ฉบับที่ 102 ตะกั่วในสีอันตรายที่ห้ามมองข้าม

ทั่วโลกขับเคลื่อนห้ามมีตะกั่วในสีทาบ้านและสีตกแต่งในประชุมสุดยอดแห่งสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโยฮันเนสเบอร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2545 รัฐบาลนานาชาติและองค์กรระหว่าง ได้มีมติร่วมกันในการจัดตั้งยุทธศาสตร์สำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างหนึ่งขึ้นมาที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีระหว่างประเทศ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่ายุทธศาสตร์ไซคัม (Strategic Approach to International Organization on Chemicals Management หรือ SAICM) และต่อมาในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลนานาประเทศได้ให้การรับรองยุทธศาสตร์นี้ร่วมกันอีกครั้งในการประชุมระหว่างประเทศเรื่องการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 1 (The 1st International Conference on Chemicals Management: ICCM-1) ณ กรุงดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์   น.ส. วลัยพร มุขสุวรรณ นักวิจัยอาวุโสด้านสารเคมีและของเสียอันตราย จากมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่าขณะนี้รัฐบาลของหลายๆ ประเทศเริ่มปรับนโยบาย มาตรการ และแผนงานการจัดการสารเคมีอันตรายต่างๆ ภายในประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ไซคัม ตัวยุทธศาสตร์นี้มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ต้องการเน้นให้เกิดการจัดการสารเคมีอย่างเหมาะสมตลอดวงจรชีวิตของสารเคมีนั้นๆ และมีเป้าหมายร่วมกันในระดับโลกว่า ภายในปี พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ. 2020 การผลิตและการใช้สารเคมีจะต้องให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ซึ่งนี่เป็นแนวทางสำคัญที่จะปกป้องสังคมโลกให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย ยุทธศาสตร์ไซคัมให้ความสำคัญกับหลักการพื้นฐานสั้น 5 ข้อด้วยกัน คือ 1) การลดความเสี่ยงจากสารเคมีอันตราย 2) การทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและการส่งเสริมองค์ความรู้ต่างๆ 3) การสร้างธรรมาภิบาล 4) การเสริมสร้างศักยภาพและความร่วมมือทางเทคโนโลยี และ 5) การห้ามการขนส่งของเสียอันตรายข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย เธอกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ไซคัมเองยังมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้ทั่วโลกช่วยกันปกป้องสุขภาพของเด็ก สตรีมีครรภ์ คนหนุ่มสาว ผู้สูงอายุ คนยากจน คนงาน และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่เปราะบางทั้งหลายไม่ให้ได้รับอันตรายจากสารเคมีอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้องค์กร Toxics Link (อินเดีย) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนของอินเดีย ร่วมกับเครือข่ายระหว่างประเทศที่ต่อต้านสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่า International POPs Elimination Network (IPEN) ได้เสนอให้รัฐบาลทั่วโลกเร่งมีมาตรการควบคุมการใช้ตะกั่วในสีทาบ้านหรือสีตกแต่งต่าง ๆ ในเวทีการประชุมระดับโลก 2 ครั้งคือ ในการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยด้านสารเคมีครั้งที่ 6 หรือ Sixth Session of International Forum on Chemical Safety (IFCS Forum VI) ระหว่างวันที่ 15-19 กันยายน 2551 ที่กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล และต่อมามีการเสนอในการประชุมระหว่างประเทศเรื่องการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 