ฉบับที่ 170 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2558 พบกล่องทีวีดิจิตอลตกมาตรฐาน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.ได้แจ้งมายังบอร์ด กสท.ว่าจากการสุ่มตรวจมาตรฐานทางเทคนิคของกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลในตลาดจำนวน 20 รุ่น พบว่ามีกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลจำนวน 6 รุ่น จาก 4 ยี่ห้อ มีการใช้ระบบเสียงไม่ถูกต้องตามตามที่แจ้งไว้ต่อ กสทช. ซึ่งจากนี้จะมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการทั้ง 4 ยี่ห้อที่มีการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานเดินทางมาชี้แจงยัง กสทช.โดยด่วน กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลที่ไม่ผ่านมาตรฐานทางเทคนิค ได้แก่ ยี่ห้อเอเจ รุ่น SVB-93 และ รุ่น DVB-92, ยี่ห้อครีเอเทค รุ่น CT-1 และ CT4, ยี่ห้อฟินิกซ์ รุ่น T2color และ ยี่ห้อโซเคน รุ่น DB233 สำหรับผู้บริโภคที่ได้นำคูปองไปแลกซื้อกล่องที่การตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐานไปแล้ว หากเกิดปัญหาจากการใช้สินค้า ทาง กสทช.จะหารือกับผู้ประกอบการเพื่อทางแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ ----------------------------------------------------------------------------------------   ห้ามใช้แล้ว!!! สาร “บีพีเอ” ในขวดนม จากนี้ไปคุณแม่ที่จะซื้อขวดนมให้ลูกน้อยต้องดูให้ดีว่าขวดนมพลาสติกที่ซื้อทำมาจากพลาสติกชนิดที่ชื่อว่า “พอลิคาร์บอเนต” หรือเปล่า เพราะอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสาร “บีพีเอ” หรือ สารบิสฟีนอลเอ ซึ่งเป็นสารที่ อย.ยืนยันแล้วว่าอาจเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 369) พ.ศ. 2558 เรื่อง ขวดนม และภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพื่อควบคุมการใช้สารพีบีเอในขวดนมและภาชนะสำหรับทารกอีกหลายประเภท กฎหมายฉบับนี้ควบคุบผลิตภัณฑ์สำหรับทารก ทั้งผลิตภัณฑ์ประเภทขวดนมและภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็กแบบใช้ซ้ำ เช่น ถ้วยหัดดื่ม ห้ามใช้พอลิคาร์บอเนตโดยเด็ดขาด โดยวัสดุอื่นทดแทน ได้แก่ แก้วชนิดบอโรซิลิเคต และพลาสติกชนิดพอลิพรอพิลีน พอลิอีเทอร์ซัลโฟน ส่วนภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็กแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ถุงพลาสติกที่ใช้เก็บน้ำนมมารดา ถุงพลาสติกบรรจุนมแบบใช้ครั้งเดียวที่ต้องใช้ร่วมกับขวดนม ให้ใช้วัสดุที่อนุญาต ได้แก่ พอลิพรอพิลีน และ พอลิเอทิลีน สำหรับหัวนมยาง ให้ใช้วัสดุที่อนุญาตได้แก่ ยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ ปัจจุบันแม้องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้จัดสารบีพีเอเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ก็มีข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง ว่าสารพีบีเออาจมีผลไปขัดขวาง การทำงานของฮอร์โมนเอสโทรเจนในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อระบบการสืบพันธุ์และระบบการผลิตฮอร์โมน นอกจากนี้หลายๆ ประเทศมีการห้ามผลิตหรือจำหน่ายขวดนมพอลิคาร์บอเนตแล้ว เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา เป็นต้น -------------------------------------------------------------------------------- “คะน้า - ถั่วฝักยาว” เจอสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ได้แถลงผลการสุ่มทดสอบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่ามีผักที่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขสูงถึง 22.5% โดยพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานในกะเพรามากที่สุด 62.5% ถั่วฝักยาวและคะน้าพบ 32.5% ผักบุ้งจีน กวางตุ้ง และมะเขือเปราะพบตกค้าง 25% แตงกวาและพริก12.5% ส่วนผักกาดขาวปลีและกะหล่ำปลีไม่พบการตกค้าง จากผลที่ออกมาทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องออกสุ่มทดสอบผักในท้องตลาดด้วยเช่นกัน เพราะถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง ซึ่งผลที่ได้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ยอมรับว่ามีผักที่พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานอยู่ในท้องตลาดจริง แม้จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วไม่เท่ากับผลของทาง Thai-PAN แต่นั้นก็เป็นการยืนยันชัดเจนว่าคนไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพจากกินผัก โดยผัก 2 ชนิดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่าที่การตกต้างของสารเคมีค่อนข้างสูงคือ คะน้าและถั่วฝักยาว โดยหลังจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะส่งเจ้าหน้าที่ไปสุ่มตรวจผักตามตลาดต่างๆ เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ผู้บริโภคก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการซื้อผัก เลือกซื้อผักตามฤดูกาล และล้างผักให้สะอาดก่อนรับประทาน ------------------------------------------------------------------------------------ “ผักเม็ด-ส้มเม็ด” หลอกลวงสรรพคุณ คนป่วยกินอาการยิ่งทรุด คนไทยยังคงตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลอกลวงสรรพคุณ ล่าสุดพบอาหารเสริม “ผักเม็ด” และ “ส้มเม็ด” โฆษณาอวดอ้างว่าสามารถรักษาโรคเบาหวานได้ เมื่อมีผู้ป่วยหลงเชื่อคำโฆษณาหาซื้อมารับประทานกลับพบว่าอาการทรุดลง อาการแผลที่เท้าซ้ายบวมแดงและปวดมากกว่าปกติ อีกทั้งยังพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงถึง 552 mg (ซึ่งค่าปกติควรอยู่ที่ 82 - 110 mg) ผักเม็ดมีลักษณะภายในเป็นของเหลวคล้ายน้ำมันตับปลา ส่วนส้มเม็ดมีลักษณะเป็นผงบรรจุในแคปซูล โดยผู้ขายแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวชนิดละ 4 เม็ด เช้า - เย็น และให้ใช้ทาแผลด้วย อย.ฝากเตือนถึงที่คิดจะกินอาหารเสริมเพื่อหวังผลในการรักษาโรคนั้น ขอให้คิดไว้เสมอว่าเป็นเรื่องที่โอ้อวดหลอกลวง เพราะอาหารไม่ใช่ยา ไม่มีผลในการรักษาโรค ยิ่งผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องรับประทานอาหารเสริมอย่างระมัดระวังเพราะอาจส่งผลต่อการเจ็บป่วยหนักได้ -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เคลือบฟันเทียม “วีเนียร์” ระวังได้ไม่คุ้มเสีย การเคลือบสีฟันเทียม หรือ วีเนียร์ (veneers) ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยทำให้สีฟันขาวขึ้นและปรับรูปฟันให้สวยงาม กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะกับกลุ่มสาวๆ ที่อยากมีฟันขาวสว่างใส พร้อมกับการที่มีสถานเสริมความงามด้านทันตกรรมเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่การทำเคลือบสีฟันมีผลโดยตรงต่อสุขภาพของฟันและเหงือกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การทำเคลือบผิวฟันเทียม คือการแปะวัสดุลงบนผิวฟันเพื่อเปลี่ยนสีผิวฟัน ซึ่งเดิมทีมีไว้ใช้แก้ปัญหาผู้ที่มีผิวฟันสีผิดปกติ เช่น ฟันตกกระ ฟันเป็นแถบสีน้ำตาลหรือดำ จากการกินยาแก้อักเสบกลุ่มเตตราไซคลิน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีการฟอกสีฟันได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะต้องกรอผิวฟันออกไปเล็กน้อยเพื่อแปะวัสดุใหม่ลงไปให้เท่ากับผิวฟันเดิมไม่ให้นูนขึ้นมามากเกินไป ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าการกรอฟันเป็นการทำลายผิวเคลือบฟันที่ดีออกไปและจะไม่มีวันขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้การปิดวัสดุนั้นต้องทำด้วยเทคนิคที่ดี วัสดุที่ปิดฟันต้องพอดีกับตัวเนื้อฟันไม่มีส่วนเกินเข้าไปในเหงือก หรือ มีรูรั่ว เพราะอาจทำให้เกิดเหงือกอักเสบ เกิดหินปูน เหงือกร่น ทำให้เกิดพื้นที่ให้เชื้อโรคไปเกาะและเกิดปัญหากลิ่นปากได้ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะทำเคลือบฟันเทียมต้องศึกษาให้ดี เคลือบฟันเทียบย่อมไม่มีแข็งแรงเท่าเคลือบฟันแท้ และการทำให้สีฟันขาวขึ้นยังมีวิธีอย่างการฟอกสีฟันซึ่งไม่ส่งผลเสียต่อเคลือบฟัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2557 ระวัง!!! “สบู่-แชมพู” ลักไก่แอบลดปริมาณ กรมการค้าภายใน เตรียมนัดคุยสมาคมผู้ผลิตสบู่ไทยและผลิตภัณฑ์ชำระล้าง กำหนดขนาดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีข้อมูลระบุว่าปัจจุบันนี้ในท้องตลาด ผลิตภัณฑ์อุปโภคในกลุ่มชำระล้าง มีอยู่มากมายหลายขนาด เช่น แชมพู มีทั้งหมด 38 ขนาด ผงซักฟอก 36 ขนาด สบู่ก้อน 11 ขนาด สบู่เหลว 9 ขนาด และน้ำยาซักฟอก 8 ขนาด ซึ่งการมีขนาดให้เลือกหลากหลายรูปแบบ มีข้อดีคือทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด แต่ก็มีข้อเสียเรื่องมาตรฐานการตั้งราคา เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคต้องเลือกให้ดีและรู้จักเปรียบเทียบสินค้า เพื่อให้ได้ของที่มีคุณภาพคุ้มราคามากที่สุด ทั้งนี้สิ่งที่กรมการค้าภายในเป็นห่วงก็คือ เรื่องที่ผู้ผลิตแอบลดปริมาณสินค้า แต่ยังจำหน่ายในราคาเดิม ซึ่งที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ด้านผู้ผลิตเองก็ออกมาแสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า การขึ้นราคาของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องดูเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบประกอบด้วย โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม ซึ่งหากผู้บริโภคพบเห็นสินค้าต่างๆ มีการขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรมเข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภคสามารถร้องเรียนไปได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569     เปิด “ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย” กสทช. เปิด “ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย” เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านวิทยุกระจายเสีย งและวิทยุโทรทัศน์ พร้อมบันทึกเก็บเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งในปีแรกของการดำเนินการครอบคลุมจำนวน 80 สถานี  แบ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ ช่องรายการทีวีเคเบิ้ล รายการทีวีดาวเทียม รวม 40 สถานี  และสถานีวิทยุกระจายเสียงหลักและวิทยุกระจายเสียงชุมชนในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลอีก 40 สถานี โดยศูนย์ฯ นี้จะทำงานโดยใช้ระบบการตรวจสอบข้อความ เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะใช้ทั้งระบบซอฟต์แวร์  และการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะทำหน้าที่ติดตาม (มอนิเตอร์) สปอตโฆษณา และเนื้อหารายการต่างๆ ทั้ง 80 สถานีตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทางศูนย์ฯ จะมีการจัดเก็บเนื้อหาโฆษณา เนื้อหารายการ และไฟล์เสียงออกอากาศย้อนหลังเพื่อใช้ในการอ้างอิงเนื้อหาการออกอากาศ โดยมีการแสดงผลการทำงานแบบ Real-time ทั้งนี้ระบบจะเก็บฐานข้อมูลโฆษณาไว้ที่เซิร์ฟเวอร์  เป็นเวลา 60 วัน ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมายนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็นเหยื่อสินค้าหรือบริการที่ไม่มีคุณภาพ ตลอดจนป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกชักจูงให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อประโยชน์ของผู้เผยแพร่โฆษณา เนื่องจากที่ผ่านมาการตรวจสอบข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการได้ทันท่วงที และขาดหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะใช้ในการดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย   เตรียมออกกฎลดความสูงรถโดยสาร 2 ชั้น กรมการขนส่งทางบกเตรียมยกร่างประกาศแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวง เรื่องความสูงรถโดยสาร 2 ชั้น โดยจะลดความสูงจากปัจจุบัน 4.30 เมตร เหลือ 4 เมตร ตามมาตรฐานสากล หวังช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ คาดมีผลบังคับใช้ได้ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้รถโดยสาร 2 ชั้น กรมการขนส่งทางบกจะกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตขับรถโดยสารสาธารณะ ที่จะขับรถ 2 ชั้น จะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการขับรถโดยสาร 2 ชั้น จากกรมการขนส่งทางบกก่อน จึงจะสามารถประกอบอาชีพเป็นพนักงานขับรถโดยสาร 2 ชั้นได้ คาดว่ามาตรการนี้จะเริ่มใน 3 เดือนข้างหน้า ด้าน น.ส.สวนีย์ ฉ่ำเฉลียว ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือข้อเสนอต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้ไม่ใช้รถโดยสาร 2 ชั้นในเส้นทางเสี่ยงที่มีผลการศึกษาว่าเกิดอุบัติเหตุบ่อยและรุนแรง เพราะความไม่ปลอดภัยไม่ได้มาจากมาตรฐานของตัวรถเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องด้วย เช่น ถนน พื้นที่ ความชำนาญเส้นทางของผู้ขับขี่ ฯลฯ     คูปองกล่องดิจิตัลส่อทุจริต จากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) มีข้อสรุปเรื่องราคาคูปองเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตัล ที่จะแจกให้กับประชาชน 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ที่ราคาคูปองใบละ 1,000 บาท โดย กสท. อ้างว่าราคานี้เป็นราคากล่องที่ได้คุณภาพมาตรฐาน หากราคาต่ำกว่านี้จะส่งผลให้ได้กล่องและเสาที่มีคุณภาพต่ำเกินไป แต่ทั้งนี้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเชื่อว่าราคาคูปอง 1,000 บาทที่ทาง กสท.จะแจกให้กับทุกครัวเรือนนั้น เป็นการตั้งราคาที่สูงเกินไป คาดว่าราคาต้นทุนจริงของกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตัลน่าจะถูกกว่าราคาคูปองที่ทาง กสท. แจก นอกจากนี้การเคาะราคาคูปองที่ 1,000 บาทของ กสท. ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่จำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตัลหลายรายตั้งราคาขายสูงกว่าราคาคูปอง กลับกลายเป็นการผลักภาระให้ประชาชนที่ต้องการจะซื้อกล่องรับสัญญาณ ที่สำคัญการแจกคูปอง 1,000 บาท ให้กับ 22 ล้านครัวเรือน เท่ากับว่า กสท. ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 22,000 ล้านบาท ซึ่งหาก กสท. เลือกใช้วิธีแจกกล่องรับสัญญาแก่ประชาชนโดยตรง น่าจะลดการใช้งบประมาณของประเทศได้น้อยลงกว่านี้ อีกประเด็นที่เป็นข้อสังเกตในการตั้งราคาคูปอง 1,000 บาท ของ กสท. คือการตั้งราคาที่เอื้อต่อผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม ที่มีบริการช่องรายการที่ต้องจ่ายเงินเพื่อการรับชม ซึ่งแม้ราคากล่องรับสัญญาณจะสูงกว่าราคาคูปองที่แจก แต่ช่องรายการที่เป็นที่ต้องการรับชมของผู้บริโภคมากกว่า จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ที่ได้รับคูปองจะนำไปใช้เป็นส่วนลดแลกซื้อกล่องของบรรดาผู้ให้บริการเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม มากกว่า ซึ่งหากเป็นแบบนั้นเป้าหมายของ กสท. ที่ต้องการให้เกิดช่องรายการคุณภาพ ช่องรายการเพื่อสังคม สาธารณะประโยชน์ และช่องรายการสำหรับเด็กและเยาวชน อาจไม่เกิดขึ้นจริง เพราะผู้บริโภคเลือกที่จะไปรับชมรายการจากต่างประเทศในเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม   “ประชุมสมัชชาผู้บริโภค 57” เดินหน้ายกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค วันที่ 28 -29 เมษายน 2557  คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ได้จัดประชุมสมัชชาผู้บริโภค ประจำปี 2557 โดยมีการหารือในหลายประเด็น และได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายใน 7 ประเด็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานคุ้มครองผู้บริโภค คือ สินค้าและบริการทั่วไป, อาหารและยา, รถโดยสารสาธารณะ, พลังงาน, การเงินการธนาคาร, โทรคมนาคม, การบริการสุขภาพ โดยในแต่ละประเด็นนั้น ได้มีการสรุปข้อเสนอ เพื่อใช้เป็นแนวทางให้กับหน่วยงานรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ เพื่อสร้างระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีขึ้นในบ้านเรา เริ่มด้วยข้อเสนอด้านการเงินการธนาคาร ผู้บริโภคต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ว่าสถิติ เอกสาร เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้รู้เท่าทันผู้ประกอบการ และใช้ข้อมูลต่างๆ เพื่อเลือกใช้บริการที่คุ้มค่าและเป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด ในส่วนของประเด็นพลังงานนั้น สมัชชาฯ มีข้อเสนอให้ยกเลิกกองทุนน้ำมัน, ยกเลิกการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม, ให้รัฐมีมาตรการยุติการผูกขาดของ ปตท., จัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ภายใต้การกำกับของสภาพลังงานแห่งชาติ, ปรับแก้ระบบสัมปทานปิโตรเลียมจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปัน, แก้ปัญหาประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการในกระทรวงพลังงาน ประเด็นสินค้าและบริการทั่วไปว่า สมัชชาฯ มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) จัดตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้ามือหนึ่งชำรุดบกพร่อง เหมือน Lemon Law ของต่างประเทศ ปรับปรุงการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม รวมทั้งให้จัดทำระบบข้อมูลการเตือนสินค้าให้มีภาษาไทยด้วย     ประเด็นที่เกี่ยวพันกับโทรคมนาคม มีข้อเสนอให้ กสทช.เอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจัง เช่น ค่าบริการระบบ 2G ต้องไม่เกิน 99 สตางค์ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้แก้กฎหมายเพิ่มสัดส่วนของภาคประชาชนในคณะกรรมการ กสทช.ให้มากขึ้น รวมถึงทบทวนการแจกคูปองกล่องทีวีดิจิตัลให้ทั่วถึง ในส่วนของรถสาธารณะ ที่ประชุมสมัชชาฯ มีมติให้ดูแลรถโดยสารสองชั้น โดยเบื้องต้นให้กำหนดเขตห้ามวิ่งในเส้นทางที่อันตราย เช่น ไหล่เขา ส่วนในระยะยาวไม่อนุญาตให้มีการจดทะเบียนเพิ่มอีก, กำหนดมาตรฐานของรถสาธารณะทุกประเภท เช่น ระยะเวลาใช้งาน มาตรฐานการผลิต รวมถึงการออกมาตรการดูแลมาตรฐานคนขับรถโดยสารทุกประเภท ประเด็นอาหารและยา สมัชชาฯ มีข้อเสนอเกี่ยวกับฉลากอาหารให้ดูแลเข้มงวดหลายประการ เช่น การแสดงวันหมดอายุ วันผลิต, ฉลากต้องเป็นภาษาไทย, รวมถึงประกาศมาตรการฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร นอกจากนี้ยังระบุให้รัฐต้องเปิดเผยเนื้อหาการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ ซึ่งมักมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับมาตรการด้านอาหารและยาเพื่อไม่ให้กระทบต่อการเข้าถึงของประชาชน ด้านประเด็นบริการสุขภาพว่า มีข้อเสนอสำหรับการปรับระบบประกันสุขภาพที่เท่าเทียม โดยให้ปรับความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสวัสดิการ โดยให้ยกเลิกการจ่ายเงินสมทบส่วนการรักษาพยาบาลและให้ผู้ประกันไปใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ยกเลิกการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ หรือหากไม่ยกเลิกการจ่ายสมทบก็อาจนำเงินไปใช้กับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ของผู้ประกันตน เช่น บำเหน็จชราภาพ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 2556 ระวัง “กลลวงทดสอบคุณภาพน้ำ” การประปานครหลวง (กปน.) ฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับการทดสอบความสะอาดและคุณภาพของน้ำดื่ม เพราะทั้งสร้างความเข้าใจผิดเรื่องความสะอาดของน้ำดื่ม แถมยังหวังหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงซื้อผลิตภัณฑ์ปรับคุณภาพน้ำ   มีการโฆษณาชวนเชื่อโดยการนำเครื่องมือทดสอบ ชนิดเครื่องแยกสารละลายด้วยไฟฟ้า หรือ เครื่องอิเล็กโทรไลซิส (Electrolysis) ซึ่งประกอบด้วยขั้วไฟฟ้า 2 ขั้ว คือเหล็ก และอะลูมิเนียม โดยเมื่อนำเครื่องมือทดสอบดังกล่าวจุ่มลงไปในน้ำดื่มทั่วไปที่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุ และทำให้ไฟฟ้าไหลผ่านน้ำที่ทดสอบ ขั้วไฟฟ้าที่ทำด้วยเหล็กจะละลายและทำปฏิกิริยากับน้ำ ทำให้เกิดตะกอนที่มีสีน้ำตาลแดงคล้ายสนิมเหล็ก เรียกว่า เหล็กไฮดรอกไซด์ ซึ่งตะกอนที่ละลายออกมาจากเครื่องมือนี้เอง ที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนว่าน้ำที่มีตะกอนละลายคือน้ำที่ไม่สะอาด มีสิ่งเจือปน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งความจริงแล้ว น้ำดื่มที่เหมาะแก่การบริโภค ต้องมีส่วนประกอบของแร่ธาตุอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม จึงไม่แปลกที่เมื่อนำเครื่องมือดังกล่าวมาทดสอบแล้วเกิดสีหรือตะกอน ในขณะที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวนำน้ำบริสุทธิ์หรือน้ำที่ผ่านกระบวนการ Reverse Osmosis หรือการขจัดแร่ธาตุทุกชนิดออกไปจากน้ำ จนไม่มีสิ่งใดๆ เจือปนอยู่เลยเทียบเท่าได้กับน้ำกลั่นมาทดสอบ จึงไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ ขึ้นทั้งสิ้น และทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าน้ำดังกล่าวคือน้ำที่สะอาดที่สุด   กปน.ยืนยันว่าน้ำประปาที่ผลิตได้นั้น ได้มาตรฐานน้ำดื่มตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก     ขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาล นโยบายปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลเริ่มส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วนของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการรักษาพยาบาล เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเตรียมปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาล โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปรับตามสภาวะเศรษฐกิจ หลังจากที่ไม่ได้ปรับราคามาตั้งแต่ปี 2547 โดยทางกระทรวงฯ เชื่อว่าจะไม่กระทบกับคนไทยส่วนใหญ่ซึ่งมีระบบหลักประสุขภาพรองรับ ทั้งระบบบัตรทอง ระบบประกันสังคม และระบบราชการ แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ที่จะต้องรับผลกระทบโดยตรงแน่นอน เพราะเมื่อมีประกาศเรื่องการขึ้นราคารักษาพยาบาลจากกระทรวงฯ โรงพยาบาลเอกชนเองก็จะต้องปรับขึ้นราคาตามประกาศ หรือแม้แต่กลุ่มผู้ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ก็อาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในกลุ่มประกันสังคมอาจมีการเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มจากทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ใช้สิทธิประกันสังคม   ค่าบริการใหม่ครั้งนี้มีรายการที่จะออกประกาศใหม่ทั้งหมด 2,713 รายการ หมวดที่เพิ่มขึ้นสูงสุด คือ ค่าตรวจรักษาโรคโดยวิธีพิเศษซึ่งเพิ่มขึ้น 53% เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีใหม่ รองลงมา คือค่าบริการรังสีวินิจฉัย เวชศาสตร์นิวเคลียร์และรังสีรักษา เพิ่ม 23%รายการที่เพิ่มต่ำสุด คือ ค่าบริการเทคนิคการแพทย์ 8%     กสทช. แจกคูปองส่วนลดกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การรับชมโทรทัศน์ในบ้านเราจะมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาณเป็นระบบดิจิตอลที่มีความคมชัดของทั้งภาพและเสียงดีกว่าสัญญาณระบบอนาล็อกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการส่งสัญญาณในครั้งนี้จะมีผลทำให้แต่ละบ้านต้องมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการรับชม แต่ผู้บริโภคว่าไม่ต้องกังวลว่าถึงขนาดต้องเปลี่ยนโทรทัศน์ใหม่ เพราะสามารถใช้กล่องรับสัญญาณหรือ set top box รับสัญญาณชมรายการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้ตามปกติ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมแจกจ่ายคูปองส่วนลดให้กับประชาชนทุกครัวเรือนเพื่อนำไปซื้อ Set-top-box เพื่อเตรียมพร้อมสู่การรับชมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล   ข้อดีของทีวีดิจิตอล คือ ในหนึ่งช่องสัญญาณจะสามารถนำมาส่งได้หลายรายการโทรทัศน์ สำหรับรายการดิจิตอลทีวีของประเทศไทยจะมีจำนวน 48 ช่อง ได้แก่ ช่องบริการชุมชน 12 ช่อง ช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง ช่องบริการธุรกิจ (เชิงพาณิชย์) 24 ช่อง ซึ่งยังแบ่งออกเป็นในหมวดรายการเด็กและเยาวชน 5 ช่อง หมวดข่าวสารและสาระ 5 ช่อง หมวดช่องทั่วไป 10 ช่อง หมวดช่องรายการที่มีคุณภาพความคมชัดสูง (HD) 4 ช่อง     โทรนาทีละ 99 สตางค์ จากนี้ไปผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายต้องคิดค่าโทรในอัตรานาทีละไม่เกิน 99 สตางค์ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีประกาศเรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ.2555 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2555   จากการตรวจสอบของ กสทช. พบว่าต้นทุนการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ไม่เกินนาทีละ 1 บาท ประกาศฉบับนี้จึงทำให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการในราคาที่เป็นธรรม   โดยตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นบริการในระบบเติมเงินหรือเหมาจ่ายรายเดือน ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือห้ามคิดค่าโทรเกิน 99 สตางค์ หากใครพบว่ามีการฝ่าฝืนสามารถแจ้งข้อมูลหรือร้องเรียนเข้ามาได้ทางสายด่วนรับเรื่องร้อนของ กสทช. หมายเลข 1200     ปั่นจักรยานดันกฎหมายผู้บริโภค กลุ่มผู้บริโภคจากทั่วประเทศรวมกันขี่จักรยานและเดินเท้า ถือป้ายรณรงค์กฎหมายองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค และนำรายชื่อประชาชน 107,905 รายชื่อ สนับสนุนการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ให้ช่วยเร่งจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556   โดยกิจกรรมการ “ปั่นจักรยานทวงสิทธิของคุณคืนมาด้วยมาตรา 61” ถือเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่เริ่มต้นตั้งแต่การรวมตัวปั่นจักรยานของกลุ่มเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่บริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 และกิจกรรมครั้งที่ 2 คือการปั่นจักรยานที่สวนรถไฟในวันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ ก่อนจะปิดท้ายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ด้วยกิจกรรมขบวนจักรยานและเดินเท้าของกลุ่มพี่น้องเครือข่ายผู้บริโภคจากทั่วประเทศกว่า 500 คน จากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า มายังหน้ารัฐสภา เพื่อเป็นการแสดงพลังและส่งเสียงทวงถามถึงความคืบหน้าในการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับสำคัญที่มาจากประชาชน พร้อมกันนี้มีการยื่นหนังสือต่อ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายวัฒนา เซ่งไพเราะ และ ส.ส. ส.ว. อีกหลายท่าน เช่น นายบุญยอด สุขถิ่นไทย  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  นางสาวรสนา  โตสิตระกูล  สว.สรรหากรุงเทพมหานคร  นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย   สมาชิกวุฒิสภา สรรหา และนายวิทยา บูรณะศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ตำแหน่งประธานวิปรัฐบาล เพื่อให้ช่วยกันผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้   แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 61 กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดตั้งองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคขึ้น ซึ่งประชาชนได้ทำการเข้าชื่อกันกว่า 10,000 ชื่อเพื่อเสนอกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 แต่ปัจจุบันการพิจารณาก็ยังค้างคาอยู่ในกระบวนการจัดตั้งกรรมาธิการร่วม ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งกลุ่มองค์กรผู้บริโภคเห็นว่ากระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้ล่าช้าเกินไป ทั้งที่เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ และเกรงว่าร่างกฎหมายจะตกไปหากหมดสมัยประชุมสภา กลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคจึงต้องออกมารวมพลังเรียกร้องในครั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายฉบับนี้ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 “สถานการณ์ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”

