ฉบับที่ 234 ‘โควิด-19’ ภาพสะท้อนการจัดการขยะติดเชื้อของไทย

พอจะพูดได้ว่า เวลานี้เราผ่านช่วงตึงเครียดของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มาแล้ว มาตรการล็อคดาวน์ทยอยไขกุญแจออกทีละส่วน (แต่ทำไมไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน?) อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอก 2 ยังต้องเฝ้าระวัง กระทรวงสาธารณสุขย้ำเตือนบ่อยครั้งว่าการ์ดห้ามตก         ประเด็นที่ถูกพูดถึงไม่มากคือเรื่องขยะติดเชื้อ         ขยะติดเชื้อไม่ใช่ปัญหาใหม่ ตรงกันข้าม มันเป็นปัญหาที่หมักหมมมานานแรมปี ลองดูตัวเลขจาก ‘แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564)’ ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ระบุว่า ในปี 2557 มีมูลฝอยติดเชื้อทั่วประเทศประมาณ 52,147 ตัน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากปี 2553 ที่มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเพียง 40,000 ตันเท่านั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 57 มาจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่อีกร้อยละ 43 มาจากโรงพยาบาลเอกชนและสถานบริการขนาดเล็ก ได้แก่ คลินิก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือสถานีอนามัย และสถานพยาบาลสัตว์        ตัวเลขที่ชวนให้ตั้งคำถามและเรียกร้องคำตอบจากภาครัฐอยู่ที่ว่า ในปี 2557 มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่ได้รับการจัดการอย่าง ‘ถูกต้อง’ โดยการเผาไม่น้อยกว่า 35,857 ตันต่อปี หรือร้อยละ 70 ของปริมาณขยะติดเชื้อทั้งหมด         ขยะติดเชื้ออีก 16,290 ตันไปไหน?         ล่วงเลยถึงปี 2563 ขยะติดเชื้อคาดได้ว่าเพิ่มปริมาณขึ้นจากเมื่อ 6 ปีก่อนแน่นอน การกำจัดอย่างถูกต้องรองรับได้แค่ไหน คงต้องบอกว่าเสียใจที่งานชิ้นนี้ไม่มีคำตอบให้ แต่เราจะพาไปสำรวจสถานการณ์ในปัจจุบัน ภาพจากอดีต และความคาดหวังเล็กๆ ในอนาคต         ปริมาณขยะติดเชื้อช่วงโควิด        กลางเดือนเมษายนเว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจสัมภาษณ์ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เนื้อหาช่วงหนึ่งระบุว่า กรมอนามัยได้เฝ้าระวังและติดตามสถานะการณ์ขยะติดเชื้อใน 2 กลุ่มเป้าหมาย         กลุ่มแรกคือผู้ป่วย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำให้จำนวนขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นในระบบของการรักษาพยาบาล พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1 คนมีอัตราการเกิดมูลฝอยติดเชื้อประมาณ 2.85 กิโลกรัมต่อเตียงต่อวัน ส่งผลให้ประเทศต้องดูแลระบบติดเชื้อเพิ่มขึ้นในกลุ่มเป้าหมายนี้         กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่ถูกกักกันหรือการกักตัวเอง ซึ่งมีการกำจัดขยะแบบขยะติดเชื้อ เมื่อรวมขยะติดเชื้อของ 2 กลุ่มเป้าหมายนี้ถือว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้น         ด้าน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวผ่านเว็บไซต์ของทางสถาบันว่า ขยะติดเชื้อที่เกิดจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วทั่วประเทศมีประมาณ 1.5–2 ล้านชิ้นต่อวัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1.7 ตันต่อวัน เมื่อรวมขยะติดเชื้อที่รวบรวมได้จากสถานพยาบาลต่างๆ และนำไปกำจัดโดยเตาเผาที่มีประสิทธิภาพวันละ 50 ตัน ในขณะที่สภาวะปกติมีขยะติดเชื้อ 43 ตันต่อวัน          แต่ยังมีข้อมูลอีกชุดที่น่าสนใจ...         นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวกับ ‘ฉลาดซื้อ’ ว่า หลังจากมีสถานการณ์โควิด-19 ระบบติดตามขยะติดเชื้อในสถานบริการหรือหน่วยต่างๆ พบว่า โดยปกติก่อนมีสถานการณ์โควิด-19 ปริมาณที่มีการจัดการและกำจัดตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 3,900 ตันต่อเดือน แล้วมาขึ้นสูงช่วงที่มีการพบผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อวันที่ 12 มกราคม         “แล้วคงมีการตื่นตัว ระมัดระวังในการให้บริการกับผู้ป่วยมากขึ้นกว่าปกติ เพราะเดิมจาก 3,900 ตันต่อเดือนมันไหลลงมาอยู่เกือบ 3,700 ตันต่อเดือนแล้วก็กลับขึ้นไปประมาณ 4,000 ตันต่อเดือนอีกครั้งหนึ่งในเดือนมกราคม พอเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,600-3,700 ตันต่อเดือน         แต่ข้อมูลตรงนี้ผมอยากเรียนเป็นเปอร์เซ็นต์ให้เห็น ในเดือนกุมภาพันธ์ไม่ดูตามจำนวนยอดใหญ่ แต่ดูจากภาพรวมที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ปริมาณมูลฝอยขยะติดเชื้อลดลงจากฐานเดิมที่เคยมีอยู่ประมาณ 6.98 เปอร์เซ็นต์ เดือนมีนาคมลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 4.22 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของเดือนเมษายนและพฤษภาคมกำลังรวบรวมอยู่”         ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยนอกต่อเดือนจากเดือนตุลาคมถึงธันวาคมปี 2562 มีจำนวนประมาณ 26 ล้าน 28 ล้าน และ 30 ล้านครั้งต่อเดือน และขึ้นสูงสุดในช่วงเดือนมกราคมปีนี้ที่ประมาณ 31 ล้านครั้งต่อเดือน แต่พอเดือนกุมภาพันธ์ที่เริ่มมีมาตรการต่างๆ ออกมาบวกกับการปรับตัวของโรงพยาบาลเพื่อลดความแออัด เพราะเริ่มมีความกังวลว่าการไปรับบริการที่โรงพยาบาลอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะรับเชื้อ ทำให้ยอดผู้ป่วยนอกของเดือนกุมภาพันธ์ตกลงมาอยู่ประมาณ 26 ล้านครั้งต่อเดือน และ 23 ล้านครั้งต่อเดือนในเดือนมีนาคม ซึ่งจำนวนขยะติดเชื้อมีความสัมพันธ์กับจำนวนคนไข้ที่มาโรงพยาบาล         “ถ้าเป็นข้อมูลที่เราได้จากสถานบริการจะเป็นข้อมูลที่แม่นยำกว่าและมีระบบการรายงานในส่วนของการคาดการณ์ต่างๆ และตัวเลขจากห้องแล็บต่างๆ ที่มีมาในช่วงแรกๆ ยังไม่ค่อยสูงเท่าไหร่ โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ยังมีปริมาณการตรวจไม่มากนัก เนื่องจากห้องแล็บที่จะตรวจได้มีจำกัด แล้วตอนหลังก็มีการประเมินและให้ห้องแล็บโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลจังหวัดตรวจเพิ่มขึ้น ดังนั้นปริมาณของขยะติดเชื้อก็เป็นเรื่องของนิยามส่วนหนึ่งว่าอะไรก็แล้วแต่ที่มาจากห้องปฏิบัติการติดเชื้อก็ถือว่าเป็นมูลฝอยติดเชื้อด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นสูงในช่วงเดือนเมษายนเพราะว่าเริ่มตรวจเยอะขึ้นและห้องแล็บมีปริมาณเยอะขึ้น” นพ.ดนัย กล่าว          ว่าด้วย ‘นิยาม’ ขยะติดเชื้อ คืออะไรกันแน่?         นพ.ดนัย เอ่ยถึง ‘นิยาม’ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปริมาณขยะติดเชื้อ          “ในส่วนของครัวเรือนหลายคนอาจคิดว่าก็เป็นมูลฝอยติดเชื้อ แต่ในข้อเท็จจริงก็ไม่สามารถอธิบายได้ ผมเรียนว่า ถ้าเป็นการใส่หน้าอนามัยโดยบุคลากรทางการแพทย์หรือคนไข้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดเชื้อแล้ว ส่วนนี้ยังไงก็ต้องจัดการแบบมูลฝอยติดเชื้อ แต่กรณีการใส่หน้ากากอนามัยของบุคคลทั่วไปที่ยังไม่ได้ป่วย ถ้าจะให้คำจำกัดความว่าหน้ากากอนามัยเหล่านี้เป็นมูลฝอยเชื้อด้วย มันคงจะเป็นปริมาณมหาศาลและในเชิงระบบของเราก็ไม่สามารถรองรับได้ หมายความว่าทุกเคสที่เราวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโควิดหรือสงสัยว่าเป็น เราจะรับตัวไว้รักษาที่โรงพยาบาลและมีการตรวจ ดังนั้นข้อมูลขยะติดเชื้อจึงเป็นข้อมูลที่เกิดจากการให้บริการผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าป่วย สิ่งต่างๆ ที่เราใช้กับผู้ป่วยเหล่านี้ทุกอย่างจะถือว่าเป็นมูลฝอยติดเชื้อ”         ด้วยนิยามดังกล่าว ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อจะมากจริงหรือไม่ ต้องดูข้อมูลของผู้มารับบริการที่เป็นโควิด แต่ถ้าประชาชนทั่วไปขยะที่มาจากหน้ากากอนามัยถือว่าเป็นขยะทั่วไป ไม่ใช่ขยะติดเชื้อ เพียงแต่ถ้าจะให้เกิดความเหมาะสมก็ควรมีการคัดแยกและทิ้งให้เป็นสัดส่วน ส่วนการกำจัดก็ทำเหมือนขยะทั่วไป เพราะความเสี่ยงที่หน้ากากเหล่านี้จะสัมผัสกับเชื้อถ้าเทียบเคียงแล้วถือเป็นเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างน้อย         ถึงจุดนี้เราจะเห็นประเด็นปัญหาเรื่องนิยาม มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยมองว่าหน้ากากอนามัยที่ประชาชนทั่วไปใส่เป็นขยะติดเชื้อ แต่กรมอนามัยมองว่าไม่ใช่ ซึ่งเป็นหัวข้อที่ต้องถกเถียงอภิปรายกันขนานใหญ่ทีเดียว         ขณะที่ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เห็นว่าหน้ากากอนามัยที่ประชาชนใส่ก็ถือเป็นขยะติดเชื้อด้วย เธอกล่าวว่า         “ภายใต้สถานการณ์โควิดเกิดการตั้งคำถามว่าขยะติดเชื้อโดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ถุงมือ ขวดน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นมันเหมือนกับทั้งประเทศอยู่ในช่วงต้องตื่นตัว โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐก็จะตื่นตัวกับเรื่องนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไปได้สักพักหนึ่งกรมอนามัยก็มีหนังสือแนะนำแจ้งไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกประเภท แล้วกรมส่งเสริมก็มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดของทุกจังหวัด จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดของทุกจังหวัดก็จะมีหนังสือแจ้งไปยัง อปท. ว่ากรมอนามัยได้มีข้อแนะนำมาอย่างนี้ๆ ในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ซึ่งก็เป็นคำแนะนำทั่วๆ ไป”         เพ็ญโฉมคิดว่า ถ้าพิจารณาถึงมาตรการในการรับมือและการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ซึ่งแตกต่างไปจากสถานการณ์ปกติ คำแนะนำดังกล่าวไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังไม่นับความใหญ่โตของระบบราชการที่ต้องส่งคำสั่งเป็นทอดๆ ที่อาจทำให้การรับมือล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น          อาการหมักหมมของปัญหาขยะติดเชื้อในไทย         “พูดถึงปัญหาการจัดการขยะติดเชื้อของบ้านเรา ซึ่งเป็นปัญหาเดิมอยู่แล้ว เท่าที่เราเคยสำรวจดูการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของบางพื้นที่ เราพบว่าระบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของโรงพยาบาลบางแห่งที่เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐานที่รับรองได้ว่าจะมีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปกติขยะติดเชื้อมีส่วนผสมหลายอย่างจะถูกส่งเข้าเตาเผา สิ่งที่กังวลมากเวลาเผาขยะติดเชื้อก็คือการปลดปล่อยสารไดออกซินสู่สิ่งแวดล้อม เพราะขั้นตอนที่จะสามารถกำจัดควันที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเผาต้องใช้อุณหภูมิประมาณ 1,000 องศาเซลเซียส แต่เราพบว่าการจัดการขยะติดเชื้อของบ้านเราหลายพื้นที่น่าจะยังไม่ได้มาตรฐานเรื่องการควบคุมมลพิษที่เกิดขึ้นจากการเผาวัสดุต่างๆ”          ปัญหาการจัดการขยะติดเชื้อประการที่ 2 เนื่องจากประเทศไทยมีคลินิกเอกชนกระจายอยู่ในทุกจังหวัด ต้องดูว่า อปท. ในแต่ละพื้นที่มีมาตรการเก็บขนและการกำจัดอย่างไร บางพื้นที่จะมีการจ้างบริษัทเอกชนให้เป็นผู้รับขยะติดเชื้อไปกำจัดในเตาเผา แต่จะขึ้นกับปริมาณขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นจากสถานพยาบาลแต่ละแห่งถ้าเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ บริษัทเอกชนที่ให้บริการรับขนจะมาเก็บขนเป็นล็อตๆ แต่เนื่องจากว่าเรามีคลินิกเอกชนและสถานพยาบาลขนาดกลาง ขนาดเล็กทั่วประเทศ ตรงนี้ตรวจสอบไม่ได้เลยว่ามีการเก็บขนและกำจัดขยะติดเชื้ออย่างไร ทำให้มีข่าวว่ามีการทิ้งขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาลบางแห่งปะปนกับขยะมูลฝอยจากชุมชนที่นำไปทิ้งตามหลุมฝังกลบของเทศบาลต่างๆ         “การเก็บขนขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาลทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ของรัฐหรือของเอกชนทุกวันนี้ เราบอกไม่ได้ว่ามีการเก็บขนที่ครบถ้วนสมบูรณ์และนำไปสู่การจัดการที่ปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ ถ้ามองในเชิงสถานการณ์โควิค ปัญหาที่มีอยู่เดิมก็ยังไม่ดีขึ้น ปัญหาใหม่ก็ทับถมเข้ามา ถ้าพูดโดยสรุปคือการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของบ้านเรายังไม่อยู่ในภาวะที่สามารถรับมือและนำไปสู่มาตรการการเก็บขนและกำจัดได้อย่างมีมาตรฐานที่ปลอดภัยเพียงพอทั้งต่อคนและสิ่งแวดล้อม”          ความพยายาม         นพ.ดนัย กล่าวถึงปัญหาการกำจัดขยะติดเชื้อว่า ทางกรมอนามัยพยายามติดตามและดำเนินการอยู่โดยในอดีตขยะติดเชื้อสามารถกำจัดได้ด้วยเตาเผาขยะที่โรงพยาบาล แต่ 10 ถึง 20 ปีให้หลังมานี้ โรงพยาบาลของเราอยู่ในที่ชุมชน รวมถึงปริมาณขยะติดเชื้อก็เพิ่มปริมาณมากขึ้นจึงไม่สามารถเผาในโรงพยาบาลได้ อีกทั้งต้องเป็นเตาเผาคุณภาพสูงและเผาด้วยความร้อนสูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส ทำให้ต้องใช้การรวบรวมขยะติดเชื้อไปกำจัดในแหล่งที่ได้มาตรฐาน ซึ่งขณะนี้ไม่ได้มีทั่วไปในทุกจังหวัด         เหตุนี้จึงต้องใช้บริการเก็บขนจากบริษัทเอกชนที่มีอยู่ประมาณ 24 รายที่ไปรับจากโรงพยาบาลต่างๆ มาส่งยังแหล่งกำจัด 10 กว่าแห่งที่มีการดำเนินการ         “เรากำกับในส่วนของบริษัทเอกชนกับเตาเผาขยะโดยการใช้ระบบ Manifest Online ข้อมูลขยะติดเชื้อที่มีการเก็บมาจากโรงพยาบาลมีจำนวนเท่าไหร่และนำส่งไปที่เตาเผาจำนวนเท่าไหร่ ข้อมูลเหล่านี้จะต้องเชื่อมกัน ซึ่งตอนนี้สามารถดำเนินการได้ในระดับหนึ่งอาจจะยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็อยู่ในเป้าหมายที่เราดำเนินการได้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ และยังเหลืออีกจำนวนหนึ่งที่เรากำลังเร่งรัดให้มีการดำเนินการให้ถูกต้อง ซึ่งเรากำลังพัฒนาโปรแกรมอื่นๆ อยู่ซึ่งยังต้องลงทุนอีกเยอะ         มาตรการที่เราดำเนินการอยู่ตอนนี้ เราพยายามกำหนดบทบัญญัติต่างๆ ให้มีความรัดกุมมากขึ้นโดยมีมาตรการการกำจัดเก็บขนในการบังคับให้หน่วยต่างๆ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เรากำหนด แต่อาจจะมีผลบังคับใช้จริงภายในเดือนกันยายนปีนี้เพราะมีขั้นตอนในเชิงกฎหมาย และเรากำลังปรับปรุงระบบกำกับติดตามการขนส่งมูลฝอยติดเชื้อให้มีความทันสมัย สามารถติดตามดูว่ารถขนส่งมูลฝอยติดเชื้อจากแหล่งกําเนิดไปยังแหล่งกำจัดมีเส้นทางและมีการดำเนินการที่ถูกต้อง”          สร้างทางเลือกใหม่ๆ         1,000 องศาเซลเซียส คืออุณหภูมิที่เพียงพอจะกำจัดขยะติดเชื้อโดยไม่ปล่อยสารไดออกซินสู่สิ่งแวดล้อม แต่ ดร.สมไทย วงษ์พาณิชย์ ผู้ก่อตั้งโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ บอกกับเราว่า ขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลที่ส่งให้บริษัทที่รับอนุญาตนำไปกำจัดโดยการเผามี 2 ระบบคือ 400 องศาและ 800 องศา เพื่อเผาขี้เถ้าให้หมดสิ้นไปเป็นการจัดการที่ถูกวิธีเบื้องต้น         “แต่ขยะติดเชื้อที่อยู่นอกสถานพยาบาล ที่อยู่ในทุกหมู่บ้าน ทุกหน่วยงานราชการ มีการทิ้งปะปนไปกับขยะชุมชนเป็นสิ่งที่ต้องสนใจเฝ้าดูว่ามันจะอันตรายแพร่กระจายเชื้อได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราไม่ทราบ”         ดร.สมไทย มองปัญหาขยะติดเชื้อในไทยว่า กลไกและระเบียบของภาครัฐในการจัดการขยะติดเชื้อของไทยยังไม่ทันสมัย และเรายังไม่เคยมีความรอบรู้มาก่อนในกรณีมีภัยคุกคามจากโรคระบาดต่างๆ ว่าจะมีการป้องกันในระยะยาวอย่างไร         ส่วนการจัดการขยะติดเชื้อของ 20 กว่าบริษัทในไทย ก็ยังไม่สมบูรณ์ เพียงแค่จัดการได้เบื้องต้นเท่านั้น การตรวจเตาเผาขยะติดเชื้อที่ปลายปล่องต้องส่งไปตรวจยังต่างประเทศ ซึ่งเรายังไม่มีห้องปฏิบัติการเพียงพอสำหรับงานนี้         “ในเยอรมนี ฟินแลนด์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์จะไม่เผาขยะติดเชื้อ แต่ใช้วิธี steam ด้วยความร้อนสูงพันกว่าองศา ขยะที่ถูกฆ่าเชื้อและมีความเสถียรแล้ว เขานำมารีไซเคิลได้โดยไม่ต้องเผา นอกจากนี้ยังมีการทำบ่อซีเมนต์เป็นผนังคอนกรีตหนาที่ซีนแล้วไม่มีรั่วเลย เป็น secure landfill ซึ่งบริษัทในไทยที่รับจัดการขยะติดเชื้อยังไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้”         ด้านเพ็ญโฉมแสดงทัศนะว่า สิ่งที่พอจะเริ่มต้นได้ทันทีคือการรณรงค์และให้ความรู้แก่ประชาชนว่าขยะติดเชื้อคืออะไรและควรจัดการอย่างไร ในส่วนภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งกับหน่วยงาน องค์กร หรือบริษัทผู้ก่อมลพิษและประชาชน         โควิด-19 เป็นปัจจัยภายนอกที่แทรกซ้อนเข้ามาโดยไม่คาดคิด ตอกย้ำให้เห็นสถานการณ์และปัญหาการจัดการขยะติดเชื้อในไทย แน่นอนว่าด้วยพื้นที่อันจำกัดย่อมไม่สามารถฉายภาพทั้งหมดได้ แต่อย่างน้อยผู้บริโภคอย่างเราคงได้เห็นภาพคร่าวๆ และการแสวงหาความรู้และนำไปปฏิบัติของตัวเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทุเลาปัญหาได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ห้างไทยเขาจัดการอย่างไรกับถุงก๊อบแก๊บ

            ทุกวันนี้นักช้อปทั่วโลกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วหรือถุงก๊อบแก๊บปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านใบ เฉลี่ยคนละ 150 ใบ พันรอบโลกได้ถึง 4,200 รอบ (www.oceancrusaders.org) และที่น่าเป็นห่วงคือพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวเหล่านี้ถูกใช้งานเฉลี่ยเพียงแค่ใบละ12 นาที แต่อาจยังเป็นขยะอยู่บนผิวโลกได้ถึง 400 ปี           แม้มันจะทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้น แต่สถานการณ์ขยะล้นทั้งบนดินและในทะเลทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการกินการใช้เพื่อลดการพึ่งพาพลาสติกลง รัฐบาลหลายๆ ประเทศเริ่มประกาศแบนถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง ประเทศไทยซึ่งรั้งอันดับ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ก็จะเริ่มแบนตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 (ยกเว้นถุงใส่แกง ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์) ในขณะที่หลายประเทศก็ใช้วิธีทำให้ถุงพลาสติกไม่ใช่ของ “ฟรี” อีกต่อไป    “แล้วผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกในบ้านเรามีความตื่นตัวเรื่องการลดขยะพลาสติกอย่างไรบ้าง” จากการสอบถามไปยังผู้ประกอบการห้างค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศไทย ฉลาดซื้อ ได้รับคำตอบดังนี้ เทสโก้ โลตัส  เทสโก้ โลตัส เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายแรกในประเทศไทยที่รณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกใน โครงการภูมิใจไม่ใช้ถุง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 บริษัทลดการใช้ถุงพลาสติกได้ 190 ล้านใบ และมอบแต้มคลับการ์ดให้กับลูกค้าที่ไม่รับถุงไปทั้งสิ้น 5,900 ล้านแต้ม ยกเลิกการใช้ถาดโฟมในทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562  มีนโยบายงดใช้ถุงพลาสติกสำหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้า 1-2 ชิ้นในร้านเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส และ เทสโก้ โลตัส ตลาด ทั้งหมด 1,800 สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่ 15 สิงหาคม 2562 เปิดตัว “กรีนเลน” ช่องทางชำระเงินพิเศษปลอดถุงพลาสติก ในสาขาใหญ่ 200 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 บริษัทมีแผนขยายสาขาร้านค้าปลอดถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบัน 10 แห่ง  ................ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ห้างงดใช้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือนและทุกวันพุธ  รวมทั้งงดการแจกถุงพลาสติกทั่วประเทศในวันสิ่งแวดล้อมไทย (4 ธันวาคม)  ตั้งเป้าลดการใช้ถุงพลาสติก 100 ล้านใบ ภายใน 5 ปี ให้คะแนนพิเศษเมื่อลูกค้าช้อปสินค้าที่บิ๊กซีครบตามกำหนด และ ลูกค้าใช้ “ถุงผ้า” หรือ “ตะกร้า” หรือ ลูกค้านำถุงผ้ารักษ์โลกบิ๊กซี กลับมาใช้  หรือ “วิธีการอื่นที่ไม่ใช้ถุงพลาสติก”  ใช้กาบกล้วย ใบตอง วัสดุธรรมชาติแทนการใช้ภาวชนะโฟม ใน 25 สาขา เช่น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาราชดำริ รัชดา พระราม 4 และวางแผนขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรมีแผนยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์โฟม สำหรับสินค้าที่บิ๊กซีเป็นผู้ผลิตหรือบรรจุ ในทุกสาขาตั้งแต่ปี 2563เป็นศูนย์กลางรับบริจาคกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้ว เช่น กล่องนม น้ำผลไม้ ชา กาแฟ และ กล่องน้ำดื่ม ที่บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ทั้ง 107 สาขาทั่วประเทศ เพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ประกอบเป็นแผ่นหลังคาเพื่อผู้ประสบภัย อันเป็นการช่วยลดปริมาณขยะ และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม............... ซีพี ออลล์  เซเว่น อีเลฟเว่น เริ่มโครงการรณรงค์ลดและเลิกใช้ถุงพลาสติก ผ่านโครงการ 7 Go Green (เซเว่น โก กรีน) ตั้งแต่ปี 2550  โครงการ “ลดวันละถุง คุณทำได้” ลดการใช้ถุงพลาสติกไปแล้วกว่า 663  ล้านใบ คิดเป็นยอดบริจาคกว่า 132 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2562) โดยได้ส่งมอบเงินบริจาคเพื่อสมทบทุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้กับ 77 โรงพยาบาลใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ  เปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษและแก้วแบบย่อยสลายได้ ใน 300 สาขา ในมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และแหล่งท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ และจะขยายผลไปยังสาขาอื่นๆ ต่อไป โครงการ “รักษ์อันดามัน ร่วมใจลดใช้ถุงพลาสติก” ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มูลนิธิโลกสีเขียว เครือเจริญโภคภัณฑ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อุทยานแห่งชาติบนเกาะต่างๆ ชุมชนในท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ดำเนินการแล้วบนเกาะลันตา เกาะยาวน้อย-เกาะยาวใหญ่ เกาะหลีเป๊ะ เกาะพีพี รวมถึงเกาะเต่า เกาะเสม็ด และเกาะพีพี โครงการ “คิดถุ๊ง คิดถุง ผ่านการสร้างเครือข่ายเยาวชนไทย ลดใช้ถุงพลาสติก”  ขยายโครงการไปสู่สถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ 30 มหาวิทยาลัยเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นโครงการนำร่องและเป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนและสังคม โครงการ “ปฏิเสธถุง...ได้บุญ” หนึ่งในการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกในร้านเซเว่นฯ ในโรงพยาบาล เมื่อลูกค้าปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติก ร้านจะสะสมยอดค่าใช้จ่ายไว้ 0.20 บาทต่อถุง และมอบให้กับโรงพยาบาล ปัจจุบันดำเนินงานในโรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์  และจะมีการขยายผลอย่างต่อเนื่อง  การนำขยะพลาสติกกลับมาให้ชุมชนใช้ประโยชน์ Recycled Plastic Road จากแนวคิดเศรษฐกิจ หมุนเวียนหรือ Circular Economy ซึ่งนอกจากผลต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังได้ช่วยพัฒนาชุมชน เริ่มที่สาขาสายไหม ซอย 3 และสาขาราษฎร์ พัฒนา ซอย 24 โดยจะพัฒนาและขยายในสาขาต่อๆไป    ........................... เดอะมอลล์ กรุ๊ป ประกาศเจตนารมณ์เป็นห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตปลอดถุงพลาสติกแห่งแรกในประเทศไทย ด้วยโครงการ THE MALL GROUP GO GREEN ; GREEN EVERYDAY ที่งดบริการถุงพลาสติกทุกวัน และรณรงค์ให้ลูกค้านำถุงผ้ามาเอง หากมีความจำเป็นต้องใช้ ขอความร่วมมือบริจาค 1 บาทต่อถุง 1 ใบ เพื่อนำไปสนับสนุนการทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับ WWF-ประเทศไทย............................ กลุ่มเซ็นทรัล จัดแคมเปญ Central Love the Earth ‘Say No to Plastic Bags’ เพื่องดแจกถุงพลาสติกพร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562 ตั้งเป้าลดถุงพลาสติกให้ได้กว่า 150 ล้านใบ จัด Green Checkout แคชเชียร์ช่องพิเศษ สำหรับลูกค้าที่งดรับถุงหรือนำถุงผ้ามาเอง    ..................................... สถานการณ์ปัจจุบันในไทย -          คนกรุงเทพฯ ใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวัน (ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ) -          คนไทยสร้างขยะวันละ 1.14 กิโลกรัม มากกว่าร้อยละ 60 เป็นขยะอาหารซึ่งสร้างก๊าซมีเทนที่เป็นสาเหตุของโลกร้อนเช่นกัน -          ทุกวันมีขยะพลาสติกและโฟมเกิดขึ้น 7,000 ตัน สถานการณ์โลก-          ร้อยละ 50 ของพลาสติกที่มีอยู่ในโลกขณะนี้ ถูกผลิตขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จากเคยผลิตได้เพียง 2.3 ล้านตันในปี 1950 เราผลิตพลาสติกได้ถึง 448 ล้านตันในปี 2015-          ชาวโลกผลิตขยะพลาสติกปีละ 300 ล้านตัน-          โดยรวมแล้ว ประชากรในประเทศที่ร่ำรวยจะสร้างขยะพลาสติกมากกว่าประเทศที่ยากจน คนเยอรมันและคนอเมริกันทิ้งขยะมากกว่าคนในอินเดียและเคนย่าถึง 10 เท่า แน่นอนขยะที่เกิดขึ้นมักถูกส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา แต่แนวโน้มนี่อาจเปลี่ยนไปเมื่อหลายประเทศประกาศยกเลิกการนำเข้าขยะ-          ในปี 2017 คนยุโรปสร้างขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์เฉลี่ยปีละ 32.74 กิโลกรัม ในนั้นมีถ้วยกาแฟแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอยู่ 16,000 ล้านใบ (www.statista.com)  และถึงแม้จะบริหารจัดการขยะได้ดีกว่าที่อื่นๆ ร้อยละ 60 ของขยะในยุโรปก็ยังไม่ถูกนำมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล-          ร้อยละ 30 ของขยะจากครัวเรือนและสำนักงานในอเมริกา เป็นขยะจากบรรจุภัณฑ์-          ข้อมูลจาก Ocean Conservancy ในปี 2017 ระบุว่าร้อยละ 60 ของขยะพลาสติกในทะเล มาจากจีน และสี่ประเทศในอาเซียน (ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย)  -          แม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิแห่งชมพูทวีป รองรับขยะพลาสติกปีละ 540 ล้านกิโลกรัม -          ข้อมูลจาก Alliance to end plastic ระบุว่า มีเพียงร้อยละ 9 ของพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาเท่านั้นที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่  --- “อย่าลืม” โปรดพกถุงผ้าติดตัวไว้เสมอ เพราะห้างร้านส่วนใหญ่เริ่มการรณรงค์งดให้ถุงพลาสติกแล้ว บางห้างงดทุกวัน บางแห่งงดในวันที่ 4 ของเดือน---

