ฉบับที่ 251 ซื้อขนมพายสตรอเบอรี่มาแต่มันขึ้นรา ทำไงดี?

        เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปี 2564 ที่ผ่านมาคงเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของใครหลายคน เพราะเป็นเดือนสุดท้ายของปีก่อนจะเริ่มขึ้นปีใหม่ แถมยังเป็นช่วงใกล้วันหยุดยาวหลายคนคงจะเตรียมออกเดินทางที่จะท่องเที่ยวช่วงกับครอบครัวกันแน่นอน เรื่องราวเสียงผู้บริโภคที่เราจะเล่าให้ฟังนี้เป็นเรื่องจากคุณน้ำตาล ที่ช่วงเดือนธันวาคมปี 2564 ที่ผ่านมามีโอกาสไปเที่ยวกับเพื่อนร่วมงาน ทริปไปท่องเที่ยวไหว้พระทำบุญก่อนขึ้นปีใหม่         คุณน้ำตาลโอเคมาทริปแบบนี้ดีถือว่าเอาฤกษ์เอาชัยก่อนเริ่มปีใหม่ เข้าวัดทำบุญเสียหน่อยเผื่อว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ดีของเธอ วันนัดชาวคณะนั่งรถแท๊กซี่ไปโดยมีจุดมุ่งหมายปลายทาง คือ วัดดังย่านเขตดุสิต วัดแรกทำบุญและให้อาหารปลามีความสุขมาก หลังจากนั้นชาวคณะเริ่มเดินเท้าไหว้พระวัดที่ 2 ซึ่งไม่ไกลจากวัดแรกมากนัก อย่างไรก็ตามอากาศที่ร้อนก็ทำให้การเดินเท้าแบบเดินไปเรื่อยๆ นั้นเหนื่อยเอาเรื่อง เลยเดินเข้าวัดที่ 2 และแวะร้านกาแฟเล็กๆ ภายในวัดเพื่อหากาแฟดื่มให้ชื่นใจ คุณน้ำตาลเดินดุมๆ เข้าไปในร้านกาแฟทันที แต่ดันเห็นน้ำอัดลมและขนมพายสตรอเบอรี่เลยเปลี่ยนใจ ไม่กินกาแฟแล้ว สั่งน้ำอัดลมและขนมพายดีกว่า เมื่อรับสินค้ามาแล้วนั่งดูดน้ำอัดลมอย่างชื่นใจ ขณะฉีกซองพายสตรอเบอรี่เธอดันเห็นอะไรเขียวๆ ดำๆ เป็นจุดๆ หน้าตาเหมือนกับราเลย เธอคิดว่าจะเป็นวิธีการตกแต่งหน้าพายแบบใหม่ก็ไม่น่าใช่ จึงยื่นให้พี่ที่ทำงานช่วยดู ทุกคนก็บอกว่ามันคือราแน่นอน คุณน้ำตาลจึงคิดว่าจะทำอย่างไรดี และแอบเสียดายเพราะอยากที่จะลองกินขนมพายสตรอเบอรี่ด้วย แต่ก็คิดว่าขนมทั้งหมดนั้นน่าจะมีปัญหาหมดอายุเหมือนกันทั้งหมดด้วยไหมแนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นคุณน้ำตาลได้เอาขนมไปเปลี่ยนกับทางร้านกาแฟทันทีที่เจอ ซึ่งทางร้านก็คืนเงินให้ทันที เพราะหากเปลี่ยนเป็นขนมชิ้นใหม่ ก็คือขนมล็อตเดียวกันและอาจจะขึ้นราอีกทางร้านจึงเลือกคืนเงินแทน พร้อมขอโทษขอโพยคุณน้ำตาล ซึ่งเธอก็ไม่ติดใจอะไรพร้อมรับเงินคืนจากทางร้าน  และขอให้เก็บสินค้าขนมพายสตรอเบอรี่ทั้งหมดออกจากชั้นวางขนมเพราะคิดว่า น่าจะหมดอายุเช่นเดียวกัน ซึ่งทางร้านยินดีจัดการปัญหาตามที่คุณน้ำตาลแนะนำ           ทั้งนี้ คุณน้ำตาลก็ได้มาเล่าประสบการณ์ที่เจอให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟัง เพื่อจะได้เป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคบางรายที่เจอกรณีแบบนี้ ผู้บริโภคมีสิทธิที่นำสินค้าไปเปลี่ยนและขอเงินคืนได้ทันที และอยากให้ผู้ประกอบการตรวจเช็คสินค้าเสมอก่อนจำหน่ายให้ผู้บริโภค เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 จับตาให้ดี ยุบไม่ยุบ สถานีรถไฟหัวลำโพง

        จำข่าวใหญ่ส่งท้ายปี “ปิดตำนานหัวลำโพง” กันได้ไหม ที่กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าจะย้ายรถไฟทุกขบวนที่เข้าออกสถานีหัวลำโพงไปเริ่มต้นใหม่ที่สถานีกลางบางซื่อ ต่อด้วยข่าวลือยุบสถานีหัวลำโพงทำเมกะโปรเจค ผุดห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ ตลอดจนตึกสูงเสียดฟ้าท่ามกลางชุมชนโดยรอบพื้นที่เดิม  พร้อมเหตุผลความจำเป็นที่ต้องให้รถไฟทุกขบวนไปใช้ที่สถานีกลางบางซื่อ ส่วนสถานีหัวลำโพงเดิมจะถูกแทนที่ด้วยการพัฒนาพื้นที่ใจกลางเมืองให้มีความทันสมัยเป็นประโยชน์ต่อคนทุกคน โดยที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความงดงามของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมให้คงอยู่         แต่แผนนี้กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด ทันทีที่กระแสข่าวโยกย้ายขบวนรถไฟไปสถานีกลางบางซื่อ พร้อมภาพสถานีหัวลำโพงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตออกมาสู่สายตาการรับรู้ของสังคมแล้ว นอกจากกลุ่มทุนที่เชียร์ให้สร้างแล้ว ก็แทบไม่มีใครออกมาสนับสนุนอีกเลย ขณะที่เสียงคัดค้านจากทุกสารทิศต่างพุ่งตรงไปที่กระทรวงคมนาคมโดยไม่ได้นัดหมาย พร้อมตั้งคำถามดังๆ ว่า ปิดหัวลำโพงนี้เพื่อการพัฒนาหรือผลักภาระให้ประชาชนกันแน่ โดยเฉพาะเสียงสะท้อนของผู้คนรากหญ้าจำนวนไม่น้อยในทุกกลุ่มวัยที่ยังจำเป็นต้องใช้รถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคมผ่านหัวลำโพงเข้าออกเมือง ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน ข้าราชการชั้นผู้น้อย พนักงานบริษัทเอกชน ตลอดจนพ่อค้าแม่ขายที่ต้องอาศัยรถไฟเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน         ที่ผ่านมาหากกลุ่มผู้ใช้บริการหลักต้องเดินทางจากรังสิตถึงหัวลำโพงด้วยรถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคมจะเสียค่าโดยสารเพียง 6 บาทเท่านั้น ถ้ากระทรวงคมนาคมยืนยันให้จอดส่งผู้โดยสารแค่ที่สถานีกลางบางซื่อ ผู้โดยสารที่จำเป็นต้องเดินทางเข้าหัวลำโพง ต้องต่อรถโดยสารประจำทางและจะต้องเสียค่าโดยสารและเวลาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือหากจะเลือกเดินทางเข้าเมืองที่หัวลำโพงด้วยรถไฟฟ้า MRT แม้ว่าจะสะดวกสบายขึ้น ค่าโดยสารจะเพิ่มขึ้นจาก 6 บาท เป็น 46 บาท หรือมากกว่าเดิมถึง 700% เลยทีเดียว         ไม่เพียงผู้ใช้บริการรถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคม เราไม่อาจมองข้ามชีวิตของประชาชนคนรายได้น้อยที่ต้องทำมาหากินรอบบริเวณสถานีหัวลำโพง ชีวิตพวกเขาเหล่านี้ต่างถูกนำเสนอผ่านสื่อทุกช่องทาง เพราะพวกเขาคือ คนที่เดือดร้อนที่สุด ถ้าสถานีหัวลำโพงถูกปิด         หนุนเสริมด้วยพลังของภาคประชาชน นักวิชาการ นักการเมือง และขาดไม่ได้เลย คือ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยที่ประกาศคัดค้านการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง เพราะจะทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน รวมถึงแผนการพัฒนาที่ดินสถานีรถไฟหัวลำโพงอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย         อาจเป็นไปได้ว่ากระทรวงคมนาคมคงคาดไม่ถึงว่าแผนที่ตระเตรียมมาอย่างดีนี้ จะถูกกระแสคัดค้านที่สะท้อนออกมารุนแรงและขยายวงกว้างจนเกินกว่าที่จะต้านทานไหว เพราะอย่าลืมว่าหัวลำโพงไม่ใช่หมอชิตที่ใครคิดจะทำอะไรก็ทำได้ แต่หัวลำโพงเป็นมากกว่าแค่สถานีรถไฟเก่า หัวลำโพงคือพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์และความทรงจำ หัวลำโพงยังเป็นพื้นที่แห่งชีวิตของคนหลายกลุ่มหลายเชื้อชาติ และหัวลำโพงคือรากเหง้าการคมนาคมที่ผูกพันผู้คนและชุมชนจากทั่วทุกสารทิศมานานกว่า 100 ปี         ดังนั้นเราจึงได้ข่าวจากกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางรางเจ้าภาพหลักว่า จะยอมถอยเปลี่ยนเกมส์เป็นคนกลางเปิดวงสาธารณะรับฟังความเห็นจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง และยืนยันว่าจะไม่มีการทุบและปิดสถานีหัวลำโพงแล้ว         อย่างไรก็ตามหลายคนที่ติดตามก็ยังไม่เชื่อเพราะข่าวการยุบสถานีรถไฟหัวลำโพงนั้น ภายนอกอาจจะถูกสื่อสารต่อสังคมให้เป็นเรื่องของการพัฒนาระบบคมนาคมทางรางเพื่อประโยชน์ของคนทั้งมวล รวมถึงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟหัวลำโพงให้มีความทันสมัยเป็นชุมทางเศรษฐกิจใหม่ สร้างรายได้ให้กับชุมชนรอบหัวลำโพงและแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง แต่เบื้องหลังก็เต็มไปด้วยภาพมายาผสมกับความเคลือบแคลงสงสัยถึงผลประโยชน์อันมหาศาลของกลุ่มทุน ที่จะมาทำให้สมดุลของพื้นที่กับชุมชนเปลี่ยนไป กลายเป็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำเหมือนเช่นหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครที่เปลี่ยนไปเมื่อความเจริญทางวัตถุเชิงพาณิชย์เข้ามาแทนที่         อีกทั้งกระทรวงคมนาคมยังแสดงออกถึงความต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปแผน ด้วยการยื้อเวลาหาทางออกแบบเนียน ๆ ว่าจะนำข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นไปปรับปรุงพัฒนา แต่เชื่อเถอะหากจะพัฒนาก็เป็นการพัฒนาแบบมีธงปักไว้แล้ว เพราะเมื่อปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อถูกสร้างเสร็จพร้อมใช้งาน และที่สำคัญสถานีกลางบางซื่อได้ถูกวางตัวให้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรางที่ใหญ่สุดในอาเซียนแล้ว เมื่อเป็นแบบนี้สถานีหัวลำโพงจึงแทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นศูนย์กลางชุมทางรถไฟแบบเดิมอีกต่อไป           ขณะนี้เมื่อกระทรวงคมนาคมยังยุบสถานีหัวลำโพงตามแผนไม่ได้ ขั้นตอนต่อจากนี้ก็ต้องลดบทบาทความสำคัญให้น้อยลง ด้วยการโยกย้ายขบวนรถไฟให้ออกเริ่มต้นทางที่สถานีกลางบางซื่อแทน ซึ่งอาจจะเริ่มขยับจากกลุ่มรถไฟทางไกลประเภทเชิงพาณิชย์ก่อน ส่วนกลุ่มรถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคม เชื่อว่ายังคงเป็นโจทย์ใหญ่ของกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในสังกัดที่ต้องคิดทบทวนให้ดี เพราะขึ้นชื่อว่าประเภทบริการสังคมที่ส่วนใหญ่คนใช้บริการคือคนรายได้น้อย ถ้ากระทรวงคมนาคมตัดสินใจผิดพลาด นอกจากจะไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นแล้ว แผนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางที่ตั้งเป้าหมายไว้ก็อาจจะล้มไม่เป็นท่า เพราะคิดผิดก้าวพลาดไปนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 สำรวจปริมาณโซเดียมในขนมขบเคี้ยวจากข้าวโพด

