ฉบับที่ 233 กระแสต่างแดน

ขอความคุ้มครอง        เวียดนามคือตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าร้อยละ 50 ของประชากรจะหันมาใช้บริการ “ซื้อของออนไลน์” ภายในปี 2025 และคาดการณ์ว่าการซื้อขายแบบดังกล่าวจะมีมูลค่าถึง 35,000 ล้านเหรียญ         สถิติในปี 2018 ระบุว่าเวียดนามมีนักช้อปออนไลน์ถึง 40 ล้านคน (จากประชากรทั้งหมด 90 ล้านคน) มีการใช้จ่ายเฉลี่ยคนละประมาณ 6,300 บาท         แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังเรียกร้องคือการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น กฎหมายเดิมที่ใช้มา 10 ปีนั้นไม่เพียงพอที่จะรับมือกับอีคอมเมิร์ซในยุคนี้ ขณะเดียวกันตัวผู้บริโภคเองก็ยังรู้สิทธิน้อยมาก         สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเวียดนามบอกว่า จากการสำรวจมีคนเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่รู้จักกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค จึงไม่แปลกที่มีเรื่องร้องเรียนน้อยมากแม้จะเกิดปัญหาบ่อย ที่พบเป็นประจำคือหลังจากชำระเงินแล้ว ผู้ซื้อไม่ได้ของขวัญ ของแถม หรือโบนัสตามที่ผู้ขายบอก        คุมเข้มอีคอมเมิร์ซ        เวียดนามอาจยังไม่พร้อมแต่อินเดียพร้อมแล้ว ด้วยการประกาศข้อกำหนดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้ที่ละเมิดจะได้รับโทษตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค 2019         ตามข้อกำหนดที่มีผลตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ผู้ขายต้องรับผิดชอบต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและสินค้าปลอม โดยจะปฏิเสธการขอคืนสินค้าไม่ได้ ทั้งผู้ขายและแพลตฟอร์ม (เช่น Amazon Flipcart และ Paytm)จะต้องจัดให้มีคนรับเรื่องร้องเรียนและตอบกลับในเวลาที่เหมาะสม         นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการแสดงราคา ค่าใช้จ่ายอื่นๆ วันหมดอายุ ประเทศต้นทางของสินค้า รวมถึงรายละเอียดในการคืน/เปลี่ยนสินค้า คืนเงิน การรับประกัน วิธีชำระเงิน และกลไกการร้องเรียนและการชดเชยเยียวยาด้วย         ทั้งนี้สินค้าต้องเป็นไปตามที่โฆษณา โดยแพลตฟอร์มต้องเก็บข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าผู้ขายรายไหนหลอกลวงผู้บริโภคซ้ำซาก และที่ห้ามเด็ดขาดคือ “รีวิวปลอม”        ขอตรวจซ้ำ เรื่องนี้ย้อนไปเมื่อปี 2016 ที่มีผู้เสียชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก) ไม่ต่ำกว่า 700 คน จากการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในเครื่องเพิ่มความชื้น ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประจำบ้านของคนเกาหลีส่วนใหญ่ โดยตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบในขณะนั้นคือ 3,642 คน         ถึงปี 2017 จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 1,553 คน (ตัวเลขอย่างเป็นทางการ) จึงนำไปสู่การตั้ง “คณะกรรมการวิสามัญ” ขึ้นมาตรวจสอบกรณีดังกล่าวในเดือนธันวาคม 2018 และการทำงานของกรรมการชุดนี้กำลังจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคมปีนี้ แต่ดูเหมือนยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก         กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงออกมาเรียกร้องให้มีคณะกรรมการชุดใหม่ทำหน้าที่ตรวจสอบกระทรวงสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่ดูแลด้านการค้าที่เป็นธรรม รวมถึงบรรดาบริษัทผู้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนประกอบของโพลีเฮกซาเมธิลีนกัวนิดีน ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อปอดของมนุษย์ด้วย        อย่าจัดหนัก        ในช่วงล็อกดาวน์ยอดขายสระน้ำเป่าลมในสเปนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 350 เพราะใครๆ ก็ต้องอยู่บ้าน และฤดูร้อนที่นั่นก็อุณหภูมิสูงใช่เล่น ผู้เชี่ยวชาญจึงออกมาเตือนให้ใช้ความระมัดระวังกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 2 ใน 3 ของประชากรอาศัยอยู่ในแฟลตหรืออพาร์ตเมนท์         OCU องค์กรผู้บริโภคของสเปนแนะนำว่าเพื่อความปลอดภัยไม่ควรเติมน้ำในสระจนระดับน้ำสูงเกิน 20 เซนติเมตร เพราะนั่นเท่ากับแรงกด 200 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งอาจทำให้พื้นด้านล่างถล่มลงมา และไม่ควรใช้บนอาคารเก่า         ในกรณีของบ้านเดี่ยวที่มีสนาม เขาแนะนำให้วางสระน้ำห่างจากตัวบ้านหลายเมตรเพื่อป้องกันผนังบ้านด้านที่อยู่ใกล้สระพังลงมา         ก่อนหน้านี้เกิดเหตุเพดานบ้านถล่มเนื่องจากสระน้ำเป่าลมที่ระเบียงชั้นบน...ก็เล่นเติมน้ำไปตั้ง 8,000 ลิตร อะไรจะทนไหวอยากให้เหมือนเดิม        ธุรกิจรับจัดงานศพเป็นหนึ่งในกิจการที่ต้องขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลนอร์เวย์ เพราะผลพลอยได้จากมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 คือการเจ็บป่วยที่ลดลง เดือนมิถุนายนมีผู้เสียชีวิตน้อยลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว         บริษัทรับจัดงานศพแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของนอร์เวย์ซึ่งเปิดกิจการมาแล้วสามรุ่นบอกว่า ปกติเคยได้จัดเดือนละ 30 งาน แต่หลังล็อกดาวน์กลับมีไม่ถึง 10 งาน บริษัทได้เงินช่วยเหลือ 32,000 โครน (ประมาณ 100,000 บาท)         อีกบริษัทในเมืองออสโล ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือ 37,000 โครน (ประมาณ 127,000 บาท)ไป บอกว่ากรณีของเขา ลูกค้าไม่ได้ลดลง เพียงแต่การจัดงานในรูปแบบใหม่นั้นมีแขกเข้าร่วมน้อยลงและเจ้าภาพมักปรับลดพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นร้อยละ 60-70 ของรายได้         แต่เขาก็หวังว่า “ธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติในฤดูใบไม้ร่วง ที่โรคหวัดหรือโรคอื่นๆ เริ่มระบาดอีกครั้ง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 เคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2563

กสทช.จับมือ 5 ค่ายมือถือออกโทรฟรีในเครือข่าย 100 นาที รับมือโควิด-19        หลังออกโครงการเพิ่มเน็ตมือถือ 10 GB และเพิ่มสปีดเน็ตบ้านเป็น 100 Mbps ไปไม่นาน วันที่ 20 เมษายน 2563 ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ร่วมกับ 5 ค่ายมือถือ AIS, DTAC, TOT, TRUE, และ CAT ออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรศัพท์ ให้กับประชาชนผู้ใช้มือถือด้วยการเปิดให้โทรฟรี 100 นาทีในเครือข่าย คาดว่าจะมีผู้ใช้งานได้รับสิทธิ์ตามโครงการประมาณ 50 ล้านเบอร์ แต่ก็ยังต้องกดรับสิทธิ์ได้อยู่ดี (ช่วงเวลาเปิดให้กดรับสิทธิ์ 1-15 พ.ค. 63)        กสทช. ระบุ สถิติการใช้โทรศัพท์ พบว่าแม้ปัจจุบันจะมีการโทรหากันผ่านแอปพลิเคชัน เช่น ไลน์ วีดีโอคอล เฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์ ฯลฯ มากขึ้น แต่ประเทศไทยยังมีการโทรหากันผ่านระบบเสียงแบบปกติอยู่ถึงราว 70%   องค์การอนามัยโลกกล่าวชื่นชมระบบ อสม.ไทย เข้มแข็งสุดในยุคระบาดโควิด-19         รายงานจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO Thailand) เผยว่าการที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 1,040,000 คน ซึ่งทำการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ให้ความรู้เรื่องสาธารณสุข การใช้ยาและการเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อไวรัส ในระดับชุมชน รวมถึงการทำรายงานถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเจ้าหน้าที่อสม. เหล่านี้ถูกยกให้เป็นด่านหน้าสำคัญในการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อระดับชุมชน        ทางกระทรวงสาธารณสุขของไทยเองก็กล่าวชื่นชม อสม. ว่า ส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ดีกว่าหลายประเทศเพราะการมีอสม. อยู่ในทุกจังหวัด ที่คอยทำงานอย่างหนัก ทั้งการหาข่าวผู้มีความเสี่ยงเฝ้าระวัง ติดตาม กักตัวบุคคลและให้ความรู้กับประชาชนว่าจะป้องกันการติดเชื้ออย่างไร ทำให้ขณะนี้การควบคุมโรคในจังหวัดต่าง ๆ เป็นไปด้วยดี เพราะมีอสม. เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขนายกรัฐมนตรีสั่งให้บันทึกเหตุการณ์โควิด-19 ลงในหอจดหมายเหตุ        สถานการณ์โควิด-19 คือเรื่องใหม่ของมวลมนุษยชาติ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงสั่งการให้มีการบันทึกเหตุการณ์โควิด-19 ลงในหอจดหมายเหตุของไทย เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาในอนาคต ร้องเรียน “ช็อปออนไลน์” ช่วงโควิดพุ่ง 5 พันราย            ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC หรือ Online Complaint Center ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า  จากการให้บริการคำแนะนำและรับเรื่องร้องเรียนปัญหาซื้อ-ขายออนไลน์ ในช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม 2563  ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาที่มีการร้องเรียนและขอคำแนะนำเข้ามามากที่สุดคือ ปัญหาจากการซื้อขายทางออนไลน์ จำนวน 4,786 ครั้ง ส่วนใหญ่เรื่องของการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผู้ขายในออนไลน์ ก่อนการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคกว่า 40% รองมาคือการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาที่ไม่ได้รับสินค้าหรือถูกหลอกลวงทางออนไลน์ 18% โดยประเภทของสินค้าที่พบปัญหาการซื้อขายออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ สินค้าแฟชั่น และ อุปกรณ์ไอที เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมายเข้ามาที่ศูนย์ฯ จำนวน 4,772 ครั้ง        นอกจากนี้ในช่วงเดือน มกราคม – 12 เมษายน 2563 พบสถิติการร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาการสั่งซื้อหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือทางออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้าเพิ่มขึ้น จำนวน 234 ครั้ง จึงได้ประสานร้านค้า ผู้ขาย และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าให้ได้รับการชดเชยเรียบร้อยแล้ว 10% ส่วนกรณีที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการ   สมาคมโรคติดเชื้อเตือนไม่จำเป็นต้องฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อตามบ้านเรือน         12 เมย. 2563 เพจเฟซบุ๊ก สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความโดยระบุว่า ความกังวลเรื่องของการปนเปื้อนเชื้อในสถานที่สาธารณะต่าง ๆ และที่พักอาศัย ตลอดจนในร่างกายของผู้ป่วย ทำให้เกิดการปฏิบัติที่หลากหลายด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น การฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อบนร่างกายของบุคคลทั่วไป ทั้งในลักษณะของการสร้างอุโมงค์ให้เดินผ่านหรือเดินผ่านไปตามทางเดินปกติ การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบนถนนหรือสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ตลอดจนภายในอาคารบ้านเรือนที่พักอาศัยหรือร้านค้า ว่าจะช่วยฆ่าเชื้อโควิดได้ นั้น        ทางสมาคมโรคติดเชื้อขอชี้แจงเรื่อง การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อลงบนตัวบุคคลหรือสถานที่ เพื่อฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัส ดังนี้         1.การฉีดพ่นทำลายเชื้อบนร่างกายของบุคคล ไม่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อการติดเชื้อ เนื่องจากหากบุคคลมีเชื้อไวรัสอยู่ เชื้อจะอยู่ที่ทางเดินหาย ใจ ซึ่งการพ่นยาฆ่าเชื้อในสักษณะดังกล่าว จะไม่สามารถทำลายเชื้อได้ นอกจากนี้ ยาฆ่าเชื้อยังอาจจะเป็นอันตรายต่อคนได้ จึงไม่ควรทำโดยเด็ดขาด         2. ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ หรืออบฆ่าเชื้อด้วยสารเคมีต่างๆ บนถนน สถานที่สาธารณะ หรืออาคารบ้านเรือนใดๆ ไม่ว่าในสถานที่นั้นจะมีผู้ป่วยโรคนี้หรือไม่ การปฏิบัติดังกล่าวเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแต่ประการใด         การป้องกันการแพร่เชื้อที่ถูกต้องคือ การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง และการรักษาความสะอาดของมือ หากจะทำความสะอาดในกรณีที่มีผู้พักอาศัยหรือผู้ใช้บริการในร้านค้าป่วยเป็นโรคนี้ แนะนำให้ใช้วิธีเช็ดถูด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และยังมีคำแนะนำอื่น ซึ่งดูรายละเอียดได้ที่ https://www.idthai.org/Contents/Views/… โควิดส่งผลขยะพลาสติก-เศษอาหารพุ่งขึ้ิน ชี้ไร้คัดแยก เหตุกลัวไวรัส         นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่หลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต้องมีการประกาศมาตรการต่างๆ รวมทั้งจำกัดการเดินทาง ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ปิดบริการเกือบทุกอย่าง ยกเว้นที่จำเป็น เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านยา เป็นต้น ส่งผลต่อการคัดแยกขยะและปริมาณขยะอย่างมาก         จากข้อมูลที่ได้จากผู้เก็บขนขยะของกรุงเทพมหานคร พบว่า ปริมาณขยะในภาพรวมมีปริมาณน้อยลงกว่าช่วงปกติ แต่ขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้น อาทิ กล่องพลาสติกใส่อาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแบบเดลิเวรี่ รวมทั้งช้อนส้อมพลาสติก แก้วพลาสติกและหลอดดูดที่ใช้เครื่องดื่ม เนื่องมาจากประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องทำงานอยู่บ้าน (Work from Home ) ส่งผลให้ต้องใช้บริการสั่งของออนไลน์ และฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เพิ่มมากหลายเท่าขึ้น อาทิ LINE MAN , GRAP FOOD , GET FOOD , FOOD PANDA    นอกจากนี้ พบว่า ปริมาณขยะเศษอาหารถูกทิ้งปะปนมากับขยะทั่วไปมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากครัวเรือนและผู้จัดเก็บไม่มีการคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัด เนื่องจากกลัวการติดเชื้อไวรัส 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 นมข้นหวานและบรรจุภัณฑ์ที่ชวนข้องใจ

เคยทานนมข้นหวานกันหรือไม่ ? แล้วนมข้นหวานที่ท่านรู้จักบรรจุอยู่ในภาชนะแบบไหน ? เมื่อก่อนนมข้นหวานจะบรรจุในกระป๋องโลหะเคลือบดีบุก เวลาใช้งานต้องเจาะรูสองข้าง หรือเจาะฝาทั้งหมด แต่เดี๋ยวนี้นมข้นหวานมีชนิดที่บรรจุในหลอดพลาสติกแบบบีบ เพื่อสะดวกต่อการใช้งาน แต่ว่าผู้บริโภคหลายคนก็กังวลเมื่อเจอปัญหานมข้นหวานในบรรจุภัณฑ์แบบใหม่นี้           คุณภูผาซื้อนมข้นหวานชนิดบีบยี่ห้อหนึ่งมารับประทาน ทั้งรู้สึกชอบใจที่บรรจุภัณฑ์แบบใหม่นี้วิธีการใช้ง่ายดี บีบรับประทานได้สะดวก เมื่อใช้ไม่หมดในครั้งแรกเขาก็เก็บส่วนที่เหลือเข้าตู้เย็นและนำออกมารับประทานอีกหลายครั้ง จนนมใกล้จะหมดหลอด คราวนี้เมื่อบีบออกมาก็พบว่า นมมีกลิ่นแปลกๆ และมีจุดดำๆ ออกมาด้วย         เมื่อสงสัยก็ต้องพิสูจน์ คุณภูผาจึงผ่าหลอดออกดู เขาพบว่าในหลอดมีสิ่งปนเปื้อนจุดดำๆ หลายจุดลักษณะคล้ายเชื้อรา ตกใจในสิ่งที่เห็นมากมายเขาจึงแจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อขอให้บริษัทฯ นำสินค้าไปตรวจสอบว่า สิ่งปนเปื้อนที่พบเป็นอะไรกันแน่ เมื่อมอบสินค้ากับเจ้าหน้าที่แล้ว เขาก็รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อให้คลายกังวล  แต่แพทย์ไม่ได้ทำอะไร เนื่องจากเขาไม่มีอาการผิดปกติ ซึ่งคุณภูผาก็ยังกังวลเพราะไม่ทราบว่า กินสิ่งที่คล้ายเชื้อราไปตั้งแต่เมื่อไหร่ และในอนาคตไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีอาการผิดปกติหรือไม่         ต่อมาพนักงานของบริษัทฯ แจ้งกลับมาว่า สิ่งที่คุณภูผาพบนั้นเป็นเชื้อราจริง แต่ไม่สามารถให้ผลการตรวจได้ โดยก่อนมารับตัวอย่างพนักงานของบริษัทเคยรับปากว่า จะนำผลการตรวจสอบส่งให้เขา ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ตกลงก่อนมอบสินค้า คุณภูผาจึงขอคุยกับคนที่มีอำนาจตัดสินใจ แต่พนักงานคนดังกล่าวบ่ายเบี่ยง พร้อมส่งเอกสารแจ้งมาว่า “ไม่สามารถสรุปสาเหตุได้แน่ชัด” เขาจึงกังวลว่าสิ่งที่รับประทานเข้าไปจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย และสงสัยว่ากรณีแบบนี้ บริษัทผู้ผลิตต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่ อย่างไร จึงสอบถามมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มีหนังสือถึงบริษัทผู้ผลิตขอเชิญประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างคุณภูผาและบริษัทฯ โดยตัวแทนบริษัทฯ ได้ชี้แจงว่า ปกติเชื้อราที่พบในนมไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายของเรา เพราะร่างกายจะสามารถกำจัดออกได้เอง ไม่เหมือนเชื้อราอะฟลาทอกซินในถั่วที่อาจทำให้เป็นมะเร็งได้ ตัวแทนบริษัทได้แสดงการขอโทษด้วยการมอบผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้ผู้ร้องหนึ่งกระเช้าและเงินค่าเสียเวลาจำนวนหนึ่ง คุณภูผาเองเมื่อได้ทราบข้อมูลเรื่องความปลอดภัย ก็ไม่ติดใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เพียงแค่ขอให้บริษัทปรับปรุงการให้ข้อมูลของฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์         อย่างไรก็ตามศูนย์ฯ ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้ตรวจสอบสถานที่ผลิตของบริษัทนมข้นหวานนี้เพิ่มเติมด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ขึ้นเครื่องบินไม่ได้เพราะใช้ชื่อย่อ