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 พิษร้ายของอาหารขยะ

        ช่วงหนึ่งที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษที่ A.U.A เพื่อเตรียมตัวไปศึกษาต่อนั้น มีคำศัพท์ภาษาอังกฤษสองคำที่อาจารย์ผู้สอนยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างของคำที่ต้องใช้ให้เหมาะสม เช่น กรณีที่ต้องการอธิบายถึงการที่บุคคล 2 คน ที่พลั้งพลาดทำผิดในเรื่องเดียวกัน แต่คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่อธิบายพฤติกรรมที่เป็นเหตุในการกระทำต่างกัน คำสองคำนั้นคือ stubborn และ ignorant ซึ่งคำทั้งสองนี้ผู้เขียนใคร่ขอนำมาตั้งเป็นประเด็นว่า ข้อมูลข่าวซึ่งจะเขียนถึงในบทความนี้ เป็นความเกี่ยวพันกันระหว่างการเจ็บป่วยทางกายและความรู้ด้านอาหารและโภชนาการซึ่งพบในอินเทอร์เน็ทนั้น ควรใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษใดในการสรุปถึงลักษณะของผู้เคราะห์ร้ายรายนี้   การกินอาหารให้ครบสมบูรณ์แบบที่มนุษย์ควรกิน         ตามความรู้ที่เรามีในปัจจุบัน เพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ในสภาวะสุขภาพดี(ไม่แสดงอาการของโรคใด ๆ) นั้น เป็นเรื่องจำเป็นที่มนุษย์ทุกคนควรรู้ แต่ก็ยังมีทั้งคนที่ไม่ใส่ใจรู้ทั้งที่มีโอกาสรู้ตลอดไปถึงคนที่ไม่มีโอกาสรู้เลย โดยลักษณะแรกนั้นอาจเป็นเพราะความดื้อด้าน(stubborn) ไม่ยอมทำตามสิ่งที่ได้รู้มา แต่ลักษณะหลังอาจจัดเป็นความโฉดเขลา(ignorant) ซึ่งความโฉดเขลานั้นเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจว่า ทำไมมนุษย์บางคนจึงขาดโอกาสเรียนรู้เพื่อขจัดความโฉดเขลา        บทความที่นำมายกเป็นตัวอย่างว่า ควรใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษคำใดในสองคำที่ยกขึ้นมาข้างต้นกับมนุษย์ผู้เป็นข่าว คือ Blindness Caused by a Junk Food Diet ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Internal Medicine 2019 ซึ่งนิพนธ์โดยแพทย์นักวิจัยของ University Hospitals Bristol NHS Foundation Trust, Bristol, United Kingdom และทำนองเดียวกันได้เผยแพร่ในเว็บอื่น ๆ อีกมากมาย จนถึงขนาดที่ข้อมูลดังกล่าวถูกนำไปเผยแพร่ต่อโดย CBS, TIME, NBC, USA Today, The Guardian, WebMD, Newsweek และองค์กรข่าวอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่า แหล่งข่าวต่างๆ นั้นต้องการยกเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นตัวอย่าง เพื่อเตือนใจแก่มนุษย์บนโลกนี้ให้เข้าใจถึงความสำคัญในเรื่องของสภาวะโภชนาการที่เกี่ยวกับสาเหตุของความเจ็บป่วยของคน ที่เป็นข่าว         เด็กหนุ่มชาวสหราชอาณาจักรชื่อ Jasper ผู้ซึ่งไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่และไม่ใช้ยาเสพติด และสถานภาพของร่างกาย ซึ่งดูจากภายนอกไม่เลวนัก มีดัชนีมวลกายอยู่ในระดับปกติ คือ 22 (ความสูงคือ 172.9 ซม. และน้ำหนักเฉลี่ย 65.7 กก.) แต่ต้องประสบเคราะห์หามยามร้ายถึง “ตาบอด”         บทความกล่าวว่า เมื่อแพทย์ทำการสอบถามผู้ป่วยในระดับลึกแล้วพบว่า ผู้ป่วยได้ละเลยไม่กินอาหารบางอย่างที่ไม่ชอบตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม โดยสิ่งที่เขาชอบกินเป็นชีวิตจิตใจเพื่อดำรงชีวิตคือ มันฝรั่งทอด และขนมขบเคี้ยวอื่นๆ ทุกวัน นอกจากนี้เขายังชื่นชอบขนมปังที่ทำจากแป้งฟอกขาว แฮมและไส้กรอก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นแฟนพันธุ์แท้ของอาหารขยะ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่การตรวจเลือดแสดงออกมาว่า เขามีระดับวิตามินบี 12 และวิตามินดีต่ำพร้อมมวลกระดูกที่ต่ำกว่าปรกติ แม้ว่าผลการตรวจชิ้นเนื้อที่ตัดจากระบบทางเดินอาหารนั้น ยังแสดงความเป็นปรกติอยู่ มีระดับทองแดงและซีลีเนียมต่ำ แต่ระดับสังกะสีสูง ซึ่งผู้เขียนคาดเอาว่า การที่ระดับสังกะสีสูงนั้นเป็นเพราะผู้ป่วยได้โปรตีนจากอาหารน้อยกว่าที่ควร ซึ่งโดยปรกติแล้วสังกะสีเป็นธาตุที่มักถูกร่างกายนำไปใช้ทำหน้าที่เป็นโคแฟกเตอร์ของเอ็นซัม ซึ่ง เป็นโปรตีนโดยธรรมชาติ หรือเป็นองค์ประกอบสำคัญในโปรตีนอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้นจากรูปแบบการกินอาหารของผู้ป่วยนั้นย่อมต้องมีการขาดโปรตีน จึงทำให้ไม่สามารถสร้างเอ็นซัมหรือโปรตีนอะไรที่ต้องการสังกะสีได้มากนัก จึงมีเหลือเป็นอิสระอยู่ในเลือด         ย้อนหลังไปดูประวัติการพบแพทย์ของเด็กหนุ่มซึ่งเริ่มต้นเมื่ออายุ 14 ปี ที่เขาเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าแล้ว เมื่อตรวจเลือดก็พบว่ามีอาการ macrocytic anemia หรืออาการโลหิตจางเพราะเม็ดเลือดแดงใหญ่กว่าปรกติจนทำงานไม่ได้ แม้ว่าจำนวนเม็ดเลือดอาจไม่ต่ำกว่าปรกติก็ตาม เนื่องจากขาดวิตามินโฟเลตซึ่งช่วยในการสร้างเม็ดเลือดให้สมบูรณ์ โฟเลตนั้นควรได้จากผักใบเขียว เนื้อสัตว์ ถั่วทั้งเมล็ด ผลไม้อีกหลายชนิด เป็นต้น         จากนั้นในปีต่อมาแพทย์เริ่มสังเกตพบสัญญาณของการสูญเสียการได้ยินและการมองเห็น แพทย์จึงสั่งจ่ายวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งก็ไม่ได้แก้ปัญหาแต่อย่างไร เพราะการมองเห็นของเขายังแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งถ้าดูจากพฤติกรรมการกินอาหารแล้วนั้น สภาวะทางโภชนาการของเขายังขาดการกินอาหารโปรตีนอยู่ วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่กินเข้าไปจึงไม่ถูกนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์นัก        พออายุได้ 15 ปี Jasper เริ่มมีการสูญเสียการได้ยินมากขึ้น สุดท้ายเขาได้ถูกส่งต่อไปยังแพทย์หูคอจมูก ซึ่งได้ทำการเอ็กซ์เรย์ด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) แต่ก็ไม่พบความผิดปกติใดในโครงสร้างของร่างกาย อย่างไรก็ดีหลังจากนั้นไม่นานเขาก็เริ่มมีอาการผิดปรกติในการมองเห็นที่จักษุแพทย์หาสาเหตุไม่ได้ สุดท้ายเมื่ออายุได้ 17 ปี ระดับการสูญเสียในการมองเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนต้องถูกส่งตัวไปพบจักษุแพทย์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านระบบประสาทตาและได้พบว่า มีความผิดปรกติเกิดขึ้นกับส่วนปลายเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องในการมองเห็น พร้อมกับการที่เขามีข้อบกพร่องของจอประสาทตาส่วนกลางทั้งสองข้าง ความเสียหายในการมองเห็นที่ถาวรจึงได้เริ่มแสดง ซึ่งน่าจะเป็นการส่งผลเนื่องมาจากสภาวะโภชนาการที่ไม่ดีเพราะกินไม่ดี         อาหารขยะของ Jasper นั้นทำให้เขาได้รับวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณจำกัด ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทตา ซึ่งสำคัญต่อการมองเห็น มันเป็นภาวะแทรกซ้อนที่บำบัดยาก และเป็นตัวอย่างของการก่อปัญหาทางสุขภาพเนื่องจากการขาดสารอาหารหลายชนิดพร้อมกัน พิษร้ายของอาหารขยะ         อาหารขยะที่ Jasper นิยมชมชื่นนั้น ส่งผลให้ร่างกายเขาได้รับวิตามินและแร่ธาตุไม่พอจนเด็กหนุ่มมีอาการทางระบบประสาทตาเสื่อม สภาพการณ์ในลักษณะนี้อาจแพร่หลายมากขึ้นในอนาคตเนื่องจากการบริโภคอาหารขยะกำลังเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มเด็กวัยรุ่นตลอดไปถึงรุ่นแย้มฝาโลงที่ไม่สนใจดูแลตัวเองเรื่องการกิน แม้มีความรู้เกี่ยวกับรูปแบบอาหารที่ช่วยให้สภาวะโภชนาการของร่างกายดี เพราะใจนั้นทุ่มเทให้กับการเขี่ยสมาร์ทโฟนและ/หรือการเล่นเกมส์ที่เป็น e-sport แล้วถ้ายังปราศจากการแก้ไขปรากฏการณ์ดังกล่าว แถมส่งเสริมกันต่อไปในสภาพเหมือนผู้รับผิดชอบตาบอดด้านคุณภาพของประชากร มองไม่เห็นปัญหาที่จะเกิดในอนาคต ประเทศที่มีประชากรในลักษณะนี้คงเข้าสู่ภาพ the aging society along with poor quality citizen ซึ่งคงดูไม่จืดแน่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2562

รู้ยัง ตรวจสอบราคายา รพ.เอกชนได้แล้ว        ‘กรมค้าภายใน’ จัดให้ระบบตรวจสอบราคายา 356 โรงพยาบาลออนไลน์ขึ้นเว็บ-คิวอาร์โค้ด แบ่งระดับสี เขียว-เหลือง-แดง เทียบระหว่างโรงพยาบาลได้ โดยผ่านลิงค์เว็บไซต์กรมการค้าภายใน หรือสแกนคิวอาร์โค้ดที่โรงพยาบาล จากนั้นจะต้องพิมพ์คำค้นเป็นชื่อยาภาษาอังกฤษ และสามารถเลือกเปรียบราคายาระหว่างโรงพยาบาลได้ https://hospitals.dit.go.th/app/drug_price_search.php คลิกเลย กทม. ลุยตรวจ 48 สวนสนุกในกรุงเทพฯ พบ 16.67% สอบตกเกณฑ์มาตรฐาน         ผลสำรวจสวนสนุกในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 48 แห่ง พบว่ามีใบอนุญาตก่อสร้างและใบอนุญาตประกอบกิจการ 33 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 15 แห่ง และในจำนวนนี้มีที่ไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินสุขลักษณะ 8 แห่ง ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไข เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน          กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตต่างๆ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจการและตรวจสุขลักษณะ ความปลอดภัย และอาชีวอนามัย ประเภทกิจการสวนสนุกในกรุงเทพ ฯ จำนวน 48 แห่ง ในพื้นที่ 26 เขต ตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและใบอนุญาตประกอบกิจการ 33 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 15 แห่ง จึงได้แจ้งให้ดำเนินการขอใบอนุญาตให้ถูกต้องภายใน 15 วัน หากไม่สามารถดำเนินการให้เรียบร้อยจะสั่งระงับการให้บริการ และมีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท นอกจากนี้ยังมีสวนสนุกที่ตั้งเป็นการชั่วคราวตามลานกิจกรรมหรืองานต่างๆ ประมาณ 7-30 วัน ที่ต้องขออนุญาตเช่นกัน ซึ่งต้องเข้าไปกวดขันดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโครงสร้างชั่วคราวมีข้อจำกัดด้านอายุการใช้งาน กทม. จึงได้กำชับให้เขตดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวด สสส. เผยไทยมีนักดื่ม 22.5 ล้านคนสูงสุดในรอบ 5 ปี ชี้รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยการดื่มลง 10%         กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาของทุกปี  โดยจากการสำรวจพบว่านักดื่มไทยมีกว่า 22.5 ล้านคน สูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยการดื่มลง 10% ประเทศประหยัดถึง 10,724 ล้านบาท          ปี 2562 สสส.หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รณรงค์ผ่านแคมเปญ “ตับจะกลับมาดี พรรษานี้เริ่มงดเหล้า” จากการสำรวจสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ช่วงปี 2544 - 2560 พบว่าคนไทยมีแนวโน้มการดื่มลดลงจาก 32.7% ในปี 2544 เหลือ 28.4% ในปี 2560 ประกอบกับการสำรวจภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทยโดยวิธีการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557 มีผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในระดับอันตรายลดลงเหลือ 3.4% ลดจากปี 2547 ที่อยู่ที่ 9.1% ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของคนไทยโดยรวมลดลง สอดคล้องกับข้อมูลค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ลดลงจาก 151,607 ล้านบาท ในปี 2548 เหลือ 142,230 ล้านบาท ในปี 2560 ขณะที่การรณรงค์ให้คนไทยลด ละ เลิก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีทิศทางที่ดี โดยเฉพาะโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางและมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในทุกปีสคบ.อำนาจล้น ดีเดย์ 25 สิงหาคม กม.คุ้มครองผู้บริโภคบังคับใช้แล้ว        พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่นี้ เพิ่มเรื่องความคล่องตัวด้วยการมอบอำนาจแก่ท้องถิ่นมากขึ้น มีการปรับโครงสร้างกรรมการบริหารใหม่และเพิ่มอำนาจของกรรมการให้มากขึ้นเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม   รวมถึงยังมี กรรมการด้านความปลอดภัยที่เข้ามาดูแลเรื่องสินค้าบริการและเฝ้าระวังให้ผู้บริโภค ด้วย  นอกจากนั้นยังมีการกำหนดเรื่องการโฆษณาในมาตรา 29 ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นและเพิ่มโทษปรับ 2 - 10 เท่าในกรณีการทำผิดเมื่อเปรียบเทียบกับพ.ร.บ. ฉบับปี พ.ศ. 2556         พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค(ฉบับที่4) พ.ศ. 2562 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 สิงหาคม นี้ โดยเพิ่มอำนาจให้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ถูกปรับโครงสร้างใหม่ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดในทุกกระทรวงรวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 8 คนและผู้แทนความรู้ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาการภาคประชาชนและภาคผู้ประกอบธุรกิจอย่างน้อยภาคละ 2 คน ด้วยโครงสร้างนี้ หน่วยงานจะจัดการปัญหาได้เร็วขึ้น เพราะจะมีตัวแทนจากทุกกระทรวงเข้ามาจัดการปัญหาได้โดยตรง อีกทั้งยังให้อำนาจกับเลขาธิการสคบ. สามารถพิจารณาและสั่งดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการหากพบว่าปัญหานั้นเข้าเกณฑ์ความผิด         สองมีการเพิ่มอัตราโทษปรับให้สูงขึ้นหนึ่งเท่าในทุกมาตรา อีกทั้งกรณีสินค้าและบริการที่เป็นอันตรายจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรการ   ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบธุรกิจผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตหรือร่างกายก็ต้องมั่นใจว่าสินค้าหรือบริการนั้นปลอดภัยเพราะ พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดให้เมื่อผู้ประกอบธุรกิจทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าหรือบริการ บทลงโทษจะเปรียบเทียบความผิดไม่ได้ กล่าวคือเมื่อพบความผิดของผู้ประกอบธุรกิจจะมีการเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาและฟ้องดำเนินคดีทันที         สามการให้อำนาจกับท้องถิ่นเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ต้องส่งเรื่องมายังหน่วยงานกลางซึ่งทำให้ล่าช้า และเงินค่าปรับที่ได้มาจากการกระทำผิดไม่ต้องส่งให้ส่วนกลางแต่ให้กับพื้นที่เพื่อจะได้นำไปสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่และยังทำให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ไทยติดกลุ่มผู้นำเข้าขยะพลาสติกสูงสุดในโลก         แต่ละปีคนไทยทิ้งขยะรวมกันกว่า 27 ล้านตัน เทียบเท่ากับช้างกว่า 5.56 ล้านตัว เฉพาะ กทม. ทิ้งมากเกือบถึง 1 ใน 5 ของทั้งประเทศ ที่ชวนให้ต้องตื่นตัวคือไทยอยู่ในกลุ่มผู้นำเข้าขยะพลาสติกมากที่สุดของโลก          ขยะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติที่ยังหาทางกำจัดให้หมดสิ้นไม่ได้ ซึ่งเมื่อดูจากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าปริมาณขยะในไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2561 มีกว่า 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.64% จากปี 2560 ปัจจัยจากการมีประชากรเพิ่มขึ้น ชุมชนเมืองขยายตัว รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น เฉพาะในกรุงเทพฯ มีปริมาณ 4.85 ล้านตัน คิดเป็น 17% ของขยะมูลฝอยทั้งประเทศ         อย่างไรก็ดีพบว่า การจัดการขยะมูลฝอยถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ถึงอย่างนั้นมีขยะพลาสติกเพียง 5 แสนตันจาก 2 ล้านตันที่ถูกรีไซเคิล ที่น่าตกใจคือมีขยะที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องถึง 27% ประกอบกับการลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ทำให้ขยะจากบกปะปนสู่ทะเล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก จึงส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตดังที่เกิดเหตุการณ์เป็นข่าวเศร้าต่างๆ         ในส่วนของเสียอันตรายจากชุมชนก็เพิ่มขึ้น 3.2% จากปี 2560 ส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 13% เท่านั้น นอกจากนี้ มีกากของเสียอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการจัดการยังลดลง 33% โดยมากเป็นกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย โดยได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า         นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า แม้การจัดการขยะอย่างถูกต้องจะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะยังไม่มีกฎระเบียบการคัดแยกของเสียอันตรายออกจากขยะทั่วไป รวมถึงมีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ซึ่งมีผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงนำไปสู่การยกเลิกนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 422 รายการ รวมถึงยกเลิกการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว ยกเว้นกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นชอบ และได้จัดทำโรดแมป การจัดการขยะพลาสติกปี 2562-2570 โดยลดและเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด ภายในปี 2565

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 กระแสต่างแดน

รถไฟไฉไลกว่า        ผู้คนหันมาเดินทางด้วยรถไฟกันมากขึ้นในภูมิภาคยุโรป ตัวอย่างเช่นในสวีเดน ยอดขายตั๋ว Interrail ในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปี เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า         นี่อาจเป็นผลจากการรณรงค์ “flight shame” (หรือ flygskam ในภาษาสวีดิช) โดยสาวน้อยนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม เกรต้า ธันเบิร์ก และคุณแม่ของเธอ ที่เรียกร้องให้ผู้คนเปลี่ยนจากการเดินทางโดยเครื่องบินมาเป็นรถไฟ (ขณะเขียนข่าวนี้ เกรต้ากำลังเดินทางด้วยเรือยอทช์พลังแสงอาทิตย์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังนิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมการประชุมเรื่องสภาพอากาศ)         องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรประบุว่า การเดินทางด้วยเครื่องบินสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ 285 กรัมต่อหนึ่งกิโลเมตร สำหรับผู้โดยสารหนึ่งคน ในขณะที่ผู้โดยสารรถไฟจะสร้างคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 14 กรัมในระยะทางที่เท่ากัน         ตัวแทนขายตั๋วบอกว่าอีกเหตุผลสำคัญคือนักเดินทางเริ่มตระหนักว่าการเดินทางด้วยรถไฟสามารถเป็นไฮไลท์ของการเดินทางทริปนั้นได้ด้วยมีขยะขึ้นคันนี้         หากคุณจะไปไหนมาไหนในเมืองสุราบายา อย่าลืมพกแก้วหรือขวดพลาสติกที่ใช้แล้วไปด้วย เพราะมันสามารถใช้แลกตั๋วรถได้        รถบัสปรับอากาศเที่ยวพิเศษที่คิดค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสายนี้มีให้บริการทั้งสิ้น 20 คัน คุณจะเลือกจ่ายค่าตั๋วเป็นขวดพลาสติกขนาดใหญ่ 3 ขวด หรือขวดขนาดกลาง 5 ขวด หรือแก้วพลาสติก 10 ใบก็ได้         สุราบายา ซึ่งมีประชากรประมาณ 2.9 ล้านคน ทดลองโครงการนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เพื่อลดขยะและแก้ปัญหาการจราจรหนาแน่น ถึงตอนนี้เสียงตอบรับเป็นที่น่าพอใจ แต่ละสัปดาห์มีคนใช้บริการประมาณ 16,000 คน และบริษัทรถก็มีรายได้เป็นขวดพลาสติกเดือนละ 6,000 กิโลกรัม        ก่อนหน้านี้บาหลีได้ประกาศห้ามใช้หลอดพลาสติก ในขณะที่จาการ์ตาก็กำลังเล็งแผนงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง นี่คือส่วนหนึ่งของความพยายามของอินโดนีเซียที่จะลดปริมาณพลาสติกในทะเลลงให้ได้ร้อยละ 70 ภายในปี 2025        อินโดนีเซียก่อมลพิษทางทะเลมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีนยังมีความเสี่ยง         ปรากฎการณ์ฟาสต์แฟชั่นยังดำเนินต่อไป บังคลาเทศยังคงเป็นประเทศผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน และร้อยละ 16 ของเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมนี้ซึ่งมีการจ้างงานผู้คนไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน         แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างหลังเหตุการณ์ตึกรานาพลาซ่าถล่ม เมื่อปี 2013         โศกนาฎกรรมที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,100 คนทำให้บรรดาเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตในบังคลาเทศร่วมกันลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการปรับปรุงความปลอดภัยของอาคารโรงงาน และร่วมกันลงขันเพื่อช่วยให้เกิดการปรับปรุงดังกล่าวด้วย โดยมีกำหนดเวลาห้าปี         สมาคมผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของบังคลาเทศ เปิดเผยว่าขณะนี้มีโรงงานเพียง 200 แห่ง จาก 1,600 แห่ง ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย และมีอย่างน้อย 400 โรงงานที่ยังอยู่ในสภาพแย่มากจนต้องถูกสั่งห้ามรับออเดอร์จากต่างประเทศชีวิตติดจอ         ผลการวิจัยล่าสุดโดย The Shift Project องค์กรรณรงค์ด้านการใช้พลังงานทางเลือก พบว่า ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการดูวิดีโอออนไลน์ในปี 2018 มีมากถึง 300 ล้านตัน(เท่ากับการปล่อยก๊าซนี้จากประเทศขนาดเท่าสเปนในเวลาหนึ่งปี)         เขาคาดการณ์ว่าในอีกสามปีข้างหน้า ร้อยละ 60 ของประชากรโลกจะเข้าสู่สังคมออนไลน์ และร้อยละ 80 ของการใช้อินเทอร์เน็ตของคนเหล่านี้จะเป็นการดูวิดีโอ โดยร้อยละ 60 ของวิดีโอที่ดูจะมาจากบริการสตรีมมิ่ง เช่น ยูทูบ เน็ทฟลิกซ์ และวิมีโอ นั่นเอง         เขาพบว่าการรับ-ส่งข้อมูลไอทีแบบนี้ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าธุรกิจการบินด้วยซ้ำ นักวิจัยแนะนำว่าหากต้องการประหยัดพลังงาน เราควร... 1. ดูหนังจากโทรทัศน์แทนโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ (ถ้าเป็นไปได้) 2. ดูผ่านเครือข่ายไฟเบอร์ออปติก 3. ดูในจอเล็ก 4. ดูผ่านไวไฟ และ 5. เลือกความคมชัดธรรมดา เพราะความละเอียดที่มากขึ้นหมายถึงการใช้พลังงานมากขึ้นด้วยอย่าถามเยอะ         การใช้เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์อย่างกว้างขวางในการเสนอขายสินค้าหรือบริการ รวมถึงการสนับสนุนการจับจ่ายแบบไม่ใช้เงินสดทำให้ผู้บริโภคในประเทศจีนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น แต่มีคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว         สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีน (CCA) ระบุว่าร้อยละ 91 ของแอปพลิเคชันมือถือ กำหนดให้ผู้บริโภคกรอกข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริการนั้นเลย เช่น แอปฯ ซื้อตั๋วหนังที่ขอข้อมูลเกี่ยวกับการทำงาน         เมื่อไม่ให้ข้อมูล ผู้บริโภคก็จะซื้อตั๋ว สั่งอาหาร หรือจ่ายค่าสินค้าไม่ได้ ถ้าเป็นเมืองอื่นก็พอจะทำธุรกรรมแบบออฟไลน์ได้ แต่ในเมืองเทคโนโลยีล้ำอย่างเซินเจิ้น ผู้บริโภคแทบจะไม่มีทางเลือกเพราะต้องทำทุกอย่างผ่านแอปฯ เท่านั้น            การสำรวจระบุว่าร้อยละ 80 ของประชากรเคยมีประสบการณ์เบอร์มือถือหรือเบอร์โทรศัพท์ “รั่วไหล” ไปอยู่ในมือของพวกสแปมหรือโทรศัพท์มารบกวน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2562