        ข้าวโพดมีรสหวานหอมอร่อย กินแล้วได้วิตามินเอ วิตามินบี แร่ธาตุ เส้นใยอาหาร และเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ช่วยบำรุงสายตา ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น รวมถึงป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้ เป็นต้น         แล้วขนมกรุบกรอบที่ทำจากข้าวโพดล่ะ กินแล้วยังได้ประโยชน์ไหม ?         ขนมข้าวโพดอบกรอบ ข้าวโพดทอดกรอบ และข้าวโพดคั่ว ในบรรจุภัณฑ์สีสันสดใส ที่มีหลากหลายรูปแบบและรสชาติให้เลือกละลานตา เป็นหนึ่งในขนมขบเคี้ยวยอดนิยมที่หลายคนชื่นชอบโดยเฉพาะเด็กๆ ที่ติดใจในกลิ่นหอมของข้าวโพด สัมผัสกรุบกรอบจากกระบวนการขึ้นรูปหรือแปรรูปขนม และรสชาติหวาน มัน เค็ม ติดปาก ชวนให้เคี้ยวเพลินจนหมดห่อแบบไม่รู้ตัว โดยไม่ทันเอะใจว่า ขนมที่กินเล่นอร่อยๆ นี้ มักเคลือบด้วยสารปรุงแต่งรสชาติต่างๆ ที่มีโซเดียมในรูปสารประกอบ ซึ่งหากกินบ่อยๆ กินมากครั้งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้         ทางสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ได้สุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยว จำนวน 400 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจปริมาณโซเดียมที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์ สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจเลือกเพื่อเลี่ยงสินค้าที่มีโซเดียมสูง โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ต้องเลือกขนมให้เด็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของขนมประเภทนี้               ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ชุดนี้ โดยฉบับนี้เลือกขนมขบเคี้ยวที่ใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบ ที่สมาคมเพื่อนโรคไตฯ สุ่มสำรวจจำนวน 20 ตัวอย่าง 15 ยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจากร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ผลการสำรวจฉลากดูปริมาณโซเดียมในกลุ่มขนมขบเคี้ยว ประเภทข้าวโพด        -ขนมจากข้าวโพดทั้งหมด 20 ตัวอย่างนี้ มีราคาขายห่อละ 15 – 29 บาท และมีน้ำหนักสุทธิ 35 - 75 กรัม         -เมื่อดูปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคบนฉลากพบว่า ยี่ห้อเซเว่นซีเล็ค ข้าวโพดอบกรอบ รสชีสมีโซเดียมสูงที่สุดคือ 390 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 25 มิลลิกรัม        -เมื่อดูขนาดบริโภคหรือปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก พบว่า ยี่ห้อโคบุค ขนมข้าวโพดกรอบ รสซุปข้าวโพด และยี่ห้อคอร์นพัฟฟ์ ข้าวโพดอบกรอบ รสดั้งเดิม มีปริมาณมากที่สุดคือ 36 กรัม ส่วนยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีปริมาณน้อยที่สุดคือ 20 กรัม ข้อสังเกต        -หากพิจารณาถึงความคุ้มค่า เมื่อคำนวณราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อทวิสตี้ ข้าวผสมข้าวโพดอบกรอบ รสเอ็กซ์ตรีมชีส ถูกสุดคือ 0.27 บาท ส่วนยี่ห้อโคบุค ขนมข้าวโพดกรอบ รสซุปข้าวโพด แพงสุดคือ 0.61 บาท        -ยี่ห้อ เซเว่นซีเล็ค ข้าวโพดอบกรอบ รสชีส มีราคาขายถูกที่สุด (15 บาท) ห่อเล็กที่สุด (น้ำหนักสุทธิ 35 กรัม) และมีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคมากที่สุด (390 มิลลิกรัม) หากลองเปรียบเทียบกับยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม ที่มีราคาเท่ากัน มีปริมาณใกล้เคียงกัน (43 กรัม) แต่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคน้อยที่สุด (25 มิลลิกรัม) จึงอาจชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการปรุงแต่งรสชาติกับปริมาณโซเดียมในขนมได้ ตัวอย่างในที่นี้คือรสชีสมีโซเดียมมากกว่ารสนม เพราะกรรมวิธีผลิตชีสนั้นใช้เกลือเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย        -ขนมข้าวโพดอบกรอบ/ทอดกรอบ รสชีส มีจำนวนมากที่สุดถึง 8 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคตั้งแต่ 140 - 390 มิลลิกรัม        -จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มักหยิบขนมไม่ว่าจากห่อเล็กห่อใหญ่เข้าปากเพลินจนหมดในคราวเดียว ดังนั้นเมื่อลองคำนวณปริมาณโซเดียมของขนมทั้งห่อแล้วจะพบว่า ยี่ห้อปาร์ตี้ คริสปี้ พาย ข้าวโพดทอดกรอบ รสคอร์นชีส มีโซเดียมมากที่สุดคือ 600 มิลลิกรัม และยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 53.75 มิลลิกรัม        -จากเกณฑ์การพิจารณาใช้สัญลักษณ์โภชาการ”ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ของ อย.ที่กำหนดว่าขนมขบเคี้ยวต้องมีโซเดียมไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/100 กรัม (หรือ 150 มิลลิกรัม/ 30 กรัม) เมื่อลองคำนวณหาปริมาณโซเดียมใน 1 หน่วยบริโภคที่ 30 กรัมเท่ากันในทุกตัวอย่างชุดนี้ พบว่ามี 6 ตัวอย่างที่เข้าเกณฑ์ คือมีโซเดียมไม่เกิน 150 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม, โรลเลอร์ คอร์น ข้าวโพดอบกรอบ รสนม, ทวิสตี้ ข้าวผสมข้าวโพดอบกรอบ รสเอ็กซ์ตรีมชีส, ชาโชส บีบีคิว โบนันซ่า(ทอร์ทิลล่า ชิพ), ชีโตส ข้าวโพดทอดกรอบ รสอเมริกันชีส แล้วก็ โตโร ข้าวโพดคลุกน้ำตาลและเนย คำแนะนำ        -มีข้อมูลจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลแนะนำว่า เด็กอายุ 2- 15 ปี โดยเฉลี่ย ควรบริโภคอาหารว่างไม่เกิน 2 มื้อ และแต่ละมื้อควรได้รับโซเดียมปริมาณไม่เกิน 100 มิลลิกรัม        -ทางสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยแนะนำว่า ผู้ปกครองหรือเด็กเองควรอ่านฉลากโภชนาการ หรือฉลากหวาน มัน เค็ม บนห่อขนม และเลือกซื้อขนมที่มีโซเดียมต่ำ หากเป็นขนมสุดโปรดที่มีโซเดียมสูง ให้แบ่งกิน หรือไม่ควรกินบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น          - บางคนเลือกกินขนมกรุบกรอบห่อเล็กๆ เพราะเข้าใจว่ามีโซเดียมน้อย ซึ่งจริงๆ แล้วบางยี่ห้อแม้ห่อเล็กแต่กินหมดแล้วกลับได้โซเดียมมากกว่ากินห่อใหญ่ทั้งห่อก็มี             -พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างและฝึกให้เด็กไม่กินของจุบจิบหรือขนมระหว่างมื้อ ชวนให้เด็กมากินผัก ผลไม้ หรือขนมที่มีประโยชน์ เช่น ผลไม้อบแห้ง นมอัดเม็ด หรือถั่วต่างๆ และชวนเด็กมาออกกำลังกายด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ        - ปัจจุบันมีขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพที่มีปริมาณโซเดียมต่ำให้เลือกบริโภคบ้างแล้ว แต่ว่าอาจยังมีราคาสูง และยังไม่เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างเท่าไหร่นัก ในเบื้องต้นผู้บริโภคเลือกได้โดยมองหาสัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ของ อย.บนฉลากของขนมนั้นๆ           - ขนมข้าวโพดอบกรอบปรุงรสมักมีสีเหลืองสวยชวนกิน ซึ่งอาจใช้สีผสมอาหารสีเหลือง 6 ซึ่งมาจากปิโตรเลียมใส่ลงไป และอาจมีการแต่งรสเทียม เช่น  Methyl benzoate และ Ethyl methylphenidate ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร โรคกระเพาะ และอาการเสพติดเหมือนกันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่        - ระวังเด็กเล็กๆ ที่อาจกินขนมข้าวโพดคั่วแล้วติดคอ เพราะมีเมล็ดข้าวโพดส่วนที่ยังแข็งอยู่ปนมาได้ข้อมูลอ้างอิงhttps://www.pobpad.comhttps://thai.ac/news/show/354305http://healthierlogo.comhttps://kukr2.lib.ku.ac.th (บทความขนมขบเคี้ยวจากเครื่องเอกซ์ทรูดเดอร์)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิด “ขนคุด”

        ขนนับเป็นเสมือนอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ยังไงก็ต้องมีขนเหมือนกันทั้งนั้น แต่หากเป็นผู้หญิงเรื่องขนๆ คงกวนใจกว่าคุณผู้ชายที่ค่อยไม่กังวลใจเท่าไรนัก แม้เรื่องขนจะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่หากเป็นผู้หญิงแล้วมีขนที่ดกดำจนเกินไปก็อาจจะดูไม่ค่อยสบายตาทั้งตนเองและคนอื่นสักเท่าไหร่ แล้วเคยสงสัยกันไหมว่า คนเราจะมีขนแขนขนขาไว้ทำไม?         “ขนแขนและขา” มีหน้าที่คอยปกป้องไม่ให้ผิวของเราได้รับความเสียหายจากสิ่งที่มากระทบ เช่น คอยป้องกันไม่ให้สูญเสียความร้อนหรือรักษาอุณหภูมิในร่างกาย พร้อมทั้งช่วยในการป้องกันกันสิ่งแปลกปลอมที่มีขนาดเล็กจนเราไม่สามารถมองเห็นเข้าสู่ร่างกายได้ และขนยังเป็นอวัยวะหนึ่งที่ในรูขุมขนจะมีเส้นประสาทที่สามารถรับความรู้สึกได้อีกด้วย         ถึงแม้ “ขน”จะมีข้อดีหลายอย่าง แต่ความรักสวยรักงามของผู้หญิง เรื่องขนยังคงเป็นปัญหาแน่นอน  สาวๆ หลายคนขนดกมากกว่าปกติ โดยสาเหตุอาจจะเกิดจากพันธุกรรมหรือความผิดปกติของฮอร์โมนนั้นเอง หรืออีกสาเหตุคือการใช้ยาบางชนิดจนส่งผลให้ร่างกายของผู้หญิงเกิดการปรับเปลี่ยนฮอร์โมนขึ้น จนต้องหาวิธีการกำจัดขนหลากหลายวิธี โดยวิธีแรกที่หลายคนเลือกก็คงเป็นการโกน แต่วิธีนี้ หากทำผิดวิธีก็ก่อให้เกิด “ขนคุด” ขึ้นมาตามบริเวณร่างกายที่โกนได้ กลายเป็นว่าแค่อยากกำจัดขนแต่ได้อย่างอื่นมาแทน แต่ใจเย็นๆ ขนคุดไม่ใช่โรคหลายแรงและมีวิธีการดูแลรักษา         ลักษณะของขนคุด โดยปกติทั่วไปจะเป็นตุ่มนู่นเล็กตามรูขุมขนสีน้ำตาลหรือสีแดงและอาจคล้ายตุ่มสิว ส่วนมากมักพบบริเวณต้นแขนและขาหรือหลัง แต่หากเป็นตุ่มแดงๆ ให้สังเกตเพราะอาจเกิดจากการอักเสบของรูขุมขน โดยทั่วไปขนคุดไม่อันตรายหรือติดต่อแต่ส่วนมากจะทำให้เสียความมั่นใจเสียมากกว่าสาเหตุการเกิด “ขนคุด”         -       เกิดจากผิวสะสมเคราตินจนเกิดการอุดตัน ส่งผลให้ปิดกั้นรูขุมขนจนเกิดตุ่มเล็กๆ ขึ้น        -       เกิดจากผิวของเราขาดความชุ่มชื้นหรือแห้งจนเกินไป เพราะขนคุดนอกจากสาเหตุอื่นๆ แล้ว การที่เรามีผิวที่แห้งจนเกินไปก็เกิดขนคุดได้ เนื่องจากพบว่าหลายๆ คนมักเป็นขนคุดบ่อยๆ ในช่วงหน้าหนาวเนื่องจากสภาพอากาศทำให้ผิวแห้ง        -       การกำจัดขนด้วยการโกนขนที่ผิดวิธี        -       ขนคุดที่อาจเกิดบุคคลที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือพันธุกรรมวิธีการป้องกันการเกิดขนคุด        -       หากเลือกวิธีการกำจัดขนด้วยการโกน ควรที่จะห้ามใช้มีดโกนร่วมกับคนอื่น และโกนโดยไม่ย้อนแนวรูขุมขน โกนไปตามแนวขน เพื่อลดโอกาสการเกิดขนคุดได้        -       หยุดแกะเกาและหลีกเลี่ยงการสครับผิวแรงๆ แม้การสครับผิวจะเป็นการผลัดเซลล์ผิวช่วยลดโอกาสการเกิดขนคุด แต่ก็ควรสครับโดยลดการถูแรงๆ  เพราะเซลล์ผิวอาจจะไม่ได้ผลัด แต่เกิดขนคุดขึ้นมาแทน        -       หากเกิดจากอาการผิวแห้ง ไม่ควรอาบน้ำอุ่นเพราะจะทำให้ผิวแห้ง และควรทาครีมหรือมอยเจอร์ไรส์เซอร์ที่มีส่วนผสมของยูเรียและกรดแรคติค เพื่อให้ผิวเกิดความชุ่มชื่นหรือผลัดเซลล์ผิว เพื่อลดโอกาสการเกิดขนคุด         ทั้งนี้ วิธีการกำจัดขนมีหลากหลายวิธีนอกจากการโกน หากเลือกวิธีการกำจัดขนโดยการแว็กซ์ขน หรือเลเซอร์เป็นหลัก ควรที่จะศึกษาวิธี การแว๊กซ์ โดยเลือกร้านที่มีการรับรองและสุขอนามัยของร้าน ควรสอบถามผลิตภัณฑ์หรือน้ำยาที่ใช้ในการแว๊กซ์เพราะน้ำยาที่ทางร้านใช้อาจมีหลากหลายยี่ห้อและส่วนผสม หากไม่ศึกษาหรือสอบถามก่อนใช้บริการอาจเกิดอาการแพ้และระคายเคืองจากน้ำยาแว๊กซ์ได้  การเลเซอร์ขน เลือกคลินิกที่มีสถานประกอบการได้ถูกอนุญาตอย่างถูกต้อง และแพทย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เนื่องจากปัจจุบันมีการเปิดคลินิกเสริมความงามขึ้นเยอะ บางคลินิกอาจเปิดแบบผิดกฎหมายเพราะฉะนั้น สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ดังนี้ https://checkmd.tmc.or.th/         นอกจากนี้อย่าเพิ่งเห็นโปรถูกแล้วรีบเข้าไปใช้บริการ ควรตรวจสอบให้ดี เอาให้แน่ใจว่าปลอดภัย แม้การเลเซอร์ขนจะไม่ใช่การผ่าตัดใหญ่แต่หากเสี่ยงใช้บริการสถานประกอบการที่ผิดกฎหมายก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับเราได้ ควรเช็คเพื่อความชัวร์ไว้ก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ขนมเวเฟอร์หวานมันกรอบๆ ก็มีโซเดียมนะ

