) เรื่องนี้น่าจะเข้ากับสุภาษิตกฎหมายที่ว่า  เมื่อมาศาลด้วยมืออันสกปรก  ศาลย่อมไม่รับบังคับบัญชาให้  มาดูกันสิว่าผลคดีจะออกมาอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1687/2551  ครบกำหนดชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าธนาคารยอมให้จำเลยใช้บัตรเครดิตอีก แสดงว่าธนาคารกับจำเลยถือว่าสัญญาที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 ธนาคารย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 แต่จำเลยนำเงินมาชำระให้ธนาคารวันที่ 10 กรกฎาคม 2539 จำนวน 5,000 บาท อันเป็นการรับสภาพหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 2 ปี ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2541  การที่ธนาคารนำเงินจำนวน 6.68 บาท จากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยมาหักชำระหนี้บัตรเครดิตเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2541 หลังจากจำเลยผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 โดยปล่อยเวลาให้ผ่านไปถึง 2 ปีเศษ และคิดดอกเบี้ยกับค่าเบี้ยปรับชำระหนี้ล่าช้าตลอดมา นอกจากจะเป็นการไม่ใช้สิทธิของธนาคารตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ยังเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่า ธนาคารอาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้ธนาคารได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยได้ดอกเบี้ยและค่าเบี้ยปรับชำระหนี้ล่าช้าระหว่างนั้นและเพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ดังนั้นจึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จำเลยนำเงินมาชำระหนี้บางส่วนโดยให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2541 จำนวน 1,000 บาท เป็นการชำระหนี้ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว จึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกเงินคืนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิจากธนาคารนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2543 จึงเกิน 2 ปี นับแต่วันที่เริ่มนับอายุความใหม่วันที่ 10 กรกฎาคม 2539 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 ประกอบมาตรา 247 พิพากษายกฟ้องเขียนต้นฉบับมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนต้องขอพูดหน่อยว่า  สะใจโก๋จริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 ค่าปรับ ดอกเบี้ย กรณีชำระค่าเช่าซื้อล่าช้า

เกิดมาเป็นผู้บริโภคจนๆ จนขนาดจะซื้อรถยนต์ก็ไม่มีเงินสดเพียงพอ ต้องใช้บริการบริษัทไฟแนนซ์ ครั้นถึงเวลาชำระค่าเช่าซื้อเกิดมีปัญหาค่าเทอมลูกบ้าง ค่าน้ำ ค่าไฟบ้าง ทำให้ส่งค่าเช่าซื้อไม่ตรงวันตามที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อส่งค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดในสัญญาเช่าซื้อของบริษัทไฟแนนซ์ทุกบริษัท มักจะระบุค่าปรับกรณีชำระหนี้ค่าเช่าซื้อล่าช้าไว้ด้วย ผู้เช่าซื้อบางคนส่งไม่ตรงตามงวดเลยตั้งแต่เริ่มเช่าซื้อจนกระทั่งส่งค่างวดหมด พอไปปิดบัญชีเพื่อโอนทะเบียนรถยนต์เจอค่าปรับดอกเบี้ยล่าช้าเป็นหมื่นก็มี เรามาดูผลทางกฎหมายของการชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงงวดกันนะครับ ในทางปฏิบัติ ถ้าผู้ให้เช่าซื้อไม่ถือเอากำหนดเวลาในการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ เช่น เมื่อผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อตรงตามงวด ผู้ให้เช่าซื้อก็มิได้บอกเลิกสัญญาคงยอมรับค่าเช่าซื้อที่ชำระเกินกำหนดเวลาเรื่อยมา ดังนี้ผู้ให้เช่าซื้อจะมาบอกเลิกสัญญาในภายหลังโดยอ้างว่า ผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 2 คราวติดกันไม่ได้ กรณีเช่นนี้หากผู้ให้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาจะต้องปฏิบัติตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 389 โดยต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาอันสมควรก่อน ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ชำระจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7406/2547 , 2677/2547 , 4772/2540 , 5794/2539 , 4211/2539 , 1030/2536 เป็นต้น  ส่วนเรื่องค่าปรับหรือค่าเสียหายจากการชำระล่าช้า มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้ “ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2677/2547 โจทก์(ผู้เช่าซื้อ) ชำระหนี้ล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่กำหนดแต่จำเลย(ผู้ให้เช่าซื้อ) ก็ยินยอมรับค่าเช่าซื้อตลอดมาโดยมิได้เรียกร้องค่าปรับหรือค่าเสียหายจากการชำระล่าช้า จนถือได้ว่าคู่สัญญามิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ การที่โจทก์ชำระหนี้ล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดเวลาดังกล่าว จึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยไม่มีสิทธิจะคิดค่าปรับในกรณีชำระหนี้ล่าช้าจากโจทก์ได้ “ “ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3969/2529 สัญญาเช่าซื้อรถยนต์กำหนดให้โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยรวม 20 งวด เป็นรายเดือนทุกเดือน ถ้าหากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนด จะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลย โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดทุกงวด แต่จำเลยก็ไม่เคยใช้สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้และดอกเบี้ยที่ค้างเลย แสดงว่าการชำระหนี้รายนี้ฝ่ายจำเลยมิได้เจตนาถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาโดยเคร่งครัด ซึ่งเท่ากับเป็นการสละเงื่อนเวลาอยู่ในตัว ดังนั้นเมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว จำเลยจะมาขอคิดดอกเบี้ยเป็นการเพิ่มภาระให้โจทก์ภายหลังไม่ได้ จำเลยจึงต้องโอนรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อให้โจทก์ โดยโจทก์ไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ยต่อไป “ เขียนบทความจบแล้ว ผู้เขียนนึกถึงสุภาษิตคำพังเพยโบราณที่ว่า ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ ขึ้นมาทันทีเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 เซ็นยอมความไป ก็ใช่ว่าต้องยอมให้ถูกเอาเปรียบไปด้วย

มาตรา 887 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า “ อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบบุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้ หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย" คดีตัวอย่าง รถยนต์แท็กซี่ของโจทก์(ผู้ต้องเสียหาย) ถูกรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับไปในทางการที่จ้างชนท้ายได้รับความเสียหาย รถยนต์ของจำเลยที่ 2 เอาประกันภัยไว้กับบริษัท ท. ต่อมาโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าเสียหาย 18,000 บาท โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้กับบริษัท ท. ว่าจะไม่ติดใจเอาความทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อบริษัทและผู้เกี่ยวข้องอื่น ต่อมาโจทก์(ผู้ต้องเสียหาย) เอารถยนต์เข้าซ่อม อู่ใช้เวลาซ่อม 32 วัน โจทก์ขาดรายได้จากการเอารถยนต์ออกขับรับจ้าง จึงมาฟ้องศาลเรียกค่าขาดรายได้ดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีก จำเลยทั้งสอง(ผู้เอาประกันภัย) ก็ยกเรื่องโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมกับบริษัท ท.ไปแล้วขึ้นต่อสู้  ปัญหาจึงมีว่าสัญญาประนีประนอมดังกล่าวทำให้หนี้ในมูลละเมิดระงับไปแค่ไหน คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิด จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้อย่างน่ารับฟังไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3074/2551 ว่า  “ เมื่อจำเลยทำประกันภัยรถยนต์ไว้กับบริษัท ท. ความรับผิดของบริษัท ท. ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายและเป็นบุคคลภายนอก เป็นความรับผิดตามสัญญาที่บริษัท ท. ทำไว้กับจำเลย อันมีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน ซึ่งโจทก์ชอบที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท ท.ได้โดยตรง แต่จะเรียกร้องเกินไปกว่าจำนวนที่บริษัท ท. จะพึงต้องใช้ตามสัญญาไม่ได้ การที่โจทก์กับบริษัท ท.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ย่อมมีผลทำให้หนี้ของบริษัท ท. ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังกล่าวระงับสิ้นไปและเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่หนี้ซึ่งระงับไปเพราะเหตุดังกล่าวนี้คงมีผลทำให้หนี้ในมูลละเมิดที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ระงับไปด้วยเพียงเท่าที่บริษัท ท. ชำระให้แก่โจทก์เท่านั้น เพราะถือว่าเป็นการชำระในนามของจำเลยผู้เอาประกันภัย ดังนั้นหากมีความเสียหายในส่วนอื่นอันเกิดจากการทำละเมิด โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้ หาใช่ว่าสิทธิของโจทก์จะถูกจำกัดให้มีเพียงเท่าที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ได้ทำไว้กับบริษัท ท. เท่านั้นไม่ “ พิพากษายืน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 400 บาท แทนโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 บัญญัติว่า “ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน “

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 สร้างบ้านบกพร่อง แล้วไม่แก้ไข บอกเลิกสัญญาได้

ในการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยนั้นเราต้องตรวจสอบดูให้รอบคอบว่า บริษัทที่ประกอบกิจการโครงการบ้านนั้นเป็นบริษัทที่ดีมีชื่อเสียงในด้านซื่อตรงในการดำเนินกิจการหรือไม่ อีกทั้งในการเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขาย หากเห็นว่าสัญญาดังกล่าวมีข้อความเอารัดเอาเปรียบไม่เป็นธรรมในตอนใดก็ควรขอแก้ไขเสีย หากเขาไม่ยอมแก้ไขให้ก็ควรจะหาซื้อที่โครงการอื่นๆ ดีกว่า  สัญญาที่เป็นธรรมอย่างน้อยควรมีระยะเวลาก่อสร้างและระยะเวลาสร้างเสร็จ วัสดุก่อสร้างควรจะชัดเจนว่าจะใช้อะไรก่อสร้างและหากวัสดุดังกล่าวไม่มีจะใช้อะไรทดแทนในคุณภาพที่เท่ากัน มีข้อกำหนดให้ผู้จะซื้อตรวจสอบความเรียบร้อยของบ้านก่อนรับโอนได้ และหากมีข้อบกพร่องใดๆ ก็จะต้องแก้ไขให้เรียบร้อยก่อน สำหรับกรณีศึกษาในฉบับนี้ เป็นเรื่องที่ผู้จะขายสร้างบ้านโดยใช้วัสดุไม่เหมือนกับบ้านตัวอย่าง และมีข้อบกพร่องที่ยังต้องแก้ไขหลายรายการ ผู้จะซื้อแจ้งให้แก้ไขหลายรายการ แต่ผู้จะขายแก้ไขเพียงบางรายการ เท่านั้น ผู้จะซื้อจึงไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ ผู้จะขายหาว่าผู้จะซื้อผิดสัญญาแล้วริบเงินที่ได้ส่งไปแล้ว ผู้จะซื้อจึงบอกเลิกสัญญาแล้วมาฟ้องเรียกเงินดาวน์และเงินที่ผ่อนไปแล้วบางส่วนคืนพร้อมดอกเบี้ย มาดูกันสิว่าผู้บริโภคจะเรียกคืนได้หรือไม่ คำ พิพากษาศาลฎีกาที่ 8509/2551 โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 725,078.36 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 622,700 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 725,078.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 622,700 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง จำเลยฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในการขายที่ดินพร้อมบ้านในโครงการ จำเลยได้ปลูกสร้างบ้านตัวอย่างให้ลูกค้าดู บ้านตัวอย่างจึงมีส่วนประกอบในการตัดสินใจซื้อ เชื่อว่าที่โจทก์ทั้งสองซื้อเพราะพอใจในคุณภาพการก่อสร้าง แม้วิธีการก่อสร้างบ้านที่จะส่งมอบแก่ลูกค้าอาจไม่เหมือนกับการสร้างบ้านตัวอย่างไปบ้างดังเช่น การเปลี่ยนวิธีการสร้างจากก่ออิฐฉาบปูนตามบ้านตัวอย่างมาเป็นการใช้วัสดุสำเร็จรูป แต่คุณภาพการก่อสร้างในส่วนอื่นก็ควรจะใกล้เคียงกับบ้านตัวอย่าง และเมื่อโจทก์ทั้งสองพบเห็นการก่อสร้างบกพร่องก็เป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสองที่จะขอให้จำเลยแก้ไข อันเป็นเรื่องปกติที่ผู้ต้องการจะซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยย่อมต้องการบ้านที่มีคุณภาพพร้อมจะเข้าอยู่อาศัยโดยมิพักต้องมาแก้ไขอีกหลังจากที่ตนเข้าอยู่อาศัยแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องดำเนินการให้ก่อนโอนกรรมสิทธิ์ แม้การแก้ไขจะทำให้จำเลยมีภาระต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอันเป็นไปตามข้อสัญญาที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงกันให้โจทก์ทั้งสองมีโอกาสตรวจสอบบ้านที่จะส่งมอบ ก่อนที่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์กัน ดังนี้ เมื่อจำเลยรับว่าจำเลยยังไม่แก้ไขข้อบกพร่องให้โจทก์ทั้งสองเท่ากับยังมิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ของตนให้ครบ จำเลยทั้งสองจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเรียกให้โจทก์ทั้งสองรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินตามสัญญา โจทก์ทั้งสองชอบที่จะบอกเลิกสัญญากับจำเลยได้ “ พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาทแทนโจทก์ทั้งสอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 ดอกเบี้ยบัตรเครดิต

เดือนนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยบัตรเครดิตมาฝากแฟนๆ ฉลาดซื้อ คดีนี้โจทก์คือบริษัทกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ยื่นฟ้องผู้บริโภคเป็นจำเลย ส่วนจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ( ภาษาชาวบ้านก็คือไม่ได้ไปศาล ขี้เกียจไปซะอย่างงั้นละ ) โจทก์มัดมือชกจำเลยอยู่ข้างเดียว ดูมวยคู่นี้ซิผลจะออกมาอย่างไร ออกหัวหรือก้อย ดูตัวเลขจำนวนเงินให้ดีๆ นะครับ  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2551 โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 21,342.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 14,923.09 บาท และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอัตราร้อยละ 6 ต่อปี ของต้นเงิน 14,923.19 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 11,704 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 ทวิ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อกำหนดซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 8 แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาต ตาม ข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58( เรื่องสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ ไว้ในข้อ 4.4(1) ให้ผู้ประกอบธุรกิจอาจเรียกดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ เกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ทั้งนี้ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บต้องไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ (ร้อยละ 15 ต่อปี) โดยอัตรารวมสูงสุดของดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ ดังกล่าว รวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี (Effective rate) โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ โดยอัตรารวมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี แต่ข้อเท็จจริงตามหนังสือแจ้ง ผลการพิจารณาสินเชื่อบุคคลปรากฏว่า ในการที่โจทก์อนุมัติเงินกู้ให้แก่จำเลยจำนวน 18,900 บาทนั้น โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 1.25 ต่อปี หรือร้อยละ 15 ต่อปี และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของวงเงินกู้ที่โจทก์อนุมัติ กับค่าดำเนินการอนุมัติเงินกู้ซึ่งเป็นค่าบริการจำนวน 1,000 บาท ซึ่งสามารถคำนวณเป็นร้อยละได้อัตราร้อยละ 5.29 ของวงเงินกู้ที่โจทก์อนุมัติ เมื่อรวมอัตราดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินและค่าดำเนินการ การอนุมัติเงินกู้ซึ่งเป็นค่าบริการเข้าด้วยกันแล้วจะเป็นอัตราร้อยละ 30.29 เกินกว่าอัตราร้อยละ 28 ต่อปีที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าว การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยค่าบริการและค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าว จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 พิพากษายืน “ อ้าว!!! โจทก์เตะผิดลื่นหงายหลังหัวฟาดพื้นสลบไปซะแล้วครับ ท่านผู้ชม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 หน้าที่และความรับผิดของนิติบุคคลอาคารชุด

