ฉบับที่ 262 ติดตามผลการรักษาสุขภาพตนเองได้ ด้วย EVER Healthcare

        โรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากพบเจอ แต่ทุกคนต้องเคยเจ็บป่วยแน่นอน อย่างน้อยก็โรคไข้หวัดธรรมดา ที่ทำให้เกิดอาการเป็นไข้ น้ำมูกไหล ปวดหัว ตัวร้อน ซึ่งทุกคนก็หวังว่าการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้เท่านั้น         เมื่อมากล่าวถึงโรคภัยไข้เจ็บที่รุนแรงที่เป็นภัยเสี่ยงอาจทำให้เสียชีวิตได้มีอยู่หลายโรค จะเห็นได้จากการประชาสัมพันธ์ของบริษัทประกันชีวิตเกี่ยวกับโรคร้ายแรง ซึ่งได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดอักเสบ โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวายเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคเกี่ยวกับตับ โรควัณโรค เป็นต้นโรครุนแรงเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี ยาและแพทย์เฉพาะทางในการรักษา ซึ่งการแพทย์สมัยใหม่สามารถรักษาโรคร้ายแรงให้หายได้และวิทยาการทางการแพทย์ก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เพียงแต่ต้องหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้เพิ่มโอกาสรักษาให้มากขึ้น         เมื่อโรครุนแรงมาเยือนและจำเป็นต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง การเข้าถึงข้อมูลการรักษาและทราบถึงประวัติการรักษาของตนเองและครอบครัวก็มีความสำคัญ ฉบับนี้ขอมาแนะนำแอปพลิเคชั่นที่สามารถทำให้ติดตามผลการรักษาทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่มีชื่อว่า EVER Healthcare         แอปพลิเคชั่น EVER Healthcare เป็นเครื่องมือที่ช่วยบันทึกข้อมูลสุขภาพ จัดเก็บ และสามารถส่งต่อข้อมูลการรักษา และการเพิ่มความรู้ทางด้านสุขภาพ โดยผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลการรักษาตนเองผ่านโทรศัพท์มือถือได้ พร้อมเชื่อมโยงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลต่างๆ มาให้คำปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ขอพบแพทย์ผ่านแอปพลิเคชั่น และการสั่งยาแบบออนไลน์         การเชื่อมต่อข้อมูลในครั้งแรกต้องมีการลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อนามสกุล และยืนยันตัวตนด้วยการถ่ายภาพคู่กับบัตรประจำตัวประชาชนผ่านทางแอปพลิเคชั่นจนครบขั้นตอน หลังจากเข้าสู่ระบบจะปรากฎรายการนัดหมายที่กำลังจะมาถึงของผู้ใช้ ในส่วนนี้จะช่วยย้ำเตือนนัดหมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ภายในแอปพลิเคชั่นจะมีหมวดต่างๆ ปรากฎ ได้แก่ หมวดพบเภสัชกรเพื่อสั่ง หมวดพบแพทย์ทันที ใน 2 หมวดนี้จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกและเข้าถึงบริการเพื่อซื้อยา และจัดส่งยาถึงบ้าน รวมถึงการเลือกพบแพทย์ตามอาการที่ต้องการปรึกษาได้ทันที         ถัดไปจะเป็นหมวดประวัติการรักษา ในหมวดนี้ผู้ใช้สามารถเข้าไปดูบันทึกการรักษารวมทั้งผลการตรวจแล็บที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งได้ด้วยตนเอง หมวดค้นหา ซึ่งแบ่งเมนูตามแผนกของโรคเพื่อความสะดวกในการใช้งาน หมวดบันทึกสุขภาพ ช่วยให้ผู้ใช้บันทึกข้อมูลเก็บไว้ดูย้อนหลังได้ หมวดแบบประเมินสุขภาพ เพื่อช่วยประเมินสุขภาพเบื้องต้นโดยการตอบคำถามในแต่ละข้อในระบบ         แอปพลิเคชั่น EVER Healthcare นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ใช้ดูข้อมูลย้อนหลังการรักษาได้ทุกที่ และเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้ที่ต้องถูกส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น อีกทั้งช่วยทำให้เข้าใจและเข้าถึงการรักษาของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง         อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้ ผู้เขียนอยากให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี ไม่เป็นโรคร้ายแรง ดังนั้นหมั่นตรวจเช็คสุขภาพ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงจะดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 เครื่องทำกาแฟแบบแมนนวลและแคปซูล

        ตามที่สัญญาไว้ในฉบับก่อนหน้า ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำเสนอผลทดสอบเปรียบเทียบเครื่องทำกาแฟแบบแมนนวลและแบบแคปซูลเป็นภาคต่อ        ด้วยเนื้อที่อันจำกัด เราจึงคัดมา 22 รุ่น (กำลังไฟระหว่าง 850 – 1700 วัตต์) ในสนนราคาตั้งแต่ 1,800 ถึง 22,600 บาท และข่าวดีคือคุณสามารถมีเครื่องทำกาแฟที่มีคุณภาพดีไว้ใช้ที่บ้านได้ด้วยการลงทุนเบื้องต้นไม่ถึงสามพันบาท (ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลง โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ)         การให้คะแนนทั้งจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ และการให้คะแนนเรื่องรสชาติโดยผู้เชี่ยวชาญ ยังคงเป็นเช่นเดิม โดยคะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้        คุณภาพ/รสชาติของกาแฟ     ร้อยละ 35         ประสิทธิภาพของเครื่อง         ร้อยละ 30         ความสะดวกในการใช้งาน      ร้อยละ 30         การประหยัดพลังงาน             ร้อยละ 5

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 261 ห้างค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ เขาช่วยเซฟคุณจาก “อาหารหมดอายุ” อย่างไร

        ปี 2564 นิตยสารฉลาดซื้อเคยทำสำรวจห้างค้าปลีกในประเด็นเรื่องนโยบายและมาตรการการจัดการกับสินค้า อาหารหมดอายุ เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนเข้ามาที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่บ่อยครั้ง ในการสำรวจครั้งก่อนมีผู้ประกอบการที่ตอบแบบสอบถามเพียง 3 ราย จาก 11 ราย มาในปี 2565 นี้ หลังจากข่าว “ชาวเน็ตโอด! ห้างดัง ‘เอาเปรียบผู้บริโภค’ โต้เลิกพูดเถอะ ‘ของสดใหม่ทุกวัน’ (ที่มา https://www.dailynews.co.th/news/1607049/ ) ที่กล่าวถึงห้างนำเอาโดนัทที่หมดอายุแล้วมาปิดฉลากใหม่และวางจำหน่าย ซึ่งต่อจากข่าวนั้นมีประเด็นน่าสนใจหลายอย่างตามมา เช่น อย.ระบุว่าเอาผิดห้างไม่ได้ตาม พ.ร.บ.อาหาร ฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน จำเป็นต้องเร่งปรับปรุงกฎหมาย ส่วนการเอาผิดผู้ประกอบการต้องใช้กฎหมายอาญา ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลจากทาง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ จึงทำหนังสือเพื่อขอข้อมูลเรื่อง ขั้นตอนดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวกับอาหาร/สินค้าหมดอายุ จากบริษัทที่ดำเนินงานห้างค้าปลีก ร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ 12 ราย ได้แก่        1.บริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด        2.บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด        3.บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด        4.บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด        5.บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน)         6.บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)         7.บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)         8.บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด        9.บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด        10.บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)         11.บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด        12.บริษัท สห ลอว์สัน จำกัดทั้งนี้ฉลาดซื้อกำหนดการปิดรับคำตอบวันที่ 10 ธันวาคม 2565 และมีบริษัท 5 รายที่ให้ข้อมูล ดังนี้        ·     บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด……The Mall        ·     บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)        ..7 eleven         ·     บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด         ............        ลอว์สัน        ·     บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด...ฟู้ดแลนด์        ·     บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด....Lotus ผลการสำรวจ1.นโยบายการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง และช่องทางการร้องเรียน 2.มาตรการ ขั้นตอน การจัดเก็บสินค้า อาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง แหล่งข้อมูล1.หนังสือตอบจากบริษัท 5 ราย2.หน้าเว็บไซต์บริษัทฯ3.สอบถามเพิ่มเติมจากช่องทางลูกค้าสัมพันธ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 โซเดียมในถั่วอบเกลือ (1)

        จากข้อมูลส่วนแบ่งการตลาดขนมขบเคี้ยวประเภท “ถั่ว” ในประเทศไทย ย้อนไปเมื่อปี 2562 อยู่ที่ 12.3% มูลค่าประมาณ 4,562 บาท เป็นลำดับ 3 รองจากมันฝรั่งและขนมขึ้นรูป (ที่มา:Marketeer ) แต่เชื่อว่าด้วยกระแสความนิยมบริโภคโปรตีนจากพืชที่ขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่องอยู่ตอนนี้ หากถามถึงของว่างกินเล่นเพื่อสุขภาพในดวงใจของหลายๆ คนแล้ว ถั่วต่างๆ น่าจะมาวินอย่างแน่นอน เพราะในถั่วแต่ละชนิดนั้นมีโปรตีนสูง ไขมันชนิดดี เส้นใยอาหาร และวิตามินต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย สำคัญอร่อยเคี้ยวเพลิน         ทว่าในถั่วที่ผ่านการปรุงรสต่างๆ อย่าง “ถั่วอบเกลือ” รสชาติเค็มๆ มันๆ นั้น หากเคี้ยวเพลินเกินพอดี ร่างกายอาจเสี่ยงได้รับโซเดียมปริมาณสูงและส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้           นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข็มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “ถั่วอบเกลือ” ได้แก่ ถั่วลิสง ถั่วลันเตา ถัวปากอ้า(ถั่วฟาบา) และถั่วเขียวเลาะเปลือก ซึ่งผู้บริโภครู้จักกันดี หาซื้อง่ายและราคาถูก จำนวน 13 ตัวอย่าง 6 ยี่ห้อ เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 มาสำรวจฉลากเพื่อเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมว่ายี่ห้อไหนมีมากน้อยกว่ากัน รวมถึงปริมาณโปรตีน พลังงานและราคานำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจฉลาก         จากผลิตภัณฑ์ถั่วอบเกลือ 13 ตัวอย่าง  ได้แก่ ถั่วลิสง 6 ตัวอย่าง ถั่วลันเตา 3 ตัวอย่าง ถั่วปากอ้า 3 ตัวอย่าง ถั่วเขียวเลาะเปลือก(ถั่วทอง) 1 ตัวอย่าง  พบว่า         - ปริมาณโซเดียมต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 250 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อโก๋แก่ ถั่วลิสงเยื่อแดงโรยเกลือ และพี่รี่ ถั่วลันเตาอบกรอบ รสดั้งเดิม ส่วนยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วลิสงอบเกลือ มีน้อยที่สุด คือ 20 มิลลิกรัม (แต่มีโพแทสเซียม 320 มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค)         - ปริมาณโปรตีนต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 18 กรัม ในยี่ห้อมารูโจ้ ถั่วลิสงอบเกลือ ผสมเกลือหิมาลายัน ส่วนยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วปากอ้าอบเกลือ และถั่วฟาบาโรยเกลือ มีน้อยที่สุดคือ 6 กรัม         - ยี่ห้อทองการ์เด้น  ถั่วลันเตาเขียวอบเกลือ  ระบุปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภคไว้มากที่สุดคือ 45 กรัม ส่วนยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วฟาบาโรยเกลือ ระบุไว้น้อยที่สุดคือ 25 กรัมราคาต่อปริมาณ         เมื่อคำนวณความคุ้มค่าของราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ราคาแพงสุดคือ 0.26 บาท ได้แก่ยี่ห้อโก๋แก่ ถั่วลิสงอบเกลือ และทองการ์เด้น ถั่วลิสงอบเกลือข้อสังเกตน่าสนใจ        - ด้านการแสดงฉลากโภชนาการ พบว่า การแสดงปริมาณค่าพลังงานทั้งหมดของ มารูโจ้ ถั่วลิสงอบเกลือ ผสมเกลือหิมาลายัน น่าจะให้ข้อมูลผิด โดยเมื่ออ่านฉลากโภชนาการด้านหลังซอง ระบุ ค่าพลังงานทั้งหมด (ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม) คือ 520 กิโลแคลอรี แต่ในสัญลักษณ์ด้านหน้า (รูปกระบอก) ระบุว่า ทั้งซอง (ปริมาณบรรจุ 160 กรัม) ซึ่งแบ่งบริโภค 5 ครั้งนั้น มีพลังงานรวม 1040 กิโลแคลอรี หมายความว่า เมื่อหารด้วย 5 ค่าพลังงานต่อหน่วยบริโภคจะเท่ากับ 280 กิโลแคลอรีเท่านั้น  และเมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่นก็พบว่ามีความสอดคล้องกันว่าน่าจะเป็นการแสดงฉลากผิดพลาด ทำให้ข้อสังเกตส่งผลถึงเรื่องปริมาณของโซเดียมด้วย เพราะด้านหน้าของซองระบุปริมาณโซเดียม 130 มิลลิกรัมหากนำมาหารด้วยหน่วยบริโภคคือ 5 ครั้ง ควรมีค่าโซเดียมในฉลากโภชนาการเพียงแค่ 26 มิลลิกรัมแต่ในฉลากโภชนาการด้านหลังกลับระบุว่า 65 มิลลิกรัม         -เมื่อลองใช้เกณฑ์สัญลักษณ์ ”ทางเลือกสุขภาพ” กลุ่มขนมขบเคี้ยวประเภทถั่ว ที่กำหนดให้มีโซเดียม ≤ 100 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม มาพิจารณาในกลุ่มตัวอย่างนี้จะพบว่า ยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วลิสงอบเกลือ เป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่มีปริมาณโซเดียมเข้าเกณฑ์นี้ คือ 52.63 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม อย่างไรก็ตามพบว่ามีโพแทสเซียมอยู่ 320 มิลลิกรัม (ต่อหน่วยบริโภค 38 กรัม หรือ 842 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) ผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อมต้องระวัง ฉลาดซื้อแนะ         - ผู้บริโภคควรพิจารณาข้อมูลบนฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง โดยเฉพาะหากซื้อให้เด็กและผู้สูงอายุ         -ในแต่ละวัน ผู้ใหญ่ไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัม เด็กอายุ 6-8 ปี ไม่ควรเกิน 32.5-95  มิลลิกรัม อายุ 9-12 ปี ไม่ควรเกิน  40-117.5 มิลลิกรัม อายุ 13-15 ปี ไม่ควรเกิน  50-150 มิลลิกรัม หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน และไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวเกินวันละ 2 มื้อ          - หากซื้อถุงใหญ่ แนะนำให้แบ่งใส่ภาชนะแต่พอดี แล้วปิดถุง เก็บไว้ไกลมือ จะได้ไม่เผลอหยิบเข้าปากเคี้ยวเพลินจนหมดถุง เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น         - ถั่วลิสงมีโปรตีนสูงสุด รองลงมาคือ ถั่วปากอ้า ถั่วเขียวเลาะเปลือก และถั่วลันเตา ตามลำดับ         - ถั่วปากอ้ามีเส้นใยอาหารสูงสุด รองลงมาคือ ถั่วลันเตา ถั่วลิสง และถั่วเขียวเลาะเปลือก ตามลำดับ     ข้อมูลอ้างอิงhttps://www.thairath.co.th ("โรคแพ้ถั่วปากอ้า" หรือ "ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD" โรคที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้)https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=1365(มารู้จักโซเดียมกันเถอะ)https://planforfit.com (เลือกถั่วให้เหมาะกับความต้องการของตัวเอง)https://www.gourmetandcuisine.com(ถั่วกับประโยชน์ต่อสุขภาพ)http://medicine.swu.ac.th/msmc/?p=756 (กินถั่วอย่างไร ได้ประโยชน์สูงสุด)https://www.pobpad.com (อาหารโปรตีนสูง ทางเลือกโภชนาการเพื่อสุขภาพ)   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 พบเศษเชือกฟางในเมนู “ตำลึงผัดฉ่า”