        ใกล้เทศกาลปีใหม่แบบนี้ หากลองสังเกตขนมขบเคี้ยวยอดฮิตที่ใครๆ มักนำมาจัดในกระเช้าของขวัญแล้ว หนึ่งในนั้นน่าจะต้องมี ”ขนมเวเฟอร์” รวมอยู่แน่นอน ด้วยแผ่นแป้งพิมพ์ลายไขว้กันเหมือนรังผึ้งที่กรอบบางเบาเคี้ยวเพลิน ผสานกับเนื้อครีมสอดไส้หรือเคลือบไว้ที่หอมหวานมันอร่อยลิ้น จึงเป็นขนมที่ถูกปากถูกใจทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ รวมถึงผู้สูงอายุมานาน ทั้งยังกินง่าย หาซื้อง่าย มีหลายรสชาติหลากรูปแบบให้เลือกตามชอบ แต่ถ้ากินเยอะๆ บ่อยๆ ก็อ้วนง่ายด้วย เพราะมีทั้งแป้ง น้ำตาล และไขมันที่ให้พลังงานสูง แถมยังพ่วงโซเดียมมาอีก         ทางสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ได้สุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยวจำนวน 400 ตัวอย่าง สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้ป่วยโรคไต ความดันโลหิตสูง และผู้บริโภคทั่วไป ได้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกเพื่อเลี่ยงขนมที่มีโซเดียมสูง         ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ชุดนี้ โดยฉบับนี้เลือกขนมเวเฟอร์ทั้งที่สอดไส้และเคลือบด้วยครีมรสชาติต่างๆ ในรูปแบบสี่เหลี่ยม แบบโรลและแบบสติ๊ก จำนวน 27 ตัวอย่าง 10 ยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจากร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ในช่วงเดือนมีนาคม 2564           ผลการสำรวจฉลากดูปริมาณโซเดียมในขนมเวเฟอร์        -ขนมเวเฟอร์ทั้งหมด 27 ตัวอย่างนี้ มีราคาขายซองละ 5 - 45 บาท และมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 25 - 86 กรัม        -เมื่อดูปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคบนฉลาก พบว่า ยี่ห้อล็อคเกอร์ ครีมคาเคา (เวเฟอร์สอดไส้ครีมโกโก้) มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 25 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อริทซ์ ชีส เวเฟอร์โรล (เวเฟอร์โรลสอดไส้ครีม รสชีส) มีโซเดียมมากที่สุดคือ 150 มิลลิกรัม        -เมื่อดูขนาดบริโภคหรือปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก พบว่าปริมาณน้อยที่สุดคือ 23 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อล็อคเกอร์ 3 ตัวอย่างคือ ครีมคาเคา (เวเฟอร์สอดไส้ครีมโกโก้),นาโปลิเทนเนอร์ (เวเฟอร์สอดไส้ครีมเฮเซลนัต) และมิลค์ (เวเฟอร์สอดไส้ครีม รสนม) ส่วนปริมาณที่มากที่สุดคือ 45 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อเดลฟี่ท็อป 4 ตัวอย่างคือ เวเฟอร์เคลือบช็อกโกแลต ข้าวพองและคาราเมล, ทริปเปิ้ล ช็อก, คาปูชิโน และสตอเบอร์รี่ กับยี่ห้อล็อคเกอร์ 2 ตัวอย่างคือ วานิลลา (เวเฟอร์สอดไส้ครีมวานิลลา) และโกโก้ แอนด์ มิลค์ (เวเฟอร์รสโกโก้สอดไส้ครีมนม)         ข้อสังเกต        -หากพิจารณาถึงความคุ้มค่า เมื่อคำนวณราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อบิสชิน เวเฟอร์ไส้ครีม กลิ่นส้ม และ รสมะพร้าว มีราคาถูกสุดคือ 0.17 บาท ส่วนยี่ห้อล็อคเกอร์ ฟอนแดนท์ (เวเฟอร์สอดไส้ครีมดาร์กช็อกโกแลต มีราคาแพงสุดคือ 1.2 บาท        - จากตัวอย่างขนมขบเคี้ยวทั้งหมดที่สมาคมเพื่อนโรคไตฯ สำรวจ ซึ่งแบ่งเป็น 9 ประเภทตามวัตถุดิบนั้นเมื่อเรียงลำดับปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคมากที่สุดในขนมแต่ละประเภทแล้ว พบว่าขนมเวเฟอร์อยู่รั้งท้าย (150 มก.) โดยลำดับที่หนึ่งคือมันฝรั่ง (1,080 มก.) รองลงมาคือปลาเส้น (810 มก.) ข้าวเกรียบและขนมอบกรอบ (560 มก.) สาหร่าย (510 มก.) ข้าวโพด (390 มก.) ถั่วและนัต ( 380 มก.) แครกเกอร์และบิสกิต (230 มก.) และคุกกี้ (220 มก.)        - จากที่ฉลาดซื้อเคยสำรวจฉลากเวเฟอร์ช็อกโกแลตมาแล้ว ในครั้งนั้นได้ผลออกมาว่ามีปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคอยู่ที่ 10 – 120 มิลลิกรัม และมี 6 ตัวอย่างที่นำมาสำรวจในครั้งนี้ด้วย ซึ่งพบว่ายี่ห้อกัสเซ็น เวเฟอร์สอดไส้ครีม รสช็อกโกแลต มีปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคจากเดิม 35 มิลลิกรัม ลดลงเป็น 30 มิลลิกรัม ส่วนอีก 5 ตัวอย่างนั้นยังเท่าเดิม        - จากเกณฑ์การพิจารณาใช้สัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ของ อย.ที่กำหนดว่าขนมขบเคี้ยวต้องมีโซเดียมไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/100 กรัม (หรือ 150 มิลลิกรัม/ 30 กรัม) เมื่อลองคำนวณหาปริมาณโซเดียมใน 1 หน่วยบริโภคที่ 30 กรัมเท่ากัน พบว่าขนมเวเฟอร์ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์ปริมาณโซเดียมนี้แต่อย่างไรก็ตามยังต้องพิจารณาปริมาณพลังงาน น้ำตาล และไขมันควบคู่ไปด้วย        - เมื่อคำนวณปริมาณโซเดียมของขนมเวเฟอร์ทั้งซอง พบว่ายี่ห้อบิสชิน เวเฟอร์ไส้ครีม กลิ่นส้ม มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 45 มิลลิกรัม ยี่ห้อริทซ์ ชีส เวเฟอร์โรล (เวเฟอร์โรลสอดไส้ครีม รสชีส) มีโซเดียมมากที่สุดคือ 225 มิลลิกรัม        - มี 13 ตัวอย่าง ที่มีปริมาณต่อหน่วยบริโภคเท่ากับน้ำหนักสุทธิ โดยมีปริมาณโซเดียมที่ 45 - 95 มิลลิกรัม        - ขนมเวเฟอร์รสโกโก้หรือช็อคโกแลต (แบบเคลือบ/สอดไส้) มีมากที่สุดคือ 10 ตัวอย่าง        - เวเฟอร์แบบสี่เหลี่ยมส่วนใหญ่จะมีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าเวเฟอร์โรลและเวเฟอร์สติ๊กที่เป็นแบบแท่งๆ คำแนะนำ-บางคนอาจสงสัยว่าขนมเวเฟอร์ไม่เค็มแล้วทำไมถึงมีโซเดียมได้ เพราะยังเข้าใจว่าอาหารรสเค็มเท่านั้นที่มีโซเดียม แต่จริงๆ แล้วขนมอบรสหวานมันที่มีส่วนผสมของผงฟู เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง ต่างก็มีโซเดียมอยู่ เพราะผงฟูมีโซเดียมไบคาร์บอเนตเป็นส่วนประกอบ นั่นเอง ดังนั้นอย่าชะล่าใจกินขนมหวานซ่อนเค็ม(โซเดียม)เพลิน ทำให้ได้รับโซเดียมเกินโดยไม่รู้ตัว- ผู้บริโภคควรพิจารณาข้อมูลบนฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง โดยเฉพาะหากซื้อให้เด็กและผู้สูงอายุ- ผู้ปกครองหรือคุณครูควรฝึกให้เด็กๆ ดูและเปรียบเทียบฉลากหวาน มัน เค็ม ให้เข้าใจพอจะเลือกเองได้  -ในแต่ละวัน ผู้ใหญ่ไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัม เด็กอายุ 6-8 ปี ไม่ควรเกิน 32.5-95  มิลลิกรัม  อายุ 9-12 ปี ไม่ควรเกิน  40-117.5 มิลลิกรัม อายุ 13-15 ปี ไม่ควรเกิน  50-150 มิลลิกรัมหรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน และไม่ควรกินขนมเกินวันละ 2 มื้อด้วย    - หลายคนมักกินเวเฟอร์ที่บรรจุในซองเแยกเป็นชิ้นๆ ให้หมดในคราวเดียว เพราะขนมเวเฟอร์ไวต่อความชื้น ถ้าแกะซองแล้วกินไม่หมด ขนมที่เหลือก็จะนิ่มเหนียวไม่อร่อย จึงอาจเสี่ยงได้รับโซเดียมเกินปริมาณที่แนะนำได้หากในฉลากระบุว่าควรแบ่งกินมากกว่า 1 ครั้ง ดังนั้นถ้าเผลอกินไปแล้วก็ต้องมาลดอาหารเค็มๆ อย่างอื่น และออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย- ขนมเวเฟอร์แบบห่อ/กล่องใหญ่ ควรแบ่งขนมใส่จานไว้พอประมาณ แล้วปิดห่อ/กล่องให้สนิท- สำหรับขนมเวเฟอร์แบบแบ่งขายที่ไม่มีฉลากโภชนาการกำกับ หากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง หรือกินแต่น้อย- ใครชอบกินเวเฟอร์กับเครื่องดื่ม หากไม่อยากให้ร่างกายได้รับน้ำตาลและไขมันเพิ่มอีก ควรดื่มเป็นน้ำเปล่า ชาร้อน กาแฟดำ หรือน้ำผลไม้คั้นสดเพื่อเลี่ยงโซเดียมจากน้ำผลไม้สำเร็จรูป- อย่าปักใจเชื่อว่าขนมเวเฟอร์ซองเล็กมีปริมาณโซเดียมต่ำกว่าซองใหญ่เสมอไป จริงๆ แล้วยังมีเวเฟอร์ซองเล็กบางยี่ห้อที่กินหมดแล้วกลับได้โซเดียมมากกว่าซองใหญ่ซะอีกข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อฉบับที่ 160 เรื่องทดสอบ “เวเฟอร์ช็อกโกแลต เผลอเคี้ยวเพลิน อ้วนแน่”ฉลาดซื้อฉบับที่ 243 เรื่องทดสอบ “สำรวจฉลากโภชนาการผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย”http://healthierlogo.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 แฟชั่นต่อขนตาปลอมถาวร

        การเสริมความงามให้ใบหน้าโดดเด่นด้วยขนตาที่หนางอนสวย ยังคงเป็นที่นิยมมากสำหรับสาวๆหลายท่าน ทว่าการต่อขนตาสมัยนี้ไม่ได้ใช้วิธีการในรูปแบบเดิมที่ใช้ขนตาแบบแผงสำเร็จ และแค่เราล้างหน้าก็หลุดออกมาโดยง่าย  ปัจจุบันเป็นเทรนด์ต่อขนตาแบบถาวร ที่ใช้เวลาแค่ 30-60 นาที ขนตาที่ต่อก็สามารถอยู่ได้ถาวรถึง 4-8 สัปดาห์ โดนน้ำก็ไม่หลุด          “ต่อขนตาปลอมแบบถาวร” คือ การนำขนตาปลอม หรือตามร้านจะมีรูปแบบที่เรียกว่า ขนมิงค์ เส้นใยสังเคราะห์หรือขนตารูปแบบอื่นๆ ให้ทางลูกค้าเลือก ซึ่งจะนำมาทากาวและติดไปที่ขนตาเส้นที่ยาวและหนาทีละเส้น  เพื่อให้เกิดการยึดติดกับขนตาจริง โดยการติดขนตานั้นจะเป็นการใช้กาวเฉพาะสำหรับการต่อขนตาแบบนี้เท่านั้น หากใช้กาวอื่น เช่น กาวตราช้าง ไม่สามารถทำได้ อันตรายมากๆ อย่างที่เคยมีข่าวเมื่อหลายปีก่อน ที่มีช่างหัวใสนำกาวตราช้างมาติดแทนกาวที่ใช้โดยเฉพาะ ซึ่งก่อให้เกิดอาการบวมแดง ขนตาติดกันเป็นก้อน ระคายเคืองและลืมตาไม่ขึ้น จนทำให้ขนตาธรรมชาติหลุดออกเกือบทั้งหมด          ความเสี่ยงการต่อขนตาถาวร        ขนตา มีหน้าที่ป้องกันสิ่งแปลกปลอมรอบดวงตามิให้สร้างความระคายเคืองให้แก่ลูกตา เช่น ป้องกันละอองฝุ่น หรือแม้แต่เหงื่อ  แต่เมื่อมีการนำขนหรือวัสดุต่างๆ ที่คล้ายกับขนตาจริงมาตกแต่งเสริมความงามรอบดวงตา อาจจะก่อความเสี่ยงต่อดวงตาได้ ดังนี้        -        เกิดความเสี่ยงจากวัสดุที่ใช้ทำขนตาปลอม ซึ่งอาจสะสมสิ่งสกปรก เชื้อโรค เมื่อนำมาใช้บริเวณแผงขนตา ทำให้เสี่ยงระคายเคืองและเปลือกตาอักเสบ        -        กาวติดขนตามีส่วนผสมสารที่เรียกว่า “ฟอร์มาลดีไฮด์(formaldehyde)” ซึ่งก่อปัญหาแพ้ได้ง่าย เช่น  คันตา เคืองตา ตาอักเสบ ติดเชื้อ ขนตาร่วงหรือถึงขั้นหลุดร่วงถาวร        -        ความเสี่ยงจากการเก็บรักษา ”ขนตาปลอม” ที่ไม่สะอาด ไม่ถูกวิธี  อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ เกิดอาการแพ้อย่างหนัก อักเสบ อาจเสี่ยงถึงขั้นทำให้ดวงตาเสียหาย        -        เมื่อต่อขนตาแล้วดึงออกบ่อยๆ อาจทำให้ขนตาจริงหลุดติดออกมา แล้วกระทบถึงการทำลายระบบต่างๆ รอบดวงตา เพราะบริเวณโคนขนตาแต่ละเส้นนั้น จะมีต่อมไขมันและต่อมเหงื่อช่วยผลิตไขมันและน้ำเพื่อไปหล่อเลี้ยงในดวงตา         วิธีดูแลหลังต่อขนตาปลอมถาวร        1.ห้ามขยี้ตา บางคนอาจจะรำคาญหรือไม่ชิน เพราะต่อขนตาเป็นครั้งแรก ยังไงก็ห้ามขยี้เพราะอาจทำให้ขนตาปลอมหลุดออกมาพร้อมขนตาจริง        2.ห้ามโดนน้ำหลังต่อ 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นค่อยล้างหน้าด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ ห้ามล้างน้ำอุ่นเพราะจะทำให้กาวติดขนตาเสื่อมสภาพ        3.ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่เช็ดเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมเป็นน้ำมัน เพราะจะทำให้ขนตาที่ต่อหลุดร่วงเร็วเนื่องจากประสิทธิภาพกาวลดลง        4.งดการดัดขนตาและหรือใช้มาสคาร่ากันน้ำไปก่อน เพราะขนตานั้นเปราะบางมาก การต่อขนยาช่วยให้มีความยาวงอนเด้งอยู่แล้ว หากไปดัดหรือทามาสคาร่าซ้ำก็อาจจะเป็นการทำให้หลุดร่วงเร็วขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2564

ปรับเป็นแสน ห้ามนำ-ใช้ ครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตรายเข้าอุทยานแห่งชาติ        3 สิงหาคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ใจความสำคัญระบุว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า สารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดดมีส่วนทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง มีส่วนทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์และทำให้ปะการังฟอกขาว  ดังนั้นเพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลทรัพยากรและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศในอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ออกประกาศดังนี้         ห้ามนำและใช้ครีมกันแดด ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone , Octinoxate ,4-Methylbenzylid Camphor และ Butylparaben หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท         ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซื้อยาฟ้าทะลายโจรระวังเจอของปลอม         23 สิงหาคม 2564 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลการปฏิบัติกรณีบุกตรวจค้นโรงงานลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาต มูลค่าของกลางกว่า 200,000 บาท พร้อมจับแม่ลูกเจ้าของโรงงานที่ลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรปลอม  เนื่องจากมีกรณีผู้ร้องเรียนแจ้งว่า ได้สั่งซื้อยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่มีการโฆษณาตามเพจเฟซบุ๊ก แล้วพบว่ายาไม่มีรสชาติขมซึ่งผิดปกติจากฟ้าทะลายโจรที่มีรสขมเป็นลักษณะเด่น จึงดูที่ฉลากพบระบุสถานที่ผลิตคือ “ผลิตโดย วิสาหกิจชุมชนบ้านคลอง เลขทะเบียน 03/1-20024 ควบคุมสูตรโดยแพทย์แผนไทย” แต่ไม่พบเลขการจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร และไม่สามารถตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้ผลิตได้ จึงเชื่อว่ายาฟ้าทะลายโจรดังกล่าวน่าจะเป็นของปลอม ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. จึงทำการสืบสวนจนพบผู้ที่โพสขายยาฟ้าทะลายโจร บนเพจเฟซบุ๊ก และเข้าจับกุม ด้าน อย.ระบุ หากผู้บริโภคต้องการซื้อยาฟ้าทะลายโจรต้องดูฉลากที่ระบุเลขที่จดแจ้งและระบุสถานที่ผลิตชัดเจน โดยซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ “ขนส่งทางบกขอ” ตำรวจไม่จับใบขับขี่หมดอายุถึงสิ้นปี         ตามที่กรมการขนส่งทางบกมีประกาศงดให้บริการประชาชนด้านใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศจากสถานการณ์โควิดระบาด จนกว่าจะมีประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น กรมฯ จึงประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ผ่อนปรนการใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง เกี่ยวกับกรณีใบขับขี่หมดอายุ ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้พิจารณากฎเกณฑ์ขยายระยะเวลา ดังนี้         1.ใบขับขี่หมดอายุขับรถต่อไปได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564          2.เพิ่มการผ่อนปรนให้ผู้ที่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลและส่วนบุคคลชั่วคราว สามารถขับรถที่ใช้ในการรับจ้างขนส่งสินค้าได้ เช่น รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม โดยจดทะเบียนตามกฎหมายของการขนส่งทางบก และรถปิกอัพป้ายเหลือง         กรณีที่ประชาชนมีเอกสารคำขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตประจำรถ ได้แก่ เอกสารใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการผ่านการอบรมและทดสอบ หรือคำขอที่ดำเนินการไม่สำเร็จภายใน 90 วัน กรมการขนส่งทางบกจะอนุโลมให้ใช้เป็นเอกสารประกอบการดำเนินการได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม  2564  พืชกระท่อมปลดออกจากยาเสพติดแล้ว ประชาชน ซื้อ-ขายได้        นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระท่อมเคยถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ แต่ตอนนี้พืชกระท่อมได้ถูกปลดออกจากยาเสพติดให้โทษแล้ว ทุกคนสามารถครอบครองซื้อขายได้         และ การปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด มีผลให้ต้องปล่อยตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายพืชกระท่อมจำนวน 1,038 คน ซึ่งจะต้องไม่เป็นผู้ที่เกี่ยวกับคดีสารเสพติดอื่นนอกเหนือจากพืชกระท่อม และถือว่าเป็นผู้ไม่เคยกระทำความผิด หากในกรณีที่ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการสอบสวนให้ยุติปล่อยตัวทันที รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ต้องมีการจำหน่ายคดีออกจากสารบบของศาล โดยได้รับการพิพากษายกฟ้อง ผู้ที่ถูกกักขังแทนค่าปรับ จะต้องยกเลิกการเสียค่าปรับทันที ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม กรณีคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสคิดค่าบริการปัดเศษวินาทีเป็นนาที         ตามที่มีตัวแทนผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม 3 ค่ายมือถือดัง เรื่องการคิดค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 เหตุจากการคิดค่าบริการดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการเกินกว่าที่ใช้จริงนั้น  วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในการขอดำเนินคดีแบบกลุ่มคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสว่า ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มของโจทก์ ให้ดำเนินคดีแบบสามัญแทน โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มมิได้เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีสามัญ ไม่มีข้อมูลว่าสมาชิกในกลุ่มถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินการใช้งานจริงไปเท่าไร ค่าเสียหายในคำขอบังคับไม่ได้ระบุหลักการและวิธีการคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิก ส่วนเรื่องการคิดค่าบริการปัดเศษของบริษัทเอไอเอส ผู้ให้บริการสามารถเปลี่ยนโปรโมชั่นหรือผู้ให้บริการได้ และหากดำเนินคดีแบบสามัญการคำนวณค่าเสียหาย ผู้บริโภคไม่ต้องคำนวณ เพราะอยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบการ แต่หากเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้โจทก์ชี้แจงมาให้หมดว่าค่าบริการที่เก็บเกินไปมีเท่าไร ดังนั้นหากดำเนินคดีแบบสามัญสะดวกกว่า         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า จากคำตัดสินนี้ทางมูลนิธิฯ กำลังอยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะยื่นฟ้องแยกเป็นรายคดีหรือฟ้องแบบเป็นโจทก์ร่วมกันในกระบวนการแบบสามัญ เช่น สมาชิก 30-40 คน อาจจะฟ้องแยก หรือถ้าเป็นโจทก์ร่วมกัน สมาชิกที่เหลืออาจจะเอาขึ้นมาเป็นโจทก์ทั้งหมด นอกจากโจทก์ 2 คนที่ฟ้องไปก็ต้องเปลี่ยนเป็นโจทก์ที่ 1 พร้อมกับพวกอีก 30 คน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 คิดอย่างไร ประเทศไทยจะเป็นมหานครระบบรางติดอันดับโลก

        ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมท่านหนึ่งประกาศชัดว่า ในปี 2566 ประเทศไทยจะเป็นมหานครระบบรางติดอันดับโลก !!! และไม่ใช่ติดอันดับโลกธรรมดา แต่เป็นอันดับสามของโลกเสียด้วย         สอดคล้องกับที่ไอเอ็มดี (International Institute for Management Development: IMD) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ และมีหน่วยงานในสังกัด คือ สถาบัน IMD World Competitiveness Center ที่เป็นหน่วยงานในระดับนานาชาติ ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันระบบรางทั่วโลกว่า ภายในปี 2566 หรืออีก 3 ปีข้างหน้าต่อจากนี้   กรุงเทพมหานครจะกลายเป็นมหานครระบบรางที่มีระยะทางยาวเป็นอันดับ 3 ของโลกระยะทาง 560 กิโลเมตร ทำให้ยิ่งตอกย้ำถึงภาพความสะดวกสบายของกรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองของรถไฟฟ้าขึ้นมาทันที         แต่เดี๋ยวก่อน มองให้พ้นจากภาพสวยหรู เมื่อหันกลับมาดูความจริงที่ประเทศไทย คำถามก็ผุดขึ้นมากมาย แล้วตอนนี้รถไฟฟ้าที่เปิดใช้บริการทุกสายมีระยะทางกี่กิโลเมตรแล้ว         ข้อมูล ณ ธันวาคม 2563 ประเทศไทยมีรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการผ่านกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นระยะทางยาวทั้งหมด 168 กิโลเมตร หรืออยู่ในอันดับที่ 25 ของโลก         ขณะที่อันดับ 1 และ 2 ของโลกอยู่ที่ประเทศจีน คือ กรุงปักกิ่ง 690.5 กิโลเมตร และเมืองเซี่ยงไฮ้ 676  กิโลเมตร อันดับ 3 อยู่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ 540.9 กิโลเมตร และอันดับ  4 อยู่ที่เมืองกวางโจว ประเทศจีนอีกเช่นกันที่ 531.1 กิโลเมตร ซึ่งจากข้อมูลนี้ 168 กิโลเมตรของประเทศไทยยังห่างจากเป้าหมายอันดับ 3 ที่ 560 กิโลเมตรอยู่มากเลยทีเดียว  (ดังนั้นน่าจะต้องเก็บคำคุยโวไว้ก่อนเพราะการที่ประเทศไทยจะเป็น HUB หรือเป็นมหานครระบบรางอย่างที่คิดในอีกสามปีข้างหน้าดูท่าจะยากเย็น)          แต่การที่ประเทศไทยวางแผนให้กรุงเทพมหานครมุ่งสู่การเป็นเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยระบบรางนั้นไม่ใช่เรื่องผิด เพราะทุกวันนี้ระบบรางโดยเฉพาะรถไฟฟ้ากลายเป็นพาหนะที่อำนวยความสะดวกขนคนเดินทางได้ครั้งละจำนวนมาก ส่งผลดีให้เกิดกับคุณภาพชีวิต ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และต่อไปในอนาคต (ไม่รู้อีกกี่ปี) เมื่อรถไฟฟ้าทุกสายสร้างเสร็จสิ้น กรุงเทพมหานครจะมีรถไฟฟ้าหลากสีมากกว่า 10 สาย วิ่งให้บริการเต็มรูปแบบครอบคลุมทุกทิศทางจากชานเมืองมุ่งเข้ากรุงเทพชั้นใน ทำให้หลายคนมีความหวังว่า เมื่อประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะประเภทรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ปัญหาการจราจรรถติด การใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และมลภาวะทางอากาศที่เป็นพิษจะลดน้อยลงตามไปด้วย         ดังนั้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมารัฐบาลจึงมุ่งเน้นขับเคลื่อนนโยบายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ที่รวมงานทุกด้านเอาไว้  ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติจะมีแผนย่อยเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทําแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน โดยมีประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล อยู่ในด้านที่ 7 จากทั้งหมด 23 ด้าน ตามกรอบที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี           แล้วโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล เกี่ยวอะไรกับมหานครระบบรางที่บอกไป แน่นอนว่าการพัฒนาประเทศต้องบูรณาการหลายด้าน ซึ่งแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 7 โครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งที่ถือเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และให้ความสำคัญด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศในระยะ 20 ปีข้างหน้าให้บรรลุเป้าหมาย         โดยในแผนแม่บท ประเด็นที่ 7 นี้ยังแบ่งออกเป็น 10 เป้าหมายระดับแผนแม่บทย่อยอีก เช่น ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของในประเทศและต่างประเทศ การเพิ่มขึ้นของการขนส่งสินค้าทางราง การใช้พลังงานทดแทน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานไฟฟ้า การปรับปรุงและพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศ ความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือน ตลอดจนการเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงเมืองหลักในภูมิภาค และการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน         สำหรับประเด็นการเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเป้าหมายย่อยที่กำหนดไว้ 4 ระยะในเวลา 20 ปี คือ 1) ปี 2561-2565 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 30  2) ปี 2566-2570 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 3) ปี 2571-2575 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และ 4) ปี 2576-2580 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ขณะที่สัดส่วนในส่วนภูมิภาคอยู่ที่ ร้อยละ 5 10 และ 20 ตามลำดับ         แต่เมื่อกลับมาดูข้อมูลเปรียบเทียบการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะพบว่า โอกาสที่ตัวชี้วัดเป้าหมายนี้จะทำได้มีโอกาสค่อนข้างน้อย หรืออาจจะเรียกได้ว่าต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤต สาเหตุสำคัญเพราะรัฐมีข้อมูลไม่เพียงพอ เนื่องจากขาดการพัฒนานโยบายอย่างต่อเนื่องที่จะทำให้ระบบขนส่งสาธารณะดำรงอยู่และเป็นหัวใจหลักของการเดินทางสำหรับประชาชนได้ เพราะข้อมูลสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2560 – 2562 อยู่ที่ร้อยละ 20.62 , 17.90 และ 19.42 ตามลำดับ ซึ่งจากข้อมูลนี้ก็นับว่ายังมีความห่างจากเป้าหมายร้อยละ 30 ในปี 2565 อยู่พอสมควร และสำหรับข้อมูลในเมืองภูมิภาค ปัจจุบันยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวไว้ เห็นได้ชัดเจนว่าหลายปีที่ผ่านมาระบบขนส่งสาธารณะเป็นเรื่องที่ถูกปล่อยปละละเลย และยิ่งสถานการณ์โควิด 19 ในปัจจุบันที่ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทแทบล่มสลาย ยิ่งทำให้การเพิ่มสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะทำได้ยากกว่าเดิมอีกด้วย         แล้วการเพิ่มสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองในภูมิภาค กับการเป็นมหานครระบบรางของประเทศไทยเกี่ยวพันกันอย่างไร ฉบับหน้าเรามาค้นคำตอบกันต่อนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะทดลองให้ถนนบางสายเป็น Bus Lane

        คงไม่มีใครคิดว่าประเทศไทยจะมาถึงจุดนี้ จุดที่ระบบสาธารณสุขใกล้จะล่มสลาย และระบบขนส่งมวลชนกำลังจะสิ้นใจ อันเป็นผลมาจากความรุนแรงของการแพร่ระบาดโควิด 19 ระลอกใหม่นี้ กับตัวเลขรวมผู้ติดเชื้อรายวันที่แตะหลักหมื่นคน         ทุกวันนี้ถามแต่ละคนได้เลยว่า ในเวลานี้หากเลือกได้ใครบ้างอยากใช้ชีวิตแบบปกติ หรือออกจากบ้านใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างเดิมไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถไฟฟ้า รถตู้ รถทัวร์ เรือโดยสาร  แท็กซี่ หรือแม้แต่วินจักรยานยนต์รับจ้าง เพราะที่บอกมาทั้งหมดนั้น คือ บริการขนส่งมวลชนที่มีอัตราความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทบทั้งนั้น เนื่องมาจากลักษณะของการแพร่ระบาด คือ การที่มีประชาชนจำนวนมากจากหลายทิศทางมารวมตัวอยู่ในยานพาหนะเดียวกัน ซึ่งหากมีผู้ติดเชื้อเพียงหนึ่งคนที่อาจจะไม่รู้ตัว และมีพฤติกรรมประมาทไม่ระมัดระวัง รวมถึงผู้โดยสารท่านอื่นที่อาจจะไม่ทันระมัดระวังตัวเอง ผู้ที่มีเชื้อก็อาจจะกลายเป็นพาหนะนำเชื้อแพร่สู่บุคคลอื่นได้อีกเป็นจำนวนมาก         ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้จากโควิด 19 สายพันธุ์แรกเริ่ม ที่พบว่าผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนที่ไม่มีภูมิต้านทาน และไม่ป้องกันตัวได้ 2.4 - 2.6 คน ขณะที่สายพันธุ์อัลฟาที่โจมตีประเทศไทยไปก่อนหน้านี้ การแพร่เชื้อจะอยู่ที่ 4 - 5 คนในเงื่อนไขเดียวกัน แต่เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตาที่กำลังกลายเป็นตัวอันตรายหลักในตอนนี้ ผู้ติดเชื้อ 1 คนสามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ถึง 5 - 8 คน เลยทีเดียว         ชี้ชัดว่าความรุนแรงของโควิดระลอกใหม่นี้น่ากลัวจริงๆ และยังส่งผลกระทบต่อระบบขนส่งสาธารณะและการจราจรทั้งระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้นว่าคนใช้รถยนต์ส่วนตัวอาจจะชื่นชอบเพราะถนนหนทางในกรุงเทพมหานคร โล่งขับสบาย เหมือนการจราจรในช่วงเทศกาลหยุดยาว แต่หากมองออกนอกกระจก ชมเมืองรอบนอกรถแล้วจะพบความจริงที่แสนน่ากลัว เห็นแต่ความทุกข์และคราบน้ำตาของ ผู้คน พ่อค้าแม่ขาย ร้านค้า ผู้ประกอบการรายย่อย คนขับรถสาธารณะ เพราะกรุงเทพมหานครในตอนนี้อาจจะเรียกได้ว่าเข้าใกล้ความเป็นเมืองร้างไปแล้ว         จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางราง ยิ่งตอกย้ำถึงความยากลำบากของบริการขนส่งสาธารณะที่ระบุว่า ในช่วงวันหยุดที่ 10 – 11 ก.ค. มีอัตราการใช้บริการขนส่งทางรางทุกระบบน้อยที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 คือ มีผู้โดยสารมาใช้บริการระบบขนส่งทางรางทุกระบบไม่ถึง 2 แสนราย ขณะที่ในวันทำการปกติวันที่ 12 – 13 ก.ค. มีอัตราผู้โดยสารขนส่งทางรางทุกระบบอยู่ที่ประมาณ 2.75 – 3 แสนราย ด้วยจำนวนตัวเลขผู้โดยสารที่ลดน้อยลงเช่นนี้ นั่นเท่ากับว่าประชาชนเลือกที่จะไม่ออกจากบ้านกันแล้ว และหากสถานการณ์ยังไม่ดีและรุนแรงขึ้น อัตราของผู้โดยสารก็อาจจะลดน้อยลงได้อีก         นอกจากนี้จากสถานการณ์โควิด 19 ยังส่งผลให้ รถเมล์ รถโดยสารต่างๆ มีจำนวนผู้โดยสารลดน้อยมากกว่า 80% เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มรถร่วมเอกชน ทั้งรถเมล์ รถตู้ และรถทัวร์โดยสารต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน หลายรายถึงขั้นถอดใจจอดรถหยุดวิ่งและบางรายยอมขาดทุนเลิกกิจการไปเลยก็มี เพราะไม่สามารถทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและค่าเชื้อเพลิงอีกต่อไปได้แล้ว         แตกต่างกับ ขสมก. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจและรัฐยังอุดหนุนค้ำจุนอยู่ แม้จำนวนผู้โดยสารจะลดลง แต่พันธะหน้าที่บริการรถเมล์ให้กับประชาชนของ ขสมก. จะหยุดตามไม่ได้ เพราะบริการรถเมล์ ขสมก. ถือเป็นเส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงไปทั่วทุกเส้นทางในเมืองหลวงแห่งนี้ หากหยุดวิ่งบริการเมื่อไหร่ เชื่อได้ว่าจะยิ่งส่งผลกระทบซ้ำเติมประชาชนในช่วงสถานการณ์ความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เพราะอย่าลืมว่าแม้รัฐบาลจะออกมาตรการขอความร่วมมือเชิงสั่งการให้ Work From Home 100% แต่ก็ยังมีประชาชนคนทำงานจำนวนมากที่ไม่สามารถทำได้ และคนเหล่านี้แหละ คือ กลุ่มคนที่ทำให้ ขสมก. อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้         อย่างไรก็ดีการให้บริการเดินรถเมล์ ขสมก. ภายใต้ความเสี่ยงของสถานการณ์โควิดแบบนี้ พนักงานด่านหน้าของ ขสมก. กลับกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ในทันที โดยพบว่ามีพนักงาน ขสมก. ทั้ง พนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสารจากหลายเส้นทางที่ทยอยกลายเป็นผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แม้ว่าเกือบทั้งหมดจะเป็นการติดเชื้อจากที่พักอาศัย ไม่ได้มีต้นทางจากการให้บริการ แต่พนักงานที่ติดเชื้อก็ต้องให้พักงานเพื่อรักษาตัว และพักการใช้รถ ทำความสะอาดฆ่าเชื้อ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่ใช้รถโดยสารสาธารณะอยู่ในขณะนี้         การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด 19 รอบนี้สั่นคลอนประเทศในทุกระบบจริง ๆ  และถ้าภายในสองถึงสามสัปดาห์ข้างหน้าต่อไปนี้ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ยังคงเป็นไปอย่างที่เป็นมา เชื่อว่าคงเป็นเรื่องยากที่เราจะฟื้นฟูทุกอย่างให้กลับคืนมาได้ทัน เพราะตอนนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายของทุกคนแล้ว ก่อนที่ระบบทั้งหมดจะพังทลายลง อย่างไรก็ดีหากจะมองหาแง่ดี (ที่น้อยนิด) ของวิกฤตครั้งนี้ที่อาจจะเป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส คือสามารถทำให้ระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองได้รับการพัฒนา เนื่องจากในขณะนี้ปัญหารถติดไม่ใช่ปัจจัยหลักอีกต่อไปแล้ว เพราะการจราจรบนท้องถนนในช่วงนี้อย่างน้อยก็ไม่ติดขัดเหมือนช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด 19         ดังนั้นการปรับนโยบายทดลองนำร่องให้ถนนบางสายบางช่วงเวลาเป็น Bus Lane สำหรับรถเมล์โดยไม่ต้องลงทุนก่อสร้างอะไรเพิ่ม รวมถึงการทดลองปรับระบบ และการควบคุมเวลาเดินรถให้สามารถทำรอบตามเวลาที่กำหนดได้ เพื่อเตรียมความพร้อมใช้งานยามเมื่อสถานการณ์โควิด 19 เบาบางลงแล้ว ก็ย่อมจะเป็นทางออกที่ดีของทุกฝ่ายและควรคิดที่จะเริ่มปรับแผนทดลองกันตั้งแต่ตอนนี้เลย แบบนี้จะดีไหมทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ปลาเส้นปรุงรส โปรตีนสูง ไขมันต่ำ แต่โซเดียมสูงปรี๊ด