        หลายครั้งที่เราเคยชินกับการทำบางสิ่งลงไปแล้ว และทำซ้ำโดยคิดไม่ถึงว่าจะเกิดความผิดพลาดในภายหลัง กรณีต่อไปนี้อาจเป็นบทเรียนสำคัญที่เป็นอุทาหรณ์ว่า เราต้องใส่ใจต่อการติดตามข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยเสมอ          คุณเรือง มีชื่อจริงและนามสกุลที่ค่อนข้างยาว โดยเฉพาะเมื่อต้องสะกดเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นในการจองตั๋วเดินทางท่องเที่ยวผ่าน Trip.com คุณเรือง จึงใช้ชื่อย่อแค่ตัวอักษร R (คุณเรืองบอกว่า ทางเว็บไซต์ให้ใส่แค่ชื่อย่อได้) แต่เมื่อถึงวันเดินทางจริง ทางสายการบินแจ้งว่า ไม่สามารถให้คุณเรืองขึ้นเครื่องบินได้ แม้ว่าจะมีการจองตั๋วผ่านเว็บไซต์จริง           “ผมเคยไปกับสายการบินหนึ่งโดยใช้ชื่อย่อเช่นกัน ไม่มีปัญหาอะไรเลย และหลักฐานยืนยันก็คือบัตรประชาชนก็ใช้ยืนยันตัวตนได้แล้ว แต่ทางสายการบินนี้ยืนยันว่าจะต้องซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่ทั้งหมด พร้อมบอกด้วยว่า ทำไมลูกค้าไม่พิมพ์ข้อความจากหน้าจอที่ทำการจองตั๋วไว้ ระบุด้วยว่านโยบายแต่ละสายการบินไม่เหมือนกัน”               อย่างไรก็ตามคุณเรืองต้องเดินทางพร้อมเพื่อนจึงซื้อตั๋วใหม่ทั้งหมด แต่ได้ทำเรื่องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหานี้ให้ด้วย “สายการบินคิดค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับก็ได้ แต่ไม่ควรให้ผมซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่โดยไม่รับภาระอะไรเลย” แนวทางแก้ไขปัญหา          ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้แจ้งเรื่องต่อสายการบินและสำนักงานการบินพลเรือน เพื่อขอทราบรายละเอียดเงื่อนไขและช่วยตรวจสอบเรื่องดังกล่าวให้กับคุณเรืองว่ากรณีดังกล่าว สายการบินไม่ยินยอมให้คุณเรืองคุณเครื่องนั้น ทำได้หรือไม่ และจำเป็นต้องซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่ทั้งหมดหรือไม่           และจากหนังสือตอบกลับของ กทพ. แจ้งว่า จากการตรวจสอบกับทาง Trip.com พบว่า “ทางระบบมีการแจ้งเตือนผู้ร้องขณะกรอกชื่อผู้โดยสารแล้วว่า ชื่อและนามสกุลต้องตรงกับเอกสารยืนยันตัวตน การที่ผู้ร้องถูกปฏิเสธการเดินทางเนื่องจากชื่อตามเอกสารยืนยันตัวตน(บัตรประชาชน) ไม่ตรงกับชื่อในเอกสารการเดินทาง(ตั๋วโดยสาร) จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องเป็นบุคคลที่มีชื่อตามเอกสารยืนยันการเดินทาง จึงเป็นไปตามเงื่อนไขของบริษัทสายการบิน ทั้งนี้ตามที่ผู้ร้องอ้างว่า เคยใช้ชื่อย่อในการเดินทางได้นั้น พบว่าผู้ร้องไม่มีหลักฐานยืนยันกรณีดังกล่าวอ้าง และตามประกาศคณะกรรมการการบินพลเรือน เรื่อง แผนรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 การเข้าพื้นที่เขตการบินจะถูกจำกัดเฉพาะผู้โดยสารที่แท้จริงและจะต้องถูกตรวจสอบเอกสารสำหรับการเดินทางฉบับจริงและถูกต้อง พร้อมเอกสารที่ยืนยันตัวตนที่ออกโดยรัฐ ซึ่งในทางปฏิบัติหากเอกสารยืนยันการเดินทางมีการระบุชื่อผู้โดยสารไม่ตรงกับชื่อในเอกสารยืนยันตัวตน บุคคลดังกล่าวจะไม่สามารถเข้าไปยังพื้นที่เขตการบินได้”           ดังนั้นด้วยเงื่อนไขนี้ การถูกปฏิเสธการเดินทางของคุณเรืองทางสายการบินสามารถทำได้ ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมหรือการระบุให้ซื้อตั๋วใหม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องผลักดันในเชิงนโยบายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง : มีความรู้อยู่กับตัวกลัวอะไร ชีวิตไม่ปลดปลงคงได้ดี

        ปกติแล้ว ละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้จะถูกมองว่า เป็นละครแนวที่ผู้ชมจะบันเทิงเริงรมย์เบาสมอง เสียจนบางคนเชื่อว่าไม่น่าจะมีอะไรสลักสำคัญอยู่ในนั้น แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องราวแบบบางเบาสมองเช่นนี้ก็อาจจะไม่ได้ “ไร้สาระ” หากแต่ตั้งคำถามต่อความเป็นจริงและความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนในสังคมไว้อย่างเข้มข้น แถมยังแยบยลยิ่งนัก        “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” ก็เป็นหนึ่งในละครโรแมนติกคอมเมดี้แบบย้อนยุค ที่ลึกๆ ลงไปในเนื้อหาแล้ว ความสัมพันธ์ของตัวละคร “ทองเอก” กับ “ชบา” ซึ่งกว่าความรักที่แตกต่างกันทั้งในแง่ศักดิ์ชั้นและบุคลิกนิสัยจะลงเอยกันได้ในตอนจบ แก่นความคิดของเรื่องกลับดูร่วมสมัยที่แทบจะไม่ได้ย้อนยุคแต่อย่างใด        โดยเส้นเรื่องหลักอาศัยพล็อตที่ผูกย้อนไปเมื่อครั้งสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ช่วงเวลานั้นทองเอกได้ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวของหมอยาที่สืบทอดองค์ความรู้วิชาแพทย์แผนโบราณ และเมื่อยังเป็นเด็ก “พ่อหมอทองอิน” ปู่แท้ๆ ของเขา ก็เคยต้องรู้สึกเสียใจอย่างใหญ่หลวง เมื่อครั้งหนึ่งไม่สามารถยื้อชีวิตของเด็กน้อยคนหนึ่งที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า และตายอยู่ในอ้อมแขนของตน ปู่ทองอินจึงหนีบาดแผลในอดีต และพาทองเอกที่เป็นกำพร้าพ่อแม่อพยพมาใช้ชีวิตอยู่ที่ชุมชนบ้านท่าโฉลง โดยไม่คิดรักษาโรคให้กับใครอีกเลย        ความเจ็บปวดและเสียใจกับอดีตดังกล่าว ส่งผลให้หมอทองอินสั่งห้ามทองเอกผู้เป็นหลานชายและเพื่อนๆ อย่าง “เปียก” และ “ตุ่น” ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับตำรับยารักษาโรคโดยเด็ดขาด เพราะลึกๆ แล้ว ปู่ก็กลัวว่าทองเอกจะต้องชะตากรรมเดียวกับที่ตนเคยเผชิญมา        แต่เพราะพระเอกหนุ่มมีความมุ่งมั่นว่า ความรู้เรื่องหมอยาเป็นคุณค่าที่สั่งสมมาในสายตระกูล และเป็นความหวังสำหรับบรรดา “ผู้ไข้” ทั้งหลายที่อยากจะหลุดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง ทองเอกจึงแอบร่ำเรียนวิชา และใช้ความรู้หมอยารักษาคนไข้ โดยไม่เลือกปฏิบัติว่า “ผู้ไข้” เหล่านั้นจะมาจากศักดิ์ชั้นสังกัดใดในสังคม        ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร “ผ่อง” สาวชาวบ้านที่เคยโฉมงาม แต่เพราะป่วยเป็นโรคคุดทะราดจนมีสภาพไม่ต่างจากผีปอบ และถูก “แม่หมอผีมั่น” ผู้เป็นมารดาอัปเปหิไปอยู่กระท่อมกลางป่า หรือตัวละคร “คุณนายสายหยุด” แม่ของชบา และเป็นภรรยาของ “ท่านขุนกสิกรรมบำรุง” ที่ตัวคุณนายเองได้ป่วยเป็นโรคลมในท้องรักษาไม่หาย ไปจนกระทั่งตัวละคร “เสด็จพระองค์หญิง” ซึ่งป่วยเรื้อรังจนสุดความสามารถของหมอหลวงในวังที่จะรักษาให้หายขาด ทุกคนก็ล้วนกลายเป็น “ผู้ไข้” ที่ทองเอกรักษาให้โดยมิได้ตั้งแง่แต่อย่างใด        ด้วยเหตุที่ละครผูกเรื่องไว้เป็นแนวโรแมนติกคอมเมดี้ อีกด้านหนึ่งของชีวิตการเป็นหมอยานั้น กว่าที่ทองเอกกับชบาจะลงเอยแฮปปี้เอนดิ้ง ทั้งคู่ก็ต้องฝ่าบททดสอบต่างๆ มากมาย ทั้งจาก “กล้า” ตัวละครหนุ่มหล่อและรวยที่เป็นคู่แข่งหัวใจของทองเอก ผ่องผู้เป็นคนรักเก่าของเขา และความขัดแย้งระหว่างทองเอกกับขุนกสิกรรมบำรุงผู้เป็นว่าที่พ่อตา ซึ่งกีดกันพระเอกนางเอกด้วยฐานานุรูปที่แตกต่างกัน        และดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า เบื้องลึกระหว่างบรรทัดของละครแนวกุ๊กกิ๊กคอมเมดี้ หาใช่เป็นอันใดที่ “ไร้สาระ” ไม่ หากแต่คลุกเคล้าไว้ด้วยการตั้งคำถามต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไว้อย่างแยบยล ด้วยเหตุฉะนี้ คู่ขนานไปกับบทพิสูจน์ความรักและความมุ่งมั่นของ “นายทองเอก” ที่จะเป็น “หมอทองเอก” ก็คือการเผยให้เห็นโลกทัศน์ที่เรามีต่อสิ่งที่เรียกว่า การสั่งสมและใช้ “ความรู้” ของคนในสังคม        เพื่อให้สอดรับกับสังคมที่ก้าวเข้าสู่ความเป็น “สังคมแห่งความรู้” หรือ “knowledge-based society” ในปัจจุบัน ในขณะที่ละครได้อาศัยการสร้างฉากและองค์ประกอบศิลป์ให้ดูเป็นแบบพีเรียดย้อนยุค แต่อากัปกิริยา คำพูดศัพท์แสง และบทสนทนาของตัวละคร กลับล้วนแล้วแต่เป็นแบบที่ผู้คนในยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ต่างพูดๆ กันอยู่ในชีวิตประจำวัน        ด้วยภาพที่ดูร่วมสมัยแต่ย้อนแย้งอยู่ในความเป็นอดีตนี้เอง ละครได้ตั้งคำถามกับคนในสังคมว่า เมื่อหมอยาคือบุคคลที่สังคมยอมรับในแง่ของการเป็นผู้ถือครองวิชาความรู้ที่สั่งสมสืบทอดกันมา ดังนั้น ผู้รู้ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้มีความรู้ก็อาจจะ “รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว” แต่ที่สำคัญต้องเป็นผู้ “เชี่ยวชาญ” ในเรื่องจริงๆ จึงจะ “บังเกิดเป็นมรรคผล”        ฉากที่เพื่อนๆ ทดสอบทองเอกด้วยการปิดตาและให้ดมกลิ่นหรือลิ้มรสสมุนไพรแต่ละชนิด พร้อมระบุสรรพคุณของตัวยาเหล่านั้น ย่อมบอกได้ชัดเจนว่า ถ้าจะเอาดีด้านหมอยา ความรู้เรื่องสมุนไพรและธาตุยาที่ถือครองไว้ก็ต้องผนวกผสานเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายและจิตใจของผู้รู้คนนั้นๆ        ในขณะเดียวกัน เพราะ “ความรู้เป็นอำนาจ” และ “อำนาจเป็นเหรียญสองด้าน” ที่มีทั้งด้านให้คุณและให้โทษ ดังนั้น ในขณะที่แม่หมอผีมั่นเลือกใช้ความรู้หมอยาเพื่อครอบงำและเป็นมิจฉาทิฐิทำลายผู้อื่น แต่ทองเอกกลับยืนยันว่า ความรู้ต้องใช้เพื่อปลดปล่อยและเป็นสัมมาทิฐิเพื่อจรรโลงสังคมโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู แบบที่เขาได้ใช้ความรู้หมอยารักษาแม่หมอผีมั่นจากโรคในตอนท้ายเรื่องนั่นเอง         นอกจากนี้ อีกบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ของหมอทองเอกในฐานะผู้ถือครองความรู้ก็คือ ความรู้หนึ่งๆ ไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่จะรักษาได้สำเร็จเสมอไป เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว “หมอไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะรักษาใครให้หายได้ทุกคน” เหมือนกับที่ตัวละครหลวงพ่อได้พูดให้เราสำเหนียกว่า “ไม่มีหมอคนไหนอยากให้ผู้ไข้ตายหรอก...คนจะตายมันก็ตายอยู่ดี”         เพราะฉะนั้น แม้ความรู้จะทำให้ผู้รู้นั้นดูองอาจหรือมีอำนาจ แต่ผู้รู้ก็ต้องถ่อมตนและยอมรับว่า ความรู้ทุกชนิดมีข้อจำกัดและมีขอบเขตในการนำไปใช้เสมอ แบบที่ “หนึ่งสมองกับสองมือ” ของหมอทองเอกก็ไม่สามารถรักษาคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคระบาดในท่าโฉลงได้ครบทุกคน หรือแม้แต่ไม่อาจเหนี่ยวรั้งชีวิตของปู่ทองอินซึ่งถูกยาสั่งของแม่หมอผีมั่นเอาไว้ได้ในตอนกลางเรื่อง         คำโบราณกล่าวไว้ถูกต้องว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา” และ “มีความรู้อยู่กับตัวกลัวอะไร” แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคที่ความรู้ได้กลายเป็นทุนและแหล่งที่มาของอำนาจในสังคมทุกวันนี้แล้ว บางทีเสียงหัวเราะขำๆ และความรู้สึกกุ๊กกิ๊กที่เรามีให้กับหมอทองเอกและตัวละครต่างๆ รอบตัว คงบอกเป็นนัยได้ว่า มีความรู้อย่างเดียวนั้นไม่พอ แต่ต้องเข้าใจและปฏิบัติต่อความรู้อย่างสร้างสรรค์จริงๆก่อนจะเสียชีวิตลง ประโยคที่ปู่ทองอินพูดกับทองเอกที่จะเป็นทายาทสืบต่อในฐานะผู้รู้หมอยาของท่าโฉลง จึงแยบคายเป็นอย่างยิ่งว่า “ข้าไม่กลัวความตาย ตลอดชีวิตของข้า ข้าทำความดีอย่างสุดความสามารถแล้ว ถึงข้าตาย ข้าก็สบายใจ”                                                                             

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 216 นี่คือเหตุผลที่เราต้องใส่ใจต่อสวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์ม

        รู้ไหมว่ายิ่งเราปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงในฟาร์มดีมากเท่าไร มนุษย์เราจะยิ่งปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น ในสถานการณ์ที่มนุษย์ต้องเผชิญความเสี่ยงจากเชื้อโรคที่ดื้อต่อยารักษา(เชื้อแบคทีเรียที่ทนต่อยาต้านจุลชีพ)  ซึ่งทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตถึง 700,000 รายในแต่ละปี และคาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 10 ล้านคนต่อปี ในปี พ.ศ. 2593  หากเรายังป้องกันปัญหาการกระจายของเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมไม่ได้ เนื่องจากมีการพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะและเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในแหล่งน้ำรอบบริเวณฟาร์มอุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงการตกค้างในเนื้อสัตว์จากฟาร์ม        ในปี พ.ศ. 2561 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้ทำการสำรวจเนื้อหมูที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตจากประเทศออสเตรเลีย บราซิล สเปน และประเทศไทย  การสำรวจพบว่ามีเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ (Superbugs) ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมูจาก 3 ใน 4 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ผลการทดสอบดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่าการเลี้ยงหมูในฟาร์มแบบอุตสาหกรรมที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์ ส่งผลให้ต้องมีการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นกับหมู จนส่งผลให้เกิดวิกฤติแบคทีเรียดื้อยาปฎิชีวนะขึ้น ผลการทดสอบเชื้อดื้อยากรณีประเทศไทย        การทดสอบผลิตภัณฑ์เนื้อหมูที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตที่จัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2561 นี้ ก็เพื่อตรวจสอบหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในเนื้อหมูที่มีฤทธิ์ต่อต้านยาปฏิชีวนะในประเภทที่กำหนด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างฟาร์มที่ขาดการดูแลสวัสดิภาพสัตว์กับการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น โดยมีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จาก 4 ประเทศ (ออสเตรเลีย บราซิล สเปน และไทย) เป็นการซื้อเนื้อหมูที่บรรจุอยู่ในแพ็คจากซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะถูกเก็บอยู่ในความเย็นและส่งไปยังห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือสำหรับการตรวจสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประกอบไปด้วยหมูบด เนื้อหมูที่ผ่านการตัดขาย เป็นชิ้นและราคาปกติ         ผลการทดสอบของไทย จากจำนวนทั้งหมด 150 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนแบคทีเรีย อีโคไล มากกว่า 97% และซัลโมเนลล่า จำนวน 50% โดยตัวอย่างที่นำมาทดสอบนี้ มาจาก 2 ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยคือ เทสโก้ โลตัสและท็อปส์ มาร์เก็ต        •  97% ของเชื้ออีโคไล และ 93% ของเชื้อซาลโมเนลล่า ที่พบเป็นแบคทีเรียดื้อยาหลายขนาน        • มีการพบเชื้ออีโคไลที่มีฤทธิ์ต่อต้าน ESBL (จำนวน 10% ของอีไคไลที่พบ) โดยจัดเป็นเชื้ออีโคไลที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านยาปฏิชีวนะจำพวกเซฟาโลสปอรินและแอมพิซิลิน โดยยาปฏิชีวนะในกลุ่มเซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 ขึ้นไปถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุดต่อสุขภาพของคน        • พบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะในกลุ่มที่มีความสำคัญต่อสุขภาพคนสูงสุด โดยพบในตัวอย่างที่นำมาจากเทสโก้ โลตัส พบแบคทีเรียที่มีฤทธิ์ต่อต้านยาแซโฟแท็กเซี่ยม 15% และแซฟโปดอกเซี่ยม 15% จากตัวอย่างทั้งหมดที่พบเชื้ออีโคไล นอกจากนั้นจากตัวอย่างที่พบอีไคไลและซัลโมเนลล่า ยังพบการดื้อยาต่อเจนต้าไมซิน (19%) เตรปโตไมซิน (96.8%) และแอมพิซิลลิน (100%)         • มีการพบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านยาปฏิชีวนะกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุดต่อสุขภาพของคน โดยตัวอย่างจากเทสโก้ โลตัส ที่พบเชื้ออีโคไลและซัลโมเนลล่านั้นมีการออกฤทธิ์ต่อต้านเตตร้าไซคลิน 96.7% และคลอแรมเฟนิคอล 61%        อนึ่งในการทดสอบนี้เราไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า ผลการทดสอบเชื่อมโยงกับสุขภาวะของผู้บริโภคแบบเจาะจง แต่สำนักงานยายุโรป(European Medicines Agency) ได้ยืนยันว่าเชื้อแบคทีเรียดื้อยาสามารถถ่ายทอดสู่คนได้ทางห่วงโซ่อาหารและสามารถคงอยู่ได้ในลำไส้ของคน ดังนั้นจึงส่งผลให้เด็ก คนชราและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ รวมถึงเกิดการเจ็บป่วยจากอาหารเป็นพิษ ท้องร่วง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและการทำงานของตับล้มเหลว ฟาร์มอุตสาหกรรมและการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น        ปัจจุบันมีการใช้ยาปฏิชีวนะ 131,000 ตันต่อปีในฟาร์ม เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ป้องกัน และรักษาโรคต่างๆ ในสัตว์ โดยจำนวน 3 ใน 4 ของยาปฏิชีวนะทั่วโลกถูกใช้กับสัตว์ในฟาร์ม        องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ประกาศถึงอันตรายของยาปฏิชีวนะ ที่มีผลต่อสุขภาพของคน โดยจัดให้เป็นลำดับสำคัญที่สุด และก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคนอย่างรุนแรง ยาปฏิชีวนะที่ได้รับการ ประกาศเตือนนี้ รวมถึงยาปฏิชีวนะที่ใช้ในฟาร์มหมู ได้แก่ โคลิสติน ฟลูออโรควิโนโลน เซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 และเอนโรโฟลซาซิน   ยาปฏิชีวนะเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มใช้รักษาอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงในคน โดยองค์การอาหาร และการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้แนะนำว่าไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มดังกล่าวนี้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นการคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพในการรักษาการติดเชื้อในคนอย่างได้ผล        แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มนี้ อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนที่บ่งชี้ว่า การใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นนี้ก่อให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่พบในเนื้อสัตว์ ในฟาร์มตลอดจนในห่วงโซ่อาหาร เราพบว่าอุตสาหกรรมหมูมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากกว่าฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ชนิดอื่นๆ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากวิธีการเลี้ยงที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพ        ยาปฏิชีวนะประเภทแอมพิซิลลินและเตตราไซคลีนมักนำมาใช้กับลูกหมูในระหว่างขั้นตอนในการตัดหางหรือการตอน  ยาปฏิชีวนะถูกนำมาใช้บ่อยครั้งกับลูกหมูที่ถูกหย่านมเร็วจากแม่เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และยังถูกใช้ผสมกับอาหารสัตว์ให้กับหมูขุนเพื่อลดความเครียด ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นเกินไปและการเปลี่ยนกลุ่มของหมู ยาปฏิชีวนะที่ถูกนำมาใช้นั้นอาจรวมถึง โคลิสตินแอมพิซิลลิน ฟลูออโรควิโนโลน เซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 เอนโรโฟลซาซิน เจนต้าไมซิน ไทโลซิน เตตราไซคลีน ซัลฟาไดอะซิน เฟนิคอล และอื่นๆ แม้แต่แม่หมูก็จะได้รับยาปฏิชีวนะเป็นประจำเพื่อป้องกันการเสียชีวิต จากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ กีบเท้าช่องคลอด และบริเวณหลังเนื่องจากความเครียดและการบาดเจ็บที่เกิดจากการถูกกักขัง และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดี คุณสามารถช่วยให้ปัญหาเชื้อดื้อยาตกค้างในเนื้อสัตว์ลดลงได้        ลูกหมูต้องถูกพรากจากแม่ตั้งแต่ยังเล็ก ในขณะที่แม่หมูจะถูกใช้เสมือนเป็นเครื่องเพาะพันธุ์เท่านั้น โดยจะถูกขังอยู่ในกรงเหล็กที่ไม่ใหญ่ไปกว่าตู้เย็นขนาดมาตรฐาน ไม่สามารถแม้แต่จะหมุนตัวได้ และทำให้แม่หมูเกิดความเครียด ลูกหมูจะถูกตัดอวัยวะโดยไม่มีการลดความเจ็บปวด เช่นการตัดหาง กรอฟัน ขลิบหู และลูกหมูตัวส่วนใหญ่จะถูกจับตอน หมูจะถูกขังอยู่ในที่มืด คับแคบ และต้องนอนทับมูลของตัวเอง วิธีการในฟาร์มหมูที่โหดร้ายเหล่านี้ ส่งผลให้หมูเกิดความเครียด เชื้อโรคแพร่กระจาย และนำมาซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อรักษาชีวิตของสุกรโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น        องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกช่วยกันยกระดับคุณภาพสุกรในฟาร์มโดยการคัดเลือกเนื้อหมูจากฟาร์มที่มีการดูแลสวัสดิภาพขั้นสูงเท่านั้นมาจำหน่าย นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการฝ่ายแคมเปญสัตว์ในฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยว่า “องค์กรฯ ได้ทดสอบผลิตภัณฑ์เนื้อหมูเพื่อสำรวจว่าอุตสาหกรรมฟาร์มหมูที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์นั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะอย่างไร และเพื่อนำเสนอหลักฐานการค้นพบนี้ เรียกร้องให้   ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย แสดงความรับผิดชอบมากขึ้น โดยการประกาศคำมั่นสัญญาต่อสาธารณะในการจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากฟาร์มที่ใส่ใจสวัสดิภาพของหมูเท่านั้น”        นายโชคดี ยังได้ย้ำอย่างหนักแน่นว่า “เราต้องการยกเลิกการเลี้ยงแม่หมูแบบยืนซอง เพื่อให้หมูได้มีโอกาสเข้ากลุ่มสังคมภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และให้หมูได้มีโอกาสแสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ ซูเปอร์มาร์เก็ตควรกำหนดมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ให้สูงขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์จากฟาร์มผู้ผลิตนั้นจะมีความเครียดต่ำ และมีการใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น”        และผู้บริโภคเองสามารถช่วยกันเรียกร้องต่อซูเปอร์มาร์เก็ตให้แสดงจุดยืนด้วยการประกาศคำมั่นว่าจะจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากฟาร์มที่เลี้ยงหมูอย่างมีสวัสดิภาพที่ดีเท่านั้นด้วยเช่นกัน สนใจข้อมูลเพิ่มเติมwww.worldanimalprotection.or.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 กระแสต่างแดน