ผศ.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  และเป็นรองประธานกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ( และผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ )   ซึ่งหน่วยงานนี้คือ สิ่งที่คนนอกรู้จักแบบง่าย ๆ ว่าเป็นองค์กรภาคจำลองที่ภาคประชาชนตั้งขึ้นเพื่อเป็นโมเดล  นอกจากอาจารย์จะช่วยผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว  สาเหตุที่อาจารย์สนใจเรื่องผู้บริโภคนั้นท่านเล่าว่า  “ในประเทศไทยทุกคนเป็นผู้บริโภค บางคนก็อยู่ใน 2 สถานะ คือเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจ คืออาจะเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการสร้างคอนโค อาคารชุด แต่คุณก็เป็นผู้บริโภคในการซื้อของในห้างสรรพสินค้า เลยทำให้คิดว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว เราก็ต้องมาดูว่าสิ่งที่ใกล้ตัวเราต้องระวังอะไรบ้าง ต้องป้องกันหรือแก้ไขอะไรบ้าง” นอกจากนี้ท่านยังมีความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ พ.ร.บ.ผู้บริโภค กฎหมายที่เดิมวาดฝันเอาไว้ว่าจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการทำงานของผู้บริโภค  เป็นเสมือนความหวังให้ผู้บริโภคใช้สิทธิได้อย่างง่ายดายนั้น   วันนี้มีสถานการณ์เป็นอย่างไร สถานการณ์เกี่ยวกับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ต้องบอกก่อนว่าสาเหตุที่ออกกฎหมายเพื่อให้ผู้บริโภคได้มีคุณภาพชีวิตในเรื่องของการใช้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอุปโภค บริโภค หรือว่าทุกๆ สิ่ง ที่จะสามารถเท่าทันกับผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ได้หมายความว่าต้องไปแข่งกันนะ เท่าทันคือรู้ว่าอะไรควรจะมีให้ผู้บริโภค เมื่ออดีตมันออกมาแล้วเหมือนคนตัวใหญ่กับคนตัวเล็ก ซึ่งเวลามีปัญหาขึ้นมานั้นคนตัวเล็กก็ต้องแพ้ ด้วยเหตุนี้ก็จำเป็นต้องมี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคขึ้นมา จุดประสงค์หลักก็คือ ทำให้มีการดำเนินคดีในศาลร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภคในการทำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งในอดีตเวลามีคดีขึ้นสู่ศาล ผู้บริโภคจะแพ้เกือบ 100 % เลยต้องมีกฎหมายตัวนี้ แต่พอกฎหมายฉบับนี้ออกเมื่อปี 2551 แต่สภาพบังคับหรือวิธีปฏิบัติ การใช้จริงๆ จะเกิดประโยชน์มากน้อยขนาดไหน ต้องบอกว่าหลังจากมี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคหลังปี 2551 คดีผู้บริโภคนำขึ้นสู่ศาลนั้นเยอะกว่าตอนที่ยังไม่มีกฎหมาย ถ้าถามว่าทำไมมีกฎหมายแล้วยังมีการนำคดีขึ้นสู่ศาลในคดีผู้บริโภคมากกว่าเดิม ต้องมาดูว่าการบังคับใช้กฎหมายทำให้เกิดการบังคับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายจริงหรือไม่ จริงหรือไม่ที่ออกมาแล้วเกิดการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องบอกเลยว่าในความเป็นจริงแล้วนั้นมันก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้ 100 % บางอย่างก็ปฏิบัติได้ บางอย่างก็ไม่ได้ แต่ทั้งนี้นั้นกรณีหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้ให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เมื่อไม่ให้ความสำคัญ จะมีหรือไม่มีเขาก็ปฏิบัติตามที่เขาต้องการที่จะทำ ก็เลยทำให้การบังคับใช้กฎหมายมันไม่เกิดประโยชน์ การที่ผู้ประกอบการใช้ช่องว่างในการฟ้องร้อง อยากให้ อ.ยกตัวอย่าง ก็มี อย่างแรกเลยกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคนั้น ใช้ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจอยู่ภายใต้กฎหมายนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าผู้บริโภคเห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจเอาเปรียบ เราก็ใช้สิทธิฟ้องได้ แต่ถ้าเกิดผู้ประกอบธุรกิจเห็นว่าผู้บริโภคเริ่มผิดนัดในเรื่องมูลหนี้อื่นๆ นั้น ผู้ประกอบธุรกิจก็ฟ้องผู้บริโภคได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นไม่ได้จำกัดว่าผู้บริโภคที่ใช้กฎหมายฉบับนี้ได้ฝ่ายเดียว ผู้ประกอบธุรกิจก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน อันนี้คือจุดเริ่มต้น ส่วนกระบวนการพิจารณาก็ต้องไปว่ากันอีกว่ามันมีตัวช่วยอะไรบ้าง แต่ทั้งนี้ถ้าถามว่าที่ผ่านมานั้นคดีที่ขึ้นสู่ศาลเกือบ 70 % เป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจฟ้องร้องผู้บริโภค เลยอาศัย พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนในการที่จะฟ้องคดี ก็กลายเป็นว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายเริ่มบิดเบือนไปจากความเป็นจริง อันนี้คือสภาพปัญหาที่ผู้บริโภคคิดว่ามีหรือไม่มีก็ไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไร สิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคคิดว่าเข้าถึงยากคือเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าจัดการ จริงๆ แล้วพ.ร.บ. นี้ก็ได้ออกแบบว่าผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิได้โดยไม่ต้องจ้างทนายความ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ไม่ต้องเสียค่าส่งหมายศาล หรือค่าใช้จ่ายอะไรต่างๆ นั้นผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายเลย แต่เมื่อฟ้องคดีไปแล้วเวลานำเข้ากระบวนการสืบพยาน ไม่ว่าจะพยานโจทย์ พยานจำเลย ในที่สุดก็ต้องใช้ทนายความ จริงๆ จะมีเจ้าพนักงานคดีผู้บริโภค ในทางความเป็นจริงแล้วเขาก็ไม่สามารถจะช่วยผู้บริโภคได้อย่างเต็มเวลา ฉะนั้นบ่อยครั้งที่เวลาคดีขึ้นไปสู่ศาล ผู้พิพากษาก็จะถามว่าผู้บริโภคมีทนายหรือเปล่า ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องของทางปฏิบัติ ในทางทฤษฎีอาจจะมองไม่เห็น แต่ในทางปฏิบัติเวลาเดินเรื่องไปผู้บริโภคต้องใช้ทนาย อย่างไรก็ต้องใช้ทนาย แม้ว่ากฎหมายจะออกแบบๆ ไม่ต้องใช้ทนายความ ก็ยังต้องใช้อยู่ดี แล้วค่าธรรมเนียม ค่าธรรมเนียมได้รับการยกเว้นอยู่แล้วครับ ไม่ต้องจ่าย ก็คือออกแบบมาอย่างเช่นเพื่อที่จะต้องการส่งหมาย เช่น ผู้บริโภคต้องการที่จะเรียกพยานคนที่ 1 คนที่ 2 มานั้นทางหน่วยงานของรัฐฯ ก็จะมีงบประมาณในเรื่องของการสนับสนุนเรื่องค่าส่งหมายอยู่แล้ว จึงไม่ต้องจ่ายแต่ว่ามันจะมีปัญหาตรงที่สืบพยาน ต้องใช้ทนาย หรือถ้าไม่มีทนายเขาต้องสืบเองซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ผู้บริโภคจะสืบเอง ถ้าอย่างนี้คนที่ไม่มีจริงๆ ต้องทำอย่างไร ถ้าในที่สุดไม่มีความช่วยเหลือเรื่องของตรงนี้จริงๆ ก็ต้องใช้เจ้าพนักงานคดีผู้บริโภคเป็นคนช่วยสืบพยานให้ ซึ่งน้อยครั้งที่พนักงานคดีผู้บริโภคจะว่างมาทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะงานเขาก็เยอะ ทีนี้ก็กลายเป็นว่าเราออกแบบกฎหมายจริงแต่ไม่ได้ออกแบบในเรื่องบุคลากรในการติดตามถึงความสำเร็จในการใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ อย่างนี้จะแก้ไขปัญหาในด้านกฎหมาย มีการเพิ่มเติมกับ พ.ร.บ. นี้อย่างไร จริงๆ คิดว่าสิ่งหนึ่งต้องเข้าใจเวลาพิจารณาคดีในศาลประกอบไปด้วย 3 ฝ่าย คือตัวศาล คือท่านผู้พิพากษาเอง ตัวฝั่งทนายความโจทย์หรือโจทย์คดีผู้บริโภค หรือฝ่ายจำเลย ผู้ประกอบธุรกิจ หรือทนายจำเลย เพราะฉะนั้นที่บอกว่าไม่ต้องจ้างทนายก็ได้ แต่ถ้าจ้างก็ต้องดูอีกว่าศาลมีอำนาจมากน้อยขนาดไหน จริงๆ ศาลมีอำนาจที่จะเรียกพยานหลักฐานที่ได้มาเองโดยไม่ต้องให้ทนายฝ่ายโจทย์หรือจำเลยไปเสาะหามา ซึ่งในทางกฎหมายเราเรียกว่าเป็นระบบไต่สวนแต่กฎหมายอื่นๆ จะเป็นระบบกล่าวหาก็คือต้องฟังอย่างเดียว แต่ถ้าเกิดกฎหมายฉบับนี้ก็คือผู้พิพากษาสามารถที่จะเรียกส่วนที่เกี่ยวข้องมาได้ แต่ในทางปฏิบัติ ณ ปัจจุบันนี้ผู้พิพากษาก็ยังไม่ได้ทำหน้าที่นี้อย่างสมบูรณ์ เลยเกิดการที่เรียกว่าทำให้ในมิติของท่านผู้พิพากษานั้นขาดหายไปในการพิจารณาคดี ตัวอย่างคดีผู้บริโภคที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นกำลังใจให้คนที่กำลังรู้สึกว่าเรื่องพวกนี้เข้าถึงยาก คือจริงๆ แล้วกระบวนการพิจารณาคดีในศาล ผมคิดว่านั้นกระบวนการที่สมบูรณ์และมีความสำเร็จและถือว่ามีประโยชน์สูงสุดก็คือ ในระบบของการไกล่เกลี่ยคู่ความก่อนที่จะมีการสืบพยาน ตรงนี้ถือว่าสำคัญมากเพราะทุกอย่างสามารถคุยกันได้ ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย มันไม่ใช่เรื่องฟันแทงกันมา เพราะฉะนั้นผมเข้าใจว่าตรงนี้นั้นช่วงหลังนโยบายของศาลยุติธรรมต่างๆ ก็จะมีนโยบายในเรื่องการไกล่เกลี่ยซึ่งระบบไกล่เกลี่ยนี้ที่ผ่านมาเคยเป็นทนายความบ้าง หรือเป็นธุระให้กับผู้บริโภคบ้าง เคยจบตรงนี้ก็มีหลายกรณี ซึ่งถ้าจบตรงนี้แล้วก็ถือว่าประสบความสำเร็จทั้ง 3 ฝ่าย ฝ่ายโจทย์ จำเลย และศาล แต่ถ้าไม่จบขึ้นมาในขั้นสืบพยาน หลักฐาน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ประมาณ 4 % น้อยมากๆ ส่วนใหญ่จะไกล่เกลี่ยกันได้ แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ผู้ไกล่เกลี่ยด้วยว่าสามารถที่จะคุยให้ทั้ง 2 ฝ่ายรอมชอมกันได้ไหม อยากให้ อ. แนะนำผู้บริโภคเวลามีคดีเกี่ยวกับผู้บริโภค คือผู้บริโภคที่เป็นข้อที่เสียเปรียบเวลานำคดีขึ้นสู่ศาลนั้น พวกหลักฐานต่างๆ นั้นผู้บริโภคจะไม่ค่อยเก็บ เช่น ใบเสร็จรับเงิน หรือว่าแผ่นพับรายละเอียดการโฆษณาต่างๆ หรือในกรณีของทรัพย์สินที่เกี่ยวกับเรื่องความเสียหายของผู้บริโภค ตรงนี้ไม่ได้เก็บ เป็นข้อที่เสียเปรียบ ในความหมายของคำว่าเก็บบางคนอาจจะคิดว่าเครื่องซักผ้าเสียจะให้เก็บอย่างไร ก็เก็บโดยการถ่ายรูปหรือเก็บในรูปแบบของไฟล์คอมพิวเตอร์ เป็นไฟล์ PDF ประมาณนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เสียเปรียบในตอนนี้ คือความไม่รู้ว่าผู้บริโภคต้องเก็บอะไรบ้างเวลานำคดีขึ้นมาสู่ศาล ตรงนี้ผู้บริโภคจะไม่ค้อยทราบ หรือถ้าทราบก็เก็บไว้ไม่ครบ ตรงนี้เป็นประเด็นที่ถือว่าสำคัญ เวลาขึ้นศาลพยานหลักฐานถือว่าสำคัญ อย่างนี้เวลาเราซื้อบ้านหรือคอนโดใหม่สิ่งที่เราควรทำคือ ถ้าซื้อใหม่ก็ใบโฆษณา ถ้ามีการออกสปอตรายการวิทยุ สถานีโทรทัศน์ เก็บไว้ได้ก็ดีเพราะว่าหลายรายการจะมีกรณีที่ว่าตอนโฆษณามีสระว่ายน้ำ แต่พอเสร็จแล้วสระว่ายน้ำไม่มีเพราะพื้นที่ไม่พอ แบบนี้ถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภคเพราะบางทีเราซื้อเพราะมีสระว่ายน้ำ เพราะฉะนั้นตรงนี้ถือว่าต้องเก็บสัญญาซื้อ – ขาย ใบเสร็จการผ่อนค่างวดแต่ละงวด เหล่านี้สำคัญหมด แม้กระทั่งที่ตั้งของสำนักงานของผู้ประกอบธุรกิจว่าอยู่ที่ไหน อย่างไรเป็นเรื่องสำคัญ ที่สำคัญอีกอย่างคือเจ้าของโครงการแต่ละที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็จะเป็นในรูปของนิติบุคคล เพราะฉะนั้นไปดูหนังสือรับรองนิติบุคคลนั้นๆ ด้วยว่าในแต่ละปีมีการส่งงบดุลเป็นปัจจุบันหรือเปล่า อันนี้หมายถึงสถานะทางการเงินของเจ้าของโครงการเพื่อเราจะได้รู้ว่าตอนนี้อยู่ถึงไหน อย่างไร