2 (ICCM 2) เมื่อวันที่ 11-15 พฤษภาคม 2552 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง ความพยายามผลักดันให้มีการควบคุมสารตะกั่วในสีทาบ้านและสีตกแต่งต่างๆ เนื่องจากเห็นว่าตะกั่วที่ผสมอยู่ในสีเหล่านี้เป็นแหล่งแพร่กระจายของตะกั่วสู่เด็กแหล่งใหญ่ที่สุด หลังจากที่ทั่วโลกได้มีมาตรการยกเลิกการใช้ตะกั่วในน้ำมันเชื้อเพลิงไปแล้ว ที่ต้องผลักดันเรื่องนี้เพราะว่า ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศยังไม่มีกฎข้อบังคับที่ควบคุมหรือห้ามการใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสมในสี ที่ประชุม ICCM 2 มีมติร่วมกันในการควบคุมสารตะกั่วในสีที่สำคัญ 2 เรื่องด้วยกันคือ 1) มีมติให้บรรจุเรื่องตะกั่วในสีเป็นนโยบายเร่งด่วนใน SAICM และ 2) มีมติให้นานาประเทศสร้างความร่วมมือระดับโลกเพื่อช่วยกันสร้างความตระหนักเรื่องผลกระทบของตะกั่วในสีที่มีต่อสุขภาพของคนและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ให้มีการพัฒนาโครงการป้องกันอันตรายจากตะกั่วในสีโดยหามาตรการหรือสร้างความรู้เพื่อป้องกันสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งสนับสนุนประเทศต่างๆ ให้กำหนดกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องออกมาบังคับใช้ ประเทศไทยมีมาตรการอะไรแล้วบ้าง น.ส. วลัยพร ซึ่งได้เข้าร่วมกับโครงการทดสอบสีของ Toxics Link กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้น รัฐบาลไทยเองก็ได้เข้าร่วมกับการประชุมระหว่างประเทศเรื่องการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 1 และได้ให้การรับรองยุทธศาสตร์ไซคัมด้วย โดยมีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในฐานะศูนย์ประสานงานแห่งชาติของไซคัม ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องนำเอายุทธศาสตร์และหลักการสำคัญที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ไซคัมมาดำเนินการในประเทศด้วย ขณะนี้ประเทศไทยมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2550 – 2554) ซึ่งจัดทำเสร็จแล้ว โดยแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ได้บรรจุเอานโยบายและหลักการสำคัญๆ ของยุทธศาสตร์ไซคัมเข้ามาด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันติดตามต่อไปว่า ประเทศไทยมีการปฏิบัติตามหรือมีการดำเนินมาตรการอะไรในเรื่องนี้บ้าง เพื่อให้สังคมไทยมีความปลอดภัยจากอันตรายของสารเคมีภายในปี 2563 ตามที่ไซคัมตั้งเป้าหมายเอาไว้ สำหรับประเด็นตะกั่วในสีนั้น กรมควบคุมมลพิษในฐานะศูนย์ประสานงานแห่งชาติของ ไซคัมได้จัดประชุมเตรียมความพร้อมและกำหนดท่าทีของประเทศ 2 ครั้ง คือครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2552 และครั้งที่ 2 วันที่ 9 เมษายน 2552 และได้นำประเด็นนี้เข้าปรึกษาหารือในที่ประชุมคณะอนุกรรมการประสานนโยบายและแผนการดำเนินงานว่าด้วยการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 เพื่อกำหนดท่าทีของประเทศไทย แต่เนื่องจากมีข้อมูลการใช้สารตะกั่วในการผลิตสีไม่ตรงกัน ที่ประชุมจึงมีมติให้มีการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรงงานผลิตสีว่ามีการใช้สารตะกั่วหรือไม่อย่างไร ล่าสุดนี้คณะอนุกรรมการประสานนโยบายและแผนการดำเนินงานว่าด้วยการจัดการสารเคมีมีการประชุมครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 ในที่ประชุมครั้งนี้มีการนำเอาผลการประชุมของ ICCM 2 มาพิจารณาเพื่อสนับสนุนให้เกิดการดำเนินการขึ้นในประเทศด้วย ในส่วนของปัญหาตะกั่วในสี ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักรับไปดำเนินการให้เกิดการจัดการตะกั่วอย่างเหมาะสมตลอดทั้งวงจรตั้งแต่การผลิต การใช้ และการกำจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตะกั่วในสี เอกสารอ้างอิง1. SAICM Secretariat, Information bulletin No.1, January 2008.2. เอกสารการประชุมคณะอนุกรรมการประสานนโยบายและแผนการดำเนินงานว่าด้วยการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 3/ 2552