หากเกิดกรณีนิติบุคคลอาคารชุดปล่อยปละละเลย จนเป็นเหตุให้ทรัพย์ส่วนกลางชำรุดบกพร่องและก่อความเสียหายแก่เจ้าของอาคารชุด นิติบุคคลอาคารชุดต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าของห้องชุดนั้น หรือไม่ ลองมาดูกรณีศึกษาเรื่องจริงซักเรื่องหนึ่ง  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4493/2543 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิห้องชุดเลขที่ 1349/136 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลอาคารชุด มีหน้าที่จัดการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดรวมถึงการจัดการดูแลท่อน้ำประปา ท่อระบายน้ำของอาคารเพื่อมิให้ชำรุดเสียหายหรืออุดตัน อันจะทำให้ทรัพย์ส่วนกลางและทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของร่วมอาคารชุดได้รับความเสียหาย โดยจำเลยที่ 1 ได้เรียกเก็บเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการจากโจทก์และเจ้าของห้องชุดรายอื่นเป็นรายเดือน จำเลยที่ 2 เป็นประธานคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด จำเลยที่ 1 มิได้จัดการดูแลรักษาท่อน้ำประปาและท่อระบายน้ำของอาคารชุดดังกล่าว เป็นเหตุให้ท่อระบายน้ำอุดตันไม่สามารถระบายน้ำซึ่งใช้แล้วภายในอาคารสู่ท่อระบายน้ำและถังรองรับน้ำที่ติดตั้งไว้ชั้นใต้ดินของอาคารได้ ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมห้องชุดของโจทก์เป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่ติดตั้งอยู่ภายในห้องชุดของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 560,382 บาท และโจทก์ไม่สามารถเข้าพักอาศัยภายในห้องชุดได้คิดค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,110,382 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายอันเนื่องจากการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ไม่สามารถเข้าพักอาศัยในห้องชัดของโจทก์ได้ในอัตราเดือนละ 40,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ครบถ้วน จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ค่าเสียหายในทรัพย์สินที่เสียหายนั้นโจทก์เรียกร้องมาสูงเกินไปและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ไม่สามารถเข้าพักอาศัยในห้องชุดได้ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 559,682 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระค่าเสียหายอันเนื่องจากการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ไม่สามารถเข้าพักอาศัยในห้องชุดของโจทก์ในอัตราเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระค่าเสียหายเสร็จ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 คำขอนอกจากนี้ให้ยก จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ พ.ร.บ.อาคารชุดฯ ต้องการให้เจ้าของกรรมสิทธิในห้องชุดอันเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลสามารถใช้สิทธิในห้องชุดได้ตามสิทธิของตนแต่ทรัพย์ส่วนกลางถือว่าเป็นกรรมสิทธิรวมระหว่างเจ้าของห้องชุดซึ่งมีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันทั้งกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดล้วนกำหนดให้เป็นหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุดเมื่อสาเหตุที่น้ำท่วมห้องชุดของโจทก์เพราะน้ำฝนเอ่อล้นจากท่อรับน้ำภายในอาคารชุดเนื่องจากท่อรวมรับน้ำอุดตัน ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลให้ท่อระบายน้ำดังกล่าวระบายน้ำได้ตลอดเวลา แม้โจทก์มิได้นำสืบว่าเหตุใดท่อน้ำจึงอุดตันและจำเลยที่ 1 ได้กระทำอย่างไรกับสิ่งอุดตันนั้นหรือบริเวณที่อุดตันนั้นไม่อาจตรวจพบได้โดยง่าย ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 แล้วเพราะจำเลยที่ 1 ได้เก็บเงินค่าดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง แล้วว่าจ้างบริษัทเอกชนที่มีอาชีพในการบริหารอาคารชุดมาทำหน้าที่แทน เมื่อบริษัทดังกล่าวละเว้นหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อปล่อยให้ท่อระบายน้ำอุดตันจนน้ำท่วมห้องชุดของโจทก์เช่นนี้ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 ขายคอนโดฯ แบบยัดเยียด บอกเลิกสัญญาได้หรือไม่

หน้าที่และความรับผิดของผู้จะขายนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 466 วรรคแรกนั้นระบุว่า “ในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น หากว่าได้ระบุจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดไว้ และผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยหรือมากไปกว่าที่สัญญาไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะปัดเสีย หรือรับเอาไว้และใช้ราคาตามส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก“ และวรรคสองระบุว่า “ อนึ่ง ถ้าขาดบกพร่องหรือล้ำจำนวนไม่เกินกว่าร้อยละห้าแห่งเนื้อที่ทั้งหมดอันได้ระบุไว้นั้นไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจำต้องรับเอาไว้แล้วใช้ราคาตามส่วน แต่ว่าผู้ซื้ออาจเลิกสัญญาเสียได้ในเมื่อขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนถึงขนาดซึ่งหากผู้ซื้อได้ทราบก่อนแล้วคงจะมิได้เข้าทำสัญญากัน“ มาลองดูกรณีศึกษากันเป็นเรื่องผู้ประกอบธุรกิจขายคอนโดฯ ระดับยักษ์ใหญ่ แถวเมืองทองธานี เอาเปรียบผู้บริโภคโดยจะยัดเยียดซอกมุมห้องที่ไร้ประโยชน์ให้ในราคาแพง ผู้บริโภคจึงไม่ยอมรับโอนและบอกเลิกสัญญาเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย มาดูกันซิว่าจะเรียกเงินคืนได้ไหม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2543 ป.พ.พ. มาตรา 466 วรรคสอง มิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่กรณีจึงอาจกำหนดไว้ในสัญญาเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัตินี้ได้ โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอาคารชุดที่พักอาศัยในราคา 2,865,000 บาท สัญญาดังกล่าว ได้กำหนดไว้ว่า “ห้องชุดผู้ซื้อจะมีพื้นที่ประมาณ 94.5 ตารางเมตร ทั้งนี้โดยขึ้นอยู่กับการปรับขนาดพื้นที่ตามการก่อสร้างที่เป็นจริงและการจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน ถ้าพื้นที่จริงห้องชุดผู้ซื้อมีมากกว่าหรือน้อยกว่าที่ระบุไว้ข้างต้นคู่สัญญายังคงต้องผูกพันตนตามสัญญานี้ แต่ถ้าแตกต่างตั้งแต่ร้อยละห้าหรือมากกว่านั้น ราคาที่ต้องชำระตามสัญญานี้จะต้องปรับเพิ่มหรือลดลงตามส่วนโดยการปรับราคาจะกระทำในการชำระเงินงวดสุดท้ายของราคา “แม้ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย และใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 แต่ศาลก็ต้องตีความสัญญาให้เป็นไปตามความประสงค์ของคู่สัญญาในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีกล่าวคือ เจตนาของคู่สัญญาที่กระทำโดยสุจริตซึ่งพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีประกอบแล้ว คงมิได้หมายความขนาดที่ว่าไม่ว่าเนื้อที่ของอาคารชุดจะแตกต่างมากกว่าร้อยละห้าสักเพียงใดก็ตาม โจทก์ก็ต้องรับโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดโดยไม่อาจปฏิเสธได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาคารชุดพิพาทมีเนื้อที่ล้ำจำนวนถึง 29.98 ตารางเมตร คิดเป็นร้อยละ 31.7 ซึ่งโจทก์จะต้องชำระเงินเพิ่มอีกประมาณ 900,000 บาท รวมทั้งจำเลยได้บังคับให้โจทก์รับมอบซอกมุมห้องที่ติดกันซึ่งมีเนื้อที่อีก 30 ตารางเมตร โดยมีฝากั้นห้อง ระหว่างเนื้อที่ 96.5 ตารางเมตร กับ 30 ตารางเมตร เป็นฝากั้นซึ่งเป็นคานรับน้ำหนักของตัวอาคาร โดยจำเลยได้ทำช่องให้เข้าไปได้ทางด้านหลังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนที่ล้ำจำนวนเป็นส่วนของเนื้อที่ซอกมุมห้องที่ติดกัน ซึ่งหากพิจารณาถึงความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีแล้ว ก็หาควรบังคับให้โจทก์ต้องจ่ายเงินเพิ่มเป็นจำนวนมากเพื่อรับเอาเนื้อที่ล้ำจำนวนที่ไร้ประโยชน์ดังกล่าวนั้นหรือไม่ เพราะหากโจทก์ได้ทราบก่อนแล้วคงมิได้เข้าทำสัญญานั้นอย่างแน่นอน อีกประการหนึ่งเมื่อคำนึงถึงมาตรา 11 แห่ง ป.พ.พ. ด้วยแล้วในกรณีเช่นว่านี้เมื่อสัญญามีข้อสงสัยว่าโจทก์ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวนี้หรือไม่ ศาลย่อมต้องตีความให้เป็นคุณแก่โจทก์ผู้ต้องเสียในมูลหนี้ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้ในเมื่อล้ำจำนวนถึงขนาด ซึ่งหากโจทก์ได้ทราบก่อนแล้วคงมิได้ทำสัญญานั้นตามมาตรา 466 วรรคสอง อันเป็นผลให้คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 พิพากษายืนให้จำเลยคืนเงินที่รับไว้จากโจทก์ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยได้รับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 ขายเงินดาวน์รถยนต์ไปแล้วยังโดนฟ้อง