คนกรุงจ่ายค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ย 28.30 บาท/เที่ยว        ผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทางถนนและประเภทอื่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ผู้โดยสารไทยต้องควักเงินจ่ายค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าเฉลี่ยขั้นต่ำ 28.30 บาทต่อเที่ยว ซึ่งนับว่าแพงเกินไปกว่ากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลางและรายได้สูง โดยอัตราค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าเฉลี่ยของคนกรุงอยู่ที่เดือนละ 1,000-1,200 บาท หรือคิดเป็นเงินกว่า 12,000 บาทต่อปี        ขณะที่ข้อสรุปค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทาง พบว่า ไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศอื่น เทียบกับประเทศในภูมิภาค เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ รวมถึงไทยมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด โดยค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของไทยอยู่ที่ 2.14 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 67.10 บาท ทั้งนี้ เมื่อคิดค่าโดยสารเฉลี่ยต่อกิโลเมตรเดินทาง พบว่า ค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรของผู้โดยสารในไทยอยู่ที่ 0.478 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ หรือ 14.99 บาท สูงกว่าประเทศ อื่นๆ อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และอังกฤษ  "เมื่อยล้าหมดไฟ” โรคที่ต้องได้รับการรักษา"        หลังองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ(Burnout) เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะวิธีจัดการภาวะดังกล่าว หลักคือต้องจัดการสองด้าน ได้แก่ 1.ด้านการจัดการกับตัวเอง และ 2.การจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงาน        1.ด้านการจัดการกับตัวเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน, ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น นอนดูหนัง ฟังเพลง หรือชอปปิ้ง เพื่อให้รางวัลกับตนเอง, พูดคุยขอคำปรึกษากับผู้อื่น ว่าคุณรู้สึกหมดแรงหรือเบื่อ หากมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ ต้องการความช่วยเหลือหรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้        2.คำแนะนำของ WHO ในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยการปรับสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้มีความรู้สึกทางบวกมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้บริหาร เช่น สร้างเป้าหมายเส้นทางอาชีพให้พนักงานอย่างชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน นโยบายดูแลสุขภาพกายและใจของพนักงาน เพื่อช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม        ลักษณะอาการที่เข้าข่ายภาวะเมื่อยล้าหมดไฟที่เกิดขึ้นจากการทำงาน คือ 1.รู้สึกหมดไฟ เหนื่อยล้า พลังชีวิตหดหาย 2.มีความรู้สึกไม่อยากทำงาน ต้องการมีระยะห่างจากงานหรือมีทัศนคติเชิงลบต่องาน 3.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากความเครียดในการทำงานหรือการทำงานไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น ประกันสังคมเตรียมแก้กฎหมายเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได        สำนักงานประกันสังคม เตรียมพิจารณาแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมอีกรอบ โดยให้เก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได คือ ค่อยๆ ขยายเพดานเงินเดือนสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบ คาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะสามารถเก็บเงินสมทบได้เดือนละ 1,000 บาท ตามเป้าหมาย        นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้มีการเก็บเงินสมทบเพิ่มโดยขยายเพดานจากเดือนละ 750 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท เพื่อให้มีเงินไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ และทำให้เพิ่มเงินบำนาญหลังเกษียณ แต่หลังจากที่มีการนำไปรับฟังความเห็นมาแล้วพบว่า มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงยังไม่ได้เดินหน้าต่อ แต่ไม่ได้ล้มเลิก ขณะนี้กำลังพิจารณาเรื่องการเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได อย่างไรก็ตามอาจจะต้องดูนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่และรัฐบาลชุดใหม่อีกครั้งว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่        เหตุที่ต้องเก็บเงินสมทบเพิ่ม สปส.ระบุว่า “สปส.เริ่มเก็บเงินสมทบ 5% โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 1,650 บาท สูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท ทำให้มีการเก็บเงินสมทบสูงสุดอยู่ที่ 750 บาทต่อเดือน ซึ่งเก็บอัตรานี้มาตั้งแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบันโดยไม่ได้เก็บเพิ่มเลย ขณะที่แต่ละปีมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากขึ้นรวมถึงสิทธิประโยชน์อีกหลายอย่างที่มีการเรียกร้องกันอยู่ นอกจากนี้ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกันสังคมเริ่มเข้าสู่ช่วงจ่ายเงินบำนาญให้ผู้ประกันตน มีการคาดการณ์ว่า หากไม่เก็บเพิ่มในปี 2579 จะทำให้เงินเข้ากองทุนน้อยกว่าเงินที่ต้องจ่ายออก กระทบกับเสถียรภาพของกองทุน"พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชนโขกค่ารักษา-ค่ายา"        "พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชน เคสคิดค่ารักษาพยาบาลอาการท้องเสีย 3 หมื่น และค่ายาแพงเกินจริงแล้ว ในข้อหาค้ากำไรเกินควร พร้อมเดินหน้าทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ หลังทำข้อมูลราคายาเสร็จแล้ว        ทางกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เคสดังกล่าวผู้ป่วยมาด้วยอาการท้องเสีย การคิดราคาถึง 3 หมื่น เป็นการรักษาที่มากเกินกว่าความจำเป็น และมีการคิดราคาเกินสมควร และกรณีค่ายา เมื่อเปรียบเทียบกับราคาในบัญชียาที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) พบว่า มีการคิดราคาสูงเกินจริงมาก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย จึงต้องส่งดำเนินคดี ส่วนที่กรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ออกมายืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่ผิดนั้น ก็เป็นส่วนการดำเนินการของ สบส. เพราะกรมการค้าภายใน พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น        ขณะนี้กรมการค้าภายในยังได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ เช่น จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้เป็นระบบ ก่อนที่จะนำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ ที่ www.dit.go.th เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบราคา และเปรียบเทียบราคาของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับการรักษาได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้จัดทำฐานข้อมูลราคายาเสร็จสิ้น และพร้อมเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ แล้ว คาดว่าน่าจะทำให้แล้วเสร็จได้ภายใน 2-3 เดือน        สำหรับประชาชน ต่อไปหากพบว่าถูกคิดค่าใช้จ่ายในราคาสูงเกินจริง สูงกว่าที่มีการแจ้งราคาไว้กับกรมการค้าภายใน ก็สามารถร้องเรียนมาที่สายด่วน โทร 1569 หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีคิดราคาสูงเกินจริง จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับห้างดังร่วมลดปัญหาขยะ งดแจกถุงพลาสติก และแพคเกจจิงโฟม        ขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ติดอันดับประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด เป็นอันดับ 6 ของโลก ด้วยปริมาณขยะพลาสติกกว่า 2 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าต่างๆ เริ่มมีมาตรการในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และปริมาณขยะพลาสติกมากขึ้น        เริ่มที่ กลุ่มเซ็นทรัล ได้ผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจในเครือ จัดแคมเปญ Central Love the Earth ‘Say No to Plastic Bags’ เพื่องดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้าอย่างจริงจัง พร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562 โดยจะเริ่มปฏิบัติการนี้ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 นี้เป็นวันแรก พร้อมตั้งเป้าว่าปีนี้จะลดให้ได้กว่า 150 ล้านใบ        Tesco Lotus เริ่มรณรงค์งดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้ามาแล้วตั้งแต่ปี 2553 โดยใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจ ที่ว่าถ้าลูกค้าปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติก หรือนำถุงผ้ามาชอปปิงเอง จะได้รับแต้มในคลับการ์ดเพิ่ม 20 แต้ม และได้มีการเพิ่มขึ้นจนในปัจจุบันเป็น 50 แต้ม และในปีนี้ก็ได้ประกาศยกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมทั้งหมด(100%) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป        จากนโยบายของธุรกิจค้าปลีก อย่าง กลุ่มเซ็นทรัล ที่ตั้งเป้าจะลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้กว่า 150 ล้านใบ และเทสโก้ โลตัส ที่มีเป้าหมายลดแพคเกจจิ้งโฟม อีก 11.24 ล้านถาดในปีนี้ คาดว่าจะสามารถช่วยให้ประเทศไทยลดขยะพลาสติกและโฟมไปได้ถึง 161.24 ล้านชิ้นภายใน 1 ปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 จากขยะพลาสติกถึงไมโครพลาสติก ปัญหาใหญ่ที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด

                การลดใช้ถุงพลาสติกเป็นกระแสที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัว ในประเทศไทยมีการรณรงค์ประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง บริษัทห้างร้านต่างๆ ก็พยายามลดการใช้ถุงพลาสติกใส่สินค้าให้ลูกค้า นับเป็นเรื่องน่ายินดีแทนสิ่งแวดล้อมของโลกที่ป่วยหนักขึ้นทุกวัน ถึงกระนั้นก็ยังต้องอาศัยเวลาอีกไม่น้อยเพื่อลดการใช้พลาสติกลงอย่างมีนัยสำคัญ        นอกจากนี้ ยังมีการใช้ถุงพลาสติกที่ระบุว่าย่อยสลายได้ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า         ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะพาไปสำรวจสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกพลาสติกคุกคาม ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤต อาจมีคำถามว่าวิกฤตอย่างไร? มันวิกฤตถึงขั้นว่า คุณ-หมายถึงคุณผู้อ่าน-อาจมีพลาสติกตกค้างอยู่ในร่างกายโดยไม่รู้ตัว ขยะพลาสติก: ความอลังการทางตัวเลข        - ตั้งแต่มีการคิดค้นพลาสติกขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน คาดการณ์ว่ามีพลาสติกเกิดขึ้นแล้ว 8,000 ล้านตัน ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เทียบเท่ากับน้ำหนักของช้าง 1,000 ล้านเชือกที่อยู่บนโลกนี้        - มีการคาดการณ์ปริมาณขยะพลาสติกที่ลงสู่ท้องทะเลว่าสูงถึง 13 ล้านตันต่อปีหรือเทียบเท่ารถบรรทุก 1 คันขนขยะพลาสติกทิ้งลงทะเลทุกๆ 1 นาที         - ขยะพลาสติก 13 ล้านตันต่อปีก่อให้เกิดแพขยะพลาสติกขนาดใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือ Great Pacific Garbage Patch มันใหญ่กว่าประเทศเยอรมนี สเปน และฝรั่งเศสรวมกัน หรือ 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าประเทศไทย 3 เท่า         - ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ประมาณ150,000-400,000 ตันต่อปี รองจากประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และศรีลังกา         - ประเทศไทยมีการผลิตและใช้ถุงพลาสติกกว่า 45,000 ล้านใบต่อปี         - ประเทศไทยในปี 2560 ปริมาณขยะพลาสติกประเภทถุงพลาสติกหูหิ้วเท่ากับ 517,054 ตัน แก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 241,233 ตัน หลอดพลาสติก 3,873 ตัน และกล่องโฟมบรรจุอาหาร 29,248 ตัน        - ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ของปริมาณขยะทั้งหมดหรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน ในจำนวนนี้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียงปีละ 0.5 ล้านตันหรือร้อยละ 25 ที่เหลืออีก 1.5 ล้านตันถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบหรือเผา บางส่วนตกค้างในสิ่งแวดล้อม        - 5 อันดับปากแม่น้ำที่มีปริมาณขยะลอยน้ำไหลลงทะเลมากที่สุดคือ แม่น้ำเจ้าพระยา 1,425 ตันต่อปี 137,452,011 ชิ้นต่อปี แม่น้ำท่าจีน 361 ตันต่อปี 13,504,287 ชิ้นต่อปี แม่น้ำแม่กลอง 173 ตันต่อปี 12,603,264 ตันต่อปี แม่น้ำบางปะกง 166 ตันต่อปี 6,630,835 ชิ้นต่อปี และแม่น้ำบางตะบูน (เป็นสาขาของแม่น้ำเพชรบุรี) 48 ตันต่อปี 3,055,653 ชิ้นต่อปี พลาสติกที่มองเห็นและมองไม่เห็น        ตัวเลขข้างต้นฉายให้เห็นวิกฤตขยะพลาสติกที่กำลังคุกคามโลกอย่างเงียบๆ และมันยังคุกคามสิ่งมีชีวิตในทะเลดังที่มักเห็นเป็นข่าวอยู่เสมอ เช่น การพบขยะพลาสติกในกระเพาะของวาฬ ปลอกพลาสติกที่รัดกระดองของเต่าทะเลจนผิดรูป ภาพของปลาที่ติดตายอยู่ในถุงพลาสติก เป็นต้น เหล่านี้เป็นตัวอย่างของปัญหาขยะพลาสติกที่จับต้องได้                  ทว่า ยังมีขยะพลาสติกอีกรูปแบบหนึ่งที่มองไม่เห็นและกำลังเป็นที่สนใจศึกษามากขึ้น มันถูกเรียกว่าไมโครพลาสติก มันคืออะไร                  ไมโครพลาสติกคือพลาสติกหรือเศษพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งแม้จะมีขนาดเล็กมากแล้ว แต่มันก็ยังเล็กได้อีกถึงระดับนาโนเมตร โดยเราสามารถแบ่งไมโครพลาสติกได้เป็น 2 ประเภทคือ Primary Microplastic หรือพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นมาให้มีขนาดเล็กตั้งแต่ต้น เช่น เม็ดพลาสติกที่เป็นวัสดุตั้งต้นของการผลิตพลาสติก หรือเม็ดพลาสติกที่อยู่ในเครื่องสำอางหรือไมโครบีดส์ ที่มักเรียกกันว่า เม็ดสครับ นอกจากนี้ ยังเกิดจากการถลอกหรือการขีดข่วนจากกระบวนการผลิตพลาสติกขนาดใหญ่ จากยางรถยนต์บนท้องถนน จนถึงเส้นใยสังเคราะห์จากเสื้อผ้า                  อีกชนิดคือ Secondary Microplastic หรือไมโครพลาสติกที่เกิดจากการหลุดลอก แตกหัก จากพลาสติกชนิดต่างๆ คงพอนึกภาพออก ถ้าทิ้งพลาสติกไว้กลางแจ้งนานๆ มันจะเกิดการล่อนและเปราะ จนแตกหักเป็นเศษพลาสติกได้       องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติได้ทำการศึกษาปริมาณ Primary Microplastics ในทะเลเมื่อปี 2560 พบว่า Primary Microplastics ถูกพบในแม่น้ำและทะเลทั่วโลกในรูปแบบขยะประมาณ 0.8-2.5 ล้านตันต่อปี โดยร้อยละ 98 ของปริมาณที่พบเกิดจากกิจกรรมทางบก โดย Primary Microplastics มากกว่าครึ่งที่ลงสู่ทะเลคือเส้นใยสังเคราะห์จากการซักล้างหรือไมโครไฟเบอร์ (นึกถึงเสื้อที่ทำจากใยสังเคราะห์ เมื่อใช้ไปนานๆ เราจะพบขุยผ้าเป็นเส้นใยเล็กๆ) ร้อยละ 34.8 และจากยางรถยนต์ที่สึกหรอขณะขับขี่ร้อยละ 28.3                  ขณะที่รายงานของ Eunomia ระบุว่า พบ Primary Microplastics ในทะเลประมาณ 0.95 ล้านตัน โดย 3 อันดับแรกคือยางรถยนต์ที่สึกหรอขณะขับขี่ เม็ดพลาสติก และเส้นใยสังเคราะห์ ส่วนเส้นทางที่นำพวกมันลงสู่ท้องทะเลเรียงจากมากที่สุดถึงน้อยที่สุดคือ จากการชะล้างถนน ระบบบำบัดน้ำเสีย และการพัดพาของลม Oxo ถุงไม่รักโลก          ยังมีแหล่งกำเนิดไมโครพลาสติกอีกประเภทที่ผู้บริโภคอาจไม่รู้ เพราะมันถูกเคลือบด้วยภาพลักษณ์ของการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยบอกว่าเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่                 ก่อนอื่นต้องจำแนกแยกแยะเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ปัจจุบันมีถุงพลาสติกเรียกว่า Biodegradable Plastic ซึ่งสามารถย่อยสลายทางชีวภาพตามธรรมชาติ เพราะใช้วัตถุดิบจากแป้งของอ้อย และมันสำปะหลัง และ Polybulyene succinate (PBS) ที่ดัดแปลงจากวัตถุดิบทางปิโตรเลียม กลุ่มนี้ไม่ใช่ปัญหา                  แต่มีพลาสติกอีกกลุ่มที่เรียกว่า Degradable Plastic ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้ มันเพียงแค่แตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ จนกลายเป็นไมโครพลาสติก หรือที่รู้จักกันในชื่อ Oxo-degradable หรือที่เรียกสั้นๆ ถุง Oxo เจ้าถุงพลาสติกชนิดนี้เองที่ถูกใช้ตามห้างสรรพสินค้าและประกาศตัวว่าเป็นถุงพลาสติกที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นอีกหนึ่งต้นตอของปัญหาไมโครพลาสติก ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า                  “ถุง Oxo ไม่ถูกยอมรับว่าเป็นอีดีพี (Environmentally Degradable Plastic: EDP) หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ในสภาวะธรรมชาติ ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่า อีดีพี คือ พลาสติกที่ย่อยสลายได้ในทางชีวภาพซึ่งสามารถทำเป็นปุ๋ยได้ ต้องได้มาตรฐานการทำเป็นปุ๋ย ซึ่งถุง Oxo ไม่ผ่านมาตรฐานนี้ กระบวนการของมันคือการเติมสารเติมแต่งประเภทแป้งลงไปในเนื้อพลาสติก                 “ขณะที่ถุงพลาสติกที่ได้มาตรฐานทำปุ๋ยได้ มีผู้ผลิตอยู่ แต่ขายไม่ได้เพราะราคาแพงกว่าพลาสติกทั่วไป 3-4 เท่า ผู้ผลิตก็ส่งออก แต่เจ้า Oxo ที่บอกว่าเป็นถุงรักษ์โลก แพงกว่าพลาสติกทั่วไปประมาณร้อยละ 20 ทำให้ทุกคนมาซื้อ ซึ่งยิ่งเร่งให้เกิดไมโครพลาสติก เพราะมันแตกสลายเร็วกว่าพลาสติกทั่วไป” ไมโครพลาสติก จากทะเลถึงกระเพาะ                  คำถามก็คือทำไมเราจึงต้องใส่ใจกับปัญหาไมโครพลาสติก แค่ขยะพลาสติกอย่างเดียวก็ชวนปวดหัวแล้ว ที่ต้องใส่ใจก็เพราะมันเป็นพลาสติกที่กำจัดยาก ดร.สุจิตรา อธิบายว่า ถ้าไมโครพลาสติกลงไปในแหล่งน้ำหรือทะเลจะไม่สามารถบำบัดได้ เพราะมันมีขนาดเล็กมาก ล่องลอยอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก ถ้าจะเก็บมันขึ้นมาก็ต้องหาตะแกรงที่รูเล็กมากๆ มาตัก ซึ่งสัตว์ทะเลต่างๆ ก็จะถูกตักขึ้นมาด้วย มันจึงยากมากที่จะกำจัดไมโครพลาสติกในทะเล                  ที่สำคัญ ณ เวลานี้ มนุษย์โลกจำนวนหนึ่งมีไมโครพลาสติกอยู่ในร่างกายแล้ว นั่นอาจรวมถึงตัวเราด้วย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งกรุงเวียนนา (Medical University of Vienna) และสำนักสิ่งแวดล้อมของออสเตรีย ได้เก็บตัวอย่างอุจจาระของกลุ่มตัวอย่างไปทำการตรวจสอบและพบว่า ตัวอย่างอุจจาระทุกตัวอย่างของผู้เข้าร่วมการศึกษาพบพลาสติกที่แตกต่างกันถึง 9 ชนิด มีขนาดตั้งแต่ 50-500 ไมโครเมตร โดยพบโพลิโพรไพลีน (Polypropylene: PP) และโพลิเอทิลีน (Polyethylene Terephthalate: PET) มากที่สุด                  อีกงานวิจัยที่ศึกษาปัญหาขยะพลาสติกในทะเลยังพบด้วยว่า 3 ใน 4 ของปลาทะเลชนิดต่างๆ รวมทั้ง ปลาหมึก และปลากระโทงดาบที่ขายในตลาดทั่วโลกพบไมโครพลาสติกอยู่ภายใน              ถึงจุดนี้ คุณผู้อ่านคงเริ่มตกใจและสงสัยว่าเจ้าไมโครพลาสติกที่ว่ามันเข้าไปอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้อย่างไร ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอบว่า เป็นไปได้ว่าเราอาจมีไมโครพลาสติกอยู่ในร่างกายอยู่แล้ว เนื่องจากไมโครพลาสติกมีแพร่กระจายอยู่ในธรรมชาติ แต่จุดที่ต้องให้ความสำคัญคือ ห่วงโซ่อาหาร หมายความว่าแพลงตอนหรือสัตว์ทะเลที่กินไมโครพลาสติกเข้าไป และถูกกินต่อมาเรื่อยๆ ตามห่วงโซ่อาหาร จนกระทั่งมันถูกจับขึ้นมาเป็นอาหารของมนุษย์ แล้วมนุษย์ก็กินทั้งเนื้อปลาและไมโครพลาสติกเข้าไปด้วย                  “การมีสารประกอบพลาสติกอยู่ในร่างกายก็ยังไม่มีใครชี้ชัดได้ว่าทำให้เกิดโรคอะไร เพียงแต่องค์การอนามัยโลกชี้ว่ามันมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรค ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถระบุฟันธงได้” ดร.ธรณ์ กล่าว                 แล้วเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็นของปริมาณไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำ ในสัตว์ หรือในร่างกายมนุษย์คือเท่าไหร่ ดร.ธรณ์ กล่าวว่า เนื่องจากเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ ยังอยู่ในช่วงการเร่งศึกษาเพื่อสร้างองค์ความรู้ ทำให้ยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานพอจะกำหนดได้                อย่างไรก็ตาม ดร.สุจิตราให้ข้อมูลว่า แม้ตัวพลาสติกไม่ใช่สารอันตรายเพราะเป็นโพลีเมอร์และมีความเฉื่อย แต่ผู้ผลิตพลาสติกมักจะใส่สารเติมแต่งลงไป ซึ่งสารบางตัวก็เป็นอันตราย อีกประการหนึ่งคือพลาสติกสามารถดูดซับมวลสารอื่นๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ เช่น โลหะหนัก สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน และนี่ทำให้มันเป็นตัวอันตราย ลด ละ เลิก และมาตรการต่างๆ                  ปลายปี 2561 คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกมีมติต่อร่างแผนพลาสติก 20 ปี ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้ปรับลดระยะเวลาในโร้ดแม็ปเป็น 13 ปี โดยกำหนดเป้าหมายในการลดเลิกใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกจำนวน 7 ประเภท                 Cap Seal หรือพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม, ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภท Oxo และไมโครบีสด์ จะเลิกใช้ในปี 2562               ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และหลอดพลาสติกจะเลิกการใช้ในปี 2565                  ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาว่าจะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ ดร.ธรณ์ กล่าวว่า                  “ผมคิดว่าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ประเทศไทยค่อนข้างกระตือรือร้นกับขยะพลาสติกและขยะทะเล เราไปประกาศกับยูเอ็นว่าเราสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ มีการจัดประชุมระดับอาเซียนเมื่อเดือนมีนาคม เสนอประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นปฏิญญากรุงเทพ ต่อสู้กับขยะพลาสติกในทะเล แล้วก็จะเข้าที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนมิถุนายน บทบาทของส่วนกลางทั้งในระดับภูมิภาคและนานาประเทศ เราทำค่อนข้างเยอะ”                  แต่เพียงพอหรือไม่ที่จะยับยั้งปัญหาขยะพลาสติก ดร.สุจิตรา กล่าวว่า                      “ทางออกคือการลดตั้งแต่กระบวนการผลิตและการลดการบริโภค ถ้าให้ดีต้องออกกฎหมายให้ลดการใช้พลาสติกใหม่และส่งเสริมการใช้พลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) เพิ่มสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์ที่ต้นทาง อีกส่วนต้องลดการผลิตและบริโภคพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หามาตรการต่างๆ เช่นการเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม เพื่อลดทอนความต้องการพลาสติก                  “อีกด้านหนึ่ง รัฐต้องมีระบบการจัดการขยะที่ดี มีการแยกขยะที่ต้นทาง ขยะพลาสติกที่แยกได้นำกลับไปรีไซเคิล หรือนำไปผลิตสิ่งของต่างๆ ไปทำถนน เป้าหมาย คือ ลดการตกค้างของขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ข้อมูลการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลคาดการณ์จากระดับการจัดการขยะของประเทศที่ต้องทำให้ดีขึ้น ทำไมไทยติดอันดับ 6 ก็เพราะเรามีการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้องบนบกค่อนข้างเยอะ ขาดวินัยในการทิ้งขยะให้ลงถังและการแยกขยะ ทั้งที่จริงๆ แล้วเราผลิตขยะพลาสติกน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ในยุโรปหรือญี่ปุ่นสร้างขยะเยอะกว่าเรา แต่เขามีการแยกขยะ แล้วปลายทางก็เอาไปเผา ฝังกลบ ปรับวินัยของประชาชน จึงไม่มีหลุดรอดลงทะเลเท่าไหร่”                  แหล่งของขยะพลาสติกในทะเลมาจากบนบกถึงร้อยละ 80 ดังนั้น การจะลดปัญหาจึงต้องเริ่มตั้งแต่บนแผ่นดิน มาตรการทางเศรษฐศาสตร์อย่างการจัดเก็บภาษีผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าถุงพลาสติก และเพื่อให้มาตรการทางภาษีมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อัตราภาษีจะต้องถูกผ่องถ่ายจากผู้ผลิตไปยังผู้จัดจำหน่ายจนถึงผู้บริโภค หรือจัดเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ เช่น ค่าถุงพลาสติก เพื่อให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรม ควบคู่ไปกับการจัดการขยะที่ดีและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างจิตสำนึกแก่ผู้บริโภคให้เกิดการตระหนักรู้ว่าการบริโภคของตนส่งผลต่อโลกที่เราอยู่อย่างไร มูลนิธิโลกสีเขียวแนะใช้ชีวิตอย่างมีสติ ช่วยลดการใช้พลาสติก                  มูลนิธิโลกสีเขียวซึ่งทำงานด้านการให้การศึกษา เฝ้าระวังต้นน้ำ ชายหาด พบว่าปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่มาเนิ่นนาน มีการใช้พลาสติกสูงมากๆ นิตยา วงษ์สวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า                  “แต่ปัญหาไม่ลดลง มีแต่เพิ่มขึ้น ถามใคร ใครไม่รู้บ้างเรื่องปัญหาขยะพลาสติก แต่รู้แล้วยังไง จะทำอะไรต่อ เปลี่ยนแปลงตัวเองหรือไม่ ประกอบกับนโยบายก็ไม่ชัดเจนที่จะออกกฎกติกาในการทำให้ลดลง เป็นการขอความร่วมมือเสียส่วนใหญ่ เลยไม่ค่อยเห็นผลที่ชัดเจนมากนัก แต่มันก็อาจจะดีขึ้น เพราะห้างร้าน ร้านค้าปลีกก็เห็นความสำคัญ เริ่มทำด้วยตัวเอง แต่ถ้าภาครัฐออกมาชัดเจน มีการลดภาษีให้กับหน่วยงานที่ลดใช้ถุงพลาสติกก็จะช่วยได้เยอะ มันต้องนโยบายทั้งจูงใจและบังคับ                  “บางทีเรานึกภาพไม่ออกว่าขยะที่เราทิ้งมันไปสู่ทะเลได้ยังไง ลองนึกภาพว่าคนเมืองเอาขยะใส่ถุงพลาสติกมาทิ้งถังใหญ่ริมถนนเพื่อให้ กทม. มาจัดเก็บ แต่พอมันลับสายตาแล้ว มันไม่ได้ไปตามกระบวนการของมัน เช่น ถ้าเก็บไม่ดี ฝนตกมันก็หลุดร่วง หรือถังขยะล้ม ฝนก็ชะขยะลงท่อ บ้านเราไม่ได้มีการบำบัดทั้งหมด มันก็หลุดรอดลงทะเล               “เราต้องมีสติในการใช้ชีวิตประจำวัน มีถุงผ้า ขวดน้ำ กล่องข้าว ลดหลอด แต่ถ้าไม่สะดวกก็ต้องหาวิธีใช้ให้น้อยที่สุด ลองนับก็ได้ว่าวันหนึ่งผลิตขยะกี่ชิ้น”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 กระแสต่างแดน