        เจอกันบ่อยๆ อาหารที่สั่งจากดิลิเวอรี่มีของไม่พึงประสงค์มาอีกแล้วคุณน้ำตาลเข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เธอได้สั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันสีชมพูเจ้าหนึ่งจากร้านย่านสุขุมวิท 34 โดยสั่งเมนู “ตำลึงผัดฉ่า” ซึ่งเป็นเมนูประจำที่เคยสั่งกับทางร้านและในอาหารก็มักจะเจอก้านตำลึงยาวๆ อยู่เป็นประจำซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ครั้งนี้ดันไม่ปกติ         ตอนที่เธอรับประทานเข้าไปแล้วสัมผัสในปากพบกับอะไรแปลกๆ ที่คิดว่าไม่น่าจะใช่ก้านตำลึงแน่ๆ คือมันเคี้ยวไม่แหลกเสียที จึงคายออกจากปากก็พบกับสิ่งแปลกปลอมที่มีลักษณะคล้ายเชือกฟางเส้นบางๆ สีเขียว (เสียด้วย) ขนาดยาวเกือบครึ่งไม้บรรทัด หลังเจอเหตุการณ์ดังกล่าวเธอรีบติดต่อกับทางร้านเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบค่าเสียหายและการชดเชยเยียวยาทันที เพราะรู้สึกว่าถ้า ณ ตอนนั้นไม่เอะใจคายสิ่งแปลกปลอมออกมาแต่กลืนเข้าไปด้วยเข้าใจผิดว่าเป็นก้านตำลึง อาจจะเกิดอันตรายต่อร่างกายหรือติดคอก็เป็นได้            ต่อมาเมื่อได้ติดต่อกับทางร้านอาหารเพื่อขอให้แสดงความรับผิดชอบ ผู้จัดการร้านอาหารดังกล่าวได้ยืนยันที่จะทำเพียงการคืนค่าอาหารและแจก Gift Voucher จำนวน 500 บาทให้เท่านั้น โดยพร้อมสาธยายถึงมาตรฐานวิธีการเด็ดผักของทางร้านให้ผู้ร้องฟังอยู่ตลอดเวลา เมื่อผู้ร้องพยายามชี้แจงถึงความอันตรายของเส้นเชือกว่าหากรับประทานเข้าไปจะเกิดอันตรายอะไรได้บ้าง ทางร้านก็ได้บอกกลับผู้ร้องว่า “คงไม่ถึงขนาดนั้นหรอกมั้งครับ และนี่ก็เป็นเรื่องสุดวิสัย”         น้ำตาลจึงคิดว่าการที่ร้านค้าประกอบอาหารให้ผู้บริโภครับประทานแต่เจอสิ่งแปลกปลอมที่อันตรายต่อผู้บริโภคแบบนี้ โดยที่ร้านอาหารดังกล่าวสามารถป้องกันได้แต่กลับประมาท ผู้ร้องจึงขอยื่นเรื่องให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือโดยต้องการเรียกร้องค่าเยียวยาการรับผิดชอบนี้เป็นจำนวนเงินที่ผู้ร้องเห็นว่าเหมาะสม แนวทางการแก้ไขปัญหา         เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ติดต่อไปยังผู้ร้องเพื่อขอให้ไปลงบันทึกประจำวันไว้กับทางสถานีตำรวจ เพื่อนำไปดำเนินการติดต่อการทางร้านอาหารและนัดไกล่เกลี่ย ต่อมาทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปทางร้านอาหารดังกล่าวว่าได้ส่งหนังสือที่ขอเชิญเข้าร่วมการไกล่เกลี่ย ทางร้านอาหารจะเข้าร่วมไหม? ซึ่งก็ได้คำตอบกลับมาว่า ไม่ขอเข้าร่วมการไกล่เกลี่ย เพราะมั่นใจคุณภาพของร้านตนเองและผู้ร้องก็ไม่ได้รับประทานเข้าไปด้วย หากไม่พอใจในอาหารของร้านก็ยินดีคืนเงินให้กับผู้บริโภคตามที่บอกผู้ร้องไปตั้งแต่แรก        เมื่อนำคำตอบของร้านอาหารแจ้งกับผู้ร้อง และสอบถามว่ายังต้องการให้มีการเจรจาอีกหรือไม่ ผู้ร้องเองได้แจ้งว่าตนเองไม่สะดวกที่จะมาแล้ว อีกอย่างตอนนี้ตนเองก็ใจเย็นลงมาก เพราะในขณะเกิดเหตุการณ์นั้นค่อนข้างตกใจและไม่พอใจกับคำตอบของทางร้านอาหารเท่าไร ผู้ร้องจึงขอยุติเรื่องดังกล่าวไม่ขอดำเนินการต่อ พร้อมขอบคุณทางมูลนิธิฯ ที่ช่วยประสานงานให้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 หากลูกหนี้โดนข่มขู่ทวงหนี้ แจ้งความได้

        คุณชัดเจนเป็นลูกหนี้ที่ดีมาตลอด ถือคติ “ติดหนี้ ต้องจ่าย” แต่บังเอิญเกิดเหตุสภาพคล่องทางการเงินสะดุดอย่างสุดวิสัย จนชำระหนี้ไม่ได้ตามกำหนด ต่อมาเขาโดนโทรศัพท์ตามขมขู่ทวงหนี้แบบหยาบคายมากๆ เขาจึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         เรื่องของเรื่องคือ คุณชัดเจนเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อบิ๊กไบท์มาในราคาประมาณ 300,000 บาท จากบริษัทลิซซิ่งแห่งหนึ่งต้องส่งค่างวดทั้งหมด 60 งวด งวดละ 5000 กว่าบาท ซึ่งเขาก็ส่งตรงกำหนดตลอด จนกระทั่งเขามีปัญหาทางการเงินอย่างกะทันหัน หมุนเงินไม่ทัน เขาจึงผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อมา 2 งวด หลังจากนั้นพนักงานของบริษัทรับจ้างทวงหนี้ สมมติชื่อบริษัท เอ็ม ก็โทรศัพท์ติดต่อมาทวงค่างวดรถที่เขายังค้างส่งอยู่ พนักงานคนนี้พูดจาหยาบคาย ข่มขู่ให้เขาเร่งจ่ายหนี้แบบไม่ไว้หน้ากันเลย แม้เขาจะเตือนอีกฝ่ายว่าการพูดทวงหนี้แบบนี้ผิดกฎหมายนะ แต่พนักงานก็ยังคงท้าทายและด่าเขาไม่หยุด เขาจึงอยากรู้ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับพวกที่ทวงหนี้ผิดกฎหมายแบบนี้ได้บ้างแนวทางการแก้ไขปัญหา         ตาม “กฎหมายทวงหนี้” ที่ออกมาคุ้มครองลูกหนี้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 ระบุไว้ ห้ามดุด่า พูดจาหยาบคาย หรือนำความลับของลูกหนี้ไปบอกกับบุคคลที่ 3 ซึ่งการกระทำดังกล่าวผิดตามกฎหมายอาญา ถือเป็นการประจานหรือหมิ่นประมาท มีโทษขั้นต่ำจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ        ในกรณีนี้ ได้แนะนำให้คุณชัดเจนไปแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ เพราะการกระทำของพนักงานจากบริษัททวงหนี้คนนี้เข้าข่ายการทวงหนี้ผิดกฎหมาย โดยให้อัดเสียงสนทนาในโทรศัพท์ที่พนักงานพูดจาข่มขู่ทวงหนี้หยาบคายเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐานก่อน แล้วในวันที่ไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจก็อย่าเพิ่งบอกว่าตัวเองเป็นหนี้ เพราะตำรวจจะไม่รับเรื่อง แต่ให้บอกว่ามาแจ้งความในเรื่องทวงหนี้ผิดกฎหมาย         หากคุณชัดเจนไม่สะดวกจะไปแจ้งความ ก็ยังสามารถร้องเรียนไปได้ที่คณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ ที่มีทั้งระดับประเทศและระดับจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ เพื่อแจ้งการกระทำความผิดได้

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 261 ไม่ให้สัญญากู้ยืมเงินแก่ผู้กู้ได้หรือไม่

        ปัจจุบันอัตราภาวะเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น หลายคนชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้จ่ายภายในครอบครัว เงินสดทันใจก็เป็นที่พึ่งของใครหลายคนผู้ให้กู้ก็มีหลายเจ้า เข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว แต่...         ภูผามีค่าใช้จ่ายเพิ่มพูนขึ้นจำนวนมากเดือดร้อนหนักชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงต้องการหาเงินมาหมุนเพื่อครอบครัวของเขาสามารถไปต่อได้ เขาเห็นโฆษณาของบริษัทสินเชื่อสีฟ้าแถวบ้าน ซึ่งมีสาขามากมายทั่วประเทศ ให้กู้ง่าย สะดวก รวดเร็ว แค่มีโฉนดที่ดินก็กู้ได้ ไม่ต้องจำนองด้วย เขาจึงลองเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทสินเชื่อสาขาใกล้บ้านเจ้านั้น เมื่อดูท่าทีว่ามีความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่และบริษัทสินเชื่อที่มีโฆษณาทางทีวี เขาจึงนำโฉนดที่ดินที่เป็นที่สวนของตัวเองเข้าไปกู้ยืมเงินกับบริษัทสินเชื่อ โดยเขากู้เงิน 150,000 บาท เซ็นชื่อในเอกสารของบริษัทเรียบร้อย มีการหักค่าธรรมเนียม ค่าดำเนินการอะไรต่างๆ ของบริษัทประมาณ 3,000 บาท เจ้าหน้าที่ของบริษัทก็ให้บัตรมาใบหนึ่งมีรายละเอียดว่าให้ชำระหนี้ทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน หลังจากดำเนินการเรื่องเอกสารเรียบร้อยสักประมาณ 1 ชั่วโมงก็มีเงินโอนเข้าบัญชีเงินฝากเขาจากบริษัท         หลังจากกู้เงินมาได้ 1 สัปดาห์ เขาก็เล่าให้ลูกชายว่าไปกู้เงินกับบริษัทสีฟ้ามา ลูกชายก็บ่นๆ เขา ว่าทำไมพ่อไม่บอก ไม่น่าไปกู้เงินมาเลย ลูกชายเขาจะได้หาทางช่วย ลูกชายขอพ่อดูสัญญากู้ เขาบอกว่าบริษัทให้บัตรรายละเอียดที่ต้องชำระเงินมา ไม่รู้ว่าบัตรนี้เรียกสัญญาไหม เมื่อเขาคุยกับลูกชายไปมาก็ถึงบางอ้อว่า เอกสารที่บอกว่ากู้เงินกี่บาท ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ต้องชำระยังไง เขาเรียกว่าสัญญา ก็คือเอกสารที่เขาได้เซ็นไปนั่นแหละ สรุปว่าภูผาไม่ได้สัญญากลับมา         พอเห็นว่าพ่อไม่ได้สัญญามาไว้กับตัว ลูกชายจึงให้เขาไปขอสัญญาเงินกู้กับบริษัทสินเชื่อ เมื่อภูผาไปขอสัญญาจากบริษัทฯ พนักงานบริษัทฯ ก็บอกว่าเดี๋ยวให้ๆ วันนี้กลับไปก่อนนะครับ จนเวลาได้ล่วงเลยมา 2 เดือนหลังจากกู้ยืมเงิน ลูกชายเขาเข้าใจว่าบริษัทในฐานะผู้ให้กู้ต้องให้สัญญากู้ยืมเงินตั้งแต่วันที่ให้พ่อของเขากู้ไม่ใช่หรอ นี่ไปของสัญญากู้ตั้งนานแล้วทำไมยังไม่ได้ จึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา         ลูกชายของผู้ร้องเข้าใจถูกแล้วว่าเมื่อกู้ยืมเงินกันสัญญากู้ต้องทำเป็นสองฉบับ ฉบับหนึ่งผู้ให้กู้เก็บไว้ ส่วนอีกฉบับหนึ่งให้ผู้กู้เก็บไว้ หรือทำสัญญาฉบับเดียวแล้วถ่ายสำเนาสัญญากู้ให้อีกพร้อมหนึ่งเก็บไว้ด้วย เพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย         ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๔ ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้กำหนดอย่างชัดเจนไว้ว่า “ผู้ประกอบธุรกิจต้องส่งมอบสำเนาหรือคู่ฉบับสัญญาเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินให้แก่ผู้บริโภคไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับทันทีที่ผู้บริโภคลงนามในสัญญา” ดังนั้นบริษัทสีฟ้าต้องส่งมอบสัญญาให้ผู้ร้องทันทีเมื่อได้เซ็นสัญญากัน หากไม่ทำตามมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522         ทั้งนี้ผู้ร้องสามารถดำเนินการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อให้ดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงและให้บริษัทสินเชื่อส่งสัญญาให้ผู้ร้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 พบปีเตอร์ในอาหารเบรคโรงแรมเกือบสี่ดาว

        การพบแมลง อย่างแมลงวัน แมลงสาบในอาหารที่ผู้ให้บริการด้านอาหารเสิร์ฟมาให้เรารับประทานนั้น ไม่ว่าจะเป็นในร้านอาหารหรือโรงแรม นอกจากจะสร้างความรู้สึกไม่ดี ผะอืดผะอมแล้ว ยังพลอยทำให้หวั่นใจไปอีกว่า แล้วมาตรฐานด้านอื่นๆ ของผู้ให้บริการจะยังมีปัญหาตามมาด้วยหรือไม่ เรามาลองอ่านเรื่องของผู้บริโภครายนี้กัน         คุณแก้วตา มีภาระหน้าที่ซึ่งต้องจัดหาสถานที่เช่น โรงแรมหรือรีสอร์ตเพื่อให้บริการกลุ่มลูกค้าในการจัดเสวนา ประชุม อบรมต่างๆ เธอทำหน้าที่นี้มาหลายปีแล้ว พบเจอเหตุการณ์ทั้งดีและไม่ดีมาก็หลายแบบ อย่างเช่น การพบแมลงสาบในอาหารของโรงแรมที่เธอใช้จัดงานประชุมเมื่อสองสามปีก่อน ก็เป็นประสบการณ์หนึ่งที่สร้างความไม่อภิรมย์ใจนัก เคยแก้ปัญหาด้วยการทำข้อตกลงกับทางโรงแรมดังกล่าวให้ออกหนังสือขอโทษพร้อมทำแนวทางการปรับปรุงบริการ แต่ก็ยังไม่วางใจจึงเลิกใช้บริการไปพักหนึ่ง         อย่างไรก็ตามด้วยความสัมพันธ์อันดีกับเซลล์ของโรงแรมดังกล่าว ประกอบกับสถานที่ของโรงแรมนี้ซึ่งมีจุดเด่นที่ผู้เข้าอบรมหลายท่านประทับใจ เธอจึงกลับมาใช้บริการอีกครั้ง คราวนี้วางแผนใช้งานไปถึงปี 2566 กันเลยทีเดียว ทว่ากลับมาใช้บริการครั้งแรก (หลังจากหยุดใช้ไป) ก็เจอปีเตอร์ ซึ่งเรามักใช้แทนการเรียก “แมลงสาบ” ในอาหาร กับขนมเบรคของงานวันแรก “อยากจะร้องให้เลยค่ะ ไม่คิดว่าโรงแรมที่กำลังจะเข้าขอรับเป็นโรงแรมระดับสี่ดาว จะบกพร่องร้ายแรงแบบนี้” คุณแก้วตายังเล่าให้ฟังอีกว่า ยังมีหลายเรื่องที่พบว่าบริการของโรงแรมบกพร่อง เช่น การทำความสะอาดห้องพัก ก็พบว่าอุปกรณ์หลายอย่างไม่สะอาด เช่น ผ้าเช็ดตัว ไม้เช็ดหู ฯลฯ “อันนี้ผู้เข้าอบรมได้เล่าให้ฟัง” คุณแก้วตาเองก็กำลังพิจารณาว่า คงจะยกเลิกการจองโรงแรมนี้สำหรับงานอบรมปีหน้าแล้ว แม้ว่าผู้เข้าร่วมอบรมจะชอบบรรยากาศของโรงแรมมากแค่ไหนก็ตาม          “แต่ก็ไม่อยากปล่อยไปแบบนี้นะคะ เหมือนว่าข้อตกลงที่เคยทำกันไว้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ดิฉันสามารถทำอะไรได้บ้างค่ะ กรณีแบบนี้” คุณแก้วตาปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        ความสะอาดในอาหารเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคคำนึงมากที่สุดเมื่อต้องการรับประทานอาหารนอกบ้าน ทั้งในร้านอาหาร หรือโรงแรมที่มีบริการด้านอาหาร กรณีของคุณแก้วตา หากต้องการให้ผู้บริการชดเชยเยียวยาสามารถทำได้ทันที โดยการประสานกับทางผู้ให้บริการในระดับหัวหน้าหรือผู้รับผิดชอบที่ดูแลด้านลูกค้าสัมพันธ์ โดยการเก็บหลักฐานเช่น ภาพถ่าย ชิ้นอาหารที่พบการปนเปื้อน ฯลฯ ที่แสดงได้ว่าผู้บริโภคไม่ได้มีเจตนาใส่ร้าย และรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาของผู้ให้บริการ เช่น การชดเชยด้วยการไม่คิดค่าบริการ หรือทำอาหารให้ใหม่ หรืออื่นใด ซึ่งแสดงถึงความรับผิดชอบ ในกรณีที่รับประทานไปแล้ว อาจต้องรวมถึงการเข้ารับการตรวจสุขภาพเพราะอาจเกิดปัญหาอาหารเป็นพิษตามมา ทางผู้ให้บริการต้องแสดงเจตนาว่ารับผิดชอบในส่วนค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นในการรักษาพยาบาล         อย่างไรก็ตามในกรณีของคุณแก้วตา มิได้ต้องการเรื่องการชดเชยเยียวยา และยังไม่ได้รับประทานอาหารที่พบว่ามีแมลงสาบปนอยู่ด้วย แต่ต้องการให้ทางโรงแรมได้มีการรับผิดชอบด้วยการแสดงออกว่าจะมีการปรับปรุงระบบบริการ โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานดูแลความสะอาดในส่วนของอาหาร จึงแนะนำว่า ให้คุณแก้วตาร้องเรียนไว้กับทาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และให้มีการเจรจากันระหว่างผู้บริโภคกับผู้ให้บริการ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยมีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นคนกลาง หรืออาจร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพราะความสะอาดของอาหารและอื่นๆ ในโรงแรมก็ถือเป็นเงื่อนไขในสัญญาที่ผู้บริโภคต้องได้รับจากงานบริการด้านนี้         อันที่จริงคุณแก้วตาจะแบนโรงแรมนี้ไปตลอดเลยก็ย่อมทำได้ แต่เพราะการร้องทุกข์มิใช่เพียงแค่ต้องการการชดเชยเยียวยา แต่เป็นการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดแก่ผู้บริโภคคนอื่นๆ การร้องทุกข์ลักษณะนี้จึงมิควรปล่อยไปเพียงเพราะเห็นว่า จบที่เราก็พอแล้วหรือการว่ากล่าวในสังคมโซเชียลมีเดียด้วยอารมณ์ ซึ่งอาจนำมาถึงการฟ้องร้องเป็นคดีความกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 กระแสต่างแดน