        ฉลาดซื้อเคยทำสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ขนม (ของกินเล่น) ปลาเส้นปรุงรส ซึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้ขนมอบกรอบหรือขนมขบเคี้ยวอื่นๆ อย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งพบว่า การโฆษณาว่าโปรตีนสูง ไขมันต่ำนั้นไม่ผิด แต่เรื่องโซเดียมนั้นมีเพียบจริงๆ และยังคงไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เมื่อประกอบกับข้อมูลการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สแนกซ์หรือกลุ่มขนมขบเคี้ยวของสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ที่เราจะนำมาเสนอในครั้งนี้         ในการทำสำรวจฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยว ประจำปี 2564 ของ สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยนั้น ได้เก็บตัวอย่างสินค้ากว่า 400 ตัวอย่าง แบ่งเป็นขนมอบกรอบ ซึ่งทำจากแป้ง และแยกย่อยเป็นประเภทตามวัตถุดิบได้แก่ มันฝรั่ง ข้าวโพด สาหร่าย ถั่ว แครกเกอร์ บิสกิต เวเฟอร์ คุกกี้ และปลาเส้น (รวมปลาหมึกอบกรอบ ปลาแผ่น) เพื่อสำรวจปริมาณโซเดียมที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์ สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคทั้งในกลุ่มเสี่ยงต่ออาหารที่มีโซเดียมสูงอย่างผู้ป่วยโรคไต ความดันโลหิตสูง และผู้บริโภคทั่วไป โดยเฉพาะเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของสินค้าประเภทนี้ ได้ใช้ในการตัดสินใจเลือกบริโภคหรือเลี่ยงการบริโภคสินค้าที่มีโซเดียมสูง         ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลชุดนี้ โดยจะแบ่งเป็นตอนๆ ตามประเภทของผลิตภัณฑ์ โดยขอประเดิมด้วย ปลาเส้นปรุงรส          สรุปผล การสำรวจปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรส (รวมปลาแผ่น ปลาหมึกอบกรอบและหมูอบกรอบ) มีข้อสรุปดังนี้        1.ผลิตภัณฑ์ที่นำมาอ่านฉลากมีทั้งสิ้น 36 ตัวอย่าง        2.ขนาดบริโภคหรือหนึ่งหน่วยบริโภคอยู่ที่ประมาณ 12-43 กรัม        3.มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 180 – 810 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค        4.หน่วยบริโภคแม้จะน้อยแค่ 12-13 กรัม แต่ก็ให้ปริมาณโซเดียมสูงถึง 180 กรัม        5.ยิ่งมีการปรุงรสมาก รสแซ่บ รสเข้มข้น (การใช้วัตถุเจือปนอาหารหลายชนิด เช่น โมโนโซเดียมกลูตาเมต) ยิ่งมีปริมาณโซเดียมสูง         ติดตามผลการสำรวจได้จากภาพในหน้าถัดไป          คำแนะนำ        1.ผู้ปกครองควรใส่ใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรสของเด็ก และให้รับประทานแต่น้อย เพราะเป็นขนมที่มีปริมาณโซเดียมสูง        2.อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อหรือรับประทาน        3.เลี่ยงบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมสูง หรือแบ่งบริโภคในวันถัดไป ไม่บริโภคหมดซองในครั้งเดียว หรือเลือกซองเล็กแทนซองใหญ่ (เพราะในแต่ละวันร่างกายต้องรับโซเดียมจากอาหารอื่นๆ ด้วย)         4.ควรส่งเสียงถึงผู้ประกอบการให้พิจารณาจัดทำสินค้าที่ลดปริมาณโซเดียมลงเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน        5.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี เลขสารบบอาหารหรือ อย. หรือจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ขนส่งมวลชนกับการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกันได้อย่างไร ?

        42 ปีที่แล้ว 30 เมษายน 2522  ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่เป็นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นเป็นฉบับแรก อีก 19 ปีต่อมาประเทศไทยยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการกำหนดสิทธิของผู้บริโภคเพิ่มเป็น 5 ประการ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ประกอบไปด้วย 1.สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องครบถ้วน 2.สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ 3.สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ 4.สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และ 5.สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย           นอกจากนี้สิทธิของผู้บริโภคยังถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างต่อเนื่องถึงสามฉบับ เริ่มแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 57 ได้บัญญัติถึงสิทธิผู้บริโภค ไว้ว่า “สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง” ต่อด้วยในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 61 ที่เพิ่มการรับรองสิทธิของผู้บริโภคไว้ว่า “สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง ในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยา ความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค”         รัฐธรรมนูญ 2560 ได้พัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นอีกครั้งในมาตรา 46 ที่บัญญัติการรองรับสิทธิของผู้บริโภคไว้ว่า “สิทธิผู้ของบริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นอิสระเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค”         จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาสี่สิบปีที่ผ่านมา สิทธิของผู้บริโภคได้รับการยอมรับและรับรองไว้ในกฎหมายหลายฉบับ แม้โดยหลักการสิทธิของผู้บริโภคไทยอาจจะไม่ครอบคลุมถึงสิทธิด้านต่างๆ เทียบเท่าสิทธิผู้บริโภคสากลที่ถูกบัญญัติไว้ตั้งแต่เมื่อ 59 ปีที่แล้ว หรือเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 1962 โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นผู้บัญญัติวันสำคัญสากลนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อว่า Consumer Right Day โดยได้รับการรับรองจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ที่ปัจจุบันมีองค์กรสมาชิกจำนวน 222 องค์กร ใน 150 ประเทศทั่วโลก ที่เห็นร่วมกันถึงความสำคัญต่อสถานการณ์การคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้ร่วมกันกำหนดขอบข่ายสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องได้รับความคุ้มครองไว้        อย่างไรก็ดีแม้สิทธิของผู้บริโภคจะถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายหลายฉบับ แต่ในทางปฏิบัติยังพบปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องอยู่ในเกือบทุกประเภทของสินค้าและบริการ โดยเฉพาะปัญหาด้านบริการขนส่งมวลชน ที่นอกจากจะกลายเป็นต้นแบบปัญหาความเหลื่อมล้ำที่แบ่งแยกชนชั้นของผู้ที่ใช้บริการแล้ว ผู้บริโภคที่ใช้บริการยังต้องเจอกับการละเมิดสิทธิและจำยอมต่อความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยและไม่มีทางเลือกตามสิทธิที่ควรจะมี เช่น ความเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานจากอุบัติเหตุรถโดยสารพลิกคว่ำ รถโดยสารไฟไหม้ รถตู้บรรทุกเกิน รถผีรถเถื่อน รถเมล์เก่าควันดำ การคุกคามทางเพศ ตลอดจนปัญหาค่าโดยสารรถเมล์และรถไฟฟ้าแพง สูงเกินกว่าค่าแรงขั้นต่ำ และสูงมากเกินกว่าที่คนทั่วไปจะแบกรับได้         จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นำไปสู่แนวคิดการจัดระบบขนส่งมวลชนให้เป็นขนส่ง ”มวลชน” ของคนทุกกลุ่มที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าขนส่งมวลชนเป็นของมวลชนจริงๆ ทุกคนคงได้เห็นภาพบริการที่สะดวก ทั่วถึง ปลอดภัย ตลอดจนความสามารถของคนทุกคนที่จะเข้าถึงบริการที่ไม่ถูกแบ่งแยกชนชั้น ซึ่งต้นตอของปัญหานี้ต้องแก้ที่แนวคิดการทำให้ขนส่งมวลชนเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้กับประชาชน เพราะทุกวันนี้ปัญหาใหญ่ของขนส่งมวลชนในบ้านเรา คือ ความเหลื่อมล้ำที่นับวันจะใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 4 บัญญัติไว้ชัดว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง หรือสิทธิผู้บริโภค”         ที่สำคัญหากหลักคิดขนส่งมวลชนของคนทุกคน คือ Mass Transit ที่เป็นบริการสาธารณะและเป็นสิทธิของทุกคนต้องขึ้นได้นั้น สิ่งแรกต้องมองโครงสร้างระบบขนส่งมวลชนทุกประเภทให้เป็นระบบเชื่อมโยงกัน คือ รถเมล์ รถไฟฟ้า เรือโดยสาร จะคิดแยกส่วน สร้าง แก้ ซ่อม เป็นแต่ละส่วนนั้นทำไม่ได้ สองมองภาพรวมของขนส่งมวลชนในทุกระบบทั้งประเทศมาเชื่อมต่อกัน สามพัฒนาระบบขนส่งมวลชนแต่ละประเภทสนับสนุนเชื่อมร้อยกันและกันในการให้บริการแบบไร้รอยต่อ รวมถึงพัฒนาทางเท้าที่สะดวกคนทุกคนเข้าถึงได้จริงในทุกพื้นที่ และสี่ส่งเสริมให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการจัดบริการขนส่งมวลชนทุกระบบในทุกระดับ จัดทำความเชื่อมโยงของบริการขนส่งมวลชนทุกด้านทุกประเภท รวมถึงการมีส่วนร่วมในการจัดทำสัญญาสัมปทานของรัฐกับเอกชนที่ปัจจุบันไม่เปิดเผยข้อมูล ไม่โปร่งใส ไม่มีส่วนร่วมและสร้างภาระให้กับผู้บริโภค         ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน และบริการขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมคนทุกคนทั้งประเทศ และทำให้สิทธิของผู้บริโภคด้านขนส่งมวลชนเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งหากทำทั้งสี่ขั้นตอนนี้ได้ เป้าหมายลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและเพิ่มสัดส่วนการใช้ขนส่งมวลชนเพิ่มมากขึ้นคงไม่ไกลเกินฝัน หากทุกคนร่วมมือกัน เพราะขนส่ง”มวลชน”ไม่ใช่แค่ของหน่วยงานรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของคนทุกคนที่ต้องทำให้ขนส่งมวลชนเป็นของคนทุกคนได้อย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 กระแสต่างแดน

ส่วนลดความสะดวก        สมาร์ตการ์ดเป็นสิ่งที่มีใช้ในแทบทุกวงการในญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัตรโดยสารรถสาธารณะ แต่ผู้พิการหรือผู้ดูแลที่มีสิทธิได้รับส่วนลด กลับไม่สามารถใช้บัตรดังกล่าวกับรถไฟของบริษัทเจแปน เรลเวย์ (JR) ได้        พูดง่ายๆ หากต้องการส่วนลด 50%  ผู้โดยสารต้องแสดงบัตรประจำตัวผู้พิการ/ผู้ดูแล ก่อนซื้อตั๋วจากเจ้าหน้าที่  หรือหากใช้สมาร์ตการ์ดรูดไปก่อน เมื่อถึงที่หมายก็จะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอเงินคืน         กลุ่มพิทักษ์สิทธิผู้พิการในเมืองชิบะ สำรวจพบว่าการเดินทางด้วยรถไฟโดย “ใช้ส่วนลด” นี้ทำให้กลุ่มผู้พิการใช้เวลาเดินทางนานกว่าคนทั่วไป 35 นาที (เที่ยวเดียว) หรือ 56 นาที (ไปกลับ) กรณีผู้ใช้วีลแชร์จะใช้เวลานานขึ้นถึง 71 นาที เนื่องจากต้องหาลิฟต์และตู้รถไฟที่รองรับวีลแชร์ด้วย         ทางกลุ่มฯ ส่งข้อเรียกร้องไปยัง JR หลายครั้ง แต่บริษัทก็บ่ายเบี่ยงด้วยเหตุผลนานาประการ คราวนี้เขาจึงทำหนังสือถึงกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว เพื่อเรียกร้องให้มีสมาร์ตการ์ดสำหรับผู้พิการด้วย     คุณค่าที่อาจไม่ควร        กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมาสำนักข่าวซินหัวของรัฐบาลจีนออกมาประณามเหล่า “อินฟลูเอนเซอร์” คนดังบนแพลตฟอร์มโต่วยิน (หรือติ๊กต่อกในเวอร์ชันของจีน) ที่แชร์คลิปโอ้อวดชีวิตเลิศหรู สวนทางกับค่านิยมเรื่องความขยัน ประหยัด และอดทน         “บิ๊กโลโก้” ซึ่งมีผู้ติดตามถึง 27 ล้านคนรีบออกมาขอโทษ บอกว่า “ทำไปโดยไม่ได้คิด” เขาคนนี้โพสต์วิดีโอขณะกินอาหารในร้านหรูและเข้าพักในห้องระดับไฮเอนด์ของโรงแรมต่างๆ         “เสี่ยวหยู” ซึ่งมีผู้ติดตาม 6 ล้านคนก็เช่นกัน เขาทำคลิปนำชมศูนย์พักฟื้นสำหรับคุณแม่หลังคลอด ที่ให้บริการห้องพักขนาด 800 ตารางเมตร พร้อมทีมแพทย์และพยาบาลส่วนตัว รวมถึงนักโภชนาการและแม่บ้าน ในราคาคืนละ 100,000 หยวน (ประมาณ 485,000 บาท)         ซินหัวเตือนเหล่า “ผู้ติดตาม” ให้ระวังอย่าเป็นเหยื่อคนเหล่านี้ที่ทำทุกอย่างเพื่อยอดคลิก โดยไม่รับผิดชอบต่อเยาวชนหรือสังคม         ขณะนี้โต่วยินได้ปิดบัญชีที่มีคอนเทนต์ “บูชาความร่ำรวย” ไปแล้วกว่า 4,000 บัญชี      โปรดใช้ความระมัดระวัง        ในเดือนเมษายน คณะกรรมการด้านความปลอดภัยสินค้าของสหรัฐฯ ออกคำเตือนให้ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก หยุดใช้ลู่วิ่งออกกำลังกาย Tread+ ของค่าย Peloton เนื่องจากมีรายงานอุบัติเหตุในเด็กถึง 38 ครั้ง และมีเด็กเสียชีวิตแล้ว 1 ราย         ขณะนี้คณะกรรมการกำลังทำการสอบสวนเพิ่มเติม และให้คำแนะนำผู้บริโภคว่า หากยังต้องการใช้เครื่องออกกำลังกายดังกล่าวต่อไป ก็ต้องมั่นใจว่านำไปตั้งในห้องที่ล็อคประตูกันเด็กเข้าได้         ทางด้านบริษัท Peloton ยอมรับว่าข่าวที่มีเด็กเสียชีวิตขณะใช้เครื่อง Thread+ และอีกรายที่สมองได้รับความกระทบกระเทือนนั้นเป็นความจริง         แต่ก็ตอบโต้ว่า “คำเตือน” ของคณะกรรมการฯ มีข้อมูลที่ยังไม่ถูกต้องนัก และยืนยันว่าผู้บริโภคไม่มีความจำเป็นต้องหยุดใช้อุปกรณ์ที่ว่า หากทำตามคำแนะนำเรื่องความปลอดภัยที่แจ้งไว้ในคู่มืออย่างเคร่งครัด ไม่ส่งแล้วจ้า        เกษตรกรในออสเตรเลียต้องรีบหาช่องทางใหม่ในการจัดส่ง “ผลิตภัณฑ์ที่เน่าเสียได้” ไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง เนื่องจากตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2564 ไปรษณีย์ออสเตรเลียซึ่งเป็นบริษัทที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ จะหยุดให้บริการจัดส่งสินค้าดังกล่าว         เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจที่หันมาจัดส่งสินค้าถึงบ้านโดยตรงตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาด รวมถึงร้านอาหารที่เชฟจะใช้วัตถุดิบหายากมารังสรรค์เมนูเอาใจลูกค้าเพื่อสร้างเทรนด์และเปิดโอกาสให้กับเกษตรกรได้ทำตลาด         แน่นอนยังมีอีกหลายพื้นที่ห่างไกลที่ผู้ผลิตอาหารต้องพึ่งพา Australia Post ในการจัดส่ง เนื่องจากไม่มีเจ้าอื่นให้บริการ         บริษัทบอกว่าจำเป็นต้องเลิกจัดส่งสินค้าที่มีการควบคุมอุณหภูมิ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ปลา ผัก ผลไม้ อาหารแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์จากนม เนื่องจากกฎหมายหรือข้อบังคับด้านความปลอดภัยทางอาหารที่ซับซ้อนและแตกต่างกันในแต่ละเขตหรือมลรัฐ  ขอผลข้างเคียง        Consumer NZ หรือองค์กรผู้บริโภคนิวซีแลนด์ ออกมาเรียกร้องให้มีการแสดงข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงของ “ซีรัมบำรุงขนตา” ผลิตภัณฑ์ราคาแพงที่มียอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในนิวซีแลนด์ขณะนี้         ใครบ้างจะไม่อยากมีขนตายาวงอนงามสีเข้มในเวลาไม่กี่สัปดาห์ (โฆษณาเขาอ้างว่าอย่างนั้น) แถมผลิตภัณฑ์ซึ่งมีส่วนผสมของโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) เหล่านี้ยังระบุไว้อีกว่า “ไม่ระคายเคือง” หรือ “คิดค้นสูตรโดยแพทย์” อีกด้วย         ในขณะที่ซีรัมเหล่านี้อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบในสหภาพยุโรป หลังมีรายงานเรื่องผลข้างเคียงในผู้ใช้ เช่น เปลือกตาบวม และอาการแสบร้อนในดวงตา         Consumer NZ ซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้หลายยี่ห้อมาส่องฉลากดู ก็ไม่พบคำเตือนใดๆ มีเพียงหนึ่งยี่ห้อที่ให้คำเตือนไว้ในสมุดพับเล่มเล็กๆ ในกล่อง ซึ่งหมายความว่าต้องซื้อไปก่อนจึงจะได้ข้อมูล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 กระชับรูขุมขน