แบบนี่สิ “ซูเปอร์”ต่อไปนี้ธุรกิจค้าปลีกที่ต้องการเรียกตัวเองว่า ซูเปอร์มาเก็ต ในเวียดนามจะต้องผ่านเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า  “ซูเปอร์มาเก็ต” ต้องมีพื้นที่มากกว่า 250 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 9,999 ตารางเมตร (หากพื้นที่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไปจะเป็น “ศูนย์การค้า”) และต้องเปิดให้บริการระหว่างสิบโมงเช้าถึงสี่ทุ่มเป็นอย่างต่ำนอกจากข้อกำหนดเกี่ยวกับตัวอาคาร อุปกรณ์ในร้าน วิธีการเก็บรักษาสินค้า รวมถึงบริการที่ต้องจัดให้สำหรับเด็กและผู้พิการแล้ว เขายังระบุเงื่อนไขการทำโปรโมชั่นด้วย...ซูเปอร์มาเก็ตจะจัดโปรฯ ลดราคาได้ไม่เกินสามครั้งต่อปี แต่ละโปรฯ จะต้องมีระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน และโปรโมชั่นใหม่ต้องทิ้งระยะห่างจากโปรฯ ก่อนหน้า ไม่ต่ำกว่า 30 วันที่สำคัญ “โปรฯ ลดราคา” หมายความว่าต้องมีสินค้าในร้านมากกว่าร้อยละ 70 ที่ปรับราคาลดลง เรื่องขยะ ต้องขยับหลายประเทศตื่นตัวและเริ่มลงมือจัดการกับขยะพลาสติกที่กำลังจะท่วมโลกมานานแล้ว สิงค์โปร์เพื่อนบ้านของเราก็จัดการเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่เขายังไม่หยุดแค่นั้น  ล่าสุดองค์กรสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสิงคโปร์เตรียมกำหนดให้ร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาเก็ตรายงาน ปริมาณถุงพลาสติกที่ใช้ ขยะจากหีบห่อสินค้า รวมถึงนำเสนอแผนลดการใช้พลาสติกต่อรัฐฯ ภายในปี 2021  เขาบอกว่าอาจมีมาตรการจูงใจด้วยการลดภาษีเพื่อตอบแทนผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือด้านขยะอิเล็กทรอนิกส์ รัฐบาลก็สนับสนุนให้เอกชนร่วมมือกันจัดเก็บและนำกลับมาใช้ใหม่ภายใต้โครงการ (RENEW: Recycling Nation’s Electronic Waste Programme) ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปฝากทิ้งได้ที่สาขาของร้าน Best Denki ร้าน Courts ร้าน Gain City และร้าน Harvey Normanของมันต้องมีธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งสวิตเซอร์แลนด์และบริษัทด้านการเงิน UBS สำรวจราคาของสินค้าที่มนุษย์มิลเลเนียลต้องมีใน 11 เมือง (นิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส ซูริค ดูไบ ฮ่องกง โจฮันเนสเบิร์ก มอสโคว บัวโนสไอเรส โตรอนโต และกรุงเทพฯ“ของ” ดังกล่าวได้แก่ ไอโฟน คอมพิวเตอร์พกพา กางเกงยีน รองเท้าผ้าใบ ค่าสมาชิกเน็ตฟลิกซ์ กาแฟ บิ๊คแม็ค และอโวคาโด  เขาพบว่า มิลเลนเนียล(คนที่มีอายุระหว่าง 22 ถึง 34 ปี ซึ่งจะเป็นคนส่วนใหญ่ในการขับเคลื่อนธุรกิจ) ชาวบางกอก ต้องใช้เงินซื้อ “ของต้องมี” มากกว่ามิลเลนเนียลในฮ่องกงหรือดูไบ  คุณสามารถซื้อสินค้าทั้ง 8 อย่างได้ในราคา 1,825 เหรียญ (59,500 บาท) ที่ฮ่องกง และ 2,004 เหรียญ (65,500 บาท) ที่ดูไบ  แต่หากซื้อที่กรุงเทพฯ คุณต้องจ่ายถึง 2,131 เหรียญ (69,500 บาท)  เฉพาะทะเบียนปักกิ่งตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนปีหน้า รถยนต์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในปักกิ่งจะไม่สามารถวิ่งหรือจอดในเมืองนี้โดยไม่มีใบอนุญาต ทั้งนี้ผู้ขับขี่สามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ปีละ 12 ครั้ง แต่ละครั้งเป็นระยะเวลาเจ็ดวันติดต่อกันปักกิ่งใช้ระบบจับฉลากทะเบียนรถมาตั้งแต่ปี 2010 ผู้ที่ต้องการซื้อรถต้องลุ้นโชคเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของทะเบียน คนที่ไม่รอโชคชะตาก็จะหันไปพึ่งพาตัวแทนขายรถให้ดำเนินการจดทะเบียนที่เมืองอื่นให้ ด้วยค่าบริการ 4,500 หยวน (ประมาณ 23,000 บาท)จากนั้นเจ้าของรถก็ขอใบอนุญาตออนไลน์เพื่อนำรถเข้ามาใช้ในเมืองได้ครั้งละเจ็ดวัน ปัจจุบันสถิติการขอใบอนุญาตสูงถึง 725,000 ใบต่อสัปดาห์ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็มีรถยนต์สัญจรไปมาในตัวเมืองปักกิ่งมากกว่าวันละ 700,000 คัน มาตรการดังกล่าวจึงออกมาเพื่อลดความแออัดบนท้องถนน ลดมลภาวะในเมือง และทำให้ผู้คนกลับไปเชื่อมั่นในนโยบายจับฉลากมากขึ้น อาหารก็เปลี่ยนปัญหาโลกร้อนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ของเกษตรกรเท่านั้น งานวิจัยจากลอนดอนพบว่าภาวะแห้งแล้ง อุณหภูมิที่สูงขึ้น และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นสามารถส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการของผลผลิตทางการเกษตรด้วยนักวิทยาศาสตร์ทราบมานานแล้วว่าคุณค่าทางอาหารของพืชหลักที่เราบริโภคนั้นเริ่มลดน้อยลง แต่ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นเพราะการปลูกแบบเชิงเดี่ยวที่เน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสิ่งที่พืชต้องใช้ในการเติบโต แต่การได้รับในปริมาณที่มากเกินไปก็จะเร่งกระบวนการสังเคราะห์แสง ทำให้พืชผลิตคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวอย่างกลูโคสมากขึ้น ในขณะที่ผลิตโปรตีน สังกะสี และเหล็กน้อยลงปัจจุบันร้อยละ 76 ของประชากรโลกพึ่งพาโปรตีนจากพืชอย่างข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และมันฝรั่ง มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดระบุว่า ภายในปี 2050 จะมีคน 150 ล้านคนเป็นโรคขาดโปรตีนเพราะความเปลี่ยนแปลงทางอากาศ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 สารเคมีอันตรายจากขยะอิเล็กทรอนิกส์รีไซเคิล ในลูกบิดรูบิก (Rubik’s cube)

แม้ปัจจุบันจะมีการควบคุมการใช้พลาสติกรีไซเคิลที่มีส่วนประกอบของ “สารหน่วงการติดไฟที่มีองค์ประกอบของโบรมีน” (Brominated Flame Retardants: BFR) มาผลิตเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภค โดยเฉพาะในของเล่นสำหรับเด็ก แต่ผลจากการสำรวจตลาดของเล่นเด็กครั้งล่าสุดทั้งในประเทศไทยและในอีกหลายประเทศพบว่า ของเล่นเด็กยอดฮิตคือ “ลูกบิดรูบิก” หรือลูกบาศก์เรียงสี ที่นิยมให้เด็กเล่นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเชาว์ปัญญา มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาทและพัฒนาการทางสมองของเด็กปนเปื้อนอยู่ในระดับสูงโครงการสำรวจและตรวจวิเคราะห์นี้ดำเนินการโดย “เครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม” หรือไอเพน (IPEN) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ประกอบด้วยนักวิชาการสาขาต่างๆ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจาก  100 กว่าประเทศ หรือ 700 กว่าองค์กร โดยมีคณะผู้ร่วมการสำรวจจากทั้งหมด 26 ประเทศ รวมถึงมูลนิธิบูรณะนิเวศในประเทศไทยโครงการฯ ได้ดำเนินการสำรวจผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็กที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลที่มีสาร BFRs ปนเปื้อนหรือใช้เป็นสารเติมแต่งระหว่างกระบวนการผลิต ใน 26 ประเทศ  ซึ่งประกอบด้วยลูกบิดรูบิกรวม 95 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกจำนวน 16 ตัวอย่าง ได้แก่ แก้วใส่น้ำร้อน กิ๊บหนีบผม หวี ที่คาดผม และของเล่นเด็กอื่นๆ  เพื่อวิเคราะห์หาการเจือปนของสารพิษกลุ่มสาร BFRs ได้แก่ 1) สาร Octabromodiphenyl ether  (OctaBDE), 2) สาร Decabromodiphenyl either (DecaBDE) และ 3) สาร Hexabromocyclododecane (HBCD)  ผลการสำรวจในประเทศไทยมูลนิธิบูรณะนิเวศได้สำรวจและซื้อลูกบิดรูบิกที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลในตลาดของเล่นเด็กของไทยในจังหวัดกรุงเทพฯ ปทุมธานี นครปฐม และระยอง ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2558  รวม 9 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากประเทศจีนทั้งหมด  เพื่อวิเคราะห์หาความเข้มข้นของกลุ่มสาร PBDEs (OctaBDE และ DecaBDE) และ HBCD ผลการวิเคราะห์พบว่า ลูกบิดรูบิกจำนวน 9 ตัวอย่างจากประเทศไทย มี 2 ตัวอย่างที่พบปริมาณสารโบรมีนทั้งหมด (Total Br) สูงเกิน 1,000 ppm  ด้วยเครื่องวิเคราะห์ Handheld X-ray Fluorescence (HHXRF)  และจากการวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเคมี สาธารณรัฐเช็ก เฉพาะ 2 ตัวอย่างที่มีโบรมีนรวมเกิน 1,000 ppm พบว่าทั้งสองตัวอย่างปนเปื้อนสาร OctaBDE ที่มีปริมาณเข้มข้นสูง 25 – 48 ppm และสาร DecaBDE มีปริมาณเข้มข้นสูง 21 – 23 ppm  ทั้งนี้มี 1 ตัวอย่างที่มีสาร HBCD ในปริมาณเข้มข้น 5 ppm ผลการสำรวจใน 26 ประเทศการวิเคราะห์ตัวอย่างจากประเทศต่างๆ รวม 26 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยลูกบิดรูบิก95 ตัวอย่าง  และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จำนวน 16 ตัวอย่าง ได้แก่ แก้วใส่น้ำร้อน กิ๊บหนีบผม หวี ที่คาดผม และของเล่นเด็กอื่นๆ  พบว่ามี 100 ตัวอย่าง (ร้อยละ 90) มีสาร OctaBDE ปนเปื้อนในปริมาณเข้มข้นระหว่าง 1- 1,174 ppm;  พบสาร HBCD ในจำนวน 45 ตัวอย่าง (ร้อยละ 41)  ระดับความเข้มข้นอยู่ที่ 1 - 1,586 ppm  และสาร DecaBDE ในจำนวน 101 ตัวอย่าง (ร้อยละ 91)  มีช่วงความเข้มข้นที่พบคือ 1 -  672 ppmอัครพล ตีบไธสง นักวิชาการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ผู้ร่วมการศึกษาในโครงการนี้กล่าวให้ความเห็นว่า  “สารเคมีอันตรายกลุ่มนี้มักเจือปนอยู่ในขยะพลาสติก เป็นสิ่งอันตรายมากโดยเฉพาะต่อพัฒนาการทางสมอง ระบบประสาทของเด็ก และมีผลกระทบต่อระบบฮอร์โมนส์ของร่างกายด้วย จึงไม่ควรนำมาผลิตของเล่นเด็กโดยเด็ดขาด และควรมีมาตรการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่อันตรายต่อเด็กออกจากท้องตลาดด้วย”ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ดร. โจ ดิกันจิ ผู้เชี่ยวชาญด้านสารอันตรายของ IPEN จากสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวว่า “การรีไซเคิลวัสดุที่มีสารพิษเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นวัฏจักรที่จะทำให้ปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาไม่จบสิ้น และยังจะทำลายความน่าเชื่อถือของการรีไซเคิลวัสดุ รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงควรหาทางยุติปัญหานี้และควรมีมาตรการเชิงป้องกันระยะยาวด้วย”ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า สารหน่วงการติดไฟที่อยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นยังคงปนเปื้อนในของเล่นเด็กและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผลิตจากการรีไซเคิลขยะเหล่านี้อย่างน่าวิตก  ยิ่งไปกว่านั้นของเล่นหลายชนิดปนเปื้อนสารอันตรายมากกว่า 50  ppm ในที่นี้คือ OctaBDE และ HBCD  รวมถึง DecaBDE  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 192 กระแสต่างแดน

เป็นขยะแล้วไงระหว่างปี 2553 ถึงปี 2558 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้มีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 63 เพราะผู้คนมีรายได้มากขึ้นและมีความ “จำเป็น” ต้องใช้เพิ่มขึ้นด้วยปริมาณขยะใน 12 ประเทศที่สำรวจ รวมกันแล้วมีถึง 12.3 ล้านตัน (หนักกว่ามหาพีระมิดกีซา 2.4 เท่า)การสำรวจของกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นพบว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคนี้เพิ่มเร็วกว่าจำนวนประชากร ตัวเลขในปี 2558 ระบุว่าฮ่องกงมีปริมาณขยะต่อประชากร 21.7 กิโลกรัมต่อปีซึ่งสูงที่สุดในกลุ่ม ในขณะที่ฟิลิปปินส์มีปริมาณขยะเฉลี่ยต่อหัวต่ำสุดในกลุ่มที่ 1.35 กิโลกรัมญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน มีความก้าวหน้าในการจัดการและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด ในขณะที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ก็มีข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเอกชนและรัฐบาล ส่วนจีน มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ก็มีกฎหมายสำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้วเหลือแต่ กัมพูชา อินโดนีเซีย และไทย ที่ยังไม่มีมาตรการใดๆ เพื่อรับมือกับขยะในยุคดิจิทัลเลยที่นี่ไม่มีวินDego Ride บริการเรียกพี่วินผ่านแอปที่เปิดให้บริการในมาเลเซียมาแล้ว 3 เดือน ต้องหยุดดำเนินการทันทีตามคำสั่งของกระทรวงคมนาคม เพราะกำลังฝ่าฝืน พ.ร.บ.ขนส่งทางบกมาตรา 23 ที่ห้ามใช้มอเตอร์ไซค์รับส่งผู้โดยสาร และบริษัทก็ประกอบกิจการขนส่งโดยไม่มีใบอนุญาตแม้จะทันสมัย รวดเร็ว และสะดวกสบาย แต่กระทรวงฯ ก็ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับแก้กฎหมายมารองรับ(เหมือนอย่างในกรณีแท็กซี่ของ UBER หรือ Grab) เพราะบริการพี่วินนั้นเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นแม้ Dego Ride จะอ้างว่ายังไม่มีอุบัติเหตุเลยตั้แต่ให้บริการมา แต่สถิติในภาพรวมยืนยันว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่บนท้องถนนมาเลเซียเกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ ช่วงตรุษจีนที่ผ่านมาก็มีมากกว่าร้อยละ 60ลมหายใจลูกค้าที่ซื้อเครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดของบรีโธมิเตอร์ (Breathometer) ในระหว่างปี 2556 – 2558 เตรียมไปขอรับเงินคืนได้เลยอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเพื่อวัดระดับความมึนเมา “ด้วยมาตรฐานเดียวกับที่ตำรวจใช้” และสามารถเรียกแท็กซี่มารับได้ด้วยนี้มีกระแสตอบรับดีมาก สตาร์ทอัปเจ้านี้ทำยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านเหรียญ (175 ล้านบาท) จากอุปกรณ์รุ่น Original (1,700 บาท) และรุ่น Breeze (3,500 บาท)แต่คณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจได้ตรวจสอบประสิทธิภาพแล้วพบว่า อุปกรณ์นี้วัดค่าออกมาต่ำเกินจริง แถมความชื้นและอุณหภูมิยังมีผลต่อการทำงานของเครื่องด้วยบริษัทจึงถูกสั่งให้เก็บสินค้าและถอนแอปออกจากร้าน เขาบอกว่าจะเลิกเอาดีทางด้านนี้แล้วไปทุ่มให้บริการด้านสุขภาพแทน ... เอ่อ คราวหน้าต้องไม่พลาดนะ คิดผิดคิดใหม่ EE ผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษถูกสั่งปรับเป็นเงิน 2.7 ล้านปอนด์ (117.2 ล้านบาท) เพราะคิดค่าโทรศัพท์แพงเกินจริงลูกค้าของ EE ที่ใช้บริการโรมมิ่งขณะเดินทางในยุโรป ถูกเรียกเก็บค่าบริการนาทีละ 49 บาท (ซึ่งเป็นอัตราสำหรับการโทรจากอเมริกา) แทนที่จะเป็น 8 บาทตามจริง เมื่อพวกเขาโทรเข้าคอลเซ็นเตอร์คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม (Ofcom) มีคำสั่งให้บริษัทคืนเงินส่วนต่างให้กับลูกค้า แต่จนถึงตอนนี้บริษัทสามารถระบุตัวและคืนเงินให้ลูกค้าได้เพียง 6,905 ราย จากผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 32,145 รายว่าแล้วก็บริจาคเงินส่วนที่หาเจ้าของไม่ได้ 62,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2.7 ล้านบาท) ให้กับองค์กรการกุศลไป แต่ Ofcom ยังยืนยันว่าบริษัทต้องตามหาลูกค้ากลุ่มนี้มารับเงินคืนต่อไป ยังปิดจ๊อบไม่ได้นะจ๊ะขอทวนคำถามการเดินทางเข้าเมืองซิดนีย์จะต้องรวดเร็ว ราบรื่นและสะดวกสบายกว่าเดิมด้วยรถไฟไต้ดินสายใหม่ช่วงซิดแนมและแบงคส์ทาวน์ นี่คือโปรเจค 20,000 ล้านเหรียญ(ประมาณ 536,000 ล้านบาท) จากรัฐนิวเซาท์เวลส์ซิดนีย์เมโทรจะเพิ่มจำนวนรถไฟเข้าเมืองจาก 120 เป็น 200 ขบวนในชั่วโมงเร่งด่วน มีการดูแลความปลอดภัย 24 ชั่วโมง และมีพื้นที่จอดรถมากขึ้น ระหว่างการก่อสร้างที่ต้องปิดสถานีตามเส้นทางรถไฟสายเก่าเพื่อปรับปรุงให้เป็นสถานีใต้ดิน เขาจะจัดรถรับส่งให้ได้รับความสะดวกโดยทั่วกันผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้อยู่อาศัยตามแนวเส้นทาง 66 กิโลเมตร (กลุ่มตัวอย่าง 2,800 คน) ได้ข้อสรุปว่า “ใครๆ ก็ชอบ” กลุ่มผู้คัดค้านจึงสงสัยว่าผู้สำรวจให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวหรือไม่ไม่มีใครบอกพวกเขาเลยว่าจำนวนที่นั่งบนรถแต่ละขบวนจะลดลงจาก 896 เหลือเพียง 378 ทางออกไปยังสถานที่หรือถนนสำคัญในตัวเมืองจะหายไป ยังไม่นับเรื่องการรื้อถอนอาคารบ้านเรือน แต่สำคัญที่สุดคือการทำรถใต้ดิน “ทับ” เส้นทางรถไฟเดิมด้วยเงินมหาศาลจากภาษีของทุกคนมันเหมาะสมแล้วหรือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2556 นมโรงเรียนไม่ปลอดภัย พบผลการตรวจที่น่าตกใจ เมื่อนมโรงเรียนที่แจกให้เด็กนักเรียนดื่มตามโรงเรียน ยังมีความเสี่ยงของเชื้อแบคทีเรียที่เกินค่ามาตรฐาน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการตรวจสอบตัวอย่างนมโรงเรียนทั้งชนิดพาสเจอร์ไรส์ และยูเอชที ที่ผลิตจากโรงนมขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก และกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ระหว่างปี พ.ศ.2553 - 2555 จำนวน 450 ตัวอย่าง พบว่ามีตัวอย่างที่ไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 42 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 9.3 เมื่อจำแนกตามรายการตรวจวิเคราะห์พบตัวอย่างไม่ได้มาตรฐานด้านจุลินทรีย์ พบปริมาณแบคทีเรียเกินมาตรฐานมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบ เชื้อบาซีรัส ซีเรียส เชื้ออีโคไล และเชื้อโคลิฟอร์ม โดยพบนมพาสเจอร์ไรส์ไม่ได้มาตรฐานมากกว่านมยูเอชที นอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องคุณค่าทางโภชนาการไม่ได้มาตรฐาน คือมีโปรตีนต่ำกว่ามาตรฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ โดยทางกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าสาเหตุที่นมโรงเรียนพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์นั้นมาจาก ความไม่ได้มาตรฐานในการผลิต ไปจนถึงขั้นตอนการขนส่งและเก็บรักษาที่ไม่มีคุณภาพในการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม     หลอกลวง 100% ยาลดสัดส่วนเฉพาะจุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกโรงเตือนสาวๆ ที่คิดจะทานยาที่โฆษณาสรรพคุณว่าช่วยลดสัดส่วนเฉพาะจุด ว่ายาดังกล่าวอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง อย.ไม่เคยมีการรับรอง และไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมียาลดสัดส่วนเฉพาะจุด อย.ได้ออกตรวจและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ขายยาในลักษณะดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีการโฆษณาขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเบื้องต้นเข้าข่ายความผิดหลายประการ ทั้งการผลิตยา หรือ นำเข้ายา โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ขออนุญาตในการขึ้นทะเบียนยา ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต โฆษณาเกินจริง และโฆษณาโอ้อวด โดยจะรวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิดทั้งผู้ขาย และแหล่งที่ผลิต ตาม พ.ร.บ.ยา 2522 ยาดังกล่าวนอกจากจะไม่มีผลตามที่โฆษณาอวดอ้างแล้ว ยังอาจก่อผลเสียต่อร่างกาย เพราะจากการตรวจสอบของ อย. เชื่อว่าน่าจะเป็นยาประเภทอาหารเสริม ประเภทแอลคานิทีน ที่เพิ่มการเผาผลาญ และมักพบว่ามีการแอบเติมยาที่ อย.ถอนทะเบียน โดยเฉพาะสารไซบูทรามีน ซึ่งมีผลข้างเคียงทั้งทำให้ความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต   ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้า (กำลังจะ) ล้นประเทศ!!! มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก โครงการพัฒนาแนวทางการประเมินปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ ของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งได้มีการคาดการณ์ว่าในช่วงปี พ.ศ.2555-2559 หากไม่มีการดำเนินการกำจัดขยะอันตรายอย่างถูกต้อง ประเทศไทยเราจะมีซากขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ล้นประเทศ โดยสัดส่วนของขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทที่คาดการไว้มีดังนี้  โทรทัศน์ 12 ล้านเครื่อง กล้องถ่ายภาพ/วิดีโอ 4 ล้านเครื่อง อุปกรณ์เล่นภาพ/เสียงขนาดพกพา 17 ล้านเครื่อง เครื่องพิมพ์/โทรสาร 7 ล้านเครื่อง โทรศัพท์มือถือ/โทรศัพท์บ้าน 48 ล้านเครื่อง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล 11 ล้านเครื่อง เครื่องปรับอากาศ 3 ล้านเครื่อง และตู้เย็น 4 ล้านเครื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อย่างที่จะเกิดขึ้นเร็วนี้คือเรื่องของ ทีวีดิจิตอล ที่อาจทำให้หลายครอบครัวต้องเปลี่ยนทีวีเครื่องใหม่เพื่อรองรับการส่งสัญญาณทีวีแบบใหม่ ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ถ้าหากไม่ได้รับการจัดการที่ดีจะก่อให้เกิดอันตรายกับทั้งคนและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งหาวิธีจัดการขยะอันตรายเหล่านี้อย่างถูกวิธี ด้านผู้บริโภคเองก็ต้องมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหานี้ด้วยเช่นกัน เริ่มตั้งการลดปริมาณการใช้ แยกขยะ และไม่นำขยะอันตรายไปทิ้งในที่ที่ไม่ได้ถูกจัดเตรียมไว้อย่างเหมาะสม   เดินหน้ายกเลิกการใช้แร่ใยหิน ทั้งๆ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่องให้สังคมไทยเป็นสังคมไร้แร่ใยหิน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2554 ตาม มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ปี 2553 แต่จนถึงขณะนี้บ้านเราก็ยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้การใช้แร่ใยหินอย่างจริงจังสักที ล่าสุดในงานแถลงข่าวเรื่อง “สังคมไทยต้องไร้แร่ใยหิน” นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้แจ้งว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมยกเลิกการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.กระเบื้องแผ่นเรียบ 2.กระเบื้องยางปูพื้น 3.ผ้าเบรกและคลัตช์ 4.ท่อซีเมนต์ใยหิน และ 5.กระเบื้องมุงหลังคา หลังจากได้ไปดำเนินการจัดทำแผนและกรอบเวลายกเลิกการนำเข้าผลิตและจำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบเพื่อสรุปเสนอเป็นแผนขอความเห็นชอบจาก ครม. โดยจะมีการนำเสนอเข้า ครม. พิจารณา ให้ไทยยกเลิก 5 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่ทำจากแร่ใยหินภายใน 5 ปี โดยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่ใยหินอย่างผ้าเบรกและคลัตช์ที่มีกรอบระยะเวลาในการยกเลิก 5 ปี จะดำเนินการเฉพาะส่วนของรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลขนาดเล็กก่อน เนื่องจากในรถบรรทุกยังเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ส่วนท่อซีเมนต์ใยหินจะให้ยกเลิกเฉพาะท่อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 400 มม.เพราะท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 400 มม.ขึ้นไป กรมชลประทานมีหนังสือถึง ก.อุตสาหกรรม ว่าขอให้มีการขยายเวลาในการยกเลิก เนื่องจากติดขัดเรื่องความพร้อมในการผลิต ส่วนอีก 3 ผลิตภัณฑ์ที่เหลือจะเสนอให้ยกเลิกภายใน 5 ปี   องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กระตุ้น กสทช. ทำงาน ก่อนเกิดปัญหา “ซิมดับ” คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือเครือข่ายทรูมูฟ รู้กันหรือยังว่า วันที่ 15 กันยายนที่จะถึงนี้ สัญญาสัมปทานการใช้คลื่นความถี่ที่ทางผู้ให้บริการทำไว้กับทาง กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะหมดลง ซึ่งหมายความว่าต้องเกิดการเปลี่ยนเรื่องการใช้งานของผู้ใช้บริการ อาจจะต้องมีการโอนย้ายผู้ให้บริการ หรือที่เลวร้ายที่สุดคือ อาจไม่สามารถใช้งานหมายเลขโทรศัพท์ของเครือข่ายดังกล่าวได้ หรือพูดง่ายๆ คือเกิดปัญหา “ซิมดับ” คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เป็นห่วงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้อย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ดูเหมือนจะยังหาทางออกให้ผู้บริโภคไม่ได้ คณะกรรมการองค์การอิสระฯ จึงได้ทำหนังสือเรียกร้องให้ทาง กสทช. เร่งดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วน โดยข้อเรียกร้องในการแก้ปัญหาประกอบด้วย 1.ตั้งคณะทำงานประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และกำหนดวันในการจัดการประมูลคลื่นใหม่โดยเร่งด่วน 2.ควบคุมกำกับ ไม่ให้บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองรายคือ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนี้ยังคงทำสัญญาให้บริการอยู่ ต้องไม่ทำสัญญาให้บริการเกินวันที่ 15 กันยายน 2556 3.เร่งรัดให้บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองราย แจ้งให้เจ้าของเลขหมายทุกรายทราบถึงการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานโดยทันที และมีบริการให้ผู้บริโภคติดต่อสอบถามฟรี รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินการโอนย้ายเครือข่ายให้เต็มตามศักยภาพ คือ 3 แสน เลขหมายต่อวัน พร้อมทั้งคืนเงินคงเหลือในระบบให้กับผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ทาง กสทช. เองทราบเรื่องการหมดสัมปทานมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่กลับไม่ยอมจัดการปัญหา คือการจัดประมูลสัมปทานใหม่ กลับนิ่งเฉยจนใกล้วันหมดอายุ จนกำลังจะกลายเป็นปัญหาของผู้บริโภคซึ่งแทบจะยังไม่รู้ข้อมูลใดๆ เลยว่าสัญญาณมือถือที่ใช้อยู่กำลังจะหยุดลง ซึ่งความจริงผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะรับทราบข้อมูลดังกล่าว เพื่อผู้บริโภคจะได้มีโอกาสเลือกที่จะยังคงอยู่ในระบบ ย้ายค่าย หรือทวงถามค่าชดเชยที่ผู้บริโภคควรได้รับ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 ฉลาดใช้มือถือ! ลดขยะอิเล็กทรอนิกส์