ห้ามกู้มาจ่ายหน่วยงานด้านกิจการผู้บริโภคของญี่ปุ่นเสนอร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของทายาทหรือคู่ครองของบุคคลที่ “บริจาคเกินตัว” จนครอบครอบครัวต้องลำบากร่างกฎหมายดังกล่าวห้ามการบริจาค “เงินที่ได้จากการกู้ยืม” และเงินจากการขายบ้านที่เป็นทรัพย์สินของครอบครัว หากได้บริจาคไปแล้วก็ให้ถือเป็นโมฆะ ลูกหลานหรือคู่ครองสามารถเรียกร้องเงินคืนได้ การบริจาคดังกล่าว หมายถึงการบริจาคให้กับองค์กรทุกประเภท (ไม่จำกัดเฉพาะองค์กรทางศาสนา) นอกจากนี้รัฐสภาญี่ปุ่นได้โหวตให้แก้ไขกฎหมายเพื่อจัดการกับ “เทคนิคการขายแบบพิสดาร” ขององค์กรศาสนาบางแห่ง เช่น การบอกสมาชิกว่าถ้าไม่บริจาคแล้วโชคร้ายจะติดตัวไป หรือจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านถ้าไม่จ่าย เป็นต้น เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับชายญี่ปุ่นที่ตัดสินใจลอบสังหารอดีตนายกชินโซ อาเบะ ซึ่งเขาเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ “โบสถ์แห่งความสามัคคี” ที่ทำให้แม่ของเขาต้องหมดตัวเท่านั้น ปัจจุบันมีเด็กจำนวนไม่น้อยไม่มีบ้านอยู่ หรือต้องใช้ชีวิตอย่างยากแค้นเพราะพ่อแม่นำเงินไปทุ่มเทให้กับองค์กรเหล่านี้  ให้ความร่วมมือดี         คุณอาจกำลังสงสัยว่าประเทศอย่างสิงคโปร์ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านในโซนนี้หรือไม่ ... คำตอบคือ ไม่น้อย ระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนที่ผ่านมาชาวสิงคโปร์ โดนมิจฉาชีพหลอกโอนเงินทางโทรศัพท์ไปแล้ว 51 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 3.3 ล้านเหรียญ (ประมาณ 85 ล้านบาท) รายที่โดนหนักสุด สุญเงินไปถึง 700,000 เหรียญ (18 ล้านบาท) เริ่มจากการที่เหยื่อได้รับโทรศัพท์จาก “เจ้าหน้าที่ธนาคาร” ที่แจ้งว่า “บัญชีของคุณมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน” จากนั้นก็โอนสายให้คุยกับ “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” ที่จะยืนยันตัวตนด้วยการส่งรูปบัตรประจำตัวมาให้ดูประกอบความน่าเชื่อถือ จากนั้นก็อธิบายสถานการณ์แล้วขอให้เหยื่อโทรหา “เจ้าหน้าที่สอบสวน” กรณีดังกล่าวโดยตรง ตามด้วยจดหมายจาก “สำนักงานตำรวจแห่งชาติของสิงคโปร์” ที่ขอความร่วมมือให้เหยื่อช่วยสืบสวนหาต้นตอของ “เงินผิดกฎหมาย” ดังกล่าว ระหว่างนั้นก็ขอให้เหยื่อโอนเงินของตัวเองไปเก็บไว้ใน “บัญชีที่ปลอดภัย” ที่เขาจัดไว้ให้ ... งานนี้ไม่อยากเป็นมิตร         รัฐบาลฮ่องกงได้อนุมัติการผลิตและการใช้ “โลงศพชนิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” มาตั้งแต่ปี 2007 โดยนำร่องใช้กับพิธีเผาศพไม่มีญาติ ตามด้วยการออกระเบียบให้ผู้ให้บริการพิธีเผาศพนำเสนอ “โลงอีโค” ให้เป็นหนึ่งในทางเลือกของลูกค้าเสมอ โลงอีโคทำจากกระดาษและวัสดุรีไซเคิล สามารถติดไฟและเผาไหม้ได้ดีจึงประหยัดพลังงาน และยังปล่อยก๊าซอันตรายน้อยกว่า เมื่อเทียบกับโลงแบบดั้งเดิมที่ทำจากไม้ทั้งต้น ยิ่งไม้มีความแข็งแรง ก็ยิ่งลุกไหม้ยาก ในขณะที่สีย้อมไม้ น้ำมันเคลือบเงา ที่จับโลหะ รวมถึงผ้าบุด้านใน ล้วนก่อให้เกิดสารอันตรายเมื่อติดไฟอีกด้วย  สภาผู้บริโภคฮ่องกงพบว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีการใช้โลงอีโคเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ไม่สอดคล้องกับผลการสำรวจเมื่อปี 2015 ที่พบว่าคนฮ่องกงถึงร้อยละ 67 ยินดีจะเปลี่ยนมาใช้โลงอีโคถ้าพวกเขาต้องวางแผนจัดงานศพ หรืออาจเพราะปัจจัยด้านราคา สภาฯ พบว่าโลงสองประเภทนี้ราคาไม่ต่างกัน (5,000 เหรียญ หรือประมาณ 22,300 บาท) สธ. ต้องรับผิดชอบ         ครอบครัวชาวอินโดนีเซีย 12 ครอบครัว รวมตัวกันยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อกระทรวงสาธารณสุข และองค์การอาหารและยา ที่ล้มเหลวในการสกัดกั้นการจำหน่าย “ยาแก้ไอมรณะ” ที่ทำให้เด็กเสียชีวิตเพราะอาการไตวายไปแล้วเกือบ 200 คน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังฟ้องบริษัทที่เป็นผู้จัดหายาดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีส่วนประกอบของสารอันตราย ไดเอทธิลีน ไกลคอล และเอทธิลีน ไกลคอล เกินมาตรฐาน (สารดังกล่าวใช้ในอุตสาหกรรมสี หมึก และน้ำมันเบรก เป็นต้น) ก่อนหน้านี้รัฐบาลอินโดนีเซียได้ทำการสอบสวนและสั่งระงับการจำหน่ายยาดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยา 2,000 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 4.46 ล้านบาท) สำหรับผู้เสียชีวิต และ 1,000 ล้านรูเปียห์ สำหรับผู้ที่สูญเสียไต เหตุดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในแกมเบีย และก่อนหน้านั้นในรัฐจัมมูของอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยาดังกล่าว เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียได้สั่งปิดโรงงานที่ผลิตแล้ว ใครๆ ก็กินได้ ธุรกิจ “โลว์คอสต์” มักมีการแข่งขันสูง ซูชิโลว์คอสต์ก็เช่นกัน ล่าสุดประธานบริษัท Kappa Create หนึ่งในสี่ผู้ประกอบการร้านสายพานซูชิรายใหญ่ของญี่ปุ่น ถูกจับในข้อหา “ขโมยข้อมูลสำคัญทางธุรกิจ” จาก Hana Sushi ที่เขาเคยเป็นพนักงานมาก่อน ข้อมูลที่ขโมยมาคือรายการต้นทุนของแต่ละเมนู และบริษัทจัดหาวัตถุดิบของคู่แข่งนั่นเอง อุตสาหกรรมนี้เติบโตมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ใครๆ ก็อยากกินซูชิที่ราคาเริ่มต้นแค่จานละ 100 เยน (ประมาณ 25 บาท) และราเมนหรือขนมที่ราคา 300 หรือ 400 เยน ก็โดนใจผู้บริโภคสายประหยัดยิ่งนักส่งผลให้ผู้ประกอบการงัดกลยุทธออกมาแย่งลูกค้ากัน บางทีก็ไม่ใช่วิธีที่ดีนัก นักวิชาการคาดว่าเรื่องแบบนี้จะมีให้เห็นกันอีก ก่อนหน้านี้ Sushiro เจ้าใหญ่ที่มีถึง 600 สาขาทั่วญี่ปุ่น ก็ทำทีโปรโมทเมนู​พิเศษ “ซูชิหอยเม่น” (เจ้าอื่นไม่มีเมนูนี้เพราะไม่สามารถหาวัตถุดิบได้) แต่เมื่อลูกค้าไปถึงร้าน กลับไม่มีเมนูดังกล่าวให้ ทางร้านอ้างว่า “ขายดีเกินคาด” ของจึงหมดสต็อก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ‘หนังสือ’ ราคาแพงไปหรือไม่? คำถาม คำตอบ และความคาดหวัง