        หลายคนพอส่องกระจกแบบชิดใกล้เห็นรูขุมขนบริเวณจมูก โหนกแก้ม หน้าผาก แล้วอาจเกิดความเครียดเอาได้ง่ายๆ เพราะกังวลใจในเรื่องของรูขุมขนที่ขยายกว้างทำให้ผิวดูไม่เรียบเนียน จริงๆ ถ้าไม่ได้มีปัญหาสิว สิวอักเสบ มันก็เป็นเรื่องปกติของผิวบริเวณนั้น เป็นเรื่องธรรมชาติที่เป็นกันทุกคน เห็นชัด ไม่ชัด ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งกรรมพันธุ์ เชื้อชาติ ประเภทของผิว การสัมผัสแดดหรืออายุ         แต่เชื่อไหมว่า รูขุมขนกว้างเป็นปัญหาลำดับต้นๆ ที่สาวไทยกังวล ทำให้มีผลิตภัณฑ์และรูปแบบการรักษานำมาเสนอขายกันไม่หวาดไหว ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ต้องรักษาเพราะไม่ได้เป็นภาวะผิดปกติ และรูขุมขนกว้างทำให้หายไปไม่ได้ มีแต่เพียงวิธีที่จะช่วยทำให้มันดูกระชับขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น         รูขุมชนที่ดูกว้างจนเห็นชัดเจนนั้นเกิดจากต่อมผลิตไขมันใต้ผิวหนังขยายขนาดใหญ่ขึ้นกว่าปกติ โดยผิวหนังบริเวณรอบๆ จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรืออักเสบ กล่าวคือไม่ได้เจ็บปวดอะไร ไม่พยายามไปยุ่งกับมันแค่ทำความสะอาดเพื่อลดปริมาณสิ่งสกปรกก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าอยากจะกระชับรูขุมขนบนผิวหน้าเพื่อให้แลดูเล็กลงสักนิด ต้องเริ่มที่การทำความสะอาดและลดปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง                 การทำความสะอาดผิวหน้า        ล้างหน้าให้สะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน ไม่ผสมสารที่อาจทำให้เกิดความระคายเคือง หรือมีค่ากรดด่างที่เข้มข้น และไม่ควรล้างหน้าบ่อยเกินไปเพราะผิวจะยิ่งแห้งและเร่งการผลิตไขมัน ยิ่งทำให้รูขุมขนขยายกว้างขึ้น         การบำรุงผิว         เลือกครีมบำรุงผิวที่เหมาะสมกับสภาพผิว เลี่ยงครีมบำรุงที่ผสมน้ำมันหนักๆ เพราะเมื่อน้ำมันรวมกับเซลล์ผิวที่ตายอาจเกิดการอุดตันที่บริเวณรูขุมขน กลายเป็นสิวอักเสบได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้รูขุมขนไม่กระชับ         การแต่งหน้า         ช่วยปกปิดรูขุมขนกว้างได้แน่ๆ แต่เลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสภาพผิวและต้องล้างทำความสะอาดก่อนนอนไม่ปล่อยให้เกิดการตกค้างบนผิว         ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงยูวี         รังสียูวีเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีส่วนทำให้รูขุมขนขยายกว้าง เพราะทำลายคอลลาเจน อีลาสติน บนผิวทำให้ผิวขาดความยืดหยุ่นไม่กระชับ         ไม่สัมผัสหน้าด้วยมือบ่อยๆ           เพราะอาจนำสิ่งสกปรกสู่ผิว ไม่บีบหรือเค้นสิว ควรรักษาให้ถูกวิธี         ทำให้ผิวแห้งและลดความมัน         การทำผิวให้แห้งจะทำให้ชั้นเคราตินหดตัวเล็กลง จึงดูเหมือนว่ารูขุมขนมีขนาดเล็กลงด้วย โดยอาจเลือกใช้คลีนเซอร์แบบ oil-control หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของซาลิไซลิค เอสิด ซึ่งจะช่วยป้องกันความมันบนใบหน้าได้         ลดความมันของผิวด้วยการมาสก์หน้าเฉพาะจุด         ผิวหน้าในแต่ละจุดอาจมีความมันไม่เท่ากัน ทำให้บางจุดดูรุขุมขนกว้างกว่าบริเวณอื่น ดังนั้นส่วนที่รูขุมขนกว้างผิวมันมาก อาจมาสก์เฉพาะจุดนั้นๆ เช่น จมูก หน้าผาก โดยทำตามวิธีที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและล้างให้สะอาด         ลดความมันบนผิวหน้าระหว่างวัน         กลางวันอาจใช้กระดาษซับมันช่วยลดความมันบนใบหน้า และลดสิ่งสกปรกที่ค้างบนผิว         การใช้บริการคลินิกความงาม         ควรเลือกใช้วิธีที่ได้มาตรฐานมีการควบคุมด้วยผู้เชี่ยวชาญ ที่สำคัญต้องจำไว้ว่า ยังไม่มีวิธีการทางแพทย์วิธีใดที่จะทำให้รูขุมขนกว้างหายไปได้ และอาจจะยิ่งเสี่ยงก่อให้เกิดปัญหากับผิวมากยิ่งขึ้นหากเลือกวิธีการที่ไม่เหมาะสม จึงควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนเลือกใช้บริการ         แอปพลิเคชั่น         วิธีนี้ไม่ทำให้รูขุมชนกว้างหายไปจากใบหน้า แต่ช่วยให้เวลาถ่ายรูปออกมาแล้วสวยเนียนกริบได้แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 สงสัยจริงจังราคาวีไอพี แต่ทำไมไม่มีบริการพิเศษ

หากจำเป็นต้องเดินทางไปต่างจังหวัด หลายคนต้องพึ่งพาบริการขนส่งมวลชน ไม่ว่าจะเป็นรถทัวร์โดยสารหรือเครื่องบิน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าสะดวกเดินทางแบบไหน แต่ไม่ว่าจะใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะประเภทใด ก็ควรต้องได้รับการบริการที่ปลอดภัย พร้อมบริการที่คุ้มค่าและได้มาตรฐาน        คุณนิชรัตน์ มีธุระต้องไปทำงานที่จังหวัดขอนแก่นแบบเร่งด่วน ในช่วงเย็นจึงรีบเก็บกระเป๋าและนั่งรถเมล์มาที่สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต เธอซื้อตั๋วโดยสารกับบริษัทรถทัวร์แห่งหนึ่ง ซึ่งระบุว่าเป็นตั๋ววีไอพีของรถเสริมในราคา 700 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาปกติเกือบสองเท่า คุณนิชรัตน์ไม่มีทางเลือกอื่นเพราะว่าวันนั้นถ้าไม่จ่ายราคานี้ก็จะไม่มีเที่ยวรถอื่นบริการอีก         หลังจากรถออกจากสถานีขนส่งหมอชิตมุ่งสู่จังหวัดขอนแก่น ระหว่างเดินทางคุณนิชรัตน์ ไม่ได้รับการบริการอาหาร น้ำดื่ม รวมถึงผ้าห่มที่เธอคุ้นเคยว่าต้องมีบริการเหล่านี้ หรือเพราะว่าเป็นรถเสริม แต่ทว่าราคาตั๋วที่จ่ายนั้นมีราคาแพง และก็เรียกว่า วีไอพี แต่ทำไมบริการถึงได้แย่ขนาดนั้น ไม่สมกับราคาเลย คุณนิชรัตน์คิดว่าสิ่งนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงได้ร้องกับสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นเพื่อขอคำแนะนำในการแก้ปัญหาดังกล่าว แนวทางการแก้ไขปัญหา         สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ได้ประสานงานกับศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งต่อมาได้รับการแจ้งว่า ทางศูนย์ฯ พบว่า ผู้ให้บริการรถทัวร์โดยสารที่คุณนิชรัตน์เดินทางนั้น จำหน่ายตั๋วในราคาแพงกว่าปกติจริง ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารจึงมีคำสั่งให้บริษัทฯ คืนเงินส่วนต่างค่าตั๋วโดยสารให้กับผู้บริโภค และดำเนินการเปรียบเทียบปรับผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมาย         ดังนั้น ผู้บริโภคหากมีข้อสงสัยว่า บริการรถทัวร์ที่ท่านใช้งานนั้นกระทำการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น ไม่แสดงอัตราค่าโดยสาร ณ บริเวณจุดจำหน่ายตั๋ว หรือพนักงานขายตั๋วออกตั๋วโดยสารโดยไม่มีใบเสร็จ หรือท่านต้องจ่ายเงินค่าโดยสารเกินกว่าตัวเลขที่ปรากฏอยู่บนตั๋วหรือใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งการนำรถเสริมมาให้บริการ หรือการปรับค่าตั๋วโดยสารโดยไม่มีเอกสารอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก รวมทั้งงานบริการที่ไม่มีมาตรฐาน ท่านสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารฯ กรมการขนส่งทางบก สายด่วน 1584 และขอแนะนำให้ผู้บริโภคเก็บตั๋วโดยสารไว้ด้วยทุกครั้งที่เดินทาง และภ่ายภาพเลขรถโดยสารคันที่ท่านใช้บริการไว้ด้วย จะช่วยให้จดจำเลขประจำรถได้สะดวกขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 เหล็กจ๋ามาได้อย่างไรในขนมถุง

        เมื่อเจอของแปลกปลอมในผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุในแพกเกจทันสมัย ดูสะอาดปลอดภัย ย่อมเป็นสิ่งที่สะท้อนปัญหาของขั้นตอนการผลิต ซึ่งผู้บริโภคไม่ควรมองข้าม เราต้องช่วยกันสะท้อนปัญหากลับไปสู่ผู้ผลิตให้รีบจัดการแก้ไข เพราะไม่เพียงช่วยให้เราได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม ยังเป็นการช่วยให้ผู้บริโภคคนอื่นได้รับการคุ้มครองด้วย         คุณเสาวลักษณ์ ชอบรับประทานขนมถุงกรุบกรอบมาก โดยเฉพาะขนมที่ทำจากแป้งข้าวโพด มียี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่งที่รับประทานเป็นประจำ แต่วันหนึ่งขณะกำลังจะหยิบชิ้นขนมเข้าปาก ตาก็เหลือบไปเห็นสิ่งผิดปกติเข้า สิ่งนี้สะท้อนแสงแวววาว ซึ่งไม่ควรจะมีอยู่ในถุงขนม มันคือ เศษเหล็ก คล้ายๆ ลวดตะแกรง          “ดีนะยังไม่ได้กินเข้าไป” คุณเสาวลักษณ์นึกดีใจนิดๆ แล้วรีบถ่ายภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน และโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ว่าควรทำอย่างไรดี แนวทางแก้ไขปัญหา         เมื่อเกิดปัญหาลักษณะนี้ สิ่งที่ต้องทำคือ รวบรวมหลักฐาน อย่างแรกคือ ถ่ายภาพสินค้าและสิ่งแปลกปลอม ภาพถ่ายของฉลาก วันหมดอายุ  และเก็บบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวไม่ให้ปะปนกับสิ่งอื่นต่อมาคือ ถ้าหากยังมีใบเสร็จหรือใบแสดงรายการสินค้า(สลิป) ที่เป็นหลักฐานการซื้อขาย ต้องเก็บไว้ให้ดี พร้อมนำหลักฐานที่รวบรวมได้ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ         จากนั้นควรติดต่อแหล่งจำหน่ายสินค้า ว่าจะช่วยเหลือหรือชดเชยอะไรให้กับเราได้บ้าง ควรกำหนดความต้องการไว้เป็นแนวทาง เช่น ขอเปลี่ยนหรือคืนสินค้า ในกรณีที่ซื้อสินค้าจากแหล่งที่ไกลบ้าน อาจกำหนดเรืองค่าเดินทางไว้ในรายการที่ต้องการให้ทางร้านค้าชดเชยให้กับเราด้วย          บางครั้งไม่อยากติดต่อกับแหล่งจำหน่าย ก็สามารถติดต่อไปที่แหล่งผลิตสินค้า เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น         อย่างไรก็ตาม หากมีการขอรับสินค้าไปตรวจสอบ ควรมีคนกลางเช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพยานในการส่งมอบสินค้าให้กับทางผู้ประกอบการหรือผู้ผลิต เพื่อเป็นหลักฐานการดำเนินการ         ในกรณีของคุณเสาวลักษณ์ ไม่ได้ต้องการการชดเชยเป็นตัวเงินหรือการเปลี่ยนสินค้า เพราะมูลค่าของสินค้าไม่ได้มีราคาสูง แต่ต้องการให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ช่วยในการแจ้งความผิดปกติของสินค้าต่อหน่วยงานกำกับดูแล  เพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิตของบริษัทขนมว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ทางศูนย์ฯ จึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และได้รับการตอบกลับจาก อย.ว่า ได้นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโรงงานผลิตขนมดังกล่าว และพบว่า ส่วนของสายพานที่เป็นตัวรองรับชิ้นส่วนของขนมข้าวโพดอบกรอบ มีบางส่วนชำรุดเสียหาย เนื่องจากความร้อนของเครื่องจักร ทำให้เหล็กบางส่วนหลุดเข้ามาในขนมที่ผ่านสายพาน ทางเจ้าหน้าทึ่จึงได้สั่งให้หยุดการใช้เครื่องจักรดังกล่าว และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เสร็จ และให้ทางโรงงานทำรายงานการซ่อมบำรุงเครื่องจักรส่งต่อยัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ทางโรงงานติดตั้งเครื่องตรวจจับโลหะเพื่อให้กระบวนการผลิตอาหารมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เกิดปัญหากับขนมของร้านเบเกอรีทำอย่างไรดี

        เบเกอรี (bakery) หรือขนมอบ เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมาก ปัจจุบันมีร้านหรือแบรนด์ (Brand) เบเกอรี่ดังๆ จำนวนมากอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ทำให้เกิดการแข่งขันกันสูง ทั้งเรื่องมาตรฐานการผลิตและการบริการ รสชาติ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีมาตรฐานสูงเพียงใด แต่ความผิดพลาดยังอาจเกิดขึ้นได้         ภูผา เป็นลูกค้าประจำของร้านเบเกอรีสัญชาติสิงคโปร์มาเป็นเวลาหลายปี  ด้วยมั่นใจในแบรนด์และมาตรฐานการผลิตระดับสากล เขาได้ซื้อขนมปังจากร้านนี้ที่สาขา เซ็นทรัลปิ่นเกล้า เป็นประจำ วันหนึ่งเขาเลือกซื้อขนมอบสามชิ้น ได้แก่ Coconut Floss, Fire Floss(ขนมปังไก่หยองน้ำพริกเผา) และ Mini Smart Cheese แต่ไม่ได้รับประทานทันที เก็บใส่ตู้เย็นไว้เพื่อเป็นอาหารเช้าวันถัดไป         วันรุ่งขึ้นคุณภูผานำขนมปังไก่หยองน้ำพริกเผามากินกับกาแฟ เมื่อกินได้ประมาณครึ่งอันขณะกัดขนมปังเข้าปากและเคี้ยวอยู่ก็รู้สึกแปลกๆ ทำไมในขนมปังมีอะไรแข็งๆ จึงคายออกมา พบว่าเศษแข็งๆ ที่เคี้ยวนั้นเป็นเศษพลาสติกความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร หนา 0.2 มิลลิเมตร ซ้ำมีลักษณะแหลมคมด้วย เขาจึงมีความกังวลว่าถ้าเขาเผลอกลืนเศษพลาสติกลงคอไปจะเกิดอะไรขึ้น และถ้าคนที่กินขนมปังมีเศษพลาสติกนี้เป็นเด็กหรือคนแก่จะเกิดอะไรขึ้น         คุณภูผาจึงไม่อยากปล่อยเหตุการณ์ผ่านไป เขาต้องการให้ผู้ผลิตรับผิดชอบกับเหตุการณ์ครั้งนี้จึงได้แจ้งเรื่องดังกล่าวไปยังอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คของร้านขนมปัง แต่เรื่องก็เงียบหายไป ไม่มีความคืบหน้า จึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า กรณีเช่นนี้สามารถทำอะไรได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ให้คำแนะนำแก่คุณภูผาว่า การพบเศษพลาสติกปนเปื้อนในขนมปัง เป็นการกระทำความผิดเข้าข่ายผิด พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ โดยมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เบื้องต้นจึงแนะนำให้ผู้ร้องแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ เพื่อเป็นหลักฐานเสียก่อน         จากนั้นศูนย์ฯ ได้ช่วยดำเนินการทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และผู้บริหารห้างเซ็นทรัลเพื่อขอให้ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ขนมปังร้านดังกล่าว และมีหนังสือถึงบริษัทเจ้าของแบรนด์เบเกอรีดังกล่าวเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค           จากการเจรจาไกล่เกลี่ย ตัวแทนบริษัทผู้ผลิตได้กล่าวขอโทษผู้ร้องคือคุณภูผา ที่ดำเนินเรื่องให้ล่าช้า และชี้แจงว่าหลังจากทราบเรื่องทางบริษัทได้ตรวจสอบและพบว่าเศษพลาสติกที่ผู้ร้องพบนั้น มาจากฝากล่องพลาสติกใส่ทอปปิ้งซึ่งแตกออกมาและหล่นลงไปในขนมปังระหว่างกระบวนการผลิต ซึ่งพนักงานไม่เห็น ดังนั้นปัจจุบันบริษัทได้เปลี่ยนกล่องใส่ทอปปิ้งทั้งหมด และมีนโยบายให้เปลี่ยนกล่องใส่ทอปปิ้งทุก 3 เดือน หรือนานสุด 6 เดือน ซึ่งแต่เดิมบริษัทจะเปลี่ยนเมื่อกล่องหรือฝากล่องชำรุดเท่านั้นไม่มีระยะเวลาแน่นอน และบริษัทได้จัดทำใบตรวจสอบการทำงาน (Checklist) เพิ่มเติม เพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้กับพนักงาน         คุณภูผาพอใจกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของบริษัทฯ และหวังว่าบริษัทฯ จะมีการปฏิบัติที่ดีในการผลิตไม่ทำให้เกิดปัญหาอีกในอนาคต สำหรับการเยียวยานั้น ทางบริษัทยินดีมอบเค้กขนาด 2 ปอนด์ จำนวน 1 ก้อนเพื่อชดเชยให้ ซึ่งเจตนาของคุณภูผาเดิมก็เพียงแค่อยากให้เกิดการแก้ไขปัญหาเท่านั้น จึงรับการเยียวยานี้ไม่ติดใจอะไรอีกและยินดีเป็นลูกค้ากันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 นโยบายคมนาคมขนส่งที่ เป็นธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยองค์กรภาคประชาชน ในเยอรมนี