รางวัลแด่คน “ช่างกล้า”Consumer NZ นิตยสารเพื่อผู้บริโภคของนิวซีแลนด์มอบรางวัลยอดแย่ประจำปีให้กับผู้ผลิตอาหารที่กล้าเคลมว่าสินค้าตนเอง “ดีต่อสุขภาพ” ทั้งๆ ที่ส่วนประกอบมันไม่ใช่เจ้าใหญ่อย่าง เคลลอกส์ เนสท์เล่ เทเกล และ เฟรชแอนด์ฟรุ้ตตี้ ต่างไดัรับเกียรติกันถ้วนหน้าคะแนนที่ได้มาจากเสียงโหวตของผู้บริโภคที่พบว่า อาหารที่มีฉลากกำกับความดีงาม เช่น  “ไขมันต่ำ” “ธัญพืชไม่ผ่านการขัดสี” “ไม่ใช้น้ำตาลทรายขาว” “ไม่ใช้สีหรือกลิ่นสังเคราะห์” หรือ “เป็นแหล่งไฟเบอร์” กลับมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ 3 ถึง 20 ช้อนชาต่อหนึ่งเสิร์ฟ        บ้างก็ชูจุดขายเรื่องส่วนประกอบที่เป็นผักและผลไม้ ทั้งที่ใส่ไปแค่ร้อยละ 1.36 มีแม้กระทั่งไก่ทั้งตัวที่ระบุว่าไก่ “ไม่ได้ถูกขังในกรง” เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าพวกมันถูกเลี้ยงอย่างอิสระ ทั้งๆ ที่พวกมันก็ถูกจำกัดบริเวณอยู่ในคอกนั่นเองขอเสียงหน่อย            นครเชินเจิ้นเปลี่ยนรถโดยสารทั้งหมดเป็นระบบไฟฟ้าแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามแผนการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลงร้อยละ 48    แม้จะต้องใช้งบประมาณ 1.8 ล้านหยวนต่อคัน(ประมาณ 8.5 ล้านบาท) แต่ค่าโดยสารก็ไม่ได้แพงขึ้นมากนัก            ทั้งนี้เพราะรัฐบาลกลางสนับสนุนค่าใช้จ่ายมากกว่าครึ่งให้กับผู้ประกอบการ ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นจะเติมให้อีก 500,000 หยวน(ประมาณ 2.3 ล้านบาท) เมื่อรถเมล์ไฟฟ้าวิ่งรับส่งผู้คนได้เป็นระยะทางครบ 60,000 กิโลเมตร                   จากหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ปัจจุบันเชินเจิ้นมีประชากร 12 ล้านคน มีรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด16,000 คัน พร้อมสถานีชาร์จที่เทศบาลเป็นเจ้าของอีก 40,000 แห่ง             รองผู้จัดการทั่วไปบริษัทเชินเจิ้นบัสกรุ๊ป หนึ่งในผู้ประกอบการรถเมล์สามรายของเมืองนี้บอกว่า บริษัทกำลังหาวิธีเพิ่ม “เสียง” ให้กับรถ เพราะมีผู้โดยสารร้องเรียนเข้ามาว่ามันวิ่งได้ “เงียบเกินไป”Madrid Central           กรุงแมดริดเริ่มโครงการ Madrid Central เพื่อลดมลภาวะจากน้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยการทดลองใช้กฎห้ามรถที่ผลิตก่อนปี ค.ศ. 2000 (รถเบนซิน) และ ค.ศ. 2006 (รถดีเซล) เข้ามาในเขตใจกลางเมือง           ข่าวระบุว่าประมาณร้อยละ 17 ของรถที่วิ่งในเมืองนี้ถือเป็น “รถเก่า” ใครฝ่าฝืนขับเข้ามาจะมีค่าปรับ 90 ยูโร (เขาอนุโลมในนำรถดังกล่าวเข้ามาวิ่งได้หากลงทะเบียนไว้ล่วงหน้าและมีที่จอดรถเป็นของตัวเอง พูดง่ายๆ คือคนที่มีบ้านอยู่ในเขตเมือง)           แผนนี้อาจแตกต่างจากที่อื่นๆ ในยุโรป เช่น ลอนดอน สต็อกโฮล์ม และมิลาน ที่จำกัดจำนวนรถด้วยการเรียกเก็บ “ค่าเข้าเมือง” จากผู้ขับขี่ “รถเก่า” ซึ่งปล่อยมลภาวะมากกว่ารถยนต์รุ่นใหม่ๆ           แมดริดมีประชากร 3.2 ล้านคน ยานพาหนะ 1.8 ล้านคัน ภูมิประเทศแบบที่ราบสูงของเมืองมักถูกปกคลุมด้วยมลภาวะหนาแน่นในวันที่ไม่ค่อยมีลมของมันต้องมี             คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของออสเตรเลียเสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะ เพื่อกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Facebook Inc และ Alphabet Inc (เจ้าของกูเกิ้ล) ที่อาจผูกขาดธุรกิจโฆษณาออนไลน์             คณะกรรมการฯ ตั้งคำถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าบริษัทไม่ได้เลือกนำเสนอสินค้าหรือบริการของตนเอง ก่อนผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการรายอื่นที่มาซื้อพื้นที่โฆษณา             นอกจากนี้บริษัทยังทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่ข่าวสารแข่งกับสื่อแบบดั้งเดิม ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลท่วมท้นจนอาจเกิดความสับสน             หน่วยงานตรวจสอบระบบการจัดอันดับโฆษณาหรือบทความต่างๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในแผนการปฏิรูปสื่อของออสเตรเลีย             ด้านคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของอิตาลีก็เพิ่งจะสั่งปรับ facebook เป็นเงิน 10 ล้านยูโร(ประมาณ 370 ล้านบาท) จากการที่บริษัทนำข้อมูลผู้ใช้ไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต  เลือกเราไปสร้างตึกตามกฎหมายเกาหลีใต้ ผู้อยู่อาศัยในอพาร์ตเมนท์ที่จะถูกรื้อเพื่อสร้างใหม่จะมีสิทธิออกเสียงเลือกบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างได้        สำนักงานตำรวจโซลเปิดเผยว่าเมื่อปี 2560 บริษัท แดวู ล็อตเต้ และฮุนได ได้เสนอสินบนให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงรวมเป็นเงิน 230 ล้านวอน  200 ล้านวอน และ 110 ล้านวอนตามลำดับ เพื่อแลกกับการได้สิทธิก่อสร้างอาคารใหม่ในเขตตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงโซล        นอกจากเงินแล้วยังแจกแทบเล็ตหรือคูปองห้องพักโรงแรมหรูด้วย         ทั้งสามบริษัทที่ได้สิทธิการก่อสร้างไปบอกว่าตนเองไม่รู้เห็นกับการกระทำของ “ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์”  สำนักงานตำรวจฯ จึงส่งฟ้องพนักงานของบริษัทเพราะมีหลักฐานว่า “บริษัทที่ปรึกษาฯ” ได้แจ้งให้บริษัททราบแล้ว        นักวิเคราะห์มองว่าคดีนี้อาจส่งผลในทางลบต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทก่อสร้างสัญชาติเกาหลีในระดับสากล ซึ่งมีคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างจีนและอินเดีย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 น้ำเชื่อมฟรุกโตสในอาหาร ก่อปัญหาต่อสุขภาพจริงหรือ

ความหวาน แทบจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ เพราะนอกจากจะช่วยทำให้รสชาติกลมกล่อมถูกปากแล้ว ยังส่งผลให้ผู้ที่บริโภครู้สึกสดชื่น หายอ่อนเพลียเพราะได้รับพลังงานในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ตามความหวานในอาหารกลับแฝงอันตรายที่สามารถส่งผลร้ายต่อสุขภาพ ทั้งในแง่ก่อให้เกิดอาการเสพติดความหวาน และเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วนหรือความดันโลหิตสูงน้ำตาลทรายแม้จะยังคงเป็นแหล่งความหวานของอาหาร แต่รู้หรือไม่ว่า ที่มาของรสหวานในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มส่วนใหญ่ กลับไม่ได้เกิดจากน้ำตาลทรายเพียงอย่างเดียว แต่มาจากส่วนผสมที่เรียกว่า “น้ำเชื่อมฟรุกโตสหรือน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง” (High Fructose Corn Syrup หรือ HFCS)  ซึ่งให้รสหวานได้มากกว่าน้ำตาลทรายธรรมดา แต่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราได้มากกว่าน้ำตาลทรายเสียอีก ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระสายอาหารและโภชนาการของฉลาดซื้อ เคยให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวไว้ในนิตยสารฉลาดซื้อประจำฉบับที่ 173 คอลัมน์ของฝากจากอินเทอร์เน็ต เรื่อง ดื่มน้ำหวานในฤดูร้อนพึงระวัง ว่าน้ำเชื่อมฟรุกโตสหรือน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง(HFCS) เป็นน้ำเชื่อมที่ได้จากการย่อยแป้งข้าวโพดจนเหลือเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตสนั้น มันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในวงการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพราะให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 1.3 เท่า รวมทั้งเป็นน้ำเชื่อมใสไม่มีสี จึงไม่บดบังสีของอาหารทำให้ดูน่าดื่มกิน ดังนั้นเมื่อเทียบกับน้ำตาลทรายที่มีราคาสูงและมักเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อใช้ในอาหารแล้ว จึงถือว่าคุ้มค่ากว่าในด้านราคาต้นทุนและความสะดวกในการผลิต อย่างไรก็ตามกลับมีงานวิจัยบางฉบับได้รายงานว่า ผู้ที่บริโภคน้ำเชื่อมข้าวโพดชนิดที่มีฟรุกโตสสูงนี้เป็นประจำ จะทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ เพราะน้ำเชื่อมดังกล่าวส่งผลต่อความอยากอาหาร ทำให้กินอาหารอื่นได้ในปริมาณมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ไขมันในเลือดสูงขึ้น โดยเฉพาะไขมันชนิดแอลดีแอลโคเลสเตอรอล (LDL-C) ซึ่งเป็นไขมันเลวที่ควรหลีกเลี่ยง รวมทั้งอาจทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน หรือกรดไขมันอิสระที่อาจส่งผลต่อภาวะไขมันเกาะตับ(Fatty Liver) ได้อีกด้วย เพราะน้ำเชื่อมดังกล่าวร่างกายนำไปเผาผลาญได้ที่เซลล์ตับเท่านั้น ดังนั้นพลังงานที่เกิดที่ตับ จึงมีความเหลือเฟือจนน่าจะส่งผลให้เกิดการสร้างไขมันสะสมขึ้นมาได้ ซึ่งต่างจากน้ำตาลโมเลกุลเดียวประเภทอื่น เช่น กลูโคส ที่สามารถเผาผลาญได้จากเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ประเด็นนี้ผู้บริโภคในต่างประเทศให้ความสนใจอย่างมาก ดังนั้นบรรดาผู้ผลิตอาหารจึงต้องทำให้ฉลากอาหารหรือเครื่องดื่มของตน มีการระบุที่ชัดเจนในฉลากว่า มีการผสมน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง (HFCS) หรือไม่ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจในการเลือกซื้อ กลับมาที่ฉลากอาหารในบ้านเรา...และการสุ่มตัวอย่างเพื่อค้นหา HFCSเพื่อเป็นการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำเชื่อมฟรุกโตสหรือน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง(HFCS) ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขออาสาไปส่องฉลากผลิตภัณฑ์ที่ให้รสหวานอย่าง น้ำอัดลม ชาเขียว ขนมขบเคี้ยว แยมหรือเยลลี่ต่างๆ จำนวน 25 ตัวอย่าง ว่าจะมีสินค้าอะไรหรือยี่ห้อใดบ้างที่ใช้น้ำเชื่อมดังกล่าวเป็นส่วนประกอบ ซึ่งผลทดสอบจะเป็นอย่างไร เราลองไปดูกันเลยผลโดยสรุปจากตัวอย่างสินค้าที่นำมาพิจารณาฉลากทั้งหมด 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่ม กลุ่มแยมและกลุ่มขนม/ลูกอม ทั้ง 25 ตัวอย่าง พบว่า- มีเพียง 1 ยี่ห้อที่ระบุว่า ไม่มีส่วนผสมของไฮฟรุกโตสคอร์นไซรัป (No high fructose corn syrup) คือ วิลเดอร์เนส (WILDERNESS) Premium ไส้ผลไม้กวนสตรอเบอร์รี่- มี 2 ยี่ห้อที่ระบุว่ามีส่วนผสมของ ไฮฟรุกโตสคอร์นไซรัป คือ 1. ไดอาน่า (Diana) มาราสชิโน เชอร์รี่ ชนิดมีก้าน และ 2. วิลเดอร์เนส (WILDERNESS) Original ไส้ผลไม้กวนบลูเบอร์รี่ - มี 1 ยี่ห้อที่ฉลากภาษาไทยระบุส่วนผสมว่ามี “น้ำเชื่อมข้าวโพด” แต่ฉลากภาษาอังกฤษระบุส่วนผสมว่า “High Fructose Corn Syrup” คือ สมัคเกอร์ส (SMUCKER’S) ซันเดย์ ไซรัป น้ำเชื่อมรสช็อกโกแลต - อีก 21 ตัวอย่างระบุว่ามีส่วนผสมของ ฟรุกโตสไซรัป/น้ำเชื่อมฟรุกโตส และคอร์นไซรัป/น้ำเชื่อมข้าวโพด- มี 1 ยี่ห้อไม่ระบุวันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ คือ เอสแอนด์ดับบลิว (S&W) เชอร์รี่ดำแกะเมล็ดในน้ำเชื่อม ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องฉลาก ที่กำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุต้องแสดงวันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุรายละเอียดการสุ่มตัวอย่างตารางที่ 1 :  กลุ่มเครื่องดื่มตารางที่ 2 : กลุ่มแยมตารางที่ 3: กลุ่มขนม, ลูกอมข้อสังเกตเรื่องฉลากอาหาร 1. ฉลากส่วนผสมไม่สมบูรณ์พบว่า สินค้าส่วนใหญ่มักใช้คำว่ามี ฟรุกโตสไซรัป/น้ำเชื่อมฟรุกโตส และคอร์นไซรัป/น้ำเชื่อมข้าวโพด แทนคำว่า น้ำเชื่อมฟรุกโตสหรือน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง (High Fructose Corn Syrup หรือ HFCS) ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคว่า ส่วนประกอบดังกล่าวเป็นน้ำเชื่อมชนิดเดียวกันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทั้งฟรุกโตสไซรัป/น้ำเชื่อมฟรุกโตส และคอร์นไซรัป/น้ำเชื่อมข้าวโพด สามารถสร้างผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นเดียวกับ “น้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง” (HFCS) จึงอาจเป็นเรื่องสมควรที่ฉลากต้องมีคำเตือนในการบริโภค หรือระบุรายละเอียดส่วนผสมให้ชัดเจนกว่านี้2. ฉลากโภชนาการไม่ครอบคลุมแม้กฎหมายไม่ได้กำหนดให้อาหารทุกชนิดต้องแสดงฉลากโภชนาการ แต่ฉลากโภชนาการนั้นนับเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค เพราะช่วยให้ทราบถึงปริมาณที่แท้จริงของไขมัน พลังงานหรือน้ำตาลในผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อหรือบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัย และได้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมกับสุขภาพของตนเอง รวมทั้งสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ หรือมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามจากผลการสุ่มตัวอย่างครั้งนี้พบว่า มีเพียงร้อยละ 50 ที่มีฉลากโภชนาการ และมี 9 ตัวอย่างเท่านั้นที่มีฉลากโภชนาการเป็นภาษาไทย3. ฉลากวันเดือนปีที่ผลิต/หมดอายุ อยู่ในตำแหน่งที่อ่านยากตัวอย่างที่นำมาพิจารณาฉลากทั้งหมดครั้งนี้ มีหลายกลุ่มสินค้ามีทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งพบว่าตำแหน่งของวันเดือนปีที่ผลิต/หมดอายุ มีความแตกต่างกันไปในทุกผลิตภัณฑ์ อาจส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะสามารถตรวจสอบวันที่ได้ นอกจากนี้บางตัวอย่าง เช่น คุคุริน (KUKURIN) น้ำชาเขียวคั่ว สูตรรสกลมกล่อม มีการระบุวันเดือนปีที่ผลิต/หมดอายุ อยู่ในตำแหน่งปากขวด ซึ่งใช้สีของตัวอักษรคล้ายกับสีของสินค้า ทำให้ตรวจสอบได้ยากมากขึ้นไปอีก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 201 สถานการณ์การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ เชื้อดื้อยา และยีนดื้อยา ในห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อม และการจัดการ