อาจจะ 20 หรือ 30 ปีก่อน ครั้งที่อินเทอร์เน็ตเริ่มบูมและมีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เกิดคำทำนายว่า ‘หนังสือเล่มจะหายไป’ นักอ่านจะหันมาอ่านหนังสือจากอินเทอร์เน็ตแทน ซึ่งก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นจริง (อย่างน้อยก็ยังไม่เป็นจริง) เพราะหนังสือเล่มมีเสน่ห์ในตัวที่ยังไม่มีสื่อชนิดอื่นเข้ามาแทนที่         ‘คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด’ มายาคติที่ไม่เป็นจริง (อย่างน้อยก็ไม่เป็นจริงแล้ว) แต่ก็ถูกเชื่อกันอยู่พักใหญ่ ปัจจุบันมีข้อมูลทางสถิติยืนยันแล้วว่าคนไทยอ่านหนังสือมากกว่านั้นเยอะ ผลสำรวจการอ่านของประชากรปี 2561 โดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยยังคงอ่านหนังสือเล่มสูงถึงร้อยละ 88 ขณะที่การอ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็สูงขึ้นอย่างน่าจับตา ด้านสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (pubat) ระบุว่าคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 3 เล่มต่อเดือน         มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมชมงานถึง 1,355,893 คน สามารถสร้างรายได้ให้สำนักพิมพ์ที่เข้าร่วมงาน 347,331,734 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 ถึงร้อยละ 74         แต่ ‘รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำฐานข้อมูลและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการพิมพ์ (Publishing) ปี 2564’ จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ก็พบข้อมูลที่ดูขัดแย้งกันว่า         ‘ในภาพรวม พบว่าพฤติกรรมคนไทย มักไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอ่านเป็นทุนเดิม เนื่องจากระบบการศึกษาในประเทศ ที่ไม่ได้สนับสนุนให้คนไทยเห็นความสำคัญของการอ่านตั้งแต่ระดับเยาวชน ประกอบกับการเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้ผู้อ่านมีทางเลือกในการเสพสื่ออื่นๆ มากยิ่งขึ้นและพฤติกรรมการเสพสื่อของคนในปัจจุบันที่ใช้เวลาในการเสพสื่อสั้นลง รวมถึงทัศนคติของคนไทยที่มองว่าหนังสือคือสินค้าฟุ่มเฟือยเนื่องจากหนังสือมีราคาสูง ยิ่งทำให้คนไทยยิ่งหันไปเสพเนื้อหาแบบอื่นแทนที่สื่อสิ่งพิมพ์ ประกอบกับการเข้าถึงแหล่งหนังสือต่างๆ เช่น ห้องสมุด โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ไม่ได้สร้างการเข้าถึงให้กับผู้อ่านอย่างเพียงพอ ทำให้ผู้อ่านในต่างจังหวัดเข้าถึงหนังสือได้ยาก’         ‘รวมถึงทัศนคติของคนไทยที่มองว่าหนังสือคือสินค้าฟุ่มเฟือยเนื่องจากหนังสือมีราคาสูง’ ประโยคนี้คือประเด็นสำคัญที่เราจะคุยกัน หนังสือไทยแพงจริงไหม?         “คำว่าแพงหรือไม่แพงเป็นเรื่องสัมพัทธ์ มันขึ้นกับว่าเราจ่ายไหวมั้ย เพราะฉะนั้นถ้าเทียบในระดับราคาหนังสือต่อเล่มต่อค่าครองชีพ เมืองไทยถือว่าแพงแน่ๆ เพราะค่าแรงมันต่ำ แต่ค่าหนังสือมันขึ้นมาเรื่อยๆ ถ้าเทียบกับค่าครองชีพคือแพง ถ้ามองในมุมว่าราคาหนังสือปัจจุบันเทียบกับราคาหนังสือในประเทศอื่นๆ ก็ไม่ถือว่าแพงราคามาตรฐาน แต่ค่าแรงเรามันต่ำเราก็เลยรู้สึกว่าหนังสือแพง อย่างในญี่ปุ่นราคาหนังสือเล่มละ 350-1,000 เยน 1,000 เยนคือเล่มใหญ่ ถือว่าแพงแล้ว ประมาณ 256 บาท (ค่าเงินวันที่ 14 ธันวาคม) แต่ค่าแรงชั่วโมงละ 1,100 เยน ทำงาน 1 ชั่วโมงซื้อหนังสือได้แล้วเล่มหนึ่ง แต่ของไทยทำงานฟาสต์ฟู้ดเหมือนกัน พาร์ทไทม์ ชั่วโมงละ 28-36 บาท มันซื้อหนังสือไม่ได้ เดี๋ยวนี้ราคาเริ่มต้นก็ร้อยขึ้นแล้ว” ธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (pubat)         “ถามว่ามันขึ้นตามเงินเฟ้อมั้ย ใช่ ทุกสำนักพิมพ์น่าจะเจอเหตุผลเดียวกัน เพียงแต่ว่าปัญหาคำว่าแพงมันไปพันกับเรื่องค่าครองชีพและจีดีพีโดยรวมของประเทศด้วย ถ้าจะพูดถึงรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยกับราคาปกหนังสือ ณ ปัจจุบัน ผมคิดว่ามันก็แพง” มณฑล ประภากรเกียรติ ผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน         “แพงนะ รู้สึกเลยว่าแพงขึ้นมากจากตอนที่ไปเดินงานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุด บางสำนักพิมพ์ราคาสูงมากเลย ในใจทบทวนง่ายๆ อาจจะแบบสามเล่มพัน เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าสองเล่มพันก็มี เลยรู้สึกว่าแพงมากขึ้น ยิ่งหนังสือแปล ยิ่งแพง ต้องยอมรับว่าแพง เป็นของฟุ่มเฟือย” คชรักษ์ แก้วสุราช แอดมินเพจ ‘อ่านเจอ’         “ทำไมถึงแพง บางคนก็ตอบว่าเพราะค่าแรงมันถูก หมายถึงว่ามันไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพราะฉะนั้นหนังสือมันเป็นความฟุ่มเฟือยอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องถูกมองว่าแพง แล้วก็ไม่ใช่ความบันเทิงราคาถูกอีกแล้ว เมื่อก่อนยังพอเป็นไปได้ที่คนทั่วจะสามารถซื้อหนังสืออ่าน ต้องยอมรับแล้วว่ามันสูงขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” กิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียน นักออกแบบปก บรรณาธิการ ผู้ก่อตั้งร้านหนังสืออิสระ Books & Belongings และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี และสำนักพิมพ์ B&B Press ทำไมถึงแพง?         อย่างน้อยคนที่เกี่ยวข้องกับหนังสือในหลายบทบาทก็ยอมรับว่าราคาหนังสือไทยแพง แต่ความแพงนี้มีที่มา เราจะจัดกลุ่มกันดูว่าเป็นเพราะอะไร         ประเด็นแรกคือจำนวนการพิมพ์น้อยทำให้ไม่เกิดการประหยัดจากขนาดการผลิต (economy of scale) ถอยกลับไปประมาณ 10 ปีก่อนการพิมพ์หนังสือเริ่มต้นที่ 3,000 เล่ม ปัจจุบันเริ่มต้นที่ 500-1,000 เล่ม ขณะที่ fixed cost ต่างๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าบรรณาธิการ ค่าลิขสิทธิ์ ค่าแปล เป็นต้น สูงขึ้น เมื่อตัวหารน้อยลงราคาขายต่อหน่วยจึงต้องแพงขึ้น         คำถามที่ตามมา เหตุใดยอดพิมพ์จึงลดลงทั้งที่คนอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น ประเด็นนี้มองได้หลายมุม มุมแรก สำนักพิมพ์มีความหลากหลายมากขึ้นตัวเลือกการอ่านมีมากขึ้น ทำให้ยอดขายต่อเล่มต่อปกลดลงจึงต้องพิมพ์จำนวนน้อยลง เชื่อมโยงสู่ขนาดของตลาดในประเทศซึ่งธีรภัทรมองว่ามีขนาดใหญ่พอ แต่สิ่งที่ต้องนำมาคำนวณคือผู้เสพมีตัวเลือกการเสพ content มากกว่าในอดีตมาก หนังสือไม่ใช่แหล่งสาระความรู้และความบันเทิงเดียวเช่นในอดีต         แต่แม้ว่าขนาดตลาดจะใหญ่พอก็ไม่ใหญ่โตเท่ากับตลาดหนังสือในจีน อินเดีย ญี่ปุ่น หรือเวียดนามที่มีจำนวนประชากรไล่ตั้งแต่พันกว่าล้านถึงเกือบร้อยล้านและมีวัฒนธรรมการอ่านที่ค่อนข้างแข็งแรง ยกตัวอย่างญี่ปุ่นที่ยอดพิมพ์เริ่มต้นกันที่ 10,000 เล่ม เมื่อตลาดเล็กกว่าการอ่านน้อยกว่าก็ย้อนกลับไปเรื่องยอดพิมพ์        กระดาษแพงซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดโลก เป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของสำนักพิมพ์ ขณะที่ราคากระดาษในบ้านเราผูกกับราคาในตลาดโลก โดยเฉพาะปี 2565 ราคากระดาษพุ่งขึ้นกว่าร้อยละ 20-30 ในไทยมีผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่อยู่ 2 เจ้า ได้แก่ เอสซีจีและดับเบิ้ลเอเป็นอีกเกรดหนึ่งไม่เหมาะกับการผลิตหนังสือ(ส่วนความเข้าใจผิดที่ว่ากระดาษแพงเพราะเก็บภาษีกระดาษ ธีรภัทรบอกว่าประเทศไทยยกเลิกเก็บภาษีนำเข้ากระดาษตั้งแต่ปี 2535 และหนังสือก็ได้รับยกเว้นไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม) โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวอะไร?         ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่มักไม่ถูกนำมาคิดในสมการ-โครงสร้างพื้นฐาน เรืองเดช จันทรคีรี ผู้คร่ำหวอดในวงการหนังสือมายาวนาน โพสต์โครงสร้างราคาหนังสือในเฟซบุ๊กของเขาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2021 พบว่า ในราคาหนังสือ 100 บาทจะถูกคิดเป็นค่าสายส่งและหน้าร้านสูงถึงร้อยละ 40-45 เมื่อหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะเหลือกำไรคืนสู่สำนักพิมพ์น้อยกว่าร้อยละ 10         ดูแล้วเหมือนสายส่งผู้ทำหน้าที่กระจายหนังสือไปยังร้านหนังสือต่างๆ กำลังเอาเปรียบ แต่ธีรภัทรอธิบายว่าความจริงแล้วเมื่อหักต้นทุนแล้ว สายส่งเหลือกำไรเพียงร้อยละ 2-5 เท่านั้น          ธีรภัทรอธิบายต่อว่าเหตุผลที่ค่าสายส่งสูงเกือบครึ่งหนึ่งของราคาหนังสือเป็นเพราะต้นทุนการขนส่งของไทยสูง กลับไปที่ญี่ปุ่น ค่าสายส่งคิดเป็นร้อยละ 20-30 ของราคาหนังสือเท่านั้น เพราะในญี่ปุ่นใช้วิธีขนส่งหนังสือผ่านรถไฟไปยังหัวเมืองหรือจังหวัดต่างๆ แล้วนำรถบรรทุกมารับเพื่อไปกระจายต่อทำให้ต้นทุนค่าขนส่งถูกกว่าของไทยที่ต้องขนส่งด้วยรถบรรทุกเป็นหลัก         ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพต่ำส่งผลให้ราคาหนังสือแพงกว่าที่ควรจะเป็น         (และแน่นอนว่าค่าแรงขั้นต่ำก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อการเข้าถึงหนังสือ) รัฐควรทำอะไร?         คำถามสำคัญมีอยู่ว่ารัฐควรยื่นมือเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้ราคาหนังสือถูกลงหรือไม่         “ผมเห็นด้วยว่ารัฐต้องเข้ามาช่วย ถ้าคุณไม่สามารถสนับสนุนเรื่องการพิมพ์ได้ คุณควรสนับสนุนเรื่องบุ๊คแฟร์ ทุกสำนักพิมพ์อยากมีพื้นที่ในการปล่อยของ บางสำนักพิมพ์เล็กๆ ขายได้งานหนึ่งก็อยู่ได้ทั้งปี แต่ทำไมเขาต้องมาเสียค่าเช่า อย่างศูนย์สิริกิติ์เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่แต่ก็แพงขึ้นเป็นพื้นที่ของเอกชน ทำไมรัฐไม่เข้ามาเป็นเจ้าภาพในการจัดบุ๊คแฟร์คือ มันควรสนับสนุนด้านการขาย การตลาด        “ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้หนังสือราคาแพงคือกระดาษ ทุกวันนี้กระดาษนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่สามารถผลิตในไทยได้หรือกลุ่มเอสซีจีก็ผลิตน้อยลง หันไปทำธุรกิจอย่างอื่นที่ได้กำไรมากกว่า ถ้าเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ผมว่าช่วยสำนักพิมพ์ได้ยี่สิบสามสิบเปอร์เซ็นต์เลยในการลดต้นทุนการผลิต รัฐเข้ามาช่วยส่วนนี้ได้ด้วยการช่วยดีลกับตลาดต่างประเทศให้ราคาถูกลงหรือเรื่องโลจิสติกส์ที่ควรจะถูกลง แต่การจะให้คนในวงการอยู่ได้จริงๆ คุณต้องสนับสนุนตลาดหนังสือ” มณฑล กล่าว         ส่วนกิตติพลกล่าวด้วยความหวังที่น้อยกว่านั้น “ไม่มีผู้นำในรัฐบาลไหนตั้งใจทำให้เรารู้หรอก กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ถ้าเขาทำได้เขาทำตั้งนานแล้ว แต่ทุกวันนี้ยังจู้จี้ว่าประวัติศาสตร์ยังไม่ไทยพอ แสดงว่ามันสวนทางกับเรื่องการศึกษาที่แท้จริงและอย่างที่เราเห็นว่าในตำราในหลักสูตรต่างๆ มันสอนให้เราอ่านได้น้อยลงคิดได้น้อยลงเขียนได้น้อยลง สิ่งที่เราเห็นอยู่ก็เป็นโลกของชนชั้นกลางที่มีโอกาสมากกว่าแต่การศึกษาภาคบังคับทำให้เราพังทุกอย่างที่เราอยากรู้         “พอพูดถึงเรื่องนี้มันไม่มีหรอกแบบล็อตเตอรี่ ฟันด์ของอังกฤษที่ช่วยซัพพอร์ตสิ่งพิมพ์จะไปขอใคร ส่วนใหญ่ก็องค์กรด้านวัฒนธรรมของประเทศอื่นๆ ต่างหากที่จะหยิบยื่นเข้ามา ประเทศที่ยากจนกว่าเราในลาติน อเมริกายังมีงบที่ช่วยซัพพอร์ตด้านวัฒนธรรมเลยให้มากกว่าที่รัฐบาลไทยให้กับคนในประเทศอีก ตรงนี้ทำให้รู้สึกว่าถ้ามีความตั้งใจจริงใจจะทำตั้งแต่แรกเขาทำไปตั้งนานแล้วแต่เขาไม่ได้ต้องการ” ทำไมไม่ควรพึ่งพารัฐ?         ขณะที่ธีรภัทรมีมุมมองที่ต่างออกไปประมาณหนึ่ง “เวลาถกเถียงเรื่องแบบนี้เราชอบมองหนังสือเป็นเรื่องเดียวทั้งหมด ถามว่าเราควรอุดหนุนหนังสือเด็ก หนังสือเพื่อการเรียน เพื่อพัฒนาการให้ราคาถูก เข้าถึงได้มั้ย ผมว่าควร จำเป็น แล้วหลังจากนั้นเขาจะไปซื้อหนังสืออ่านในวัยที่โตขึ้นด้วยศักยภาพของตัวเอง แต่ถามว่ารัฐควรจะอุดหนุนทั้งหมดให้ราคาหนังสือทุกชนิดถูกลงมั้ย ผมไม่เห็นด้วย เพราะมันเป็นเรื่องธุรกิจของแต่ละฝ่าย หนังสือถูกทั้งหมดแล้วต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ในการสนับสนุน มันคุ้มหรือเปล่าในมุมมองของรัฐ”         เขาเห็นด้วยถ้ารัฐจะสนับสนุนด้านพื้นที่การจัดงานหนังสือและตลาดเพื่อให้สำนักพิมพ์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เท่าเทียมมากขึ้น         เขาเห็นด้วยถ้ารัฐจะอุดหนุนราคากระดาษ เนื่องจากใช้งบประมาณไม่มาก สำนักพิมพ์ได้รับประโยชน์ทั่วถึง และแทรกแซงอุตสาหกรรมกระดาษในไทยที่มีผู้เล่นน้อยราย แต่เขาคัดค้านการสนับสนุนสำนักพิมพ์หรือหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว เขายังมองว่าอันตรายต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการพิมพ์ เพราะหากพึ่งพารัฐมากเกินไปย่อมเท่ากับเปิดช่องโหว่ให้รัฐเข้ามาควบคุมเนื้อหาหนังสือโดยปริยายวิสัยทัศน์ที่ต่างกัน แผน 20 ปีที่ต่างกัน         ‘รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำฐานข้อมูลและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการพิมพ์ (Publishing) ปี 2564’ คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงของไทยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 3.64 มีมูลค่ารวมที่ 6 แสนล้านบาทในปี 2567 ทว่าใน Sector หนังสือกับหนังสือพิมพ์และนิตยสารจะมีอัตราการเติบโตคาดการณ์ต่ำสุด         อย่างไรก็ตาม e-book และ audiobook ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง จุดนี้สะท้อนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งต้องติดตามว่าจะส่งผลต่อการอ่านหนังสือเล่มแค่ไหน อย่างไร (ถึงกระนั้น เราอาจต้องนำเรื่อง digital divided หรือช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิตัลมาขบคิดร่วมด้วย)         ในรายงานข้างต้นได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์ของเกาหลีและเยอรมนีไว้ค่อนข้างละเอียด ช่วยให้เห็นว่าทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการอ่านมากเพียงใด เช่น เกาหลีใต้มีการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบกว่า 20 ปี มีหน่วยงานอิสระอย่าง KPIPA ทำหน้าที่ดูแลโดยเฉพาะ ฯลฯ และทั้งสองประเทศมีนโยบายสร้างนิสัยรักการอ่านและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่านเหมือนกัน         นอกจากนี้ รายงานยังจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการพิมพ์ ไว้ ผู้อ่านสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่        https://article.tcdc.or.th/uploads/media/2022/6/20/media_6-CEA-Publishing-Final-Report.pdf         เรานำเสนอส่วนนี้อย่างรวบรัดตัดความเพราะพื้นที่จำกัด เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศที่ใส่ใจกับการเรียนรู้ของพลเมืองนั้นมีอยู่ มีการคิด มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และประเทศที่ขาดวิสัยทัศน์ก็มีอยู่เช่นกัน         แผนพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์ 20 ปีของเกาหลีใต้กับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน 2665