รถยนต์เป็นทรัพย์ที่มีราคาสูง ชาวบ้านธรรมดาซึ่งเป็นผู้บริโภคทั่วๆ ไป อย่างเราๆ ท่านๆ ที่ไม่ใช่เศรษฐีอยากจะมีรถยนต์ใช้กับเขาสักคันแม้จะเป็นรถยนต์ปิคอัพ ก็รถยนต์กระบะนั้นแหละแต่เรียกให้มันเท่ๆ ไปอย่างนั้นเอง เมื่อไม่มีเงินสดทีละหลายๆ แสนจะซื้อ ก็คงต้องพึ่งบริการบริษัทไฟแนนซ์หรือบริษัทลิสซิ่งอันว่าบริษัทลิสซิ่งสมัยนี้ก็แสนโหด นอกจากจะตรวจสอบประวัติอย่างละเอียดราวกับว่าจะไปสมัครเป็นลูกเขยแล้ว ยังต้องหาคนค้ำประกันแน่นๆ (ศัพท์ของเซลส์ขายรถ) อีกด้วย แถมบางบริษัทยังให้ผู้บริโภคไปเปิดบัญชีกระแสรายวัน เอาเช็คมาออกชำระค่างวดอีกด้วย “ประมาณว่าไม่ผ่อนตูเมื่อไรจะได้ดำเนินคดีอาญาเรื่องเช็คอีกดอกหนึ่งด้วย”ครั้นซื้อรถมาได้ใช้ไประยะหนึ่งอยากเปลี่ยนรถใหม่จะทำยังไง ก็ต้องขายดาวน์รถยนต์คันเก่าซิครับท่าน ขายดาวน์ไปแล้ว บริษัทลิสซิ่งก็รับทราบแล้ว จนผู้เช่าซื้อคนใหม่ผ่อนไปได้ 4 งวด แล้วไม่ผ่อนต่อ บริษัทลิสซิ่งก็มาฟ้องผู้เช่าซื้อกับผู้ค้ำประกันคนเดิม เพราะไม่ได้คืนสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเดิมให้ผู้บริโภค(โหดจริงๆ) มาดูกันซิว่าศาลจะว่าอย่างไรคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 632/2551 ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน เซฟิโร หมายเลขทะเบียน 3ธ-230 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 538,770 บาท ตกลงผ่อนชำระ 30 งวดๆ ละ 17,959 บาทตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2538 และทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหลังจากทำสัญญาเช่าซื้อประมาณ 2 สัปดาห์ จำเลยที่ 1 ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายศุภชัย …เป็นการขายเงินดาวน์ และเมื่อเดือนกันยายน 2538 นายขนิษฐ์ มาขอซื้อรถคันที่เช่าซื้อจากนายศุภชัย โดยนายขนิษฐ์จะต้องไปผ่อนชำระค่าเช่าซื้อกับโจทก์ นายศุภชัยได้ติดต่อขอวงเงินกู้จากโจทก์และนัดให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าซื้อให้แก่นายขนิษฐ์ ต่อมามีการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 ประจำวันที่ 5 ธันวาคม 2538 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันตามฟ้องหรือไม่ แม้ตามคำขอโอนสิทธิการจะเช่าซื้อจะระบุว่า คำขอยังไม่มีผลผูกพันโจทก์จนกว่าจะทำการตรวจสอบหลักฐานของผู้เช่าซื้อ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์คืนเช็คที่จำเลยที่ 1 ชำระเป็นค่าเช่าซื้อล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 และนายขนิษฐ์ ผู้เช่าซื้อรายใหม่กับผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน และยอมให้นายศุภชัยมอบรถยนต์คันพิพาทให้แก่นายขนิษฐ์ ผู้เช่าซื้อรายใหม่ รวมทั้งรับเงินค่าเช่าซื้อจากนายขนิษฐ์ต่อมาถึงสี่งวด และงวดที่ 5 บางส่วนแสดงว่าผู้เช่าซื้อรายใหม่รับรถคันที่เช่าซื้อไปแทนโจทก์ สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงสิ้นผลผูกพัน จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์“ ศาลฎีกายกฟ้อง ผู้บริโภครอดตัวไป บริษัทนี้มันโหดจริงๆ ขายดาวน์ไปแล้วยังมีหน้ามาฟ้องอีก ใครอยากรู้ว่าบริษัทอะไรต้องมาถามเป็นการส่วนตัวครับ

อ่านเพิ่มเติม >

พรากผู้เยาว์ (2)