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 162 รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ

ฉลาดซื้อฉบับที่ผ่านมา เราพาไปรู้จักกับบุคลากรด้านสาธารณสุขในหลายวิชาชีพ ในฉบับนี้จึงขอส่งท้ายอีกสักเล่ม เพราะหลายๆ ครั้งที่ชาวฉลาดซื้อไปออกบูธตามงานหนังสือ มักมีสมาชิกจำนวนไม่น้อยเลยที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพสายตา ยิ่งเดี๋ยวนี้มีข่าวอันตรายจากบิ๊กอายส์ เลนส์สี หรือบางคนก็ใส่คอนแทคเลนส์แบบไม่ถูกวิธี วันนี้จึงขอพาไปพูดคุยกับคุณหมอ รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ รองหัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา ฝ่ายบัณฑิตศึกษา  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณหมอท่านเป็นจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขากระจกตา  ซึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า ที่เลือกเรียนในสาขานี้ เพราะเป็นความสนใจส่วนตัว  เนื่องจากคนเราต้องรับรู้เกือบทุกอย่างผ่าน หู ตา คอ จมูก แต่คุณหมอพบว่าตามันเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนมาก เลยรู้สึกสนใจเป็นพิเศษ และเทคโนโลยีเรื่องการรักษาตามันไปไกลมากเมื่อเทียบกับด้านอื่นๆ ก็เลยรู้สึกสนุกและติดตามด้านนี้อย่างต่อเนื่อง เรื่องตามันช่วยบ่งบอกเรื่องสุขภาพในด้านอื่นๆ ด้วยไหม โรคบางอย่างของร่างกายมันโชว์ที่ตานะ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือการได้รับยาบางอย่าง โรคเนื้องอกที่แพร่กระจายบางอย่างเราสามารถหาหลักฐานทางตาเอาไปช่วยสนับสนุนได้ อย่างเช่น เราเห็นว่ามีไขมันฝังอยู่ในตาของเด็กที่อายุน้อยเกินไป เพราะปกติอาการแบบนี้จะพบในคนอายุประมาณ 35 – 40 ปีขึ้นไป ถ้าตรวจเจอในอายุน้อยกว่านั้นเรารู้แล้วว่าคนนั้นมีภาวะไขมันในเลือดสูง หรือบางคนตาแห้ง ตาพอง ก็ส่งไปตรวจว่าเป็นไทรอยด์หรือเปล่า สถานการณ์เด่นๆ ของการเจ็บป่วยเกี่ยวกับดวงตา ในระยะ 2 – 3 ปีที่ผ่านมามีอะไรบ้าง ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาเรื่องที่จะเจอบ่อยๆ มีอยู่ 2 เรื่อง คือการใช้คอนแทคเลนส์ การใช้ Mobile Device หรือที่มีการเล่นไลน์กัน  2 ส่วนนี้ทำให้มีคนไข้มาหาเราเยอะมาก ในส่วนแรกเรื่องของคอนแทคเลนส์นั้น จริงๆ การใส่คอนแทคเลนส์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วส่วนใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการมองเห็น  แต่เนื่องจากว่ามีเรื่องของแฟชั่นเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น หรือการเลียนแบบดาราต่างประเทศ ทำให้หลายคนคิดว่าต้องมีตาดำที่โต ตาดำที่แหวกแนวแบบพวกดาราเหล่านั้น เพราะฉะนั้นคอนแทคเลนส์ก็เลยมีแบบสวยงามเพื่อใส่ตอนกลางวันทำงานออกมา แล้วก็มีแบบปาร์ตี้ แล้วการใช้คอนแทคเลนส์นั้น  เลนส์ยิ่งใหญ่มันจะทำให้ไปบดบังออกซิเจนไม่ให้เข้าตา ซึ่งลูกตาก็จะขาดออกซิเจนได้ แล้วก็จะทำให้เส้นเลือดเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตาแดงได้ คนไข้ก็มาเพราะไม่สบายตา อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วๆ ไป   แต่สิ่งที่สำคัญที่ลงหนังสือพิมพ์ในช่วง 1 – 2 ปีนี้คือ ตัวคอนแทคเลนส์นั้นกลับมาถูกเด็กเล็กในอายุสิบกว่าๆ ซึ่งอายุเท่านี้เป็นวัยที่สมัยก่อนต้องให้พ่อแม่พามาซื้อ แต่เดี๋ยวนี้มีขายเกลื่อนในท้องตลาดซึ่งทำให้ซื้อหาง่าย พอซื้อหาง่ายดูในทีวีสวยก็ซื้อมาใส่ แต่ด้วยปัจจัยของเด็กที่มีไม่ได้เยอะ ทำให้มีการเอามาแลกกันใส่โดยไม่ได้คำนึงถึงการที่มันพอดีกับสายตาของตนเอง เพราะลูกตาคนเราไม่เท่ากัน ไม่มีการเคิร์ฟของลูกตาดำว่าเท่าไร แล้วพอซื้อตามร้านก็ซื้ออะไรก็ไม่รู้ ทำให้เกิดความไม่คงที่ ทำให้ปวดตาได้ หรือความที่ไม่รู้ทำให้มาแลกกันใช้ ไม่มีการให้ความรู้ในเรื่องความสะอาด ปกติคอนแทคเลนส์ต้องล้างทุกวัน ด้วยล้างน้ำยา แต่เด็กพวกนี้ไม่ได้ทำเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเกิดการติดเชื้อที่ดุมาก คือเชื้อนี้เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อกระจกตา ทำให้กระจกตาทะลุ และอาจทำให้ตาบอดได้ เป็นอันตรายที่คิดว่าต้องหาทางป้องกัน การป้องกันต้องป้องกันในสองลักษณะคือ หนึ่ง เกิดจากเด็กที่ไม่มีความรู้ และสอง คือมีขายเกลื่อนตามท้องตลาด มันเข้าถึงง่ายเกินไป  ซึ่งอาจจะเป็นของที่ไม่ได้มาตรฐานด้วยซ้ำ การที่เด็กใช้คอนแทคเลนส์ไม่ถูกวิธี เพราะฉะนั้นเวลาติดเชื้อขึ้นมา การรักษาเนื่องจากเด็กเคืองตาแล้วปล่อยทิ้งไว้  ไม่ได้มาหาหมอทันที การรักษาก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง แล้วเรื่องที่เกี่ยวกับแสงจากโทรศัพท์มือถือ คนไข้ที่มาหาที่ห้องผู้ป่วยนอกมีเยอะมากเลย คือ เคืองตา ไม่สบายตา แสบตา ซักถามไปมาก็คือมันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในปัจจุบันเพราะเราทุกคนต้องใช้ เด็กก็ใช้ คุณครูก็ใช้สั่งงานผ่านทาง Facebook แล้ว และเวลาเด็กเข้าไปทำงานเขาก็ไม่ได้เข้าผ่านจอคอมพิวเตอร์แล้วเขาใช้ผ่านมือถือ เพราะฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว ที่สหรัฐอเมริกา เขาทำการศึกษาเลยว่า การใช้โทรศัพท์มือถือ ไอแพด รวมทั้งคอมพิวเตอร์นั้น มีกี่เปอร์เซ็นต์ใช้เกิน 10 ชั่วโมง กี่เปอร์เซ็นต์ใช้เกิน 6 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นการใช้ของพวกนี้พบเลยว่า แสงจากหน้าจอทำให้แสบตา อันที่ 2 คือหน้าจอเครื่องพวกนี้มันมีความ Bright มาก คือ เวลาเราดูภาพอะไรเล็กๆ เราจะจ้องเขม็งไม่ได้กะพริบตา เคยมีการศึกษาโดยเอาเครื่องมือมาจับการกะพริบตาพบว่า การกะพริบตาของคนเราลดลงได้ 2 – 10 เท่าเลยทีเดียวในขณะจ้องอยู่หน้าจอพวกนี้ ยิ่งเวลาเล่นเกมยิ่งไม่กะพริบตาเลย กะพริบก็กะพริบเร็วๆ ไม่สุด เพราะฉะนั้นเมื่อตาอยู่อย่างนั้นน้ำตาก็ระเหย ตาก็จะแห้ง แล้วก็แสบตา การจ้องนานๆ กล้ามเนื้อทำงานเยอะนอกจากแสบตาและตาแห้งแล้ว การจ้องนานๆ กล้ามเนื้อไม่คลายทำให้ปวดตาและเห็นเป็นภาพซ้อน มองภาพแล้วเบลอ และถ้าเราหลีกเลี่ยงไม่ได้เราต้องให้ความรู้ในการที่จะใช้เครื่องมือพวกนี้ ต้องให้ทุกคตระหนักว่าการใช้เครื่องมือพวกนี้ทำอย่างไร มันก็มีเทคนิคการใช้เครื่องมือพวกนี้เหมือนกัน เวลาที่ใช้คอมพิวเตอร์เราไม่ควรใช้ติดต่อกันอย่างยาวนาน เพราะพบว่าการใช้ติดต่อกันยาวๆ นั้นก่อโรคแน่นอนเรียกว่า คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม(Computer vision syndrome) ซึ่งโรคพวกนี้เป็นกันอยู่แล้วคนทำงานออฟฟิศ นักเรียนหรือคนที่ทำงานต้องใช้คอมพิวเตอร์อยู่ตลอดเวลา จริงๆ เราสามารถใช้คอมพิวเตอร์วันละ 6 ชั่วโมง ได้ถ้าเราใช้ถูกต้อง ถูกต้องคือ เริ่มจากเลือกคอมพิวเตอร์ เลือกเก้าอี้ มือต้องวางระนาบ ตัวต้องสูงขึ้นมา ตาต้องหลุบมองแนวต่ำถ้าตาเบิกขึ้นไปน้ำตาจะระเหย คอมพิวเตอร์ต้องอยู่ต่ำกว่าสายตานิดหน่อย แล้วประมาณ 20 – 30 นาทีให้เบรกหรือพัก เบรกหมายถึง เบรกจากการมองคอมพิวเตอร์หรือการมองที่ใกล้ๆ ให้มองไปที่ไกลๆ เป็นระยะอนันต์เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว เมื่อกล้ามเนื้อคลายตัวประมาณ 5 – 10 นาที เช่นพักไปห้องน้ำ ไปชงกาแฟดื่ม อย่างนั้นจะทำงาน 6 หรือ 8 ชั่วโมง ก็ทำได้ และระหว่างนั้นแสงสว่างในห้องต้องดีด้วย ไม่อยู่ในที่มืดเวลาทำงาน หรือดูหนังในห้องแล้วปิดไฟ สำหรับตำแหน่งที่ตั้งของไฟไม่ตั้งให้ส่องไปที่คอมพิวเตอร์เพราะจะทำให้แสงสะท้อน ตั้งคอมพิวเตอร์ไว้ใกล้หน้าต่างแสงก็สะท้อนเข้ามาเหมือนกัน เรื่องความสว่าง(Bright) นี่ก็สำคัญ Resolution ความคม ตัวหนังสือ  Font เป็นอย่างไร แนะนำคือ ต้อง 3 เท่าของตัวหนังสือที่เล็กที่สุดที่เราพอมองเห็นได้ ระหว่างทำตำแหน่งเก้าอี้เราต้องพอดีกับตัวคีย์บอร์ด นิสัยของการใช้คอมพิวเตอร์ที่ดีคือ ต้องพยายามเบรกให้ได้ และกะพริบตาบ่อยๆ หมอต้องบังคับให้คนไข้กะพริบตาบ่อยๆ กะพริบตาอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังไงก็ยังมีอาการตาแห้งมาหาเรื่อยๆ  สิ่งที่หมอช่วยได้ ก็คือเติมน้ำตาเทียมเข้าไปเวลาที่รู้สึกล้าที่ดวงตา ไม่สบายตา เบรก เติมน้ำตาเทียม กะพริบตาบ่อยๆ ก็จะช่วยได้ ซึ่งการให้ความรู้พวกนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ปัญหาแบบเด็กสายตาสั้นก่อนวัยอันควรมีบ้างไหมคะ คนไข้ส่วนใหญ่ที่หมอพบ จะพบว่าคนมาหาเนื่องจากเคืองตา ไม่สบายตา ค่อนข้างเยอะ ทำให้สูญเสียเงินในการที่จะดูแล ต้องใช้ยา ส่วนปัญหาในเด็กที่พบคือ วุ้นตาเสื่อม ซึ่งอาการแบบนี้สมัยก่อนต้องอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป ถึงจะพบวุ้นตาเสื่อม ปัจจุบันในอายุ 20 – 30 ปีก็พบว่าเริ่มมีวุ้นตาเสื่อม แต่ยังไม่สามารถตอบได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะไม่ได้ทำการศึกษาเป็นตัวเลขไว้ แต่จากประสบการณ์คือมันเยอะกว่าในทฤษฎีที่เคยเรียนมา เป็นปรากฏการณ์ที่พบในปัจจุบัน มีข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่จะทำอย่างไรให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เข้ามาเกี่ยวกับเรื่องสายตา ต้องบอกว่าถ้าเราจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เราก็ต้องไล่ตามว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ให้รู้เท่าทัน เพราะมันมีทั้งคุณ และโทษ เราต้องรู้ว่า อะไรบ้างที่อาจจะเป็นปัญหากับสุขภาพเรา เช่น คอมพิวเตอร์ดีมากเลยเราจำเป็นต้องใช้ แต่เราต้องรู้ว่ามันจะส่งผลเสียกับตานะ ทำให้เกิดคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมได้นะ และยังมีผลกับร่างกายได้ด้วย เช่น ถ้าเราตั้งมือขึ้นมาพิมพ์คีย์บอร์ดเราก็จะปวดข้อมือ เพราะฉะนั้นมือเราต้องอยู่ในระดับระนาบ บางทีคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมมันทำให้เรารู้สึกเมื่อย เพลีย เหมือนเป็นคนป่วยเลยนะ เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ร่างกายเราอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง ต้องติดตามว่าประสิทธิภาพในการใช้เครื่องมือพวกนี้เป็นอย่างไร ได้มาตรฐานไหม เพราะฉะนั้นเวลาจะซื้อมาใช้ก็ต้องคิดเหมือนกันว่า รุ่นนี้เมื่อก่อนจอคอมพิวเตอร์เป็นจอนูน ซึ่งมันปล่อยรังสีได้ แต่เดี๋ยวนี้เป็นจอแอลซีดีไม่มีใครใช้จอนูนแล้ว เรื่องของรังสีก็ปลอดภัยในระดับหนึ่ง   เรื่องแสงจ้านี้พวกฟิล์มกรองแสงช่วยได้บ้างไหม มันจะช่วยให้สบายตา ก็จะมีแว่นที่ช่วยกรองแสงจากคอมพิวเตอร์สำหรับคนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์นานๆ ก็มีแว่นที่ช่วยป้องกันไม่ให้มัน Brightness เกินไป อาจจะเป็นสีเทา กรองแสงสีฟ้าไปด้วยในตัว ก็จะมีแว่นเฉพาะเพิ่มความสบายตาให้คนไข้ เพราะฉะนั้นผู้บริโภคที่ต้องใช้ของพวกนี้ก็ต้องไปสืบหาว่าใช้คอมพิวเตอร์วิธีที่ถูกต้องคืออะไร ซึ่งจริงๆ แล้วก็หาอ่านได้ทั่วๆ ไปทั้งในอินเตอร์เน็ตและหนังสือ ปัญหาเกี่ยวกับตาที่พูดมาจะนำไปสู่ปัญหาเรื่องตาอื่นๆ หรือไม่ เช่น พวกต้อหิน ต้อกระจก ไม่เกี่ยวกับต้อหิน แต่จะเกี่ยวกับกระจกตา ผิวตา คือปัญหาเรื่องตาแห้ง ตาออกแดงๆ ตลอดเวลา ต้องเติมน้ำตาเทียมตลอดเวลา ความไม่สบายตา ผิวตานั้นถ้าเป็นมากผิวตาจะร่อน และโอกาสที่จะติดเชื้อก็เพิ่มมากกว่าปกติ ในผู้สูงอายุปัญหาด้านสายตาที่มาจากเทคโนโลยีมีบ้างไหมคะ ก็มีคนไข้ที่อายุมากแล้วเหมือนกัน คือเขาทำงานประเภทเล่นหุ้นไง จ้องกันทั้งวัน ตาก็แดงก่ำ พอใส่คอนแทคเลนส์ ซึ่งคอนแทคเลนส์มันทำให้ตาแห้งได้ง่ายอยู่แล้ว แล้วใช้คอมพิวเตอร์ด้วยอันนี้เลยเหมือน 2 เด้ง และพวกผู้สูงอายุที่ใช้ไอแพด ซึ่งจริงๆ มันก็ช่วยพัฒนาสมองส่วนหนึ่งนะ แต่ด้วยการใช้ที่ไม่ถูกต้องก็เกิดปัญหาได้ มันจึงต้องทำให้ความรู้ตรงนี้มากขึ้น   การบริจาคดวงตา ยังมีความสำคัญไหม สถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง การบริจาคตามีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่กระจกตาพิการ กระจกตาเป็นส่วนใสๆ ที่อยู่ชั้นนอกสุดที่หักเหของแสง เป็นส่วนที่สำคัญมากเปรียบเทียบเหมือนเป็นจอทีวีเลย เมื่อแสงผ่านกระจกที่ไม่ใสเข้าไปได้คนไข้ตาก็มัว มองไม่เห็น เพราะฉะนั้นเราแก้ด้วยการเปลี่ยนกระจกใสๆ ก็สามารถช่วยได้ แต่ประเด็นคือทำไมถึงมีโรคพวกนี้เยอะ เพราะเป็นตั้งแต่เด็ก ทั้งเกิดอุบัติเหตุ และเมืองไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ชาวนา ชาวไร่โดนใบไม้ ใบหญ้าบาดเยอะมาก พอกระจกตาเสียไปจะกลายเป็นฝ้า แสงก็จะผ่านไม่ได้ พอแสงผ่านไม่ได้ภาพจะเบลอ แล้วการเปลี่ยนกระจกตานั้น มีคิวประมาณเจ็ดพันถ้าหมอจำไม่ผิด แล้วปีหนึ่งเราก็ผ่าตาได้ไม่เยอะ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ก็มีการรับบริจาคกับสภากาชาดไทย แต่ว่าประเทศไทยก็มีการยึดติดเรื่องการบริจาคตาว่าถ้าตายไปแล้วจะกลับบ้านไม่ถูก ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง หรือถ้าแม่จะบริจาคแต่ลูกไม่ให้ก็ไม่มีสิทธิ ต้องบอกว่าปัจจุบันดวงตา 1 ดวงนั้นทำประโยชน์ให้กับคนไข้ได้หลายคนเลย กระจกตาชั้นนอกทำอย่าง ชั้นในทำอย่าง ตาขาวใช้ได้อีก แต่ก็ขาดแคลนอีกเยอะเลย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 148 ก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอล กับ ผศ.ดร. เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์