ภาชนะพลาสติกสำหรับอาหารจะเป็นสินค้าควบคุม         สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศเพิ่มเติมให้สินค้าประเภทพลาสติกที่ใช้กับอาหารเป็นสินค้าควบคุม เนื่องจากภาชนะที่ใช้สัมผัสอาหารโดยตรงอาจมีความเสี่ยงให้ก่อสารมะเร็งได้ เช่น สีที่ใช้ทาเคลือบภายนอก สารที่ใช้ทำพลาสติก         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จำนวน 136 รายการ ที่ทาง สมอ. ประกาศเป็นสินค้าควบคุม และกำลังจะเพิ่มอีก 5 รายการ ได้แก่ 1.ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากพอลิเอทิลีน พอลิพรอพิลีน พอลิสไตรีน พอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลต พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ และพอลิเมทิลเพนทีน  2. ภาชนะเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากพอลิไวนิลคลอไรด์ พอลิคาร์บอเนต พอลิแอไมด์ และพอลิเมทิลเมทาคริเลต 3. ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากอะคริโลไนไทรล์-บิวทะไดอีน-สไตรีน และสไตรีน-อะคริโลไนไทรล์  4. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่น (ใช้ซ้ำได้)  5. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่นครั้งเดียว เพิ่มเติม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งทั้ง 5 รายการที่กล่าวมาจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 มกราคม 2565 นี้ ทวงหนี้ผิดกฎหมายระบาด         นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยว่า พบแก๊งมิจฉาชีพส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ทวงหนี้เงินกู้มากขึ้น และชักชวนให้กู้วงเงินเพิ่ม โดยมี 3 ข้ออ้าง ดังนี้ 1.ขู่ว่าเป็นหนี้ไม่จ่ายจะติดคุก ความจริงคือ ไม่จ่ายหนี้ไม่ใช่ความผิดทางอาญา แต่เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ 2.จะมีการยึดทรัพย์ทันทีหากไม่ยอมจ่ายหนี้ ความจริงคือ เจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีถึงที่สุดก่อน 3.การทวง เช้า กลางวัน เย็น ไม่สามารถทำได้ ทางกฎหมายให้ทวงนี้แค่วันละ 1 ครั้งเท่านั้น หากใครได้รับการข่มขู่ลักษณะข้างต้นให้ตั้งสติแล้วบันทึกข้อมูลเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ เช่น ข้อมูลสนทนา ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เพื่อใช้ดำเนินคดีอย่าเพิกเฉย         การทวงหนี้ตามกฎหมายหากมีลักษณะการข่มขู่ ดุหมิ่น เปิดเผยข้อมูลของลูกหนี้ หรือใช้ความรุนแรงทำให้เสียทรัพย์ใดๆ อาจถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และ ผู้ประประกอบการสินเชื่อที่ไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000 – 500,000 บาท เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ห้ามโอนลอยรถ เสี่ยงได้รถผิดกฎหมาย                    กรมการขนส่งทางบก แจ้งเตือนประชาชนที่ ซื้อ-ขาย รถมือสองว่าไม่ควรซื้อ-ขาย โดยวิธีการโอนลอย เช่น การเซ็นเอกสารแล้วมาดำเนินการทีหลัง เพราะอาจจะก่อให้เกิดปัญหาสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายได้ เช่น ผู้ซื้อไม่ยอมชำระภาษีประจำปี รถเกิดอุบัติเหตุ หรือเคยนำรถไปกระทำโดยผิดกฎหมายอาจจะสร้างปัญหาผู้ขายได้ เนื่องจากชื่อเจ้าของรถยังคงปรากฎเป็นเจ้าของรายเดิมอยู่ในระบบ         ทั้งนี้การไม่นำรถมาโอนทางทะเบียน อาจทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของรถได้ว่าเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมาหรือไม่ อย่างไรก็ตามทางกรมการขนส่งทางบกได้กำชับทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขายว่าต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของรถก่อนการซื้อทุกครั้ง และต้องตรวจสอบหลักฐานทะเบียนรถให้ครบถ้วน โดยเฉพาะคู่มือรถฉบับจริงที่มีชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สีรถถูกต้องตรงกับที่ซื้อขายทุกรายการ ที่สำคัญควรตรวจสอบว่ามีการชำระภาษีประจำปีถูกต้องครบถ้วน สั่งอาหารออนไลน์ระวังเชื้อรา        กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนผู้บริโภคที่นิยมสั่งซื้ออาหารผ่านทางออนไลน์ ว่า ระวังเสี่ยงเชื้อราและให้สังเกตบรรจุภัณฑ์ หรือดูวันหมดอายุก่อนบริโภคทุกครั้ง         นายแพทย์เอกชัย  เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกรมอนามัย เผยว่า ปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านแอปพลิเคชันทางออนไลน์กันมากขึ้น เพราะสะดวก ประหยัดน้ำมัน และไม่เสียเวลาในการเดินทาง ผู้ผลิตยังนิยมจัดกลยุทธ์การตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย ทำให้ผู้บริโภคสั่งซื้ออาหารนั้นบ่อยและมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว จึงควรระวังสินค้าเก่าเก็บที่อาจเสี่ยงเชื้อรา เพราะหากเก็บรักษาไม่เหมาะสม เช่น เก็บไว้ในที่ชื้นเกินไปหรือไม่มีการอบให้แห้งดีพอ จะก่อให้เกิดสาร “อะฟลาทอกซิน” หากมีการบริโภคเข้าไปสะสมในปริมาณมากก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้ ดังนั้น เมื่อได้รับสินค้าควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ว่าสะอาด มีฝาปิดมิดชิด ซองบรรจุไม่มีรูรั่ว และอ่านฉลากให้ครบถ้วน ตั้งแต่ชนิด ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดคุณภาพ         สำหรับอาหารสดก่อนที่จะนำมาปรุง ประกอบอาหาร ควรล้างให้สะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อน และควรตรวจสอบวันหมดอายุก่อนนำมาบริโภคทุกครั้ง นอกจากผู้บริโภคควรสังเกตเรื่องความปลอดภัยของอาหารแล้ว หากพบอาหารที่สั่งมามีกลิ่นหรือสีที่เปลี่ยนไปถึงแม้จะมองไม่เห็นว่ามีเชื้อราก็ไม่ควรนำมาบริโภค ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ “สารอะฟลาทอกซิน” เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง โดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัมสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง ศาลปกครองกลาง "รับฟ้อง" คดีควบรวมธุรกิจทรู-ดีแทค        จากที่ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ยื่นคำร้อง ให้เพิกถอนมติ กสทช. “รับทราบ” การควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว และทาง สอบ.ได้นำรายชื่อผู้บริโภค 2,022 ราย ที่ได้ร่วมรณรงค์คัดค้านและสนับสนุนเรื่องดังกล่าวยื่นต่อศาลปกครองอีกด้วย         กรณีที่ผู้บริโภคยื่นคำขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ศาลได้รับคำขอดังกล่าวไว้ และรอให้ ทรู-ดีแทค มาเป็นผู้ร้องสอดในคดีจึงจะเริ่มพิจารณา เนื่องจากศาลมองว่า 2 บริษัทเป็นบุคคลภายนอกที่อาจมีผลกระทบจากการพิพากษา นอกจากนี้ สาเหตุที่ สอบ.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางนั้นมาจากที่ มติในการประชุมของ กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งด้านเนื้อหาและกระบวนการเพราะก่อนลงมติฯ กสทช.ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการก่อน ทั้งนี้มติดังกล่าวกระทบกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากกว่า 118 ล้านเลขหมาย โดยเฉพาะผู้ใช้บริการของทรูและดีแทคที่มีจำนวนสูงถึง 60 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ไอศกรีมแสนอร่อยมีสารพิษ

        ไอศกรีมเป็นของหวานที่มีราคาหลากหลาย กล่าวคือ บางยี่ห้อราคาถูกพอที่คนซึ่งเลี้ยงชีพด้วยค่าแรงขั้นต่ำพอซื้อกินได้ ไปจนถึงบางยี่ห้อที่ราคา 1 scoop ละร้อยกว่าบาท ความแตกต่างของราคานั้นขึ้นกับกรรมวิธีการผลิตซึ่งมักมีวัตถุดิบ ที่อาจเหมือนกันแต่คุณภาพต่างระดับกัน         ไอศกรีมราคาแพงมักมีกลิ่นรสอร่อยกว่าไอศกรีมราคาถูก เช่นในกรณีของไอศกรีมรสวานิลลา ไอศกรีมราคาแพงมักใช้สารสกัดจากฝักวานิลลาจริงซึ่งมีราคาแพงพอควร ในขณะที่ไอศกรีมราคาถูกมักใช้กลิ่นรสวานิลลาสังเคราะห์ซึ่งเป็นสารเคมีที่อาจเหมือนหรือคล้ายของจริง แต่องค์ประกอบโดยรวมของกลิ่นและรสสังเคราะห์นั้นย่อมต่างจากวานิลลาจริงแน่นอน อย่างไรก็ตามการกินไอศกรีมที่ใช้ของดีและอร่อยนั้นก็อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับโอกาสเจอสารเคมีไม่พึงประสงค์ได้ ถ้าผู้ผลิตพลั้งพลาดปราศจากความรอบคอบในการคัดเลือกองค์ประกอบบางชนิดมาใช้ในการผลิต เพราะอร่อยและแพงจึงเจอสารพิษ         10 สิงหาคมของปีนี้เว็บของสำนักข่าวหนึ่งของไทยมีหัวข้อข่าวเรื่อง ผู้บริโภคผวา! เบลเยียมสั่งเรียกไอศครีมเจ้าดังเพิ่ม หลังอียูเตือนพบสารก่อมะเร็ง โดยมีเนื้อข่าวที่น่าสนใจว่า เบลเยียมสั่งเรียกเก็บไอศกรีมยี่ห้อดังออกจากชั้นวางขายเพิ่มเติมจากที่เคยสั่งไปแล้วครั้งหนึ่งในเดือนกรกฎาคม 2022 ข่าวโดยสรุปกล่าวว่า พบเจอสาร 2-chloroethanol ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวชนิดกระปุกใหญ่และถ้วยมินิซึ่งจะหมดอายุเดือนมีนาคม-เมษายน 2566 จากนั้น European Food Safety Authority: EFSA ได้แจ้งเตือนแก่ประเทศสมาชิกอีกครั้ง (ข่าวปรากฏในวันที่10 สิงหาคม 2565) ว่าได้สุ่มตรวจสอบหาสารปนเปื้อนในไอศกรีมยี่ห้อต่างๆ แล้วพบว่า ไอศกรีมยี่ห้อ XXX ที่ผลิตในฝรั่งเศสแต่มีบริษัทแม่เป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกามีสารไม่พึงประสงค์ปนเปื้อน หน่วยงานด้านความปลอดภัยอาหารของประเทศฝรั่งเศสจึงขอให้ร้านค้านำสินค้าล็อตที่ตรวจพบสารพิษออกจากชั้นวางสินค้า ประเด็นที่น่าสนใจคือ แหล่งข่าวทั้งไทยและเทศร่วมใจกันให้ข้อมูลว่า สารพิษที่พบนั้นส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์และสามารถก่อโรคร้าย เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวผู้บริโภคควรฟังหูไว้หูก่อนตื่นตระหนก         จากการค้นหาข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับ 2-chloroethanol แล้วปรากฏว่า สารเคมีนี้ถูกจัดว่าเป็นสารพิษร้ายแรงชนิด extremely hazardous substance ซึ่งตามข้อกำหนดของสหรัฐอเมริกาในรัฐบัญญัติ Emergency Planning and Community Right-to-Know Act (42 U.S.C. 11002) กำหนดว่า ต้องมีการรายงานปริมาณการผลิต การครอบครองและการใช้ต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ         2-chloroethanol เป็นอนุพันธ์ของ ethylene oxide ซึ่ง ethylene oxide นั้นเป็นสารก่อมะเร็งที่มีลักษณะเป็นกาซชนิดที่มีความนิยมในการใช้ฆ่าแมลงและจุลินทรีย์ที่อาจปนเปื้อนสินค้าทางการเกษตรต่างๆ ตามคุณสมบัติที่สามารถทำลายดีเอ็นเอของเซลล์อย่างชะงัดนัก ในกรณีของไอศกรีม XXX นั้นบริษัทแม่ของผู้ผลิตไอศกรีมสัญชาติฝรั่งเศสซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกากล่าวในเว็บของบริษัทว่า "ปริมาณ ethylene oxide ระดับหนึ่งถูกตรวจพบได้จากส่วนผสมเดียวคือ สารสกัดวานิลลา ที่จัดหาโดยซัพพลายเออร์รายหนึ่งของบริษัท สำหรับประเทศอื่นนอกสหภาพยุโรปนั้น หน่วยงานตรวจสอบด้านสุขภาพ ANVISA ของบราซิลในเดือนสิงหาคมของปีนี้ ได้ออกการแจ้งเตือนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไอศกรีมรสวานิลลา XXX ที่นำเข้าจากฝรั่งเศสเช่นกัน         ปริมาณของ ethylene oxide ที่ถูกรายงานเป็นผลวิเคราะห์ต่างๆ นั้น โดยปรกติแล้วเป็นผลรวมของ ethylene oxide และ 2-chloroethylene เสมอ ด้วยเหตุผลว่า 2-chloroethanol นั้นมีจุดเดือดที่ 129°C และสลายตัวที่อุณหภูมิสูงกว่า 400°C จึงมีความคงตัวภายใต้สภาวะการอบหรือการปรุงอาหารทั่วไป ในขณะที่ ethylene oxide ระเหยได้ที่อุณหภูมิห้องเพราะมีจุดเดือดที่ 10.7°C ดังนั้นการตกค้างจึงมักเป็นการพบ 2-chloroethanol ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้ว่า เคยมี ethylene oxide ปนเปื้อนอยู่        ethylene oxide ที่ถูกพบในสารสกัดวานิลลานั้นจัดเป็นสารก่อมะเร็งตามรายงานการศึกษาหลายฉบับของ US. National Toxicology Program เช่น ใน NTP Report on Carcinogens Background Document for Ethylene Oxide, Final March 1999 ประเด็นที่น่าสนใจคือ มีส่วนหนึ่งในรายงานที่กล่าวว่า 2-chloroethanol ซึ่งเป็นอนุพันธ์เกิดจาก ethylene oxide นั้นเป็นสารก่อกลายพันธุ์ในการทดสอบหลายวิธีการ แต่ไม่ได้เป็นสารก่อมะเร็ง  เอกสารชื่อ 35-Ethyleneoxide ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยนำเข้า ethylene oxide จากต่างประเทศ โดยปริมาณนำเข้ารวมแล้วจากประเทศต่างๆ ระหว่างปี พ.ศ.2544-2549 อยู่ในระดับ 3 ถึง 4 แสนกิโลกรัม สารพิษนี้มีประโยชน์ในการใช้อบฆ่าเชื้อโรคเครื่องมือแพทย์ประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (ชนิดทำจากพลาสติก) ซึ่งไม่สามารถใช้ความร้อนในการฆ่าเชื้อ, ใช้เป็นสารรมควันสำหรับผ้า ขนสัตว์ อาหาร, ใช้บ่มผลไม้ให้สุก และใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเคมีหลายชนิด เช่น acrylonitrile, nonionic surfactant เป็นต้น         ประเด็นที่สำนักข่าวส่วนใหญ่ไม่ได้ความสำคัญคือ ทำไมอยู่ดีๆ EU จึงมีการตรวจสอบสารพิษที่เป็นข่าวในไอศกรีม จากการค้นหาข้อมูลได้พบว่า เว็บ https://affidiajournal.com มีบทความเรื่อง Ethylene oxide in ice cream: over 100 brands involved in France ได้ให้ข้อมูลว่า เริ่มมีการแจ้งเตือนเรื่อง ethylene oxide ปนเปื้อนในวัตถุดิบทางการเกษตรตั้งแต่ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2020 เพราะพบว่า เมล็ดงาที่ถูกนำเข้าจากอินเดียปนเปื้อนสารพิษนี้ นับแต่นั้นมาวัตถุดิบทางเกษตรหลายอย่าง เช่น ขิงและเครื่องเทศอื่นๆ รวมทั้งอาหารเสริมบางชนิดได้ถูกถอนออกจากตลาดเพื่อลดความเสี่ยงต่ออันตรายหลังการตรวจพบสารปนเปื้อนดังกล่าว         ในฝรั่งเศสมีรายงานไอศกรีมหลายยี่ห้อที่มีการปนเปื้อนของสารพิษนี้ในระดับสูงกว่าที่ชาวฝรั่งเศสควรได้รับ ทั้งที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่มี งา ขิง หรือเครื่องเทศ (ที่มักมีการปนเปื้อนของ ethylene oxide หรือ ในรูปของอนุพันธ์คือ 2-chloroethanol) โดยพบว่า เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีสารทำให้คงตัว (food stabilizer) สองชนิดคือ locus bean gum (ชื่อรหัสบนฉลากอาหารคือ E410 เป็นสารธรรมชาติซึ่งสกัดได้จากเนื้อในเมล็ดของต้น carob หรือ Ceratonia silliqua) และ guar gum (ชื่อรหัสบนฉลากอาหารคือ E412 เป็นสารธรรมชาติซึ่งสกัดได้จากเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ ต้นอ่อนในเมล็ดของถั่ว Guar ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้) ถูกวิเคราะห์พบว่า มี ethylene oxide เกินขีดจำกัดสูงสุดตามกฎข้อบังคับ ประเด็นที่น่าสนใจคือ จริงแล้วสารทำให้คงตัวทั้งสองไม่ได้ถูกใช้เฉพาะในไอศกรีมเท่านั้น จึงเป็นเหตุให้ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มี locus bean gum (E410) หรือ guar gum (E412) ได้ถูกถอนออกจากชั้นวางขายสินค้าของร้านขายของในฝรั่งเศส         บทความเรื่อง Analysis of ethylene oxide in ice creams manufactured with contaminated carob bean gum (E410) ในวารสาร Food Additives & Contaminants: Part A ของปี 2021 ให้ข้อมูลว่า ตัวอย่างไอศกรีมมากกว่า 100 รายการ ที่ผลิตในปี 2021 จากฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน สวิตเซอร์แลนด์ และโปแลนด์ มีสาร E410 (locus bean gum) ซึ่งทำให้คาดว่า อาจมีการปนเปื้อนสารพิษคือ ethylene oxide ปฏิบัติการนี้ทำขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับใช้ในการพัฒนาและตรวจสอบวิธีการวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูงคือ GC-MS Triple Quad นี่คือคำตอบว่าทำไมอยู่ดีๆ European Food Safety Authority จึงลุกขึ้นมาทดสอบว่าไอศกรีมมี ethylene oxide หรือไม่ และการวิเคราะห์ (ซึ่งคงทำในอาหารหลายกลุ่มชนิด) ทำให้พบว่าตัวอย่างไอศกรีม 7 ใน 23 ตัวอย่างมี ethylene oxide น้อยกว่า 0.010 มก./กก. ส่วนตัวอย่างไอศกรีมที่เหลือมีการปนเปื้อนมากกว่า 0.010 มก./กก. โดยห้องปฏิบัติการทั้งสองแห่งพบ ethylene oxide ในตัวอย่างที่เหลือนั้นอยู่ในช่วง 0.021–0.052 มก./กก. (ห้องปฏิบัติการ 1) หรืออยู่ในช่วงที่มากกว่า 0.018–0.056 มก./กก. (ห้องปฏิบัติการ 2)         โดยสรุปแล้วข่าวการปนเปื้อนของสารพิษในไอศกรีมนั้น เป็นความประมาทซึ่งยากในการป้องกัน เพราะเกิดจากการใช้วัตถุดิบที่ได้จากประเทศซึ่งมีความหลากหลายในระดับของเทคโนโลยีการดูแลวัตถุดิบทางการเกษตร เหตุการนี้เป็นตัวอย่างที่หน่วยงานซึ่งดูแลความปลอดภัยของอาหารของนานาประเทศ สามารถใช้เป็นอุทาหรณ์กระตุ้นเตือนให้บริษัทซึ่งมีสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรซึ่งจำเป็นต้องปราศจากเชื้อราและแมลง มีความพิถีพิถันในการเลือกแหล่งที่มาของวัตถุดิบซึ่งมีกระบวนการ GAP (good agricultural practice) ที่ดี นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความรู้สึกกังวลว่า แล้วเครื่องเทศที่มีวางขายในบ้านเราโดยไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อรานั้นมีโอกาสปนเปื้อน ethylene oxide ซึ่งคงเหลือในรูปของ 2-chloroethanol หรือไม่ และในกรณีที่ผู้บริโภคบางคนเกิดกังวลว่า มีการปนเปื้อนจริง คำแนะนำที่น่าจะปฏิบัติไม่ยากคือ อย่ากินอะไรซ้ำซากและอย่ากินอะไรมากในแต่ละมื้อ เพราะ 2-chloroethanol นั้นถ้ามีปริมาณไม่มากเราสามารถขับทิ้งได้ทางปัสสาวะภายใน 24-48 ชั่วโมง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 เรื่องยุ่งๆ ของซิลิโคนในครีมนวดผม