1. เกริ่นนำ ความห่วงใยเรื่องปัญหาเชื้อดื้อยาเดิมเริ่มจากผลกระทบและปัญหาที่พบในโรงพยาบาล  และไทยก็มีการตั้งศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในมนุษย์ ส่งมาจากโรงพยาบาลเป็นหลัก ต่อมาเริ่มเห็นปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะในชุมชน  และมีความเข้าใจมากขึ้นถึงปัญหาในระบบห่วงโซ่อาหาร  รวมถึงมีคำอธิบายความเชื่อมโยงของการดื้อยาทั้งในคน สัตว์ พืช และ สิ่งแวดล้อม ที่ไม่อาจแยกจากกันได้ ปัจจุบันทั้งนักวิชาการ และฝ่ายนโยบายจึงให้ความสำคัญมากขึ้น กับสิ่งที่เรียกว่า one health โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการรายงานการใช้ยาปฏิชีวนะและการปนเปื้อนเชื้อโรค เชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อม บทความนี้ทบทวนสถานการณ์ถึงความก้าวหน้าใหม่ๆ ในด้านนี้ ต่อเนื่องจากบทความในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 164 เรื่องยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร พบว่า มีความก้าวหน้าเชิงนโยบายและวิชาการทั้งจากทั่วโลกและในประเทศไทย  แต่ขณะเดียวกันก็มีความน่ากลัวของสถานการณ์การดื้อยาที่รุนแรงขึ้น จากห่วงโซ่อาหารมาสู่คนและสิ่งแวดล้อม ที่ทุกภาคส่วนล้วนยอมรับว่ากระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ และต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อมที่กระทบทั้งสุขภาพและกระทบต่อการผลิตอาหารในระยะยาวในวงจรอาหารมีองค์ประกอบที่มีความหลากหลายและเชื่อมโยงกันเป็น one health  ดังนั้นการทำงานเกี่ยวกับเชื้อดื้อยาควรมองการป้องกันและจัดการอย่างบูรณาการ ระบาดวิทยาของเชื้อดื้อยา (Epidemiology of Antimicrobial Resistance)  สะท้อนแหล่งผลิตเชื้อดื้อยาหรือยีนดื้อยา ที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะหรือเกิดการปนเปื้อนของเชื้อดื้อยา  มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันหมด ทั้งทางตรงและทางอ้อม   อาจมีปฏิสัมพันธ์ทางเดียวหรือสองทิศทางก็ได้ ที่สำคัญๆ มีได้ 7 จุด ได้แก่ มนุษย์(โรงพยาบาล สถานีอนามัย ชุมชน และการท่องเที่ยว) ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหาร(วัว หมู แกะ เป็ดไก่ ฯลฯ) สัตว์เลี้ยง สัตว์สวยงาม สัตว์โชว์(เช่นสุนัข แมว ไก่ชน ฯลฯ) การปลูกพืช ผัก ผลไม้ ผลิตเม็ลดพันธ์(ส้ม ส้มโอ มะนาว มันเทศ ฯลฯ) การประมง(ปลา กุ้ง ฯลฯ) โรงงานผลิตยา สารเคมี และสารเคมีใช้ในบ้าน(อาจปล่อยยาปฏิชีวนะ หรือสารเคมีลงสิ่งแวดล้อม) การผลิตแอลกอฮอล์จากพืช(มีการใช้กลุ่มยาปฏิชีวนะด้วย) ในการเชื่อมโยง แพร่ปัจจัยการเกิดเชื้อดื้อยา มีทั้งสัมผัสตรงหรือได้ทางอ้อม จุดเชื่อม เช่น มูลสัตว์และน้ำจากฟาร์ม การขายทำปุ๋ย หรือปล่อยลงดิน การลงแม่น้ำ นำไปสู่ ทะเลหรือทะเลสาบ มีการนำไปบริโภค แหล่งบำบัดน้ำเสียจากจุดปล่อย ต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น     2. MCR-1 gene เรื่องใหญ่ของโลกและของไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2558  มีรายงานจากประเทศจีนที่ลงตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Lancet Infectious     เป็นการค้นพบยีน (gene) ที่ดื้อต่อยาโคลิสติน ที่ชื่อว่า mcr-1 gene เป็นครั้งแรกในโลก โดยที่เป็นการพบว่า ยีนการดื้อยานี้ มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากยีนดื้อยาเดิม คือชนิดใหม่เกิดบน plasmid มีการถ่ายทอดพันธุกรรมในลักษณะเป็น Horizontal Gene Transfer สามารถถ่ายทอดสายพันธุกรรมข้ามสายพันธุ์ได้  การค้นพบนี้ก่อให้เกิดความตื่นเต้นและตระหนกไปทั่วโลก แม้ว่าก่อนหน้านี้มีการศึกษา การดื้อยาโคลิสติน มาแล้วหลายรายงาน แต่รายงานดั้งเดิมพบยีนดื้อยาที่มีลักษณะแบบ Vertical Gene Transfer  ทั้งนี้ยาโคลิสตินเป็นหนึ่งในยากลุ่ม polymyxin   เนื่องจากความเป็นพิษต่อมนุษย์ จึงมีการแนะนำให้ใช้ในการเลี้ยงสัตว์(หมูและไก่) แต่ในขณะเดียวกัน ยาโคลิสตินก็เป็นยากลุ่มสำคัญที่มักจะใช้รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ดื้อต่อยาอื่นๆ  การค้นพบครั้งนี้ จึงสะท้อนปัญหาการดื้อยาที่เกิดในห่วงโซ่อาหารและกระทบต่อสุขภาพของคนและนำไปสู่สิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว หลังรายงานฉบับแรก ได้เพียง 3 เดือน พบรายงานถึงการพบ mcr-1 gene ในอย่างน้อยใน 19 ประเทศ และเพียงกลางปี พ.ศ. 2559 พบรายงานแล้วกว่า 32 ประเทศ  จากการที่ผู้เขียนได้รวบรวมเอกสารงานวิจัยและข่าวต่างๆ จากทั่วโลกในช่วงเวลาสองปีย้อนหลัง(พฤศจิกายน พ.ศ. 2558-ตุลาคม พ.ศ. 2560) พบว่ามีการรายงานการพบ mcr-1 gene แล้วถึงมากกว่า 42 ประเทศ กระจายทุกภูมิภาค(ตารางที่ 1) คาดว่าน่าจะมีมากกว่านี้ตารางที่ 1 รายชื่อประเทศ ที่มีรายงานตรวจพบ mcr-1 gene และยีนในกลุ่มเดียวกัน (mcr-1 gene ถึง mcr-5 gene)จากรายงานวิจัยที่รวบรวม พบว่าแหล่งของยีนเชื้อดื้อยามาจากหลากหลายแหล่ง เช่น จากฟาร์ม (อุจจาระ เลือด สารคัดหลั่ง หรือการ swab ทวารหนัก ของหมู วัว ไก่ในฟาร์ม) จากเนื้อสัตว์แหล่งต่างๆ  (หมู ไก่ วัว)  จากพืชผัก (ตรวจที่ปลายทางที่ประเทศนำเข้า ส่วนไทยยังไม่ได้ตรวจ)   จากสิ่งแวดล้อม(แม่น้ำ น้ำบ่อ น้ำระหว่างการบำบัด) รวมถึงตัวอย่างเชื้อที่แยก จากผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยที่เพาะและแช่แข็งเก็บไว้ และต่อมาพบในผู้ป่วย ( เลือด อุจจาระ สารคัดหลั่ง)  หรือในอาสาสมัครปกติ( เลือด อุจจาระ สารคัดหลั่ง)   ความห่วงใยต่อการปนเปื้อนของ mcr-1 gene หรือ แบคทีเรียที่มี mcr-1 gene  ในสิ่งแวดล้อมหรือในระบบนิเวศน์ เพราะหลังจากตรวจพบ mcr-1 gene ในสัตว์ ในคน ก็เริ่มพบว่ามีการแพร่ไปสู่สิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ ลักษณะ นอกจากนี้  มีข่าวบางข่าวจากต่างประเทศสะท้อนความห่วงใยการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะยาหรือยีนเชื้อดื้อจากโรงงานผลิตยา และจากโรงพยาบาล  ยังพบต่อมาว่าเกิดยีนส์อีกหลายชนิดที่เป็นกลุ่มใกล้เคียงกัน รวมแล้วปัจจุบันพบยีนดื้อยาโคลิสตินชนิดร้ายแรงนี้ ได้แก่ mcr-1, mcr-2, mcr-3, mr-4, mcr-5  และในบางครั้งพบยีนดื้อยาที่รวมกันหลายชนิดในสายพันธุกรรมเดียวกันด้วยที่มาจากผู้ป่วย  ส่วนสถานการณ์ของไทย พบว่ามีรายงานต่างประเทศระบุว่าพบ mcr-1 gene ในตัวอย่าง ที่เก็บ ตั้งแต่ พ.ศ. 2555   โดยพบในคนไทย  2 ราย จากตัวอย่างคนไทยที่ตรวจทั้งหมด 3 ราย ที่ยังไม่ได้แสดงอาการ และเห็นความเชื่อมโยงว่าอาจแพร่จากหมูมาสู่คนได้ต่อมามีรายงานในผู้ป่วย ตามที่ปรากฎในบทความ ในหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก   ที่ระบุว่า  มีเอกสารรายงาน “สถานการณ์การเกิดโรคประจำสัปดาห์ที่ 24 ระหว่างวันที่ 12-18 มิถุนายน 2559” ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่ามีการตรวจพบยีนดื้อยาดังกล่าวในตัวอย่างปัสสาวะผู้ป่วยชาย ข้อความดังนี้  "4.พบผู้ป่วยติดเชื้อ Escherichia coli มียีนดื้อยา mcr-1 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จ.นนทบุรี โดยศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติได้ตรวจพบเชื้อ Escherichia coli มียีนดื้อยา mcr-1 จากตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยไทย เพศชาย อายุ 63 ปี ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาครั้งแรกระหว่างวันที่ 23 มกราคม-25 กุมภาพันธ์ 2559 ด้วยอาการ Intracerebral hemorrhage แพทย์ได้ผ่าตัด และผู้ป่วยเข้ารับการรักษาครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 8-11 เมษายน 2559 ด้วยโรคหลอดลมอักเสบ คาดว่าผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาจากโรงพยาบาล”ทั้งนี้ต่อมามีรายงานวิชาการระบุการพบเชื้อดื้อยาที่ชื่อ Escherichai coli (E coli) จากปัสสาวะของผู้ป่วยชายไทยอายุ 63 ปี ที่มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ  การตรวจเบื้องต้นพบการดื้อต่อยาปฏิชีวนะถึงกว่า 30 ชนิด เมื่อทำการตรวจยีนพบทั้ง mcr-1 gene ที่ดื้อต่อโคลิสตินและยีนดื้อยารุนแรงอื่น   หมายเหตุ ผู้เขียน เข้าใจว่าตัวอย่างนี้น่าจะเป็นชายคนเดียวกับที่รายงานในคมชัดลึก มีรายงานจากต่างประเทศระบุว่าพบ mcr-1 gene ในตัวอย่าง ผัก จากไทย(ชะอม) และเวียดนาม (โหระพา) ที่ส่งไปขายในสวิตเซอร์แลนด์ โดยตัวอย่างเก็บเมื่อพ.ศ. 2557 รายงานการตรวจพบ mcr-1 gene ในไทยจากตัวอย่างเชื้อที่เก็บจากหมู  ในช่วงพ.ศ. 2547, 2554-2557 จาก 4 จังหวัด พบ mcr-1 gene ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 (1 จังหวัด) และพบต่อเนื่อง ในปีพ.ศ. 2555-2556 (2 จังหวัด) และพ.ศ.2557 (1 จังหวัด)  รายงานข่าวในคมชัดลึก ถึงการสำรวจฟาร์มหมู และการดำเนินการของกรมปศุสัตว์ที่เข้มงวด รวดเร็ว ที่ลงต่อเนื่อง  3. นานาชาติเขาทำอะไรกันบ้าง เกี่ยวกับเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร  Antibiotic Awareness Week/Day 2017วันที่ 18 พฤศจิกายน ของทุกปี จัดเป็นวัน antibiotic awareness day  ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2551 โดยเริ่ม European Antibiotic Awareness Day ด้วยการประสานงานของ European Center for Diseases Prevention and Control  ร่วมกับภาคีหลายภาคส่วน เป็นการรณรงค์ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ/ยาต้านแบคทีเรียอย่างสมเหตุผลและอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้ยายังคงมีประสิทธิผลในการรักษาและเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเชื้อดื้อยา ซึ่งเดิมเป้าหมายมุ่งที่การใช้ยาในคน แต่ต่อมาขยายสู่การใช้ในสัตว์และในพืชด้วย  ซึ่งงานนี้ก็แพร่หลายไปสู่ประเทศต่าง ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ส่วนไทยนับได้ว่าเป็นประเทศต้นๆ ในเอเชีย ที่จัดงานนี้ ตั้งแต่ปี 2556 สำหรับปี พ.ศ. 2560 องค์การอนามัยโลก ประกาศ ให้ World Antibiotic Awareness Week 2017  คือ ช่วง 13-19 พฤศจิกายน 2560  ซึ่งประเทศไทย กำหนดจัดกิจกรรม ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 จัดเป็นงานใหญ่ เพราะกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดงานนี้ เป็นครั้งแรก ด้วยการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก ทั้งวิชาการและงบประมาณ  นอกจากนี้ กพย. สสส. ให้การสนับสนุน ทั้งงานส่วนกลาง และงานพื้นที่ เพราะ กพย. ได้เคยจัดงานนี้ มาแล้วอย่างต่อเนื่อง ถึง 4 ปี (พ.ศ.2556-2559) ในชื่อวัน(สัปดาห์) รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย  มีประเด็นหลักแตกต่างกันไป  ที่เกี่ยวเนื่องกับอาหาร ชุมชน และสิ่งแวดล้อม คือปี พ.ศ.2558  และมีแผนงานที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการการดื้อยา ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 และต่อเนื่องมาจนผลักเข้าเป็นวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ใน พ.ศ. 2558 และต่อมาจึงมียุทธศาสตร์ชาติด้านนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย องค์กรระหว่างประเทศองค์การอนามัยโลก เน้นเฉพาะสุขภาพของมนุษย์ มีมติสมัชชาอนามัยโลกมาอย่างต่อเนื่อง ออกรายงานการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาทั่วโลก และมีการรับรอง Global Action Plan อย่างไรก็ดี สุขภาพมนุษย์มีความเชื่อมโยงกับอาหารที่มาจากสัตว์และสัตว์เลี้ยง จึงมีการประกาศร่วมในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ (General Assembly) เมื่อ ตุลาคม พ.ศ 2559  Resolution adopted by the General Assembly   และให้ทำงานร่วม ระหว่าง 3 หน่วยงาน WHO, FAO และ OIEองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ออกแผนปฏิบัติการต่อสู้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ   เมื่อ 14 กันยายน พ.ศ. 2559 มีหัวใจสำคัญ ๔ ข้อ  ได้แก่ (ก) สร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาเชื้อดื้อยาและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานอาหารรับทราบ   และ ทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือชำนาญในเรื่องนี้ (ข) เพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการติดตามและเฝ้าระวังการใช้ยาต้านจุลชีพ และปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในการผลิต อาหารและสินค้าเกษตร (ค) เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพและปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในการผลิตอาหารและสินค้าเกษตร (ง) สนับสนุนแนวทางปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหารและสินค้าเกษตร และ การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างระมัดระวังล่าสุดองค์การอนามัยโลก ออกคู่มือการใช้ยาต้านจุลชีพที่มีความสำคัญด้านการแพทย์ในการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร  4. สถานการณ์ของไทย ข้อมูลจากพื้นที่ งานวิชาการ และมาตรการนโยบายที่เกี่ยวข้อง ในวงจร ห่วงโซ่อาหาร ยังพบการใช้ยาปฏิชีวนะ ทั้งในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืช มีงานสำรวจการพบเชื้อในหลายพื้นที่ โดยตัวอย่างการสำรวจการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ในเชียงใหม่  พบว่าเกษตรกรที่สำรวจเกือบทั้งหมดมีการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งรายการยาปฏิชีวนะ 5 อันดับแรกของการเลี้ยงสัตว์แต่ละกลุ่ม เป็นดังนี้ ในโคนม ได้แก่ oxytetracycline, penicillin, sulphamethoxydiazine, cloxacillin + ampicillin (ยาดราย), kanamycinในหมู  ได้แก่ amoxicillin, enrofloxacin, oxytetracycline, gentamycin, neomycin ในไก่ไข่ ได้แก่ enrofloxacin, Sulfadimethoxine , cocidiocidal triazinetrione โดยที่ในรายงานมิได้กล่าวถึงการใช้อาหารสัตว์ผสมยาปฏิชีวนะที่ชัดเจน แต่ได้ระบุว่ามีการใช้โคลิสตินผสมน้ำให้ดื่มตั้งแต่เป็นลูกสุกรทุกวัน เรียกว่าวิตามิน ทั้งนี้ข่าวจากคมชัดลึก สะท้อนว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงหมูจริง ใช้ตั้งแต่แรกเกิดมีการสำรวจแหล่งขายยาหรือขายอาหารผสมยาชัดเจนนอกจากนี้จากการรวบรวมรายงานวิชาการ การสำรวจหรือสอบถามคนพื้นที่ และติดตามข่าว พบมีการใช้ยาปฏิชีวนะฉีดเข้าลำต้นผลไม้ในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ปทุมธานี ชัยนาท  โดยต้นส้ม  ต้มส้มโอ มะนาว หรือแม้แต่พ่นยากับต้นมันเทศ ยาที่ใช้ในไทย เช่น แอมพิซิลลิน เอม๊อกซี่ซิลลิน เตตร้าไซคลิน สเตรปโตมัยซิน หรือการใช้ เพนนิซิลลิน จี สำหรับจุ่มตา หรือการใช้สารเคมีฉีดเข้าลำต้นทุเรียน  ส่วนในต่างประเทศบางประเทศก็มีการใช้ด้วยเช่นกัน เช่นจีน   ที่น่าเป็นห่วงคือการตกค้างในผลไม้และการไหลค้างลงสู่สิ่งแวดล้อม ที่ต้องการการศึกษาอย่างจริงจัง  ถึงระบาดวิทยาการดื้อยา ผลกระทบต่อมนุษย์พร้อมทั้งศึกษาหาสาเหตุและวิธีการรักษาโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ  ในมิติมุมมองผู้บริโภค พบมีการเคลื่อนไหว สำรวจและรณรงค์ให้เลิกใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหาร เมื่อ 2 มีนาคม 2559 มพบ. แถลงข่าวรณรงค์ในวันสิทธิผู้บริโภคสากล เรียกร้องให้บริษัทขายอาหารฟาสต์ฟู้ด เลิกใช้เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงโดยใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นการรณรงค์พร้อมกันทั่วโลกของเครือข่ายสมาชิกองค์กรผู้บริโภคทั่วโลก เมื่อ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา  ได้ ร่วมแถลงข่าวพบยาปฏิชีวนะใน แซนด์วิชไก่อบ ซับเวย์ แต่ไม่เกินมาตรฐาน องค์กรผู้บริโภค-นักวิชาการสุขภาพ เรียกร้องให้ลดและยกเลิกการใช้เนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะ14 มี.ค.60 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รายงานผลการเก็บตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดสด และห้างค้าปลีก รวม 15 แห่งในกรุงเทพมหานคร พบเนื้อหมูมียาปฏิชีวนะตกค้างถึงร้อยละ 13 พบจาก 2 ตลาดสด   เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัยมีความพยายามของเกษตรกรที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจากการใช้ยาปฏิชีวนะผสมเลี้ยงสัตว์ หันมาเลี้ยงหมูเสรี หมูปลอดภัย หมูหลุม เลี้ยงไก่ ปลูกผักอินทรีย์ ไม่ใช้ยา เลี้ยงปลาปลอดสาร หรือสารเคมีต่าง ๆ มีตัวอย่างที่นครปฐม ปทุมธานี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ มหาสารคาม เป็นต้น   รัฐบาลควรได้มีการส่งเสริมความรู้ แก่ทั้งเกษตรกร สนับสนุนการจัดตลาดอาหารปลอดภัย และให้ความรู้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงสาธารณสุข มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ฉบับ พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไข และ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2559ล่าสุดมีการประกาศยกเลิกยาโคลิสติน ชนิดรับประทานสำหรับคน และมีความพยายามทบทวนทะเบียนตำรับยาปฏิชีวนะ(กพย. ได้จัดแถลงข่าวและทำหนังสือถึง รมว.สธ. เรียกร้องให้ทำการทบทวนทะเบียนตำรับยาสูตรที่ไม่เหมาะสม ด่วน) แต่ผลยังไม่มีความคืบหน้านักกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะหรือคุณสมบัติของวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558  ห้ามใช้ยาต้านจุลชีพทุกชนิดผสมลงในอาหารสัตว์ในวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารสัตว์5. ยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย เป็นยุทธศาสตร์ร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ผ่านมติ ครม. เมื่อ 17 สิงหาคม 2559 ต่อมาขยายไปอีกหลายกระทรวงวิสัยทัศน์  แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 มีการกําหนดวิสัยทัศน์คือ การป่วย การตาย และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากเชื้อดื้อยาลดลง และกําหนดเป้าประสงค์ที่ต้องการบรรลุภายในปี 2564 ไว้ 5 ประการ คือ การป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลงร้อยละ 50 (ซึ่งสามารถนําไปใช้คํานวณผลกระทบต่อสุขภาพและเชิง เศรษฐกิจ) การใช้ยาต้านจุลชีพสําหรับมนุษย์และสัตว์ลดลงร้อยละ 20 และ 30 ตามลําดับ ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยา และตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และประเทศไทยมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากลประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวยุทธศาสตร์ที่ 2 การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและควบคุมกํากับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมยุทธศาสตร์ที่ 4 การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกํากับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยงยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชนยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืนแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ มีรองนายกเป็นประธาน และคณะกรรมการมีมติรับรองแผนปฏิบัติการเบื้องต้น และให้มีการปรับปรุงต่อเนื่องได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหาร ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมประกาศกลยุทธ์ 5 ด้าน  ได้แก่ ก. การลดใช้ยาต้านจุลชีพในการทำปศุสัตว์และประมง ข. ลดเชื้อ ดื้อยาในห่วงโซ่การผลิต อาหาร ค. การพัฒนาระบบเฝ้าระวังการใช้ยาต้านจุลชีพในพืช ง.  พัฒนาต้นแบบสถานพยาบาลสำหรับสัตว์เลี้ยง จ. พัฒนาให้ความรู้เรื่องการใช้ยาต้านจุลชีพแก่ผู้เกี่ยวข้อง