มองไปทางไหน ก็เห็นมีแต่คนพกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คนละเครื่องสองเครื่อง นับเป็นเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกโดยเฉพาะมือถือ ที่ปัจจุบันมีความจำเป็นในการสื่อสารมากขึ้น จนมีคนเอาไปพูดเชิงหยอกล้อว่าแทบจะเป็นปัจจัยที่ห้าของมนุษย์เราเลยก็ว่าได้ เท่าที่ทราบคนไทยทั้งประเทศตอนนี้มีอยู่ 67.9 ล้านคน แต่มียอดการใช้งานโทรศัพท์มือถือรวมทั้งรุ่นเก่ามีฟังก์ชั่นแบบโทรเข้าโทรออกได้และรุ่นใหม่สมาร์ทโฟน ที่ทั้งดูหนัง ฟังเพลง เข้าอินเทอร์เน็ตไว้หาข้อมูล รวมแล้วกว่า 89 ล้านเครื่อง เติบโตจากเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาถึง 7 เท่าตัว และมีอัตราเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกรมโรงงานได้คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะเติบโตร้อยละ 10 ต่อปี หรือ ปีละ 9 ล้านกว่าเครื่อง เคยสงสัยไหมว่า โทรศัพท์มือถือเมื่อเราๆ ท่านๆ ไม่ใช้กันแล้ว เศษซาก แบตเตอรี่ กรอบมือถือ ไมโครชิพ  ฯลฯ จะไปอยู่ที่ไหน และเป็นอันตรายหรือไม่ เพราะขยะจากโทรศัพท์เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่เมื่อหมดอายุการใช้งานไม่สามารถย่อยสลายได้เอง และถ้ากำจัดไม่ถูกวิธีก็จะเป็นขยะที่อันตรายมีสารเคมีรั่วไหล จนก่อให้เกิดมลพิษซึมลงสู่ดินและน้ำในบริเวณใกล้เคียง ด้วยเหตุที่สารเคมีประเภทโลหะหนักทั้ง ปรอท แคดเมียม ตะกั่ว สารหนู กำมะถัน นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังเป็นอันตรายต่อร่างกายอีกด้วย เพราะจะทำลายระบบเลือด ระบบประสาทส่วนกลาง หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ก็จะทำให้ระบบทางเดินหายใจเกิดความผิดปกติรุนแรง ปอดอักเสบ และอาจเกิดมะเร็งได้ แน่นอนว่าขยะอันตรายๆ แบบนี้หลายๆ ประเทศจะมีหน่วยงานที่แนะวิธีการใช้อย่างถูกวิธี และการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ผ่านกระบวนการรีไซเคิล บางประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่นก็ได้ควบคุมดูแลอย่างจริงจัง ไม่ทำแบบ“สุกเอาเผากิน” ซึ่งมีตั้งแต่มาตรการออกกฎหมายรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ , ควบคุมสินค้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการตั้งจุดรับสินค้าคืนเมื่อหมดอายุ ตลอดจนทำโปรโมชั่นของมือถือเก่าเทิร์นเครื่องใหม่ เป็นต้น ครบวงจรการดูแลตั้งแต่กฎหมายยันการตลาดเลยทีเดียว สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ก็มาร่วมกันลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ได้ด้วยวิธีดังนี้ 1.วางแผนใช้โทรศัพท์มือถืออย่างคุ้มค่า เพราะแน่นอนว่าเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นทุกปีๆ แต่เราในฐานะผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องใช้ทุกปี เอาเท่าที่จำเป็น ใช้งานให้ครบฟังก์ชั่นตามต้องการ 2. เลือกซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มือถือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สมัยนี้รุ่นใหม่ๆ ที่ออกมามีบางรุ่นที่เน้นด้านสิ่งแวดล้อม และมีฉลากคาร์บอน ลองสังเกตฉลากหรือตรวจเช็คสรรพคุณที่โฆษณาเพื่อโลกก็ได้ 3. เรียนรู้วิธีการชาร์ตแบตเตอรี่มือถืออย่างถูกวิธี เพื่อลดปัญหาแบตเตอรี่เสื่อม เมื่อลดความต้องการใช้มือถือซึ่งเป็นต้นตอของขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว ปลายทางของการรับมือกำจัดขยะเหล่านี้ก็ต้องมีกระบวนการที่ถูกวิธี ตามระเบียบว่าด้วยเศษซากผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ของสหภาพยุโรป (Waste Electrical and Electronic Equipment : WEEE) กฎที่ออกมาเพื่อบังคับผู้นำเข้าสินค้าให้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายและเก็บรวบรวม กู้คืน ตลอดจนกำจัดอุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้ว นับเป็นการรณรงค์ให้ผู้ผลิตเกิดกระบวนการนำเข้าอุปกรณ์และกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งในปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นและในยุโรปมีการส่งเสริมการสร้างโรงงานขยะรีไซเคิลอิเล็กทรอนิกส์ ให้แพร่หลายเพื่อแนวทางสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาสุขภาพที่จะส่งผลต่อผู้ใช้งานในระยะยาวแล้ว ถึงเวลาที่เราคนไทยจะมาร่วมกันลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการปรับพฤติกรรมใช้มือถือตัวการปัญหาสำคัญ พร้อมส่งเสริมให้เกิดกระบวนการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย อย่างเข้มงวด จริงจัง ตามแนว Zero Waste ที่ภาครัฐวางไว้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 126 “ถุงพลาสติก” สิ่งเล็กๆ ที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก

  ถือเป็นวาระแห่งชาติกับการแก้ปัญหาถุงพลาสติกครองโลก หลายคนคงพอจะรู้กันดีอยู่แล้วว่าถุงพลาสติกที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นตัวการร้ายทำลายโลกของเรา ทั้งจากขั้นตอนการผลิตที่ต้องอาศัยพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ไปจนถึงขั้นตอนการจัดการเมื่อกลายเป็นขยะ เพราะถุงพลาสติกยากต่อการทำลาย ถุงพลาสติกพวกนี้อายุยืนเป็นร้อยๆ ปี ถ้านำไปเผาก็ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปทำลายชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจก ทำให้โลกของเราร้อนขึ้น ซึ่งภัยธรรมชาติร้ายแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพอากาศในโลกของเราเปลี่ยนแปลงผันผวนไปอย่างน่าตกใจ  ดังนั้นแล้วทั้งโลกเขาก็เลยตื่นตัวกันมากเรื่อง การลดการใช้ถุงพลาสติก ในประเทศไทยของเราก็เริ่มมีความตื่นตัวในการลดการใช้ถุงพลาสติกด้วยเช่นกัน ซึ่งจากข้อมูลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พบว่าคนไทยผลิตขยะถุงพลาสติกถึง 7,391 ตันต่อวัน  ถุงพลาสติก ที่สิ้นเปลืองทรัพยากรทั้งในการผลิต การขนย้ายและกำจัด ยังเป็นปัญหาสำคัญสำหรับประเทศไทย เพราะมาตรการต่างๆ ในบ้านเราที่พยายามทำๆ กันอยู่นั้น ยังไม่ค่อยเห็นผลนัก “ฉลาดซื้อ” จึงอยากเชิญชวนทุกคนมาช่วยโลกของเรา มาร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติก เพราะฉะนั้นเรามาดูกันสิว่า เราจะบอกลาถุงพลาสติกด้วยวิธีไหนได้บ้าง   “นโยบายลดถุงพลาสติกจากภาครัฐ – ความฝันที่ยังเลือนราง”ปัญหาขยะถุงพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนในการหาทางแก้ไขปัญหา ซึ่งถึงวันนี้ทุกคนต่างก็รับรู้กันดีว่าถุงพลาสติกเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำเกิดสภาวะโลกร้อน ประเทศไทยของเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจขานรับภารกิจมนุษยชาติในการลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติก ซึ่งถ้าใครพอจะติดตามข่าวสารอยู่บ้างอาจจะเคยได้ยินข่าวการจัดกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ที่ทางภาครัฐนำมาใช้เป็นเป็นกลยุทธิหยุดพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของคนในประเทศ กิจกรรมที่น่าสนใจก็เช่น โครงการ “No Bag No Baht” ที่จัดโดยกรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโครงการที่ให้นักช้อปได้มีโอกาสแสดงพลังรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการบอกปฏิเสธไม่รับถุงพร้อมรับส่วนลดจากการซื้อสินค้าทันที 1 บาท แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเลือกที่จะขอรับถุงพลาสติกก็ต้องจ่ายเพิ่มอีก 1 บาท โดยร้านค้าที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ก็มีตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง ร้านสะดวกซื้อ ไปจนถึงร้านค้าในตลาดนัดจตุจักร   อีกหนึ่งกิจกรรมที่ทางภาครัฐจับมือกับบรรดาห้างร้านต่างๆ เพื่อหวังสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกให้เกิดขึ้นในสังคม คือกิจกรรม “45 วัน รวมพลัง ลดถุงพลาสติก ลดโลกร้อน” ซึ่งกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเจ้าเก่าเจ้าเดิมเป็นหัวเรือใหญ่ เป้าหมายของกิจกรรมก็คือการลดจำนวนการใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ กิจกรรมนี้จัดต่อเนื่องติดต่อกันเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2552  โดยมีรายงานว่าในช่วง 2 ปีแรกสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่ร่วมกิจกรรมได้ถึง 12 ล้านกว่าใบ   แม้จะมีกิจกรรมที่ส่งเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการลดการใช้ถุงพลาสติก แต่ก็เป็นแค่กิจกรรมที่ทำชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช้กิจกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประชาชนทั่วไปที่ใช้ชีวิตผูกพันกับถุงพลาสติกน้อยคนนักที่จะรับทราบข้อมูลของการจัดกิจกรรมดังกล่าว หรือพอหมดช่วงเวลาการจัดกิจกรรมผู้บริโภคและผู้ประกอบการ พ่อค้า แม่ค้า ก็กลับมามีพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกในแบบเดิม ซึ่งแน่นอนว่าภาครัฐต้องมีความจริงใจและจริงจังในการวางนโยบายและเดินหน้าปฏิบัติการลดถุงพลาสติกให้ต่อเนื่องและชัดเจนมากกว่านี้   อย่างที่บอกว่าหนทางการจัดการกับถุงพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ไม่ใช่แค่เมืองไทยเท่านั้นที่ปัญหานี้ยังเป็นคำถามที่ยังต้องหาคำตอบ หลายประเทศทั่วโลกก็คิดไม่ตกกับปัญหาขยะถุงพลาสติก  ซึ่งหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่เป็นเหมือนประตูปิดกั้นการสู้กับปัญหาถุงพลาสติกอย่างจริงจังในประเทศไทยเราก็คือ การที่ยังไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดการใช้ถุงพลาสติก ทำให้ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพียงแค่การขอความร่วมมือเท่านั้น การจะออกกฎหมายมาบังคับใช้เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นแนวทางที่น่าสนใจและต้องมีความพยายามในการเริ่มต้น แน่นอนว่าในสังคมปัจจุบันความต้องและจำเป็นในการใช้ถุงพลาสติกยังคงมีค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการเริ่มต้นการลดการใช้ถุงพลาสติกที่ภาครัฐควรทำให้เกิดขึ้น คือการสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค ส่งเสริมให้ผู้บริโภครู้จักเลือกใช้วัสดุอื่นที่ย่อยสลายง่าย และเมื่อกลายเป็นขยะแล้วไม่ไปทำลายสิ่งแวดล้อม แม้ว่าอาจต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการผลิต อย่างเช่น ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้หรือใช้เวลาน้อยลงในการย่อยสลาย หรืออาจให้มีการเก็บภาษีถุงพลาสติก หากจะซื้อสินค้าต้องเสียเงินค่าถุงพลาสติกซึ่งเป็นวิธีที่มีใช้ในหลายประเทศ แต่ก็ต้องเป็นไปตามความสมัครใจของผู้บริโภคด้วยต้องศึกษาความเป็นไปได้ให้ดีก่อนนำมาใช้ในบ้านเรา ขณะที่มาตรการขั้นเด็ดขาดอย่างการห้ามใช้ไม่ว่ากรณีใดๆ หากพบเห็นว่ามีการใช้ถือว่ามีความผิด ก็เป็นไปได้ยากที่จะนำมาใช้ในเมืองไทย เพราะดูเป็นวิธีการที่โหดร้ายไปหน่อย “ความร่วมมือจากห้างสรรพสินค้า – อีกหนึ่งความหวังในการบอกลาถุงพลาสติก” ขยะถุงพลาสติกที่กลายเป็นปัญหาในทุกวันนี้ สถานที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของมันคงหนีไม่พ้นห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ที่เปิดกระจายกันอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะในกทม. ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมบอกว่าในแต่ละสัปดาห์คนไทยนำถุงพลาสติกกลับบ้านมากกว่า 100 ล้านถุง   ความต้องการใช้ถุงพลาสติกของคนไทยยังคงมีค่อนข้างสูง เรายังคงรักความสะดวกสบายเวลาจับจ่ายสินค้าก็ต้องการถุงพลาสติกสำหรับใส่ของ เพราะถือง่ายและแข็งแรงทนทาน แถมหลายคนยังติดนิสัยชอบขอถุงพลาสติกเพิ่ม เวลาซื้อของหนักๆ ต้องขอซ้อนถุงก็ยิ่งกลายเป็นว่าไปเพิ่มปริมาณขยะถุงพลาสติกมากขึ้นไปอีก   เมื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมจะเปิดใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลดการใช้ถุงพลาสติก แล้วแบบนี้ทางฝั่งผู้ประกอบการอย่างบรรดาห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ จะพอมีหนทางอะไรบ้างในการช่วยลดการใช้ถุงพลาสติก   ฉลาดซื้อทำแบบสำรวจถึงบรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครือเซ็นทรัล เดอะมอลล์ เทสโก้ คาร์ฟูร์ บิ๊กซี ฯลฯ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือในการตอบแบบสำรวจสักเท่าไหร่ มีบริษัทที่เต็มใจตอบรับเพียง ซีพี ออลล์และฟู้ดแลนด์ เท่านั้น  บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ได้ให้ข้อมูลถึงนโยบายการลดการใช้ถุงพลาสติกของทางร้านว่า มีการรณรงค์กับทั้งลูกค้าและพนักงาน โดยในช่วงปี 2552 -2553 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำโครงการลดการใช้ถุงพลาสติก 3 โครงการที่น่าสนใจ คือ โครงการ “รับถุงด้วยไหม ครับ/ค่ะ”, โครงการ “บริจาคถุงพลาสติกคืน เพื่อรีไซเคิล” และ  โครงการ “ร่วมใจใช้ถุงผ้า ไม่เรียกหาถุงพลาสติก” ซึ่งผลจากการรณรงค์ทั้ง 3 โครงการ สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านได้มาประมาณ 12 ล้านถุง ส่วนในปี 2554 ได้มีทดลองลดการใช้ถุงพลาสติกภายในร้าน โดยนำร่องจำนวน 100 สาขา ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2554 ซึ่งผลปรากฏว่า สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้ 4,400 ใบต่อวัน  ขณะที่ ฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ก็ใช้วิธีการง่ายๆ อย่างการรณรงค์ให้ลูกค้าใช้ถุงพลาสติก ซึ่งรณรงค์มาต่อเนื่องตลอด 4 ปี   ส่วนแนวคิดที่ว่าจะเป็นไปได้แค่ไหนถ้าหากจะให้มีการยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกเป็นเด็ดขาด ทั้ง เซเว่น อีเลฟเว่น และ ฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ต่างก็ยอมรับว่า ยังไม่มีนโนบายเลิกใช้ถุงพลาสติกในร้านอย่างเด็ดขาดในตอนนี้ เพราะยังต้องอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ แต่ถ้าหากภาครัฐมีมาตรการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดใช้ถุงพลาสติกออกมา ก็พร้อมจะให้ความร่วมมือ  “เราทำได้ ลดการใช้ถุงพลาสติก” ในเมื่อยังไม่มีมาตรการหรือกฎหมายที่ออกมาบังคับเรื่องการลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องสร้างจิตสำนึกร่วมกันในการสร้างพฤติกรรมใหม่ในการใช้ถุงพลาสติก   -สำรวจพฤติกรรมของตัวเองว่าในแต่ละวันต้องเกี่ยวข้องกับการใช้ถุงพลาสติกในเรื่องอะไรบ้าง แล้วลองคิดดูสิว่ามีอะไรที่เราพอจะลดการใช้ถุงพลาสติกได้บ้าง เช่น เวลาซื้อของในร้านสะดวกซื้อของที่เราซื้อจำเป็นแค่ไหนที่ต้องใส่ถุงพลาสติก ถ้าซื้อของไม่กี่ชิ้นลองเลือกปฏิเสธถุงพลาสติก หรือเวลาที่ไปซื้อข้าวซื้อก๋วยเตี๋ยวลองเอาจานชามจากที่บ้านไปใส่ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติกมาจากที่ร้าน ถ้าจะเติมน้ำตาลน้ำปลาก็ปรุงมาให้เรียบร้อย ไม่ต้องขอใส่ถุงกลับมาปรุงที่บ้าน ฯลฯ   -ใช้ถุงผ้าให้ถูกวิธี ไม่ใช้แค่สะพายไว้เก๋ๆ เพื่อบอกใครๆ ว่าคุณรักโลก แต่จงใช้มันเพื่อช่วยโลกจริงๆ นำถุงผ้าไปใช้ใส่สิ่งของต่างๆ ไม่รับถุงพลาสติกจากร้านค้าเพราะว่าคุณมีถุงผ้าสำหรับใส่ของอยู่แล้ว   -จุดเด่นของถุงพลาสติกคือความทนทานพยายามนำกลับมาใช้งานหลายๆ ครั้ง ใช้ให้คุ้มค่าอย่าให้มันกลายเป็นขยะเร็วเกินไป   -อย่าลืมต่อบอกเทคนิคดีๆ ในการลดการใช้ถุงพลาสติกให้กับคนอื่นๆ อย่าลืมชักชวนคนใกล้ๆ ตัวให้เห็นถึงความสำคัญในการลดการใช้ถุงพลาสติก ถ้า 1 คนลดได้ 1 ใบ 10 คนก็ลดได้ 10 ใบ ถ้าทุกๆ คนช่วยกัน ถุงพลาสติกก็คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่ยากเกินจะแก้ไขอีกต่อไป   ความแตกต่างของถุงพลาสติกแต่ละประเภท ถุงพลาสติกทั่วไป -ทำจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ -ใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 100 – 450 ปี-ราคาถูก มีความเหนียวและทนทาน-เพราะความทนทานจึงสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ แต่ก็พึ่งระบบการคัดแยกขยะที่ดี-เป็นอันตรายต่อธรรมชาติมาก ทั้งต่อสัตว์ที่เผลอกินเข้าไป และมักจะเป็นต้นเหตุของน้ำท่วมตามเมืองใหญ่ๆ เพราะขยะถุงพลาสติกจไปอุดตันตามท่อระบายน้ำ   OXO-DEGRADABLE ออกโซดีเกรดเอเบิล -เป็นถุงพลาสติกที่มีการผลิตให้มีความเหนียวน้อยลง ทำให้ย่อยสลายได้ง่ายขึ้น-ถุงย่อยสลาย ภายใน 2 - 5 ปี ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การย่อยสลาย อาจมีชีวิตอยู่ยาวนาน เป็นร้อยปีได้เหมือนถุงพลาสติกธรรมดาทั่วไป-ราคาถุงกว่าถุงพลาสติกทั่วไป -ไม่มีปัญหาเรื่องการเก็บสต็อก-แม้จะย่อยสลายง่ายขึ้นแต่ก็ยังเป็นอันตรายกับธรรมชาติ   BIODEGRADABLE ไบโอดีเกรดเอเบิล (Bio Bag) -ทำจากพืช เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง -สามารถย่อยสลายได้ภายใน 6 – 9 เดือน แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คือ โดนแสงแดดและอากาศที่เหมาะสม-หมักเป็นปุ๋ยชีวภาพได้ ไม่เป็นสารพิษ-แต่มีราคาแพง แถมไม่สามารถเก็บไว้นานๆ ได้ เพราะถุงจะเปลี่ยนสภาพค่อยๆ เปื่อยลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถใช้งานได้ ----------------------------------------------------------------------------------------   การลดการใช้ถุงพลาสติกในต่างประเทศ อิตาลี ประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ แล้วให้ร้านค้าใช้ถุงกระดาษหรือถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้แทน ซึ่งสาเหตุมาจากที่คนตาลีใช้ถุงพลาสติกกันมากถึง 20 พันล้านใบต่อปี ทำให้เกิดมลพิษทางธรรมชาติ ทั้งในทะเล แม่น้ำ และป่า โดยห้างร้านต่างๆ ในอิตาลีก็ขานรับนโยบายนี้กันอย่างพร้อมเพียง แต่ว่ามาตรการนี้เพิ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 54 ที่ผ่านมา ต้องรอดูกันต่อว่าจะได้ผลแค่ไหน   จีนมีกฎห้ามผลิต จำหน่าย และใช้ถุงพลาสติกที่มีความบางน้อยกว่า 0.025 มิลลิเมตร หรือเรียกว่าถุงชนิดบางมาก รวมทั้งห้ามห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ให้แจกถุงพลาสติกฟรีกับลูกค้าถ้าอยากได้ต้องซื้อ หรือไม่ก็นำถุงพลาสติกหรือถุงผ้ามาเอง   พม่าห้ามผลิต ห้ามใช้ และเข้มงวดถึงขั้นห้ามไม่ให้ร้านค้าร้านขายของชำเก็บถุงและเชือกพลาสติกไว้ในร้าน โดยกฎหมายนี้เริ่มทยอยบังคับใช้ตามเมืองสำคัญๆ ของประเทศอย่าง มัณฑะเลย์ เนปิตอว์ และย่างกุ้ง แถมยังมีโครงการเก็บขยะถุงพลาสติกและการนำกลับมารีไซเคิลเปลี่ยนเป็นท่อพลาสติก เพื่อลดปัญหาขยะถุงพลาสติกล้นเมือง   ไต้หวันถ้าหากไปซื้อตามร้านสะดวกซื้อต่างๆ แล้วอยากได้ถุงพลาสติก คุณต้องยอมจ่ายเงินเพิ่ม ซึ่งประชาชนก็ให้ความร่วมมือดี เป็นมาตรการที่สามารถลดขยะถุงพลาสติกได้เป็นจำนวนมาก   อินเดียใช้ไม้แข็งในการจัดการกับปัญหาขยะถุงพลาสติกล้นเมือง โดยใช้วิธีทั้งจำทั้งปรับคนที่ใช้ถุงพลาสติก แต่ต้องบอกว่าวิธีการดังกล่าวยังถือว่าล้มเหลว เพราะคนส่วนใหญ่ก็ยังใช้ถุงพลาสติกกันเป็นปกติหาได้หวั่นเกรงต่อกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งเหตุผลก็เป็นเพราะว่าหากไม่ใช้ถุงพลาสติกก็ยังไม่เห็นตัวเลือกอื่นที่จะสามารถนำมาใช้แทนได้   สหรัฐอเมริกามีหลายเมืองในอเมริกาที่ออกกฎหมายรองรับการลดการใช้ถุงพลาสติก หรือเปลี่ยนมาใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายง่ายขึ้น และเน้นให้มีการรีไซเคิลถุงพลาสติกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แถมหลายๆ เมืองยังมีการเรียกเก็บภาษีถุงพลาสติกเพิ่มขึ้น แม้ในอเมริกาจะมีมาตการลดการใช้ถุงพลาสติกที่ดูเข้มแข็ง แต่ก็ยังติดปัญหาสำคัญตรงที่อุตสาหกรรมผลิตถุงพลาสติกในอเมริกามีการจ้างงานอยู่มากกว่า 1 หมื่นตำแหน่ง ถ้าหากมีปรับลดการใช้ถุงพลาสติกแบบทันทีทันใดก็อาจจะส่งผลต่อคนงานเหล่านี้   เม็กซิโกร้านค้าในเม็กซิโกเปลี่ยนมาใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายง่ายหลังจากรัฐบาลออกกฎหมายบังคับเรื่องการลดการใช้ถุงพลาสติก แม้กฎหมายฉบับนี้ยังมีผลบังคับใช้แค่ในเมืองหลวงของประเทศอย่างเม็กซิโก ซิตี้ แต่ที่นี่ก็มีประชากรอยู่มากถึง 9 ล้านคน บวกกับประชากรที่อาศัยอยู่ตามเมืองรอบอีกกว่า 10 ล้านคน ก็สามารถลดขยะถุงพลาสติกไปได้พอสมควร   ฮ่องกง นักช้อปจะต้องจ่ายค่าถุงพลาสติกในราคา 50 เซนต์ฮ่องกง สำหรับถุงพลาสติก 1 ใบ มีข้อมูลบอกว่าที่ฮ่องกงมีการใช้ถุงพลาสติก 23 ล้านใบต่อปี หรือ เฉลี่ยวันละ 3 ใบต่อคน แต่ก็ใช่ว่าพอเก็บตังค์แล้วคนจะใช้ถุงพลาสติกน้อยลง เพราะนักช้อปส่วนใหญ่ก็ยังเต็มใจจ่ายค่าถุงพลาสติกอยู่ดี ฮ่องกงเลยใช้วิธีรณรงค์ให้ใช้ถุงพลาสติกมากกว่า 1 ครั้งเป็นตัวเสริมเข้าไป ซึ่งก็สามารถช่วยลดปริมาณขยะถุงพลาสติกภายในประเทศได้พอสมควร