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 102 มีสี (ไม่จำเป็นต้อง) มีเสี่ยง

บังเอิญได้เหมาะเจาะจริงๆ หลังจากที่สมาชิกของฉลาดซื้อได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรทำทดสอบสีทาบ้านดูบ้าง เราก็ได้รับข้อมูลจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ (Ecological Alert and Recovery - Thailand, EARTH) ว่าทางมูลนิธิฯ ได้เข้าร่วมโครงการระหว่างประเทศเพื่อศึกษาการปนเปื้อนของสารตะกั่วในสีตกแต่งและสีทาบ้านใน 10 ประเทศ ซึ่งดำเนินการโดย Toxics Link ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในอินเดีย และเครือข่ายระหว่างประเทศต่อต้านสารพิษ POPs (International POPs Elimination Network, IPEN) โครงการนี้เน้นการทดสอบหาความเข้มข้นของตะกั่วในสีที่ใช้กันอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา เพราะปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่า มีวัตถุดิบที่เป็นอันตรายน้อยกว่าตะกั่วและสามารถนำมาใช้แทนตะกั่วได้ในการผลิตสีได้ แต่ที่ยังไม่ทราบคือมีผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสุขภาพของเรา   ฉลาดซื้อจึงขอนำผลการทดสอบดังกล่าวมาลงให้สมาชิกได้รู้กันก่อนใคร ว่าสียี่ห้อไหนปลอดภัย และยี่ห้อไหนไม่ควรซื้อมาใช้ ในการสำรวจครั้งนี้ที่มีประเทศ 10 ประเทศเข้าร่วมโครงการและส่งตัวอย่างสีไปทดสอบหาสารตะกั่วในห้องปฎิบัติการของประเทศอินเดีย ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา แทนซาเนีย อัฟริกาใต้ ไนจีเรีย เซเนกัล เบลารุส เม็กซิโก และบราซิล การเก็บตัวอย่างสี (ทั้งสีน้ำและสีพลาสติก) ทำในระหว่างเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ถึง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 และมีสีที่ถูกทดสอบทั้งหมด 317 ตัวอย่าง เจ้าหน้าที่ของ Toxics Link ได้เตรียมตัวอย่างก่อนส่งไปทดสอบที่ห้องปฎิบัติการด้วยการทาสีลงบนแผ่นแก้ว ทิ้งไว้ 72 ชั่วโมงให้แห้ง จากนั้นจึงขูดสีที่แห้งแล้วออกมา เพื่อส่งไปยังห้องปฏิบัติการ Delhi Test House สำหรับประเทศไทยนั้นส่งตัวอย่างสีทั้งหมด 27 ตัวอย่าง เป็นสีน้ำมัน 17 ตัวอย่าง สีพลาสติก 10 ตัวอย่าง ยี่ห้อที่มีการเก็บตัวอย่างได้แก่ ทีโอเอ กัปตัน เบเยอร์ โจตัน นิปปอน รัสท์-โอเลียม และเดลต้า ผลทดสอบ ไม่มีสีพลาสติกรุ่นใดมีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 90 ppm (ส่วนในล้านส่วน) พบสีน้ำมันที่มีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 600 ppm ถึง 8 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 17 ตัวอย่าง สีน้ำมันในกลุ่มที่ราคาต่ำกว่า 200 บาท ทุกตัวอย่างมีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 600 ppm สีน้ำมันยี่ห้อ ทีโอเอ เบเยอร์ และโจตัน มีความเข้มข้นของตะกั่วน้อยกว่า 90 ppm ** หมายเหตุ: ตัวอย่างสีที่ทดสอบนั้นอาจจะยังไม่ครอบคลุมยี่ห้อหลักๆ ที่มีในตลาดบ้านเราทั้งหมด แต่ไม่ต้องห่วงเรากำลังส่งตัวอย่างเพิ่มไปยังห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อให้ทดสอบด้วยกรรมวิธีเดียวกันกับที่ทางอินเดียได้ทำไว้ ได้ผลเมื่อไร ฉลาดซื้อจะนำมาลงให้สมาชิกได้ทราบทันที จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในปี 2550 