คำว่า “พราก“ ในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรหมายความว่า พาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองหรือดูแล ทำให้ความปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน (ฎีกาที่ 3152/2543) กฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดาที่มีต่อเด็ก มิให้ผู้ใดพรากไปเสียจากความปกครอง  แม้ผู้กระทำผิดจะชักชวนแนะนำเด็กให้ไปกับผู้กระทำโดยมิได้หลอกลวงเด็กและเด็กเต็มใจไปด้วยก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ (ฎีกาที่ 2858/2540 , ฎีกาที่ 3718/2547) เด็กยังไม่พ้นจากความปกครองดูแลของบิดามารดา จะกระทำโดยวิธีการใดก็ได้ ไม่มีข้อจำกัด ไม่ต้องใช้กำลังหรืออุบายใด ( ฎีกาที่ 2673/2546) ดังนั้นไม่ว่าการพาไปเพื่อร่วมประเวณีจะอยู่ในเส้นทางหรือนอกเส้นทางรับส่งผู้เสียหายไปกลับจากโรงเรียนก็ย่อมเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารเช่นกัน โดยไม่จำกัดว่าเป็นเวลานานเท่าใดด้วย แม้จะพรากไปเพียงชั่วคราวก็ตามหากไม่ได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ( ฎีกาที่ 2858/2540) ก็ถือว่ากระทำผิดฐานพรากผู้เยาว์ ฎีกาที่ 1605/2523 ผู้กระทำผิดพาผู้เสียหายไปร่วมประเวณีในกระท่อมใกล้บ้าน แม้อยู่ด้วยกันเพียง 5 ชั่วโมง ก็ถือว่ารบกวนสิทธิหรือแยกสิทธิในการควบคุมดูแลไปจากผู้ปกครองแล้ว อนึ่งการพรากจะสำเร็จต่อเมื่อพ้นไปจากการปกครอง หากยังไม่พ้นไปจากความปกครองก็เป็นเพียงพยายาม เช่น ดึงเด็กอายุ 8 ปี ไปจากผู้ดูแลพยายามจับอุ้มตัวไปแต่ผู้ดูแลดึงตัวเด็กไว้และร้องขอให้ช่วย จึงปล่อยตัวเด็กไป (ฎีกาที่ 2191/2522) บิดามารดา ผู้ปกครอง น่าจะหมายถึงผู้ปกครองตามกฎหมาย ส่วนผู้ดูแลถือตามความจริง (ฎีกาที่ 5669/2537 , ฎีกาที่ 6203/2541) ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะพรากไปจากคนใดคนหนึ่งดังกล่าวก็มีความผิดทั้งสิ้น (ฎีกาที่ 1400/2538) อย่างเช่น กรณีเป็นการพรากเพื่อหากำไร อย่างการพรากเด็กให้ไปเป็นขอทาน (ฎีกาที่ 5409/2530) เป็นต้น มาดูกรณีศึกษากันสักเรื่อง ในกรณีพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร โดยเป็นเรื่องที่ จำเลยอุ้มผู้เสียหาย ซึ่งนั่งเล่นอยู่ใต้ถุนบ้านของจำเลยขึ้นไปบนบ้านของจำเลย จะถือว่าเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ด้วยหรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848/2548 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคหนึ่ง มีความมุ่งหมายเพื่อให้ความคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีต่อผู้เยาว์มิให้ผู้ใดพาไปหรือแยกออกจากความปกครองดูแลโดย ไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีการใด และไม่คำนึงถึงระยะใกล้หรือไกล ดังนั้นแม้ผู้เสียหายที่ 1 (ผู้เยาว์) นั่งเล่นอยู่ใต้ถุนบ้านของจำเลย แต่ผู้เสียหายที่ 1 ก็ยังอยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 (ผู้ปกครอง) การที่จำเลยมาอุ้มผู้เสียหายที่ 1 ในการควบคุมดูแลของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยไม่มีสิทธิจะพาผู้เสียหายที่ 1 ไปยังที่ใดโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม การที่จำเลยมาอุ้มผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นไปบนบ้านตนแล้วพาไปห้องนานและกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ถือว่าจำเลยแยกสิทธิปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ในการควบคุมดูแลผู้เสียหายที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร การกระทำของจำเลยเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจารอันเป็นความผิดตาม มาตรา 317 วรรคสอง จำเลยนำอวัยวะเพศของจำเลยใส่อวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 อวัยวะเพศจำเลยได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสองด้วย ส่วนจำเลยจะสำเร็จความใคร่หรือไม่ย่อมมิใช่สาระสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

พรากผู้เยาว์ อุทาหรณ์สอนใจคนรักเด็ก

รู้กฎหมายกับทนายอาสาsmbuyer@hotmail.com ความผิดฐานพรากผู้เยาว์นั้น บุคคลทั่วๆ ไปมักจะเข้าใจกันว่าต้องเป็นเรื่องการหลอกลวงผู้เยาว์หรือนำผู้เยาว์ไปจากความดูแลของบิดามารดาหรือผู้ปกครองผู้เยาว์ แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ แม้ไปพบผู้เยาว์ที่อื่น เช่น ศูนย์การค้า ผับ เธคหรืองานวัด ฯลฯ แล้วพาผู้เยาว์ไปกระทำชำเรา ก็ยังมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อยู่ดี  ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคแรก บัญญัติว่า “ ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วยต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีหรือสิบปีและปรับตั้งแต่สี่พันถึงสองหมื่นบาท “ และวรรคสามบัญญัติว่า “ ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท“ และมาตรา 319 วรรคแรกบัญญัติว่า “ ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาท ถึงสองหมื่นบาท “มาดูกรณีศึกษาจาก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4465/2530 ( ประชุมใหญ่)โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้พราก น.ส. ก. อายุ 16 ปีเศษไปเสียจากนาย จ. บิดาเพื่อการอนาจารโดยใช้มีดปลายแหลมขู่บังคับให้ น.ส. ก. ไปกับจำเลยและจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเรา น.ส. ก. 2 ครั้ง โดย น.ส. ก.ไม่เต็มใจไปด้วย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม จำคุก 3 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกาศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ผู้เสียหายมีอายุเพียง 16 ปีเศษ ยังอาศัยและอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบิดามารดา ผู้เสียหายจึงอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาการกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายแม้ผู้เสียหายจะสมัครใจยินยอมก็ตาม ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาก่อน มิฉะนั้นย่อมเป็นการล่วงอำนาจปกครองของบิดามารดา การที่บิดามารดาให้อิสระแก่ผู้เสียหาย ที่จะเที่ยวที่ไหนและกลับเมื่อใด ไม่เคยสนใจสอบถามหรือห้ามปราม ผู้เสียหายก็ยังคงอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกระทำชำเราจึงเป็นการพรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดามารดา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 การพรากผู้เยาว์กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ไม่ว่าผู้เยาว์จะเต็มใจไปด้วยหรือไม่ แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 ศาลย่อมปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 ได้ มิใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องพิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 จำคุก 3 ปี ปรับ 6,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 อายุความสินเชื่อบัตรเรดดี้เครดิต