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 193 ผลิตน้ำดื่มสูตรไม่ผสมเชื้อโรค (ตอนที่ 2)

เมื่อน้ำผ่านการกรองในขั้นต้นแล้ว ก็จะไปผ่านระบบฆ่าเชื้อโรค ซึ่งมีหลายแบบให้เลือกอีกเช่นกัน เช่น เครื่องกรองเซรามิค เครื่องกรองไมโครพอร์ (ซึ่งเครื่องกรองสองแบบนี้ต้องหมั่นล้างหรือเปลี่ยนไส้กรองตามกำหนดระยะเวลาเพราะมันจะอุดตันได้ง่าย และต้องล้างอย่างถูกวิธี ถ้ารุนแรงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการกรองเสียหาย และถ้าล้างไม่สะอาดก็อาจทำให้ติดเชื้อเข้าในระบบได้ บางรายจึงใช้วิธีเปลี่ยนใหม่เลย) หรือบางระบบก็จะให้น้ำผ่านทางเครื่องฆ่าเชื้อที่ใช้แสงอุลตราไวโอเลตเลย หรือเรียกสั้นๆว่า หลอด UV ซึ่งมีหลักการคือใช้ความเข้มของแสงอุลตราไวโอเลต (UV)ในการฆ่าเชื้อ  เมื่อน้ำผ่านตรงนี้แล้วก็จะเป็นน้ำที่สะอาด ไม่มีเชื้อโรค เราก็สามารถไปยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เลย จุดที่ต้องระวังคือ พวกบริษัทขายเครื่องมือที่ไม่เข้าใจระบบจริงๆ อาจติดเครื่องกรองสลับย้อนไปมา แทนที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ ก็อาจทำให้เพิ่มจุดเสี่ยงในการผลิตมากขึ้น เช่น มีการติดเครื่องกรองผงถ่านหลังจากน้ำผ่านหลอด UV แล้ว(ทำให้เพิ่มจุดเสี่ยงในการสะสมเชื้อโรคขึ้นอีก) หรือบางรายก็แนะนำให้ติดเครื่องกรองต่างๆ มากเกิน เช่น ติดเครื่องกรองไมโครพอร์และหลอด UV ในหลายๆ จุด หรือบางทีก็แนะนำให้ติดเครื่องฆ่าเชื้อชนิดโอโซนอีกด้วย  โดยอ้างว่าเพื่อความมั่นใจ อันที่จริงถ้าเราผลิตโดยความระมัดระวังและหมั่นดูแลบำรุงรักษาอย่างดีแล้ว  ก็ไม่จำเป็นต้องติดมากมายหลายจุดจนเกินจำเป็นด้วยซ้ำ อย่าลืมว่ายิ่งติดมากหลายจุดก็ยิ่งต้องเพิ่มภาระในการดูแลมากขึ้นไปอีกด้วย แม้น้ำดื่มจะเป็นอาหารที่ไม่มีส่วนประกอบอื่นๆ แต่สิ่งที่จะทำให้น้ำดื่มเราสะอาดได้มาตรฐานตลอดเวลาคือ การดูแลรักษา เกณฑ์จีเอ็มพี(GMP) จึงกำหนดให้เราต้องบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ  มีการบันทึกข้อมูลที่เราทำเป็นรายงานให้ชัดเจน  เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่าได้ทำจริง และเมื่อมีปัญหาก็ตรวจสอบย้อนกลับไปได้ว่าในช่วงนั้นใครทำอะไรจนน้ำมีปัญหา นอกจากนี้ยังกำหนดให้เราต้องมีชุดทดสอบเบื้องต้นไว้ทดสอบน้ำที่เราผลิตอีกด้วย ชุดทดสอบเบื้องต้นที่แนะนำคือ ชุดทดสอบความเป็นกรดด่าง (pH)  ชุดทดสอบความกระด้าง และชุดทดสอบเชื้อโรค  การที่กำหนดให้มีชุดทดสอบก็เพื่อให้เราทดสอบว่าคุณภาพเครื่องกรองของเรา  ยังคงมีประสิทธิภาพดีอยู่หรือไม่ และจะประหยัดกว่าไปส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า  ผู้ผลิตน้ำบางรายมักจะให้บริษัทที่ขายเครื่องกรองเข้ามาทดสอบให้ แต่อยากแนะนำให้ผู้ผลิตฝึกการใช้ชุดทดสอบเหล่านี้ให้เป็นเองจะดีกว่า เพราะมันใช้ไม่ยาก และจะได้ประหยัดเงิน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเวลาเขามาทดสอบหรือไม่ต้องรอให้เขามาทดสอบ และหากพบว่าคุณภาพเครื่องกรองยังดีอยู่ จะได้ไม่ถูกใครมาหลอกให้ต้องเปลี่ยนไส้กรองให้เสียเงินโดยไม่จำเป็น หลอด UV ต้องดูแลอย่างละเอียดสม่ำเสมอ  เพราะหลอด UV ก็เหมือนหลอดไฟ เมื่อใช้ไปนานๆ ความเข้มของแสงจะลดลง ดังนั้นเราต้องสอบถามว่าอายุใช้งานนานกี่ชั่วโมง เมื่อครบตามกำหนดก็ต้องเปลี่ยนหลอดใหม่ (แต่ไม่ว่าจะมีเครื่องกรองที่ดีอย่างไร ถ้าคนบรรจุน้ำไม่รักษาความสะอาดระหว่างบรรจุน้ำ ก็อาจทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนได้) ส่วนผู้บริโภคน้ำดื่ม ถ้าเห็นสถานที่ผลิตน้ำดื่มไม่สะอาด ขอให้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบเพื่อดำเนินการต่อไป เราจะได้มั่นใจว่าเราเราเสียเงินคุ้มค่าและไม่ได้ดื่มน้ำสูตรผสมเชื้อโรคให้เสี่ยงอันตราย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 การขอสินเชื่อของผู้บริโภค กับข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน  ในฉบับนี้ เราจะมาคุยกันถึงเรื่องสิทธิผู้บริโภคด้านสัญญากันครับ ก่อนอื่นต้องถามก่อนว่าใครไม่เคยยืมเงินบ้าง เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็คงมีประสบการณ์ในการไปกู้หนี้ยืมสินกันบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ แต่สำหรับวันนี้ผมขอกล่าวถึงการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน  ซึ่งเวลาที่เราจะไปซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ เรามักจะไปทำเรื่องขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินกันใช่ไหม แต่ก่อนลงชื่อในสัญญา มีท่านใดอ่านเอกสารตอนทำสัญญาทุกข้อบ้าง ผมเชื่อว่าน้อยคนนักจะอ่านโดยละเอียด ซึ่งก็แน่นอนว่า สถาบันการเงินมักจะซ่อนข้อสัญญาที่ทำให้เราเสียเปรียบอยู่ด้วย เช่นกันกับคดีที่จะยกตัวอย่างมาให้ทุกท่านศึกษา เป็นเรื่องของลูกค้าธนาคารแห่งหนึ่งที่ไปขอสินเชื่อกับธนาคาร และได้ทำสัญญากู้เงิน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และสัญญากู้เงินประเภทวงเงินกู้หมุนเวียนในการใช้วงเงินสินเชื่อ โดยได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้แก่ธนาคาร และก็ได้ชำระเงินกู้และใช้วงเงินสินเชื่อโดยเบิกถอนจากบัญชีและชำระหนี้ตลอดมา จนอยู่มาวันหนึ่ง เขาไม่ประสงค์จะกู้เงินและใช้วงเงินสินเชื่ออีกต่อไป จึงแจ้งธนาคารขอชำระหนี้ปิดบัญชีและไถ่ถอนหลักประกัน ธนาคารจึงได้แจ้งยอดหนี้และคิดค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อกู้เบิกเงินเกินบัญชี เงินกู้หมุนเวียนและหนังสือค้ำประกัน ในอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินสินเชื่อที่ขอยกเลิก  ลูกค้าท่านนี้เขาเห็นว่าการคิดค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงทำหนังสือโต้แย้งธนาคารและขอสงวนสิทธิที่จะเรียกคืน แต่เมื่อได้มีการชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวไป จึงได้มีหนังสือทวงถามให้ธนาคารคืนเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว แต่ปรากฎว่าธนาคารก็เพิกเฉยไม่คืน ทำให้เขาไปฟ้องคดีต่อศาล และศาลฏีกาได้ตัดสินให้ธนาคารคืนเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว เนื่องจากข้อตกลงให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินไม่เป็นธรรม ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 4904/2557คำพิพากษาฎีกาที่ 4904/2557“ พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวได้แยกข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ กับข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูป เป็นคนละส่วนกัน ทั้งนี้โดยคู่สัญญาในสัญญาสำเร็จรูปไม่จำต้องเป็นสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ เมื่อพิจารณาเอกสารสัญญาสินเชื่อแต่ละประเภทและบันทึกแล้ว เห็นได้ว่าเป็นการจัดทำโดยใช้แบบพิมพ์สัญญา และบันทึกข้อตกลงที่จำเลยเป็นผู้กำหนดขึ้นล่วงหน้าและนำไปใช้ได้กับลูกค้าทั่วไปที่ขอสินเชื่อประเภทเดียวกันจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูป ซึ่งการจะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าข้อตกลงนั้นเป็นผลให้ผู้กำหนดสัญญาแต่ละประเภทและบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้จำเลยเรียกค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อ เป็นข้อตกลงที่ให้สิทธิจำเลยผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปเรียกค่าธรรมเนียมจากโจทก์คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้ทุกกรณี ไม่ว่าโจทก์จะใช้วงเงินสินเชื่อหรือไม่ อย่างไร  จึงเป็นข้อตกลงที่ให้สิทธิจำเลยเรียกร้องหรือกำหนดให้โจทก์ต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญามีผลให้โจทก์รับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ ตาม พ.รบ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม (5) จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรม และพอสมควรแก่กรณีนั้น แม้โจทก์จะทำสัญญาสินเชื่อแต่ละประเภทและบันทึกข้อตกลงด้วยความสมัครใจ โดยจำเลยคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยประกาศเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไป และโจทก์ได้รับประโยชน์ในรูปของดอกเบี้ยที่ลดลงตลอดมา แต่เมื่อพิจารณาบันทึกข้อตกลงในส่วนของวงเงินตามสัญญากู้เงินที่ตกลงให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนเงินกู้ หากโจทก์ชำระคืนต้นเงินก่อนครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี ซึ่งดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินดังกล่าว จำเลยคิดในอัตราต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยประกาศเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปเช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าโจทก์ใช้วงเงินสินเชื่อแต่ละประเภทมาเกินกว่า 3 ปี โดยเสียดอกเบี้ยให้จำเลยมาตลอด ถือได้ว่าจำเลยได้รับผลตอบแทนจากการใช้วงเงินสินเชื่อของโจทก์มาพอสมควรแก่กรณีแล้ว หากกำหนดให้โจทก์ต้องชำระค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อให้จำเลยอีกย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าธรรมเนียม การยกเลิกวงเงินสินเชื่อให้แก่โจทก์” จากตัวอย่างคดีข้างต้น  ชี้ให้เห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิด้านสัญญา  โดยเฉพาะสัญญาสำเร็จรูปที่ผู้ประกอบธุรกิจทำขึ้นฝ่ายเดียว โดยเราไม่มีโอกาสแก้ไขข้อสัญญา เราต้องตรวจสอบสัญญาก่อนลงลายมือชื่อทุกครั้ง และหากพบว่ามีข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ทำให้เราเสียเปรียบ ก็ควรเรียกร้องโต้แย้งไว้โดยทำเป็นหนังสือให้ปรากฎหลักฐาน อย่างเช่นในคดีนี้ที่โจทก์พบว่าหลังจากทำสัญญาสินเชื่อกับธนาคาร  ตนถูกธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม ก็ต่อสู้จนได้เงินคืนในที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 “ส่องฉลาก” ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค กลายมาเป็นตัวช่วยเรื่องการกำจัดสิ่งสกปรกที่น่าจะมีติดอยู่แทบทุกบ้าน มาในหลายๆ รูปแบบการใช้งาน ไมว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ และผลิตภัณฑ์ทำความเสื้อผ้า ซึ่งเฉพาะผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าก็ไม่ได้มีแค่ ผงซักฟอก เพียงอย่างเดียว ยังมีแยกประเภทเป็นทั้งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าชนิดน้ำ ผลิตภัณฑ์ขจัดคราบอเนกประสงค์ที่ใช้แช่เสื้อผ้าเพื่อขจัดคราบสกปรกก่อนนำไปซักปกติ ซึ่งลักษณะก็จะคล้ายกับน้ำยาซักผ้าขาว นอกจากนี้ยังมีน้ำยาปรับผ้านุ่มที่หลายๆ บ้านนิยมใช้ ฉลาดจึงจะพามาส่องฉลากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพื่อให้สามารถใช้งานกันได้อย่างถูกวิธีผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคต้องใช้อย่างระมัดระวังผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่มีการใช้สารเคมีที่อาจมีฤทธิ์ต่อสุขภาพและเป็นอันอันตรายต่อผู้ใช้ จะอยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ใช้ภายในบ้านเรือนส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 ซึ่งหมายถึงกลุ่มสารเคมีที่มีอันตรายน้อย สามารถนำมาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือตามบ้านเรื่องทั่วไปได้ แต่ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ตัวผลิตภัณฑ์ต้องผ่านการแจ้งข้อเท็จจริงกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยจะควบคุมเรื่องสารเคมีที่ใช้และการจัดทำฉลากเพื่อประโยชน์กับผู้บริโภคในการใช้งานได้อย่างปลอดภัยวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เป็นวัตถุอันตรายที่ก่อให้เกิดผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มอื่น กฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าไม่ต้องขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย แต่ต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด เช่น การจัดทำฉลาก การปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตและการเก็บรักษา เป็นต้น การแสดงฉลากจะต้องแสดงเลขที่รับแจ้งไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์ ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มวัตถุอันตรายขนิดที่ 1 มีอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น ฝาผนัง เครื่องสุขภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า (ยกเว้นผงซักฟอก ที่อยู่ในการควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.))  เป็นต้นข้อความที่ไม่อนุญาตให้แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค-“สูตรพิเศษ” ยกเว้นว่ามีเอกสารที่สามารถสนับสนุนหรือชี้แจงได้ว่ามีลักษณะพิเศษอย่างไร-“ไม่เป็นอันตราย”, “ไม่เป็นพิษ”, “ปลอดภัย”, “ไม่มีสารตกค้าง”, “ไร้สารตกค้างที่เป็นอันตราย”, “ไร้สารตกค้าง”, “ไม่มีผลต่อเด็กสัตว์เลี้ยงและอาหาร”, “สูตรไม่ระคายเคือง”, “ปราศจากการระคายเคือง” เนื่องจากอาจทำให้เข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัย-“นุ่มละมุนใช้ได้ทุกวัน” เนื่องจากผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ควรใช้ตามความจำเป็น และต้องระมัดระวังในการใช้ -“ใช้ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ” เนื่องจากเป็นการชักจูงใจเกินความจำเป็น-“น้ำหอมปรับอากาศ”, “สดชื่น” หรือ “กลิ่นสดชื่น” เนื่องจากคำว่า “สดชื่น” มีความหมายในเชิงเกี่ยวกับสุขภาพอาจสื่อให้เกิดความเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นนี้มีผลต่อสุขภาพ ซึ่งไม่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์และสารเคมี-“ปกป้องสุขภาพของคุณและสิ่งแวดล้อม”, “ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม”, “ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม”, “ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ”, “จึงช่วยรักษาสภาพแวดล้อม”, “ห่วงใยสิ่งแวดล้อม” เนื่องจากก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าผลิตภัณฑ์ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม-“ได้ผล 100%”, “ประสิทธิภาพสูง”, “ด้วยสูตรพลังประสิทธิภาพ”, “ประสิทธิภาพเยี่ยม”, “ระบบเดียวที่มีประสิทธิภาพสูงสุด”, “ได้ผลเด็ดขาด”, “ออกฤทธิ์แรง” เนื่องจากเป็นข้อความที่อาจเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินจริง-“ไม่ทำลายเนื้อผ้าหรือทำให้ผ้าเป็นสีเหลือง”, “อ่อนโยนต่อทุกเนื้อผ้า”, “อ่อนโยนต่อเส้นใยผ้า”, “ถนอมผ้า”, “ปลอดภัยต่อผ้าสี”, “คงไว้ซึ่งความนุ่มนวลของเนื้อผ้า”, “พลังสลายคราบสกปรก” เนื่องจากเป็นข้อความที่อาจเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินจริง-แม้แต่ชื่อทางการค้าก็ต้องไม่สื่อไปในทำนองโอ้อวดสรรพคุณ หรือทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของผลิตภัณฑ์ หรือสื่อให้เข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคขาดความระมัดระวังในการใช้ที่มา : คู่มือการจัดทำฉลากวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 โดยกลุ่มควบคุมอันตราย สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาข้อมูลสำคัญที่ “ต้องมี” บนฉลากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด1.ชื่อทางการค้า ต้องเป็นภาษาไทย ขนาดเห็นได้ชัด หากมีชื่อเป็นภาษาต่างประเทศต้องตรงกันหรือมีความหมายอย่างเดียวกันกับชื่อการค้าภาษาไทย2.ชื่อและอันตราส่วนของสารสำคัญ ต้องแสดงเป็นหน่วยร้อยละของน้ำหนักต่อน้ำหนัก (% w/w) หรือร้อยละของน้ำหนักต่อปริมาตร (% w/v)3.ประโยชน์4.วิธีใช้5.คำเตือนหรือข้อควรระวัง ต้องใช้อักษรทึบหรือขีดเส้นใต้6.วิธีเก็บรักษา7.ข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดพิษ (ถ้ามี) ไมว่าจะเป็น อาการเกิดพิษ วิธีแก้พิษเบื้องต้น คำแนะนำสำหรับแพทย์8.การทำลายภาชนะบรรจุ (ถ้ามี)9.เครื่องหมายและข้อความแสดงระดับความเป็นพิษ และ/หรืออันตรายตามที่กำหนด (ถ้ามี) 10.เลขที่รับแจ้ง 11.ขนาดบรรจุ (ปริมาณสุทธิ) 12.วัน เดือน ปี ที่ผลิต 13.วันหมดอายุการใช้ (ถ้ามี)14.เลขหรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต (Lot Number/ Batch Number)15.ชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ ของผู้ผลิตในประเทศ หรือนำเข้า พร้อมชื่อและประเทศของผู้ผลิตผลการสำรวจฉลากตัวอย่างผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคส่วนใหญ่ไม่ว่า สำหรับใช้ทำความสะอาดพื้นหรือทำความสะอาดเสื้อผ้า จะมีการให้ข้อมูลในเรื่องการฆ่าเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีหลายตัวอย่าง ที่อ้างว่า สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99.99% เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่า 100% เพราะดูเป็นการโอ้อวดเกินจริง แต่ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การแสดงข้อความบนฉลากผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค อนุญาตให้แสดงค่าความสามารถหรือตัวเลขที่แสดงความสามารถในการฆ่าเชื้อ เมื่อมีข้อมูลผลการทดสอบประสิทธิภาพเชิงปริมาณ แต่ต้องระบุชื่อเชื้อที่ใช้ทดสอบและแสดงข้อความว่าเป็นข้อมูลที่ได้จากผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ โดยตัวอย่างที่สำรวจส่วนใหญ่ก็จะมีการอ้างถึงแหล่งที่มาของการทดสอบ แต่ก็มีบางตัวอย่างที่ใช้คำโฆษณาเรื่องการฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99.99% แต่ไม่ได้อ้างอิงที่มาของคำโฆษณาดังกล่าว เช่น แวนิช ผลิตภัณฑ์ขจัดคราบ เอ๊กซ์ตร้า ไอยีน และ เดทตอล ลอนดรี แซนิไทเซอร์ผลิตภัณฑ์ที่แสดงโฆษณาบนฉลากว่า “สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย” หมายความว่าผลิตภัณฑ์ผ่านการทดสอบในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิด คือ Staphylococcus aureus และ Salmonella enterica (choleraesuis)ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน แม้จะมีสารเคมีที่มีความเป็นพิษต่ำ แต่ก็ถือเป็นสารที่อันตรายหากนำไปใช้ไม่ถูกวิธี เช่น เข้าตา หรือเผลอกลืนกินเข้าสู่ร่างกาย เพราะฉะนั้นต้องเก็บผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้พ้นมือเด็ก ส่วนผู้ที่ใช้แล้วเกิดอาการแพ้ต้องหยุดใช้ทันทีและควรไปพบแพทย์ ปริมาณที่ใช้ก็ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลากสารเคมีในผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าและพื้นที่ภายในอาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ เป็นสารในกลุ่ม disinfectant ซึ่งสามารถกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้หลากหลาย ไม่เฉพาะเจาะจง เหมาะสำหรับใช้ทำความสะอาดพื้นผิวของสิ่งของต่างๆ โดยสารเคมีหลักๆ ที่ใช้ก็คือสารที่มีผลในการฆ่าและยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรค กับสารที่ทำหน้าที่ลดแรงตึงผิว (surfactant) ซึ่งก็มีคุณสมบัติในการขจัดสิ่งสกปรกและฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะ Ethoxylated alcohol, Sodium Lauryl Sulfate,  Alkyldimethyl benzyl ammonium chloride และ Didecyl dimenthyl ammonium chlorideผลทดสอบ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 189 รู้เท่าทันการกินฉี่