เรามีโรงงานผลิตสีอยู่ทั้งหมด 296 โรง ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 9,300 ล้านบาท ผู้ผลิตสีส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย มีบริษัทผู้ผลิตสี ขนาดใหญ่เพียง 6 ราย ได้แก่ ทีโอเอ อีซึ่นเพ้นท์ นิปปอนเพ้นท์ ไทยคันไซ และบริษัทข้ามชาติอัคโซโนเบิล ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ โจตัน จากประเทศนอร์เวย์ มูลค่าทางการตลาดของธุรกิจสีในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2551 อยู่ที่ 24,500 ล้านบาท  ส่วนแบ่งการตลาดของสียี่ห้อต่างๆในประเทศไทย   ยี่ห้อ ผู้ผลิต ร้อยละของส่วนแบ่งตลาด ทีโอเอ ทีโอเอ เพ้นท์ 40 ไอซีไอ อัคโซ โนเบล 15 กัปตัน กัปตัน เพ้นท์ 15 เบเยอร์ เบเยอร์ 8 โจตัน โจตัน ไทยแลนด์ 7 อื่นๆ 15   สถานการณ์สีทาบ้านกับสารตะกั่วในประเทศอื่นเราลองมาดูผลการทดสอบในประเทศอื่นๆ กันบ้าง เผื่อว่าเห็นแล้วจะรู้สึกดีใจเล็กๆ ที่เราเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนของสีที่มีสารตะกั่วเกินต่ำที่สุดในกลุ่ม แต่ความจริงแล้วไม่น่าจะต้องมีผู้บริโภคที่ไหนต้องเสี่ยงกับผลิตภัณฑ์สีที่ไม่ปลอดภัย ....   * มีน้ำมันเคลือบเงา 3 ตัวอย่างรวมอยู่ด้วย** มีน้ำมันเคลือบเงา 4 ตัวอย่างรวมอยู่ด้วย   สีประกอบด้วยอะไรบ้าง สีที่เราใช้อยู่ปัจจุบันจะมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ชนิด คือ 1.ตัวเนื้อสี (Pigment) มีหน้าที่ทำให้เกิดสีที่สวยสดงดงามกับตาของเรา 2.สารยึดเกาะ (Binder) ทำหน้าที่เป็นตัวยึดเกาะกับตัวผนัง พื้นผิว และมีหน้าที่เป็นเนื้อของสี ซึ่งเกรดของสีจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนการผสมตัวสารยึดเกาะลงไปในผลิตภัณฑ์ 3.ตัวทำละลาย (Solvent) ทำหน้าที่ให้ เนื้อสีและกาว เจือจางลง จนสามารถนำมาทาได้ในบริเวณที่กว้างขึ้น ซึ่งถ้าเป็นสีน้ำ ก็ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย ส่วนสีประเภทสีน้ำมัน ก็จะใช้ทินเนอร์เป็นตัวทำละลาย ตัวทำละลายนี้จะระเหยออกไปหลังการทาสี4.ตัวเพิ่มคุณสมบัติต่างๆ (Additive) เพื่อให้สีมีความสามารถที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งปัจจุบัน ตัวนี้คือจุดขายสำคัญที่บริษัทสีแข่งขันกัน เช่น ทนกรดด่าง ทนชื้น ปกปิดรอยร้าว ฯลฯ คำแนะนำสำหรับการเลือกสีทาบ้าน 1.สีทาบ้านมีหลายเกรด ราคาตั้งแต่ถังละ 400 บ. - ถังละ 3,000 บ จึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมเพื่อจะได้งานที่มีคุณภาพดีในราคาประหยัด การเลือกใช้สีว่าจะของยี่ห้อใดนั้นให้เปรียบเทียบที่รุ่นสินค้าของแต่ละยี่ห้อ แทนการมั่นใจในตัวยี่ห้อสินค้า เพราะเมื่อนำมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่นแล้ว จะพบว่าคุณสมบัติไม่ต่างกันมากนัก 2.เลือกใช้สีให้เหมาะสมกับงาน โดยหาความรู้เพิ่มเติมหรือปรึกษาช่าง เช่น ปูนทาสีน้ำ เหล็ก/ไม้ทาสีน้ำมัน เป็นต้น จากนั้นก็ประเมินตัวเองว่า อยากได้สีแบบไหน สีกันร้อน สีเช็ดได้ สีปกปิดรอยแตกลายงา สียืดหยุ่นได้ สีกันคราบน้ำมัน ฯลฯ และต้องการสีที่มีอายุงานกี่ปี 2 ปี 4 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี เมื่อประเมินได้แล้วจึงค่อยหาแคตตาล็อกของบริษัทผู้ผลิตสีมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่น เพื่อให้ได้สีตามที่ต้องการในราคาที่ถูกใจ3. ก่อนลงมือทาสีจริง ควรทดลองทาสีด้วยการเอาสีขนาดบรรจุเล็กๆ มาทาก่อน ถ้าชอบใจค่อยไปซื้อมาเป็นถังใหญ่เพื่อทาจริง เพราะสีจริงจะเพี้ยนไปจากแคตตาล็อกนิดหน่อย อาจจะเพราะรองพื้นหรือสภาพพื้นผิวที่เราจะทา4.เลือกชนิดที่ปลอดสารตะกั่ว ทุกชีวิตในบ้านจะได้ปลอดภัย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point