อีกไม่นาน ประเทศไทยของเราจะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ สิ่งหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นตัวชี้วัดสิ่งที่เรียกว่า ยุคดิจิตอล อย่างหนึ่งก็คือ การก้าวข้ามระบบการส่งสัญญาณทีวีแบบเดิม อย่างยุคอนาล็อกมุ่งสู่ทีวีดิจิตอล แล้วผู้บริโภคร่วมยุคอย่างเราจะก้าวไปอย่างไรไม่ให้ตกขบวน    ผู้อำนวยการโครงการเสริมสร้างกลไกสื่อมวลชนศึกษาเพื่อสุขภาวะ  (มีเดียมอนิเตอร์) ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ จะมาเล่าให้ฟังกันค่ะ เรื่องทีวีดิจิตอล ผู้บริโภคควรจะเตรียมความพร้อมอย่างไร ? คิดว่ามันมี 3 ส่วนนะคะ เรื่องที่หนึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของเทคนิค ว่าสำหรับผู้ชมทั่วไปไอ้ตัวเครื่องรับมันเป็นยังไง จะต้องเปลี่ยนแปลงเครื่องรับไหม ซึ่งในเรื่องนี้อาจารย์มองว่า กสทช. ยังไม่ออกแบบสื่อสารชัดเจน แต่เราเอาทีละเรื่องคือเรื่องเทคนิค จอแบบเดิมมันรับได้ไหม ตอนนี้มีมติออกมาแล้วว่าจะให้คูปองไปซื้อ Set Top Box แต่มันก็มีอีกในช่วงเปลี่ยนผ่านจะมีตัวที่ทำให้คนเข้าใจว่ารีบไปซื้อซะ มีราคาพิเศษ ทีวีรุ่นนั้นรุ่นนี้เตรียมพร้อมสำหรับทีวีดิจิตอลซึ่งในความเป็นจริงแล้วทีวีที่จะออกอากาศเป็นสัญญาณดิจิตอลได้นั้นจะต้องใช้เงินสูงนะ  ราคามันยังสูงอยู่ในเรื่องเครื่องรับ ฉะนั้นอันนี้คือเรื่องเทคนิคในเรื่องเครื่องรับ   อันที่สองก็คือผู้ให้บริการซึ่งมันมีความซับซ้อนก็ช่างมัน เอาเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้บริโภค ผู้ให้บริการด้านเนื้อหาก็จะมีมากขึ้นตามตัวช่องที่มีมากขึ้น ตรงนี้ก็มองว่าผู้บริโภคก็ไม่ได้รู้อย่างเป็นระบบอีก ว่าผู้ให้บริการนั้นตามกฎหมายกำหนดไว้ว่าอย่างไร แล้วผู้ให้บริการแต่ละประเภทนั้นควรมีบทบาทหน้าที่อย่างไร แล้วทำไมต้องกำหนดให้ผู้ให้บริการมีประเภทโน้น ประเภทนี้ ประเภทนั้น การเปิดพื้นที่ผู้ให้บริการนอกจากจะเป็นการเปิดพื้นที่ในเรื่องของการให้บริการและการประกอบการทางธุรกิจแล้ว ในมุมของผู้บริโภคนั้นผู้บริโภคมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อันที่สาม ต่อไปนี้มีช่องให้เลือกมากมาย มีใครไปเตรียมผู้บริโภคไว้รึยังว่าจะมีช่องให้เลือกมากมาย ความเป็นจริงที่หนีไม่พ้นคือคนเราทุกคนมีวันละ 24 ชม.เท่ากัน ภายใต้ 24 ชม.นี้ถ้าจะยังชีวิตมันต้องมีเวลาพักผ่อน ถ้าจะมีชีวิตอยู่ได้ในทางเศรษฐกิจก็ต้องมีการทำมาหากิน ตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน เพราะฉะนั้นอันนั้นคือการสร้างภูมิให้กับผู้บริโภค ในสามส่วนนี้ถ้าพูดในภาพรวมฝ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ กสทช. เพราะว่า กสทช.คือองค์กรอิสระที่มาดูแลเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ ของการประกอบกิจการสื่อและลักษณะนิสัยการรับสื่อ แต่มันเป็นที่น่าสังเกตว่าผู้บริโภคจะได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อหรือกระทั่งทีวีดิจิตอล สื่อหนังสือพิมพ์ในรูปแบบการสื่อสารระหว่าง กสทช.กับผู้ประกอบการเป็นหลัก นั้นคือว่ากฎกติกาการประกอบการทีวีดิจิตอลเป็นยังไง ซึ่งพวกนี้สำหรับผู้บริโภคโดยทั่วไปแล้วอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวเขามากเลย แต่มันก็ทำให้เขารู้ว่ามีอะไรที่เขาเถียงๆกันอยู่ กำลังพยายามจัดการกันอยู่ เพราะฉะนั้น กสทช.ไม่ได้ออกแบบระบบในการสื่อสารเพื่อการเตรียมการผู้บริโภคเลย จะมีที่เกี่ยวข้องก็มีกรณี Set Top Box ตกลง กสทช.จะใช้เงินกองทุนเรื่องนี้ อาจารย์คิดว่าเรื่องนี้มันต้องมีการออกแบบนะ มันไม่ใช่การสื่อสารตามโอกาสหรือความสะดวกใช่ไหมคะ มันต้องมีการออกแบบว่าช่วงนี้จะให้ผู้บริโภครู้เรื่องอะไรดี แล้วก็เป็นเรื่องใกล้ตัวเขา สั้นๆ เข้าใจง่าย เช่น ตอนนี้อย่าเพิ่งไปตัดสินใจซื้อทีวีเพียงแค่ว่าโฆษณาว่าซื้อทีวีรุ่นนี้เตรียมรับทีวีดิจิตอล อันนี้สมมตินะคะ หมายถึงว่าต้องดูแลผู้บริโภค หรือว่าอีกหน่อยค่อยมี Set Top Box แล้วให้ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางว่าแต่ละช่วงเวลาผู้บริโภคควรรับรู้ข้อมูลอะไร อยู่ที่การออกแบบเพื่อการสื่อสารกับผู้บริโภคโดยเฉพาะ ไม่ใช่ให้ผู้บริโภคเป็นผู้เฝ้าดูการสื่อสาร วาทะกรรมหรือกิจกรรมระหว่าง กสทช.กับผู้ประกอบการเท่านั้น ซึ่งอันนี้ถ้าเปรียบเทียบกับ 3Gนะ อาจารย์ว่า3G กสทช.ออกแบบมากกว่านี้เยอะ   มีเดียมอนิเตอร์จะรับมือไหวไหมในการติดตาม Content ที่จะมีเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ที่ประชุมใหญ่ก็มีการพูดถึงเรื่องนี้ว่าภูมิทัศน์สื่อมันเปลี่ยนแต่จริงแล้วใน Content มันก็คงไม่เปลี่ยนแปลงนะคะ Content หลักที่มีเดียมอนิเตอร์ดูก็คงเป็นการดูเรื่องจริยธรรมสื่อ จริยธรรมที่สำคัญก็คือจริยธรรมสื่อในเรื่องการนำเสนอเนื้อหาอย่างคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ไม่เลือกปฏิบัติ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์พวกนี้ แต่ว่าอันนึงที่จะตามมาและเราจะดำเนินการก็คือ การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อที่มันมีผลกับเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น  เนื้อหามันกลายเป็นการตลาดเข้มข้นมากขึ้นหรือเนื้อหามันกลายเป็นการเมืองที่ร้อนแรงมากขึ้น อันนี้ก็จะตามดูเหมือนกัน แต่ว่าเรื่องของการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ในภาพรวมก็คิดว่าจะศึกษาเรื่องทีวีดิจิตอล ซึ่งถือว่าสำคัญมากเพราะ กสทช.ถือเป็นจุดปลี่ยนเลยนะ มันก็จะน่าเศร้านะถ้าการปฏิรูปสื่อทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้อย่างน้อยมีประเภทสื่อที่ไม่มุ่งเน้นกำไรแต่เป็นสื่อที่มีพันธกิจในการให้บริการสาธารณะได้มีพื้นที่ แต่ปรากฏภายใต้การปฏิรูปสื่อที่มันมีจำนวนมากขึ้น ผู้ประกอบการหลากหลายมากขึ้นสถานการณ์มันกลับเหมือนเดิมแต่ว่าคูณสอง คูณสามเท่านั้น อย่างเช่นธุรกิจก็ยังใช้สื่อในการสร้างเรตติ้ง ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ขาดความตระหนักในเรื่องของศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในเรื่องของการผลิตซ้ำ ความคิดในเรื่องอคติต่อคนกลุ่มชนเฉพาะหรือกลุ่มคนลักษณะพิเศษต่างๆ เท่ากับการปฏิรูปสื่อมันเป็นการคูณปัญหาเดิมให้มันมีลักษณะของทวีคูณหรือมากมายมากขึ้น ซึ่งตัวนี้โจทย์ของผู้บริโภคแม้กระทั่งในระบบเดิมโจทย์ของผู้บริโภคต้องยอมรับว่าการเตรียมการหรือการสร้างภูมิคุ้มกันกับผู้บริโภคในลักษณะของผู้บริโภคที่เป็น Mass จริงๆ ก็ไม่ได้แข็งขัน แข็งแรง อาจารย์คิดว่าโจทย์ผู้บริโภคมันยิ่งหนักมากขึ้น สื่ออย่างฉลาดซื้ออาจจะต้องเปิดเล่มอีกเล่มหนึ่งหรือเปล่า(หัวเราะ) ไม่ใช่แค่ฉลาดซื้อแล้วอาจจะต้องเป็นฉลาดในการบริโภคสื่อหรือรู้เท่าทันสื่อเพราะมันไม่ใช่สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปแต่มันมีผลที่จะใช้ชีวิตของผู้คนเพราะว่าเขารับชุดความคิดอะไร เขาเปิดMemory เขาให้กับ Product อะไร มันก็ไปมีผลกับการอุปโภคบริโภค ถ้าการอุปโภคบริโภคนั้นมันLead ไปในทางที่ทำให้มีผลร้ายกับตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นเสียทรัพย์ เสียรู้ หรือว่ามีผลต่อสุขภาพไม่ไปหาหมอแต่ว่าไปดื่มน้ำเห็ด น้ำผลไม้ เพราะตัวสื่อมันรุนแรง เพราะฉะนั้นอาจารย์คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มันจะทวีคูณไปเยอะมากเลยแล้วเวลาเราพูดถึงผู้บริโภคเราอย่าไปนึกถึงผู้บริโภคที่ Active ผู้บริโภคที่เข้าเว็บฉลาดซื้อ ผู้บริโภคที่แลกเปลี่ยนกันใน Social Media ผู้บริโภคที่ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าฉันจะรู้เท่าทัน ฉันจะไม่หลงไปกับกระแสการบริโภค อาจารย์คิดว่าพวกนี้มีไม่ถึง 10% เสียด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นการคิดในเรื่องนี้นั้นพื้นที่สื่ออย่างเดียวอาจจะไม่พอ อาจจะต้องบุกไปในพื้นที่ในเชิงโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสังคม เช่น หน่วยงานที่ไปจัดเวทีกับผู้คนในลักษณะของ Public Communication ซึ่งตอนนี้ก็จัดกันเยอะมาก มันจะต้องมีเรื่องนี้โดยเฉพาะรึเปล่า หรือแม้กระทั่งในหลักสูตรการศึกษาทั้งในระบบนอกระบบ หรือแม้กระทั่งการเสนอนโยบายของ กสทช.ต่อผู้ประกอบการเลยว่าในสัดส่วนการออกอากาศ 24 ชม.ต่อวันต้องมีกี่เปอร์เซ็นต์ที่ทำเรื่อง Consumer literacy เพราะว่าสื่อมันเป็นทุกอย่างนำไปสู่การให้ข้อมูลในการอุปโภคบริโภค ใช้ชีวิตและวิถีชีวิตด้วย   มุมมองต่อการทำงานของ กสทช. กสทช.มาดูแลเรานั่นก็คือการดูแลผู้บริโภค กสทช.บอกว่าให้เป็นเรื่องร้องเรียนเข้ามา ทั้งที่ความจริงแล้ว กสทช. สื่อเยอะมาก ให้กสทช.ไปตามมอนิเตอร์มันเป็นไปไม่ได้อันนี้เห็นด้วย แต่สุ่มดูได้ไหม  ทำเป็น Sample ได้ไหม จุดที่เห็นชัดอีกเรื่อง ก็คือรับเรื่องร้องเรียนถ้าถามว่า กสทช.มีกลไกในการบันทึกเก็บไหม โครงการเล็กๆ ในมีเดียมอนิเตอร์ยังมีมากกว่าเลย เราก็ตามเก็บประเด็นที่เราอยากศึกษา ถ้าเปรียบเทียบกับหน่วยงานในต่างประเทศอาจารย์ได้มีมีโอกาสเข้าไปในสถานทูตสหรัฐอเมริกาหน่วยที่เรียกว่า Open source center (OSC) อาจารย์เดินผ่านห้องๆ หนึ่งอาจารย์รู้เลยว่าห้องนี้เป็นห้องบันทึกสัญญาณโทรทัศน์ ปรากฏว่าบันทึกสัญญาณโทรทัศน์ทุกช่องที่เขารับได้แล้วเก็บไว้ตลอดต่อเนื่อง นี่คือของสถานทูตสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย แต่คำถามที่กลับมาก็คือว่าหน่วยงานระดับองค์กรอิสระ องค์กรอิสระที่ดูแลเรื่องสื่อคุณจะไม่บันทึกเก็บเลยเหรอ ตอนนี้ถ้ามีผู้ร้องเรียนมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วไม่มีตัวหลักฐานองค์ประกอบการร้องเรียนไม่ครบนะคะ ถือว่าตกเพราะฉะนั้นถ้าร้องเรียนขึ้นมาว่ามีโฆษณาอย่างนี้ๆ ฟังจากสถานีนี้ เวลานี้ โฆษณานี้จำข้อความได้เลย มันน่าจะหลอกลวงเกินจริงหรือใช้คำไม่สุภาพ ลามก คำถามก็คือแล้วเทปเสียงที่จะเป็นหลักฐานล่ะ เสร็จแล้วพอมัน Process เข้ามาผู้บริโภคไม่มีอยู่แล้ว สมมติ กสทช.ส่งไปตามภูมิภาค ภูมิภาคบอกได้ว่าบันทึกได้ ณ ขณะนี้แต่เรื่องร้องเรียนมันร้องเรียนไปเมื่อกี่วันมาแล้ว กว่าเรื่องร้องเรียนมันจะ Process มาถึงมันก็ผ่านมาไปเป็นเดือนแล้ว ตัวเสียงก็ดี ภาพก็ดีที่ร้องเรียนมันเป็นอดีตแล้วสำหรับการบันทึกปัจจุบันบ่อยครั้งที่ถ้าจะร้องไปที่สถานี ซึ่งถ้าตามกฎหมายสถานีต้องเก็บสัญญาณ 30 วันเพราะฉะนั้นไม่ต้องทำจดหมายไปหรอก เพราะว่าแค่เรื่องร้องเรียนเข้าสู่การพิจารณามันก็เกิน 30 วันแล้ว อีกเรื่องคือ กสทช.ค่อนข้างทำงานอย่างเกร็งและกลัวผู้ประกอบการมากเกินไปเพราะว่าผู้ประกอบการแต่ละรายก็ดูน่ากลัว เท่าที่อาจารย์สัมผัสคือกลัวฟ้อง กลัวถูกฟ้อง ทำให้ กสทช.ทำงานโดยเกาะกฎหมายเป็นสำคัญแล้วกฎหมายไหนก็ขึ้นอยู่กับคุณตีความแบบไหนไง ถ้าคุณตีความว่าสิทธิผู้บริโภคคือสิทธิประชาชนที่พึงได้รับการปกป้องคุ้มครองดูแล ถ้าคุณตีความแบบนี้คุณก็ต้องไปเจรจากับผู้ประกอบการหรือไปดำเนินการกับผู้ประกอบการ มันก็เหมือนกฎหมายลิขสิทธิ์ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์คุณจะต้องเคารพกติกาสากลจนทำให้กติกาสากลของเราไปเชื่อมโยงกับประเทศที่มีอำนาจมาทำให้ผู้บริโภคของเราต้องมาบริโภคของแพงโน่น นี่ นั่นหรือเปล่า จะทำยังไงมันก็ต้องหาจุดเพราะฉะนั้นสำคัญที่สุด อันสุดท้ายคือมี กสทช.อย่างเดียวไม่พอมันต้องมีกลไกที่ตามดู กสทช. ด้วย แล้วกลไกนั้นมีศักยภาพในการที่จะสื่อสารให้สังคมเข้าใจ ในการที่จะสื่อสารให้ กสทช.ฟัง แต่ตอนนี้คือว่า กสทช. เกาะกฎหมายไงแล้วบ่อยครั้งการตีความทางกฎหมายเลือกที่จะตีความที่ทำให้การทำงานของตัวเองนั้นมันไม่มี commitment ที่สูง นี่อาจารย์พูดตรงไปตรงมาเลย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 166 แจกคูปองดิจิตอล

ปี่กลอง...แห่งเทศกาล  การแจกคูปองทีวี “ดิจิตอล” เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล    เริ่มยกแรกไปแล้วและยกที่สองกำลังเริ่ม มีทั้งชื่นบานและขมขื่น  กล่าวคือมีทั้งผู้ที่ได้คูปองเรียบร้อยแล้วกับผู้ที่ยังไม่ได้คูปองปัญหาที่เจอของผู้ที่ยังไม่ได้รับคูปองมีหลายเหตุผล  ทั้งผู้ที่อยู่ห้องเช่า ไม่มีเลขที่บ้าน  บ้านที่มีเลขที่บ้านแต่ไม่มีคนอยู่  มีชื่อในทะเบียนบ้าน หลังจากที่ กสทช. กำหนดผู้ที่มีสิทธิได้รับคูปอง  ผู้ที่ตกสำรวจ  ฯลฯ  แต่เหตุผลที่ผู้เขียนติดใจคือ บ้านที่มี”เลขที่บ้านมีคนอยู่บ้าน”  แต่ถูกตีความว่า ไม่มีเจ้าบ้านตามข้อมูลของกรมการปกครองผู้เขียนรับเรื่องร้องเรียนกรณีนี้จำนวนมาก  จากการซักถามทำให้ทราบว่า เหตุที่ถูกตีความว่า ไม่มีเจ้าบ้านเพราะเจ้าบ้านเดิม ซึ่งเป็นพ่อหรือแม่  เสียชีวิต(ในทะเบียนบ้านก็ตีตัวแดงไว้ว่าเสียชีวิตแล้ว) ลูกๆ ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ คิดว่ารายชื่อต่อไปจะได้เป็นเจ้าบ้านแทนโดยอัตโนมัติ  และก็อยู่มาอย่างนั้น  ไม่มีปัญหาอะไร  แม้เข้าไปติดต่อราชการที่อำเภอก็ไม่มีคำแนะนำให้ดำเนินการใดๆ ผู้เขียนได้มีโอกาสถามเจ้าหน้าที่จากกรมการปกครองว่าทำไมถึง ตีความเช่นนั้น ในเมื่อบ้านเขามีคนอยู่ทำไมไปตัดสิทธิเขา  คำตอบที่ได้รับคือ ให้ไปไม่ได้หากในบ้านมีหลายคนใครจะเป็นคนรับ  เดี๋ยวทะเลาะกันตาย(อ้าว...ถึงกับงง..) เพราะว่า กสทช.แจกตามเลขที่บ้าน ใครมีเลขที่บ้านก็ต้องให้เขา   ได้ไปแล้วเขาก็จัดการกันเองได้แค่  690  บาท เท่านั้นเองขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้แนะนำเพิ่มเติมว่า   ให้คนที่อยู่ในทะเบียนบ้านคนใดคนหนึ่ง  นำทะเบียนบ้านไปที่อำเภอขอเป็นเจ้าบ้าน  เรื่องก็จะเรียบร้อย   ผู้เขียนก็แนะนำให้ดำเนินการตามนั้น  ปัญหาก็ยังไม่จบเพราะเท่ากับว่าเป็นเจ้าบ้าน หลังจากกำหนดจำนวนการแจกคูปอง อีกทำให้ยังไม่ได้สิทธิรับคูปอง ทั้งๆ ที่เขาเหล่านั้นมีสิทธิที่จะได้รับคูปอง  แต่เขาไม่ได้สิทธิเพราะการตีความของกรมการปกครองท้องถิ่น  เรื่องนี้คงต้องติดตามการแจกคูปอง  และขั้นตอนการแก้ปัญหาของ กสทช. ต่ออย่างเข้มข้น  เพื่อไล่ล่าตามหาสิทธิ   เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการรับชมทีวีผ่านระบบดิจิตอล   ตามเป้าหมาย ของกสทช.กันต่อไป   ใครที่ยังไม่ได้รับคูปองโทรไปร้องเรียนได้ที่ 1200  สายด่วน กสทช.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 ทำไมเครือข่ายผู้บริโภคจึงคัดค้านการแจกคูปอง 1,000 บาท กรณีกล่องดิจิตอลทีวี

วันนี้ ถ้าไม่พูดถึงเรื่องการแจกคูปองเพื่อให้ประชาชนไปแลกซื้อกล่องทีวีดิจิตอล ของ กสทช.  คงเชยแย่....   แต่เอ๊ะ! เรื่องดีๆ อย่างนี้ ทำไมมีทั้งคนสนับสนุน และคัดค้านมากมายจัง    ผู้บริโภคค้านการแจกคูปองราคา 1,000  บาท  เสนอให้กำหนดราคาคูปองเพียง 690 บาท   แต่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล  กลับค้านการแจกคูปองราคา 690 บาท และสนับสนุนการแจกคูปองราคา 1,000 บาท  โอ้ย...มันกลับหัวกลับหางยังไงกันผู้บริโภคน่าจะดีใจที่ได้คูปอง 1,000 บาท  กลับไม่เอา   ได้มากก็ดีแล้วไง  ทำไมถึงมาค้าน เพราะอะไร?   โดยเฉพาะมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค  เป็น 2 องค์กรที่ออกมาคัดค้านเต็มเหนี่ยว  และโดนสังคมตั้งคำถามมากมายถึงการออกมาคัดค้านเรื่องนี้   ถามจริงๆ ก็ต้องบอกกันตรงๆ ว่า สาเหตุที่คัดค้าน คือ 1. ราคา และ  2. ขั้นตอนการแจกค้านทำไม?  ชัดๆ นะเพราะเงินที่จะนำมาใช้ในการแจกคูปอง  22  ล้าน ครัวเรือน ต้องใช้งบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท     แม้จะเถียงว่าเงินนี้ไม่ใช่เงินงบประมาณแผ่นดิน  แต่เป็นเงินที่ได้มาจากการประมูลคลื่นความถี่ ทีวีดิจิตอล(รัฐธรรมนูญกำหนดว่าคลื่นความถี่ “ถือว่าเป็นสมบัติชาติ”) เงินที่นำมาแจกคือเงินของประเทศ    ดังนั้นการใช้เงินนี้ต้องสุจริต โปร่งใส   และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ    การแจก “คูปอง” ไม่ใช่ปัญหา  แต่ปัญหาคือ “การกำหนดราคาคูปอง”แล้วทำไม? เครือข่ายที่ทำงานด้านผู้บริโภค จึงสนับสนุนการแจกคูปอง 690 บาท  คำตอบคือ  เพราะราคากล่องดิจิตอล  500  บาท ผู้ผลิตผู้ขายก็มีกำไรแล้ว(มีบริษัทผู้ผลิตและนักวิชาการออกมายืนยันชัดเจน) การกำหนดราคาคูปอง 1,000 บาท เป็นการกำหนดราคาเกินจริง  คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่ประชาชน !  เพราะกำหนดราคาที่ 1,000 บาท ผู้ขายกล่องก็จะอัพราคาให้สูงกว่าราคาคูปองอยู่ดี  จะเห็นได้ว่า ตอนแรกที่ กสทช. มีแนวจะกำหนดราคาคูปองที่ 690 บาท ราคากล่องในท้องตลาดเรายังหาซื้อได้ในราคา 600-700 บาท ตอนมีข่าวว่า กสทช.จะกำหนดราคาคูปองใหม่เป็น 1,000 บาท  ราคากล่องก็ขึ้นราคาไปที่ 1,200  บาท   แต่ถึงเวลาเคาะราคาจริงที่ 690 บาท  ราคากล่องก็เริ่มลงราคามาแล้วในหลายยี่ฮ้อ  คงเป็นคำตอบได้อย่างดีว่า  ไม่ว่าจะแจกคูปองราคาเท่าไร   เราก็ต้องจ่ายเพิ่มส่วนต่างอยู่ดี  คนที่ได้ประโยชน์พุงปลิ้น ไม่ใช่ผู้บริโภคประเทศไทยกำลังเข้าสู่โหมดแห่งการปฏิรูป   การปฏิรูป ก่อนอื่น เราต้องมองข้ามผลประโยชน์ส่วนตน   และต้องร่วมแรงร่วมใจรักษาผลประโยชน์ชาติ   ไม่ปล่อยให้เกิดการโกงด้านนโยบายซ้ำซากอีก   มหากาพย์คูปองดิจิตอลยังไม่จบ   ยังมีเรื่องวิธีการแจก  วิธีการจำหน่ายกล่องฯ  ใครจะมีสิทธิขายได้บ้าง จะเอื้อเพียงรายใหญ่  หรือรายเล็กรายน้อยก็มีสิทธิขายได้  ต้องติดตามตอนต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 ผู้ป่วยจิตเวชก็มีหัวใจ