รู้กฎหมายกับทนายอาสาsmbuyer@hotmail.comอายุความบัตรเครดิตนั้นมีอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามหนังสือทวงถามซึ่งเป็นระยะเวลาอันสั้น ทางฝ่ายสถาบันการเงินจึงพยายามทำสัญญาต่างๆ เพื่อลากให้เป็น “บัญชีเดินสะพัด” ให้ได้เพราะบัญชีเดินสะพัดมีอายุความถึง 10 ปี ถึงขนาดให้ลูกค้าเปิดบัญชีกระแสรายวันแล้วมอบเช็คให้ไว้เบิกจ่ายเลยทีเดียว เรามาดูกันสิว่าศาลท่านจะเล่นด้วยหรือไม่  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10262/2550 แม้สัญญาให้บริการสินเชื่อเรดดี้เครดิตโจทก์กับจำเลยต้องเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับโจทก์เพื่อให้จำเลยใช้บัญชีดังกล่าวเบิกถอนเงินโดยการใช้เช็คที่โจทก์มอบให้จำเลยไว้และมีข้อตกลงให้โจทก์หักทอนเงินในบัญชีเพื่อการชำระหนี้ใดๆ ที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามสัญญาก็ตาม แต่เมื่อตามสัญญาใช้สินเชื่อข้อ 11 ระบุไว้ว่า หากผู้กู้นำเงินสดและ/หรือเช็คเข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันที่ผู้กู้เปิดไว้โดยผู้กู้ไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ใดๆ แก่ธนาคาร ผู้กู้ยอมให้ธนาคารโอนเงินจำนวนดังกล่าวหรือที่เรียกเก็บได้ตามเช็คเข้าฝากในบัญชีเงินฝากประเภทไม่มีดอกเบี้ยที่ธนาคารจัดให้มีขึ้นทันที  ทั้งนี้ ผู้กู้ตกลงและรับทราบว่าในเวลาใดๆ เวลาหนึ่ง ยอดเงินฝากคงเหลือในบัญชีกระแสรายวันจะมีจำนวนเท่ากับศูนย์ ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่า จำเลยไม่มีโอกาสเป็นเจ้าหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันอันจะเป็นเหตุให้ต้องหักทอนบัญชีกัน ทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีก็ปรากฏว่าจำเลยใช้เช็คที่โจทก์มอบให้เบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยเพียงช่วงแรกเท่านั้น หลังจากนั้นจำเลยเบิกถอนเงินโดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติเพียงอย่างเดียว ในการคิดดอกเบี้ยเนื่องจากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คิดดอกเบี้ยอย่างทบต้นแต่อย่างใด บัญชีกระแสรายวันที่จำเลยเปิดไว้จึงเป็นบัญชีกระแสรายวันที่ใช้ให้เพื่อให้จำเลยชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเรดดี้เครดิตของจำเลยฝ่ายเดียวโดยเฉพาะ ไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวขึ้นโดยมีเจตนาตกลงกันโดยตรงให้หักทอนบัญชีหนี้อันเกิดขึ้นแก่กิจการในระหว่างโจทก์กับจำเลย และคงชำระหนี้แต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือ อันเป็นลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 865  การที่โจทก์ออกบัตรซิตี้การ์ดพร้อมเลขรหัสประจำตัวให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยใช้เบิกถอนเงินสดจากพนักงานของโจทก์หรือจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติโดยไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเบิกเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของโจทก์เท่านั้น ซึ่งหากจำเลยเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของสถาบันการเงินอื่นๆ โจทก์ต้องออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยไปก่อน อันเป็นการรับทำการงานแทนนั่นเอง ส่วนการมอบเช็คให้จำเลยไว้ใช้ในการเบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลย หรือออกรหัสประจำตัวแก่จำเลยเพื่อให้จำเลยสามารถใช้บริการสินเชื่อเรดดี้เครดิตได้นั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการอำนวยความสะดวกดังกล่าว  กรณีถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่างๆ ให้จำเลยเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 20 มีนาคม 2546 ตามที่กำหนดไว้ในใบแจ้งยอดบัญชี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2546 การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้วันที่ 25 เมษายน 2548 ซึ่งพ้นกำหนด 2 ปี แล้วสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ  สรุปว่า ศาลท่านไม่เล่นด้วยนะครับ อายุความยังเป็น 2 ปีเช่นเดิมสำหรับบัตรเรดดี้เครดิต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 บัตรเครดิตปลอมและถูกลัก

รู้กฎหมายกับทนายอาสาsmbuyer@hotmail.com กรณีที่มีบุคคลอื่นทำปลอมบัตรเครดิตหรือลักบัตรเครดิต เช่น เป็นการลักหรือโจรกรรมข้อมูลจากบัตรเครดิตในขณะมีการใช้บัตรเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ โดยผู้ขโมยข้อมูลเป็นพนักงานของร้านค้าหรือสถานบริการ หรือข้อมูลถูกขโมยจากเครื่องมืออิเล็กโทรนิกส์ที่คนร้ายลักลอบติดตั้งไว้บริเวณด้านบนของเครื่อง เอ ที เอ็ม (มีการถ่ายภาพหรือบันทึกข้อมูล ขณะมีการใช้บัตรเครดิตนั้นกดรหัสประกอบบัตรเครดิตเบิกถอนเงินจากเครื่อง เอ ที เอ็ม) ซึ่งเจ้าของบัตรเครดิตไม่ทราบเรื่อง หรือขโมยจากข้อมูลที่ธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตเก็บรักษาไว้ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ แล้วนำข้อมูลนั้นมาทำบัตรเครดิตปลอม แล้วมีการนำบัตรปลอมนั้นออกไปซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมทั้งการเบิกถอนเงินจากเครื่อง เอ ที เอ็ม ซึ่งกรณีที่สองนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า สมาชิกหรือเจ้าของบัตรเครดิตที่ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมให้มีการทำบัตรเครดิตปลอม ไม่ต้องรับผิดใช้เงินที่ธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตได้ออกทดรองไปก่อน จากการใช้บัตรเครดิตปลอมของบุคคลอื่น เพราะธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตจะต้องจัดทำบัตรเครดิตและจัดเก็บข้อมูลเป็นความลับ ให้ยากต่อการถูกลักหรือโจรกรรมข้อมูลไปได้ เว้นแต่เจ้าของบัตรเครดิตมีส่วนรู้เห็นให้บุคคลอื่นทำบัตรเครดิตปลอมขึ้นมา แล้วมีการนำบัตรเครดิตไปใช้ซื้อสินค้าและบริการ รวมทั้งเบิกถอนเงินสดจากเครื่อง เอ ที เอ็ม เจ้าของบัตรเครดิตนั้นต้องรับผิดชอบหนี้ที่เกิดขึ้น ดังนั้นหากสมาชิกบัตรเครดิตได้รับใบแจ้งยอดหนี้ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตเป็นรายเดือนจากธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตแล้ว ถ้าตรวจสอบใบแจ้งยอดหนี้แล้วเห็นว่าตนมิได้ใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าและบริการรายใด รวมทั้งการเบิกถอนเงินสดจากเครื่อง เอ ที เอ็ม ก็ต้องรีบแจ้งและทักท้วงเป็นลายลักษณ์อักษรไปทันที เพื่อธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตจะได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อยกเลิกบัตรเครดิตใบดังกล่าว แล้วออกบัตรเครดิตใหม่ให้แทนต่อไป  สำหรับกรณีบัตรเครดิตถูกคนร้ายลักไปแล้วนำไปใช้นั้น มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยล่าสุด ซึ่งมีความน่าสนใจดังนี้  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2840/2550 ข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ระบุว่า บัตรเครดิตนี้ธนาคารได้ออกให้และสงวนไว้เฉพาะผู้ถือบัตรเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ถือบัตรยินยอมอนุญาตหรือนำบัตรเครดิตไปให้บุคคลอื่นใช้ ดังนั้นในกรณีที่มีบุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ที่ออกให้แก่จำเลยไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการแก่สถานประกอบกิจการและร้านค้าเป็นการใช้บัตรเครดิตซึ่งมิได้เป็นไปโดยถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติและ/หรือเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตจะต้องรับผิดชำระหนี้อันเกิดจากการที่มีบุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ต่อเมื่อจำเลยได้ยินยอม อนุญาตหรือนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปให้บุคคลอื่นใช้ตามข้อตกลงดังกล่าวข้างต้น การที่บัตรเครดิตของจำเลยถูกคนร้ายลักไปย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าจำเลยมิได้ยินยอมอนุญาตหรือนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปให้บุคคลอื่นใช้ตามข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ที่บุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ ถ้าบัตรเครดิตถูกขโมยไปใช้ เราก็ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ที่เราไม่ได้ก่อขึ้นครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 Repair café การจัดการทางสังคมในการลดขยะอิเลคทรอนิกส์