การดื่มน้ำปัสสาวะเพื่อเป็นการบำบัดโรคนั้น เคยเกิดกระแสนิยมในสังคมไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อน โดยเฉพาะในสายการแพทย์ทางเลือกและในสายของผู้ปฏิบัติธรรม ต่อมาลดความนิยมลง แต่ยังมีการปฏิบัติกันในหมู่นักปฏิบัติธรรมและผู้รักสุขภาพบางกลุ่ม ในบางช่วงก็เกิดกระแสนิยมเป็นครั้งคราว เหตุที่การดื่มน้ำปัสสาวะไม่ก่อกระแสรุนแรงเหมือนผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ นั้น อาจเป็นเพราะ ทุกคนเป็นเจ้าของน้ำปัสสาวะ ไม่ต้องซื้อขาย จึงไม่มีกระแสธุรกิจที่จะมาขายน้ำปัสสาวะอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เรามารู้เท่าทันน้ำปัสสาวะกันดีกว่าความเป็นมาการดื่มหรือการใช้น้ำปัสสาวะของคนหรือของสัตว์เพื่อการบำบัดโรคนั้นมีการใช้กันทั่วโลกมานานกว่าพันปี ในพระธรรมวินัย กำหนดแนวทางยังชีพหรือนิสัย 4 ให้ภิกษุฉันน้ำมูตเน่า(น้ำปัสสาวะ) มีหลักฐานการจารึกในอิยิปต์โบราณ กรีก โรม คัมภีร์โยคะของอินเดีย ตำราการแพทย์จีน ดังนั้นการดื่ม การใช้น้ำปัสสาวะจึงเป็นภูมิปัญญาของมนุษยชาติที่เก่าแก่หลายพันปีบทความในวารสาร Nephrology เดือน พ.ค. - มิ.ย. 2011 เขียนว่า ผู้คนที่ใช้น้ำปัสสาวะเชื่อว่า น้ำปัสสาวะไม่เป็นของเสียของร่างกาย แต่เป็นสิ่งที่กลั่นจากเลือดและมีสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย ถูกเรียกเป็น “ทองคำจากเลือด” และ “ยาอายุวัฒนะ” การดื่มน้ำปัสสาวะมีที่มาจากวัฒนธรรมอินเดีย และมีการใช้มานานหลายศตวรรษและหลายวัฒนธรรมบทบรรณาธิการในวารสาร Pan Afr. Med J. เผยแพร่ ออนไลน์ 25 พค. 2010 เขียนว่า จากการค้นหาเกี่ยวกับ “การดื่มน้ำปัสสาวะ” ในกูเกิ้ลเกือบ 100,000 รายการและในวิดีทัศน์ 150 รายการ ยืนยันว่า “การดื่มน้ำปัสสาวะ ยังคงเป็นที่นิยมและกลับมานิยมในทุกวันนี้”ในน้ำปัสสาวะมีของล้ำค่าอะไรบ้างน้ำปัสสาวะส่วนใหญ่เป็นน้ำ มียูเรีย (25g/d), กรดยูริก (1g/d), ครีเอตินีน (1.5g), แร่ธาตุต่างๆ (10g/d ส่วนใหญ่เป็น เกลือโซเดียม), ฟอสเฟตและกรดอินทรีย์ (3g/d) , มีโปรตีนเล็กน้อย (40-80 mg/d, ส่วนใหญ่เป็นอัลบูมิน, ฮอร์โมนเล็กน้อย, กลูโคส และวิตามินที่ละลายน้ำน้ำปัสสาวะจะบริสุทธิ์ ปราศจากเชื้อโรคเมื่อเกิดขึ้นในไต แต่เมื่อปล่อยออกจากร่างกายแล้วมักจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรคมีการใช้น้ำปัสสาวะรักษาโรคอะไรในบทความ Nephrology ปี 1999 เขียนว่า มีการดื่มน้ำปัสสาวะในตอนเช้าเพื่อเป็นการรักษาโรคจำนวนมาก เช่น การติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรีย อาการที่เกิดขึ้นระหว่างวันแรกๆ ที่ดื่มน้ำปัสสาวะ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ใจสั่น ท้องเสีย หรือไข้ สารสำคัญจำนวนมากในปัสสาวะได้แก่ ยูเรีย กรดยูริก ไซโตไคน์ (เป็นโปรตีนหรือไกลโคโปรตีนที่มีขนาดเล็ก สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์ต่างๆ ในร่างกายเพื่อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น) ฮอร์โมน มีการใช้น้ำปัสสาวะกับภายนอก ได้แก่ การชโลม การทา การประคบก้อนเนื้องอก การอาบน้ำปัสสาวะ หรือแช่เท้าในน้ำปัสสาวะ การหยอดตา หยอดหู และทำความสะอาดแผล จาการค้นหาการทบทวนการใช้น้ำปัสสาวะในการบำบัดจากวารสารวิชาการต่างๆ ไม่พบว่ามีการทบทวนประสิทธิผลของการใช้น้ำปัสสาวะต่อร่างกายสรุป การดื่มและใช้น้ำปัสสาวะเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่มานานหลายพันปี ใช้กันทั่วโลก ผู้คนเชื่อว่าทำให้สุขภาพแข็งแรง อายุยืน รักษาโรคได้ มีความเห็นตรงกันว่า ให้ดื่มน้ำปัสสาวะของตนเอง ควรเป็นน้ำปัสสาวะในตอนเช้าหลังตื่นนอน ไม่ควรดื่มทั้งวันหรือดื่มแทนน้ำอย่างไรก็ตาม ยังไม่พบการทบทวนทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ ทั้งในแง่ประโยชน์ในการบำบัดโรค หรือโทษระยะยาวจากการดื่มน้ำปัสสาวะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 เชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะ ผู้บริโภคจะทำอย่างไร ?

ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพ ใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีคุณประโยชน์อย่างมากต่อมวลมนุษยชาติ แม้ว่าการค้นหาและสังเคราะห์ยาต้านจุลชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย แต่ทว่าจากปัญหาการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม ทำให้เชื้อแบคทีเรียปรับตัวดื้อยามากขึ้น ยาหลายชนิดไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคติดเชื้อที่เคยรักษาได้อีกต่อไป จนปัจจุบันยอมรับกันแล้วว่า ปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก จุลชีพที่เป็นปัญหาการดื้อยาอย่างมากคือ แบคทีเรีย เพราะแบคทีเรียดื้อยาเกิดขึ้นแล้วจะเพิ่มจำนวนและแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวาง ยืนยันได้จากการตรวจพบยีนดื้อยาปฎิชีวนะต่างๆ ที่แพร่กระจายไปในทุกภูมิภาคทั่วโลกองค์การอนามัยโลกรายงานว่า ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 ราย และหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ในปี ค.ศ. 2050 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเสียชีวิตประมาณ 10 ล้านคน เพราะมีแนวโน้มว่าพบเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นจนน่าหวั่นเกรงว่าจะนำไปสู่โลกยุคหลังยาปฏิชีวนะ (post antibiotic era) ซึ่งไม่มียาที่มีประสิทธิภาพใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียดื้ออีกต่อไป สำหรับประเทศไทย มีรายงานการศึกษาวิจัยเบื้องต้นจากการศึกษาผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยารวม 17 แห่ง แล้วได้ประมาณการว่า มีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา 87,751 ครั้ง เสียชีวิต 38,481 ราย ทั้งๆ ที่มีมูลค่ายาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาโรคสูงถึงประมาณปีละ 6,084 ล้านบาท มีมูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 40,000 ล้านบาทองค์การอนามัยโลก จึงได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความร่วมมือดำเนินการอย่างจริงจัง มีมาตรการและแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะไม่มียาใช้รักษาโรคติดเชื้อที่สำคัญต่างๆ อีกต่อไป ในความเป็นจริงการแก้ปัญหานี้จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง รวมทั้งประชาชนผู้บริโภค เพราะมิสามารถปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ/เอกชนเท่านั้น ในฐานะผู้บริโภค เรามาทำความรู้จักกับแบคทีเรีย กลไกการดื้อยา การแพร่กระจายของเชื้อดื้อยา ตลอดจนปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบจากการดื้อยาของแบคทีเรียแบคทีเรียคืออะไรแบคทีเรีย เป็นจุลินทรีย์ที่ชีวิตขนาดเล็ก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น มีรูปร่างไม่ซับซ้อน แต่แตกต่างกันตามชนิดของเชื้อ เพิ่มประชากรได้อย่างรวดเร็ว บางชนิดเพิ่มจำนวนเป็นทวีคูณได้ทุก 15 นาที เช่น เชื้อเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) หรือเรียกย่อๆ ว่า อี โคไล แต่เชื้อบางชนิดก็ต้องใช้เวลานานในการเพิ่มประชากร เช่น เชื้อวัณโรค มีการเพิ่มจำนวนทวีคูณทุก 15 ชั่วโมง เป็นต้น แบคทีเรียมีสารพันธุกรรม ที่สำคัญ คือโครโมโซม เพียง 1 ชุด ที่ควบคุมคุณสมบัติต่างๆ การเพิ่มจำนวนการปรับตัวในสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่รอด แบคทีเรียอาจมีสารพันธุกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น พลาสมิด ทรานส์โปซอน อินทิกรอน ซึ่งจะทำให้มีความสามารถต่างๆ รวมทั้งการดื้อยาเพิ่มขึ้น เป็นต้นแบคทีเรีย พบได้ทั่วไป ทั้งในดิน น้ำ อากาศ ในคน สัตว์ พืช มีทั้งชนิดที่มีประโยชน์ และชนิดที่ก่อโรค จึงมีการใช้ประโยชน์จากแบคทีเรียชนิดดีมาอย่างยาวนาน ส่วนแบคทีเรียก่อโรค มนุษย์ก็พยายามแสวงหาวิธีการรักษา จนการค้นพบยาปฏิชีวนะ ที่มีประสิทธิภาพในการฆ่า หรือยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรคนั้นๆการดื้อยาปฏิชีวนะแบคทีเรียแต่ละชนิดถูกทำลายด้วยยาปฏิชีวนะ/ยาต้านแบคทีเรียแตกต่างกันไป และกลไกออกฤทธิ์เพื่อทำลายแบคทีเรียของยาก็แตกต่างกัน เช่น การทำลายผนังเซลล์ การยับยั้งการสร้างโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเชื้อ การขัดขวางการทำงานของเอ็นไซม์ การขัดขวางการทำงานของสารพันธุกรรม การขัดขวางการแบ่งตัว เป็นต้น ดังนั้น เพื่อความอยู่รอด เชื้อจึงมีการพัฒนาความสามารถในการต้านทาน หรือทำลายฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะ โดยกรรมวิธีต่างๆ ซึ่งเรียกว่า การดื้อยาการดื้อยาของแบคทีเรียจำแนกเป็น การดื้อยาตามธรรมชาติ เช่น เชื้อแบคทีเรียบางชนิดไม่ถูกทำลายด้วยยาบางชนิดตั้งแต่ต้น เพราะมีคุณสมบัติทางสรีรวิทยาของเยื่อหุ้มเซลล์ที่ทำให้ยาเข้าสู่เซลล์ได้น้อย ไม่เพียงพอจะทำลายแบคทีเรียได้ การดื้อยาแบบนี้ไม่เป็นปัญหาต่อการใช้ยารักษาโรคติดเชื้อ เพราะเป็นความรู้พื้นฐานของการเลือกใช้ยาที่ทราบกันทั่วไป เช่น ยาเพนิซิลลิน ไม่มีผลต่อเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ต้องใช้ยาแอมพิซิลลินในการรักษา เป็นต้นการดื้อยาของแบคทีเรียที่เป็นปัญหาต่อการใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรค คือ การกลายพันธุ์ และการดื้อยาโดยการได้รับยีนดื้อยาจากแบคทีเรียอื่นๆ จากสิ่งแวดล้อม อันเป็นกลไกการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของแบคทีเรียในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมนั่นเองการดื้อยาโดยการกลายพันธุ์ กระบวนการนี้ เกิดขี้นได้โดยการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเออย่างน้อย 1 ตำแหน่งบนโครโมโซม เกิดขึ้นได้ในอัตราต่ำประมาณ 1 เซลล์ในล้านเซลล์ ทว่า การที่แบคทีเรียเพิ่มจำนวนประชากรได้อย่างรวดเร็วดังกล่าวแล้ว จึงใช้เวลาไม่นานในการกลายพันธุ์ดื้อยาและเพิ่มประชากรเชื้อดื้อยา ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อมียาต้านแบคทีเรียชนิดใหม่ๆ การรักษาจะได้ผลดีในระยะแรก หากมีการใช้ยาอย่างพร่ำพรื่อ ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ต่อมามักจะพบว่าเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ไม่ได้ผลในการรักษา ทำให้ต้องคิดค้นยาใหม่ต่อไป การกลายพันธุ์เพื่อดื้อยานี้ เป็นการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม โดยที่แบคทีเรียจำนวนมากจะถูกทำลายไปด้วยยาปฏิชีวนะ แต่หากความเข้มข้นของยาไม่เพียงพอ การใช้ยาไม่ต่อเนื่อง ก็จะมีเชื้อเพียงจำนวนน้อยที่รอดชีวิต และปรับตัวโดยการกลายพันธุ์ ในระดับยีน เพื่อไม่ให้ยาที่ใช้เข้าไปทำลายเชื้อได้ นั่นคือ เป็นการกลายพันธุ์เพื่อต่อต้านยาการดื้อยาโดยการได้รับยีนดื้อยา แบคทีเรียสามารถรับการถ่ายทอดยีนดื้อยาจากแบคทีเรียต่างสายพันธุ์ได้หลายวิธี ได้แก่ โดยกระบวนการคอนจูเกชั่น ทรานส์ฟอร์เมชั่น และทรานส์ดักชั่น ทำให้ดื้อยาตั้งแต่ 1 ชนิด ถึงหลายชนิดได้การคอนจูเกชั่น เป็นการถ่ายทอดยีนดื้อยาโดยตรงระหว่างแบคทีเรีย 2 เซลล์ที่มีคุณสมบัติต่างกัน โดยเป็นเชื้อชนิดเดียวกัน หรือเชื้อต่างชนิดกันก็ได้ ตัวอย่างเช่นการคอนจูเกชั่นระหว่างเชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella spp.) ที่ดื้อยา กับเชื้อซัลโมเนลลาที่ไวต่อยา ก็จะทำให้เชื้อซัลโมเนลลาที่ ไวต่อยา รับยีนดื้อยา เปลี่ยนเป็นเชื้อดื้อยา หรือการคอนจูเกชั่นระหว่างเชื้อซัลโมเนลลา ที่ดื้อยากับเชื้ออีโคไลที่ไวต่อยา ทำให้เชื้ออีโคไลเปลี่ยนเป็นเชื้อดื้อยา เพราะรับยีนดื้อยาจากเชื้อซัลโมเนลลาการแลกเปลียนยีนกันไปมา ก็ทำให้ยีนดื้อยาส่งต่อให้เชื้ออื่นๆ ที่เหมาะสมในสิ่งแวดล้อม หรือในร่างกายของผุ้ป่วย เช่น ทางเดินอาหาร ซึ่งมีแบคทีเรียประจำถิ่นอาศัยอยู่มากมายทรานส์ฟอร์เมชั่น เป็นกระบวนการถ่ายทอดยีน โดยแบคทีเรียรับยีนที่อยู่เป็นอิสระในสิ่งแวดล้อมเข้าสู่เซลล์ ซึ่งยีนนั้นๆ จะชักนำให้แบคทีเรียแสดงคุณสมบัติของยีนต่อไป ในกรณีนี้ แม้แบคทีเรียที่มีแบคทีเรียที่มียีนดื้อยาจะตายไป เหลือแต่ยีน ยีนนั้นๆ ก็สามารถเข้าไปในเซลล์อื่นๆ แล้วชักนำให้ดื้อยาได้ทรานส์ดักชั่น เป็นกระบวนการถ่ายทอดยีนระหว่างแบคทีเรียโดยอาศัยแบคเทอริโอฟาจ หรือไวรัสของแบคทีเรียเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดยีนระหว่างเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นวิธีการนี้มีข้อจำกัดในการถ่ายทอดยีนดื้อยากลไกการดื้อยาของแบคทีเรียการดื้อยาของแบคทีเรีย เกิดขึ้นจากหลายกลไก ได้แก่แบคทีเรียสร้างเอนไซม์ทำลายยา ทำให้ยาสูญเสียประสิทธิภาพแบคทีเรียมีการเปลี่ยนแปลงบริเวณที่เป็นเป้าหมายของยา ทำให้ยาไม่สามารถจดจำบริเวณ นั้นได้รบกวนการซึมผ่านของยาเข้าสู่เซลล์แบคทีเรีย ทำให้ยาเข้าสู่เซลล์น้อย ไม่สามารถทำลาย แบคทีเรียได้สร้างสารชีวโมเลกุลที่แย่งจับกับเอ็นไซม์หรือเป้าหมายของยา ทำให้ยาไม่สามารถทำลายเชื้อได้กลไกดังกล่าวข้างต้นควบคุมด้วยยีนต่างๆ ที่เรียกว่ายีนดื้อยา ดังนั้น การที่แบคทีเรียสามารถถ่ายทอดยีน หรือแลกเปลี่ยนยีนระหว่างเชื้อแบคทีเรีย หรือรับยีนจากสิ่งแวดล้อมได้ ทำให้แบคทีเรีย 1 เซลล์ได้รับยีนมากกว่า 1 ยีนได้ อาจรับได้มากถึง 4 ยีน จึงมีคุณสมบัติดื้อยาหลายชนิดพร้อมกัน นำไปสู่ปัญหาการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคอย่างมากปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุของการปรับตัวดื้อยาของแบคทีเรีย ได้แก่ การใช้ยาปฏิชีวนะไม่เหมาะสม การปนเปื้อนของยาใน น้ำ อาหาร และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงต้องควบคุมปัจจัยเหล่านั้นอย่างเข้มงวดการดื้อยาข้ามกลุ่มการดื้อยาข้ามกลุ่มคืออะไร ? คือการที่แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะโดยผลจากการได้รับสารที่เคมีมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อกลุ่มไบโอไซด์ (biocides) เช่น กรณีไตรโคลซาน (triclosan) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย นิยมนำมาผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ประเภทสบู่ ยาสีฟัน ครีมอาบน้ำ ล้างมือ เป็นต้น ทว่ามีรายงานวิจัยพบว่าเมื่อใช้เป็นเวลานาน ทำให้แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ โดยมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการปั๊มยาออกนอกเซลล์ ทำให้มีปริมาณยาปฏิชีวนะในเซลล์น้อยไม่สามารถฆ่าเชื้อ และเชื้อปรับตัวดื้อยาในที่สุด ปัจจุบัน องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกการใช้ไตรโคลซานในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแล้ว รวมถึงสารเคมีกลุ่มนี้อีก 18 ขนิด ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีในการลดการทำให้แบคทีเรียดื้อยา เพราะผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารเคมีเหล่านี้ ถูกใช้อย่างกว้างขวางในชีวิตประจำวันแบคทีเรียดื้อยาที่พบในประเทศไทยศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งขาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า พบแบคทีเรียดื้อยากลุ่มต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้เชื้ออะซินีโตแบคเตอร์ (Acinetobacter spp.) และเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) เป็นเชื้อที่มักพบในผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาล(Methicillin resistant Staphylococcus aureus, MRSA และ Methicillin resistant coagulase negative S. aureus, MRCoNS)เชื้อเอนเทอโรคอคไคดื้อยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin resistant enterococci , VRE)เชื้อกลุ่มเอนเทอโรแบคเทอริเอซีที่สร้างเอนไซม์เบต้าแลคเทมเมสชนิดมีฤทธิ์กว้าง (Extended spectrum beta-lactamase , ESBL producing Enterobacteriaceae)Enterobacteriaceae , CRE)เชื้อสเตรฟโตคอคคัสดื้อยาเพนิซิลลิน (Penicillin resistant Streptococcus pneumoniae , PRSP)วัณโรคดื้อยาหลายชนิด (Multidrug resistant tuberculosis , MDR-TB และ Extensively drug resistant tuberculosis, XDR-TB)เชื้ออีโคไลที่ดื้อต่อยาโคลิสติน ซึ่งต้องศึกษาในรายละเอียดต่อไปว่า มียีนดื้อยาบนโครโมโซม หรือชนิดที่มียีน mcr-1 บนพลาสมิดแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชึพในปศุสัตว์สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ได้สำรวจติดตาม ระหว่าง พ.ศ. 2545-2558 พบเชื้อดื้อยาในหมู ไก่ เป็ด และห่าน ได้แก่ เชื้ออีโคไล และ ซัลโมเนลลา พบเชื้อแคมพิโลแบคเตอร์ (Campylobacter spp.) ดื้อยาในเนื้อหมู และไก่ และบางตัวอย่างสามารถพบเชื้อซัลโมเนลลาที่ดื้อยาถึง 3 ชนิดพร้อมกัน เชื้อที่ตรวจพบนั้นดื้อยาปฏิชีวนะต่างๆ ดังต่อไปนี้อะมอกซีซิลลินอะมอกซีซิลลิน/คลาวูลานิคแอซิด แอมพิซิลลินเตตราซัยคลิน อ๊อกซีเตตราซัยคลินสเตร็ปโตมัยซิน ไทรเมทโทพริมซัลฟาเมโธซาโซล กานามัยซินเจนตามัยซินเอนโรฟ็อกซาซินด็อกซีซัยคลินโคลิสตืน เซฟติโอเฟอ สเป็คติโนมัยซิน คลอแรมเฟนิคอล นาลิดิซิคแอซิด ซัยโพรฟล็อกซาซินแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะในสัตว์น้ำกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า ในช่วงปี พ.ศ, 2549-2557 แบคทีเรียก่อโรคที่พบเป็นปัญหาสำคัญของสัตว์น้ำทั้งปลา และกุ้ง ได้แก่ เชื้อวิบริโอ ( Vibrio spp. ) ดื้อยาต่อไปนี้ ได้แก่เตตราซัยคลิน อ๊อกซีเตตราซัยคลินคลอแรมเฟนิคอลซัลฟาเมโธซาโซล ออกโซลินิตแอซิดเอนโรฟล็อกซาซินการใช้ยาปฏิชีวนะในพืชโรคกรีนนิ่งในพืชตระกูลส้ม เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะนาว เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผลผลิตลดลง โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบ ชื่อแคนดิดาตัส ลิเบอริแบคเตอร์ (Candidatus liberibacter) ซึ่งก่อโรคในท่อลำเลียงน้ำและอาหาร ปัจจุบันเกษตรกรใช้ยาแอมพิซิลลินฉีดเข้าไปในท่อลำเลียงน้ำและอาหารของต้นพืชโดยตรงเพื่อการทำลายเชื้อ ยังไม่มีรายงานการดื้อยา แต่ควรต้องติดตามต่อไปว่ายาแอมพิซิลลินที่ใช้จะทำให้เชื้อก่อโรคพืชดื้อยาหรือไม่ และมีผลกระทบทำให้แบคทีเรียอื่นๆ บริเวณต้นพืชดื้อยาหรือไม่การตกค้างของยาปฏิชีวนะในอาหารสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานผลการสำรวจยาปฏิชีวนะกลุ่มคลอแรมเฟนิคอล ไนโตรฟูแรน เพนิซิลลิน ซัลโฟนาไมด์ เตตราซัยคลิน ที่อาจตกค้างในเนื้อหมู กุ้ง ไก่ และเครื่องใน ระหว่าง พ.ศ. 2553-2557 พบว่ายาตกค้างในเนื้อสัตว์ที่ตรวจบางตัวอย่าง ได้แก่ซัลฟาไดมิดีนซัลฟาไดอะซีนซัลฟาไทอะโซลเซมิคาร์บาไซด์อ๊อกซาโซลิดิโนนซัลฟิซ็อกซาโซลผู้บริโภคจะทำอย่างไร ?ปัญหาแบคทีเรียดื้อยาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมและทันสถานการณ์ นับว่าเป็นภัยคุกคามชีวิตคนไทยและคนทั่วโลก และเห็นได้ว่า การปรับตัวดื้อยา ปฏิชีวนะของแบคทีเรียเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แล้วเชื้อสามารถแพร่กระจายได้หลายวิธีการ ผู้บริโภคจำป็นต้องรู้เท่าทันปัญหา และไม่ร่วมสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น โดย  ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น  หากจำเป็นต้องใช้ ต้องใช้อย่างถูกต้อง เพื่อทำลายเชื้อก่อโรคให้หมดจริงๆ ไม่เหลือให้ปรับตัวดื้อยาในร่างกาย  จำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมเกษตร และปศุสัตว์ ใช้เมื่อจำเป็น อย่างเหมาะสม  ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา ช่วยเฝ้าระวังการปนเบื้อนของยา เชื้อดื้อยา ในอาหาร ผลิตภัณฑ์ต่างๆ และสิ่งแวดล้อม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 เชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้า 3 สาย