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 183 กระแสต่างแดน

แฟนบอลดีใจ...ได้เฮปกติแล้วเยอรมนีมีกฎเหล็กห้ามทำเสียงดังหลัง 4 ทุ่ม แต่วุฒิสภาได้อนุมัติให้เทศบาลต่างๆ ผ่อนผันกฎดังกล่าวในช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลยูโร (10 มิถุนายน ถึง 10 กรกฎาคม)เพราะฝรั่งเศส ประเทศเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลยูโรปีนี้ กำหนดเวลาเริ่มการแข่งขันส่วนใหญ่ไว้ที่ 3 ทุ่ม หากไม่มีการผ่อนผัน เจ้าหน้าที่เทศบาลคงต้องระดมคนไปตามปรับแฟนบอลจำนวนไม่น้อยที่อาจส่งเสียงเฮ(หรือโห่ก็แล้วแต่) ให้กำลังใจทีมชาติอยู่ที่บ้านแต่เพื่อรักษาสมดุลระหว่างกลุ่มรักชาติกับกลุ่มรักความเงียบ เขากำหนดให้ใครก็ตามที่จะจัดฉายการถ่ายทอดสดบนจอใหญ่ให้คนมาร่วมกันเชียร์ ต้องมาขออนุญาตจากเทศบาลก่อนเพื่อให้พิจารณาเป็นกรณีไป อร่อยข้ามรั้วนี่คือร้านขายอาหารว่างสำหรับคนเดินทางร้านแรกในเยอรมนี ใครขับผ่านมาแล้วหิวก็จะจอดรถ ตะโกนสั่ง แล้วปีนบันไดที่พาดกับรั้วเหล็กขึ้นไปรับอาหารจากพนักงานที่ปีนมาส่งและเก็บเงิน ใครมีเวลามากหน่อยก็ปีนข้ามไปนั่งกินในร้านได้ลูกค้าบางคนรับของแล้วมองซ้ายมองขวา ... นี่มันรายการประเภทซ่อนกล้องเน้นฮาหรือเปล่าเนี่ย เมื่อปี 2009 คริสติน่าลงทุนซื้อร้านนี้ ซึ่งตั้งอยู่ริมออโต้บาห์น ในรัฐทูรินเจียตอนกลางของประเทศ แต่ต่อมาเธอพบว่าสำนักงานขนส่งของทูรินเจียได้เพิกถอนใบอนุญาตค้าขายของร้านไปตั้งแต่ปี 2004 นี่มันหลอกขายกันชัดๆ เพราะคงไม่มีใครซื้อที่ตรงนี้แน่นอนถ้ารู้ว่าขายของไม่ได้แต่เธอก็เปิดกิจการขายไส้กรอกต่อไป จนทางการมาสร้างรั้วเหล็กกั้นระหว่างร้านกับถนน คริสติน่าไม่ยอมแพ้ เธอซื้อบันไดมาพาดอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าจนได้ เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าเธอสามารถขายอาหารให้กับลูกค้าอีกฝั่ง(ที่มาท่องเที่ยวเดินป่า) ได้ตามปกติ แต่ขายกับคนบนถนนไม่ได้ และเธอจะต้องจ่ายค่าปรับเธอรับไม่ได้ ... นี่ไม่ใช่ร้านธรรมดา ใครที่ไหนจะปิดประวัติศาสตร์ ร้านนี้เปิดมา 80 ปีแล้ว มันอาจเป็นร้านแรกในยุโรปด้วยซ้ำ สมัยก่อนร้านนี้แหละคือที่ที่ผู้คนแวะหยุดพักเวลาเดินทางจากเยอรมันตะวันตกไปตะวันออก… เรื่องนี้ยังตกลงกันไม่ได้ ต้องติดตามผลการตัดสินของศาล รายได้ “พื้นฐาน”มิถุนายนนี้จะเป็นครั้งแรกในโลกที่ประชากรของประเทศหนึ่งจะได้โหวตว่าต้องการให้รัฐจัด “รายได้พื้นฐานแบบไม่มีเงื่อนไข” (UBI: unconditional basic income) ให้หรือไม่ประชาชนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเรียกร้องขอ UBI กับทุกคนไม่ว่าจะมีหรือไม่มีงานทำ เพื่อให้พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างภาคภูมิใจและเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะได้ องค์กร Basic Income Earth Network (BIEN) บอกว่าจุดประสงค์คือการลดความยากจนและการพึ่งพาสวัสดิการรัฐ ที่สำคัญที่สุด ... ผู้คนไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าคุณค่าของพวกเขาขึ้นอยู่กับงานที่ทำ และพวกเขาสามารถเลือกทำงานที่ชอบได้(ไม่ใช่ทำเพราะต้องทำเพื่อความอยู่รอด)ตัวเลขนั้นยังไม่ได้เคาะ แต่ที่คุยกันอยู่ขณะนี้คือ 2,500 ฟรังก์ (ประมาณ 90,000 บาท) หมายความว่าจะไม่เกิดอะไรขึ้นกับคนที่หาเงินได้เกินนี้ แต่ใครที่ได้น้อยกว่าก็จะได้รับเพิ่มจนครบตามจำนวนแน่นอนรัฐบาลไม่เห็นด้วย ไหนจะงบมหาศาล 208,000 ล้านฟรังก์ต่อปี ไหนจะกลัวว่าคนที่มีรายได้น้อยอาจเลิกทำงานแล้วมารอรับเงินเฉยๆ แต่เราจะได้รู้กันในวันที่ 5 มิถุนายนนี้แล้วว่าผู้คนในสวิตเซอร์แลนด์จะโหวตรับหรือไม่ ..ผลโพลอย่างไม่เป็นทางการบอกว่ามีถึงร้อยละ 57 ที่ไม่เห็นด้วย ไปด้วยกันนะผู้ประกอบการขนส่ง เดลีทรานสปอร์ต คอร์ป บอกว่าตั้งแต่ลดค่าตั๋วโดยสารรถไฟสายสนามบินลงร้อยละ 40 มีคนมาใช้บริการเพิ่มถึงร้อยละ 50 ตอนนี้ฝ่ายบริหารเลยคิดจะลดราคาตั๋วสายอื่นๆ บ้างปัจจุบันเดลีเมโทรมีผู้โดยสารประมาณ 2.6 ล้านคนต่อวัน ในชั่วโมงเร่งด่วนจะมีผู้โดยสารประมาณ 300 คนต่อหนึ่งตู้ แต่ในเวลาอื่นๆ จะมีผู้โดยสารใช้บริการเพียง 78 คนต่อตู้เท่านั้น เขาจึงคิดแผนจะลดค่าโดยสารในชั่วโมงไม่รีบเร่งลงแต่เรื่องนี้อดีตผู้บริหารเขาเห็นต่าง เขาบอกว่าเราเป็นบริษัทที่เลี้ยงตนเองและไม่ได้รับเงินสนับสนุนใดๆ จากรัฐ เราจึงน่าจะเก็บเงินได้ตามคุณภาพที่เราเสนอให้กับลูกค้า หลักๆแล้ว เขามองว่าควรขึ้นค่าโดยสารด้วยซ้ำเดลีเมโทรมีผลประกอบการเป็นบวกมาโดยตลอด แม้ค่าใช้จ่าย (ด้านเชื้อเพลิงและค่าจ้างพนักงาน) จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ในปีที่แล้วบริษัทก็ยังมีกำไรอยู่ดี... ไม่เหมือนแถวนี้นะ เอะอะก็ขาดทุน ... ไม่แยกแล้วมันยุ่งหนึ่งในเรื่องที่สิงคโปร์ยังจัดการไม่ได้คือการรีไซเคิลขยะจากบ้านเรือน ทุกวันนี้แม้จะมีถังสีน้ำเงินวางไว้ให้ผู้คนนำขยะที่รีไซเคิลได้มาทิ้ง แต่มีถึงร้อยละ 50 ของสิ่งที่อยู่ในถังที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้เพราะผู้คนยังไม่ตระหนัก และยังคงทิ้งเศษอาหาร กระดาษทิชชูใช้แล้ว หรือแม้แต่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปของเด็กลงไปด้วยความจริงแล้วรัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลมากเพราะทั้งประเทศมีบ่อขยะอยู่เพียง 1 บ่อที่กำลังจะเต็มในอีก 20 ปีข้างหน้า ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนที่เก็บขยะเพื่อรีไซเคิลอยู่ 4 บริษัท ทั้งหมดบอกตรงกันว่าขยะที่ได้มานั้นคุณภาพแย่ เพราะหนูหรือแมลงเข้ามากัดกินเศษขยะสดที่ปะปนมา ทำให้ “เสียของ” และยังเพิ่มค่าใช้จ่ายจากการไปทิ้งอีกด้วย  อัตราการรีไซเคิลของคนสิงคโปร์อยู่ที่ร้อยละ 19 ยังห่างไกลกับมหาอำนาจด้านรีไซเคิลอย่างไต้หวันที่มีอัตรานี้ถึงร้อยละ 50 ... เพราะที่นั่นการรีไซเคิลเป็นกฎหมายด้วย     

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 กระแสต่างแดน

ใครๆ ก็ไม่รักเด็ก ด้วยอัตราการเกิดที่ต่ำมากของญี่ปุ่น ทำให้เด็กๆ ที่นั่นกลายเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ที่ผู้คนไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนัก  และไม่ชินกับเสียงร้อง หรือเสียงหัวเราะเล่นกันของพวกเขา เด็กญี่ปุ่นยุคนี้จึงอยู่ยากขึ้นทุกวัน น่าประหลาดที่สังคมนิยมเสียงอย่างญี่ปุ่น -- เสียงปิ๊งป่องต้อนรับที่ร้านสะดวกซื้อ หรือเสียงตะโกนหา เสียงผ่านโทรโข่งตามสถานีรถไฟ – กลับรับเสียงเด็กๆ ไม่ได้ ข่าวบอกว่ามีเรื่องร้องเรียนเรื่องเด็กเสียงดังทุกวัน เดี๋ยวนี้ศูนย์รับเลี้ยงเด็กต้องสร้างกำแพงกั้นเสียงไม่ให้ไปรบกวนเพื่อนบ้าน และจำกัดเวลาที่เด็กจะเล่นในสนามไว้ที่วันละไม่เกิน 45 นาที และถ้าจะมีงานเทศกาลอะไรก็ตามที่มีผู้ร่วมงานเป็นเด็ก เขาก็จะนิยมจัดในอาคารกัน แทนที่จะจัดกลางแจ้งเหมือนเมื่อก่อน แม้แต่นักเรียนมัธยมต้นที่เคยซ้อมวิ่งพร้อมออกเสียงเพื่อสร้างความฮึกเหิม เดี๋ยวนี้ยังต้องเจียมเนื้อเจียมตนวิ่งกันไปเงียบๆ   ก่อนหน้านี้มีศูนย์เด็กเล็กแห่งหนึ่งถูกเพื่อนบ้านขี้รำคาญฟ้องร้องโทษฐานส่งเสียงดังรบกวน จึงต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 5 ล้านกว่าบาท ปัญหานี้ไม่ได้มีสาเหตุจากเรื่องอัตราการเกิดต่ำเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความแออัดของที่อยู่อาศัยในเขตเมืองและเศรษฐกิจที่ค่อนข้างฝืดที่ทำให้ผู้สูงอายุใช้เวลาอยู่บ้านกันมากขึ้นด้วย กลุ่มคนรักเด็กให้ความเห็นว่า ผู้สูงอายุหรือคนที่ไม่มีลูกที่หงุดหงิดรำคาญเด็กๆ เหล่านี้หลงลืมกันไปหรือเปล่าว่าเด็กเหล่านี้คือแรงงานสำคัญของญี่ปุ่นในอนาคต พวกเขาจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อจ่ายภาษีให้รัฐบาลนำมาเลี้ยงดูตนเอง ที่สำคัญค่าใช้จ่ายนี้กำลังเพิ่มสูงขึ้น เพราะประชากรในวัยทำงานมีจำนวนน้อยกว่าวัยสูงอายุ จากประชากรทั้งหมด 128 ล้านคนของญี่ปุ่น มีถึง 1 ใน 4 ที่อายุมากกว่า 65 ปี ในขณะที่เด็กวัยต่ำกว่า 14 ปีนั้นเป็นเพียงร้อยละ 13.2  ของประชากรเท่านั้น อัตราการเกิดของญี่ปุ่นนั้นอยู่ที่แม่ 1 คน ต่อเด็ก 1.39 คน อัตราเฉลี่ยของโลกอยู่ที่แม่หนึ่งคน ต่อเด็ก 2.52 คน และของประเทศไทยขณะนี้อยู่ที่ 1.6 คน ... เอ หรือว่าเราจะมีปัญหาเดียวกันในอนาคต   การเกษตรต้องมาก่อน ไม่แน่ใจว่าราคาไข่ที่มาเลเซียจะแพงเว่อร์เหมือนบ้านเราหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ โดยรวมแล้วอาหารที่มาเลเซียก็แพงเหมือนกัน สาเหตุของอาหารแพงนั้น องค์กรผู้บริโภค FOMCA ของเขาบอกว่าหลักๆ แล้วเป็นเพราะรัฐบาลไม่ค่อยสนับสนุนการลงทุนด้านการเกษตร จากที่เคยให้งบประมาณร้อยละ 22 เพื่อการพัฒนาการเกษตรในปี 1980 กลับลดเหลือเพียงร้อยละ 3.8 เท่านั้น เมื่อถึงปี 2007 และถ้าดูจากผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) แล้ว จะเห็นว่าสินค้าเกษตร ซึ่งเคยมีส่วนแบ่งถึงเกือบร้อยละ 23 แต่ในปี 1980 กลับลดเหลือเพียงแค่ร้อยละ 7.7 ในปี 2007 ผลก็คือมาเลเซียต้องพึ่งการนำเข้าวัตถุดิบอาหารมากขึ้น มูลค่าการนำเข้าในปี 2007 สูงถึงสองแสนกว่าล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นอีกเท่าตัวจาก 4 ปีก่อนหน้า FOMCA มีข้อเสนอให้รัฐให้ความช่วยเหลือกับเกษตรมากกว่านี้ และเรียกร้องให้รัฐมีแผนชัดเจนในการใช้พื้นที่ว่างเปล่าซึ่งมีถึง 34,300 เฮคตาร์ หรือสองแสนกว่าไร่ มาเพาะปลูกพืชไว้เพื่อการบริโภคในประเทศ แต่ปัจจัยที่ทำให้อาหารแพงยังรวมถึงปัจจัยระดับโลกนั่นคือ การจำนวนประชากรที่ไม่สมดุลกับปริมาณอาหารที่ผลิตได้ เพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ประกอบกับพื้นที่เพาะปลูกและแหล่งน้ำที่มีจำกัด นอกจากนี้มาเลเซียยังมีเรื่องของการผูกขาดในธุรกิจอาหาร ที่มีผู้เล่นน้อยราย จึงทำให้สามารถตั้งราคากันได้ตามใจชอบ และยังมีเรื่องของความยากลำบากในการขอใบอนุญาตทำกิจการอาหารอีกด้วย     ปฏิบัติการยึดบ้านบาร์บี้ เปิดตัวไปแล้วเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับคฤหาสน์ในฝันของสาวบาร์บี้ที่ใช้ชื่อทางการค้าว่า Barbie The Dreamhouse Experience ที่เบอร์ลินตะวันออก ใกล้ๆ กับย่านช้อปปิ้งของเมือง โดยแห่งแรกเปิดตัวไปก่อนหน้านั้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่เมืองไมอามี รัฐฟลอริด้า คฤหาสน์สีชมพูหลังนี้มีพื้นที่ประมาณ 2,500 ตารางเมตร ตั้งอยู่ระหว่างทางรถไฟและตึกแถวยุคคอมมิวนิสต์ การตกแต่งภายในและเฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างก็เป็นสีชมพูเพื่อเอาใจเด็กผู้หญิงที่สามารถเข้าไปอบคัพเค้ก เข้าตู้เสื้อผ้าแบบวอล์คอิน หรือจะนั่งชิลในห้องนั่งเล่นสีชมพูก็ไม่ว่ากัน งานนี้ไม่ได้มีแต่คนชื่นชม กลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีออกมาต่อต้านการเปิดตัวของคฤหาสน์แห่งนี้ บ้างก็รับไม่ได้กับการส่งเสริมความงามที่ฉาบฉวยและไม่เป็นจริงให้กับพวกเด็กๆ บ้างก็บอกว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เด็กๆ ต้องเล่นกับตุ๊กตาที่เป็นโรคขาดอาหาร ที่มีชีวิตอยู่เพื่อนั่งรอชายหนุ่มชื่อเคนอยู่ในรถเปิดประทุน ว่าแล้วก็ชักชวนผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการปลูกฝังแนวคิดให้เด็กผู้หญิงเป็นอย่างบาร์บี้ มาเข้าร่วมกระบวนการ Occupy Barbie Dreamhouse ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกแล้ว 1,000 คน ทางด้านบริษัท Mattel ผู้ผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ออกมายืนยันว่าเขาได้ปรับภาพลักษณ์ของบาร์บี้แล้ว นอกจากบาร์บี้ในชุดบิกินี่แล้ว เด็กๆ สามารถซื้อบาร์บี้ที่เป็นศัลยแพทย์ หรือบาร์บี้ที่สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย เผื่อคุณอยากทราบ คฤหาสน์ที่ว่ามีอัตราค่าเข้าชมดังนี้ สำหรับผู้ใหญ่ (14 ปีขึ้นไป) ค่าเข้าชม 15 ยูโร หรือประมาณ 600 บาท  เด็กระหว่าง 4 ถึง 13 ปี 12 ยูโร หรือประมาณ 480 บาท  หรือจะเป็นแพคเก็จครอบครัว (ผู้ใหญ่ 2 คน เด็กไม่เกิน 3 คน) ก็ 49 ยูโร หรือประมาณ 2,000 บาท แต่ถ้าลูกของคุณอยากจะลองประสบการณ์การเดินแบบบนแคทวอล์ค หรือขึ้นเวทีเป็นซุปตาร์ ก็จ่ายเพิ่มอีกประสบการณ์ละ 10 ยูโร หรือประมาณ 400 บาท ควรมิควรก็แล้วแต่ผู้ปกครองจะพิจารณา ...     มาตรการลดขยะ เดือนมิถุนายนนี้ เกาหลีใต้เริ่มใช้กฎระเบียบใหม่เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะอาหาร ด้วยการคิดค่าบริหารจัดการขยะอาหารจากครัวเรือนและร้านอาหาร โดยเริ่มจาก 129 เทศบาลก่อน แต่ข่าวบอกว่าสิ้นปีนี้จะครอบคลุมทั้งหมด 144 เขต กระทรวงสิ่งแวดล้อมเขาประเมินแล้วว่า ระบบนี้จะช่วยประหยัดเงินของรัฐในการจัดการขยะที่เป็นอาหารสดได้ถึง 160,000 ล้านวอน (4,400 ล้านบาท) แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเขาตั้งเป้าว่าจะต้องลดขยะอาหารทั่วประเทศลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 ทั้งนี้เพราะโครงการนำร่องที่ทดลองทำไปก่อนหน้านี้สามารถลดปริมาณขยะลงได้ถึงร้อยละ 28.7 เรียกว่าสามารถทำให้แต่ละครัวเรือนมีขยะอาหารเหลือทิ้งเพียงแค่วันละ 620 กรัมเท่านั้น แต่ร้านอาหารอาจต้องรับภาระหนักหน่อย เพราะมีขยะมากกว่าบ้านเรือนธรรมดา แต่กระทรวงสิ่งแวดล้อมบอกว่าให้ถือเป็นโอกาสดีที่ทางร้านจะได้คิดหาไอเดียการปรุงอาหารให้เกิดของเหลือทิ้งน้อยที่สุด ระบบการคิดเงินขยะอาหารนั้นมีอยู่ 3 ระบบ ข่าวบอกว่าแบบที่นิยมมากที่สุดคือการซื้อสติ๊กเกอร์ ดวงละ 41 วอน (1 บาทกว่าๆ) สำหรับขยะ 1 ลิตร แบบที่สองเป็นระบบไฮเทค RFID ที่จะชั่งน้ำหนักตามจริงเมื่อเรานำไปทิ้งในถังที่รัฐจัดไว้ให้ สนนราคาแพงขึ้นมาอีกนิดที่ลิตรละ 42 วอน หรือใครจะชอบแบบที่สาม คือการซื้อถุงขยะ (ซึ่งเขารวมค่าจัดการขยะไปแล้ว) มาใช้ก็ได้     กลัวไม่มีคู่แข่ง ซุปเปอร์มาร์เก็ตวูลเวิร์ธมีอันต้องเซ็งเป็ด เพราะคณะกรรมการการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลียไม่อนุญาตให้เปิดสาขาเพิ่มในเขตเกลนมอร์ ริดจ์ ทางตะวันตกของเมืองซิดนีย์ โดยให้เหตุผลว่ามีวูลเวิร์ธอยู่แล้วหนึ่งสาขาในเขตดังกล่าว และในเขตเพนริธที่อยู่ติดกันก็มีห้างวูลเวิร์ธอยู่แล้วเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้วูลเวิร์ธมาเปิดสาขาเพิ่มในเมืองนี้ จนกว่าจะมีห้างอื่นมาเปิดเพื่อเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภค ซึ่งตามข่าวบอกว่าเร็วที่สุดก็คงต้องเป็นปีหน้า ที่จะมีห้าง Aldi มาเปิดในเขตนี้ ทั้งนี้เขาสกัดตั้งแต่ตอนที่วูลเวิร์ธทำเรื่องขออนุญาตซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างห้าง คณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่ดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาด เพราะมันหมายถึงการทำให้สินค้าราคาแพงขึ้นและทำให้ผู้ผลิตไม่มีความจำเป็นต้องสร้างทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค ก่อนหน้านี้เขาก็สกัดบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่อย่างไฮนซ์ ไม่ให้เข้ามาซื้อกิจการของบริษัทสัญชาติออสซี่ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสำหรับเด็กทารก ยี่ห้อ Rafferty’s Garden มาแล้ว โดยให้เหตุผลว่า การควบรวมกิจการดังกล่าวจะทำให้บริษัทไฮนซ์ครอบครองถึงร้อยละ 80 ของตลาดอาหารเด็กทารก และร้อยละ 70 ของซีเรียลและขนมกรุบกรอบในออสเตรเลีย เข้มจุงเบย ... ไม่เหมือนบางที่ ใครจะซื้อใครเขาก็เฉยๆ นะ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 กระแสต่างแดน