คุณสมโชค (นามสมมติ) มีอาการนอนไม่หลับแบบเรื้อรังต้องใช้ยานอนหลับช่วยอยู่บ่อยครั้ง ต่อมาได้เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลชลประทาน ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แพทย์ตรวจพบโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และจิตเวช ทำให้คุณสมโชคต้องมารับยาเพื่อนำไปรักษาอาการจากโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ ช่วงที่ผ่านมาคุณสมโชคสังเกตเห็นว่า ยาที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยาจะมีการใช้ปากกาเมจิกขีดทำตำหนิไว้ที่ด้านหลังแผ่นยาทุกแผง ส่วนยาทุกชนิดที่บรรจุกล่องอยู่จะถูกนำออกจากกล่องหมด “ไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยาต้องทำอย่างนี้ ผมอยากเหมือนคนไข้ทั่วไปที่ไม่ถูกแกล้งเอายาออกจากกล่อง ผมคิดมากจนนอนไม่หลับ ยาเอาไม่อยู่ ทำให้มีอาการนอนไม่หลับเพิ่มมากขึ้น อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยคุยกับโรงพยาบาลให้ด้วย เพราะผมอยากได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับคนไข้ทั่วไปครับ” ผลการดำเนินการหลังได้รับเรื่องร้องเรียนมูลนิธิได้ทำหนังสือสอบถามถึงการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งโรงพยาบาลได้มีหนังสือชี้แจงกรณียาที่บรรจุกล่อง ถูกนำออกจากล่อง ว่า 1. กรณีทั่วไป มีความเป็นไปได้อยู่เสมอที่จะมีการจ่ายยาลักษณะนี้เพราะแพทย์สั่งยาไม่ตรงตามขนาดบรรจุ เช่น บรรจุ 100 สั่ง 60 จะมียาเหลือ 40 ยาเช่นนี้ก็จะไม่มีกล่องบรรจุ 2. จากการเก็บข้อมูลความคลาดเคลื่อนทางยา พบว่ายาที่บรรจุกล่อง เช่น 2 กล่อง การปิดฉลากล่องที่ 1 เพียงกล่องเดียวแล้วมัดรวมกับกล่องที่ 2 เมื่อผู้ป่วยใช้กล่องที่ 1 หมด ฉลากจะถูกทิ้งไปพร้อมกล่องทำให้ใช้ยากล่องต่อไปไม่ถูก ในทางกลับกัน ถ้าปิดฉลากครบทั้ง 2 กล่อง แม้จะทำการอธิบายรวมทั้งแจ้งเตือนเป็นเอกสารฉลากช่วยว่าให้รับประทานทีละกล่องแล้วต่อเนื่องกันไป ก็ยังพบว่าผู้ป่วยทานยาทีเดียวทั้ง 2 กล่อง หรืออาจยุ่งยากขึ้นอีกกรณีสั่งยาไม่เต็มกล่องมีเศษ เป็น 1-2 แผง ทางที่ดีคือ เอายาออกจากล่องทั้งหมด ใส่ซองซิบพลาสติกแล้วปิดฉลากครั้งเดียวรวมทั้งหมด 3. การเอายาออกจากล่องหมายถึง การเอาฉลากออกทิ้งไปด้วย เพราะต้องการให้ผู้ป่วยสนใจและอ่านเนื้อหาที่สั้นที่สุด คือฉลากยาที่แปะหน้าซอง เพราะพบว่าผู้ป่วยอ่านเอกสารกำกับยาแล้วเกิดความสับสน หรือหวาดระแวงจนไม่ทานยาตามแผนการรักษา กรณีนี้พบเสมอในผู้ป่วยจิตเวช อย่างไรก็ดี วิธีปฏิบัติในข้อ 2 และ 3 เป็นวิธีที่เพิ่มภาระงานให้กับห้องยา จึงยังไม่ได้ทำทั้งหมด แต่เราพยายามที่จะทำเพื่อลดความคลาดเคลื่อนทางยา โดยเลือกทำในกลุ่มเสี่ยง เช่นผู้ป่วยสูงอายุที่เราประเมินได้ว่าอาจไม่สามารถดูแลตนเองให้รับยาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และผู้ป่วยด้านจิตเวชก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ไม่อาจให้คำอธิบายโดยตรงได้ ด้วยมารยาทและจรรยาบรรณเราไม่ตอกย้ำประเด็นความบกพร่องของผู้ป่วย เราจะมุ่งเน้นให้คำอธิบายที่ชัดเจนไม่สับสน เท่านั้น ส่วนกรณีมีการใช้ปากกาเมจิกขีดตำหนิไว้ที่แผงยา กรณีนี้ ห้องยาขอปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าไม่เคยมีการปฏิบัติเช่นนั้น นอกจากนี้นายแพทย์สมชาย สุขอารีย์ชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลประทานได้กรุณาให้คำชี้แจงอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยรายนี้ อย่างละเอียดแต่เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของผู้ป่วย จึงขอสรุปคำชี้แจงหลักๆ ว่า ทางแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง คืออายุรแพทย์ จิตแพทย์ แพทยเวชศาสตร์ครอบครัว ได้รับทราบปัญหาของผู้ป่วย และมีแนวทางแก้ปัญหาโดยให้ผู้ป่วยรับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลเพียงแห่งเดียว เพราะเคยพบว่าผู้ป่วยไปรับการรักษากับสถานพยาบาล 2 แห่งในวันเดียวกันทำให้ผู้ป่วยอาจได้รับยามากเกินขนาดได้ ทั้งนี้เพื่อความต่อเนื่องอันจะเป็นประโยชน์และปลอดภัยกับตัวผู้บริโภคเอง ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าวได้รับการยืนยันจากผู้ร้องเรียนว่า ตนได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอย่างดีเยี่ยมไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยา ทำให้รู้สึกว่าสุขภาพกายและใจของตัวเองดีขึ้น ทางมูลนิธิฯ จึงขอขอบพระคุณ นายแพทย์สมชาย สุขอารีย์ชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลประทานและทีมงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างดีเยี่ยมด้วยความนับถืออย่างสูง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 “หม้อหุงข้าวดิจิตอล” เปรียบเทียบประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

เพราะยุคนี้เป็นยุคดิจิตอล อะไรๆ ก็ต้องเป็นดิจิตอล ขนาดหม้อหุงข้าวยังมี “ระบบดิจิตอล” หม้อหุงข้าวระบบดิจิตอล จะช่วยให้การเข้าครัวไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป เพราะแม้จะใช้ชื่อว่าหม้อหุงข้าว แต่หม้อหุงข้าวระบบดิจิตอลไม่ได้มีหน้าที่แค่หุงข้าวเหมือนหม้อข้าวไฟฟ้าธรรมดาทั่วไป เพราะหม้อหุงข้าวดิจิตอลทำได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะ หุง อุ่น ตุ๋น ต้ม นึ่ง ไปจนถึงของหวานอย่างขนมเค้ก ที่ทำได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้วสั่ง สรรพคุณฟังดูดีขนาดนี้ แฟนๆ ฉลาดซื้อคงสนใจอยากจะเป็นเจ้าของหม้อหุงข้าวระบบดิจิตอลสักเครื่อง เพราะฉะนั้นก่อนที่จะออกไปหาซื้อมาใช้งาน ต้องไม่พลาดที่จะอ่านบทความผลทดสอบ “ประสิทธิภาพของหม้อหุงข้าวระบบดิจิตอล” ทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการหุงข้าวด้วยหม้อหุงข้าวระบบดิจิตอลฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่างหม้อหุงข้าวดิจิตอลจำนวน 7 ยี่ห้อ เพื่อทดสอบเปรียบเทียบดูประสิทธิภาพในการหุงข้าวของหม้อหุงข้าวดิจิตอล โดยดู 3 เรื่องสำคัญคือ ระยะเวลาในการหุง พลังงานที่ใช้ และคุณภาพของข้าวที่หุงสุก โดยทีมเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค เป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการทดสอบในครั้งนี้ สำหรับการทดสอบได้ทำการแบ่งกลุ่มของหม้อหุงข้าวออกเป็น 2 กลุ่ม ตามปริมาณความจุของหม้อ   กลุ่มแรก คือหม้อหุงข้าวดิจิตอลที่มีความจุสูงสุดของหม้อที่ปริมาณ 1 ลิตร ได้แก่ 1.Tefal รุ่น RK7021 71              ไม่ระบุกำลังไฟฟ้า2.Panasonic รุ่น SR-MS103       กำลังไฟฟ้า 750 วัตต์3.Philips รุ่น HD 3031                ไม่ระบุกำลังไฟฟ้า 4.Electrolux รุ่น ERC6503W      ไม่ระบุกำลังไฟฟ้า 5.Toshiba รุ่น RC-10NMF          กำลังไฟฟ้า 560 วัตต์   กลุ่มที่สอง คือหม้อหุงข้าวดิจิตอลที่มีความจุสูงสุดของหม้อที่ปริมาณ 1.8 ลิตร ได้แก่1.Sharp รุ่น KS-COM18        กำลังไฟฟ้า 830 วัตต์2.Hitachi รุ่น RZ-XMC18       กำลังไฟฟ้า 820 วัตต์ ผลการทดสอบประสิทธิภาพในการหุงข้าวของหม้อหุงข้าวดิจิตอล(กลุ่มความจุ 1 ลิตร) ผลการทดสอบคุณภาพของข้าวกล้องทุกหม้อในกลุ่มความจุ 1 ลิตร พบว่า หุงได้สุกทั่วทั้งหม้อโดย หม้อหุงข้าวที่ได้คะแนนรวมสูงสุด 3 อันดับแรก คือ1.Toshiba รุ่น RC-10NMF        40 คะแนน2.Tefal รุ่น RK7021 71            38 คะแนน 3.Philips รุ่น HD 3031             38 คะแนน•    หม้อหุงข้าวที่หุงเสร็จเร็วที่สุด(ได้คะแนนรวมเท่ากัน 10 คะแนนจาก 15 คะแนน) คือ 1.Tefal รุ่น RK7021 71 2.Panasonic รุ่น SR-MS103 3.Philips รุ่น HD 3031•    หม้อหุงข้าวที่ประหยัดพลังงานที่สุดในการทดสอบ คือToshiba รุ่น RC-10NMF•    หม้อหุงข้าวที่ใช้พลังงานมากที่สุดในการทดสอบ คือPanasonic รุ่น SR-MS103เหตุผล เนื่องจากมีกำลังไฟฟ้าสูงกว่าตัวอย่างหม้อหุงข้าวอื่นในกลุ่มหม้อที่มีความจุ 1 ลิตร ซึ่งมีกำลังไฟสูงเกินความจำเป็น การใช้งานเป็นระยะเวลานานทำให้สิ้นเปลืองพลังงานมากกว่า ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการใช้หม้อหุงข้าวที่มีกำลังไฟฟ้าสูงเกินความจำเป็นผลการทดสอบประสิทธิภาพในการหุงข้าวของหม้อหุงข้าวดิจิตอล (กลุ่มความจุ 1.8 ลิตร)หม้อหุงข้าวที่หุง เสร็จเร็วกว่า ประหยัดพลังงานมากกว่า และคุณภาพข้าวที่หุงสุกดีกว่า คือ หม้อหุงข้าวดิจิตอลยี่ห้อ Hitachi รุ่น RZ-XMC18 กำลังไฟฟ้า 820 วัตต์ การเลือกซื้อหม้อหุงข้าวไฟฟ้า    •    หม้อหุงข้าวไฟฟ้าและดิจิตอล มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ด้านความปลอดภัยควบคุมอยู่•    เลือกซื้อที่มีการรับประกัน เมื่อการปัญหาในการใช้งานต้องมีศูนย์ที่พร้อมให้การดูแลซ่อมแซม•    เลือกขนาดความจุของหม้อและกำลังไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการในการใช้งาน เพื่อเป็นการประหยัดไฟฟ้า•    หม้อหุงข้าวระบบดิจิตอล ควรมีข้อความเป็นภาษาไทยกำกับที่ปุ่มควบคุมการใช้งาน เพื่อง่ายต่อการใช้•    ต้องมีสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายบอกปริมาณในส่วนหม้อหุงข้าวด้านใน ขีดบอกระดับ หรือ สัญลักษณ์อื่นที่แสดงความจุที่กำหนด ซึ่งมองเห็นได้ในขณะเติมน้ำวิธีดูแลรักษา1)    ไม่ควรใส่ข้าวและน้ำไม่เกินขนาดของหม้อ2)    การทำความสะอาด ให้เช็ดด้วยผ้าหมาดชุบน้ายาล้างภาชนะ เช็ดด้วยผ้าชุบน้าสะอาด แล้วเช็ดด้วยผ้าให้แห้ง3)    ส่วนที่เป็นหม้อหุงข้าว ต้องเช็ดด้านนอกของหม้อให้แห้ง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นก้นหม้อ ก่อนทำการหุง4)    ห้ามเปิดฝาขณะน้ำเดือด5)    ห้ามปิดช่องระบายไอน้ำและฝาหม้อในขณะที่หม้อหุงขาวทำงาน6)    ใช้ทัพพีตักข้าวที่ให้มาเท่านั้น ไม่ควรใช้อุปกรณ์อื่นๆ ที่มีความคม7)    ใส่หม้อในก่อนเสียบปลั๊กไฟเข้ากับเต้ารับ8)    ถอดปลั๊กไฟออกทุกครั้งหลังเลิกใช้งาน 9)    ปล่อยให้เย็นลงก่อนทำความสะอาด          

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 169 มรดกทางดิจิตัล

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการปัจจุบันเราใช้การติดต่อสื่อสาร การเก็บข้อมูลในรูปแบบของสารสนเทศผ่านโปรแกรมและแอพพลิเคชันต่าง ๆ ในโลกไซเบอร์ ดังนั้นประเด็นหนึ่ง ซึ่งต้องให้ความสำคัญ และทางองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเยอรมนีกำลังรณรงค์อยู่ คือ การจัดการข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียชีวิต (Digital Estate) ว่าจะจัดการอย่างไรดี บทความนี้ขอเล่าวิธีจัดการมรดกตกทอดของเราไม่ว่าจะเป็น บัญชีอีเมล์ เฟสบุ้ค ไลน์ ทวิตเตอร์ และยาฮู อีเบย์ เพย์พาล ที่ทำธุรกรรมผ่านโปรแกรมหรือแอพพลิเคชันดังกล่าว ซึ่งการจัดการนั้นอิงกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายมรดกตามหลักกฎหมายของเยอรมนี สิ่งที่เราเคยโพสลงไปในเฟสบุ้ค เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่นั้น เมื่อตอนเราเสียชีวิต ข้อความและบัญชีนั้น ก็ยังคงดำรงอยู่ หากไม่มีผู้ใดทราบ รหัสผ่านของเราในการที่จะเข้าไปลบข้อความหรือ ยกเลิกบัญชีกับทางเฟสบุ้คได้ ลูกหลานหรือ ญาติ ที่เป็นผู้รับมรดก ที่ต้องการจะเข้าไปจัดการมรดกทางดิจิตัลนี้ จำเป็นต้องใช้มรณบัตร ถึงแม้ว่าจะมีใบมรณบัตรมายื่นเป็นหลักฐานกับทางเฟสบุ้คก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปลบข้อมูลส่วนตัวของผู้ตายได้ แต่สามารถเข้าไป จัดการ ให้เป็นสถานะ Commemoration (in Gedenken erhalten) ได้ ภายใต้สถานะนี้ โปรแกรมเฟสบุ้ค จะไม่ส่ง การแจ้งเตือนวันครบรอบวันเกิดของผู้เสียชีวิตแล้วเหมือนอย่างที่เคยแจ้งเตือนวันเกิด การขอเข้าไปจัดการกับบัญชีและแอพพลิเคชันทั้งหลายในโลกไซเบอร์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ จำเป็นต้องอาศัยกฎหมายมรดกเป็นหลัก ผู้ให้บริการอีเมล์ บางราย ไม่ยินยอมให้ ผู้รับมรดกเข้าไปตรวจสอบอีเมล์ของผู้ตายได้เลย แต่จะยอมให้ลบบัญชีอีเมล์ของผู้ตายทิ้งแทน ทั้งๆ ที อาจมีอีเมล์ที่ความสำคัญทางธุรกิจรวมอยู่ด้วย โปรแกรม google+ มีทางเลือกที่น่าสนใจต่อกรณี การรับมรดกทางดิจิตัล คือ inactive account manager ในตอนที่เจ้าของบัญชี google + ยังมีชีวิตอยู่นั้น สามารถกำหนดได้เลยว่า ใครบ้างที่สามารถเข้าไปจัดการบัญชีของเราได้ เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว หรือสามารถกำหนดได้ว่า หากไม่มีการเคลื่อนไหวของบัญชีเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ จึงสามารถลบข้อมูลในบัญชีตัวเองแบบอัตโนมัติ   และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเรื่องมรดกทางดิจิตัล เราสามารถเตรียมตัวไว้ก่อนได้ดังนี้ 1. ระบุลงไปพินัยกรรมว่า ใครเป็นผู้ได้รับสิทธิในการเข้าไปจัดการ มรดกทางดิจิตัล 2. จดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ใช้บัญชี อีเมล์ไหนบ้าง และบัญชีไหนที่สำคัญ 3. การระบุสถานะของโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น เฟสบุ้ค ทวิตเตอร์ หรือ google+ ว่าจะให้ลบบัญชี หรือ คงสถานะ Commemoration ไว้ 4. ภาพถ่ายและวิดิโอ ในพินัยกรรมควรระบุหรือ บอกกล่าวด้วยว่า ภาพหรือวีดิโอไหนที่มีค่าและมีความสำคัญ เพื่อช่วยผู้รับมรดกในการตัดสินใจว่า จะลบหรือเก็บภาพถ่าย วิดิโอไว้ 5. Digital Subscribes ควรระบุไว้ในพินัยกรรมด้วยว่า แอพพลิเคชัน เกมส์ออนไลน์ บริการ Streaming ข่าวสาร ของหนังสือพิมพ์ใด ที่เรารับบริการและเสียค่าบริการอยู่ เพื่อให้ผู้รับมรดกไปทำการยกเลิก 6. ในการจัดทำพินัยกรรมสำหรับจัดการมรดกทางดิจิตัลนี้ ทางที่ดีคือ การบันทึกพินัยกรรมด้วยลายมือ พร้อมกับลงนามต่อหน้าพยานซึ่งพยานเองก็ต้องลงนามด้วย จึงจะทำให้พินัยกรรมนั้นมีผลทางกฎหมาย ชีวิตในโลกยุคดิจิตัลนั้นเป็นชีวิตที่สะดวกสบาย แต่ในกรณีที่เสียชีวิตลง มรดกทางดิจิตัลเองนั้น ก็สามารถสร้างความยุ่งยากให้กับผู้รับมรดกอยู่ไม่ใช่น้อย แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลของผู้ตายนั้น บางครั้งมีคุณค่าและมีความสำคัญต่อญาติที่รับมรดกมากกว่ามูลค่าทางตัวเงิน ที่ผู้ให้บริการดิจิตัล และผู้ที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายจำเป็นที่จะต้องวางหลักเกณฑ์ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการจัดการมรดกประเภทนี้   (แหล่งข้อมูล: วารสาร Test 3/2015)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 156 เข้าสู่ยุคดิจิตัล: ทางเลือกของผู้บริโภคในการรับชมรายการทีวี บทเรียนจากเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการขณะที่คนไทยต่างกำลังตั้งหน้าตั้งตารอชมทีวีดิจิตัล ที่จัดการประมูลสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างดีนั้น  ทางเยอรมนีได้ก้าวเข้าสู่ยุค ทีวีดิจิตัล ในระบบ DVB-T (Digital Video Broadcasting- Terrestrial) ซึ่งรับส่งสัญญาณบนภาคพื้นดินเป็นเวลากว่า 10 ปีมาแล้ว ปัจจุบันเฉพาะในเขตที่เป็นชุมชนมีผู้อาศัยอย่างแน่นหนา เช่นเมืองมิวนิค มีจำนวนผู้ที่รับสัญญาณผ่านระบบนี้น้อยลง จนส่งผลให้สถานี RTL (Royal Television Luxemburg) ได้ใช้อ้างเพื่อที่จะระงับการส่งสัญญาณผ่านภาคพื้นดิน ซึ่งทำให้กลุ่มทุนสื่อของ ProsiebenSat 1 ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ภาคเอกชน เข้าใช้ช่องสถานีที่ว่างลง โดยได้เล็งเห็นว่าในอนาคต การรับส่งสัญญาณผ่านภาคพื้นดินนั้นจะกลับมาได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เมื่อสถานีโทรทัศน์สามารถส่งสัญญาณในระบบความคมชัดสูง (HD-TV) แต่อย่างไรก็ตามคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินที่นับวันจะมีการใช้งานลดลง เป็นสิ่งที่ นักลงทุนคาดหวังและต้องการที่จะเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่ม เมื่อเทคโนโลยี LTE (Long Term Evolution) หรือ  4 G ในสมาร์ตโฟนมีประสิทธิภาพเต็มรูปแบบ ก็จะเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่สามารถรับชมรายการต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา   สิ่งที่ผู้บริโภคในอนาคตจะต้องพิจารณาก็คือ ช่องทางใดที่ผู้บริโภคจะเลือกรับชมรายการโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็น ผ่านดาวเทียม ผ่านทีวีเคเบิล หรือผ่านทางอินเตอร์เน็ต ทีวีดาวเทียม ข้อดีของทีวีดาวเทียมคือ มีช่องรายการมากมาย และสามารถรับสัญญาณได้โดยไม่ต้องเป็นสมาชิกหรือต้องจ่ายค่าธรรมเนียม (ฟรีทีวี) ยกเว้นช่องสถานีที่มีการส่งสัญญาณแบบความคมชัดสูง(HD) ที่มีการใส่รหัสการส่งสัญญาณที่เป็น เพย์ทีวี ที่ต้องสมัครเป็นสมาชิก จ่ายเป็นรายเดือน หรือ จ่ายตามรายการที่สนใจ (Pay per view) และข้อดีของทีวีดาวเทียมคือ จานดาวเทียมมีระบบที่รองรับการส่งสัญญาณทั้งแบบความคมชัดสูง (HD-TV) และแบบความคมชัดธรรมดา (SD Standard Definition-TV) อยู่แล้วก็จะทำให้ต้นทุนในการติดตั้งการรับสัญญาณนั้นราคาไม่แพงเหมือนการรับสัญญาณผ่านระบบอื่นๆ ข้อเสียของทีวีดาวเทียมคือ การติดตั้งจานดาวเทียม เพราะในเยอรมนีมีกฎระเบียบที่เข้มงวดในเรื่องของการติดตั้งจานดาวเทียมนอกอาคาร เพราะจะเป็นการรบกวนทางทัศนียภาพ ซึ่งปัญหานี้ก็สามารถแก้ไขได้โดยการรวมกลุ่มติดตั้งจานดาวเทียมของผู้อยู่อาศัยในอาคาร เพื่อจะลดจำนวนจานดวเทียมในการติดตั้ง   เคเบิลทีวี มีจำนวนช่องรายการน้อยกว่าทีวีดาวเทียม แต่ช่องรายการที่มีความคมชัดสูงก็สามารถส่งสัญญาณผ่านสายเคเบิลได้เช่นกัน เช่นเดียวกับการรับชมรายการช่องสาธารณะ ก็สามารถรับชมผ่านทางเคเบิลทีวี (และทีวีดาวเทียม ได้ทุกช่อง การรับชมผ่านเคเบิลทีวี ก็ต้องสมัครเป็นสมาชิกและจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นรายเดือน และเนื่องจากทางผู้ประกอบการเคเบิลทีวีต้องหารายได้จากค่าโฆษณา ส่งผลให้การบันทึกรายการทีวีเคเบิลค่อนข้างยุ่งยาก คือการบันทึกรายการทีวีก็จะติดโฆษณารวมไว้ด้วย   อินเตอร์เน็ตทีวี (IPTV) ในเยอรมนีมีผู้ชมผ่านช่องทางนี้ 2-3 ล้านครัวเรือนที่รับชมรายการโทรทัศน์ผ่านอินเตอร์เน็ตของบริษัท ด้อยทช์เทเลคอม (Entertain) และบริษัทโวดาโฟน (Vodafone TV) เมื่อเปรียบเทียบกับการรับชมผ่านเคเบิลทีวีนั้น การรับชมผ่านอินเตอร์เน็ตทีวีจะมีช่องรายการมากกว่าและการบันทึกสัญญาณนั้นสามารถทำได้สะดวกกว่า โดยสามารถบันทึกรายการเพื่อมารับชมภายหลังผ่าน ฮาร์ดดิสก์ ที่ติดมาพร้อมกับกล่องรับสัญญาณ ข้อเสียของอินเตอร์เน็ตทีวีคือ เรื่องราคา เพราะเป็นการเลือกชมรายการทีวีผ่านอินเตอร์เน็ตจะมีราคาสูงที่สุด และความเร็วของอินเตอร์เนตต้องสูง ทำให้ราคาในการเลือกรับชมทีวีผ่านช่องทางนี้สูงตามไปด้วย ซึ่งในทางเทคนิค ต้องเป็นเทคโนโลยีแบบ Broadband Internet จึงจะเหมาะสมกับการเลือกรับชมผ่านอินเตอร์เน็ต ที่มา http://www.test.de/DVB-T-Antennenempfang-RTL-steigt-aus-4585522-0/   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 138 บทเรียนจาก ทีวีอนาลอก สู่ยุคดิจิตอล: บทสรุปของความสำเร็จในประเทศเยอรมนี (ตอนจบ)