        สืบเนื่องจากข่าวเรื่อง ผลสำรวจฉลาก "ครีมนวดผม" ของนิตยสารฉลาดซื้อ พบว่าเจอสารซิลิโคนทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพเส้นผม เช่น ผมร่วง ได้นั้น (ติดตามรายละเอียดได้จากนิตยสารฉลาดซื้อฉบับที่ 257) ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางตามกฎหมายเรื่องเครื่องสำอางนั้น ได้ออกหนังสือชี้แจงว่า         “ผลิตภัณฑ์ครีมนวดผมมักใส่สารในกลุ่มซิลิโคน เช่น สารไดเมทิโคน (Dimethicone) เพื่อคุณสมบัติช่วยเคลือบเส้นผมทำให้เส้นผมนุ่มลื่น ไม่พันกัน โดยสารในกลุ่มซิลิโคนนี้ ประเทศไทยอนุญาตให้ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้โดยมิได้กำหนดเงื่อนไขและปริมาณการใช้เช่นเดียวกับกฎระเบียบสากลด้านเครื่องสำอาง และเนื่องจากครีมนวดผมมีน้ำเป็นส่วนผสม ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตง่าย จึงมีความจำเป็นต้องใส่สารกันเสีย โดยสามารถใช้สารกันเสียในครีมนวดผมมากกว่า 1 ชนิดได้อย่างปลอดภัยหากใช้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด...”          ดังนั้นทางนิตยสารฉลาดซื้อจึงขอนำเสนอเรื่องราวของ ซิลิโคน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ได้รับการเฝ้าระวังเพราะถูกใช้ในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เพื่อประกอบเป็นความรู้เพิ่มเติมให้กับผู้บริโภค โดย ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระได้ให้ข้อมูลว่า EU ได้กล่าวถึงการเตือนให้ระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบเป็น  silicone ชนิด cyclopentasiloxane (D5) ซึ่งมักมีการเจือปนที่ไม่ต้องการของ cyclotetrasiloxane (D4) (Cyclotetrasiloxane (D4) เป็นพิษต่อระบบการสืบพันธุ์ของมนุษย์และสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยมีผลกระทบระยะยาวที่คาดเดาไม่ได้)         Wikipedia ให้ข้อมูลพร้อมเอกสารอ้างอิงว่า สารประกอบซิลิโคนโดยเฉพาะ cyclic siloxanes D4 และ D5 เป็นสารก่อมลพิษในอากาศและในน้ำ และมีผลเสียต่อสุขภาพในสัตว์ทดลอง ใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลต่างๆ The European Chemicals Agency (สำนักงานเคมีภัณฑ์แห่งยุโรป) พบว่า "D4 เป็นสารที่ตกค้างยาวนาน สะสมทางชีวภาพและเป็นพิษ (PBT หรือ persistent, bioaccumulative and toxic) และ D5 เป็นสารที่ตกค้างยาวนานมากและสะสมในสิ่งมีชีวิตมาก (vPvB หรือ very bioaccumulative)"         ในปี 2015 คณะกรรมการวิทยาศาสตร์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค (SCCS) ของ EU  ระบุว่าระดับของ Cyclotetrasiloxane (D4) ที่เป็นสิ่งเจือปนของ Cyclopentasiloxane (D5) ควรถูกทำให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าต้องการใช้ D5 ในเครื่องสำอาง จากนั้นเมื่อต้นปี 2017 คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้เสนอให้ห้ามใช้ Cyclotetrasiloxane (D4) และ Cyclopentasiloxane (D5) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบบล้างออก โดยมีสารอย่างใดอย่างหนึ่ง 0.1% ขึ้นไป การห้ามนี้เมื่อเผยแพร่อย่างเป็นทางการจะครอบคลุมผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แชมพู ครีมนวด เจลอาบน้ำ ฯลฯ         ผู้ผลิตสินค้าจึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า Cyclopentasiloxane (D5) ที่ใช้ในการผลิตสินค้ามีความบริสุทธิ์สูงสุด (99%) และไม่มี Cyclotetrasiloxane (D4) พร้อมทั้งวางแผนที่จะปรับสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบบล้างออกด้วย Cyclopentasiloxane โดยลดปริมาณลงถึง 0.1% หรือโดยการแทนที่ด้วยซิลิโคนชนิดอื่น         รายงานฉบับสุดท้ายเรื่อง  the Opinion on decamethylcyclopentasiloxane (cyclopentasiloxane, D5) in cosmetic products ของ EU (รับรองในการประชุมเมื่อ 25 มีนาคม 2015) ให้ข้อมูลว่า SCCS (Scientific Committee on Consumer Safety) พิจารณาว่า การใช้ Cyclopentasiloxane (D5) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีความปลอดภัยในระดับความเข้มข้นที่รายงานได้ศึกษา ยกเว้นการใช้ในสเปรย์แต่งผมและผลิตภัณฑ์สเปรย์กันแดด         โดยแท้จริงแล้วการใช้ในสเปรย์แต่งผมและผลิตภัณฑ์สเปรย์กันแดดที่ความเข้มข้นสูงสุดที่ผู้ผลิตกำหนดในวิธีใช้และตามสมมติฐานที่ SCCS มีอยู่สรุปได้ว่า การสัมผัสกับ D5 อาจทำให้ความเข้มข้นของอากาศสูงกว่าค่าที่ SCCS พิจารณาว่า D5 อาจเป็นพิษเฉพาะที่ในตำแหน่งที่ถูกพ่น การสัมผัสกับ D5 ที่มาจากผลิตภัณฑ์สเปรย์สำหรับการจัดแต่งผมยังทำให้เกิดการสัมผัสรวมในระดับสูงซึ่งอาจนำไปสู่ความเข้มข้นในอากาศที่สูงกว่าค่าที่ SCCS พิจารณาว่าปลอดภัย ความคิดเห็นนี้ไม่ครอบคลุมถึงการใช้ Cyclopentasiloxane (D5) ในผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก             Cyclopentasiloxane (D5) อาจมีการปนเปื้อนของ Cyclotetrasiloxane (D4) ซึ่งในสหภาพยุโรปจัดว่า เป็นพิษต่อการสืบพันธุ์ ดังนั้นระดับการปนเปื้อนของ Cyclotetrasiloxane (D4) ใน Cyclopentasiloxane (D5) ควรต่ำที่สุด SCCS ทราบดีว่ามีการเสนอข้อจำกัดเกี่ยวกับ D4 และ D5 ในผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (personal care) ภายใต้ระเบียบการเข้าถึงอันเนื่องมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อม         ประเด็นคือ เครื่องสำอางในไทยยี่ห้อใดบ้างที่มีองค์ประกอบเป็น D5 และมี D4 (ปนเปื้อน) น่าจะเป็นสิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแล หรือนิตยสารฉลาดซื้อน่าจะได้มีการเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ค่าเฉลี่ยกับความมั่นคงด้านพลังงานและของชีวิต

        เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้จัดเสวนาเรื่อง “รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟฟ้าแพง ขัดรัฐธรรมนูญ?” (อย่าลืมอ่านเครื่องหมายคำถามด้วยนะ) โดยผมเองได้มีโอกาสกล่าวเปิดการเสวนาในครั้งนั้น จึงขอถือโอกาสนำมาเล่าให้ชาว “ฉลาดซื้อ” ฟังในบางประเด็นดังต่อไปนี้ครับ         เอาเรื่องรัฐธรรมนูญก่อนเลยครับ         รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 56 วรรคสอง กำหนดว่า “โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใด ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้”นอกจากนี้ ในมาตรา 72 วรรคห้า กำหนดว่า “ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า รวมทั้งพัฒนาและสนับสนุนให้มีการผลิตและการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน” เป็นที่น่าสังเกตว่า คำว่า “ความมั่นคงด้านพลังงาน” เป็นคำที่เพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2560 สองฉบับก่อนหน้านี้คือปี 2540 และ 2550 ยังไม่มีครับ         เท่าที่ผมติดตามความหมายของ “ความมั่นคงด้านพลังงาน” ค่อยๆ พัฒนามาอย่างต่อเนื่องโดยเริ่มต้นอย่างแคบๆ เช่น สามารถมีใช้ตลอดเวลา ราคาไม่แพง หากเป็นกรณีไฟฟ้าก็ต้องให้อุปสงค์กับอุปทานต้องเท่ากันตลอดเวลา เป็นต้น แต่ในระยะต่อมาความหมายเริ่มกว้างขึ้น เช่น มีมิติของความยั่งยืน ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำและมีความเป็นธรรม         ความจริงแล้วโลกรู้จัก “ความไม่มั่นคงด้านพลังงาน” ก่อนที่รู้จัก “ความมั่นคงด้านพลังงาน” เสียด้วยซ้ำ โดยเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่ประเทศกลุ่มโอเปค (OPEC) ขึ้นราคาน้ำมันดิบ 4 เท่าตัวในปี 2516  Evan Hillebrand ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (University of Kentucky Patterson School สหรัฐอเมริกา) ได้ให้ความหมายที่ลึกซึ้งมากว่า “ความมั่นคงทางพลังงานไม่ใช่แค่เรื่องความสำคัญของพลังงาน แต่เกี่ยวข้องกับว่าพลังงานมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติอย่างไร” ย้ำนะครับว่า มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติด้วย เหตุการณ์ประเทศรัสเซียถล่มโรงไฟฟ้าในประเทศยูเครนคงจะเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ได้อย่างดี มีคนสรุปว่า “ในช่วงที่อุณหภูมิหนาวจัดการทำลายโรงไฟฟ้าคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” มันสาหัสกว่าการทำลายความมั่นคงของชาติเสียอีก         ความมั่นคงด้านพลังงานไม่ใช่แค่หมายถึง (1) การมีพลังงานใช้ตลอดเวลา (2) ในราคาที่สามารถจ่ายได้และมีเสถียรภาพ แต่ยังคงหมายถึง (3) การพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย (4) มีการปล่อยคาร์บอนและมลพิษน้อย และ (5) มีความเป็นธรรม มีธรรมาภิบาลในการกำกับดูแล จากความหมายของศาสตราจารย์ Evan Hillebrand และความหมาย 5 ข้อข้างต้นพอสรุปได้ว่า “ประเทศใดไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีธรรมาภิบาล ประเทศนั้นไม่มีความมั่นคง” และน่าจะเป็นจริงกับเรื่องทั่วๆ ไปด้วย         ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 คนไทยจ่ายค่าไฟฟ้าทั้งประเทศคิดเป็นมูลค่า 3.65 แสนล้านบาท ซึ่งตอนนั้นค่าไฟฟ้ายังไม่ได้ขึ้นมากนัก ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี ค่าเอฟทีได้ขึ้นจาก 24.77 เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย (จำได้ใช่ไหมครับ)  ดังนั้นพอจะประมาณได้ว่า ค่าไฟฟ้าปี 2565 ทั้งปีน่าจะประมาณ 7.4-8.0 แสนล้านบาทซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีกิจการไฟฟ้า         คราวนี้มาถึงมาตรา 56 ที่พอสรุปให้กระชับได้ว่า การทำให้รัฐเป็นเจ้าของสาธารณูปโภค(ระบบการผลิตไฟฟ้า)น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้ แต่เนื่องจากระบบการผลิตไฟฟ้าประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนของโรงไฟฟ้าซึ่งนับถึงเดือนสิงหาคม 2565 มีจำนวน 53,030 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของรัฐหรือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ร้อยละ 32 ที่เหลือร้อยละ 68 ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนไปแล้ว ส่วนของโครงข่ายสายส่งเป็นของ กฟผ.ทั้ง 100%  และส่วนฝ่ายจัดจำหน่ายซึ่งเป็นของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงรวมกันเป็น 100%  การคิดความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของระบบไฟฟ้าว่าเป็นของรัฐหรือของเอกชนนั้น ควรจะคิดกันอย่างไร จะคิดรวมทั้งระบบทั้ง 3 ส่วน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้กรรมสิทธิ์ของรัฐก็น่าจะไม่น้อยกว่าร้อยละ 51    หรือจะคิดทีละส่วนๆ เพราะถือว่าหากส่วนใดส่วนหนึ่งไม่มีความมั่นคงก็ส่งผลให้ทั้งระบบก็ไม่มีความมั่นคงไปด้วย         ภาพบนเป็นภาพคนเอาเท้าข้างหนึ่งแช่น้ำเย็นอุณหภูมิลบ 60 องศาเซลเซียสซึ่งเย็นกว่าน้ำแข็ง เท้าอีกข้างหนึ่งแช่ในน้ำร้อนบวก 60 องศาเซลเซียส น่าจะพอลวกไข่ได้ เมื่อเป็นดังนี้ หากเราคิดตามหลักการหาค่าเฉลี่ยทางคณิตศาสตร์หรือทางสถิติ เราก็จะได้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของคนคนนี้ก็ยังเท่าเดิม คือ 37 องศาเซลเซียส  ทั้งๆที่ ในความเป็นจริงแล้ว เท้าทั้งสองข้างอาจจะเปื่อยพองไปแล้วก็ได้         สิ่งที่ผมยกมาเปรียบเทียบ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะครับ แต่มีคนเขียนเป็นหนังสือชื่อ How to lie with Statistics ขายดีด้วยทั่วโลก และมีคนแปลเป็นภาษาไทยว่า “วิธีปั่นหัวคนด้วยสถิติ”  ผมอธิบายเพิ่มเติมดังรูป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 Growth Mindset กับคนจน (2)