ฉบับนี้มาทำความรู้จักกับแอพพลิเคชั่นการเดินทางโดยรถไฟฟ้าทั้ง  3 รูปแบบกันบ้างดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า BTS  รถไฟฟ้า MRT และ Airport Link รถไฟฟ้าทั้ง 3 รูปแบบที่กล่าวถึงนั้น ช่วยอำนวยความสะดวกกับผู้ที่ต้องการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ในเวลาเร่งด่วน และต้องการหลีกหนีจากการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนนของกรุงเทพมหานคร  คนกรุงเทพฯ  จึงนิยมโดยสารรถไฟฟ้าเป็นอย่างมาก อีกทั้งรถไฟฟ้า 3 สายยังมีจุดเชื่อมต่อสำหรับการเดินทางไปในส่วนต่างๆ ด้วย ผู้เขียนหวังว่าแอพพลิเคชั่นที่จะแนะนำนี้ จะช่วยให้คนต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางเข้ามาในกรุงเทพมหานคร ได้ใช้ประโยชน์ได้พอควร โดยมี 2 แอพพลิเคชั่นที่จะแนะนำ ได้แก่ แอพพลิเคชั่น BKK Metro และแอพพลิเคชั่น Airport Link แอพพลิเคชั่น BKK Metro เป็นแอพพลิเคชั่นที่บอกรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ของรถไฟฟ้าBTS  และรถไฟฟ้า MRT โดยภายในจะแบ่งเป็นหมวด และสามารถเลือกมุมมองแผนที่ที่ต้องการดูได้ว่าจะดูแบบลายเส้นหรือแบบภาพเสมือนจริง หมวดแรกจะให้หาพิกัดที่ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นยืนอยู่ว่าใกล้กับสถานีใดที่สุด เพื่อให้ตัดสินใจเลือกที่จะขึ้นสถานีนั้นๆ ต่อจากนั้นหมวดต่อมาจะบอกถึงสถานีต่างๆ ว่ามีสถานที่ใดใกล้เคียงกับสถานีนั้นๆ บ้าง และสามารถใช้ทางออกหมายเลขใด เพื่อให้สะดวกกับการเดินทางมากยิ่งขึ้น หมวดที่สามจะบอกราคาค่าโดยสารระหว่างสถานีต้นทางกับสถานีปลายทางที่เลือก แอพพลิเคชั่นจะคำนวณราคาค่าใช้จ่ายมาให้เรียบร้อย และถ้ามีความไม่เข้าใจในเรื่องราคา การซื้อบัตร หรือข้อมูลต่างๆ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดในหมวดสุดท้ายได้ หรือโทรศัพท์ไปสอบถามตามหมายเลขที่แจ้งไว้ภายในแอพพลิเคชั่น อีกแอพพลิเคชั่นหนึ่ง คือ แอพพลิเคชั่น Airport Link จะบอกถึงรายละเอียดการเดินทางระหว่างสถานีต่างๆ ว่าสถานีนั้นสามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าแบบธรรมดาหรือแบบด่วนพิเศษ โดยจะแจ้งเรื่องเวลาที่ต้องใช้ในการเดินทางระหว่างสถานีว่าต้องเวลากี่นาที และผ่านสถานีใดบ้าง ซึ่งจะช่วยให้สามารถคำนวณเวลาในการเดินทางไปจุดหมายได้ รวมถึงบอกราคาในการเดินทางแต่ละสถานี ประโยชน์ของแอพพลิเคชั่นทั้ง 2 ชนิดนี้ จะช่วยให้ผู้เดินทางสามารถคำนวณเวลาตามระยะทางที่เกิดขึ้นจริง และคำนวณราคาในการเดินทางในแต่ละครั้ง ซึ่งถือว่าช่วยวางแผนการเดินทางได้ในระดับหนึ่ง รถไฟฟ้าทั้ง 3 รูปแบบ ถือว่าเป็นตัวช่วยที่ดีในการหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรภายในกรุงเทพมหานคร แต่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางย่อมสูงไปด้วย ถ้าผู้อ่านลองพิจารณาแล้วเห็นว่าเสียค่าใช้จ่ายมากเกินไป อาจจะกลับไปเลือกแอพพลิเคชั่น “รถเมล์” แทนก็ได้นะ ได้อย่างก็ต้องเสียอย่างเป็นธรรมดา!!!

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2558“หัวเชื้อกลิ่นแมงดา” ปลอดภัยถ้าใช้ตามปริมาณที่กำหนดจากกรณีที่มีการส่งต่อคลิปวิดีโอผ่านทางโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับการนำวัตถุแต่งกลิ่นรส “กลิ่นแมงดานา” หยดลงบนกล่องโฟมแล้วพบว่าสามารถทำให้กล่องโฟมละลายได้ สร้างความสงสัยและตกใจให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ร้อนถึงทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ต้องรีบออกมาชี้แจงถึงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ซึ่ง อย. ยืนยันว่าวัตถุแต่งกลิ่นดังกล่าวได้รับการอนุญาตให้ใช้ได้ในอาหาร และมีความปลอดภัยเมื่อใช้ในปริมาณที่กำหนดวัตถุแต่งกลิ่นรสกลิ่นแมงดานาจัดเป็นอาหารที่ต้องมีฉลากประเภทวัตถุแต่งกลิ่นรสตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 223) พ.ศ. 2544 เรื่อง วัตถุแต่งกลิ่นรส ทั้งนี้ วัตถุแต่งกลิ่นรสกลิ่นแมงดานาได้จากการผสมของสารสำคัญในกลุ่มสารอินทรีย์ที่ให้กลิ่นรสหลายชนิดเข้าด้วยกัน โดยสารอินทรีย์เหล่านี้มีคุณสมบัติทางเคมีที่สามารถทำให้โฟมละลายได้ เนื่องจากโฟมมีคุณสมบัติสามารถละลายได้ในตัวทำละลายอินทรีย์เกือบทุกชนิด ผู้บริโภคสามารถใช้วัตถุแต่งกลิ่นรสกลิ่นแมงดานาเป็นส่วนผสมในอาหาร เพื่อเพิ่มกลิ่นรสได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หากใช้ตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลาก เพราะมีการใช้ในปริมาณที่น้อยมาก (ประมาณ 1 – 3 หยดต่อน้ำพริก 1 ถ้วย) ไม่ได้เทลงไปโดยตรงบนแผ่นโฟมในปริมาณมากดังที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ “น้ำตาลฟลุกโตสไซรัป” มากไประวังตับพัง!!!ปัจจุบันคนไทยเรามีปัญหาเรื่องการนริโภคน้ำตาลมากเกินไป ซึ่งส่งผลเสียอย่างมากต่อสุขภาพ ยิ่งเดี๋ยวนี้คนไทยนิยมดื่มเครื่องดื่มบรรจุขวดกันมากขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง แถมหลายยี่ห้อยังเลือกใช้น้ำตาลฟลุกโตสไซรัปสังเคราะห์แทนน้ำตาลทราย เพราะให้ความหวานมากกว่าแต่ต้นทุนถูกกว่า ซึ่งน้ำตาลสังเคราะห์ก็มีอันตรายต่อสุขภาพไม่แพ้น้ำตาลทรายหากรับประทานในปริมาณมากเกินไปทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาเตือนผู้ที่ชอบดื่มเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลสังเคราะห์เป็นประจำให้ระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพ เนื่องจากน้ำตาลสังเคราะห์หากรับประทานมากเกินไปแล้วร่างกายเผาผลาญไม่หมด น้ำตาลสังเคราะห์จะเปลี่ยนเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งทำให้อ้วนลงพุง ที่สำคัญคือเป็นอันตรายต่อตับ เพราะน้ำตาลประเภทนี้เมื่อเข้าไปในร่างกายจะตรงไปที่ตับก่อน แต่เมื่อร่างกายจะดึงพลังงานไปใช้ จะเลือกดึงน้ำตาลจากส่วนอื่นของร่างกายก่อนตับ เมื่อเผาผลาญหรือใช้ไม่หมดก็จะเกาะอยู่ที่ตับ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค ตับอักเสบ และตับแข็งสถานการณ์การบริโภคน้ำตาลมากเกินไปของคนไทยถือว่าอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง มีผลวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยคนละ 83.6 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 16.7 ช้อนชา ทั้งๆ ที่ปริมาณที่เหมาะสมต่อการรับประทานใน 1 วันคือไม่เกิน 6 ช้อนชาเท่านั้นยา 2 มาตรฐาน?!!จากการที่ก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมราคายาหลายๆ ชนิดที่จ่ายโดยโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งจึงมีราคาสูงกว่ายาที่จ่ายโดยโรงพยาบาลของรัฐ จนนำไปสู่กระแสข่าวลือที่ว่า ยาที่วางขายในประเทศมี 2 เกรด โดยยาราคาถูกจะผสมแป้งหรือสารอื่นที่ไม่ใช่ตัวยาสำคัญปริมาณมากเพื่อลดต้นทุน ซึ่งนั่นเป็นการส่งผลให้ยาด้อยคุณภาพลง ทำให้ อย. ซึ่งหน่วยที่รับผิดชอบในเรื่องการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายยาในประเทศ ต้องออกมาชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวเป็นแค่ข่าวลือเท่านั้น ผลิตภัณฑ์ยา ต้องได้รับการกำกับดูแลโดย อย. ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 โดยกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะผลิต ขาย นำเข้า มาในประเทศ จะต้องได้รับใบอนุญาตฯ และผลิตภัณฑ์ยาทุกตำรับจะต้องผ่านการพิจารณาตามหลักวิชาการก่อนที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาทั้งในส่วนของสูตรตำรับ วิธีการผลิต และการควบคุมคุณภาพ การแสดงฉลาก ฯลฯโดย อย. ยืนยันว่ามีมาตรการในการเฝ้าระวังคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาที่มีการกระจายอยู่ในท้องตลาด เช่น โครงการเฝ้าระวังคุณภาพยาประจำปี ซึ่งมีการกำหนดชนิดของผลิตภัณฑ์ยาที่มีความเสี่ยง เช่น ยาสำหรับกลุ่มโรคเรื้อรัง ยาที่มีปริมาณการใช้สูง ยาที่มีความคงตัวต่ำ เป็นต้น และมีการเก็บตัวอย่างจากผู้ผลิต/ผู้นำหรือสั่งยาฯ ส่งวิเคราะห์คุณภาพที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ยาที่ผู้บริโภคจะได้รับมีคุณภาพ ความปลอดภัย และมีประสิทธิผลในการใช้ตามที่ได้มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้หมึกสักลาย ปนเปื้อนโลหะหนัก - แบคทีเรีย สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างหมึกสำหรับสักลาย 52 ตัวอย่าง เพื่อประเมินคุณภาพและความปลอดภัย จากผลวิเคราะห์พบ สารหนูเกินมาตรฐานที่กำหนดที่ 5 ไมโครกรัมต่อกรัม จำนวน 4 ตัวอย่าง ไมโครกรัมต่อกรัม ส่วน แคดเมียมเกินมาตรฐานที่กำหนดที่ 1 ไมโครกรัมต่อกรัม จำนวน 4 และตะกั่วพบ 2 ตัวอย่าง แต่ไม่เกินมาตรฐานกำหนดที่20 ไมโครกรัมต่อกรัม แต่ไม่พบปรอทและสีห้ามใช้ในทุกตัวอย่าง สำหรับการตรวจหาเชื้อก่อโรค พบเชื้อแบคทีเรียเกินกำหนด 13 ตัวอย่าง และพบเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา 1 ตัวอย่าง จำนวนที่ปนเปื้อนอยู่ในระดับ 35,000 - 10,000,000 โคโลนีต่อกรัม ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ไม่เกิน 1,000 โคโลนีต่อกรัมหมึกสักลายที่มีการปนเปื้อนโลหะหนัก เมื่อเข้าสู่ร่างกายต่อเนื่องเป็นเวลานานจะเกิดการสะสมที่บริเวณผิวหนัง และอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง ส่วนเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา สามารถก่อโรคได้หลายชนิด หากติดเชื้อที่ปอดอาจจะทำให้ปอดและหลอดลมอักเสบ รวมถึงหากได้รับเชื้อทางผิวหนังอาจจะทำให้เกิดโรคทางผิวหนัง ทำให้เกิดอาการบวม แดง ผิวหนังแข็ง กลายเป็นเนื้อตาย ซึ่งปัจจุบันนี้หมึกสักลาย ไม่ได้ใช้เฉพาะผู้ที่สักรายสวยงามตามร่างกายเท่านั้น แต่ยังใช้ในกลุ่มเสริมความงาน เช่น สักคิ้ว สักริมฝีปากอีกด้วย ซึ่ง อย. กำลังพิจารณาที่หมึกสักเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางเพื่อให้มีมาตรฐานและการควบคุมที่ชัดเจนมากขึ้นร่วมลงชื่อสนับสนุนกฎหมายผู้บริโภคที่ change.orgคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ขอเชิญชวนผู้บริโภคทั่วประเทศร่วมลงชื่อสนับสนุน 2 กิจกรรมรณรงค์ผลักดันให้เกิดกฎหมายดีๆ เพื่อผู้บริโภคในประเทศไทย ประกอบด้วย 1. “ลงชื่อสนับสนุนให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป” หลังจากรอมา 18 ปี ถึงเวลาเสียทีที่กฎหมายสำหรับผู้บริโภคจะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย และ 2. “ลงชื่อสนับสนุนเรียกร้องให้ อย. บังคับใช้ฉลากโภชนาการแบบสัญญาณไฟจราจรในผลิตภัณฑ์อาหาร” คนไทยกำลังเผชิญกับภาวะน้ำหนักเกิน นั่นเป็นเพราะเรายังขาดความรู้เรื่องโภชนการที่ถูกต้อง จะดีกว่ามั้ย? ถ้ามีเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บริโภครู้ทันว่าตัวเองกำลังกินอะไร ด้วยฉลากที่บอกปริมาณสารอาหารอย่าง น้ำตาล ไขมัน เกลือ พลังงาน ด้วยสีสัญญาณไฟจราจรโดยสามารถร่วมลงชื่อสนับสนุนทั้ง 2 กิจกรรมรณรงค์ได้ที่ www.change.org/th หรือลิงค์ที่อยู่ในหน้าเพจเฟซบุ๊ค องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทุกเสียงมีความหมาย มาช่วยกันเปลี่ยนแปลงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นไปพร้อมกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 130 กระแสในประเทศ

 ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤศจิกายน 2554 8 พฤศจิกายน 2554สคบ.ระดมหน่วยงานช่วยเหลือผู้บริโภคที่ประสบภัยน้ำท่วมสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. จับมือร่วมกับหลากหลายองค์กร เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด โดยจะดูแลให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขอความร่วมมือจากสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ดูแลช่วยเหลือผู้บริโภคในเรื่องการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เช่นการพักชำระหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ส่วนสมาคมอู่กลางแห่งประเทศไทยก็จะเข้ามาดูแลเรื่องการซ่อมรถยนต์ ควบคุมเรื่องค่าบริการของอู่ซ่อมต่างๆ ให้มีความเป็นธรรม โดยต้องมีการแสดงเอกสารใบเสร็จให้ชัดเจน เพื่อความสบายใจของผู้ที่มาใช้บริการด้านการไฟฟ้านครหลวงก็ได้จัดทำคู่มือแนะนำ ข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังน้ำท่วม ส่วนผู้ที่ต้องการซ่อมแซมบ้านที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ สคบ. ได้ขอความร่วมมือจากสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร จัดทำข้อมูลราคากลางการซ่อมแซมบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งในส่วนของค่าแรงและค่าวัสดุ เพื่อไว้ใช้เปรียบเทียบกับราคาที่ผู้ประสบภัยจะใช้ว่าจ้างกับผู้รับเหมาก่อนตัดสินใจซ่อมแซมบ้าน สามารถดูเอกสารแสดงราคากลางการซ่อมแซมบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม ได้ที่เว็บไซต์ของ สคบ.ผู้ประสบภัยที่ต้องการความช่วยเหลือหรือขอคำแนะนำจากหน่วยงานต่างๆ ที่กล่าวมา สามารถติดต่อได้ตามเบอร์โทร. เหล่านี้ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน โทร.02-570-0153, สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย โทร. 02-655-0240-55, สมาคมนายหน้าประกันภัย โทร. 02-645-1133, สำนักงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โทร. 1186 และ การไฟฟ้านครหลวง โทร. 1130__________________________________________________________   28 พฤศจิกายน 2554ยาย้อมผมไม่ใช่แชมพู ใช้บ่อยอันตราย คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เตือนคนที่ชอบเปลี่ยนสีผม ให้ระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผมรูปแบบแชมพู เพราะไม่ใช่แชมพูสระผมทั่วไป ใช้บ่อยอาจได้รับอันตราย เนื่องจากผลิตภัณฑ์ย้อมผมส่วนใหญ่มีสารที่เป็นสีย้อมผมที่อาจทำให้เกิดการแพ้ได้ ซึ่งขณะนี้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ย้อมผมในรูปแบบแชมพู โดยให้ผู้ใช้นำส่วนผสมที่บรรจุอยู่ในซองผสมเข้าด้วยกันแล้วชโลมบนเส้นผมให้ทั่ว จากนั้นล้างออกด้วยน้ำเหมือนการสระผมปกติ จึงมีการโฆษณาทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทแชมพูสระผมที่สระแล้วทำให้สีผมเปลี่ยนไป จนผู้บริโภคบางส่วนเข้าใจผิดว่าสามารถใช้สระผมได้ทุกวันเหมือนแชมพูทั่วไป ผลิตภัณฑ์ย้อมผมมากกว่าร้อยละ 60 ที่จำหน่ายในท้องตลาดมีสาร p-phenylenediamine หรือ PPD เป็นสีย้อมผมถาวร ซึ่งอาจทำให้เกิดการแพ้ได้ การใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผมจึงควรใช้อย่างระมัดระวัง และถึงแม้จะอยู่ในรูปแบบแชมพูก็ไม่สามารถใช้บ่อยเหมือนการสระผมทั่วไป เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งเราสามารถทดสอบการแพ้ก่อนใช้ได้ โดยทาผลิตภัณฑ์ย้อมผมที่ผสมแล้วใต้ท้องแขนหรือหลังใบหู ทิ้งไว้ 24 - 48 ชั่วโมง หากมีอาการคัน เป็นผื่นแดง บวม หรือมีอาการผิดปกติอื่นใดก็ตามให้หยุดใช้ทันที-----------------------------------------   30 พฤศจิกายน 2554นอนกางเต็นท์ระวังเป็นผู้ป่วย ช่วงหน้าหนาวปลายๆ ปีแบบนี้ ถือเป็นช่วงที่หลายๆ คนนิยมไปเที่ยวพักผ่อน ซึ่ง 1 ในกิจกรรมยอดฮิตของนักเที่ยวก็คือ การไปกางเต็นท์นอนตามป่าหรือภูเขา รวมทั้งการนอนดูดาวกลางแจ้ง แต่อย่ามัวเพลิดเพลินกับบรรยากาศจนลืมดูแลตัวเอง เพราะกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาเตือนนักท่องเที่ยวที่จะไปกางเต็นท์นอนบนพื้นหญ้าตามป่าตามเขาระวังถูกตัวไรอ่อนที่อยู่ตามป่ากัด สาเหตุของโรคสครับไทฟัส ซึ่งอาจทำให้เกิดไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง อาจมีอาการทางปอดและสมองได้ เวลาที่เราถูกไรอ่อนกัดจะสังเกตเห็นเป็นแผลไหม้ เล็กๆ คล้ายกับโดนบุหรี่จี้ ตรงกลางเป็นสะเก็ดสีดำ และรอบๆ แผลจะแดง โดยอาการป่วยจะแสดงหลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน นอกจากนี้ยังให้ระวังอย่าให้ถูกยุงก้นปล่องกัด เพราะอาจป่วยเป็นโรคมาลาเรีย ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต สำหรับการป้องกันไม่ให้ไรอ่อนกัด ควรใส่รองเท้า ถุงเท้าหุ้มปลายขากางเกงไว้ ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ และเหน็บปลายเสื้อเข้าในกางเกงปิดทางเข้าของไรมายังร่างกาย ส่วนการเลือกที่ตั้งค่ายพักในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือที่หญ้าขึ้นรก และเมื่อกลับมาถึงที่พัก ควรทำความสะอาดเสื้อผ้าที่ใส่ทันที รายงานโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศในปี 2554 พบมีผู้ป่วยโรคสครับไทฟัส 5,721 ราย เสียชีวิต 2 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 63 พบในภาคเหนือ มากที่สุดคือ จ.น่าน เชียงราย และตาก รองลงมาคือ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนโรคมาลาเรีย ในปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยทั้งสิ้น 17,636 ราย เสียชีวิต 8 ราย พบมากที่สุดที่ภาคเหนือ 11,150 ราย ภาคใต้ 3,028 ราย ภาคกลาง 2,694 ราย จังหวัดที่พบมากที่สุด คือ จ.ตาก แม่ฮ่องสอน และยะลา ----------------------------------------------------------     จัดการเชื้อราในบ้านหลังน้ำลด เมื่อน้ำลดก็ถึงเวลาที่แต่ละครอบครัวจะต้องกลับไปฟื้นฟูและซ่อมแซมบ้านของตัวเอง ซึ่งสิ่งที่ต้องระวังที่สุดคือ “เชื้อรา” ที่เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีความชื้นสูง การสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราที่ปลิวอยู่ในอากาศภายในบ้านเข้าไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น เกิดโรคภูมิแพ้ มีไข้ จาม น้ำมูกไหล โรคปอดอักเสบจากภูมิแพ้ โรคหอบหืด ก่อให้เกิดระคายเคืองต่อตา จมูก หลอดลม ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน และอาการแพ้เป็นผื่นลมพิษ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ฝากข้อแนะนำในการกำจัดเชื้อราในบ้านหลังน้ำลด  เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเชื้อรา ซึ่งขั้นตอนที่ควรทำมีดังต่อไปนี้ 1.การป้องกันตนเอง โดยการสวมรองเท้าบู้ทยาง สวมถุงมือยาง เพื่อป้องกันเชื้อราสัมผัสผิวหนังโดยตรง 2.ต้องระบายอากาศในระหว่างทำความสะอาด ให้อากาศถ่ายเทและให้มีแสงแดดส่องถึง ที่สำคัญไม่ควรเปิดแอร์ และพัดลมในระหว่างการทำความสะอาดเพราะจะทำให้สปอร์ของเชื้อราฟุ้งกระจายได้ 3.การทำความสะอาด หากพบเชื้อราภายในบ้าน ให้ใช้แอลกอฮอล์ หรือน้ำยาฟอกผ้าขาวผสมน้ำ (อัตราส่วน 1 ถ้วย หรือ 240 มิลลิลิตร ในน้ำประมาณ 4 ลิตร) เช็ดคราบเชื้อราทิ้งไว้ 15 นาที แล้วใช้น้ำล้างออก ส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อราและทำให้แห้งได้ เช่น พรม เบาะผ้า ที่นอน ฟูก วอลเปเปอร์ ฯลฯ ไม่ควรเก็บไว้ใช้ต่อควรทิ้งโดยใส่ในถุงพลาสติกและมัดอย่างดีเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อราสู่อากาศ 4.หลังทำความสะอาดและฆ่าเชื้อราในบ้านเสร็จแล้วให้เปิดพัดลมเป่าในบ้านและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เปิดหน้าต่าง ประตู เพื่อให้อากาศถ่ายเท 5.ตรวจสอบเชื้อรา หลังจากทำความสะอาดไปแล้ว 2-3 วัน ให้สังเกตว่ามีเชื้อราเจริญเติบโตอีกหรือไม่ ถ้ายังพบว่ามีเชื้อราให้ทำความสะอาดซ้ำ หากมีเชื้อราเกิดขึ้นอีกให้ตรวจสอบระบบระบายอากาศ ระบบแอร์ทั้งหมด และระดับความชื้นภายในบ้านด้วย    ภาครัฐรวมพลังแก้ปัญหาโฆษณาอาหาร - ยาโม้เกินจริงปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาเกินจริงที่กำลังแพร่หลายอย่างมากทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องรีบหาทางแก้ไข ถึงเวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาจัดการ ก่อนที่ผู้บริโภคจะตกเป็นเหยื่อมากไปกว่านี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), กรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย, บุคลากรสาธารณสุข และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ ระดมสมองหาทางออกร่วมกัน จัดทำร่างข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะเรื่อง “การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม” เพื่อนำไปพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ในวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2555 สำหรับข้อเสนอฯ เบื้องต้น มีร่างมติ 9 ข้อ เช่น ขอระบุให้ อย.เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ และมีการเสนอให้เพิ่มโทษหากละเมิดกฎหมายว่าด้วยยาและอาหาร รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่ง กสทช. จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ฯ พร้อมทั้งจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม ภายในปี 2555 ด้านกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ก็จะเข้ามาควบคุมในส่วนของการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคเองก็ต้องติดตามข่าวสารและใช้วิจารณญาณในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาเกินจริงทั้งหลาย ทั้งอันตรายและราคาแพง อย่าหลงซื้อมาใช้โดยเด็ดขาด ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังและรับร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพของ อย. ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนกันยายน 2554 ก็พบว่ามีเรื่องร้องเรียนโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายสูงถึง 1,461 เรื่อง จำแนกเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร 556 เรื่อง ยา 335 เรื่อง เครื่องสำอาง 319 เรื่อง เครื่องมือแพทย์ 208 เรื่อง และวัตถุอันตราย 73 เรื่อง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 25543 กุมภาพันธ์ 2554หอม...อันตราย!?ใครที่ยังมีความเชื่อว่าใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง น้ำยาทำความสะอาดบ้านและฆ่าเชื้อโรค ที่มีกลิ่นหอม หรือไม่มีกลิ่นฉุน แล้วปลอดภัยหรือเป็นอันตรายน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นแรง ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เดี๋ยวนี้โฆษณาผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัตถุอันตรายสร้างความเข้าใจผิดให้ผู้บริโภค เช่น ผลิตภัณฑ์ที่บอกว่าทำจากธรรมชาติ แต่ในความจริงแล้วกลิ่นหอมเกิดจากการปรุงแต่งกลิ่นด้วยน้ำหอมสังเคราะห์ ซึ่งหากเราสูดดมกลิ่นเข้าไปก็จะทำให้เป็นอันตรายกับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้  เพราะฉะนั้นใครที่ยังหลงใหลในกลิ่นหอมของยาฉีดฆ่าแมลงและน้ำยาทำความสะอาด ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เท่าที่จำเป็น ถ้าไม่ใช้ได้ยิ่งดี แต่ถ้าจะใช้ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวังศึกษาข้อมูลและคำเตือนบนฉลากก่อนใช้ เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์อันตราย+++++++++++++++++++++++     17 กุมภาพันธ์ 2554“ศูนย์แก้ไขปัญหาสินเชื่อ” เตรียมเปิดถาวร...แก้ปัญหาทวงหนี้โหดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พอใจผลงาน “ศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่อ” (ศปส.) เตรียมจัดตั้งให้เป็นศูนย์ถาวร หลังจากศูนย์ทำหน้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินให้กับผู้บริโภค ซึ่งปัญหาที่ถูกร้องเรียนเข้ามา ธปท. จะนำไปประสานต่อกับสถาบันการเงินที่ถูกร้องเรียนเพื่อให้ชี้แจงและดำเนินการปรับปรุงแก้ไขบริการต่อไป  โดยปัญหาที่ถูกร้องเรียนเข้ามามากที่สุดคือ เรื่องการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ไม่สุภาพ หรือใช้วิธีรุนแรง รองลงมาคือเรื่องการเข้าไม่ถึงสินเชื่อหรือขอสินเชื่อไม่ได้ ส่วนเรื่องการหลอกลวงให้โอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือการถูกหลอกจากคอลเซ็นเตอร์ที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้ ขณะนี้ยอดการร้องเรียนลดลงมาก เนื่องจากทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้มีการประชุมร่วมกับ ธปท. และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ตั้งศูนย์ร่วมกันเพื่อป้องปรามมิจฉาชีพเหล่านี้โดยเฉพาะ ซึ่งเรื่องร้องเรียนที่เข้ามายัง ศปส. จะอยู่ที่ 100 – 200 เรื่องต่อวัน โดยก่อนหน้าเคยเรื่องเข้ามาสูงสุดถึงวันละ 700 - 800 เรื่อง  ศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาสินเชื่อของ ธปท.มีการต่ออายุการทำงานของศูนย์มาแล้ว 4 ครั้งแต่เปิดดำเนินงานมาตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.2542 โดยล่าสุด จะครบกำหนดอายุการทำงานในเดือน มิ.ย.2554 ซึ่งขณะนี้กำลังมีการพิจารณาตั้งเป็นศูนย์ถาวรเพื่อช่วยรองรับปัญหาของผู้บริโภค เพราะว่าเห็นประโยชน์ในการเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนได้รับการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน ซึ่งนับวันปัญหาเรื่องการเงิน หนี้ และบัตรเครดิต จะกลายเป็นใหญ่ในชีวิตของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++     22 กุมภาพันธ์ 2554สั่งระงับ!!!...นวดตารักษาต้อหิน ผู้ป่วยโรคต้อหินที่กำลังคิดจะไปรักษาด้วยวิธีการนวดตา คงต้องชั่งใจไตร่ตรองให้ดี เพราะว่าต้องนี้มีคำสั่งจากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะถึงทุกสถานพยาบาล ที่มีการให้รักษาโรคต้อหินด้วยการนวดตาต้องระงับการให้บริการการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวเอาไว้ก่อน หลังจากก่อนหน้านี้มีข่าวกรณีที่จักษุแพทย์โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ออกมาเปิดเผยว่า ใช้วิธีการนวดตาช่วยผู้ป่วยกำลังจะตาบอดกลับมามองเห็นได้เกือบปกติ ทำให้ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ แพทยสภา ต้องเร่งพิจารณาหาข้อเท็จจริงว่าการนวดด้วยตาสามารถรักษาโรคต้อหินได้จริงหรือไม่ รวมทั้งมีผลข้างเคียงหรือเป็นอันตรายกับดวงตาหรือเปล่า เพราะปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานการรักษาพยาบาลด้วยวิธีการดังกล่าว  โดยระหว่างรอความเห็นที่เป็นทางการจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ สถานพยาบาลต้องงดให้บริการการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว นอกจากนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพก็เตรียมคุมเข้มการโฆษณาทางการแพทย์ที่มีการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือจงใจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด ++++++++++++++++++++++++++     22 กุมภาพันธ์ 2554 ออกฉลากคุมเข้มสินค้านาโนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศให้ผลิตภัณฑ์นาโนทุกชนิดเป็นสินค้าควบคุมฉลาก หลังจากมีผู้บริโภคหลายคนร้องเรียนผลิตภัณฑ์นาโนที่อวดอ้างสรรพคุณต่างๆ นานา แถมตั้งราคาขายสูงกว่าสินค้าทั่วไป โดยที่ผู้บริโภคไม่มีสิทธิรู้หรือมั่นใจได้เลยว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์นาโนจริงหรือเปล่า   ซึ่งจากการสุ่มตรวจสอบของศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าไม่ปลอดภัยของ สคบ. ร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พบว่าสินค้านาโนที่สุ่มตรวจทั้ง ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดทำความสะอาดอเนกประสงค์เป็นของปลอม  ผู้บริโภคกำลังให้ความสนใจกับสินค้านาโนกันอย่างมาก โดยเฉพาะพวกสิ่งทอเพราะมีคุณสมบัติพิเศษอย่าง ป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันน้ำ ทำความสะอาดง่าย หรือไม่ต้องทำความสะอาด ซึ่งแน่นอนว่าหากเป็นสินค้านาโนปลอม จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดและหากนำไปใช้ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย  สคบ.จึงต้องเร่งออกมาตรฐานควมคุมผลิตภัณฑ์นาโน พร้อมทั้งจะทำฉลากแสดงให้รู้ว่าเป็นสินค้านาโนแท้ โดยจะใช้ชื่อว่า “นาโนคิว”  เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอก +++++++++++++++++     “ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน” กับการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียม ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เรื่องการรักษาพยาบาลให้เป็นมาตรฐานเดียวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือบัตรทองเดิม ซึ่งเป็นระบบรักษาพยาบาลฟรีของคนไทยทั้งประเทศ ขณะที่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมซึ่งจ้างงานสมทบเองทุกเดือน กลับได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพที่ด้อยกว่า โดยเสนอให้ผู้ประกันตนได้มีสิทธิไปใช้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วให้นำเงินสมทบที่ต้องจ่ายให้ประกันสังคมไปสบทบเพิ่มในส่วนของเงินประกันการว่างงานหรือเงินชราภาพ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ในประกันสังคมอยู่แล้ว ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์มากว่า  โดยชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน เรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม รับฟังและแก้ไขโดยเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างระบบสุขภาพบนมาตรฐานเดียวของ ประเทศ โดยจะให้เวลาประกันสังคม 30 วัน ที่จะต้องทำให้ผู้ประกันตนออกจากจากระบบประกันสังคม ในเรื่องบริการด้านสุขภาพ หากประกันสังคมไม่แก้ไขระบบดังกล่าว ผู้ประกันตนจะงดจ่ายเงินสมทบในส่วนของการรักษาพยาบาล ประมาณคนละ 250 บาท ซึ่งจะดีเดย์หยุดจ่ายวันแรก 1 พฤษภาคม 2554  ***(อ่านเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลในประกันสังคมในเรื่องฉบับนี้)  

อ่านเพิ่มเติม >