สำหรับบทความในวันนี้ จะขอแปลบทสรุปของประเทศเยอรมนี การเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณทีวีจากระบบอนาลอก มาเป็นระบบดิจิตอล (Digital Video Broadcasting- Terrestrial: DVB-T)  ซึ่งคาดว่าประเทศไทยน่าจะใช้ระบบการส่งสัญญาณแบบนี้ในอนาคต ตามแผนแม่บทกิจการโทรทัศน์ที่ได้กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนการส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอล นอกจาก กสทช.ที่เป็นองค์กรกำกับดูแลแล้ว หน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาทำงานร่วมกัน และต้องทำอย่างจริงจัง ไม่เกี่ยงงอนปัดความรับผิดชอบ ทำงานแบบร่วมไม้ร่วมมือกัน ทั้งฝ่ายรัฐบาลรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง และสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ผลประโยชน์โดยรวมก็จะตกถึงประชาชนคนไทยตามเจตนารมณ์ของแผนแม่บทที่ได้ประกาศไว้   ปี 2003 ทดสอบการส่งสัญญาณระบบดิจิตอล ในเชิงพาณิชย์ เป็นครั้งแรกในเขตพื้นที่ เบอร์ลินและพอรท์สดัม หลังจากทดสอบนานกว่า 6 เดือน ซึ่งการทดสอบครั้งนี้ได้นำไปสู่  โครงการนำร่องในการส่งสัญญาณแบบดิจิตอล ของการส่งสัญญาณทั่วประเทศเยอรมนี   ปี 2005 สถานีโทรทัศน์สาธารณะ(ฟรีทีวี) ทั้งสองช่อง คือ ช่อง ARD และ ZDF ได้ทำการตกลงร่วมกันในการติดตั้งและสร้างโครงข่ายสถานีกระจายสัญญาณให้คลอบคลุมการเข้าถึงสัญญาณ ของประชากร 90 %ทั้งประเทศ และตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา ก็ได้มีการขยายการส่งสัญญาณออกไปยังรัฐอื่นตามมา เริ่มจาก รัฐเมคเคลนบวร์ก ทางตะวันออก และสามารถเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณเสร็จสมบูรณ์ ในปี 2008 สำหรับความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีครั้งนี้ คือการที่ประชาชนได้ตัดสินใจ ยอมรับการรับสัญญาณในระบบดิจิตอล สืบเนื่องมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สถานีโทรทัศน์สาธารณะ หน่วยงานกกำกับดูแลด้านกิจการโทรทัศน์ ได้ทำการประชาสัมพันธ์ ให้กับภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาคสื่อสารมวลชน อย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งหน่วยงานประชาสัมพันธ์ ในระดับภูมิภาค เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชน และเตรียมความพร้อมในการรับสัญญาณ เนื่องจากในประเทศเยอรมนีการส่งสัญญาณภาคพื้นดินคลอบคลุมถึง 90% ของจำนวนประชากรทั้งหมด การส่งสัญญาณแบบดิจิตอลจึงส่งสัญญาณเป็นแบบ DVB-T (Digital Video Broadcasting- Terrestik*) นอกจากนี้ประชากรกว่า 30% ก็สามารถรับสัญญาณด้วยหนวดกุ้งได้ และจากรายงานของสมาคมผู้ประกอบการเครื่องรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ (Gesellschaft für Unterhaltungs- und Kommunikationselektronik) สามารถจำหน่ายเครื่องรับโทรทัศน์ได้มากกว่า 16 ล้านเครื่อง (ข้อมูลวันที่ 21 พฤศจิกายน  2008) ซึ่งเครื่องรับโทรทัศน์ในยุคปัจจุบันนี้ ก็เป็นโทรทัศน์จอแบน ที่ได้ออกแบบมาให้สามารถรับสัญญาณแบบดิจิตอลได้ โดยไม่ต้องไปเพิ่มอุปกรณ์เสริมใดๆ อีก นอกจากนี้การรับสัญญาณโดโทรทัศน์โดยตรงผ่านคอมพิวเตอร์ แล็บทอป ก็สามารถทำได้โดยใช้อุปกรณ์เสริม ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ได้ทำการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์แบบดิจิตอลในรถยนต์มาตั้งแต่ ปี 2002 จากข้อมูลของกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ มีการติดตั้งทีวีดิจิตอลในรถยนต์ไปแล้วกว่า 550,000 คัน ในส่วนของการรับประกันคุณภาพของอุปกรณ์รับสัญญาณแบบดิจิตอลนั้น ก็ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการทำงานของอุปกรณ์ประเภทนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถมั่นใจในการเลือกซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว ว่าจะได้รับอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งอุปกรณ์ใดๆ ผ่านการทดสอบมาตรฐานดังกล่าว ก็จะได้รับเครื่องหมายนี้ แผนการในอนาคต เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการส่งสัญญาณจากอนาลอกมาเป็นดิจิตอล จะต้องคำนึงถึงประเด็น Digital Divide เพราะคลื่นที่เคยใช้ส่งสัญญาณในช่วงความถี่ (UHF: Ultra High Frequency) จะว่างลง ซึ่งจะต้องมีการวางแผนและเตรียมการใช้คลื่นความถี่นี้ ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างสูงสุด และประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจะต้องคำนึงถึง ความเป็นมิตรต่อผู้บริโภค สร้างภาระและข้อจำกัดกับผู้บริโภคให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ -------------- หมายเหตุ : ระบบการส่งสัญญาณแบบดิจิตอลของเยอรมนีจะมี 3 ประเภทได้แก่ DVB-T: Digital Video Broadcast-Terrestrial การส่งสัญญาณดิจิตอลภาคพื้นดิน DVB-S: Digital Video Broadcast-Satellite การส่งสัญญาณดิจิตอลระบบดาวเทียม DVB-C: Digital Video Broadcast- Cable การส่งสัญญาณดิจิตอลระบบเคเบิล

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 137 บทเรียนจาก ทีวีอนาลอก สู่ยุคดิจิตอล : บทสรุปของความสำเร็จในประเทศเยอรมนี

คดีระหว่างองค์กรผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น ช่อง 3, 5 ช่อง 9 อสมท. และกองทัพบกยังไม่จบครับ แม้นจะเป็นที่น่าเสียดายที่ศาลไม่ยอมออกคำสั่งคุ้มครอง โดยศาลให้เหตุผลว่าหากศาลมีคำสั่งให้ทางทีวีสาธารณะเผยแพร่สัญญาณออกอากาศทุกช่องทาง อาจทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ คือ UEFA สั่งระงับสัญญาณการถ่ายทอดสัญญาณได้ทันที ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจศาล และมีผลทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถรับชมบอลยูโรได้ และการที่ศาลไม่มีคำสั่งคุ้มครอง ก็ยังสามารถรับชมการถ่ายทอดสัญญาณผ่านช่องทางอื่นได้ (ถ้ายังจำกรณีวิกฤติระหว่างประเทศทั้งสองที่เครื่องบินส่วนพระองค์ถูกทางเยอรมันอาญัติไว้เป็นการชั่วคราว จนทำให้มีหลายคนในรัฐบาลเดือดร้อนกันไปตามๆ นั้น จะเห็นได้ว่า การตัดสินของศาลเยอรมนี จะคำนึงถึงหลักนิติธรรม เป็นที่ตั้ง ในกรณีนี้ หากเป็นศาลไทยผมยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ศาลคงหาเหตุผลมาอธิบายในการที่จะไม่ปฏิบัติตามหลักนิติธรรม ซึ่งประชาชนอย่างเราก็ต้องจับตามองการทำงานขององค์กรศาลด้วยเช่นกัน)   สำหรับประเด็นการทำผิดกฎหมายแล้วอยู่นอกเหนืออำนาจศาลนั้น เคยมีกรณีของศาลอาญาเยอรมนี ได้สั่งให้ทางเฟสบุค ซึ่งเป็นผู้เก็บข้อมูล ไว้ที่ประเทศไอร์แลนด์เหนือ ส่งหลักฐานมาให้ศาลเพื่อประกอบการพิจารณา จริงๆ แล้ว หากศาลของเรามีความตั้งใจจริงในการไต่สวน เพราะในคดีผู้บริโภคก็ได้เปิดช่องไว้เช่นกันนั้น น่าจะลองทำดู โดยการส่งหนังสือเรียก  UEFA มาเป็นพยานให้การ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดี ที่ในอนาคตจะมีปัญหาเรื่องพรมแดนและขอบเขตอำนาจศาล ในประเด็นการทำผิดหรือละเมิด ในโลกไซเบอร์อย่างแน่นอน สำหรับบทความในวันนี้ จะแปลบทสรุปของประเทศเยอรมนี การเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณทีวีจากระบบอนาลอก มาเป็นระบบดิจิตอล (Digital Video Broadcasting- Terrestic: DVB-T) ซึ่งคาดว่าประเทศไทยน่าจะใช้ระบบการส่งสัญญาณแบบนี้ในอนาคต ใครอยากเตรียมความพร้อม ในเรื่องนี้ ผมจะหาข้อมูลมาเล่าให้ฟังเป็นระยะๆ เพราะขณะนี้ไม่มีองค์กรไหนที่ผู้บริโภคสามารถพึ่งพาได้เลย  เป็นเรื่องที่ต้องยึดถือพุทธสุภาษิตว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน รายงานฉบับนี้มีทั้งหมด 21 หน้าครับ สำหรับวันนี้ผมจะสรุปให้ฟังดังนี้ บทสรุปการเปลี่ยนการส่งสัญญาณแพร่ภาพและกระจายเสียงจากอนาลอกมาสู่แบบดิจิตัล (DVB-T) ตั้งแต่ปี ค ศ. 2008 เป็นต้นมาการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณการแพร่ภาพจากแบบอนาลอก มาเป็นแบบดิจิตอลนั้น ของโทรทัศน์ภาคพื้นดินนั้นได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายทุกประการ  การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนอกจากไม่ใช่จะเป็นไปตามที่ข้อกำหนดของกฎหมายที่ระบุไว้เพียงเท่านั้นแต่ยังดีกว่าที่กำหนดอีกด้วย เพราะ การเปลี่ยนการส่งสัญญาณแต่เดิมนั้น จะต้องทำให้เสร็จสิ้นในปี 2010 แต่การเปลี่ยนการส่งสัญญาณสำเร็จล่วงหน้าก่อน 2 ปี คือ ปี 2008 เนื่องจากการส่งสัญญาณภาคพื้นดินในเยอรมนีนั้น ครอบคลุมประชากรถึง 90 กว่า % ประชากรจำนวน 74 ล้านคนสามารถเข้าถึงการส่งสัญญาณแบบดิจิตอล (DVB-T) ผ่านเสาก้างปลา และประชากรจำนวน 24 ล้านคนสามารถรับสัญญาณด้วยเสาหนวดกุ้งได้เช่นกัน ขณะนี้ (เดือน ธันวาคม 2008) สามารถขายเครื่องแปลงสัญญาณได้มากกว่า 16 ล้านเครื่อง หมายความว่าเรากำลังเข้าสู่ยุค เรเนสซองส์ ของการรับส่งสัญญาณภาคพื้นดิน  Renaissance of the Terrestic) การตัดสินใจในการเปลี่ยนเทคโนโลยีการส่งสัญญาณนั้นนับได้ว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และนำพาประเทศไปสู่ความทันสมัย การส่งสัญญาณแบบดิจิตอลนี้ มีส่วนช่วยกระตุ้นการแข่งขันของตลาดการส่งสัญญาณแพร่ภาพ และมีผลต่อตลาดเครื่องรับโทรทัศน์แบบมือถือ (Mobile- TV) และโทรทัศน์แบบเคลื่อนที่ (Portable- TV) อีกด้วย คอนเซปต์ในการเปลี่ยนการส่งสัญญาณ ปี ค.ศ. 1998 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการ (Bundeswirtschaftministerium) ได้นำเสนอโครงการ ความคิดริเริ่มในการส่งสัญญาณแบบดิจิตอล (Inititative Digitaler  Rundfunk) โครงการดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเศรษฐการ และรัฐบาลท้องถิ่นของเยอรมนี ตลอดจนตัวแทนจากสถานีวิทยุโทรทัศน์สาธารณะ สถานีวิทยุโทรทัศน์เอกชน และองค์กรกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ (Federal Network Agency) และผู้ประกอบการให้บริการโครงข่ายสัญญาณ ก่อนที่จะได้ข้อสรุป การส่งสัญญาณแพร่ภาพกระจายเสียงมาเป็นระบบดิจิตอลนั้น ได้มีการนำเสนอโมเดลรูปแบบต่างๆ เพื่อทำการทดลอง ปี ค.ศ. 1998- 2004 ได้ติดตั้งและทดสอบโครงข่ายส่งสัญญาณทางตอนเหนือของประเทศเยอรมนี ได้แก่ ระหว่างเมือง โวล์ฟสบวร์ก (Wolfsburg) ถึงเมือง เบรเมนฮาเวน (Bremenhaven) และระหว่างเมืองฮันโนเวอร์ (Hannover) ถึงเมืองฮัมบวร์ก (Hammburg) นอกจากนี้ยังได้ทดลองส่งสัญญาณในกรุงเบอร์ลิน ตามสนธิสัญญาเชสเตอร์ (Chester Agreement) ปี 1997 การทดสอบดังกล่าวมีขึ้นเพื่อหาเงื่อนไข (Parameter) ที่ดีที่สุดในการส่งสัญญาณ ปี 1997-1999 ทดสอบระบบส่งสัญญาณดิจิตอล แบบ DVB-T ในย่านเมืองมิวนิค รัฐบาวาเรียทางตอนใต้ของเยอรมนี ที่เมืองโคโลญจ์ ทดสอบการรับสัญญาณด้วยเครื่องทีวีแบบพกพา ภายใต้การเคลื่อนที่ความเร็วสูง(เรียกว่า การทดสอบ Maserati-Test : เนื่องจากทดสอบภายใต้การรับสัญญาณที่ความเร็วสูง เหมือนกับรถสปอร์ต Maserati) ปี 2000 มีการจัดงานงาน EXPO 2000 ที่เมืองฮันโนเวอร์(มีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราหลายคนไปเยี่ยมชมงานนี้กัน) ซึ่งทางเยอรมนีได้จัดเตรียมรถโฟล์กสวาเกน (VW) สำหรับรับแขกบ้านแขกเมืองที่ไปเยี่ยมชมงานนี้ ในรถรับรองแขกบ้านแขกเมืองนั้น ได้ติดตั้งระบบรับสัญญาณ DVB-T จนนำมาสู่การยอมรับของระบบส่งสัญญาณและแพร่ภาพด้วยระบบนี้ วันนี้หมดเนื้อที่สัมปทานครับ ไว้มารายงานต่อคราวหน้า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 133 เข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอล ผู้บริโภคต้องเตรียมตัวอย่างไร