        มีหนังสือเล่มหนึ่งที่อยากแนะนำให้อ่านกัน ‘The Broken Ladder’ หรือชื่อไทยว่า ‘เมื่อบันไดหัก มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา’ โดย Keith Payne ของสำนักพิมพ์ Bookscape มันพยายามทำความเข้าใจว่าทำไม๊ทำไมคนจนถึงชอบทำตัวที่ดูยังไง๊ยังไงก็ไม่เป็นคุณกับชีวิตตัวเองเลย         ถ้าเราเอาเรื่อง Growth Mindset มาจับ มันก็ง่ายดีที่เราจะสรุปว่าคนจนไม่มี Growth Mindset เป็นพวก Fixed Mindset ไม่ยอมเรียนรู้ ไม่ยอมพัฒนาตัวเอง เอาแต่รอความช่วยเหลือ แถมที่ดูน่าหงุดหงิดคือทั้งที่เงินก็ไม่ค่อยจะมียังทำตัวแย่ๆ อย่างสูบบุหรี่ กินเหล้า ไม่เรียนหนังสือ แถมมีลูกเร็วอีกต่างหาก         Keith Payne เรียกว่า พฤติกรรมบั่นทอน สิ่งนี้แหละนำไปสู่ข้อสรุปอันหละหลวมที่ว่าคนจนก็เพราะทำตัวเอง         Keith Payne ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมบั่นทอนน่ะเป็นเรื่องจริง เห็นๆ กันอยู่ คนจนเองก็มีส่วนทำตัวเอง แต่ๆๆ ...“ความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อพฤติกรรมของเรา และความแตกต่างของพฤติกรรมแต่ละคนก็ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นได้”         ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำกว้างเป็นกาแล็กซี่ทางช้างเผือกแบบสังคมไทย มันส่งผลต่อพฤติกรรมของคนจนอย่างมีนัยสำคัญ มันคือผลของวิวัฒนาการและจิตใจ         คนจนไม่รู้หรอกว่าพรุ่งนี้จะเป็นยังไง จะมีกินมั้ย จะมีค่านม ค่าเทอมให้ลูกหรือเปล่า ต้องดิ้นรนทุกทางให้มีวันพรุ่งนี้ ความไม่มั่นคงนี้เองทำให้พวกเขาต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเฉพาะหน้ามากกว่าอนาคตที่ยังลูกผีลูกคน         คนจนมักถือคติว่า ‘ใช้ชีวิตให้เต็มที่ อีกไม่นานก็ตายแล้ว’ และ ‘ไม่มีอะไรจะเสีย’ เป็นคำที่ Keith Payne ใช้ ก็เพราะชีวิตพวกเขาเป็นเช่นนั้น         การพัฒนาตนเองน่ะเหรอ? การเรียนรู้น่ะเหรอ? การยอมรับความผิดพลาดและใช้เป็นบทเรียนน่ะเหรอ? มันต้องใช้ทั้งเวลาและเงินซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของพวกเขาเชียวนะ         การมี Growth Mindset น่าจะดีแหละ แต่บอกว่าคนจนเพราะไม่มี Growth Mindset ก็คงไม่ใช่เสียทีเดียว         Keith Payne ย้ำตลอดทั้งเล่มว่าความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อพฤติกรรม ความคิด ความเชื่อของคนเรา คนที่อยู่บนบันไดสถานะต่างกัน มีมุมมองต่อโลกและชีวิตต่างกัน         บางที Growth Mindset ควรต้องมีองค์ประกอบว่าด้วยความเข้าใจและการอยู่ร่วมกับความหลากหลายของผู้คนบนโลกทั้งด้านสถานะทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความคิด พฤติกรรม ฯลฯ รวมถึงการมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แทนที่จะเอาแต่เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 คดีแพ้ คนไม่แพ้ ตีแผ่ฟิตเนสเอาเปรียบผู้บริโภค

        “นี่ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนเจ้าปัญหา แต่เป็นเรื่องว่าด้วยสิทธิของผู้บริโภคในการรับบริการ ถ้าเราชำระเงินค่าบริการครบถ้วนแล้ว เราได้รับบริการที่ครบถ้วนตามนั้นหรือไม่ เมื่อผมเห็นว่าไม่ได้ ผมสมัครได้ก็เลิกได้สิครับ”         ด้วยความคิดนี้ คุณจตุพล ปัทม์วิชัยพร จึงตัดสินใจยื่นฟ้องศาลผู้บริโภคว่าเขาถูกละเมิดสิทธิจากฟิตเนสแห่งหนึ่งซึ่งเขาเป็นสมาชิกรายปีอยู่ ในกรณีที่ฟิตเนสปฏิเสธการขอยกเลิกสมาชิกของเขา         ถึงแม้ในวันนี้เขาจะแพ้คดี แต่เขายังคงเชื่อมั่นในพลังของผู้บริโภค และยินดีมาคุยกับ “ฉลาดซื้อ” เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนอื่นๆ ได้รู้เท่าทันการถูกเอาเปรียบจากธุรกิจฟิตเนส สมัครเป็นสมาชิกฟิตเนสนานแค่ไหน แล้วทำไมถึงจะขอยกเลิก         ตั้งแต่ปลายปี 2561 ผมสมัครสมาชิกประเภทรายปี คือชำระเงินในวันแรกที่สมัครเต็มจำนวน แล้วก็มาเล่นให้ครบหนึ่งปี พอเข้าปีที่สองตอนจะต่ออายุทางฟิตเนสแจ้งว่าเขาเปลี่ยนเจ้าของ เปลี่ยนชื่อใหม่ สัญญาที่เซ็นครั้งที่สองก็เลยเป็นชื่อของที่ใหม่ เริ่มประมาณสัญญาใหม่เดือนมกราคม ปี 2563 พอดีมีการระบาดของโควิดเข้ามาช่วงกุมภาพันธ์ ต่อมารัฐบาลก็สั่งล็อคดาวน์ ฟิตเนสก็ต้องปิด พอเริ่มผ่อนคลายให้เปิดได้บางช่วง ผมก็ไปใช้บริการอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะปิดอีกในช่วงตุลาคมแล้วยาวเลย เพราะโควิดระบาดหนักมาก         ฟิตเนสกลับมาเปิดได้ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2564 ผมก็มาออกกำลังกาย แต่ว่าบริการต่างๆ ตามที่ตกลงกันไว้ถูกตัดออกไปหมด ทั้งห้องซาวน่า (ห้องอบไอน้ำ) คลาสโยคะ คลาสออกกำลังกายก็ไม่เปิด เปิดเฉพาะส่วนยกน้ำหนัก ลู่วิ่ง ผมก็บอกเจ้าหน้าที่ว่าอย่างนี้ไม่ได้นะ เพราะเราตกลงกันแล้วว่าจะต้องให้บริการอะไรบ้าง เขาก็บอกว่าช่วงนี้ยังไม่พร้อม ผมก็บอกว่าถ้าคุณจะทำอย่างนี้ คุณต้องมีมาตรการชดเชยให้ลูกค้านะ ก็คือว่าคุณมาเปิดแล้ว แต่คุณให้บริการไม่ครบ คุณต้องมีอย่างอื่นมาตอบแทน ผมก็ต่อว่าไป เจ้าหน้าที่เขาก็เถียงว่าไม่ใช่เจ้าของ ตัดสินใจอะไรไม่ได้ ผมก็ขอคุยกับเจ้าของ เขาก็เลี่ยงไม่ให้เจ้าของมาเจอผม พอผมเข้าไปที่ฟิตเนส เขาก็ทำเฉยกัน อันนี้คือสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกไม่พอใจ         แล้วผมก็ยังกังวลว่าจะติดเชื้อโควิดจากลูกค้าท่านอื่นที่มาใช้บริการด้วย เพราะไม่มีใครสวมหน้ากากอนามัยเลย แล้วบางทีเขาก็ให้เข้ามาโดยไม่ได้วัดอุณหภูมิ ไม่ได้ตรวจอะไร ไม่ได้มีการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง อีกอย่างหนึ่งคือพอผมมาออกกำลังกายแล้วผมใส่หน้ากากอนามัย ผมก็หายใจไม่สะดวกด้วย ทีนี้ผมก็บอกเขาไปว่าจะขอยุติไว้เท่านี้ ส่วนที่เล่นไปแล้วก็ให้จ่ายเงินตามปกติ เพราะผมให้เงินไปแล้ว แต่ส่วนที่ผมไม่มาเล่นจะขอคืนตามสัดส่วนไป ก็พูดกันตรงๆ อย่างนี้เลย แล้วทางฟิสเนสตอบกลับมาว่ายังไงบ้าง         เจ้าหน้าที่เขาก็พูดว่าจะขอแจ้งเจ้าของก่อน เขาตัดสินใจเองไม่ได้ เขาจะซื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ จนดูว่าเริ่มไม่จริงใจกับสิ่งที่ผมเรียกร้องไปแล้ว ผมก็บอกไปว่าขอหยุดวันนี้เลยแล้วกัน คุณมีเอกสารใบลาออกหรือใบอะไรไหม ผมจะเขียนเลยว่าขอคืนเงิน ขอยุติ เขาก็บอกว่าไม่มี ผมก็เลยบอกว่าผมพูดปากเปล่าวันนี้เลยนะว่าผมหยุดตั้งแต่วันนี้ แล้วผมจะทำหนังสือมาให้คุณเซ็น ผมก็กลับไปทำหนังสือมาให้เซ็น เขาก็ยังไม่ยอมเซ็นชื่อในเอกสารที่เราเตรียมไปให้ แค่ลงชื่อว่ารับเรื่องไว้เท่านั้น พออีกประมาณสองอาทิตย์ ผมก็เข้าไปตามเรื่อง เขาก็มีหนังสือปฏิเสธว่าไม่ให้ยกเลิกมา อ้างว่าผมกลัวโควิดไปเองอย่างนั้นอย่างนี้ รัฐบาลเขาให้เปิดแล้วคุณก็ต้องมาเล่น แต่ว่าเขาไม่ได้ดูไงว่าคนที่เขามาเล่นจริงๆ เขาได้รับผลกระทบอย่างไร         ผมก็เลยบอกว่าสัญญาที่เราเซ็นกันไว้คือตกลงกันในสถานการณ์ปกติ แต่วันนี้มีโควิดแล้วไปต่อไม่ได้ในการที่จะออกกำลังกายในสถานการณ์อย่างนี้ ทิ้งไปเลยก็เสียเงินฟรี คุณได้ผลประโยชน์ ผมเสียประโยชน์ ก็ต้องยุติกันไว้ เขาก็ไม่ยอม ผมก็เลยต้องไปฟ้องศาลผู้บริโภค แล้วทำไมเลือกไปฟ้องศาลผู้บริโภค         ผมได้รับคำแนะนำจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าลองมาใช้บริการช่องทางนี้ว่าเป็นอย่างไร แล้วผมก็ลองค้นหาจากอินเทอร์เน็ตดู เขาก็จะพูดกันโดยทั่วๆ ไปว่าศาลผู้บริโภคเขาค่อนข้างอยู่ข้างผู้บริโภค มีอะไรเรามาทางนี้ดีกว่า ถ้ามีความจริงใจ มีปัญหา ตรงไปตรงมา ก็มาเคลียร์มาพิสูจน์กันที่นี่ ก็เลยไปยื่นเรื่องที่นี่ ซึ่งพอผมเข้ากระบวนการต่างๆ แล้ว ผลออกมาก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ผู้บริโภคคาดหวัง ในด้านของคำตัดสินต่างๆ แล้วก็การยกเลิก ก็สรุปว่ายกเลิก (สัญญา) ไม่ได้ ที่ศาลผู้บริโภค ไปดำเนินการคนเดียวเลย        ผมก็ไม่เคยขึ้นศาล ผมติดต่อสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์ ส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ทางไลน์ เขาให้ผมส่งเอกสารข้อมูลเพื่อทำสำนวนคำฟ้อง ต่อไปก็เริ่มกระบวนการไกล่เกลี่ย ผมก็ไม่รู้ว่าบทบาทของศาลในกระบวนการไกล่เกลี่ยเป็นอย่างไร แต่เมื่อไกล่เกลี่ยแล้วทางฝ่ายฟิตเนสเข้าไม่ยอมคืนเงิน ผมเห็นว่าทางผู้ประกอบการเขาจ้างทนายมา แล้วเขาคงมองว่าไม่แพ้หรอกคดีอย่างนี้ เพราะถูกรัฐบาลสั่งปิดไม่ได้อยากหยุดเอง ตัวผมเองก็ไม่ได้โทษรัฐบาลที่สั่งปิด ที่ผมยกเลิกเพราะว่าคุณเปิดแล้วบริการไม่เหมือนเดิม ลูกค้าไม่ได้รับความสะดวก และประโยชน์จากการออกกำลังกายอย่างเต็มที่ อันนี้คือประเด็น ผมก็ไม่รู้ว่าไปตีความกันอย่างไร ไปโทษเป็นทำนองว่าผู้บริโภคเจ้าปัญหา หาเรื่อง เรื่องแค่นี้มาขึ้นศาลทำไม ตอนที่ไปขึ้นศาล ต้องมีทนายฝั่งเราไหม หรืออย่างไร         เขาบอกว่าศาลนี้เหมือนเป็นศาลพิเศษ คือเป็นศาลผู้บริโภค เป็นคดีผู้บริโภค เขาบอกว่าผู้บริโภค คุณไม่ต้องไปจ้างทนาย คุณมาที่นี่แล้วเดี๋ยวเขาจะมีคนร่างคำฟ้องให้คุณ ตอนแรกผมก็ว่าดีนะ คือได้ช่วยผู้บริโภคจริงๆ แต่พอไปเข้าจริงๆ กลับไม่ใช่ไง กลายเป็นผมไม่รู้เรื่องไปเลยและไม่มีคนแนะนำด้วย พอผมจะถามเพื่อขอคำแนะนำ เขาโยนไปทนายอาสา ไปถามทนายอาสา คุยกันเอาเอง ที่นี่คือทำสำนวนให้แล้วก็จบแค่นี้ แล้วไม่เกี่ยวอะไรแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องของคุณแล้ว ไม่ได้แจ้งอะไรผมเลย เขาไม่ได้ยุ่งอะไรกับผมด้วย เขาให้เราไปขึ้นศาล ผมก็ไปแบบไม่มีอะไรทั้งนั้น ไม่มีทนาย ก็ไปพูดเอง สืบเอง เตรียมเองหมด แต่ผมก็มองว่าไม่น่าจะยาก เพราะว่าผมก็เชื่อว่าผมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คือไปประเด็นแค่นี้ ไม่ได้ไปหาเรื่องอะไรใคร ผมก็เขียนไปชัดเจนแล้ว หลักฐานเราก็มีหมด ปัญหาที่ผมไปร้องคือ คุณเปิดแล้ว ผมไปใช้บริการแล้ว แต่ไม่ได้เป็นบริการตามที่ตกลงกัน อันนี้คือประเด็น ผมไปศาลเพราะเรื่องนี้ นอกจากศาลผู้บริโภคแล้วได้ไปที่อื่นอีกไหม หรือจบแค่นี้         ผมมาตรงนี้ ผมไม่ได้ต้องการมาเอาแพ้ชนะ ผมต้องการสิทธิผู้บริโภค ให้เห็นว่าเขาเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างไร ผู้บริโภคเสียหายอย่างไร คือมาร้องกับหน่วยงานของรัฐเพื่อให้เห็นว่ามีเรื่องอย่างนี้นะ ในประสบการณ์ตรงนี้ผมจึงคิดว่าผมมาทางช่องทางของผู้บริโภคดีกว่า         ศาลตัดสินอย่างไรไม่เป็นไร ผมจบตรงนั้นไป ผมมาให้ความรู้ผู้บริโภคดีกว่า ให้ระวังป้องกัน แล้วเดี๋ยวจะเกิดมาตรฐานเอง เพราะผู้ผลิต ผู้ให้บริการ ถ้าเขารู้ว่าผู้บริโภครู้ทันแล้ว เขาจะมาหลอกก็หลอกไม่ได้ เมื่อหลอกไม่ได้ เขาก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของเขา ไม่เปลี่ยนคุณก็ต้องเจ๊ง ต้องปิดกิจการไปเพราะว่าเขาอยู่ไม่ได้ นี่คือให้ผู้บริโภคเป็นผู้บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องไปวิ่งเรื่องกฎหมายเรื่องอะไร ไม่มีประโยชน์ แนะนำให้ผู้บริโภคท่านอื่นๆ ป้องกันการเกิดเหตุการณ์แบบนี้อย่างไร         หนึ่ง-ถ้าไม่จำเป็น อย่าทำสัญญาลักษณะที่จ่ายเงินก่อนแล้วมาผ่อนรับบริการทีหลัง และอย่าไปจ่ายผ่านบัตรเครดิต คุณรูดเต็มจำนวนไป เขารับเงินไปแล้ว แต่ว่าคุณไปเป็นหนี้บัตรเครดิตอีกต่อ คือเขาจะพยายามดำเนินธุรกิจที่ได้เปรียบเรา ในด้านของการรับเงินก่อนไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ต้องระวังไว้ก่อนว่า ตรงนี้คุณจะเดินเข้าไปสู่ทางที่เสียเปรียบ         สอง-เรื่องสัญญา ก่อนจะลงชื่อต้องดูให้เรียบร้อย ถ้าเห็นจุดไหนที่เสียเปรียบ ไม่ต้องเซ็น แต่หากอยากสมัครจริงๆ ก็ต้องมีสัญญาพ่วง (สัญญาพ่วง หมายถึง สัญญาที่ผู้บริโภคร่างเตรียมไปเองเพื่อให้สถานประกอบการลงนาม) ระบุให้ละเอียดเลยว่ามีเครื่องออกกำลังกายตัวไหน ณ วันที่ออกกำลังกายกัน คลาสออกกำลังกาย ห้องออกกำลังกายอะไรพวกนี้ มีบริการอะไรบ้าง เขียนให้ครบถ้วนเลย แล้วถ้าเกิดว่าคุณไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าคุณผิดสัญญากับเรา เรามีสิทธิบอกเลิกได้ อันนี้เป็นสัญญาของเรา ให้เขาเซ็นไว้เลย อย่าไปเซ็นฝ่ายเดียวเพราะถ้าเซ็นของเขา เขาจะเขียนเฉพาะประโยชน์ของเขา เช่น ไม่คืนเงินให้ ยกเลิกสัญญาไม่ได้ บริการต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ถ้ามีปัญหาอะไรในการใช้บริการทางสถานบริการจะไม่ขอรับผิดชอบใดๆ คือเขาจะเขียนอะไรที่เป็นประโยชน์ของเขาอย่างเดียว ผู้บริโภคไม่ได้อะไร         คือถ้าคุณเซ็นให้เขา เขาต้องเซ็นให้คุณด้วย แล้วคุณต้องรู้ว่าผู้บริหารของเขาชื่ออะไร เวลาที่คุณเอาสัญญาของคุณไปให้เขาเซ็น เขาจะต้องเซ็นโดย หนึ่ง-ลงนามพร้อมประทับตรา สอง-แนบสำเนาหนังสือรับรองบริษัทอายุไม่เกิน 6 เดือนมาด้วย ให้เราไว้ชุดหนึ่งเพื่อไม่ให้เป็นการได้เปรียบเสียเปรียบกัน อันนี้จะเป็นทางที่ช่วยได้ เพื่อให้เวลามีปัญหาในอนาคตจะได้มีทางออกว่า คุณก็ตกลงกับฉันไว้แบบนี้เหมือนกัน ไม่ใช่ลักษณะที่เป็นสัญญาทางเดียว         สาม-แนะนำให้สมัครเป็นรายเดือน คือผู้ประกอบการเขาอยากได้รายปี อยากได้หลายๆ ปีเพราะเขาอยากได้เงินก้อนเยอะๆ แต่อย่างที่ผมบอกคือผู้บริโภคเสียเปรียบตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นอย่างมากที่สุดคือชำระเป็นรายเดือน เดือนนี้ขอเล่นก่อน สมมติเล่น 1 มกราคม ถึง 30 มกราคม วันที่ 30 ค่อยจ่ายเงิน พยายามให้เป็นแบบนี้ให้ได้ ถ้าจะขอยกเลิกต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน อย่าเป็นลักษณะทุ่มเงินก้อนระยะยาว เพราะพวกนี้ถ้าหนีไปแล้วคุณตามไม่ได้เลย มีโดนมากันเยอะแล้ว ฝากตรงนี้ให้ระมัดระวัง         สุดท้าย พอหลังจากผมไปฟ้องศาลผู้บริโภคได้ไม่นาน เจ้าของฟิตเนสเขาก็ขายกิจการทิ้งเลย คือ นิสัยของผู้ประกอบการอย่างนี้ลูกค้าก็ขยาดหมด เขาก็เข็ด คุณบริการไม่เต็มที่ เขาจะเลิกก็เลิกไม่ได้ แต่เงินของลูกค้าคุณก็เก็บไปเต็มจำนวนทั้งหมดแล้ว อย่างนี้ก็ทำให้ลูกค้าเขาก็หนีกันหมด ซึ่งตรงนี้ก็ไม่เป็นผลดีกับใครทั้งนั้นในธุรกิจนี้ในวงการนี้ ปากต่อปากลูกค้าก็หายหมด         “ผมว่าพลังผู้บริโภคอย่างของมูลนิธิฯ หรือว่าสภาฯ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในโลกเลยนะ สำคัญกว่าทุกองค์กรของภาครัฐด้วยซ้ำ เพราะว่าผู้บริโภคคือสิ่งสำคัญและเป็นหลักของการทำธุรกิจ เพราะธุรกิจเขาอยู่ได้เขาต้องมีลูกค้า มีผู้บริโภค แล้วการปฏิบัติของผู้บริโภคจะสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบธุรกิจเอง”