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการจากบทความฉบับที่แล้ว นำเสนอปัญหาของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ที่มีความรู้สึกว่า เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์ มือถือ คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน มีอายุการใช้งานที่สั้นมากจนผิดปกติ บางครั้งการชำรุดบกพร่องของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กล่าวมานั้นยังพอใช้งานได้ เพียงแต่ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์บางชิ้นชำรุดเสียหาย ต้องการแค่เปลี่ยนอะไหล่ แต่พอติดต่อศูนย์บริการหลังการขาย ก็ประสบปัญหาอะไหล่ไม่มี หรือค่าแรงในการซ่อมแพงกว่าการซื้ออุปกรณ์เครื่องใหม่ ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นองค์กรผู้บริโภค และหน่วยงานภาครัฐของเยอรมนีที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ต่างมีความกังวลกับการที่อายุการใช้งานเฉลี่ยของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มสั้นลง ซึ่งนอกจากจะเป็นการสูญเสียและสิ้นเปลืองงบค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคแล้ว ยังก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะอิเลคทรอนิกส์ตามมาอีกด้วยสำหรับบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอวิธีการทางสังคม ที่เข้ามาช่วยจัดการเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดมาจาก การชำรุดบกพร่องของโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ตโฟนก่อนอายุอันสมควรRepair Café Repair Café เป็นการรวมกลุ่มของผู้มีใจรักสิ่งแวดล้อมและต้องการลดปัญหาขยะอิเลคทรอนิกส์ เนื่องจากว่า การซ่อมสมาร์ตโฟนในเยอรมนีมีราคาแพงมาก ไม่ว่าจะซ่อมเล็กหรือซ่อมใหญ่ เนื่องจากค่าแรงของช่างซ่อมนั้นมีราคาสูงตามมาตรฐานช่างฝีมือในประเทศที่พัฒนาแล้ว การรวมกลุ่มในรูปแบบ repair café จึงเป็นการนัดพบปะกันของผู้ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งการรวมตัวกันของกลุ่มคนเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการช่วยเหลือกัน เพื่อให้คนในกลุ่มสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในกรณีที่สมาร์ตโฟนมีปัญหา โดยในกลุ่มจะมีผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นช่างซ่อมมืออาชีพมาสอน และสนับสนุนทางด้านทักษะและความรู้ ตลอดจนการช่วยหาอะไหล่ ในรูปแบบอาสาสมัคร และหากการซ่อมไม่ประสบความสำเร็จทาง repair café ก็ไม่ได้รับประกันผล เนื่องจากการให้ช่างซ่อมมืออาชีพตามร้านหรือตามศูนย์ซ่อมของสมาร์ตโฟนนั้นๆ บางครั้งก็ไม่ได้ดีไปกว่าการซ่อมเองในรูปแบบ repair café ตัวอย่างการซ่อมเองตามกลุ่ม repair café ที่ผู้บริโภคสามารถซ่อมได้เอง เช่น การเปลี่ยนหน้าจอที่แตกหักชำรุด บางครั้งอาสาสมัครที่มาช่วยเหลือการซ่อม คือ นักศึกษาตามมหาวิทยาลัย การซ่อมสมาร์ตโฟนยิ่งรุ่นใหม่ๆ ก็จะยิ่งซ่อมเองได้ยากกว่า การที่มาพบปะกับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอาสาสมัคร จึงเป็นวิธีการที่ดีกว่าการซ่อมด้วยตัวเองเพียงคนเดียว สำหรับเวลาที่ใช้ในการซ่อมขึ้นอยู่กับความชำนาญและประสบการณ์ของอาสาสมัครทางเทคนิค จากการสำรวจข้อมูลขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนี ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า กรณีตัวอย่างการซ่อม หน้าจอสมาร์ตโฟน ราคาซ่อมที่ศูนย์จะตกประมาณ 166 ยูโร ซึ่งราคานี้รวมค่าแรงและค่าอะไหล่แล้ว แต่ลูกค้าต้องรอนานถึง 10 วัน ในขณะที่การซ่อมตาม repair café จะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง และราคาค่าซ่อมไม่คิด แต่คิดค่าอะไหล่ 100 ยูโร และค่ากาแฟ อีก 10 ยูโร รวมเป็น 110 ยูโร สามารถประหยัดเงินได้ 56 ยูโร แต่ประหยัดเวลาได้ถึง 10 วันรูปแบบการจัดการทางสังคมแบบนี้ถือได้ว่า เป็นการจัดการเรื่องขยะอิเลคทรอนิกส์ที่ทำให้เกิดความยั่งยืน และทำประโยชน์ให้สังคมส่วนรวม และผู้บริโภคที่สามารถจัดการซ่อมแซมสมาร์ตโฟนของตัวเองได้ ก็ย่อมมีความรู้สึกภาคภูมิใจในความสามารถของตน และมีส่วนร่วมในการลดปัญหาขยะอิเลคทรอนิกส์ไปพร้อมๆ กันด้วยประเทศแรก ที่ให้กำเนิด repair café คือ ประเทศ เนเธอร์แลนด์ โดยเริ่มในปี 2009 โดยดำเนินการในรูปแบบมูลนิธิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความยั่งยืนในการผลิตและการใช้ทรัพยากรโลก ปัจจุบันมีจำนวน repair café 1,000 แห่ง ใน 25 ประเทศ ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเบอร์ลินมีอัตราการจัด repair café บ่อยครั้งมาก เนื่องจากทางเทศบาลให้การสนับสนุนไม่คิดค่าใช้จ่ายในการใช้พื้นที่สาธารณะเช่น โรงเรียน สมาคมเพื่อการกุศล และศูนย์เยาวชนที่กระจายอยู่ตามชุมชน รูปแบบการจัดการทางสังคมเพื่อสาธารณกุศลลักษณะนี้น่าสนใจมาก ในประเทศไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ น่าที่จะมีรูปแบบการจัดการของสังคมเพื่อสิ่งแวดล้อมลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเข้มแข็งของพลเมืองและจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชน ในการก้าวไปสู่สังคมแห่งสุขภาวะ(ที่มา: Test ฉบับที่ 6/2016)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 185 ปัญหาของการชำรุดเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควรของสินค้ากลุ่มอิเลคทรอนิกส์(2)

ความเดิม...ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ต่างมีความรู้สึกว่า เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์ มือถือ คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน มีอายุการใช้งานที่สั้นมากจนผิดปกติ องค์กรผู้บริโภคและหน่วยงานภาครัฐของเยอรมนีที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ต่างมีความกังวลกับการที่อายุการใช้งานเฉลี่ยของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามีเแนวโน้มสั้นลง เมื่อเทียบกับอายุการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าในอดีต ซึ่งนำไปสู่การศึกษาและเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อตอบข้อสงสัย และคลายความกังวลในประเด็น การ(จงใจ ?) ทำให้ชำรุดเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควรของผู้ผลิตสินค้า จึงได้รวบรวมข้อมูลและนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องดังกล่าว โดยในเล่มที่ผ่านมา ได้นำเสนอข้อมูลค่าเฉลี่ยอายุการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศเนเธอร์แลนด์เปรียบเทียบกันระหว่าง ปี 2000 กับปี  2005 และ ความยากง่าย ในการถอดและใส่แบตเตอรีในกรณีที่ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี เมื่อแบตเตอรีเสื่อมสภาพแล้ว ยี่ห้อ IPHONE 6 และ HTC one ซึ่งเป็นกลุ่มสมาร์ตโฟนที่แบตเตอรีติดแน่นกับตัวเครื่องฉบับนี้มาต่อกันด้วย ผลการสำรวจเรื่องช่วงเวลาที่โน้ตบุ๊คเกิดความชำรุดบกพร่อง ซึ่งสำรวจพบว่า จะเกิดหลังจากหมดอายุประกันสินค้าเกิน 50 % ดังแสดงใน ตารางที่ 3 นอกจากนี้พบว่าชิ้นส่วนของโน้ตบุ๊ค ที่เสื่อมสภาพสูงสุดมากสามอันดับแรกคือ แบตเตอรี ฮาร์ตแวร์ และเมนบอร์ด ตามตารางที่ 4ตารางที่ 3 ช่วงเวลาและความถี่ในการซ่อมโน้ตบุ๊คตารางที่ 4 ชิ้นส่วนใดของโน้ตบุ๊คที่เกิดความชำรุดเสียหาย (ผลการศึกษาโดยสอบถามผู้บริโภคจำนวน 305 คน)สำหรับข้อเสนอแนะของผลการศึกษานี้ต่อบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็คทรอนิกส์ ได้แก่ p.p1 {margin: 0.0px 0.0px 0.0px 0.0px; text-align: justify; font: 12.0px 'Helvetica Neue'; color: #454545} p.p2 {margin: 0.0px 0.0px 0.0px 0.0px; text-align: justify; font: 12.0px Thonburi; color: #454545} p.p3 {margin: 0.0px 0.0px 0.0px 0.0px; text-align: justify; font: 12.0px 'Helvetica Neue'; color: #454545; min-height: 14.0px} p.p4 {margin: 0.0px 0.0px 0.0px 0.0px; text-align: justify; font: 12.0px 'Helvetica Neue'; color: #e4af0a} span.s1 {font: 12.0px Thonburi} span.s2 {font: 12.0px 'Helvetica Neue'} span.s3 {color: #454545} span.s4 {font: 12.0px Thonburi; color: #454545} span.s5 {color: #e4af0a} •    การกำหนดมาตรฐานอายุการใช้งานขั้นต่ำ การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (minimum product lifetime requirement & standardization) •    มาตรการสมัครใจในการให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบการรับคืนสินค้าที่เสื่อมคุณภาพ และการใช้นโยบาย reduce reuse recycling สินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเลคทรอนิกส์ และ•    มาตรการทางกฎหมายโดยให้ผู้ผลิต และผู้ประกอบการรับผิดชอบในการจัดการขยะอิเลคทรอนิกส์ อาทิให้ผู้ผลิตต้องรับคืนสินค้าที่เสื่อมสภาพเพื่อไปกำจัด หรือ การนำชิ้นส่วนกลับมาใช้ใหม่ตามกระบวนที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมหวังว่าบทความและข้อมูลการศึกษาเบื้องต้นนี้จะช่วยกระตุ้นให้สังคมตระหนักรู้และรณรงค์ให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตลอดจนการมีระบบจัดการขยะอิเลคทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ และไม่สร้างความยุ่งยากให้กับผู้บริโภคมากจนเกินไป(แหล่งข้อมูล: http://www.umweltbundesamt.de/publikationen/einfluss-der-nutzungsdauer-von-produkten-auf-ihre-1) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 ปัญหาของการชำรุดเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควรของสินค้ากลุ่มอิเลคทรอนิกส์(1)