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ สัญญาณแบบอนาลอก เป็นสัญญาณโทรทัศน์ที่จะหมดยุคภายใน 4-5 ปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยเราจะก้าวเข้ามาสู่ยุคโทรทัศน์แบบดิจิตอล ซึ่งผู้บริโภคที่มีความรู้ในเรื่องเทคนิคอย่างค่อนข้างจำกัดนั้น สมควรที่จะต้องหาความรู้พื้นฐาน ตลอดจนการเตรียมการในการที่จะรับสัญญาณแบบใหม่นี้ ความรู้พื้นฐานที่ผู้บริโภคควรมีไว้กับตัวนั้น ผมนำมาจากความรู้ของคณะทำงานในการเตรียมตัวการเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลของเยอรมัน เนื่องจากประเทศเยอรมนีได้ก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลก่อนเราไปล่วงหน้าหลายปี องค์ความรู้ในด้านการเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนผู้ให้บริการ หน่วยงานกำกับดูแล และผู้บริโภค ประเทศเขาสามารถทำได้และทำร่วมกันได้เป็นอย่างดี เราสามารถขอหยิบยืมองค์ความรู้ของเขามาประยุกต์ใช้ในบ้านเราได้ ก็จะทำให้การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเป็นไปได้อย่างราบรื่น และเป็นภาระกับผู้บริโภคได้อย่างน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ตอนนี้เรามี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ครบถ้วนสมบูรณ์แบบแล้ว และเป็นความคาดหวังใหม่ของสังคม โดยเฉพาะในส่วนของผู้บริโภค ที่ไม่ต้องการการถูกเอารัดเอาเปรียบจากภาคธุรกิจเหมือนอย่างในอดีตที่ผ่านมา นอกจากการควบคุมกิจการในด้านนี้แล้ว ภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การให้ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นกับผู้บริโภค เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลที่จะเดินเข้ามาหาเราในเร็วๆ นี้ การเตรียมความพร้อมในยุคของทีวีดิจิตอลนั้น สำหรับผู้บริโภคที่มีโทรทัศน์ที่รับสัญญาณผ่านเสาอากาศ ก็ต้องจัดหา อุปกรณ์ตัวแปลงสัญญาณที่เราเรียกว่า Set-Top-Box ที่จะแปลงสัญญาณจากอนาลอกมาเป็นดิจิตอล สำหรับทีวีที่มีจุดเชื่อมต่อเป็นแบบ สการ์ต (Scart) เวลาที่เราเลือกซื้อ Set Top Box นั้น ก็จะต้องพิจารณาดูว่า มีจุดเชื่อมต่อสำหรับ การต่อผ่านแผ่น สการ์ตหรือไม่ดังรูปที่ 1 ถ้าทีวีที่ไม่มีแผ่นสการ์ต แต่มีจุดเชื่อมต่อเป็น coaxial cable ก็ต้องเลือก Set-Top-Box ที่มีตัวรับตัวเสียบดังรูปที่ 2ในกรณีที่มีการเชื่อมต่อกับเครื่องเล่นดีวีดี หรือแอมปลิฟายเออร์ การเลือกซื้อ Set – Top- Box ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า มีจุดที่สามารถเชื่อมต่อได้ทั้ง แผ่นสการ์ต และจุดเชื่อมต่อแบบโคแอกเซียลดังรูปที่ 3   บทสรุป ผู้บริโภคต้องเตรียมการสำรวจอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เครื่องเล่นอิเลคทรอนิกส์ ที่มีอยู่แล้วในบ้าน เช่น โทรทัศน์ เครื่องเล่นวีดีโอ เครื่องเล่นดีวีดี และแอมปลิฟายเออร์ ว่า มีจุดเชื่อมต่อกี่จุด และมีจุดเชื่อมต่อเป็นแบบใดแล้ว ผู้บริโภคก็ควรจะเลือกอุปกรณ์ Set Top Box ที่เหมาะสมสามารถที่จะต่อเชื่อมเข้ากับเครื่องเล่นอิเลคทรอนิกส์ ที่มีอยู่แล้ว โดยดูจากจุดเชื่อมต่อของ Set top box ว่าจะมีจุดเชื่อมต่อให้หลายจุดและเพียงพอหรือไม่ ก่อนที่จะพิจารณาต่อในเรื่องคุณภาพของสัญญาณ และราคา ในส่วนของ กสทช. ควรต้องกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ Set Top Box ที่จะนำมาเสนอขายในท้องตลาด โดยกำหนดให้อุปกรณ์นั้นรองรับกับอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ที่มีอยู่ในครัวเรือนและที่ขายในตลาดบ้านเรา โดยเฉพาะการกำหนดจำนวนและประเภทของจุดเชื่อมต่อขั้นต่ำ ที่จะต้องมีจำนวนเพียงพอ เพื่อให้ผู้บริโภคไม่ต้องรับภาระมากเกินไปในการจัดหาอุปกรณ์เสริมและสายสัญญาณต่างๆ ที่จะต้องใช้ในการรับสัญญาณระบบดิจิตอลที่ได้เริ่มมีการทดลองออกอากาศกันบ้างแล้ว     รูปที่ 1 การเชื่อมต่อระหว่างเสารับสัญญาณและอุปกรณ์ Set Top Box ที่เป็นแบบแผ่นสการ์ต   รูปที่ 2 การเชื่อมต่อระหว่างเสารับสัญญาณและอุปกรณ์ Set Top Box ที่เป็นแบบสายโคแอกเซียล   รูปที่ 3 การเชื่อมต่อระหว่างเสารับสัญญาณและอุปกรณ์ Set Top Box ที่เป็นทั้งแบบสายสการ์ตและสายแบบโคแอกเซียล   แหล่งข้อมูลอ้างอิงwww.ueberallfernsehen.de

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 สำรวจราคากล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี

หลายคนคงมีโอกาสได้รับชมช่องรายการทีวีระบบดิจิตอลกันบ้างแล้ว ซึ่งประเทศไทยเราได้เริ่มทำการออกอากาศช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลทีวี (Digital Television) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา โดยระยะแรกจะยังรับชมได้แค่ในบางพื้นที่ของประเทศ แต่คาดว่าจะสามารถออกอากาศครอบคลุมให้ได้ในพื้นที่ 80% ของประเทศภายในต้นปี 2558 เชื่อว่าบางคนก็คงสัมผัสได้ถึงความแตกต่างจากการรับชมทีวีแบบแต่ก่อนเคยดูมา อย่างน้อยก็เรื่องของช่องรายการที่มีเพิ่มมาให้ได้รับชมกันมากขึ้น แต่เชื่อว่าหลายคนก็อาจมีข้อสงสัยว่า ทีวีดิจิตอลจริงๆ แล้วมันคืออะไร ทำไมต้องเปลี่ยนเป็นดิจิตอลทีวี จำเป็นมั้ยที่ต้องเปลี่ยน แล้วถ้าที่บ้านอยากจะดูดิจิตอลทีวีบ้างต้องทำอย่างไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของราคาคูปองแลกกล่องรับสัญญาณดิจิตัลทีวีที่ทาง กสทช. จะแจกให้ 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ โดยเคาะราคาออกมาอยู่ที่ 690 บาท ปรับลดลงมาจากเดิมที่เคยตั้งไว้ที่ 1,000 บาท คูปองนี้เอาไปใช้ยังไง และทำไมต้อง 690 บาท เอาเป็นว่าเรามาค่อยๆ ทำความเข้าใจไปพร้อมกันได้เลย จาก 1,000 ทำไมถึงกลายมาเป็น 690 หลายคนที่ติดตามข่าวเรื่องแผนการแจกคูปองสำหรับเป็นส่วนลดแลกกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีของทาง กสทช. คงจะพอทราบแล้วว่าเกิดปัญหามาต่อเนื่องเรื่องวงเงินของมูลค่าคูปอง จากที่ กสทช. บอกว่าจะแจกคูปองทุกบ้านบ้านละ 1 ใบ มูลค่า 1,000 บาท ซึ่งไม่นานหลังจากนั้น องค์กรผู้บริโภคโดยคณะทำงาน “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน” ก็ได้ออกมาคัดค้านว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ไม่เหมาะ และเรียกร้องให้ปรับลดลงมาให้เหลือที่ 690 บาท   ต้นทุนจริงกล่องดิจิตอลทีวีแค่ไม่กี่ร้อยบาท ผู้บริโภคหลายคนคงจะสงสัยว่า ทำไมต้องเรียกร้องให้ลดราคาคูปอง ได้ 1,000 ก็น่าจะดีกว่าได้แค่ 690 ไม่ใช่หรือ? ผู้บริโภคต้องไม่ลืมว่าคูปองที่ได้นำไปแลกเป็นเงินสดไม่ได้ ใช้ได้แค่เป็นส่วนลดในการซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีหรือทีวีที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณทีวีดิจิตอลพร้อมในตัวเท่านั้น การตั้งราคาคูปองที่สูงเกินไปของทาง กสทช. ส่งผลให้การตั้งราคากล่องรับสัญญาณสูงตามไปด้วย ทั้งที่มีการศึกษาข้อมูลมาแล้วว่าต้นทุนของราคากล่องรับสัญญาณจริงๆ อยู่ในหลักไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.alibaba.com ซึ่งเป็นเว็บขายอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคออนไลน์ทั่วโลก พบว่า ราคากล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี รุ่น DVTB T2 มีราคาขายอยู่ที่เพียง 403 บาท สำหรับการสั่งซื้อที่ขั้นต่ำ 5,000 ชิ้น นอกจากนี้ ทาง กสทช. น่าจะทราบดีอยู่แล้วถึงราคาต้นทุนของกล่อง เพราะมีอำนาจในการตรวจสอบโครงสร้างราคาต้นทุนที่แท้จริงได้ แรกเริ่มเดิมที่ กสทช. มีมติเรื่องแนวทางการแจกคูปองส่วนลดเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลทีวี ซึ่งกำหนดมูลค่าคูปองไว้ที่ 690 บาท แจกให้กับผู้บริโภค 22 ล้านครัวเรือน รวมเป็นงบประมาณที่ใช้คือ 15,190 ล้านบาท แต่หลังจากนั้น คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) กลับมีมติเห็นชอบอนุมัติมูลค่าราคาคูปองขึ้นเป็น 1,000 บาท ทำให้งบประมาณที่ใช้พุ่งสูงไปถึง 25,000 ล้านบาท โดยที่ไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ไม่มีการเปิดเผยต้นทุนต่อสาธารณะและไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งคูปองส่วนลด 1,000 บาทนี้ ถูกกำหนดให้สามารถนำไปแลกเป็นส่วนลดได้ทั้ง 1.กล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี พร้อมสายอากาศแบบติดตั้งภายในอาคารที่มีภาคขยาย (Active Antenna) 2.เครื่องรับโทรทัศน์ที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลในตัว และ 3.กล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี รุ่นที่รองรับการรับชมความคมชัดสูง หรือ HD ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลัง กสทช. ปรับราคาคูปองขึ้นเป็น 1,000 บาท นอกจากงบประมาณของประเทศจะถูกใช้เพิ่มมากขึ้น ผิดไปจากหลักการที่กำหนดไว้แต่แรกแล้ว ยังส่งผลเสียโดยตรงกับผู้บริโภค เพราะทำให้ราคากล่องรับสัญญาณมีราคาสูงขึ้นตามมูลค่าของคูปอง ซึ่งจากการสำรวจราคากล่องดิจิตอลที่วางขายอยู่ในท้องตลาด ราคาจะอยู่ที่ 1,000 – 2,000 บาท แต่อย่างที่ได้ให้ข้อมูลไปแล้วว่าต้นทุนจริงๆ ของกล่องดิจิตอลต่อให้บวกราคาที่บริษัทผู้ผลิตได้กำไรแล้ว ราคาขายก็ไม่น่าเกิน 1,000 บาท   ผลเสียของคูปอง 1,000 บาท กลายเป็นภาระของผู้บริโภค การประกาศให้ราคาคูปองที่ 1,000 บาทจึงเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน ทำให้ประเทศชาติเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งมีเพียงกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการที่ กสทช. อนุมัติราคาคูปองที่ 1,000 บาท มีเพียงแค่ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ค้ากล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลที่สามารกำหนดราคากล่องสูงๆ ตามราคาคูปองได้ 2 .บริษัทจำหน่ายดิจิตอลทีวี ซึ่งราคาคูปอง 1,000 บาทสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคนำไปใช้เป็นส่วนลดซื้อทีวี และ 3.ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวี เพราะผู้บริโภคสามารถนำคูปองไปเป็นส่วนลดในการซื้อกล่องดาวเทียมหรือเคเบิล ซึ่งแม้ราคาจะแพงกว่ากล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีธรรมดา แต่รายการที่มีให้รับชมดึงดูดใจผู้บริโภคได้มากกว่า แต่นั้นก็ถือเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเข้าถึงการรับชมดิจิตอลทีวีในรูปแบบฟรีทีวี ไม่ต้องมีภาระในการจ่ายค่าบริการรายเดือน เครือข่ายผู้บริโภคจึงได้เรียกร้องให้ กสทช. ต้องปรับลดราคาคูปองจาก 1,000 บาท ลงมาเหลือที่ 690 บาท เพื่อไม่เป็นสร้างภาระให้กับผู้บริโภค ไม่ใช้งบประมาณของประเทศไปอย่างไม่เหมาะสม พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากบรรดาผู้ผลิตกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลปรับลดราคาสินค้าของตัวเองลงให้เหมาะสมกับต้นทุนจริง เพื่อคูปองถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่อยากให้เป็นเครื่องช่วยให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเข้าถึงการรับชมดิจิตอลทีวีอย่างทั่วถึงเท่าเทียม   พลังของผู้บริโภคมีผล กสทช.ยอมปรับราคาคูปองที่ 690 ในที่สุดความตั้งใจดีขององค์กรผู้บริโภคก็เป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. กสทช. ก็ได้มีมติสรุปราคาคูปอง (น่าจะเป็นที่แน่นอนแล้ว) ให้ลดลงมาอยู่ 690 บาท โดยคูปองราคา 690 บาทนี้จะสามารถใช้เป็นส่วนลดแลกซื้อได้เฉพาะ โทรทัศน์ระบบดิจิตอลที่มีภาครับในตัว และอุปกรณ์แปลงสัญญาณระบบดิจิตอล (Set-Top-Box) มาตรฐาน DVB-T2 ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงาน กสทช. (มีสติ๊กเกอร์ตราครุฑแปะอยู่ที่กล่อง) เท่านั้น ไม่สามารถนำไปแลกกล่องรับสัญญาณดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีแบบที่เคยกำหนดไว้ในคูปองราคา 1,000 บาท โดยคูปองแลกซื้อดิจิตอลทีวีจะแจกให้กับ 22.9 ล้านครัวเรือน ตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง ณ เดือนมีนาคม 2557 โดยจะส่งทางไปรษณีย์  คาดว่าจะเริ่มส่งได้ช่วงปลายเดือนกันยายนหรือกลางเดือนตุลาคม ซึ่งจะเริ่มแจกก่อนใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เชียงใหม่ สงขลา และขอนแก่น *สำรวจราคาล่าสุดสิงหาคม 2557 --------------   ขอต้อนรับเข้าสูยุค “ดิจิตอลทีวี” ดิจิตอลทีวี เป็นชื่อเรียกของระบบการส่งสัญญาณโทรทัศน์ ทั้งภาพและเสียงเข้าสู่เครื่องรับโทรทัศน์ของแต่ละบ้าน ซึ่งก็คือช่องรายการต่างๆ ที่เรารับชมกันอยู่ แต่ก่อนแต่ไรมาระบบสัญญาณโทรทัศน์ในบ้านเราจะเป็นระบบที่เรียกว่า ระบบอนาล็อก (Analog) ซึ่งส่งสัญญาณช่องรายการทีวีที่ทุกบ้านสามารถดูได้ฟรีๆ 6 ช่องรายการ คือ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 (NBT) และ ไทยพีบีเอส โดยการรับชมก็ขอแค่มีทีวีสักเครื่องติดเข้ากับเสาอากาศสักอัน จะเป็นก้างปลาหนวดกุ้งก็แล้วแต่ แค่นี้ก็รับชมฟรีทีวี 6 ช่องรายการที่บอกไว้ได้แล้ว แต่การมาถึงของดิจิตอลทีวีจะทำให้การรับชมฟรีทีวีของคนไทยต้องเปลี่ยนไป และน่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพราะการส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลจะช่วยทำให้คุณภาพของภาพและเสียงมีความคมชัดสูงมากกว่าระบบอนาล็อกเดิม ระบบเสียงจะเปลี่ยนเป็นระบบ Surround จากเดิมที่เป็นแค่ระบบ Stereo ส่วนภาพก็มีช่องรายการที่ออกอากาศด้วยระบบความคมชัดสูง (High Definition – HD) ต่างจากระบบอนาล็อกที่มีแค่ช่องรายการที่ความคมชัดของภาพอยู่ในระดับปกติ (Standard Definition – SD) เท่านั้น แถมช่องรายการที่เป็นฟรีทีวีก็มีเพิ่มมากขึ้นจาก 6 ช่อง เพิ่มเป็น 48 ช่อง เพียงแต่การที่จะรับชมช่องรายการทีวีระบบดิจิตอลนั้น จำเป็นต้องมีตัวช่วย คือ กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล หรือ Set top Box นำมาติดตั้งเข้ากับทีวีเครื่องเดิมที่บ้านเพื่อแปลงสัญญาณดิจิตอลแสดงผลผ่านหน้าจอทีวี กลายเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงต้องหาซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีมาต่อเข้ากับทีวีที่บ้าน ซึ่งทาง กสทช. ก็ช่วยเหลือประชาชนส่วนหนึ่งด้วยการแจกคูปองมูลค่า 690 บาท ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นส่วนลดสำหรับแลกซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีและทีวีรุ่นใหม่ๆ ทีมีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลทีวีในตัวไม่ต้องติดกล่องก็ชมได้     นอกจากนี้ดิจิตอลทีวี จะได้เปรียบทีวีดาวเทียม คือ หากมีการถ่ายทอดสดรายการกีฬาสำคัญๆ ทีวีดาวเทียมจะมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด จึงทำให้จอดำ แต่ทีวีดิจิตอล สามารถรับได้ปกติ เพราะเป็นระบบฟรีทีวีแบบเดียวกับการใช้เสาหนวดกุ้ง (ไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด)   อยากดูดิจิตอลทีวีต้องทำยังไง? ถ้าหากอยากให้ทีวีทีบ้านออกอากาศช่องรายการในระบบดิจิตอลทีวี มีวิธีหลักๆ อยู่ 3 วิธีด้วยกัน หาซื้อทีวีเครื่องใหม่ที่มีตัวรับสัญญาณหรือจูนเนอร์ที่รองระบบดิจิตอลทีวีในตัว (integrated Digital Television หรือ iDTV) ซึ่งสามารถรับสัญญาณระบบดิจิตอลทีวีได้ทันที ไม่ต้องติดกล่องรับสัญญาณ หรือ Set Top Box แค่นำทีวีต่อเข้ากับเสารับสัญญาณโดยตรงก็สามารถรับชมช่องรายการทีวีดิจิตอลได้ทันที (สามารถตรวจสอบ ยี่ห้อ รุ่น ของทีวีที่รองรับระบบสัญญาณดิจิตอลในตัวเครื่องได้ที่ https://broadcast.nbtc.go.th/tools/idtv) ส่วนถ้าใครไม่อยากเสียเงินซื้อทีวีใหม่ แต่ทีวีที่บ้านยังเป็นรุ่นเก่า ไม่ว่าจะเป็นทีวีจอตู้ หรือจะเป็นทีวีจอแบนรุ่นใหม่ๆ ทั้งพลาสม่า, LCD, LED ถ้าหากเขาไม่ได้เป็นทีวีรุ่นที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลทีวีในตัว ยังไงก็ดูช่องรายการดิจิตอลทีวีไม่ได้ ถ้าไม่มีตัวช่วยอย่าง กล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี โดยกล่องรับสัญญาณต้องเป็นรุ่นที่สามารถแปลงสัญญาณที่เรียกว่า DVB T2 ได้ โดยขั้นตอนการติดตั้งเพื่อรับชมก็ไม่ยากแค่นำกล่องรับสัญญาณไปต่อสายนำสัญญาณที่มาจากเสาอากาศ ก้างปลา หรือหนวดกุ้ง ก็แล้วแต่สะดวก จากนั้นก็ใช้สาย AV หรือสาย HDMI ต่อเข้าที่ทีวีแค่นี้ก็ชมดิจิตอลทีวีได้แล้ว (ข้อควรรู้สำหรับคนที่ตั้งใจจะชมช่องรายการความคมชัดสูง หรือ ช่อง HD จากกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล ต้องต่อสายรับสัญญาณจากกล่องรับสัญญาณเข้าสู่ทีวีด้วยสาย HDMI เท่านั้น เพราะสายสัญญาณ AV เป็นการส่งสัญญาณแบบอนาล็อก การรับชมช่องแบบ HD ก็จะได้คุณภาพความคมชัดไม่สมบูรณ์ 100% เพราะฉะนั้นถ้าอยากดูช่อง HD ที่คมชัดจริงๆ ต้องต่อด้วยสายสัญญาณ HDMI นั้นแปลว่า ทีวีที่จะรับชมก็ต้องมีช่องสำหรับเสียบสัญญาณ HDMI มาพร้อมด้วยเช่น งานนี้ใครที่ยังใช้ทีวีรุ่นเก่าพวกทีวีจอตู้ก็จะต้องเจอปัญหาเพราะไม่มีช่องรับสัญญาณ HDMI ถ้าอยากชมก็ต้องยอมเปลี่ยนเป็นทีวีจอแบนรุ่นใหม่ๆ แทน) แต่ถ้าที่บ้านใครปกติรับชมทีวีผ่านกล่องจานดาวเทียมหรือเคเบิลอยู่แล้ว (เช่น True, GMMZ, IPM, sunbox, PSI ฯลฯ) สามารถรับชมช่องรายการดิจิตอลทีวีได้ทันที 48 ช่องเช่นกัน แต่รูปแบบการเรียงลำดับช่องรายการก็แตกต่างจากช่องรายการที่เรียงไว้เป็นมาตรฐานของกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีทั่วไป นอกจากนี้หากอยากจะรับชมช่องรายการที่เป็นแบบ HD ก็ต้องเลือกกล่องรับสัญญาณดาวเทียมที่รองรับระบบ HD ด้วยเช่นกัน การรับชมก็แค่ถอดปลั๊กกล่องรับสัญญาณดาวเทียมที่รับชมอยู่ แล้วเสียบใหม่ไปที่เครื่อง เครื่องจะเริ่มทำงานใหม่และค้มหาสัญญาณดิจิตอลทีวีโดยอัตโนมัติ   วิธีการติดตั้งกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี 1. ตรวจสอบสายอากาศ สายสัญญาณ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ว่ายังสามารถใช้งานได้เป็นปกติดีหรือไม่ 2. นำสายสัญญาณที่เชื่อมต่อมาจากเสาอากาศต่อเข้ากับกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล 3. เชื่อมต่อสายสัญญาณจากกล่องดิจิตอลทีวี ด้วยสายสัญญาณ AV หรือสาย HDMI เข้าสู่ทีวี 4. เปิดเครื่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี เมื่อกล่องรับสัญญาณทำงานที่หน้าจอทีวีจะแสดงหน้าเมนู อันดับแรกให้เลือกภาษาที่แสดงเป็นภาษาไทย (กล่องรับสัญญาณทุกรุ่นทุกยี่ห้อที่ได้รับการรับรองจาก กสทช. ต้องมีเมนูเลือกเป็นภาษาไทย) จากนั้นให้ตั้งค่าเปิดไฟเลี้ยงสำหรับทีวีที่ใช้เสาสัญญาณแบบที่มีไฟเลี้ยง (Active Indoor Antenna ส่วนใหญ่จะเสาอากาศขนาดเล็กที่ติดตั้งภายในอาคาร) จากเลือกเมนูคำสั่งค้นหาช่องรายการ กล่องรับสัญญาณก็จะทำการค้นหาสัญญาณและช่องรายการแบบอัตโนมัติ เท่านี้ก็ดูทีวีดิจิตอลได้แล้ว   มาตรฐานด้านเทคนิคของเครื่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี 1.ต้องสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอลในระบบ Second Generation Digital Terrestrial Television Broadcasting System (DVB-T2) ได้ทั้งแบบมาตรฐานความคมชัดปกติ (Standard Definition: SD) และแบบมาตรฐานความคมชัดสูง (High Definition: HD) 2. เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลต้องมีคุณลักษณะทางไฟฟ้าและความปลอดภัยตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน มอก. 1195  หรือฉบับที่ใหม่กว่า 3. ข้อกําหนดทางเทคนิคด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Compatibility) ข้อกําหนดทางเทคนิคด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าสําหรับเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดินให้เป็นไปตามที่กําหนดไว้ในมาตรฐาน CISPR 13 หรือ มอก. 2185-2547 4. ครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลต้องมาพร้อมกับคู่มือการติดตั้งและใช้งานทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 5. รีโมทคอนโทรล (Remote Control) ต้องมีปุ่มนูนสัมผัส (Tactile marking) บนปุ่มกดตัวเลข “5” 7. รีโมทคอนโทรล (Remote Control) ต้องมีปุ่มสําหรับการเลือกช่องสัญญาณเสียงที่รองรับการใช้งานการบรรยายด้วยเสียง (Audio Description) ได้ โดยอาจเป็นปุ่มสําหรับเลือกช่องสัญญาณเสียงโดยทั่วไป เช่น ปุ่ม “Audio” หรือเป็นปุ่มสําหรับเปิดหรือปิดการบรรยายด้วยเสียงเป็นการเฉพาะ เช่น ปุ่ม “AD” 8. การแสดงผลภาพ ต้องรองรับการแสดงผลความคมชัดสูง ดังต่อไปนี้ -ความละเอียด 1920x1080 แบบ interlace (1080i) ที่มีอัตราเฟรม (frame rate) 25 ภาพต่อวินาที และอัตราส่วนภาพ (aspect ratio) 16:9 รองรับการแสดงผลความคมชัดสูง -ความละเอียด 1280x720 แบบ progressive (720p) ที่มีอัตราเฟรม (frame rate) 50 ภาพต่อวินาที และอัตราส่วนภาพ (aspect ratio) 16:9 รองรับการแสดงผลความคมชัดปกติ -ความละเอียด 720x576 แบบ interlace (576i) ที่มีอัตราเฟรม (frame rate) 25 ภาพต่อวินาทีและ อัตราส่วนภาพ (aspect ratio) 16:9 และ 4:3 9. การถอดรหัสสัญญาณเสียงแบบ 2 ช่องเสียง (stereo) แบบ MPEG-4 HE AACv2 ตามมาตรฐาน ISO/IEC 14496-3 10. เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลต้องรองรับการแสดงผลเมนูบนจอภาพเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีค่าเริ่มต้นเป็นภาษาไทยหรือผู้ใช้ต้องสามารถเลือกภาษาได้ในการใช้งานครั้งแรก   (ที่มา : ประกาศ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคสำหรับเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2556)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 147 ชวนกันเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอล