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทดสอบสารเคมีก่อมะเร็งกางเกงชั้นในชาย (สีดำ

        ปัจจุบันมีการใช้สารเคมีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในหลายผลิตภัณฑ์รอบตัวเรา ภัยเงียบใกล้ตัวที่สุดที่มักประมาทคือเสื้อผ้าที่เราสวมใส่อยู่ทุกวัน และยิ่งอ่อนไหวขึ้นไปอีกเมื่อเป็นชุดชั้นใน          นิตยสารฉลาดซื้อเคยเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชาย (สีดำ) มาตรวจหาสารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง, ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) และค่าความเป็นกรด-ด่างไปแล้วในฉลาดซื้อฉบับที่ 149 ปี 2556  พบสารฟอร์มัลดีไฮด์ซึ่งเป็นสารเคมีก่อมะเร็งในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน จำนวน  2 ตัวอย่าง จากตัวอย่างที่เก็บตรวจทั้งหมด  11 ตัวอย่าง           ในปี 2022 เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพจากเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย อย่างต่อเนื่อง นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชายชนิดสีดำ จำนวน  11 ตัวอย่างทั้งที่ผลิตในประเทศไทยและนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อตรวจหา สารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง (สีเอโซที่ให้อะโรแมติกแอมีน) , ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) และ ค่าความเป็นกรด-ด่าง อีกครั้งพบผลการทดสอบดังนี้          ·     มี 3  ตัวอย่างที่ตรวจพบ สารเคมีในสีย้อม โรแมติกแอมีน คือ  กางเกงใน GIORDANO,  กางเกงใน Me-Style และกางเกงใน DOUBLE GOOSE (ห่านคู่)  โดยสารที่ตรวจพบคือ 4,4'-Diaminodiphenylmethane (1 ใน 24 ตัวตาม มอก. 2346-2550) ปริมาณที่พบเกินมาตรฐาน คือ  ยี่ห้อ GIORDANO พบปริมาณ 61.40 มก./กก. ยี่ห้อ Me-Style พบ 59.89 มก./กก.  สำหรับ DOUBLE GOOSE (ห่านคู่) พบ 14.55 มก./กก. ไม่เกินค่ามาตรฐาน        ·     ตัวอย่างที่พบค่าความเป็นกรด – ด่างในสิ่งทอสูงคือ  Me-Style มีค่ากรด - ด่าง 7.26  แต่ไม่เกินมาตรฐาน (มาตรฐานคือช่วงระหว่าง 4-7.5)           ·     ทั้ง 11 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์         แม้ทั้ง การทดสอบของฉลาดซื้อจำนวน 11 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์  แต่สารเคมีอันตรายในกลุ่มเสื้อผ้าสิ่งทอ ยังน่าเป็นห่วง ล่าสุด (29 พ.ย.) กรีนพีซ เยอรมนี แถลงว่าจากการตรวจ สินค้า SHEIN ในหลายแห่งทั่วโลก ทั้งหมด 42 ชิ้น ประกอบไปด้วยเครื่องแต่งกาย รองเท้า ทั้งสำหรับผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก และผลิตภัณฑ์สำหรับทารก พบการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ 7 ชิ้น (คิดเป็น 15%) โดยการพบการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์นี้ผิดเงื่อนไขการจำกัดปริมาณสารเคมีของสหภาพยุโรป นอกจากนี้มีผลิตภัณฑ์ 5 ชิ้นจากทั้งหมดผิดเงื่อนไข โดยปนเปื้อนเกิน 100% หรือมากกว่านั้น และยังมีผลิตภัณฑ์ 15 ชิ้นจากทั้งหมดปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในระดับที่น่าเป็นห่วง (คิดเป็น 32%)…………………………………………………………………………………………………..อันตรายและค่ามาตรฐานของสารที่ดำเนินการตรวจ (  ที่มา อ้างอิงตาม มอก.2346-2550        ·     ฟอร์มาลดีไฮด์ หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฟอร์มาลีน”  คือสารเคมีทำให้ผ้าฝ้ายเรียบ รีดง่าย ยับยาก ยังผสมในสีทาบ้าน พลาสติก รวมถึงการดองศพ ฟอร์มาลดีไฮด์ที่สะสมอยู่ในผ้าจะระเหยออกมาในอากาศส่งผลต่อระบบประสาท ระคายผิวหนัง ทางเดินหายใจ และเป็นต้นเหตุของมะเร็งได้> ปริมาณต้องน้อยกว่า 75 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (เสื้อผ้าสำเร็จรูปชนิดที่ 2)         ·     ค่าความเป็นกรด – ด่างในสิ่งทอ หรือ pH ของผลิตภัณฑ์สิ่งทอเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญ สำหรับผิวหนังมนุษย์ที่มีความเป็นกรดอ่อนๆ เพื่อช่วยป้องกันเชื้อโรค แต่หากค่าความเป็นกรด-ด่าง จากเสื้อผ้าทำให้สมดุลผิวเสียไป ผิวหนังอาจระคายเคืองและเสียความสามารถในการปกป้องผิว ดังนั้นค่าความเป็น กรด-ด่าง ควรต้องอยู่ระหว่าง 4.0 ถึง 7.5 ตามมาตรฐานจึงจะมีความปลอดภัย             ·     สารเคมีในสีย้อม โรแมติกแอมีน 24 ชนิด เป็นกลุ่มสารอันตรายเมื่อสัมผัสผิวหนัง ทำให้ผิวเกิดอาการแพ้จนกระทั่งเกิดมะเร็งได้  บางชนิดทำให้เกิดความผิดปกติต่อพันธุกรรม และเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ>  ต้องมีไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม…………………………………………………………………………………………………..อ่านผลทดสอบกางเกงชั้นในชายสีดำ  ฉบับเต็มได้ที่  https://www.chaladsue.com/article/4145 #สิทธิผู้บริโภค#สารเคมีในชุดชั้นใน#FastFashion#WhoMadeMyClothes 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ปลอมยา (จีน) โผล่ชายแดน ก่อนวกมา (ไทย)

        ด้วยความจำเป็นในชีวิตทำให้หญิงคนหนึ่งต้องทนตรากตรำทำงาน หาเงินส่งลูกชายคนเดียวของเธอเรียนหนังสือ จากคำแนะนำของเพื่อนทำให้เธอต้องหลุดเข้ามาสู่วังวนการใช้สเตียรอยด์ นานติดต่อกันถึง 6 ปี         เรื่องมีอยู่ว่า เธอซื้อสเตียรอยด์แบบเม็ดบรรจุในกระปุกสีขาวมีฉลากภาษาจีนมาจากพ่อค้าขายเครื่องเทศชาวเขาในตลาดนัดใกล้บ้าน เพียงกินวันละ 2 เม็ด มันก็ทำให้เธอมีเรี่ยวแรงรู้สึกกระชุ่มกระชวย จนสามารถทำงานได้ทุกวันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า นานวันเข้าคนรอบข้างเริ่มสังเกตเห็นว่า ร่างกายเธอเริ่มบวมขึ้น ผิวหนังบางจนเห็นเส้นเลือด จึงพยายามเตือนให้หยุดกิน แต่เธอก็ไม่เชื่อเพราะมันทำให้เธอมีแรงทำงานได้ทุกวัน เธอคิดว่ามันคุ้มกว่าการไปหาหมอหรือกินยาอย่างอื่นๆ ที่ได้ผลเพียงชั่วคราว แต่มีอีกเหตุผลที่เธอแอบเล่าให้ฟังคือ “เธอยอมรับว่าติดมันแล้ว หากหยุดก็กลัวว่าร่างกายจะทรุดลงและกลัวจะถูกชาวบ้านสมน้ำหน้าที่เตือนแล้วไม่ฟังอีกด้วย”         ผลจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้เธอไม่สามารถเข้าถึงสเตียรอยด์จากพ่อค้าได้เหมือนเดิม เพราะตลาดนัดถูกสั่งปิด ทำให้เธอเริ่มมีการอาการผิดปกติจากอาการถอนสเตียรอยด์  เริ่มเมื่อยล้า ปวดข้อ มีไข้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพาน และถูกส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลเชียงรายฯ รวมเวลาที่เธอต้องนอนในโรงพยาบาลทั้งหมด 24 วัน โดยต้องเข้าไปอยู่ในห้อง ICU ถึง 7 วัน โชคดีที่เธอรอดชีวิตมาได้ แต่สเตียรอยด์ก็ทำลายชีวิตเธอไปไม่น้อยเช่นกัน เสียทั้งเวลาและเงินที่เก็บไว้ไปในการรักษาตัว และเพราะเหตุที่เธอใช้สเตียรอยด์นานติดต่อกันจนเกินไป ทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตสเตียรอยด์ธรรมชาติในร่างกายได้เอง แพทย์ผู้ทำการรักษาจึงจำเป็นต้องให้เธอต้องกินสเตียรอยด์ขนาดต่ำไปตลอดชีวิตเพื่อชดเชย  สุดท้ายเธอบอกว่าสเตียรอยด์ส่งผลต่อชีวิตเธออย่างมาก “เป็นตายเท่ากัน แทบจะต้องเอาชีวิตเข้าแลก จะไม่ขอกลับไปใช้มันอีกแล้ว”         จากข้อมูลย้อนหลังผู้ป่วยโรคไตที่มารับบริการที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ในปี 2563 พบว่า มีผู้ป่วยจำนวน 24 ราย ที่มีภาวะบกพร่องของต่อมหมวกไตที่เกิดจากการใช้สเตียรอยด์เป็นเวลานาน โดยพบในพื้นที่อำเภอพานมากที่สุด สอดคล้องกับข้อมูลจากรายงานยาปลอมโดยเครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือในหลายจังหวัด พบยาปลอมมี่มีลักษณะคล้ายกัน คือเป็นยาเม็ดในกระปุกสีขาวฉลากภาษาจีน ขายคู่กัน 2 กระปุก กระปุกหนึ่งเป็นยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) อีกกระปุกคือสเตียรอยด์ชนิดเด็กซาเม็ททาโซน โดยซื้อขายกันผ่านตลาดนัด มีเครือข่ายพ่อค้าบางกลุ่มนำเข้ามา         น่าแปลกใจว่าสารตั้งต้นในกระบวนการผลิตยาที่มีการปลอมปนสเตียรอยด์นั้นมาจากไหน เพราะตามกฎหมายแล้วสารเหล่านี้จะต้องถูกควบคุมและจำกัดให้อยู่เฉพาะในบริษัทยาที่ได้รับอนุญาตผลิตตามกฎหมายเท่านั้น! การวนเวียนของสารตั้งต้นจากในประเทศออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านและวกกลับเข้ามาในไทยเพื่อผลิตยาปลอมนั้นกลับเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่ภาคเหนือ ปัญหายาอันตรายตามชายแดนที่ค่อยๆ กัดกินชีวิตคนไปทีละน้อยแบบเงียบๆ นี้ควรจะต้องถูกยกเป็นปัญหาระดับชาติเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องหันมาให้ความสนใจ ก่อนที่จะมีคนพื้นที่สูญเสียด้านสุขภาพไปมากกว่านี้

อ่านเพิ่มเติม >