             วันนี้ผมขอนำเสนอรูปแบบ การร่วมเสนอนโยบาย โดยองค์กรภาคประชาชน ที่ไม่ใช่พรรคการเมือง ในด้านคมนาคม การจราจร และการเดินทางของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมา ปัญหาด้านการจราจรและการขนส่ง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตเมือง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องปัญหาคุณภาพอากาศ และปัญหาในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพถูมิอากาศ เนื่องจากการกำหนดนโยบายการคมนาคมและการเดินทาง อยู่ในอิทธิพลของพรรคการเมือง และก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาวะของประชาชน        ซึ่งการก่อตั้งองค์กรภาคประชาชน ในรูปแบบสมาคมซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 มีหลักการสำคัญ คือ เพื่อเปลี่ยนผู้บริโภคจากผู้ดู ให้เป็นผู้เล่นทางการเมือง การมีองค์กรที่เป็นกลางทางการเมืองในรูปแบบสมาคม จึงมีความจำเป็น และมีความสำคัญ เพื่อทำให้เกิดการสร้างแรงกดดันทางการเมืองขอฃประชาชน โดยเฉพาะกับพรรคการเมือง ที่มักจะมีอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร โดยได้รับอิทธิพลจากบริษัทยักษ์ใหญ่ ด้วยการ Lobby         สำหรับการทำงานขององค์กรลักษณะนี้ มีนโยบายสนับสนุน ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพิ่มการสัญจรทางเท้า เพิ่มการใช้รถยนต์โดยสารสาธารณะ และลด ละเลิกการใช้พลังงานฟอสซิล และเพิ่มเส้นทางการคมนาคมสัญจร และราคาที่เป็นธรรมประชาชนสามารถจ่ายได้ เพื่อที่จะลดปริมาณการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับลูกหลานในอนาคตในที่สุด        สำหรับรูปแบบการทำงานของภาคประชาสังคมที่มีความยึดโยงและใกล้ชิด กับประชาชน ในประเทศเยอรมนี คือ สมาคมเพื่อการคมนาคมแห่งเยอรมนี (Verkehrsclub Deutschland e.V.)         ตัวอย่างประเด็นการขับเคลื่อน นโยบายด้านการจราจรและคมนาคม        ·        นโยบาย ด้าน การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสมาคมไม่ได้ต่อต้านการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แต่สนับสนุนและให้ความรู้กับประชาชนในการรู้จักเลือกใช้รถยนต์ส่วนบุคคลอย่างฉลาด ตลอดจนตรวจสอบความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของรถยนต์แต่ละยี่ห้อ เสนอทางเลือกการเดินทางนอกเหนือจากรถยนต์ส่วนบุคคล การลดระดับมลพิษทางด้านเสียงและอากาศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทาง เพื่อประโยชน์สุขของทุกคน        ·         นโยบายการเดินทางด้วยระบบราง เนื่องจากวิถีชีวิตของคนในสังคมปัจจุบัน การเดินทางไม่ว่าจะเดินทางไปทำงาน เดินทางท่องเที่ยว เดินทางเพื่อทำการค้า ทำธุรกิจ หรือการเดินทางเพื่อไปพบปะญาติมิตร ในแต่ละวันจะมีผู้คนเป็นจำนวนหลักหลายล้านที่อยู่ระหว่างการเดินทาง ดังนั้น การใช้ระบบรางในการเดินทาง จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญ เนื่องจาเป็นระบบขนส่งคนจำนวนมากที่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ ประเด็นสำคัญที่จะต้องคำนึง คือ เรื่อง ราคาที่ทุกคนสามารถจ่ายได้    ·        นโยบายการใช้รถไฟฟ้า (Electromobility) ปัจจุบันมีคำถามว่า เป็นกระแส หรือเป็นทางรอดของมนุษยชาติ สำหรับ นโยบายเรื่องรถไฟฟ้า จะต่างจาก รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Personal Car) ที่เรากำลังขับเคลื่อนกันอยู่ สำหรับประชาชนชาวเยอรมันปัจจุบัน มากกว่า 2 ใน 3 ที่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นแบบ Electromobility และใช้จักรยานไฟฟ้า ไม่น้อยกว่า 4 ล้านคนต่อวัน        ·        นโยบายการใช้รถบัสในการเดินทางระยะไกล เนื่องจากในปี 2013 ได้เริ่มอนุญาตให้มีการเดินรถบัสสาธารณะ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางไกล นอกเหนือจากการใช้รถไฟ ในอดีตตั้งแต่ปี 1930 มีการห้ามการเดินรถบัส ในเส้นทางที่มีรถไฟให้บริการอยู่แล้ว ยกเว้นเส้นทางไปสู่สนามบิน หรือ เส้นทางในเมืองที่แสดงสินค้า (Expo City) ในกรณีนี้ ทางสมาคมมีจุดยืนในการเลิกระบบผูกขาด ด้วยระบบการเดินทางระบบรางเพียงอย่างเดียว แต่สนับสนุนให้มีทางเลือก ในการเดินทาง เพื่อสนับสนุนการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม        ·        การเดินทางทางอากาศ กระแสการเดินทางทางอากาศที่เป็นที่นิยม ด้วยราคาที่ดึงดูดและล่อใจผู้โดยสาร ทำให้ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากการเดินทางทางอากาศ ตั้งแต่ปี 1990 และถ้าพิจารณากระแสความนิยมการเดินทางทางอากาศทั่วโลก ก็จะส่งผลให้ เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทบเป็นไปไม่ได้เลย สมาคมมีจุดยืนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางทางอากาศ มาตรการในการจัดการเรื่องนี้ คือ การใช้ระบบ CO2 – Emission trade ซึ่งในปี 2020 จะเริ่มมีการใช้ เครื่องมือนี้ ทั่วโลกในการจัดการกับปัญหาก๊าซเรือนกระจกจาการเดินทางทางอากาศ         ·        การเดินทางทางเท้า ซึ่งถือว่าเป็นการเดินทางรูปแบบหนึ่ง ในประเทศเยอรมนีเอง ก็ยังมีนโยบายในการสนับสนุนการเดินทางด้วยการเดิน น้อย และมักให้สิทธิพิเศษกับ รูปแบบการเดินทางด้วยรถ หรือ รถยนต์ในการใช้ถนนสาธารณะ ภายใต้แนวคิด การไหลของการจราจรของรถยนต์ แทนที่จะมีแนวคิดให้ เกิดการไหลของการจราจรแก่คนเดินเท้า ซึ่งสมาคมสนับสนุนให้เกิดการไหลของการจราจรของคนเดินเท้า ซึ่งจากแนวคิดนี้ จะไปสนับสนุนให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี กับผู้คนในเมือง เพราะจราจรคือ ชีวิตของผู้คน ไม่ใช่ชีวิตของรถยนต์        ·        การขนส่งสินค้า จำนวนสินค้าที่ขนส่งในประเทศเยอรมนีแต่ละปี  คือ 4,500 ล้านตัน หรือเท่ากับ 50 ตัน ต่อประชากรเยอรมนี 1 คน และในรอบ 25 ปี อัตราการขนส่งสินค้า เพิ่มเป็น 2 เท่า ส่วนใหญ่ ใช้การขนส่งผ่านรถบรรทุก ซึ่ง มีการปล่อยก๊าซจากการเผาไหม้ เครื่องยนต์ดีเซล ทางสมาคม จึงเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปนโยบายการขนส่ง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการเรียกเก็บภาษี และค่าธรรมเนียมจากการปล่อยมลพิษ ที่สะท้อนต้นทุนจริงในการขนส่ง และสนับสนุนให้ใช้การขนส่งระบบราง และการขนส่งทางเรือ ในการขนส่งสินค้าที่ต้นทุนต่ำกว่า        ·        นโยบายสนับสนุนการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดกรปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการคมนาคมขนส่ง เนื่องจาก 90 % ของพลังงานที่ใช้ในระบบคมนาคมขนส่ง มาจาก พลังงาน ฟอสซิล ในประเทศเยอรมนี 1 ใน 5 ของก๊าซเรือนกระจกมาจากการคมนาคมขนส่ง และ 96% มาจากการปล่อยก๊าซจากท่อไอเสียของรถยนต์และรถบรรทุก ซึ่งเยอรมนีมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2050 เพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ        ·        นโยบายอากาศสะอาด สำหรับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอากาศสะอาดคือ ชีวิต มนุษย์และสิ่งแวดล้อมจะดำรงอยู่ได้ภายใต้อากาศที่สะอาด ควันพิษจากรถยนต์ และเขม่าควันดำ เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและโรคทางเดินหายใจ เป็นต้นทุนของสังคมที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง        ·        การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเมือง เป็นทางเลือกที่สำคัญ กว่าการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ดังนั้นนโยบายนี้จึงต้องเพิ่มการเข้าถึงให้ทุกคนสามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้ และผู้โดยสารใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวกปลอดภัย ในราคาที่เป็นธรรม        ·        การเดินทางของผู้สูงวัย และการเดินทางของคนทุกวัย เนื่องจากการเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของคุณภาพชีวิตที่สำคัญ และเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการมีส่วนได้ส่วนเสียของสังคม และของปัจเจก ดังนั้นคนสูงวัยก็มีความจำเป็นที่จะสามารถเดินทางได้ ไม่ว่าจะเป็น การเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะ การใช้ถนน เส้นทาง โดยมีประเด็นในการขับเคลื่อนคือ ความปลอดภัย ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพึ่งพาตนเองได้        ·        การอบรมให้ความรู้ในเรื่องการคมนาคมและจราจรแก่ เด็กและคนสูงวัย ที่เป็นธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก เด็กคืออนาคตของชาติ สมาคมให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ การฝึกอบรมกับเด็กและวัยรุ่น และ ผู้สูงวัย ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ต้องอาศัย แนวความคิดใหม่    ·        การเดินทางแบบหลากหลาย และการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างการเดินทาง (Multimodality and Intelligent Networking on the Ways)แนวความคิดการเดินทางแบบนี้ คือ ไม่ได้มีรถยนต์ส่วนตัว แต่ มีรถยนต์แบบ car sharing ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและรถโดยสารสาธารณะ ที่เชื่อมต่อโดยผ่านทางเครือข่ายข้อมูลการเดินทาง สำหรับการเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัวในเมืองใหญ่ มีภาระที่ต้องแบกรับมากไม่ว่าจะเป็น ที่จอดรถ เงินประกัน และภาษี        ·        การเดินทางด้วยรถจักรยาน เป็นรูปแบบการเดินทางที่มีประโยชน์ ทั้งในแง่สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม การเดินทางด้วยจักรยานในเมือง ใช้เวลาน้อยกว่าในการถึงจุดหมาย ดังนั้นสิ่งที่สมาคมเรียกร้อง ในการขับเคลื่อนนโยบายการใช้จักรยานในเมืองคือ มีที่จอดรถจักรยานสาธารณะที่เพียงพอ และปลอดภัย มีการลงทุนสร้างทางจักรยานที่ได้คุณภาพและปริมาณ ของเส้นทางที่เชื่อมต่อกัน และมีกฎหมายที่อนุญาตให้นำรถจักรยานขึ้นไปบนรถโดยสารสาธารณะได้        ·        นโยบายความปลอดภัยบนท้องถนน ในปี 2017 มีคนเสียชีวิตบนท้องถนนจากอุบัติเหตุ ถึง 3,177 คน อีก 390,000 คน ได้รับบาดเจ็บ การขับเคลื่อนให้เกิดการจำกัดความเร็วบนท้องถนน เป็น เรื่องหนึ่งในอีกหลายเรื่องที่มีความสำคัญ แต่อย่างไร ก็ตามในระดับนโยบายมีการขยับน้อยมากในเรื่อง นโยบายความปลอดภัยบนท้องถนน         ·        นอกจากนี้ ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่สมาคมให้ความสำคัญและทำงานขับเคลื่อนอยู่ไม่ว่า จะเป็น เรื่อง การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน การเดินทางและที่อยู่อาศัย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การออกแบบนโยบายการคมนาคมขนส่งสาธารณะ        ผลงานที่สำคัญ คือ การได้รับการชื่นชมจากคณะกรรมการ UNESCO แห่งเยอรมนี ถึง 2 ครั้ง ในประเด็นการให้ความรู้แก่สาธารณะในเรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2011/2012 และ ปี 2013/2014        แนวทางการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม ในประเด็นการคมนาคมขนส่ง ในประเทศเรา สามารถเรียนรู้จากองค์กรนี้ได้ และประยุกต์ให้เข้ากับบริบททางสังคมของประเทศเรา        แหล่งข้อมูล เวบไซต์ของสมาคมเพื่อการคมนาคมแห่งเยอรมนี (Verkehrsclub Deutschland e.V.) https://www.vcd.org/startseite/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 บริการขนส่งมวลชนที่พึงปรารถนา