คาดว่าในระยะปีหรือสองปีต่อไปนี้ การรับชมโทรทัศน์ของคนไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง จากที่เคยดูฟรีทีวี(ช่อง 3,5,7,9,11 และไทยพีบีเอส) ได้เพียง 6 ช่อง คนไทยจะสามารถดูฟรีทีวีได้ถึง 48 ช่อง ด้วยภาพและเสียงที่คมชัดในระบบดิจิตอล นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ อาจเทียบได้กับเมื่อครั้งที่เราเปลี่ยนจากการรับชมทีวีภาพขาวดำเป็นทีวีภาพสี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือการก้าวเข้าสู่โลกของ “ทีวีดิจิตอล” นั่นเอง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ต้องนับว่าเร็วมาก จนหลายคนอาจจะตามไม่ทัน และเริ่มมีความกังวลกับ  "ทีวีที่บ้านของตัวเอง" ว่าจะยังรับชมรายการได้ตามปกติหรือเปล่า? แล้วจะซื้อทีวีใหม่ตอนไหน? แล้วทีวีดาวเทียมกล่อง Set top Box ที่มีอยู่เต็มบ้าน ถ้าเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอล จะดูได้หรือไม่ จะต้องเปลี่ยนอีกหรือเปล่า? หลากหลายคำถามที่เกิดขึ้น หลายคนก็ยังไม่รู้คำตอบ เอาเป็นว่า เรามาเตรียมความพร้อมไปกับฉลาดซื้อด้วยกันเลย   Time line การออกอากาศรายการโทรทัศน์ไทย เริ่มออกอากาศรายการโทรทัศน์ในระบบขาวดำเป็นครั้งแรกในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม พ.ศ. 2498 โดยใช้ชื่อว่า "สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม" พัฒนาจากโทรทัศน์ระบบขาวดำมาสู่โทรทัศน์ระบบสี พ.ศ. 2510 คนไทยสามารถรับชมโทรทัศน์(ฟรี)ได้ 6 ช่อง ภายใต้ระบบสัมปทานผูกขาดยาวนาน โดยบริษัทและหน่วยงานรัฐไม่กี่หน่วยงาน เกิด กสทช. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ปี พ.ศ. 2550 ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นโทรทัศน์เพื่อความเหมาะสมของประเทศ(ยกเลิกการผูกขาด) ปลายปี 2556 การออกอากาศรายการโทรทัศน์จะเริ่มเปลี่ยนจากสัญญาณระบบอนาล็อก(ภาพ-เสียงไม่คมชัด)เป็นสัญญาณระบบดิจิตอล(ภาพ-เสียงคมชัด) ปี 2558 จะสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้ถึง 48 ช่อง   อะไรคือ “ทีวีดิจิตอล” ที่ผ่านมาการรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านช่องฟรีทีวี ไม่ว่าจะเป็น ช่อง 3,5,7,9,11 และไทยพีบีเอส โดยอาศัยเพียงการใช้เสาอากาศแบบก้างปลาหรือหนวดกุ้ง เราจะพบปัญหาเรื่องภาพและเสียงที่ไม่คมชัด บางทีภาพก็เป็นเงาซ้อนๆ กัน หรือเป็นเม็ดแตกพร่าบนหน้าจอโทรทัศน์ รวมทั้งเสียงที่ไม่ชัดเจน นั่นก็เป็นเพราะว่า การส่งสัญญาณของสถานีโทรทัศน์ทั้ง 6 ช่องนั้น ยังเป็นการส่งสัญญาณภาพและเสียงด้วยระบบเก่า(เทคโนโลยีเดิม) ที่เรียกว่า การส่งสัญญาณระบบอนาล็อก ซึ่งหากต้องการแก้ปัญหาเรื่องความไม่คมชัดของภาพและเสียง จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ในการส่งสัญญาณที่เรียกว่า ระบบดิจิตอล หรือ โทรทัศน์ดิจิตอล การส่งสัญญาณด้วยระบบดิจิตอลไม่เพียงช่วยให้ภาพเสียงคมชัดเท่านั้น ยังทำให้สามารถเพิ่มช่องสำหรับการรับชมรายการโทรทัศน์ได้มากขึ้นด้วย ขนาดที่ว่าจากเคยทำได้แค่ 6 ช่อง สามารถเพิ่มได้สูงสุดถึง 48 ช่อง การส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลนั้น ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเขาทำกันไปนานแล้ว ส่วนประเทศไทยเพิ่งเข้าที่เข้าทางและ กสทช. ได้ประกาศถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2555 และคาดว่าไทยพร้อมจะเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลเต็มรูปแบบในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า (ตอนนี้สถานีไทยพีบีเอส สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ก็เริ่มทดลองส่งสัญญาณการออกอากาศในระบบดิจิตอลไปแล้ว)   ปัจจุบันภาคการส่งและรับสัญญาณรายการโทรทัศน์ในประเทศไทย มี 3 รูปแบบ คือ 1.ระบบแพร่ภาพภาคพื้นดิน (DVB-T the Digital Video Broadcasting - Terrestrial System) หรือการรับชมฟรีทีวี (ช่อง 3 5 7 9 11และไทยพีบีเอส) ในปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนจากสัญญาณอนาล็อกเป็นดิจิตอล 2.ระบบแพร่ภาพผ่านสายเคเบิลทีวี (DVB-C the Digital Video Broadcasting - Cable System) รับชมรายการผ่านกล่องรับสัญญาณที่มาทางสายเคเบิล เป็นการให้บริการแบบบอกรับสมาชิก ผู้ชมต้องจ่ายค่าแรกเข้าและบริการรายเดือน 3.ระบบแพร่ภาพผ่านดาวเทียม (DVB-S The Digital Video Broadcasting - Satellite System) รับชมผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียม โดยครั้งแรกจะต้องมีการติดตั้งจานดาวเทียมพร้อมกล่องรับสัญญาณ หรือปัจจุบันมีขายเฉพาะกล่องสัญญาณ(โดยผ่านจานดาวเทียมอะไรก็ได้ที่ติดตั้งไว้ก่อนแล้ว) ส่วนใหญ่เมื่อติดตั้งครั้งแรกแล้ว จะไม่มีค่ารายเดือนอีก เว้นแต่มี คอนเทนต์พิเศษ ที่ต้องเข้ารหัสเก็บเงินค่าดู     สิ่งที่ผู้บริโภคต้องเตรียมสำหรับการรับชมทีวีดิจิตอล เนื่องจากโทรทัศน์ในประเทศไทยใช้ระบบอนาล็อกมาโดยตลอด อุปกรณ์เครื่องรับโทรทัศน์ที่เราใช้จึงเป็นระบบอนาล็อกทั้งหมด เมื่อจะมีการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอล ไม่เพียงทางผู้ประกอบการหรือสถานีจะต้องเปลี่ยนระบบการส่งสัญญาณเท่านั้น เราในฐานะผู้บริโภคหรือผู้รับชมรายการก็จะต้องลงทุนเพิ่มด้วย ซื้อกล่องแปลงสัญญาณ กรณีที่ไม่อยากเปลี่ยนเครื่องรับโทรทัศน์ใหม่ เราต้องซื้อกล่องแปลงสัญญาณ หรือ Set top Box (หน้าตาคล้ายๆ กล่องเวลาดูโทรทัศน์ดาวเทียมหรือเคเบิล) เพื่อต่อกับเครื่องรับโทรทัศน์เก่าของเรา 1 กล่องต่อ 1 จุดรับชม(เครื่องรับ) ถ้าบ้านท่านมีทีวี 3 เครื่องก็ต้องซื้อ 3 กล่อง คาดว่า ราคาน่าจะไม่เกิน 800 บาท (ต้องจุดนี้ทาง กสทช. กำลังออกมาตรการมาช่วยเหลือผู้บริโภคโดยการออกคูปองส่วนลดเพื่อซื้อกล่อง Set top Box แต่ยังไม่ฟันธงแน่ชัด ต้องตามข่าวกันต่อไป) ซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ที่รองรับการดูทีวีระบบดิจิตอลได้ กรณีนี้ก็ไม่ต้องหาซื้อกล่องแปลงสัญญาณ หรือ Set top Box มาเสริมให้ยุ่งยาก ซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ใหม่เลย แต่ต้องเลือกที่มีระบบรองรับการดูทีวีดิจิตอลเท่านั้น   --------------------------------------------------------------------------------------------------------   การเลือกซื้อโทรทัศน์ใหม่เพื่อดูทีวีดิจิตอล ณ ปัจจุบันเครื่องรับโทรทัศน์ในบ้านเรายังไม่มีระบบรองรับสำหรับการดูทีวีดิจิตอล แต่เชื่อแน่ว่าเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลเต็มรูปแบบ ผู้ผลิตก็พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ติดไว้ในเครื่องรับโทรทัศน์อย่างแน่นอน สำหรับระบบทีวีดิจิตอลบ้านเรา กสทช. ได้เลือกให้นำระบบของยุโรป หรือ “DVB-T2” มาเป็นมาตรฐานระบบโทรทัศน์ดิจิตอลภาคพื้นดินของประเทศ ดังนั้นหากจะเลือกซื้อโทรทัศน์ใหม่(ที่กำลังจะมาขายในอนาคต) ถ้าต้องการให้รับชมทีวีดิจิตอลได้เลย โดยไม่ต้องผ่านกล่อง Set top Box ต้องตรวจดูว่า โทรทัศน์เครื่องนั้นมีระบบ “DVB-T2” หรือเปล่า เครื่องรับโทรทัศน์ บ้านเราปัจจุบันมี 3 แบบ แบ่งออกเป็นของจำเป็นพื้นฐานกับของพิเศษ(คล้ายๆ กับ มือถือธรรมดากับสมาร์ทโฟน) ได้แก่ - ทีวี-จอแก้ว , จอพลาสม่า LCD , LED ทั่วไป ล้วนแต่มีภาครับเป็นระบบอนาล็อก ถ้าจะดูระบบดิจิตอลต้องมีกล่อง set-top-box มาต่อพ่วง - ทีวี.ดิจิตอล, จอพลาสม่า LCD  LED  ที่เปลี่ยนภาครับเป็นระบบดิจิตอลแล้ว (อีกไม่นานจะมาครองตลาด ราคาก็พอ ๆ กับ กลุ่มข้างบน) สองอันนี้จัดเป็นของจำเป็นพื้นฐาน - สมาร์ท-ทีวี อันนี้เป็นทีวีที่รวมความสามารถของสมาร์ทโฟน-แท็ปเล็ต-และทีวี เข้าด้วยกัน ถ้าจะดูทีวีดิจิตอลด้วย ก็ต้องมีระบบรองรับ  “DVB-T2”   ถ้าที่บ้านดูโทรทัศน์ผ่านเคเบิลหรือดาวเทียมอยู่แล้วต้องซื้อกล่องเพิ่มอีกไหม 12 ล้านครัวเรือนไทย ดูทีวีผ่านดาวเทียมกับเคเบิล ซึ่งเยอะกว่าคนที่รับชมฟรีทีวี ผ่านเสาหนวดกุ้ง ก้างปลาเพียงอย่างเดียวที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านครัวเรือน กลุ่มที่ดูผ่านเคเบิลหรือดาวเทียม ไม่จำเป็นต้องซื้อกล่องแปลงสัญญาณเพิ่มแต่อย่างใด ท่านสามารถรับชมรายการในกลุ่มฟรีทีวี 48 ช่องได้เลย อย่างไรก็ตามคุณภาพอาจไม่ดีเท่า เพราะทีวีดิจิตอลนั้นมีหลายช่องที่ออกอากาศด้วยระบบ HD แต่เมื่อชมผ่านดาวเทียมหรือเคเบิล คุณภาพอาจไม่ได้มาตรฐาน HD   ช่องหรือสถานีเดิม ช่อง 3,5,7,9,11 และไทยพีบีเอส จะยังดูได้อีกไหม ในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิตอลเราจะยังคงมีสถานีโทรทัศน์ช่องเดิมๆ  ที่เราดูอยู่ให้ติดตามต่อไปอีกหลายปี(ประมาณ 10 ปี) แต่สิ่งที่เราได้เพิ่มขึ้น คือ มีช่องใหม่ๆ รายการใหม่ๆ ให้เลือกรับชมมากกว่าเดิม โดยเมื่อก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลแล้ว รายการโทรทัศน์ต่างๆ จะมีความหลากหลายขึ้น การออกอากาศรายการโทรทัศน์จะดำเนินควบคู่กันไปทั้งระบบอนาล็อก(6 ช่อง) และดิจิตอล(48 ช่อง) บ้านไหนไม่ต้องการซื้อกล่อง  Set top Box หรือซื้อทีวีใหม่ ก็สามารถรับชมรายการทั้ง 6 ช่องได้เหมือนเดิม แต่ถ้าได้รับชมทั้งสองแบบแน่นอนว่า ทีวีดิจิตอลที่คมชัดกว่า มีรายการให้เลือกมากกว่า ก็จะทำให้เกิดการเปรียบเทียบได้เอง   -------------------------------------------------------------------------------------------------------- เมื่อช่อง 3,5,7,9,11 และไทยพีบีเอส จะไม่ใช่ช่องเดิมอีกต่อไป กสทช. มีคลื่นโทรทัศน์สำหรับการออกอากาศด้วยระบบดิจิตอลอยู่จำนวน 48 ช่อง โดย กสทช. ต้องทำหน้าที่จัดสรรคลื่นให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ ตามแผนของ กสทช. ได้แบ่งสัดส่วนทั้ง 48 ช่องเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทบริการสาธารณะ 12 ช่อง ประเภทบริการชุมชน 12 ช่อง และประเภทบริการธุรกิจ 24 ช่อง ช่อง 3,7,9 เดิมนั้น จะเข้าข่ายประเภทบริการธุรกิจ(เพราะขายโฆษณาหากำไรเป็นหลัก) ผู้ประกอบการทั้ง 3 ช่องนี้ต้องไปประมูลใบอนุญาตแข่งกับผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งถ้าประมูลได้(คงได้แหละ) ก็จะไม่ได้เลขช่องในเลข 3,7,9 เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะ กสทช. กำหนดช่องประเภทบริการธุรกิจให้เริ่มต้นที่ช่อง 13-36 (ใครประมูลสูงสุดได้เลือกก่อน) ส่วน ช่อง 5 ช่อง 11 และช่องไทยพีบีเอส ตามกฎหมายจะได้เข้าไปอยู่ในประเภทบริการสาธารณะโดยไม่ต้องไปแข่งกับใคร แต่ช่อง 5 กับ ช่อง 11 ต้องปรับผังรายการให้เข้ากับนิยามหรือเงื่อนไขของประเภทบริการสาธารณะ หลักๆ คือ ไม่มีโฆษณา ซึ่งช่องที่ได้รับการจัดสรรสำหรับโทรทัศน์ประเภทบริการสาธารณะคือ ช่อง 1-12 (ตอนนี้เดากันว่า ช่องไทยพีบีเอส คงได้เลข 1 ไปครอง) ทำไมต้องเปลี่ยนจากทีวีอนาล็อกเป็นทีวีดิจิตอล ถ้าประเทศไทยไม่รีบเป็นทีวีดิจิตอลภายในปีสองปีนี้ จะส่งผลกระทบอย่างน้อย 2 ประการคือ 1. ผู้ให้บริการ-ผู้รับบริการมีความเสี่ยงที่จะไม่มีอุปกรณ์คุณภาพดีใช้งานภาย หลังปี 2558 เนื่องจากทั่วโลกจะเริ่มยกเลิกการผลิตในระบบอนาล็อก ส่งผลให้อุปกรณ์มือสองจากทั่วโลกจะหลั่งไหลเข้ามาขายในไทยแต่อุปกรณ์มือหนึ่งจะหาได้ยากขึ้น 2. ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีจะเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีการเข้าถึงผู้บริโภค ได้ถึง 90% ของครัวเรือนไทยภายในปี 2558 จากปัจจุบันที่มีอัตราการเข้าถึงผู้บริโภคอยู่ที่ 50-60% ทำให้ดิจิตอลทีวีที่เกิดขึ้นในภายหลังอาจไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และลดความน่าสนใจในการลงทุน   ทีวีดิจิตอลมีข้อเสียหรืออะไรที่ต้องระวัง ข้อเสียสำคัญคือ ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพราะเราต้องซื้อกล่องแปลงสัญญาณต่อกับทีวีเครื่องเก่าหรือซื้อทีวีเครื่องใหม่ ซึ่งเป็นต้นทุนเพิ่มเติมของผู้บริโภค ข้อที่ต้องระวังมากๆ คือ การมีทีวีระบบดิจิตอล ทำให้มีสถานี รายการ และเนื้อหาเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว ยิ่งทำให้ยากในการกำกับดูแลไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น การโฆษณาผลิตภัณฑ์อันตราย ผลิตภัณฑ์หลอกลวง ต้องจุดนี้ต้องมีระบบการป้องกันและลงโทษที่เข้มแข็ง และผู้บริโภคต้องช่วยกันเฝ้าระวัง //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point