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ต่างมีความรู้สึกว่า เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์ มือถือ คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน มีอายุการใช้งานที่สั้นมากจนผิดปกติ บางครั้งการชำรุดบกพร่องของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กล่าวมานั้น ยังพอใช้งานได้ เพียงแต่ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์บางชิ้น ชำรุดเสียหาย ต้องการแค่เปลี่ยนอะไหล่ แต่พอติดต่อศูนย์บริการหลังการขาย ก็ประสบปัญหาอะไหล่ไม่มี หรือค่าแรงในการซ่อมแพงกว่าการซื้ออุปกรณ์เครื่องใหม่ หรือบางครั้งอุปกรณ์การสื่อสาร เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊ค จำเป็นต้อง upgrade โปรแกรม หรือ แอพพลิเคชันใหม่ ซึ่งอุปกรณ์เครื่องเก่าอาจไม่รองรับกับ ซอฟท์แวร์หรือแอพพลิเคชันใหม่ ทำให้ใช้งานได้ไม่เต็มความสามารถของเครื่อง หรือกรณีเลวร้ายที่สุดคือ ไม่สามารถใช้งานได้เลยปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น องค์กรผู้บริโภคและหน่วยงานภาครัฐของเยอรมนีที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ต่างมีความกังวลกับการที่อายุการใช้งานเฉลี่ยของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามีเแนวโน้มสั้นลง เมื่อเทียบกับอายุการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าในอดีต ซึ่งนำไปสู่การศึกษาและเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อตอบข้อสงสัย และคลายความกังวลในประเด็น การ(จงใจ ?) ทำให้ชำรุดเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควรของผู้ผลิตสินค้า ซึ่งนอกจากจะเป็นการสูญเสียและสิ้นเปลืองงบค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคแล้ว ยังก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากขยะอิเลคทรอนิกส์ตามมาอีกด้วยสำหรับบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลจากการศึกษาของ กรมควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อมแห่งเยอรมนี ที่เผยแพร่ข้อมูลการศึกษามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2016 ซึ่งได้แบ่งประเภทของการชำรุดเสื่อมสภาพ(obsolescence) ของผลิตภัณฑ์เป็น 4 ประเภท คือ•    การเสื่อมสภาพของวัสดุ (Materials Obsolescence) •    การเสื่อมสภาพของการใช้งาน (Functional Obsolescence) เช่น การ upgrade software•    การเสื่อมสภาพจากสาเหตุทางจิตวิทยา (Psychological Obsolescence) เช่น ผู้บริโภครู้สึกว่ามือถือที่ใช้อยู่ตกรุ่น และไม่ทันสมัย ความเร็วจากการใช้งานต่ำลง•    การเสื่อมสภาพจากสาเหตุทางเศรษฐศาสตร์ (Economical Obsolescence) เช่นเปลี่ยนเครื่องใหม่คุ้มค่ากว่าซ่อม      ในตารางที่ 1 แสดงให้ทราบว่า ค่าเฉลี่ยอายุการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศเนเธอร์แลนด์ เปรียบเทียบกันระหว่าง ปี 2000 กับปี  2005 พบว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทุกประเภทมีอายุการใช้งานที่สั้นลง โดยเฉพาะเตาไมโครเวฟ มีอายุการใช้งานเฉลี่ยลดลงมากถึง 15 % และอุปกรณ์ในกลุ่ม smart phone smart device มีอายุการใช้งานเฉลี่ยลดลงมากที่สุดถึง 20 %    ตารางที่ 2 ในส่วนของสมาร์ทโฟน หากพิจารณาถึงความยากง่าย ในการถอดและใส่แบตเตอรี ในกรณีที่ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี เมื่อแบตเตอรีเสื่อมสภาพแล้ว ยี่ห้อ IPHONE 6 และ HTC one เป็นกลุ่มสมาร์ตโฟนที่แบตเตอรีติดแน่นกับตัวเครื่อง ใช้เวลานานในการถอดแบตเตอรี และต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ปัญหาแบตเตอรีประกอบติดแน่นในโทรศัพท์มือถือ คือ ผู้บริโภคไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้เอง ต้องเข้าศูนย์บริการและให้ช่างของศูนย์ทำการเปลี่ยนให้ ซึ่งมีราคาค่าบริการสูงมาก แนวโน้มของโทรศัพท์มือถือแบบนี้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทุกปีสำหรับผลการสำรวจโน้ตบุ๊คโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบการศึกษาได้สอบถามผู้บริโภคทางอินเตอร์เน็ต จำนวน 655 คน ต่อเหตุผลที่ซื้อโน้ตบุ๊คเครื่องใหม่ พบว่าสาเหตุของการซื้อโน้ตบุ๊คใหม่ เนื่องจาก•    โน้ตบุ๊คเดิมชำรุด 46% (Materials Obsolescence)•    ฟังค์ชันการทำงานของเครื่องเดิมไม่เพียงพอต่อการใช้งาน 25% (Functional Obsolescence)•    เหตุผลอื่นในการเปลี่ยน 17%•    ไม่ชอบเครื่องเก่า 6% (Psychological Obsolescence)•    ได้ของขวัญเป็นเครื่องใหม่ 6% (Psychological Obsolescence)สำหรับผลการสำรวจช่วงเวลาที่โน้ตบุ๊คเกิดความชำรุดบกพร่อง ซึ่งมักจะเกิดหลังจากหมดอายุประกันสินค้า ตลอดจนชิ้นส่วนของโน้ตบุ๊ค ที่เสื่อมสภาพสูงสุดมากสามอันดับแรกติดตามได้ในเล่มหน้า       (แหล่งข้อมูล: http://www.umweltbundesamt.de/publikationen/einfluss-der-nutzungsdauer-von-produkten-auf-ihre-1)    

อ่านเพิ่มเติม >