ยอมกันไม่ได้จริงๆ ชายนอร์เวย์คนหนึ่งยื่นเรื่องร้องเรียนให้คณะกรรมการผู้บริโภคของสวีเดนทบทวนว่า สโลแกนส่งเสริมการท่องเที่ยว “สต็อคโฮล์ม – เมืองหลวงแห่งสแกนดิเนเวีย” เป็นโฆษณาที่หลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ เขาบอกว่าสโลแกนดังกล่าวจงใจทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจว่ากรุงสต็อคโฮล์มนั้นเป็นเมืองหลวงของคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย ที่ความจริงแล้วประกอบด้วย 3 ประเทศด้วยกันได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน เขาสอบถามไปยังเทศบาลเมืองสต็อคโฮล์มและได้คำตอบกลับมาว่า ที่ขนานนามเช่นนั้นเพราะ เมืองของเขาดังกล่าวมีสนามบินนานาชาติถึง 5 แห่ง แถมด้วยประชากรกว่า 3.5 ล้านคน และกว่าร้อยละ 40 ของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนสแกนดิเนเวียนั้นจะมาเที่ยวที่นี่   แต่เขายังข้องใจ เพราะสต็อคโฮล์มไม่ได้มีสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในย่านนี้สักหน่อย ไม่ได้ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของภูมิภาค แถมยังไม่ใช่ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของรางวัลโนเบลอย่างประเทศนอร์เวย์ของเขาซึ่งมีเมืองหลวงชื่อว่าออสโลอีกด้วย สรุปว่าเขาไม่เห็นว่า สต็อคโฮล์ม จะดีไปกว่าเมืองหลวงอื่นๆ ตรงไหน ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งออสโลเองก็ไม่ค่อยปลื้มกับคำขวัญของสต็อคโฮล์มเช่นกัน  เขาเปรยๆ ในการสัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์ทำนองว่า “สต็อคโฮล์มเขาช่างกล้า” อยู่บ่อยๆ คำขวัญนี้มีใช้มา 7 ปีแล้ว แต่เพิ่งจะกลับมาเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อองค์การท่องเที่ยวของสต็อคโฮล์มเป็นสปอนเซอร์งานสัมมนาส่งเสริมการลงทุนที่จัดที่ฝรั่งเศส สโลแกนดังกล่าวมีอยู่ทั่วทั้งงานทั้งบนป้ายและบัตรเข้าชมงาน ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากเดนมาร์กและนอร์เวย์หลายคนรับไม่ได้ ขนาดถึงขั้นฉีกตั๋วทิ้งกันเลยก็มี     จ่ายก่อนจร เมืองใหญ่มักมาคู่กันกับปัญหารถติด หลายๆ ที่จึงต้องใช้วิธีเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนหรือในเขตที่มีการจราจรหนาแน่น เพื่อลดจำนวนรถลงบ้าง เช่น ที่ลอนดอน ซึ่งกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกในเดือนกันยายนปีนี้ เขามีมาตรการสกัดกั้นรถเข้าเมืองมาเกือบ 10 ปีแล้ว ถ้าใครขับรถเข้าไปในเขต “เซ็นทรัล ลอนดอน” ในวันจันทร์ถึงศุกร์ ระหว่างเวลา 7 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 10 ปอนด์ในกรณีที่คุณไปจ่ายเงินภายในเที่ยงคืนของวันนั้น แต่ถ้าข้ามวันคุณจะต้องเสียเพิ่มเป็น 12 ปอนด์  ถ้าทำเมินลืมจ่ายก็จะมีค่าปรับ 60 ปอนด์ – 187 ปอนด์ (ประมาณ 3,000 – 9,400 บาท) เขาตามหนี้เราได้ เพราะมีกล้องวงจรปิดบันทึกภาพไว้ สำหรับคนที่ต้องเข้าเมืองในเวลาดังกล่าวเป็นประจำเขาจะใช้วิธีจ่ายล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับ แต่เขาจะไม่เก็บจากรถที่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า 100 กรัม/กิโลเมตร หรือรถที่มีมากกว่า 9 ที่นั่ง วิธีนี้ทำให้รัฐมีรายได้ปีละเกือบ 150 ล้านปอนด์ ไว้เป็นทุนปรับปรุงระบบการจราจร กลับมาที่เวียดนามเพื่อนบ้านของเราบ้าง ขณะนี้เขากำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะห้ามรถยนต์ส่วนบุคคลจากเขตเมืองชั้นในของฮานอยและโฮจิมินห์ในวันธรรมดา ให้ได้อย่างน้อย 5 ชั่วโมง ก่อนหน้านี้เขาคิดจะแบนรถมอเตอร์ไซค์ แต่มีเสียงคัดค้านว่าควรจะห้ามรถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่า  เพราะแม้ว่ารถยนต์จะเป็นเพียงร้อยละ 10 ของยานพาหนะบนท้องถนน แต่มันครอบครองพื้นที่บนถนนกว่าร้อยละ 55 และพื้นที่จอดถึงร้อยละ 65 ข่าวบอกว่า ในที่สุดแล้วเขาอาจจะเลือกใช้ระบบเดียวกับที่ลอนดอน ส่วนที่เมืองออสโล นอร์เวย์ นี่มาแปลก เพราะไม่ได้มีปัญหารถแน่นถนน แต่เป็นปัญหาคนแน่นรถแทน เขาจึงเสนอวิธีการแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่ารถสาธารณะในชั่วโมงเร่งด่วน โดยคิดอัตราค่าบริการตามช่วงเวลาที่เราเดินทาง เพื่อให้คนเปลี่ยนมาเดินทางนอกช่วงเวลาเร่งด่วนกันมากขึ้น แต่สภาผู้บริโภคของเขาไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับวิธีนี้ คนที่อุตส่าห์ช่วยลดปัญหาการจราจรด้วยการหันมาใช้บริการขนส่งมวลชน ควรจะต้องได้รางวัล ไม่ใช่การลงโทษ ... อืม นั่นสินะ     อ่านอย่างพอเพียง มนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย... ใครเคยนับบ้างว่าคุณอ่านอีเมล์ (หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์) วันละกี่ครั้ง งานวิจัยล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร่วมกับศูนย์วิจัยของกองทัพสหรัฐฯ เขาออกมายืนยันว่า คนที่อ่านอีเมล์ในที่ทำงานน้อยกว่าจะสามารถสร้างผลงานได้มากกว่า ทีมวิจัยเฝ้าสังเกตพฤติกรรมตามปกติของพนักงานออฟฟิศทั้งหมด 13 คน และขอให้คนเหล่านั้นหยุดอ่านอีเมล์เป็นเวลา 5 วัน เขาพบว่าในช่วงที่คนเหล่านี้พักจากการอ่านอีเมล์นั้น พวกเขาจะมีสมาธิอยู่กับงานเฉพาะหน้าได้นานกว่า แถมยังพบว่าพวกเขามีอัตราการคลิ๊กเปลี่ยนหน้าจอต่ำกว่าด้วย แล้วความเครียดล่ะ ...  เมื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจดูแล้วยังพบว่าระดับความเครียดเวลาที่ไม่เช็คอีเมล์นั้นแตกต่างจากตอนที่อ่านอีเมล์อย่างมาก กลอเรีย มาร์ค อาจารย์ด้านสารสนเทศศาสตร์ ผู้ศึกษาผลกระทบของใช้อีเมล์ในที่ทำงานมาเป็นเวลากว่า 8 ปี  เสนอให้บริษัททั้งหลายลองส่งอีเมล์ถึงพนักงานเพียงวันละหนึ่งหรือสองครั้งต่อวันเท่านั้น เพื่อที่พนักงานจะได้ไม่ต้องกังวลมาคอยเช็คเมล์ทุกๆ 10 นาที เพราะกลัวพลาด ที่สำคัญเธอเสนอให้ผู้คนทดลอง “พักร้อนจากอีเมล์” กันดูบ้าง เพราะว่าได้ผลดีไม่แพ้การลางานไปพักร้อนเลยทีเดียว สถิติน่าสนใจ : คนที่ใช้อีเมล์เป็นประจำจะเปลี่ยนหน้าจอ 37 ครั้งในหนึ่งชั่วโมง ในขณะที่คนอื่นๆ ที่เปิดอ่านอีเมล์น้อยครั้งกว่า จะเปลี่ยนหน้าจอเพียง 18 ครั้งต่อชั่วโมงเท่านั้น   ข้อเสียอีกประการของการเปิด “กล่องจดหมายเข้า” คือการต้องพบกับ “โฆษณาไม่พึงประสงค์” คุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ว่าอะไร แค่กด “delete” ทิ้งมันลงถังขยะไปเฉยๆ ผู้บริโภคที่ฮ่องกงเขาทำมากกว่านั้น จากการสอบถามชาวฮ่องกง 1,046 คน พบว่าเกือบร้อยละ 50 ตอบว่าตัวเองจะตอบโต้ด้วยการ “บอยคอต” แบรนด์สินค้าที่ส่งอีเมล์/SMS  เข้ามาโฆษณาไม่หยุดหย่อน ด้วยการเลิกซื้อไปเลย ที่นั่นเขาคงโฆษณากันหนักจริงๆ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ ได้บอยคอตไปไม่ต่ำกว่า 4 แบรนด์แล้ว แต่บริษัทโฆษณามีหรือจะท้อ เขาบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวจัดให้ใหม่ ที่ผู้บริโภคเซ็งแบรนด์ไปนั้นเป็นเพราะว่ายังสื่อสารไม่ถูกกลุ่มเป้าหมายและไม่ถูกเวลามากกว่า ต่อไปจะต้องเก็บข้อมูลผู้บริโภคให้ละเอียดมากขึ้น เอาล่ะสิ  งานกลับมาเข้าที่ผู้บริโภคอีกแล้ว ทุกวันนี้เรายังถูกเก็บข้อมูลไม่มากพออีกหรือ   เอกสิทธิ์เฉพาะคนจน? ไปดูสถานการณ์น้ำมันที่อินโดนีเซียกันบ้าง คงยังจำกันได้ว่าเขามีประท้วงใหญ่กันไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซีย ประกาศห้ามคนรวยหรือคนชั้นกลางซื้อน้ำมันชนิดที่รัฐช่วยพยุงราคา หมายความว่าใครก็ตามที่ขับรถที่มีขนาดเครื่องยนต์เกินกว่า 1.5 ลิตรขึ้นไป จะไม่สามารถซื้อน้ำมันเกรดต่ำได้ ข่าวบอกว่า แม้จะเป็น “น้ำมันเกรดต่ำ” ที่รัฐช่วยรับภาระไว้ครึ่งหนึ่ง แต่คนที่ใช้ส่วนใหญ่ก็เป็นคนมีเงิน เพราะคนจนนั้นไม่มีรถให้ต้องเติมน้ำมันอยู่แล้ว  ส่วนกลุ่มที่พอจะมีรายได้(แต่น้อย) ก็มีแต่มอเตอร์ไซค์ซึ่งใช้น้ำมันประเภทอื่น หลังจากประกาศใช้ กฎดังกล่าวจะมีผลภายใน 3 เดือนในจาการ์ตา และจะมีผลทั้งประเทศในอีก 4 เดือนหลังจากนั้น รถยนต์ของหลวงนั้นจะต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวภายใน 7 วันหลังการประกาศใช้ ส่วนรถสาธารณะนั้นไม่เข้าข่าย รถเล็กก็เติมต่อไปได้ตามปกติ องค์กรผู้บริโภคบอกว่านโยบายนี้จะทำให้ปั๊มน้ำมันหัวนอกได้เปรียบ เพราะถ้าจะต้องซื้อน้ำมันแพง ผู้บริโภค ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้ลำบากเรื่องเงิน จะหันไปเติมน้ำมันกับปั๊ม อย่างเชลล์ และโททาล เพราะเชื่อว่าน่าจะดีกว่าปั๊มท้องถิ่นอย่างเพอตามีนาของอินโดนีเซีย     ความผิดแนวตั้ง อย่างที่รู้กันดีว่าสิงคโปร์เมืองสะอาดเอี่ยมเขาเฮี้ยบมากในการจัดการกับพวกทิ้งขยะไม่เป็นที่ แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เขาจัดการไม่ได้เสียทีแม้จะรณรงค์มากว่า 10 ปีแล้ว ด้วยเนื้อที่อันจำกัด คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่ต้องอาศัยอยู่ในแฟลตสูง และหนึ่งในปัญหาที่เจออยู่บ่อยๆ คือ “ขยะลอยฟ้า”  ทางการบอกว่าได้รับเรื่องร้องเรียนไม่ต่ำกว่า 100 เรื่องต่อเดือน องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสิงคโปร์จึงทดลองนำกล้องวงจรปิดไปติดตั้งไว้ 10 จุดที่ชั้นบนสุดของแฟลตการเคหะสิงคโปร์ ในบริเวณที่มีผู้คนร้องเรียนมาบ่อยๆ ได้ผลดีทีเดียวสำหรับการลงทุนกล้องตัวละ 25,000 เหรียญ (ประมาณ 620,000 บาท) ที่สามารถเก็บภาพต่อเนื่องได้อย่างน้อย 5 วัน  นับว่าคุ้มมาก จากที่เคยต้องให้คนไปซุ่มรอกันคราวละหลายชั่วโมง เขาจึงวางแผนว่าจะติดเพิ่มอีก 40 จุด ภายในเดือนสิงหาคมนี้ หนุ่มรายหนึ่งถูกเรียกไปศาลและถูกตัดสินให้จ่ายค่าปรับจำนวน 800 เหรียญสิงคโปร์ (เกือบๆ 20,000 บาท) โทษฐานที่ทิ้งขยะในที่สาธารณะ โดยมีหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ความละเอียดสูง ที่บันทึกภาพของเขาขณะโยนก้นบุหรี่ออกมาจากห้องพักบนชั้น 3 ของแฟลต เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 กระแสต่างแดน

  ขอต้อนรับ “แขกผู้มีกล่อง”ว่ากันว่าปีนี้เศรษฐกิจที่ฮ่องกงกำลังจะเข้าสู่ช่วงขาขึ้น และผู้คนก็มีแนวโน้มที่จะใช้เงินกันมากขึ้น อย่างน้อยๆก็มีการสำรวจพบว่าในช่วงตรุษจีนปีนี้ผู้คนประมาณร้อยละ 20 จะใส่เงินในซองอังเปามากกว่าปีก่อนๆ  จะใช้เงินทุ่มเรื่องไหนไม่ว่า แต่องค์กรเพื่อนโลกหรือ Friends of the Earth เขาเป็นห่วงว่าจะมีการใช้จ่ายเหลือเฟือไปกับอาหารงานเลี้ยงที่สุดท้ายก็ต้องเหลือทิ้งมากมายนี่สิ ว่าแล้วเขาจึงออกมารณรงค์ให้บรรดาผู้ที่จะไปเลี้ยงฉลองตรุษจีนปีนี้ลองสั่งอาหารหลักมาแค่ 6 จาน แทนที่จะเป็น 8 จาน เพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อเดิมดูบ้าง จะได้ไม่เหลือทิ้งมากนัก  Friends of the Earth ประเมินว่า โครงการ “สั่งน้อย เหลือน้อย” ที่ว่านี้ น่าจะช่วยลดขยะอาหารได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ข่าวบอกว่าปัจจุบันฮ่องกงมีขยะที่เกิดจากอาหารเหลือในแต่ละวันมากกว่า 3,000 ตัน  นอกจากรณรงค์กับคนทั่วไปแล้ว องค์กรนี้ยังขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานรัฐกว่า 80 แห่ง และบริษัทเอกชนอีก 50 แห่งให้ช่วยนำแนวคิด”งานเลี้ยงแบบพอเพียง” นี้ไปปฏิบัติกันด้วย  เริ่มจากการตรวจสอบจำนวนแขกให้แน่นอน จากนั้นสั่งอาหารให้ “พอดี” และที่สำคัญต้องไม่ลืมแจ้งแก่แขกผู้มีเกียรติ ให้ช่วยมี “กล่อง” ติดตัวมาด้วยเพื่อจะได้นำอาหารที่เหลือกลับไปทานที่บ้านได้โดยไม่ขัดเขิน   ทำไมต้องทิ้งกันด้วยเขาว่ากันว่าจะดูพฤติกรรมการบริโภคให้เข้าใจถ่องแท้ เราต้องไปดูกันที่ถังขยะ  เขาที่ว่านี้ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของเดนมาร์ก ที่นี่ก็ประสบปัญหาเรื่องขยะอาหารล้นประเทศเช่นกัน นักชีววิทยาและหัวหน้าทีมวิจัยขององค์กรนี้ประกาศว่าจะต้องชี้ชัดลงไปให้ได้ว่าพฤติกรรมการกินเหลือของคนเดนมาร์กนั้นเป็นอย่างไร เพื่อจะได้สะท้อนปัญหาและหาทางออก  จะไปถามคนเขาตรงๆ ก็คงจะไม่ได้อะไร อย่ากระนั้นเลย ไปหาคุ้ยเอาเองจากถังขยะดีกว่า และตามแผนวิจัยครั้งนี้ เขาจะต้องไม่มีการแจ้งบ้านเจ้าของถังขยะล่วงหน้า เพราะเกรงว่าผู้คนจะไม่กล้าทิ้งกันเต็มที่ ถ้ารู้ว่าจะมีคนมาเก็บขยะตัวเองไปศึกษา ตอนนี้เขากำลังประกาศหาบริษัทเอกชนเข้ามารับทำการเก็บ แยก และลงทะเบียนพร้อมถ่ายภาพขยะที่ควรค่าแก่การศึกษาเหล่านั้นไว้ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์ว่าแต่ข่าวเขาไม่ได้บอกว่าบรรดาข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ที่บังเอิญมาอยู่ในถังขยะด้วย มันจะได้รับการคุ้มครองอย่างไร   เสียงเรียก ... จากรถขยะฉลาดซื้อฉบับนี้เป็นยังไงนะ วนเวียนอยู่แต่เรื่องของขยะ ... แต่รับรองได้กว่าไม่มีกลิ่น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของเสียงล้วนๆ ที่ไต้หวันนั้นเขาไม่เหมือนบ้านเรา ที่วางถุงขยะไว้หน้าบ้านหรือริมทางเท้าเพื่อรอให้รถของเทศบาลมาเก็บไป เขาไม่อนุญาตให้วางถุงไว้แล้วไปไหนต่อไหนได้ตามใจชอบ ที่นั่นเจ้าของขยะจะต้องมาส่งขยะขึ้นรถด้วยตนเอง  บรรดาชาวบ้าน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนชาวแฟลต) จะรู้ตัวว่าต้องเตรียมหิ้วถุงขยะออกจากบ้านเมื่อพวกเขาได้ยินเสียงเพลงคลาสสิค ของบีโธเฟ่นมาแต่ไกล แต่ด้วยเหตุใดไม่ทราบทางเทศบาลเขาเปลี่ยนเพลงซึ่งใช้มาเป็นเวลาหลายปีเป็นเพลงแบบมีเนื้อร้องที่เกี่ยวกับการทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทางแทน  ผลก็คือชาวบ้านปรับตัวกันไม่ทัน ไม่ค่อยได้ยินเสียงรถที่วิ่งมา เลยทำให้พลาดโอกาสทิ้งขยะ มีบ้างที่ฟกช้ำดำเขียวเพราะวิ่งตามรถขยะแล้วพลาดล้ม จึงเรียกร้องให้เทศบาลกลับไปใช้เพลงเดิม  รถขยะในเมืองไทเปนั้นจัดว่าเป็นรถสารพัดประโยชน์จริงๆ บางครั้งผู้คนที่เอาขยะมาทิ้งก็จะได้หัดพูดภาษาอังกฤษไปด้วย เพราะเทศบาลเขาจัดมาให้เล่นเทปสอนประโยคภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานจำนวน 300 ประโยค แต่จุดขายของรถเหล่านี้ไม่ใช่แค่เสียงเท่านั้น ล่าสุดยังพ่วงตำแหน่งเมสเซ็นเจอร์ ทำหน้าที่ส่งเอกสารระหว่างหน่วยงานในสังกัดของเทศบาลไทนานด้วย เจ้าหน้าที่เขาบอกว่าแต่ละวันมีเอกสารกว่า 100 ชิ้นที่ต้องจัดส่ง เรียกว่าช่วยให้เขาประหยัดเงินได้ปีละประมาณ 6 ล้านบาททีเดียว   อสังหาเบอร์ห้าตั้งแต่มกราคมปีนี้เป็นต้นไป โฆษณาบ้าน คอนโด หรือสำนักงานในฝรั่งเศสจะใช้แค่ระดับความหรูเริ่ดอลังการ หรือความสะดวกในการเดินทางมาเป็นจุดขายอย่างเดียวไม่ได้แล้ว  เพราะรัฐเขากำหนดให้โฆษณาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดมีการแจ้งระดับเรทติ้งการประหยัดพลังงานด้วย เจ้าเรทติ้งที่ว่านี้มีตั้งแต่ระดับ A ไปจนถึง G  โดยเรทติ้ง A นั้นจัดเป็นสุดยอดอาคาร ที่ผู้สร้างจัดเต็มตามมาตรฐานการประหยัดพลังงาน รายงานข่าวบอกว่าปัจจุบันร้อยละ 19 ของอาคารที่อยู่อาศัยในฝรั่งเศสได้เรท C  ร้อยละ 31  ได้เรท D และร้อยละ 22 ได้เรท E ปัจจัยที่นำมาประเมินเพื่อจัดเรทติ้งของอาคารก็ได้แก่ อัตราการใช้พลังงาน ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยเฉลี่ย และปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา  ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างอาคารจะเป็นผู้ตรวจสอบ ก่อนที่องค์กร COFRAC จะเป็นผู้ให้การรับรอง  ความจริงแล้วฝรั่งเศสได้ผลักดันเรื่องนี้มานานพอสมควร เขาบอกว่าร้อยละ 46 ของพลังงานที่ใช้ในประเทศนั้นเป็นพลังงานที่ใช้โดยอาคารที่อยู่อาศัยและสำนักงานเพื่อปรับอุณหภูมิให้ผู้คนอยู่ได้อย่างอุ่นสบายนั่นเอง และอาคารเหล่านี้ก็เป็นตัวการในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ของประเทศด้วย เริ่มจากปี 2006 รัฐกำหนดให้บ้าน ร้าน หรืออาคารสำนักงาน ที่กำลังจะเปลี่ยนเจ้าของจะต้องได้รับการประเมินระดับการใช้พลังงานก่อน หนึ่งปีต่อมาก็กำหนดให้มีใบรับรองระดับการใช้พลังงานเพื่อประกอบกับสัญญาซื้อขาย หรือสัญญาเช่าด้วย และล่าสุดก็คือการกำหนดให้มีการแสดงเรทติ้งด้านพลังงานของอาคารไว้ในโฆษณาด้วยนี่แหละ ... น่าอิจฉา ผู้บริโภคชาวฝรั่งเศสจัง สมอ. บ้านเราสนใจจะมีตรารับรองบ้านประหยัดไฟเบอร์ 5 กับเขาบ้างหรือเปล่าหนอ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 กระแสต่างแดน

ถ้าจะรับ ช่วยขยับมาอีกนิดไปรษณีย์เดนมาร์คเขาบอกว่าเดี๋ยวนี้ปริมาณจดหมายที่จะต้องจัดส่งน้อยลงอย่างฮวบฮาบ แล้วจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้ไปต่อในโลกที่ใครๆก็ใช้แต่จดหมายอิเลคทรอนิกส์ หรือไม่ก็บีบีหากันแทบจะทุกนาทีอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้กิจการเขาก็ดีอยู่ สถิติบอกว่า ในปีค.ศ. 1999 ชาวแดนิชเขาส่งจดหมายกันคนละ 272 ฉบับ  อีก 10 ปีต่อมา จำนวนจดหมายลดลงเหลือ 181 ฉบับต่อคนต่อปี เขาคาดว่ากว่าจะถึงปีค.ศ.  2019 ตัวเลขนี้ก็จะลดลงเหลือง เพียง 70 เท่านั้น (นี่น้อยของเขาแล้วนะ) คิดไปคิดมา Post Denmark ก็ตัดสินใจขึ้นค่าธรรมเนียมการส่งจดหมายเสียเลย จากเดิมที่เคยคิดค่าส่งจดหมายธรรมดาฉบับละ 5.5 โครเนอร์ (ประมาณ 30 บาท) ก็ขึ้นเป็น 8 โครเนอร์ (ประมาณ 44 บาท)  ข่าวว่ามาตรการอัพราคานี้จะทำให้ Post Denmark มีรายได้เพิ่มขึ้น 100 ล้านโครเนอร์ ยังมีเด็ดกว่านั้น เขาตั้งเป้าจะลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งด้วยการขอความร่วมมือจากประชากรกว่า 100 ครัวเรือน ให้ย้ายกล่องรับจดหมายจากหน้าประตูบ้านตนเองออกมาให้ใกล้ถนนให้มากที่สุดด้วย ... นะ ช่วยๆกัน   รับบริการตรวจความดันเพิ่มไหมครับ ต่อไปคุณผู้ชายที่ไปใช้บริการร้านตัดผมในรัฐเท็กซัส อเมริกา ก็อาจจะได้รับบริการเสริมเป็นการตรวจวัดความดันให้ด้วยทั้งนี้เพราะมีผลการวิจัยออกมาแล้วว่าถ้าทางร้านตัดผมเสนอบริการดังกล่าวให้ทุกครั้งที่ลูกค้าเข้าไปตัดผม จะทำให้ลูกค้าชายเหล่านั้นมีแนวโน้มในการไปพบแพทย์เพื่อจัดการกับปัญหาความดันโลหิตสูงมากขึ้น และทำให้คนเหล่านั้นให้กลับมามีความดันระดับปกติในที่สุด งานวิจัยที่ลงพิมพ์ในวารสารวิชาการ Archives of Internal Medicine เขาทดลองให้ร้านตัดผม 17 ร้าน ในรัฐเท็กซัสในเขตดัลลัส เคาน์ตี้ ซึ่งเป็นเขตที่มีผู้อยู่อาศัยเป็นอเมริกันชนผิวสี ลองเสนอบริการเสริมที่ว่านั้น โดยแยกการบริการออกเป็นสองระดับ ร้านกลุ่มแรก (8 ร้าน) แจกแผ่นพับให้ความรู้กับลูกค้าที่มีความดันโลหิตสูงเกินปกติ ร้านกลุ่มที่สอง (อีก 9 ร้านที่เหลือ) ทั้งแจกแผ่นพับและตรวจวัดความดันให้ลูกค้าทุกครั้งที่มาใช้บริการ พร้อมกับให้ช่างผมคะยั้นคะยอให้ลูกค้าไปพบแพทย์ ข่าวบอกว่าถ้าลูกค้ามีผลการตรวจจากแพทย์มาแสดง ก็จะได้ตัดผมฟรีอีกด้วย ผลปรากฏว่า ลูกค้าร้านตัดผมเกินกว่าครึ่งหนึ่งสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตของตนเองได้ ทั้งนี้มีลูกค้าถึงร้อยละ 20 ในกลุ่มที่ได้รับบริการตรวจเช็คความดันทุกครั้งที่ไปใช้บริการในช่วงเวลา 2 ปี กลับมามีความดันโลหิตในระดับปกติด้วย ... เป็นบริการเสริม (สุขภาพ) ที่เข้าท่าดีเหมือนกันนะนี่   คูปองลดความอ้วน สมาชิกที่ติดตามช่วงกระแสต่างแดน คงจำกันได้ว่าเมืองนิวยอร์กนั้นเขาช่างมุ่งมั่นสร้างสุขภาพให้ชาวเมืองอยู่เนืองๆ คราวนี้นายกเทศมนตรีนายไมเคิล บลูมเบิร์ก สร้างกระแสอีกครั้งด้วยการเสนอให้มีการตั้งกฎห้ามใช้คูปองอาหารเพื่อแลกซื้อน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มผสมน้ำตาลชนิดอื่นๆ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน คูปองดังกล่าวซึ่งแจกให้กับผู้มีรายได้น้อย เช่น ผู้อพยพ ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการฯ ก็ไม่สามารถใช้แลกซื้อบุหรี่ เครื่องดื่มอัลกอฮอล์ หรืออาหารสำเร็จรูปได้ เขาว่าเจตนาของมาตรการดังกล่าวคือการลดจำนวนผู้เป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานในเมืองนิวยอร์ก แต่หลายคนมองว่ามันเป็นการกล่าวหาผู้มีรายได้น้อยว่าพวกเขาเลือกซื้ออาหารไม่เป็น บางคนเสนอว่าแค่จัดโปรแกรมให้ความรู้เรื่องโทษของการดื่มน้ำอัดลมก็น่าจะเพียงพอ บลูมเบิร์กบอกว่าขอทดลองห้ามสักสองปีก่อน เพื่อดูว่าจำนวนผู้ป่วยเบาหวานจะลดลงหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ก็อาจจะห้ามตลอดไป เครื่องดื่มที่อยู่ในข่ายถูกห้ามซื้อด้วยคูปองได้แก่ เครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูงกว่า 10 คาลอรี่ต่อ 8 ออนซ์ ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการรับรองจากรัฐนิวยอร์กแล้วและกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกระทรวงเกษตร ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องคูปองอาหารของอเมริกา คุณบลูมเบิร์กแกคงต้องลุ้นตัวโก่ง เพราะเมื่อปีค.ศ. 2004 กระทรวงเกษตรเคยปฏิเสธข้อเสนอของรัฐมินิโซตา ที่ต้องการให้ห้ามนำคูปองดังกล่าวไปซื้ออาหารขยะมาแล้ว เหตุที่เมืองนี้เขาจริงจังกันมากเรื่องการลดน้ำตาลก็เพราะมีสถิติอย่างเป็นทางการว่า 1 ใน 8 ของผู้ใหญ่ที่นั่นเป็นโรคเบาหวาน และเกือบร้อยละ 40 ของนักเรียนโรงเรียนรัฐบาลในระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่สอง มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน และอัตราการเป็นโรคอ้วนในย่านที่ผู้อยู่อาศัยมีรายได้น้อยนั้นจะสูงกว่า ในขณะเดียวกันก็พบว่าอัตราการบริโภคเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลในเขตรายได้ต่ำนั้นจะสูงกว่าด้วย เทศบาลเมืองนิวยอร์กเคยเสนอให้มีการเก็บภาษีจากน้ำอัดลมมาแล้ว แต่ก็ถูกแรงต้านจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและบรรดาร้านขายของชำไม่น้อย โฆษกสมาคมเครื่องดื่มแห่งอเมริกาออกมาโต้ตอบข้อเสนอของนายกเทศมนตรีว่า “นี่เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลพยายามจะเข้ามากำหนดว่าคนนิวยอร์กจะดื่มจะกินอะไร” ก็... นะ สำนักอนามัยเขาประเมินไว้ว่าการดื่มน้ำอัดลมปริมาณ 12 ออนซ์ซึ่งให้พลังงานสูงถึง 150 คาลอรี่ ทุกวัน จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นปีละ 15 ปอนด์  ซึ่งก็ไม่น่าจะใช้สิ่งที่คนนิวยอร์กต้องการอยู่แล้ว   ฉลากใหม่ลดขยะ ญี่ปุ่นเขาก็มีปัญหาเรื่องฉลากกับเขาเหมือนกัน แต่รู้สึกว่าจะเป็นคนละแนวกับบ้านเรา เคยเห็นแต่ปัญหาอาหารหมดอายุแล้วยังวางขายอยู่ แต่ที่นี่บรรดาร้านค้าปลีกเขารีบเก็บอาหารสำเร็จรูปออกจากชั้นก่อนจะถึงวันหมดอายุจริง ซึ่งทำให้อาหารที่ยังรับประทานได้อยู่ต้องกลายเป็นขยะไปโดยไม่จำเป็น  องค์กรผู้บริโภคของญี่ปุ่นเลยต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อลดปริมาณขยะจากอาหารสำเร็จรูปซึ่งกระทรวงเกษตรของญี่ปุ่นประเมินไว้ว่ามีปริมาณ 5 ล้าน ถึง 9 ล้านตันต่อปี  ว่าแล้วก็เสนอให้รัฐบาลออกคำแนะนำเรื่องการติดฉลากอาหารพวกนี้ ก่อนที่จะประกาศใช้มาตรการติดฉลากแบบแจ้งเวลาที่เหมาะที่สุดในการรับประทาน (best-by date) โดยให้ผู้ผลิตอาหารเพิ่มข้อความเพื่อแจ้งผู้บริโภคว่าอาหารเหล่านั้นยังสามารถรับประทานได้แม้จะผ่านช่วงเวลา “ที่ดีที่สุด” ไปแล้วก็ตาม  ข่าวบอกว่าระบบฉลากที่แสดง best-by date นั้นจะเริ่มใช้ในเดือนมีนาคมปีหน้า ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นยังใช้ระบบฉลากที่แสดงว่าควรบริโภคก่อนวันที่เท่าไร (use-by date) แต่ก็อย่างที่บอกไป บรรดาร้านค้าต่างก็ไม่ยอมเสี่ยงขายอาหารสำเร็จรูปที่เก็บไว้เกินหนึ่งในสามของเวลาระหว่างวันผลิตจนถึงวันหมดอายุ เรียกว่าเสียของข้าไม่ว่า ... เสียหน้าข้ายอมไม่ได้   ดูไบเข้มงานคุ้มครองผู้บริโภคฉลาดซื้อขอพาคุณผู้อ่านไปเยือนรัฐดูไบ ของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กันบ้าง ทุกท่านคงทราบอยู่แล้วว่าที่นั่นมีแต่ของแพง ของมีระดับ คราวนี้ดูไบบอกว่าเขาต้องการสร้างชื่อในการเป็นแหล่งช็อปปิ้งและท่องเที่ยวระดับเวิร์ลด์คลาสด้วยการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ว่าแล้วก็เริ่มจากการกำหนดให้ร้านค้าต่างๆ ติดประกาศแจ้งสิทธิของผู้บริโภคบริเวณหลังเคานท์เตอร์คิดเงิน ให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ขนาดตัวอักษรนั้นเขาก็กำหนดไว้ทางอ้อมด้วยการทำประกาศสำเร็จรูปไว้ให้ร้านต่างๆเข้าไปดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของหน่วยงาน แล้วสั่งพริ๊นท์บนกระดาษขนาด A4 เป็นอย่างต่ำ ใครอยากพิมพ์เองให้สวยกว่านั้น เขาก็ระบุไว้ว่าขนาดตัวอักษรต้องไม่เล็กไปกว่าฉบับที่เตรียมไว้สำเร็จรูปนั้นแล นอกจากนี้ยังต้องแจ้งให้ทราบด้วยว่าถ้าผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ จะต้องติดต่อที่ไหน อย่างไร ข่าวบอกว่าเขาจะมีผู้ตรวจการจากส่วนงานคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ มาคอยสอดส่องดูแล ใครไม่ติดประกาศที่ว่า ก็จะถูกตักเตือนหนึ่งครั้ง เตือนแล้วยังไม่ติดก็จะต้องเสียค่าปรับประมาณ 81,000 บาท หรืออาจจะถูกสั่งปิดร้านชั่วคราวไปเลย การแจ้งให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงสิทธิของตนเองนั้นครอบคลุมไปถึงธุรกิจอื่นๆ อย่างอสังหาริมทรัพย์ หรือบริการการเงินการธนาคารด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 กระแสต่างแดน

มือถือรุ่นสกัดบริการเสริมปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมบริการเสริมในโทรศัพท์มือถือนี่ไม่ใช่มีแต่ในเมืองไทยกันนะพี่น้อง ผู้บริโภคชาวออสซี่เขาก็สุดทนกับรายจ่ายอันไม่คาดฝันที่โผล่มาพร้อมบิลค่าบริการโทรศัพท์มือถือเหมือนกันล่าสุดทางการเขาก็คิดทางเลือกกันขึ้นมาสองทาง หนึ่งคือออกข้อบังคับให้เครื่องรับโทรศัพท์ทุกเครื่องถูกตั้งมาให้ไม่สามารถรับบริการเสริม (ที่คิดเงินเพิ่ม) จนกว่าเจ้าของจะไปแจ้งว่าตนเองต้องการใช้บริการดังกล่าว หรืออย่างที่สอง คือ ไม่ต้องไปทำอะไรกับเครื่องโทรศัพท์ แต่ให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายแจ้งมาเองถ้าต้องการให้เครื่องรับของตนเองบล็อกบริการสิ้นเปลืองดังกล่าวท้ายสุดคณะกรรมาธิการการแข่งขันและคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (Australian Competition and Consumer Commission: ACCC) เห็นด้วยอย่างยิ่งกับทางเลือกที่หนึ่งที่จะมีโทรศัพท์ชนิดที่ “ไม่รับ” บริการเสริมออกมาจำหน่าย และถ้าผู้บริโภคสนใจบริการเสริมใดๆ ก็โทรไปแจ้งขอเปิดรับบริการ ซึ่งจะดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ปกครองที่ต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายและการเข้าถึงสื่อของลูกๆACCC ฟันธงแล้วว่าจะนำเสนอรูปแบบนี้ต่อคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ในขณะที่วิจารณ์ว่าทางเลือกที่สองนั้นค่อนข้างจะอ่อนไปหน่อย เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจไม่รู้ว่าพวกเขาสามารถโทรไปขอให้มีการบล็อคโทรศัพท์ได้   เมื่อขยะเดินทางไกลปัจจุบันขยะอิเล็กทรอนิกส์ในยุโรปนิยมเดินทางไปต่างประเทศกันมากขึ้น ทำให้ธุรกิจขนส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปยังปลายทางอย่าง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย หรืออัฟริกา นั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเหตุที่ขยะเหล่านั้นต้องเดินทางกันมากขึ้นก็เพราะกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้นของยุโรปนั่นเอง ตั้งแต่การรีไซเคิลหรือการกำจัดอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นภาคบังคับ การเก็บภาษีการเผาขยะ (ซึ่งแพงมากๆ) ไปจนถึงการห้ามเด็ดขาดเรื่องการเอาขยะไปถมที่ยกตัวอย่างเช่น การเผาขยะในเนเธอร์แลนด์นั้น แพงกว่าการส่งขยะลงเรือไปประเทศจีนถึง 4 เท่า นี่คิดเทียบกับการส่งออกขยะแบบถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ความจริงแล้วสามารถถูกลงกว่านั้นได้อีกถ้าเป็นการดำเนินการแบบใต้ดิน (หรือจะเรียกว่าใต้น้ำดี) ที่คุณสามารถส่งขยะของคุณไปยังประเทศอันห่างไกลแล้วทำให้มันสาบสูญไร้ร่องรอยไปโดยไม่ต้องใช้ทุนมากข่าวบอกว่าในบรรดาขยะที่ส่งออกไปจากยุโรปนั้น มีถึงร้อยละ 16 ที่เป็นการส่งไปแบบผิดกฎหมาย แต่ขยะที่ไม่มีทั้งพาสปอร์ตและวีซ่าเหล่านี้สามารถผ่านออกไปได้ฉลุยเพราะท่าเรือส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้มงวดกับสินค้าที่ส่งออกมากเท่ากับสินค้านำเข้า ที่สำคัญยังมีเรือที่นำเสื้อผ้าราคาถูกเข้ามาส่งในยุโรปแล้วไม่อยากกลับบ้านเรือเปล่าอีกจำนวนไม่น้อยด้วยปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในยุโรปนั้นลดลงมากกว่าครึ่งจากที่คาดการณ์ไว้ แต่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรป (European Environment Agency) บอกว่า ดูท่าแล้วคงจะลดลงเพราะถูกลักลอบส่งออกไปมากกว่าปัจจุบันท่าเรือร็อตเตอร์ดัม ซึ่งเป็นท่าเรือที่จอแจที่สุดในยุโรป ทำหน้าที่เป็นชุมทางเรือบรรทุกขยะไปโดยปริยาย ขยะกระดาษ พลาสติก หรือโลหะจากยุโรปจะถูกส่งไปยังประเทศจีน ในขณะที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์จะไปที่ปลายทางในอัฟริกาที่ กาน่า อียิปต์ และไนจีเรียณ ประเทศปลายทางของเรือที่ออกจากท่านี้จะมีเด็กๆ คอยทำหน้าที่แยกชิ้นส่วนต่างๆ (ซึ่งเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะมีสารพิษ) ที่สามารถนำกลับไปใช้ได้ ส่วนขยะอีกจำนวนหนึ่ง (ที่กฏหมายยุโรประบุว่า ต้องนำไปรีไซเคิล) ก็จะถูกเผาหรือปล่อยไว้ให้ผุพังไปตามอัธยาศัยที่ท่าเรือร็อตเตอร์ดัมนั้นมีการใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์ และการวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อหาตู้สินค้าน่าสงสัยและจัดการปรับผู้กระทำผิด และส่งขยะเหล่านั้นกลับไปยังประเทศต้นตอ แต่ฝ่ายที่แอบส่งขยะไปประเทศที่สามอย่างผิดกฎหมายนี้มองว่าค่าปรับแค่ 22,000 เหรียญ (เจ็ดแสนกว่าบาท) นั้นถือว่าคุ้มมาก ซึ่งยังถือว่าเป็นอัตราที่ผู้ลักลอบส่งขยะเหล่านั้นมองว่าน่าเสี่ยงไปไม่พ้น จีเอ็มโอผู้บริโภคทั่วโลกนั้นชัดเจนมานานแล้วว่าไม่ต้องการอาหารที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรม แต่ดูเหมือนว่า แม้ในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ปฏิเสธอาหารดัดแปรพันธุกรรมอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างประเทศอังกฤษก็กำลังเผชิญกับปัญหา หนีไม่พ้นจีเอ็มโอปัจจุบันสองในสามของถั่วเหลือง 2.6 ล้านตันที่อังกฤษนำเข้านั้น เป็นถั่วเหลืองที่ดัดแปรพันธุกรรมที่ส่วนใหญ่ส่งมาจากประเทศในทวีปอเมริกาและระบุว่าใช้เพื่อเป็นอาหารสัตว์ นอกจากนี้น้ำมันจากถั่วเหลืองที่ดัดแปรพันธุกรรม ก็ใช้กันแพร่หลายในธุรกิจอาหารในประเทศด้วยเมื่อดูจากปริมาณการนำเข้าแล้วก็ดูจะเชื่อได้ยากเหลือเกินว่าอาหารที่วางขายอยู่ทั่วไปในอังกฤษนั้นจะปลอดจากพืชดัดแปรพันธุกรรม และการตรวจสอบต้นตอที่มาของมันก็ยากขึ้นทุกที เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าถ้านำอาหารพวกนั้นไปตรวจก็มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะพบพืชดัดแปรพันธุกรรมเป็นส่วนผสมปัญหาอีกอย่างหนึ่งของพืชพันธุ์จีเอ็มโอก็คือ การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ จะว่าไปแล้ว อำนาจของธุรกิจในการควบคุมเมล็ดพันธุ์เพื่อการค้าและการผลิตสารเคมีการเกษตรไม่เคยมากเท่านี้มาก่อน ปัจจุบันร้อยละ 82 ของเมล็ดพันธุ์ในตลาดโลกเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ “มีเจ้าของ” ที่สำคัญเกือบครึ่งหนึ่งของเมล็ดพันธุ์อันมีลิขสิทธิ์ในตลาดโลกซึ่งมีมูลค่าถึง 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น ถูกยึดครองโดยสามบริษัทใหญ่ ได้แก่ มอนซานโต และดูปองท์ จากสหรัฐฯ และ ซินเจนต้าจากสวิตเซอร์แลนด์ เท่านั้นและสามบริษัทที่กล่าวมารวมกับ Bayer BASF และ DowAgro Sciences ก็ครองตลาดสารเคมีการเกษตรไปถึง 3 ใน 4 ของโลกแล้วเช่นกัน เอาอะไรมาแลก ก็ไม่ยอมสองในสามของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ไม่เห็นด้วยกับการถูกบริษัทโฆษณาเฝ้าติดตามพฤติกรรมออนไลน์ แม้ว่ามันจะหมายถึงการได้คูปองส่วนลดหรือการได้รับข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ตนเองสนใจก่อนใครโดยอัตโนมัติก็ตามการสำรวจครั้งนี้พบว่าร้อยละ 66 ของผู้ตอบคำถาม (ซึ่งได้แก่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ท ที่อยู่ในวัยระหว่าง 18 ถึง 24 ปี ทั้งหมด 1,000 คน) ไม่เห็นด้วยกับการที่บริษัทต่างๆ ส่งโฆษณามาให้ โดยอ้างอิงจากพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ทในการหาข้อมูลของตนเองก่อนหน้านั้น และเมื่อได้ทราบถึงวิธีการต่างๆ ที่เว็บไซต์ใช้ในการติดตามเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง ทั้งทางออนไลน์ และออฟไลน์ (เช่น ณ จุดขาย) อัตราส่วนของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ทเหล่านี้ ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเรื่องนี้ค้านกับข้อสรุปของนักการตลาดที่ทึกทักเอาว่าการติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคทางอินเตอร์เน็ทเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ต้องเกรงใจ เพราะบรรดาวัยรุ่นใน Facebook นั้นไม่มีปัญหากับการเปิดเผยข้อมูลของตนเองให้คนทั่วไปได้รับรู้แต่อย่างใด และโฆษณานี่แหละคือสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถหาข้อมูลได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายประมาณร้อยละ 70 ของผู้ตอบบอกว่าเห็นด้วยกับการมีกฎหมายที่ให้สิทธิกับผู้ใช้อินเตอร์เน็ทได้รับรู้ว่าเว็บไซต์รู้อะไรเกี่ยวกับพวกเขาบ้าง ในขณะที่มีเสียงอีกท่วมท้น (มากกว่าร้อยละ 90) บอกว่าน่าจะมีกฎหมายที่ระบุให้ทางเว็บไซต์ลบข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งทันทีที่ได้รับการร้องขอที่สำคัญการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามน้อยกว่าครึ่งที่เข้าใจถูกต้องว่าถึงแม้เว็บไซต์จะมีสิ่งที่เรียกว่า “นโยบายเรื่องความเป็นส่วนตัว” แต่ก็ยังสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลของเว็บตัวเองกับบริษัทอื่นๆ ได้อยู่ดี 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดนศศิวรรณ ปริญญาตร วัยรุ่นร้ายกว่ายุง?สวนสาธารณะในโตเกียวกำลังกำลังประสบปัญหาน่ากลุ้ม จากแกงค์วัยรุ่นที่ออกก่อกวนทำลายทรัพย์สินสาธารณะและสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับคนที่อาศัยอยู่ใกล้สวนเหล่านั้น เช่นสวนสาธารณะคิตาชิตาฮามา ในเขตอาดาจิทางเหนือของกรุงโตเกียว นั้นต้องพบกับการถูกวัยรุ่นที่คึกคะนองทำลาย ไม่ว่าจะซ่อมแซมใหม่สักกี่ครั้งก็ยังจะกลับมาทำลายซ้ำได้อีก แม้ว่าทางสวนจะแก้ปัญหาด้วยการจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาดูแลแล้วก็ตาม สุดท้ายทางเขตเลยตัดสินใจไปปรึกษาบริษัทจากอังกฤษที่เคยประดิษฐ์อุปกรณ์ไว้ป้องกันการจับกลุ่มเฮฮาของตามหน้าห้างสรรพสินค้ามาแล้ว แล้วก็ได้อุปกรณ์ Mosquito MK4 Anti-vandal system มาทดลองใช้ ฟังจากชื่ออาจเหมือนกับอุปกรณ์ไล่ยุงแต่ความจริงแล้วเขาทำขึ้นมาเพื่อปราบเด็กเฮี้ยนโดยเฉพาะ โดยเจ้าอุปกรณ์ที่ว่าซึ่งมีหน้าตาคล้ายสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาด 10 เซนติเมตร จะปล่อยเสียงความถี่สูงขนาด 17 เมกะเฮิร์ทซ์ (ที่ว่ากันว่าจะมีแต่คนที่อายุต่ำกว่า 25 ปีเท่านั้นที่จะได้ยิน) ออกมาทุกวันในช่วงเวลาระหว่างเวลา 5 ทุ่มถึงตี 5 ด้วยระยะการทำงานของคลื่นเสียงที่ครอบคลุมพื้นที่ 40 เมตรทางสวนดังกล่าวหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กเหล่านี้จะไม่มาจับกลุ่มเฮฮา เตะนี่ ทุบนั่น หรือแม้แต่จุดประทัดเล่นกันกลางดึกอีกต่อไป ยากูซ่าขาลงสมาชิกยากูซ่าตัวจริงทุกวันนี้ดูไม่น่าเกรงขามเหมือนในภาพยนตร์ที่เราเห็นอีกต่อไปแล้ว เรื่องนี้ข่าวจากหนังสือพิมพ์เจแปนไทม์ เขายืนยันมาปลายปีที่แล้วมีชายวัย 61 ปีถูกตำรวจจับข้อหารีดไถคุณแม่บ้านด้วยการขายของแล้วทอนเงินไม่ครบ เรื่องนี้ถ้าเป็นกรณีทั่วไปก็ไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่ชายคนดังกล่าวเป็นสมุนยากูซ่า ซึ่งตามมาตรฐานยากูซ่าแล้วการหาเงินด้วยวิธีดังกล่าวออกจะน่าขำอยู่บ้างแต่นั่นเป็นแค่ตัวอย่างเดียว ข่าวเขาบอกว่ายากูซ่าทุกวันนี้รับแทบจะทุกงานที่ได้เงิน ตั้งแต่รับจ้างเข้าคิวซื้อตั๋วดูคอนเสิร์ต เป็นนายหน้าจัดหาภรรยาน้อย ช่วยหาลูกค้ามาเช่าบ้านหรือมาเที่ยวผับ และมีไม่น้อยที่เปลี่ยนไปหากินด้วยการขับแท็กซี่ในทางกลับกัน คนที่เป็นซาลารี่แมนหรือมนุษย์เงินเดือนกลับนิยมไปสมัครเป็นสมาชิกยากูซ่ามากขึ้น เพราะรายได้จากงานประจำนั้นไม่พอใช้ ซึ่งก็เข้าทางกันพอดี เพราะทางยากูซ่าก็หาคนรุ่นใหม่ๆ มาสืบทอดไม่ได้ ในขณะที่รุ่นเก่าก็อายุมากขึ้นกันทุกวัน ที่สำคัญมนุษย์เงินเดือนเหล่านี้มีรายได้ประจำมาเสียค่าสมาชิกอย่างสม่ำเสมอดีด้วย สรุปว่าการควบรวมกิจการระหว่างแก๊งค์ยากูซ่ากับซาลารี่แมน นี้เกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าเราควรดีใจหรือเสียใจดีนะนี่ เมื่ออาหารสุขภาพแย่กว่าอาหารขยะคุณพ่อคุณแม่ต้องเกิดอาการช็อคกันอีกครั้ง (หรืออาจจะชินแล้วก็ได้) เมื่อมีงานสำรวจที่พบว่า อาหารเสริมสำหรับเด็กนั้นมีน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวมากกว่าขนมปังกรอบรสช็อคโกแล็ต หรือชีสเบอร์เกอร์เสียอีก โครงการรณรงค์เพื่ออาหารสำหรับเด็ก Children’s Food Campaign ได้ทำการสำรวจอาหารสำหรับเด็กทารกและเด็กวัยหัดเดินจำนวน 100 ชนิดที่โฆษณาว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และพบว่ามีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของอังกฤษขนมปังกรอบ Toddler's Own Mini Cheese Biscuits ที่ผลิตโดยบริษัท Heinz นั้นมีไขมันอิ่มตัวถึงร้อยละ 7.3 ซึ่งมากกว่าในชีสเบอร์เกอร์ที่ที่มีไขมันดังกล่าวร้อยละ 6.7 หรือ เช่น Farley’s Original Rusk มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบถึง 29 กรัม (มากกว่าในขนมปังรสช็อคโกแล็ตเสียอีก)แล้วบริษัทผู้ผลิตเหล่านี้มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง ... บริษัท Cow and Gate ตัดสินใจเลิกผลิตขนมปังกรอบ ที่ถูกพบว่ามีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบไปเลย ในขณะที่บริษัท Heinz นั้นยังยืนยันว่า นี่เป็นของชอบของเด็กๆ มากว่า 120 ปี สูตรดั้งเดิมของเขาจริงๆ มีทั้งวิตามินและเกลือแร่มากมาย (เอ่อ ... แล้วก็น้ำตาลด้วย) กูเกิ้ลโดนห้ามถ่ายหลายคนคงรู้จักบริการของกูเกิ้ลที่ชื่อว่า สตรีทวิว ว่ากันว่ามันดีกว่าการดูแผนที่ธรรมดามากมายนัก เพราะคุณสามารถคลิกซูมเข้าไปบนตำแหน่งที่ต้องการแล้วคุณก็จะเห็นภาพสองข้างถนน ราวกับว่าคุณกำลังเดินอยู่บนถนนสายนั้นเลยทีเดียวแต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ เวลาที่กล้องหมุนได้ 360 องศาซึ่งติดอยู่บนหลังคารถของกูเกิ้ล เก็บภาพสองข้างถนนเข้าไป มันก็เก็บเอารูปคนที่เดินผ่านไปมาในย่านนั้นๆ ด้วย ถือเป็นการละเมิดสิทธิของคนเหล่านั้นเขาด้วยเช่นกันประเทศกรีกจึงตัดสินใจห้ามไม่ให้ยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิ้ล (ที่เคยประกาศไว้ว่าจะขยายบริการให้ครอบคลุมยุโรป) เข้าไปเก็บภาพด้วยสตรีทวิว ทางกูเกิ้ลต่อรองว่าจะทำจุดเบลอๆ ลงบนหน้าคนหรือทะเบียนรถให้ แต่หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการปกป้องข้อมูลข่าวสารได้ขอให้กูเกิ้ลตอบมาก่อนว่าจะเก็บภาพดังกล่าวไว้นานเท่าใด และจะแจ้งให้กับบุคคลในวิดีโอทราบด้วยวิธีใดว่าจะมีหน้าเขาอยู่ในนั้นเยอรมนีก็เป็นอีกประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับบริการดังกล่าว และจะยอมให้มีได้ก็ต่อเมื่อกูเกิ้ลสามารถพัฒนาเครื่องมือที่รับรองว่าจะไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวขึ้นมาได้ในกรณีของญี่ปุ่นนั้น กูเกิ้ลต้องถ่ายใหม่ทั้งหมดโดยลดระดับความสูงของกล้องลงมา เนื่องจากกล้องที่ติดอยู่กับรถนั้นอยู่ในระดับที่สูงเกินไปจนเห็นเข้าไปในรั้วบ้านได้ ระวัง คุณอาจจ่ายทิปโดยไม่จำเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้าไปรับประทานอาหารในร้านต่างๆ ในเมืองเบอร์ลิน อาจยังไม่รู้ตัวว่าจ่ายเงินเกินจริง ทั้งนี้ก็เพราะว่าเขาจะปั๊มข้อความอย่าง “ยังไม่รวมค่าบริการ” หรือ “ยังไม่รวมทิป” เพิ่มในใบเสร็จสำหรับลูกค้าที่ไม่ได้พูดภาษาเยอรมันนั่นเองซึ่งฟังดูก็ไม่น่าจะแปลก แต่ที่เยอรมนีนั้นเขามีกฎหมายควบคุมงานบริการโรงแรมและร้านอาหาร ที่ระบุว่า “ราคา” นั้นได้รวมเอาทั้งภาษีและค่าบริการเอาไว้หมดแล้ว โดยปกติแล้วสิ่งที่คนเยอรมันนิยมทำคือการจ่ายเงินแบบปัดเศษไป ไม่รับเงินทอน หรือไม่ก็เพิ่มให้อีกประมาณร้อยละ 10 จากค่าอาหารและเครื่องดื่ม แต่นี่เป็นความสมัครใจของลูกค้านะ สเตฟานี่ เฮคเคล โฆษกสมาคมผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหารแห่งเยอรมนีบอกว่า การเรียกร้องทิปจากลูกค้านั้นเป็นสิ่งที่ห้ามเด็ดขาดแต่เห็นได้ชัดว่ามีคนทำแล้วจริงๆ มีนักท่องเที่ยวจากฝรั่งเศสคนหนึ่ง เพิ่งมาเที่ยวได้สามวัน แกก็เจอกับใบเสร็จอย่างว่าเข้าไป 5 ใบ จากร้านอาหารต่างๆ กัน 5 ร้าน จนเขานึกว่าตัวเองตกข่าว และคิดเอาเองว่าสงสัยเยอรมนีคงจะเปลี่ยนกฎหมายไปใช้แบบอเมริกา ที่เป็นที่รู้กันว่าลูกค้าต้องให้ค่าบริการอย่างน้อยร้อยละ 15 นั่นเองทางเจ้าของร้านและบริกร ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวไม่ค่อยจะให้ทิปเลย เลยต้องใช้วิธีนี้แหละในขณะที่สหพันธ์ผู้บริโภคแห่งเยอรมนีบอกว่า อย่างนี้เขาเรียกปล้นกันกลางวันแสกๆ นะพี่น้อง แต่การท่องเที่ยวแห่งเยอรมนี บอกว่ายังไม่เห็นมีใครมาร้องเรียนอย่างเป็นทางการ แต่ก็เริ่มเป็นห่วงว่าเรื่องนี้อาจทำให้เบอร์ลินเสียภาพพจน์ในหมู่นักท่องเที่ยวอยู่เหมือนกัน เอาเป็นว่าเรารู้กันไว้ ก่อนไปเที่ยวเบอร์ลินแล้วกัน ว่าค่าบริการต่างๆ ที่นั่นความจริงเขารวมไว้หมดแล้ว ไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่มอีก

อ่านเพิ่มเติม >