        ปัญหาเร่งด่วนและสำคัญของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คงไม่พ้นปัญหาปากท้อง ภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น แน่นอนค่าใช้จ่ายที่สำคัญของผู้บริโภค คงหนีไม่พ้นค่าใช้จ่ายเรื่อง อาหาร ที่อยู่อาศัย และค่าบริการขนส่งในการเดินทางไปทำงาน         งานวิจัยล่าสุดของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) พบว่า ค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร สูงถึง 26-28 % หรือหากใช้รถปรับอากาศ ก็สูงถึง 15 % ของรายได้ขั้นต่ำ ขณะที่ในฝรั่งเศสมีค่าใช้จ่ายเพียง 3 % ลอนดอน 5 % โตเกียว 9 % และสิงคโปร์ 5 % ในการใช้รถไฟฟ้าเท่านั้น         โดยข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิตของแต่ละคนในขณะนี้แพงกว่านี้อีกมาก หากคิดตั้งแต่ต้องออกจากบ้าน ใช้มอเตอร์ไซค์ รถเมล์ รถตู้ กว่าจะถึงรถไฟฟ้า และหากใช้รถไฟฟ้าสองสาย ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่เรียกว่าค่าแรกเข้า 14-16 จากรถไฟฟ้าทุกสายที่ใช้บริการ         แน่นอนปัญหาความไม่เพียงพอของบริการขนส่งมวลชน ปัญหารถติด การใช้เวลาบนท้องถนน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความไม่แน่นอนของบริการจากปัญหารถติด ปัญหารถไฟฟ้าราคาแพง ทำให้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมากถึง 43 % เดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์ 26 % และรถขนส่งมวลชน 24 %  ขณะที่สิงคโปร์ใช้รถขนส่งสาธารณะถึง 62 % และ 89 % ในฮ่องกง (สถิติในปี 2015)         รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDG) โดยตั้งเป้าหมายไว้ในปี พ.ศ. 2030 จะทำให้ประชากรได้รับความปลอดภัยในการเดินทาง สามารถจ่ายค่าโดยสารและสามารถเข้าถึงระบบขนส่ง และระบบขนส่งที่ยั่งยืน การปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน ตัวอย่างที่ดีที่สุด เช่น โดยการขยายเส้นทางขนส่งสาธารณะให้ตรงกับความต้องการของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงอย่างผู้หญิง เด็ก คนพิการ และผู้สูงวัย โดยกำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญ คือต้องเพิ่มสัดส่วนของประชาชนที่สามารถเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดที่มีบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร          เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค ความปลอดภัยในการใช้บริการขนส่งมวลชน การบริโภคที่ยั่งยืน และแน่นอนการแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋วพิษ PM 2.5 ที่เป็นปัญหาสุขภาพ รัฐต้องสนับสนุนให้มีการใช้บริการขนส่งมวลชนที่เพิ่มขึ้น ข้อเสนอที่สำคัญของผู้บริโภคในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ มี 5 เรื่องทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่สำคัญ         1) ประชาชนทั่วประเทศ ต้องเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร หรือเดินไม่เกิน 15 นาที ต้องปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้เป็นระบบไฟฟ้าทั่วประเทศ         2) ระยะเวลาในการรอรถเมล์ หรือรถโดยสารสาธารณะไม่เกิน 15 นาที ในช่วงเร่งด่วนและไม่เกิน 30 นาทีในช่วงไม่เร่งด่วนในการเดินทางประจำวัน         3) มีระบบให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ว่า รถเมล์ หรือรถโดยสารสายอะไรที่กำลังจะมา (ViaBus) ในกรุงเทพฯยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถบอกได้ในปัจจุบัน รวมทั้งในต่างจังหวัดที่ยังแทบไม่มีระบบอะไรเลย         4) ค่าใช้จ่ายบริการขนส่งมวลชนทุกประเภทรวมแล้วต้องไม่เกิน 5 % ของรายได้ขั้นต่ำในแต่ละวัน ซึ่งทั้งรัฐบาลและท้องถิ่นต้องพัฒนาระบบสนับสนุนที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ สะอาด มีคุณภาพในการให้บริการ         5) สำหรับกรุงเทพ ฯ ต้องจัดการให้ผู้บริโภคเสียค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าเพียงครั้งเดียวในการใช้บริการถึงแม้จะใช้หลายเส้นทาง มีระบบที่เชื่อมโยงรถเมล์กับบริการรถไฟฟ้า และบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 พิษร้ายของอาหารขยะ

        ช่วงหนึ่งที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษที่ A.U.A เพื่อเตรียมตัวไปศึกษาต่อนั้น มีคำศัพท์ภาษาอังกฤษสองคำที่อาจารย์ผู้สอนยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างของคำที่ต้องใช้ให้เหมาะสม เช่น กรณีที่ต้องการอธิบายถึงการที่บุคคล 2 คน ที่พลั้งพลาดทำผิดในเรื่องเดียวกัน แต่คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่อธิบายพฤติกรรมที่เป็นเหตุในการกระทำต่างกัน คำสองคำนั้นคือ stubborn และ ignorant ซึ่งคำทั้งสองนี้ผู้เขียนใคร่ขอนำมาตั้งเป็นประเด็นว่า ข้อมูลข่าวซึ่งจะเขียนถึงในบทความนี้ เป็นความเกี่ยวพันกันระหว่างการเจ็บป่วยทางกายและความรู้ด้านอาหารและโภชนาการซึ่งพบในอินเทอร์เน็ทนั้น ควรใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษใดในการสรุปถึงลักษณะของผู้เคราะห์ร้ายรายนี้   การกินอาหารให้ครบสมบูรณ์แบบที่มนุษย์ควรกิน         ตามความรู้ที่เรามีในปัจจุบัน เพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ในสภาวะสุขภาพดี(ไม่แสดงอาการของโรคใด ๆ) นั้น เป็นเรื่องจำเป็นที่มนุษย์ทุกคนควรรู้ แต่ก็ยังมีทั้งคนที่ไม่ใส่ใจรู้ทั้งที่มีโอกาสรู้ตลอดไปถึงคนที่ไม่มีโอกาสรู้เลย โดยลักษณะแรกนั้นอาจเป็นเพราะความดื้อด้าน(stubborn) ไม่ยอมทำตามสิ่งที่ได้รู้มา แต่ลักษณะหลังอาจจัดเป็นความโฉดเขลา(ignorant) ซึ่งความโฉดเขลานั้นเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจว่า ทำไมมนุษย์บางคนจึงขาดโอกาสเรียนรู้เพื่อขจัดความโฉดเขลา        บทความที่นำมายกเป็นตัวอย่างว่า ควรใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษคำใดในสองคำที่ยกขึ้นมาข้างต้นกับมนุษย์ผู้เป็นข่าว คือ Blindness Caused by a Junk Food Diet ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Internal Medicine 2019 ซึ่งนิพนธ์โดยแพทย์นักวิจัยของ University Hospitals Bristol NHS Foundation Trust, Bristol, United Kingdom และทำนองเดียวกันได้เผยแพร่ในเว็บอื่น ๆ อีกมากมาย จนถึงขนาดที่ข้อมูลดังกล่าวถูกนำไปเผยแพร่ต่อโดย CBS, TIME, NBC, USA Today, The Guardian, WebMD, Newsweek และองค์กรข่าวอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่า แหล่งข่าวต่างๆ นั้นต้องการยกเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นตัวอย่าง เพื่อเตือนใจแก่มนุษย์บนโลกนี้ให้เข้าใจถึงความสำคัญในเรื่องของสภาวะโภชนาการที่เกี่ยวกับสาเหตุของความเจ็บป่วยของคน ที่เป็นข่าว         เด็กหนุ่มชาวสหราชอาณาจักรชื่อ Jasper ผู้ซึ่งไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่และไม่ใช้ยาเสพติด และสถานภาพของร่างกาย ซึ่งดูจากภายนอกไม่เลวนัก มีดัชนีมวลกายอยู่ในระดับปกติ คือ 22 (ความสูงคือ 172.9 ซม. และน้ำหนักเฉลี่ย 65.7 กก.) แต่ต้องประสบเคราะห์หามยามร้ายถึง “ตาบอด”         บทความกล่าวว่า เมื่อแพทย์ทำการสอบถามผู้ป่วยในระดับลึกแล้วพบว่า ผู้ป่วยได้ละเลยไม่กินอาหารบางอย่างที่ไม่ชอบตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม โดยสิ่งที่เขาชอบกินเป็นชีวิตจิตใจเพื่อดำรงชีวิตคือ มันฝรั่งทอด และขนมขบเคี้ยวอื่นๆ ทุกวัน นอกจากนี้เขายังชื่นชอบขนมปังที่ทำจากแป้งฟอกขาว แฮมและไส้กรอก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นแฟนพันธุ์แท้ของอาหารขยะ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่การตรวจเลือดแสดงออกมาว่า เขามีระดับวิตามินบี 12 และวิตามินดีต่ำพร้อมมวลกระดูกที่ต่ำกว่าปรกติ แม้ว่าผลการตรวจชิ้นเนื้อที่ตัดจากระบบทางเดินอาหารนั้น ยังแสดงความเป็นปรกติอยู่ มีระดับทองแดงและซีลีเนียมต่ำ แต่ระดับสังกะสีสูง ซึ่งผู้เขียนคาดเอาว่า การที่ระดับสังกะสีสูงนั้นเป็นเพราะผู้ป่วยได้โปรตีนจากอาหารน้อยกว่าที่ควร ซึ่งโดยปรกติแล้วสังกะสีเป็นธาตุที่มักถูกร่างกายนำไปใช้ทำหน้าที่เป็นโคแฟกเตอร์ของเอ็นซัม ซึ่ง เป็นโปรตีนโดยธรรมชาติ หรือเป็นองค์ประกอบสำคัญในโปรตีนอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้นจากรูปแบบการกินอาหารของผู้ป่วยนั้นย่อมต้องมีการขาดโปรตีน จึงทำให้ไม่สามารถสร้างเอ็นซัมหรือโปรตีนอะไรที่ต้องการสังกะสีได้มากนัก จึงมีเหลือเป็นอิสระอยู่ในเลือด         ย้อนหลังไปดูประวัติการพบแพทย์ของเด็กหนุ่มซึ่งเริ่มต้นเมื่ออายุ 14 ปี ที่เขาเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าแล้ว เมื่อตรวจเลือดก็พบว่ามีอาการ macrocytic anemia หรืออาการโลหิตจางเพราะเม็ดเลือดแดงใหญ่กว่าปรกติจนทำงานไม่ได้ แม้ว่าจำนวนเม็ดเลือดอาจไม่ต่ำกว่าปรกติก็ตาม เนื่องจากขาดวิตามินโฟเลตซึ่งช่วยในการสร้างเม็ดเลือดให้สมบูรณ์ โฟเลตนั้นควรได้จากผักใบเขียว เนื้อสัตว์ ถั่วทั้งเมล็ด ผลไม้อีกหลายชนิด เป็นต้น         จากนั้นในปีต่อมาแพทย์เริ่มสังเกตพบสัญญาณของการสูญเสียการได้ยินและการมองเห็น แพทย์จึงสั่งจ่ายวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งก็ไม่ได้แก้ปัญหาแต่อย่างไร เพราะการมองเห็นของเขายังแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งถ้าดูจากพฤติกรรมการกินอาหารแล้วนั้น สภาวะทางโภชนาการของเขายังขาดการกินอาหารโปรตีนอยู่ วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่กินเข้าไปจึงไม่ถูกนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์นัก        พออายุได้ 15 ปี Jasper เริ่มมีการสูญเสียการได้ยินมากขึ้น สุดท้ายเขาได้ถูกส่งต่อไปยังแพทย์หูคอจมูก ซึ่งได้ทำการเอ็กซ์เรย์ด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) แต่ก็ไม่พบความผิดปกติใดในโครงสร้างของร่างกาย อย่างไรก็ดีหลังจากนั้นไม่นานเขาก็เริ่มมีอาการผิดปรกติในการมองเห็นที่จักษุแพทย์หาสาเหตุไม่ได้ สุดท้ายเมื่ออายุได้ 17 ปี ระดับการสูญเสียในการมองเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนต้องถูกส่งตัวไปพบจักษุแพทย์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านระบบประสาทตาและได้พบว่า มีความผิดปรกติเกิดขึ้นกับส่วนปลายเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องในการมองเห็น พร้อมกับการที่เขามีข้อบกพร่องของจอประสาทตาส่วนกลางทั้งสองข้าง ความเสียหายในการมองเห็นที่ถาวรจึงได้เริ่มแสดง ซึ่งน่าจะเป็นการส่งผลเนื่องมาจากสภาวะโภชนาการที่ไม่ดีเพราะกินไม่ดี         อาหารขยะของ Jasper นั้นทำให้เขาได้รับวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณจำกัด ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทตา ซึ่งสำคัญต่อการมองเห็น มันเป็นภาวะแทรกซ้อนที่บำบัดยาก และเป็นตัวอย่างของการก่อปัญหาทางสุขภาพเนื่องจากการขาดสารอาหารหลายชนิดพร้อมกัน พิษร้ายของอาหารขยะ         อาหารขยะที่ Jasper นิยมชมชื่นนั้น ส่งผลให้ร่างกายเขาได้รับวิตามินและแร่ธาตุไม่พอจนเด็กหนุ่มมีอาการทางระบบประสาทตาเสื่อม สภาพการณ์ในลักษณะนี้อาจแพร่หลายมากขึ้นในอนาคตเนื่องจากการบริโภคอาหารขยะกำลังเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มเด็กวัยรุ่นตลอดไปถึงรุ่นแย้มฝาโลงที่ไม่สนใจดูแลตัวเองเรื่องการกิน แม้มีความรู้เกี่ยวกับรูปแบบอาหารที่ช่วยให้สภาวะโภชนาการของร่างกายดี เพราะใจนั้นทุ่มเทให้กับการเขี่ยสมาร์ทโฟนและ/หรือการเล่นเกมส์ที่เป็น e-sport แล้วถ้ายังปราศจากการแก้ไขปรากฏการณ์ดังกล่าว แถมส่งเสริมกันต่อไปในสภาพเหมือนผู้รับผิดชอบตาบอดด้านคุณภาพของประชากร มองไม่เห็นปัญหาที่จะเกิดในอนาคต ประเทศที่มีประชากรในลักษณะนี้คงเข้าสู่ภาพ the aging society along with poor quality citizen ซึ่งคงดูไม่จืดแน่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ขนมปังในห่อปิดสนิทมีเศษกระดาษปะปนอยู่

ขนมปังแผ่นเป็นที่นิยมรับประทานมากในปัจจุบัน ทั้งแบบกินเล่นเปล่าๆ หรือนำไปทำอาหารได้หลากหลาย เช่น แซนวิซ ขนมปังหน้าหมู ขนมปังปิ้ง พิซซ่า แล้ววันหนึ่งหากพบว่ามีบางอย่างไปปะปนอยู่ในเนื้อของขนมปัง ผู้บริโภคจะต้องทำอย่างไร         คุณภูผา ชอบรับประทานขนมปังแผ่นของบริษัทที่โฆษณาว่าสดใหม่ทุกเช้ามาก  โดยเฉพาะแบบโฮลวีต ซึ่งซื้อไว้ติดบ้านเพื่อรับประทานเป็นประจำ ก็ไม่เคยเกิดปัญหาอะไร อร่อยและคุณภาพดีตามคำโฆษณา จนวันหนึ่งขณะกำลังจะเตรียมทำแซนวิช คุณภูผาหยิบขนมปังจากถุงรับประทานเล่นไปก่อนสองแผ่น ขณะที่กำลังเคี้ยวๆ แผ่นที่สองอยู่นั้นรู้สึก มีอะไรแปลก ๆ อยู่ในปาก         เมื่อคายออกมาก็พบว่า มีเศษกระดาษอยู่ในขนมปัง เลยงงๆ ว่าทำไมถึงมีเศษกระดาษอยู่ในขนมปังได้ จึงถ่ายรูปเศษกระดาษไว้และแจ้งไปให้บริษัทผู้ผลิตทราบ เพื่อหาแนวทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนในขนมปังอย่างเช่นที่เขาพบอีก   เพราะตนเองเป็นลูกค้ามานาน ส่วนเบอร์โทรที่แจ้งก็โทรไปตามที่โฆษณาไว้บนฉลาก         บริษัทฯ แจ้งกับคุณภูผาว่า ให้คุณภูผาเก็บขนมปังไว้ก่อนและจะส่งพนักงานบริษัทให้ไปรับขนมปังมาตรวจเพื่อหาสิ่งปนเปื้อน ซึ่งคุณภูผารอหลายวันแล้ว ก็ไม่เห็นพนักงานบริษัทมาสักที ตนเองรู้สึกเป็นกังวลกลัวว่า บริษัทฯ จะคิดว่าเขามาหลอกบริษัทหรือเปล่า หรือคิดว่าเขาเป็นนักต้มตุ๋นหรือเปล่า จึงขอคำแนะนำมายังมูลนิธิ แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำว่าการกระทำของผู้ผลิตอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดกฎหมาย พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ ซึ่งมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงแนะนำให้ผู้ร้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ก่อน เพื่อเป็นหลักฐานว่าผู้ร้องไม่ได้หลอกลวงหรือเป็นนักต้มตุ๋นอย่างที่กังวล จากนั้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จะได้ติดต่อไปยังบริษัท เพื่อให้เร่งจัดการปัญหาของผู้ร้อง แต่คุณภูผาผู้ร้องนั้น ยังไม่ต้องการให้ศูนย์ฯ ติดต่อไปเพราะว่าอยากให้โอกาสบริษัททำงานก่อน ถ้าภายใน 1 สัปดาห์บริษัทยังไม่ติดต่อมาจะกลับมาให้ศูนย์พิทักษ์ช่วยเหลือ        ต่อมาผู้ร้องได้แจ้งความคืบหน้าว่า ตนเองไปเที่ยวงานสหกรุ๊ปแฟร์ พบบูธของบริษัทขนมปังพอดี จึงเข้าไปแจ้งเรื่องกับพนักงานที่มาออกบูธ หลังจากนั้นก็มีคนของบริษัทติดต่อกลับมาและนัดหมายเพื่อรับขนมปังที่พบสิ่งปนเปื้อนไปตรวจ และขออภัยในปัญหาและความผิดพลาดของการสื่อสารที่เกิดขึ้น และได้นำผลิตภัณฑ์ของบริษัทมาชดเชยให้ผู้ร้องเป็นจำนวน 2 – 3 เท่า ของราคาสินค้าที่ซื้อมา ผู้ร้องเข้าใจว่าเป็นความผิดพลาดของการสื่อสาร ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อบริษัทรับปากและนำความผิดพลาดไปปรับปรุง คุณภูผาก็พอใจ และขอยุติเรื่องไป

อ่านเพิ่มเติม >